พระราชปุจฉาที่ ๖
(ไม่พบพระราชปุจฉา มีแต่คำถวายวิสัชนา)
ว่าด้วยสามัคคีรสจะมีคุณประการใด
แก้พระราชปุจฉาที่ ๖
ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๑๙๑ อุศภสังวัจฉรนักษัตรเอกศก เหมันตฤดูมฤคเศียรมาศกาลปักษ์ นวมีดฤถีสุริยวารปริจเฉทกาลกำหนด อาตมภาพสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพนรัต กรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระพรหมมุนี พระเทพโมลี ขอถวายพระพรเจริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคล พระชนมะศุขทุกประการ แด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จบรมธรรมิกมหาราชธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ด้วยทรงพระราชรำพึงถึงสังสารภัยอันจะบังเกิดมีแก่สรรพสัตว์อันบังเกิดในสังสารภพ เหตุปราศจากสามัคคีรสซึ่งกันแลกัน แลเหตุที่เปนสามัคคีรสนั้นจะมีคุณประการใด แลมิได้เปนสามัคคีรสนั้นจะมีโทษประการใด อาตมภาพพระราชาคณะทั้งปวงรับพระราชทานค้นดูพระบาฬีในคัมภีร์ต่างๆ พบพระบาฬีในพระคัมภีร์ทีฆนิกายมหาวรรคแลอังคุตตรนิกายสัตตกนิบาตว่า สมเด็จพระสัพพัญญูผู้ทรงสวัสดิภาคเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ในคิชกูฎบรรพตารามมหาวิหาร “เตน โข ปน สมเยน ราชามาคโธ อชาตสตฺตุ เวเทหิปุตฺโต” ครั้งนั้นสมเด็จบรมขัตติยาธิราชมาคธาธิบดี อชาตสัตตุเวเทหิราชโอรสมีพระราชหฤทัย จะใคร่ยกพลจตุรงคทวยหารไปกระทำยุทธนาการ กับด้วยกระษัตริย์ลิจฉวีราชณกรุงไพสาลี ด้วยมีพระกระมลหฤทัยผูกพันธ์พยาบาท แล้วทรงพระราชดำริห์ เห็นว่ากระษัตริย์ลิจฉวีราษฐมากถึงเจ็ดพันเจ็ดร้อยเจ็ดพระองค์ พร้อมกันดำรงไอสุริยราชสมบัติ รักษาสกลอาณาเขตรแว่นแคว้นวัชชีชนบท บริบูรณ์ด้วยจตุรงคโยธาพลาหาญเปนอันมาก อันจะยุทธนาการเอาไชยชำนะเปนอันยากยิ่งนัก ควรอาตมาจะคิดด้วยนักปราชญ์อันกอประด้วยปัญญา แสวงหาอุบายซึ่งจะได้ไชยชำนะโดยง่าย นามชื่อว่าผู้มีปัญญาอันประเสริฐในโลกนี้ ผู้ใดจะเสมอด้วยสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้านั้นบมิได้มี ผิฉนั้นอาตมาจะใช้ให้ราชบุรุษออกไปนมัสการพระบาทยุคล ทูลถามเหตุอันจะมีไชยชำนะแก่กระษัตริย์ลิจฉวีราษฐทั้งปวง เมื่อทรงพระราชดำริห์ฉนี้แล้ว ก็ตรัสใช้วัสสการพราหมณ์มาคธะมหาอำมาตย์ให้ออกไปกราบทูลสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตามกระแสพระราชปริวิตกนั้น สมเด็จพระบรมครูได้ทรงสดับแล้ว จะไต้ตรัสตอบแก่วัสสการพราหมณ์หามิได้ มีพระพุทธฎีกาตรัสประภาษถามพระอานนทเถรเจ้าอันนั่งเฝ้าอยู่งานพัดว่า “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชี อภิณฺหสนฺนิปาตา สนฺนิปาตพหุลาติ” ดูกรสำแดงอานนท์ท่านยังได้สดับแลฤๅ ว่ากษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายพร้อมกันมาสู่ที่ประชุมเนืองๆ คือวันละสามครั้งมิได้คิดรังเกียจกังขา ว่าวันวานนี้ประชุมกันแล้ว แลวันนี้จะประชุมกันอิกเพื่อประโยชน์อันใดเล่า มิได้คิดดังนี้ แลมาสู่ที่ประชุม ได้ชื่อว่ามากไปด้วยสโมสรสันนิบาต อรรถาธิบายว่าบรมขัตติยราชมาตยาธิบดีทั้งหลาย เบื้องว่ามิได้มาประชุมกันเนืองๆ ก็บมิได้สดับข่าวสารร้ายแลดี อันบอกมาแต่นิคมคามนครขอบเขตรประเทศต่างๆ ว่าเกิดศึกแลเกิดโจรเปนต้น ฝ่ายว่าปัจจามิตรหมู่โจรทั้งหลาย รู้ข่าวว่าบรมกระษัตริย์ประมาทมิได้เอาพระไทยใส่ระวังขอบขันธสีมา ก็จะพากันกำเริบยกมารบราญชนบทแว่นแคว้น ให้พินาศฉิบหายเนืองๆ อันว่าเหตุอันเสื่อมจากพระราชเกียรติยศ ก็จะปรากฎมีแก่บรมกระษัตริย์ด้วยประการดังนี้
อนึ่งเบื้องว่ากระษัตริย์แลเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย มาสู่สโมสรสันนิบาตเนืองๆ ก็จะได้สดับประพฤติเหตุนั้นๆ แล้วจะได้จัดแจงพยุหโยธาทหารส่งไปปราบปรามปัจจามิตรหมู่ปัจจนึก เหล่าฆ่าศึกแลโจรทั้งหลาย รู้ว่าบรมกระษัตริย์มิได้ประมาทแล้ว ก็จะเกรงพระเดชานุภาพปลาสนาการไป มิได้มารันทำย่ำยีนิคมสีมาพระราชอาณาเขตร อันว่าความเจริญพระราชเกียรติยศ ก็จะปรากฎมีแก่บรมกระษัตริย์ ด้วยอานิสงส์สามัคคีรสธรรมดังนี้ ดูกรอานนท์อันว่าอภิณหสันนิบาตนิ้ ชื่อว่าอัปปริหานิยธรรมเปนประถม กระษัตริย์วัชชิราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติอยู่ฤๅประการใด “สุตเมตํ ภนฺเต วชฺชี อภิณฺหสนฺนิปาตา ภวิสฺสนติ สนฺนิปาตพหุลาติ” พระอานนทเถรเจ้ากราบถวายนมัสการรับพระพุทธฎีกา ว่าข้าแต่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า อันว่าอภิณหสันนิบาตนิ้ ข้าพระบาทได้สดับว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐยังประพฤติอยู่ “ยาว กีวฺจ อานนฺท วชฺชี อภิณหสนฺนิปาตา ภวิสฺสนฺติ สนฺนิปาตพหุลา วุฑฺฒิเยว อานนฺท วชฺชีนํ ปาติกงฺขา โน ปริหานีติ” จึงมีพระพุทธบริหารดำรัสว่า ดูกรสำแดงอานนท์ อันว่าอภิณหสันนิบาตนี้ กระษัตริย์วัชชีราษฐยังประพฤติอยู่ตราบใด อันว่าไชยวุฒิมงคลก็จะปรากฎมีแก่ชาว พระนครไพสาลี มิได้มีความฉิบหายสิ้นกาลตราบนั้น “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชั สมคฺคา สนฺนิปตนฺติ สมคฺคา วุฏฺหนฺติ สมคฺคา วชฺชิกรณียานิ กโรนฺตีติ” ดูกรสำแดงอานนท์ท่านยังได้สดับแลฤๅว่ากระษัตริย์ขัติยามาตย์ณกรุงไพสาลีวัชชีชนบท มาสู่สโมสรสมาคมพร้อมกัน แลจะอยู่จะไปก็พร้อมกัน จะมีกิจการสิ่งใดก็พร้อมเพรียงกัน อรรถาธิบายความว่า นครอันใดเบื้องว่าให้ตีกลองไชยเภรีบอกสำคัญให้ประชุมพร้อมกัน แลผู้อธิบดีทั้งหลาย คือขัติยเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อย ได้ยินเสียงกลองสำคัญแล้ว แลมิได้มาบอกบิดเบือนโดยอสัจ มิได้เจ็บว่าไข้เจ็บ มิได้มีกิจธุระว่ามีกิจธุระ มีอาการกำเริบแปรปรวนฉนี้ คามนครนั้นจะได้ชื่อว่าประชุมพร้อมกันโดยสามัคคีรสธรรมนั้นหามิได้ แลประเพณีในกรุงไพสาลีนี้ เบื้องว่าผู้อธิบดีมีต้นว่าขัติมหาอำมาตย์ เมื่อได้ยินเสียงกลองสันนิบาตสัญญาแล้ว แม้ว่าบริโภคอาหารและประดับกายนุ่งห่มผ้าแลกระทำกิจการอันใดยังมิได้สำเร็จก็ดี ก็ย่อมละกิจนั้นเสียก่อน รีบมาสู่ที่สันนิบาตพร้อมกัน อาการดังนี้ได้ชื่อว่าประชุมพร้อมกันเปนอันดี ประการหนึ่งเมื่อประชุมพร้อมกันแล้ว แลมิได้อยู่ด้วยกันในทีเดียว ก็ได้ชื่อว่ามิได้อยู่คิดกิจราชการพร้อมกัน เบื้องว่าผู้อธิบดีทั้งหลายประชุมกันคิดราชการอยู่ ถ้าบังคับให้ผู้ใดไปจากที่ประชุมผู้นั้นก็จะมีความดำริห์โทมนัสว่าอาตมานี้ท่านมิได้นับถือ ท่านได้ฟังแต่พาหิระกถาความภายนอก บัดนี้ท่านจะคิดกันเปนข้อคุยห์รหัษภายในแล้วจึงใช้ให้เรามาเสีย แลจะดำริห์แตกร้าวจากกันดังนี้ เหตุฉนั้นจึงประชุมอยู่คิดกิจราชการพร้อมกัน ประการหนึ่งถ้าได้ทราบข่าวว่านครคามเขตรประเทศอันใดเกิดศึกเกิดโจรขึ้น ผู้อธิบดีทั้งหลายปรึกษากันว่าผู้ใดอาจไปปราบปรามรำงับอริภัยโจรภัยครั้งนี้ได้ บรรดาอธิบดีซึ่งประชุมกันในที่นั้นมิได้รังเกียจเคียดกัน ต่างตนชิงกันว่าขึ้นก่อนว่า ข้าพเจ้าจะไปรำงับเองดังนี้ ได้ชื่อว่าออกพร้อมกัน ประการหนึ่งเบื้องว่าอธิบดีองค์หนึ่ง มีปลิโพธกังวลคืองานแลป่วยไข้จะมาสู่ที่ประชุมมิได้ แลท้าวพระยาเสนามาตย์ทั้งหลายอันเศษ จะได้เบาความใช้แต่บุตรนัดดาไปเยี่ยมเยือนช่วยทำกิจการงานนั้นหามิได้ ชวนกันไปเยี่ยมเยือนด้วยตนเอง เปนสหายร่วมศุขทุกข์โรคภัยกิจการกังวลด้วยกัน เปนอันหนึ่งอันเดียวด้วยสามัคคีรสธรรมดังนี้ ได้ชื่อว่าสมรรคสันนิบาต จัดเปนอัปปริหานิยธรรมเปนคำรบ ๒ แลกระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติอยู่ฤๅประการใด “สุตเมตํ ภนฺเต วชฺชี สมคคา สนฺนิปตนฺติ” พระอานนท์ก็ฉลองพระพุทธฎีกาว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อันว่าสมรรคสันนิบาตนี้ ข้าพระองค์ได้สดับว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายยังประพฤติอยู่ “ยาว กีวฺจ อานนฺท” ดูกรอานนท์ ผิว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายยังประพฤติในสมรรคสันนิบาตอยู่ตราบใด อันว่าวุฒิไชยมงคลก็จะปรากฎมีแก่ชาวนครไพสาลี มิได้มีความพินาศฉิบหายสิ้นกาลตราบนั้น “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชี อปฺตฺตํ น ปฺาเปนฺติ ปฺตฺตํ น สมุจฺฉินฺทนฺทิ ยถา ปฺตฺเต โปราเณ วชฺชิธมฺเม สมาทาย วตฺตนฺตีติ” ดูกรสำแดงอานนท์ ท่านยังได้สดับแลฤๅ ว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายมิได้บัญญัติขึ้นใหม่ซึ่งราชบัญญัติอันมิได้มีมาแต่ก่อน แลมิได้ตัดรอนเสียซึ่งราชบัญญัติอันโบราณกระษัตริย์ตั้งไว้ แลสมาทานประพฤติในวัชชีธรรมประเพณีโดยอันควรตามโบราณราชกระษัตริย์บัญญัติไว้แต่ก่อนนั้น ได้ชื่อว่ายถาบัญญัติธรรม จัดเปนอัปปริหานิยธรรมคำรบ ๓ แลกระษัตริย์วัชชีราฐทั้งหลายยังประพฤติอยู่ฤๅประการใด “สุตเมตํ ภนฺเต” พระอานนท์ก็ฉลองพระพุทธฎีกาว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า อันว่ายถาบัญญัติธรรมนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับว่า กระษัตริย์วัชชีราษฐยังประพฤติอยู่ “ยาว กีวฺจ อานนฺท” ดูกรอานนท์ ผิว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติในยถาบัญญัติธรรมอยู่ตราบใด อันว่าไชยมงคลวัฒนาการก็ปรากฎมีแก่ชาวนครไพสาลี มิได้มีภัยพินาศ สิ้นกาลตราบนั้น “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชี เย เต วชฺชีนํ วชฺชิมหลฺลกา เต สกฺกโรนฺติ ครุกโรนฺติ มาเนนฺติ ปูเชนฺติ เตสฺจ โสตพฺพํ มฺนุตีติ” ดูกรสำแดงอานนท์ ท่านยังได้สดับแลฤๅว่า กระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายย่อมกระทำสักการบูชาควรจะยำเยงนับถือ สดับถ้อยคำแห่งกระษัตริย์ผู้เฒ่าผู้แก่สั่งสอน แลประพฤติตามโอวาทแห่งพฤฒิราชสกูล ได้ชื่อว่ามหัลลกะสักการครุธรรม จัดเปนอัปปริหานิยธรรมคำรบ ๔ แลกษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติอยู่ฤๅประการใด “สุตเมตํ ภนฺเต” พระอานนท์ก็เฉลยพระพุทธฎีกาว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า อันว่ามหัลลกะสักการครุธรรมนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐยังประพฤติอยู่ “ยาว กีวฺจ อานนฺท” ดูกรอานนท์ผิว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติในมหัลลกสักการครุธรรมอยู่ตราบใด อันว่าไชยวัฒนมงคลก็จะปรากฎมีแก่ชาวนครไพสาลี บมิได้มีความฉิบหายสิ้นกาลตราบนั้น “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชี ยา ตา กุลิตฺถิโย วา กุลกุมาริโย วา ตา น โอกฺกสฺส ปสยฺห วาเสนฺตีติ” ดูกรสำแดงอานนท์ ท่านยังได้สดับแลฤๅว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย บมิได้ข่มเหงฉุดคร่าซึ่งสัตรีแม่เรียนในสกูล แลกุมารีอันเปนธิดาแห่งสกูล อันเปนที่รักมาไว้ในราชนิเวศน์แห่งตน ได้ชื่อว่านปสัยหธรรม จัดเปนอัปปริหานิยธรรมเปนคำรบ ๕ แลกระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติอยู่ฤๅประการใด “สุตเมตํ ภนฺเต” พระอานนท์ก็ฉลองพระพุทธฎีกาว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า อันว่านปสัยหธรรมนี้ ข้าพระองค์ได้สดับว่ากษัตริย์วัชชีราษฐยังประพฤติอยู่ “ยาว กีวฺจ อานนฺท” ดูกรอานนท์ ผิว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายยังประพฤติในนปสัยหธรรมอยู่ตราบใด อันว่าไชยวุฒิมงคลก็จะปรากฎมีแก่ชาวนครไพสาลีมิได้พินาศฉิบหายสิ้นกาลตราบนั้น “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชี ยานิ ตานิ อพฺภนฺตรานิ เจว พาหิรานิ จ ตานิ สกฺกโรนฺติ ครุกโรนติ มาเนนฺติ ปูเชนฺติ เตสฺจ ทินฺนปุพฺพ กตปพฺพํ ธมฺมิกํ พลึ ปริหาเปนฺตีติ” ดูกรสำแดงอานนท์ ท่านยังได้สดับแลฤๅว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายย่อมกระทำสักการเคารพ นับถือบูชาซึ่งเจดิยฐาน คือเทวสถานอันเปนที่สถิตย์แห่งภูมเทพารักษ์ทั้งหลายอันรักษาพระนคร ทั้งภายในภายนอกพระนคร แลถวายซึ่งพลีกรรมทั้งสองประการ คืออามิศพลีหนึ่ง ธรรมพลีหนึ่ง แลถวายซึ่งพลีกรรมทั้งสองประการ คืออามิศพลีหนึ่ง ธรรมพลีหนึ่ง แลอามิศพลีนั้น คือถวายซึ่งเครื่องกระยาสังเวยบูชาต่างๆ ธรรมพลีนั้นคือกระทำการกุศลมีถวายบิณฑบาตทานแลธรรมสวนะเปนอาทิ อุทิศผลเปนธรรมบรรณาการ ถวายไปแด่เทพยดาทั้งหลาย ทั้งกลางวันกลางคืน ตามโบราณราชประเพณี เคยกระทำเคารพถวายมาแต่ก่อนบมิได้ลดเสื่อมเสียดังนี้ ได้ชื่อว่าเจดิยสักการธรรม จัดเปนอัปปริหานิยธรรมคำรบ ๖ แลกระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติอยู่ฤๅประการใด “สุตเมตํ ภนฺเต” พระอานนท์ก็ฉลองพระพุทธฎีกาว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อันว่าเจดิยสักการธรรมนี้ พระองค์ได้สดับกระษัตริย์วัชชีราษฐยังประพฤติอยู่ “ยาว กีวฺจ อานนฺท” ดูกรอานนท์ ผิ้ว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติในเจดิยสักการธรรมอยู่ตราบใด อันว่าไชยมงคลวัฒนาการ ก็จะปรากฎมีแก่ชาวนครไพศาลี มิได้พินาศฉิบหายสิ้นกาลตราบนั้น “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชีนํ อรหนฺเตสุ ธมฺมิการกฺขาวรณคุตฺติ สุสํวิหิตา กินฺติ อนาคตา จ อรหนฺโต วิชิตํ อาคจฺเฉยฺยุํ อาคตา จ อรหนฺโต วิชิเต ผาสุํ วิหเรยฺยุนฺติ” ดูกรสำแดงอานนท์ ท่านยังได้สดับแลฤๅว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ย่อมจัดแจงปกครองป้องกันรักษาเปนอันดี ในสมณะธรหันต์ทั้งปวงโดยยุติธรรม แลสมณะอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้เคยมาสู่แว่นแคว้นนั้น ก็ชวนกันมาสู่แว่นแคว้นเขตขันธสีมา ที่มาอยู่แล้วนั้นก็สถิตย์อยู่เปนศุขโดยยถาผาสุกวิหารดังนี้ ได้ชื่อว่ารักขาวรณคุตติธรรม จัดเปนอัปปริหานิยธรรมคำรบ ๗ แลกระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายยังประพฤติอยู่ฤๅประการใด “สุตเมตํ ภนฺเต” พระอานนท์ก็ฉลองพระพุทธฎีกาว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้ทรงสวัสดิภาคเจ้า อันว่ารักขาวรณคุตติธรรมนี้ ข้าพระองค์ได้สดับว่า กระษัตริย์วัชชีราษฐยังประพฤติอยู่ “ยาว กีวฺจ อานนฺท” ดูกรอานนท์ ผิว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย ยังประพฤติในรักขาวรณคุตติธรรมนี้มีอยู่ตราบใด อันว่าไชยวัฒนมงคลก็จะปรากฎมีแก่ชาวนครไพศาลี มิได้พินาศฉิบหายสิ้นกาลตราบนั้น “เอวํ วุตฺเต วสฺสกาโร พฺราหฺมโณ มคธมหามตฺโต ภควนฺตํ เอตทโวจ” เบื้องว่าสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้ามีพระพุทธฎีกาบัณฑูรซึ่งอัปปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดประการ ดังพรรณามาฉนี้ ฝ่ายวัสสการพราหมณ์มคธมหาอำมาตย์ ก็ทราบโดยนัยแห่งพุทธาธิบาย ด้วยอุบายปรีชาอันฉลาด จึงกราบทูลว่าข้าแต่สมเด็จพระโคดมบรมศาสดาจารย์เจ้า เบื้องว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลายประพฤติได้ในอัปปริหานิยธรรมแต่สิ่งเดียว ก็อาจให้เจริญซึ่งไชยศิริสวัสดิมงคลปราศจากสรรพอันตรายได้ จะป่วยกล่าวเปนดังฤๅ ถึงประพฤติพร้อมทั้งเจ็ดประการนั้นเล่า แลกรุงอชาตสัตรุราชบมิอาจยุทธนาการ เอาไชยชำนะแก่กระษัตริย์วัชชีราษฐได้ เท่าเว้นไว้แต่ประโลมด้วยพระราชสารสุนทรสามัคคีรส แลส่งไปซึ่งราชบรรณาการโดยเลศอุบายให้วิสาสะไว้ใจนั้นประการหนึ่ง กับพยายามทำลายเสียซึ่งสมัคคสันนิบาต ให้เสียสโมสรสามัคคีธรรมแตกจากกันนั้นประการหนึ่ง จึงจะเอาไชยชำนะแก่กระษัตริย์วัชชีราษฐได้ แล้ววัสสการพราหมณ์ก็กราบถวายนมัสการลาสมเด็จพระสัพพัญญู กลับมากราบทูลแถลงแก่กรุงอชาตสัตรุราชบพิตร โดยกระแสบรมพระพุทธาธิบายนั้นทุกประการ แล้วทูลถวายอุบายแห่งตนให้สมเด็จบรมกระษัตริย์โกนสีสะแห่งตนให้สิ้นทั้งมวยผม แล้วอาสาไปทำลายสันนิบาตกระษัตริย์เมืองไพสาลี จะให้เสื่อมสูญเสียอัปปริหานิยธรรม ส่วนกระษัตริย์วัชชีราษฐทั้งหลาย มิได้รู้ในเลศอุบายแห่งวัสสการพราหมณ์ ก็รับไว้ให้ประดิษฐานในที่วินิจฉยามาตย์ แลวัสสการพราหมณ์ก็กระทำซึ่งวินิจฉัยกิจเที่ยงธรรมเปนอันดียิ่งนัก ลิจฉวีราษฐกุมารทั้งหลายก็มาเล่าเรียนศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักเปนอันมาก เบื้องว่าอาจารยคุณปรากฎแผ่ไปในนครไพสาลีแล้ว เมื่อจะคิดทำลายสมัคคสันนิบาต วันหนึ่งกระษัตริย์ลิจฉวีราษฐทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันแล้ว จะอุฎฐาการไปพร้อมกัน วัสสการพราหมณ์จึงเรียกพระยาลิจฉวีองค์หนึ่งไว้ แลพาไปสู่ที่ควรแห่งหนึ่ง แล้วถามว่าบพิตรกระทำกสิกกรรมอยู่ฤๅ พระยาลิจฉวีองค์นั้นก็รับว่าข้าพเจ้ากระทำอยู่ จึงถามว่าบพิตรเทียมโคคู่ไถนาฤๅ ก็รับว่าข้าพเจ้าไถด้วยคู่โค เจรจาเท่านั้นแล้วก็ให้พระยาลิจฉวีองค์นั้นกลับไป พระยาลิจฉวีองค์อื่นเห็นดังนั้น ก็ถามว่าอาจารย์กล่าวสิ่งใดแก่ท่าน กระษัตริย์ลิจฉวีองค์นั้น ก็บอกตามที่ได้สนทนากับอาจารย์โดยจริง ผู้ถามนั้นก็มิได้เชื่อกล่าวว่า ท่านหาบอกโดยสัจไม่ แกล้งอำพรางเสีย แลกระษัตริย์ทั้งสองนั้นก็ผิดใจแตกจากกัน เพราะพราหมณ์กระทำให้อยู่มิพร้อมกันไปมิพร้อมกัน ครั้นอยู่มาวันอื่นพราหมณ์จึงเรียกกระษัตริย์ลิจฉวีองค์หนึ่งไว้ แล้วถามว่าบพิตรเสวยพระกระยาหารด้วยสูปพยัญชนะสิ่งใด พราหมณ์ถามเท่านั้นแล้วก็ให้กลับไป ลิจฉวีกระษัตริย์องค์อื่น ถามดุจหนหลัง ก็มิได้เชื่อแตกจากกัน สืบมาวันอื่นพราหมณ์ก็เรียกกระษัตริย์ลิจฉวีองค์อื่นไว้แล้วถามว่า ดังจะรู้มาเขาเล่าลือกันว่าบพิตรยากไร้เข็ญใจฤๅ กษัตริย์องค์นั้นก็ถามว่าใครว่า พราหมณ์ก็บอกว่าพระยาลิจฉวีองค์โน้นว่า ครั้นสืบมาวันอื่นพราหมณ์ก็เรียกพระยาลิจฉวีองค์อื่นไว้เล่า แล้วถามว่าได้ยินเขาเล่าลือมาว่าบพิตรขลาดนัก มิได้แกล้วกล้าในการสงครามฤๅ กระษัตริย์องค์นั้นก็ถามว่าผู้ใดว่าดังนี้ พราหมณ์มคธมหาอำมาตย์พยายามกล่าวเปสุญวาทกถาว่ากระษัตริย์องค์นี้กล่าวโทษองค์โน้น ๆ กล่าวโทษองค์อื่นต่อ ๆ กันไปฉนี้ถึงสามปี จนกระษัตริย์ลิจฉวีราษฐทั้งหลายต่างพระองค์ก็ขึ้งเคียดพิโรธร้าวรานแตกจากสมัคสโมสรสามัคคีรสต่อกันแลกัน จนสององค์จะเดินร่วมทางเดียวกันนั้นก็มิได้ แลมิได้มาสู่ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันเหมือนแต่ก่อน จนสมเด็จพระเจ้าอชาตสัตรุราชได้โอกาศยกพยุหโยธาทหารมาย่ำเหยียบทำลายล้าง กรุงไพสาลีวัชชีชนบทประเทศให้ถึงพินาศฉิบหาย เหตุเสียสมัคสโมสรสันนิบาตอัปริหานิยธรรม แลโทษที่ปราศจากสามัคคีรสนั้นมีดังนี้
อนึ่งมีพระบาฬีในคัมภีร์พระธรรมบทว่า ภิกษุทั้งหลายณเมืองโกสัมพี กระทำเฉลาะวิจาทหมายมั่นกันแลแตกออกเปนสองพวก คือธรรมกะถึกพวกหนึ่ง วินัยธรพวกหนึ่ง ครั้งนั้นสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าได้ทรงทราบแล้ว ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสห้ามรำงับวิวาทาธิกรณ์ สำแดงซึ่งโทษอันปราศจากสามัคคีรสว่า ดูกรภิกษุสงฆ์ทั้งปวง นามชื่อว่าเฉลาะวิวาทหมายมั่นซึ่งกันแลกันดังนี้ ย่อมกระทำให้ปราศจากประโยชน์ถึงซึ่งความฉิบหาย ดุจนกไส้อันอาศรัยซึ่งกะละหะเหตุเปนมูล แลยังคชสารให้ถึงซึ่งสิ้นชีวิต แลมีพระพุทธบริหารนำมาซึ่งลัณฑุกิกะชาดกว่า
ในอดีตกาลสมเด็จพระบรมโพธิสัตวอุบัติบังเกิดเปนพระยาคเชนทรชาติ “ยูถปติ” เปนใหญ่กว่าฝูงช้างทั้งหลายประมาณแปดหมื่นเปนบริวารอาศรัยอยู่ในหิมวันตประเทศ ครั้งนั้นยังมีนางนกไส้ตัวหนึ่ง ฟักฟองอยู่ณกอไม้ในที่ทางสัญจรไปมาแห่งกุญชรชาติทั้งปวง ส่วนสกุณโปฎกทั้งหลายอันสถิตอยู่ในฟอง ครั้นถึงกาลบริณัตแล้วก็ทำลายกะเปาะฟองออกมา มีกายาพยพยังอ่อนอยู่ยังบ่มิอาจบินไปได้ ฝ่ายพระมหาสัตวแวดล้อมด้วยคชบริวารแปดหมื่น เที่ยวไปสู่ที่โคจรสถานมาบรรลุถึงประเทศที่นั้น ส่วนนางนกไส้กลัวว่าฝูงช้างจะย่ำเหยียบบุตรของอาตมา จึงประคองปีกกระทำอัญชลีขออะภัยแก่บุตรแห่งตน สมเด็จพระมหาสัตว์ก็ทรงพระการุญภาพ ยังสกุณโปฎกทั้งหลายให้สถิตย์เหนือปิฏฐิประเทศแห่งพระองค์ เบื้องว่าฝูงช้างทั้งหลายไปสิ้นแล้ว จึงกล่าวแก่นางนกไส้ว่ายังมีกุญชรชาติตัวหนึ่งร้ายกาจโทนเที่ยวอยู่แต่ผู้เดียว มิได้อยู่ในอำนาจอาตมาแลช้างนั้นจะมาในเบื้องหลัง ท่านจงวิงวอนขออภัยเพื่อสวัสดิภาพแก่บุตรท่านเถิด สั่งดังนี้แล้วก็ไปจากที่นั้น ครั้นคชผรุสชาติมาถึงที่นั้น นางนกไส้ก็วิงวอนดุจหนหลัง ช้างนั้นก็มิได้มีความกรุณา กระทำย่ำเหยียบถีบซัดสกุณโปฎกทั้งหลาย ให้ถึงกาลพินาศเปนจุณไปด้วยเท้าแห่งตน แล้วก็เปล่งศัพทสำเนียงโกญจนาทไปจากที่นั้น ฝ่ายนางนกไส้จับอยู่บนกิ่งไม้มีความพิโรธ จึงร้องคุกคามว่า ดูกรช้างร้าย ท่านบันฤๅเสียงรื่นเริงไป แต่ในกาลบัดนี้ก่อนเถิด งดอิกสองสามวันก็จะได้เห็นกำลังแห่งเรา แลท่านบมิได้รู้ว่ากำลังปัญญานี้มากกว่ากำลังกาย มาประมาทหมิ่นอาตมาว่ามีกายแลกำลังน้อย ตัวท่านกอบประด้วยโมหะอหังการว่ามีกายอันใหญ่มีกำลังมาก แลอาตมาจะยังท่านให้รู้ซึ่งญาณพละจงประจักษ์โดยแท้ เมื่อนางนกไส้กล่าวคุกคามดังนี้แล้ว อยู่มาสองสามวันจึงไปอุปถากแก่กาตัวหนึ่ง แลกานั้นมีความยินดี จึงถามว่าท่านมีประโยชน์สิ่งใดเราจักช่วยให้สำเร็จ นางนกไส้ก็กล่าวว่าท่านจงช่วยจิกซึ่งจักษุทั้งสองแห่งเอกะจาริกกุญชรชาติตัวหนึ่งนั้นให้แตกทำลาย กานั้นก็รับธุระ นางนกไส้จึงไปอุปถากแก่แมลงวันตัวหนึ่งแล้ววิงวอนว่า เมื่อช้างตัวนั้นมีจักษุทำลายแล้ว ท่านจงช่วยถ่ายซึ่งฟองขังลงในจักษุทั้งสองแห่งทุษฐหัตถีนั้นจงได้ แลแมลงวันนั้นก็รับธุระ นางนกไส้จึงไปอุปถาก แก่มัณฑกชาติตัวหนึ่งแล้วก็วิงวอนว่า เมื่อเอกะจาริกะกุญชรชาติตัวนั้น มีจักษุอันธการแล้ว แลจะไปแสวงหาน้ำบริโภคในกาลใด ท่านจงขึ้นไปสถิตเบื้องบนยอดบรรพตอันสูง แล้วเปล่งออกซึ่งศัพทสำเนียงอันดังในกาลนั้น แลช้างนั้นก็จะสำคัญว่ามีอุทกะวารีบนยอดเขา ก็จะป่ายปีนขึ้นไปบนภูเขา แล้วท่านจงกลับลงมากระทำบรรฤๅเสียงณเชิงเขาเล่า จงช่วยธุระข้าพเจ้าด้วยประการดังนี้ มัณฑกชาตินั้นก็รับธุระแห่งนางนกไส้ ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ฝ่ายว่ากานั้นก็ไปจิกซึ่งจักษุทั้งสองแห่งทุษฐหัตถีนั้น ด้วยจะงอยปากแห่งตนให้ภินทนาการ ส่วนแมลงวันนั้นก็ไปถ่ายฟองขังลงในจักษุทั้งสองแห่งช้างร้ายยังปุฬุวะกะชาติหมู่หนอนให้บังเกิดบ่อนกัดในกระบอกแห่งจักษุ แลช้างนั้นก็ถึงซึ่งทุกขเวทนากระหายน้ำเปนกำลังก็เที่ยวไปแสวงหาอุทกวารีจะบริโภค ส่วนว่ามัณฑกชาติก็ขึ้นไปแลกระทำศัพทสำเนียงบนยอดเขา ช้างนั้นสำคัญว่ามีน้ำบนเขานั้นก็ป่ายปีนขึ้นไป มัณณฑกะชาติก็กลับลงมาร้องณเชิงเขาเล่า ช้างนั้นก็กลับบ่ายหน้าลงมาสู่เชิงเขา เพื่อประโยชน์จะแสวงหาน้ำ แลมีกายอันลำบากก็พลาดพลัดตกลงมาถึงซึ่งชีวิตพินาศด้วยกำลังปัญญาแห่งนางนกไส้ อันมีกายพละอันน้อย เมื่อสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า นำมาซึ่งลัณฑุกิกชาดกอันมีในปัญจกะนิบาต สำแดงซึ่งวิวาทาธิกรณ์โทษ เหตุปราศจากสามัคคีรสธรรมด้วยประการดังนี้ แล้วก็มีพระพุทธฎิกาตรัสว่า ดูกรสงฆ์ทั้งหลายท่านจงสมัคสโมสรพร้อมเพรียงกัน อย่าพึงวิวาทแก่กัน อันว่าฝูงทิชาชาติสกุณะกระจาบทั้งหลายมากกว่าแสนในกาลก่อน ย่อมอาศรัยซึ่งวิวาทาธิกรณ์เปนมูลเหตุ แลถึงซึ่งชีวิตอันตรายเปนอันมาก แล้วนำมาซึ่งวัฏฎกะชาดกว่า
ในอดีตกาล สมเด็จพระบรมโพธิสัตวอุบัติบังเกิดในกำเนิดสกุณะกระจาบมีบริวารประมาณพันหนึ่ง อาศรัยอยู่ในอรัญญประเทศ ครั้งนั้นยังมีนายวัฏฎกลุทธกะผู้หนึ่ง รู้ว่าฝูงนกกระจาบทั้งหลายประชุมกันอยู่ในที่นั้น จึงขึงซึ่งข่ายในเบื้องบนแล้ว ปกคลุมรวบรัดเอานกกระจาบทั้งสิ้นใส่ลงในกระเช้าแล้วนำมาสู่เรือนแห่งตน แลขายเลี้ยงชีวิตด้วยมูลค่าแห่งนกนั้น อยู่มาวันหนึ่งสมเด็จพระมหาสัตวจึงกล่าวแก่บริวารทั้งปวงว่า พรานนกคนนี้กระทำให้ญาติแห่งเราถึงซึ่งพินาศฉิบหายเปนอันมาก อาตมารู้อุบายอันหนึ่ง อาจจะป้องกันมิให้พรานนกนี้จับเราทั้งหลายได้ จำเดิมแต่นี้ไปเบื้องว่าพรานนกขึงข่ายขึ้นไว้ในเบื้องบนแล้ว ท่านทั้งปวงจงพร้อมกันยกขึ้นซึ่งสีสะแลปีกทั้งสอง ช่วยกันสลัดข่ายให้ไปปกคลุมณกอไม้หนามแห่งหนึ่ง แลเราทั้งหลายก็จะพากันปลาศนาการไปได้ โดยเหฏฐาภาคภายใต้พ้นภยันตราย เมื่อสมเด็จบรมโพธิสัตวตรัสสั่งดังนี้ ฝูงนกกระจาบทั้งหลายก็รับคำว่าสาธุพร้อมกัน ครั้นรุ่งขึ้นเปนวันคำรบสอง พรานนกนำเอาข่ายมาขึงขึ้นเหมือนดังนั้น นกทั้งหลายก็กระทำตามนัยอุบายอันพระบรมโพธิสัตวสั่งแล้วก็พากันปลาศนาการไปได้สิ้น แลพรานนกนั้นแต่ปลดข่ายออกจากกอไม้หนามจนเพลาพลบค่ำ กลับไปคู่เคหสถานแต่กรรเช้าเปล่า แต่ดังนี้เปนหลายวัน ครั้นล่วงมาสองสามวัน นกกระจาบตัวหนึ่งลงสู่ที่โคจรภูมิมิทันพิจารณาก็เหยียบลงซึ่งสีสะแห่งสกุณะชาติตัวอื่น แลนกตัวนั้นก็โกรธกล่าวว่า ผู้ใดมาเหยียบสีสะอาตมาดังนี้ นกผู้เหยียบนั้นก็บอกว่าอาตมามิทันพิจารณาเหยียบท่านลง เราขออภัยอย่าได้โกรธเราเลย นกตัวนั้นก็มิฟังยิ่งโกรธมากขึ้น ต่างตนวิวาททุ้งเถียงซึ่งกันแลกัน ว่าท่านนี้สำคัญตนว่า ยกข่ายขึ้นได้ด้วยกำลังของท่านฤๅ แลนกทั้งหลายต่างตนก็แตกจากสามัคคีรส มิได้สมัคสโมสรกันเหมือนแต่ก่อน ต่างอวดอ้างว่ายกข่ายขึ้นไปด้วยกำลังของตนๆ เมื่อสมเด็จบรมโพธิสัตวเห็นดังนั้น ก็ดำริห์ว่าธรรมดาว่าวิวาทแตกร้าวกันดังนี้ จะได้มีความโสตถิภาพสวัสดีนั้นหามิได้ ย่อมจะมีแต่ความฉิบหายเปนแท้ แลกาลบัดนี้นกทั้งหลายก็จะมิได้ยกข่ายขึ้นพร้อมกัน จะถึงซึ่งภัยพินาศเปนอันมาก พรานนกก็จะได้โอกาศกระทำภยันตราย แลอาตมามิควรที่จะอยู่ในประเทศที่นี้ เมื่อดำริห์ฉนี้แล้วก็พาแต่บริษัทที่สนิทของพระองค์ไปอาศรัยอยู่ในพนสณฑ์อันอื่น ส่วนว่าพรานนกก็มาขึงข่ายอีกเล่า ฝูงนกกระจาบทั้งหลายมิได้สมัคสมานพร้อมเพรียงกันเหมือนแต่ก่อน ต่างถือกำลังตนแล้วเคียดกัน ว่าท่านสิอวดอ้างว่ายกข่ายขึ้นจนขนสีสะร่วงหล่นลง แลกาลบัดนี้ท่านจงยกเถิด เราจะดูกำลังท่าน นกตัวอื่นก็ว่าท่านสิอวดอ้างว่ายกข่ายขึ้นจนขนปีกทั้งสองร่วงหล่นลง แลบัดนี้ท่านจงยกเถิดเราจะดูกำลังท่านบ้าง เบื้องว่านกทั้งหลายกล่าวเคียดกันให้ยกข่ายมิได้พร้อมกัน เหตุเสียสามัคคีรสแต่วิวาทมูลดังนี้ ส่วนว่าพรานนกก็ปกคลุมลงซึ่งข่ายรวบรัดเอาฝูงนกกระจาบทั้งหลายสิ้นด้วยกันใส่ลงเต็มกระเช้าใหญ่กลับมาสู่เคหสถานแห่งตน เมื่อสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านำมาซึ่งวัฏฏกะชาดก อันมีในเอกนิบาตดังนี้แล้ว จึงมีพระพุทธบริหารดำรัสว่า ดูกรสงฆ์ทั้งปวง อันว่าวิวาทาธิกรณโทษอันเปนเหตุทำลายเสียซึ่งสามัคคีรสธรรมนี้ ย่อมจะนำซึ่งความฉิบหาย จะได้มีความเจริญนั้นหามิได้ เมื่อมีพระพุทธฎีกาสำแดงซึ่งโทษอันปราศจากสามัคคีรสดังนี้แล้ว ลำดับนั้นเมื่อพระพุทธองค์จะสำแดง ซึ่งอานิสงส์แห่งสามัคคีรสธรรมสืบไป ก็นำมาซึ่งอดีตชาดก มีเนื้อความพิสดารในคัมภีร์มหาวรรคว่า “ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา อโหสิ” ดูกรสงฆ์ทั้งปวง ในกาลก่อนยังมีสมเด็จบรมขัติยาธิบดี มีพระนามกรว่าพระเจ้าพรหมทัตรกาสิกราชบพิตร สถิตย์ในไอสุริยสมบัติณกรุงพาราณสีมิกาสิกะชนบทเปนแว่นแคว้น พระองค์บริบูรณ์ด้วยมหัพพละโยธา มหาโกษฐาคารธนะสารสมบัติ แลพระราชอาณาเขตรแผ่ไพศาลไปในคามนิคมราชธานีใหญ่น้อยทั้งปวง มีบริมณฑลได้สามร้อยโยชน์ ครั้งนั้นยังมีบรมกระษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าทีฆดิศโกศลราช ดำรงราชมไหศวรรย์กรุงมิถิลาราชธานีโกศลชนบทเปนแว่นแคว้น พระองค์มีราชภัณฑาคารธนะสารสมบัติจตุรงคโยธาทหารนั้นน้อย พระราชอาณาเขตรนั้น ก็ไม่สู้กว้างขวางดังกรุงพาราณสี ส่วนสมเด็จพระเจ้าพรหมทัต ให้ตรวจเตรียมจตุรงคเสนายกมาจะยุทธนาการกับด้วยพระเจ้าทีฆดิศโกศลราช ๆ ได้ทราบข่าว ก็ทรงพระราชดำริห์ว่าพระเจ้าพรหมทัตมีพลหาหนะมาก อาตมานี้มีพลพาหนะน้อย บมิอาจต่อยุทธชิงไชยกับพระเจ้าพรหมทัตรได้ ผิฉนั้นควรอาตมจะทิ้งพระนครเสีย หนีไปให้พันปัจจนึกภัยพอชีวิตรอดเถิด เมื่อทรงพระราชรำพึงฉนี้แล้ว ก็พาพระอรรคมเหษีเปนสองพระองค์ด้วยกันเท่านั้น หนีออกจากพระนคร จะได้มีผู้ใดโดยเสด็จพระราชดำเนิรนอกกว่านั้นหามิได้ ฝ่ายกรุงกาสิกราชพรหมทัตร เสด็จยกพยุหโยธาทหารมาถึงพระนครมิถิลาแล้ว ให้กวาดเอาพลพาหนะแลชาวชนบทประเทศ กับทั้งธนสารสมบัติทั้งปวง ของพระเจ้าทีฆดิศโกศลไปยังกรุงพาราณสี ส่วนพระยาทีฆดิศโกศลกับพระราชเทวี ก็ไปสู่กาสิกชนบท เข้ายับยั้งอยู่ณเรือนแห่งกุมภการบุรุษผู้หนึ่ง อันอยู่ภายในกรุงพาราณสี อาศรัยกำบังพระองค์อยู่ด้วยเพศเปนปริพพาชก ครั้นอยู่มาบมิได้ช้าพระราชเทวีก็ทรงพระครรภ์ มิพระหฤทัยปราถนาจะทอดพระเนตรซึ่งจตุรงคเสนาทั้ง ๔ หมู่ อันสรวมใส่ซึ่งเกราะทรงสรรพาวุธต่างๆ สถิตย์ในยุทธภูมิพยุหสงครามในเวลาอรุโณทัยสมัย หนึ่งจะใคร่เสวยซึ่งวิสุทธิธารา อันชำระล้างพระราชขรรคาวุธ เมื่อมีพระกระมลประสงค์ดังนี้ ก็กราบทูลแถลงโทหฬะเหตุถวายพระราชสวามี เมื่อท้าวเธอได้ทรงสดับ จึงดำรัสว่าเราทั้งสองตกไร้ร้างราชฐานทุรพลเพศประดาษดังนี้ ดังฤๅจะได้ลุมะโนมัยประสงค์ เห็นสุดซึ่งจะแสวงหาได้ด้วยยาก พระราชเทวีก็กราบทูลว่า ผิวข้าพระบาทมิได้ลุปราถนา ก็จะทำลายชนมชีพเปนแท้ ครั้งนั้นพราหมณ์ปโรหิตแห่งสมเด็จพระเจ้ากาสิกราชพรหมทัตรนั้น เปนสหายกับพระเจ้าทีฆดิศโกศล ๆ ก็เสด็จไปสู่สำนักปโรหิตพราหมณ์ แล้วก็ตรัสเล่าทุกข์โทหฬะเหตุแห่งพระราชเทวี พราหมณ์ก็รับพระราชธุระ ให้เชิญเสด็จพระอรรคมเหษีมาสู่สำนักแห่งตน สมเด็จพระเจ้าโกศลราช ก็ยังพระอรรคมเหษีให้มาสู่นิเวศน์แห่งปโรหิตาจารย์ พราหมณ์ได้เห็นพระราชกัญญาก็อุฎฐาการจากอาศน์ สภักผ้าสาฎกเหนืออังษประเทศเบื้องซ้ายถวายอัญชลี แล้วเปล่งออกรซึ่งอุทานกถาสามนัดว่า “โกสลราชา วต โภ กุจฺฉิคโต” ดูกรชาวเรา สมเด็จบรมกระษัตริย์โกศลราชบพิตรสถิตอยู่ในคัพโภทรประเทศนี้โดยแท้ แล้วก็กราบทูลว่าพระราชเทวีอย่าได้มีพระราชหฤทัยทุกข์โทมนัศเลย รุ่งขึ้นพรุ่งนี้ก็จะได้สำเร็จพระกมลประสงค์สิ้นทุกประการ แล้วพราหมณ์ปโรหิตก็เข้าไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เปนมหาสมมติเทวราช เวลาพรุ่งนี้ควรที่พระองค์จะยังจตุรงคเสนาให้สรวมใส่เกราะ ทรงสรรพศาตราวุธออกประดิษฐานในที่ยุทธพยุหภูมิแล้ว ให้ชำระล้างซึ่งพระแสงขรรคาวุธด้วยวิสุทธสิโตทกธารา จะเปนมหาไชยมงคล นิมิตรให้พระองค์ทรงสวัสดิภาพเจริญไอสุริยะราชสมบัติ สมเด็จบรมกระษัตริย์ก็ดำรัสสั่งเสวกามาตย์ ให้กระทำตามคำปโรหิตกราบทูลนั้นทุกประการ แลปโรหิตพราหมณ์ก็ยังพระราชเทวิให้สำเร็จมโนรสราชประสงค์สมหฤทัยปรารถนา ส่วนพระอรรคมเหษี เมื่อถึงกาลแห่งครรภปริณัตแล้ว ก็ประสูตรพระราชโอรสคือองค์พระบรมโพธิสัตว จึงพระราชทานนามบัญญัติว่าทีฆาวุกุมาร เมื่อพระราชกุมารถึงซึ่งวิญญูภาพเจริญบมิได้ช้า สมเด็จพระราชบิดาก็ทรงพระราชดำริห์ว่าพระยาพรหมทัตรย่อมมีกระมลประสงค์ จักกระทำภัยพินาศแก่อาตมา ผิทราบว่าอาตมาอยู่ในที่นี้ ก็จะให้พิฆาฎฆ่าสิ้นทั้งทารโอรสบมิได้เศษ ผิฉนั้นควรอาตมาจะให้เจ้าทีฆาวุกุมารออกไปอยู่ภายนอกพระนคร เมื่อทรงพระปริวิตกดังนี้แล้ว ก็ส่งพระราชบุตรออกไปอาศรัยอยู่ณประจันตคามภายนอก แลพระทีฆาวุกุมารก้ไปศกษาศิลปสาตรในสำนักทิสาปาโมกขอาจารย์ ไม่ช้าก็รอบรู้เจนจบในศิลปสาตรสิ้นทั้งปวง ในกาลนั้น ส่วนว่ากัปปกามาตย์ช่างเจริญพระเกศาแห่งสมเด็จพระเจ้าทีฆดิศโกศลนั้น มาอยู่เปนราชเสวกแห่งพระเจ้าพรหมทัตร เมื่อได้เห็นพระเจ้าทีฆดิศโกศล กับพระอรรคมเหษีมาอยู่ณกรุงพาราณสี ก็เข้าไปกราบทูลแด่สมเด็จพระเจ้าพรหมทัตร ๆ ก็ตรัสบังคับให้ราชบุรุษไปจับพระยาทีฆดิศโกศลกับทั้งพระราชเทวี พันธนามาด้วยเชือกให้มั่นมีพาหาอยู่ในปัจฉาภาค แล้วให้โกนสีสะ แลเตวนไปด้วยสำเนียงขะระศัพท์บัณเฑาะไปโดยถนนแลตรอกใหญ่น้อยทั่วพระนคร แล้วให้นำออกทางทักษิณทวาร ประหารกายให้ขาดออกเปนสี่ท่อน แล้วทอดทิ้งไว้ในทิศทั้งสี่ แลราชบุรุษก็กระทำตามราชอาณัติอาญา พันธนากระษัตริย์ทั้งสองเตวนไปทั่วพระนครพาราณสี ในขณะนั้นฝ่ายพระทีฆาวุราชกุมาร มีพระกระมลระฦกถึงพระชนกชนนีก็เข้ามาภายในพระนครเพื่อจะเยี่ยมเยือน ได้ทอดพระเนตรเห็นอุไภยกระษัตริย์ เสวยพระทุกข์ราชทัณฑ์ดังนั้น ก็ตกพระไทยแล่นเข้าไปสู่สำนัก แล้วถวายบังคมสมเด็จพระราชบิดา ๆ จึงดำรัสพระราชทานราโชวาทว่า “มาโข ตฺวํ ตาต ทีฆาวุกุมาร ทีฆํ ปสฺส มา รสฺสํ หิ ตาต ทีฆาวุ เวเรน เวรา น สมนฺติ อเวเรน หิ ตาต ทีฆาวุ เวรา สมนฺติ” ดูกรพ่อทีฆาวุกุมารพ่อจงอย่าได้ทัศนาซึ่งกาลอันยาวแลกาลอันสั้น อันธรรมดาว่าเวรจะรำงับด้วยเวรนั้นบมิได้ แลเวรนั้นจะรำงับก็เพราะด้วยปราศจากเวร เมื่อพระราชทานโอวาทานุศาสน์แก่พระราชโอรสดังนี้ ฝ่ายว่าราชบุรุษทั้งหลายก็กล่าวว่าพระยาทีฆดิศโกศลนี้ ชรอยจะเปนอุมัตตกะชาติ มีสติอันวิปลาศหลงใหล เหตุมรณภัยหากคุกคาม จึงกล่าวแก่เจ้าทีฆาวุกุมารดังนี้ ส่วนพระเจ้าทีฆดิศโกศลจึงตอบว่าเราจะได้พูดเพ้อพิกล เสียสติสัมปชัญญะนั้นหามิได้ เบื้องว่าบุคคลใดที่เปนปราชญ์ ผู้นั้นอาจแจ้งในอรรถาธิบายแห่งเรา แล้วก็ตรัสซ้ำอนุศาสนกถาแก่พระราชบุตรเหมือนดังนั้น อิกสองครั้งสามครั้ง ราชบุรุษทั้งหลายก็นำกระษัตริย์ทั้งสองไปโดยทางทักษิณทวาร ออกนอกพระนครข้างทิศภายใต้ แล้วก็ตัดพระกายพระเจ้าทีฆดิศโกศลกับทั้งพระมเหษีให้ขาดออกเปนสี่ท่อน แล้วทอดทิ้งไว้ในทิศทั้งสี่ ตั้งไว้ซึ่งชนให้อยู่รักษาแล้วก็ไปจากที่นั้น ส่วนพระทีฆาวุกุมาร เมื่อตามพระชนกชนนีมา จนกระษัตริย์ทั้งสองสิ้นพระชนม์ชีพแล้ว ก็กลับไปภายในพระนคร นำมาซึ่งสุราให้ชนทั้งหลายอันรักษานั้นบริโภคจนมึนเมาล้มลงในที่นั้นแล้ว ก็ไปเก็บซึ่งฟืนมากระทำฌาปนกิจ ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดามารดร แล้วถวายอัญชลีกรกระทำประทักษิณสิ้นตติยวารแล้วก็ไปจากที่นั้น ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตร เสด็จสถิตย์อยู่ณสีหบัญชร เบื้องบนปรางค์ปราสาทมีพื้นอันสูง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระทีฆาวุกุมารกระทำอาการดังนั้นก็ทรงพระราชดำริห์ว่า บุรุษผู้นั้นชรอยจะเปนญาติสาโลหิตแห่งพระยาทีฆาดิศโกศลโดยแท้ หาสงสัยมิได้ ดังอาตมาปริวิตก ผิว่าบุรุษผู้นั้นจะคิดกระทำภอันตรายแก่อาตมา แลผู้ใดจะนำเอาเหตุมาบอกแก่อาตมานั้นมิได้มี ทรงพระราชดำริรังเกียจแต่ภัยดังนี้ ส่วนพระทีฆาวุกุมารก็เข้าไปสู่อรัญญประเทศแล้ว ทรงพระโศกาดูรภาพพิไรรักพระราชบิดามารดา โดยควรแก่โศกแล้ว ก็กลับเข้ามาในพระนครพาราณสีแล้วเข้าไปสู่โรงกุญชรชาติ ในที่ใกล้พระราชนิเวศน์ จึงไปขอเล่าเรียนซึ่งหัตถีศิลปสาตร เปนศิษย์ในสำนักนายหัตถาจารย์ แล้วอาศรัยอยู่ในที่นั้น ครั้นเวลาปัจจุสสมัยราตรี พระทีฆาวุกุมารตื่นจากนิทรารมณ์แล้วก็ดีดพิณขับด้วยเสียงอันไพเราะ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตรฟื้นจากที่สิริไสยาสน์ ได้ทรงสดับมธุระศัพทสำเนียงดังนั้น จึงตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปสืบถาม ได้ทรงทราบแล้วก็ให้หาพระทีฆาวุกุมารเข้าไปสู่ที่เฝ้าแล้วให้ดีดพิณขับร้องถวาย ชอบพระราชอัธยาไสย จึงตั้งไว้เปนราชเสวก แลพระทีฆาวุกุมาร ประกอบด้วยอุสาหะในราชกิจทั้งปวง ไม่ช้าก็ได้เปนที่วิสาสิกามาตย์คนสนิท ไว้พระทัยแห่งสมเด็จบรมกระษัตริย์ อยู่มากาลวันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตร เสด็จไปประพาศไล่ล้อมหมู่มฤคในอรัญญประเทศ จึงเสด็จทรงมงคลราชรถยาน ยังพระทีฆาวุกุมารให้เปนนายสารถีขับราชรถ แวดล้อมไปด้วยเสนางคนิกรทวยหารเปนอันมาก เสด็จไปสู่พนัสถานที่สโมสรสำนักแห่งฝูงมฤชาติทั้งปวงแลพระทีฆาวุกุมารก็ขับราชรถพระที่นั่งรีบเร็วไป แลรถเสนาโยธาทหารทั้งหลายโดยเสด็จบมิทัน ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตร เสด็จถึงทุรัศพนาสณฑ์สถานไกลจากราชบริษัท เปนสองแต่กับพระทีฆาวุกุมาร จึงตรัสว่าดูกรมานพ ท่านจงปลดม้าอันเทียมแลหยุดรถอยู่ในที่นี้ อาตมามีกายอันลำบากเหนื่อยนัก จักยับยั้งนิปชาการพอรำงับกระวลกระวายประมาณมุหุตหนึ่ง พระทีฆาวุกุมารก็กระทำตามรับสั่ง สมเด็จพระเจ้าพรหมทัตร ก็เสด็จลงจากราชรถ เอนพระองค์ลงไสยาศน์เหนือพื้นปัถพีซบพระเศียรลงประดิษฐานเบื้องบนพระเพลาพระมหาสัตวแล้ว ก็หยั่งลงสู่นิทธารมณ์ในขณะนั้น ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตวก็ดำริห์ว่าพระยาพรหมทัตรนี้ กระทำภัยพินาศแก่อาตมานี้เปนอันมาก แลช่วงชิงเอาซึ่งพลพาหนะพระนครชนบทแลโกษฐาคารรัชสมบัติอาตมา แล้วซ้ำพิฆาฏฆ่าสมเด็จพระชนกชนนี ให้ดับสูญสิ้นพระชนม์ชีพทิวงคต แลกาลบัดนี้ก็ได้โอกาศควรที่อาตมาจักได้กระทำทดแทนสนองเวรแก่พระยาพรหมทัต ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว ก็ถอดซึ่งพระแสงขรรคาวุธราชกุกกุธภัณฑ์ออกจากฝัก แล้วก็กลับปริวิตกเล่าว่า กาลเมื่อสมเด็จพระราชบิดาจักทิวงคตได้ตรัสสั่งสอนอาตมาไว้ว่า เจ้าอย่าได้เห็นซึ่งกาลอันยาวแลกาลอันสั้น ธรรมดาว่าเวรจะรำงับด้วยเวรอันตอบนั้นหามิได้ แลเวรนั้นจะรำงับก็เพราะด้วยปราศจากเวร ตรัสสั่งสอนไว้ฉนี้ แลอาตมาล่วงละเสียซึ่งโอวาทานุศาสน์แห่งพระราชบิดานั้นบมิควร เมื่อทรงพระราชดำริห์ฉนี้แล้ว ก็สอดพระแสงขรรค์เข้าในฝักดังเก่า แล้วกลับดำริห์ในปฏิเวรอาฆาฏอิกเล่า แต่ถอดพระแสงออกจากฝักแล้วใส่เข้าในฝึกดังนี้ ถึงสองครั้งสามครั้ง ลำดับนั้นพอสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตร ก็สดุ้งพระองค์บันทมตื่นเสด็จอุฏฐาการจากที่ไสยาศน์ด้วยฉับพลัน พระทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลถามว่า พระองค์สดุ้งแต่ภัยอันใด จึงเสด็จอุฏฐาการขึ้นโดยพลันดังนี้ จึงมีพระราชโองการตรัสว่า เราสดุ้งด้วยเหตุเห็นซึ่งสุบินนิมิตรว่าเข้าทีฆาวุกุมารโกศลราชโอรสจักพิฆาฏฆ่าอาตมา จึงอุฏฐาการขึ้นโดยเร็วบัดนี้ สมเด็จพระมหาสัตวได้ทรงสดับ ก็จับพระเศียรพระเจ้าพรหมทัตร ด้วยพระหัตถ์เบื้องซ้ายแล้ว ถอดพระขรรค์ออกกวัดแกว่งด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา แล้วตรัสประกาศว่า อาตมานี้คือทีฆาวุกุมารโอรสสมเด็จพระเจ้าทีฆดิศโกศล จักกระทำทดแทนสนองซึ่งเวรแก่บพิตรในกาลบัดนี้ สมเด็จพระเจ้าพรหมทัตรก็ตกพระไทยกลัวแต่มรณภัย จึงซบพระเศียรลงแทบพระบาท พระบรมโพธิสัตวแล้ว ก็ตรัสวิงวอนขอชีวิตว่า ดูกรพ่อทีฆาวุกุมาร พ่อจงมีความกรุณาให้ชีวิตแก่อาตมาเถิด พระมหาสัตวก็ตรัสตอบว่า ถ้าพระองค์ให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าก็จะให้ชีวิตแก่พระองค์ จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ดูกรพ่อทีฆาวุกุมาร ผิฉนั้นพ่อจงให้ชีวิตแก่อาตมาเถิด อาตมาก็จะให้ชีวิตแก่เจ้า แลกษัตริย์ทั้งสองต่างพระองค์ก็ให้ชีวิตแก่กันแลกัน แล้วต่างจับพระหัตถ์กันกระทำสัจสาบาล เพื่อมิได้ประทุษฐร้ายแก่กัน ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตร ก็ตรัสแก่พระทีฆาวุกุมารว่า พ่อจงขับมงคลราชรถนิวัตตนาการเถิด แล้วเสด็จขึ้นทรงรถราชยาน พระมหาสัตวก็ขับราชรถกลับมา มิช้าก็ประสบเสนานิกรทวยหารทั้งปวงแล้ว เสด็จคืนเข้าพระนครพาราณสี จึงได้สันนิบาตมุขมาตย์มนตรี แล้วดำรัสว่าท่านทั้งหลายจงดูหน้าเจ้าทีฆาวุกุมารผู้นี้ คือโอรสแห่งพระยาทีฆดิศโกสล เราควรจะกระทำประการใด แก่บุตรพระยาฆ่าศึกฉนี้ ฝ่ายหมู่อำมาตย์มนตรีทั้งหลายบางจำพวกก็พิพากษาโทษ กราบทูลว่าควรจะตัดเสียซึ่งหัดถบาทแห่งทีฆาวุกุมาร บางจำพวกก็ทูลว่าควรจะตัดเสียซึ่งนาสิกและกรรณทั้งสองซ้ายขวา บางจำพวกก็ทูลว่าควรจะตัดเสียซึ่งสีสะ จึงมีพระราชบริหารดำรัสว่า ดูกรพนาย เจ้าทีฆาวุกุมารราชบุตรพระยาโกศลนี้ เรามิอาจกระทำโทษสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เหตุเจ้าทีฆาวุกุมารนี้ให้ซึ่งชีวิตแก่เรา ฯ ก็ให้ชีวิตแก่เจ้าทีฆาวุกุมารดุจกัน ลำดับนั้นสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตรก็ตรัสถามพระมหาสัตว โดยนัยอันพระบิดาให้โอวาาทในกาลอันจะถึงทิวงคตนั้น จะมีอรรถาธิบายเปนประการใด สมเด็จพระบรมโพธิสัตวเจ้าก็กราบทูลว่า ข้อซึ่งพระราชบิดาตรัสว่าอย่าให้เห็นซึ่งกาลอันยาวนั้น อธิบายว่าอย่าได้กระทำซึ่งเวรอาฆาฏโดยกาลอันนาน อนึ่งข้อซึ่งตรัสว่าอย่าให้เห็นซึ่งกาลอันสั้นนั้น อธิบายว่าเสพซึ่งมิตรแล้วอย่าพลันทำลายจากมิตร ข้อซึ่งตรัสว่าธรรมดาเวรจะรำงับด้วยเวรตอบนั้นหามิได้ แลเวรจะรำงับเพราะด้วยปราศจากเวรนั้น อธิบายว่า เบื้องว่าพระองค์ปลงเสียซึ่งชีวิตแห่งพระบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า อนึ่งบุทคลผู้ใดผู้หนึ่งมีความปราถนาจะกระทำให้เปนประโยชน์แก่พระองค์ แลมาปลงเสียซึ่งชีวิตแห่งข้าพระพุทธเจ้าก็ดี ประการหนึ่งผิว่าข้าพระพุทธเจ้าปลงเสียซึ่งพระชนม์ชีพแห่งพระองค์ อนึ่งบุทคลผู้ใดผู้หนึ่งปราถนาจะกระทำให้เปนประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้า แลปลงเสียซึ่งพระชนม์ชีพแห่งพระองค์ก็ดี อันว่าเวรนั้นจะรำงับด้วยเวรตอบดังนี้หามิได้ แลกาลบัดนี้พระองค์พระราชทานชีวิตแก่ข้าพระพุทธเจ้า ๆ ก็ถวายพระชนมชีพแก่พระองค์ดังนี้ แลได้ชื่อว่าเวรนั้นรำงับด้วยปราศจากเวร อันว่าโอวาทานุศาสน์แห่งพระราชบิดาสั่งสอนไว้ ในขณะมรณาสันนะสมัยนั้น มีอรรถธิบายดุจกราบทูลพระกรุณาฉนี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตรได้ทรงเสวนาการดังนั้น จึงเปล่งออกซึ่งพระราชอุทานกถาว่า “อจฺฉิริยํ วต โภ อพฺภูตํ” ดูกรชาวเราควรจะเปนมหัศจรรย์ยิ่งนัก มิได้เคยมีมาแต่ก่อน อันว่าพระยาทีฆดิศโกศลราชบิดาเปนบัณฑิตชาติอันประเสริฐ ส่วนเจ้าทีฆาวุกุมารราชโอรสเล่าก็กอประด้วยปรีชาณาณอันวิเศษ อาจสามารถรู้อรรถาธิบายแห่งชนโกวาทกถาอันแถลงโดยนัยสังเขป แลจำแนกออกได้โดยอรรถอันพิศดารดังนี้ ควรจะสรรเสริญสาธุการยิ่งนัก ตรัสดังนี้ กพระราชทานซึ่งเบญจราชกุกกุธภัณฑ์สรรพศิริราชูประโภค แลพลพาหนะประชาชาวชนบท แลสิ่งสรรพอเนกวิธราชสมบัติ อันเปนราชเปติกะสันตกะตระกูลคืนให้พระทีฆาวุกุมาร ส่งไปครอบครองไอสิริราชสมบัติ ดำรงบวรเสวตราชาฉัตรณกรุงมิถิลาราชธานี มีโกศลรัษฐชนบทเปนแว่นแคว้น แล้วมอบเวนพระราชธิดาราชาภิเศกให้เปนพระอรรคมเหษี
แลกระษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่างทรงไว้ซึ่งราชอาชญาราชาวุธหวังจะประหัตประหารแก่กัน แลมาทรงประพฤติในขันตีโสรัจธรรมสํารวมรำงับเสียซึ่งเวรอาฆาฏ แลปรนิบัติในสโมสรสามัคคีรสธรรมได้ดังนี้ก็กอประด้วยคุณแลประโยชน์ ยังพระองค์ให้ถาวรวัฒนาการในบวรราชเสวตรฉัตร เสวยซึ่งมานุษยสมบัติภิยโยภาพ ไพบูลย์ด้วยอิศิริยยศ บริวารยศอันใหญ่ยิ่งในทิษฐธรรม เหตุรำงับเสียซึ่งเวรแลตั้งอยู่ในสามัคคีรสธรรมด้วยประการดังนี้ เมื่อสมเด็จพระชินศรีนำมาซึ่งทีฆาวุชาดกสรรเสริญซึ่งอานิสงส์แห่งสามัคคีรสธรรมดังนี้แล้ว ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรสงฆ์ทั้งปวงท่านทั้งหลายจงอดเสียซึ่งความโกรธแลเวรอาฆาฏแก่กัน จงสำรวมในขันตีโสรัจธรรมคืออดใจแลสอนง่าย บมิควรที่จะหมายมั่นทะเลาะวิวาทแก่กัน เหตุดังนั้นอันว่าสามัคคีรสานิสงส์นี้ มีคุณูปการอาจให้เจริญอิศิริยยศ แลบริวารยศในอิธโลก ดุจถวายวิสัชนามาฉนี้ ๚