พระราชปุจฉาที่ ๔

(ไม่พบพระราชปุจฉา มีแต่คำถวายวิสัชนา)

ขอพระราชปุจฉาว่าสรรพสัตวเกิดมาในโลก ก็ย่อมถึงแก่ความตายเปนธรรมดา แต่ผู้ที่ยังอยู่นั้นต้องมาวิโยคโศกเศร้าระฦกถึงผู้ตายจนได้เสวยปิยวิปโยคทุกข์ต่างๆ เมื่อเปนเช่นนี้จะว่าผู้ที่รักใคร่อาไลยถึงนั้น ได้ทำบาปอกุศลไว้ประการใด แลจะได้พ้นจากปิยวิปโยคทุกข์นั้น จะปรนิบัติประการใด แลผู้ที่เศร้าโศกถึงญาติที่ตายไปแล้วนั้น จะมีประโยชน์อันใดแก่ญาติที่ตายไปแล้วเหล่านั้นบ้างฤๅไม่

แก้พระราชปุจฉาที่ ๔

อาตมภาพ พระพิมลธรรม จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในพระราชปุจฉามานั้น อาตมภาพพิจารณาตฤกตรองไป เห็นความว่าลักษณะบุทคลทั้งหลาย อันเปนบุถุชนที่ยังเวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมมีจิตรตกไปจากปีติแลความศุขโดยมาก ย่อมกอบไปด้วยทุกข์โทมนัศขัดอยู่มิได้ขาดเลย เหตุไฉนจึงเปนไปดังนั้นเล่า เหตุว่าสัตวทั้งหลายนั้นย่อมปราศจากสิ่งอันเปนที่รักใคร่ ก็อันใดเล่าซึ่งเปนที่รักนั้น สิ่งอันเปนที่รักนั้นได้แก่สัตวแลสังขาร คือบุตรแลภรรยาประยุรวงศาบิดามารดาคณาญาติทั้งหลาย แลทรัพย์สมบัติทั้งปวงเหล่านี้ เปนที่รักใคร่แก่สัตวทั้งปวง ปางเมื่อชนทั้งหลายมีบุตรภรรยาเปนต้นนั้น ครั้นต้องแสงพระอาทิตย์อันกล้าหาญ กล่าวคือชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์เข้าแล้ว ก็ถึงซึ่งสภาวะหาบัญญัติมิได้ ก็ทำลายสาบสูญล่วงลับไป แต่บุคคลที่ยังเหลืออยู่นั้น ย่อมกอบไปด้วยทุกข์โทมนัศ รฦกถึงผู้ที่รักใคร่อันดับสูญไปนั้น ก็เมื่อเปนอย่างนี้นี่จะว่าบุคคลที่รักใคร่อาไลยถึงนั้นได้กระทำซึ่งอกุศลกรรมไว้เปนประการใด ซึ่งเปนทั้งนี้ก็เพราะอกุศลอันตนได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อน ปางก่อนนั้นตนได้กระทำปาณาติบาตกรรม ครั้นตนกระทำกาลกิริยาตายแล้ว ก็ไปบังเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ครั้นจุติจากอบายภูมิแล้ว ก็ขึ้นมาบังเกิดในมนุษยโลก เมื่อมาบังเกิดนั้นฝ่ายกุศลอันตนกระทำไว้แต่บุพพชาติปางก่อนนั้น เข้าอุปถัมภ์เปนชนกกรรมนำปฏิสนธิให้มาบังเกิดในสกูลอันสูง อุดมไปด้วยสมบัติทั้งหลายเปนอันมาก ครั้นนานมาๆ ผลวิบากแห่งปาณาติบาตที่ตนกระทำไว้นั้นยังหาสิ้นไม่ จึงมาให้ผลเข้าเบียฬตน ให้วิโยคพลัดพรากจากสัตวแลสังขารอันเปนที่รัก กระทำซึ่งบุคคลผู้นั้นให้ได้ความทุกข์โทมนัศ เปนไปทั้งนี้ก็เพราะผลแห่งปาณาติบาตกรรมสิ้นทั้งนั้น เมื่อบุคคลจะปรนนิบัติให้ปราศจากวิปโยคทุกข์นั้น พึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เหตุมีบาฬีในปรมรรถโชติการอรรถกถาขุททกปาฐว่า “ปาณาติปาตา เวรมณิยา เจตฺถ ฯลฯ ปิเยหิ มนาเปหิ สทฺธึ อวิปฺปโยคตา ทีฆายุกตาติ” สำแดงข้อความว่า ผลทั้งหลายมีต้นว่า “องฺคปจฺจงฺคสมนฺนาคตตา” คือภาวะบริบูรณ์ด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ ๑ “อาโรหปรินาห สมฺปตฺติ” คือบริบูรณ์ไปด้วยกายอันสูงแลเปนปริมณฑล ๑ “ชวสมฺปตฺติ” คือบริบูรณ์ด้วยกำลัง ๑ “สุปติฏฺฐิตปาทตา” คือภาวะมีท้าวตั้งเปนอันดี ๑ “จารุตา” คือภาวะรุ่งเรือง ๑ “สุจิตา” คือภาวะสอาด ๑ “มุทุตา สุขิตา” คือภาวะอ่อนแลเปนศุข ๑ “สุรตา มหพฺพลตา” คือภาวะแกล้วกล้าแลมีกำลังมาก ๑ “วิสิฏฺวจนตา” คือภาวะมีถ้อยคำอันสละสลวย ๑ “อเภชฺชปริสตา” คือภาวะมีบริสัชมิได้พลัดพรากจากตน ๑ “อฉมฺภิตา” คือภาวะมิได้สดุ้งตกใจกลัว ๑ “อปฺปธํสิกตา” คือภาวะอันข้าศึกกำจัดมิได้ ๑ “ปรูปกฺกเมน อมรณตา” คือภาวะมิได้ตายด้วยความเพียรแห่งผู้อื่น ๑ “อนนฺตปริวารตา” คือภาวะมีบริวารหาที่สุดมิได้ ๑ “สุรูปตา สุสณฺานตา” คือภาวะมีรูปงาม แลมีสัณฐานอันงาม ๑ “อปฺปาพาธตา อโสกิตา” คือภาวะมีอาพาธน้อยแลมีความโศกน้อย ๑ “โลกปิยตา” คือภาวะเปนที่รักแห่งสัตว์โลก ๑ “ปิเยหิ มนาเปหิสทฺธึ อวิปฺปโยคตา” คือภาวะมิได้พลัดพรากจากสัตวแลสังขารอันพึงรักแลยังจิตรให้จำเริญ ๑ “ทีฆายุกตา” คือภาวะมีอายุยืน ๑ แลผลวิเศษดังสำแดงมานี้เปนผลแห่งการเว้นจากปาณาติบาต

ซึ่งมีพระราชปุจฉาว่า จำเดิมแต่ได้เสวยซึ่งวิบูลราชสมบัติมา จะได้มีความประมาทหามิได้ อุสาหะบำเพ็ญศีลทานการกุศลมิได้ขาด ได้ฐาปนาการพระอารามทั้งหลายไว้เปนอันมาก แล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่ชนทั้งหลาย มีพระราชบุตรแลพระราชธิดาเปนอาทิ ที่ชอบอัชฌาไศรยจะได้เปนที่ปฤกษารักษาซึ่งแผ่นดินสืบไป ไฉนเล่าผลแห่งกุศลที่ได้อุทิศให้แก่ชนทั้งหลายนั้น จึงมิให้ผลแก่ตนแลคนทั้งปวงให้เห็นเปนทิฏฐบ้างเล่า ซึ่งพระราชกุศลที่พระองค์บำเพ็ญนั้น ก็มีผลานิสงส์เปนอเนกอนันต์ คงจะให้ผลไปในอนาคตกาลสิ้นกาลช้านาน ซึ่งจะจัดเปนทิฏฐธรรมเวทนิยกรรมให้ผลเห็นประจักษ์ในชาตินี้ไม่ได้ ซึ่งผลจะเปนทิฏฐธรรมเวทนิยกรรมในชาตินี้นั้น ต่อเมื่อได้พร้อมด้วยสัมปทาทั้งสี่จึงจะให้ผลเห็นประจักษ์ในชาตินี้ได้ แลบรมบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธาบำรุงพระบวรสาสนาในครั้งนี้เปนที่สุดที่แล้ว ทรงกระทำซึ่งพระราชกุศลเปนอาจิณมิได้ขาด พระชนมายุจะวัฒนาจำเริญสิ้นกาลนาน ครั้นสิ้นพระชนมายุสังขารแล้ว อาไศรยเพราะพระราชกุศลเปนอาจิณกรรม ก็จะน้อมนำพระองค์ให้ไปบังเกิดในเทวโลก สมด้วยพระพุทธฎีกาตรัสเทศนาไว้ว่า “อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ” บุคคลผู้ใดเมื่ออยู่ในมนุษยโลก กอปรด้วยศรัทธาเชื่อมั่นในศีลทานการกุศลทั้งหลาย อุสาหะยินดีในที่กระทำการกุศล ครั้นนานมาเกือบใกล้จะถึงมรณาสันภาพ แลมีอารมณ์ตฤกตรองในกองกุศลที่ตนได้กระทำไว้นั้น ก็มีความยินดีในกองการกุศลแห่งอาตมา ครั้นจุติแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในที่อันชื่นชม คือสมบัติในเทวโลก แลบุคคลได้กระทำบาปนั้นย่อมมีความเดือดร้อนไปด้วยอกุศลเมื่อจะใกล้ดับสูญนั้นพิจารณาไป ก็เห็นแต่อกุศลที่ตนได้กระทำไว้ ก็บังเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนด้วยกรรมแห่งตน ครั้นดับสูญแล้วก็ไปบังเกิดในที่อันเดือดร้อนคืออบายภูมิทั้งสี่ ตรัสเทศนาไว้ฉนี้

อนึ่งเล่าพระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ว่า “เปมโต ชายเต โสโก เปมโต ชายเต ภยํ” ซึ่งโศกเศร้าโสกาภยันตราย จะบังเกิดขึ้นแก่สัตวทั้งปวงนั้น ก็ย่อมบังเกิดขึ้นแต่ความรักนั้นสิ่งเดียว พระธรรมเทศนาตรัสไว้ฉนี้ นักปราชญ์ผู้กอปรด้วยธรรโมชปัญญาพึงพิจารณาดูเทอญ ซึ่งอนิจตาธรรมแห่งสัตวทั้งหลาย แล้วก็พึงบำบัดเสียซึ่งวิปโยคทุกข์ให้เบาบางจากสันดานแห่งตนด้วยตทังคปหานแลวิขัมภนปหาน บุคคลผู้ใดมีสติรงับเสียได้ซึ่งความโศกให้เบาบางลงได้บ้าง ทำซึ่งจิตรแห่งตนให้เกษมจากธุลิคือทุกข์โทมนัศได้แล้ว ก็เปนอฺตมมงคลอันอุดมในอิธโลกแลปรโลก

อนึ่งเล่าในคัมภีร์ปรมรรถโชติทีปนีอรรถกถาจริยาปิฎกนั้นมีบาฬีว่า “เปตสฺส หิตาย รุณฺณาทิกํ วา” สำแดงข้อความว่า บุคคลที่เศร้าโศกร่ำไรรักซึ่งญาติอันดับสูญไปแล้วนั้น ประโยชน์แลความศุขอันใดซึ่งจะบังเกิดไปถึงหมู่ญาติทั้งปวงไม่มีเลย มีแต่จะกระทำซึ่งกายของตนให้ได้ความเดือดร้อนอย่างเดียว “เอวํ ติฏฺนติ าตโย อวิทฺธํสิโน” มีบาฬีในคัมภีร์มงคลทิปนี สำแดงข้อความว่า ถึงจะร่ำไรเศร้าโศกประการใดๆ ก็ดี ญาติที่ดับสูญไปนั้น ซึ่งจะได้กลับฟื้นเปนขึ้นมาก็หามิได้ ตั้งอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น

อนึ่งเล่าพระองค์ตรัสเทศนาไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทว่า “ปุตฺตมตฺถิ ธนมตฺถิ อิติ พาโล วิหฺติ” เปนอาทิฉนี้ ว่าบุคคลเปนพาลหาปัญญามิได้ ย่อมพิรี้พิไรไปว่าลูกหญิงของข้า ลูกชายของข้า หลานของข้า แลสมบัติทั้งปวงเปนของข้า ย่อมว่ากล่าวไปฉนี้เนืองๆ อาศรัยเพราะปราศจากวิจารณปัญญา เมื่อพิจารณาไปซึ่งสิ่งของทั้งปวงนั้นก็ใช่ของอาตมาสิ้นทั้งนั้น พระธรรมเทศนาโปรดไว้ฉนี้ แลจะขืนเศร้าโศกไปใช่วิไสย ให้ดูเยี่ยงอย่างชนทั้งหลาย อันมิได้เศร้าโศกในกาลเมื่อบุตรของอาตมาอันอสรพิษขบตายนั้น อนึ่งเล่าความตายนั้นเปนธรรมดา ประเวณีแห่งสัตวโลกทั้งหลาย อันท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสาร อันมรณะนั้นจะได้เว้นจากบุคคลนั้นหามิได้ อนึ่งเล่าในคัมภีร์จริยาปิฎก มีข้อความว่า “คุณํ อนุสฺสรนฺโต” ถ้าแลบุคคลที่ยังอยู่นั้น รฦกถึงคุณแห่งผู้ตายนั้น แล้วก็พึงกระทำกองการกุศลแล้ว ก็พึงอุทิศส่วนกุศลไปถึงเทอญ ก็จะประกอบด้วยผลานิสงส์แก่ผู้ดับสูญไปนั้นเปนอันแท้ อนึ่งเล่าผู้ประกอปไปด้วยวิจารณปัญญา พิจารณาเห็นทุกขลักขณะแลอนิจจลักขณะแลอนัตตลักขณะ ก็พึงเจริญมรณานุสติกรรมฐาน โดยอาการเจดประการอันมีในคัมภีร์วิสุทธิมัคนั้น พึงศึกษาอารมณ์แห่งตนให้แกล้วกล้าในพิจารณาซึ่งมรณานุสติกรรมฐานไว้ให้ชำนิชำนานแต่เนิ่นๆ พึงดูเยี่ยงอย่างประเวณีแห่งโพธิสัตวเจ้าอันบำเพ็ญซึ่งพระโพธิญาณ พระองค์ย่อมให้ปัญจมหาบริจาค มีน้ำพระไทยมิได้ย่อหย่อนพระบารมีตามตันตีพุทธประเพณีพระมหาสัพพัญญูโพธิสัตว ที่ได้ตรัสแต่กาลปางก่อน

ขอถวายพระพร ซึ่งพระราชสมภารเจ้าได้เสวยซึ่งวิบูลราชสมบัตินั้น เพราะพระราชกุศลอันพระองค์ได้กระทำไว้แต่ในบุพพชาติปางก่อน เหตุพระบาฬีในนิธิกัณฑสูตรว่า “ปเทสรชฺชํ อิสฺสริยํ ฯลฯ สพฺพเมเตน ลพฺภติ” อรรถาธิบายความว่า “ปเทสรชฺชํ” อันว่าสมบัติในประเทศก็ดี “อิสฺสริยํ” อันว่าภาวะเปนใหญ่ คือสมบัติแห่งจักรพรรติราชก็ดี “จกฺกวตฺติ สุขํ ปิยํ” อันว่าความศุขแห่งพระยาจักรพรรติ อันบุคคลปราถนายินดีก็ดี “เทวรชฺชํปิ ทิพฺเพสุ” อันว่าสมบัติแห่งเทพยดาในเทวโลกก็ดี แลผลทั้งสี่มีประเทศรัชเปนต้น ดังถวายวิสัชนามานี้ แต่ล้วนบุคคลได้ด้วยบุญนิธิ ขุมทรัพย์คือบุญสิ้นทั้งนั้น

ขอถวายพระพร ซึ่งพระราชปุจฉาดังนี้ ใช่วิไสยที่อาตมภาพจะวิสัชนา ได้เปนวิไสยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวิสัชนา อาตมภาพพิจารณาดูพบบาฬีสองแห่ง คือปรมรรถโชติอรรถกถาขุททกปาฐ ๑ นิธิกัณฑสูตร ๑ พบบาฬีสองแห่งเท่านี้ ขอถวายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ