บทที่ ๒ เป็นครู

ข้าพเจ้าทำงานครูมาก่อนเรียนจบหลักสูตรอักษรศาสตร์ คือเมื่อจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย มีปัญหาเรื่องที่พัก ระหว่างนั้นพี่ชายและพี่ ๆ ผู้หญิง ๓ คนอยู่เพชรบุรี ถ้าข้าพเจ้าจะอยู่ที่บ้านหม้อซึ่งเป็นที่อยู่ปรกติในกรุงเทพฯ ก็ไม่สะดวก เพราะไม่มีผู้ใหญ่อยู่เป็นเพื่อน มีแต่ญาติที่ชราแล้ว ต่างคนต่างก็มีผู้ดูแลกันแต่ละคน ๆ ข้าพเจ้าจึงขออยู่ประจำที่โรงเรียนเอส.พี.จี. ต่อไปอย่างที่ได้อยู่เมื่อเรียนชั้นมัธยม ๘ อาจารย์ชาวอังกฤษก็อนุญาตให้อยู่ และขอร้องให้ช่วยสอนวิชาพฤกษศาสตร์ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่มีครูคนไทยสอน เมื่ออยู่โรงเรียนที่ปีนังข้าพเจ้าเรียนวิชานี้มากกว่าเรียนกันในแผนกอักษรศาสตร์ในโรงเรียนไทย มีหนังสือที่ให้ความรู้ละเอียดพอ จึงยินดีทำงานให้โรงเรียนโดยไม่คิดค่าสอน ต่อมาโรงเรียนขาดครูไวยากรณ์อังกฤษ ขอร้องให้ช่วยอีกข้าพเจ้าก็ได้ช่วยอีกทั้งที่ไม่ชอบเลย เพราะเป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายที่สุด อาศัยที่นักเรียนที่อยู่ในชั้นมัธยม ๗ และ ๘ ของโรงเรียนนั้น เป็นนักเรียนที่สมัครใจมาเรียนเพราะต้องการเข้ามหาวิทยาลัย จึงไม่แสดงความเบื่อหน่ายนัก และคงจะทราบว่าข้าพเจ้าสอนให้โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินจึงมีไมตรีจิตต่อกันเป็นอันดี นักเรียนที่โรงเรียนนั้นเรียกข้าพเจ้าว่า พี่เหลือ ทั้งโรงเรียน เมื่ออยู่ในห้องเรียนก็เรียกเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็พูดด้วยว่า พี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในการทำงานอันนี้ อาจารย์ฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์คนหนึ่ง ท่านผู้นี้เป็นคนมีความคิดเห็นเป็นของท่านเอง ไม่ยอมซ้ำแบบกับใคร ท่านว่าข้าพเจ้าทำผิดมากในการที่ไปสอนโดยไม่ได้รับเงินค่าสอน เพราะเป็นการปิดหนทางมิให้คนอื่นได้มีอาชีพที่เขาควรมี ทำให้ข้าพเจ้าได้คิดว่า การกระทำใด ๆ แม้ที่เราคิดว่าดีที่สุดนั้น ผู้อื่นเขาอาจเห็นจากอีกด้านหนึ่งก็ได้ แต่ข้าพเจ้าไม่สะดุ้งสะเทือนต่อคำทักท้วงของท่าน ประการที่หนึ่ง เพราะระลึกถึงบุญคุณของโรงเรียน เอส.พี.จี. ที่ให้ที่อาศัย ไปมาจากมหาวิทยาลัยได้สะดวกและเพราะข้าพเจ้าทราบว่า โรงเรียนนี้ไม่ร่ำรวย ถ้าข้าพเจ้าไม่สอน โรงเรียนก็จะสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนักเรียนไม่เข้าใจ และไม่สนุกกับวิชาที่น่าสนุกเลย ข้าพเจ้าเคยมีครูที่ทำให้ข้าพเจ้าชอบวิชาพฤกษศาสตร์ที่ปีนัง ก็อยากให้ “น้องๆ” ที่โรงเรียนเซนต์แมรีส์ได้สนุกบ้าง และข้าพเจ้าก็ยังสนุกกับวิชานั้นด้วย นอกจากนั้นแทนที่ข้าพเจ้าจะอยู่ที่โรงเรียนในฐานะเป็นผู้ได้รับความกรุณา แม้ว่าจะเสียเงินค่าที่พักและค่าอาหาร ข้าพเจ้ากลายเป็นผู้มีฐานะให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียน

อาจารย์ฝรั่งเศสที่กล่าวถึงนี้ ข้าพเจ้ารักท่านมาก เพราะท่านทำให้ข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่า การมีความนึกคิดไปในแนวแปลกจากคนอื่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าอับอาย ท่านไม่ชอบคณะมิชชันนารี ท่านไม่เห็นชอบกับการชักจูงให้คนเปลี่ยนศาสนา ท่านว่าศาสนาทุกศาสนา เลวเท่ากัน คือสอนให้คนเชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล ข้าพเจ้าเคยบอกให้ท่านเรียนพุทธศาสนา ท่านบอกว่า พุทธศาสนาก็เหมือนศาสนาอื่น จะให้คนเชื่อในบุญในกรรม ท่านว่าท่านเชื่อไม่ได้ มีบุญมีกรรมแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ท่านว่าประเทศฝรั่งเศสได้รับความยุ่งยากต่าง ๆ โดยพระเป็นต้นเหตุ และในอินเดียพราหมณ์ก็เป็นต้นเหตุ ข้าพเจ้าพูดภาษาฝรั่งเศสยังไม่คล่องพอ และหาโอกาสเถียงกับท่านก็ไม่ค่อยมี จึงเลยเสบอกแก่ท่านว่า ข้าพเจ้าชอบมิชชันนารีทุกชนิด เพราะเขามีความเสียสละ และข้าพเจ้าจะบวชเป็นชีในศาสนาโรมันคาทอลิกเมื่อได้ปริญญาแล้ว ท่านรู้ว่าข้าพเจ้าพูดเล่น ท่านก็พูดเล่นเหมือนกันว่าปีนื้อย่าหวังจะได้ปริญญาฝรั่งเศสจากท่านเป็นอันขาด ท่านอุตส่าห์ไปเจรจากับสถานทูตฝรั่งเศสขอให้จัดหาทุนให้ข้าพเจ้าไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส แต่ทางบ้านข้าพเจ้าไม่สนับสนุน เพราะมีอคติเกลียดฝรั่งเศสมานานตั้งแต่ครั้งเกิดเหตุการณ์ใน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๗) คือเมื่อฝรั่งเศสนำเรือปืนเข้ามาขู่รัฐบาลไทย เรียกค่าเสียหายที่ไทยยิงเรือฝรั่งเศสเป็นเงินถึงสองล้านบาท ตัวข้าพเจ้านั้นเป็นคนไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องไปต่างประเทศหรือการรับปริญญาชั้นสูง เผอิญภรรยาอาจารย์ถึงแก่กรรมจึงเป็นอันเลิกล้มเรื่องการรับทุนของรัฐบาลฝรั่งเศสไป

เมื่อข้าพเจ้าเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปถึงปีที่ ๓ พี่ชายก็นำครอบครัวกลับมาอยู่กรุงเทพฯ มีเหตุการณ์หลายอย่างทำให้เธอต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับเพชรบุรี พี่สาวคนหนึ่งแต่งงาน หลานสาวลูกของพี่ชายก็แต่งงานไปแล้ว เหลือแต่น้องสาว ๓ คน และตัวข้าพเจ้าข้าพเจ้าย้ายจากโรงเรียนเซนต์แมรีส์ มาอยู่ที่บ้านหม้อเมื่อใดก็จำไม่ได้ แต่เมื่อเรียนอยู่ในชั้นปีที่ ๔ ในคณะอักษรศาสตร์ได้กลับมาอยู่บ้านแล้ว

ระหว่างที่เรียนอยู่ในชั้นปีที่ ๔ นั้น ทางโรงเรียนราชินีต้องการครูภาษาฝรั่งเศสสำหรับชั้นมัธยมปีที่ ๗ และท่านอาจารย์ใหญ่ได้แสดงว่ามีพระประสงค์จะให้ข้าพเจ้าไปสอน เพราะมีคนที่คุ้นเคยกับข้าพเจ้าได้ไปทูลว่าข้าพเจ้าจะสอนได้ ข้าพเจ้ารู้ภาษาฝรั่งเศสพอที่จะเรียนในคณะอักษรศาสตร์ก็จริง แต่ไม่แน่ใจว่าจะสอนได้ จึงได้หาครูภาษาฝรั่งเศสให้โรงเรียนราชินีแทนตัวข้าพเจ้า ท่านอาจารย์ก็เลยให้สอนภาษาอังกฤษ ให้เงินเดือน ๖๐ บาท ข้าพเจ้าต้องอนุเคราะห์ญาติอยู่หลายคนในเวลานั้น เห็นว่าการสอนก็ไม่หนักแรงนัก และโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน จึงได้รับสอนเมื่อได้ปริญญาใน พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้ว เข้าเรียนวิชาครู ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงสอนต่อที่โรงเรียนราชินีต่อไป ท่านอาจารย์พอพระทัยมาก ให้ขึ้นเงินเดือนเป็น ๘๐ บาท ทำให้รู้สึกร่ำรวย ได้อุปถัมภ์ลูกของญาติเพิ่มอีก และทางแผนกฝึกหัดครูมัธยม ก็สนับสนุนให้สอน เพราะเวลาสอนไม่ขัดกับการเรียนในแผนก เมื่อทำการฝึกสอนในภาคกลางของปีการศึกษา ตามธรรมเนียมของนิสิตในแผนกฝึกหัดครูมัธยมในสมัยนั้น ก็ฝึกสอนที่โรงเรียนราชินีนั้นเอง หัวหน้าแผนกได้ให้นิสิตในแผนกทุกคนทดลองสอนให้ท่านดู เมื่อได้เห็นการสอนของข้าพเจ้าแล้วก็บอกแก่อาจารย์อื่น ๆ ในแผนกว่าระหว่างที่นิสิตฝึกสอน ให้เอาใจใส่กับนิสิตอื่นไม่ต้องเอาใจใส่กับข้าพเจ้า เมื่อท่านมีเวลาท่านจะไปดูเอง ท่านไปดูครั้งเดียว ท่านติการสอนและการแนะนำให้ใช้อุปกรณ์การสอนเพิ่มเติมมีชอล์กสี เป็นต้น แล้วท่านก็บอกว่าท่านต้องเอาใจใส่กับนิสิตอื่น ๆ มากกว่า ให้ข้าพเจ้าพยายามปรับปรุงตนเอง ถ้ามีปัญหาก็ให้ไปหารือ แต่ข้าพเจ้าไม่พบปัญหาอะไรมาก เพราะนักเรียนในห้องเรียนมีจำนวนน้อย มีไม่ถึง ๒๕ คน และเป็นนักเรียนที่สนิทสนมกับครูเหมือนเป็นลูกหลาน เพราะท่านอาจารย์ท่านวางพระองค์อย่างเป็นแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของนักเรียน ข้าพเจ้าเคยวางตัวกับนักเรียนที่เซนต์แมรีส์ เอส.พี.จี. มาเหมือนเป็นพี่สาว ถึงแม้นักเรียนที่โรงเรียนราชินีจะเรียกว่าครู ก็ไม่ห่างเหินกัน จึงสอนไปได้โดยไม่มีอุปสรรคมากนัก มีนักเรียนที่ขี้เกียจบ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดา เมื่อถูกติดตามทวงการบ้านบ่อย ๆ นักเรียนก็เบื่อในการที่จะถูกทวง จึงมักรีบมาส่ง การสอนแบบเก่านั้นง่ายมาก สอนให้นักเรียนเข้าใจและจำได้เฉพาะเรื่องที่สำคัญ ๆ ก็เป็นที่พอใจ ครูต้องขยันในการตรวจแบบฝึกหัดเท่านั้น ข้าพเจ้าได้รับการสอนภาษาอังกฤษโดยค่อนข้างจะเป็นสมัยใหม่จากอาจารย์อังกฤษในแผนกฝึกหัดครู มีหลักการสอนที่สำคัญคือ ไม่ให้โอกาสนักเรียนทำผิดเสียก่อน ให้ป้องกันการทำผิด ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องหนักใจ แม้ในการตรวจแบบฝึกหัด นักเรียนก็ไม่ทำผิดมากนัก

ข้าพเจ้ามีอายุเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว ได้เห็นชีวิตมาพอที่จะเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ ได้เรียนวิชาจิตวิทยาพอสมควร ข้าพเจ้าจึงสามารถเก็บความรู้สึก ความคิดที่ข้าพเจ้ารู้ว่า ถ้าหากพูดออกไป จะทำให้ใครพอใจใครหรือไม่พอใจ ท่านอาจารย์นั้นท่านเป็นคนที่ต้องเรียกว่าหัวใหม่ ท่านไม่ค่อยมีระเบียบนัก พอพระทัยที่จะตามใจนักเรียน และให้นักเรียนแสดงความรู้สึกออกมาอย่างไม่เกรงใจใคร ท่านก็ตักเตือนอย่างอ่อนละมุน เช่นนักเรียนอาจพูดจาเสียดสีกันต่อพระพักตร์ท่าน ท่านก็ว่า “ทำไมต้องพูดกะตักกะตากกันด้วยเล่า” นักเรียนก็หัวเราะกันคิกคัก รู้ตัวว่าประพฤติไม่ดีโดยไม่มีความรู้สึกว่าได้ทำผิดอะไรมากนักหนา ซึ่งเป็นวิธีอบรมเด็กวัยรุ่นที่ดีที่สุด ท่านทรงพระเมตตาข้าพเจ้ามาก เรียกให้ไปเฝ้าที่ห้องทรงอักษรและซักถามเรื่องนักเรียนบ่อย ๆ สมุดประจำวันนักเรียนฝึกหัดสอนที่มหาวิทยาลัยให้ท่านทรงแสดงความเห็น ท่านก็บอกแต่ความดีไม่มีอะไรเสียหายเลย ใช้ถ้อยคำก็ไพเราะ ใช้คำว่าเธอ สำหรับข้าพเจ้าทุกคำ ข้าพเจ้ารู้สึกอายมาก ต้องนำไปให้ทรงแก้ว่าดีเกินไป ท่านกลับรับสั่งว่า “เธอต้องรู้ว่าผู้ใหญ่เขาพูดตามใจจริง จะไปอายทำไม” แล้วเลยทรงชวนให้เป็นครูต่อไปที่โรงเรียนราชินี ข้าพเจ้าไม่กล้ารับคำเพราะไม่แน่ใจว่าจะสอนต่อไปที่โรงเรียนราชินีนั้น จะตรงกับความประสงค์ของข้าพเจ้าหรือไม่ ที่โรงเรียนนั้นคณะครูมีอุปนิสัยดีกันโดยมาก ไม่มีคนที่พูดจาก้าวร้าวหรือติฉินครูอื่น ๆ ลับหลัง หรือแสดงว่าแข่งดีกันเลย แต่มีข้อที่ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าข้าพเจ้าอยู่ที่โรงเรียนราชินี จะไม่ได้ทำประโยชน์อะไรนัก คือครูโดยมากมีความคิดว่าโรงเรียนราชินีเป็นโรงเรียนดีกว่าโรงเรียนอื่น ๆ ทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว ไม่จำเป็นต้องขวนขวายปรับปรุงอะไรอีกต่อไป ดูเหมือนมีท่านอาจารย์คนเดียวที่มีความคิดอยากจะทำอะไรต่อไปให้แปลกไปอีก แต่ข้าพเจ้าสังเกตดูพระนิสัยแล้ว เห็นว่าท่านเหมาะจะเป็นผู้ศึกษาค้นคว้า อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า scholar มากกว่าอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมัธยมในสมัยที่ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้ารู้ว่า สังคมไทยจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ซึ่งจะทำไม่ได้ด้วยความดีอย่างเดียวอย่างที่ท่านอาจารย์ทรงประพฤติ โรงเรียนราชินีจะเป็นโรงเรียนของลูกหลานคหบดี (เวลานั้นขุนนางกับเจ้าหมดอำนาจและอิทธิพลไปแล้ว) แต่วิธีการของโรงเรียนราชินีจะไม่เข้ามีส่วนกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงของสังคมนั้น

ก่อนปีการศึกษาจะผ่านไป ก็ปรากฏผลออกมาตามที่ข้าพเจ้าคาด คือกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนแผนการศึกษาอย่างกระทันหัน เลิกการสอนชั้นมัธยมปีที่ ๗ - ๘ ทั้งประบระเทศ ให้ทุกมหาวิทยาลัยตั้งโรงเรียนเตรียมของตนเองขึ้น หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายให้วางแผนสำหรับจัดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วได้เป็นผู้อำนวยการ และท่านได้คัดเลือกนิสิตจํานวนหนึ่งที่เรียนจบวิชาครูในปีนั้นไว้เป็นคณะครูของโรงเรียน ร่วมกับครูที่สอนอยู่แล้วที่โรงเรียนหอวัง และอาจารย์จากแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์ บางคน

ภาวะแวดล้อมการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเตรียมฯ จุฬาฯ

ก่อนที่จะเล่าถึงการเป็นครูของข้าพเจ้า เห็นควรให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้มีความตั้งใจในอันที่จะมีอาชีพครูเลย ถ้าข้าพเจ้าเป็นครูดีสำหรับศิษย์บางคน ขอให้ศิษย์เหล่านั้นระลึกถึงภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้ผ่านพบประสบมา อาทิ ผู้ที่อบรมข้าพเจ้าทางบ้าน และครูอาจารย์ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ เมื่อข้าพเจ้าเริ่มรับราชการนั้น ข้าพเจ้าอยู่ในวัยฉกรรจ์ ถึงแม้จะมีโรคภัยเป็นประจำแต่ก็ยังมีกำลังดีอยู่ตามวัย ข้าพเจ้าถือหลักว่า เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำอะไรก็ตาม ก็ต้องพยายามทำให้เต็มความสามารถ และทำใจให้ชอบให้สนุกกับสิ่งที่ต้องทำ เมื่อข้าพเจ้าต้องมีอาชีพครู ข้าพเจ้าก็จะพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดที่จะทำได้ แต่เหตุที่ข้าพเจ้าเป็นครูนั้น หาใช่เพราะตัวเองไม่ แต่เป็นเพราะบุพกรรมมากกว่า หรือจะเรียกว่าดวงชาตาก็ได้คือ พี่สาวคนถัดไปของข้าพเจ้าอยากเป็นครู มีความเชื่อว่าการเป็นครูเป็นอาชีพที่ดี ที่เป็นประโยชน์มาก แต่ตัวข้าพเจ้าไม่ค่อยคิดอยากเป็นอะไรมากนัก ถ้าจะกล่าวถึงความสุขในการกระทำอะไร ก็มีการเล่นละคร เป็นความปรารถนาลึกๆ อยู่ในจิตใจ แต่ภาวะแวดล้อมก็ไม่อำนวย และเป็นคนไม่ขวนขวายที่จะเป็นอะไร โอกาสมีมาให้เป็นอะไรก็รับเอาเป็นอย่างนั้น พี่สาวคนถัดไปของข้าพเจ้านี้มักจะพยายามชวนใจให้ข้าพเจ้าอยากเป็นครู เพราะตนเองนั้นพลาดโอกาสไป การที่จะทำงานเป็นครูในโรงเรียนของคนที่นับถือศาสนาอื่น ก็ไม่สมควรนัก จะไปเป็นครูในโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนราษฎร์ของไทย ทางบ้านก็ไม่สนับสนุนเพราะไม่พอใจกับวิธีการศึกษาและวิธีการอื่นๆ อีก แต่สมัยกาลเปลี่ยนแปลงไป เมื่อข้าพเจ้าเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่พอสมควรแล้วพี่ชายก็เปลี่ยนความคิดนึกไปบ้าง และเชื่อถือการศึกษาในมหาวิทยาลัยพอประมาณ จึงไม่ขัดขวางการที่ข้าพเจ้าจะไปเป็นครู นั่นเป็นข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่งก็คือ วันหนึ่งพี่ ๆ น้อง ๆ สนทนากับจีนเจ้าของโรงเลื่อยคนหนึ่งที่จังหวัดเพชรบุรี จีนผู้นี้เป็นคนมีข้อคิดเห็นและสามารถในการพูดจา ได้กล่าวว่า คนมีปัญญาแล้วไม่ใช้ปัญญาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้นบาป เอาปัญญามาเก็บเสียคนเดียว เกิดชาติหน้าจะโง่ พี่สาวคนถัดไปที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงแล้วนั้นก็ยิ่งเตือนให้ข้าพเจ้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเพื่อจะได้เป็นครู และพี่อื่น ๆ ก็สนับสนุนด้วย เพราะเกิดเชื่อกันขึ้นมาว่า คนทุกคนควรมีส่วนในการรับใช้บ้านเมืองมากที่สุดที่จะทำได้ พี่ๆ นั้น กาลเวลาไม่อํานวยให้ได้ทำอะไรนัก แต่ข้าพเจ้านั้นมีโอกาส ข้าพเจ้าจึงรับความเห็นนั้นและได้ไปเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย

ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นคนในวัยสาว คือระหว่างอายุ ๑๗ - ๒๐ นั้น ในบรรดาครอบครัวไทยในพระนครที่มีฐานะดีพอสมควร ก็เพ่งเล็งกันอยู่ในเรื่องว่า ลูกหญิงหลานหญิงหรือน้องหญิงจะได้แต่งงานหรือไม่ แต่งกับใคร มีหน้ามีตาหรือต้องกล้ำกลืนฝืนใจรับ ในครอบครัวของข้าพเจ้านั้นแปลกจากครอบครัวอื่น พ่อมีชื่อเสียงว่าเป็นคนหวงลูกสาวที่สุด คือได้ออกปากไว้ว่าจะไม่แต่งงานให้ลูกสาวคนไหนไม่ว่าผู้ใดจะมาขอก็จะไม่ตกลงด้วยทั้งนั้น ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงของท่าน ท่านได้สิ้นชีวิตไปโดยนำเอาเหตุที่แท้จริงในใจของท่านไปด้วย เริ่มแรกทีเดียว ท่านไม่ได้ถือหลักนี้ ท่านได้ยินยอมให้เพื่อนข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นที่นับถือของท่าน หมั้นลูกหญิงที่รักของท่านคนหนี่งให้แก่ลูกชาย ลูกชายคนนี้ไปศึกษาต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็พาภรรยาจากต่างประเทศมาด้วย ตั้งแต่นั้นก็ไม่ตกลงรับหมั้นลูกผู้หญิงคนไหนอีกเลย ไม่ว่าจะโดยเหตุผลสมควรหรือไม่ประการใด แต่ท่านมีวิธีแปลก ๆ คือ เมื่อมีชายหนุ่มที่ท่านถูกใจมากมาที่บ้าน ท่านก็ไม่ป้องกันให้ลูกสาวรู้จัก ลูกสาวของท่านบางคน ด้วยความจำเป็นก็ต้องออกจากบ้านไปมีสามีเป็นชายที่ตนเลือกเอง ครั้นท่านไปพบลูกเขยนอกบ้าน ท่านก็เข้าไปสนทนาด้วยเป็นอันดี ลูกเขยคนหนึ่งไปมาหาสู่กับท่าน ลูกของท่านบางคนก็หาสามีที่เหมาะสมแก่ตระกูลและฐานะได้ บางคนก็หาไม่ได้ ซึ่งก็ต้องเป็นธรรมดาเพราะในเมื่อผู้ใหญ่ไม่ช่วยปลูกฝัง หญิงสาวในสมัยที่ต้องอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ตลอดเวลา ก็ไม่มีโอกาสจะเลือกได้มากนักด้วยตนเอง เมื่อโอกาสมาอย่างใดก็รับเอาโอกาสนั้น ครั้นพ่อสิ้นแล้วก็มีพี่ ๆ ผู้หญิงของข้าพเจ้าแต่งงานไปบ้าง ไปร่วมชีวิตกับชายบางคนตามโอกาสบ้าง เหลืออยู่กับพี่ชาย ๓ คน ในที่สุดดังได้กล่าวแล้ว เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่มีคนเอาใจใส่กับการที่ข้าพเจ้าจะได้แต่งงานหรือไม่ได้แต่งงาน เกือบไม่เว้นตัวที่ได้เข้ามาทำความรู้จัก ข้าพเจ้าได้ยินกับคำปรารภว่าเป็นคนไม่สวยจนเคยชิน แต่ข้าพเจ้าไม่เคยห่วงในเรื่องที่จะได้แต่งงานหรือไม่แต่ง และรำคาญเมื่อมีคนมาแสดงความสนใจในเรื่องนี้ บางคนสนใจด้วยความหวังดี บางคนก็มีทีท่าเยาะเย้ย จนบัดนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่ค่อยเข้าใจท่านเหล่านั้นนัก แต่ถ้าจะให้เดา คงเปนเพราะรำคาญพฤติกรรมของข้าพเจ้าบางอย่าง ซึ่งไม่เหมือนกับผูหญิงสาวในวัยเดียวกันทั่วไป เป็นต้นว่าถ้ามีงานประชุมญาติมิตรโดยมากที่บ้านของข้าพเจ้าเอง หรือในการเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งเป็นโอกาสที่คนจะจับกลุ่มคุยกัน ข้าพเจ้าไปนั่งฟังผู้ชายรุ่นใหญ่ ในวัยเดียวกันกับพี่ชาย ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับพ่อของเพื่อน ๆ ของข้าพเจ้า หรือมิฉะนั้นก็คนรุ่นเดียวกับพี่ชายคนถัดๆ ไป หรือมิฉะนั้นก็ชอบคุยกับหลานๆผู้ชาย ซึ่งเป็นคนวัยเดียวกับผู้ชายที่คนทั้งหลายหมายมาดให้เป็นคู่ของลูกสาวๆของท่าน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะข้าพเจ้าคุ้นกับการฟังผู้ชายคุยกัน ตั้งแต่คนวัยเดียวกับพ่อ ซึ่งหมายความว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือมิฉะนั้นก็ได้ฟังเรื่องต่าง ๆ จากพี่ชายรุ่นใหญ่ ซึ่งมาหาพ่อเป็นระยะ ๆ และการสนทนาของท่านเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้หญิงธรรมดาไม่คุยกัน คือเรื่องราชการ มีเรื่องอาชีพของราษฎรเป็นต้น และเรื่องประวัติของข้าราชการผู้นั้นผู้นี้น่าได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเพราะทำตนให้สอดคล้องกับการโปรดปรานของเจ้านาย หรือทำตนเป็นคนตรง ไม่โอนอ่อนตาม เหล่านี้เป็นต้น

เหตุที่ข้าพเจ้าไม่ค่อยกระวนกระวายว่าจะได้แต่งงานหรือไม่นั้น อาจเป็นเพราะว่า มีคนมาติดต่ออยู่เป็นระยะ ๆ ไม่ห่างกันนัก บางรายก็ติดต่อกับผู้ปกครอง หรือญาติใกล้ชิด ซึ่งได้ถูกปฏิเสธไปโดยไม่ได้หารือข้าพเจ้าเลย หรือติดต่อกับตัวข้าพเจ้าเอง ซึ่งข้าพเจ้าต้องทำให้เข้าใจว่าจะรักษาความสัมพันธ์ให้ยืดเยื้อไปไม่ได้ เพราะรู้ว่าผู้ปกครองจะไม่พอใจบ้าง หรืออาจเป็นความอยากไม่เป็นอะไรตามธรรมชาติของข้าพเจ้าก็ได้ คือไม่ทะเยอทะยานในเรื่องใด ความเพลิดเพลินของข้าพเจ้าอยู่กับการมีเพื่อนคุย ซึ่งไม่ค่อยขาดเลย เพราะมีญาติมาก บางคนมาติดต่อกับพี่ ๆ ผู้หญิง ก็เลยต้องเป็นเพื่อนคุยกับข้าพเจ้าไปด้วย หลาน ๆ ผู้ชายซึ่งมักมีอายุแก่กว่าข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าชอบคุยด้วยมาก เพราะอาจซักถามเรื่องลี้ลับที่สุดอย่างไรก็ได้ หลาน ๆ ผู้ชายจะเล่าให้ฟังโดยไม่กระดาก เพราะข้าพเจ้ามีฐานะเป็นอาเขาไม่รู้สึกว่าเป็นการสนทนากับผู้หญิงสาว และอาจเป็นเพราะข้าพเจ้ามีญาติผู้ชายหนุ่ม ๆ มากนั่นเอง ข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยกระวนกระวายในเรื่องที่จะได้แต่งงานหรือไม่แต่งงาน เพราะมักรู้ความลับของครอบครัวหนุ่มสาวจากญาติผู้ชายหนุ่ม ๆ เมื่อได้รับทราบว่าหญิงสาวคนไหนแต่งงานอย่างมีหน้ามีตาไปแล้วไม่กี่มากน้อย ก็จะได้รับทราบถึงความซุกซนของผู้ชายที่เป็นเจ้าบ่าวที่หรูหราในเวลาเร็ววัน บางคนก็ไม่ถึง ๒ ปี การที่ได้รับรู้เรื่องชีวิตลับของผู้ชายหนุ่มมากหน้าหลายตา ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ความเดือดร้อนนั้นมีอยู่ทั่วไป

ข้าพเจ้าได้รับราชการอย่างเร็ว หลังจากได้ทราบผลการสอบไม่กี่วัน คือในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ระเบียบของราชการเวลานั้น ให้ผู้ที่ได้รับปริญญาและอนุปริญญาของมหาวิทยาลัย เป็นข้าราชการชั้นโทเลยทีเดียว ชีวิตราชการของข้าพเจ้าจึงเริ่มด้วยการเป็นข้าราชการชั้นโทและเป็นที่น่าแปลกใจว่า ตั้งแต่ข้าพเจ้าเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ของโรงเรียนเตรียมฯ ก็ไม่มีคนชั้นคุณแม่ คุณป้า คุณน้า มาสนใจกับการที่ข้าพเจ้าจะได้แต่งงานหรือไม่ เสมือนว่าท่านสิ้นหวังแล้ว อีกนัยหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเพื่อน ๆ ร่วมวัยกับข้าพเจ้าได้แต่งงานไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าไม่เป็นภัยอันตรายอันใดแก่เชื้อสายท่าน ไม่ว่าจะในทางเข้าร่วมสังเวียนแข่งขัน หรือในทางที่อาจชักพาให้ทำตามได้อีกแล้ว หรือจะเพราะเหตุใดก็ต้องใช้การเดาทั้งสิ้น

ท่านที่อ่านเรื่องนี้บางคนอาจอยากรู้ว่า วิธีการแสดงความข้องใจของผู้ปกครองหญิงสาว เกี่ยวกับหญิงอื่นที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของตนนั้นมีลักษณะอย่างไร ข้าพเจ้าว่าถ้าจะบันทึกไว้เป็นประวัติพฤติกรรมของสังคมก็อาจเป็นประโยชน์แก่นักสังคมวิทยาในอนาคตหรือในปัจจุบันได้ วิธีการต่าง ๆ ก็มีการใช้คำพูดในโอกาสต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า

“คุณบุญเหลือนี่สวยสู้คุณ.....ไม่ได้ เรียนหนังสือมากไปกระมัง”

“เป็นไง ทำไมแต่งตัวสีอย่างงี้ ไม่สมกับผิวพรรณ ทำให้ดูซีด ๆ ไม่เหมือนคุณ.......นั้นเขาดูสดใสอยู่เสมอ"

“ลูกผู้หญิงเราน่ะ อะไร ๆ ก็ไม่สำคัญเท่าการเรือน จะเรียนอะไรไป ๆ มันก็ไกวเปล”

คำพูดชนิดนี้ข้าพเจ้าไม่เคยโต้ตอบเลย แต่ดูสายตาญาติของข้าพเจ้าแล้ว รู้ว่ากระทบกระเทือนใจกันมากและญาติบางคนก็ไม่สบายใจที่ข้าพเจ้าไม่แสดงความรู้สึกอะไรทั้งสิ้น มีญาติผู้ใหญ่เลียบเคียงถาม ใช้คำพูดเป็นต้นว่า “ว่าไง เคยคิดยังไงบ้าง คิดจะอยู่กับพี่ชายไปเรื่อย ๆ หรือยังไง” คำเลียบเคียงเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็บังเอิญหาคำตอบที่เหมาะสมไม่ได้สักคราวเดียว ได้แต่คิดในใจว่าคำถามชนิดนี้ไม่ต้องการคำตอบ ที่จริงถ้ารู้จักชีวิตมากเท่าเดี๋ยวนี้ ก็จะตอบว่า "ไม่เห็นมีอะไรที่ข้าพเจ้าจะบันดาลให้เป็นไปได้เลย” แต่เวลานั้น ข้าพเจ้ายังคิดว่า การเรียนหนังสืออยู่ในอำนาจของข้าพเจ้า หาได้คิดไม่ว่า ข้าพเจ้าอาจป่วยในวันสอบสำคัญเข้าสักวันหนึ่ง และอาจต้องเรียนซ้ำชั้นทั้งปีเพราะเหตุที่ป้องกันไม่ได้ แต่เมื่อไม่เคยประสบโชคร้ายแรงในเรื่องใด มนุษย์ก็ไม่เฉลียวใจไปในทางนั้น

ในเรื่องการให้นิสิตที่สอบตก เรียนซ้ำชั้นทั้งปีนั้น ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นที่จะกล่าวต่อไปในภายหลัง

การรับราชการ

ได้กล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้าได้รับบรรจุเป็นข้าราชการสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเร็วกว่าผู้จบการศึกษามักได้รับ บางคนรอเป็นเวลาหลายเดือน บางคนรอเป็นเวลา ๒ – ๓ ปี จึงจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ ก่อนที่จะกล่าวเรื่องระบบราชการต่อไป ขอย้อนกล่าวถึงความเห็นของครอบครัวในการที่ข้าพเจ้าจะรับราชการ พี่ชายและผู้ปกครองตามประเพณี เพราะเวลานั้นบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นผู้ที่ถือหลักการรับราชการแน่วแน่ เธอได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการในรัชกาลที่ ๗ เพราะคิดเห็นขัดแย้งกับระเบียบการงานบางอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นความเห็นที่ถูกหรือไม่ อย่างไรก็ตามความคิดเห็นนั้นกระทบกระเทือนใจเธอมาก แต่ไม่เกี่ยวกับหลักการที่อาจนำความกราบบังคมทูลได้ จึงอ้างแต่ว่าหูไม่ดี ไม่ค่อยได้ยิน ต้องกราบถวายบังคมลาออก ซึ่งก็โปรดเกล้าฯ ให้ออกได้ตามความปรารถนา แม้จะออกจากราชการแล้วเธอก็ถือว่า การที่ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นเป็นหลักสูงสุดในชีวิต ถ้าหากพระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์ให้ทำสิ่งใดก็จะต้องทำตามพระราชโองการทุกอย่าง เธอเคยบอกว่า คนมีสัตย์นั้นไม่มีศีล เมื่อได้ให้สัตย์แก่ผู้ใดแล้ว แม้เขาสั่งให้ไปฆ่าใคร ก็ต้องฆ่าได้ เมื่อลูกชายของเธอกลับมาจากศึกษาในสหรัฐอเมริกา เธอไม่สนับสนุนให้ทำราชการ เธอว่าคนทำราชการต้องพร้อมที่จะสละชีวิด และยิ่งกว่าชีวิตได้ เพราะต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็น “ประชาธิปไตย” ทางราชการได้เปลี่ยนประเพณี เลิกให้ข้าราชการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อข้าพเจ้าจะเข้ารับราชการ พี่ชายจึงไม่ห่วงใยนัก เธอรับว่าเธอไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบใหม่เลย แต่ญาติผู้หญิงๆ ก็มีการหารือกันในเรื่องปลีกย่อยบ้าง

ก่อนเปลี่ยนการปกครอง พี่ชายได้พาน้อง ๆ ไปเที่ยวตามต่างจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศ และประเทศใกล้เคียง ได้เห็นความแตกต่างจากท้องที่หนึ่งกับอีกท้องที่หนึ่ง พี่ชายเป็นผู้ที่คบกับชาวต่างประเทศโดยหน้าที่ราชการอยู่เป็นประจำ และได้รับความคิดนึกจากพ่อดูเหมือนจะมากที่สุดในเรื่องการทำราชการ เธอเป็นคนค่อนไปข้าง “หัวใหม่” นิยมการยกย่องคนที่ต่ำกว่าให้สูงขึ้น และไม่ค่อยจะทำตนให้ต่ำกว่าผู้ใดแม้จะสูงศักดิ์เพียงใด เป็นบุคคลที่ได้รับความเกรงใจจากเพื่อนข้าราชการ แม้จนพระราชวงศ์มาก อาจเป็นเพราะเป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาจากพระเจ้าอยู่หัวสองราชการติดต่อกันก็ได้ แต่ก็ประกอบกับบุคลิกลักษณะด้วย เมื่อเธอออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งในสมัยนั้นใช้คำว่าหัวเมือง เห็นข้าราชการผู้น้อยนบนอบต่อผู้บังคับบัญชายิ่งกว่า “คนในบ้าน” นบนอบต่อ “เจ้าบ้าน” ในครอบครัว หรืออาจกล่าวว่าที่ตัวเธอเคยนบนอบต่อพระราชวงศ์ชั้นสูงที่เธอคุ้นเคยก็ว่าได้ โดยเฉพาะฝ่ายหญิงนั้นนบนอบกันมาก เช่นภรรยาของผู้บังคับบัญชานั่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่ง ภรรยาข้าราชการผู้น้อยก็ไม่ยอมนั่งบนเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง ยินยอมและยินดีที่จะนั่งบนพื้นห้อง ฝ่ายภรรยาผู้บังคับบัญชาก็เชื้อเชิญแต่พอเป็นกิริยา คงยินยอม และยินดีที่จะให้ภรรยาผู้น้อยแสดงมารยาทดังได้กล่าวนั้น พี่ชายทนประเพณีอย่างนั้นไม่ได้ เธอถือเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง ถือว่าเป็นการทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในใจของผู้น้อย นำไปสู่การแตกสามัคคี เธอบอกให้น้อง ๆ ไปเตือนพี่สาวรุ่นใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งสามีรับราชการหัวเมืองมานาน จนชินกับประเพณีดังกล่าว ไม่เห็นความบกพร่อง หรือดูดายในเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเป็นเรื่องสำคัญ พี่สาวคนหนึ่งก็แสร้งเป็นคนไม่มีไหวพริบ ทำเป็น “เถรตรง” นำความไปบอกแก่พี่รุ่นใหญ่ตามคำของพี่ชาย ทั้งที่รู้ว่าคงจะกระทบกระเทือนใจพี่สาว เรื่องนี้จะอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ได้ แต่จะยืดยาวเกินไป จึงสรุปแต่เพียงว่า เมื่อข้าพเจ้าจะรับราชการ พี่ชายจึงว่า ในเมื่อถือว่าจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็เชื่อว่าการนอบน้อมกันจนเกินสมควรนั้นก็คงหมดไป ต่อมาหลายปีให้หลัง ข้าพเจ้าได้แจ้งให้เธอทราบว่า การเปลี่ยนระบอบการปกครองนั้นมิได้ทำให้คนเปลี่ยนอุปนิสัยหรือความเคยชินต่างๆ ได้ง่ายนัก ในระยะนั้นพี่ชายได้เลิกหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกันจริงจังแล้ว และเธอเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ดีกว่าข้าพเจ้าจึงไม่แสดงความประหลาดใจอย่างใด

ข้าพเจ้าเข้ารับราชการด้วยความเข้าใจ และหวังว่าประชาธิปไตยจะนำความเปลี่ยนแปลงในทางดีมาสู่บ้านเมือง ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าคนทั้งหลายจะเข้าใจคติต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ และการเป็นครูเป็นโอกาสดีอย่างหนึ่ง ที่จะมีส่วนในการนำมาซึ่งความสมหวัง แนวความคิดที่ครอบครัวข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญแก่บ้านเมืองก็คือ ควรขจัดความโอนอ่อนตามใจกันในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้หมดสิ้นไป และแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาแก่กันและกัน เพื่อจะได้ปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันการ ซึ่งการศึกษาย่อมจะมีบทบาทสำคัญ นั่นคือความคิดในด้านการเมือง และด้านสังคม ส่วนทางวิชาการนั้นก็ใคร่จะได้เห็นคนไทยรุ่นต่อ ๆ ไป มีความเข้าใจกว้างขวางเกี่ยวกับประเทศของตน ในสมัยนี้ก็คงจะใช้คำว่า เข้าใจวัฒนธรรมไทย หรือเอกลักษณ์ของไทย ได้แก่ประเพณีต่าง ๆ สภาพธรรมชาติเกี่ยวกับภูมิประเทศ และสภาพธรรมชาติทางจิตใจของคนไทย รวมไปถึงสุนทรียลักษณ์มีดนตรี การละคร สถาปัตยกรรม ประติมากรรม เป็นต้น เฉพาะตัวข้าพเจ้าเองนั้น ได้แลเห็นจากประสบการณ์ของตนเองว่า ความสามารถอ่านหนังสืออังกฤษได้เป็นกำไรเป็นกุญแจไขคลังความรู้อันใหญ่หลวง และการเข้าใจวัฒนธรรมของคนอื่น ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมของตนได้ง่ายขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าได้ประสบแก่ตนเอง ในกรณีศาสนา การที่ได้ศึกษาศาสนาโรมันคาทอลิกอย่างถี่ถ้วน แล้วมาศึกษาพุทธศาสนาเปรียบเทียบกันนั้น ทำให้เข้าใจศาสนาของบรรพบุรุษได้แจ่มแจ้งกว่า หากว่าจะไม่รู้ศาสนาอื่นเลย แม้กระนั้นเมื่อเริ่มรับราชการเป็นครู ก็มีความประสงค์จะสอนภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ เพราะได้เห็นมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อเป็นนักเรียนในชั้นมัธยม และเมื่อศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ ว่าในชั่วโมงภาษาไทย เป็นโอกาสที่ครูอาจารย์จะทำให้ความนึกคิดของนักเรียนก้าวหน้าขึ้นหรืออยู่กับที่ ได้มากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าขอเป็นครูสอนภาษาไทยแต่ประสบความล้มเหลวเป็นครั้งแรกในการเป็นครู คือทางโรงเรียนขาดครูภาษาอังกฤษ และต้องการให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่เป็นสื่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนเตรียมฯ ในสายวิชานั้น ข้าพเจ้าจึงต้องรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการสอนภาษาอังกฤษ แล้วต่อมาอีกปีหนึ่ง ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นการภายในให้เป็นหัวหน้าวิชาภาษาอังกฤษ ต่อมาอีกในปีแรกที่มีการสงครามอาเซียบูรพา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกภาษาต่างประเทศ

ที่เรียกว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นการภายใน ก็เพราะในสมัยนั้น ไม่มีตำแหน่งหัวหน้าวิชาในระดับมัธยม คำว่าหัวหน้าแผนกวิชาในมหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งสูง ในปัจจุบันนี้ก็คือตำแหน่ง ศาสตราจารย์ หรือในบางมหาวิทยาลัยเรียกว่า หัวหน้าภาควิชา

ควรสังเกตว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์เป็นโรงเรียนแรกที่ได้นำวิธีการนิเทศภายในโรงเรียนมาใช้

การรับราชการในโรงเรียนเตรียมฯ ถ้าจะประเมินจากความสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน และไมตรีจิตที่ได้รับจากผู้ที่เป็นนักเรียนในสมัยนั้นบางกลุ่มบางเหล่า อาจถือว่าเป็นความสำเร็จอันหนึ่งของข้าพเจ้า ถ้าจะกล่าวถึงกิจการด้านวิชาการของโรงเรียนเตรียมแห่งจุฬาฯ ในทางดีก็กล่าวได้หลายอย่างหลายประการ แต่ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวถึงพฤติการณ์ที่คนทั่วไปอาจไม่เห็นว่ามีความสำคัญนัก แต่เป็นเหตุสะเทือนใจข้าพเจ้าจึงจะข้ามไปเสียไม่ได้ พฤติการณ์ดังกล่าวคือ

เรื่องที่หนึ่งคือเรื่องระเบียบให้นักเรียนสวดมนต์เวลาเช้าก่อนเริ่มเรียน ในที่ประชุมอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งผู้อำนวยการเรียกมาปรึกษา มีการถกเถียงกัน (สมัยนั้นยังไม่ใช้คำ อภิปราย) ว่าครูประจำชั้นหรือครูที่สอนชั่วโมงแรกควรจะเข้าร่วมสวดมนต์กับนักเรียนด้วยหรือไม่ ในที่สุดที่ประชุมตกลงว่าครูไม่ควรเข้าไปร่วมด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะให้ครูหันหน้าไปทางทิศใด จะให้นั่งหันหน้าให้นักเรียนจะได้หรือไม่ เพราะถ้าเช่นนั้นครูจะต้องพนมมือไหว้นักเรียน ข้าพเจ้าพยายามชี้แจงว่า ในเมื่อครูและนักเรียนจะสรรเสริญพระรัตนตรัยร่วมกัน การพนมมือหันหน้าไปทิศใดจะมีความสำคัญอย่างไร เพราะรัตนตรัยไมได้ตั้งอยู่ในทิศใด แต่เพื่อจะเอาใจกันหรือไม่เห็นความสำคัญของการสวดมนต์หรือเพราะอะไรไม่ทราบ ก็ตกลงกันว่า ครูไม่ต้องเข้าไปในห้องเรียนจนกว่านักเรียนจะสวดมนต์เสร็จแล้ว เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนส่วนมาก แต่สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่า การที่ครูไม่เข้าร่วมสวดมนต์กับนักเรียนทำให้นักเรียนมีความเข้าใจว่า การสวดมนต์นั้น สำหรับเด็กๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ต้องสวด นอกจากนั้น ครูบางคนหวังดี ห่วงว่านักเรียนจะสวดมนต์ไม่เรียบร้อย ก็ไปเยี่ยม ๆ มองๆ ดูนักเรียนเวลาสวดมนต์โดยครูไม่เข้าใจว่า ประเพณีของพุทธศาสนิกชนนั้น เมื่อได้ยินการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ก็ต้องร่วมแสดงความเคารพนั้นด้วย ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เยี่ยมกรายไปใกล้ห้องเรียนก่อนนักเรียนจะสวดมนต์จบเลย ผู้ใหญ่โดยมากมักมองข้ามความคิดนึกของผู้เยาว์ในเรื่องนี้ การที่จะให้ผู้เยาว์เคารพสิ่งใด ผู้ใหญ่ต้องแสดงความเคารพนั้นให้ประจักษ์ ได้กล่าวแล้วว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเล็ก และก็คงจะถือกันว่าเป็นเรื่องเล็กต่อไป

เรื่องที่สอง นักเรียนเตรียมฯ ในสมัยนั้นต้องเป็นยุวชนทหารทุกคน การเคารพครูสำหรับนักเรียนชายจึงต้องเคารพอย่างทหาร คือเมื่อเดินสวนกับครูหรือพบครูก็ให้หันหน้าให้ครู กางขาและกางแขนแล้วก็ชิดเท้า ระวังตรงอย่างทหาร ผลก็คือ เมื่อนักเรียนชายพบครูในสถานที่นอกโรงเรียน นักเรียนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงใช้วิธีหลบ ครูบางคนน้อยใจรำพันถึงความไม่เคารพของนักเรียน โดยไม่เข้าใจว่า ตามธรรมดาของเด็กผู้ชายในวัยนั้น ก็มีความเก้อเขินอยู่ตามวัยแล้ว นักเรียนคิดไม่ถึงว่าควรยกมือไหว้ครู เพราะไม่เคยชิน มีครูบางคนสอนนักเรียนบางห้องให้เข้าใจ แต่ครูบางคนก็ไม่เข้าใจ นานต่อมา เมื่อนักเรียนแต่งพลเรือนแล้ว โรงเรียนก็ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการเคารพของนักเรียนชาย ข้าพเจ้ากลับไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมฯ หลังจากที่ได้แยกสังกัดไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อข้าพเจ้านั่งรถยนตร์ออกจากโรงเรียน นักเรียนเดินอยู่ตามถนนในโรงเรียน เมื่อเห็นข้าพเจ้าก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องเมินหน้าไปเสียทางอื่น

การตั้งระเบียบให้นักเรียนเคารพครูอาจารย์ในโรงเรียนนั้น คนโดยมากเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ข้าพเจ้าจะพยายามอย่างไรก็ปลงใจเชื่อตามไม่ได้ โรงเรียนควรเป็นสถานที่ฝึกหัดนักเรียนให้รู้จักอยู่ในสังคมที่กว้างขึ้นจากบ้าน แล้วขยับให้กว้างจากโรงเรียนไปสู่สังคมโดยทั่วไปโรงเรียนมัธยม โดยเฉพาะมัธยมปลาย ซึ่งเป็นสถานการศึกษาสำหรับนักเรียนที่เริ่มจะเป็นหนุ่มเป็นสาว ควรถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะอบรมในเรื่องที่จะทำให้นักเรียนไปสู่สังคมนอกโรงเรียนได้ด้วยความสบายใจ ไม่เก้อไม่เขิน “ไม่เชย” แต่นักเรียนชายในเมืองไทยโชคร้ายมากในเรื่องนี้ ต้องปรับตัวเอาเองทั้งสิ้น ยิ่งเป็นเด็กมาจากครอบครัวจากชนบท เคยมีชีวิตแต่ในชนบท ความนิยมของสังคมนั้นเป็นอย่างหนึ่ง เติบโตขึ้น ต้องเข้าสังคมอีกแบบหนึ่งมักต้องลำบากใจ ไม่มีผู้ใหญ่ช่วยสั่งสอนเลย บางคนอายุมาก เรียนวิชาครูจนจบแล้วยังไม่รู้ว่าการกราบคน กราบพระ กราบศพนั้น ในสังคมในเมืองนิยมกันอย่างไร ถ้าจะกล่าวทางธรรมอันแท้จริง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องนอกกาย แต่ในสังคมที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี คนที่รู้ประเพณีก็ถือเอาเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่โต ซึ่งอาจนำความโกรธเคือง ความแค้นใจมาสู่ผู้ที่มีโอกาสจะเรียนในเรื่องเช่นนี้น้อยกว่าตน ทำให้เกิดความแตกแยก มีคำว่าไพร่ ว่าผู้ดีเกิดขึ้น ในที่สุดก็เลือกทางง่ายที่สุด คือทางไพร่ แล้วก็เรียกทางไพร่ว่าทางเสรีนิยมบ้าง ทางอิสระบ้าง จากความรู้สึกแตกแยกเล็ก ๆ น้อย ๆ นำไปสู่ความรู้สึกแตกแยกใหญ่ ๆ นั้นง่ายมาก โรงเรียนควรฝึกหัดนักเรียนให้รู้จัก “กาลเทศะ” ให้เป็นคนช่างสังเกต ช่างพิจารณา ทุกโอกาสในชีวิตของตน ไม่ตั้งระเบียบไว้เพื่อความสะดวกของโรงเรียนหรือคณะครู นักเรียนควรได้รับการสอนให้รู้จักไหว้ ไหว้อย่างไรในโอกาสใด ไหว้ใครเพื่ออะไร เหตุใดนักเรียนจึงต้องกางแขนกางขาเคารพครูทุกเช้าเย็น มีความหมายแก่ชีวิตอย่างไรประเพณีนี้ ได้ระบาดจากโรงเรียนเตรียมฯ ไปยังโรงเรียนมัธยมอื่น ๆ ด้วย ภายหลังที่กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนระบบโรงเรียนใหม่ภายหลังสงคราม คือกลับให้มีการสอนชั้นมัธยมปลาย เรียกว่าชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนทั่วๆ ไปอย่างที่เคยทำมาแต่เดิมก่อนเปลี่ยนไปตั้งโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย

เรื่องทำนองนี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวในที่ประชุมต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการหลายครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดเอาใจใส่จึงเป็นความล้มเหลวอันหนึ่งของชีวิตครูของข้าพเจ้า

  1. ๑. มองสิเออร์ ยอร์ซ วิยาล

  2. ๒. ม.จ. หญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล

  3. ๓. หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยมในเวลานั้น คือ ม.ล. ปิ่น มาลากุล

  4. ๔. .ล. บุบผา

  5. ๕. ม.จ. แววจักร จักรพันธุ์

  6. 6. พระยาเพชรดา (สอาด ณ ป้อมเพชร)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ