อารัมภบท

ในการที่ข้าพเจ้าจะมีอายุครบ ๕ รอบในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ นี้ ได้มีผู้ที่กรุณามาแสดงความประสงค์ที่จะช่วยเหลือในการทำบุญหรือฉลองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่คนมีฐานะดีนักในทางการเงิน และผู้ที่มีใจกรุณาเหล่านั้นก็มีฐานะดีกว่าข้าพเจ้าไม่เท่าใด การทำบุญด้วยเงินก็ดี หรือการเลี้ยงอาหารหรือมีงานรื่นเริงกันก็ดี มักจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก มักจะไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับสำหรับคนพอมีพอกิน ข้าพเจ้าจึงคิดว่าควรหาวิธีทำบุญด้วยแรงตามฐานะของเราจะดีกว่า แรงและความสามารถของข้าพเจ้าเท่าที่มีพอจะทำได้ ก็คือการเขียนหนังสือ จึงคิดว่าควรจะทำบุญด้วยการทำสิ่งที่กระทำอยู่นี้

ข้าพเจ้าเลือกเขียนเรื่อง ความสำเร็จและความล้มเหลวในชีวิตข้าพเจ้า ก็ด้วยเหตุว่า ข้าพเจ้ามีผู้ที่อยู่ในวัยอ่อนกว่าถามบ่อย ๆ ว่า ชีวิตข้าพเจ้านั้น ได้ดำเนินมาอย่างไร จึงได้รับความสำเร็จ ทุกครั้งที่ได้ฟังคำถามเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็แปลกใจมาก เพราะข้าพเจ้าเคยคิดว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้รับความสำเร็จในชีวิต ต่อมาได้มีการสากัจฉาในเรื่องนี้ว่า อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว ปรากฏว่า ความเห็นของคนหนึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับอีกคนหนึ่งนั้นไม่ค่อยจะตรงกัน คนหนึ่งว่าตนประสบความล้มเหลว อีกคนหนึ่งมีความเห็นว่า ความล้มเหลวนั้นคือความสำเร็จก็มีอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นหนึ่งอาจมองดูด้วยทรรศนะอย่างหนึ่ง และคนอีกรุ่นหนึ่งมองดูด้วยทรรศนะที่แปลกออกไป ในหนังสือที่เขียนนี้ ข้าพเจ้าจะชี้ให้เห็นความสำเร็จและความล้มเหลวตามทรรศนะของข้าพเจ้า แต่ท่านที่อ่านหนังสือนี้ ก็ย่อมจะมีทรรศนะเฉพาะของท่านแต่ละคน

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือนี้โดยมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เกิดมาเป็นคน ๆ ละรุ่นกับข้าพเจ้า มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เพื่อว่าอดีตภับอนาคตของคนไทยต่างรุ่นต่างวัยจะได้ต่อเนื่องกันเป็นบางส่วน เท่าที่ข้าพเจ้าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ และเจตนาให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการด้วยและเป็นครูด้วย เป็นเบื้องต้น ผู้ที่ต้องการให้เขียนหนังสือนี้ขึ้น โดยมากก็เคยเป็นศิษย์โดยตรง คือได้รับการสอนวิชาบางวิชาจากข้าพเจ้าในห้องเรียน บางคนก็นับถือว่าข้าพเจ้าเป็นครู ทั้งที่ไม่ใช่ศิษย์โดยตรง บางคนก็เป็นศิษย์ของศิษย์ และบางคนก็เป็นเพื่อนที่เคยร่วมงานกันมา ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจะไม่กล่าวถึงชีวิตตอนต้นก่อนทำงานเป็นครูมากนักในภาคที่หนึ่งนี้ ถ้ามีเวลาพอที่จะเขียนภาคที่สองให้ทันวันอายุครบ ๕ รอบ ก็จะเขียนเรื่องชีวิตในตอนต้นให้ละเอียดขึ้น

ในการเขียนเรื่องชนิดนี้ ความลำบากขั้นแรกคือ จะให้สรรพนามสำหรับผู้เขียนว่าอย่างไร ทุกครั้งที่เขียนบทความชนิดที่เป็นสารคดี ข้าพเจ้าต้องเสียเวลาในการชั่งใจวินิจฉัย แล้วตัดเรื่องเอกลักษณ์ของไทยอันนี้ไป บางคราวก็หลายวัน สำหรับเรื่องนี้ก็เช่นกัน ถ้าใช้ผู้เขียน บางโอกาสก็ทำให้เกิดความขรุขระ และฟังดูห่างเห็นจากผู้อ่าน จะใช้ดิฉัน ผู้อ่านโดยมากก็คงจะเป็นคนในฐานะศิษย์ดังที่กล่าวไว้แล้ว ในที่สุดจึงตัดสินใจใช้ ข้าพเจ้า เพราะว่าเป็นคำซึ่งมีความหมายอ่อนน้อมมาแต่เดิม และใช้เป็นคำกลาง ๆ ในปัจจุบันนี้ จะหาคำใดมาใช้ให้เกิดความสนิทสนมกับท่านผู้อ่านยิ่งกว่านี้ก็ไม่ได้ ขอให้ท่านผู้อ่าน เปลี่ยนสรรพนามกันเองตามที่ท่านต้องการ สำหรับท่านผู้เป็นที่เคารพบังเอิญได้อ่านหนังสือนี้ ก็โปรดตีความสรรพนามนั้นไปในทางอ่อนน้อมตามความหมายเดิมของคำนั้นด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ