บทที่ ๑ การศึกษาอบรม

คนเราจะทำงานอันใด เราจะทำไปตามวิธีการที่เราคิดว่าดีที่สุด เหมาะที่สุดของเรา ดีที่สุดของคนหนึ่งมีใช่ดีของอีกคนหนึ่ง ดีของคนหนึ่ง ๆ มักเป็นไปตามการศึกษาอบรม ตามประสบการณ์ ๆ นั้นเอง ดังนั้น เมื่อจะกล่าวถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้ใด การศึกษาอบรมของผู้นั้นจึงมีความสำคัญเป็นอันมาก

ก่อนอื่น ควรทำความเข้าใจความหมายของคำ ๒ คำก่อน คือ การศึกษา และ การอบรม ที่จริงสองคำนี้ควรใช้เพียงคำเดียวคือ การศึกษา แต่เพราะคนไทยยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าใจความหมายของการศึกษาในวงแคบ จึงต้องใช้การอบรมควบคู่ไว้ด้วย การศึกษาที่ไม่มีการอบรมนั้น ไม่ควรเรียกว่าการศึกษา ในวงพระพุทธศาสนา คำว่า สิกข หรือ ศึกษ มีความหมายถึงการอบรมใจโดยตรง แต่คนไทยเรามักเข้าใจว่า การศึกษา คือความที่ได้รับจากโรงเรียน หรือโรงอะไรก็ตามที่มีหลักสูตร มีการสอบขึ้นชั้น และการให้แผ่นกระดาษบอกว่าได้สอบผ่านออกมา โรงที่กล่าวนี้ เราใช้อีกชื่อหนึ่งว่าสถาบันการศึกษา แต่โรงอะไรก็ตามที่ไม่ให้การอบรมนั้น ไม่น่าเรียกว่า สถาบันการศึกษา อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวแล้ว ในเมื่อคนไทยที่จะอ่านหนังสือนี้ อาจมีอยู่หลายคนที่เข้าใจคำ การศึกษา ไม่ตรงกัน จึงต้องอธิบายไว้ในที่นี้ ต่อจากนี้ เมื่อใช้คำ การศึกษา ควรเข้าใจกันได้ว่าหมายถึงการอบรมด้วยเสมอไป

แต่คำ การอบรม นั้นมีความหมายว่าอย่างไร นี่ก็ควรทำความเข้าใจไว้ด้วย คนจำนวนมากเข้าใจว่า การอบรมนั้น ได้รับมาจากการสอนเป็นถ้อยคำ เช่น พ่อแม่สอนลูกว่าให้มีกิริยาดี ให้มีสัมมาคารวะ นี่คือการอบรม แต่แท้ที่จริงแล้ว คนเราได้รับการอบรมโดยไม่รู้ตัวหลายประการ พ่อแม่ที่สอนให้ลูกมีสัมมาคารวะนั้นตัวเองอาจมีมารยาทเลวต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนสูงอายุที่มีฐานะการเงินด้อยกว่าตน เมื่อพ่อแม่ประพฤติเช่นนั้น ลูกก็จะค่อย ๆ รับความเคยชินกับการที่ไม่ใช้มารยาทดีต่อคนที่อยู่ในฐานะด้อยกว่า ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ดำรงฐานะดีทางเงินไว้ ลูกก็อาจรักษามารยาทดีต่อพ่อแม่ และทำตนให้ดูเป็นคนมีสัมมาคารวะ แต่ถ้าพ่อแม่ตกต่ำลงไป ลูกก็อาจไม่รักษามารยาทเพราะความเคยชินกับการแสดงมารยาทเลวต่อคนที่ด้อยฐานะกว่า ดังนั้น พ่อแม่ที่สอนลูกด้วยถ้อยคำ หรือพูดสำนวนสามัญว่าสอนแต่ปากให้มีสัมมาคารวะนั้น ได้อบรมลูกให้เป็นคนไม่มีสัมมาคารวะโดยไม่รู้ตัว

เรามักได้ยินคนพูดกันอยู่เสมอ ๆ ว่า “ฉันไม่เห็นต้องให้ใครสอนเลย ฉันรู้ของฉันเอง” ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนที่ยึดถือเช่นนั้นมักไม่รู้ตัวว่าตนได้รับการอบรมมาโดยไม่รู้สึกตัวอย่างไร หรือถ้าเป็นความจริงว่า คนผู้นั้นสามารถผุดจากโคลนขึ้นมาได้ดุจดอกบัว ก็คงเป็นเพราะได้รับการอบรมมาแต่บุพชาติ ซึ่งก็ตกอยู่ในฐานะได้รับการอบรมมานั่นเอง สรุปแล้ว การอบรมนั้น เราอาจได้รับโดยรู้ตัวก็ได้ หรือไม่รู้ตัว แต่โดยสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดนิสัยบางอย่างก็ได้ ในกรณีข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าเป็นคนโชคดีมาก ที่ได้รับการอบรมในด้านต่าง ๆ โดยมีผู้อธิบายให้เข้าใจว่า ได้รับการอบรมเช่นนั้นเช่นนี้ เพราะเหตุใด เพื่อประโยชน์อะไร แต่ก็มีอีกหลายด้านที่ได้รับการอบรม โดยมีผู้ทำให้เกิดนิสัยหลายอย่างโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

การศึกษาทางบ้าน

ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวใหญ่มากเป็นพิเศษ เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ซึ่งเป็นบิดา และซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า พ่อ (ซึ่งจะเรียกต่อไปในหนังสือนี้เพื่อสะดวกแก่ใจ) เป็นคนมีภรรยาหลายคนเป็นที่เลื่องลือในสมัยของท่าน การที่มีภรรยามากนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นเพราะท่านเป็นคนเจ้าชู้ กับทั้งเป็นนักเศรษฐกิจ ที่กล่าวดังนี้ก็เพราะว่า ภรรยาของท่านทั้งหมด จำนวนกว่า ๔๐ เท่าที่เคยนับกันในหมู่ลูก ๆ ของท่านตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย เป็นละครในคณะของท่าน ยกเว้น ๕ หรือ ๖ คน ภรรยาของท่านทั้งหมดมิได้มีชีวิตอยู่พร้อมกันและไม่ได้ร่วมชีวิตกับท่านพร้อมกัน เมื่อข้าพเจ้าเกิดมานั้นพ่อมีอายุ ๕๙ ปีแล้ว และมีภรรยาซึ่งคนนอกบ้านเรียกว่า หม่อม และคนในบ้านเรียก นาย หรือ คุณนายตามอาวุโส เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๙ คน

ในบรรดาภรรยา ๙ คนนี้ มีคนที่อยู่ในบ้านที่ข้าพเจ้าเกิด คือบ้านคลองเตย อยู่ที่ถนนหลวงสุนทร (ทางไปท่าเรือกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้) ๔ หรือ ๕ คน และอยู่ที่บ้านเดิมของตระกูลคือบ้านเลขที่ ๑๒๘ ถนนอัษฎางค์หรือที่เรียกกันว่าวังบ้านหม้อ ๔ หรือ ๕ คน คือสับเปลี่ยนกัน ข้าพเจ้าเป็นกำพร้ามารดาตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ มารดาชื่อนวล ข้าพเจ้าเรียกว่า นาย เมื่อเป็นกำพร้า พ่อก็ต้องเอาใจใส่มากกว่าลูกอื่น ๆ ชีวิตของข้าพเจ้าเมื่อเด็ก ๆ นั้น จึงเป็นชีวิตของเด็กผู้หญิงที่ได้รับอิทธิพลจากผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

นอกจากจะเป็นผู้ชายแล้ว พ่อ ยังมีอายุมากพอที่จะเป็นปู่หรือทวดก็อาจเป็นได้ หลานปู่ของท่านหลายคนมีอายุสูงกว่าข้าพเจ้ามาก หลานรุ่นใหญ่อายุมากกว่าข้าพเจ้าถึง ๑๕ ปีก็มี พ่อเป็นคนเกิดในรัชกาลที่ ๔ การศึกษาอบรมเป็นอย่างคนสมัยนั้น ความคิดนึกก็ย่อมเป็นไปตามสมัย คนรุ่นท่านที่จะได้รับการศึกษาแบบใหม่มีจำนวนน้อย โดยมากก็เป็นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง มีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เป็นต้น การศึกษาของคนรุ่นพ่อคือการเรียนหนังสือที่บ้าน อ่านออก เขียนได้แต่สะกดไม่ค่อยถูก แต่งความ เรียงความได้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ได้บรรพชาเป็นสามเณรและได้อุปสมบท ซึ่งหมายความว่าเข้าใจพระพุทธศาสนาเป็นอันดี นอกจากนั้นก็เรียนวิชาสำหรับที่จะมีฝีมือในอาชีพ ซึ่งมักจะตามตระกูล ในกรณีพ่อก็คือ วิชาเกี่ยวกับการบังคับม้า เลี้ยงม้า และปกครองคนที่ทำงานเกี่ยวกับม้า การบังคับช้างนั้นเรียนเป็นฝีมือพื้นฐาน ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ก็คือ เหมือนผู้ชายโดยมากขับรถยนต์ได้ นอกจากวิชาที่เกี่ยวกับม้า ก็เรียนเรื่องที่เกี่ยวกับประเพณีในพระราชสำนัก ซึ่งเป็นอาชีพอีกชนิดหนึ่ง เพราะรับราชการในพระราชสำนัก และด้วยเหตุว่าในวงศ์ตระกูล มีผู้ชำนาญการละคร จึงได้รับหน้าที่ควบคุมการมหรสพหลวง มี โขน หุ่น เป็นต้น จึงต้องหาความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องนั้นด้วย

พ่อรู้สึกว่าตนเป็นคนล้าสมัย จึงได้ตั้งใจแน่วแน่ว่า ลูก ๆ จะต้องได้รับการศึกษาแบบใหม่ทุกคน เช่นทุกคนจะต้องรู้ภาษาฝรั่งอย่างน้อยหนึ่งภาษา แต่ดูเหมือนจะเอาใจใส่กับการพูดมากกว่าอย่างอื่น ลูกทุกคนจึงไปเข้าโรงเรียนที่ขึ้นหน้าในการสอนภาษาฝรั่ง พี่ผู้หญิงรุ่นใหญ่ที่สุดก็เรียนที่โรงเรียนสุนันทาลัย ซึ่งมีครูเป็นผู้หญิงอังกฤษ เพื่อให้พูดอังกฤษได้คล่อง ต่อมาโดยมากเข้าโรงเรียนของคณะสอนศาสนาโรมันคาทอลิก มีโรงเรียนอัสสัมชัญสำหรับลูกผู้ชาย และโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ สำหรับลูกผู้หญิงเกือบทุกคน

เมื่อคำนึงว่าพ่อมีลูกทั้งหมด ๓๐ กว่าคน และได้ให้การศึกษาตามที่กล่าวทุกคน ก็ต้องเข้าใจว่าพ่อได้ลงทุนสำหรับการศึกษาของลูก ๆ มากพอควรทีเดียว

พ่อไม่ห่วงเรื่องที่ลูกจะไปนับถือศาสนาอื่น เพราะพ่อสอนพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ในบ้านพ่อประชุมลูก ๆ และเด็ก ๆ สวดมนต์ สัปดาห์ละ ๓ หรือ ๔ ครั้ง สำหรับตัวข้าพเจ้า ท่องจำบทชุมนุมเทวดาได้ตั้งแต่อายุน้อยมาก เข้าใจว่าต่ำกว่า ๘ ขวบ เมื่อพ่อสิ้น (ตาย) ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ข้าพเจ้าอายุ ๑๐ ขวบ แต่ได้ว่าบทชุมนุมเทวดามาหลายปีก่อนนั้น นอกจากบทชุมนุมเทวดา ข้าพเจ้าได้รับการสอนให้ว่าบทนำอุโบสถ สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ในวันพระ เวลาที่พ่อพาไปวัด สำหรับบทนำอุโบสถนี้ ได้ว่าครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ปัจจุบันนี้จำได้วรรคเดียว แต่บทชุมนุมเทวดานั้น ได้ว่าบ่อย ๆ ประกอบกับเมื่อโตขึ้นข้าพเจ้าเข้าใจลักษณะฉันท์ เห็นว่ามีความไพเราะทางกวีด้วย จึงจำได้เกือบตลอดบทมาจนกระทั่งบัดนี้

นอกจากจะสอนให้สวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำแล้ว พ่อยังพาข้าพเจ้าไปด้วยตามวัดที่ท่านไปสนทนากับพระภิกษุที่ท่านนับถือ ข้าพเจ้ามักจะง่วงนอนหลับไป แต่พ่อไม่เคยเห็นเป็นปัญหาอะไร ไม่เคยบอกว่าจะไม่พามาอีก ข้าพเจ้ามาเข้าใจวิธีการของท่าน ต่อมาภายหลัง จากพี่ชายรุ่นใหญ่คนหนึ่งเธอเล่าว่า เมื่อตัวเธอยังเป็นเด็ก พ่อพาไปด้วยทุกแห่ง ตามวังเจ้านายและข้าราชการทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย และพระภิกษุที่ท่านคุ้นเคยกัน ท่านชี้แจงว่า ถึงไปนอนหลับก็ไม่เป็นไร เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะได้ยินว่าผู้ใหญ่คุยกันเรื่องอะไร ความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ ก็จะซึมไปเอง สำหรับตัวข้าพเจ้านั้น พ่อมิได้ตั้งหลักเกณฑ์อย่างไร และไม่ได้ชี้แจงอย่างไร เข้าใจว่าเพราะเป็นลูกผู้หญิง และเป็นลูกเล็ก ท่านคงทราบว่า ท่านจะไม่มีชีวิตอยู่ไปนานพอที่จะให้การศึกษาอบรมได้เต็มที่ การที่พาไปไหน ๆ ด้วย ก็ด้วยความพอใจที่มีลูกไปไหนมาไหนด้วยมากกว่าอย่างอื่น ในเรื่องนี้ ผู้ใหญ่ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กนั้น ไม่เข้าใจธรรมชาติจิตใจของคนแก่ มักจะกล่าวหาว่าเป็นการตามใจลูก หาได้คิดไปถึงว่าคนแก่มีความสุขที่จะได้สนิทสนมกับเด็กเล็ก ๆ นั้นไม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการให้การศึกษาไปด้วยในตัว โดยเฉพาะพ่อเป็นคนมีความเห็นเป็นของตัวเอง มักจะสอนลูกไม่ให้เชื่อใครง่าย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการถูกขู่ให้กลัว พ่อไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือเด็กคนใด ถูกขู่ให้กลัวผี หรือกลัวคน คนในบ้านที่เรียกลูกให้หลบหนีด้วยความเกรงกลัว เมื่อเห็นท่านเข้ามาใกล้ จะถูกตำหนิทันที มักชอบถามว่า “เห็นข้าเป็นอะไรถึงต้องให้ลูกหลบ” ถ้าผู้ใหญ่ขู่เด็กให้กลัวผี พ่อมักจะว่า “ผู้ใหญ่นั่นแหละ มันขี้ขลาด” ครั้งหนึ่งมีคนห้ามท่านไม่ให้ปลูกกล้วยตานีในบ้านเพราะต้นกล้วยตานีมักมีผีประจำ ท่านถามว่า “ผีตานีมันจะมาทำอะไร” ได้รับคำชี้แจงว่าเวลาชิงพลบ (คือตอนค่ำจวนจะสิ้นแสงตะวัน) มันนุ่งผ้าแดงห่มผ้าแดงมาโผล่ดูคนจากกอกล้วย ท่านว่าท่านชอบผู้หญิงนุ่งผ้าแดงห่มผ้าแดง มันโผล่ออกมาก็ดีแล้ว ถ้ามันไม่โผล่ทำไมจะได้เห็นมัน ในเรื่องที่จะไม่ให้กลัวผีนี้ การอบรมของพ่อไม่ได้รับความสำเร็จ นับเป็นความล้มเหลวอันแรกอันหนึ่ง ข้าพเจ้ากลัวผีมาตลอดชีวิต ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังกลัวความมืดและเงาทั้งที่รู้ว่าเป็นเงา ทั้งนี้เพราะผู้ใหญ่อื่น ๆ และเพื่อนเด็ก ๆ นิยมเล่าเรื่องผีด้วยกลวิธีที่เข้าถึงอารมณ์มากกว่าเหตุผลของพ่อ เป็นการพิสูจน์ตามหลักจิตวิทยาว่า การอบรมด้วยเหตุผลสู้การอบรมที่ให้ถึงอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งพวกคอมมูนิสต์และนาซีรู้ดี และใช้ได้ผลมามากแล้ว

นอกจากไม่ให้กลัวผีแล้ว พ่อพยายามจะไม่ให้กลัวความตายด้วย เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ประมาณ ๕ ขวบ มีการเผาศพแม่ ที่วัดหัวลำโพง เวลาที่ “เผาจริง” ขณะที่ไฟกำลังไหม้ศพอยู่ ข้าพเจ้าเห็นพ่อยืนอยู่ใกล้โลงที่ใส่ศพแม่ จึงวิ่งเข้าไปหา พ่อเข้าใจว่าข้าพเจ้าอยากเห็นแม่ หรือจะเข้าใจอย่างไรก็ตาม แต่พ่อพะยักหน้าแสดงความยินดี และยื่นมือมาพลางบอกว่า “พ่อจะอุ้ม” ข้าพเจ้าแปลกใจและดีใจมาก เพราะพ่อไม่เคยอุ้มเลยตั้งแต่จำความได้ และก่อนที่จะรู้ว่าพ่อเจตนาอย่างไร พ่อก็อุ้มตัวชูขึ้นให้เห็นศพแม่กำลังไหม้อยู่ ศพแม่เป็นศพฉีดยา ในสมัยนั้นใช้แต่เพียงฟืนเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ศพจึงไหม้อย่างช้า ๆ ข้าพเจ้าเห็นศพแม่เป็นสีแดง ไม่แลเห็นเป็นรูปร่างอย่างไร เพราะไม่อยากเห็น มีแต่ความจำราง ๆ ว่าเหมือนเป็ดย่าง แต่ไม่เคยรังเกียจเป็ดย่าง ซึ่งเป็นของชอบและไม่เคยมีปฏิกิริยากับของสีแดงอย่างไร สิ่งที่เกลียดคือสิ่งที่มีสีเขียว ๆ เหลือง ๆ เทา ๆ ผสมกัน

เกี่ยวกับศาสนา มีเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งสอนจะเป็นโดยเจตนาหรือไม่ข้าพเจ้าไม่ยืนยัน เพราะพ่อไม่เคยพูดว่าให้เชื่อพ่อ พ่อมักจะมีทีท่าว่าลูกจะเชื่อเพราะพ่อมีเหตุผลดี ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้านำรูปในหนังสือเรียนให้พ่อดู เป็นหนังสือภาษาอังกฤษซึ่งพ่ออ่านไม่ได้และเล่าเรื่องให้พ่อฟังว่า ตอนนี้เป็นเรื่องของโมเซส ศาสดาสำคัญของพวกยิว โมเซสได้นำพวกยิวหนีออกจากอียิปต์ ครั้นมาถึงทะเลแดง ทหารอียิปต์ตามมาใกล้จะทัน พระเจ้ากลับบันดาลให้ทะเลแหวกเป็นช่อง พวกของโมเซสข้ามไปได้โดยปลอดภัย เมื่อทหารอียิปต์ตามลงไปในช่องนั้น พระเจ้าก็บันดาลให้น้ำกลับเข้าที่ ท่วมทหารอียิปต์จมน้ำตายหมด เมื่อพ่อได้ยินเรื่องที่เล่าแล้ว พ่อก็ว่า “พระเจ้าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ช่วยพวกของตัว ทำร้ายคนอื่น” ข้าพเจ้าอธิบายให้พ่อฟังว่า หนังสือนเป็นคัมภีร์ของคริสตศาสนา เขาถือว่าใครไม่เชื่อเป็นบาป พ่อว่า “โตขึ้นก็จะเข้าใจเรื่องศาสนา” แล้วเสริมว่า “ที่จริงพวกเทวดายุ่งอย่างนี้ทั้งวัน พระอิศวร ปะตาระกาหลาก็ยุ่งทั้งนั้น” ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ได้ก่อตัวขึ้นแก่ข้าพเจ้า เป็นส่วนหนึ่งที่บันดาลความล้มเหลวในบางอย่าง และความสำเร็จบางอย่างในชีวิต

บุคคลอีกคนหนึ่งที่มีส่วนในการที่ข้าพเจ้ามีความคิดทำนองนี้เป็นบุคคลสำคัญแก่ชาติ การที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดท่านผู้นี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความสำเร็จในชีวิตอย่างหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าผิดหวังกับบุคคลใด ข้าพเจ้าจะปลอบตัวเองว่า ในชีวิตหนึ่ง ได้เคยใกล้ชิดกับคนประเสริฐคนหนึ่งก็น่าจะพอใจแล้ว คนอื่นที่โชคร้ายกว่าตนคงจะมีอีกมาก บุคคลผู้นี้มีฐานันดรศักดิ์สูงชั้น เจ้าฟ้า คนในบ้านข้าพเจ้าเรียกว่าสมเด็จ ลูก ๆ ของพ่อรุ่นใหญ่เรียก เสด็จพ่อ ออกเสียงชัด เป็นการเคารพพิเศษ แสดงว่าไม่ใช่พระโอรสธิดาแท้ ๆ ของท่าน แต่ลูก ๆ รุ่นเล็กเรียกท่านว่า เสด็จปู่ ออกเสียงเด็จปู่ แสดงว่าออกจะไว้ตัวว่ามีสิทธิ์เรียกท่านดังนั้นมากอยู่สักหน่อย ตัวข้าพเจ้าเรียกท่านแปลกไปจากลูก ๆ อื่นๆ เพราะเมื่อข้าพเจ้ากำลังเติบโตจากเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่นั้น พระชนม์ท่านคงเข้าวัยชรากระมัง จึงโปรดให้เด็กทำอะไรที่ไม่น่าจะปล่อยให้ทำ และเมื่อสมเด็จโปรดหรือไม่โปรดสิ่งใดแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดในบ้านเจ้าพระยาเทเวศรจะคิดละเมิดเลย สมเด็จเป็นที่เคารพรักของคนทุกคน มีการบอกเล่ากันว่า ท่านไม่กริ้วใครเลย ถ้าใครถูกสมเด็จกริ้วแล้ว ย่อมจะอับอายเป็นที่สุด และไม่เป็นสิริมงคลที่สุด ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินใคร “นินทา” สมเด็จไม่ว่าในเรื่องใด ตรงกันข้าม เจ้าคุณ คือ พ่อ ถูกนินทาอยู่เป็นประจำ มีพวกแม่ ๆ และพี่ๆ ทำกิจอันนี้อยู่เนืองนิจ พ่อถูกนินทาในเรื่องรักลูกไม่เท่ากัน และบางคราวมีเรื่องกระทบอารมณ์ก็โกรธเกินเหตุ ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่เคยมีอำนาจ เมื่อมีสมเด็จเปรียบเทียบอยู่เสมอ พ่อจึงอยู่ในฐานะไม่ดีนักในสายตาของคนในครอบครัว สมเด็จนั้นเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กเล็ก ท่านประทับที่ตำหนัก ปลูกติดต่ออยู่กับที่อยู่ของครอบครัวของพ่อ พ่อเองอยู่อีกเรือนหนึ่งไกลไปจากที่อยู่ของครอบครัวต้องเดินไปใช้เวลา ๕ นาที แต่นอกจากลูกของพ่อแล้ว ไม่มีผู้ใดเข้าใกล้ชิดสมเด็จ ต้องเข้าเฝ้าด้วยความอ่อนน้อมตามประเพณีเฝ้าเจ้านายในสมัยนั้น ซึ่งพวกลูก ๆ ของพ่อเข้าใจเป็นอันดีว่า การที่ได้เฝ้าใกล้ชิดเพราะพระเมตตากรุณาของท่าน หาใช่เพราะสิทธิของเราไม่ สมเด็จทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดเห็นซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญของบุคลิกภาพ เสริมกับการอบรมของพ่อในเรื่องที่ไม่ให้กลัว ท่านโปรดให้เด็กแสดงตัวให้แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบกับที่คนทั่วไปนิยมกัน เช่น โปรดให้ทูลซักถามอะไรต่าง ๆ ที่ไม่เข้าใจ ครั้งหนึ่งจะเป็นด้วยมีคนสอนหรือจะคิดเองก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าทูลถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่อนุญาตให้ลูกผู้หญิงของพ่อเจาะหู เพราะได้ยินผู้ใหญ่บอกกล่าวกันว่าที่ลูกผู้หญิงของพ่อเจาะหูไม่ได้นั้น เพราะสมเด็จไม่โปรด ท่านก็ทรงพระสรวลอยู่นานแล้วตรัสว่า “ปู่ไม่เคยห้ามไม่ให้ใครเจาะหู ปู่เคยแต่ว่าที่ใส่เครื่องประดับมีถมไป ทำไมต้องเจาะเนื้อเถือหนังเอาเครื่องประดับไปใส่” ทรงพระสรวลแล้วถามว่า “หนูอยากเจาะหูหรือ” ข้าพเจ้าทูลว่าไม่อยากเจาะ เพราะกลัวเจ็บ ท่านรับสั่งว่า “ดีแล้ว” ถ้าไม่ทูลถามหรือไม่ทูลอะไรระหว่างที่เฝ้าอยู่ก็จะรับสั่งว่า “ว่าไงวันนี้ไม่เห็นว่าอะไร” เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กโตขึ้น สมเด็จเสด็จไปประทับที่ตำหนักนอกบริเวณบ้านของพ่อ แต่อยู่ใกล้กันพอที่จะทรงพระดำเนินมาที่บ้านทุกวัน เมื่อเสด็จมาถึงก็แวะสนทนากับพ่อ แล้วก็เสด็จเลยมารับสั่งสนทนากับพี่สาวรุ่นกลางของข้าพเจ้า ๒ คน ซึ่งโปรดปรานสนิทสนมมาก ที่ข้าพเจ้าติดใจก็คือ มักรับสั่งเรื่องที่ไม่ทรงคิดเห็นตรงกันกับพ่อ มักจะรับสั่งว่า “คุณพ่อจะทำ” อย่างนั้นอย่างนี้ “ปู่ไม่เห็นด้วย” แล้วก็จะทรงชี้แจงให้พี่ ๆ ทั้งสองฟังว่าเหตุใดไม่ทรงเห็นด้วย เป็นการบอกกล่าวและสั่งสอนไปด้วย ข้าพเจ้าคิดย้อนกลับไปแล้วก็หมายเหตุว่า “ไม่เคยได้ยินพ่อนินทาสมเด็จเลย แต่สมเด็จมีเรื่องนินทาพ่อเกือบทุกวัน” ทำให้ข้าพเจ้าเป็นคนไม่หลงคนที่ข้าพเจ้ารัก มักมองดูคนทุกคนด้วยการพิจารณาหลายด้านหลายมุม การที่พ่อไม่นินทาสมเด็จ คงเป็นเพราะไม่มีอะไรจะนินทาท่านเพราะพ่อก็นินทาคนเก่งเหมือนกัน นินทา ในที่นี้มีความหมายที่สมัยนี้ใช้คำว่า วิพากษ์วิจารณ์ พ่อมักแสดงความไม่พอใจกับกิจการบ้านเมืองในสมัยนั้น เรื่องนี้สมเด็จมักกริ้วพ่อบ่อย ๆ เป็นที่รู้ทั้งบ้านสมเด็จมักรับสั่งอย่างไม่พอพระทัยแก่พ่อว่า “คุณ เราแก่แล้วก็เจ็บป่วย อย่ายุ่งไปกับเขาเลย” สมเด็จเคยทรงวิจารณ์ใครให้ลูก ๆ ของพ่อได้ยินบ้าง แต่รับสั่งด้วยอารมณ์ขันเสมอ

สมเด็จทรงอบรมลูก ๆ ของพ่อในเรื่องไม่ให้กลัวอีกวิธีหนึ่งคือ เมื่อจะเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน ต้องเข้าไปกราบให้ถึงพระองค์ ถ้าประทับอยู่กับที่นั่งชนิดใด ก็เข้าไปกราบที่พระเพลา ถ้าเสด็จไปในที่ประชุมชนใด เช่น งานศพก็ต้องเข้าไปกราบที่ต่ำกว่าพระทรวงลงมา ท่านทรงลูบศีรษะเป็นการรับรู้ ครั้นเวลาล่วงมา พวกพี่ ๆ ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าท่านเป็นเจ้านายชั้นสูง คนอื่นเขาก็ไม่รู้ว่ามีความสัมพันธ์กันมาอย่างไร ในที่ประชุมชน ก็มักจะหาโอกาสหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเฝ้า แต่ได้สังเกตว่า ถ้าทอดพระเนตรเห็นลูก ๆ ของพ่อคนใดไม่เข้าไปเฝ้า ก็มักจะทำให้เข้าใจว่าทรงรออยู่ พวกเรากลัวจะถูกกริ้วและกลัวคำตำหนิของคนอื่นเป็นเรื่องขัดแย้งกันอยู่เสมอ แต่ก็ต้องตัดสินว่า เด็จปู่สำคัญกว่า ต่อมาอีก พ่อสิ้นไปนานแล้ว ในงานศพงานหนึ่งเป็นศพของคนสนิทในวังและในบ้าน สมเด็จประทานเพลิงแล้วก็ไม่เสด็จกลับ ประทับอยู่บนศาลาวัดที่ประชุมเพลิงต่อไป เวลานั้นพวกเราก็มีอายุล่วงวัยผู้ใหญ่กันเข้าไปทุกคนแล้ว คนทั้งหลายเขาก็ไม่รู้จักว่าพวกเราเป็นใคร จึงรีรออยู่ พี่ชายข้าพเจ้าคนหนึ่ง เป็นนายทหาร เมื่อวันหลังจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ถูกสั่งให้ไปเป็นนายทหารเวรคนที่หนึ่งที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งคณะปฏิวัติได้เชิญพระองค์สมเด็จไปควบคุมไว้เป็นองค์ประกัน ระหว่างที่เขาส่งผู้แทนไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวทูลขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ พี่ชายคนนี้ก็คงไม่อยากเข้าเฝ้าใกล้ชิดนัก จึงหมอบกราบที่บันไดศาลาขั้นที่สอง ห่างจากพระองค์สมเด็จไปประมาณ ๒ เมตร สมเด็จทอดพระเนตรแล้วรับสั่งว่า “เออ รู้จักกันน้อยลงทุกวัน” พี่ ๆ คนอื่นได้ยินก็รีบผลักกันให้ใครคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าก่อน บอกกันว่า “ถูกกริ้วแล้ว” เพราะสมเด็จรับสั่งเพียงนั้นเป็นการว่าไม่พอพระทัยเป็นที่น่ากลัวเกรงสำหรับพวกเรายิ่งนัก ในที่สุดก็เข้าไปเฝ้ากันอย่างที่เคยมาตั้งแต่เด็ก สมเด็จประทับรับสั่งสนทนาแวดล้อมด้วยคนเก่า ๆ ในบ้านและในวังอยู่นาน จึงเสด็จกลับวัง

ข้าพเจ้าพยายามคิดหาเหตุผลเรื่องที่ทรงเข้มงวดกับการเข้าเฝ้าของพวกลูก ๆ ของพ่ออยู่นาน สมเด็จไม่ทรงยึดเหนี่ยวในเรื่องใด ทรงเปลี่ยนแปลงพระดำริให้เข้าสมัยรวดเร็วเสมอ และโปรดผู้ที่สามารถทำอะไรได้ใหม่ ๆ เช่นคนเขียนรูปการ์ตูน มักทรงชมเชยว่าเขาสามารถ ท่านทรงไม่ได้ แต่ในเรื่องที่กล่าวมานั้นไม่ทรงผ่อนปรนเลยไม่ว่าโอกาสใด วันหนึ่งจึงเข้าใจว่า ประสงค์จะให้ “เด็ก ๆ” ตามที่ทรงเรียกลูก ๆ ของพ่อยึดมั่นว่า สิ่งใดที่ไม่ผิด ก็ไม่ต้องกลัวในการที่จะประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในที่ประชุมชนหรือในที่ใด

ในเรื่องการเข้าเฝ้าสมเด็จนี้ พี่ ๆ รุ่นใหญ่ไม่ผ่านความลำบากใจเหมือนพวกลูก ๆ รุ่นเล็ก เพราะพี่ๆ รุ่นนั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในสมัยที่พ่อยังมีต๋าแหน่งสำคัญในราชการ คนที่ร่วมชุมนุมกันเป็นคนรู้จักกันดี และพี่รุ่นใหญ่ก็เปลี่ยนจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ โดยได้รับตำแหน่งสำคัญในราชการหรือเป็นภรรยาคนสำคัญในราชการเกือบทุกคน น้องๆ นำเอาความวิตกกังวลในเรื่องการกลัวคนอื่น เทียบกับการที่จะถูกกริ้วไปหารือก็จะดุเอาซ้ำว่า “จะต้องไปกลัวใครจะว่าอะไรทำไม” ที่ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาเล่าก็เพื่อจะเห็นว่า ในสมัยที่ข้าพเจ้ารับราชการ การที่ได้รับการอบรมมาว่าไม่ต้องกลัวใครนั้นเป็นผลดีหรือร้ายแก่ข้าพเจ้าอย่างไร

มีเรื่องที่เห็นว่าน่าเล่าเกี่ยวกับพระประสงค์อันนี้ คือ หลังจากเปลี่ยนการปกครองแล้วประมาณ ๙ - ๑๐ ปี สมเด็จประทับเป็นประธานในการแต่งงาน ของหลานเจ้าพระยาเทเวศรฯ คนหนึ่ง พี่สาวของข้าพเจ้าคนหนึ่งเข้าไปกราบที่พระเพลาก่อนที่จะเข้าไปรดน้ำคู่บ่าวสาว นายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งตามพี่สาวคนนั้นเข้าไป คงจะเข้าใจว่าเป็นประเพณีเคารพเจ้านายชั้นสูง จึงทำตาม เวลานั้นสมเด็จทรงพระชรา และพระกรรณตึง ทรงรำลึกไม่ได้ว่าเป็นใคร จึงรับสั่งถามพี่สาวข้าพเจ้า “นี่ลูกใคร” พลางก็ทรงลูบศีรษะอย่างที่เคยทรงกระทำแก่ลูกหลานเจ้าพระยาเทเวศรฯ พี่สาวก็กราบทูลชื่อนายทหารผู้นั้น ยิ่งทูลก็ยิ่งทรงรำลึกไม่ได้ ต้องตะโกนดังขึ้นทุกที เสียเวลาไปนานพอใช้ คนมายืนรอเข้าแถวเพื่อจะเข้าไปรดน้ำ จึงโปรดให้นายทหารผู้นั้นลุกขึ้นเดินไป

มีประเพณีอีกอย่างหนึ่งในครอบครัวข้าพเจ้า ที่อาจมีส่วนในการปลูกฝังนิสัยบางอย่างของข้าพเจ้า ที่คนรุ่นใหม่อาจสนใจ คือในสมัยนั้น ขุนนางชั้นผู้ใหญ่มีภรรยากันหลายคน (ที่จริงผู้ชายไทยทั่วไปมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน น้อยมากตามฐานะ เห็นมีเว้นแต่สมเด็จ) และทุกครอบครัวก็มีภรรยาหลวงคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นภรรยาน้อย กฎหมายไทยก็รับรองประเพณีนี้ ในราชสำนัก พระมเหสีเทวี กับเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม (คือที่ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา) มีฐานะต่างกัน สมเด็จเจ้าฟ้า กับพระเชษฐา พระอนุชาที่เป็นพระองค์เจ้าก็มีฐานะต่างกันโดยท่านยอมรับกันเป็นประเพณี แต่ในครอบครัวข้าพเจ้า พ่อไม่มีเมียหลวง ไม่เคยยกย่องภรรยาคนใดขึ้นเป็น ท่านผู้หญิง ลูกทุกคนจึงมีฐานะเสมอกันหมด และพ่อพยายามทำความเข้าใจว่า พ่อได้จงใจทำให้เป็นเช่นนั้น มีคนเล่ากันให้ฟังเสมอว่าพ่อเคยบอกว่า ถูกถามหลายครั้งว่า เมื่อไรจะมีท่านผู้หญิงและท่านบอกว่า อยากให้มีเหมือนกัน แต่ถ้ามีท่านผู้หญิง ลูกๆ ก็จะมีฐานะไม่เหมือนกัน ท่านจึงทิ้งไว้ไม่พาภรรยาคนใดเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตลอดชีวิตของท่าน เป็นเรื่องที่เราภาคภูมิใจ ถือเป็นความคิดก้าวหน้า และทำให้ลูก ๆ พ่อชอบไปในทางความเสมอภาคกันโดยมาก

การศึกษาทางบ้านมีความสำคัญแก่ชีวิตอีกอย่างหนึ่ง คือ ได้เรียนเกี่ยวกับสุนทรียลักษณ์ต่าง ๆ ของไทย เพราะในตระกูลฝึกหัดละคร ซึ่งย่อมจะโยงไปถึงวรรณคดี และดนตรี เมื่อข้าพเจ้ากำลังเติบโตจากเด็กเล็ก ขึ้นเป็นเด็กใหญ่ พ่อได้เลิกเล่นละครแล้ว สิ่งที่จะทำให้ตื่นเต้น ต้องละเว้นทุกอย่าง แต่ในเมื่อคนในบ้านเป็นละครโดยมากก็ย่อมจะเล่นละครกันบ่อย ๆ พี่ ๆ ทั้งรุ่นกลาง (รุ่นใหญ่ไม่อยู่ในบ้านแล้ว) และรุ่นเล็กก็ผลัดกันแต่งบทละครตามความสามารถและวัย มีการซ้อมละครกันอยู่เกือบไม่เว้นเดือน เด็กทุกคนในบ้านฝึกหัดละครแบบใดแบบหนึ่ง บางคนฝึกหัดละครรำอย่างถูกแบบแผน บางคนหัดเล่นได้แบบพันทาง ข้าพเจ้าได้ฝึกหัดละครรำ เป็นตัวพระ และฝึกหัดเล่นละครพูด ซึ่งหมายถึงการท่องจำบทเจรจาเป็นปริมาณหลายหน้ากระดาษ เพราะการเล่นละครพูดโดยบอกบท เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้สำหรับพี่น้องข้าพเจ้า ผู้ฝึกหัดละครให้ข้าพเจ้า คือภรรยาของพ่อ ซึ่งได้เป็นครูแม่ ๆ รุ่นเล็ก เรียกกันว่าแม่ครูเข็ม ลูกๆ พ่อรุ่นเล็กเรียกว่า คุณแม่เข็ม เมื่อมีการซ้อมละครสมเด็จเสด็จมาทอดพระเนตร และมักแย้มสรวลกับคุณแม่เข็ม คล้ายกับจะว่า เมื่อ “เด็ก ๆ” พวกนี้อยากเล่นละครก็ให้เล่นกันพอเพลิน ๆ มาตรฐานนั้นย่อมจะห่างไกลจากที่ท่านทั้งสองเคยร่วมงานกันมา (ดู “บันทึกความรู้ของพระยาอนุมาน เล่ม ๑ หน้า ๒๗๙ พิมพ์ในงานฉลองวันครบร้อยปี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์”)

การที่ได้ฝึกหัดเล่นละคร ทำให้ข้าพเจ้าประสบความล้มเหลวอันหนึ่งในชีวิต คือ เมื่อได้ดูละครที่แสดงกันทั่ว ๆ ไปในประเทศไทย ก็มักจะมีความกระวนกระวาย แลเห็นความบกพร่องในด้านต่าง ๆ จะชื่นชมก็เมื่อได้เห็นการแสดงของผู้ที่ชำนาญจริง ๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้เกือบหาไม่ได้ในประเทศไทย นาน ๆ ทีจะมีละครโทรทัศน์ดี ๆ ให้ได้ชม ทั้งที่นักแสดงที่สามารถมีมาก แต่ขาดคนทำบทและการฝึกซ้อม ถ้าไปต่างประเทศ ได้เห็นละครอาชีพจึงเห็นว่าเขายังรักษามาตรฐานกันอย่างจริงจังเพียงใด แม้จะไม่ได้มีรายได้สูงก็ยังมีคนแสดงละครของเชกสเปียร์ คนที่มีรายได้สูงในการแสดง มีแต่ดาราภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยต้องแสดงบทยากนัก แต่เมื่อไปดูละครในเมืองฝรั่ง มีข้อเสียอยู่ข้อหนึ่งคือ ฝรั่งชอบสอดแทรกปรัชญา ที่เขาเห็นว่าสูง ในบทละครที่ยกย่องว่าเป็นบทละครชั้นดี ปรัชญาเหล่านี้ก็คือที่เรารู้จักจำเจ คือธรรมะในพุทธศาสนา ซึ่งฝรั่งเพิ่งจะรู้ เช่นปรัชญาว่าชีวิตนี้เอาแน่อะไรไม่ได้ ไม่มีหลักอะไรเป็นหลักอันแท้จริง มนุษย์มีกิเลสไปต่าง ๆ หยาบและประณีตไม่เสมอกัน ข้าพเจ้าจึงมักชอบดูแต่บัลเลต์ เพราะได้ดูศิลปะการรำ (ด้วยเท้า) ชั้นสูง โดยไม่ต้องไปข้องใจกับการตีความบทละครออกมาเป็นปรัชญาต่าง ๆ

ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปดูนาฏศิลป์ ๒ แบบที่อินโดนีเซีย เขาแสดงเรื่อง รามายณะ ตอนพระรามผลาญพาลี ด้วยได้เสียสัตย์แก่พระอิศวร แย่งเอานางดาราซึ่งพระอิศวรประทานให้สุครีพไว้เสียเอง แสดงเป็นแบบเก่าจากเมืองยกยาแบบหนึ่ง และดัดแปลงเป็นแบบใหม่ คือพยายามให้เห็นความรู้สึกขัดแย้งภายในของตัวละครในเรื่อง ดังที่เขาเขียนอธิบาย เมื่อดูการร่ายรำแบบชวา ก็มีความสนใจจับจ้องตาดูการใช้เท้าใช้มือและฟังจังหวะดนตรีไปด้วย เห็นว่า ท่าของพาลี สุครีพ นางดารา และ พระราม ล้วนแล้วไปด้วยศิลปะอันประณีตเป็นแบบของตะวันออก คือพาลีและสุครีพก็เป็นพระยาลิง พระรามเป็นกษัตริย์นักรบหนุ่ม นางดาราก็สมเป็นนางสวรรค์ เขาได้เลือกผู้แสดงที่รำงามชดซ้อย แสดงความรู้สึกลึกซึ้งออกทางท่าที่ร่ายรำ ส่วนที่เรียกว่าแบบใหม่นั้นก็คือแบบตะวันตกนั้นเอง คือแทนที่จะมองเห็นว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันในสงสารวัฏ มีกิเลสด้วยกัน ลิงก็มีกิเลสไม่ผิดกับมนุษย์มากนัก เทวดาก็มีกิเลส รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฝากผู้หญิงให้ผู้ชายคนหนึ่งมากับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ศิลปะการร่ายรำก็แสดงออกซึ่งกิเลสต่าง ๆ ของมนุษย์และสัตว์ ส่วนแบบใหม่นั้นพยายามแสดงกิเลสของสัตว์ให้เห็นชัด คือ ราคะ ซึ่งสำหรับคนตะวันออกก็เข้าใจมาหลายพันปีแล้ว คนตะวันตกได้รับการสั่งสอนจากศาสนา ยูดิโอ-คริสเตียน ว่ามนุษย์นั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงเนรมิตขึ้นให้เป็นปฏิมากรรมแทนพระองค์ เพิ่งจะมาต้องรับรู้ว่ามีอะไรเหมือนสัตว์อยู่มากจึงตื่นเต้นหนักหนา การร่ายรำแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ก็เหมือนสัตว์นั้น ก็ไม่มีอะไรใหม่สำหรับคนที่เป็นชาวตะวันออก นับถือพุทธศาสนาอย่างข้าพเจ้า นอกจากนั้นก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าลิงจะเข้าพระเข้านางต่างกับมนุษย์ได้ ผิดกับสุครีพแบบเดิม ซึ่งเข้าหานางดาราแบบลิงเข้าหานางสวรรค์ได้อย่างน่าชม สมรรถภาพของนักนาฏศิลป์ชวาเป็นธรรมดา อินโดเนเซียหนุ่ม ๆ ก็ตื่นเต้นกันว่าแบบใหม่เป็นความก้าวหน้าทางนาฏศิลป์ ข้าพเจ้าก็บังเอิญได้เรียนนาฏศาสตร์จากตำราฝรั่งมาบ้างเหมือนกันจึงเลยคิดไปว่า คนสมัยใหม่นี้สู้คนสมัยเก่าไม่ได้ เพราะไม่เห็นมีท่าร่ายรำของลิงเกี้ยวนางสวรรค์ เหมือนนาฏศิลป์ชวาโบราณ

นอกจากจะไม่ค่อยสามารถเห็นความงามแบบใหม่ชนิดนั้นได้แล้ว เมื่อไปดูละครรำของไทย มีการบอกกล่าวว่าเป็นการแสดงแบบเก่าแท้ ข้าพเจ้าก็มักบังเอิญจำได้ว่าเก่าแค่ แม่ครูเข็ม บางทีว่าเป็นของใหม่ ก็จำได้อีกว่าใหม่แค่หม่อมครูต่วน ซึ่งเป็นหม่อมรุ่นเดียวกับมารดาข้าพเจ้า และเป็นครูโรงเรียนนาฏศิลป์ ของกรมศิลปากรอยู่หลายปี

ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปประเทศลาว เขานำนาฏศิลป์ของเขามาแสดง มีระบำเทพบุตรเทพธิดา ท่ารำก็คือท่าของหม่อมต่วนที่สอนลูกศิษย์ที่โรงเรียนนาฏศิลป์ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่มีที่น่าสังเกตคือ เทพบุตรทำท่าประสานมือและตบอก ซึ่งเป็นท่าของแม่ครูเข็ม สำหรับการรำในเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นเรื่องแขก จึงเอาท่าของแขกเจ้าเซ็น เวลาเขามีพิธีตามธรรมเนียมประจำปีของเขา เขาทุบอกแสดงอาลัยแก่เจ้าเซ็นผู้ถูกศัตรูตามฆ่าซึ่งก็เรียกว่าผิดตำนานไปชั้นหนึ่งแล้ว เพราะชาวชวาในเรื่องอิเหนาไม่เกี่ยวกับศาสนามุสลิมนิกายเจ้าเซ็น แต่เมื่อไปปรากฏในท่ารำของเทวดาซึ่งกำลังรื่นเริง ก็ยิ่งคลาดไปอีกต่อหนึ่ง คนที่เขาไม่รู้ตำนานเขาก็ไม่ต้องมีปฏิกิริยาอย่างไร มีแต่ข้าพเจ้านั่ง “ปลง” อยู่คนเดียว แต่ก็มีความสำเร็จอย่างหนึ่ง คือทายถูกว่าครูละครของประเทศลาวต้องได้เรียนนาฏศิลป์ในกรุงเทพฯ เป็นศิษย์ของศิษย์หม่อมต่วนอีกชั้นหนึ่ง

การศึกษาในโรงเรียน

ข้าพเจ้าเข้าโรงเรียนแรกคือ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์เมื่ออายุยังไม่เต็ม ๕ ขวบ ก่อนเข้าโรงเรียนอ่านหนังสือไทยออกแล้ว แต่คงจะเขียนไม่ค่อยได้ ครูคนแรกชื่อ มาดามโยเซฟ ทราบว่าเป็นญวน มีครูไทยเป็นผู้ช่วยชื่อ ครูเฮียง อยู่ชั้นนี้คงจะหลายปีจึงเลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนกับแม่ชีอีกคนหนึ่ง ชื่อ มาดามแคลร์ ข้าพเจ้าเรียนโดยไม่เข้าใจว่าทำอะไรกัน เมื่อถึงเดือนหนึ่ง ๆ ก็จะมีการบอกว่าคนนั้นสอบได้ที่หนึ่ง ที่สอง ข้าพเจ้าไม่เคยทราบเลยว่า สอบกันเมื่อไหร่ ถูกทำโทษให้ยืนกลางห้องเรียนโดยไม่รู้เหตุหลายครั้ง จนอายุได้ ๙ ปีเศษ จึงมีครูเป็นแม่ชีมาใหม่ เป็นชาติอิตาเลียน ชื่อ มาดามเตแรส ตั้งแต่มีครูคนนี้มาจึงเรียนหนังสือด้วยความเข้าใจว่าเรียนวิชาอะไรเรียนว่าอย่างไร เรียนกับครูคนนี้อยู่ ๒ ปี แล้วจึงเรียนกับมาดามแคลร์คนเก่าอีก เป็นชาติฝรั่งเศส การเรียนนั้นใช้ภาษาอังกฤษทุกวิชา เมื่อเรียนในชั้นนี้เรียกว่าเป็นนักเรียนค่อนข้างดี มักจะสอบประจำเดือนได้เป็นที่ ๓ หรือที่ ๔ ในปีนั้นพ่อสิ้น ต่อมาอีกปีหนึ่งจึงไปเรียนที่โรงเรียนคอนแวนด์ ที่ปีนัง

โรงเรียนเซนต์โยเซฟนั้น ฝึกสอนนิสัยในเรื่องความสะอาด และการทำอะไรอย่างประณีตบรรจง พื้นห้องเรียนปูกระเบื้องลาย ถูขี้ผึ้งน้ำมันลื่นตลอดกาล และไม่มีฝุ่นผงที่ไหนเลย โต๊ะเรียนคู่ทำด้วยไม้สักทาน้ำมันขึ้นเงาเปิดฝาขึ้นได้ ข้างในเก็บหนังสือ ครูซึ่งเป็นแม่ชีจะตรวจดูว่ามีฝุ่นจับหรือไม่ ทั้งด้านนอกและข้างใน เมื่อเรียนข้อความรู้จากหนังสือเล่มใดแล้ว ครูก็จะให้ทำแบบฝึกหัดตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษลงสมุดธรรมดาครั้งหนึ่งก่อนแล้วครูจะแก้ให้เรียบร้อย แล้วจึงลอกลงสมุดที่ทำด้วยกระดาษอย่างดี เขียนด้วยลายมือแบบฝรั่งเศสเป็นตัวบรรจงอย่างเต็มฝีมืออีกครั้งหนึ่ง ที่มุมหน้าหนึ่ง ๆ หรือหัวเรื่อง ต้นแบบฝึกหัด ก็วาดลวดลายงดงามที่สุดที่จะทำได้ด้วยหมึกสีม่วง ข้าพเจ้าท่องจำหนังสือเรียนบางเล่มได้ทุกหน้าและทุกคำ เพราะมีแต่การท่องจำทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิชาประวัติศาสตร์ หรือภูมิศาสตร์ หรือธรรมชาติศึกษา จะได้ใช้ความคิดของตนเองบ้างก็คือ เวลาทำแบบฝึกหัดไวยากรณ์อังกฤษ ซึ่งก็ทำแบบวิเคราะห์ประโยคและกระจายคำ (analysis และ parsing) เป็นส่วนใหญ่

เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่โรงเรียนที่ปีนังนั้น เป็นการผจญชีวิตในโลกนอกครอบครัวเป็นครั้งแรก ซึ่งต้องถือว่าได้รับความสำเร็จในชั้นสุดท้าย เมื่อไปถึงใหม่ ๆ ข้าพเจ้าแปลกใจทุกสิ่งทุกอย่าง ในสมัยนั้น เมืองไทยย่อมถือว่าเป็นประเทศที่ไม่เจริญเท่าเทียมบ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่ง แต่เหตุใดโรงเรียนของคณะนางชีที่ปีนังจึงไม่สวยงามเลย ตู้โต๊ะเรียนทำด้วยไม้หยาบ ๆ ทาน้ำมันสีดำ ๆ เก้าอี้ก็ทำอย่างหยาบ พื้นห้องเรียนปูกระเบื้องดินเผาสีแดงเป็นฝุ่นอยู่เสมอ ต้องใช้น้ำราดไม่ให้ละอองปลิวขึ้น ประเพณีต่าง ๆ เปลี่ยนไป เมื่ออยู่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ครูนั่งบนยกพื้นสูงกว้าง มีโต๊ะเขียนหนังสือตัวใหญ่ เมื่อนักเรียนเข้าไปหาครูที่โต๊ะก็เข้าไปคุกเข่าบนยกพื้นที่ข้างโต๊ะของครู เมื่อไปถึงปีนัง เมื่อข้าพเจ้าต้องเข้าไปหาครูซึ่งเป็นแม่ชีเหมือนกัน ข้าพเจ้าก็เข้าไปคุกเข่า ครูก็ร้องว่า “อะไร เสื้อเปื้อนหมดลูกขึ้น ๆ ทำไมทำอย่างนั้น” เมื่อไปถึงใหม่ ๆ ข้าพเจ้าบอกว่าเคยเรียนชั้นสอง ทางโรงเรียนจึงให้ไปทดลองเรียนชั้นสองอยู่ได้ประมาณ ๑๐ วัน ก็ย้ายให้ไปเรียนชั้นสาม ปลายเทอมนั้นข้าพเจ้าสอบได้เป็นที่หนึ่งในชั้น ซึ่งข้าพเจ้าแปลกใจมาก ทางโรงเรียนก็เลื่อนให้ไปเรียนชั้นสี่ เรียนไปได้อีกเทอมหนึ่งก็สอบได้ที่หนึ่งอีก และได้เรียนต่อไปจนสิ้นปี

เมื่อไปอยู่โรงเรียนประจำที่ปีนังนั้น ข้าพเจ้าต้องผจญกับความประหลาดใจอีกหลายอย่างนับไม่ถ้วน การร้องเพลงไทยเป็นเรื่องขบขันสำหรับเพื่อน ๆ คนไทยด้วยกันทุกคน และเรื่องการละครก็เป็นเรื่องขบขัน และถ้าข้าพเจ้าออกความคิดเห็นไม่ว่าในเรื่องใด เพื่อนโดยมากก็เห็นเป็นของขบขัน ข้าพเจ้าคับแค้นใจมาก ข้าพเจ้าหาทราบไม่ว่า ข้าพเจ้าได้ละคนในรัชกาลที่สี่ไปอยู่กับคนที่เป็นเด็กวัยเดียวกับข้าพเจ้าซึ่งเกิดในรัชกาลที่หกหรือปลายรัชกาลที่ ๕ กันโดยมาก ในตอนแรกข้าพเจ้าพยายามจะแสดงบุคลิกภาพของข้าพเจ้าให้ปรากฏ แต่เห็นว่าไม่เป็นผล สู้แอบซ่อนไว้ดึกว่า เคราะห์ดีที่เรียนหนังสือเป็นผลสำเร็จ ทำชื่อเสียงให้นักเรียนไทย ซึ่งเรียนดีกันเกือบทุกคน เกือบทุกชั้นที่มีนักเรียนไทย คนที่สอบได้ที่หนึ่งก็มักจะเป็นคนไทย ครูที่สอนข้าพเจ้าก็รักชอบมาก จึงเรียกว่าเอาตัวรอดไปได้

เมื่ออยู่โรงเรียนเซนต์โยเซฟในตอนหลัง ๆ ข้าพเจ้ามีชื่อเสียงมากในการแสดงละคร แต่เมื่อไปอยู่โรงเรียนที่ปีนัง ไม่เคยได้เลือกเป็นละครเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าวิธีพูดภาษาอังกฤษของข้าพเจ้านั้นแปลกไปจากที่เขาพูดกันที่ปีนัง เพราะที่เซนต์โยเซฟ ออกเสียงในทำนองภาษาฝรั่งเศส แต่ครั้นอยู่ที่ปีนังไปนานหลายปี ได้รับคัดเลือกให้ไปกล่าวคำสดุดีอาจารย์ใหญ่ หรือที่ถูกอธิการของคณะชี (ครูใหญ่ที่ลงทะเบียนกับกองการศึกษาของรัฐบาลเป็นอีกคนหนึ่ง) อธิการมีความเมตตาข้าพเจ้ามาก เป็นผลให้แม่ชีคนหนึ่งซึ่งไม่ชอบข้าพเจ้าเลย เพราะเมื่อไปถึงใหม่ ๆ ข้าพเจ้าแสดงความไม่พอใจกับโรงเรียนที่ปีนังหลายอย่าง ต้องหันมาทำเป็นชอบไปด้วย ทำให้เริ่มเรียนรู้เรื่องคนและชีวิต เรียกว่ามีความสำเร็จตั้งแต่นั้นมา

ข้าพเจ้ามีเรื่องขัดแย้งกับคณะแม่ชีตลอดเวลาที่เรียนอยู่ที่ปีนังเรื่องศาสนา แม่ชีโดยมากชอบคนหัวอ่อน เมื่อนักเรียนนอกศาสนา แสดงว่าโอนเอียงไปในทางที่จะเชื่อศาสนาคาทอลิก แม่ชีมักจะยินดีว่าได้รับแสงสว่างจากพระผู้เป็นเจ้าแล้ว แต่ทุกคนรู้ว่าข้าพเจ้าหัวแข็งในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้บอกให้แม่ชีทุกคนทราบตั้งแต่แรกว่า ครอบครัวเคร่งครัดในพระพุทธศาสนามาก แม่ชีถือหลักว่าไม่กะเกณฑ์นักเรียนคนใด ใช้วิธีกล่อมเกลาทางอ้อมหลายชนิด แต่มีแม่ชีคนหนึ่งชอบข้าพเจ้ามาก เรียกไปพูดกันสองต่อสองว่า “การที่ไม่ยอมรับศาสนาของคนอื่นง่าย ๆ นั้นเป็นของดี พวกที่รับง่าย ๆ นั้น พอออกจากโรงเรียนไปแล้ว ก็มักลืมเลือนไป แต่ควรสนใจศึกษาศาสนาอยู่เสมอ ไม่ควรละทิ้งเสีย” ส่วนท่านอธิการใหญ่ ผู้ซึ่งเมตตาข้าพเจ้ามากนั้น ท่านเสียใจว่าพระผู้เป็นเจ้าช่างไม่สนพระทัยกับข้าพเจ้าเลย จึงขอร้องไว้ว่า ให้กล่าวอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าทุกคืนก่อนนอนว่าขอให้ได้พบศาสนาที่แท้จริง ข้าพเจ้าก็รับคำและปฏิบัติเรื่อยมาเป็นเวลานาน ในเรื่องนี้ ถ้ามีเวลาเขียนหนังสือนี้ตามที่วางแผนไว้ได้ก็จะได้ย้อนกล่าวอีก

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากโรงเรียนที่ปีนังก็คือ การเห็นแก่หน้าที่ และการชอบอ่านหนังสือ เพราะโรงเรียนคอนแวนต์ที่ปีนังเป็นโรงเรียนที่ก้าวหน้าทางการศึกษาสำหรับประชาชนมาก ไม่ใช่โรงเรียนสำหรับลูกผู้หญิงของท่านขุนนางหรือคหบดีอย่างเซนต์โยเซฟ มีการทดลองวิธีสอนใหม่ ๆ อยู่เสมอ กองการศึกษาที่ปีนังมีการอบรมครูประจำการเกือบไม่ว่างเว้นเพื่อให้ทันสมัย ข้าพเจ้าออกจากโรงเรียนที่ปีนังเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๘ คือ พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๐ หมายความว่า ๒๒ ปีต่อจากนั้น ได้ไปดูการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ เขาพาไปดูการสอนภาษาอังกฤษ (ให้นักเรียนอังกฤษ) ในโรงเรียนใหม่แห่งหนึ่งของเขา เมื่อได้ดูแล้วข้าพเจ้าก็ถามว่า กลวิธีที่ใช้ในบทเรียนนั้นเรียกว่าเป็นแบบใหม่หรือเก่า เขาบอกว่าใหม่ ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าเคยได้รับการสอนตามกลวิธีนั้นเมื่อ ๒๒ ปีมาแล้ว เขาประหลาดใจมาก ถามว่าเรียนหนังสือที่ไหน เมื่อข้าพเจ้าบอกว่าเรียนที่ปีนังซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาก็ว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่แปลกอะไร เพราะครูหัวใหม่ ๆ เมื่อได้ออกไปยังอาณานิคมก็ได้นำวิธีสอนใหม่ ๆ ไปใช้ ซึ่งถ้าอยู่ในประเทศอังกฤษก็ไม่มีโอกาสใช้ เพราะถูกครูหัวเก่าต้านทานไว้ ข้าพเจ้ายังอัศจรรย์ใจอยู่จนทุกวันนี้ แต่เมื่อได้เห็นวิธีสอนคณิตศาสตร์แบบใหม่ มีการสอนพีชคณิตและเลขคณิตคละเคล้ากัน ข้าพเจ้าก็ระลึกขึ้นมาได้ว่า ครูชั้นเด็กเล็กในโรงเรียนที่ปีนังบ่นกันว่า มีผู้ตรวจโรงเรียนมาใหม่ (คือเหมือน ศึกษานิเทศก์ ของเรา) แกมาสอนให้นักเรียนคูณจากข้างหน้าไปข้างหลัง ซึ่งพวกครูไม่ชอบเลยแต่จำใจทำตาม เพราะนายตรวจแกอ้อนวอนขอให้ทดลอง ข้าพเจ้าจึงคิดว่าที่เจ้าหน้าที่คนนั้นกล่าวอาจมีความจริงก็ได้ เพราะเห็นมีการทดลองวิธีสอนต่างๆ อยู่เสมอ นักเรียนหญิงไทยที่ไปเรียนหนังสือที่ปีนังในสมัยที่ข้าพเจ้าไปเรียนนั้น โดยมากเป็นลูกข้าราชการหรือพ่อค้าคหบดีที่อยู่ในต่างจังหวัดภาคใต้ ที่มีความคิดนึกชอบไปทางใหม่ ค่าเล่าเรียนก็ดูเหมือนจะถูกกว่าที่กรุงเทพฯ เสียอีก ค่าเล่าเรียนแท้ ๆ นั้นเพียงเดือนละ ๒ เหรียญ คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๓ บาท ค่าเรียนที่เซนต์โยเซฟสำหรับชั้นเล็ก ๆ เดือนหนึ่ง ๓ บาท ที่ปีนัง เมื่ออยู่ชั้นสูงสุดของโรงเรียนดูเหมือนจะเพิ่มค่าเล่าเรียนเป็นเดือนละ ๔ หรือ ๕ เหรียญ แต่ที่โรงเรียนคอนเวนต์นั้น ในด้านศิลปะแล้วได้เรียนวิธีแปลก ๆ หลายอย่าง เรียนทำดอกหรือลวดลายด้วยเส้นไหมสั้น ๆ เป็นกำมะหยี่บนแพรสำหรับตัดเสื้อ เรียนเขียนด้วยน้ำยาบนไม้เนื้อดี และวิธีการอีกหลายอย่าง

นักเรียนหญิงที่ไปเรียนที่ปีนังที่เป็นชาวกรุงเทพ ฯ ต้องประสบกับการวิพากษ์วิจารณ์จากคุณแม่และผู้ปกครองที่ไม่ได้ส่งลูกหลานไปนอกประเทศที่น่าขำหลายข้อ โดยมากมักจะเป็นว่า การเรียนหนังสือมากไปสำหรับหญิงสาวนั้นไม่ดี เพราะมักจะเสียเวลาที่ควรเรียนการบ้านการเรือนไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าภูมิใจมานานที่ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนของคณะแม่ช็ที่ปีนัง เพราะสังเกตว่าแม่บ้านไทยที่เป็นลูกหลานของคหบดี ไม่ชำนาญการปะการชุน และทำไม่ได้สวยสนิทเหมือนนักเรียนโรงเรียนข้าพเจ้า การฝีมือของไทยนั้น โดยความถนัดทางธรรมชาติข้าพเจ้าไม่ค่อยมีฝีมือนัก ในครอบครัวข้าพเจ้ามีฝีมือทางการปั้นขนมจีบ ปอกมะปรางริ้ว ร้อยมาลัย เย็บแบบ (ด้วยกลีบกุหลาบหรือดอกไม้อื่น) ข้าพเจ้าทำได้อย่างเดียว คือปอกมะปรางริ้ว ซึ่งมักมีผู้ชมว่าทำได้สวย ที่ทำอย่างอื่นไม่ได้หาใช่เพราะไปเรียนหนังสือที่ปีนังไม่ แต่เป็นเพราะพี่ชายย้ายจากบ้านหม้อไปอยู่จังหวัดเพชรบุรี ไม่มีโอกาสจะทำงานฝีมือประณีตกันบ่อยนัก

เมื่อข้าพเจ้าได้รับประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้วกลับมาอยู่บ้าน ข้าพเจ้าอายุ ๑๗ ปี เมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็ขออนุญาตผู้ปกครองคือพี่ชาย ขอเข้าสอบรับประกาศนียบัตรมัธยมบริบูรณ์ของกระทรวงธรรมการ (สมัยนั้นยังไม่เรียกกระทรวงศึกษาธิการ) แต่ผู้ปกครองตอบว่า ไม่จำเป็น รู้ภาษาไทยพอแล้ว และไม่ประสงค์จะให้เข้าโรงเรียนไทยโรงเรียนไหน เพราะให้การศึกษาไม่เป็นที่พอใจ ในตอนนั้นข้าพเจ้าไม่เข้าใจผู้ปกครอง แต่มีความเกรงกลัวก็สงบอยู่ ต่อมาอีกประมาณ ๓ ปี พี่ชายออกจากราชการและพาน้องๆ ผู้หญิง กับลูกหญิงสองคน ไปอยู่ที่บานซึ่งปลูกขึ้นใหม่ที่เพชรบุรี และอยู่ที่นั่นมาจนกระทั่งข้าพเจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ไปขออนุญาตเข้ามหาวิทยาลัย จึงไปหาที่เรียนเพื่อจะได้สอบชั้นมัธยมบริบูรณ์ของกระทรวงธรรมการ

เห็นจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้ในโอกาสนี้ว่า ประกาศนียบัตรมัธยมบริบูรณ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้น มหาวิทยาลัยทั่วโลกรับรอง มีแต่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่แลเห็นคุณค่าแต่ประการใด ยิ่งกว่านั้นประกาศนียบัตรของข้าพเจ้านั้นเป็นชั้นที่เขาเรียกว่า honours certificate คือเรียนมากวิชากว่าผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรสามัญ จะแก้ว่าเพราะเราเป็นมหาวิทยาลัยไทย ต้องรู้ภาษาไทยก็เห็นจะแก้ไม่ได้ดีนัก เพราะเมื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย มีการสอบคัดเลือก ก็ให้สอบภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง จะเข้าได้หรือไม่ก็อยู่ที่การสอบคัดเลือก แต่มหาวิทยาลัยของเราไม่ยอมให้ผู้ที่ไม่ได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงธรรมการเข้าสอบ ข้าพเจ้าจึงไปเข้าเรียนในชั้นมัธยมแปดที่โรงเรียนเซนต์ แมรีส์ เอส.พี.จี. (ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Society for the Propagation of the Gospel) เป็นโรงเรียนของคณะมิชชั่นนารีอังกฤษตั้งอยู่ที่ถนนสาธร เมื่อสอบได้ชั้นมัธยมแปดแล้วจึงไปสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย

เรื่องการศึกษาในโรงเรียนไทยนี้ มีข้อที่น่าพิจารณาคือ ผู้ใหญ่ในสมัยนั้นคิดถึงการศึกษาในด้านการอบรม ไม่ได้คิดถึงในด้านวิชาการเพื่อแข่งขันกันเอาที่เรียนในสถาบันชั้นสูง หรือเพื่อชื่อเสียง หรือเพื่ออาชีพ ผู้หญิงในสมัยที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้ โดยมากยังไม่มีความจำเป็นประกอบอาชีพนอกบ้าน มีแต่ผู้ช่วยเหลือครอบครัวภายในบ้าน เช่นขายของในร้าน เป็นลูกมือของญาติผู้ใหญ่ทางใดทางหนึ่ง สำหรับครอบครัวข้าพเจ้า การอบรมลูกผู้หญิงนั้นก็คือ ให้เป็นคนกล้าไม่กลัวใครในที่ไม่ควรกลัว ให้เป็นคนรู้จักความสำคัญของตน ว่าเป็นลูกหลานคนที่เคยปกครองบ้านเมืองมา ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะประพฤติตนไม่ให้ผิดทำนองคลองธรรม เช่นต้องเคร่งกับระเบียบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนของคณะมิชชันนารีคาทอลิกได้ให้การอบรมดี นอกจากนั้น ก็มีสุนทรียลักษณ์ต่าง ๆ ของไทย ซึ่งในโรงเรียนไทยของเราเวลานั้นก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่สมาชิกในครอบครัวเช่นข้าพเจ้าได้มากนัก เช่นในทางถักร้อยประดิษฐ์ต่าง ๆ ก็เรียนได้ในครอบครัว ยิ่งเกี่ยวกับการขับร้อง ฟ้อนรำ โรงเรียนไทยที่ตั้งขึ้นยิ่งไม่สามารถสอนได้เท่าที่จะเรียนได้จากญาติผู้ใหญ่ เพราะเป็นอาชีพของพวกเราก็ว่าได้ แต่ที่ทำความผิดหวังมากที่สุดนั้นคือเรื่องศาสนา คนที่รับการศึกษาในโรงเรียนไทยมิได้เข้าใจพุทธศาสนาดีไปกว่าสมาชิกในครอบครัวที่ไปโรงเรียนในโรงเรียนของคณะมิชชัน ดังนั้นพี่ชายข้าพเจ้าเธอเห็นว่า คนที่บริหารการศึกษาของไทยนั้น ไม่ตั้งใจทำจริง เธอก็ยังไม่ถึงวัยที่จะอภัยได้ง่าย ๆ ติดใจเอาไว้ว่าไม่ทำราชการให้ละเอียดถี่ถ้วน และมีใจไม่ชอบเป็นอันมาก เมื่อเธอล่วงวัยไปแล้ว จึงค่อย ๆ เห็นสภาวะต่าง ๆ และออกปากว่า “เรา มันได้แค่นี้เอง”

ข้าพเจ้าเป็นคนโชคดีมากในทางเรียนหนังสือ ตั้งแต่เริ่มมีอายุและมีภาวะเป็นเด็กสาว ข้าพเจ้ามีการป่วยประจำเดือนอย่างพิสดารมาก ลุกขึ้นจากที่นอนไม่ได้เลยทั้งวันและอาเจียนเกือบตลอดวัน แม้แต่อาหารน้ำ ๆ ก็เก็บไว้ในกระเพาะอาหารไม่ได้ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มียาชนิดใดที่จะระงับความปวด และแพทย์ก็ลงความเห็นว่าไม่มีทางช่วยเหลือ แต่ข้าพเจ้าได้เข้าสอบที่สำคัญ ๆ นับครั้งไม่ถ้วน หลีกเลี่ยงวันป่วยดังกล่าวไปได้หมด นอกจากนั้น ระหว่างที่อยู่โรงเรียนที่ปีนัง ถ้าในชั้นใดมีการแบ่งนักเรียนออกเป็น ๒ ห้อง และเพื่อน ๆ มีความเห็นว่าครูคนหนึ่งดี ข้าพเจ้ามักจะไปอยู่ห้องของครูที่เพื่อนลงความเห็นว่าดีเสมอ และครูที่เพื่อน ๆ ว่าไม่ดีนั้น ถ้ามาสอนข้าพเจ้าเป็นมื้อเป็นคราว ก็มักจะพอใจว่าข้าพเจ้าเป็นนักเรียนดี ตั้งแต่ไปอยู่โรงเรียนที่ปีนัง ข้าพเจ้าไม่ต้องฝ่าฟันในการเรียนกี่มากน้อย นอกจากต้องเสียเวลาเพราะป่วย ซึ่งแม่ชีดูแลเห็นจะ กล่าวได้ว่าดีกว่าผู้ปกครองทางบ้านจะกระทำได้ ประการหนึ่งก็คือ ข้าพเจ้าไม่กล้าฝ่าฝืนคำสั่งใดๆ อีกประการหนึ่ง การดูแลนั้นก็เป็นการดูแลตามที่แพทย์สั่ง แม่ชีมาคอยระวังรักษาแม้ในเวลากลางคืนตอนดึก ไม่ให้ทำสิ่งใดที่แพทย์จะตำหนิได้เป็นอันขาด เช่น ถ้ากินยาระงับไข้ เหงื่อจะออกในเวลาเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง แม่ชีก็จะมาเรียกให้เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อ เช็ดผมให้แห้ง และวันรุ่งขึ้น ก็ต้องหาอาหารดี ๆ แปลกรสมาให้ จนกว่าจะหายเป็นปรกติ เมื่อหายแล้ว ครูก็จะเอาใจใส่ไต่ถามว่าลำบากใจในการเรียนอย่างใดหรือไม่ แต่การเรียนที่ปีนังเป็นการเรียนโดยให้อ่านหนังสือ ข้าพเจ้าอ่านหนังสือเร็วตั้งแต่เป็นเด็กเล็กอยู่กับบ้าน จึงไม่เคยได้รับความยากใจในการเรียน

ครั้นได้เข้ามหาวิทยาลัย ในคณะอักษรศาสตร์ ต้องเรียนด้วยวิธีใหม่คือ ฟังปาฐกถาและจดหัวข้อ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้สึกยากใจอย่างใด แต่ที่จะเว้นกล่าวเสียไม่ได้ก็คือ ปีที่ข้าพเจ้าได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์นั้น อาจารย์เบรน-ฮารตเนล (Arthur Braine-Hartnell) รักษาการหัวหน้าแผนกวิชาภาษาอังกฤษแทนศาสตราจารย์เดวิส (Davies) ซึ่งได้ลาไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ท่านไม่ให้ข้าพเจ้าเรียนภาษาอังกฤษร่วมกับนักเรียนอื่น ๆ ท่านว่าเสียเวลา ท่านให้ข้าพเจ้าและนายปฐม ชาญสรรค์ เวลานั้นใช้ชื่อทอม ยอนสัน ซึ่งรู้ภาษาอังกฤษดีแล้ว ไปเรียนวิชาวรรณคดีเป็นพิเศษกับท่าน ท่านสั่งให้อ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้แล้ว ก็ให้เขียนเรียงความเกี่ยวกับหนังสือที่อ่าน ท่านให้เรียนวรรณคดีภาษาอังกฤษตั้งแต่สมัยกลางเป็นต้นมา เมื่อเรียนจบปีที่สองเราก็เรียนวรรณคดีอังกฤษถึงสมัยศตวรรษที่ ๑๘ พอดี เมื่อขึ้นปีที่ ๓ ก็เริ่มประวัตินวนิยายและวรรณคดีศตวรรษที่ ๑๘ ร่วมกับนิสิตอื่น ๆ ซึ่งไม่มีโอกาสเรียนวรรณคดีศตวรรษที่ ๑๕,๑๖,๑๗ มากนัก ข้าพเจ้าจึงเรียนได้อย่างสบาย

มีเรื่องที่ควรเล่าได้แล้ว ซึ่งไม่มีเพื่อน ๆ คนไหนกล่าวแก่ข้าพเจ้าหรือนำมาล้อเลียนเพราะเกรงใจก็คือ มีนิสิตบางคนเห็นข้าพเจ้าเดินคู่ไปกับนายทอม ยอนสัน เพื่อไปเรียนพิเศษที่สำนักงานของอาจารย์ซึ่งอยู่ที่เรือนไม้ห่างจากตึกอักษรศาสตร์ ปัจจุบันที่ตรงนั้นเป็นตึกใหญ่ตึกหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ ก็ทึกทักเอาว่าเราคงเป็นคู่รักกัน มีคนมาเขียนด้วยดินสอดำที่ประตูบานหนึ่งบนตึกชั้นบนของคณะอักษรศาสตร์ว่า “บุญเหลือรักทอม” พวกเพื่อนผู้หญิงโกรธกันมาก แต่ไม่รู้จะโกรธผู้ใด ตัวข้าพเจ้าก็รู้สึกโกรธ แต่ขณะเดียวกันก็ประหลาดใจว่า คนที่เขียนนั้นได้ประโยชน์อะไร เวลานั้นไม่เข้าใจว่านิสิตในมหาวิทยาลัยยังมีลักษณะเป็นเด็กวัยรุ่น ไม่มีความคิดของผู้ใหญ่ และไม่ได้รับการอบรมที่ทำให้มีรสนิยมสูงไปกว่าการเล่นสนุกอย่างเด็ก ๆ

เห็นควรเล่าด้วยว่า ข้าพเจ้าเป็นคนไม่รู้จักโลกไปอีกด้านหนึ่ง เมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัย ยังไม่มีหลักสูตรสำหรับปริญญาอักษรศาสตร์ มีแต่ประกาศนียบัตรครูมัธยมคือเรียนวิชาสามัญ ๒ ปี แล้วเรียนวิชาครูอีก ๑ ปี เมื่อกำลังเรียนในปีที่ ๒ มีข่าวว่าจะมีหลักสูตรปริญญา เมื่อเรียนจบปีที่ ๒ แล้ว ตัวข้าพเจ้าเองไม่ทะเยอทะยานที่จะให้ได้เรียนปริญญา คิดว่าได้ประกาศนียบัตรครูมัธยมเร็ว ๆ ก็ดี เพื่อว่าจะได้ทำงานได้เงินเดือน เป็นมูลค่าเดือนละ ๘๐ บาท ดูมากมายเหลือประมาณ แต่พี่ ๆ ผู้หญิงไม่ยอม แนะนำให้เรียนหลักสูตรปริญญา และพากันหัวเราะความคิดของข้าพเจ้าว่า การได้ปริญญาไม่สำคัญอะไร ข้าพเจ้าออกจะเป็นคนตามใจคนอื่นในเรื่องทั่ว ๆ ไป เพราะข้าพเจ้าทราบว่า มีอยู่สองสามกรณีที่ข้าพเจ้าจะไม่ตามใจใครเป็นอันขาด จึงสมัครเรียนหลักสูตรปริญญา เพราะมีผู้ใหญ่ที่รู้จักโลกมากกว่าแนะนำ แต่เมื่อเรียนจบได้ปริญญาแล้วข้าพเจ้ามีความคิดมั่นคงว่า ถ้าจะเป็นครูต้องเรียนวิชาครู เพราะไม่เชื่อว่า ถ้าวิชาครูเป็นของไม่สำคัญอย่างที่คนอีกจำนวนมากเชื่อถือ แม้ในปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยคงไม่เปิดหลักสูตรวิชาครู และข้าพเจ้าเชื่อมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบว่า ในการทำอะไรทุกอย่าง ต้องพยายามหาทางเรียนเทคนิคที่ดีที่สุดสําหรับการนั้น ๆ จะได้รับอิทธิพลจากผู้ใดไม่ทราบแน่ อาจจะเป็นอิทธิพลการศึกษาทางบ้านและทางโรงเรียนกับการเสวนากับผู้ใหญ่บางคนประกอบกัน เพราะคนที่มีญาติมาก ก็มีโอกาสใกล้ชิดกับคนต่างชนิดในหมู่ญาติ โดยเฉพาะพี่เขยมีคนที่เป็นวิศวกรอยู่หลายคนและญาติผู้ใหญ่ที่เป็นแพทย์ก็มี ได้ยินผู้ใหญ่ที่เป็นเพื่อนของญาติผู้ใหญ่ที่เป็นนักกฎหมายคุยกันก็มี ในเรื่องการบริหารบ้านเมืองก็ได้ยินถึงเรื่องกลวิธีต่าง ๆ ซึ่งผู้ใหญ่สมัยนั้นเรียกว่า กลเม็ด อาจเป็นเพราะเหตุนี้จึงฝังใจไว้มากในเรื่องที่ว่า เมื่อจะทำสิ่งใดต้องหาทางเรียนเทคนิคให้ได้ เมื่อจะต้องใช้พิมพ์ดีดข้าพเจ้าก็ไปเรียนพิมพ์สัมผัสจากโรงเรียนทันที และก็มีโชคได้ครูดีอีก ท่านชื่ออะไรไม่ทราบ รู้แต่ว่าเป็นเจ้าของโรงเรียนเกศมณีพิมพ์สัมผัส ข้าพเจ้าเรียนแต่พอใช้เครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษได้ แต่ก็สำนึกถึงบุญคุณท่านมาก เทคนิคของการพิมพ์ที่ท่านสอนนั้นดี และคำอธิบายว่าเหตุใดต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ก็ดีพอที่ข้าพเจ้าได้มาใช้สอนเสมียนพิมพ์ดีดของข้าพเจ้าหลายคน เพราะบางโรงเรียนก็ไม่สอนสิ่งที่ควรสอน

การเรียนวิชาครูของข้าพเจ้าก็ราบรื่นตามดวงชะตาในเรื่องการเรียน ได้อาจารย์ที่ดีอีกตามเคย แต่จะขอเว้นไว้ไม่เล่ารายละเอียดเรื่องการเรียนวิชาครู เพราะจะต้องกล่าวเกี่ยวโยงกับการทำราชการในตอนต่อไป ในเรื่องการศึกษาเรียกว่าได้รับความสำเร็จเป็นอันดี

  1. ๑. พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ล. วราห์)

  2. ๒. ม.ล. วงษ์ และ ม.ล. เล็ก

  3. ๓. ม.ล. ขาบ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ