บทที่ ๕ ชีวิตศึกษานิเทศก์

ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นนิสิตปีที่ ๓ ในคณะอักษรศาสตร์ อาจารย์หญิงชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ข้าพเจ้าไม่ค่อยชอบ เพราะท่านเป็น คนสวยและทำท่าสวย และมีขื่อเสียงในหมู่ชาวอังกฤษที่ข้าพเจ้ารู้จักว่าเป็นคนเจ้าระเบียบเกินไป เดินเข้ามาหาข้าพเจ้าที่ระเบียงชั้นล่างด้านหน้า และถามว่า “อยากไปเรียนเรื่องการศึกษา ที่อังกฤษไหม” ข้าพเจ้าแปลกใจ ถามท่านว่า ท่านกำลังคิดเรื่องอะไร ท่านบอกว่า อาจารย์ชาวอังกฤษในมหาวิทยาลัยพูดกันว่าข้าพเจ้ามีท่าทีสมเป็นครู แต่ประเทศไทยในอนาคตต้องการคนหลายระดับ ถ้าเรียนวิชาครูแต่ในประเทศไทยก็จะมีความรู้น้อยไป อยากให้เรียนวิชาครูในประเทศไทยแล้วไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเพื่อจะได้กลับมาเป็น Inspectress ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจว่าท่านหมายถึงอะไร คำว่า วิชาการศึกษา ซึ่งท่านใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า education ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร เคยทราบแต่ว่า วิชาครูภาษาอังกฤษเรียกว่า pedagogy นอกจากนั้นแล้วข้าพเจ้าเป็นคนไม่รู้จักโลก เมื่อไม่ชอบใครมักแสร้งทำเป็นชอบไม่ค่อยเป็น และมักอยากแสดงให้รู้ด้วยซ้ำไป จึงเลยตอบท่านไปว่า “เวลานี้ไม่สนใจกับการไปต่างประเทศ” ท่านถอนใจใหญ่แล้วก็ไม่พูดอะไรต่อไป เรื่องไม่รู้จักโลกนี้ทำให้ประสบความล้มเหลวไปมากพอสมควรทีเดียว จึงใคร่จะเล่าไว้เสียในตอนนี้ คือเมื่อศึกษาเพื่อรับปริญญาโทอยู่ที่สหรัฐฯ ณ มหาวิทยาลัยมินนะโซตาซึ่งมีชื่อว่าให้ปริญญาเอกยากมากแห่งหนึ่งในประเทศนั้น มีอาจารย์และเพื่อน ๆ มาถามว่า ข้าพเจ้าไม่พยายามเรียนให้ได้ปริญญาเอกหรือ ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นความจำเป็นของปริญญาเอก เพราะเป็นเพียงการฝึกหัดทำการวิจัย ความรู้เท่าที่ได้ไปจากการศึกษาขั้นปริญญาโทนี้ ก็สงสัยว่าจะเอาไปใช้ในประเทศไทยไม่กี่มากน้อย เพราะประเทศไทยไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาเลย ควรจะรีบกลับไปทำความเข้าใจว่าประเทศไทยมีข้อบกพร่องอะไร แล้วหาทางแก้ไขจะดีกว่าทำการวิจัยอยู่ในสหรัฐ มาภายหลังก็มารู้อีกว่า การไม่ได้ปริญญาเอกมานั้น เป็นข้อบกพร่องไม่น้อย ถ้าได้ปริญญาเอกกลับมา ความคิดเห็นอาจมีผู้เอาใจใส่ฟังกันมากกว่านี้เป็นแน่ และตำแหน่งในราชการก็ได้เปรียบกันหลายอย่าง ใครไม่ทราบทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การประเมินผลงานนั้นเขาดูกันที่งาน ไม่ใช่ดูกันว่าได้อยู่มหาวิทยาลัยไหนมากี่ปี ได้ปริญญาเอกหรือไม่ ท่านผู้ใดได้อ่านหนังสือนี้ มีความคิดลังเลเกี่ยวกับได้ปริญญาเอก สำหรับตนเองหรือสามีภรรยา ขอให้รีบสนับสนุนให้ได้วิทยฐานะนั้นมาให้ได้ แม้ในประเทศก็ยังดี เพราะยิ่งนานวันไปก็ดูเหมือนโรคปริญญาจะเข้าจับคนในโลกนี้กันมากขึ้นทุกที ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย

หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับมาจากสหรัฐอเมริกา กระทรวงศึกษาธิการประสงค์จะปรับปรุงการฝึกหัดครู ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การช่วยเหลือทางวิชาการของสหรัฐ องค์การนี้เปลี่ยนชื่อไปหลายครั้ง แต่ที่คนรู้จักมากเห็นจะเป็นชื่อ “ยูซอม” ผู้เชี่ยวชาญของยูซอมที่มาให้ความช่วยเหลือด้านฝึกหัดครูแก่กระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง เมื่อได้สำรวจโรงเรียนฝึกหัดครูในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งขณะนั้นมีการสอนเพียงปีเดียวสูงขึ้นไปจากมัธยม ๖ ได้ให้ความเห็นว่าต้องให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่โรงเรียนฝึกหัดครูเหล่านี้โดยด่วน กรมวิสามัญศึกษาซึ่งยังรับผิดชอบงานฝึกหัดครูอยู่ จึงหาคนกลุ่มหนึ่ง เป็นอาจารย์วิทยาศาสตร์ประมาณ ๓-๔ คน ไปเที่ยวช่วยเหลือทางวิชานี้ก่อน ต่อมากรมจึงเสริมกำสั่งให้แก่คนกลุ่มนี้ มีคนที่สนใจวิชาครูทั่วไปจำนวน ๓ คน เป็นฝ่ายวิชาภาษาอังกฤษ แต่ฝ่ายวิชาภาษาอังกฤษมีหน้าที่ช่วยโรงเรียนทั่วไป ไม่เฉพาะโรงเรียนฝึกหัดครู กรมได้คิดคำใหม่ขึ้นสำหรับตำแหน่งงานใหม่คือ ศึกษานิเทศก์

เพื่อรวบรัดความ เพราะหนังสือนี้ไม่ใช่หนังสือประวัติการศึกษา ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นศึกษานิเทศก์วิชาภาษาอังกฤษ จำไม่ได้ว่าได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า แต่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งพร้อม ๆ กับข้าพเจ้า หรือไล่หลังเพียงเล็กน้อยเป็นข้าราชการชั้นโท และมีวัยวุฒิเท่า ๆ กับผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงเป็นหัวหน้าไปโดยพฤตินัย และในทางปฏิบัติกรมส่งงานผ่านสำนักเลขานุการกรมมายังข้าพเจ้า

ดังนั้น ใน พ.ศ: ๒๔๙๖ ข้าพเจ้าจึงมีตำแหน่งราชการ ๒ ตำแหน่ง คือผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมฯ และศึกษานิเทศก์อีกตำแหน่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ ซึ่งไปดูงานต่างประเทศระยะยาว เข้าใจว่า ๘ เดือน การทำงาน ๒ ตำแหน่งนี้ข้าพเจ้าขอแนะนำใครก็ตามที่จะรับคำแนะนำว่า ให้หลีกเลี่ยงให้มากที่สุดที่จะทำได้ เพราะคนที่ทำงานสองตำแหน่งนั้น นอกจากจะพะวักพะวน ทำงานให้ดีเต็มที่ไม่ได้ทั้ง ๒ ตำแหน่งแล้ว ก็มักจะถูกผู้อยู่ในบังคับบัญชาโกรธเคือง เมื่อไม่พอใจ เป็นธรรมดาโลกคนไม่พอใจต้องระบายออกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ผลก็คือคนทำงานสองตำแหน่งนั้นจะถูกนินทาเป็นสองเท่า เพราะผู้อยู่ในบังคับบัญชาทั้งสองกลุ่มเกิดความไม่พอใจ ในกรณีข้าพเจ้านั้น โชคดีอย่างยิ่งที่ผู้อยู่ในบังคับบัญชาในคราวนั้น ถึงจะไม่พอใจก็มีใจยุติธรรม คือลุแก่วุฒิภาวะพอที่จะใช้เหตุผล ถึงจะบ่นพอระบายความรำคาญใจ ก็ไม่บ่นให้เสียหาย หรือเสียหายบ้างก็ไม่มากนัก คนฟังอยากให้เป็นการเสียหายก็เสียหาย คนฟังเอาใจช่วยอยู่ก็นำมาบอกเล่าอย่างหวังดี จึงยังมีไมตรีจิตอันดีต่อกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนเตรียมฯ และศึกษานิเทศก์ที่ทำงานร่วมกับข้าพเจ้า

ระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินนะโซตา ข้าพเจ้าบังเอิญสนใจวิชาที่เขาเรียกว่า supervision ตามหลักของอเมริกัน ปรากฏว่าเป็นวิชาว่าด้วยการแนะนำควบคุมครูให้ทำงานดีขึ้น ที่เรียกว่า supervision นั้นก็เพราะยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี แต่ก่อนนี้ในอเมริกา มีผู้ไป “ตรวจ” โรงเรียน งานตรวจนี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะผู้ตรวจทำให้ครูรู้สึกถึงความผิดพลาดของตน จึงมีคนคิดวิธีการช่วยเหลือครูให้ทำงานให้ดีขึ้น เรียกวิธีการนี้ว่าวิชา supervision ดังได้กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้เห็นคนไทยที่ไปเรียนในสหรัฐชื่นชมกับคำนี้มาก ถึงแก่กล่าวว่าวิธีการนี้ เป็นวิธีการประชาธิปไตย ถ้าเรียก inspection นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านเหล่านั้นจะต้องแปลกใจมาก ถ้าได้เข้าร่วมในการประชุมนานาชาติที่เมืองเยนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่าด้วยงานที่เขาเรียกว่า inspection and supervision ทุกคราวที่มีผู้นำคำ supervision มาใช้ในรายงาน ผู้แทนประเทศอังกฤษจะต้องขอเปลี่ยน คำนี้เป็นคำที่ครูประเทศอังกฤษไม่ยอมรับเป็นอันขาด ในประเทศอังกฤษตีความคำ supervision ว่าควบคุมงานเหมือนหัวหน้ากรรมกรควบคุมงานของกรรมกร คนนอกโรงเรียนจะเป็นของเทศบาลหรือรัฐบาลก็ตาม เชิญมาตรวจ (inspect) และรายงานไป แต่จะมาควบคุมการทำงานไม่ได้ ครูต้องมีเสรีภาพในการทำงาน การควบคุมจะทำได้ภายในโรงเรียนเท่านั้น

เมื่อข้าพเจ้าไปประชุมที่เมืองเยนีวานั้น คือในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. ๑๙๕๖) ก่อนหน้านั้นได้มีการขยายปรับปรุงงานในกระทรวงศึกษาธิการ กรมวิสามัญศึกษาได้แบ่งออกเป็น กรมวิสามัญศึกษาอย่างปัจจุบันนี้ และแบ่งการฝึกหัดครูไปเป็นกรมการฝึกหัดครู และมีกรมวิชาการเกิดขึ้นจากการขยายงานกองตำรา และได้เพิ่มงานขึ้นอีกหลายอย่าง ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์กรมวิสามัญศึกษา มีงานวิชาอื่นรวมอยู่ด้วยไม่เฉพาะงานภาษาอังกฤษอย่างเดียว กระทรวงศึกษาธิการจึงส่งไปเป็นผู้แทนในการประชุมที่เยนีวา ซึ่งจะขอแทรกเล่าเสียก่อน ในการประชุมนี้เกิดปัญหาขึ้นว่า จะใช้คำอะไรเรียกงานช่วยเหลือแนะนำครูในการปรับปรุงการสอน ในสหรัฐคำ Inspect ก็มีความหมายไม่ดี คำ supervision ในอังกฤษก็ใช้ไม่ได้ มีผู้แทนประเทศในยุโรปคนหนึ่งกล่าวขึ้นมาว่า คำจะมีความหมายดีหรือไม่ดี อยู่กับการกระทำในการใช้คำนั้น การที่ครูอเมริกันไม่ชอบคำ inspection ก็คงจะเป็นเพราะเคยได้รับ inspection ไม่ดี ถูกจับผิดแทนที่จะได้รับคำแนะนำ ผู้แทนอีกประเทศหนึ่งกล่าวว่า งานที่ต้องสอดส่องดูผลการกระทำของคนอื่นเช่นงาน inspection หรือ supervision นี้ ย่อมจะต้องถูกคนที่ถูกสอดส่องไม่พอใจเสมอ แม้จะทำดีเพียงใดก็ตาม ประเทศเยอรมนีเสนอให้ใช้คำ consultant เป็นชื่อตำแหน่ง บางประเทศก็ว่าถ้าไม่ไปตรวจแล้ว จะไปให้คำแนะนำหรือหารือกันได้อย่างไร เมื่อแพทย์จะรักษาไข้เขาต้องตรวจก่อน โต้เถียงกันนานพอสมควร ผู้แทนประเทศไทยก็ไม่ออกความเห็นว่าอย่างไร เพราะมัวแต่ห่วงว่า จะถูกถามจำนวนศึกษานิเทศก์ในประเทศไทย เพราะผู้แทนประเทศต่าง ๆ บ่นกันแต่ว่าจำนวนนายตรวจหรือนายควบคุม หรือนายที่ไม่รู้ว่าควรเรียกชื่อว่าอะไรนี้ มีอัตราไม่ได้ส่วนกับจำนวนโรงเรียน ประเทศหนึ่งว่า มีอัตราคนหนึ่งต่อ ๑๐ โรงเรียน อีกประเทศหนึ่งว่า รวมทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับอะไรต่อมิอะไรอีกหลายระดับแล้วแต่แผนการศึกษาของแต่ละประเทศ มีอัตราเพียงคนหนึ่งต่อ ๑๕ โรงเรียน ประเทศที่บ่นล้วนเป็นประเทศที่เล็กกว่าประเทศไทยโดยขนาดพลเมืองอย่างเปรียบกันไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงพยายามหลีกเลี่ยงการที่จะถูกถามเรื่องอัตราศึกษานิเทศก์ต่อจำนวนโรงเรียน เพราะเราเพิ่งเริ่มงาน จะคิดอัตราอย่างไรก็ไม่ได้

เมื่อออกจากที่ประชุม เกิดมีคนสนใจประเทศไทยมาถามว่า นายตรวจหรือนายควบคุมนี้ ประเทศไทยจะเลือกเรียกอย่างไหน ข้าพเจ้าบอกว่าเรามีภาษาของเราเอง เราไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เขาถามว่า แล้วใช้คำอะไร แปลไปทางไหน ข้าพเจ้าจึงบอกว่า เราเรียกศึกษานิเทศก์ แปลตามตัวว่า ผู้ชี้แจงการศึกษา คนที่มาถามมาด้วยกัน ๒-๓ คน เป็นอเมริกันกับชาวยุโรปรวมกันอยู่ เขาร้องด้วยความพอใจ บอกว่าประเทศไทยมีชื่อเพราะที่สุด และหวังว่างานของเราคงดีที่สุดด้วย การเป็นผู้หญิงเป็นผู้แทนประเทศไปร่วมประชุมนานาชาตินั้นดีหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเข้าที่ล่อแหลม ไม่อยากให้ใครถามเรื่องของประเทศเราต่อไป ก็ขออนุญาตไปที่อื่น ทำทีว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้ชายจะรู้ว่าอยากไปห้องน้ำ ก็จะไม่ซักถามอะไรเซ้าซี้ต่อไป ผู้หญิงไม่สวยก็ดี ไม่ค่อยมีใครสนใจไม่ไต่ถามถึงประเทศที่เป็นผู้แทน ผู้หญิงสวยก็ดี เพราะผู้ชายสนใจกับความสวย ไม่ไต่ถามถึงหน้าที่การงาน ข้าพเจ้าคงอยู่กลาง ๆ ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่จนเกินไป มักมีพวกผู้แทนประเทศที่พูดอังกฤษได้พอๆ กัน มาติดต่อสอบถามถึงประเทศไทย แล้วต้องใช้วิธีการขอเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ และไม่เคยมีใครมาติดต่อเรื่องส่วนตัวเพราะสนใจกับความสวยอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าใคร่จะให้ผู้อ่านหนังสือนี้เข้าใจว่า การทำงานศึกษานิเทศก์ของข้าพเจ้านั้นหมายถึงอะไร และมีความสำคัญแก่ข้าพเจ้าอย่างไร ข้อหนึ่ง ข้าพเจ้าก็รำลึกถึงคำปรารภของอาจารย์หญิงชาวอังกฤษเมื่อข้าพเจ้าเป็นนิสิตอยู่ ก็ได้รับความพอใจว่าบัดนี้ข้าพเจ้าได้ทำงานสมใจของครูบาอาจารย์หลายท่าน แล้วนึกย้อนขอขมาอาจารย์หญิงชาวอังกฤษที่มาพูดกับข้าพเจ้า โดยใคร่ครวญและรู้คิดว่า การที่ข้าพเจ้าไม่ชอบท่านผู้นั้น ก็โดยหูเบาและใจเบา ไม่มีเหตุผลที่สมควร คนเราไม่ควรชอบใครหรือไม่ชอบใคร โดยถือหลักว่าเขาเป็นคนภาคภูมิในความสวยของเขา หรือเป็นคนเจ้ายศและเจ้าระเบียบ คนสวยมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะภาคภูมิใจ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเลย นอกจากคนที่มีริษยา คนเจ้าระเบียบก็เป็นคนที่มีประโยชน์ และคนเจ้ายศก็ทำความเดือดร้อนแก่เฉพาะคนขี้รำคาญ เราไม่รำคาญเสีย เห็นว่าเขามีความสุขในการที่เขามียศ และได้แสดงให้ผู้อื่นรู้ว่าเขามียศ ก็เป็นอันหมดความเดือดร้อนของเราไป คนเรามักไปเที่ยวหาทุกข์มาใส่ตนเองโดยไม่จำเป็น ที่จริงข้าพเจ้าคิดได้ดังที่ว่ามานี้ก่อนที่จะได้เป็นศึกษานิเทศก์ แต่นำมากล่าวในจังหวะนี้เพราะได้โอกาส ระหว่างที่เป็นนิสิตอยู่ ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนช่างคุยเรื่องความสุขของตนเองและครอบครัว มีคนมาถามว่าทำไมข้าพเจ้าทนฟังเพื่อนคนนั้นคุยได้ คนที่มาถามบอกว่าเพื่อนคนอื่นทนไม่ได้ เพราะทนฟังคนคุยโอ้อวดตัวไม่ได้ ข้าพเจ้าพิจารณาแล้ว เห็นว่าเพื่อนคนนั้น ไม่เคยพูดว่าใครให้เสียหายเลย เมื่อเพื่อนคนนี้อยากมีคนฟังเขาคุยเรื่องความสุข ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นว่าข้าพเจ้าจะต้องทนทุกข์ประการใดในการที่จะฟัง ความทุกข์ที่ร้ายแรงที่สุดนั้น น่าจะเป็นการฟังคนมาขอร้องให้ช่วยเหลือ แล้วเราช่วยเขาไม่ได้ ยิ่งเขาไม่อาจเข้าใจว่าทำไมเราช่วยเหลือเขาไม่ได้แล้ว เรายิ่งมีความทุกข์เพิ่มขึ้นอีก

การถือคติธรรมดังได้กล่าวนั้น เป็นหลักสำคัญสำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นศึกษานิเทศก์คือผู้นิเทศจากภายนอกโรงเรียน หรือหัวหน้าวิชา คือผู้นิเทศภายในโรงเรียน หัวหน้าวิชานั้น ผู้ที่รับทำงานใหม่ ๆ มักจะเล่าว่าต้องหลั่งน้ำตามาหลายคน ครูมักจะบ่นให้ได้ยินว่า มีนายที่หนึ่งนายที่สอง และหัวหน้าวิชามักได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กะเกณฑ์ให้ครูทำงานที่ครูไม่ชอบให้ใครมากะเกณฑ์ เช่นในการออกข้อสอบ ครูอยากออกตามที่ครูเห็นว่าดีแล้วชอบแล้ว แต่หัวหน้าวิชาถูกโรงเรียนกะเกณฑ์มาอีกต่อหนึ่งให้ตรวจสอบข้อสอบของครู เพื่อให้ได้มาตรฐานกันทั้งโรงเรียน หรือให้หัวหน้าวิชาอ่านสมุดรายงานการสอนของครู ซึ่งครูก็ไม่ค่อยอยากทำ บางคนก็อยากทำให้ถี่ถ้วนสวยงามเป็นพิเศษ แต่ถูกหัวหน้าวิชาเร่งรัดให้ส่งให้ดูภายในวันนั้นวันนี้ นอกจากนั้น อาจารย์ใหญ่บางคนก็อาจมอบแต่งานให้หัวหน้าวิชาทำ แต่ไม่ได้มอบอำนาจบางอย่าง เช่นการขอเลื่อนเงินเดือนของครู หัวหน้าวิชาจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้กะเกณฑ์ให้ครูทำงานอย่างถี่ถ้วน หรือรวดเร็วเกินกว่าที่ครูใคร่จะทำ แต่ไม่มีฐานะรางวัลหรือลงโทษครู ในบางโอกาส ครูบางคนไม่ทำหน้าที่ด้านการสอนให้ดี แต่สนใจอาสางานที่อาจารย์ใหญ่เป็นหัวหน้างานเอง อาจารย์ใหญ่ก็จะเห็นด้วยนัยน์ตาของตนเองว่าครูคนนั้นทำงานดี ทำให้ความเห็นของหัวหน้าวิชาว่าครูคนนั้นดีหรือไม่ดีเป็นหมันไปก็มี

นี่แสดงให้เห็นชัดว่า การบริหารกับการนิเทศต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฝ่ายศึกษานิเทศก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรม ทำการนิเทศจากภายนอกโรงเรียนนั้น มีฐานะต่างจากหัวหน้าวิชา ในข้อที่ว่า ศึกษานิเทศก์ไม่ต้องรับผิดชอบกับผลงานของครูโดยตรง ศึกษานิเทศก์บางประเทศมีอำนาจในการเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน หรือในการต่อสัญญาจ้างของครู บางประเทศก็ไม่มีอำนาจประการใด เป็นที่ปรึกษาแนะนำเท่านั้น บางประเทศศึกษานิเทศก์ระดับท้องถิ่นมีอำนาจ แต่ระดับรัฐบาลกลางไม่มีอำนาจ เช่นในประเทศอังกฤษ ศึกษานิเทศก์ของรัฐบาลกลางเรียกนายตรวจของพระเจ้าแผ่นดิน ตามประเพณีของอังกฤษ การงานของรัฐถือว่าเป็นงานของพระเจ้าแผ่นดินทั้งนั้น ผู้ต้องหาในศาลก็เป็นจำเลยของพระเจ้าแผ่นดิน อัยการก็เรียกตรง ๆ ว่า พระเจ้าแผ่นดิน เช่น คดีระหว่าง นายนั่นนายนี่ จำเลย และพระเจ้าแผ่นดิน โจทก์ เป็นต้น ดังนั้นศึกษานิเทศก์ของรัฐบาลกลางจึงมีชื่อเรียก ฟังดูโอ่อ่ามาก ว่า His Majesty’s Inspectors แต่ไม่มีอำนาจโดยตรงต่อการเลื่อนชั้นเลื่อนเงินเดือนหรือการจ้างครู ซึ่งเป็นหน้าที่ของส่วนปกครองท้องถิ่น

ศึกษานิเทศก์ที่กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งขึ้น และที่ข้าพเจ้าเข้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าในกรมหนึ่งนั้น ได้ประชุมปรึกษากันแล้วก็เลือกในทางไม่มีอำนาจ เพราะถ้าหากศึกษานิเทศก์มีอำนาจไม่ว่าในทางหนึ่งทางใด ก็จะต้องพัวพันกับการคิดหาความดีความชอบ และศึกษานิเทศก์ตามจำนวนที่หาได้ในเวลานั้น หรือแม้ในเวลานี้ ก็ไม่พอเพียงกับที่จะมีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้มีอำนาจต้องสามารถสอดส่อง ถ้าไม่สามารถในเรื่องนี้ย่อมให้ความยุติธรรมไม่ได้ ถ้าศึกษานิเทศก์อาจขอความดีความชอบให้ครูคนหนึ่งคนใด หรือรายงานความบกพร่องของคนหนึ่งคนใด ก็จะมีครูอีกจำนวนมากมายเกินประมาณ ที่ศึกษานิเทศก์ไม่อาจรู้ไปถึงว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าเป็นเช่นนี้การที่จะแนะนำครูให้คิดปรับปรุงการสอนก็จะเป็นหมันโดยสิ้นเชิง เคยมีผู้ถามข้าพเจ้าว่า ในเมื่อศึกษานิเทศก์ไม่มีอำนาจอย่างใดต่อครู คำแนะนำจะเป็นประโยชน์อย่างใด ครูจะทำตามหรือนี่ก็เป็นคติธรรมอีกข้อหนึ่ง ถ้าหากเราไม่เชื่อถือ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ศรัทธา ว่าคนจะปรับปรุงการกระทำของตนแล้ว อำนาจจะไม่เป็นเครื่องอนุเคราะห์แต่ประการใด โดยเฉพาะในเรื่องของการสอน การที่ครูจะหลอกศึกษานิเทศก์ ซึ่งมีเวลาไปถึงตัวครูนานทีปีหน ให้เข้าใจว่าเป็นครูดีหรือไม่ดีนั้นง่ายเหลือเกิน แม้อาจารย์ใหญ่ หรือใครก็ตามในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็หลอกได้ คนที่ครูจะหลอกไม่ได้คือเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์เท่านั้น ศึกษานิเทศก์มีอำนาจขึ้นมาเมื่อใด มีแต่ทางเสื่อมเสีย เพราะจะตกในฐานะผู้ถูกหลอกเป็นแน่นอน

เมื่อรับรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้ว ผู้ทำหน้าที่นิเทศก์ทางการศึกษาก็ดี หรือผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมงานและแนะนำคนก็ดีควรรับทราบสภาวะต่อไปนี้ด้วย ดังได้กล่าวแล้ว ผู้ที่ถูกดูแลควบคุมแนะนำ เช่นครูที่มีหัวหน้าวิชา หรือที่มีศึกษานิเทศก์ไปสอดสองดูการสอน ย่อมเกิดความเข้าใจขึ้นว่าต้องมีอะไรที่ย่อหย่อนไป จึงต้องมีคนมาแนะนำควบคุม ดังนั้น หน้าที่อันที่หนึ่งของผู้ทำหน้าที่นิเทศก์ก็คือ ทำอย่างไรไรให้ครูเข้าใจว่า คนทุกคนทุกเหล่าไม่สามารถทำอะไรได้โดยไม่มีข้อบกพร่อง นักร้องชั้นยอด ๆ ของโลกจะมีครูประจำตัว คอยซ้อมให้ คอยติ คอยบอกกล่าวข้อบกพร่องที่ตัวเองไม่อาจรู้ได้ นักดนตรีชั้นยอดก็อย่างเดียวกัน นักเขียนชั้นดีก็มีที่ฝรั่งเรียกว่า เอดิเตอร์ คำนี้ในวงการหนังสือไทย เราใช้คำบรรณาธิการ สำหรับหนังสือพิมพ์และนิตยสาร แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ เอดิเตอร์ อย่างพร้อมมูล จึงลืมความหมายของฝรั่งในข้อที่จะทักท้วงนักเขียนและเสนอแนะข้อที่ควรขัดเกลาในงานเขียนของตนเสีย งานครูนั้นยากกว่างานเขียนและงานศิลปะต่าง ๆ หลายเท่า เพราะครูสอนนักเรียนจำนวนมาก ที่จะให้เหมาะแก่นักเรียนทุกคนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ ครั้งหนึ่ง ๆ ที่สอน จะต้องมีข้อบกพร่องเสมอ แต่ผู้นิเทศมิได้ใส่ใจกับข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หัวหน้าวิชาและศึกษานิเทศก์จะใส่ใจกับความผิดพลาด เช่นบอกข้อความรู้ผิดไป เพราะครูมีความรู้ไม่พอ หรือใช้วิธีสอนที่ทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายและท้อถอยต่อการเรียนวิชานั้น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ หัวหน้าวิชากับศึกษานิเทศก์ต้องติดต่อกันโดยใกล้ชิด และแน่นอนต้องให้อาจารย์ใหญ่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วยเสมอ เมื่อเริ่มงานศึกษานิเทศก์นั้น ความรู้เหล่านี้ยังไม่แพร่หลาย ต้องค่อย ๆ ทำให้แพร่หลายไปในหมู่ครูอาจารย์ และตัวศึกษานิเทศก์เอง

ถึงแม้ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีคนข้องใจกับการที่ศึกษานิเทศก์ไม่มีอำนาจบังคับครูให้ปรับตัวไปตามความต้องการของศึกษาเทศก์ แต่ต้องย้ำอีกว่า ถ้าจะให้ศึกษานิเทศก์มีอำนาจบังคับครู ก็เป็นการรับว่า ครูไม่ได้ปรับปรุงการสอนตามศรัทธาของตน ถ้าเช่นนั้น การปรับปรุงนั้นจะมีคุณค่าอย่างไร ศึกษานิเทศก์จำเป็นจะรับรู้ว่า งานแนะนำคนนั้นเป็นงานยากยิ่ง มนุษย์มีจิตใจประหลาด ถ้าเขาไม่รู้ในเรื่องใด ไม่มีใครสอนเขา เขาก็ร้องราว่าไม่มีใครเหลียวแลบอกกล่าว ถ้าเขารู้อะไรแค่ไหน มีใครไปบอกที่เขารู้อยู่แล้ว เขาก็โกรธว่าดูหมิ่นเขา จึงเป็นการยากยิ่งที่จะว่า ควรสอนมนุษย์ คนไหน เมื่อใด เรื่องใด จนกระทั่งจะพูดถึงไหน ระดับไหน ให้ฟังง่ายไม่ต้องคิดเองเลย หรือให้เขาได้คิดเองบ้าง จึงจะเป็นที่ถูกใจเขา ถ้าผู้สอนอธิบายละเอียดนัก ผู้รับสอนก็ว่าเบื่อ ถ้าข้ามสิ่งที่เขาไม่รู้ไปก็จะถูกหาว่าสอนไม่รู้เรื่อง สอนเกินสมองของเขาไป

ในการจัดงานศึกษานิเทศก์ขึ้น และพยายามทีละน้อยแต่ต้องให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้นั้น การประชุมทำความเข้าใจกัน การเห็นอกเห็นใจ ร่วมกันทั้งแรงงานแรงใจหมายถึงการใช้ความคิดความระมัดระวังทุกนาทีก็ว่าได้ ต้องทำความเข้าใจในหมู่ศึกษานิเทศก์กลุ่มเดียว หรือกรมเดียวกัน และระหว่างศึกษานิเทศก์ของกรมต่าง ๆ ด้วย การที่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์เป็นตำแหน่งไม่มีอำนาจ ทำให้ศึกษานิเทศก์ทุกหมู่ทุกเหล่าเห็นใจกันดี รู้สึกว่าเป็นคนพวกเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รับความจริง เป็นตำแหน่งที่ถูกนินทา และเป็นตำแหน่งรับฟังการนินทา ศึกษานิเทศก์ต้องเดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมิได้มีความเจริญทันสมัยคล้ายพระนครดังในปัจจุบันนี้ โรงแรมมักจะหนวกหู น้ำอาบน้ำใช้ก็ไว้ใจไม่ได้ และเรามักเดินทางร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ต้องห่วงใยกับเขา แต่ก็ได้ประสบการณ์แปลก ๆ ครั้งหนึ่งศึกษานิเทศก์ของกรมฝึกหัดครูคนหนึ่ง ไปถึงจังหวัดหนึ่งกับฝรั่งอเมริกาคนหนึ่ง ทางจังหวัดจัดให้พักในที่ซึ่งเรียกว่า เรือนรับรอง มีภารโรงทำหน้าที่ตักน้ำอาบให้ ภารโรงตักจากคูข้างเรือนนั้นขึ้นใส่โอ่งไว้ พอฝรั่งมาอาบ ก็กลายเป็นสีแสดไปทั้งตัว เพราะจังหวัดนั้นดินเป็นสีแดง โคลนในคูก็เป็นสีแดงไปด้วย ต่อมาอีกประมาณ ๑ ปี ในจังหวัดเดียวกัน ข้าพเจ้าก็พาผู้เชี่ยวชาญไปอีกคนหนึ่ง ไปพักอีกที่หนึ่ง ในห้องจัดไว้สะอาดสะอ้าน มีพรมปู มีโต๊ะเครื่องแป้งและกระจกบานใหญ่เอนพิงฝาไว้ สักประเดี๋ยวหนึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาทำสัญญาณไม่ให้เกิดเสียง เรียกให้ข้าพเจ้าไปดู มีหนูตัวเล็กออกมานั่งลูบหนวดอยู่ข้างกระจก ท่านผู้นั้นเชี่ยวชาญการเดินทางในประเทศต่าง ๆ และเป็นคนไม่เกลียดหนู เขาไม่รู้ว่าข้าพเจ้าไม่มีความคิดเห็นร่วมกับเขาในข้อนี้ ข้าพเจ้ารีบหนีออกมาจากห้องนั้นโดยเร็ว

อีกครั้งหนึ่ง แผนกศึกษาธิการในจังหวัดหนึ่งแจ้งแก่โรงเรียนที่เราจะไปนิเทศพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญคนเดียวกันนี้ ภายในเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงก่อนที่รถไฟจะไปถึง อาจารย์ใหญ่จัดให้ศึกษานิเทศก์และผู้เชี่ยวชาญพักที่บ้านของท่านเองภายในบริเวณโรงเรียน ท่านหวังดีเอากระจกบานใหญ่มาตั้งไว้ในห้องที่ข้าพเจ้าและศึกษานิเทศก์อีกคนหนึ่งพัก กระจกตั้งอยู่ในมุมอย่างไรไม่ทราบ ผู้ที่ขึ้นบันไดมาถึงหน้าห้องจะแลเห็นว่าคนในห้องทำอะไรกันอยู่บ้างอย่างง่ายดาย นอกจากจะหลบเสียให้พ้นจากมุมนั้น เมื่อผู้เชี่ยวชาญเดินขึ้นบันไดมา ก็จะร้องบอกว่า “กำลังขึ้นบันได กำลังขึ้นบันได” เป็นการบอกกล่าวให้เราหลบมุมเสีย ทำให้ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงประเพณีในพระราชฐาน ถ้ามหาดเล็กจำเป็นเข้าไปในพระราชฐานชั้นใน หรือแพทย์หรือใครก็ตามที จะมีโขลนเดินนำหน้าและร้องบอกชาววังให้รู้ว่า “มีผู้ชายมา มีผู้ชายมา” อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดใกล้เคียงกัน ศึกษานิเทศก์พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญคนเดียวกันนี้ พักที่โรงแรมซึ่งเรียกว่าขึ้นหน้าในเวลานั้น มีคนขายเครื่องรับวิทยุมาพักพร้อมกับคณะของเรา พอตกกลางคืน คนขายวิทยุก็ลองเครื่องของตัว รับสถานีนั้นบ้าง สถานีโน้นบ้างเกือบตลอดคืน พอทำใจว่าจะต้องฟังดนตรีอินเดียหรือมลายูหรือชาติอะไรก็ตามที คนขายก็เปลี่ยนสถานีไปรับฟังการโฆษณาเป็นภาษาอะไรต่อะไรต่อไปอยู่เรื่อยไป และในตอนดึกสงัด ก็ยกเครื่องวิทยุย้ายจากที่ใกล้ห้องพักของศึกษานิเทศก์ไปตั้งที่หน้าห้องพักของผู้เชี่ยวชาญ ในวันรุ่งขึ้นผู้เชี่ยวชาญนั้นก็ไม่ค่อยมีประโยชน์นัก เพราะมีอาการเหมือนคนปัญญาอ่อน เมื่อถามอะไรก็ตอบไม่ค่อยถูก ขอความเห็นอะไรก็ตกลงด้วยหรือไม่ตกลงด้วยก็ไม่แน่นัก ถึงเวลากลางวันในวันเดียวกันนั้น ศึกษานิเทศก์ก็เป็นคนไข้ไปคนหนึ่ง ต้องกลับจากที่อบรมครูไปนอนพักที่ห้องในโรงแรมเมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงที่พักเมื่อเลิกงานแล้ว ได้รับรายงานจากศึกษานิเทศก์คนนั้นว่า ได้รับความรู้แปลก ๆ ใหม่ ๆ เป็นอันมาก ในชีวิตอาจไม่มีโอกาสเช่นนั้นอีก คือผู้มาพักที่โรงแรมมานั่งคุยกันที่หน้าห้อง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตามประสาบุรุษเจนโลกเล่าสู่กันฟัง โดยใช้ภาษาไทยที่ไม่มีในพจนานุกรม และซึ่งศึกษานิเทศก์ฝ่ายภาษาไทยไม่เคยได้ยินได้รู้ตลอดเวลา

เมื่อกล่าวถึงภาษา ก็ถือโอกาสเล่าเสียเลยว่า ถ้าหากศึกษานิเทศก์จะต้องมีหน้าที่เกี่ยวกับการเลื่อนชั้นเลื่อนอันดับของครู และมีอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็คงไม่มีเวลาค้นคว้าทางวิชาของตัวเป็นแน่ เพราะเรื่องที่ศึกษานิเทศก์ต้องค้นนั้น บางครั้งศึกษานิเทศก์คิดไปไม่ถึงเลย เช่นมีครูสอนภาษาไทยมาถามศึกษานิเทศก์ว่า ในเรื่องราชาธิราชมีอำมาตย์ชื่อ ทินมณีกรอด ได้ถูกนักเรียนถามมาเป็นเวลา ๒๐ ปีแล้วว่า ทำไมมณีจึงกรอด ก็ได้แต่ผัดผ่อนไปว่า เป็นชื่อของคน บัดนี้มีศึกษานิเทศก์แล้ว หวังว่าจะได้รู้เสียที ศึกษานิเทศก์ฝ่ายประวัติศาสตร์จึงต้องรับภาระไปค้นความรู้มาให้ศึกษานิเทศก์ภาษาไทย ไปรู้จักกับมอญมีความรู้เข้าคนหนึ่ง มอญท่านนั้นอธิบายความหมายให้ฟัง ชื่อนั้นออกเสียงว่า ทินมณีกรอส แต่แปลว่าอะไรตัวข้าพเจ้าเองลืมไปแล้ว

เมื่อแรกเริ่มงานศึกษานิเทศก์ ตัวบุคคลมีจำนวนที่แม้จะเรียกว่า น้อย ก็ไม่ตรงกับความหมาย มีแต่ในภาษาอังกฤษว่า negligible เห็นจะแปลว่า ไม่พักต้องคำนึงถึงจะได้กระมัง เราจึงวางหลักว่า ให้ผู้ที่ต้องการการนิเทศขอมาทำนองพระภิกษุ เทศนาให้ฟังแต่ผู้ที่อาราธนา จะถือว่าเราไปยัดเยียดความรู้ให้ไม่ได้ ปรากฏว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดขอร้องกันมา จนศึกษานิเทศก์จัดเวลาให้ตนเองไม่สำเร็จตามความขอร้อง นอกจากเวลายังติดขัดเรื่องการเงิน ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยง ซึ่งเป็นอุปสรรคที่เป็นข้อขัดใจข้าพเจ้ามาก จะได้กล่าวถึงต่อไป

ในส่วนสัมพันธ์ระหว่างศึกษานิเทศก์กับครูนั้น เมื่อครูได้รับความแน่ใจว่า ศึกษานิเทศก์มีหน้าที่มาช่วยเหลือทางวิชาการโดยเฉพาะ ไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างอื่น ก็ให้ความไว้วางใจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะครูที่เอาใจใส่กับการสอน พอใจที่จะได้ใช้ศึกษานิเทศก์ให้เป็นประโยชน์ เมื่อศึกษานิเทศก์ไปถึงจังหวัดใด ตำบลใด ก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี คงมีหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเป็นเพราะเป็นของใหม่ หรืออาจเป็นเพราะน้ำใจดีของคนไทยต่างจังหวัดด้วยก็ได้ ครูมักต้อนรับจนต้องห้ามปราบ เช่นจัดหาอาหารล้วนแต่เป็นของดีพิเศษมาให้ และหาของพื้นเมืองต่าง ๆ มาให้เป็นที่ระลึก ครูโดยมากวางตนเป็นฝ่ายเดียวกับศึกษานิเทศก์ มักจะเล่าเหตุการณ์ทุกประเภทให้ศึกษานิเทศก์ฟัง บางคราวเรื่องส่วนตัวของคนในจังหวัด ก็พลอยติดเข้ามาด้วย แต่ศึกษานิเทศก์ถือเป็นหลักมั่นคงว่า เรื่องที่ครูเล่าให้ฟังนั้น จะไม่กลายเป็นรายงานขึ้นมาเลย รายงานของศึกษานิเทศก์จะเป็นไปตามหลักวิชาโดยสุจริต ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า ศึกษานิเทศก์ได้ยึดถือมาจนถึงปัจจุบันนี้

ด้วยเหตุว่าอัตราชั้นอันดับเงินเดือนของศึกษานิเทศก์จะต้องเกี่ยวข้องกับความสำเร็จและความล้มเหลวในชีวิตของข้าพเจ้า จึงต้องเล่าให้ฟังไว้ในที่นี้ กล่าวคือ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์นั้น เมื่อกระทรวงศึกษาธิการจะให้มีขึ้นโดยความเห็นชอบด้วยกันหลายฝ่าย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญขององค์การยูซอม และซึ่งแท้ที่จริงเป็นตำแหน่งงานที่มีในระบบการศึกษาของทุกประเทศก็อาจว่าได้ (เท่าที่ทราบ ทั้งจากประเทศที่ก้าวหน้า และประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่เคยได้ยินว่าไม่มีในประเทศใด ต้องมีรูปใดรูปหนึ่งดังได้เล่าแล้ว) กระทรวงก็ต้องนำเรื่องไปหารือ ก.พ. ว่าจะยินยอมให้แต่งตั้งขึ้นหรือไม่ ในการไปชี้แจงครั้งแรก ก.พ. ยังไม่เข้าใจดีนัก แต่ครั้นได้รับคำชี้แจงจนเข้าใจดีแล้ว กรรมการท่านหนึ่งออกความเห็นว่า ศึกษานิเทศก์นี้ท่านเห็นว่าต้องใช้ข้าราชการชั้นเอกกับชั้นพิเศษ แต่ในเวลานั้น กรมกองต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการยังขาดตัวบุคคล โดยเฉพาะตัวบุคคลทางวิชาการที่มีเงินเดือนถึงขั้นสูง ตกลงกับ ก.พ. ว่า จะตั้งข้าราชการชั้นโทกับชั้นเอก ในเรื่องนี้คงจะไม่ได้มีการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร นอกเหนือไปจากการลงมติในการประชุมในเวลาต่อมา กระทรวงศึกษาธิการจึงดูจะหาลู่ทางที่จะเลื่อนอัตราศึกษานิเทศก์เป็นชั้นพิเศษโดยยาก และกระทรวงถือหลักว่าศึกษานิเทศก์คือข้าราชการครูพวกหนึ่ง ชั่วแต่เรียกชื่อให้แปลกออกไป และเมื่อข้าพเจ้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าศึกษานิเทศก์ก็ไม่มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการให้มีหน่วยศึกษานิเทศก์ในกรมต่าง ๆ คำหน่วยศึกษานิเทศก์นี้ เป็นความล้มเหลวของข้าพเจ้าอย่างหนึ่ง ระหว่างการประชุมวางระบบงานศึกษานิเทศก์ก็มีคำถามกันขึ้นว่าจะเรียกส่วนราชการว่าอย่างไร โดยทฤษฎี ศึกษานิเทศก์ไม่ขึ้นกองหนึ่งกองใด ขึ้นตรงต่อกรม ถ้าขึ้นกับกองหนึ่งกองใด ก็จะลำบากแก่การที่จะเลื่อนชั้นเลื่อนอันดับ จะตั้งเป็นกองของตนเอง ก็จะลำบากกับการที่จะไม่ใช้อำนาจ เพราะหัวหน้ากองต้องเข้าเป็น อ.ก.พ. ตามกฎหมาย ข้าพเจ้าคิดคำใดก็ไม่ออก ด้วยความเป็นห่วงหลักการที่จะไม่ให้ครูรังเกียจการนิเทศกว่าหลักอื่น จึงเสนอให้เรียกชื่อให้ฟังเป็นองค์การเล็ก ๆ ที่สุด คือ หน่วย ที่จริงในทางทหารนั้น หน่วย อาจใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่ในราชการพลเรือน หน่วย มักจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ขึ้นต่อแผนก แต่ศึกษานิเทศก์ในเวลานั้น ก็ไม่ทราบเหตุการณ์ดีนัก จึงตกลงตามข้อเสนอของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าเสียใจมาจนทุกวันนี้ เพราะคำว่า หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ ข้าราชการพลเรือนโดยมากเห็นว่ามีความสำคัญน้อย ถ้าจะมีการปรับปรุงส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะเปลี่ยนชื่อนี้เสียให้เหมาะสมแก่ความสำคัญของงานนิเทศ

การที่กระทรวงตกลงกับ ก.พ. ว่า ศึกษานิเทศก์คือครูคนหนึ่งนั้น เป็นไปตามระบบข้าราชการครูของไทย แต่ที่เกี่ยวกับสภาพแท้จริงแล้ว ศึกษานิเทศก์กับครูนั้นจะถือหลักการเลื่อนชั้นเลื่อนอันดับเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้ตัวบุคคลคนละระดับจริง ๆ เมื่อใดระบบข้าราชการพลเรือนเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง งานของเราจึงจะมีประสิทธิภาพ และมีข้าราชการที่มีความสุขใจได้ ซึ่งข้าพเจ้าหวังจะได้กล่าวต่อไป

งานศึกษานิเทศก์นั้น เป็นงานที่คนนอกวงการศึกษาไม่ค่อยเข้าใจ อาจเป็นเพราะชื่อเพราะเกินไปก็ได้ ถ้าเรียกตามลักษณะงานว่า งานตรวจและแนะนำการสอน อาจได้รับความสนับสนุนมากกว่าก็ได้กระมัง แต่ข้าพเจ้าคิดว่าครูโดยมากในปัจจุบันนี้ เข้าใจเรื่องการนิเทศดีพอสมควร ถ้าจะไม่ชอบใจ ก็คงเป็นเฉพาะศึกษานิเทศก์บางคน แต่ไม่ใช่ไม่พอใจในการนิเทศโดยหลักการ ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ายืนยันจากประสบการณ์ของตนเองคือ เมื่อข้าพเจ้าจะละจากงานนิเทศไป ข้าพเจ้าสนใจใคร่ทราบว่าครูอาจารย์มีปฏิกิริยาอย่างไร ได้ขอให้มิตรสหายที่อยู่ต่างจังหวัดสดับตรับฟัง ก็ได้รับคำบอกเล่ามาว่า การที่ข้าพเจ้าจะทิ้งงานศึกษานิเทศก์ไปนั้น เมื่อได้ทราบว่าเป็นการได้ผลดีแก่ตัวเองทางราชการ ก็จำใจยินดีด้วย แต่ไม่เต็มใจให้ละทิ้งไปเลย เพราะก่อนที่จะมีศึกษานิเทศก์ ครูต่างจังหวัดเคยรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งแล้ว จะสอนดีหรือไม่เพียงไหนอย่างไรก็แล้วแต่ความคิดแล้วแต่ศรัทธาของตนเอง แต่ตั้งแต่มีศึกษานิเทศก์ ครูต่างจังหวัดก็มีความรู้สึกว่ามีความสัมพันธ์กับครูอื่น ๆ ทั่วประเทศ

การที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์ฝ่ายมัธยมศึกษานั้น ข้าพเจ้าถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดทางวิชาชีพของข้าพเจ้า ไม่ว่าทางราชการไทยจะถืออันดับอัตราแค่ไหน เมื่อข้าพเจ้าได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายจากภูมิภาคอาเซียคนหนึ่งในสองคน ในการประชุมของสหพันธสตรีมหาวิทยาลัยนานาชาติที่กรุงปารีส ซึ่งกำหนดต่อจากการประชุมเรื่องการนิเทศที่เมืองเยนีวา พ.ศ. ๒๔๙๙ กระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศสส่งดอกไม้จัดมาในแจกันสูงประมาณ ๒ ฟุตมาไว้ในห้องพักที่วิทยาลัยครูอันเป็นสถานที่ประชุม คงจะเป็นเพราะสมาชิกสมาคมสตรีมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสมีครูมัธยมเป็นจำนวนมาก และศึกษานิเทศก์ หรือที่เขาเรียกว่านายตรวจ (มี ๒ ระดับ) ของเขานั้น เขาใช้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญสูงจริง ๆ ที่พบล้วนแต่ผมสีทองทั้งนั้น และมักถามว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ข้าพเจ้ามักแสร้งบอกว่า คนไทยมองดูสาวอย่างนั้นเอง แท้จริงอายุก็ไม่น้อยแล้ว ฝรั่งอายอายุ ไม่นิยมถามอายุกัน ก็ไม่กล้าซักต่อไป

ระหว่างที่รับราชการเป็นศึกษานิเทศก์ ทั้งที่ต้องใช้คำว่าตรากตรำทั้งกายและสมอง เช่นเคยเดินทางคราวหนึ่ง ไปถึง ๙ จังหวัดภายในระยะ ๑๕ วัน และเกือบไม่ได้หยุดใช้ความคิดเลย สุขภาพก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ วันหนึ่งปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ข้าพเจ้ากล่าวแก่พี่สาวคนหนึ่งว่า ตั้งแต่เกิดมา เพิ่งรู้ว่า คนไม่เจ็บนั้นเป็นอย่างไร แต่โดยที่ดวงชาตาได้ถูกกำหนดมาแต่บุพชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ข้าพเจ้าก็ย้ายจากตำแหน่งหัวหน้าศึกษานิเทศก์ไปรับราชการตำแหน่งอื่น

การได้รับคำสั่งให้ย้ายตำแหน่งนี้ ก่อความตื่นเต้นระหว่างเพื่อนฝูงพวกพ้องกันพอดู เพื่อน ๆ ฝรั่งไม่เข้าใจเลย เพราะตำแหน่งหัวหน้าศึกษานิเทศก์เป็นตำแหน่งสูงในประเทศฝรั่งทั้งหลายดังได้กล่าวแล้ว มีคนลนลานมาถามว่า ข้าพเจ้าได้ไปทะเลาะกับผู้ใหญ่ในกระทรวงคนใดคนหนึ่งด้วยเรื่องอะไร อาจารย์หญิงคนหนึ่งเคยเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าที่จุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งเป็นคนเสงี่ยม ไม่เคยก้าวร้าวในเรื่องใดเลย มาขอถามข้าพเจ้าว่า เป็นการถูกลงโทษหรือเปล่า ในขณะเดียวกัน ก็มีข้าราชการในกระทรวงหลายคนแสดงความยินดี ถ้าจะให้สันนิษฐานจากการสนทนาระหว่างท่านผู้ใหญ่ในกระทรวง ทั้งที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดและที่รองลง ๆ มาแล้ว เข้าใจว่าเป็นความหวังดีอยากให้ได้ชั้นพิเศษ เพราะอัตราของตำแหน่งที่จะได้รับใหม่นั้นเป็นอัตราชั้นพิเศษ ข้าพเจ้าจำได้ว่าถามท่านว่า อัตราตำแหน่งนั้นอัตราอะไร และได้รับคำตอบด้วยสำเนียงพอใจ (สันนิษฐาน) ว่าชั้นพิเศษ ข้าพเจ้าก็ยิ้มในหน้า และ (สันนิษฐาน) ท่านสังเกตเห็น และท่านก็ยิ้มในหน้าเหมือนกัน ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ได้รับฟังชี้แจงเป็นถ้อยคำนั้นคือ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงตัวบุคคลและต้องการให้ข้าพเจ้าไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องนั้น

ในการที่ถูกย้ายตำแหน่งไปจากเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์นี้ เห็นจะกล่าวได้ว่า ตัวเองเป็นผู้มีส่วนก่อขึ้นคือ เมื่อได้มีการตั้งตำแหน่งศึกษานิเทศก์ของกรมต่าง ๆ ขึ้นมาแล้วประมาณ ๓ ปี ก็มีการตั้งโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ได้เลือกศูนย์กลางการพัฒนาในภาคการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๑๒ ภาค เลือกโรงเรียนประถมโรงเรียนมัธยมหญิงหนึ่งชายหนึ่ง หรือสหศึกษา ๒ โรงเรียน และโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นโรงเรียนสาธิต สำหรับทำการทดลองใช้วิธีสอนใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการปรับปรุงตามหลักวิชา โรงเรียนเหล่านี้เรียกว่า โรงเรียนประเคราะห์ (ความหมายคล้ายอนุเคราะห์) โครงการนี้เป็นโครงการที่กรมการฝึกหัดครู กรมวิสามัญศึกษา กรมสามัญศึกษาทำงานร่วมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แยกงานกันและมีกรมอาชีวศึกษาร่วมงานด้วยในด้านวิชาการ แต่การเงินนั้นกรมอาชีวศึกษามีงบสำหรับใช้จ่ายต่างหากจากโครงการนี้ไม่มีปัญหา โครงการนี้เกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยความช่วยเหลือทางการเงินของฝรั่ง คือยูซอม ตามแผนงานของโครงการนี้ จะต้องมีศึกษานิเทศน์ของกรมทั้ง ๓ กรม ประจำอยู่ตามศูนย์กลางของภาคการศึกษาทั้ง ๑๒ ภาค ถึงแม้จะทยอยเริ่มงาน ๔ ภาคก่อน แล้วขยายเป็น ๘ ภาค แล้วจึงขยายตลอดทั้ง ๑๒ ภาค แต่ก็จะมีข้าราชการรับทุนการศึกษาไปศึกษาที่สหรัฐกันเป็นจำนวนมาก เรื่องการรับทุนประเภทนี้ กรมวิสามัญศึกษาออกจะได้รับผลประโยชน์มากกว่ากรมอื่น ๆ เพราะเมื่อเริ่มแรกกระทรวงรับความช่วยเหลือนั้น กระทรวงมีแผนงานปรับปรุงการศึกษาระดับประถมและการฝึกหัดครู กว่าจะรับหลักการต้องปรับปรุงพร้อมกันหมดทุกระดับ ก็ใช้เวลาหลายปี มาปัจจุบันนี้ นักการศึกษาทั่วโลกกลับเห็นว่าประเทศที่ด้อยพัฒนานั้น ควรรีบปรับปรุงมัธยมศึกษาก่อนระดับอื่นทั้งหมด

เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปรับหน้าที่ศึกษานิเทศก์ใหม่ ๆ นั้น ข้าพเจ้าได้พยายามสุดความสามารถที่จะชี้แจงให้ท่านผู้ใหญ่ทุกท่านแลเห็นว่า การศึกษาระดับมัธยมเป็นระดับสำคัญยิ่ง เพราะเป็นระดับที่ประชาชนเพ่งเล็งอย่างหนึ่ง และโดยหลักวิชา หรือสภาพความจริงนั้นเอง นักเรียนระดับนี้อยู่ตรงกลางจะแยกออกไปเป็นชนชั้นปกครองประเทศ ชนวิชาชีพต่าง ๆ ชนชั้นหัวหน้าชั้นกลาง เป็นครู ซึ่งจะเป็นโซ่สำคัญในสายโซ่ของการศึกษา มิฉะนั้นก็จะมีการโทษกันเป็นทอด ๆ ไปเป็นวงวิบาก ว่าประถมศึกษาไม่ดี มัธยมจึงไม่ดี มัธยมไม่ดี โรงเรียนครูจึงไม่ดี ซึ่งที่จริงความบกพร่องของประถมศึกษานั้น ถ้าจะรีบแก้ไขในระดับมัธยมก็พอจะแก้ได้ แต่ก็แน่นอน จะเท่าการทำให้ดีทุกระดับย่อมไม่ได้ ในที่สุด กระทรวงก็รับเอาระดับมัธยมเข้าในโครงการปรับปรุงด้วย แต่เหตุผลที่รับนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าหาใช่เพราะแรงคำชี้แจงของข้าพเจ้า แต่เป็นเพราะต้องการให้ข้าราชการทุกกรมได้มีโอกาสไปต่างประเทศเสมอหน้ากันมากกว่า ซึ่งก็เป็นการสันนิษฐานอีก แต่ว่าที่ทราบแน่ และเป็นเหตุหนึ่งให้ข้าพเจ้าต้องละงานศึกษานิเทศก์ไปนั้น เพราะมีโครงการพัฒนาศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้น

ก่อนหน้าที่จะมีโครงการพัฒนาฯ ซึ่งเป็นงานร่วมกัน ๓ กรมนั้น กรมวิสามัญศึกษามีโครงการปรับปรุงมัธยมวิสามัญศึกษา (ขณะนั้นยังมีมัธยมสามัญ ขึ้นในกรมสามัญศึกษาอยู่) ในโครงการนี้ มีโรงเรียนปรับปรุงอยู่ในโครงการ ๔ โรงเรียน โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากยูซอม และมีคณะกรรมการสำหรับโครงการนี้ ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้าศึกษานิเทศก์เป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่ครั้นถึงเวลาที่กระทรวงตั้งโครงการพัฒนาฯขึ้นมา ข้าพเจ้าไม่ได้รับเรียกไปหารือให้ข้อเสนอแนะประการใดเลย และไต่ถามหัวหน้าศึกษานิเทศก์กรมอื่น ก็บอกว่าไม่ได้รับเรียกไปหารือเช่นเดียวกัน แต่มีศึกษานิเทศก์คนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการโครงการพัฒนาฯ ศึกษานิเทศก์ผู้นี้ ว่าโดยหลักการอยู่ในบังคับบัญชาของข้าพเจ้า และเมื่อถึงโอกาสที่จะต้องเลื่อนอันดับ เลื่อนเงินเดือนข้าพเจ้าต้องเสนอความดีความชอบ ลงชื่อข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้าศึกษานิเทศก์แล้ว เรื่องจึงจะผ่านขึ้นไปถึงกรมเพื่อพิจารณาได้ ตามพฤตินัย ราชการในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องรับทราบจากผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชา และเรื่องที่ต้องรับทราบและรับทำในโครงการนี้ ก็มีอย่างล้นหลาม

ข้าพเจ้าขอทวนเวลาเรื่องเมื่อเริ่มงานศึกษานิเทศก์อีกสักหน่อยว่า ได้เริ่มขึ้นมาโดยไม่มีงบประมาณเลย งบการฝึกอบรมครูนั้น มีอยู่ภายในความครอบครองของกองโรงเรียนรัฐบาล ดังนั้น กองโรงเรียนรัฐบาลก็อาจวางแผนงานของตนได้โดยไม่ต้องปรึกษาศึกษานิเทศก์ เมื่อมีโรงเรียนในส่วนภูมิภาคเรียกร้องให้ไปช่วยเหลือ ก็เสนอให้กรมทราบ ให้พิจารณาหาเงินค่าพาหนะเบี้ยเลี้ยง และให้อนุมัติการไปนิเทศ ซึ่งทางจังหวัดมักจะเป็นฝ่ายจัดครูนัดวันเวลาและบอกความต้องการมาให้ทราบ ถ้ากรมหาเงินได้ ก็ให้ศึกษานิเทศก์ออกไป ถ้าไม่ได้ ก็เคยไม่ไป ซึ่งหมายความว่าศึกษานิเทศก์ทำแผนงานของตนไม่ได้เลย ซึ่งหมายความต่อไปอีกว่า การที่จะใช้หลักวิชานิเทศก์เป็นงานยากยิ่ง

ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะขอกล่าวไว้เสียด้วยว่า เมื่อแรกเริ่มงานนิเทศ แม้แต่กระดาษหรือเครื่องเขียนอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่มี กรมได้ไปจัดหามาให้เท่าที่จะทำได้ แต่ผู้ที่มีเมตตาธรรมและอุเบกขาธรรมมาก คือไม่มีการถือเขาถือเรา ไม่เอาใจใส่ว่าใครจะได้ความดีความชอบ คือท่านหัวหน้ากองวิชาการในเวลานั้น ต่อมากองนี้เรียกว่า กองส่งเสริมวิทยฐานะ ซึ่งประชาชนเรียกว่า กองสอบไล่ ท่านได้กรุณาให้ใช้พัสดุของกองท่านโดยเฉพาะกระดาษในการออกเอกสาร ซึ่งศึกษานิเทศก์จำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมาก เพราะถ้ามีการอบรมครูโดยไม่มีเอกสาร ก็มีความเข้าใจสับสนไขว้เขว ครูที่ฟังไม่ค่อยถนัดนัก อาจเล่าต่อไปว่า ศึกษานิเทศก์อบรมว่าให้ทำเช่นนั้นเช่นนี้ ซึ่งไม่ตรงกับเจตนาอันแท้จริงเลย การทำเอกสารประกอบการอบรมให้ถี่ถ้วนนี้ ในระยะต่อมา สังเกตว่าศึกษานิเทศก์ขาดความระมัดระวังไป และความเข้าใจไขว้เขวได้เกิดขึ้น เป็นผลตามมาค่อนข้างจะกว้างขวาง

เมื่อมีโครงการพัฒนาฯขึ้น โดยหัวหน้าศึกษานิเทศก์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมปรึกษาด้วยแต่ประการใด ศึกษานิเทศก์ทั้งหลายก็ข้องใจกันมาก ข้าพเจ้ามักปลอบว่า การที่กระทรวง (ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงเจ้ากระทรวง แต่หมายถึงผู้จัดเตรียมงานโครงการ ที่ได้รับมอบหมายมาจากกระทรวง) ไม่ให้เราไปมีส่วนร่วมในการวางแผนงานขั้นต้น อาจเป็นเพราะท่านตั้งใจให้เราทำงานนั้น และงานของโครงการท่านจะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะแล้ว แต่การหาเป็นดังที่หวังไว้เป็นการปลอบใจไม่ งานด้านวิชาการทั้งหลายมารวมกันล้นมืออยู่ที่ศึกษานิเทศก์ (อย่างน้อยที่รู้แน่ศึกษานิเทศก์ระดับมัธยมรับชาตากรรมดังกล่าวนั้น) งานด้านวิชาการมีความหมายว่าอะไร ยังมีคนที่อยู่ในวงการศึกษาอีกจำนวนมากคิดว่า เมื่อเอ่ยคำว่า วิชาการ หมายถึงการอ่าน ๆ เขียน ๆ พูด ๆ แต่งานของศึกษานิเทศก์ในโครงการปรับปรุงการสอน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาฯนี้หรือโครงการใด มิใช่เช่นนั้น ที่ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ วิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อมีโครงการช่วยเหลือจากต่างประเทศทางวิชาการ สิ่งแรกที่จะต้องทำหมายถึงการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เข้าใจสภาพประเทศไทยง่าย บางคนก็เข้าใจยาก ต่อจากนั้นก็จะมีเงินช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์ บางคนคงเข้าใจว่าการสั่งซื้ออุปกรณ์การสอนเป็นของง่าย แต่ลองวาดภาพการสั่งซื้ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์มาสำหรับไว้ใช้ในโรงเรียนไทย ศึกษานิเทศก์ฝ่ายวิทยาศาสตร์ ในขั้นแรกก็ต้องศึกษาสมุดหนา ๆ นับเป็นพันหน้า พิมพ์ด้วยตัวหนังสือเล็ก ๆ บอกราคา บอกเลขประจำเครื่องอุปกรณ์ ต้องศึกษาสมุดตัวอย่างอุปกรณ์นี้หลาย ๆ เล่ม เปรียบเทียบราคากันระหว่างเครื่องใช้ยี่ห้อต่าง ๆ ที่เป็นของดีแต่ไม่เหมาะสมแก่ครูไทยหรือนักเรียนไทยก็มี ที่ดีแต่ครูอาจไม่ชอบเพราะความไม่เคยชินก็มี ที่เหมาะสมแต่ราคาแพงก็มี เมื่อคัดเลือกได้พอสมควรกับความปรารถนาส่วนหนึ่งแล้ว ก็ทำบัญชีจัดอันดับรายการ ต้องทำเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ศึกษานิเทศก์ไม่มีเสมียนที่พิมพ์ดีดภาษาอังกฤษได้ขนาดที่จะพิมพ์รายการอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ต้องควบคุมกันอย่างใกล้ชิด คนที่พิมพ์ดีดได้ดี เขาไม่อยู่กับเรานาน เรารับคนที่ยังไม่ชำนาญมาฝึกจนชำนาญแล้วเขาก็ขอไปรับจ้างองค์การอื่นที่ให้ค่าจ้างแรงงานสูงกว่า ราชการของเรา แม้ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่เล็งเห็นถึงความจำเป็นของเสมียนพิมพ์ดีดที่ดี เมื่อได้ทำบัญชีสั่งซื้อเครื่องอุปกรณ์ไปแล้ว ขอข้ามไปจนถึงระยะที่เครื่องอุปกรณ์ตกเข้ามา การตรวจก็ต้องใช้คนที่มีความรู้เฉพาะคือศึกษานิเทศก์อีก และยังมีการแจกจ่ายไปตามโรงเรียน ในเวลานั้น ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทำงานในเรื่องนี้ ศึกษานิเทศก์ต้องทำเองทั้งสิ้น ครั้นแจกจ่ายไปแล้วศึกษานิเทศก์ก็ต้องทำคำชี้แจงไปให้ครูรับทราบ และต้องติดตามไปดูด้วยว่า ครูเข้าใจคำชี้แจงและใช้เครื่องอุปกรณ์ถูกต้องหรือไม่ เป็นประโยชน์แก่การสอนหรือไม่

การที่มีงานเร่งด่วนมาไม่เว้นแต่ละวันนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรามีความระส่ำระสายในจิตใจพออยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าผู้ที่เป็นหัวหน้างานชั้นสูงขึ้นไป หรือผู้ที่ร่วมงานกันรับรู้ถึงความเร่งรัดอัดใจ ก็ยังพอบรรเทาความคับข้องใจได้บ้าง แต่ในการทำงานในโครงการครั้งนั้น ในระหว่างที่ศึกษานิเทศก์สายวิชาหนึ่งกำลังหมกมุ่นอยู่กับการเลือกสรรเครื่องอุปกรณ์ ก็จะมีคำสั่งบอกลงมาว่า มีเงินสำหรับอบรมครูวิชานั้นวิชานี้ ซึ่งจะต้องใช้ให้หมดไปภายในเวลานั้นเวลานี้ และเร่งให้ศึกษานิเทศก์ทำแผนงานอบรมครูเสนอไปให้กรรมการโครงการอนุมัติ หรือต้องการให้ศึกษานิเทศก์เดินทางไปจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ด้วยเกิดเหตุที่จะต้องสะสางให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้

ในระยะเดียวกันนั้น คือ พ.ศ. ๒๕๐๓ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกหลักสูตรใหม่ทั้งหมดทั้งประถมและมัธยมรวม ๑๒ ชั้น ครูอาจารย์ทั้งประเทศยังไม่เข้าใจหลักสูตรใหม่ และระเบียบวิธีการสอนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรก็ยังไม่มี ยังประชุมปรึกษากันอยู่ ตลอดเวลาที่ศึกษานิเทศก์ถูกเร่งเร้าเกี่ยวกับกิจการของโครงการพัฒนาฯ ก็ถูกโรงเรียนทั่วพระราชอาณาจักรเร่งเร้า ขอคู่มือชี้แจงหลักสูตร ขอทราบประมวลการสอน ขอทราบวิธีสอบ ศึกษานิเทศก์ทั้งกลุ่มที่ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าอยู่นั้น มีความทุกข์ใจและทุกข์กาย แต่ที่ข้องใจมากที่สุดคือ เหตุใดกลุ่มคนที่กระทรวงยกย่องให้เป็นคนทำงานวิชาการให้กระทรวง จึงไม่มีโอกาสวางแผนงานของตนเองเลย นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคน ซึ่งสมมุติว่าเป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำนั้น ก็ขาดความรู้ความชำนาญ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายมัธยมคนแรกที่ มาร่วมงานกับศึกษานิเทศก์หมดสัญญาและกลับไปสหรัฐ มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหนุ่ม ๆ มาแทน ข้าพเจ้าเคยบอกแก่เพื่อนอเมริกันหลายคนว่า ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ อย่าว่าแต่จะแนะนำให้ข้าพเจ้าทำอะไรเกี่ยวกับมัธยมศึกษาในประเทศไทยเลย แม้การศึกษาระดับมัธยมในสหรัฐ ข้าพเจ้าก็ได้เคยเห็นมากกว่า เพราะข้าพเจ้าเดินทางดูโรงเรียนเป็นจำนวนหลายสิบโรง และหลายรัฐ และยังได้ดูในประเทศอื่น ๆ อีกมาก ครั้งหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญคนนี้นำบัญชีอุปกรณ์วิชาคหกรรมศาสตร์ (การเรือน) มาให้ข้าพเจ้าดู บอกว่าศึกษานิเทศก์สั่งเตาน้ำมันเบนซินไปให้โรงเรียนที่จังหวัดยะลา ซึ่งเจ้าหน้าที่คลังของเขาไม่อนุมัติ ข้าพเจ้าแปลกใจมาก เมื่อมาดูแล้ว ก็ถามศึกษานิเทศก์ว่าใครจัดทำบัญชีนี้ ศึกษานิเทศก์บอกว่าไม่ได้สั่งเตาน้ำมันเบนซิน สั่งแต่เตาน้ำมันก๊าด แต่การแปลนั้น ผู้เชี่ยวชาญเอื้อเฟื้อรับไปให้เจ้าหน้าที่ของตนแปลเอง ข้าพเจ้าก็ขึ้นเสียงเอาแก่ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นบอกว่าให้หาคนแปลให้ดี ๆ ท่านผู้นั้นมีอัธยาศัยดีมาก ไม่เถียงเลยจนคำเดียว และมีสัมมาคารวะดี แสดงน้ำใจดีต่อข้าพเจ้าเสมอมา แต่ศึกษานิเทศก์ไม่ยอมอภัยให้ง่าย ๆ เหมือนข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าถือว่าการทำราชการนั้น ถ้ามีความเห็นอย่างใดไม่ตรงกับผู้บังคับบัญชาแล้ว ก็ต้องให้ทราบ โดยเฉพาะในเรื่องโครงการพัฒนาฯนี้ ความเดือดร้อนตกอยู่แก่ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาข้าพเจ้า เป็นความรับผิดชอบของข้าพเจ้าโดยตรง และเมื่อไม่มีโอกาสเข้าประชุมกับกรรมการของโครงการ ข้าพเจ้าก็ต้องติดต่อบอกให้ทราบนอกที่ประชุม ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการศึกษาของยูซอม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีความสุจริตใจมาถามข้าพเจ้าว่า “ได้ยินว่าคุณเกลียดโครงการพัฒนาฯนัก บอกหน่อยได้ไหมว่าเพราะเหตุใด” ข้าพเจ้าบอกว่าไม่ได้เกลียดโครงการพัฒนาฯแต่เห็นว่ากระทรวงตั้งโครงการผิดจังหวะ ควรจัดเรื่องหลักสูตรใหม่ทั้งประเทศเสียให้เรียบร้อยก่อน และควรต่อรองให้อเมริกันช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้ แทนที่จะตั้งโครงการ แล้วให้งานมาล้นหลามอยู่ที่ศึกษานิเทศก์ นอกจากนั้นอีก เงินสมทบทุน ซึ่งเป็นเงินรัฐบาลไทย กรรมการโครงการก็ยังตกลงให้ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ดูแลอนุมัติร่วมด้วยอีก ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่พอใจอย่างมาก ข้าพเจ้าได้นำเรื่องหารือในกระทรวงหลายท่าน แต่ไม่เห็นมีความคลี่คลายไปในทางใด ท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงท่านหนึ่งท่านว่าข้าพเจ้าควรไปหารือผู้บังคับบัญชาสูงสุด เพราะข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่จะกระทำได้ เพราะสนิทสนมกันเป็นส่วนตัว และในฐานะหัวหน้าศึกษานิเทศก์ก็ควรจะทำได้ ครั้นข้าพเจ้าทำตามคำแนะนำ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดเสนอแนะให้ย้ายไปรับราชการที่บางแสนเพราะกำลังหาตัวคนไปปรับปรุงกิจการดังกล่าวมาแล้ว เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังดังนั้น ข้าพเจ้าก็คิดทันทีว่า ตัวข้าพเจ้าไม่สมควรเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์ ไม่สามารถแก้ความคับข้องใจให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชาได้ หรือมิฉะนั้นก็ได้หลงทำงานที่กระทรวงไม่เห็นว่ามีความสำคัญเลย

ทั้งนี้มีสองเรื่อง โดยเฉพาะพัวพันกับความรู้สึกอันนี้ กล่าวคือ เมื่อแรกที่ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษานิเทศก์นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ขอความช่วยเหลือจากยูเนสโกให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำให้เกิดการปรับปรุงการสอนภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาแต่แรก เป็นที่น่าสนใจที่จะกล่าวว่า คนไทยก็ดี คนอเมริกันก็ดี คนอังกฤษก็ดี ที่จะรู้ธรรมชาติภาษาของตนจริง ๆ นั้นมีน้อยมาก คนที่ไม่รู้เหล่านี้ ทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวสับสน และก่อความคับข้องใจให้แก่ผู้ที่ต้องทำงานด้านนี้ทั้งที่เป็นคนไทยและอเมริกันและอังกฤษ เวลาล่วงไปหลายปี จึงมีคนอังกฤษและคนอเมริกันที่เป็นนักภาษาศาสตร์และเป็นผู้ที่มีความรู้ทางระเบียบวิธีสอนภาษาต่างประเทศมาร่วมงานกันได้โดยไม่ก่อกวนให้เกิดความระส่ำระสายทางจิตใจโดยไม่จำเป็น ทำให้เสียเงินเสียเวลาเสียแรงไปโดยเปล่าประโยชน์ ข้าพเจ้าต้องรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยชี้แจงทนรำคาญและทนเหนื่อยเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงการสอนภาษาอังกฤษ โดยมีผู้แทนจากองค์การที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทุกองค์การ รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ผู้ที่มาเป็นกรรมการก็คึกคักในอันที่จะทำงานโดยสอดประสานกันให้ดี แทนที่จะทับก่ายกันหรือปล่อยช่องว่างไป ด้วยขาดความเข้าใจกัน เมื่อข้าพเจ้าต้องไปรับราชการต่างจังหวัด ข้าพเจ้าไม่สามารถทำงานนี้ได้ เพราะการที่คณะกรรมการจะทำงานมีประสิทธิผล ขึ้นอยู่กับการมีสำนักงานและเลขานุการที่มีประสิทธิภาพ และการไปรับราชการต่างจังหวัดนั้นข้าพเจ้าผู้เดินทางไปตามจังหวัดต่าง ๆ อยู่เกือบตลอดปี รู้ว่าปัญหาต่าง ๆ มีมากเพียงใด ต้องทุ่มเทให้กับงานเต็มกำลังเต็มสติปัญญา มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินอะไรได้เลย ยิ่งเป็นงานใหม่ บังคับบัญชาคนใหม่ด้วย ก็ต้องเพ่งเล็งหมกมุ่นกับงานในหน้าที่ แต่งานประธานกรรมการนี้ เป็นงานที่จะมานั่งประชุมเป็นคราว ๆ ไม่ได้ ตัวประธานคือผู้ประสานงานและประสานจิตใจด้วย

นอกจากนั้นในเรื่องการสอนภาษาไทย เกือบจะเรียกว่า ไม่ได้รับความเอาใจใส่เลยก็ว่าได้ เมื่อหัวหน้าศึกษานิเทศก์ของกรมวิสามัญศึกษาคนปัจจุบัน ย้ายจากตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนมัธยมสตรีในโครงการปรับปรุงการศึกษาฉะเชิงเทรา เข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์ เธอมาถามข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าจะให้เธอนิเทศวิชาอะไร ข้าพเจ้าทราบว่าเมื่อเธอไปศึกษาที่อเมริกานั้น เธอศึกษาวิชาวรรณคดีอังกฤษและอเมริกัน ซึ่งไม่ใช่วิชาเกี่ยวกับการสอนหรือการนิเทศโดยตรง แต่ในการเรียนวรรณคดีนั้น ข้าพเจ้าทราบว่าในมหาวิทยาลัยอเมริกัน จะต้องพิจารณาเรื่องการใช้ภาษากันมาก และข้าพเจ้าทราบว่าเธอผู้นี้เอาใจใส่กับวิชาครู เมื่อเธอเรียนอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อได้ออกไปทำงานเป็นครูก็พยายามทดลองใช้วิชาครูที่ได้เรียนไปนั้นในการสอนวิชาต่าง ๆ อยู่เสมอ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าคนที่ฉลาดและมีความตั้งใจนั้นจะฝึกหัดให้เป็นอะไรก็ไม่ยาก ข้าพเจ้าจึงบอกแก่เธอว่าข้าพเจ้าขอแต่งตั้งให้เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย และให้นิเทศวิชาภาษาไทย เธอร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า จะทำได้อย่างไรกัน ในเมื่อเธอได้เรียนวิชาครูมานิดเดียว ข้าพเจ้าบอกว่า เธอเก่งภาษาไทยอยู่แล้ว เอาใจใส่วิชาครูอยู่แล้ว และเคยเป็นครูใหญ่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ถ้าเธอกับข้าพเจ้าร่วมแรงร่วมใจกัน เราอาจจะทำสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ให้เป็นไปได้ขึ้นมา แล้วข้าพเจ้าก็แนะนำให้เธออ่านหนังสือตำราเกี่ยวกับการสอนภาษาของตนเอง และปรึกษาหรือคิดหาช่องทางที่จะปรับปรุงการสอนภาษาไทยด้วยกัน แล้วเราก็เที่ยวเสาะหาผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ รวบรวมกำลังกันขึ้นเป็นกลุ่มหนึ่ง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ เธอและข้าพเจ้าและศึกษานิเทศก์อีกสองสามคนที่ได้ไปศึกษาเรื่องการสอนภาษาของตนเองจากสหรัฐอเมริกามา ก็ได้ร่วมใจกันเชิญผู้ที่เราเข้าใจว่าจะเต็มใจช่วยเรามาประชุมปรึกษากัน เมื่อข้าพเจ้าถูกราชการสั่งย้ายไปต่างจังหวัดในระยะใกล้ ๆ กันนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องตีความว่ากระทรวงไม่รับรู้ในเรื่องความพยายามทั้งหลายของตัวข้าพเจ้าและศึกษานิเทศก์ ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อจะสร้างงานใหม่ในกระทรวงขึ้น และยังตั้งตัวไม่ติด ทั้งที่เข้าใจว่าท่านผู้ใหญ่มีความหวังดี แต่ข้าพเจ้าก็เกิดการโทมนัสเป็นอย่างมาก อย่างนี้กระมังที่พระพุทธเจ้า ตามที่ใครคนหนึ่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ท่านว่า ผู้หญิงนั้นเข้าไปปรึกษาในสภาไม่ได้ เพราะผู้หญิงใช้อารมณ์ ไม่ใช้สติปัญญา คงจะหมายความว่าใช้ใจไม่ใช้สมอง ประกอบกับเกิดความคิดขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ได้มาระหว่างที่ทำงานในกระทรวง ว่าตัวข้าพเจ้าอาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์ เพราะไม่ได้ยึดถือหลักการหลายอย่างเหมือนข้าราชการอื่น ๆ ถ้าหากเปลี่ยนตัวหัวหน้า งานนิเทศอาจก้าวหน้าไปดีขึ้น ข้าพเจ้าตัดสินใจทำตามที่ท่านผู้ใหญ่แนะ

ขอกล่าวสักหน่อยว่า ที่ว่าไม่ยึดตามหลักของข้าราชการหลายคนนั้นคืออย่างไร ตั้งแต่แรกเข้าไปรับราชการในกระทรวง แทนที่จะเป็นครูอยู่ตามโรงเรียนหรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างที่เคยมา ได้สังเกตว่าข้าราชการถือหลักความกลัวผู้บังคับบัญชาไว้ก่อน ถ้าไม่ถูกเซ้าซี้เป็นอย่างมากจะไม่ออกความเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาเลย แม้ว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นจะได้แสดงตัวแล้วว่าเป็นผู้มีธรรมะอย่างใด ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าถูกอบรมมาว่า เป็นวัตรของอมาตย์ที่ไม่สุจริต แต่ก็เห็นคนที่ข้าพเจ้านับถือหลายคนประพฤติ ข้าพเจ้านั้นถือว่า ในที่ประชุมเมื่อมีความเห็นโดยสุจริตแล้ว ต้องกล่าวออกไปเสมอ ไม่ว่าแย้งหรือสอดคล้องกับผู้ใด ความกลัวดังว่านี้ เลื่อนไหลมากระทบคนที่ไม่กลัวด้วย มีคนหลายคนทำเย้ยหยันหรือมิฉะนั้นก็แสดงอาการรังเกียจ เย้ยว่าไม่รู้เท่าถึงการก็มี และรังเกียจว่าประพฤติผิด ไม่มีสัมมาคารวะก็มี ข้าพเจ้าใช้เวลานาน อีกทั้งมีคนมาบอกด้วยความหวังดีบ้าง หรือนำมาเล่าอย่างเป็นการซุบซิบนินทาบ้าง จึงค่อย ๆ พิจารณาจนเข้าใจจิตวิทยา คือการอบรมเดิมไม่เหมือนกัน ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาเกือบจะเรียกว่าตั้งแต่เกิด ว่า “ไม่กราบทูลไม่ได้” โดยเฉพาะผู้ที่รับราชการในรัชกาลที่ ๕ ถ้ารู้อะไรที่ควรทูลแล้วไม่ทูล ภายหลังทรงทราบว่าได้ปล่อยให้ไม่ทรงทราบเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะถือเป็นความผิดฉกรรจ์ของข้าราชการ ครั้งหนึ่ง เสด็จไปจังหวัดเพชรบุรี ทางจังหวัดไม่สามารถส่งหญ้าให้ม้าหลวง ตามกำหนดที่ต้องส่ง เมื่อถึงเวลาเสด็จ ม้าหลวงก็ยังต้องกินหญ้ากินน้ำอยู่ เพราะถ้าม้าไม่สดชื่น การเสด็จอาจไม่เรียบร้อยเป็นอันตรายก็ได้ เจ้าพนักงานกรมม้า ต้องกราบทูลให้ทรงทราบพระกรุณาตามความเป็นจริง และต้องแจ้งให้ข้าราชการทางจังหวัดทราบล่วงหน้าว่าจะกราบทูลตามธรรมเนียม ธรรมเนียมการบอกกล่าวผู้ที่บกพร่องในหน้าที่ราชการให้ทราบ ว่าจะต้องถูกกราบทูลนั้น เป็นวัตรของราชบุรุษ หรืออำมาตย์ พี่ชายข้าพเจ้าเคยอธิบายให้ฟังว่า ต้องให้ผู้ที่จะถูกฟ้องรู้ตัว เขาจะได้ไม่ตกใจเมื่อได้ยินคำกราบทูล เขาอาจมีข้อแก้ตัวอย่างดี แต่ถ้าตกใจก็อาจกราบทูลชี้แจงละล่ำละลักอาจถูกกริ้วก็ได้ ข้าราชการต้องประพฤติตามหลักตามธรรมเนียมต่าง ๆ แต่มาถึงสมัยที่ข้าพเจ้ารับราชการ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้น ดูเหมือนจะใช้ได้น้อยที่สุด แต่ก็คงจะใช้ได้บ้าง เพราะข้าพเจ้าก็ได้รับความเมตตากรุณาเรื่อยมา บางคนก็ว่าเพราะเป็นผู้หญิง แต่ข้าพเจ้านับถือผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้ายิ่งกว่าที่จะตีความตื้น ๆ เช่นนั้นข้าพเจ้าว่า นอกจากจะถูกปล่อยให้ทำตามใจเป็นเวลานานจนเคยตัว มนุษย์ทุกคนอยากเป็นมนุษย์ที่ดี อยากได้ความรักความไว้วางใจ ดังนั้น การที่ข้าพเจ้าย้ายจากตําแหน่งหัวหน้าศึกษานิเทศก์ ไปรักษาการตำแหน่งรองอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน ข้าพเจ้าจึงแน่ใจว่า เป็นไปเพราะท่านผู้ใหญ่หวังดี แต่ข้าพเจ้าก็ยังอดเสียใจไม่ได้อยู่นั่นเองว่า ท่านไม่เห็นความสำคัญของงานนิเทศเท่าใดนัก สังเกตจากเหตุการณ์ต่อมาจากที่ข้าพเจ้าย้ายไปแล้ว

  1. ๑. ได้ทราบจาก คุณเยื้อ วิชัยดิษฐ์

  2. ๒. นายถนอม นาควัชระ

  3. ๓. นางฐะปะนีย์ นาครทรรพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ