บทที่ ๖ วศ. บางแสน ที่ระทมและที่ชื่นใจ

ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ตำแหน่งใหม่ที่ข้าพเจ้าไปรับนั้น เป็นอัตราชั้นพิเศษก็ต้องชี้แจงให้ผู้ที่ยังไม่เข้าใจระบบราชการทราบเสียสักเล็กน้อย วิธีการของราชการพลเรือนตั้งแต่หลังสงครามอาเซียบูรพามาจนถึงปัจจุบันนี้ การจัดอัตราเงินเดือน หรือชั้นหรืออันดับนั้น ไม่ตรงกับความรับผิดชอบของงานที่ข้าราชการทำ และไม่เป็นไปตามสภาพของความต้องการ กับจำนวนตัวบุคคลที่หาได้ง่ายหรือยากในสังคม ตามที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า อุปสงค์กับอุปมานบ้าง หรืออย่างอื่นบ้าง แต่ดูเหมือนจะเข้าใจคำ ดีมานด์ กับสัปปลาย ง่ายกว่าคำอื่น คือ ต้องการมาก ก็จ่ายเงินให้มาก หาได้ง่ายก็จ่ายให้น้อย ซึ่งบางประเทศใช้ตามนี้

ระบบราชการพลเรือน ถ้าจะว่ายุติธรรมที่สุดก็อาจว่าได้ คือพิจารณาค่าจ้างข้าราชการทุกประเภทตามเวลาที่เรียน แล้วก็บรรจุให้เงินเดือนตามจำนวนที่เรียนนั้น ไม่ใช่ตามงานที่ทำ แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการตั้งอัตราเงินเดือนตามที่เข้าใจกันว่าเป็นงานสูงงานต่ำด้วย เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยสอนชั้นสูง ควรมีอัตราเงินเดือนสูงกว่าครูโรงเรียนมัธยมตั้งไว้ให้เลื่อนชั้น ครูโรงเรียนมัธยมควรตั้งอัตราสูงกว่าครูประถม รองอธิการ วศ. บางแสนนี้ เมื่อแรกตั้งวิทยาลัย ทางราชการตั้งเอาไว้ให้เป็นอัตราชั้นพิเศษ แต่เมื่อข้าพเจ้าไปรับตำแหน่งยังเป็นข้าราชการชั้นเอกอยู่ ยังขาดอีกขั้นหนึ่งจึงจะเต็ม จึงดำรงตำแหน่งไม่ได้ ต้องรักษาราชการไปก่อน

เพื่อนฝรั่งไม่สามารถเข้าใจได้เลย สำหรับฝรั่งรองอธิการบางแสนก็คืออาจารย์ใหญ่วิทยาลัยครูคนหนึ่ง ยิ่งใช้คำ Vice President ยิ่งงงมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่า President อยู่ที่ไหน เวลานั้นมีนิสิตประมาณ ๕๐๐ คน ทำไมกระทรวง จึงย้ายหัวหน้าศึกษานิเทศก์ไปเป็นอาจารย์ใหญ่ และยังต้องไปรักษาการอีกด้วย ตามตำรับฝรั่งนั้นศึกษานิเทศก์แต่ละคนก็เทียบอาจารย์ใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประถม มัธยม หรือฝึกหัดครู ก็เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงทั้งนั้น โดยมากจะมีเงินสำหรับหน้าที่อาจารย์ใหญ่นอกเหนือจากเงินเดือนครู และเมื่อใครไปเป็นอาจารย์ใหญ่ก็ได้เงินเดือนสำหรับความรับผิดชอบ แต่ของไทยเราไม่เป็นเช่นนั้น จะอธิบายอย่างไรฝรั่งก็ไม่เข้าใจ และข้าพเจ้าก็ไม่อยากอธิบาย เพราะกลัวฝรั่งขบขันระบบของเรา เมื่อฝรั่งเชื่อว่าข้าพเจ้าถูกย้ายไปเพราะได้ทะเลาะกับคนสำคัญผู้ใดผู้หนึ่งในกระทรวง ข้าพเจ้าก็เลยพูดทีเล่นทีจริงว่าคงจะเป็นอย่างที่เขาเข้าใจ เพราะข้าพเจ้าก็ “ทะเลาะ” กับโครงการพัฒนาฯ และวิธีปฏิบัติต่อศึกษานิเทศก์จริงๆ

ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่า ตำแหน่งรองอธิการ วศ. บางแสน ที่ตั้งเป็นอัตราชั้นพิเศษข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนหรือวิทยาลัยครูไม่ว่าระดับไหน เป็นบุคคลหัวกุญแจที่สำคัญที่สุดในวงการศึกษา การฝึกหัดครูก่อนประจำการหรือการสอนนักเรียนฝึกหัดครู สำคัญเท่าหรืออาจสำคัญกว่าการอบรมครูประจำการ ซึ่งเป็นงานของศึกษานิเทศก์ก็ว่าได้ เพราะคนเราประพฤติตามทัศนคติของตน ถ้าระหว่างเป็นนักเรียนครู มีทัศนคติไม่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะรับการนิเทศเพื่อปรับปรุงการสอนได้ ก่อนเข้าประจำการ ครูต้องมีทัศนคติว่า ครูมีหน้าที่ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ต้องหาทางปรับปรุงวิธีการสอน ต้องเอาใจใส่กับวิชาที่ตนสอน และวิธีอื่น ๆ ทั้งหมดในหลักสูตร ต้องเอาใจใส่กับจิตใจของลูกศิษย์ ถ้ามีทัศนคติถูกต้อง ถึงขาดความรู้ ก็เพิ่มเติมได้ ไม่รู้ระเบียบวิธีสอนก็เรียนใหม่ได้ แต่ถ้ามีทัศนคติว่า ขอเป็นครูไปวันหนึ่ง ๆ ขอให้ได้เงินเดือนขึ้นไปปีหนึ่ง ๆ ถึงจะมีความรู้จากวิทยาลัยครูแค่ไหน ไม่ช้าก็จะล้าสมัย เพราะความรู้ล้าสมัยง่าย และระเบียบวิธีสอนก็ล้าสมัยได้ง่ายมาก แท้ที่จริง ถ้าครูได้รับการอบรมก่อนประจำการอย่างถูกต้องอย่างในบางประเทศ หน้าที่ของศึกษานิเทศก์ก็คือ คอยดูแลไม่ให้ครูล้าสมัยไปด้วยการจัดการประชุมหรือสัมมนาให้ ทำวารสารและเอกสารและไปเยี่ยมเยือนตามโรงเรียน และควรช่วยเตือนสมาคมครูต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวด้านวิชาการ ไม่นิ่งนอนใจ

ข้าพเจ้าย้ายไป วศ. บางแสนในเดือนมิถุนายน โดยทำใจว่า ถ้าหากทำได้ดี ก็เรียกว่าโชคดี เพราะการทำงานได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโชคห้าสิบเปอร์เซนต์เป็นอย่างน้อย สำคัญที่สุด ก็คือจะหาคนร่วมงานได้เหมาะสมกับงานและจะร่วมใจกันได้หรือไม่ ข้าพเจ้าพยายามหักใจไม่ให้เสียดายวันเวลาที่เสียไปกับความพยายามที่จะก่อสร้างงานนิเทศ คิดว่าคงมีคนอื่นก่อเสริมขึ้นไปได้แน่ แต่ก็อดคิดถึงโอกาสที่การไปราชการต่างจังหวัดบ่อย ๆ ทำให้เสียญาติขาดมิตรทางกรุงเทพฯ ขาดเผาศพ งานวันเกิด งานเยี่ยมเยียนเวลาป่วยไข้ เวลาคลอดบุตร สรุปแล้วขาดความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร ที่อาจอำนวยประโยชน์หรืออำนวยความสุขแก่กัน และทำใจไปด้วยว่า จะไม่ผูกพันทางใจกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเหมือนเช่นกับศึกษานิเทศก์อีก เมื่อจะจากกัน จะได้ไม่อาลัยกันมาก ส่วนความไม่สะดวกส่วนตัว เพราะข้าพเจ้าแต่งงานในเดือนพฤษภาคมเดือนเดียวก่อนที่จะออกไปบางแสน ทั้งตัวเองและสามีข้าพเจ้าถือว่าเรามีโชคเพียงแค่นั้น กว่าจะหาโอกาสกำหนดวันแต่งงานได้ก็กินเวลามาก เพราะอยากไปพักผ่อน ๑๐ วันพร้อมกัน ราชการในเวลานั้นอนุญาตให้ข้าราชการพักระหว่างเดือนมีนาคมจนสิ้นเดือนพฤษภาคมเท่านั้น ฤดูนี้เป็นฤดูร้อน สามีซึ่งทำงานเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อมักมีงานที่ทิ้งไม่ได้ และสำหรับข้าพเจ้า ศึกษานิเทศก์ก็มักจัดการอบรมครูระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน ข้าพเจ้าไม่เดือดร้อนนักที่ต้องแยกกับสามี เพราะยังไม่เคยชินกับการที่ต้องอยู่ด้วยกัน และคิดว่า เมื่อมีความติดขัดจริง ๆ แล้วก็ลาออกจากราชการ ก็หมดปัญหา การทำราชการสำหรับข้าพเจ้า ทำเพื่อว่าจะได้ทำประโยชน์จากการทำ แต่สำหรับสามี เรียนมาทางสาธารณสุข ถ้าไม่ทำราชการแล้ว ก็ไม่มีทางใช้วิชาที่เรียนมาเลย

งานของข้าพเจ้าที่บางแสน เห็นจะต้องเรียกว่าเป็นความสำเร็จพอสมควร ถ้าประเมินจากความสนิทสนมที่นิสิตรุ่นที่ข้าพเจ้าไปปกครองยังแสดงต่อข้าพเจ้าอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าได้ผลดีง่ายกว่าที่คาดคะเนไว้มาก เพราะเมื่อข้าพเจ้าไปถึงนั้น นิสิตและอาจารย์ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน กำลังประสบความยากลำบากหลายประการ ข้อที่หนึ่ง ไม่มีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง เพราะแผนการเจาะน้ำบาดาลในบริเวณวิทยาลัยล้มเหลว ผู้รับเหมาต้องเลิกกิจการไปด้วยความเสียหายอย่างมาก โดยที่ดินของจังหวัดชลบุรีนั้น พื้นข้างบนเป็นดินทรายอย่างที่มีในหัวเมืองชายทะเลทั่วไป แต่พื้นดินทรายนี้มีระยะตื้น เมื่อเจาะบ่อน้ำจะได้น้ำจืดจากบ่อตื้น ๆ โดยง่ายดาย แต่ครั้นจะต้องการน้ำบาดาล การเจาะก็จะพบอุปสรรคคือ ใต้พื้นดินทรายลงไปจะมีหินแข็งทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินกำลังที่ผู้รับเหมาจะเสียได้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงวิทยาลัยต้องใช้รถบรรทุกไปสูบน้ำจากที่ขังน้ำที่บางพระ ระยะทาง ๑๒ ก.ม. ระหว่างที่การทำประปาในบริเวณนั้นยังไม่ลุล่วงไป ในปีที่ข้าพเจ้าไปอยู่นั้นข้าพเจ้าได้รับทราบว่า รัฐบาลเร่งรัดที่จะให้มีน้ำประปาจากแอ่งน้ำที่บางพระมาถึงบางแสนให้สำเร็จภายในปี ๒๕๐๓ ข้าพเจ้าได้ของบประมาณวางท่อใหญ่นำน้ำประปาเข้าไปใช้ในวิทยาลัย แต่ไม่เป็นไปตามคาดคะเน วิทยาลัยสามารถวางท่อเสร็จภายในปี ๒๕๐๓ แต่กว่าจะได้น้ำประปา ซึ่งเป็นน้ำดิบไม่ใช่น้ำที่กลั่นกรองและผ่านกรรมวิธีโดยสมบูรณ์ก็ไปจนถึง ๒๕๐๔ ในปี ๒๕๐๒ ทั้งนิสิตและอาจารย์จึงอยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่สงบ ท่านที่ไม่เคยอยู่ในภาวะการขาดน้ำกินน้ำใช้ ย่อมจะเข้าใจไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องเล่าต่อไป

ความยากลำบากอีกข้อหนึ่งคือ ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบวิทยาลัย และที่ยังอยู่ในเขตวิทยาลัยมีความเข้าใจผิด คิดว่าวิทยาลัยพยายามจะกีดกันมิให้เขาได้รับความสะดวกในการใช้ทางเดินกับการใช้น้ำในบ่อของวิทยาลัย ในข้อนี้ท่านที่ไม่เคยอยู่ชนบท ก็คงเข้าใจยากเช่นเดียวกัน ราษฎรที่บางแสนนั้นได้เข้าใกล้ชาวกรุง มีชีวิตอยู่เกี่ยวเนื่องกับชาวกรุงแต่เฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่วันจันทร์ไปจนถึงวันศุกร์เขาเป็นชาวชนบทแท้ ๆ เมื่อถึงฤดูทำนาที่ดินของเขาก็จะเต็มไปด้วยต้นข้าวอ่อน ๆ สัตว์เลี้ยงของเขาไม่มีที่จะกินหญ้า และยังขาดน้ำอีกด้วยเพราะเป็นทำเลที่ขาดแคลน เมื่อเขามองเข้ามาในอาณาเขตของวิทยาลัย มีเนื้อที่ดิน ๒๐๐ ไร่ หญ้าเขียวเต็มไปตลอดพื้นที่ เหตุใดจะเอื้อเฟื้อขออาศัยให้สัตว์เข้ามากินหญ้าบ้างไม่ได้เล่า การที่จะชี้แจงระเบียบราชการ หรือเอ่ยอ้างใครหรืออะไร ชาวบ้านจะไม่เข้าใจทั้งสิ้น การผูกไมตรีกับชาวชนบททำได้อย่างเดียว โดยให้ไมตรีจิตจริง ๆ คือเราต้องทนให้เขาใช้อาณาบริเวณวิทยาลัยเป็นที่เลี้ยงควายทำอันตรายต้นไม้ที่เราปลูกไว้ การที่จะมีสัมพันธไมตรีอันดีกับเพื่อนบ้านเช่นนี้ หมายถึงความร่วมใจกันทั้งวิทยาลัย มีอาจารย์ทั้ง ๗๐ คน นิสิต ๕๐๐ คน และคนงานเกือบ ๑๐๐ คน ในอาณาเขตวิทยาลัย มีสวนมะพร้าวและนา มีราษฎรเช่าทำน้ำตาลและทำนาอยู่ด้วย มีการขอแย่งกันเช่าและถือสวนมะพร้าว และมีราษฎรขอเช่าที่ตั้งร้ายขายเครื่องดื่มและอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องเหล่านี้ คนที่อยู่ไกลไม่ทราบรายละเอียด ก็บ่นว่านินทาให้ร้ายอาจารย์บางคน และนิสิตบางคนก็เชื่อคำนินทาว่าร้ายว่าอาจารย์ได้รับผลประโยชน์จากราษฎรที่ขอเช่าที่ถือสวนและอื่น ๆ คนที่อยู่ไกลเหตุการณ์มีความโน้มเอียงที่จะเชื่อไปในทางไม่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เรื่องชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าขัดเคืองมาก และขัดเคืองอย่างขาดธรรมะ ยังไม่มีอุเบกขาพอ ข้าพเจ้าเห็นว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นข้าราชการ เป็นครูอาจารย์มีข้อเสียคือหูเบานั้นใช้ไม่ได้อย่างเด็ดขาด นี่ก็เป็นเพราะการอบรมตั้งแต่เล็ก ได้ยินได้ฟังตลอดชีวิตที่เติบโตจากเด็กเล็กขึ้นเป็นคนรุ่นสาวแล้วเป็นผู้ใหญ่ ว่าข้าราชการจะหูเบาไม่ได้ แต่เมื่อข้าพเจ้าไปรับราชการที่บางแสน ได้ยินถึงเรื่องที่ข้าพเจ้าทนไม่ได้นี้อยู่ทั่วไป

นอกจากเรื่องหูเบา ก็มีเรื่องความคิดแคบ ๆ สนุกกับการครหานินทาอย่างคนไม่มีการศึกษา หรือที่ในครอบครัวข้าพเจ้าใช้คำว่า “ชาวบ้าน” ด้วยน้ำเสียงพิเศษไม่เหมือนเมื่อเราใช้คำนี้สำหรับหมายถึงราษฎรไทยทั่ว ๆ ไป เช่นมีอาจารย์ในตำแหน่ง “ผู้ใหญ่” ในกรมการฝึกหัดครูถามข้าพเจ้าว่า “ที่บางแสนนั้น เขาว่า นิสิตนั่งกันใต้ต้นมะพร้าวเป็นคู่ ๆ” ข้าพเจ้าตอบว่า “อาจารย์คะที่บางแสนน่ะ มันไม่มีต้นอื่นค่ะ มีแต่ต้นมะพร้าว” ข้าพเจ้ารู้สึกสลดใจมากที่ได้เห็นว่า ทางการอาจทำอะไรโดยไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรตามมา เช่นการให้นักเรียนหญิงชายหนุ่มสาวจำนวนร้อยอยู่ประจำในวิทยาลัย พบปะกันตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้อาจารย์ก็เป็นคนหนุ่มคนสาวแต่ยังมีผู้ตื่นเต้นกับการที่หนุ่มสาวจะเกิดความรักสนิทสนมกัน แม้คนที่เลยวัยหนุ่มสาวไปแล้วก็หาใช่จะพ้นกิเลสของปุถุชนในเรื่องเช่นนี้ไปได้ ท่านที่ชอบนินทาแคะไค้นั้นท่านคงอยากให้แอบซ่อนให้มิดชิด นั่นก็เป็นเพราะท่านไม่รู้ว่า สถานที่มีการแอบซ่อนอะไรมิดชิดนั้นคือเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในชนบทไม่มีที่แอบซ่อน และในเมืองเล็กก็ไม่มีที่แอบซ่อน

ข้าพเจ้าเห็นว่านิสิตที่ วศ. (วิทยาลัยวิชาการศึกษา) บางแสนนั้น ประพฤติตนเรียบร้อยเกิดคาดของข้าพเจ้า และพูดจาทำความเข้าใจกันง่ายเกินคาด เมื่อข้าพเจ้าไปถึงนั้น นิสิตกำลังมีความเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจจะถูกกว่าในเรื่องระเบียบการเงิน คือนิสิตกลุ่มหนึ่งได้ทราบว่า วิทยาลัยมีกำไรจากเงินค่าอาหารของเขาถึงสี่หมื่นบาท (ภายในระยะ ๔ ปี) ก็คุมกันเข้าเป็นกลุ่มก้อนสมัครรับเลือกเป็นกรรมการขององค์การนิสิต แถลงนโยบายว่าจะขอเงินคืนมาแบ่งกันให้ได้ ข้าพเจ้าทราบเรื่องดีจากอาจารย์และนิสิตเล่าให้ฟังโดยซื่อ และทราบว่าไม่มีทางจะเอาเงินนั้นคืนให้นิสิต หรือที่นิสิตจะเรียกคืนได้ แต่เห็นนิสิตกำลังตื่นเต้นกันมาก จึงบอกให้ทำหนังสือยื่นเรื่องราวมาให้เรียบร้อย จะได้เสนอขึ้นไปตามลำดับชั้นให้กรมพิจารณา ข้าพเจ้าได้เข้ามาปรึกษาผู้ใหญ่และคนรุ่นเพื่อนกันหลายคนว่าจะทำอย่างไรดี มีคนหนึ่งซึ่งขณะนี้เป็นข้าราชการชั้นสูงมากในกระทรวงแล้วกล่าวว่า “ถ้าหากวิทยาลัยดำเนินการซื้อหาอาหารและขาดทุน นิสิตจะมาช่วยแบ่งเบาการขาดทุนหรือไม่” ขณะนั้นนิสิตทุกคนเป็นนักเรียนรับทุนอุดหนุนของกรมการฝึกหัดครู เพราะกรมกำลังต้องการครูมาก และสนับสนุนให้มีนักเรียนครูในส่วนภูมิภาคให้มาก ๆ ข้าพเจ้าได้ความคิดจากคำพูดนั้น จึงหาวิธีเรียกนิสิตที่รู้ว่าไม่รุนแรงนักมาเจรจากันทีละ ๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง เมื่อเห็นว่าค่อยอยู่ในอารมณ์ที่จะฟังความคิดของคนอื่นแล้ว จึงเรียกคณะกรรมการมาชี้แจงระเบียบการเงินของราชการให้เข้าใจว่ามีกี่ประเภท จะจ่ายประเภทไหนในเรื่องใดได้บ้าง ใครมีอำนาจอนุญาตไม่อนุญาตแค่ไหนเพียงใด เมื่อทิ้งระยะให้กรรมการไปเล่าให้นิสิตอื่น ๆ ฟังไว้พอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าจึงคำนวณการใช้จ่ายในวิทยาลัยแล้วเรียกประชุมนิสิตทั้งหมด และแจกแจงให้เห็นว่า วันหนึ่ง ๆ เขาเสียเงินให้รักษาลัยเท่าใดจากเงินทุนที่เขาได้รับจากกระทรวงศึกษาธิการ และค่าใช้จ่ายที่รัฐออกให้เขาแต่ละคนในวันหนึ่ง ๆ เมื่อทิ้งระยะนานพอสมควรแล้วจึงแจ้งให้ทราบว่า ไม่สามารถนำเรื่องเสนอกรมได้ เพราะเงินที่นิสิตเสียให้แก่วิทยาลัยเป็นค่าอาหารนั้น ก็ปรากฏตามระเบียบของวิทยาลัยแล้วนิสิตก็ได้ยินยอมรับว่าจะทำตามระเบียบข้อบังคับของวิทยาลัยเมื่อสมัครเข้าเป็นนิสิตแล้ว เงินนั้นเข้าคลังเป็นเงินหลวงไปแล้ว ไม่มีทางเรียกเอาออกมาอีกได้

นิสิตรับทราบเรื่องราวเป็นอย่างดี ไม่มีปฏิกิริยาไปในทางไม่ดีเลย และทางวิทยาลัยก็ไม่ทำให้นิสิตเห็นว่าทำผิดในการร้องเรียน เพราะได้ทำโดยเปิดเผย และโดยเจรจากันอย่างราบรื่น ไม่ใช้ความรุนแรง ตั้งแต่นั้นนิสิตก็หายเคลือบแคลง เรื่องกับข้าวไม่ถูกปาก ข้าพเจ้าบอกให้นิสิตทราบว่า อาจารย์ที่คุมโรงอาหารยินดีจะให้นิสิตไปจ่ายตลาดด้วย แต่ไม่มีนิสิตไปด้วยตามคำเชื้อเชิญ ข้าพเจ้าพยายามทำความเข้าใจกับนิสิตว่า คนที่ทำงานครัวควรได้รับความเห็นใจ ไม่ใช่ถูกติเตียนให้เสียน้ำใจอยู่ทุกวัน อีกสักหน่อยจะไม่มีใครรับทำหน้าที่นี้ นิสิตก็จะลำบากอย่างยิ่ง ถ้าวิทยาลัยต้องให้คนมารับผูกขาดไปให้บริการ จะเกิดการแตกร้าวเรื่องคนเอากำไรมากไป ให้อาหารน้อยไป รำคาญใจกว่าที่เป็นอยู่นี้ ขอให้นิสิตคิดถึงว่า โรงครัวต้องหาอาหารให้คน ๖๐๐ คนวันละ ๓ เวลา จะให้ถูกใจได้อย่างไร ทางโรงครัวได้คำนวณการใช้จ่ายในโรงครัวมาให้ดูอย่างแจ่มแจ้ง ข้าพเจ้าขอให้ทั้งอาจารย์ที่คุมห้องอาหารและนิสิตอดทนให้กันและกัน ทั้งสองฝ่ายก็ให้ความร่วมมือด้วยน้ำใจอันดี เกินกว่าที่ข้าพเจ้าคาดหมายไว้มาก

ความดีของนิสิตและอาจารย์ทั้งคณะที่บางแสน ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจในเรื่องที่จะลาออกจากราชการง่ายขึ้นอีกมาก ข้าพเจ้าเห็นว่าหนุ่มสาวไทยมีพื้นนิสัยไปในทางดีทั้งนั้น เพียงแต่ขอให้เขาเข้าใจเหตุการณ์ให้แจ่มแจ้ง ให้คลายความเคลือบแคลง อาจารย์หญิงชาติอังกฤษที่ประจำอยู่ที่ วศ.บางแสน ๔ ปี บอกแก่ข้าพเจ้าว่า ที่ได้สอนนักเรียนทุกคนมา ๔ รุ่นเป็นจำนวนประมาณ ๕๐๐ คน มีคนที่ไม่น่ารักคนเดียว แม้คนเดียวที่อาจารย์หญิงฝรั่งนั้นเอ่ยชื่อมานั้น จนบัดนี้ก็ยังแสดงความสนิทสนมกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าเห็นว่า ใครจะมารับเป็นรองอธิการที่บางแสน ก็คงไม่ทำให้คนหนุ่มสาวไทยเลวลงไปได้ แต่ตัวข้าพเจ้าจะทำราชการที่บางแสนต่อไป ก็จะไม่ทำให้บางสิ่งบางอย่างที่ขัดหลักการของข้าพเจ้าดีขึ้นได้ ข้าพเจ้าจึงไม่เปลี่ยนความคิดที่จะออกจากราชการ แต่ขอบันทึกไว้ในที่นี้ว่า ผู้ที่ร่วมงานกับข้าพเจ้าที่ วศ.บางแสนนั้นข้าพเจ้าระลึกถึงด้วยความขอบคุณอยู่เป็นนิจ และยินดีที่เห็นว่าบางคนก็ก้าวหน้าไปไกลในราชการ และ วศ.บางแสนก็ดูเหมือนจะก้าวหน้าไปในบางสิ่งบางอย่าง แต่ไม่เป็นไปตามหลักที่ข้าพเจ้าปรารถนา

หลักที่ข้าพเจ้าปรารถนานั้นคือ ข้าพเจ้าต้องการให้ครูชั้นปริญญาเป็นผู้ที่เห็นจะต้องใช้คำว่า “ศึกษิต” คือคนได้รับการศึกษาอย่างที่ฝรั่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า an educated person และแล้วเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกหัดให้มีทัศนคติที่ดีตามที่ครูควรมีดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว และเข้าใจหลักการเรียนการสอนพอที่จะค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป ทั้งพร้อมที่จะรับการอบรมระหว่างประจำการได้ ด้วยกลวิธีหลายแบบชนิด ซึ่งครูจัดได้เองบ้าง โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นจัดบ้าง และผู้บริหารชั้นสูงมีมาตรการจัดโดยใช้หน้าที่นิเทศ ซึ่งจะเรียกว่านายตรวจ (inspector) อย่างหลายประเทศเรียก หรือ นายคุม (supervisor) อย่างสหรัฐอเมริกาเรียก หรือเรียกไพเราะอย่างไทยเรา เรียกว่า ศึกษานิเทศก์ก็ตามที ๔ อย่างนี้ขาดไม่ได้ คือ (๑) การเป็นศึกษิต (๒) การมีทัศนคติถูกต้อง (หรืออาจกลับกัน) (๓) การเข้าใจหลักการเรียนการสอน และ (๔) ความพร้อมที่จะรับการนิเทศ แต่การฝึกหัดครูในประเทศไทย ไม่มีแผนงานในสถาบันระดับไหน ที่จะสนองความจำเป็น (need) ๔ ประการนี้

เพราะเหตุใด เพราะว่าเวลา ๔ ปีที่ใช้เพื่อผลิตครูชั้นปริญญานั้น แม้ประเทศที่ก้าวหน้าเจริญมาก ๆ แล้วก็ร้องว่าทำไม่ได้ เวลา ๔ ปี สำหรับให้คนเรียนวิชาอย่างน้อยสองแนวให้ดี คือวิชาที่เป็นความรู้ที่ครูจะต้องไปสอนหนึ่ง ได้แก่วิชา เช่นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น และพร้อมกันนั้น นักเรียนในสถาบันการฝึกหัดครูยังต้องเรียนวิชาการศึกษาซึ่งเป็นวิชาสังคมศาสตร์ประยุกต์อีกวิชาหนึ่ง ผลก็คือ คนที่ผ่านสถาบันการฝึกหัดครูเป็นบุคคลน่าสงสาร ไม่มีความมั่นใจทางใดทางหนึ่ง เมื่อเตรียมการตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้ปริญญาครุศาสตร์ใช้เวลา ๕ ปี และสนับสนุนแผนงานที่เรียกว่า อบ. คบ. คือใช้เวลา ๔ ปีสำหรับเรียนวิชา “สามัญ” และ ๒ ปี สำหรับวิชาการศึกษา ซึ่งผู้ที่ผ่านออกมายังไม่เคยทำให้ผิดหวังเลย แต่ด้วยเหตุที่ไม่ใช่เหตุทางการศึกษา มหาวิทยาลัยก็ให้ปริญญาครุศาสตร์ภายใน ๔ ปี บุคคลจากคณะครุศาสตร์และจาก วศ. ทั้งหลายก็ตกในสภาพเดียวกัน ในประเทศไทยยังเคราะห์ดีที่คนมีสมองชั้นเอกยังอยู่ในระบบงานฝึกหัดครูอยู่มาก ในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า คนสมองชั้นเอกหาได้ในระบบฝึกหัดครูน้อยเต็มที เพราะการอุตสาหกรรม และวิชาอื่น ๆ แย่งเอาคนเหล่านี้ไปหมด เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งของมนุษย์ คนสมองชั้นเอกนั้นมิได้มีเพิ่มอัตราส่วนขึ้นในประเทศที่เจริญหรือล้าหลัง อัตราส่วนคนเท่ากัน ถ้าประเทศเจริญ ก็ใช้คนสมองโทเทียมเอกได้มากขึ้น ประเทศที่ล้าหลัง คนโทเทียมเอกก็เปรียบเสมือนสูญเปล่า คนสมองชั้นเอกมักแสดงความเป็นเอกได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ในประเทศชนิดใด ถ้าประเทศนิยมโจร คนชนิดนี้ก็เป็นโจรชั้นเอก

สำหรับ วศ.บางแสน ข้าพเจ้าเล็งเห็นจากหลักสูตรโดยเฉพาะจากระบบที่ใช้สอนรายวิชาละภาค ซึ่งเป็นระยะ ๓ เดือน ว่าข้าพเจ้าจะเป็นรองอธิการ หรือใครจะเป็นก็ไม่ทำให้นิสิตที่นั่นเป็นครูตามหลักการของข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มีวาสนาเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศ และถ้าข้าพเจ้าอยู่ต่อไป ก็จะเข้าระดับเงินเดือนอัตราชั้นพิเศษ ข้าพเจ้าจึงไม่เปลี่ยนใจที่จะลาออกจากราชการ เพราะไม่เห็นด้วยกับหลักการว่า มีอัตราชั้นพิเศษอยู่ที่ไหน เมื่อต้องการให้ใครรับอัตราระดับนั้น ก็สับเปลี่ยนตัวบุคคลไป ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นซึ่งก็ยังคิดว่าไม่ผิดอยู่จนปัจจุบันนี้ ว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ขาดความนับถือหรือเคารพวิชาชีพ ข้าพเจ้าถือว่า การเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์เป็นเกียรติสูงทางวิชาชีพ ถ้าจะมีการยกย่องก็ควรยกย่องในตำแหน่งนั้น ถ้าเห็นไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ก็ควรทำให้เข้าใจว่าไม่เหมาะอย่างไร ยิ่งมีคนแวดล้อมผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานที่ วศ.บางแสนแสดงความน้อยใจ และมีคนมาบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่าท่านที่ว่าราชการอยู่เดิม ได้ลงแรงลงใจก่อตั้ง วศ.บางแสนมาแทบล้มประดาตาย ซึ่งข้าพเจ้าเชื่ออย่างมั่นใจว่าเป็นความจริง ครั้นถึงเวลาที่จะได้ชั้นพิเศษ ก็กลายเป็นข้าพเจ้าเป็นคนรับอัตรานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ทำให้ราชการของกระทรวงหรือกรมหรือของข้าพเจ้าหรือของท่านคนเดิมจะดีขึ้นเลย เมื่อตนมีความคิดเห็นเช่นนั้นก็ยิ่งมั่นใจในอันที่จะลาออกจากราชการมากขึ้น ข้าพเจ้าอยากเล่าถึงประสบการณ์ของข้าพเจ้าที่บางแสนอีกมากแต่เวลาไม่อำนวย เพราะเกิดการเจ็บป่วยระหว่างเขียนหนังสือนี้ แต่จะเล่าเฉพาะสั้น ๆ ว่า ข้าพเจ้าไปประสบความขัดเคืองเกี่ยวกับการใช้เงินทุนสมทบเข้าอีกครั้งหนึ่ง คือ วศ.บางแสนนั้นร่วมอยู่ในโครงการรับความช่วยเหลือของอเมริกัน ซึ่งรัฐบาลได้ทำสัญญากับมหาวิทยาลัยอินเดียนา ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการต่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาทั้ง ๓ สาขา คือที่ซอยประสานมิตร ถนนสุขุมวิท พระนคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนเตรียมฯ ซึ่งเคยอยู่ในสังกัดของโรงเรียนเตรียมฯ เรียกว่า วศ.ปทุมวัน แห่งหนึ่ง และที่บางแสนแห่งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าไปรับงานมีอาจารย์ได้รับทุนไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาถึง ๑๑ คน หมายความว่า วิทยาลัยดำเนินงานอย่างแปลกประหลาด คือโดยไม่ต้องใช้อาจารย์เป็นจำนวน ๑๑ คนได้ในระยะเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพราะความไม่แน่นอนของโครงการ ไม่ทราบว่าจะล้มเลิกไปเสียเมื่อใด ซึ่งหมายความว่าไม่มีการเจรจากันให้มีแผนงานที่เหมาะสมนั้นเอง ส่วนเรื่องเงินทุนสมทบนั้น อาจารย์ที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์ของกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนาที่มาช่วยเหลือ ได้ใช้เงินซื้อเครื่องใช้ในห้องสมุดไปโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ผู้รักษาการรองอธิการคนเก่าทราบ เมื่อข้าพเจ้าไปรับงานรักษาการฯ คนเก่าก็ไม่สามารถแถลงให้ข้าพเจ้าทราบ กว่าข้าพเจ้าจะทราบว่าจำนวนเงินที่ว่ามีนั้นไม่มีแล้วก็เลยเวลาไปมาก ทำให้แผนงานสับสนวุ่นวาย เป็นเหตุที่ข้าพเจ้าขัดเคืองมาก และข้าพเจ้าก็ไปต่อว่าคณะอาจารย์อินเดียนา แต่เคราะห์ดีที่อาจารย์เหล่านั้นรู้ว่าเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง เขาก็ขอโทษเป็นอันดี

แต่เรื่องเป็นที่ขัดเคืองมากแก่ข้าพเจ้าที่บางแสนก็คือเรื่องที่ราชการไม่เข้าใจถึงความยากลำบากของคนที่อยู่นอกพระนคร และคนที่ทำงานในด้านนี้ บางคนก็ดี แต่ดีเพราะเห็นใจข้าพเจ้า บางคนไม่มีความเข้าใจเลย เช่นระหว่างที่รีบร้อนที่จะใช้งบประมาณภายในปีให้ทันกาล วศ.บางแสนเสนอราคาค่าจ้างทำเครื่องเรือนบางชนิดมาที่กรม เรื่องไปติดเพียงแค่ วศ.ประสานมิตร ซึ่งเป็นแหล่งกลางของ วศ.ทั้งสามแห่ง แล้วก็มีเจ้าหน้าที่คืนเรื่องไปยังบางแสน ระยะทาง ๑๐๔ ก.ม. จากพระนคร ด้วยเหตุทาง วศ.บางแสนลืมปิดอากรแสตมป์ราคา ๑๐ บาท ข้าพเจ้าไม่มีอุเบกขาพอกับความไม่อาทรชนิดนี้ ไม่จำเป็นที่ข้าพเจ้าจะรับราชการอยู่ในวงการที่ตัวข้าพเจ้าไม่สามารถทำประโยชน์ได้ การอบรมในเรื่องนี้เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กอาจมีอิทธิพล เพราะในครอบครัวข้าพเจ้า และครอบครัวขุนนางในสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กนั้น ลูกสาวของข้าราชการเขาถือว่ามีฐานะเทียบได้กับบิดามารดา ลูกชายนั้นเป็นคนสามัญต้องไต่เต้าขึ้นไปตามความสามารถทางราชการของตัว การเป็นข้าราชการนั้นลดฐานะของข้าพเจ้าลงไป ถ้าไม่ทำราชการอยู่แต่ในบ้าน ข้าพเจ้าก็มีฐานะเป็นลูกสาวข้าราชการผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าจึงมีความรู้สึกว่า การทำราชการนั้นถ้าตนได้ทำประโยชน์ก็คุ้มกัน ถ้าไม่ได้ทำประโยชน์อยู่กับบ้านดีกว่า ที่กล่าวนี้เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ความรู้สึกของคนเรานั้นต้องจัดอันดับให้ดี อย่าให้ไขว้เขวกัน มิฉะนั้นอาจทำให้เราตัดสินที่จะทำอะไรกับชีวิตของตนผิดพลาดไปได้มาก

ระหว่างที่รับราชการที่บางแสน ข้าพเจ้าประสบโชคร้ายในเรื่องส่วนตัวพอกพูนขึ้นมาจากความไม่สบายใจเกี่ยวกับการงาน คือข้าพเจ้าต้องรับเป็นผู้จัดการมรดกสำหรับทรัพย์สมบัติชิ้นหนึ่งของพ่อ ซึ่งมีทายาทเป็นพี่ ๆ ข้าพเจ้าทั้งหมดและหลาน ๆ ที่เกิดจากพี่ รวมทั้งแม่เลี้ยง ทรัพย์สมบัติชิ้นนี้ทายาทต้องการให้ขาย เมื่อได้เงินแล้วก็ให้แบ่งกันตามที่กฎหมายระบุ สำหรับทรัพย์สมบัติของผู้ตายทั่ว ๆ ไป แต่มีความสับสนวุ่นวาย เกิดจากความไม่เข้าใจข้อกฎหมาย และความไม่รู้ตัวว่าตนไม่รู้ ซึ่งข้าพเจ้าชังอย่างยิ่ง เป็นต้นว่า ไม่รู้ว่าผลประโยชน์ของตนนั้นจะได้เสียอย่างไร ไม่รู้จนกระทั่ง การได้เงินก้อนสมมุติว่าจำนวนหนึ่งหมื่นภายในสองเดือนอย่างแน่นอน เป็นผลดีต่อตนเองมากกว่าที่จะได้เงินจำนวนสองหมื่นภายในเวลา ๒ เดือนโดยไม่มีความแน่นอน และไม่รู้ว่าการตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ดินจำนวนน้อยซึ่งตนมีกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ เป็นผลดีแก่ตนมากกว่าตั้งบ้านเรือนบนที่ดินจำนวนมาก ซึ่งกรรมสิทธิ์ไม่เป็นของตน ความไม่รู้เหล่านี้ในคนที่เป็นผู้ใหญ่ทำให้ข้าพเจ้ากลัดกลุ้มมากได้ขอร้องให้พ้นหน้าที่ผู้จัดการมรดก แต่ญาติก็อ้อนวอนไม่ให้พ้นดังได้กล่าวแล้ว ก่อนที่จะไปรับราชการที่บางแสนข้าพเจ้าก็ได้ทำใจไปแล้วว่า ข้าพเจ้าจะไม่ไปรับอัตราชั้นพิเศษที่อื่นในเมื่อต้องย้ายไปจากตำแหน่งหัวหน้าศึกษานิเทศก์ หรือหากย้ายไปโดยไม่เกี่ยวกับอัตราก็ยังไม่แก้ปัญหาของข้าพเจ้าว่า งานศึกษานิเทศก์กับการใช้เงินสมทบ (counterpart fund) ยังไม่ได้แก้ไข หรือมิฉะนั้นตัวข้าพเจ้าไม่เหมาะสมแก่การเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่เหมาะแก่การเป็นรองอธิการ วศ.บางแสน ซึ่งทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าตีความเอาเอง ท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงท่านบอกแก่ข้าพเจ้าว่า ต้องการให้ไปทำงานที่บางแสนเท่านั้น การตัดสินใจออกจากราชการ คงจะก่อให้เกิดความเสียใจ จึงเกิดผลที่นักจิตวิทยาเรียกว่า auto suggestion หรือการยั่วยุตนเอง เมื่อใกล้จะสิ้นปีการศึกษา ข้าพเจ้าก็มีอาการป่วยแปลก ๆ หลายอย่าง แต่เมื่อไปแถลงแก่แพทย์ทางประสาท แพทย์ก็ไม่แปลกใจสักอย่างเดียวบอกว่าข้าพเจ้ามีระบบประสาทอย่างนั้นเอง เกิดมาก็เป็นมาอย่างนั้น เมื่อมีอะไรกระทบกระเทือนใจ หรือเหน็ดเหนื่อยก็จะมีอาการที่เล่านั้นขึ้นมา ที่แพทย์ธรรมดาไม่ค่อยได้เคยเห็นในคนไข้ทั่วไปคือ อาการที่ไทยเราเรียกว่าลมพิษหรือสมัยโบราณเรียก ลมเพลมพัด บ้างก็ว่าถูกกระทำ คือมีรอยเหมือนคนเฆี่ยนหรือข่วน ซึ่งเป็นสีแดงและวิ่งไปตามเส้นโลหิตอย่างรวดเร็ว และเป็นขึ้นมาเวลาไหนก็ได้ เมื่อฉีดยาสำหรับอาการแพ้ ก็จะยิ่งทำอาการแพ้อื่นเกิดขึ้น เช่นเส้นเลือดฝอยแตก ทำให้มีรอยดำด่างไปตั้งครึ่งแขน แพทย์ที่เป็นลูกศิษย์เก่าสมัยโรงเรียนเตรียมฯ มักจะมาเร่งเร้าให้หยุดพัก ไม่ให้ทำงาน ข้าพเจ้าก็บอกว่าจะพักโดยเร็ว แต่ว่าการทำงานนั้นหาใช่จะหยุดได้ทันทีตามประสงค์ไม่ต้องรอจนสิ้นปีการศึกษา และวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่กรุงเทพฯ หาคนไปแทนได้แล้วจึงหยุดพักได้

เมื่อใกล้จะสิ้นปีการศึกษา ข้าพเจ้าจึงบอกกล่าวให้ท่านอธิการวิทยาลัยรับทราบว่า ต้องหาคนแทนข้าพเจ้าให้จงได้ มิฉะนั้นจะเกิดการเสียหายไม่แต่ตัวข้าพเจ้า แต่คงเสียหายแก่ราชการ วิทยาลัยจึงหาคนไปรักษาการแทน ข้าพเจ้าลาป่วยมาพักที่บ้านในพระนคร จนใกล้เวลาหมดวันลาตามระเบียบ จึงเรียนให้ผู้บังคับบัญชาสูงขึ้นไปอีกทราบว่าข้าพเจ้าจะต้องลาออกจากราชการ ท่านผู้ใหญ่ให้เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่งมาบอกว่าท่านไม่เห็นว่าควรลาออก ให้พยายามมาทำงานบ้างและลาป่วยบ้าง ท่านผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งก็ว่า “ใช้ไม่ได้ ดีใช้ ไข้ไม่รักษา ไม่ควรให้ออก” ข้าพเจ้าไม่ทราบจะลาบ้างมาทำงานบ้างด้วยวิธีอะไรเพราะที่ทำงานของข้าพเจ้าอยู่ที่บางแสนซึ่งข้าพเจ้าจะกลับไปไม่ได้ เพราะระหว่างที่พักอยู่ ข้าพเจ้าก็หาทางผ่อนคลายอารมณ์โดยไปดูภาพยนตร์เรื่องเบา ๆ เรื่องหนึ่ง นั่งดูอยู่ได้ไม่นาน ก็เกิดความไม่สบาย มีอาการเหมือนจะหายใจไม่ออก ต้องลุกมาเดินรอบ ๆ โรงภาพยนตร์โดยไม่บอกให้ผู้ที่ไปด้วยทราบ เมื่อพิจารณาสาเหตุก็คือ ในภาพยนตร์เรื่องนั้นมีฉากเป็นชายทะเล มีต้นมะพร้าวและชายหาดเหมือนบางแสนตลอดเรื่อง แต่มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านเมตตาข้าพเจ้ามากไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะไม่เคยมีความสัมพันธ์เดิมกันมานอกจากได้ทำงานกระทรวงเดียวกัน ท่านได้ขอให้กระทรวงอนุมัติให้ข้าพเจ้าไปรับราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง และให้ทำงานด้านวิชาการชั่วคราว และกระทรวงอนุมัติตามที่ท่านเสนอ เงินเดือนนั้นข้าพเจ้ายังคงรับจากกรมวิสามัญศึกษาอยู่ เพราะกรมการฝึกหัดครูไม่มีอัตรารับเมื่อข้าพเจ้าย้ายไป วศ.บางแสน กำลังเจรจาตั้งอัตราพิเศษอยู่ ข้าพเจ้าย้ายมาจากบางแสนด้วยความเสียใจและยินดี เสียใจเพราะอาจารย์และนิสิตที่นั่นบอกว่าอาลัยข้าพเจ้ามาก และนิสิตที่อยู่ที่ วศ. บางแสนรุ่นที่ข้าพเจ้าไปรักษาการอยู่นั้น ต่อมาเมื่อได้พบกันที่ไหนอีกเขาจะวิ่งเข้ามาเรียกอย่างตื่นเต้นและส่งข่าวเกี่ยวกับเพื่อนและตัวเองด้วยความยินดี ข้าพเจ้าจึงรู้สึกระทมใจที่ต้องทิ้งเขามา แต่ก็ด้วยความมั่นใจว่าคนหนุ่มสาวของไทยนั้น มีความดีอยู่ในตัวมากพอ และไม่เชื่อทฤษฎีว่าต้องเป็นตัวข้าพเจ้าอยู่ที่ไหน งานที่นั่นจึงจะสำเร็จ ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีแผนงานดีที่ไหน ก็จะหาคนบริหารงานที่ดีและคณะอาจารย์ที่ดีได้ ซึ่งก็ได้เห็นมาหลายแห่ง อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าก็รำลึกถึงอาจารย์ที่ วศ.บางแสน และนิสิตด้วยความอาลัยอยู่ไม่หาย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ