บทที่ ๗ รับราชการอย่างอิสระ
ที่ว่ารับราชการอย่างอิสระนั้น ก็คือไม่มีตำแหน่งอะไรนั่นเอง ที่นั่งก็ไม่ทราบว่าจะอยู่ที่ไหน ผู้อำนวยการกองเผยแพร่การศึกษาในเวลานั้น๑ เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการบอกแก่ท่านผู้ใหญ่ว่า ตึกวิทยุศึกษาสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีที่นั่งให้ข้าพเจ้านั่งทำงานได้เพราะที่นั่นโปร่งและเงียบ ซึ่งเป็นความจริงและเป็นความกรุณาของท่านผู้นั้นอย่างมาก แต่ที่เงียบนั้นก็เพราะขณะนั้นข้าราชการกองเผยแพร่ฯ กำลังไปรับการอบรมต่างประเทศอยู่หลายคน และเจ้าหน้าที่ที่ควรมีก็ยังไม่ได้มาตามที่ได้ขอสำนักงบประมาณและ ก.พ.ไป อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็ได้ไปอาศัยที่ตึกวิทยุศึกษาอยู่อย่างสุขสบาย ท่านผู้ใหญ่ที่เมตตาข้าพเจ้ามากนั้น ท่านได้ติดต่อกับกรมวิสามัญศึกษา ว่าจะตกลงกันเรื่องเงินเดือนของข้าพเจ้าอย่างไรดี ขณะนั้นเงินเดือนก็เต็มขั้นชั้นเอก ระหว่างทำงานที่บางแสน ข้าพเจ้าได้เข้ามาเตือนกรมวิสามัญศึกษาไม่ให้ลืมขึ้นเงินเดือน ครั้นข้าพเจ้ากลับมารับราชการในพระนคร มาอยู่ที่สำนักงานปลัดฯ ชั่วคราว ก็ไม่มีทางที่จะตั้งอัตรารับตัวข้าพเจ้า จึงต้องให้รับเงินเดือนของกรมวิสามัญศึกษาต่อไป ข้าพเจ้าจึงถือว่า แท้ที่จริงแล้วกรมนั้นเป็นนายจ้างของข้าพเจ้าโดยตรง ส่วนสำนักงานปลัดฯ เป็นที่อาศัย แต่ก็ไม่มีข้อข้องใจอย่างใด กรมวิสามัญศึกษาตอบคำถามของท่านผู้ใหญ่ในสำนักงานปลัดที่ไปติดต่อว่า ยินดีทุกทาง ถ้าจะกลับไปกรมวิสามัญศึกษาก็ได้ จะกลับไปเป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์อย่างเดิมก็ได้ เพราะศึกษานิเทศก์ก็มาเรียกร้อง ว่าบัดนี้ข้าพเจ้ากลับมาแล้ว ควรให้กลับรับตำแหน่งเดิม ผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าศึกษานิเทศก์ของกรมแทนข้าพเจ้ามาขอร้อง บอกว่าตัวเธอไม่มีความสุขเลยกับตำแหน่งที่ได้รับ เพราะเสียดายงานทางภาษาไทย ที่กำลังจะก่อตัวให้ดีขึ้นและทำทีว่าจะก้าวหน้า เพราะจะมีผู้ร่วมมือกันเป็นปึกแผ่น กลุ่มคนที่สนใจกับภาษาไทยนี้ ภายหลังไปรวมกันเป็นชุมนุมภาษาไทยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วภายหลัง คุรุสภา จึงตั้งชุมนุมภาษาไทยขึ้นมาอีกด้วย
ข้าพเจ้าได้ชี้แจงแก่เธอว่า อาจกล่าวได้ว่า ในโลกนี้ไม่มีประเพณีที่หัวหน้าส่วนราชการคนหนึ่งย้ายไปที่อื่นแล้ว ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาได้เลื่อนขึ้นทำหน้าที่แทน แล้วหัวหน้าคนเดิมนั้นจะกลับมาเอาตำแหน่งคืนไป แต่สำหรับงานในหน้าที่ ซึ่งเพิ่มปริมาณขึ้นอีกนั้น ข้าพเจ้าเห็นใจเธอมาก จึงรับว่าจะช่วยทำงานมากที่สุดที่จะหาทางทำได้ ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงระบบราชการพลเรือนของเราว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ต้องรับงานหัวหน้าอย่างไร ข้าพเจ้าได้เงินเดือนชั้นเอกเต็มขั้น แล้วก็ย้ายมาจากศึกษานิเทศก์ เงินเดือนก็ติดตัวข้าพเจ้ามา หัวหน้าคนใหม่รับงานซึ่งเพิ่มปริมาณขึ้นไปอีก เพราะโครงการพัฒนาฯ ก็ขยายอยู่เรื่อย ๆ แต่เธอก็ได้เงินเดือนของเธอ ซึ่งต่ำกว่าเงินเดือนเต็มขั้นอยู่หลายขั้น และต้องค่อย ๆ ขึ้นไปทีละขั้น หรืออย่างดีก็สองขั้น เหมือนข้าราชการอื่น ๆ ข้าพเจ้าจึงรู้สึกว่าเป็นหนี้เธออยู่มาก เมื่อมีงานใดที่ข้าพเจ้าอาจช่วยแบ่งเบาให้เธอคลายใจ ข้าพเจ้าก็รับทำด้วยความยินดี และศึกษานิเทศก์ของกรมวิสามัญศึกษาก็ไม่ละทิ้งโอกาส มักหาทางให้ข้าพเจ้าได้ร่วมงานทุกโอกาสที่จะทำได้ แม้กระทั่งให้ไปเป็นที่ปรึกษาทำประมวลการสอนวิชาศิลปะและการช่าง (ศิลปศึกษาและศิลปปฏิบัติตามที่เรียกในหลักสูตร) ข้าพเจ้าถามศึกษานิเทศก์ผู้ที่มาขอร้องให้รับเชิญ ว่าข้าพเจ้าจะช่วยได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้ามีความรู้ทางศิลปะอย่างคนสมัครเล่น ไม่มีความรู้จริงจัง ศึกษานิเทศก์บอกว่า ให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่ล่าม เพราะผู้ที่มาประชุมกันมาจากพื้นวิชาหลายอย่าง ถึงแม้จะเป็นศิลปะด้วยกัน เช่นพวกที่ชำนาญวาดเขียน ก็ไม่รู้เรื่องของดนตรี ขอให้ข้าพเจ้าผู้รู้สิ่งละอันพันละน้อยไปช่วยโยงให้ประชุมกันได้ ข้าพเจ้าได้ไปประชุมตามที่ขอร้อง ปรากฏว่าได้รับความรู้มามากมาย แต่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเพียงใดก็ไม่ทราบ
วิธีปฏิบัติราชการเกี่ยวกับตัวข้าพเจ้านั้นคือ เมื่อศึกษานิเทศก์กรมใดต้องการตัวข้าพเจ้าไปช่วยในเรื่องใดเป็นเวลากี่วัน ก็ทำเรื่องผ่านกรมของตนเสนอสำนักปลัดฯ สำนักปลัดจะถามมาว่าข้าพเจ้ากำลังมีราชการอะไรอยู่บ้างแล้วถ้าข้าพเจ้าเรียนให้ทราบแล้วจึงอนุมัติ โดยมากศึกษานิเทศก์กรมวิสามัญศึกษาและกรมการฝึกหัดครูก็ติดต่อมาให้ข้าพเจ้ารู้ตัวก่อน และกรมสามัญศึกษาก็เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าถือหลักเหมือนพระภิกษุอีก คือรับนิมนต์ตามที่ใครมาก่อนมาหลัง นี่สำหรับการไปอบรมต่างจังหวัดหรือในการประชุมที่ใดก็ตาม แต่เวลานั้นดังได้กล่าวไว้แล้วศึกษานิเทศก์ทุกกรมมีงานเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ ต้องเขียนคู่มือครู เขียนหนังสือแนะนำการใช้ระเบียบวัดผลอย่างใหม่ ในเรื่องการเขียนหนังสือเหล่านี้ ผู้ที่ไม่เคยทำก็ย่อมคิดไม่ถึงว่าเป็นงานกินเวลาอย่างไร และต้องละเอียดถี่ถ้วนมากที่สุดที่จะทำได้ การตรวจปรู๊ฟ (เดี๋ยวนี้ ใช้คำพิสูจน์อักษรกันหนาตาขึ้น) เป็นงานที่กินเวลา ต้องการเพ่งเล็งอย่างไรสำหรับหนังสือวิชาการ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีว่าได้ช่วยงานศึกษานิเทศก์พอสมควร เพราะที่จริงข้าพเจ้าก็กินเงินเดือนของศึกษานิเทศก์และตำแหน่งก็คือศึกษานิเทศก์นั่นเอง แต่ไม่มีใครเรียกเพราะเคยเป็นหัวหน้ามาเท่านั้นเอง ส่วนความดีความชอบก็ไม่ต้องห่วง เพราะเงินเดือนเต็มขั้นจะขึ้นก็ไม่ได้ จะลดก็ไม่นิยมทำกันแล้วไม่เหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การถูกตัดเงินเดือนนั้นเป็นการกระทำได้บ่อย ๆ ปลัดทูลฉลองในรัชกาลที่ ๕ เคยถูกตัดทุกกระทรวง ด้วยครั้งหนึ่งเสด็จออกงานพระราชกุศลอันใดอันหนึ่ง ข้าราชการต่างคนต่างก็คิดว่ามีคนไปกันแล้วก็เกือบจะไม่มีคนในที่เฝ้า จึงมีพระบรมราชโองการให้ตัดเงินเดือนทุกกระทรวง ซึ่งข้าราชการเก่า ๆ เล่ากันด้วยความภาคภูมิใจในพระราชวินิจฉัยว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่ง
ที่ข้าพเจ้าได้รับทราบด้วยความไม่สบายใจนัก ระหว่างที่ทำราชการอย่างอิสระอยู่นั้นก็คือ นิสัยของคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ควรจะไต่ถาม ไม่สรุปอะไรเอาง่าย ๆ และควรรู้จักสังเกตที่ควรไม่ควรอย่างไร นิสัยนี้ยังขาดอยู่มากในข้าราชการของเรา มีคนบางคนมาแสดงความยินดีกับข้าพเจ้าว่าจะได้เป็นผู้อำนวยการกองเผยแพร่ แทนผู้อำนวยการคนเดิมซึ่งจะย้ายเลื่อนขึ้นสูงต่อไป และขณะนั้นข้าพเจ้าไปอยู่ที่กองเผยแพร่ ตามความเข้าใจของเขาก็เพื่อฝึกงาน ที่เข้าใจดังนั้น และเห็นเป็นสิ่งที่น่ายินดี ก็เพราะอัตราผู้อำนวยการเป็นอัตราชั้นพิเศษนั้นเอง ไม่มีปัญหา นี่แสดงให้เห็นว่าระบบราชการของเรา ทำให้คนตีราคางาน ไม่ใช่ตามหลักของวิชาชีพ ใครจะต่ำจะสูงกว่าใครก็เพราะราชการตั้งให้ใครเป็นชั้นพิเศษหรือไม่ ซึ่งจะโทษข้าราชการก็ไม่ถูก เพราะทางราชการตั้งอัตราเอาตามโอกาส มิได้คำนึงถึงความสำคัญของลักษณะงาน และถ้าผู้ที่ไปรับตำแหน่งใหม่ใดก็ดี ยังรับเงินเดือนไม่ถึงขั้นที่จะเลื่อนจากชั้นเอกเป็นชั้นพิเศษได้ ก็ต้องไต่เต้าขึ้นไปตามลำดับ ไม่ว่าจะทำงานหนักขึ้นสักเท่าใด ดังนี้จึงเกิดวิธีการเลื่อนย้ายคนหนึ่งไปทำงานหนึ่ง เพราะต้องการให้ได้เลื่อนชั้น ข้าราชการไปรับงานใหม่ ต้องไปเรียนงานใหม่โดยเสียเวลามาก ระหว่างนั้นราชการก็ไม่ได้ประโยชน์จากข้าราชการที่ได้เลื่อนชั้นผู้นั้น และขาดการเคารพงานว่าแต่ละอย่างต้องการความรู้ความชำนาญต่างกัน เช่นงานกองเผยแพร่นั้น ถ้าไม่ได้ “สร้างบารมี” ไว้เป็นเวลานานปี เมื่อเข้าไปรับใหม่จะต้องเรียน ไม่ใช่แต่งาน แต่กว่าจะรู้จักคุ้นเคยกับผู้ที่ต้องร่วมงานทางวิทยุกระจายเสียง ทางวิทยุโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ ก็จะต้องเสียราชการไปนานทีเดียว ส่วนความชำนาญของข้าพเจ้าในการฝึกหัดครูก่อนประจำการ และระหว่างประจำการคือการนิเทศนั้น ราชการก็เสียไปเปล่า การเปลี่ยนตัวผู้บริหาร จากกองหนึ่งไปกองหนึ่ง จากกรมหนึ่งไปกรมหนึ่งนั้น อาจทำได้ในเมื่อเรามีเจ้าหน้าที่ทางวิชาการพอเพียงอย่างในประเทศฝรั่ง ซึ่งผู้บริหารก็ทำงานประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ แต่ในประเทศไทยตราบใดที่เราวางระบบและระเบียบดังที่เป็นอยู่นี้ ก็จะมีการโยกย้ายข้าราชการเพื่อให้ได้อัตราชั้นพิเศษกัน โดยไม่คำนึงถึงความชำนาญงาน ฝรั่งมีคำว่า “เลื่อนให้สูงขึ้นไปเพื่อให้ทำงานได้คุณภาพ ลดลงไปทุกที” (Promotion to incompetence)
มีเรื่องที่เห็นควรเล่าไว้ สำหรับคนรุ่นหลัง เผื่อจะประสบเหตุการณ์เหมือนกัน จะได้ไม่คิดว่าตัวได้ประสบอะไรที่แปลกประหลาดมากนัก เพราะที่ข้าพเจ้าประสบนี้แปลกพอใช้ คือ มีการเคลื่อนไหวในการที่จะตั้งคณะศิลปศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้าเห็นตัวบุคคลที่เตรียมงานอยู่ ล้วนเป็นคนที่เคยเป็นลูกศิษย์และญาติก็มีก็สนใจอยู่ โดยเฉพาะข้าพเจ้าสนใจการศึกษาด้านที่เรียกว่า "เสรี” (Liberal education) หรือจะพูดตามหลักการศึกษาแล้ว ก็คือ การจัดประสบการณ์ให้นักศึกษาในระดับอุดมได้เป็น “ศึกษิต” อย่างแท้จริง คือมีความรู้ไม่เฉพาะในทางวิชาชีพ แต่รู้จักเรื่องที่จะช่วยในการดำเนินชีวิต และเข้าใจมรดกของไทย คือสุนทรียลักษณ์และเอกลักษณ์อื่นๆ ไม่ช้าก็มีบุคคลที่อยู่ในฐานะศิษย์เก่ามาหา ขอให้ช่วยร่างหลักสูตรภาษาไทย ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินดีเพราะไม่ได้เสียเวลากี่มากน้อย แต่ก็ควรจะได้พบกับคนชั้นผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าสองคนก็พาไปหา ได้ปรึกษากันแล้วข้าพเจ้าก็ร่างหลักสูตรให้ แต่บอกว่า ไม่ค่อยสนใจกับการสอนเสียแล้ว อยากจะทำวัสดุ หนังสือและแบบฝึกหัดต่าง ๆ ให้มากกว่า อาจารย์นั้นควรจะเลือกจากผู้ที่ได้ปริญญา อบ. คบ. เพราะเขารู้ทั้งเนื้อวิชาและวิธีสอน ความเชื่อว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสอนนั้น เป็นความเชื่อที่หาหลักฐานไม่ได้ แต่ก็มีการอ้อนวอนขอให้ไปสอน ครั้นถึงเวลาเปิดภาคข้าพเจ้าก็ไปสอน และเมื่อสดับตรับฟังก็ดูเหมือนจะได้ผลดีพอสมควร มีนักศึกษามาบอกว่า เขาเคยคิดว่าการเรียนภาษาไทยนั้นเขาจะต้องเบื่อ แต่เมื่อมาเรียนที่คณะนี้ไม่เห็นเบื่อ ครั้นสิ้นปีการศึกษา ข้าพเจ้ามีเวลาว่างระหว่างปิดภาค ได้สังเกตข้อบกพร่องในการสอนของตนไว้ ก็พยายามรวบรวมวัสดุการสอนต่าง ๆ ไว้จำนวนมาก แต่รอๆ ก็ไม่เห็นมีใครในคณะศิลปศาสตร์มาบอกกล่าวว่า จะให้ไปสอนวันไหน เวลาใด จนกระทั่งใกล้วันจะเปิดภาค จึงได้รับจดหมายจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความว่า ขอบใจที่ได้ช่วยสอนระหว่างที่หาอาจารย์ไม่ได้ บัดนี้หาอาจารย์ได้แล้วก็ไม่ต้องไปสอนอีกต่อไปแล้ว ลงลายมือชื่อ ถนอม กิตติขจร อธิการบดี ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวังในการที่ได้เสียเวลารวบรวมวัสดุการสอน ซึ่งอาจใช้ไปในการทำมาหากินอย่างอื่น แต่ก็คิดว่าเป็นเกียรติพอใช้ ในการที่มีอาจารย์ชั้นผู้น้อย (ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ผู้น้อยแล้ว) เป็นผู้มาขอความช่วยเหลือ แต่เมื่อถึงเวลาไม่ต้องการ (หรือจะไล่ออก) ก็มีลายเซ็นของอธิการบดีมา
ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ที่สำนักปลัดฯ เป็นเวลานานกว่าที่ใดทั้งสิ้น คือรวมแล้ว ๓ ปี แปลว่า ดำรงตำแหน่งที่ไม่มีตำแหน่ง นานกว่าตำแหน่งใด ระหว่างนั้นก็มีผู้หวังดีมาแสดงความข้องใจในเรื่องที่ไม่ได้เป็นข้าราชการชั้นพิเศษกันอยู่เรื่อย ๆ คนที่เดาเรื่องกันไปต่าง ๆ ก็มีมาก ซึ่งคงจะไม่ถูกเลย การเดามักผิดมากกว่าถูก เพราะคนฉลาดมักไม่เดา เขามักถามคนที่อยู่ในฐานะที่จะรู้ เวลาล่วงไปจนกระทั่งหัวหน้าศึกษานิเทศก์คนใหม่ได้เงินเดือนเต็มขั้นแล้ว ในที่สุดได้เป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ยิ่งมีคนมาแสดงความข้องใจมากขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่า การที่ข้าพเจ้าไม่ใช้ความพยายามที่จะขยับขยายไปรับราชการที่อื่น เพื่อให้ได้ชั้นพิเศษ ก็น่าจะเป็นข้อที่ปลอบใจคนได้อีกหลายคน ข้าราชการผู้หนึ่ง รับราชการในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงระดับชาติ ก็ไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นชั้นพิเศษอยู่หลายปี เธอมาบอกข้าพเจ้าว่า เมื่อญาติมิตรแสดงความน้อยใจแทนเธอ เธอก็ได้ใช้ข้าพเจ้าเป็นประโยชน์หลายครั้ง โดยอ้างเอาข้าพเจ้าว่ามีวัยวุฒิสูงกว่า และมีวันราชการนานกว่า แต่วันหนึ่งมีเพื่อนคนหนึ่งที่เคยร่วมงานกันมา เมื่อได้สนทนากันสักเล็กน้อยก็กล่าวขึ้นว่า คนหลายคนในกระทรวงศึกษาธิการมีความท้อใจ ไม่อยากจะตั้งใจทำงานเพราะได้เห็นข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง ข้าพเจ้าตกใจมากถามว่าเป็นเพราะเหตุใด เพื่อนคนนั้นก็บอกว่า ข้าราชการพากันว่าเสียเวลาที่จะตั้งใจทำงาน เพราะไม่ได้รับการยกย่อง ซึ่งจะดูได้จากข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง ตั้งแต่วันนั้นข้าพเจ้าก็เริ่มเปลี่ยนความคิดในการที่จะกระทำราชการไปเรื่อย ๆ และคิดว่าถึงเวลาที่จะลาออก แต่วันราชการยังน้อยเต็มที เบี้ยบำนาญก็น้อยมาก และก็มีความขัดสนอยู่บ้าง เพราะสามีซึ่งเป็นแพทย์และได้เคยมีร้านรับรักษาคนไข้ในเวลานอกราชการ พอมีรายได้พิเศษประทังการใช้จ่ายในครอบครัวนั้น มีราชการต้องออกต่างจังหวัดบ่อย ๆ จึงต้องเลิกกิจการ แต่พอดีกับเวลานั้น กองเผยแพร่ก็ต้องขยายกิจการ ข้าราชการก็เพิ่มตัวขึ้น และข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ตึกวิทยุศึกษานั้น ก็น่าจะทำความรำคาญอยู่บ้าง เพราะข้าพเจ้ายังมีอาการป่วยเหลืออยู่ในข้อที่ว่าบางเวลาข้าพเจ้าต้องนอนราบ เพื่อให้เลือดวิ่งไปสู่สมองต้องใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาทีบ้าง หรือ ๒๐ นาทีบ้าง เมื่อมีราชการมากขึ้นที่ตึกวิทยุศึกษา ก็มีคนมาติดต่อมากขึ้นเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความอึดอัด ครั้นแล้ว ความป่วยไข้ก็ช่วยตัดสินให้ตามที่เคยมา
ในเดือนเมษายน และ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ข้าพเจ้าไปช่วยในการอบรมครูที่จังหวัดเชียงใหม่รู้สึกมีอาการแปลก คือง่วงผิดปกติตลอดวัน แล้วในเดือนต่อมา จึงมีอาการบวมเกิดขึ้นตามร่างกาย ในที่สุดแพทย์วินิจฉัยว่าร่างกายขาดธาตุโปรตีน ข้าพเจ้าจึงลาป่วยรักษาตัว จนหมดวันลาก็ต้องขอลาออกจากราชการตามระเบียบ แต่เรื่องเงียบไปไม่เห็นมีคำสั่งอนุญาตลงมา ระหว่างที่เงียบอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็ถึงระยะค่อย ๆ มีกำลังดีขึ้น ท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงเรียกไปพบ ท่านว่าท่านมีงานให้ทำ ไม่มีใครจะทำให้ท่านในระยะนั้น แล้วท่านก็มีบันทึกบอกมายังสำนักปลัดว่า ท่านได้สั่งให้ข้าพเจ้ากลับไปทำราชการ
งานที่ได้รับมอบหมายนี้ คืองานเตรียมการตั้งวิทยาลัยทับแก้ว และคณะอักษรศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่พระราชวังสนามจันทร์ที่นครปฐม พร้อม ๆ กันนั้น ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้แทนประเทศไทย ในโครงการภาษาอังกฤษ ขององค์การซิมิโอ ซึ่งกำลังก่อตั้งอยู่ ข้าพเจ้าไปทำราชการโดยต้องลาป่วยเป็นวัน ๆ เพราะต้องสงวนพลังงาน ต้องพักและทำงานให้ได้สัดส่วนกัน เมื่อวันไหนต้องพัก ก็ต้องถูกหักเงินเดือนไป จนกระทั่งขึ้นปีใหม่ ก็มีสิทธิ์ลาอีกได้ติดต่อกันตามระเบียบ แต่ตั้งแต่ขึ้นปีใหม่ มีสิทธิ์ลาโดยไม่ถูกหักเงินเดือน ก็ไม่มีอาการอ่อนเพลียถึงต้องลาเลย
ระหว่างที่ทำงานโดยไม่มีตำแหน่ง เป็นเวลามีความสุขระยะหนึ่ง ไม่มีเรื่องบาดหมางกับใคร ไม่มีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบที่จะค้านผู้ใดในเรื่องใด เมื่อเข้าประชุมคณะกรรมการใด ก็มีหน้าที่ชี้แจงในข้อที่มีความสับสนกันบ้างเท่านั้น และได้ฝึกตนเองหลายอย่าง ให้รู้จักพอใจกับสิ่งที่ตนมี เป็นต้น ในการทำงานก็มักได้ทำกับผู้ที่คุ้นเคย โดยมากก็เป็นศึกษานิเทศก์ของกรมวิสามัญศึกษาและกรมอื่น และศึกษานิเทศก์ของกองเผยแพร่ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับวิทยุโรงเรียน ซึ่งข้าพเจ้าเกี่ยวข้องด้วยมานับแต่เริ่มตั้ง ข้าพเจ้าได้แก้โรคเห็นต้นมะพร้าวกับชายหาดไม่ได้ ด้วยการไปชายทะเลกับศึกษานิเทศก์ เพราะงานนิเทศจะทำให้ข้าพเจ้าเอาใจไปอยู่ในงาน จนค่อย ๆ ชินกับชายทะเลไป ระหว่าง ๗ ปี จึงได้เรียนวิชารักษาสุขภาพจิตด้วย
ระหว่างที่ลาป่วย ข้าพเจ้าไปต่างจังหวัดพร้อมกับสามี ซึ่งถ้ารับราชการเป็นปรกติย่อมจะไม่ได้ไป จึงได้หาเวลาแต่งนวนิยาย ระหว่างที่รออยู่คนเดียวในโรงแรมหรือระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟ ได้รับความสำเร็จอันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๕๐๙ คือได้แต่งนวนิยายเรื่อง ทุติยะวิเศษ จบในปีนั้น ซึ่งเป็นนวนิยายที่ถูกใจเพื่อนฝูง และผู้อ่านที่ไม่รู้จักก็ได้เขียนหนังสือมาขอบใจ ทุกครั้งที่ลาป่วยในระยะยาว ข้าพเจ้ามักมีโอกาสได้แต่งหนังสือบันเทิงคดี เพราะจำเป็นต้องทำการงานที่ไม่หนักสมองเพื่อให้ลืมอาการป่วยไปเป็นครั้งคราว การแต่งหนังสือนี้ จะทำระหว่างป่วยมากไม่ได้ ต้องใช้เวลาที่กำลังพักฟื้น ซึ่งถ้าไม่รู้จักปฏิบัติตัวให้ดี ก็เป็นระยะที่คนป่วยรำคาญมาก ข้าพเจ้าขออวดว่า ที่ข้าพเจ้าแต่งหนังสือได้ระหว่างที่ป่วย ก็เพราะรู้จักทำงานเพียงภายในเวลาสั้น ๆ คือ ๑๕ - ๒๐ นาที แล้วพักประมาณ ๑๐ นาที แล้วทำงานใหม่ ระยะเวลาทำงานกับระยะพักจะนานขึ้นและสั้นลงตามลำดับ ที่กล่าวไว้นี้ ก็โดยหวังจะให้ผู้อ่านบางคนได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าบ้าง
-
๑. คุณหญิง อัมพร มีศุข ↩