ปัจฉิมบท

สรุปความสำเร็จและความล้มเหลว

ข้าพเจ้าได้ออกจากราชการ และได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญในฐานรับราชการนาน ในกรณีนี้ ต้องขอขอบคุณคณะปฏิวัติที่ได้ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ข้าพเจ้าได้อยู่ในฐานะที่จะรับเบี้ยบำนาญ และได้รับมากขึ้นกว่าที่ได้คาดหมายไว้หลายร้อยบาท ถ้านับวันราชการจริง ๆ นับตั้งแต่เข้าใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็มีเวลา ๒๐ ปีเท่านั้น ตั้งแต่ออกจากราชการแล้ว ได้มีเวลารักษาตัวและสุขภาพดีขึ้น แต่ก็ไม่ว่างราชการเสียเลยทีเดียว เพราะงานของโครงการภาษาอังกฤษ องค์การซิมิโอนั้น เป็นงานที่เร่งรัดอยู่บ่อย ๆ ข้าพเจ้ายังดำรงตำแหน่งผู้แทนประเทศไทย ในคณะกรรมการบริหารโครงการอยู่ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเจ้าของโครงการนี้ คนสิงคโปร์โดยมากเป็นคนจีนซึ่งเคยรับราชการตามระบบของอังกฤษ ทำงานรวดเร็วและเป็นระเบียบ อีกทั้งประเทศมีเกาะอยู่เกาะเดียวก็ว่าได้ มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่ในอาณัติไม่กี่เกาะ เคยกับการติดต่อกันได้ง่าย ๆ เมื่อต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกก็มักบอกกำหนดวันเวลาที่ต้องการความร่วมมือนั้นมาอย่างกระชั้นชิดตามมาตรฐานของไทย ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับชาติ คือภายในประเทศของเราด้วย มีผู้อำนวยการโครงการภาษาอังกฤษของโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นเลขานุการ จึงได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ภาษาอังกฤษแห่งนี้ให้ทำงานเปรียบเสมือนสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ เรื่องมีคณะกรรมการแล้วไม่จัดสำนักงานเลขานุการให้เหมาะสมนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้ราชการของไทยไม่เรียบร้อยอย่างหนึ่ง ตราบใดไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ ก็จะปรับปรุงงานได้ยาก ข้าพเจ้าต้องไปอาศัยสำนักงานของโครงการภาษาอังกฤษ ของโครงการพัฒนามหาวิทยาลัย (อักษรย่อ ค.พ.ม.) อยู่มาก มีนักเดาสรุปเอาว่าข้าพเจ้าไปเป็นอาจารย์ของศูนย์ภาษาอังกฤษตามเคย ข้าพเจ้าควรจะพ้นตำแหน่งผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารโครงการภาษาอังกฤษขององค์การซิมิโอปลายปีนี้ แต่กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งให้ทำงานในหน้าที่นี้ต่อไปอีกวาระหนึ่ง เพราะตัวกรรมการในคณะเกิดเปลี่ยนพร้อม ๆ กันขึ้นมาหลายประเทศ ต้องมีคนเก่าอยู่บ้าง พอให้เชื่อมงานเก่ากับงานใหม่

นอกจากทำงานขององค์การซิมิโอ เป็นครั้งเป็นคราว ด้วยความร่วมมือกันเป็นอันดีกับผู้แทนสถาบันการศึกษาและกรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นคนเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ครั้งเป็นศึกษานิเทศก์ และเป็นอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอื่น ๆ โดยมากแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังคงได้รับเชิญให้ไปสอนที่คณะอักษรศาสตร์ ที่พระราชวังสนามจันทร์ และที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ต่อไป ข้าพเจ้าใคร่จะมีเวลาเขียนหนังสือให้มากที่สุด การสอนนั้นก็ดี เพราะทำให้เกี่ยวข้องอยู่กับครูอาจารย์และนักศึกษา แต่คนที่ไม่ค่อยมีกำลัง จะทำหลายอย่างนักไม่ได้

การเขียนหนังสือบันเทิงคดีนั้น ข้าพเจ้ามีโอกาสเขียนระหว่างลาป่วยระยะยาวโดยมาก เรื่องสั้นเรื่องแรกที่แต่งคือ เสน่ห์จวัก นั้น แต่งระหว่างที่ลาป่วยเมื่อกลับจากบางแสน นิตยสารสตรีสารได้เอื้อเฟื้อลงให้ และต่อไปนวนิยายเรื่องแรก คือ สะใภ้แหม่ม ก็แต่งในระยะเดียวกันนั้น แต่แต่งจบหลังจากที่ได้กลับไปทำราชการต่อไป ในเรื่องการเขียนเรื่องทั้งบันเทิงคดี และสารคดี ข้าพเจ้ามีโชคแปลกอยู่อย่างหนึ่ง จะเป็นด้วยอะไรไม่ทราบ เคยถูกเปลี่ยนชื่อเรื่องถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรก มีงานของสมาคมศิษย์เก่าอันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับการขอร้องให้เขียนบทความลงในสูจิบัตร ข้าพเจ้าเขียนเรื่อง พันธะของผู้อุดม จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบ เมื่อหนังสือออกมาในงานนั้นชื่อเรื่องเหลือแต่ ผู้อุดม ซึ่งพิมพ์ซ้ำหลายหน้าด้วย ต่อมาอีกข้าพเจ้าเขียนเรื่องสั้น ให้ชื่อเรื่องว่า กรุแก้วเรียนเรื่องรัก ตั้งใจจะให้ต่อจากเรื่อง เปรมวดผู้ถูกอิจฉา และตั้งใจจะเขียนอีกเรื่องหนึ่งเป็น ๓ เรื่องเข้าชุดเดียวกับ เรื่อง ลินดาผู้มีโชค แต่เรื่องที่สองเมื่อออกมาในหนังสือ จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบ ชื่อเรื่องเหลือแต่เพียง กรุแก้ว เท่านั้น ต่อมาข้าพเจ้าแต่งนวนิยาย แล้วไม่รู้จะตั้งชื่อเรื่องว่าอย่างไรจึงจะให้เข้ากับเนื้อเรื่องที่แปลกหูสักหน่อย มีผู้ว่าโคลงเก่าให้ฟัง บาทแรกว่า “ตกหลุมตกร่องแล้ว ใดใดก็ดี” ข้าพเจ้าจึงตั้งชื่อเรื่องตามโคลงบาทนั้น ได้ขอร้องไปยังบรรณาธิการว่า ให้ใช้ตัวอักษรตัวจิ๋วสำหรับวรรคหลัง เพราะตั้งใจจะให้คนอ่านเรียกหนังสือว่า ตกหลุมตกรอง แต่อยากให้รู้ว่าเป็นวรรคต้นของโคลงบาทแรก แต่ข้าพเจ้าคงจะชี้แจงไม่แจ่มแจ้งหรืออย่างไรไม่ทราบ นวนิยายเรื่องนั้นก็มีชื่อเต็มตามโคลงบาทแรกทั้งบาท ต่อมาข้าพเจ้าแต่งบทความขนาดยาวสำหรับพิมพ์รวมกันเป็นชุด ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษาของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ข้าพเจ้าเรียกชื่อบทความว่า หัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย เป็นคราวเคราะห์ดีผู้ที่จัดพิมพ์เกิดสงสัยเรื่องหมายเหตุบางแห่ง จึงส่งปรู้ฟมาให้ดู ปรากฏว่าได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรื่องไปเป็น หัวเลี้ยวหัวต่อของวรรณคดีไทย จึงแก้ได้เรียบร้อย ครั้งสุดท้ายในงานสัปดาห์ความเข้าใจดีระหว่างชาติ กรรมการขอเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนเป็นสารคดีสำหรับเยาวชน ในการสัมมนาเรื่องหนังสือสำหรับเยาวชน ซึ่งยูเนสโกได้มีส่วนให้จัดขึ้น สารคดีของข้าพเจ้าชื่อว่า เรื่องของช้างพลายมงคลผู้อาภัพ แต่เมื่อหนังสือออกมาก็กลายเป็นชื่อ พลายมงคล ไม่มีสร้อยแต่ประการใด จะเป็นเพราะเหตุใด ชื่อเรื่องของข้าพเจ้าจึงไม่เป็นที่ถูกใจ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่เสมอก็ไม่ทราบ เห็นจะนับได้ว่าเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่ง

เมื่อกล่าวถึงหนังสือ ก็สะกิดใจข้าพเจ้าให้แสดงความคิดเห็นเรื่องที่เรียกว่า ใกล้หัวใจที่สุดไว้ในหนังสือนี้ คือเรื่องการศึกษาระดับมัธยม พลังงานของข้าพเจ้าทุ่มเทไปในทางนี้มากที่สุด ต้องเรียกว่าประสบความล้มเหลว กล่าวถึงข้อเล็ก ๆ ซึ่งก็สำคัญ เพราะในการศึกษาเรื่องเล็กกับเรื่องใหญ่แยกออกจากกันยาก เมื่อแรกตั้งโรงเรียนเตรียมฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้าเป็นครูอย่างจริงจังแห่งแรก และย่อมจะมีใจเกาะเกี่ยวอยู่ที่นั่นมาก ผู้อำนวยการได้ให้ข้าพเจ้าช่วยท่าน จัดหาหนังสือและบทความสำหรับที่จะให้นักเรียนอ่านเป็นหนังสือนอกเวลา แต่ผู้ใหญ่ในราชการเกิดสนใจอยากรู้ว่าโรงเรียนจะให้นักเรียนอ่านหนังสืออะไรบ้าง ก็ขอไปดูแล้วก็เลยเก็บเงียบไป โรงเรียนไม่สามารถสั่งให้นักเรียนอ่านได้ ตั้งแต่นั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีความพยายามในระดับมัธยมที่จะให้นักเรียนอ่านหนังสือไทยนอกเวลา มีแต่ให้อ่านหนังสืออังกฤษ ขอกล่าวเรื่องหนังสือไทยให้จบก่อน การที่ไม่มีการส่งเสริมให้นักเรียนอ่านหนังสือ เรียกว่าให้การศึกษาไม่สมบูรณ์ ข้าพเจ้ามีโชคอย่างไรไม่ทราบ ไม่ค่อยได้มีสวนกับการสอนภาษาไทยเพราะมักถูกมอบหมายเรื่องภาษาอังกฤษ การเป็นผู้รู้มากฟังมาก และในสมัยนี้ก็จำเป็นต้องอ่านมากนั้น แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องว่าเป็นมงคลอันหนึ่งของมนุษย์ ข้าพเจ้าได้พยายามเต็มที่ที่จะทำให้โรงเรียนไทยสนับสนุนการอ่านหนังสือ และระหว่างที่ทำราชการโดยไม่มีตำแหน่งก็อยู่ไปด้วยความหวังว่า จะได้ทำอะไรให้เกิดมีหนังสือสำหรับชั้นมัธยมขึ้น และได้เจรจากับผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะบันดาลให้เกิดประสิทธิผลอันนี้ นับครั้งไม่ถ้วน แต่โรงเรียนมัธยมของไทยก็ยังสอนกันเหมือนชาวยุโรปในศตวรรษที่ ๑๕ คือใช้หนังสือน้อยที่สุด ราวกับว่าเรายังอยู่ในยุคที่ผลิตหนังสือไม่ได้ ทั้งที่มีเครื่องพิมพ์ชนิดต่าง ๆ จนข้าพเจ้าไม่สามารถจำได้ การเรียนเอาความรู้จากครูในชั่วโมงสอนในโรงเรียนเท่านั้น จะไม่ทำให้คนรุ่นหนุ่มสาวของเราเป็นคนมีความรู้ แม้จะเทียบกับพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นเมืองขึ้นก็ไม่ได้ เมื่อแลไปทางไหนในประเทศไทย จะเห็นหนังสือที่ส่งเสริมความงมงาย มากกว่าที่ส่งเสริมสติปัญญามากนัก เป็นที่น่าเสียใจที่คนไทยซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน นับถือศาสนาที่ส่งเสริมการมีความรู้ แต่กลายเป็นชาติที่สนใจกับความรู้น้อยที่สุด

สำหรับภาษาอังกฤษ คนจำนวนมากทราบดีว่าผลการเรียนการสอนของโรงเรียนไทยเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้ตัวข้าพเจ้าก็มีสวนในการประสบความล้มเหลวอีก ระหว่างที่มีผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกมาช่วยเหลือปรับปรุงการสอนภาษาอังกฤษ กระทรวงได้ตั้งกรรมการคณะหนึ่ง ให้พิจารณาหนังสือที่ใช้ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย ในเวลานั้น หนังสือที่มีความยากง่ายพอเหมาะกับนักเรียนยังหายากมาก แต่คณะกรรมการก็ได้พยายามจัดหาหนังสือให้มีคุณสมบัติคือ ให้มีหนังสือทั้งสารคดีและบันเทิงคดี ให้มีหนังสือที่เดิมเป็นของอเมริกันและของอังกฤษ (หนังสือเหล่านี้ใช้ฉบับที่ทำให้ง่ายสำหรับนักเรียนต่างประเทศ) ให้มีหนังสือต่างประเภท คือประเภทสืบสวน ประเภทที่เรียกว่า โรแมนติก ประเภทที่เป็นหนังสืออิงพงศาวดาร ประเภทที่คัดเลือกมาจากวรรณคดีและอื่น ๆ หนังสือเหล่านี้จัดให้มีทั้งที่ง่าย และที่ค่อนข้างยาก สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนดี จะได้ไม่ต้องลดสมองลงมาอ่านหนังสือง่าย ๆ แต่ไม่ทันได้ทำหนังสือแนะนำครูและโรงเรียน ระหว่างที่ข้าพเจ้าไปรับราชการที่บางแสน มีการพิจารณาปรับปรุงหนังสือเรียนภาษาอังกฤษขึ้นอีก คณะกรรมการใหม่ไม่สอบถามคณะกรรมการเก่าเลย เปลี่ยนแปลงไปตามที่ใจนึก มีหนังสือยากไปใช้ในชั้นมัธยม ๗ ที่ง่ายไปใช้ในชั้นมัธยม ๘ ตลอดมาจนกระทั่งได้เปลี่ยนแผนการศึกษาแห่งชาติไป ๑๐ ปี ใช้หลักสูตรใหม่ไป ๑๐ ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหนังสืออังกฤษ ซึ่งเวลานี้มีหนังสือดี ๆ ออกมาเต็มตลาด และไม่มีความพยายามชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า ต้องลงทุนในเรื่องการซื้อหนังสือ ถ้าจะให้บุตรหลานมีความรู้ และไม่มีความพยายามจะให้ทุนแก่นักเรียนยากจนซื้อหนังสือที่จำเป็นในการศึกษา ข้าพเจ้าต้องทนฟังผู้เชี่ยวชาญฝรั่งที่รู้จักเมืองไทยชี้แจงแก่ฝรั่งที่เพิ่งมาใหม่ ว่าประเทศไทยเป็นประเทศไม่อ่านหนังสืออยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ดังนั้นในเรื่องเล็กซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ข้าพเจ้าก็ประสบความล้มเหลว

สำหรับมัธยมศึกษาโดยทั่วไป จำเป็นกล่าวอย่างย่อ ๆ เท่านั้น มัธยมศึกษานั้น ได้กล่าวแล้วว่า เป็นการศึกษาระดับกลาง สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นระดับสำคัญ เพราะนักเรียนจะแยกย้ายกันไปเป็นแรงงานของประเทศ และได้เห็นว่า การเกษตรเป็นงานสำคัญที่สุดของคนไทย ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาของยูซอมเคยสนทนากับข้าพเจ้าในเรื่องนี้ และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรให้มีการศึกษาทางการเกษตรระดับมัธยมให้กว้างขวาง ในเรื่องนี้ดูเหมือนกรมวิสามัญศึกษากำลังพยายามอยู่ แต่ข้าพเจ้าไม่มีส่วนร่วมอะไรด้วย แต่ที่น่าห่วงใยก็คือ ทัศนคติของครูเกี่ยวกับหน้าที่ของตน ตราบใดประเทศไทยยังใช้ระบบให้ค่าจ้างเรียนแทนที่จะให้ค่าจ้างทำงาน คือให้เงินเพิ่มเพราะได้ปริญญา ครูก็จะตั้งหน้าเรียนเอาปริญญาแทนที่จะพิสูจน์ว่าเป็นคนทำงาน และตราบใดกระทรวงศึกษาธิการยังปล่อยให้มีการดึงดูดนักเรียนที่มีสมองดีให้หลั่งไหลไปสู่แหล่งกลางแหล่งหนึ่ง สมองรอง ๆ หลั่งไหลไปสู่แหล่งรอง ๆ ต่อ ๆ กันไป เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ทำให้โรงเรียนมัธยมในจังหวัดต่าง ๆ พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นโรงเรียนที่ให้การศึกษาที่ดีได้ ปัญหาของเมืองหลวงก็ไม่รู้จักลดน้อยลง นักเรียนก็หลั่งไหลเข้าพระนครหลวง คนทำงานก็หลั่งไหลเข้ามา ปัญหาการจราจร ปัญหาอาชญากรรมในเมืองหลวงก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้น และการศึกษาก็เป็นการแข่งขันกันเอาคะแนน แข่งขันในเรื่องที่ไม่มีคุณค่าแก่ชีวิต เพราะสิ่งมีคุณค่าแก่ชีวิต เช่น ความเสียสละ ความกตัญญูจะมีคะแนนไม่ได้ การที่จะปลูกฝังคุณค่าที่จะพึงประสงค์ให้แก่คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว จำเป็นให้เขาอยู่ในหมู่ในเหล่าที่เขาจะบำเพ็ญตนให้เห็นความเสียสละความกตัญญูได้ คือที่โรงเรียนที่เขาเรียนมาตั้งแต่เริ่มเป็นเด็กโต จนกระทั่งกลายเป็นผู้ใหญ่น้อย ๆ จะเป็นจัดระบบโรงเรียนให้มีชั้น ๕ ชั้นดังที่มีอยู่เดิม หรือ ๖ ชั้นดังที่ดำริจะให้มีขึ้นก็ตามที

สำหรับราชการทั่วไป ข้าพเจ้าเห็นว่า ตราบใดที่ยังใช้วิธีจ้างโดยถือปีการศึกษาเป็นใหญ่ แล้วก็ให้เงินเดือนขึ้นไปโดยไม่ถือลักษณะหรือความสำคัญของงาน และให้มีการเปรียบเทียบกันอยู่ทุกประเภทข้าราชการ โดยตั้งตำแหน่งนั้นเป็นชั้นพิเศษ ชั้นเอก ชั้นโท ฯลฯ ดังที่เป็นอยู่นี้ ข้าราชการไทยก็จะมีจิตใจไม่เป็นสุข เพราะมีไม้บรรทัดบอกระดับต่ำสูงของตนเทียบกับเพื่อนฝูงอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะภาคภูมิว่า เราเป็นอาจารย์ใหญ่ เราเป็นศึกษานิเทศก์ เราเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางนั้นทางนี้ นอกจากจะมีการเทียบด้วยชั้นด้วยเงินเดือน ยังต้องห่วงใยถ้อยคำที่จะเรียก ชั้นนั้นเรียกอาจารย์ ชั้นนั้นเรียกครู และเพราะเหตุใดทางราชการจึงคิดว่า ผู้อำนวยการ มีเกียรติกว่าคำ อาจารย์ใหญ่ ถ้าได้เป็นข้าราชการชั้นพิเศษแล้วต้องเลิกเป็นอาจารย์ เชื่อว่าไม่มีใครอธิบายได้ และในเรื่องราชการมีความงมงายของข้าพเจ้าอยู่เรื่องหนึ่งที่ต้องเล่าไว้ ข้าพเจ้าได้เสียเวลาไปเห็นจะใกล้ยี่สิบปีในการจงใจชังข้าราชการในสมัยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย คือชังข้าราชการที่ข้าพเจ้าคิดว่าทำตัวเหมือนขุนนางผู้ใหญ่สมัยเดิม โดยมีบริวารแวดล้อมมากมายเมื่อมีงานที่บ้าน เช่นงานวันเกิด หรืองานอะไรก็ตาม จะเห็นข้าราชการผู้น้อยไปอยู่ที่บ้านกันคลาคล่ำ คนทำงานในการเลี้ยงมีจำนวนเท่ากับคนได้รับเลี้ยง จนกระทั่งต้องไปพึ่งนักมานุสวิทยา ได้อ่านหนังสือที่ฝรั่งเขียนเรื่องชีวิตชนบทของไทยและได้ไปเห็นการทำศพญาติที่อยู่ต่างจังหวัด จึงเข้าใจว่าพฤติกรรมของข้าราชการเหล่านั้นคือพฤติกรรมของชาวชนบท และขุนนางสมัยก่อนก็ประพฤติตามประเพณีชนบทนั้นเอง เพราะคนไทยเรา แม้จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นชาวชนบท หรืออีกนัยหนึ่ง ชาววัฒนธรรมกสิกร คือผู้มีระบบชีวิตอย่างคนที่ทำไร่ทำนา การประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครอง หาได้เปลี่ยนระบบชีวิตได้ไม่ ต่อเมื่อคนไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจากวัฒนธรรมกสิกร หรือชาวชนบทเป็นชาววัฒนธรรมอุตสาหกรรม หรือชาวเมือง นั่นแหละความเปลี่ยนแปลงในระบบชีวิตก็จะเปลี่ยนไป เช่นในปัจจุบันนี้คนชั้นรองอธิบดี ก็ต้องไปเช่าโรงแรมเป็นสถานที่ทำการสมรสลูก และมีการรับรองที่นั่น เป็นการไม่ให้โอกาสข้าราชการผู้น้อยไปคลาคล่ำที่บ้านไปในตัว นี่ก็เป็นเพราะชีวิตเริ่มเปลี่ยนจากความเป็นชาวชนบทกลายเป็นชาวเมืองนั่นเอง

ที่ข้าพเจ้าเขียนมาทั้งหมดนี้ หวังว่าผู้อ่านจะไม่ตีความว่า ข้าพเจ้าต้องการแสดงว่าข้าพเจ้าเป็นคนคิดถูก คนอื่นเป็นคนคิดผิด แต่ต้องการให้คนรุ่นหลังเข้าใจว่า ในการประกอบกิจการทั้งปวง ที่ต้องร่วมมือกับคนจำนวนมาก ย่อมจะมีอุปสรรคมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับงานอย่างการศึกษา ซึ่งเป็นงานไม่เห็นเนื้อเห็นตัว การที่จะทำให้คนเชื่อถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการยาก และความคิดเห็นของคนเรื่องการศึกษานั้น มักจะติดอยู่ที่ประสบการณ์ของตนเอง เช่นตัวข้าพเจ้า ที่คิดหวังไปในทางหนึ่งทางใด ก็เพราะได้รับการอบรมไปในทางนั้น คนอื่นก็รับการอบรมไปในทางของท่านแต่ละคน สิ่งที่คนทำงานไม่พึงกระทำก็คือ ไม่ควรปล่อยให้ความรักเป็นต้นเหตุทำให้ท่านผิดหวังกับคนนั้นคนนี้ จนเสื่อมเสียสุขภาพจิต อันเป็นทางไปสู่ความเจ็บไข้ หรือผูกพันใจกับงานชิ้นหนึ่งชิ้นใดมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยตามความคิดเห็นของคนอื่น เพราะความกลัวหรือความห่วงตำแหน่งหรือยศศักดิ์ในราชการ ขึ้นชื่อว่างานแล้วมีเกียรติเสมอกัน เกียรติจะเกิดแต่การทำงานนั้นดีหรือไม่ มิใช่เพราะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงมีเกียรติ หรือมีตำแหน่งใดจึงมีเกียรติ แต่เกียรติเกิดจากการทำงานที่เป็นหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด สำหรับคนรุ่นใหม่ ข้าพเจ้าว่าท่านโชคดีกว่าคนรุ่นข้าพเจ้าหน่อยหนึ่ง คือมีผู้เล่าเรียนมาเสมอกันมากกว่าแต่ก่อน มีโอกาสทำความเข้าใจกันง่ายกว่าแต่ก่อน แต่ที่น่าห่วงใยก็คือ คนรุ่นใหม่นี้ได้พบเห็นคนที่มีคุณค่า และที่นิยมคุณค่า ที่เป็นอันตรายแก่บ้านเมืองมากขึ้นทุกวัน เช่นการเชื่อถือว่า การกล่าวเท็จไม่สำคัญ การขี้ฉ้อเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่สำคัญ ไม่เป็นผิดประการใด กลับจะเป็นการแสดงความฉลาดเสียอีก ข้าพเจ้าคิดว่าเราไม่จำเป็นต้อง “เถนตรง” ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็ต้องมีการไว้หน้ารักษาชื่อบ้าง มิฉะนั้นสังคมจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ถ้าขาดความไว้ใจกันสิ้นเชิง ข้าพเจ้าเคยเห็นท่านผู้ใหญ่คนหนึ่ง ท่านโกรธเคืองลูกผู้ชายของท่านมากว่ากล่าวเท็จต่อท่าน ท่านว่า “ไอ้พวกนี้ไปเที่ยวก็ต้องโกหก ไอ้เรื่องโกหก เขาเก็บเอาไว้ใช้เมื่อมันจะเป็นจะตาย” อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยถามท่านผู้ใหญ่ว่า ท่านกลัวใครบ้าง ได้รับคำตอบว่า “กลัวแต่คนไม่อาย” เมื่อยังเป็นเด็กก็ไม่เข้าใจค้าตอบนั้นเลย แต่มาบัดนี้ ข้าพเจ้าว่าท่านที่อ่านหนังสือนี้คงจะเข้าใจเท่ากับข้าพเจ้า

ด้วยเหตุที่คนรุ่นใหม่นี้ ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบคนดี จึงมักยกให้คนธรรมดาเป็น พ่อพระ หรือ นักบุญ หรือผู้วิเศษอย่างหนึ่งอย่างใดโดยง่าย ในนวนิยายเรื่องหนึ่งของข้าพเจ้า มีตัวละครชายตัวหนึ่ง เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อตรงต่อเพื่อน ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อน และทำราชการโดยรักษาตัวรอดไปได้ด้วยความไม่เฉียบแหลมนัก มีผู้วิจารณ์ว่าตัวละครนั้นดีเกินไป ข้าพเจ้าสงสารคนรุ่นใหม่ (อายุในคราว ๔๐ ปี) มาก ข้าพเจ้าเติบโตจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่โดยได้เห็นคนเสียสละความสุขส่วนตัวให้พ่อแม่ ลูกเมีย พระมหากษัตริย์ ทั้งที่คนเหล่านั้นก็มีความบกพร่องอย่างนั้นอย่างนี้บ้างเป็นจำนวนมาก ได้เห็นครูที่เสียสละให้ศิษย์ เช่นแม่ชีครูของข้าพเจ้าที่เล่าแล้วเป็นคนดีกว่าตัวละครนั้นมาก ดังนี้คนรุ่นใหม่อาจได้เปรียบในเชิงวิชาการ แต่อาจเสียเปรียบคนรุ่นข้าพเจ้าในเรื่องคุณธรรมของผู้ใหญ่และผู้บังคับบัญชา ซึ่งข้าพเจ้าได้พบมาเป็นผู้ที่น่านับถือ เป็นสุภาพบุรุษ และมีความตั้งใจดีต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ประกอบกับคุณธรรมที่สำคัญ เช่นไม่พยาบาท เป็นต้น

ในการเล่าถึงประสบการณ์ดังที่ได้ทำมานี้ ข้าพเจ้าจำเป็นกล่าวถึงเรื่องบางเรื่องที่ไม่เต็มใจกล่าว เพราะอาจเป็นเครื่องกระเทือนใจกันได้ แต่ข้าพเจ้าหวังจะให้ประโยชน์แก่คนรุ่นหลังให้รู้ว่า ในการทำงานย่อมพบอุปสรรคหลายอย่างที่ไม่อาจคาดหมายได้ และอยากให้คนรุ่นหลังได้รับทราบความจริงบางอย่างที่ข้าพเจ้าหวังว่าจะบรรเทานิสัยหูเบาของคนที่ทำราชการมากได้บ้าง เมื่ออ่านเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้ ท่านน่าจะเห็นว่าที่ท่านคิดไว้ว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แท้ที่จริงหาใช่อย่างที่ท่านฟังคนที่อยู่ห่างไกล เช่นในกรณีที่มีคนเคยกล่าวร้ายอาจารย์ที่ วศ. บางแสน เป็นต้น และเรื่องที่มีคนจำนวนมาก คิดว่าศึกษานิเทศก์มีหน้าที่ไปแนะนำครูโดยไปพูดให้ฟัง ไม่มีวิธีการอย่างอื่น

ข้าพเจ้าอยากให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้ใหญ่ เช่นเป็นถึงศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ฯลฯ เลิกวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมงานก่อนที่จะสอบสวนข้อเท็จจริง บางคนเป็นผู้ใหญ่อายุครึ่งศตวรรษเข้าไปแล้ว ก็ยังมีความอิจฉาอย่างเด็ก ๆ เมื่อเพื่อนร่วมงานบางคนได้รับเกียรติยศในราชการ ข้าพเจ้าอยากให้เข้าใจกันเสียบ้างว่า ในราชการนั้น มีเรื่องบังเอิญมาก ทั้งทางดีและไม่ดี ซึ่งเราอาจว่าไม่น่าจะเป็นก็ได้ แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา ข้าพเจ้าว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้าพเจ้าใคร่จะจบการเล่าเรื่องราวที่ข้าพเจ้าได้ประสบด้วยเรื่องที่เป็นสิริมงคล และพิสูจน์ว่าบางคราวเราก็โชคดีเกินคาดหมาย ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ นี้ หม่อมเจ้าชายองค์หนึ่งได้ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นผู้ขอร้อง ติดต่อกับสมาชิกราชตระกูลทั่วไปให้สละทรัพย์ตามศรัทธา เพื่อรวบรวมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อแสดงความจงรักภักดีในฝ่าละอองธุลีพระบาทในงานรัชดาภิเษกสมโภช ข้าพเจ้ารับติดต่อกับญาติหลายคน และนัดกับท่านว่าให้ติดต่อกับข้าพเจ้าโดยผ่านทางพี่สาวข้าพเจ้าที่บ้านหม้อ วันหนึ่ง คือวันที่ ๓ พฤษภาคม เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา ข้าพเจ้าไปถึงสำนักงานของสามีที่กองควบคุมโรคติดต่อกรมอนามัย สามีบอกว่า พี่สาวโทรศัพท์มาบอกว่า ข้าพเจ้าจะต้องเข้าไปในวังเพื่อรับตราจุลจอมเกล้า ให้ข้าพเจ้ารีบไปติดต่อ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าข้าพเจ้าสมควรจะได้รับพระมหากรุณาด้วยเหตุใด คิดว่าสามีคงฟังเรื่องที่ข้าพเจ้าติดต่อเรื่องเก็บเงินจากญาติราชตระกูลที่ขัดสนบ้าง และที่เป็นเด็กรุ่นหลัง ไม่มีผู้ใหญ่รู้จักบ้าง สับสนเป็นแน่ จึงบอกว่าข้าพเจ้าได้นัดแนะกับพี่สาวและหม่อมเจ้าชายองค์นั้นเรื่องการเก็บเงินและส่งเงินเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องเข้าไปในวัง สามีก็ยืนยันว่าพี่สาวบอกว่าต้องเข้าไป ข้าพเจ้าจึงตอบว่า “เมื่อตัวอยากได้ ก็เข้าไปรับแทนซิ” แล้วก็ออกจากที่นั้นมา ข้าพเจ้าก็คิดว่าจะกลับบ้าน แต่สามีขับรถไปที่บ้านหม้อ เมื่อไปถึงพี่สาวก็บอกว่า ญาติที่รับราชการในสำนักพระราชวังโทรศัพท์มาบอกว่า ทรงพระมหากรุณาให้ข้าพเจ้าไปรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า ในวันฉัตรมงคล คืออีกสองวันต่อไปจากนั้น พี่สาวได้เตรียมผ้านุ่งและเสื้อของเธอไว้ให้ข้าพเจ้าลองสำหรับจะแก้ไขบางแห่ง จึงลองเสื้อลองผ้ากันในบัดนั้น ปรากฏว่าสวมเสื้อได้พอดี แต่ผ้านุ่งนั้น พี่สาวข้าพเจ้าผอมลงไป เพิ่งจะไปแก้ส่วนเอวให้เล็กลง จึงต้องขอร้องช่างเย็บเสื้อประจำตัวพี่สาวข้าพเจ้าให้แก้ให้ใหญ่พอสำหรับเอวข้าพเจ้า แต่มีที่น่าวิตกคือรองเท้า ข้าพเจ้าไม่มีรองเท้าที่จะสวมเข้าชุดกับเครื่องแต่งตัวได้เลย และเท้าของข้าพเจ้านั้นมีส่วนแปลก มักหารองเท้าสวมไม่ได้ นอกจากว่าจะตัดเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าหนักใจหลายข้อ รุ่งเช้าก็เอารองเท้าเก่าคู่หนึ่งไปที่ร้านของช่างตัดประจำตัว คิดว่าจะให้เขาช่วยเสริมบางส่วนพอให้เข้ากับเครื่องแต่งตัวได้ แต่เผอิญไปพบรองเท้าหนังสีทองเป็นแบบเกลี้ยงถูกใจข้าพเจ้า ได้ขอให้ผู้ขายนำมาให้ลอง ปรากฏว่าสวมไม่ได้เลยสักคู่เดียวที่เป็นเบบเช่นนั้น ครั้นแล้วคนขายบอกว่า ที่ร้านของพี่ชายของเขาใกล้ ๆ กันนั้น มีรองเท้าสีทองเกลี้ยง ๆ อยู่คู่หนึ่ง เขาโทรศัพท์ให้เด็กนำมาให้ เมื่อลองแล้วปรากฏว่าสวมได้พอดี แต่ยังมีปัญหาอีกว่า ถ้าต้องยืนนานและเดินไประยะหนึ่ง จะก่อความลำบากเหมือนรองเท้าคู่อื่นได้เคยก่อมาให้แล้วหรือไม่

นอกจากรองเท้าแล้ว ข้าพเจ้ายังมีโรคประจำตัวคือกินอาหารได้คราวละน้อย และต้องกินบ่อย ๆ และเวลาที่ต้องเข้าไปในพระราชฐาน ตามหนังสือนัดของกองประกาศิตสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเวลาที่ข้าพเจ้าต้องกินอาหาร นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังต้องเข้าห้องน้ำในระยะถี่ตามคำแนะนำของแพทย์

ครั้นถึงวันพระราชพิธี ข้าพเจ้าก็เข้าไปที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตามที่ได้รับนัดหมาย ข้าพเจ้าเอาเครื่องดื่มใส่ขวดใส่ย่ามเล็ก ๆ ไปด้วย มีญาติผู้หนึ่งเห็นเข้าเธอก็มารับไปถือให้ ทำให้ข้าพเจ้าไม่ต้องเป็นคนหอบหิ้วสัมภาระรุงรัง และด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ ก็มีแต่ปลอดโปร่งตลอดเวลาที่เข้าไปรอเวลาเสด็จพระราชดำเนิน ครั้นถึงเวลาที่ข้าพเจ้าเข้าไปรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ก็ไม่มีอุปสรรคจากส่วนใดของร่างกายที่ชำรุดทรุดโทรมอยู่ เช่น ที่หัวเข่า เป็นวันที่สะดวกกายใจที่สุดวันหนึ่งภายในระยะเวลาหลายปี

มาถึงตอนนี้ คิดอิจฉาพระธรรมกถึกที่ท่านมีแบบสำหรับพระธรรมเทศนา ข้าพเจ้าใคร่จะให้หนังสือนี้จบลง แต่ไม่รู้ว่าจะใช้กลวิธีอย่างไรดี จึงต้องบอกกล่าวกันตรง ๆ ว่าจะขอจบแล้ว ก่อนที่จะจบขอกล่าวถึงข้อสำคัญที่บางคนอาจจับได้ แต่บางคนอาจจับยังไม่ได้ว่า อันว่าความสำเร็จและความล้มเหลวของเราเอง หรือของผู้ใดก็ตาม ตัวของตัวเอง หรือคนที่ดูอยู่ภายนอก ประเมินผลไม่ได้ มีแต่บุญกรรมจะประเมินให้ในอนาคต เพราะสิ่งที่เราว่าเป็นความสำเร็จ คนอื่นเขาอาจว่าเป็นความล้มเหลว และที่เราว่าล้มเหลว อาจเป็นความสำเร็จในสายตาของคนอื่นก็ได้ จะประเมินผลงานกันจากวัตถุที่แสดงออกมา หรือจากผลงานที่วัดได้ ชั่งตวงได้ มักไม่ค่อยถูกต้องตามความเป็นจริง ต่างคนก็ต่างมีทรรศนะ นอกเสียจากสิ่งที่ทำเป็นงานชิ้นเล็ก ทำคนเดียว แม้งานเช่นนั้นก็ไม่ดีราคาตรงกันเสมอไป อาทิ นวนิยายเรื่องหนึ่งคนอ่านว่าดี เพราะบังเอิญเนื้อเรื่องเข้าจังหวะกับความสนใจ อีกเล่มหนึ่ง ศิลปะของการเขียนดีครบ แต่ไม่เข้ากับจังหวะของความสนใจ ผู้อ่านก็ตีราคาว่าไม่ดี การคิดว่างานใดได้รับความสำเร็จ งานใดล้มเหลว ควรคิดจากความพยายามของเราเอง ว่าได้ทำเต็มกำลังแล้วหรือไม่ ด้วยความสุจริตใจเต็มที่หรือไม่จะดีกว่า และที่เรากล่าวว่า เต็มกำลังก็ดี เต็มความสามารถก็ดี ข้าพเจ้าคิดว่าปุถุชนย่อมจะหย่อนไปบ้าง ที่จะให้เต็มโดยบริบูรณ์ไม่ว่ากรณีใดนั้นย่อมจะหายาก ออกจะเป็นการจบการเขียนหนังสือที่แปลกสักหน่อย คือได้เรียกชื่อหนังสือว่า ความสำเร็จและความล้มเหลว ให้คนอ่านเช่นท่านที่กรุณาอยู่นี้ อดทนบากบั่นอ่านมาเป็นเวลานาน แล้วในที่สุดในตอนจบก็สรุปว่า ที่จริงนั้นเราไม่ควรคิดถึงความสำเร็จและความล้มเหลว ให้บุญให้กรรมคิดแทน แต่ข้าพเจ้าเป็นคนพยายามเช่นนั้นจริง ๆ และที่เขียนหนังสือนี้ขึ้น ก็ดูเหมือนจะมีเจตนาชักชวนท่าน โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นศิษย์และผู้ที่คิดถึงว่าข้าพเจ้าเป็นครูอาจารย์ ให้คิดอย่างที่กล่าวมานั้น ข้าพเจ้าขอเขียนในตอนท้ายสุดว่า มีพระพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่ง ซึ่งเราควรสังวรไว้ คือ

อดีตนั้นล่วงเลยไปแล้ว อนาคตอย่าไปมัวกังวล ปัจจุบันสิเป็นเวลาสำคัญ จงทำประโยชน์ให้เกิดทุกขณะ

  1. ๑. นางมยุรี สุขวิวัฒน์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ