คำอธิบาย
นิทานเรื่องปาจิตกุมารที่นำมาจัดพิมพ์ในหนังสือวรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ นี้ เป็นวรรณกรรมที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ต้นฉบับเดิมเป็นฉบับตัวเขียนมีจำนวน ๕ เล่มสมุดไทย เก็บรักษาอยู่ที่ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ ต้นฉบับทั้ง ๕ เล่มนี้ พิจารณาว่าต่างกันเป็น ๒ สำนวน
สำนวนที่ ๑ มีฉบับอยู่ ๔ เล่ม ลักษณะเป็นสมุดไทยกระดาษขาว เขียนเส้นหมึก อักษรไทย ลายมือเป็นของบุคคลคนเดียวโดยตลอดทั้ง ๔ เล่ม อาจเป็นลายมือของผู้แต่งเอง สำนวนนี้เป็นวรรณกรรมสมัยธนบุรี มีหลักฐานชัดเจน ตอนท้ายเรื่องระบุวันเดือนปีว่า “แต่งแล้วเดือนเก้า ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาน เขียนแล้วเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีขาน ฉอศก สักกราช ๒๓๑๖ วาษา ปริยบูนน้านิถิตา” ฉบับนี้ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง
สำนวนที่ ๒ มีฉบับอยู่เฉพาะเล่มต้น ๑ เล่มสมุดไทย ลักษณะเป็นสมุดไทยกระดาษขาวเขียนเส้นหมึก อักษรไทย ปรากฏนามผู้แต่งในตอนต้นเรื่องว่า
“หลวงบำรุงสุวรรณฉันผู้แต่ง | ประจักแจ้งเรื่องนิทานไม่กังขา |
ประดับประดิษขอให้เปรื่องเรืองปัญา | บังเกิดมาในสันดานสดวกดาย” |
สำนวนนี้ในบทประณามพจน์ว่าแต่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความพรรณนาไว้ว่า
“ข้าบังคมทูลกระหม่อมพระจอมเกล้า | พระปิ่นเกล้าเจ้ากรุงยุทธโกสิน |
บันลือลั่นประเทืองกระเดืองดิน | พระภูมินขอให้มีชนมา” |
เนื่องจากต้นฉบับสำนวนที่ ๑ ฉบับขาดเบื้องต้น และฉบับสำนวนที่ ๒ ฉบับขาดเบื้องปลาย ในการปริวรรตอักษรและจัดพิมพ์พิจารณาเห็นว่าหากพิมพ์เพียงสำนวนที่ ๑ อันเป็นวรรณกรรมสมัยธนบุรีเนื้อเรื่องก็จะขาดตอนไป จึงนำฉบับทั้งสองสำนวนมาพิมพ์ไว้เรียงตามลำดับดังนี้
(๑) ปาจิตต๑กุมารกลอนอ่าน เล่ม ๑ เลขที่ ๑ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติหอซื้อ ๑๖/๕/๕๖ (ฉบับหลวงบำรุงสุวรรณแต่ง)
เนื้อความมีคำประณามพจน์ เริ่มเรื่องปาจิตกุมาร จนถึงพระปาจิตอำลานางอรพิมกลับเมืองนครทม๒ เพื่อเตรียมยกกระบวนขันหมากมาสู่ขอนาง
(๒) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๒ เลขที่ ๒ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อเรื่องตั้งแต่พระปาจิตทรงสุบินนิมิต ให้โหรทำนายแล้วส่งอำมาตย์ไปสืบข่าวยังบ้านนางอรพิม จนถึงพรานไพรยิงพระปาจิตสิ้นชีวิต แล้วพานางอรพิมไป เล่ม ๒ นื้ไม่ต่อเนื่องกับเล่ม ๑ เนื่องจากเป็นฉบับต่างสำนวนกัน ไม่อาจเปรียบเทียบเนื้อความที่หายไป
(๓) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๓ เลขที่ ๓ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อความต่อเนื่องกับเล่ม ๒ ตั้งแต่นางอรพิมถูกนายพรานพาตัวไป นางคิดอุบายฆ่านายพรานตาย แล้วรีบกลับมาที่พระศพพระปาจิต พ่นยาที่พระอินทร์บอกช่วยสามีคืนชีวิต จนถึงนางอมรให้สาวใช้นำเภสัชและสารไปถวายสมเด็จพระสังฆราช
(๔) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๔ เลขที่ ๔ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อความต่อเนื่องกับเล่ม ๓ ตั้งแต่พระสังฆราชอ่านสารแล้วจึงตอบสารนางอมรทราบ จนถึงพระปาจิตพานางอรพิมออกจากนครจัมปาก
(๕) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๕ เลขที่ ๕ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อความตั้งแต่ไพร่พลของพระปาจิตสร้างเมรุถวายพระเพลิงพระเจ้าพรหมทัต ณ เมืองพาราณสี จนถึงประชุมชาดกจบเรื่อง มีวันเดือนปีที่แต่งเสร็จและคำอธิษฐานของผู้แต่ง ในตอนท้ายมีนิทานสุภาษิตเรื่องพระโพธิสัตว์โกสามภินได้ปริวรรตอักษรและจัดพิมพ์ไว้ด้วย
ต้นฉบับเล่มที่ ๕ นี้ไม่ต่อเนื่องกับเล่ม ๔ ขาดตอนตั้งแต่พระปาจิตชมดาวระหว่างเดินทางไปเมืองพาราณสี แล้วสั่งสร้างเมรุ
อนึ่ง ในการศึกษาเชิงประวัติเรื่อง ปาจิตกุมารกลอนอ่าน ทั้ง ๒ สำนวน รองศาสตราจารย์นิยะดา เหล่าสุนทร ได้ศึกษาวิจัยไว้ควรนำมากล่าวดังนี้๓
ต้นฉบับตัวเขียนปาจิตกุมารกลอนอ่านสำนวนที่ ๑ ไม่สมบูรณ์จึงทำให้การศึกษาเชิงประวัติโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้แต่งไม่อาจจะกระทำได้ แต่ในเวลาที่แต่งปรากฏในตอนท้ายว่า แต่งแล้วเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๖ อยู่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่มาของปาจิตกุมารกลอนอ่านสำนวนนี้ ถึงแม้ว่าผู้แต่งจะอ้างถึงชาดกฉบับบาลีหลายครั้งดังเช่น
“ในบาลีว่ายังมีนายพรานไพร | จิตทะมึนใจใญเมือนยักษา |
เป็นพอมายเมียตายมอระณา | ออกยูป่าดอรดงเปนโรงเรือน”๔ |
“อันชื่อเมืองนั้นใม่มีบาลีใขย | ก็สงใสยครันจแต่งลงเถิดฤๅ |
ฉันกลัวผิดบาพจะติดไปเตมมือ | ยากรูชือคิดสงใสยยางเดียวกัน”๕ |
ส่วนต้นฉบับสำนวนที่ ๒ ซึ่งมีเนื้อความเพียงตอนต้นปรากฏในคำประณามพจน์ว่า หลวงบำรุงสุวรรณแต่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแต่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อบันทึกเรื่องราวไว้ให้ถูกต้องและเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง ดังความที่ผู้แต่งได้พรรณนาไว้ว่า
“ขอริเรื่องอรพิมพระปาจิตร | ยกอดีตะนิทานไว้สืบสาย |
ครั้นจะนิ่งยังคิดจิตรเสียดาย | ด้วยหญิงชายนั้นยังเขลาเบาปัญญา |
ไม่ได้ฟังตั้งแต่ว่าสนเท่ห์ | เที่ยงรวนเรถามกันนั้นหนักหนา |
ลางคนเล่าว่าข้าเจ้าได้ยินมา | ลางคนว่าแต่ครั้งปู่รู้นิยาย |
ลางคนบอกว่าข้าดอกจำได้เรื่อง | เล่ากันเนื่องผิดถูกไม่ขวยขาย |
ได้ยินเล่าข้าพะเจ้าให้นึกอาย | เที่ยวสืบหานิยายนิยมา |
นิทานนี้อยู่คำภีร์ปลายปัญาศ | มีชาดกยกเป็นชาติสังขยา |
เหมือนเราท่านปุถุชนคนชนา | ฟังฎีกาจึ่งจะรู้กระทูธรรม์”๖ |
ผู้แต่งรับรู้ว่าเรื่องปาจิตกุมารเป็นชาดกเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดกตามคำปรารภที่ยกมากล่าว แต่เนื้อเรื่องของกลอนอ่านดำเนินเรื่องแตกต่างจากชาดกหลายประการ๗ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทรกตำนานของหมู่บ้านจึ่งมีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง อันได้แก่ บ้านจารตำรา บ้านสำเร็จและบ้านตำแย ดังตัวอย่างเช่น
“ตำราทายของพระองค์ที่ถือมา | ครั้นภบนางสมตำรากระเษมสัน |
ครั้นนานเนิ่นอยู่จำเริญไปหลายวัน | ผู้หนึ่งนั้นมาขอยืมไปบ้านยาง |
จึงหฤาเข่าเล่ากันไปหลายบ้าน | ตำรานั้นแน่นักไม่อางขนาง |
ทีลางคนก็ยากได้ไว้เปนทาง | เที่ยวเสาะสางสืบสาวเอาตำรา |
ครั้นภบพานแล้วก็อ่านในเรื่องฝอย | ช่างแช่มช้อยทายแน่นั้นนักหนา |
หาใบลานจดจานเขียนตำรา | เป็นโกลาฤๅลั่นสนั่นไป |
ทีนามบ้านพากันเรียกว่าบ้านยาง | ก็ทิ้งคว่างเสียหาเรียกดังเก่าไม่ |
เรียกแต่บ้านจารตำราทุกคนไป | ก็เลยหายชื่อบ้านยางแต่หลังมา”๘ |
กลวิธีในการแต่งโดยเฉพาะการบันทึกที่มาชองตำนานของสถานที่ต่าง ๆ ในปาจิตตกุมารกลอนอ่านสำนวนที่ ๒ คล้ายคลึงกับในปาจิตตกุมารกลอนอ่าน สำนวนที่ ๑ มาก แต่การศึกษาและเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของกลอนอ่านทั้ง ๒ สำนวนไม่อาจกระทำได้ เพราะต้นฉบับไม่สมบูรณ์ ประกอบกับเนื้อความของแต่ละสำนวนเป็นคนละตอนกัน
อย่างไรก็ดีในการปริวรรตอักษรได้พบรายละเอียดที่น่าสนใจในฉบับสำนวนที่ ๒ ควรยกไว้พิจารณาเปรียบเทียบดังนี้
(๑) วิธีเขียนตัวสะกดการันต์ในฉบับสำนวนที่ ๒ แม้มีฉบับเพียงเล่มเดียวก็พบว่า มีคำที่สะกดผิดแผกกันอยู่ในฉบับ ลักษณะตัวสะกดผิดแผกกันเช่นนี้แทบไม่ปรากฏในฉบับสำนวนที่ ๑ ตัวอย่างเช่น
คำว่า ปาจิตร ชื่อตัวเอก ท้ายเล่ม ๑ มีแห่งหนึ่งเขียนเป็น ปาจิต สะกดเหมือนฉบับสำนวนที่ ๑
คำว่า อรพิม ชื่อนางเอก มีใช้ ทั้ง อรพิม และอรภิม สำนวนที่ ๑ ใช้ ออระภิม คำว่า มิ ในความหมายว่าไม่ ในที่ควรใช้มิหลายแห่งใช้ว่า หมี สะกดเหมือนฉบับสำนวนที่ ๑
คำว่า ทร่าง ในความหมายว่าสร้าง ในที่ควรใช้สร้าง ใช้ว่า ทร่าง และส้าง ในขณะที่สำนวนที่ ๑ ใช้ ซ่าง
(๒) ถ้อยคำที่ใช้ในฉบับสำนวนที่ ๒ มีคำเก่าที่น่าสังเกตว่ามีใช้อยู่มากในฉบับสำนวนที่ ๑ เช่นคำว่า ยิ่งยอดสยำ เรืองสยำ ประนินทิน หมีใช่ หมีได้ ต้องเยื่อง ระเสิดระสัง จรจัน ฯลฯ
(๓) เนื้อเรื่องที่กล่าวถึงการสร้างเมืองพาราณสีมีเทวดาสร้างปรางค์ เป็นแนวความคิดที่มิได้ดำเนินไปตามเรื่องชาดก แต่ก็รับกันได้อย่างเหมาะสมกับฉบับสำนวนที่ ๑ ตอนที่กล่าวถึงประวัติเมืองพิมาย หรือพี่มา
(๔) ฉบับที่ ๒ สำนวนที่ว่าหลวงบำรุงสุวรรณแต่ง มีฉบับหลงเหลือเพียงเล่ม ๑ เล่มเดียว เป็นการแต่งเพียงเริ่มเรื่อง แต่บังเอิญต่อเนื่องกับฉบับสมัยธนบุรี สำนวนที่ ๑
(๕) ฉบับสำนวนที่ ๑ สมัยธนบุรี เข้าใจว่าเคยมีฉบับเล่ม ๑ มาก่อนแต่หายไป ในขณะที่ฉบับสำนวนที่ ๒ ของหลวงบำรุงสุวรรณมีลักษณะคล้ายกับว่ามิได้แต่งมากไปกว่าเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
แม้ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปาจิตตกุมารกลอนอ่านทั้ง ๒ สำนวน การปริวรรตอักษรเป็นภาษาปัจจุบันทำให้สำนวนกลอนราบรื่นขึ้นเป็นอันมาก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่และอนุรักษ์วรรณกรรม
ด้วยเหตุที่เรื่องปาจิตตกุมารชาดก๙ เป็นนิทานที่แพร่หลายในรูปแบบของนิทานพื้นบ้านมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องปาจิตกุมารนี้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นนิทานเรื่องเก่าแก่ของเมืองพิมาย เห็นได้จากโบราณสถานหลายแห่งในบริเวณปราสาทหินพิมาย เช่น ปรางค์พรหมทัต เมรุพรหมทัต ท่านางสระผม สระแก้ว สระขวัญ ล้วนแต่มีประวัติเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเรื่องนี้ทั้งสิ้น๑๐
อิทธิพลของนิทานพื้นบ้านจึงผสมผสานกับความนิยมฟังธรรมเรื่องชาดก ทำให้เรื่องปาจิตกุมารมีคนรู้จักแพร่หลายในท้องถิ่นถึงขั้นมีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรม ดังปรากฎเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นเมืองในท้องที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่อุโบสถวัดบ้านยาง ตำบลบัวมาด อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และภาพจิตรกรรมที่บานแผละหน้าต่างอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ในส่วนที่เป็นมรดกวัฒนธรรม เรื่องปาจิตตกุมารชาดกได้ถูกนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมคำกลอนในสมัยธนบุรี สันนิษฐานว่า เรื่องนี้อาจจะมีมาถึงกรุงธนบุรี พร้อมการปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ผู้แต่งได้กล่าวพาดพิงไว้ตอนหนึ่งว่า
“มีโจทม้าวาเมืองพิมายนิ | แต่เดิมทีเหตผลเปนชะในย |
จึงเรียกรำยูเปนเรืองเมืองพิมาย | จำเลยชายรูแทแกคดี”๑๑ |
ปาจิตตกุมารกลอนอ่านสำนวนที่ ๑ สมัยธนบุรี ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง จากการศึกษาผลงานเห็นได้ว่า ผู้แต่งเรื่องนี้อาจเป็นผู้คงแก่เรียน และรู้หนังสือดีมีศิษย์มาก ในการแต่งจึงพยายามแทรกเรื่องต่าง ๆ ชี้แจงขั้นตอนชองการดำเนินเรื่องได้ถี่ถ้วน ผู้แต่งมักกล่าวเสมอว่าเพื่อมิให้ผู้อ่านสงสัยใจ กลวิธีการดำเนินเรื่องเป็นแบบฉบับอันเป็นลักษณะสากลของการเล่านิทานมุขปาฐะ คือการเล่าย้อนต้นซ้ำหลายคราว แม้เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษรยังปรากฎลักษณะดังกล่าวชัดแจ้ง การแต่งปาจิตกุมารกลอนอ่าน นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อจดบันทึกเรื่องราวเก่าๆ แล้ว ผู้แต่งยังเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา การแต่งเรื่องนี้จึงมีจุดประสงค์อีกประการหนึ่งคือหวังเนื้อนาบุญจากการรจนาคำกลอนนี้ ดังปรากฏในคำอธิษฐานของผู้แต่งว่า
“ฉันผูแตงจ่ะขอแจงคำทิถาร | พรนิภารขอยาแคล้วขอสมมาย |
ถามิเถิงยังจะเทียวขอเปนชาย | จะเกิษในขอเปนนายออกน้านำ |
ทงปัญาขอใหมายารูมดํ | ขอทรงพรดํรูปิดํกคำสะยำ |
ขอเสยิงเพราะใหสเนาะทินำคำ | ขอรูปงามทานผูใดยานายชง |
อนคํลภาลขอยาภํบใหภายแพ | ใหยพํบแตทานบันดาะกะนาถัง |
ทานปันดิดขอใหได้สมใจดัง | มารวมรังรวมรูรวมอุรา |
ขอมีทรัพถาจะนับยามํตมาก | ฝูงคํลยากจะมาสูทุกทิดษา |
ยาะตะนิขอใหมีแตสัทา | เถิงจมาเถิงจะยํกยาปํกใปย |
พรเมตไกรยพรไมตริจมาตรัษ | จะแจงอัดบรมคาถาพิศไมย |
ขอฟังเทษพระสะธรรมทิคำไทย | เมิอทานไดขอไปด้วยพรนิภาร |
ผลทานผํลสินใดรักษา | มาชวยคาขอใหสํมดังทิถาร |
ขอเกิดสํบขอให้พํบพรศรีอาน | ดังณิทานปราทนาคานิเอ้ย๑๒ |
กวีผู้แต่งวรรณกรรมฉบับนี้จะเป็นผู้ใดก็ตาม ถ้าศึกษาโดยเปรียบเทียบกับวรรณกรรมชั้นหลัง เช่นผลงานเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ จะเห็นได้ว่าลักษณะคำประพันธ์ที่เรียกว่า กลอนสุภาพได้มีอยู่แล้วแต่สมัยธนบุรี แม้ข้อความที่กล่าวพาดพิงถึงนางผีเสื้อนํ้า๑๓ และบทพรรณนาชมป่า ชมดาว๑๔ ก็มีหลายแห่งที่ไพเราะ และมีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน
-
๑. ปาจิตต ชื่อนี้สะกดตามทะเบียนหนังสือของกองหอสมุดแห่งชาติ ในฉบับตัวเขียน เขียนเป็น ปาจิตรและปาจิต ในการพิมพ์ใช้ตามตัวในต้นฉบับส่วนใหญ่ว่า “ปาจิต” ↩
-
๒. นครทม ชื่อเมืองของปาจิตกุมารในต้นฉบับ เล่ม ๑ ว่านครทม ฉบับสมัยธนบุรีว่า นครพรหม ในการพิมพ์ใช้ว่า นครพรหม ↩
-
๓. นิยะดา สาริภูติ (เหล่าสุนทร). ปัญญาสชาดก : ประวัติและความสำคัญที่มีต่อวรรณกรรมร้อยกรองของไทย : วิทยานิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พ.ศ. ๒๔๒๔ หน้า ๑๙๔-๑๙๗. ↩
-
๔. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่มที่ ๒ เลขที่ ๒ หน้า ๖๕ บรรท้ดที่ ๔-๕ บทที่ ๓ ↩
-
๕. ปาจิตตกุมารกลอนอ่านเล่มที่ ๔ เลขที่ ๔ หน้า ๑๙ บรรทัดที่ ๑ บทที่ ๑๐-๑๑ ↩
-
๖. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๑ เลขที่ ๑ หน้า ๔ บรรทัดที่ ๖ - ๘ บทที่ ๔ – ๕ และหน้า ๕ บรรทัดที่ ๑ – ๔ บทที่ ๑ - ๒ ↩
-
๗. ดูรายละเอียดที่ภาคผนวก หน้า ๒๘๓ ↩
-
๘. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๑ เลขที่ ๑ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติหอซื้อ ๑๖/๕/๕๖ หน้า ๕๓ บรรทัดที่ ๓ - ๘ บทที่ ๒ – ๔ และหน้า ๕๔ บรรทัดที่ ๑ - ๒ บทที่ ๑ ↩
-
๙. เนื้อเรื่องปาจิตตกุมารชาดก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ดูในภาคผนวก หน้า ๒๖๓-๒๗๗ ↩
-
๑๐. มานิต วัลลิโภดม. นำเที่ยวพิมายและโบราณสกานในจังหวัดนครราชสีมา. พระนคร โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๑๓, หน้า ๕๕-๘๑. (องค์การค้าของคุรุสภา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนคงฤทธิ์ศึกษากร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๓) ↩
-
๑๑. ปาจิตตกุมารคำกลอน เล่ม ๒ เลขที่ ๒ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๓๖ ↩
-
๑๒. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๕ เลรที่ ๕ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๔๒-๔๓ ↩
-
๑๓. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๒ เลขที่ ๒ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๒๗ ↩
-
๑๔. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๔ เลขที่ ๔ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๑๕๒-๑๕๓ ↩