ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๔
ตั้งแต่พระสังฆราชทราบสารแล้วจึงตอบสารให้นางอมรทราบ จนถึงพระปาจิตพานางอรพิมเดินทางออกจากนครจัมปาก พระปาจิตรำลึกถึงท้าวพรหมทัต จะกลับไปแต่งพิธีเผาศพให้
ในหนังสือว่าฉันชื่ออมรมิ่ง | จัดเอาจริงเข้ามาแจงอย่าแคลงหู |
ฉันขอโทษจะขอถามกับท่านดู | เป็นอย่างไรจะได้รู้ตั้งอารมณ์ |
เมื่อแรกเริ่มเดิมว่าคุณการุณย์รัก | เถิงสามพักตั้งแต่พูดกับเกล้าผม |
ลืมเสียแล้วกินลำโพงฤาหลงลม | ล่อให้ง่วงลวงให้งมฤๅเชื่องาม |
ฉันเสียแรงแต่งอารมณ์อารีรัก | เอาดวงเนตรแทบจะควักไม่เข็ดขาม |
ออกวรรษาว่าจะสึกคอยก็ช้ำ | พยายามหมองมัวครองตัวมา |
ยังสงสัยด้วยว่าได้สัญญาพูด | ว่าลมหลุดออกจากปากยังกังขา |
จะใจเบาคิดกลัวเขาจะนินทา | คับอุราพูดไม่ได้จนใจเอง |
สองวรรษาหมายว่าคงจะสึก | คิดไม่ลึกด้วยว่าหลงในลมเหลง |
ท่านไม่รักไปหลงรักข้างเดียวเอง | ยังคิดเกรงด้วยว่าตรง๑ประจงใจ |
ตั้งแต่ตรึก๒นึกแล้วตรอมจนบักโกรก | คับในอกห้ามใจเองหาฟังไม่ |
ล่อให้หลงลวงให้ลอยคอยอาลัย | สงสัยใจด้วยความจริงสัจจังมี |
วรรษาสามยังไม่ห้ามหัวใจได้ | หลงอาลัยว่าไม่ล่อรักดีหลี๓ |
เมื่อกินข้าว๔เคล้าน้ำตาทุกนาที | รักหลวงพี่ว่าไม่ผูกเหมือนพี่ชาย |
วรรษาสี่ยังดีแต่ใจสอง | จิตก็หมองแต่ว่ามุ่งจะสมหมาย |
บางทีลืมลางทีคิดจิตระคาย | ด้วยพูดไว้ไม่เหมือนหวังจึงคลังแคลง |
วรรษาห้าก็สัญญาในใจนึก | เถิงจะสึกจะไม่สึกก็กินแหนง |
ด้วยพูดจริงแล้วไม่จังจึงคลังแคลง | จิตระแวงด้วยที่ว่าแต่ท่าลวง |
เถิงหกปีพ้นที่จะสงสัย | ไม่หมายใดเหมือนเขาว่าคว้ายอดสรวง |
เห็นจะเปล่าพระนี้ปลิ้นแต่ลิ้นลวง | สบายใจหายเป็นห่วงแต่หึกฮือ |
หวนแล้วหุนด้วยโมโหห้ามไม่หาย | เป็นอย่างไรหลวงพี่ลืมจริงจริงหรือ |
ฤๅแกล้งลวงฤๅแกล้งล่อให้คนลือ | ฤาเช่นชั่วให้เข้าชื่อว่าชาติชาย |
เป็นสังฆราชนี้ฉลาดทั้งแปลอรรถ | ว่าพูดปดแล้วก็ปัดเสียให้หาย |
บาปไม่มีในบาลีฤๅสงฆ์นาย | จึงลืมไปฤๅว่าปดได้นิพพาน |
ฉันฟังธรรมหลวงพี่เทศน์๕พระสังฆราช | ช่างเปรื่องปราดไม่มีเปรียบช่างแตกฉาน |
บอกนิสงส์๖รักษาศีลคัมภีร์ชาญ | ชักนิทานออกมาเทศน์แต่ทางธรรม |
แต่ปาณาอทินนากาเมนั้น | ฉันจำได้ใจยังมั่นคำสยำ |
ลิ้นมุสาหลวงพี่แจงแสดงธรรม | ว่าบาปกรรมนั้นเหลือเกณฑ์แต่ไฟกูณฑ์ |
มุสาวาทาเวหลวงพี่ว่า | ใครมุสาถ้าแม้นปดให้เสียสูญ |
ล่อให้ง่วงลวงให้หลงพงศ์ประยูร | ปดเอาทองปองเอาทุนระยำมัง |
คนผู้นั้นครั้นว่าตายจากมนุษย์ | ต้องตกนรกกาฬสุตสาขะยัง |
ว่าหมื่นปีก็หลวงพี่เทศน์ให้ฟัง | นั้นไม่จริงฤๅไม่จังฤๅจำใจ |
พระเจ้าสอนไว้ทุกบอนแต่เด็ดขาด | ฤๅสังฆราชจะพูดปดหาบาปไม่ |
เทศน์วันนั้นฉันยังจำไว้ใส่ใจ | ไม่ว่าใครไม่เลือกสิ้นทั้งอินทร์พรหม |
ในกำหนดว่าแต่ปดเขาเที่ยงแท้ | ได้ตกแน่ในนรกไปทันถม |
ชื่อก็มีในบาญชีพญายม | คุณลวงลมให้ฉันหลงละลานใจ |
ไม่กลัวฤๅตกนรกพี่สังฆราช | เป็นนักปราชญ์อยากเป็นเปรตอีกฤๅไฉน |
ไม่อายบาปคุณจะแล้วก็แล้วไป | แต่เสียใจเองด้วยงงไปหลงลม |
จะโทษใครมิใช่ใครมาต้มได้ | โทษหัวใจสาแก่ใจให้สาสม |
เฝ้ารักท่านตั้งแต่ปองตรองนิยม | ด้วยโง่งมแล้วพี่หลวงลวงให้ลอย |
เท่านั้นเถิดกลัวแต่เกิดไปชาติหน้า | จะลับตาแต่เท่านั้นจะราถอย |
คราวนี้ลื่นขึ้นกระจ่างสว่างลอย | ถ้าขืนคิดคืนจะคอยก็ผิดคน |
นิจจาเอ๋ยกระไรเลยแต่หนหลัง | ได้สมสร้างไว้ไม่สัตย์เลยกุศล |
ว่าต้นรักกลับเป็นเตยอับกับตน | จะคบคนก็ไม่คิดอนิจจา |
ที่ข้อผิดฉันขอโทษจงโปรดปล่อย | จะลับลอยไปเหมือนเดือนลงลับผา |
อ่านพินิจผิดแลชอบตอบสารา | อย่าเฉยชาพระอาจารย์วันทาเอย |
๏ พระสังฆราชเมื่อได้ทัศนาสาร | ช่างอ่อนหวานคำสรรเสกวิเวกเหวย |
เสียวแสยงขนลุกซ่าหน้าไม่เงย | ระทวยอ่อนนอนมือเกยพระพักตรา |
จึงกล่าวถ้อยว่านางสร้อยสีกาหลาน | ว่านานนานจึงได้มาได้เห็นหน้า |
กินหมากพลางนั่งอยู่นี่ก่อนสีกา | อยู่ช้าช้าจะเป็นการนานเป็นคุณ |
ว่าแล้วลุกเข้ากุฎีจับกระดาน | แต่งเรื่องสารเป็นหนังสือสนองหนุน |
สนองคำตามสมควรทวีคุณ | แต่แรกเริ่มเดิมการุณย์กันวัจนัง |
มิให้เคืองเปลืองให้ชะคิดแต่ชอบ | คิดแต่งตอบแต่งแต่ตามคำทุกขัง |
ครั้นจะตามก็จะต้องเหมือนติดตัง | จิตพะวงคิดพะวังเถิงสามี |
อนึ่ง๗เล่าก็เป็นหญิงในกายตัว | จำแลงรูปมาตามผัวไม่พอที่ |
จึงแต่งหวนเอาแต่ควรประเพณี | เป็นไมตรีไว้กับนางไม่ห่างคลาย |
ครั้นไม่ตอบก็ไม่ต้องจำตอบติด | ด้วยนางคิดหวนหุนไม่เหือดหาย |
เหมือนโรคนางเกิดในร่างในรูปกาย | ไม่วางยาก็จะวายชีวีลง |
เห็นฉะนี้ดอกจึงแกล้งจึงแต่งแก้ | อย่างนี้แนท่านตั้งหลายอย่าพิศวง |
ทั้งหญิงชายฟังนิยายจิตจำนง | ปัญญาปลงลงให้ปลั่งเห็นทางความ |
กับอนึ่งยังไม่เถิงพระอรหัต | จะหลีกลัดยังไม่พ้นในภพสาม |
ด้วยไฟราคนั้นยังรัดมาตุคาม | จึงเกิดความให้กำเริบในกามคุณ |
กามทั้งห้านี้ถ้าว่ายังไม่ขาด | ต้องหวั่นหวาดพาอารมณ์นั้นหวนหุน |
คือรสกามรสกินกลิ่นจันทน์จุณ | กับรสเสียงพาให้วุ่นสัมผัส๘กาย |
พระทรงญาณโปรดประทานว่ากามห้า | ใครชะล่าแล้วก็หลงแทบฉลาย๙ |
นี่สังฆราชก็ยังหวาดกระวนกระวาย | จึงคลั่งไคล้หลงด้วยรสวาจา |
อนึ่งเล่าสังฆราชมิใช่ชาย | เป็นหญิงแกล้งแปลงเป็นชายเที่ยวตามหา |
ฝ่ายอมรไม่สนเท่ห์สนทนา | หลงด้วยรสวาจาด้วยกามกัน |
พระสังฆราชแต่งสาราแล้วแนบเนียน | จับกระดาษเข้ามาเขียนขมีขมัน |
เขียนเสร็จสรรพแล้วก็พับใส่พานพลัน | วางใส่ขันให้สาวสร้อยนั้นถือไป |
ฝ่ายสาวสร้อยแต่นิ่งคอยครั้นได้สาร | แล้วกราบกรานลงกระฎีหาช้าไม่ |
รีบเดินด่วนด้วยว่านานจึงกลับไป | จะเคืองใจกลัวจะผิดให้คิดกลัว |
มาเถิงวังเข้าบังคมแม่โฉมฉาย | ยื่นหนังสือทูลขยายแม่อยู่หัว |
ฉันอยู่ช้าพระอาญาไม่พ้นตัว | ด้วยคุณขรัวท่านห้ามไว้ไม่ให้มา |
อมรถามว่าได้ความอย่างไรบ้าง | สาวสร้อยทูลว่าท่านนั่งแล้วก้มหน้า |
เข้ากฏีให้ฉันคอยอยู่รอรา | ประมาณว่ากินหมากจืดสักสองคำ |
ปิดประตูท่านไปอยู่แต่ตัวท่าน | เสียงกระดานเขียนขีดข้อคำขำ |
ฉันนั่งคอยจนเมื่อยแข้งแต่แต่งธรรม | สักครู่หนึ่งกิเห็นกำหนังสือมา |
หนังสือสารใส่ในพานแล้วเลื่อนให้ | ไม่ว่าไรทอดใจใหญ่ทำเสียหน้า |
ฉันคอยฟังเกลือกจะสั่งเนื้อความมา | เห็นนิ่งอยู่ฉันก็ลาลงกฏี |
แม่หม่อมถามสาวสร้อยสิ้นสงสัย | แล้วลุกไปเข้าในปรางค์นางโฉมศรี |
คลี่หนังสืออ่านเรื่องสารในทันที | เป็นใจความในคดีเรื่องสารา |
หนังสือสารนั้นว่าท่านพระสังฆราช | ได้ยลสารของแม่นาฏเสน่หา |
ไม่กลั่นได้ชลนังหลั่งน้ำตา | ตันอุราแทบจะแยกออกแตกตาย |
คิดเถิงยามเมื่อแม่งามอารีรัก | แทบแขวะควักนัยนามาถวาย |
คุณของน้องเหลือขนาดแม่หม่อมนาย | เกิดแล้วตายก็ไม่ลืมพระคุณเลย |
ความเอ็นดูแทบจะชูขึ้นไว้เชิด | ปลื้มอาลัยใครจะเลิศแม่คุณเอ๋ย |
จะหาไหนได้เหมือนน้องไม่มีเลย | พี่ขอบคุณไม่ละเหยเป็นเยื่อใย |
จริงเหมือนว่าแล้วเมื่อลาน้องมาบวช | ไม่อยู่นานทรงผนวชสัญญาให้ |
วรรษาเดียวก็จะลาด้วยอาลัย | พี่พูดไว้นั้นกับน้องไม่หนีคำ |
ครั้นอยู่มาความศรัทธานั้นบังเกิด | เลยเตลิดมิได้คิดเลยงามขำ |
เรียนหนังสือลืมจะสึกด้วยเพลินธรรม | ที่ข้อขำพี่ก็ข้องกับน้องนาง |
ครั้นฟังคำพระบิดาเจ้าข้วิต | นิมนต์ให้สังฆกิจเข้าขัดขวาง |
ครั้นจะขัดกลัวจะขุ่นเคืองระคาง | อนงค์นางน้องก็แจ้งอยู่เต็มใจ |
ตัวพี่นี้ก็ยังมีศรัทธานัก | เป็นสองใจใจยังรักยังสงสัย |
ใจจะอยู่นั้นแหละหน่วงเป็นห่วงใย | ใจจะสึกนั้นมีใจเท่าเม็ดทราย |
นี้แลเจ้าพระปิ่นเกล้าท่านสอนไว้ | โดยวินัยไว้เป็นสิ้นในมุสา |
ถ้าจิตห่วงหน่วงเหนี่ยวในกามา | เป็นประสกเป็นสีกานั้นมีจริง |
ลิ้นมุสาถ้าสีกาประสกปด | พูดเลี้ยวลดล่อลวงให้ผู้หญิง |
เถิงเสียตัวเสียทรัพย์นั้นแท้จริง | ต้องทนทุกข์เข้าไปทิ้งนรกานต์ |
เถิงหมื่นปีในบาลีนั้นจริงแน่ | หน่อยหม่อมมรจะว่าแก้ปราสัยสาร |
ว่าสิบธรรมก็สมคำองค์พยาน | เป็นสงฆ์พาลปดปวงลวงสีกา |
ถ้าเป็นสงฆ์จิตจำนงไม่โป้ปด | ก็ขาดหมดหายลิ้นศีลมุสา |
ที่พี่บวชน้องก็รู้มีครูบา | อุปัชฌาย์คู่สวดไต่ถามทาน |
ว่าหนี้สินลูกเมียมีฤๅไม่ | ต้องบอกไปว่าไม่มีออกแตกฉาน |
ท่านจึงสวดบวชให้แม่นงคราญ | เมื่อต้องการเป็นไรน้องไม่ร้องเอา |
ว่าชู้ฉันท่านอาจารย์อย่าได้บวช | ฉันก็ชวดคงเป็นชู้อยู่กับเจ้า |
นี่ลาขาดอนุญาตกับนงเยาว์ | ที่ไหนเล่าลิ้นมุสาจะมามี |
จะเป็นพระไม่สละไม่เป็นได้ | พระที่ไหนนั้นมีเมียแม่โฉมศรี |
มุสาวาทพี่ไม่ขาดในวาจี | บาลีมีจริงอย่างนี้ดอกนงเยาว์ |
อนึ่งหนอน้องมีข้อปุจฉาถาม | ว่าสงฆ์พราหมณ์สังฆราชสมเด็จเจ้า |
ปดไม่บาปฤๅอย่างไรน้องถามเรา | สงสัยใจทำไมเจ้าแม่ดวงจันทร์ |
ไม่ว่าใครถ้าผู้ใดกล่าวมุสา | เทวดาสิ้นทั้งพรหมสิบหกชั้น |
สังฆราชเถรเณรในพรหมจรรย์ | นาคสุบรรณเทวบุตรทั้งครุฑา |
ถ้าได้ปดแล้วก็โทษทวีทับ | คะเนนับในนรกสังขยา |
ว่าหมื่นปีพระสังฆีมีฎีกา | ตกมหากาฬสุตนรกานต์ |
นี่ผู้ใดใครที่ไหนไปจาบจ้วง | ไปหึงหวงห้ามปรามทำหักหาญ |
แม่ดวงใจมีอาลัยกับสมภาร | สมาทานเถิดถือศิลจงยินดี |
เหมือนน้องบวชทรงผนวชดอกนิ่มนาฏ | ถ้าเด็ดขาดจากชีวิตแม่โฉมศรี |
โลกอุดรนั้นยังอ่อนบารมี | สวรรค์นี่คงได้ไปอย่าได้แคลง |
โมทนาเถิดสีกาสำรวมกิจ | รักษาจิตครองสัจจังไม่เคลือบแฝง |
ให้สมความปรารถนาอย่าระแวง | จะตามแต่งให้แม่โตมโหฬาร |
จัตตาโรธรรมาอย่าได้แคล้ว | ให้ผ่องแผ้วผิวพรรณวรรณสัณฐาน |
อันสุขขังอย่ามีทุกข์สุขสำราญ | อายุนานอันตรายอย่าได้มี |
พลังให้แม่ตั้งสติต่อ | อย่าย่อท้อสู้ข้าศึกให้ศึกหนี |
เป็นปัจจัยกันอย่าขาดทุกชาติมี | สวัสดีสถาวรอมรเอย |
๏ เยาวมาลย์ทราบสารพระสังฆราช | แม่นิ่มนาฏทอดอาลัยใจระเหย |
สิ้นสงสัยใจวะสละเลย | ไม่เพิกเฉยกับพระชีด้วยมีคุณ |
ตัวก็ตายวายชีพไปเมืองผี | ท่านแก้ไว้จึงชีวีไม่สิ้นสูญ |
เพลจังหันหมากยาเพลาปูน | อนุกูลเป็นนิรันดรไม่ห่างคลาย |
๏จะกลับกลอนย้อนไปกล่าวเถิงปาจิต | เที่ยวทุกทิศหาเมียไม่เห็นหาย |
แต่กู่ก้องร้องเรียกจนคอคาย | จึงตามไปกว่าจะพบประสบนาง |
พระข้ามดอนนอนดงพงพนัส | เห็นแต่สัตว์หมู่เนื้อแลเสือสาง |
เสียงผีผิวพำพึมกระหึมคราง | เมื่อยามย่างสุริยนสนธยา |
หนาวสยองให้ขยาดแสยงขน | ฟังพิกลเหมือนอย่างใครมากู่หา |
พระเงี่ยโสตฟังสดับให้คลับคลา | สำคัญว่าเสียงนางคะเนใจ |
ครั้นฟังไปแล้วก็คล้ายเป็นเสียงนก | เสียงวิหกผิดคนด้วยฟังหาย |
ให้ร้อนร่มกลุ้มตับคับระคาย | พระทุ่มกายโศกศัลย์รำพันความ |
โอ้อรพิมนิ่มขนิษฐ์ของพี่เอ๋ย | เจ้าหลงเลยไปข้างไหนเที่ยวบุกหนาม |
พี่เที่ยวหาเจ้าทุกทิศแต่ติดตาม | ไม่ได้ความฤๅน้องสิ้นชีวินวาย |
แล้วขุกคิดขึ้นถึงตัวให้มัวหมอง | พระชลนัยไหลนองไม่เหือดหาย |
มาบุกป่าผ่าดงผู้เดียวดาย | ระกำกายเที่ยวทุเรศสมเพชตัว |
จนภูษาผ้าจะทรงหามีไม่ | จะหุ้มกายก็ไม่ลับเกศาหัว |
พระเกศเกล้ายุ่งหยองให้หมองมัว | สรีระ๑๐ตัวรอยริ้วทั่วรูปกาย |
ยามเสวยได้เสวยแต่เฝือนฝาด | มะขวิดมะขวาดผลผลาลูกหว้าหวาย |
จนไส้พองท้องขึ้นคับระคาย | แทบปางตายสิ้นชีวงอยู่ดงดอน |
ยามบรรทมได้แต่ร่มพฤกษาชาติ | ใบไม้ลาดท่อนไม้นั้นต่างหมอน |
มาแทนต่างพระเขนยได้เกยนอน | เอาดงดอนนั้นเป็นเขตนิเวศวัง |
ได้สามปีมาปีนี่แล้วพิมเจ้า | ไม่พบเข้าเลยแม่คุณโอ้ทุกขัง |
เที่ยวทนทุกข์มาเที่ยวบุกแต่ดงรัง | จะพบนางฤๅไม่พบไม่รู้เลย |
อันความตายก็มาริมอยู่รอมร่อ | อยู่ล้อล้ออยู่กับตัวทูนหัวเอ๋ย |
แต่เสือสางข้างป่าเห็นงาเงย | ไม่รู้เลยมันจะแทงเอาวันใด |
ถ้าแทงตายที่ไหนใครจะได้พบ | ซากอาสภก็จะสูญปัดไถม |
ผู้ใดเล่าจะเอาข่าวไปทูลไท | ม้วยบรรลัยเสียเปล่าเปล่าเจียวตัวกู |
อนึ่งนางก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน | ผู้ใดใครก็ไม่พบจะได้รู้ |
ถ้าพบคนจะได้ข่าวได้ถามดู | พระโฉมตรูเดินไห้พิไรพลาง |
ออกจากดงลงทุ่งพบวิถี | เห็นรอยคนมากมีทั้งม้าช้าง |
พระมุ่งเมินเดินสวนไปตามทาง | ค่อยเสื่อมสร่างโศกเศร้าบรรเทาลง |
ไปใกล้บ้านย่านบางคนถางไร่ | เห็นตายายดายหญ้าให้พิศวง |
ไปถามยายเห็นจะได้เนื้อความตรง | ถ้าแกรู้แกก็คงบอกสำคัญ |
พระตรึกพลางเดินย่างเข้าไปหา | ยายกะตาแลเห็นพระจอมขวัญ |
หมาแกดุวิ่งกระโดดออกมาพลัน | ทะลวงไวไล่กระชั้นพระโฉมยง |
พระโฉมฉายร้องว่ายายช่วยดูหมา | ให้หลานด้วยจะมาหามีประสงค์ |
ทั้งตายายแกร้องว้ายเฉดไอ้วง | แกจับหมาพาตรงไปสู่เรือน |
แกถามว่านี่พ่อมาแต่บ้านไหน | ทุรังร้ายน่าสมเพชไม่มีเพื่อน |
ธุระไรมาหายายฤๅแกล้งเชือน | ดูผิวพรรณพ่อก็เหมือนพงศ์ผู้ดี |
ปางพระหน่อสุริยวงศ์พงศ์กษัตริย์ | จึงเอื้อนอรรถมิได้อำเท่าเกศี |
เล่าแต่ความตามจริงทุกสิ่งมี | ว่าหลานนี้อยู่ในเมืองพระพารา |
พระบิดาชื่อพญาธรรมราช | ครองสมบัติสุริยวงศ์พงศ์มหา |
พระบิตุรงค์จะให้ทรงสวรรยา | ไม่มีคู่นิวาสาจะครองเมือง |
ฉันกราบลาพระบิดาเที่ยวหานาง | ก็สมหวังได้แล้วนางเนื้อเหลือง |
จึงพาน้องจะไปครองบูรีเรือง | มาคับเคืองด้วยว่ากรรมมาตามทัน |
มีแม่น้ำใหญ่กว้างหนึ่งขวางหน้า | สุดลูกตาพ้นที่จะผ่อนผัน |
เห็นเรือเณรพายมาไม่ช้าพลัน | ห้ามเอาฉันไปไว้ฝั่งให้นั่งคอย |
แล้วเณรกลับคืนไปรับนางโฉมฉาย | ฉันคอยคอยดูก็หายเจียนสวอย |
จนมืดค่ำคอยคอยเหลือจะคอย | นางยอดสร้อยหายไปเจียวยายตา |
พระเล่าพลางหลั่งน้ำพระนัยเนตร | ไหลเป็นเล็ด๑๑ออกมาเปียกพระภูษา |
สะอื้นอกอัดอั้นตันอุรา | ทั้งยายตาก็พลอยไห้พิไรครวญ |
ว่าอนิจจาหลานยาของตาเอ๋ย | เป็นกรรมสิ่งไรเลยมาผันผวน |
ไม่พอที่จะมาพลัดกำจัดนวล | งามสงวนเจ้าจะหลงไปดงใด |
ฝ่ายข้างยายแกพิไรว่าร้อยชั่ง | แกฟังพลางว่าพลางแกร้องไห้ |
โอ้หลานเอ๋ยไม่เคยยากลำบากใจ | มาฟูมฟายบุกระหนามเที่ยวตามนาง |
ฝ่ายข้างตาแกจึงว่าพระหลานแก้ว | เป็นกรรมแล้ววิปริตเห็นผิดอย่าง |
เออก็เณรเป็นผู้รู้อยู่ในทาง | จะนำนางพาเอานี้ผิดทีไป |
ฝ่ายห้างยายแกจึงว่าเจ้าหลานขวัญ | เออเณรนั้นเจ้ากูอยู่ในเมืองไหน |
วัดอารามนามตำแหน่งอยู่แห่งใด | ได้ถามดูรู้ฤๅไม่เจ้าหลานอา |
พระปาจิตสุริยวงศ์องค์โอรส | พลางกำสรดเล่าเรื่องที่กังขา |
วัดอารามไม่ได้ถามเณรเลยตา | เข้าใจว่าครองศิลาก็เบาความ |
ถิ่นสถานบ้านช่องแลนามชื่อ | จะถามฤๅด้วยว่าหลานมาติดน้ำ |
เป็นดีใจมิได้คิดไปลามปาม | ด้วยอยากข้ามมิได้คิดจะเกิดภัย |
เห็นเป็นเณรรู้ทำนองครองสิกขา | จะลักพานั้นไม่คิดจะสงสัย |
โอ้กรรมหลานแล้วท่านตาพาให้ใจ | ให้เคลิ้มไปพาให้จิตไม่คิดเลย |
พระเล่าพลางร้องไห้พิไรร่ำ | โอ้กรรมกรรมกรรมอะไรท่านยายเอ๋ย |
น่าเชือดคอเสียให้ตายกระไรเลย | ใครเขาเคยจะได้เป็นเหมือนหลานอา |
ทั้งยายตาแกจึงว่าเจ้าหลานรัก | อย่าโศกนักนั่งเถิดฟังตาว่า |
จะฆ่าตัวเองทำไมได้เวรา | จะเกิดใหม่ภายหน้าต้องฆ่าตัว |
เป็นวาสนาก็ไม่ช้าคงพานพบ | นางเลิศลบจะได้คืนดอกทูนหัว |
โอ้สงสารหลานสะใภ้หัวใจมัว | จะคิดผัวคอยหาไม่ราวัน |
พ่อทูลลาพระบิดามาปีไหน | ช้าฤๅไวแต่เจ้ามาพระหลานขวัญ |
พระปาจิตบอกว่ากับตาพลัน | แต่ลาท่านมาก็ข้ามเถิงสามปี |
ทั้งตายายแกพิไรพิรี้ว่า | พระบิดาท่านจะคอยแล้วป่านนี่ |
พระมารดาก็จะว่าไปหลายปี | จะคอยทางตั้งพิธีอยู่เมามัว |
ตั้งอารมณ์ข่มโศกหนาพ่อหนา | ฟังยายว่านิ่งเถิดพ่อทูนหัว |
แกหาไนจับด้ายอยู่พันพัว | ทั้งตายายใจยั่วว่าหลานยาย |
แกลูบโลมโจมจับข้อมือมั่น | แกรำพันว่าพระเคราะห์ให้สูญหาย |
ทั้งเคราะห์ปีเคราะห์เดือนให้เคลื่อนคลาย | อันตรายโรคาอย่ายายี |
แล้วเด็ดด้ายทิ้งไปว่าเสียเคราะห์ | คราวนี้เหมาะแล้วพระหลานมีราศี |
ขวัญเจ้าหลานที่ไปหลงอยู่พงพี | มาสู่กายคืนที่มาพ่อมา |
ขวัญเจ้าเอยที่ไปนั่งโทมนัส | เมื่อพรากพลัดกันกับน้องกันแสงหา |
หลงไปอื่นหมื่นปีให้กลับมา | พระขวัญเอ๋ยมาพ่อมามาคืนกาย |
แกลูบคลำจึงเอาน้ำมาพรมประ | จงสุขะมีพลังให้เหลือหลาย |
แกผูกมือเรียกขวัญว่าหลานยาย | มาหาตาอยู่กับยายอย่าอาวรณ์ |
ขวัญเจ้าหลานมาแล้วมาพ่อมา | อยู่กับยายอยู่กับตาสโมสร |
อายุยืนวัฒนาสถาวร | มาร่วมฟูกร่วมหมอนกับตายาย |
แกคดข้าวเผาปลากินเถิดหลาน | จงสำราญหยุดเอาแรงไว้สืบสาย |
ให้พ่วงพีมีกำลังขึ้นมากมาย | ต่อปีหน้าฟ้าใหม่จึงติดตาม |
ครั้นกินข้าวอิ่มหนำสำราญแล้ว | ค่อยผ่องแผ่วโสมนัสจึงตรัสถาม |
ว่ายายตาได้ยินว่าเขาเล่าความ | ได้หญิงงามมาบ้างไหมในบูรี |
ทั้งยายตาแกจึงว่าพ่อพักตร์ผัด | เงียบสงัดไม่ได้ยินเลยโฉมศรี |
แต่ลูกหลานมันก็อยู่ในบูรี | เขาได้มาก็คงมีคนพูดอึง |
อันลูกหลานมันก็มาหาไม่ขาด | เถิงตรุษสารท๑๒ตายายไม่ทำขึ้ง |
ไปรับศีลฟังธรรมอารามบึง | มาทำไร่นี้ก็พึ่งย้ายออกมา |
เดิมตายายก็อยู่ในพระนิเวศ | ครั้นแก่เฒ่าคิดสมเพชด้วยสังขาร |
อนิจจังไม่จีรังสังขารา | จะมรณามาวันใดไม่รู้เลย |
ไม่เชื่อยายก็เจ้าไปเที่ยวถามไถ่ | แต่อย่าไปเสียให้ยากเลยหลานเอ๋ย |
ค่อยหยุดยั้งฟังข่าวให้คุ้นเคย | ถ้าเขารู้เขาคงเผยดอกหลานอา |
แล้วตายายลุกเข้าไปในเคหัง | ไม่พูดดังซุบซิบกันปรึกษา |
ยายจึงว่าอย่าอย่างนั้นเลยท่านตา | ให้ผลัดผ้านุ่งเสียใหม่เป็นไรเรา |
เจ้านุ่งห่มก็ไม่สมน่าบัดสี | ตาจึงว่าข้าเห็นดีแล้วยายเฒ่า |
เอาพื้นม่วงสีสมอทอให้เรา | กับแพรขาวให้เจ้าห่มจึงสมควร |
ยายกะตาแกเอาผ้ามาให้นุ่ง | รักบำรุงความอารีพระทรามสงวน |
ผลัดผ้าใหม่ผ่องใสเป็นน้ำนวล | ทั้งสองเฒ่ารื่นสำรวลชมหลายชาย |
พระหน่อไทอยู่อาศัยกับสองเฒ่า | ที่โศกเศร้าก็ค่อยเสื่อมบรรเทาหาย |
เที่ยวเก็บผักหักฟืนมาเลี้ยงยาย | ทั่งสองเฒ่ารักใคร่ปานลูกตน |
ครั้นรุ่นฝ้ายรายรกเจ้าชำระ | ไม่เลยละหว่านพืชจะเอาผล |
ครั้นพริกสุกเจ้าอตส่าห์ไปซวนซน | เที่ยวผ่อนปรนเก็บมาย่างไม่ยากยาย |
ที่ย่างก่อนผ่อนออกใส่โอ่งอับ | ที่ย่างใหม่พลิกกลับกำหนดหมาย |
เห็นฝ้ายแตกเจ้าช่างพอเพทุบาย | เที่ยวเก็บฝ้ายมิให้ยากลำบากตา |
ครั้นได้หลายแล้วก็ใส่ในแกระกรุ | ที่แตกฟุก็ไปเก็บใส่ตะกร้า |
ถ้าคนแขกเขามาแลกเคยไปมา | เจ้าอตส่าห์มิให้ยากลำบากยาย |
ทั้งหมากพลูเจ้าก็รู้ว่าน้อยมาก | ที่หัวฝ้ายใส่ต่างหากไว้ซื้อขาย |
ที่หางฝ้ายแลกเป็นหมากไว้มากมาย | ทั้งหมากฝ้ายขายเอาเงินให้ยายตา |
ถ้าแฟงฟักเล็ดแมงลักเขามาแลก | ถ้าคนแขกญาติวงศ์เป็นพงศา |
จะน้อยมากกลัวจะหยามไปถามตา | ถ้ารู้แล้วก็อัฌชาให้ชมเชย |
ถ้าลูกหลานเขามายามยายไม่อยู่ | เจ้าช่างรู้ต้อนรับไม่ทำเฉย |
มีหาไม่หาให้ไม่เพิกเลย | ทั้งสองเฒ่าได้เสบยสำราญบาน |
ค่อยผ่องใสแต่พระไพรมาหยุดอยู่ | ทั้งคนผู้ก็นับถือเป็นภูมิฐาน |
มีเงินชั่งช่วยคนไว้ใช้ทาน | แกเบิกบานเบาใจทั้งยายตา |
พระทรงศักดิ์หยุดสำนักกับยายนั้น | จะนับเลื่อนเดือนวันสังขยา |
นับไม่ได้ด้วยไม่มีพระดิกา๑๓ | ประมาณว่าเอาแต่การวิถาน๑๔ความ |
อยู่กับตาถ้าว่าช้าสักปีเศษ | คอยฟังเหตุนั้นก็หายแต่ไถ่ถาม |
ทั้งข่าวคราวก็ไม่เฉาให้รู้นาม | พระตรึกความเห็นจะช้าต้องลายาย |
ครั้นยามค่ำสนธยาเพลาดึก | ยังตรองตรึกหันหวนไม่เหือดหาย |
ตรงเข้ากราบบาทาว่าอุบาย | แล้วปราสัยแจ้งจริงทุกสิ่งมี |
ข้าผู้หลานจะขอลายายตาก่อน | ด้วยอาวรณ์คิดเถิงนางโฉมศรี |
แต่พลัดกันมาก็นานได้หลายปี | มาสุขีอยู่กับยายก็หลายเดือน |
ที่ข่าวคราวนั้นอย่างไรก็ไม่รู้ | คอยฟังดูนั้นก็เงียบไม่รู้เงื่อน |
จะนิ่งช้าอยู่กับตาในรูเรือน | ก็เหมือนหนึ่งว่าไม่คิดจะติดตาม |
ยายกับตาฟังพระปาจะลาจาก | แกอ้าปากว่าจะพูดปราสัยถาม |
เหมือนผีอำพูดไม่ออกทั้งไอจาม | แกพลุ่มพล่ามวิ่งเข้ากอดด้วยเยื่อใย |
แล้วร้องไห้ว่าเสียดายพระหลานนัก | ยายนี้รักเหมือนดวงเนตรจะหาไหน |
ตาจึงว่าอนิจจาพ่อดวงใจ | ไม่คิดยายก็สังเวชสมเพชตา |
ทั้งสองเฒ่าเฝ้ากอดพระปาจิต | ครั้นขุกคิดน่าหัวร่อเจียวท่านขา |
จูบข้างซ้ายแล้วยังย้ายจมูก๑๕มา | จูบข้างขวาผลัดกันทั้งตายาย |
แกโลมลูบจูบกอดอยู่ยังรุ่ง | จนพวยพุ่งสุริยะขึ้นเที่ยงสาย |
ค่อยโศกสร่างบางเบาบรรเทาคลาย | ทั้งตายายแกจึงว่าพ่อหน้านวล |
อยู่กับตาตาจะหาซึ่งเมียให้ | เจ้าชอบใจใครที่ไหนทรามสงวน |
เจ้าชอบพอยายจะขอถ้าสมควร | มาดเอาเรือนก็ไม่รวนคงรับเอา |
ขันหมากมาดถ้าจะขาดก็ห้าสิบ | ยายไม่ยอมคงจะหยิบทำให้เขา |
ห้าตำลึงเถิงจะมาดก็คงเอา | ไม่หนีเจ้าจะแต่งงานให้หลานชาย |
พระหลานชายตาอยากได้ไว้อยู่นี่ | เจ้าคนดีตาอยากได้ไว้สืบสาย |
ถ้าเจ็บไข้พ่อจะได้รักษายาย | อยู่กับยายเจ้าอย่าไปเลยใจดี |
สังขาราตาจะอยู่ไปเถิงไหน | ทั้งตายายหมายจะฝากซึ่งซากผี |
อย่าเพ่อไปอยู่กับยายอีกสักปี | ถ้าข่าวมีเข้ามาให้จึงไปตาม |
พระปาจิตอิศรินทร์ปิ่นมไห | ได้ฟังว่าตายายปราสัยห้าม |
จึงว่ายายกับตาว่าก็ท่างาม | ด้วยว่าความรักหลานกระสันใจ |
จะขอเมียสู้เสียสินสอดเขา | ทั้งเรือนเหย้ายายไม่ยอมจะยกให้ |
พระคุณตามากกว่าพระเมรุไกร | หาที่ไหนจะมาเปรียบไม่เทียบเทียม |
ทั้งยายตาฉันจะว่าจงฟังหลาน | ฉันจากบ้านด้วยเที่ยวหาคู่เสงี่ยม |
จนตกยากอกกรมอารมณ์เกรียม | มาสู้ยากจนจะเยี่ยมเข้าสี่ปี |
ก็พลัดกันมิใช่ฉันได้หย่าร้าง | นางนิ่มนางน้องมิได้เอาใจหนี |
จะทิ้งขว้างก็เห็นทางจะไม่ดี | ดูอัปรีย์อยู่ในใจท่านยายตา |
ถ้าทิ้งขว้างร้างกันถ้าตายเสีย | จะหาเมียให้ดีฉันนั้นไม่ว่า |
นี่มิได้ร้างจางกันเลยท่านตา | ชาวพาราฉันไม่รักผู้ใดใคร |
ชาวเมืองนี้เขาก็ดีมิใช่ชั่ว | ทั้งเนื้อตัวหน้าตาก็ผ่องใส |
ดูแช่มช้อยโฉมเฉิดเลิศวิไล | ไม่ติเตียนท่านผู้ใดไม่ว่าเลย |
นางเพื่อนยากจากกันในกลางป่า | น่าสมเพชเวทนาท่านตาเอ๋ย |
จะทอดทิ้งมิ่งนางไปกลางเตย | เทพเจ้าก็จะเย้ยระยำเยิน |
ว่าชายชั่วมัวเมามีเมียมาก | กำเริบราคใจเสียไม่สังระเสิน๑๖ |
เห็นใหม่ปลื้มลืมเก่าทำเกนเกิน | ไม่จำเริญที่ในกายดอกยายตา |
ค่อยอยู่เถิดตาบังเกิดของหลานแก้ว | นับวันแล้วจะกำสรดกันแสงหา |
เสียดายยายโอ้เมื่อไรจะได้มา | เสียดายตาโอ้จะลับจะนับเดือน |
หลานยังอยู่เบาใจมิได้ยาก | เถิงหญ้ารกดายถากก็ได้เหมือน |
โอ้แต่นี้แล้วไม่เห็นจะเย็นเรือน | ชีวิตยังคงมาเยือนดอกตายาย |
คิดถึงยามเดือนอ้ายฝ้ายจะแตก | เขามาแลกพลูหมากนั้นหลากหลาย |
ยายไม่อยู่หลานก็แลกไปแทนยาย | จะซื้อขายมิให้ยากลำบากเลย |
สงสารยายจะได้ใครมาแทนหลาน | โอ้สงสารนี่กะไรท่านยายเอ๋ย |
รุ่นจะรกท่วมฝ้ายขึ้นก่ายเกย | ผู้ใดเลยเขาจะช่วยให้เบาแรง |
โอ้พ่อตาอนิจจาแม่ยายหลาน | ช่างรักปานราวกะลูกไม่เคลือบแฝง |
ผ้านุ่งห่มผูกคาดก็จัดแจง | บำรุงแต่งรักเหมือนลูกเหมือนหลานตัว |
จะหาไหนได้เหมือนยายนี่ยอดยาก | หลานมิจากก็จำจากแล้วทูนหัว |
เมื่อกินข้าวคดแล้วค่อยตามตัว | ทั้งเมียผัวหลานไม่มาไม่กินเลย |
แต่นี้ไปยายจะคอยผู้ใดเล่า | ทั้งสองเฒ่าน้ำตาไม่ละเหย |
จะได้ใครมาแทนหลานไว้ชมเชย | หลานไม่ลืมพระคุณเลยสักเวลา |
พระว่าพลางทางทรงกันแสงสะอื้น | ให้ตันตื้นยกสองพระพาหา |
ข้อนพระทรวงทรงกันแสงซ้ำโศกา | พิไรว่าครวญคร่ำแล้วรำพัน |
โอ้อนิจจายายตาของหลานรัก | จะนานนักมิได้เห็นพระหลานขวัญ |
จะเห็นหลานแต่เห็นแล้วได้เห็นกัน | หลานจะเห็นก็แต่วันได้เห็นยาย |
หลานจะไปนี้อย่างไรไม่เล็งเห็น | จะตายฤๅฤๅจะเป็นไม่กฎหมาย |
จงชมหลานเสียให้อิ่มให้เบื่อคลาย | วันพรุกนี้ก็จะไปจะเย็นเรือน |
ยายกะตาฟังพระปาพิไลสั่ง | แกเคลิ้มคลั่งกลุ้มใจใครจะเหมือน |
ยายนี้คิดพระปาจิตพ่ออุ่นเรือน | จะนับเดือนแลยิ่งลับจะนับปี |
โอ้อนิจจาหลานตาของยายเฒ่า | จะหาเมียให้ก็ไม่เอาเลยโฉมศรี |
ร่ำพิไรว่าอาลัยนางเทวี | ด้วยห่วงมีกรรมวิบัติมาพลัดกัน |
จะหาใจใครจะได้เหมือนหลานแก้ว | ไม่ลืมเลยคิดไม่แล้วพระหลานขวัญ |
อันเมียผัวเขาผู้อื่นนับหมื่นพัน | ครั้นจากกันไปเสียแล้วก็แล้วไป |
นี่แรมร้างจากนางมานานนัก | ไม่ลืมรักคิดเถิงนางไม่ห่างหาย |
ใจอย่างนี้จึงว่าดียายเอ๋ยยาย | หาจนตายตายแล้วเกิดไม่พบเลย |
โอ้หลานเอยเจ้ายังอยู่ตาไม่ยาก | สิ่งลำบากไม่ลำบากเลยหลานเอ๋ย |
สะรั้วรายตาไม่ยากลำบากเลย | ตาไปช่วยหลานไม่เฉยเข้าชิงทำ |
ผ้ายข้างยายแกพิไรว่าทูนหัว | ไว้แทนกายได้แทนตัวถนัดหนำ |
แลกแลขายจ่ายสิ่งของพ่อทองคำ | เงินแดงดำพ่อก็รู้ชำนาญใจ |
แต่นี้ไปใครจะขายให้ยายเล่า | ทั้งสองเฒ่าตาก็มืดพ่อฤๅสาย |
ได้แทนตัวแทนตาทั้งตายาย | พ่อจากไปใครจะดูให้ยายตา |
เมื่อขายของก็จะต้องไปหาเขา | ทั้งเงินเล่าก็ไม่เห็นจะต้องหา |
ให้เขาดูถ้าแม้นดีก็บุญตา | ถ้าได้แดงแล้วก็ตาอกแตกตาย |
แกครวญคร่ำร่ำพิไรไม่หายห่วง | เอาสองกรข้อนทรวงแทบฉลาย |
เข้าลูบหลังลูบหน้าว่าหลานยาย | เป็นเจ้านายไม่เคยยากเคยยวนยี |
เมื่อยามอยู่ในปราสาทราชฐาน | แสนสำราญสุขเกษมด้วยสาวศรี |
สนมนางเป็นขนัดคอยพัดวี | พระแท่นที่จะประทมก็ปิดทอง |
วิสูตร๑๗ม่านกั้นกางสำอางเอี่ยม | แต่พรมเจียมปูลาดไม่หม่นหมอง |
เขนยหนุนเคยสำนักแต่ปักทอง | ดูเรืองรองรุ่งโรจน์อร่ามตา |
ยามเสด็จเสร็จขึ้นพระเสลี่ยง | พระกลดคันกั้นเรียงทั้งซ้ายขวา |
มหาดเล็กตามกลาดดาษดา | ขึ้นชื่อว่าจะได้ยากไม่มีเลย |
โอ้แต่นี้พ่อจะเดินไปกลางแดด | จะผาดแผด๑๘ร้อนหลังแล้วหลานเอ๋ย |
แต่ดงป่าอนิจจาพ่อไม่เคย | ไม่มีความยามเสบยแต่นี้ไป |
เมื่อยามนอนก็จะได้ใบไม้ลาด | มาต่างอาสน์ฟูกทองอันผ่องใส |
เขนยหนุนก็จะยากลำบากใจ | เอารากไม้ต่างเขนยได้เกยนอน |
จะเดินป่าฝ่าพระบาทจะฟกช้ำ | หนามจะตำเล็บจะหลุดสะดุดขอน |
จะซุกซนด้นเดินในดงดอน | ยายอาวรณ์คิดเอ็นดูพระหลานชาย |
แกครวญคร่ำร่ำรักพระปาจิต | จนพระอาทิตย์โด่งแดงขึ้นแสงสาย |
ยายกะตาอดข้าวทั้งเพรางาย | ความเสียดายพระปาจิตคิดคะนึง |
ครั้นระงับดับโศกในอกบ้าง | สติตั้งขุกคิดรำพึงถึง |
อนิจจังสังขารามารุมรึง | มาร่ำรักไม่คิดถึงเลยความตาย |
เกิดเป็นรูปทั้งบุรุษชายแลหญิง | ไม่เที่ยงแท้แน่จริงดังใจหมาย |
ตายแล้วเกิดเกิดมาชราตาย | จะรักร่างหลงกายไม่เข้าการ |
เป็นธรรมดาเกิดมาในภพสาม | อันบ่วงกามนั้นยังเกี่ยวในสงสาร |
ชังกันแล้วกลับเป็นชื่นไม่ยืนนาน | ชื่นสำราญกลับมาชังไม่จังจริง |
แกเปล่งปลั่งปลงสังขารนั้นลงได้ | ค่อยคลายใจดับโศกท่านยายหญิง |
จึงจัดแจงแต่งถุงย่ามความประวิง | ครบทุกสิ่งหมากพลูทั้งปูนยา |
แกจัดแจงแต่งให้ไถ้ข้าวตาก | เมื่อยามยากจะได้กินหนาพ่อหนา |
ผ้าพื้นม่วงห่มคำดำลกา | จะแต่งมากก็จะช้าเนื้อความไป |
ด้วยเรื่องราวนั้นยังยาวยากจะสุด | หมดสมุดหาจะเขียนหามีไม่ |
กับผู้อ่านว่าขี้คร้านรำคาญใจ | มักเปิดไปเบื่อทั้งหูผู้จะฟัง |
ความอาลัยแต่งให้กันอย่างนี้ | ได้ฟังมามากมีสาขะยัง |
นิทานนี้เป็นคัมภีร์อนันตัง | วิตถารกว้างจะให้กองนั้นมากมาย |
ปางพระองค์ทรงฤทธิ์ปาจิตเจ้า | ครั้นสองเฒ่าเบาทุกข์บรรเทาหาย |
เก็บดอกไม้เข้าไปลาษมายาย | ทั้งท่านตาโทษที่ได้ไว้ก้ำเกิน |
อย่าผูกกรรมยายตาพยาบาท | อนุญาตอย่าให้หลานได้ฉุกเฉิน |
ไปภายหน้าจะเป็นกรรมระยำเยิน | อย่าให้กรรมนั้นมาเกินติดหลานไป |
ทั้งยายตารับษมาว่าผ่องแผ้ว | ให้หลานแก้วบริสุทธิ์จงผ่องใส |
ที่หนักเบาพ่อได้ว่าด้วยวาไจ | ที่โทษภัยอย่าให้พานกับหลานตา |
ครั้นษมาลาโทษตายายแล้ว | พระกิ่งแก้วยกพระกรทูนเกศา |
ศิโรราบกราบตีนยายกะตา | เอาย่ามใหญ่ใส่บ่าแล้วคลากาย |
ทั้งยายตาพากันกระสันโศก | ตีหัวอกแทบจะแยกแตกฉลาย๑๙ |
พระเหลียวหลังกลับมาแลดูตายาย | สงสารยายเดินพลางหลั่งน้ำตา |
จะร่ำเรื่องเมืองบ้านจะนานนัก | แต่พระองค์ทรงศักดิ์เที่ยวตามหา |
ทุกเมืองบ้านมากมายหลายพารา | ไม่พบพาคำกล่าวใครเล่าลือ |
อันชื่อเมืองนั้นไม่มีบาลีไข | ก็สงสัยครั้นจะแต่งลงเถิดหรือ |
ฉันกลัวผิดบาปจะติดไปเต็มมือ | อยากรู้ชื่อคิดสงสัยอย่างเดียวกัน |
พระดั้นดงพงดอนเที่ยวนอนป่า | จะคณนานับกำหนดในวสันต์ |
ได้เจ็ดฝนนับด้วยปีมีสำคัญ | แทบอาสัญด้วยกำหนัดมาตุคาม |
เมื่อจะพบนพเก้าเยาวเรศ | ให้อาเพทหวาดหวั่นในจิตหวาม |
บังเกิดกรึกนึกคะนึงรำพึงความ | แต่เที่ยวตามนางก็นานมาหลายปี |
แม่อุ่นอกเจ้าจะตกไปเมืองไหน | จะเป็นตายฤๅอย่างไรนางโฉมศรี |
เที่ยวค้นหามาก็มากหลายบูรี | ไม่เห็นมีใครผู้ใดจะพบพาน |
เทวดาที่รักษากำพูฉัตร | เห็นพ่อหน่อโพธิสัตว์คิดสงสาร |
เข้าดลใจของพระปาให้บันดาล | พาเอาไปให้ได้พานได้พบนาง |
พระทรงพลดั้นด้นพนาเวส | ตามนิเทศป่าระหงเข้าดงขวาง |
สำราญใจเห็นไม้พระชมพลาง | ในดงยางร่มระรื่นชื่นอุรา |
ต้นเสลาเถาสลันพันสล้าง | แคขานางขึ้นเคียงเป็นสองขา |
คิดเถิงนวลหวนเถิงน้องหมองอุรา | ถ้านางมาพี่จะชี้ให้เชยชม |
หมู่เถามวกปนป่ายไม้ยายม่อม | ต้นพะยิงพิงพะยอมดูโสงสม |
ครั้นพายุพัดโยกกระโชกลม | หักระเนนเอนล้มลงทับกัน |
ไม้เสนียดเป็นขนัดงามขนาด | มหาหงส์แกมมหาดกะทังหัน |
หมู่หามจาวเหล่าหามกรายเถาวัลย์พัน | เหล่าต้นเกดขึ้นแกมกันโยทะกา |
หมู่มะกอกงอกขึ้นแกมกับต้นกุ่ม | ต้นเต่าร้างริมมะรุมโตสาขา |
เถาอัญชันพันอบเชยทับกัญชา | ต้นน้อยโหน่งปนน้อยหน่าอินทนิล |
นางกระเบาเหล่ากระบากปนกระแบก | ต้นตาตุ่มปนตองแตกพยุงหิน |
เถาสะอมทับสะเอมฉัตรพระอินทร์ | หมู่ต้นฝางปนต้นฝิ่นมะฝ่อไฟ |
ต้นมักขวิดติดมะขวาดหมู่หัวขวาน | ต้นสะคร้องามสคราญดูไสว |
ขึ้นปนปะไม้ชนะจะรำไร | สกุณัยจับขนานขนัดเรียง |
นกแต่งโคลงโคลงเคล้ากับคู่พลอด | ตัวเมียแอบอิดออดสะโอกเสียง |
นกเขาคูเรียกคู่ให้มาเคียง | ชม้ายเมียงมุ่งหมายให้เมียมา |
นกกระเต็นไต่เต้นบนต้นแต้ว | หมู่แซงแซวแซ่แซ่วตามภาษา |
ฝูงตะกรุมเกร็ดเกร่แล้วเร่มา | คาบได้ปลาพาคู่มาสู่รัง |
ลมพระพายชายพัดมาฉิวฉ่า | กระพือพาพัดเกสรมาวั่งวั่ง |
หอมระรื่นชื่นอารมณ์ด้วยดอกรัง | ฟุ้งกระหลบอบไปทั้งพนัสไพร |
เป็นป่าโสงดงครุ่มชอุ่มสะอื้น | ร่มระรื่นน่านอนนั่งอาศัย |
เงียบสงัดโหรงเหรงวังเวงใจ | กลิ่นดอกไม้หอมคลุ้มกลุ้มทั้งดง |
หอมกระถินกลิ่นมะลิฟุ้งกระหลบ | เหมือนเขาอบน้ำกุหลาบที่อาบสรง |
คิดเถิงวังนั่งฉงนให้งวยงง | แทบล้มลงแล้วระลึกกลับหักใจ |
ว่าอนิจจาอตส่าห์มาจนป่านนี้ | ได้เจ็ดปีเข้าปีนี้เหตุไฉน |
ยังกลับหวนยวนเถิงวังจะกลับไป | ใจเอ๋ยใจไปจนได้อย่ากลับคืน |
พระขืนข่มหักอารมณ์ลงได้แล้ว | ไม่มัวหมองผ่องแผ้วหัวใจชื่น |
ออกจากดงลงเหวพระหยุดยืน | สำราญรื่นชมปลาบรรดามี |
สายกระแสแลเถิงดินดูกระทั่ง | ช่างใสกวั่งราวกะแก้วมณีศรี |
สนพัดเภทเต่าปลาบรรดามี | ชะโดโดดไล่กระดี่กระเดือกดำ |
ฝูงเทพาปลาเทโพพวกแมงภู่ | พระแลดูลอยล่องเป็นหมู่หลาม |
ตะเพียนทองดูเหมือนทองอร่ามงาม | ช่างลอยตามกันเป็นแถวท่องนที |
เป็นหินลาดดาดดีเหมือนประดับ | บ้างซอนแทรกขึ้นมาซับสลับสี |
บ้างโรงรู๒๐ตัวรองห้องวารี | ที่ดีดีอยู่ก็กลาดดาษดา |
พระพินิจพิศดูในเหวห้อง | ละลานใจใสผ่องมนัสสา |
เถิงคนทำก็ไม่ดีเถิงนี่นา | ช่างมีมาเกิดประกับสำหรับกัน |
พระงามชื่นขึ้นจากเหวไปชมเขา | เดินไต่เต้าตามผาศิลาสลัน |
เห็นหินหักพระชะแง้ชะโงกงัน | ช่างแชชันน่าไสยิดแสยงกาย |
ที่หน้าผาแต่ล้ำพ้นผึ้งรวงจับ | แลสล้างรังสลับมีมากหลาย |
คนอื่นเห็นเขาคงเกนตะเกียกตะกาย | หาฟืนไฟคบอัคคีตีเอารัง |
นี่เราเห็นไม่เป็นไรดอกผึ้งรวง | แล้วนึกหน่วงคิดขึ้นมาว่าทุกขัง |
โอ้กายเอยเกิดเป็นกายไม่จีรัง | เกิดมาพูนแต่ลำพังพระปฐพี |
ไฉนหนอเจ้าพวกหมอที่ตีผึ้ง | ไม่คิดถึงเลยเมื่อกายจะเป็นผี |
ไม่รักตัวช่างไม่กลัวอเวจี | คนเรานี้กรรมมากยากนิพพาน |
แล้วพระชมภูผาศิลาชะงัก | เป็นแผ่นภูเพิงตะพักดูภูมิฐาน |
เพิกเป็นพื้นดูเหมือนแล่นแผ่นกระดาน | สิลลา๒๑ลานแลละลิ่วดูโล่งลอย |
เป็นปล่องโปร่งแปลกแปลกเหมือนว่างเปล่า | ที่กิ่วเก่าเหมือนจะหักกระเด็นฝอย |
บ้างแตกตั้งเหมือนจะตกดูตองตอย | พระเดินพลางทางชม้อยชม้ายชม |
ที่ลางแห่งดูเหมือนแปลงที่ควายปลัก | บ้างแหว่งหวำเป็นชะวากก็มีถม |
บ้างสูงใหญ่ขึ้นไปเยี่ยมเทียมกับลม | บ้างหักร่วงเหมือนคนโรมเป็นกองกอง |
พระลงเขาตามลำเนาขึ้นโคกเกริน | สันโดษเดินด้นดั้นผันผยอง |
พยัคฆ์สัตว์เสือช้างกวางคะนอง | บ้างเปิ๊บปี๊บกู่ก้องร้องโกลา |
เทพไทพาไปที่ทางรวบ | ไปประจวบกันกับทางนางตามหา |
ที่นางสั่งไว้กับพวกสกุณา | เทวดาก็กลับมาวิมานตน |
๏ ปางพระหน่อสุริยวงศ์พงศ์กษัตริย์ | ค่อยหลีกลัดหิมวาพนาสณฑ์ |
พระบาทาพุพองเป็นหนองปน | ภูวดลเจ็บช้ำระกำใจ |
พระครวญคร่ำร่ำว่านิจจาเอ๋ย | แม่ทรามเชยเจ้าจะหลงอยู่ดงไหน |
ฤๅอุ่นอกเจ้าจะตกไปเมืองใด | ฤๅว่าตายไปเสียแล้วเจ้าแก้วตา |
พฤกษ์เทวาที่บรรดาได้ยินเสียง | ชม้ายเมียงมองดูพระนาถา |
นี่เสียแท้แน่เสียแล้วกระมังนา | ที่ฉัยยาสั่งความให้ตามไป |
พฤกษ์เทวาจึงปรึกษากันอึงมี่ | อย่างไรดีจะมานิ่งหาควรไม่ |
เราจำแลงแปลงเป็นสกุณัย | ขึ้นจับไม้บอกความให้ตามนาง |
พฤกษ์เทวาครั้นปรึกษากันแล้วเสร็จ | จำแลงเพศกลายเป็นนกจับสล้าง |
เหนือปลายไม้กิ่งมังคุดพูดกันพลาง | พระจอมปรางค์แลเห็นสกุณัย |
สกุณาเทวดาเป็นนกนั้น | จึงถามพลันว่านี่ท่านจะไปไหน |
ถิ่นสถานบ้านเมืองอยู่แห่งใด | ท่านชื่อไรเดินเดียวมาเปลี่ยวองค์ |
พระอุ่นอกฟังนกนั้นไถ่ถาม | จึงบอกความตามจริงสิ่งประสงค์ |
พ่อนี้ชื่อว่าปาจิตฤทธิรงค์ | มาตามองค์มเหสีดอกลูกอา |
เทวดาสกุณาเห็นว่าแน่ | ไม่นิ่งช้าว่าคุณแม่เที่ยวตามหา |
มาที่นี่สั่งกับฉันสกุณา | คุณพ่อมาบอกความให้ตามไป |
พระโฉมงามถามว่าคุณแม่นก | นางอุ่นอกว่าจะไปอยู่เมืองไหน |
สกุณาตอบว่าอยู่เมืองไกล | จงตามไปเถิดคุณพ่ออย่าท้อทาง |
สกุณาจึงบอกว่าไปทิศนี้ | เอาปีกชี้ไปให้แจ้งแจ่มกระจ่าง |
นกจึงว่าอนิจจาสงสารนาง | ร้องไห้พลางสั่งความร่ำพิไร |
ผินหน้าสั่งหันหลังสอนสั่งกับลูก | ดูพันผูกหาคุณพ่อเพียงตักษัย |
ปากนั้นสั่งตานั้นหลั่งสุชลนัย | ฉันพลอยไห้ด้วยเอ็นดูพระมารดา |
ปาจิตเจ้าได้ยินเล่าที่นางสั่ง | ให้คลุ้มคลั่งปานประหนึ่งจะเป็นบ้า |
สุชลนัยไหลอาบพระพักตรา | โอ้แก้วตายังไม่ตายทำลายชนม์ |
พระร้องพลางสั่งนกว่างามเลิศ | ค่อยอยู่เถิดให้เป็นสุขสถาผล |
ในอกพ่อนี้เหมือนไฟประลัยลน | ด้วยกังวลขุ่นรำคาญสงสารนาง |
พระเนื้อนากจากนกไม่หยุดนั่ง | ละล้าละลังปานหนึ่งอกจะแตกผาง |
ให้ปวนปั่นแทบชีวันจะวายวาง | คะนึงนางรีบไปครรไลเดิน |
ลงจากโคกข้ามโกรกเข้าดอนชัฎ | ค่อยหลีกลัดป่าบุกระฉุกระเฉิน |
ออกจากดอนจรดลเป็นโนนเนิน | ดูลิ่วโล่งโปร่งเกรินกระจ่างตา |
ใกล้ประเทศเขตกรุงเมืองจัมปาก | เห็นฝูงควายหลายหลากเที่ยวกินหญ้า |
ทั้งโคช้างเกลื่อนกลาดชาติอาชา | พระจินตนานิ่งนึกมโนใน |
อยากรู้เรื่องจะเป็นเมืองอะไรหนอ | ถ้าพบคนก็จะพอได้ถามไถ่ |
พระพบทางเดินตามครรไลไป | เสียงเด็กน้อยเลี้ยงควายพูดกันอึง |
มันเล่นคลีตีตั้งเป็นทางท่า | บ้างวิ่งร่ารับลูกคลีทำหน้าขึง |
มันฉวยไว้ร้องว่าได้ของพ่อมึง | ขึ้นขี่หลังกันออกอึงบนเนินทราย |
พระโฉมฉายเดินไปริมเด็กน้อย | จึงกล่าวถ้อยถามบ้านย่านขยาย |
เด็กมันบอกว่าอยู่บ้านโนนกะชาย | มาเลี้ยงควายอยู่กับลุงที่ทุ่งนา |
แต่ลุงฉันนั้นอยู่บ้านมักขามเทศ | ชื่อตาเพชรอยู่กระท่อมแลเห็นฝา |
คันนากลางอยู่ข้างโนนต้นพลับพลา | เห็นหลังคาอยู่ตรงนี้มันชี้มือ |
พระยอดสร้อยฟังถ้อยเด็กกล่าวสาร | จึงว่าหลานพาไปส่งสักหน่อยหรือ |
อ้ายเด็กกล้าวิ่งถลาเข้าจับมือ | แล้วพารื้อรีบมาไม่ช้าที |
ครั้นมาถึงซึ่งริมกระท่อมทับ | เด็กมันกลับคืนพลันขมันขมี |
พระโฉมยงเดินตรงจรลี | เถิงกระท่อมทำเป็นทีปราสัยพลาง |
ว่าท่านขามรรคาเขาเดินไหน | แล้วเข้าไปนั่งลงพูดไม่เขินหมาง |
ตาเพชรว่ามาแต่ไหนมาถามทาง | เข้ามานั่งสูบยาพ่อหน้านวล |
พระขวัญเนตรฟังตาเพชรแกพูดหา | ให้ปรีดามีน้ำใจสำรวลสรวล |
แล้วลุกเดินเข้าไปนั่งที่บังควร | จึงชักชวนปราสัยเป็นไมตรี |
ว่าลุงขามาทำนาอยู่บ้านไหน | ไกลฤๅใกล้กับเมืองบูรีศรี |
มาอยู่นาเลี้ยงควายสบายดี | เมืองบูรีนามชื่อประการใด |
ฝ่ายตาเพชรฟังสารปาจิตถาม | ขยายความแจ่มแจ้งแถลงไข |
ลุงอยู่บ้านมะขามเทศนะหลานชาย | ถ้าแม้นไปตะวันบ่ายจึงถึงเมือง |
นามพาราชื่อว่าเมืองจัมปาก | ผู้คนมากเล่าชื่อฤๅกระเดื่อง |
มีร้านรายขายของดูรองเรือง | ในภูมิเมืองกว้างโตมโหฬาร์ |
เจ้าแผ่นดินปิ่นเมืองพระกษัตริย์ | ครองสมบัติล้ำเลิศอันเลขา |
มีเมืองน้อยร้อยเอ็ดพระพารา | นำบรรณามาถวายไม่เว้นปี |
พระมีราชบุตรีศรีสวัสดิ์ | งามจำรัสศรีผ่องเป็นสองสี |
มีงูเห่าตอดเอานางเทวี | ตายเป็นผีสิ้นชีวาเถิงเจ็ดวัน |
พระบิดรพระมารดาพระชนก | แต่ตีอกแทบจะสิ้นชีวาสัญ |
ยังมีชายนายหนึ่งคนสำคัญ | ดูผิวพรรณมิใช่เหล่าชาวบูรี |
มาตั้งปึ่งขึงขังขันอาสา | ว่ามียาล้ำเลิศประเสริฐศรี |
พวกข้าเฝ้าเข้าไปทูลมูลคดี | พระภูมีจึงบัญชาให้หาตัว |
ไปวางยาทาเข้าประเดี่ยวนั้น | ก็เป็นคืนขึ้นมาพลันคนสั่นหัว |
ยาเขานี่ดียิ่งเป็นน่ากลัว | จนเฒ่าแก่ตาจะมัวไม่พบเลย |
ลูกสาวท่านครั้นว่ารอดจากความตาย | ก็ยกให้หมายจะเอาเป็นลูกเขย |
ท่านรักใคร่ชอบอารมณ์ท่านชมเชย | มอบสมบัติให้เสวยเป็นคู่กัน |
ชาวพาราได้ยินว่าเขามาเล่า | เจ้าไม่เอาอ้อนวอนแล้วผ่อนผัน |
ลาเข้าบวชทรงผนวชในพรหมจรรย์ | ท่านดีครันเรียนร่ำจนร่ำลือ |
ในคำข่าวเขามาเล่าชื่อปาจิต | เจ้าชีวิตไพร่ฟ้าพากันถือ |
ไม่พลอมแพลมหลอมแหลมให้คนลือ | ท่านให้ชื่อเป็นพระสังฆราชา |
แต่ข้าวของกล่นเกลื่อนเรือนกระฎี๒๒ | ดูมูนมีหลายหลากมากนักหนา |
แต่นักปราชญ์อย่ามาเปรียบในพารา | ใจศรัทธาปลูกศาลาไว้ทำทาน |
แล้วจัดแจงแต่งคนให้อยู่เฝ้า | คนไปมาหิวข้าวอยากอาหาร |
ให้หาเลี้ยงเป็นนิรันดรทุกวันวาน | ทุกเมืองบ้านเล่าลือกันอื้ออึง |
รู้เถิงไหนไปมามิได้ขาด | ประชาราษฎร์ร้อยพาราก็มาถึง |
ท่านปลูกรับไว้กับท่าอึงคะนึง | ใหญ่ได้ถึงเก้าห้องปิดทองคำ |
คนไปมาอาศัยมากนักหนา | หยุดศาลากินข้าวจนอิ่มหนำ |
เขาคำนับยำเยงทั้งเกรงยำ | พ่อก้อนคำเจ้าไม่รู้ฤๅอย่างไร |
ปางพระหน่อกษัตราวราเดช | ฟังตาเพชรบอกข่าวแถลงไข |
พระนิ่งกรึกนึกสนเท่ห์มเนใน | สงสัยใจคลังแคลงแหนงวิญญาณ์ |
เหตุไฉนใครหนอชื่อว่าปาจิต | ช่างไม่ผิดถูกกับชื่อเรานักหนา |
กินแหนงนึกกรึกในใจไม่เจรจา | ไปพาราจะไปดูให้รู้ความ |
ถามตาเพชรแล้วสำเร็จไม่อยู่ช้า | แล้วอำลาคารวะไม่หยาบหยาม |
แกยืนชี้บอกหนทางให้ไปตาม | พระโฉมงามเดินเข้าทางย่างยาตรา |
พระรีบร้อนจอระจรไม่หย่อนหยุด | ด้วยเขาพูดนั้นสงสัยใจนักหนา |
ตะวันบ่ายเข้ามาใกล้พระพารา | ชาวประชาบ้านเรือนดูเกลื่อนไป |
เหลือบเขม้นเห็นกำแพงออกแดงร่า | สุดลูกตากว้างยาวจะมีไหน |
เห็นเสาหงส์ธงห้อยดูแกว่งไกว | โบสถ์ก็ใหญ่สูงโตมโหฬาร |
พระย่างเหยาะก้าวยาวสาวพระบาท | ไม่หวั่นหวาดตาชะแง้เห็นวิหาร |
เถิงริมวัดชื่นสบายใจสำราญ | เห็นสมภารถือกราดกวาดอาราม |
พระโฉมยงเดินตรงเข้าไปกราบ | ศิโรราบแจ่มใสแล้วไถ่ถาม |
ว่าข้าแต่ผู้เป็นเจ้าผู้ใจงาม | เขาลือข่าวเล่าความขจรไป |
ว่าศาลามีที่ท่าท่านให้ทาน | ทั้งคาวหวานนั้นท่านปลูกไว้ที่ไหน |
ไม่รู้จักด้วยว่าฉันอยู่บ้านไกล | อยากจะไปดูเล่นเห็นศาลา |
ท่านสมภารฟังสารปาจิตถาม | จึงไขความเป็นธรรมสากัจฉา |
ศาลานั่งของพระสังฆราชา | เจ้าพาราสร้างถวายท่านให้ทาน |
สำคัญมีปลูกไว้ที่ดินท่าน้ำ | ฝูงคนคล่ำดูเลือนประสกหลาน |
ถ้าใครไปก็ได้กินจนพอการ | ท่านทำทานไว้ที่ท่าฝั่งนัทที |
มีผู้เฒ่าเฝ้าดูอยู่เป็นนิจ | พระสังฆกิจสั่งไว้อย่าให้หนี |
เขียนรูปภาพไว้ที่ฉากนั้นมากมี | ไปเถิดสิชมเล่นให้เย็นใจ |
พระสังฆกิจนั้นสถิตอยู่ในเมือง | ดูรุ่งเรืองพระอารามนั้นกว้างใหญ่ |
วัดของรูปอยู่ข้างนอกไม่เหมือนใน | ท่านเป็นใหญ่ยิ่งพระสงฆ์ทั้งพารา |
พระผู้ผ่านฟังสารสมภารเล่า | แล้วน้อมเกล้าลงประนมก้มเกศา |
อกิวาทโดยนิยมบังคมลา | ออกจากวัดเดินมาตามทางไป |
ประชาชนคนเกลื่อนเลือนวิถี | ดูมากมีไขว่ขวินสนั่นไหว |
จีนฝรั่งเม็งมอญเขมรไทย | บ้างซื้อขายรบเถียงกันกูมึง |
เถิงประตูผู้คนดูเกลื่อนกลาด | พระไม่หวาดก้มหน้าแล้วเดินขึง |
เข้าประตูตามถนน๒๓เสียงคนอึง | พระตะลึงแลดูร้านละลานตา |
แต่ข้าวของกองขายนั้นหลายหลาก | มีมูนมากพ้นที่จะสังขยา |
แต่โต๊ะโถโอจานละลานตา | เครื่องสินค้า๒๔มีจบดูครบครัน |
บ้างนั่งร้านขายแพรแลเขม้น | ผู้หญิงเห็นแล้วให้คิดจิตกระสัน |
นอนไม่หลับนึกเห็นไม่เว้นวัน | งามยังนี้เออยังนั้นจึงว่างาม |
บ้างนั่งร้านเรียกขายผ้าหลายอย่าง | เอี่ยมสำอางคมสันดูขันขำ |
ยิ้มขยับเย้ายวนชวนให้ทำ | ดูตาดำราวกะสีมณีนิล |
เมืองนั้นใหญ่ถ้าจะไปเช้าจนค่ำ | ให้เดินร่ำไปไม่หยุดสุดถวิล |
เถิงสามวันนั้นแต่ว่าในธานินทร์ | จึงจะสิ้นเถิงดูประตูเมือง |
แต่ร้านรายขายของทั้งสองข้าง | เป็นถนนอยู่ในกลางท่านแจ้งเรื่อง |
สารพัดข้าวของดูนองเนือง | จะร่ำเรื่องแต่งว่าจะช้าทาง |
พระโฉมปรางค์มากระทั่งราชฐาน | ดูละลานแต่ปราสาทแลสล้าง |
เสียงเซ็งแซ่สาวสรรค์กำนัลนาง | เอี่ยมสำอางเดินไขว่อยู่ไปมา |
กำแพงอ้อมป้อมวังพระนิเวศ | ล้วนปูนเพชรโปดลาดขนาดหนา |
ประตูวังหน้าสนวน๒๕ล้วนสิลลา | บานทวาตะปูดอกตอกประจำ |
แลสล้างโรงช้างละลิบลิ่ว | เป็นแถวทิวงามกระหง่านดูขันขำ |
มีช้างเผือกไอยรานั้นงาดำ | ใหญ่กำยำหน้ายักษ์ทั้งงายาว |
มีโรงรถโรงอาชาสินธพชาติ | ระดะดาดลาดหลังคาด้วยปูนขาว |
แต่งโรงเรือนแลออกเกลื่อนเหมือนเดือนดาว | เป็นระนาวเลื่อนชิดติดกันไป |
เที่ยวถามหาท่าศาลาจนรอบเมือง | ไม่ได้เรื่องจะเอาจริงลงไม่ได้ |
แต่ถามหาจนระอาแทบอ่อนใจ | จะเอาจริงลงไม่ได้สักกึ่งคำ |
ท่านเจ้าขาบรรณศาลาท่านทำไว้ | อยู่ข้างไหนแต่เที่ยวถามเช้าจนค่ำ |
คนโน้นบอกอยู่ข้างนั้นก็ไปตาม | ครั้นไปถามคนข้างนั้นบอกต่อไป |
แต่เที่ยวหาศาลาเถิงสองวัน | เถิงสามวันจึงได้พบดังใจหมาย |
ด้วยเมืองกว้างย่างยาวโดยนิยาย | พระโฉมฉายตรงลงไปสรงชล |
ทัศนาดูศาลาโตพิลึก | ดูผู้คนอึกทึกอยู่สับสน |
พระชำระเหื่อไคลกายสกนธ์ | ขึ้นจากชลผลัดผ้าไม่ช้าที |
หยุดอยู่นั่งพอประทังกำลังเหนื่อย | แทบล้าเลื่อยหน้าซีดเหมือนหน้าผี |
ครั้นเคลื่อนคลายหายเหนื่อยขึ้นดิบดี | พระภูมีขึ้นไปนั่งยังศาลา |
หมื่นระวังเห็นพระองค์ไปลงนั่ง | ก็พร้อมพรั่งเร่งรัดกันจัดหา |
ทั้งคาวหวานอันตระการรสโอชา | หมื่นชัยนาทยกมาในทันที |
หมื่นอาจนั้นฉวยขันไปตักน้ำ | ก็พร้อมตามมาด้วยกันทั้งสามสี่ |
ยกมาตั้งวางให้ไว้ดิบดี | เฒ่าทั้งสี่ร้องเกริ่นเชิญให้กิน |
พระภูบาลเห็นอาหารเขาแต่งให้ | ด้วยอ่อนใจหิวโหยโดยถวิล |
ยกชามข้าวเอามาวางพลางแล้วกิน | ไม่อาจิณด้วยว่าอยากเต็มทีมา |
ทั้งหวานคาวกินเอาจนอิ่มหนำ | เดินยังค่ำอ่อนเหนื่อยจนเมื่อยขา |
ค่อยเหนื่อยหายใจระรื่นชื่นอุรา | โฉมพระปาแลดูฉากเห็นมากมี |
แล้วโฉมตรูดูรูปที่วาดไว้ | เป็นเจ้านายครองเมืองอันเรืองศรี |
มีพารากว้างใหญ่อันยาวรี | ประกอบมีสาวสนมกำนัลใน |
มีเสนาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์ | ช่างฉลาดวาดคนหมอบไสว |
มีรูปนางงามสำอางมากวิไล | วาดรูปชายหนุ่มน้อยนั่งแลดู |
มีรูปนางเยื้องย่างแล้วคืนกลับ | มีรูปโหรถือตำรับลงเลขอยู่ |
มีรูปโหรลองผูกตำราดู | รูปหนุ่มน้อยรับชูผูกตำรา |
ดูไม่หยุดเห็นรูปบุตรพระกษัตริย์ | ประนมหัตถ์ลงบังคมก้มเกศา |
รูปบุรุษบุตรกษัตริย์เดินออกมา | เอาน้ำยาเขียนคั่นเป็นบ้านเมือง |
พระเพ่งตาทัศนาดูรูปเขียน | แน่จำเนียรแจ้งรู้ที่ดูเรื่อง |
แลดูฝอยอ่านพินิจที่บอกเมือง | ในฝอยเรื่องว่านี่เมืองนครพรหม |
ในฝอยว่าเจ้าพาราชื่อธรรมราช | ครองสมบัติทูนกระหม่อมจอมสนม |
มีบุตรชายพระจะให้เสวยรมย์ | หานางเอกมาให้ชมให้ครองเมือง |
แล้วเขียนไว้ว่าไม่ได้เป็นเด็ดขาด | ประชาราษฎร์ลูกพญาไม่ต้องเยื่อง |
ลูกร้อยเอ็ดทุกพาราบูรีเรือง | จนหมดเมืองก็ไม่ได้สักคนเดียว |
แล้วเขียนไว้ในจารึกที่หนังสือ | บอกทั้งชื่อว่าทุกข์ใครให้เฉลียว |
บุตรของจ้าวชื่อปาจิตพ่อทรามเปรียว | ที่จับกระดานอยู่เจียวคือโหรา |
ในฝอยว่าหมอตำรานั้นดูให้ | พระปาจิตบุตรของไท้พระนาถา |
ว่าบุญคู่อยู่ข้างทิศบูรพา | ลูกกำพร้ามีแต่แม่แต่ว่าดี |
จารึกไว้ว่าพระไพรขอตำรา | โหรพฤฒานั้นก็ให้พระโฉมศรี |
จารึกว่าที่ไปลาพระชนนี | คือปาจิตบุตรภูมีผู้ครองเมือง |
จารีกว่าที่เจ้าฟ้าเสด็จไป | คือพระไพรไปเที่ยวหานางเนื้อเหลือง |
พระอ่านสิ้นในกระบิลที่บอกเมือง | สงสัยเรื่องนึกสะท้อนให้คลอนใจ |
แล้วกลับสวนทวนมาดูที่ต้นเรื่อง | ตั้งแต่เมืองจนตลอดด้วยสงสัย |
ก็ถูกต้องมิได้ผิดกับก่อนไป | พระหวั่นใจคิดเสียวเฉลียวตัว |
ให้คิดวาดเอประหลาดนิทานเรื่อง | ช่างต้องอย่างเข้าในเยื่องพ่อทูนหัว |
ดูเรื่องราวเหมือนจะเข้ามาพันพัว | ต้องกับตัวทุกข์ในอกเสียเจียวนา |
๏ แล้วพระองค์ทรงดูขมีขมัน | ที่ต่อกันไว้กับต้นด้วยกังขา |
เห็นวาดรูปเป็นบุรุษนั้นเดินมา | ตะพายย่ามถือศัสตราพระขรรค์ชัย |
ดูจนสุดว่าบุรุษไปพบเมือง | วาดเป็นเมืองมีมากพ้นวิสัย |
ดูไม่หยุดเป็นบุรุษนั้นเลยไป | วาดเมืองใหญ่มีปราสาทราชวัง |
เห็นเขียนวาดเป็นปราสาททำด้วยหิน | เขียนเป็นรูปเจ้าแผ่นดินดูขึงขัง |
พระดูวาดเห็นทั้งนาฏสนมยัง | เห็นวาดวางไว้เป็นบ้านย่านนิคม |
พระแลผาดเห็นเขาวาดเป็นทุ่งนา | เห็นวาดหญิงทรงครรภา๒๖นั้นงามสม |
ก้มดำนาชักกล้านั้นตำตม | เห็นวาดกลดกั้นเป็นร่มให้เย็นยาย |
ช่างฉลาดเห็นเขาวาดเป็นบุรุษ | เดินไปยุดผ้าถุงนั้นมุ่งหมาย |
ดูเต็มตาเห็นเดินมาที่ริมยาย | เห็นวาดชายนั้นลงนั่งกางตำรา |
เห็นวาดไว้ให้เป็นชายไปก้มกราบ | แล้วพิลาปเห็นเป็นมือนั้นเช็ดหน้า |
เห็นเขียนไว้ทำเป็นยายนั้นเดินมา | พระเพ่งตาเห็นเขาเขียนบุรุษชาย |
แลพินิจพิศดูทุกสิ่งสรรพ์ | เห็นเขียนไว้ชายนั้นก็ผันผาย |
เขียนเป็นชายรูปจำเริญเดินตามยาย | ตามกันไปอยู่สำราญที่บ้านเรือน |
ดูจนสุดเห็นบุรุษสานตะกร้า | ทำเป็นนามีคนไถดูช่างเหมือน |
เห็นรูปยายนั่งเจ็บท้องอยู่ในเรือน | วาดช่างเหมือนคลอดลูกนั้นออกมา |
วาดเป็นนางงามสำอางวิไลเลิศ | เด็กที่เกิดวาดไว้ใหญ่ไวหนักหนา |
ดูก็เห็นเป็นบุรุษไปไหว้ลา | เขียนมารดารูปเหมือนยายนั้นให้พร |
วาดบุรุษเดินไปตะพายย่าม | ดูก็เห็นเป็นนางงามพิไรอ้อน |
ตานั้นเล็งเพ่งดูชายนั้นไปจร | เขียนเป็นท่อนบอกให้แจ้งกระจ่างใจ |
เขียนด้วยหมึกแล้วจารึกเป็นราวเรื่อง | ที่วาดเมืองนั้นก็บอกจนแจ่มใส |
อันเมืองนี้ต่างถิ่นแผ่นดินไกล | ชื่อเวียงชัยพาราณสีบูรีรมย์ |
วาดเดินมานั้นคือว่าเป็นลูกจ้าว | พระนามท้าวชื่อปาจิตอิศยม |
ปาจิตจ้าวลูกท้าวนครพรหม | โหรดูให้ได้นิยมจึงตามมา |
ถือตำรานั้นคือว่าตาโหรให้ | ที่เดินไปนั้นก็บอกว่าเที่ยวหา |
ถ้าพบนางงามสำอางสมตำรา | เขียนบอกว่าเป็นบุญคู่ของภูมี |
ที่เขียนเนื่องไว้ในเรื่องคือปาจิต | ไปหามิตรจึงไปพบบุรีศรี |
เขียนเมืองครบว่าไปพบหลายบูรี | เขียนไว้มีว่าพบเมืองนั้นใหญ่โต |
เขียนปราสาทวาดไว้เหมือนก้อนหิน | คือธานินทร์พรหมทัตงามรโห |
ชื่อพาราณสีบูรีโต | ที่เขียนบ้านมากอักโขเขตนิคม |
ที่เขียนไว้ทำเป็นยายนั้นอุ้มห้อง | คือแม่น้องอรพิมนางงามสม |
บุรุษนั่งกางตำราอ่านนิยม | คือปาจิตพระบรมไปพบนาง |
หญิงทรงครรภ์ที่ในพื้นใช่อื่นไกล | คือแม่ยายที่เป็นแม่อย่าอางขนาง |
คือแม่นางอรพิมไม่อำพราง | อย่าสงสัยใจกระจ่างเป็นความจริง |
สานตะกร้านั้นคือว่าพระปาจิต | เมื่อบพิตรอยู่อาสานางยอดหญิง |
ที่กราบไหว้คือพระไพรจะตูวิง | ที่อ้อนวอนอยู่ไม่นิ่งคืออรพิม |
ที่เดินไปคือพระปาไปเมืองพ่อ | แล้ววาดรอไว้เป็นท่อนเป็นลักฉิม |
พระอ่านสิ้นแทบจะดิ้นเหมือนอยู่ริม | ในอกอิ่มอัดอั้นตันอุรา |
ประหลาดใจหนอนิยายในเรื่องนี้ | ไม่เคยเห็นแต่สักทีหลากหนักหนา |
ช่างมาพ้องต้องกับตัวเต็มลูกตา | แต่ดูมาคิดสังเวชเถิงอกเอง |
๏ แล้วทรงฤทธิ์พิศดูต่อไปเล่า | ดูเป็นเรื่องเมืองจ้าวนั้นเหมาะเหม็ง |
ปราสาทวังปรางค์มาศดูครื้นเครง | แล้วแลเล็งเห็นบุรุษนั้นเดินไป |
แลพินิจพิศดูบุรุษนั้น | จอระจัน๒๗ไปในโรงวินิจฉัย |
ช่างเขียนจัดเป็นกษัตริย์ถือขรรค์ชัย | นั่งบนแท่นตรัสปราสัยกับเสนา |
ดูก็เห็นเป็นบุรุษไปไหว้กราบ | ศิโรราบอยู่กับแท่นพระนาถา |
ช่างเขียนไว้เป็นดีใจท้าวพญา | ทัศนาเห็นบุรุษกลับไปปรางค์ |
เขาเขียนคั่นกั้นไว้เป็นท่อนท่อน | มีอักษรเขียนบอกไว้สะสาง |
ว่าเมืองนี้มิใช่อินทร์เอี่ยมสำอาง | สวรรยางค์ของภูธรนครพรหม |
เป็นบิดาที่ชื่อว่าพระปาจิต | ที่ทรงฤทธิ์ไม่มีคู่นิวาสม |
ถือตำราไปเที่ยวหาเพื่อนนิยม | ก็ได้สมเหมือนหนึ่งหมายที่ใจปอง |
ที่เดินมาเข้าพาราคือปาจิต | ไปหมอบติดอยู่กับแท่นทูลสนอง |
คือปาจิตเข้าไปเฝ้าฝ่าละออง | พระบิดาแซ่ซ้องจำเริญพร |
ที่เขียนว่าเป็นเสนาพะยิ้มพะย่อง | คือพวกพ้องหมู่เสนาพระทรงศร |
ว่าได้นางพลางกันพูดจำเริญพร | บุรุษจรเข้าไปปรางค์ใช่อื่นไกล |
คือปาจิตออกจากเฝ้าเข้าปราสาท | พระอ่านแล้วหวั่นหวาดพระทัยไหว |
พระอ่านซ้ำอักษรให้อ่อนใจ | ปานเห็นกายประหนึ่งว่าเห็นหน้านาง |
ภูวดลง่วงฉงนอยู่เป็นครู่ | แล้วแหงนดูตรึกตรองยังหมองหมาง |
คิดเถิงนวลหวนอาลัยแทบวายวาง | ฉงนง่วงอยู่เหมือนง่าง๒๘หน้าไม่เงย |
แล้วข่มขืนกลืนดับโศกลงไว้ | หักหัวใจโอ้ว่าใจของกูเอย |
เห็นแต่เรื่องจะมาให้ใครเขาเคย | พระดับโศกค่อยเสบยบรรเทาลง |
๏ แล้วพินิจพิศดูต่อไปเล่า | เห็นยายเฒ่านั่งร้องไห้ทำพิศวง |
มีรูปสาวแจ่มกระจ่างสำอางทรง | มีคนอ้อมล้อมเป็นวงอยู่บนเรือน |
เห็นม้าช้างยืนสล้างจำลองสลัก | ทั้งปืนทวนล้วนแต่ปักอยู่กลาดเกลื่อน |
เห็นรูปช้างเข้าไปเทียบนอกชานเรือน | พระแลเล็งเพ่งจนเลือนลูกตาลาย |
เห็นรูปนางขึ้นไปนั่งจำลองสลัก | วิไลนักรูปโฉมนั้นเฉิดฉาย |
รูปยายแก่นั่งในกูบขี่ช้างพลาย | แห่กันไปเป็นขนัดปี่พาทย์กลอง |
ช่างฉลาดเขาจึงวาดไปคืนกลับ | ไปเมืองเก่าที่อันดับมาเป็นสอง |
ไปเมืองท้าวพรหมทัตตามทำนอง | กันเป็นห้องไว้เป็นแห่งให้แจ้งความ |
พระปาจิตพิศยลดูรูปวาด | ยิ่งประหลาดใจนักให้หวาดหวาม |
พระนิ่งนึกตรึกตรองทำนองความ | ช่างต้องตามเข้ามาพัวกับตัวเอง |
แล้วดูอ่านอักษรที่บอกไว้ | ที่วาดรูปไว้เป็นยายนั้นเหมาะเหม็ง |
ใช่อื่นไกลคือว่าแม่นางพิมเอง | สะดุ้งเหยงปานว่าเห็นนางอรพิม |
วาดรูปสาวอักษรนั้นบอกไว้ | คือนางพิมยิ้มละไมนางเนื้อนิ่ม |
ที่คนอ้อมนั้นไปรับนางอรพิม | พระทรงอ่านแล้วให้อิ่มอั้นอุรัง |
พระนึกหวนกลับทวนอ่านคืนเล่า | ขึ้นขี่ช้างข้างลูกสาวแห่หน้าหลัง |
คือคนใช้พรหมทัตเจ้านัครัง | ให้ไปรับนางอรพิมมาเป็นเมีย |
พระอ่านสิ้นอักษรที่บอกไว้ | ให้เสียใจคิดขึ้นมาทำหน้าเสีย |
เหมือนเมียเองเขาข่มเหงเอาเป็นเมีย | เรื่องนี้รวมเข้ามาเรี่ยกับเรื่องกู |
น้ำตาหายแต่ว่าใจนั้นหุนหัน | จะเคียดเรื่องก็ไม่ขันน่าอดสู |
แล้วดูไปด้วยหัวใจนั้นอยากดู | เขาวาดรูปไว้ให้รู้เป็นเรื่องราว |
วาดเป็นคนอลหม่านมีหมู่มาก | บ้างอ้าปากบ้างก็วิ่งไปโฉ่ฉาว |
คนที้งทานขึ้นไปหว่านลูกมะนาว | มีข้าเฝ้าพร้อมด้วยสงฆ์แลชีพราหมณ์ |
แลพินิจพิศเห็นต้นดอกไม้ | เขาเขียนปักเอาลงไว้กลางสนาม |
พิศไปเล่าเห็นนางสาวนั้นรูปงาม | มีคนตามแห่ห้อมดูล้อมมา |
แล้วดูไปเห็นผู้ชายนั้นโตต่ำ | กำลังล้ำเรี่ยวแรงดูแข้งขา |
ถือพระขรรค์อันสะอาดพาดอุรา | อยู่พร้อมหน้ากันกับนางนั่งประจำ |
ดูไม่วางไปเห็นนางในปราสาท | นอนไสยาสน์อยู่บนแท่นอันเลขำ |
เห็นรูปวาดนั้นมายืนทั้งใหญ่ดำ | แล้วเขียนซ้ำเป็นสองรูปดูกลับคืน |
พระแลเล็งเพ่งพินิจพิศดูรูป | ให้วาบวูบคิดเถิงตัวหัวใจตื่น |
ใจระงมแทบจะล้มลงทั้งยืน | พระข่มขืนหักหัวใจไว้ท่ามกลาง |
๏ แล้วแลเล็งเพ่งพินิจต่อไปเล่า | เห็นเมืองเก่าต้นเรื่องแทบล้มผาง |
เป็นรูปจ้าวขึ้นไปเฝ้าบนพระปรางค์ | ทั้งเกวียนช้างเขียนไว้หมดทั้งรถชัย |
ดูแนบเนียนเห็นเขาเขียนกะทอทอง | คนเนืองนองชายหญิงวิ่งไสว |
บ้างขนเงินแบกทองของวิไล | พากันใส่ลงในเกวียนเจียนกระพอง |
รูปบุรุษบุตรกษัตริย์ขึ้นทรงรถ | ก็มีหมดโคต่างบรรทุกของ |
มีรูปคนขี่ช้างนั่งจำลอง | มีรูปกลองรูประนาดปี่พาทย์วง |
มีรูปช้างเดินสล้างแลสลอน | มีรูปวาดราษฎรดำเนินหงส์ |
มีรูปโคกโกรกธารละหานดง | มีรูปห้วยขวางอยู่ตรงหนทางไป |
ดูก็เห็นเป็นตำหนักอยู่ริมน้ำ | มืคนหลามพากันเล่นชลาไหล |
มีรูปคนนั่งอยู่บนตำหนักชัย | มีรูปจ้าวนั่งอยู่ในบนพลับพลา |
มีรูปคนขี่ช้างผินหน้ากลับ | มีรูปคนหมอบอยู่กับพระนาถา |
มีรูปร่างผัวเมียยายกะตา | มีรูปจ้าววิ่งถลาไปทิ้งทอง |
ดูก็เห็นเป็นรูปจ้าวไปหักรถ | ดูมีหมดรูปคนพิไรร้อง |
มีรูปจ้าวถือกระบี่ทีลำพอง | สอดฉลองฝ่าพระบาทแล้วยาตรา |
มีรูปดงพงป่าพนาเวศ | มีรูปจ้าวเข้าประเทศขึ้นไปหา |
เห็นรูปเรือนบ้านดงอยู่โรยรา | มีรูปเจ้าเคล้าน้ำตาละลุมลง |
เห็นรูปจ้าวนั่งปรึกษากับตาแก่ | พระแลแลแล้วก็คิดพิศวง |
มีรูปจ้าวเข้าไปวังแล้วเดินตรง | เห็นรูปจ้าวไปนั่งลงริมรูปนาง |
เห็นรูปร่างพระกษัตริย์ทั้งโตใหญ่ | พระดูไปแล้วสะท้อนพระทัยหมาง |
เห็นรูปคนทรงเครื่องเรืองสำอาง | แล้วเยื้องย่างฟ้อนรำทำกระบวน |
มีรูปนางยิ่งสำอางมีโต๊ะโตก | มีรูปคนบริโภคสำรวลสรวล |
มีรูปชายสองรูปทำกระบวน | คนหนึ่งหนุ่มคนหนึ่งจวนจะกลางคน |
มีรูปนางผู้สำอางนั้นถือจอก | รูปคนแก่นั้นนั่งกลอกอยู่สับสน |
แต่คนแก่นั้นคนเดียวรูปสองคน | รูปคนแก่หนึ่งพิกลเหมือนนอนตาย |
รูปบุรุษที่เป็นหนุ่มกุมพระแสง | แล้วกวัดแกว่งฟันเอาคอคนนอนหงาย |
รูปเขาวาดขาดกระเด็นจากร่างกาย | รูปหนุ่มชายนั้นพานางย่างยาตรา |
รูปเขาเขียนเห็นเป็นเวียนในวังวง | เห็นรูปทรงนั้นไปหยุดพูดกับม้า |
เห็นรูปนางกับบุรุษขี่อาชา | เห็นรูปม้าพาเหาะระเห็จไป |
มีรูปม้าพาไปหยุดที่ร่มรื่น | อันชุ่มชื่นภูมิภาคพระไทรใหญ่ |
เขาเขียนว่าทำเป็นม้านั้นหายไป | แต่หญิงชายนอนอยู่ร่มพระโครธา |
เห็นรูปชายนั้นกับหญิงเดินออกไป | จากพระไทรเดินเหนื่อยจนเมื่อยขา |
เห็นรูปหญิงฉีกเอาผ้าพันบาทา | เห็นรูปหญิงเช็ดน้ำตาแล้วคลานไป |
เห็นรูปชายพาเอาหญิงนั้นไปหยุด | ที่หนองน้ำเป็นตะกุดพระไทรใหญ่ |
เห็นรูปชายนอนกับหญิงนั้นหลับไป | เห็นรูปพรานถือหน้าไม้มายิงเอา |
เห็นรูปชายตายกลิ้งลูกปืนปัก | เขาเขียนชักไว้เป็นท่อนน้ำยาขาว |
แล้วจารึกบอกให้รู้ในเรื่องราว | ปาจิตเจ้าพระภูบาลก็อ่านดู |
ที่วาดไว้คนหลายเป็นหมู่มาก | บ้างอ้าปากบ้างก็วิ่งบ้างนิ่งอยู่ |
ทั้งชีพราหมณ์พร้อมสะพรั่งทั้งพระครู | ต้นดอกไม้ปักอยู่ไว้เรียงรัน |
คือท่านท้าวพรหมทัตอติเรก | จะทำการอภิเษกกับจอมขวัญ |
คืออรพิมขนิษฐาสุดาจันทร์ | จึงพร้อมกันทั้งพระสงฆ์แลชีพราหมณ์ |
ทั้งทิ้งพานหว่านเงินทิ้งฉลาก | คนก็มากวิ่งรับเป็นหมู่หลาม |
ต้นดอกไม้นั้นถวายพระไกรงาม | จึงทำตามหมายจะเย็นเป็นมงคล |
ที่รูปสาวมีคนแห่นั้นแท้แล้ว | คือกิ่งแก้วอรพิมอย่าฉงน |
แห่กันไปอุปภิเษกขึ้นครองพล | กับภูวดลพรหมทัตกษัตรา |
ที่หญิงอยู่บนแท่นในปราสาท | คือนิ่มนาฏอรพิมสเน่หา |
ที่ชายใหญ่เดินไปแล้วกลับมา | คือพรหมทัตเข้าไปหาแล้วกลับคืน |
ไปหานางก็จะหวังสเน่หา | ราคราคานั้นก็หายเหลือจะขืน |
ท้าวพรหมทัตมิได้ร่วมไปแต่ยืน | ที่รูปคืนนั้นคือท้าวกลับคืนมา |
พระทรงอ่านในอาการบอกที่นี่ | กลับยินดีโสมนัสสเน่หา |
เหมือนอรพิมเมียของกูจริงจริงนา | ตั้งสัจจาประเวณีนั้นดีจริง |
๏ แล้วพระองค์ทรงอ่านต่อไปเล่า | เป็นรูปจ้าวขึ้นไปเฝ้าชายกับหญิง |
คือปาจิตเข้าไปเฝ้ามารดาจริง | กับบิตุรงค์ยงยิ่งนครพรหม |
กะทอทองช้างม้าบิดาให้ | นั้นสินไหว้พระปาจิตอิศยม |
ที่เกวียนต่างช้างโคคนระดม | คือเข็นทองด้วยนิยมว่าได้นาง |
นั่งรถทรงนั้นคือองค์พระปาจิต | พระอ่านพิศแล้วให้นึกระคางหมาง |
ใครเขียนเรื่องนี้เหมือนรู้กูกับนาง | พระจอมปรางค์นึกนิ่งให้กริ่งใจ |
อ่านจารึกแล้วกลับหวนไปทวนเรื่อง | ดูในเรื่องกับจารึกหาผิดไม่ |
นางโฉมตรูฤๅเจ้าอยู่ในเวียงชัย | ประหลาดใจอัศจรรย์จริงจริงนา |
แล้วพระอ่านเรื่องจารึกที่ยังอยู่ | มีช้างม้าเดินเป็นหมู่มากนักหนา |
คือญาติวงศ์ข้าเฝ้าท้าวพญา | ขี่คชาไปแต่งงานพระหลานชาย |
ที่เขียนวงไว้เป็นดงเป็นดอนป่า | ฝูงประชาหลายหลากนั้นมากหลาย |
คือปาจิตกับพระยาเสนานาย | เมื่อยกมามากหลายทั้งเผ่าปราน |
เขียนเป็นดงนั้นพระองค์เมื่อเข้าป่า | เขียนเป็นท่ามีตำหนักริมละหาน |
คือพระองค์ไปประทับที่ฝั่งธาร | หยุดสำราญผ่อนพักตำหนักจันทร์ |
คนที่ขี่ไอยราผินหน้ากลับ | เข้าคำนับนั่งอยู่รอบหมอบสลัน |
คือกองม้าของพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | พระองค์ผันให้ไปตามกลับคืนมา |
ยายกะตานั้นจะว่าให้รู้จัก | หริรักษ์ใช้พระยาไปสืบหา |
พระยาไปได้ยายกับตามา | จึงนำพาเข้ามาเฝ้าพระทรงธรรม์ |
ที่เททองนั้นจำลองวาดรูปไว้ | ใช่อื่นไกลคือปาจิตพระจอมขวัญ |
ได้ความจริงแน่ด้วยยายแกบอกพลัน | พระหุนหันเดือดนางพิมแทบวายปราณ |
ปาจิตเจ้าจึงเอาทองไปทิ้งขวาง | ไว้ในวังกลางห้วยห้วงละหาน |
หักรถทรงนั้นก็องค์พระภูบาล | จงเอ่ยอ่านเรื่องจารึกเราบรรยาย |
คือปาจิตเททองแล้วหักรถ | จนหมุนหมดจับกระแทกแตกฉลาย |
พระทรงอ่านแล้วเฉลียวให้เสียวกาย | ช่างเหมือนตัวนี่กระไรนะอกอา |
ที่เขียนเรื่องไว้เป็นเมืองมีประเทศ | เมื่อทรงเดชลงจากโรงวินิจฉา |
เอาเกือกทองสอดฉลองแล้วยาตรา | พระผ่านฟ้าเถิงประเทศที่เขตเคย |
เขียนเป็นเรือนที่เป็นร้างอยู่ว่างเปล่า | มีรูปจ้าวนั่งร้องไห้ไม่ละเหย |
คือปาจิตใครอย่าได้สงสัยเลย | พระทรามเชยไปเห็นเรือนสังเวชโรง |
ด้วยแต่ก่อนบ่อนเคยกินถิ่นเคยอยู่ | เป็นหมู่หมู่ไม่เห็นคนให้เหรงโหรง |
ที่วาดรูปเป็นตาแก่สันหลังโกง | ถือพร้าง้อม๒๙นั่งลงแล้วพูดกัน |
คือพระปาเมื่อไปพูดกับตาเฒ่า | ตาแกเล่าแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
มีรูปชายไปเข้าวังในกลางวัน | คือทรงธรรม์เข้าไปหานางอรพิม |
ที่วาดไว้ว่าเป็นชายนั้นสองรูป | เป็นสามรูปกับทั้งหญิงกระจิ๋มลิ๋ม |
รูปผู้หญิงนั้นคือรูปนางอรพิม | ผู้ชายสองที่นั่งริมกับรูปนาง |
รูปคนหนุ่มนั้นคือรูปปาจิตจ้าว | รูปคนเฒ่าใหญ่พีพุงกระถาง |
คือพรหมทัตที่ผู้ผ่านสวรรยางค์ | นั่งในปรางค์อยู่ด้วยกันทั้งสามคน |
รูปทรงเครื่องนั้นละครที่ฟ้อนรำ | จนพลบค่ำรำฟ้อนอยู่สับสน |
ที่วาดโต๊ะไว้หว่างกลางทั้งสามคน | หญิงเป็นคนถือจอกนั้นส่งมา |
คือพรหมทัตปาจิตนั่งกินข้าว | นางพิมเจ้ารักปาจิตสเน่หา |
หญิงยื่นจอกนั้นคือพิมยื่นสุรา | ให้พรหมทัตราชากินจนเมา |
ที่วาดรูปเป็นคนแก่นั้นนอนหงาย | คือท้าวไทพรหมทัตนั้นเมาเหล้า |
ที่รูปชายถือพระขรรค์มาฟันเอา | ท้าวพรหมทัตดิ้นดะเด่าคอกระเด็น |
ที่คนฟันนั้นจะบอกไว้ให้แจ้ง | คือปาจิตฤทธิแรงครั้นแลเห็น |
เคียดพรหมทัตว่าไปเอานางเนื้อเย็น | จึงฟันคอขาดกระเด็นออกจากกาย |
ที่รูปชายรูปหญิงวิ่งวนเวียน | เขาวาดเขียนรูปร่างไว้เฉิดฉาย |
ไปยืนหยุดพูดกับม้าทุรนทุราย | คืออรพิมกับพระไพรปรึกษากัน |
พูดกับม้านั้นคือว่าพระอินทรา | มารับพาอรพิมนั้นผายผัน |
กับปาจิตฤทธิรงค์ผู้ทรงธรรม์ | เขียนสำคัญไว้มีต้นพระไทรพราย |
รูปหญิงชายเขียนเป็นหยุดอยู่ใต้ต้น | มาพิกลวาดเขียนทำเป็นหาย |
จะจารึกเรื่องบอกออกธิบาย | คือพระไพรกับนางพิมอย่าคลังแคลง |
รูปมิ่งม้านั้นคือว่าท้าวโกสีย์ | พานางมาแต่บูรีอย่ากินแหนง |
เอามาไว้ที่พระไทรริมนาแซง | ม้าจำแลงนั้นก็หายกลายเป็นอินทร์ |
เขาเขียนไว้เป็นผู้ชายกับหญิงนั้น | จอระจันเดินไปในไพรสิณฑ์ |
วาดรูปไว้เป็นผู้หญิงผ้าพันตีน | โศกถวิลแดดาลแล้วคลานไป |
คือปาจิตพานางจากสำนัก | นางนงลักษณ์ตีนพองน้ำหนองไหล |
รูปฉีกผ้านั้นคือว่าใช่อื่นไกล | คือสายใจอรพิมนางนงคราญ |
เขาวาดวางไว้เป็นร่างหญิงแลชาย | เดินเข้าไปหยุดที่ร่มไทรพิศาล |
เขาเขียนรูปเป็นผู้ชายเหมือนนายพราน | ถือหน้าไม้งุ่นง่านมายิงเอา |
ถูกผู้ชายลูกหน้าไม้นั้นคาอยู่ | จะเขียนบอกไว้ให้รู้ทั้งหนุ่มเฒ่า |
คือปาจิตอรพิมนางนงเยาว์ | เดินไม่ได้อย่างเก่าด้วยตีนพอง |
รูปฉีกผ้านั้นคือว่านางพิมฉีก | จะเดินไปไม่ได้อีกนางเศร้าหมอง |
พระปาจิตคิดสงสารนางนวลละออง | จึงพาน้องไปบรรทมร่มพระไทร |
รูปตาเฒ่าที่เขาวาดด้วยน้ำยา | คือพรานป่านั้นทีเดียวอย่าสงสัย |
ที่เขียนไว้ลูกหน้าไม้ปักหัวใจ | คือพระไพรปาจิตทำลายชนม์ |
พระทรงอ่านปานประหนึ่งจะเป็นบ้า | ละลังละล้าตาลายกระเสือกกระสน |
ดูรูปเขียนช่างไม่เพี้ยนเจ้านิรมล | อสุชลแทบจะย้อยฝอยกระเด็น |
พระข่มขืนกลืนโศกแทบอกแตก | ดูเรื่องรูปนั้นก็แปลกแลก็เห็น |
ฤๅสุดเรื่องนั้นจะเยื้องไปผิดเกณฑ์ | ดูสุดเรื่องจึงจะเห็นหายมลทิน |
๏ แล้วทรงฤทธิ์พิศดูที่ต่อเรื่อง | เห็นรูปหญิงย่างเยื้องจากไพรสิณฑ์ |
มาร้องไห้อยู่กับศพกอดฝ่าตีน | เขาเขียนรูปไว้เหมือนดิ้นสลบไป |
พระแลไปเห็นชายออกจากป่า | แล้วนำพาเอาผู้หญิงจากศพหาย |
เขาเขียนรูปไว้เป็นหญิงเดินตามชาย | เห็นรูปควายหญิงนั้นขี่ไปตามทาง |
เห็นรูปชายพาเอาหญิงไปหยุดพัก | ที่สำนักร่มพระไทรอันใหญ่กว้าง |
เห็นรูปชายนอนอยู่ใต้พระไทรซาง | เห็นรูปหญิงแทงเอาร่างชายบรรลัย |
เขาวาดรูปเป็นผู้หญิงกลับคืนเล่า | ตามรอยเก่ามาที่ศพที่ตักษัย |
เห็นรูปนางครวญคร่ำร่ำพิไร | กระวนกระวายอยู่กับซากไม่จากจร |
เห็นรูปงูสู้กับพังพอนเผือก | พระแลเหลือกจนตาแข็งเหมือนไม้ขอน |
เห็นรูปงูนั้นไปกัดฟัดพังพอน | รูปพังพอนเขียนเหมือนตายทำลายชนม์ |
รูปงูเห่าเข้าไปแห้นที่ต้นไม้ | กลับเขียนไว้เป็นรูปงูนั้นมาพ่น |
รูปพังพอนเขียนไว้เป็นขึ้นบัดดล | เห็นรูปนางนิรมลไปกัดยา |
เห็นรูปนางเอามาพ่นที่ซากศพ | เห็นรูปศพลุกขึ้นนั่งเสนอหน้า |
เห็นรูปชายกับผู้หญิงตามกันมา | เห็นรูปน้ำขวางหน้าทั้งหญิงชาย |
เห็นรูปเณรดูก็เห็นขี่เรือน้อย | เป็นเรือลอยมาตามสายชลาไหล |
เห็นรูปหญิงรูปชายกวักมือไป | เห็นรูปเณรรีบพายเรือเข้ามา |
เห็นรูปชายขี่เรือไปกับเณรนั้น | เห็นรูปเรือกลับเป็นผันคืนไปหา |
เห็นรูปเณรรีบเอาหญิงใส่นาวา | เห็นรูปเณรพายเรือพาเอาหญิงไป |
เห็นรูปชายนั้นไปนั่งอยู่ฝั่งน้ำ | ทำหน้าดำเคล้าสุชลนั้นล้นไหล |
เขียนรูปวาดทำเป็นพลัดกันหญิงชาย | เขียนหญิงนั้นยังไม่ตายอยู่ในเมือง |
พระแลแลดูเรื่องรูปภาพเขียน | ไม่ผิดเพี้ยนจะแจ้งไม่แฝงเฝือง |
แลแล้วตรึกนึกแล้วแลเหลือบชำเลือง | แลดูเรื่องแล้วมาคิดไม่ผิดตัว |
สุชลนัยแทบจะไหลลงโซมพราก | แม่เพื่อนยากอยู่ที่ไหนเล่าทูนหัว |
แล้วทรงอ่านเรื่องจารึกยังนึกมัว | เขาเขียนตัวอักษรเป็นเรื่องราว |
จารึกว่าถ้าผู้ใดได้มาดู | จงรอบรู้ตรึกตรองให้พ้องข่าว |
เราเขียนรูปไว้เป็นหญิงมีเล็บยาว | เดินไต่เต้าออกมาจากพนมไพร |
มาอิดออดกอดตีนอาสภซาก | คือคู่ยากของปาจิตที่ตักษัย |
นางคนนี้ที่ในพื้นใช่อื่นไกล | คืออรพิมอย่าสงสัยเลยผู้ดู |
ปาจิตตายนางร้องไห้ด้วยรักผัว | จึงทุ่มตัวยกตีนขึ้นทูนหู |
ที่รูปชายถือหน้าไม้สมูทู | ออกจากป่าเข้ามาดูนางนงคราญ |
ใช่อื่นไกลเลยนะท่านคือพรานป่า | ที่ยิงฆ่าพระปาจิตเถิงสังขาร |
เราแจ้งจริงที่เป็นหญิงงามสคราญ | เดินตามชายไปไม่นานแล้วขี่ควาย |
นั้นคือว่ากัลยานางเนื้อนิ่ม | เจ้าอรพิมแท้ทีเดียวท่านทั้งหลาย |
งามจำเริญเดินไม่รอดระทวยกาย | พรานจับควายมาให้นางนั้นขี่เดิน |
ที่วาดรูปหญิงชายไปหยุดนอน | ที่หนองบอนบ้านเก่าตะกุดเขิน |
ชายนั้นนอนเลยเตลิดให้เพลิดเพลิน | หญิงนั้นเดินมาฉวยมีดแทงเอาตาย |
คือพรานพาอรพิมไปพักร้อน | พรานก็อ่อนนอนเลยด้วยเหนื่อยหลาย |
นางอรพิมฆ่าพรานบรรลัยวาย | ที่ชายตายนั้นคือพรานนั้นมั่นคง |
เราเขียนรูปไว้เป็นหญิงเดินกลับคืน | มิใช่อื่นคือนางพิมนวลระหง |
มาเถิงซากแล้วก็ซบสลบลง | อันซากผีนั้นคือองค์ของพระไพร |
เราเขียนย้อนที่พังพอนกับงูเห่า | สู้กันเล่ากัดกันจนตักษัย |
มิใช่อื่นคือองค์สหัสนัยน์ | ขบกันตายเทวดาแล้วยากัน |
ก็เป็นคืนฟื้นรอดจากชีวิต | คือโกสิตมาจำแลงให้คมสัน |
เขียนเป็นนางลุกย่างออกไปพลัน | เป็นแม่นมั่นอรพิมไปเอายา |
รูปมาพ่นลงที่บนอาสภผี | รูปคนนี้คืออรพิมอย่ากังขา |
ที่รอดคืนฟื้นนั่งในทันตา | คือปาจิตสุริยาพระจอมไกร |
ที่หญิงชายเดินไปนั้นให้คิด | คือปาจิตอรพิมอย่าสงสัย |
ปาจิตพากัลยาไปเวียงชัย | ที่เขียนเป็นแม่น้ำใหญ่มหึมา |
กับหญิงชายนั่นไปนั่งที่ฝั่งน้ำ | เขาเขียนซ้ำไว้เป็นเรือน้อยนักหนา |
มีรูปเณรนั่งอยู่ท้ายลำนาวา | รูปกวักมือให้เณรมาที่ฝั่งชล |
เราเขียนรูปไว้เป็นเณรพายเรือข้าม | รับรูปชายไปฟากน้ำนั่งฉงน |
เขียนรูปเณรพายเอาเรือมากลางชล | เถลือกถลนรับรูปหญิงใส่เรือไป |
เราเขียนไว้ชายกับหญิงนั้นพลัดกัน | รูปหญิงนั้นอยู่ในเมืองเรืองมไห |
อ่านจารึกแล้วอย่านึกสงสัยใจ | รูปหญิงชายที่ไปติดฝั่งคงคา |
คืออรพิมปาจิตไปติดน้ำ | พระอ่านซ้ำแลดูล้มผวา |
แล้วลุกขึ้นแลเล็งเพ่งลูกตา | ดูจารึกอ่านว่าตามเรื่องไป |
ที่เรือน้อยลอยมาว่าเณรขี่ | รูปซ้ายมีกวักมืออยู่ไหวไหว |
รูปกวักมือคือปาจิตใช่อื่นไกล | กวักมือเรียกเณรมาใกล้ขอขี่เรือ |
รูปเณรมาพาเอารูปผู้ชายนั้น | ลงเรือพลันข้ามแม่น้ำไปข้างเหนือ |
คือเณรริบปาจิตนั้นลงเรือ | เอาข้ามฟากมาไว้ฝั่งให้นั่งคอย |
รูปเรือเณรที่ว่าเห็นไปคืนกลับ | คือเณรกลับคืนมารับนางยอดสร้อย |
รูปหญิงขี่เรือเณรลงเรือพลอย | คืออรพิมนิ่มน้อยเมียพระไพร |
ที่รูปพลัดจะกระจัดให้กระจ่าง | รูปข้ามฟากนั้นไม่พรางอย่าสงสัย |
คือปาจิตอิศเรศผู้จอมไกร | เป็นบุตรชายของภูธรนครพรหม |
รูปสตรีเขียนไว้มีอยู่เมืองใหญ่ | ใช่อื่นไกลจึงจารึกให้เห็นสม |
คืออรพิมนิ่มขนิษฐ์นางทรามชม | นางเอวกลมอยู่เมืองนี้จึงแจ้งมา |
พระอ่านสิ้นในกระบิลเรื่องจารึก | คะนึงนึกเศร้าพะวงหลงผวา |
ร้องไห้โฮโอ้ว่าเจ้าอนิจจา | สุชลนาไหลล้นเหมือนฝนลง |
สะอึกสะอื้นตื้นตันว่าขวัญเนตร | น่าสมเพชแทบชีวิตจะผุยผง |
พี่ท่องเที่ยวทนทุกข์แต่บุกดง | แทบจะปลงชีพล่วงชีวาลัย |
หมื่นระวังครั้นได้ฟังปาจิตร้อง | เข้าประคองจูงข้อมือไม่สงสัย |
หมื่นชัยนาทวิ่งผาดมาว่องไว | ทั้งสี่นายกุมข้อมือแล้วพามา |
เข้าอารามพาไปหาพระสังฆราช | อภิวาทแล้วประนมก้มเกศา |
แล้วทูลตรงแก่พระสงฆราชา | พระถานาจงได้โปรดที่โทษทัณฑ์ |
ฝ่าพระบาทตรัสใช้ให้ข้าเจ้า | ไปอยู่เฝ้าที่ศาลาอย่าผายผัน |
ข้าทั้งสี่รับสั่งระวังพลัน | ก็ชวนกันมั่นระมัดไม่วางใจ |
บุรุษอื่นหมื่นพันมานั่งอยู่ | มาพิศดูก็หาเห็นร้องไห้ไม่ |
บุรุษนี้ดูท่วงทีจะอยู่ไกล | นั่งลงได้ให้กินข้าวแล้วแลดู |
ตั้งพินิจพิศแต่ดูรูปภาพเขียน | ดูไปแล้วยังกลับเวียนสงสัยอยู่ |
ดูที่กลางแล้วยังสวนมาทวนดู | ดูเถิงปลายแล้วมาดูต้นต่อไป |
ดูแล้วดูเล่าเฝ้าพินิจ | ตั้งแต่พิศฉันสังเกตหาหยุดไม่ |
ฉันระวังตั้งแต่ดูไม่วางใจ | พอล้มลงร้องไห้ทรงโศกา |
ดูตื้นตันอั้นหัวอกสะอึกสะอื้น | ลุกขึ้นยืนแทบไม่ได้น่ากังขา |
จึงพาตัวมาถวายใต้บาทา | ได้ทรงทราบซึ่งฝ่าบาทธุลี |
๏ พระสังฆราชแลประภาษเห็นปาจิต | แลพินิจจำได้พระโฉมศรี |
ในใจดิ้นแทบจะสิ้นชีพชีวี | ไม่วายคนก็จะรี่เข้ากอดเอา |
ในใจตรึกหวนรำลึกทำหน้าเสีย | ทูนหัวเมียคิดว่าตายไปเสียเล่า |
แต่เที่ยวหาจนชราเป็นหนวดเครา | พ่อทูนเกล้าพยายามเที่ยวตามเมีย |
แล้วข่มขื่นกลืนโศกเสียสละ | ตัวเป็นพระอย่างพึงนึกพระจะเสีย |
ผัวมาคืนคงได้คืนกลับเป็นเมีย | แล้วกลืนกลั้นกลัวเกลียให้โศกกลาย |
จึงตรัสว่าดูราทั้งสี่เฒ่า | ไปอยู่เฝ้าก็ได้สมอารมณ์หมาย |
มิเสียแรงที่เราแต่งเป็นหมื่นนาย | ควรจะได้ซึ่งรางวัลท่านทั้งปวง |
พระราชาสังฆราชจึงตรัสว่า | เณรอย่าช้าลงไปบอกท่านข้าหลวง |
สังฆรีที่รักษาเงินกระทรวง | เอาเงินตราผ้าม่วงที่เนื้อดี |
เณรรับสั่งพลางวิ่งมาไม่ช้า | จึงกล่าวว่าบอกพลันขมันขมี |
นี่แน่ท่านพนักงานสังฆรี | เจ้าคุณศรีสังฆราชให้จัดไป |
เงินสี่ชั่งทั้งผ้านั้นสี่ผืน | ที่เนื้อลื่นอย่างดีพื้นม่วงไหม |
สังฆรีไม่ช้ามาโดยไว | จัดผ้าม่วงเงินใส่ตะพายมา |
พระสังฆราชจึงตรัสว่าสังฆรี | เฒ่าทั้งสี่มีคุณเรานักหนา |
เราวานใช้ได้เหมือนใจที่จินดา | เงินแลผ้านั้นให้เขาจึงสมควร |
พระสงฆ์ท่านจึงรางวัลให้คนละชั่ง | กับอีกทั้งผ้าม่วงงามสงวน |
ทั้งสี่เฒ่ารับรางวัลสำราญรวล | พากันยวนแย้มยิ้มแล้วกริ่มใจ |
พากันว่าดิฉันพากันระมัด | ตั้งแต่ผลัดกันระวังไม่ไปไหน |
คนหนึ่งว่าเจ้าคุณสั่งไม่วางใจ | คนหนึ่งไวเจ้าคุณสร้อยคอยระวัง |
คนหนึ่งเวรแต่ไม่เห็นคอยจะวิ่ง | คนหนึ่งว่าฉันไม่นิ่งชะแง้หลัง |
ตาก็ดูหูก็พลอยคอยระวัง | ทั้งสี่เฒ่าอวดอ้างยกย่องตัว |
พากันลามาจากพระสังฆราช | ออกจากวัดพูดกันแล้วยิ้มหัว |
หมื่นระวังว่าคราวนี้ข้าตั้งตัว | สิบตำลึงก็ไม่กลัวคงช่วยเอา |
หมื่นชัยนาทว่าข้ามาดแต่ม่ายสวย | ถ้าแม่ม่ายก็ไม่ช่วยจะช่วยสาว |
หมื่นอุดมว่าอารมณ์ในใจเรา | แม่ร้างสาวก็ไม่เลือกคงช่วยมัน |
หมื่นคนหนึ่งว่าอย่าอึงดูเหมือนอวด | ว่าจะช่วยหน่อยจะชวดไม่ได้ฉัน |
ขโมยรู้มันจะปองของสำคัญ | จะชวดฉันหน่อยจะเป็นเถนล้วงโอ |
ทั้งสี่เฒ่าเดินเข้ามาเถิงบ้าน | ที่เรือนใครไปสำราญด้วยสุโข |
เอาเงินตราผ้าแจงแกพิริโย | ทั้งปัตโตยินนิยมดังบรรยาย |
๏ จะกล่าวกลับจับถึงเรื่องพิมสังฆราช | เลิศฉลาดคิดมุ่งได้สมหมาย |
จำเดิมแต่พบพระสามีไม่เว้นวาย | มโนในนิ่งนึกแล้วตรึกตรอง |
จะคิดอ่านฉันใดนะอกเอ๋ย | จะบอกเผยพูดออกเป็นคำสอง |
แต่ก่อนมาว่าเป็นชายในทำนอง | จนแซ่ซ้องสรรเสริญได้บวชเรียน |
มีอุปัชฌาย์อาจารย์ได้ทานถาม | เป็นคำงามสาธุการประสานเศียร |
ปุริโสท่านก็สวดเมื่อบวชเรียน | ท่านถามไถ่มิได้เพี้ยนในถ้อยคำ |
ท่านถามว่าถ้าจะแปลก็แปลได้ | ปุริโสถามว่าชายฤๅไถ่ถาม |
ก็บอกท่านว่าเป็นชายในใจความ | เห็นสมคำท่านจึงบอกให้บรรพชา |
อันรูปกายเองแต่ก่อนก็หญิงแท้ | ด้วยบุญแกอธิษฐานเที่ยวตามหา |
จึงกลับกลายมาเป็นชายตามสัจจา | เถิงบรรพชาท่านก็ถามเป็นความตรง |
กายเป็นชายจึงได้บวชไม่สมมุติ | บริสุทธิ์มิได้อำในคำสงฆ์ |
ก็บริสุทธิ์ควรเป็นบุตรพระชินวงศ์ | จนยืนยงมาเป็นสังฆราชา |
คนออกชื่อลือฉาวไปทั่วทิศ | มีสานุศิษย์บวชให้ไว้หนักหนา |
บอกให้ถือสมาบัติปัสสนา | คันธุระในเอกาธุดงค์เดิน |
แต่ศิษย์สาถ้าจะว่าแต่พันร้อย | มิไช่น้อยทุกพาราพาสรรเสริญ |
จะกลับกลายกายเป็นหญิงไม่จำเริญ | สานุศิษย์ที่ยังเพลินนั้นมากมี |
ถ้าเห็นกายกลายเป็นหญิงเสียจริงแท้ | พวกศิษย์นั้นก็จะแซ่กันแตกหนี |
จะเสียใจหายศรัทธาทั้งบูรี | จะสึกลาพากันหนีจากพรหมจรรย์ |
ถ้าจะกลายกายเป็นหญิงจริงจะได้ | อย่าอยู่ไปเสียให้พ้นเข้าไพรสัณฑ์ |
ถ้าอย่างนี้เห็นจะเลิศประเสริฐครัน | ได้ผ่อนผันไหว้ลาบรรดาโยม |
ครั้นคิดแล้วแผ้วผ่องเห็นพ้นโทษ | ให้ปราโมทย์โสมนัสภิรมย์สม |
จึงเรียกหาพระปาจิตว่าท่านโยม | ท่านตรอมตรมโทมนัสด้วยเหตุใด |
เข้ามานั่งในกระฎีสิประสก | ระงับอกดับโศกให้ใจใส |
พระปาจิตมิได้คิดสะดุ้งใจ | ในจิตหมายว่าผู้อื่นไม่เคลือบแคลง |
ด้วยตัวนางสิมากลายเป็นชายพระ | สิ้นวิระมิได้ตรีกจะนึกแหนง |
เมื่อท่านเรียกท่านการุณย์ว่าบุญแรง | ก็ลุกเลื่อนจากตำแหน่งเข้านั่งใน |
พิมสังฆราชตรัสว่าเด็กสู่หามาก | ไสเชี่ยนหมากยกเชี่ยนหมากเอาไปให้ |
กินหมากพลางนั่งเล่นให้เย็นใจ | ดูนั่งรายแต่ลูกศิษย์เต็มกระฎี |
บ้างก็เขียนบ้างก็เรียนซึ่งสนศัพท์ | บ้างเพิ่งจับเล่าสุดอยู่ศัพท์สี่ |
เสียงแซ่วแซ่บ้างก็แปลเรียนคัมภีร์ | ดูมากมีไปแต่เช้าจนคราวเพล |
ครั้นยามเย็นสุริยาลงค่ำพลบ | พระสังฆราชคิดปรารภด้วยยังเห็น |
แลดูหน้าพระปาจิตไม่อยู่เดน | ดูหน้าเสียแล้วกระเซ็นหลั่งน้ำตา |
หมู่ลูกศิษย์ไปสถิตอยู่ตามที่ | เข้ากุฎีบ้างก็เล่าบ่นสิกขา |
บ้างก็บ่นให้จำเนียรที่เรียนมา | อึงคะนึงในมหาพระอาราม |
พิมสังฆราชตรัสเรียกพระปาจิต | ท่านบัณฑิตมานี่หน่อยข้าขอถาม |
เป็นสัจจังท่านจงแจ้งแสดงความ | เหตุไฉนท่านจึงร่ำโศกาลัย |
ทูนกระหม่อมจอมบพิตรปาจิตเจ้า | ไม่เอื้อนอำความเก่าเล่าขยาย |
ว่าเจ้าคุณดิฉันวุ่นแทบวางวาย | เสียน้ำใจคิดรำคาญสงสารเมีย |
ด้วยพลัดพรากจากกันฉันจึงคิด | เที่ยวตามติดสืบหาประดาเสีย |
ฉันเศร้าใจเสียใจเสียดายเมีย | ถ้าตายเสียนั้นสุดคิดจะติดตาม |
นี่ยังไม่ตายวายชีวิตจำจิตจาก | เป็นวิบากแล้วเจ้าคุณมาไถ่ถาม |
ได้เจ็ดปีแล้วแต่หาพยายาม | เที่ยวสืบถามแต่ฉันไปหลายพารา |
พระเล่าพลางหลั่งน้ำพระชลเนตร | เอาผ้าเช็ดก็ไม่แห้งยิ่งโหยหา |
พระเล่าพลางร้องพลางหลั่งน้ำตา | แต่บุกดงพงป่าแทบตัวตาย |
เถิงตัวตายไม่เสียดายเลยชีวิต | ในใจคิดรักเมียไม่เหือดหาย |
แม่เพื่อนยากด้วยเจ้าจากกระจัดกระจาย | เวรอะไรของดิฉันมาทันตา |
มาติดน้ำข้ามไม่ได้เมียกับผัว | ด้วยความกลัวน้ำกว้างที่ขวางหน้า |
อยู่ฟากนี้แลฟากโน้นสุดลูกตา | เห็นนาวาเณรขี่มาดีใจ |
ฉันกวักมือเณรเข้ามาให้พาข้าม | จะข้ามพร้อมกันทั้งสามลงไม่ได้ |
ให้เมียนั่งคอยอยู่ฝั่งฉันข้ามไป | อยู่ฟากโน้นเณรจึงกลับมารับเมีย |
เณรมารับไม่เห็นกลับมาหาฉัน | พอตะวันนั้นก็ย่ำลงค่ำเสีย |
คอยไม่เห็นเณรก็หายหายทั้งเมีย | ฉันตายเสียนั้นไม่ได้จึงกายยัง |
ใครเขาเป็นเช่นอย่างฉันบ้างฤๅไม่ | ทั้งหลายตายเขาจึงจากได้ซากฝัง |
นี่เมียฉันจากฉันไปไม่หน่ายชัง | ฉันจึงซังติดตามมาตามบุญ |
เที่ยวค้นคว้าหาในป่าหิมเวศ | ทุกขอบเขตเนินลำเนาภูเขาขุน |
ดวงชีวิตมิได้คิดเสียเลยคุณ | เป็นด้วยบุญพาประสบให้พบทาง |
ตามมรรคาเดินมาเห็นหมู่เด็ก | แต่เล็กเล็กเลี้ยงควายลายสล้าง |
จึงถามบ้านเด็กแจ้งไม่แพลงพราง | เด็กนำทางมากระท่อมพวกชาวนา |
ชื่อตาเพชรดีกระไรช่างใจบุญ | แกมีคุณอยู่กับฉันนั้นนักหนา |
ยินสำเนียกแกก็เรียกให้สูบยา | ฉันเข้าไปหาไถ่ถามนามบูรี |
แกบอกว่านามพาราชื่อเมืองจัมปาก | มีเมืองขึ้นนั้นก็มากมีศักดิ์ศรี |
แกเล่าฉันสารพันนั้นมากมี | ในบูรีบอกว่าสร้างศาลาทาน |
เจ้าชีวิตคิดทำถวายพระ | เสียสละโภชนากระยาหาร |
ท่านเขียนรูปไว้เป็นเรื่องราวนิทาน | แสนสำราญใหญ่โตอันโอฬาร์ |
แต่ผู้คนกล่นเกลื่อนดูกลุ้มกลาด | มิได้ขาดบุญมากเป็นหนักหนา |
พวกก่อนไปให้หลังพวกหลังมา | อยู่อัตรามิได้เว้นทิวาวัน |
ฉันลามาแกจึงพามาบอกทาง | แกกระจ่างให้รู้จักที่ผายผัน |
แกบอกให้ตะวันบ่ายก็เถิงพลัน | จึงจากกันมาแต่ตาเพลาเพล |
เถิงพาราสุริยาเย็นยะย่ำ | พระสมภารกวาดอารามพอแลเห็น |
เข้าไถ่ถามได้ซึ่งความก็พอเย็น | เที่ยวดูหาก็ไม่เห็นท่าศาลา |
เที่ยวไถ่ถามตามชาวเมืองเขาแจ้งบอก | เที่ยวทุกกรอกถามเกริ่นแต่เดินหา |
เถิงสามวันจึงได้พบท่าศาลา | แทบเลื่อยล้าเอวหลังไม่นั่งลง |
ลงอาบน้ำคลายเหนื่อยหิวเลื่อยล้า | ขึ้นศาลาแลพินิจพิศวง |
ทั้งสี่เฒ่าให้กินข้าวจิตดำรง | เหนื่อยก็หายคลายลงค่อยมีแรง |
แลดูฉากที่เขาเขียนเป็นราวเรื่อง | เป็นบ้านเมืองแจ้งความตามตำแหน่ง |
บอกชื่อเมืองราวกะรู้ไปดูแจง | ไม่เคลือบแฝงทุกเยื่องในเรื่องตัว |
ออกชื่อว่าปาจิตอิศราช | แล้วคั่นขาดเขียนบอกว่าเป็นผัว |
นางอรพิมว่าเป็นเมียไม่มืดมัว | ช่างเหมือนเข้าที่ในตัวดิฉันเอง |
ดูจนสุดในวิมุตติที่สงสัย | เต็มหัวใจจึงน้ำตาได้โหรงเหรง |
ไม่เพี้ยนไพล่ข้างกระไรเหมือนตัวเอง | คิดวังเวงอยู่ไม่เว้นไม่วางใจ |
เป็นอย่างนั้นดอกดิฉันจึงโทมนัส | แต่กลั้นกลัดกลืนน้ำตาไม่ให้ไหล |
ก็ไม่ฟังขืนแต่หลั่งความอาลัย | พระร้องไห้เล่าพลางหลั่งน้ำตา |
พระสังฆราชอรพิมผู้เป็นเจ้า | ได้ฟังเล่าจริงจังไม่กังขา |
ในใจร้อนเหมือนหนึ่งไฟไหม้อุรา | ความโศกาก็บังเกิดขึ้นกับกาย |
ด้วยยังเป็นปุถุชนหินชาติ | ไม่สามารถที่จะดับให้โศกหาย |
ด้วยราคกามนั้นยังลามอยู่ทั่วกาย | ถ้าเว้นไว้แต่เพียงขาดมาตุคาม |
พระพุทธองค์เมื่อยังหลงในไฟราค | บารมีท่านก็มากเหลือหาบหาม |
เสวยชาติเป็นนักปราชญ์เที่ยวปราบปราม | ทรงพระนามชื่อพระเพศเวสสันดร |
อีกชาติเดียวก็จะได้ไปเป็นพระ | ยังวิระให้โมโหเข้าหวงหอน |
สละลูกให้ชูชกภิกขาจร | เฒ่าแสนงอนเฆี่ยนตีต่อหน้าตา |
ท่านทรงพรตยังว่าอดอยู่ไม่ได้ | ยังนึกร้ายว่าจะตามไปเข่นฆ่า |
นี่หากว่าท่านประเสริฐเลิศปัญญา | จึงปราบปราทำสังขารให้พลันวาย |
นี่สังฆราชก็ยังชาติในผู้หญิง | ยังหนาแน่นไหนจะนิ่งสงสารหาย |
พระชลนัยไหลหลั่งลงพรั่งพราย | ความอาลัยคิดเถิงยากที่จากกัน |
กลัวจะแคลงแล้วจึงแกล้งปราสัยกล่าว | ได้ฟังเล่านึกสังเวชในใจฉัน |
คิดสงสารพักตร์พวงแม่ดวงจันทร์ | ถึงอกใครก็เหมือนกันดอกท่านเธอ |
แล้วสังฆราชแกล้งไถลปราสัยถาม | เที่ยวเซ่อตามเพื่อนนอนหมอนเสมอ |
หาเอาใหม่ไม่ได้เจียวฤๅเธอ | จึงเซ่อเป้อมาให้ยากลำบากตัว |
แต่พลัดกันมาก็นานเจ็ดปีเศษ | ข้าเห็นเหตุว่าโฉมฉายจะได้ผัว |
เที่ยวตามเขาไปเปล่าเปล่าน้ำจิตพัว | มางวยงงหลงมัวอยู่งมงาย |
พระโฉมงามตอบคำพระสังฆราช | ผู้หญิงอื่นถ้าจะมาดก็สมหมาย |
แต่ไม่เหมือนเพื่อนชีวิตคิดเสียดาย | ไม่เว้นวายหวนถึงคะนึงนวล |
จะได้ไม่ถึงจะให้สักหมื่นแสน | มาเทียมแทนก็ไม่เหมือนเพื่อนสงวน |
จะเอาใจมาแต่ไหนมายียวน | ไม่บังควรคนจะว่าเป็นน่าอาย |
อนึ่งน้องเหมือนอย่างทองที่สูงศรี | ร่วมชีวีคู่ชีวาตม์ที่มาดหมาย |
แม่เพื่อนร้อนเพื่อนเรือนเพื่อนสบาย | จะตามหากว่าจะวายชีวาวัน |
ยิงร่ำว่าชลนาก็ยิ่งไหล | น่าน้อยใจใจยิ่งคิดจิตกระสัน |
เวรใดที่ได้ทำมาตามทัน | มาแกล้งกลั่นจกเอาทรวงดวงหัททัย |
ฝ่ายว่าพิมสังฆราชผู้เป็นเจ้า | ได้ฟังเล่าชลนังก็หลั่งไหล |
แล้วตริตรึกนึกหมองมโนใน | โอ้พระไพรน้อยฤๅจิตช่างคิดเมีย |
เป็นแต่ตรึกหวนรำลึกไม่ออกปาก | แต่กลั้นกลืนขืนหักอารมณ์เสีย |
แล้วพูดกลบลบให้เลือนที่เงื่อนเยีย | แต่ฉันฟังก็ไห้เสียน้ำใจครัน |
ท่านรักเมียนี้นักหนาท่านปาจิต | จะตามติดกว่าจะวายชีวาสัญ |
ช่างกระไรไม่เสียดายชีวาวัน | เมียของท่านงามสคราญสักปานใคร |
พงศ์กษัตริย์ตอบอรรถพระสังฆราช | ใจฉันมาดก็ว่าชอบอัชฌาสัย |
แต่ว่าคนสิบคนสิบหัวใจ | คนอื่นไกลเล็งไม่เห็นในใจเลย |
ที่ตัวฉันใจตาว่างามพริ้ง | ย่านผู้หญิงอย่ามาเปรียบเลยคุณเอ๋ย |
ทั้งลักษณะกิริยาสง่าเงย | นางคู่สร้างแต่ก่อนเคยด้วยกันมา |
พยายามอตส่าห์ตามแม่เนื้อเหลือง | มาหลายบ้านหลายเมืองแต่เที่ยวหา |
สาวสตรีนั้นก็มีทุกพารา | ไม่ชื่นชอบต้องชะตาเลยสักคน |
ถ้าชอบใจไหนจะได้มาเถิงนี้ | มีเมียมีได้เสียแล้วสักสิบหน |
เถิงพบพักตร์ก็ไม่รักแต่แลยล | จิตกังวลแต่เพื่อนยากที่จากไป |
พระสังฆราชอรพิมยิ้มฉอเลาะ | เมียของโยมเห็นจะเหมาะงามใจหาย |
จึงตามหาอยู่ไม่ลืมให้ปลื้มใจ | พูดไถลมิให้แคลงกินแหนงเลย |
แล้วแสร้งว่าน่าเมตตาที่อกท่าน | ทุกข์อกใครก็เหมือนกันดอกท่านเอ๋ย |
แล้ววาจีทีเป็นห้ามพระทรามเชย | หยุดเสบยเสียเถิดท่านกลั้นน้ำตา |
เมียที่หายท่านเสียดายเต็มทีหรือ | ฤๅแกล้งกล่าวใจไม่ซื่อมารษา |
ทำทีถามจะฟังความกิริยา | ฤๅเที่ยวหาอยากได้ใหม่ในใจจริง |
ถ้าบอกตรงคงจะได้ดอกเมียเก่า | อย่าโศกเศร้าไปเลยท่านเถิงผู้หญิง |
จะนำพาไปเที่ยวหาอย่าประวิง | จงไขแจ้งให้เห็นจริงอย่าทุกข์ใจ |
พระปาจิตอิศรินปิ่นสงสาร | จึงกล่าวรสพจมานสนองไข |
ฉันบอกคุณมาก็เหลือไม่เชื่อใจ | ฤๅดำน้ำซ้ำทั้งไฟมาทดลอง |
ถ้าสงสัยจะถวายพิสูจน์สัตย์ | ไม่ข้องขัดถ้าว่าใจเป็นใจสอง |
กุศลสร้างมาแต่หลังได้สมปอง | ยกประคองเคนถวายให้เจ้าคุณ |
ได้เมตตาพาไปพบนพเก้า | จะได้กุศลเทียมเท่าภูเขาขุน |
เอ็นดูเถิดผู้เป็นเจ้าจงเอาบุญ | ที่บุญคุณฉันไม่ลืมจนบรรลัย |
ฝ่ายอรพิมที่ได้ชื่อพระสังฆราช | เห็นปาจิตคิดสวาทพ้นวิสัย |
แล้วขุกคิดนึกพินิจมโนใน | คู่ชีวิตคิดแต่ใดแต่เดิมมา |
พระเพื่อนยากจากกันมาปานนี้ | ไม่คลายคลี่สักเท่ากึ่งพระเกศา |
รักไม่เบื่อความเอ็นดูคู่ชีวา | เที่ยวตามมาก็จนพบประสบกัน |
นางตรึกตราจำจะลาจากบรรพชิต | ด้วยสามิตตามมาพบให้โศกศัลย์ |
เข้าไปหาลาท้าวจ้าวชีวัน | แจ้งสำคัญว่าพระพี่นั้นตามมา |
แต่พูดกันมาประมาณสามยามเศษ | พวกรักษาพระนิเวศพระนาถา |
เสียงฆ้องยามย่ำทุ่มนาฬิกา | สกุณาไก่ขันกระชั้นยาม |
จนจวบจวนควรจะได้อรุณรุ่ง | พระปาจิตไม่สะดุ้งในคำถาม |
คะเนใจหมายว่าเป็นชีพราหมณ์ | แต่ผ่องใสใจนั้นงามจะพบเมีย |
จึงวอนว่าข้าแต่ท่านพระผ่านเกล้า | ผู้เป็นเจ้าโปรดโยมอย่าลืมเสีย |
จงนำพาฉันไปหาให้เห็นเมีย | ไม่ลืมลบกลบเสียซึ่งคุณบุญ |
จิตพระองค์จะประสงค์สิ่งอันใด | จะขวนขวายหาถวายมิให้สูญ |
ได้โปรดเกศเมตตาอานุกูล | บุญสมภารจะมาพูนยิ่งหนักไป |
ฝ่ายว่าพิมสังฆราชจึงตรัสว่า | ท่านปรีดาใจเถิดจงผ่องใส |
จะจวนแจ้งแสงกระจ่างอโณทัย | จะขาดกิจพระวินัยสิกขาวร |
พิมสังฆราชจึงสะพัก๓๐ขึ้นครองผ้า | แล้ววันทาพุทธองค์ผู้ทรงสอน |
สานุศิษย์มาบังคมประนมกร | หมอบสลอนดูออกกลาดดาษกระฎี |
ลูกวันทาพากันว่าษมาโทษ | ตามเบื้องบทในกระบิลพระชินศรี |
เป็นสัมมาคารวะด้วยวาจี | สวดพิธีด้วยพาหุงถวายพร |
เป็นนิรันดร์มาอย่างนั้นไม่วายเว้น | ชำนาญเจนสานุศิษย์ได้ฝึกสอน |
อยู่เนืองนิตย์มิได้ผิดสิกขาวร | แต่สั่งสอนไว้ในทางประเพณี |
ครั้นรุ่งเช้าผู้เป็นเจ้าพระสังฆราช | รับอังคาสฉันจังหันขมันขมี |
แล้วภัตตาโมทนาด้วยสัพพี | สำเร็จแล้วเข้ากระฎีด้วยตรองใจ |
แล้วครองผ้าเรียกหาลูกศิษย์ตาม | ตะพายย่ามเข้าไปสู่โรงนิฉัย |
จ้าวพาราทัศนาเห็นแต่ไกล | ตรัสประภาษว่านั่นใครเหวยเสนา |
พวกข้าเฝ้าก้มเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรจงได้ทราบละอองฝ่า |
พระพุทธองค์เจ้าสงฆ์พระราชา | กรุงจัมปากตรัสว่านิมนต์คุณ |
พระราชาขึ้นไปนั่งบัลลังก์อาสน์ | แต่เสื่อลอดปูลาดเขนยหนุน |
พระกษัตริย์ตรัสประภาษว่าเจ้าคุณ | ยังสมบูรณ์ด้วยโรคาไม่มาเบียน |
พระสังฆราชจึงโอภาษว่าทรงศร | ด้วยถาวรอันตราไม่พาเหียร |
แต่ขัดข้องด้วยพี่น้องมาเยี่ยมเยียน | จำนงเนียรมาถวายพระพรลา |
ปางพระองค์ทรงแผ่นดินปิ่นพิภพ | ผู้เลิศลบกรุงจัมปากพระนาถา |
ได้ฟังสารสังฆราชพระราชา | มาอำลาจอระจรจากบูรี |
พระเสียใจดังหนึ่งใครมาควักล้วง | เอาดวงจิตออกจากทรวงพระโฉมศรี |
พูดไม่ออกอัดอั้นตันนาภี | พระขืนมีเทวราชตรัสอุบาย |
ว่าดูราข้าแต่ท่านอาจารย์เจ้า | จงโปรดเกล้าโยมก่อนอย่าผันผาย |
โยมก็แก่คร่ำคร่าชรากาย | โยมนี้หมายฝากชีวาแลกายัง |
เป็นญาติวงศ์พงศ์เผ่าเจ้าคุณฤๅ | ท้าวทอดใจร้องว่าฮือโอทุกขัง |
ไม่สังเวชเคยมาเทศน์ให้โยมฟัง | จงหยุดยั้งอีกวรรษาจึงคลาไคล |
พระสังฆราชฟังอรรถพระทรงศร | ถวายพรว่าบพิตรปิ่นมไห |
แต่จากโยมจากสถานมานานไกล | จะแก่กายลงบรรลัยไม่เห็นเลย |
องค์มหาพระบพิตรก็คิดแสน | ก็เหมือนแม้นอย่างว่าโยมบพิตรเอ๋ย |
มาเผื่อแผ่พึ่งบุญจนคุ้นเคย | โยมข้างโน้นเหมือนอย่างเฉยไม่รำพา |
โยมข้างนี้ปรีดาเป็นผาสุก | โยมข้างโน้นจะได้ทุกข์ฤๅสุขา |
จะไปเยี่ยมพอได้รู้เต็มหูตา | จำเริญพรจะขอลาครรไลไป |
อนึ่งเล่าเผ่าพันธุ์มาตามพบ | จะหลีกหลบก็ไม่ควรผิดวิสัย |
พระภูบาลจงสำราญอย่าพานภัย | โรคาไข้อย่าบังเกิดในกายี |
ธิบดินทร์ปิ่นจัมปากผู้ทรงฤทธิ์ | เห็นสุดคิดที่จะห้ามพระสมี |
จึงตรัสว่าพระบิดาชนนี | ไม่รู้ที่โยมจะห้ามต้องตามใจ |
แต่ทว่าถ้าแม้นไปมีผาสุก | จงคิดขุกบ้างเถิดโยมอย่างลืมไหล |
อายุฉันจะอยู่นานสักเท่าไร | โรคาไข้ก็มาเบียนมาบีฑา |
ฉันจนจิตสุดที่คิดจะหาเหตุ | ด้วยชนนีบิตุเรศเกิดเกศา |
ถ้าบอกไปโยมมิให้ครรไลลา | เหมือนแก้วตาโยมกระเด็นไม่เห็นทาง |
บัดเจ้าเอยเคยมาเทศน์มาสั่งสอน | พระสุรเสียงอ่อนช้อนทั้งกว้างขวาง |
ช่างแจ่มแจ้งรู้สำแดงในปัญจางค์ | คราวนี้จะเย็นอ้างว้างเหมือนลมวี |
ถ้ายังอยู่โยมไม่รู้ก็สอนบอก | มาไขแก้แปลออกอย่างนั้นอย่างนี้ |
ทำอย่างนั้นได้สวรรค์สวัสดี | ทำอย่างนี้จะไปตกนรกานต์ |
พระโพธิ์ทองเป็นที่ร่มของโยมเอ๋ย | จะพาโยมลึกไปเลยข้ามสงสาร |
ช่างอดใจมีแต่หมายพระนิพพาน | ช่างมีมารมาประจวบให้จนใจ |
ชาวพาราทุกประชาจันต์ประเทศ | ทั้งไตรเพทเวทมนตร์ก็บอกให้ |
ขจรชื่อลือนามทุกกรุงไกร | ทั้งเหนือใต้พากันคล่ำมาร่ำเรียน |
เหมือนแว่นฟ้าสรวงพาราของโยมดับ | แต่นับวันแต่จะลับแล้วทูนเศียร |
พระเอามือถือเอาธูปประทีปเทียน | ประจงเจียนแล้ววันทาษมาภัย |
พระสังฆราชยื่นพระหัตถ์คำรพรับ | ประจงจับแล้วก็อวยพระพรถวาย |
ว่าภูบาลจงสำราญประกอบกาย | อันตรายโรคาอย่ายายี |
ครั้นอนุญาตสังฆราชไม่นิ่งช้า | ถวายพรอำลาจ้าวกรุงศรี |
จอระจันมาพระคันธกุฎี | เผยวจีเรียกลูกศิษย์มาสั่งความ |
บรรดาศิษย์ที่สถิตอารามนั้น | ก็บอกกันพรั่งพรูมาหมู่หลาม |
ดูหมอบกลาดดาษกระฎีทั้งชีพราหมณ์ | พิมสังฆราชสั่งความด้วยงามใจ |
ดูกรท่านแต่บรรดาสานุศิษย์ | ข้านี้คิดเอ็นดูพ้นวิสัย |
แต่เดี๋ยวนี้มีธุระจะต้องไป | ด้วยจนใจคิดกังวลเถิงชนนี |
อนึ่งเล่าเผ่าพี่น้องมาตามหา | มาพบเข้าจำจะลาครรไลหนี |
ค่อยอยู่เถิดให้ประเสริฐสวัสดี | ทุกข์อย่าได้ภัยอย่ามีมาแผ้วพาน |
ถ้ารักข้าให้อตส่าห์รักษากิจ | จงตั้งจิตปลงอารมณ์พรหมวิหาร |
ปัจจัยสินบิณฑบาตเป็นประธาน | อย่าเกียจคร้านร่ำเรียนกันต่อไป |
ที่ผู้ใหญ่อย่าได้ใส่โทษผู้น้อย | ที่ผู้น้อยให้สัมมาอัชฌาสัย |
อย่าให้ผิดที่ในกิจพระวินัย | รักษาตัวกลัวภัยในเวจี |
แล้วมอบหมายที่ผู้ใดมากวรรษา | เป็นครูบาจัดแจงเป็นศักดิ์ศรี |
วรรษามากองค์ไหนแน่แก่บาลี | ให้เป็นที่สังฆราชวินัยธรรม |
องค์ไหนแน่แก่ในทางบรรพชิต | รักษากิจสังฆกรรมนั้นขันขำ |
ให้รับเป็นอุปัชฌาย์วาจาวากรรม | จะได้ทำบรรพชิตกันต่อไป |
ที่โยมญาติเป็นกระหัตได้อุปถัมภ์ | เที่ยวสั่งความอำลาจนผ่องใส |
บรรดาศิษย์ญาติโยมให้ตรมใจ | ความอาลัยต่างร่ำด้วยคำวอน |
โอ้พระครูไม่เอ็นดูลูกกำพร้า | มาทิ้งข้าปีกหางก็ยังอ่อน |
พึ่งร่ำเรียนไม่ชำเนียรในบทกลอน | ตัดอาวรณ์ช่างไม่ผูกกับลูกเลย |
พวกเณรเถรว่าไม่เห็นเถิงเพียงนี้ | อยู่ดีดีว่าจะไปก็ไปเฉย |
อกของลูกนี้จะช้ำเหมือนหนามเตย | จะไปเลยฤๅจะกลับมาวัดคืน |
พวกหลวงชีว่าเรานี้เคยรับศีล | ประนินทินมิได้ขาดเคยฝ่าฝืน |
พวกหลวงตาว่าหลวงยายคงแป้นปื้น | ทำหน้าชื่นเข้ามาผลอของ้อเรา |
พวกหลวงยายว่าอะไรเถนสิผลอ | ไม่ของ้ออย่ามาเยาะเลยเถนเฒ่า |
พวกหลวงตาว่าไม่ง้อพอทำเนา | ข้าแกล้งเย้าพูดฉอเลาะเยาะหลวงยาย |
หลวงยายยังว่าข้าชังพวกตาเถน | มาพูดเล่นหน้าฉะลิ้นพวกฉิบหาย |
เขาทุกข์ร้อนด้วยเจ้าคุณอยู่วุ่นวาย | มาเย้าเยาะเป็นหน้าอายหน้าอัปรีย์ |
ที่พวกพราหมณ์ว่าอารามจะสงัด | จะเย็นวัดจะไม่มีซึ่งราศี |
พวกบุเรียน๓๑ว่าเถิงกระไรอีกสักปี | เรียนคัมภีร์ยังไม่หมดยังมากมาย |
พวกโยมวัดว่าประหลาดอะไรนี่ | อยู่ดีดีท่านจะไปน่าใจหาย |
โอ้เจ้าคุณคิดถึงคุณแสนเสียดาย | เคยจุดเทียนเก็บดอกไม้มาบูชา |
พวกผ้าขาวว่าโอ้เจ้าพระสังฆราช | เคยโอภาษสั่งสอนให้ศึกษา |
แต่นี้ไปไม่มีใครจะรำพา | มาด่าว่าตักเตือนให้ร่ำเรียน |
พวกลูกศิษย์ต่างคนคิดอาลัยนัก | เถิงครูพักยอกรขึ้นเหนือเศียร |
เอาข้าวตอกดอกไม้ประทีปเทียน | มาไหว้นบจบเศียรขอษมา |
ฝ่ายแม่นิ่มอรชรอมรแม่ | เจ้ารู้แน่แจ้งว่าองค์พระนาถา |
พระสังฆราชจะนิราศจากพารา | นางจัดหาสิ่งของให้มากมาย |
เครื่องจันอับพลับจีนทั้งส้มจุก | ใส่สมุกจัดแต่งบรรจงถวาย |
ขนมโก๋ทุเรียนกวนน้ำตาลทราย | ด้วยงามใจนิ่มขนิษฐ์คิดเถิงคุณ |
ผ้าไกรแลแพรสีมะเขือสุก | เมื่อเดินทางห่มบรรทุกเบาเหมือนนุ่น |
จินจาวเพลาะห่มนอกดอกพิกุล | ร่มญี่ปุ่นรองเท้าได้เดินทาง |
อีกไกรเทศเปลือกกระเทียมเอี่ยมสะอาด | ถุงย่ามดอกเบญจมาศหักทองขวาง |
แม่จัดพลางชลนัยนางไหลพลาง | ด้วยว่านางคิดว่าม้วยท่านช่วยคืน |
กรวยดอกไม้เทียนประทีปนางรีบแต่ง | นางจัดแจงด้วยว่าใจนั้นฝ่าฝืน |
ระทวยองค์แทบไม่ทรงพระกายยืน | แม่งามชื่นคิดสลดระทดใจ |
ครั้นจัดแจงแต่งสำเร็จมิได้ช้า | เรียกสาวใช้โขลนจ่ามาไสว |
ให้ขนแบกเครื่องบรรดานั้นคลาไคล | แม่ทรามวัยทรงพระวอแล้วหามมา |
เถิงเขื่อนวัดหยุดพระวอรอลงไว้ | แล้วคลาไคลเดินตรงเข้าไปหา |
พิมสังฆราชแลถนัดทัศนา | จึงทักว่าจอมสีกาฉันเสียดาย |
นางบังอรยอกรประสานกราบ | ศิโรราบยกพานผ้าเข้ามาถวาย |
นั่งก้มหน้าชลนานางพร่างพราย | ระทวยกายก้มเกศเช็ดน้ำตา |
พระสังฆราชตรัสว่าสีกาแม่ | ฉันจอแจวุ่นหัวใจแทบสังขาร์ |
ด้วยเผ่าพงศ์วงศ์พี่น้องเขาตามมา | ละลังละล้าคลุ้มอุรังระทวยกาย |
ครั้นจะอยู่คิดดูให้แน่นตับ | ครั้นจะไปก็ให้คับหัวใจหาย |
ด้วยห่วงหน้าเข้ามาทุกข์ผูกเอากาย | ยังห่วงหลังซ้ำมาไพล่ผูกเอาคอ |
ด้วยน้องพี่ชนนีนั้นก็คิด | ยังซ้ำจิตมาพะวงข้างนี้หนอ |
ด้วยโยมญาติที่มีคุณนั้นมูนมอ | ให้คับคอเหลือขนาดแทบขาดตาย |
คิดด้วยโยมอยู่ข้างนี้ก็สุดคิด | ยังซ้ำจิตมาพะวงไม่เหือดหาย |
เถิงมารดาญาติกาปู่ย่ายาย | เป็นจำใจจำจะลาเจ้าฟ้านาง |
จงสุขีสวัสดีเถิดหม่อมแม่ | คราวนี้แลจะไม่เห็นจะหมองหมาง |
จะนานเห็นเย็นสถานสวรรยางค์ | ถ้าผ่าทรวงออกได้กลางไม่วางวาย |
ภาคข้างหนึ่งจะไปอยู่โยมข้างโน้น | หายกังวลสมคิดดังจิตหมาย |
อยู่เมืองนี้ภาคข้างหนึ่งสะดวกดาย | นี่ผ่ากายออกไม่ได้แม่หม่อมนาง |
คิดอาลัยอยู่ข้างนี้ก็เหลือคิด | เคยอยู่นานเนืองนิตย์ให้อ้างว้าง |
ด้วยเพื่อนมิตรรักน้ำจิตไม่จืดจาง | แทบแตกกลางเจียวหัวอกอาตมา |
แต่จนใจจำได้ไปแล้วหม่อมเจ้า | ที่หนักเบาอนุญาตอย่าโทษา |
มโนกายวัจนังพลั้งวาจา | อย่ามีกรรมเลยสีกาแต่นี้ไป |
หม่อมอมรรับพรพระสังฆราช | อนุญาตสาธุสะจงแจ่มใส |
แล้วงามขำกลับมาร่ำพร่ำพิไร | ด้วยอาลัยสังฆราชอันมีคุณ |
โอ้พระแก้วเก้าประการของฉันเอ๋ย | จะลอยเลยลับละลายไปหายสูญ |
ขอบน้ำใจนี่กระไรช่างใจบุญ | ฉันดับสูญช่วยชีวาให้มาคืน |
จะหาไหนจะมาได้เหมือนเจ้าท่าน | คนนอกนั้นให้เอามาสักพันหมื่น |
แล้วเลือกสรรเอาแต่พันคนยั่งยืน | มาเทียบท่านก็ไม่ลืมเสมอเธอ |
แต่คนตายหายไปมิดชีวิตมอด | ยังช่วยรอดหมอที่ไหนใครเสมอ |
ยังมิได้ทดแทนพระคุณเธอ | เถิงกระไรได้บำเรอไม่น้อยใจ |
พระแว่นทองส่องสว่างทั้งสี่ทวีป | หมอรักษายาเหมือนทิพย์จะหาไหน |
โอ้แต่นี้เถิงชีวีจะบรรลัย | จะได้ใครมารักษาชีวาคืน |
พระคุณท่านนับอนันต์อเนกนัก | เป็นที่พักแห่งฝูงสัตว์ที่ขัดขืน |
เถิงชีวาก็ใส่ยาให้รอดคืน | คราวนี้ตายเห็นไม่ฟื้นชีวาวัน |
ฉันตั้งใจหมายจะแทนพระคุณสนอง | มาเจาะช่องไปแต่ตัวพระจอมขวัญ |
ต่างปรองดองจะให้ครองนัครัน | ทรงเด็ดได้ไปแต่ท่านผู้เดียวดาย |
เหมือนจันทร์ทองส่องทวีปประทีปดับ | จะแลลับดับแสงไม่เฉิดฉาย |
ยิ่งคิดคิดก็ยิ่งแค้นแสนเสียดาย | ไม่นึกหมายว่าจะได้พระมาคืน |
พระอยู่นี่ได้เป็นศรีนัคเรศ | ทุกประเทศชาวพาราย่อมฝ่าฝืน |
ย่อมลือฉาวเล่ากันทุกวันคืน | ช่างแตกตื่นพากันคล่ำมาทำบุญ |
โอ้แต่นี้แล้วหลวงพี่จะแลลับ | ราศีเมืองก็จะดับไปเสียสูญ |
มาอยู่เจนเย็นสบายจนไพบูลย์ | เจ้าประคุณด่วนมาร้างไปแรมรา |
นางร่ำพลางทั้งพระชลน์ก็ล้นไหล | เอากรวยเทียนธูปดอกไม้ทูนเกศา |
เป็นปัญจางคประดิษฐ์จิตษมา | ที่โทษาอย่าได้มีกับฉันเลย |
วาจากายใจได้ผิดแต่ก่อนเก่า | ที่หนักเบาอนุญาตพระคุณเอ๋ย |
จนกราบเท้าเข้าเมืองแก้วไปแล้วเลย | ษมาพลางนางไม่เงยพระพักตรา |
พระราชาสังฆราชประภาษพร | ว่าเจ้าอมรแม่อย่ามีซึ่งโทษา |
จงสุขีให้สุขังมังคลา | วัฒนาเถิดแม่หม่อมจงอุตตมัง |
มิ่งอมรรับพรพระสังฆราช | ประนมหัตถ์สาธุว่าสมหวัง |
พระว่าซ้ำร่ำสัพพีอิฉิตัง | ภวันตุมังคลังจงเกิดมี |
แล้วราชาสังฆราชประภาษสั่ง | บรรดาโยมที่มานั่งมีศักดิ์ศรี |
แต่ข้าวของเอามาให้ในกระฎี | สารพันที่จะมีดูมูนมอ |
บ้างถวายไกรผ้าเพลาหมาก | ทั้งข้าวตากใส่ไถ้ข้าวตูห่อ |
บ้างตำกุ้งทอดน้ำมันให้ฉันพอ | บางคนก็มาถวายกระเทียมดอง |
ที่ลางโยมเอาขนมมาถวาย | ทั้งส้มสูกลูกไม้สิ้นทั้งผอง |
บ้างปั้นแป้งทำเป็นแท่งหินฝนทอง | ดูก่ายกองเกลื่อนกลาดดาษกระฎี |
รู้เถิงไหนมาถวายทุกโยมญาติ | แต่โต๊ะถาดวางเบียดกันเสียดสี |
ใส่เกวียนเข็นถ้าจะเป็นสักครึ่งปี | ชาวธานีเอามาทานทุกบ้านเรือน |
พวกพระยาพากันว่าประทีปแก้ว | เราลับแล้วหาไหนไม่ได้เหมือน |
เมื่อท่านอยู่ถ้าไม่รู้ย่อมตักเตือน | สำแดงธรรมให้รู้เงื่อนบำเพ็งทาน |
ที่พวกโยมพากันโทมนัสว่า | ชวาลาของเราลับจากสถาน |
แต่นี้ไปถ้าสงสัยทุกประการ | จะบ่ายหน้าพากันด้านไปถามใคร |
ชาวพาราพากันว่าลิ้นปี่แก้ว | เราหายแล้วหาไม่ได้น่าใจหาย |
ทรงเทศน์เพราะเสียงเสนาะกระแสงพราย | แจ้งกระจายให้กระจ่างในทางธรรม |
พวกคนจนพากันบ่นสะอื้นสะอึก | ว่าต้นงามกัลปพฤกษ์๓๒เราหักคว่ำ |
เมื่อยามขัดถ้าไปขอไม่เอื้อนอำ | เอาอะไรท่านก็ตามท่านให้ทาน |
ฝูงยาจกว่าหัวอกของเราเอ๋ย | เหมือนยุ้งข้าวของเราเคยเป็นอาหาร |
บังเกิดไฟขึ้นมาไหม้ประลัยลาญ | อยากกินเปรี้ยวอยากกินหวานก็ได้กิน |
วันณพิภบ๓๓ว่าพระนพเก้าแก้ว | ทรงผ่องแผ้วไม่ตำริไม่ติถิน |
ไปยืนขอพระก็ให้ด้วยใจยิน | ทุกเช้าเย็นเฝ้ามากินได้เลี้ยงกาย |
พวกผู้หญิงว่าพระกิ่งโพธิ์ไทรร่ม | พระยังอยู่ชาวนิคมย่อมเฉิดฉาย |
พวกผู้ชายร้องว่าโอ้พระโพธิ์ตาย | ทั้งกิ่งใบหักเสียหมดไม่งดงาม |
พวกนักเลงว่าข้าเองก็ตกอับ | เมื่อยามขัดท่านก็นับไม่หยาบหยาม |
เถิงเสียถั่วมัวสุราไม่หาความ | มาหาทรัพย์ก็ไม่หยามให้หยิบยืม |
ต่างร่ำไรความเสียดายพระสังฆราช | แทบใจขาดด้วยอารมณ์นั้นชมปลื้ม |
ยกมือไหว้สักเมื่อไรจะหลงลืม | จะเติมตืมตั้งแต่จนไม่พ้นตัว |
รู้เถิงไหนคิดเสียดายทุกเมืองบ้าน | ด้วยว่าท่านเป็นประธานอยู่เหนือหัว |
ทั่วทุกทิศสานุศิษย์ได้ฝากตัว | จึงเมามัวคิดเถิงคุณอาดูรใจ |
ฝ่ายว่าพิมสังฆราชยอดบัณฑิต | ให้ชุกคิดโหยหวนไม่เหือดหาย |
จะจากวัดความกำหนัดคิดเสียดาย | มโนในคร่ำครวญหวนคะนึง |
พุทโธ่เอ๋ยเมื่อไรเลยจะวายเว้น | ตาก็เห็นทั้งดวงจิตมาคิดถึง |
เสียดายที่พระกุฎีคิดกำดึง | ช่างโตพรึงฝากระดานละลานตา |
เสียดายเตียงที่เคยเอียงเอนอาศัย | เสียดายตู้ที่เคยใส่ไว้ศึกษา |
แสนเสียดายโอ้เสียดายพระธรรมา | จะแลลับนับทิวาไม่พบพาน |
เสียดายลานพระอารามงามสะอาด | เคยกวาดกราดโอ้กำสรดโบสถ์วิหาร |
เสียดายเอยโอ้เสียดายพระประธาน | เคยกราบกรานมาสะพรั่งสังฆกรรม |
โอ้แต่นี้อีกที่ไหนจะได้เห็น | จะเยือกเย็นสัตว์สิงห์จะวิ่งคล่ำ |
หญ้าฟุนฝอยก็จะรกดกระยำ | ด้วยเวรกรรมให้ต้องจากด้วยจำใจ |
เสียดายโบสถ์ช่างรุ่งโรจน์งามโอภาส | เอี่ยมสะอาดเหมาะหมดยังสดใส |
ทั้งหางหงส์ใบระกาน่าวิไล | กระดึงใส่ห้อยช่อฟ้าสง่างาม |
ทั้งทรวดทรงช่างบรรจงดูหมดจด | ที่หน้าจั่วมีรูปทศกัณฐ์สาม |
ถือพระขรรค์ขบซึ่งฟันทื่อคำราม | มีลวดลายเลิศล้ำกระหนกใน |
ครั้นยามเย็นลมพระพายรำเพยพัด | มาแกว่งกวัดต้องใบโพธิ์ระไหวไหว |
กระดึงดังฟังเหมือนเสียงเรไรไพร | บันเทิงใจหายทุกข์ปลื้มอารมณ์ |
โอ้แต่นี้มิได้ฟังเหมือนครั้งหลัง | ทุกข์ประทังก็จะทุกข์ระทมถม |
จะหมกมุ่นพระฉวีธุลีตม | ทุกข์ระทมก็จะมีทวีไป |
โอ้เสียดายนี่กระไรโรงธรรมภาค | เคยรับเครื่องบริจาคโดยผ่องใส |
แล้วแจงธรรมให้กระจ่างทางวินัย | สัปปุรุษย่อมเคยได้มาฟังธรรม |
โอ้ใจหายแสนเสียดายสัปปุรุษ | จะขาดกุดมิได้ฟังพระธรรมขำ |
โอ้สงสารสัปปุรุษสุดระกำ | โอ้โรงธรรมตั้งแต่นี้จะเยือกเย็น |
เสียดายสระเคยชำระระงับร้อน | ทั้งบัวบอนเถาผักบุ้งได้แลเห็น |
โอ้วารีนี่กระไรช่างใสเย็น | เคยนั่งเล่นชมหมู่มัจฉาปลา |
หมู่ตะเพียนเวียนวนเที่ยวซนซอน | มัจฉาชอนเคล้าคู่หมู่มัจฉา |
ฝูงปลากดเข้าไปแฝงแว้งปลากา | โอ้อนิจจาจะมาจากด้วยจำใจ |
โอ้สระศรีตั้งแต่นี้จะแลลับ | เมื่อไรเลยจะได้กลับมาพิสมัย |
เสียดายหมากกำลังตกดกกระไร | น่าเสียดายทั้งมักพร้าวทั้งนาวตาล |
เป็นทุกกกดกสะพรั่งกำลังห้าว | บ้างหล่นปราวลงมากลาดดาดสถาน |
โอ้เสียดายแต่ลำไยกลางนอกชาน | ช่างเย็นหวานดกชอุ่มเป็นพุ่มพวง |
โอ้แต่นี้อีกที่ไหนจะได้ฉัน | จะนับวันไปเสียแล้วไม่ห้ามหวง |
จงเก็บปลิดเถิดลูกศิษย์ท่านทั้งปวง | ตามแต่ทรวงจะอยากฉันทุกรูปกาย |
โอ้อนิจจาไม่อยากจากก็จำจาก | มาฝังฝากอยู่ก็นานนับปีหลาย |
จนปลูกพลูลงเป็นรากมากเป็นมาย | ไม่อยากไปก็ได้ไปด้วยกรรมมี |
โอ้เสียดายแต่ดอกไม้ในลานวัด | สารพัดที่จะมากเป็นศักดิ์ศรี |
พิกุลแก้วโยทะกาสารภี | มลุลีกระดังงากากระทึง |
จำปาปีกำมะหยี่โศกกระสัง | แต่ลำพังจะกระพอมไม่หวงหึง |
ฝูงปักษาบินสลอนมานอนอึง | มาทำรังเป็นที่พึ่งโกกิลา |
โอ้แลลับมิได้กลับมาชมชื่น | จงเป็นของท่านผู้อื่นเสียเถิดหนา |
อุทิศไว้ให้เป็นทานทั้งโลกา | ปรารถนากินเถิดไม่เกิดภัย |
ที่ปลูกไว้ผลไม้นั้นมีมาก | ขนุนหนังต้นบุนนาคจะมีไหน |
ส้มมะนาวเหล่าฝรั่งสะท้อนไทย | งามวิไลเป็นที่แลละลานตา |
ส้มเปลือกบางเหล่ามักซางทั้งส้มแก้ว | เป็นทิวแถวปลูกปนต้นน้อยหน่า |
ต้นมะตูมกำลังผลต้นพุทรา | ทั้งมังคุดมุดสีดานั้นมากมี |
เหล่าทุเรียนกำลังผลต้นแมงสาบ | พินพุงจาบปลูกปนต้นลิ้นจี่ |
เราปลูกไว้ผลไม้แต่ย่อมดี | จงกินเถิดอย่าให้มีซึ่งโทษภัย |
ทั้งอินจันทน์สารพันนั้นมีมาก | ถ้าใครอยากเก็บกินอย่าสงสัย |
ฝูงวิหคหมู่นกสกุณัย | เราตั้งใจให้เป็นทานทั้งสี่ทาง |
ฝูงมนุษย์ครุฑนาคแลปักษา | ไม่เลือกหนาท่านผู้ใดอย่านึกหมาง |
เราจงจิตเป็นอุทิศไว้ท่ามกลาง | แต่ชนล่างไปจนถึงซึ่งพรหมา |
โอ้แต่นี้มิได้กินรู้หวานจิต | เหมือนเดือนดับลับไปมิดในเวหา |
เสียดายเอยเคยให้โยมไปเก็บมา | มาแจกปันมิได้ว่าลบหมดวาย |
แล้วคิดผวนหวนไปเถิงศาลาทาน | โอ้สงสารเถิงจะแลไม่เห็นหาย |
ฝูงยาจกอักกะดกมามากมาย | เคยมาได้รับประทานสำราญรมย์ |
โภชนาอาหารก็ทานให้ | อยากเมื่อไรก็ได้กินอารมณ์สม |
คราวนี้มาเห็นจะเปล่าจะหาวลม | จะได้ดมก็แต่กลิ่นที่กลิ่นยัง |
โอ้สงสารฝูงยาจกอกจะช้ำ | จะครวญคร่ำร่ำถึงคะนึงหวัง |
จะตั้งหน้าคอยท่าหูคอยฟัง | กลับฤๅยังตั้งแต่แลชะแง้คอย |
โอ้เสียดายกระยาจกโอ้อกเอ๋ย | จะลับเลยแล้วน้ำตากระเด็นฝอย |
จะตั้งตาคอยหาเห็นแต่รอย | จะคอยคอยเถิงจะคอยไม่ได้คืน |
คอยไม่มาก็จะพากันตีอก | ฝูงยาจกก็จะโทมนัสสะอื้น |
แต่วันนี้ก็จะเห็นวันมะรืน | แลไม่เห็นเป็นผู้อื่นทีเดียวไป |
จิตยังหวนผวนมาเถิงฝ่ายลูกศิษย์ | แล้วคิดคิดขึ้นมาน้ำตาไหล |
เคยพร้อมพรั่งกันมานั่งเรียนวินัย | เราจากไปก็จะพากันอาวรณ์ |
ทุกเย็นเช้าเคยเข้ามาปรนนิบัติ | มาวิภัตติวัจนังได้สั่งสอน |
บ้างก้มเกศหมอบกายถวายกร | ไม่นาทรจงรักช่างภักดี |
เราจากไปโอ้ว่าใครจะสอนสั่ง | จะนั่งนั่งพากันเปล่าแล้วคราวนี้ |
ที่เรียนไปยังมิได้สักคัมภีร์ | จะโศกีเสียใจแทบวายปราณ |
ที่เรียนนานข้อวิตถารยังอ้อแอ้ | เถิงอรรถแปลก็ยังอ่อนไม่แตกฉาน |
ที่เรียนเก่าเถิงจะเอาเป็นอาจารย์ | ก็ประมาณมิได้แน่กระแสธรรม |
โอ้ศิษย์เอยใครเลยจะสอนสั่ง | ให้รู้ทางพระอรรถังข้อสยำ |
ถ้าสงสัยจะถามใครให้แนะนำ | เป็นวาสนาท่านได้ทำเท่านั้นเอง |
ที่องค์ใหม่ไม่ได้เรียนพึ่งเล่าสุด | จะว่าวุฒิแล้วน้ำตาจะโหรงเหรง |
เป็นวาสนาท่านได้สร้างแต่ปางเพรง | เท่านั้นเองศิษย์เอ๋ยทุกรูปกาย |
โอ้เสียดายน่าเสียดายเอยลูกศิษย์ | เหมือนบัณฑิตโอนอ่อนช่างสอนง่าย |
สอนสิ่งใดมิได้เชือนบิดเบือนกาย | น่าเสียดายแสนเสียดายกระไรเลย |
โอ้พรุ่งนี้๓๔ก็เห็นแต่จะแลลับ | มิได้กลับคืนมาสอนแล้วศิษย์เอ๋ย |
โอ้กรรมสร้างให้มาร้างกันกลางเตย | โอ้บุญเคยเรากะท่านเท่านั้นเอง |
ฝ่ายว่าศิษย์คิดอาจารย์สงสารนัก | บ้างก้มพักตร์บ้างน้ำตานั้นโล่งเล่ง |
บ้างร้องไห้เสียงสะอื้นอยู่ครื้นเครง | เสียงบรรเลงอยู่ในวัดมหัศจรรย์ |
แล้วสังฆราชกลับมาตัดสังขารได้ | เอาพระไกรนั้นมาหักความโศกคัลย์ |
ว่าเกิดมาทั่วโลกาทุกข์สามัญ | ไม่เที่ยงธรรม์มากำเนิดเกิดแล้วตาย |
ครั้นตายแล้วยังไม่หายไพล่มาเกิด | เอากำเนิดมาไว้อีกให้สืบสาย |
แต่เวียนตายเวียนเกิดเกิดแล้วตาย | จะนับชาติด้วยเม็ดทรายไม่เปรียบปาน |
ว่าอาตมาจะมาห่วงอยู่อย่างนี้ | มาจู้จี้คิดพะวงด้วยสงสาร |
ผิดฎีกาเห็นจะช้าทางนิพพาน | เปลื้องสังขารออกมาได้แล้วไพบูลย์ |
จึงตรัสว่าแต่บรรดาโยมทั้งนั้น | อย่าโศกศัลย์เลยนะท่านจะเสียสูญ |
จะช้าทางอริยวงศ์พงศ์ประยูร | จงดับโศกเสียให้สูญทุกตัวคน |
เกิดเป็นกายแล้วย่อมได้แต่กองทุกข์ | เถิงทุกข์ทุกข์ทุกข์ไม่ให้ในฝ่ายผล |
เอาพระไกร๓๕นั้นให้ได้ไปกับตน | จะได้พ้นทุกข์กระทั่งยังนิพพาน |
บรรดาศิษย์สัปปุรุษก็หายโศก | ครนเปล่งปลั่งว่างหัวอกจากสงสาร |
พระสังฆราชตรัสว่าบรรดาทาน | มากประมาณจะเอาไปไม่ได้โยม |
แล้วสังฆราชจึงประภาษบอกลูกศิษย์ | เก็บเอาของต้องด้วยกิจอย่าหมักหมม |
เอาไว้ครองเถิดสนองศรัทธาโยม | อนุโลมเป็นสัมมาอาชีโว |
อันตัวเราก็จะเอาพอไปได้ | แต่ผ้าไกร๓๖พอได้ครองกับหนมโก๋ |
เป็นเสบียงจะได้เลี้ยงซึ่งกาโย | เมื่อหิวโซจะได้ฉันประทังแรง |
แต่สั่งกันจนตะวันจะจวนค่ำ | เย็นยะย่ำลงระยับจะลับแสง |
จึงหลับนอนผ่อนกำลังประทังแรง | ครั้นแจ่มแจ้งออกกระจ่างสว่างตา |
พระสังฆราชรับอังคาสจังหันแล้ว | ให้ผ่องแผ้วปฏิพัทธ์มนัสสา |
บวชพระไพรให้เป็นพระแล้วยาตรา | โยมสีกาพร้อมพรั่งทั้งสามเณร |
ดูไหลหลามตามไปส่งด้วยจงรัก | พวกชีพราหมณ์พร้อมสะพรักหลวงตาเถร |
บ้างถือกลดบาตรสะพายจนกายเอน | จะจวนเพลพอสมควรก็คืนมา |
ฝ่ายพระไพรก็ตะพายทั้งย่ามบาตร | พระสังฆราชนำทางพระนาถา |
เข้าดงด่วนด้นดั้นอรัญวา | สังเกตมาตามพนัสพนมไพร |
เมื่อแรกมามรรคาที่สูงต่ำ | ยังเจนจำมิได้หลงยังจำได้ |
ไม่ลืมแลดูยังแน่มโนใน | ประจงใจไปที่โนนต้นสำโรง |
ทั้งต้นงิ้วสูงละลิ่วอยู่นั้นพร้อม | ไม่วงอ้อมตรงมาสู่ต้นงิ้วโสง |
มาตามแถวแนวพนัสพนมโยง | แต่แรมดงมาก็ได้หลายทิวา |
พระปาจิตฤทธิรอนสุนทรถาม | เจ้าประคุณว่าจะพาไปตามหา |
นางโฉมตรูอยู่ตำแหน่งแห่งใดนา | อยู่พาราเมืองใดใกล้ฤๅยัง |
พระสังฆราชอรพิมจึงยิ้มหยอก | ข้าจะบอกว่าคงสมอารมณ์หวัง |
จะบอกเมืองบอกบ้านให้ท่านฟัง | ไม่กำหนดด้วยว่ายังไม่แจ่มใจ |
โฉมพระปาอิศราจึงขานตอบ | เจ้าคุณว่านี้ก็ชอบแต่สงสัย |
ฉันฟังพูดอยู่ท่ามกลางยังพร่างพราย | อยู่ที่ไหนจึงจะไปให้พบนาง |
ไม่เห็นไว้จะพาไปเห็นไม่พบ | ฉันจวบจบรู้เจนแจ้งสว่าง |
ทุกเมืองบ้านย่านป่าเที่ยวหานาง | ไปสืบดูรู้กระจ่างทุกบุรี |
แต่ข่าวคราวก็ไม่ฉาวให้รู้เช่น | สงัดเย็นไปเหมือนว่าป่าช้าผี |
จึงถามดูจะใคร่รู้ได้ยินดี | เจ้าคุณบอกดิฉันนี้สงสัยใจ |
พระสังฆราชตรัสว่าข้าสัพยอก | กับคุณดอกคงจะได้อย่าสงสัย |
จงรีบจรเถิดนะท่านอย่าหวั่นใจ | จะว่าไกลก็เหมือนใกล้แต่ไกลครัน |
แล้วอรพิมสังฆราชประภาษหยอก | คิดเถิงเมียฤๅจงบอกในใจท่าน |
พระปาจิตตอบติดไปทันควัน | ที่ข้อนั้นคุณอย่าถามฉันหวามใจ |
อันเมียฉันเกินรำพันมาเปรียบรัก | ถ้าตวงตักใส่ในตุ่มก็เต็มไหล |
จะปรายเปรียบเข้ามาเทียบสมุทรไท | ฉันรักเมียก็ยังหลายกว่าวารี |
จะเปรียบเท่าพสุธาก็ว่าน้อย | กระจ้อยร่อยเปรียบกับรักแม่โฉมศรี |
แต่เพียรหาอยู่ก็มาเถิงเจ็ดปี | อันชีวีมิได้คิดชีวิตเลย |
พระสังฆราชตอบอรรถว่าตัวท่าน | ท่านรักเมียท่านอนันต์เจียวท่านเอ๋ย |
อย่าเศร้าใจทุกข์ร้อนผ่อนเสบย | แล้วพูดเลยกลบเกลื่อนให้เลื่อนลอย |
แต่เดินมาถ้าประมาณสักเดือนหนึ่ง | บรรลุถึงโนนงิ้วแลสวอย |
สุดลูกตาตั้งหน้าแลตะบอย | แลชม้อยไปเห็นปลายไม้สำโรง |
จึงเดินมามิได้ช้าได้หยุดนั่ง | จนกระทั่งเข้ามาเถิงสำโรงโถง |
จึงปลดบาตรจากตะพายห้อยไม้โง้ง | แล้วนั่งลงหยุดยั้งประทังแรง |
ลมพระพายชายพัดค่อยเหนื่อยหาย | ตีเหล็กไฟจุดเทียนลุกเป็นแสง |
เอาธูปเทียนทูนเกศาว่าสำแดง | ร้องประกาศทุกตำแหน่งทั่วเทวา |
ทั้งบุญหลังที่ได้โรมประสงค์ไว้ | อย่าช้าได้จงมาช่วยพระคุณข้า |
ข้าไหว้เถิงไปจนสิ้นพระอินทรา | จงลงมาเป็นสักขีที่พยาน |
โยนีนมของกระผมที่ฝากไว้ | จงกลับลงมาคืนสู่กายโดยธิษฐาน |
ขอคืนกายกลายเป็นหญิงอย่านิ่งนาน | เหมือนธิษฐานด้วยว่าข้าสัจจาใจ |
สิ้นคำปากนมนางฝากไว้ต้นงิ้ว | ก็ลอยปลิวลงมาสวมสมนิสัย |
รูปบุรุษนั้นก็หลุดในทันใด | อันรูปกายกลับเป็นหญิงดังก่อนมา |
โยนีนางที่วาจังได้ฝังฝาก | บันดาลจากปลายสำโรงเร็วนักหนา |
อยู่ตามที่รูปโยนีเหมือนเดิมมา | รูปราชาสังฆราชก็หายไป |
รูปจริตมิได้ผิดสักนิดแน่ | นางอรพิมนั้นแน่แท้อย่าสงสัย |
ต้นสำโรงที่นางฝากโยนีใน | จึงออกน้อยมาก็คล้ายเหมือนโยนี |
ต้นงิ้วนั้นที่เอาถันนางไปฝาก | ครั้นถันนางมาเสียจากคืนอิตถี |
ด้วยนิสัยไว้เป็นเดิมยังอยู่ดี | จึงปุ่มงิ้วนั้นมามีเหมือนนมคน |
ทั้งสองสึกบาตรแลไกรเมื่อเป็นพระ | เสียสละไว้เป็นทานเป็นทางผล |
ใครมาพบปรารถนาคนยากจน | จงหาบขนเก็บเอาไปเราให้ทาน |
ผู้ฟังอ่านข้าเห็นท่านจะสงสัย | เหตุไฉนเดิมเป็นหญิงมิ่งสมาน |
มากลับกลายเสียเป็นชายกลางตำนาน | เป็นสมภารบอกสอนลูกศิษย์มา |
จนไตรเพทเวทมนตร์ก็รู้จบ | ทั่วพิภพมาเป็นศิษย์ได้ศึกษา |
แล้วกลายมากลับเป็นหญิงฉะนี้นา | ผิดตำราไม่เคยรู้แต่บูราณ |
ท่านผู้ฟังทั้งผู้อ่านจะปุจฉา | จะสงกายากจะฟังคำวิตถาร |
ฉันผู้แต่งจึงจะแจงเรื่องตำนาน | พระทรงญาณแจ้งคำพระธรรมมี |
พระปิ่นเกศตรัสเทศน์ไว้แจ่มแจ้ง | เดิมสำแดงปรารภด้วยเศรษฐี |
มีในเรื่องอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ | ว่าเมืองนี้มีชื่อโสไรยนคร |
ว่าเศรษฐีมีอยู่ในเมืองนั้น | สารพันเงินทองกองสลอน |
มีลูกชายให้ชื่อลือขจร | ขนานนามนามกรคล้ายบิดา |
ชื่อโสไรยะลูกชายที่เป็นบุตร | บริสุทธิ์เลิศล้ำงามนักหนา |
อยู่วันหนึ่งชายโสไรยใจจินดา | มีปรารถนาแล้วก็ออกไปนอกเมือง |
พอไปสบพบพระกัจจายเถร | เพลาเย็นสรงน้ำเปลื้องผ้าเหลือง |
ดูรูปกายของท่านใหญ่อร่ามเรือง | ถันนะเต้าตั้งไม่เตื้องทั้งใหญ่โต |
พระฉวีสีผ่องดังทองทับ | แสงระยับการะเกดวิเศษโส |
อภิญญาณนั้นก็เยี่ยมเทียมพุทโธ | ยิ่งภิญโญจะมาเปรียบไม่เทียบทัน |
โสไรยะครั้นไปปะก็แลเห็น | ในใจเต้นจิตลำพองอยากต้องถัน |
บุตรเศรษฐีนึกในใจในทันควัน | บุตรเศรษฐีกายนั้นก็กลับกลาย |
กลับเป็นหญิงจริงเหมือนจิตคิดประมาท | จิตมุ่งมาดก็ได้เหมือนดังใจหมาย |
ด้วยท่านเป็นหน่อพุทธังสังกะจาย | ชายโสไรยกลับเป็นหญิงทุกสิ่งมี |
นมก็โตโยนีมีทุกสิ่ง | รูปผู้หญิงกับโสไรยมิได้หนี |
นายโสไรยความละอายชาวบูรี | ปลาตหนีไปอยู่เมืองเกาะลังกา |
ว่ามีชายนายหนึ่งนั้นไปได้ | เป็นอำมาตย์พระอภัยปิ่นมหา |
ได้สมสู่อยู่ด้วยกันเป็นภรรยา | ครั้นนานมาเกิดลูกขึ้นสองคน |
ยังมีชายนายหนึ่งเป็นสหาย | ของโสไรยมาแต่ก่อนไปเถิงผล |
สหายของโสไรยมีกังวล | เที่ยวผ่อนปรนซึ่งสินค้าบรรดามี |
บันดาลใจให้ไปขายในเมืองเกาะ | เป็นจำเพาะให้ไปพบโสเศรษฐี |
หญิงโสไรยเห็นสหายก็ยินดี | กล่าววาจีไม่รู้จักเราฤๅไร |
ฝ่ายสหายกล่าวปราสัยจึงถามว่า | นี่นางมาแต่ประเทศเมืองไหน |
โสไรยะจึงแสดงให้แจ้งใจ | ข้านี้ไซร้อยู่ประเทศต่างนคร |
เดิมกำเนิดข้านี้เกิดเมืองโสไรย | เป็นบุตรชายของเศรษฐีสโมสร |
ข้ากับท่านเป็นสหายกันแน่นอน | นามกรเรานี้ชื่อว่าโสไรย |
ฝ่ายสหายจึงปราสัยไฉนนี่ | บุตรเศรษฐีก็เป็นชายเป็นสหาย |
นี่ตัวท่านเป็นผู้หญิงเรากริ่งกาย | มาใส่ไคร้กล่าววาจังเป็นคลังแคลง |
ฝ่ายโสไรยที่ว่ากายกลายเป็นหญิง | แล้วไขจริงให้กระจ่างที่กินแหนง |
ว่าดูก่อนท่านสหายอย่าได้แคลง | เราจะแจ้งให้กระจ่างในทางความ |
เมื่อแรกเริ่มเดิมเราผิดมิตรสหาย | ข้าคลาไคลออกไปเล่นหน้าสนาม |
ไปพบองค์สังกะจายวิไลงาม | ท่านเปลื้องผ้าสรงน้ำที่สระชล |
เป็นกรรมเรานี่อย่างไรสหายท่าน | เข้าดลใจให้บันดาลจะเกิดผล |
แลเห็นกายของท่านใหญ่แต่แลยล | จิตกังวลจะใคร่ชมภิรมยา |
แต่พอนึกเรานี้ตรึกอยากต้องถัน | ในเดี๋ยวนั้นก็บันดาลไวหนักหนา |
กายของเราที่เป็นชายก็กลายมา | กลับเป็นหญิงสารพาทุกสิ่งมี |
องคชาติก็ปลาตบันดาลหาย | บังเกิดเป็นขึ้นในกายเหมือนอิตถี |
องคชาตินั้นไม่เห็นเป็นโยนี | ทั้งเนื้อนมในทันทีให้ใหญ่โต |
เราเสียใจด้วยว่าได้จิตประมาท | จึงปลาตหนีมาจากเมืองโส |
มาได้ผัวอันประเสริฐเกิดบุตโต | สหายท่านทราบมโนอย่าคลังแคลง |
ท่านสหายจงมีใจการุเณศ | ได้สมเพชคิดว่าเพื่อนอย่าเคลือบแฝง |
เอ็นดูเถิดเราได้ผิดจิตระแวง | อยากจัดแจงกรวยษมาขออาภัย |
ท่านสหายจงมีใจในทางผล | ช่วยนิมนต์ให้ท่านมาโดยผ่องใส |
พอเราได้ไหว้นบคำรบใจ | อันรูปกายก็จะคืนดังก่อนมา |
ฝ่ายว่าชายมิตรสหายโสเศรษฐี | ได้ฟังเล่าแจ้งคดีที่กังขา |
ไม่เคลือบแคลงแหนงใจในวิญญาณ์ | เกิดเมตตาด้วยว่าเป็นสหายกัน |
จึงว่าท่านอย่ารำคาญท่านสหาย | เราจะไปราธนาอย่าโศกศัลย์ |
ว่าแล้วพลางเหยาะลุกย่างจอระจัน | ไปสู่คันธกุฎีนิมนต์มา |
ฝ่ายโสไรยที่ว่าใจได้ประมาท | จึงกราบบาทยกเทียนทูนเกศา |
แล้วขอโทษที่ได้ผิดจิตจินดา | ด้วยวาจาขออโหมโนภัย |
สังกะจายฝ่ายพระกัจจายเถร | พระองค์เห็นพระนิพพานอันเฉิดฉาย |
ตัดสังขารขาดกลางจากร่างกาย | พยาบาทนั้นอย่าหมายจะเกิดมี |
พระโอกาสสังกะจายให้ยถา | ที่ปรารถนาท่านจงได้อย่าแคล้วหนี |
อิฉิตังปะถิตังบังเกิดมี | โสเศรษฐีสาธุการในทันใด |
จิตเศรษฐีตั้งไว้อยากกลายกลับ | ด้วยคำนับคารวะท่านผ่องใส |
หญิงโสไรยนั้นจะกลับคืนเป็นชาย | ฝูงหญิงชายท่านทั้งหลายอย่าคลังแคลง |
พระออกเอ่ยเผยพระโอษฐ์โปรดอย่างนี้ | เราจึงชี้มิให้ท่านใดเคลือบแฝง |
นี่อรพิมบุญหลังของนางแรง | จึงตามแต่งสมดังปรารถนานาง |
อนึ่งนางบุญได้สร้างไว้มากแล้ว | เหมือนดวงแก้วนึกสิ่งใดไม่ขัดขวาง |
กับความสัตย์เป็นประทัดเหมือนหนทาง | น้ำใจนางสัตย์ซื่อต่อสามี |
ทั้งหญิงชายถ้าผู้ใดปรารถนา | อย่าสงกาที่จะแคล้วจะคลาดหนี |
ถ้าทำชั่วชั่วก็ตามเข้าจำตี | ถ้าทำดีแล้วก็ได้ดังใจปอง |
ทั้งแก้วแหวนทุนทรัพย์นับด้วยโกฏิ | วิเศษโสดเหลือล้ำทองคำของ |
รูปก็งามล้ำวิไลใหญ่ลำยอง | จงตรึกตรองเถิดฉลาดปราชญ์ปัญญา |
ฝ่ายอรพิมที่ว่าบวชเป็นสังฆราช | ครั้นลาแล้วก็ปลาตจากสิกขา |
กลับเป็นหญิงเหมือนอย่างเดิมแต่ก่อนมา | กิริยารูปจารีตไม่ผิดนาง |
ฝ่ายพระองค์พงศ์กษัตริย์พระปาจิต | เห็นอรพิมปิ้มชีวิตจะล้มผาง |
ลุกผวาคว้ากอดพระน้องนาง | กันแสงพลางร้องไห้พิไรความ |
ว่าอนิจจาพี่ตามหาแม่ดวงจิต | ไม่คิดเลยที่ชีวิตบรรลัยขาม |
ออกปากไว้ได้เท่านั้นไม่สุดความ | เหมือนผีอำอั้นในอกระทกทรวง |
สะอึกสะอื้นอั้นอกเสียงอึกอึก | จิตรำลึกแต่อาลัยนั้นใหญ่หลวง |
ฝ่ายแม่ฉิมอรพิมแม่แก้มพวง | ก็โศกทรวงด้วยสงสารพระสามี |
สุชลนางหลั่งไหลพิไรร่ำ | ว่าโอ้กรรมกรรมอะไรยังนี้นี่ |
เห็นพระผัวมัวสะอื้นอยู่คลุกคลี | แม่เทวีเรียกหาว่าพระองค์ |
เป็นอย่างไรไปพระทูนกระหม่อมน้อง | จงปรองดองบอกเมียตามประสงค์ |
เราพลัดกันก็มาพบกันคืนคง | นางโฉมยงวอนปลอบพระสามี |
ฝ่ายผู้ฟังทั้งผู้อ่านจะสงสัย | นางอรพิมนางก็ได้ชื่ออิตถี |
ความหวงแหนนั้นว่าหนากว่าสามี | นี่แน่ท่านฉันจะชี้ให้แจ้งใจ |
เดิมอรพิมนางได้พบปาจิตก่อน | นางบังอรแทบชีวิตจะตักษัย |
ครั้นอยู่นานความสงสารค่อยคลายไป | ฝ่ายปาจิตไม่สงสัยว่าพระชี |
จึงมิได้มีอาลัยครั้นกลายกลับ | รู้ว่าเมียปิ้มจะดับไปเป็นผี |
จึงแต่งโศกไว้เป็นโศกคนละที | แน่อย่างนี้คิดเข้าใส่ในใจตัว |
นางจึงโศกน้อยลงมากว่าปาจิต | ท่านนักปราชญ์ราชบัณฑิตอย่าเย้ยหัว |
หน่อยจะว่าข้าผู้แต่งนี้ย่องตัว | แลไปทั่วราวกะท่านสัพพัญญู |
เป็นธรรมดาว่าปราชญ์ฉลาดแต่ง | ย่อมจะแจ้งในพิภัตติว่าพหู |
ฤๅเอกะวัจนะให้เล็งดู | ถ้าเอกะท่านว่าอยู่ในคำเดียว |
ถ้าพหูวัจนังท่านสั่งไว้ | ว่าแปลหลายถ้าว่าปราชญ์ฉลาดเฉลียว |
ดูพิภัตติดูประโยคอย่ากลมเกลียว | พระองค์เดียวแจงไว้สิ้นสรรพนาม |
ฉันแจงชะวัจนะว่าพหู | จึงเล็งดูแล้ววิตถาร์ปัญญาสยาม |
ว่าอรพิมกับปาจิตเมื่อหลงกาม | พระโฉมงามหลงในกลคนละที |
เถิงผัวเมียกันก็จริงมาแต่ก่อน | นางบังอรก็มากลายจากอิตถี |
เป็นผู้ชายไปเป็นพระบวชเป็นชี | พระปาจิตผู้สามีไม่แจ้งใจ |
แต่ตัวนางนั้นกระจ่างอยู่เต็มจิต | ว่าสามิตที่เคยร่วมพิสมัย |
แต่ว่านางเจนกระจ่างทางวินัย | เอาพระไกรนั้นมาดับระงับลง |
เถิงโศกมากถ้ารู้จักพระไกรลักษณ์ | พระไกรหักโศกก็หายไปเป็นผง |
นางเป็นหญิงแต่ว่ารู้อริยวงศ์ | จึงดับได้ไม่สู้หลงอารมณ์นาง |
แต่ทว่าถ้าผู้หญิงนั้นหนาแน่น | กว่าผู้ชายได้สักแสนเหลือยุ้งฉาง |
แต่ทว่าถ้ารู้จักพระไกรทาง | ก็เบาบางแต่ยังหนากว่าผู้ชาย |
พระปาจิตอรพิมได้พบก่อน | เมื่อแรกพบแทบจะข้อนหัวอกหาย |
นี่หากนางรู้ในทางความละอาย | ด้วยมากมายแต่ลูกศิษย์บัณฑิตกลอน |
ฉันชักมาว่าแต่ใจเอกเทศ | พอแจ้งเหตุไว้ในจิตสโมสร |
ตามกระแสมิใช่แง่เป็นความงอน | จะยับยั้งลงไว้ก่อนเพียงนี้ที |
๏ ฉันคืนจับกลับไปว่าพระปาจิต | ครั้นพบเมียปิ้มชีวิตจะเป็นผี |
โศกสะอื้นเสียอารมณ์ไม่สมประดี | ด้วยว่ามีความอาลัยเสียดายนาง |
แต่แรกไม่หวังว่าที่ไหนจะได้พบ | ครั้นประสบกลับสะทกสะท้านหมาง |
เปรียบเหมือนคนที่ขึ้นไปอยู่ปลายยาง | ครั้นพลัดตกลงมาค้างด้วยมือไว |
จับได้กิ่งพิงสนัดไม่พลัดหลุด | ตัวขาดกุดหน้าเผือดเลือดก็ไหล |
เป็นบุญช่วยจึงไม่ม้วยบรรลัยไป | ลงมาได้กายชันให้พรั่นตัว |
ปากไม่ออกบอกไม่ได้เขาไถ่ถาม | ด้วยอารามคิดครั่นแต่ชันหัว |
ในจิตหมายคิดว่าตายแล้วกลับกลัว | ขวัญไม่มีขมุกขมัวมะเมอมะมาย |
อันนี้ไซร้อุปไมยเหมือนปาจิต | เมื่อเห็นเมียแล้วก็คิดหัวใจหาย |
ด้วยตามหามาก็ช้าเจ็ดปีปลาย | จึงหวั่นไหวแทบพระไพรสลบลง |
ครั้นฟื้นกายแล้วพิไรพิรี้ว่า | พี่สัญญาว่าไม่พบแม่นวลระหง |
เณรนั้นพาไปข้างไหนแม่นิ่มอนงค์ | ไปบุกป่าผ่าพงอยู่ดงใด |
ฝ่ายแม่ฉมอรพิมพระนางท้าว | จึงไขเล่าปาจิตจนแจ่มใส |
แต่เณรรีบลงนาวาพาหนีไป | จนเบื้องปลายมาเถิงเมืองจัมปากพลัน |
เจ้าประคุณทูนกระหม่อมของเมียเอ๋ย | ความเสบยนั้นไม่มีแต่โศกศัลย์ |
ตาเถนเทื้อพาไปเหนือวารีพลัน | เห็นแปลกใจให้ประหวั่นในทันที |
ฉันถามว่าเถนจะพาไปข้างไหน | เถนจังไรบอกว่าสีกาศรี |
ผัวสีกาเขาศรัทธาด้วยเปรมปรีดิ์ | เขายินดีให้สีกามาเป็นทาน |
ฉันกู่ก้องร้องเรียกจนสุดเสียง | ฟังสำเนียงนั้นก็เงียบไม่กู่ขาน |
แล้วลวงเถนด้วยว่าเห็นเป็นเณรพาล | ให้พาฉันคืนไปหาพระสามี |
ครั้นรู้ทันเถนนั้นก็พูดดื้อ | ไม่เชือถืออีกอย่างไรไฉนนี่ |
เขาให้แล้วก็เป็นแล้วด้วยวาจี | แล้วพาทีวอนปลอบให้ชอบใจ |
ฉันร้องไห้ปานจะวายชีวาวิต | แล้วขุกคิดขึ้นมาได้ด้วยใจใส |
ทั้งตะวันนั้นก็ย่ำค่ำลงไป | จึงธิบายว่าอยากกินโภชนา |
พอเห็นไม้ไทรมะเดื่อนั้นแดงดก | ฝูงวิหคจิกกินบินผวา |
จึงวานเณรขึ้นมะเดื่อให้ฉันดา | เณรจึงบ่ายนาวาเข้าจอดพลัน |
เณรไม่รู้ขึ้นไปอยู่ยอดมะเดื่อ | มีดเหน็บเห็นอยู่ไนเรือมุ่งกระสัน |
เอาตัดหนามสะต้นมะเดื่อพลัน | ขมีขมันลงเรือแล้วรีบมา |
มาดูรอยที่เรานั่งอยู่ฝั่งน้ำ | แล้วกู่ซ้ำเสียงโดนตะโกนหา |
ฟ้าก็เงียบเย็นยะเยียบอรัญวา | แล้วไคลคลาตามฟากฝั่งนัทที |
เห็นรอยนั่งเลาะฝั่งสาคเรศ | ดูสังเกตมาจนเถิงวารีศรี |
ที่ขวางหน้าสุดลูกตาทั้งยาวรี | รอยไม่มีหายสิ้นแต่พื้นเนิน |
แล้วเซซัดตัดหามาบนโคก | สุชลนัยไหลตกระหกระเหิน |
เท้าบาทาคาตำระยำเยิน | ขึ้นโคกเกรินพบฝูงสกุณัย |
นกถามแซ่ว่าแม่มาผู้เดียวเปลี่ยว | เดินผู้เดียวดูจารีตผิดวิสัย |
จึงบอกนกตามจริงทุกสิ่งไป | ว่าพลัดพรายกันตามหาพระสามี |
ได้ฟังว่าสกุณาก็ตีอก | ฝูงวิหคโศกศัลย์กันแสงศรี |
จึงสั่งความไว้กับนกสกุณี | เจ้าปักษีถ้าแม้นพบพระราชา |
จงบอกความให้ไปตามแม่ให้ได้ | อย่านอนใจอย่าได้ลืมหนาลูกหนา |
มาแต่นกเดินตันเต็มประดา | เกิดสงกาขึ้นในจิตคิดอุบาย |
เป็นสัตรีนี้บุรุษย่อมประมาท | ผู้ชายชาติแต่จะมุ่งเขม้นหมาย |
จึงยอกรอ่อนเกศแล้วน้อมกาย | เถิงศีลทานที่ได้ให้แต่หลังมา |
ขอให้กายข้านี้กลายเป็นบุรุษ | บริสุทธิ์ที่ว่าศีลได้รักษา |
รูปก็กลายเป็นผู้ชายดังจินดา | จึงลินลาด้นดั้นอรัญดง |
มากระทั่งยังพารากรุงจัมปาก | ตาพินิจจิตก็หลากให้พิศวง |
ฤๅโฉมตรูพระจะอยู่ในราวพง | ฤๅพระองค์จะมาอยู่ในพารา |
จำจะไปถามไถ่ให้ได้เรื่อง | จึงเข้าเมืองเดินเล่นชะแง้หา |
แต่ผู้คนกล่นเกลี่อนเลือนลูกตา | เสียงโศการ้องไห้พิไรครวญ |
มากระทั่งยังท่าชลาลึก | อึกกะทึกผู้คนเสียงโหยหวน |
ลงอาบน้ำเย็นสบายหัวใจยวน | เสียงคร่ำครวญร้องไห้ได้ยินมา |
จึงถามไถ่ว่าเป็นไรใครโศกศัลย์ | ชาวเมืองบอกออกรำพันที่กังขา |
ว่าบุตรีของท่านท้าวจ้าวพารา | มรณางูตอดเอาวอดวาย |
ฉันกล่าวว่าสามิภักดิ์จะรักษา | ว่ามียาถ้าได้ใส่ก็คลายหาย |
คนตายแน่ก็ยังแก้ให้พ้นตาย | ไฉนนายจึงไม่หาข้าไปลอง |
ชาวบุรินทร์ครั้นได้ยินฉันกล่าวว่า | มะนิมะนาเข้าไปทูลมูลสนอง |
จ้าวพาราจึงให้หาดังใจปอง | แล้วทูนละอองนามข้าฤๅยาดี |
ฉันทูลว่ายาข้านี้ดีเลิศ | แต่ตายแล้วยังเอาเกิดไม่เป็นผี |
ท่านปรีดาให้รักษาพระบุตรี | ในทันทีฉันก็รับบัญชาตาม |
ให้หามผีพระบุตรีออกจากโกศ | เคี้ยวโอสถพ่นลงคำรบสาม |
เดชะยาของเจ้าฟ้าผู้ลือนาม | นางโฉมงามเจ้าก็ฟื้นคืนมาเป็น |
พระพ่อเจ้าเห็นลูกสาวรอดจากตาย | จะยกให้สมสู่เป็นคู่เข็ญ |
ทั้งเวียงวังคลังสิบสองจะปองเวน | จอมนเรนทร์ด้วยว่าหมายเป็นชายชน |
ฉันตรองใจด้วยอาลัยพระเนื้อนาก | ไม่นิยมที่จะอยากเท่าเส้นขน |
ฉันขอผ้าบรรพชาไม่กังวล | จึงเล่าบ่นร่ำเรียนเขียนชำนาญ |
ขจรด้าวไปเถิงท้าวขัตติเยศ | จึงนิมนต์เข้าไปเทศน์กรรมฐาน |
ชอบพระทัยบาตรไกรให้ประทาน | แล้วโปรดปรานตั้งเป็นสังฆราชา |
ครั้นอยู่มาได้วรรษานั้นห้าเศษ | แต่ฟังเหตุนั้นก็หายแต่คอยหา |
จึงตรองตรีกนึกขยายในปัญญา | ปลูกศาลาไว้ให้ทานทั้งหวานคาว |
พระเพื่อนเข็ญถ้ายังเป็นคงตามหา | ชาวพาราเขาคงลือไปอื้อฉาว |
พระภูมินทร์จะได้ยินซึ่งข่าวคราว | จะสืบสาวรู้ความได้ตามมา |
ยังปัญญาแล้วไปหากรุงจัมปาก | จำเริญพรแก่พระนากผู้นาถา |
ว่าบพิตรจะต้องการบรรณศาลา | ท่านศรัทธาปลูกให้ถวายทาน |
จึงโอกาสเข้าบิณฑบาตนายช่างเขียน | ที่แนบเนียนเขียนฉากเคยแตกฉาน |
ฉันจึงบอกให้เขาเห็นเป็นนิทาน | เขียนเมืองบ้านแรกเริ่มแต่เดิมมา |
ทั้งบ้านน้องเมืองพี่ก็มีครบ | ถ้ามาพบจะได้รู้ไม่กังขา |
ทั้งเรื่องท้าวพรหมทัตกษัตรา | จารึกว่าบอกให้รู้ทั้งเรื่องราว |
ทั้งสี่เฒ่าให้อยู่เฝ้าดูรักษา | ถ้าใครมาสั่งขาดให้กินข้าว |
ดูฉากเรื่องชลนัยนั้นไหลพราว | ให้พาเอาตัวมาให้อย่าได้วาง |
เฒ่าทั้งสี่เห็นพระพี่ให้กินข้าว | แลดูฉากแล้วก็เศร้าลงล้มผาง |
เขาจึงพาเข้ามาหาพระน้องนาง | เห็นหน้าพี่แทบจะวางวายชีวา |
แต่พลัดกันแต่วันนั้นจนวันนี้ | แต่โศกีป่วนปั่นกระสันหา |
เพลากินตั้งแต่กินพระชลนา | ว่าจะฆ่าตัวให้ตายทำลายชนม์ |
แล้วหวนจิตกลับมาคิดถึงพระพี่ | เกลือกชีวียังไม่ตายจะขวายขวน |
จะตามหาถ้าเป็นบุญไม่อับจน | เข้าใจดลมาให้พบประสบกัน |
โอ้พระพี่พึ่งวันนี้จึงสร่างโศก | ค่อยว่างอกปรีดิ์เปรมประเสมสันต์ |
ตั้งแต่นี้ถ้าพระพี่จะจอระจัน | แต่ข้ามวันก็ไม่คลาดพระบาทเลย |
พระโฉมปรางค์ฟังนางเล่าความโศก | สะอื้นอกชลนัยไม่ระเหย |
โอ้กรรมกรรมทำไว้กระไรเลย | เป็นบุญเคยมิให้แคล้วได้พบกัน |
พระอุ่นอกเก็บเอาโศกมาเล่าน้อง | เมื่อเถนทองข้ามไปส่งพี่โศกศัลย์ |
คะนึงหวนครวญหาสุดาจันทร์ | พี่คอยคอยจนตะวันนั้นค่ำเย็น |
แล้วกู่ก้องร้องโดนตะโกนเรียก | ฟังสำเหนียกนั้นก็เงียบประหลาดเถน |
ฤๅหลงท่ามาไม่ถูกสงสัยเณร | ฤๅนอกเกณฑ์พาสีกานั้นหนีไป |
แล้วเลียบฝั่งสาครังเที่ยวกู่หา | จนจันทราแจ่มแจ้งจำรัสไข |
ไปติดน้ำยมนาศรีวารัย | จะตามไปก็ขยาดให้กลาดกลัว |
จึงด้นดั้นราวอรัญพนาเวส | ทุกขอบเขตเมืองไหนพี่ไปทั่ว |
ไปพบยายทำไร่เป็นบุญตัว | แกพันพัวรักปานกับหลานตน |
ทั้งตายายความอาลัยเข้าลูบหลัง | ว่าร้อยชั่งหลานยายระเหระหน |
แกไถ่ถามนามชื่อเมืองตำบล | ตั้งแต่ต้นเล่าให้ตาให้ยายฟัง |
ว่าพลัดพรากจากกับน้องขนิษฐา | เที่ยวตามหามาจนโซโอ้ทุกขัง |
ได้ฟังเล่าแกก็เคล้าสุชลนัง | พะว้าพะวังคิดพะวงแม่นงคราญ |
แก่ร่ำว่าคิดเมตตาหลานสะใภ้ | แกร่ำไรคิดเสียดายสะใภ้หลาน |
แล้วเรียกขวัญแกรำพันให้ชื่นบาน | หยุดสำราญอยู่กับยายให้มีแรง |
ทั้งยายตาแกให้ผ้าทั้งนุ่งห่ม | สำราญรมย์ตรองตรึกให้นึกแหนง |
จะอยู่ไปไหนจะพบแม่เล็บแดง | คิดระแวงอยู่ไม่ช้าเข้าลายาย |
ออกจากนั้นดั้นดงเข้าพงป่า | ประมาณมาหลายวันแต่ผันผาย |
มาพบนกบอกยุบลทั้งต้นปลาย | ว่าโฉมฉายสั่งไว้ให้ไปตาม |
ความยินดีเหมือนกับพี่ได้พบน้อง | หายใจคล่องเหนื่อยเหน็ดไม่เข็ดขาม |
มาจากนกดั้นดงพงระนาม | กระทั่งทามทุ่งกระท่อมเขาทำนา |
พบเด็กชายเลี้ยงควายจึงไถ่ถาม | มันบอกความพากรงเข้าไปหา |
ตาเพชรเฒ่าเฝ้ากระท่อมอยู่กลางนา | แกเมตตาปราสัยเป็นไมตรี |
แกเล่าว่าเมืองพารานั้นโตใหญ่ | นราไทครองเมืองนั้นเรืองศรี |
มีบุตรสาวคราวรุ่นสิบห้าปี | นางเทวีเวรกรรมมาตามทัน |
มีงูเห่าตอดเอานางร้อยชั่ง | เจ้าวายวางสิ้นชนม์ชีวาสัญ |
มีชายจรต่างนครในเขตคัน | เอายาใส่จอมขวัญให้รอดตาย |
ชื่อหมอยาแกบอกว่าชื่อปาจิต | จ้าวจอมกรุงชอบชิดว่าเฉิดฉาย |
ประทานของทองเงินนั้นมากมาย | ทั้งลูกสาวท้าวก็ให้ไม่รำพา |
ศรัทธาบวชทรงผนวชอยู่เป็นพระ | สิ้นวีระถือมั่นนั้นนักหนา |
เขาลือฉาวว่าเป็นเจ้าสงฆ์ราชา | ปลูกศาลาไว้ให้ทานทั้งหวานคาว |
ไปเถิดหลานชมเล่นเป็นขวัญเนตร | ต่างประเทศมีมากทั้งหนุ่มสาว |
พี่หลากจิตคิดขึ้นมาเป็นคราวคราว | ผู้ใดเล่าชื่อปาจิตไม่ผิดตัว |
ยิ่งกริ่งใจไหว้ลาตามาจาก | แกออกปากว่าจำเริญเถิดทูนหัว |
แกบอกทางให้กระจ่างหลานอย่ากลัว | ตะวันมัวกว่าจะเถิงพาราเมือง |
ออกจากตามาเวลาตะวันเที่ยง | พอบ่ายเบี่ยงแสงแดดลงแผดเหลือง |
กระทั่งเถิงพระพาราบูรีเรือง | เข้าในเมืองถามหาศาลาทาน |
แต่เที่ยวหาสามเพลาจึงพานพบ | เจียนบัดซบแทบชีวังจะสังขาร |
ลงอาบน้ำชื่นสบายใจสำราญ | มิทันนานขึ้นไปนั่งยังศาลา |
ทั้งสี่เฒ่ายกข้าวให้บริโภค | อิ่มสำเร็จแลชะโงกดูฉากฝา |
เห็นรูปเรื่องเมืองวังอลังการ์ | บอกนามว่าชื่อปาจิตนางอรพิม |
สะดุ้งใจประหนึ่งกายจะเซล้ม | หักอารมณ์อกใจระหามระทิม |
แลเขม้นเหมือนจะเห็นอยู่ริมริม | ในอกอิ่มเหมือนได้พบยุพาพิน |
ประหลาดหลากหนออันฉากที่เขียนไว้ | ใครที่ไหนเหมือนหนึ่งรู้ในเรื่องสิ้น |
ดูจนสุดไม่วิมุติที่มลทิน | พี่ล้มดิ้นเหลืออาการจะทานกาย |
ทั้งสี่เฒ่าเข้าพยุงทั้งหน้าหลัง | พี่คลุ้มคลั่งแทบจะสิ้นชีวินหาย |
เขาพามาไม่สัญญาคิดระคาย | เห็นรูปกายหมายว่าพระในพรหมจรรย์ |
ดวงสมรกรรมก่อนเราสร้างไว้ | จึงจากกันพลัดพรายแม่จอมขวัญ |
ครั้นสิ้นกรรมบุญที่ทำมาตามทัน | จึงพบกันสิ้นที่กรรมจะทำเรา |
ทั้งสองข้างต่างเล่าความเก่าหลัง | สุชลนังนองพักตร์ดังไฟเผา |
ให้โหยหวนคร่ำครวญเป็นคราวคราว | ด้วยสองเจ้าพบกันกระสันใจ |
๏ ทั้งสององค์ครั้นว่าทรงกันแสงสร่าง | พระชวนนางปรึกษาแล้วปราสัย |
พี่คิดมาเป็นเวราแล้วดวงใจ | เราฆ่าไท้พรหมทัตกษัตรา |
เป็นกรรมแล้วเห็นไม่แคล้วแม่ดวงจิต | คงตามติดตัวตายไปภายหน้า |
ไปใช้เขาเสียให้เบาซึ่งเวรา | เมื่อชาติหน้ากรรมหลังได้บางไป |
เราคืนหลังไปยังเมืองพาราณสี | แต่งพิธีเผาศพให้ผ่องใส |
ประชาราษฎร์จะได้ฟุ้งทั้งกรุงไกร | จึงจะหายครหาที่ฉันทา |
พระว่าพลางพานางน้องลินลาศ | นางนิ่มนาฏเดินตามพระเชษฐา |
เข้าสู่ดงด้นดั้นอรัญวา | ดวงสุดาคิดคะนึงพระชนนี |
โอ้ว่าแม่ตั้งแต่พลัดกำจัดจาก | จะทุกข์ยากฤๅว่าตายไปเป็นผี |
จะผาสุขทุกข์ไข้ฤๅอยู่ดี | นางเทวีครวญคร่ำร่ำพิไร |
หน่อกษัตริย์ตรัสปลอบพระท้าวน้อง | อย่าหม่นหมองไปเลยเจ้าจงแจ่มใส |
แม่หน้านวลจะประชวรลงกลางไพร | จะพาไปจนจะถึงพระมารดา |
พระปลอบพลางชวนนางให้ชมไม้ | ให้ปลื้มใจชื่นโสมนัสสา |
โน่นแน่เจ้าเหล่าพยอมพญายา | ฝางรกฟ้าแคฝอยต้นไม้ไฟ๓๗ |
ต้นกระทุ่มกากระทึงเหล่ากระถิน | ตาลขะโมยต้นขมิ้นงามไสว |
หมู่นางแย้มแกมประยงค์ดงลำไย | เหล่าตะโกแกมตะไกปนเพกา |
ต้นตะขาบหมู่ตะเคียนเหล่าตะขบ | ราชมานพต้นเสนียดปริศนา |
ยี่โถไทยแทงทวยทองคนธา | แม่แก้วตาชมเล่นให้เย็นทรวง |
ไม้อย่างนี้อยู่บุรีไหนจะเห็น | ไม่ตกเข็ญสุขเกษมอยู่วังหลวง |
ยากจะเห็นเถิงจะเซ่นน้ำตาตวง | แม่พักตร์พวงเจียนสลบไม่พบเลย |
แม่ศรีเสนชมเล่นเสียให้อิ่ม | ดูที่ประจิมหมู่ดอกไม้พระน้องเอ๋ย |
เหล่าซ่อนชู้หมู่อัญชันทั้งอบเชย | ส่งกลิ่นหอมไม่ระเหยกระหลบดง |
ดอกพุดตานบานเต็มในพุ่มพื้น | รวยระรื่นกระดังงามหาหงส์ |
ครั้นสุริเยเย็นยะย่ำจะค่ำลง | แมงภู่ผึ้งอึงมาลงเอาเรณู |
มีสระกว้างอย่างใหญ่ทั้งลุ่มลึก | อึกกะทึกแรดช้างทั้งกวางหมู |
มากินน้ำตามกันเป็นน่าดู | ตัวเมียผู้ลองเชิงระเริงใจ |
บ้างเบิดเบิ่งเชิงชั้นจะชวนหยอก | แล้วไล่หลอกที่จะชวนพิสมัย |
พระชวนนางชมพลางให้เพลินใจ | แล้วภูวนัยชมมัจฉาบรรดามี |
สะลุ่มพอง๓๘พาพวกแอบพุ่มผุด | ฉมันมุดไล่ฮุบแล้วแล่นหนี |
พวกกุมภาอ้าปากไล่ภุมภี | เอาหางตีหมู่ปลามัจฉากิน |
หน่อกษัตริย์ทัศนามัจฉาชาติ | แล้วภูวนาถเล้าโลมนางโฉมฉิน |
ให้ชมพันธุ์สัตบรรณแลโกมิน | ตลบกลิ่นเกสรให้คลอนใจ |
บ้างตูมตั้งบ้างขยายจะใกล้แย้ม | บ้างพึ่งแพลมขึ้นพ้นน้ำงามไสว |
บ้างบานแบแลสล้างขึ้นบังใบ | บ้างโรยรายร่วงเกสรนั้นเศร้าลง |
บ้างจ่อเม็ดฝักเล็ดกำลังอ่อน | ที่ฝักก่อนเล็ดแก่น่าประสงค์ |
พระหน้านวลชวนนุชเจ้าหยุดลง | ทั้งอาบสรงสายกระเซ็นเย็นสบาย |
แล้วจอมพงศ์ทรงเก็บฝักโกเมศ | ให้อัคเรศกินต่างประทังหาย |
ที่หิวโหยโรยแรงค่อยเคลื่อนคลาย | พงศ์นารายณ์หยุดนอนผ่อนสำราญ |
ลมพระพายชายพัดมาฉิวฉ่า | รำเพยพากลิ่นพยอมมาหอมหวาน |
ฟุ้งขจรด้วยเกสรประทุมมาลย์ | ให้เบิกบานปฏิพัทธ์ในหัททัย |
พระจันทร์แจ่มแจ้งกระจ่างสว่างฟ้า | ดาวดาราเรียงเรียบดูสุกใส |
เสียงไก่แก้วขันแว่ววิเวกไพร | พระจอมไกรชวนนางให้ชมดาว |
แม่พักตร์ผัดทัศนาดูอากาศ | ระดาดาษเต็มฟ้าเวหาหาว |
โน่นแนเจ้าดาวโยงสุกโพลงวาว | ดาวสำเภาดาวม้าสง่างาม |
นางโฉมงามซักถามพระเชษฐา | ถัดดาวม้าแลเห็นลุกสุกอร่าม |
เขาเรียกเล่าดาวอะไรพระโฉมงาม | เป็นหมู่ลามแสงใสผกายพราว |
จักรพงศ์ทรงสดับพระน้องถาม | จึงแจ้งความเยาวมิ่งโฉมเฉลา |
ดาวเป็นหมู่ดูระยับแม่นงเยาว์ | เขาเรียกดาวเดิมลูกไก่แม่ฉัยยา |
นางอรพิมยิ้มขยายธิบายถาม | ไฉนนามดาวลูกไก่น่ากังขา |
เอาชื่อไก่ขึ้นไปใส่ดาวดารา | พระพึ่ยาจงแถลงให้แจ้งใจ |
พงศ์กษัตริย์ฟังอรรถพระน้องถาม | แสดงความในนิทานตำนานไข |
พี่ได้ยินคำบูราณท่านว่าไว้ | แต่ล่วงไปครั้งประถมนิยมมา |
ยังมีองค์ทรงพระนามมหาเถร | เถิงวันเกนบัณรสีเข้าไปหา |
ไปโปรดสัตว์โปรดญาติโยมสีกา | พระเถราตรึกพลางย่างครรไล |
ครั้นเถิงย่านบ้านโยมขึ้นเคหัง | ทะนา๓๙นั่งแล้วสำรวมตามนิสัย |
โยมสีกาทัศนาก็ดีใจ | จึงทักไปว่าแต่เช้าบัดเจ้ามา |
แล้วไถ่ถามธรรมดาเป็นโยมญาติ | บัดเจ้าขาดเขินสิ่งใดโยมกังขา |
ฤๅแกล้งมาตามธรรมเนียมเยี่ยมสีกา | พระเถราท่านจึงแจ้งแสดงธรรม |
ว่านานเนิ่นมิได้เดินมาเยือนญาติ | ให้หวั่นหวาดคิดเถิงโยมให้วาบหวาม |
จะอาภาโยมสีกาฤๅปลอดงาม | อยากแจ้งความดอกประสงค์จำนงมา |
โวประยายแจงถวายเป็นถ้วนถี่ | อันโรคีก็บังเกิดบัดเจ้าหนา |
ทั้งเลือดลมมันก็โรมเอาหูตา | ได้กินยาเข้าไว้บ้างประทังไป |
อันหูนี้ถ้าลางทีเขาร้องเรียก | ฟังสำเนียกไม่ได้ยินเลยแจ่มใส |
เขาพูดนั่งเองก็ฟังเป็นเดินไป | ถ้าเรียกไกลเสียงแต่อูไม่รู้เลย |
อันตาเล่าพระบัดเจ้าไม่จะแจ้ง | ลางทีดูเป็นแต่แดงบัดเจ้าเอ๋ย |
ลางทีเป็นเห็นแต่ฟ้าเมื่อหน้าเงย | น้ำนมเนยหยอดประทังพอรางแล |
แต่ไถ่ถามกันแต่บ่ายจนเจียนพลบ | ด้วยนานพบเห็นว่าเยิ่นเนินแสว |
พระเถรท่านเห็นตะวันลงร่อแร | จึงบอกแม่ไขธรรมแล้วอำลา |
ฝ่ายสีกาแกจึงว่าผู้เป็นเจ้า | วันนี้ค่ำพรุ่งนี้เช้าควรสิกขา |
อยู่จำวัดจำเริญพรตโปรดสีกา | พอรุ่งตาฉันจังหันจึงครรไล |
มหาเถรต้องในเกนเตรัสสะ | เป็นธุระสำหรับชีมีนิสสัย |
โยมนิมนต์ก็ต้องรับไม่กลับไป | ................................. |
จบเล่ม ๓
-
๑. ตรง - ต้นฉบับว่า “กรง” ↩
-
๒. ตรึก - ต้นฉบับว่า “กรึก” ↩
-
๓. ดีหลี - (ถิ่น) แน่, แท้, แท้จริง ↩
-
๔. ข้าว - ต้นฉบับว่า “เข้า” ↩
-
๕. เทศน์ ต้นฉบับว่า เทษ ↩
-
๖. นิสงส์ คือ อานิสงส์ ↩
-
๗. อนึ่ง - ต้นฉบับเขียน อะนึ่ง ↩
-
๘. สัมผัส - ต้นฉบับเขียน สำพัด ↩
-
๙. ฉลาย - สลาย ↩
-
๑๐. ต้นฉบับว่า “สะรีย” ↩
-
๑๑. เล็ด - เม็ด ↩
-
๑๒. ต้นฉบับเขียน “กรุตสาด” ↩
-
๑๓. พระดิกา - ฎีกา ↩
-
๑๔. วิถาน - สันนิษฐาน ↩
-
๑๕. ต้นฉบับว่า “ตมูก” ↩
-
๑๖. สังระเสิน – สรรเสริญ ↩
-
๑๗. ต้นฉบับเขียน “วิสุด” ↩
-
๑๘. ต้นฉบับเขียน “พาดแพด” ↩
-
๑๙. ฉลาย - สลาย ↩
-
๒๐. โรงรู = ลงรู ↩
-
๒๑. ต้นฉบับเขียน “สินลา” ↩
-
๒๒. ต้นฉบับเขียน “กระดี” ↩
-
๒๓. ต้นฉบับเขียน “ทะนน” ↩
-
๒๔. ต้นฉบับเขียน “สิงค้า” ↩
-
๒๕. สนวน = ฉนวน ↩
-
๒๖. ครรภา = ต้นฉบับเขียน คับภา ↩
-
๒๗. จอระจัน = จรจรัล ↩
-
๒๘. ง่าง = งั่ง ↩
-
๒๙. ง้อม - งุ้ม ↩
-
๓๐. ต้นฉบับว่า สำพัด ↩
-
๓๑. บุเรียน - เปรียญ ↩
-
๓๒. ต้นฉบับเขียน - กำมพฤึก ↩
-
๓๓. วันณพิภบ - วณิพก ↩
-
๓๔. ต้นฉบับเขียน พรุกนี้ ↩
-
๓๕. พระไกร - พระตรัย (รัตน์) ↩
-
๓๖. ผ้าไกร - ผ้าไตร ↩
-
๓๗. ไม้ไฟ = มะไฟ ↩
-
๓๘. สะลุ่มพอง : สลุมพร - ปลาเนื้ออ่อน ↩
-
๓๙. ทะนา = อาราธนา ↩