คำนำ

หนังสือวรรณคดีกวีนิพนธ์ เป็นหนังสือมีค่ายิ่งแก่การศึกษาค้นคว้า เนื่องจากเป็นเรื่องราวบรรยายความสะเทือนอารมณ์และความซาบซึ้งใจของกวีที่สะท้อนเหตุการณ์ในอดีตให้เราได้ทราบ วรรณกรรมเก่า ๆ ให้ความรู้แก่คนปัจจุบันอย่างมากในแง่ปรัชญาสังคม นอกจากนี้ยังเป็นแบบอย่างการให้ภาษาที่ดีถึงขั้นวรรณศิลป์ ความงามของวรรณกรรมเหล่านี้อาจพิสูจน์ได้โดยมีกาลเวลาเป็นเครื่องชี้ เพราะหากไม่ดีงามซาบซึ้งใจแล้วคงพ้นไปจากความทรงจำไม่ช้านัก วรรณกรรมเก่าที่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้จึงเป็นของมีคุณค่าควรแก่การรวบรวมเผยแพร่

การตรวจสอบชำระวรรณกรรมและการจัดพิมพ์เผยแพร่ เพื่อการสืบต่ออายุหรือสงวนรักษาต้นฉบับเป็นงานที่กรมศิลปากรปฏิบัติอยู่เสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมชั้นสำคัญของชาติที่อยู่ในความนิยมของผู้อ่าน อย่างไรก็ดี หนังสือที่มีคุณสมบัติดีงามเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ต้องการและควรแก่การรวบรวมตามยุคสมัย ซึ่งกรมศิลปากรเห็นว่าเมื่อจัดพิมพ์ขึ้นแล้ว จักเป็นคุณประโยชน์แก่ความเจริญทางสติปัญญาของชนในชาติ เพราะอาจให้เป็นคู่มือของผู้ค้นคว้าวิจารณ์ และศึกษาเปรียบเทียบได้อย่างดียิ่ง

เพื่อเสริมสร้างความนิยมในการอ่านวรรณคดีไทยและการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าว กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงดำเนินการตรวจสอบหนังสือวรรณกรรมตามยุคสมัยและได้จัดพิมพ์เผยแพร่แล้วคือ วรรณกรรมสมัยสุโขทัย วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๑ เล่ม ๒ เล่ม ๓ และวรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๑ ทั้งนี้ได้อาศัยข้อสันนิษฐานที่ปรากฏในหนังสือประวัติวรรณคดีไทยของผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น นายเปลื้อง ณนคร และนายเจือ สตะเวทิน เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดยุคสมัยแห่งวรรณกรรม

หนังสือวรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ นี้ ได้นำนิทานเรื่อง ปาจิตกุมารกลอนอ่าน และนิทานสุภาษิตเรื่อง พระโพธิสัตว์โกสามภิน มารวมพิมพ์ไว้ นับเป็นการพิมพ์ครั้งแรก

นิทานเรื่อง ปาจิตกุมารกลอนอ่าน นี้ มีเนื้อเรื่องเล่ากันแพร่หลายมาก่อน ด้วยเหตุที่เป็นชาดกเรื่องหนึ่ง จากหนังสือปัญญาสชาดก แต่ฉบับที่เป็นนิทานคำกลอนนี้ต้นฉบับยังเป็นตัวเขียนสมุดไทยจำนวน ๕ เล่ม เก็บรักษาไว้ที่ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ ต้นฉบับมีที่ชำรุดขาดไปบางตอน ทำให้เรื่องขาดความต่อเนื่องไปบ้างแต่ไม่ถึงกับเสียความ ภาษาเขียนที่ปรากฏในต้นฉบับก็เป็นภาษาเก่า อักขรวิธีผิดกับที่ใช้ในปัจจุบันมาก การจัดพิมพ์หากรักษาตัวสะกดการันต์ตามต้นฉบับ จะทำให้ผู้อ่านไม่ได้รับอรรถรสของกวีนิพนธ์เท่าที่ควร กรมศิลปากรจึงมอบให้นักอักษรศาสตร์ ฝ่ายวรรณคดี กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ปริวรรตอักษรเป็นภาษาปัจจุบัน ตรวจสอบชำระจัดทำเชิงอรรถและคำอธิบาย เพื่อให้มีรูปแบบเช่นเดียวกับวรรณกรรมเล่มก่อน ๆ ที่ได้จัดพิมพ์มาแล้ว

นิทานสุภาษิตเรื่อง พระโพธิสัตว์โกสามภิน เป็นนิทานคำกาพย์อีกเรื่องหนึ่ง อาจเป็นฝีปากกวีคนเดียวกัน ปรากฏฉบับอยู่ท้ายเล่มสมุดไทยเรื่องปาจิตกุมาร

ในการพิมพ์ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้พิมพ์ภาพประกอบแสดงต้นฉบับลายมือเขียนจากวรรณกรรมทั้ง ๒ เรื่องไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อผู้อ่านจักได้เห็นแบบอย่างการเขียนหนังสือและอักขรวิธีครั้งพุทธศักราช ๒๓๑๖ นอกจากนี้ยังได้นำภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อันเป็นถิ่นกำเนิดนิทานพื้นบ้านที่มาของวรรณกรรมเรื่องปาจิตกุมารชาดกมาพิมพ์รวมไว้ด้วย ทั้งนี้ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้รับความร่วมมือในการถ่ายภาพจากกองหอสมุดแห่งชาติ ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและปฏิมากรรมติดที่กองโบราณคดีอย่างดียิ่ง

อนึ่ง ในการคัดเลือกวรรณกรรมเพื่อนำมาจัดพิมพ์ รองศาสตราจารย์ นิยะดา เหล่าสุนทร แห่งภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทมากในการค้นคว้าต้นฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเขียนในงานวิจัยเรื่อง ปัญญาสชาดก : ประวัติและความสำคัญที่มีต่อวรรณกรรมร้อยกรองของไทย ซึ่งเสนอแนะไว้ว่า

“ผู้วิจัยได้พบว่ามีต้นฉบับตัวเขียนของวรรณกรรมร้อยกรองจำนวนมาก ที่ยังไม่มีการตีพิมพ์มาก่อน หลายเรื่องมีความไพเราะทางด้านวรรณศิลป์ สมควรที่นำมาศึกษาเพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของไทยประการหนึ่ง

การชำระต้นฉบับของวรรณกรรมร้อยกรอง ในปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเท่าที่ควร ทั้งที่ในทัศนะของผู้วิจัยมีความสำคัญมาก เพราะจะได้ข้อมุลที่ถูกต้องน่าเชื่อและเป็นประโยชน์ในการศึกษาด้านพัฒนาการของภาษา การศึกษาในเรื่องนี้ควรขยายขอบเขตให้กว้างขวางกว่าที่เคยกระทำมา”

นอกจากความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ทางวิชาการดังกล่าว กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ยังได้รับสำเนาต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องปาจิตกุมารเพื่อใช้ในการปริวรรตอักษรด้วย กรมศิลปากรจึงขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ นิยะดา เหล่าสุนทร ณ โอกาสนี้

กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือวรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ จะเป็นสารัตถะ เพื่อการศึกษาวรรณกรรมสมัยธนบุรีเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ยังแก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจวรรณคดีโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์

๑๗ กันยายน ๒๕๓๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ