ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๒
ตั้งแต่พระปาจิตกุมารทรงสุบินนิมิต ให้โหรทำนาย แล้วสั่งอำมาตย์ไปสืบข่าวยังบ้านนางอรพิม จนถึงพรานไพรยิงพระปาจิตสิ้นพระชนม์ แล้วพานางอรพิมไป
.................................... | .................................... |
ล้างพระพักตร์ให้ผ่องแผ้ว | สำเร็จแล้วออกพระโรงวินิจฉัย |
พร้อมด้วยหมู่มหาเสนาใน | รับสั่งให้หาโหราเข้ามาพลัน |
นี่แน่ท่านโหราพฤฒาเฒ่า | คืนนี้เราให้อนาถประหลาดฝัน |
จึงเล่าเรื่องในสุบินจนสิ้นพลัน | ให้โหรนั้นแจ้งกระจ่างในทางความ |
ฝ่ายโหรท่านฟังฝันจนสิ้นข้อ | เป็นย่นย่อเยื่องแยบขยาดขาม |
เป็นที่เสียเป็นที่ได้ในใจความ | ต้องทายตามเรื่องนิมิตไม่ผิดตัว |
พระโหรหลวงทราบทรวงกระแสฝัน | จึงทูลพลันว่าพระบาทอยู่เหนือหัว |
ซึ่งพระองค์ทรงฝันว่าหายตัว | ยังพันพัวอยู่เป็นเพื่อนที่เรือนยาย |
ในฝันว่าพานางขึ้นไปโคก | ไปพบโกรกห้วยธารละหานสาย |
ที่ข้อนี้ข้าพระองค์บรรจงทาย | เห็นจะได้ที่ในกายพระภูธร |
ที่สู้ยากพากเพียรเที่ยวหานาง | ก็สมหวังยิ่งภิญโญสโมสร |
เมื่อพบละหานธารโกรกที่โคกดอน | ท่านายว่าพระบวรพบอรพิน |
ที่ฝันทรงว่าพระองค์นั้นอยากน้ำ | เที่ยวเร่ร่ำเสาะแสวงกระแสสินธุ์ |
จนค่ำพลบจึงได้พบซึ่งวาริน | ได้กอบกินไม่ทันละก็ปะภัย |
ที่ข้อนี้เห็นจะได้กับผ่านฟ้า | เมื่ออาสาอยู่กับนางพิสมัย |
จนเติบโตน่านอนให้ย้อนใจ | พระภูวนัยมาแถลงแจ้งบิดา |
ที่หิวกระแสทายแน่กำเริบรัก | แม่นงลักษณ์อรพิมขนิษฐา |
ที่พบน้ำนั้นพระองค์ได้กัลยา | แต่เท่าว่าประเดี๋ยวนี้เห็นมีภัย |
ที่ทรงฝันว่าพระนางนั้นเฝ้าหาบ | พระยาเสือนั้นมาคาบเอานางได้ |
พระแล่นโลดโดดตามในทันใจ | ก็ชิงได้กัลยานั้นมาคืน |
ที่ข้อนี้เห็นจะได้กับตัวนาง | อยู่ภายหลังเห็นจะมีคนข่มขืน |
ประโลมขวัญสุดจะกลั้นต้องกล้ำกลืน | ถึงไม่ชอบก็ต้องชื่นในเชิงชม |
ฝันว่าเสือเห็นจะเชื้อเป็นผู้ใหญ่ | ไม่เป็นเจ้าก็เป็นนายทำขื่นขม |
ที่ชิงได้ไม่เป็นไรแต่พออม | เป็นแต่ลมมิได้ล่วงในทรวงนาง |
ที่ฝันว่าพาโคกเที่ยวหาน้ำ | ระหิมระหามคอแห้งแทบลงผาง |
จนค่ำพลบจึงได้พบนัททีทาง | จะได้นางก็เห็นยากลำบากใจ |
ไม่เหมือนคำขอถวายชีวาวาตม์ | ประยูรญาติเอาไปล้างให้ตักษัย |
ทั้งเมียลูกผูกอารีที่อาลัย | ประหารให้สิ้นทั้งโคตรอย่าโปรดปราน |
พระทรงฟังโหรทำนายทายสุบิน | ตลอดสิ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน |
แกขันชีวิตมิได้คิดจะวายปราณ | พระภูบาลเห็นจริงไม่กริ่งใจ |
พระนึกเทียบเปรียบคำบูราณว่า | อนิจจาครั้นมาคิดหาผิดไม่ |
ถ้าเมียงามโฉมเฉิดเลิศวิไล | ฝากกับยายเห็นจะเป็นเช่นวันทอง |
เมื่อขุนแผนยังเป็นไพร่ชื่อพลายแก้ว | ก็ว่องแวววิชาดีไม่มีสอง |
มาสู่ขอได้กันกับวันทอง | เข้านอนหออยู่ด้วยน้องได้สามคืน |
เมืองเชียงทองคิดกบฏกับเชียงใหม่ | กำเริบใจหาตัวก็ขัดขืน |
รับสั่งใช้ให้นายพลายคนยงยืน | ไปปราบปรามให้ราบรื่นเป็นอันดี |
เป็นจนใจจ้าวใช้ก็สุดขัด | ต้องพรากพลัดจากน้องให้หมองศรี |
ความรักกันราวกะทรวงดวงชีวี | ไม่พอปีก็วันทองเป็นสองใจ |
ไอ้ขุนช้างมันมาไพล่ว่าพลายแก้ว | อาสาทัพยับแล้วเป็นโทษใหญ่ |
ถ้าตัวอยู่ก็ยังชั่วนี่ตัวตาย | ลาวจับได้ฟันแทงให้แร้งกิน |
มันมุสากระดูกหมาเอามาให้ | ว่าพลายตายนี่กระดูกโดยถวิล |
ฝ่ายแม่ยายก็ไปเชื่อไอ้คนทมิฬ | หลงด้วยลิ้นคนโกหกช่างพกลม |
ขุนช้างว่าถ้าอาสาโทษอย่างนี้ | ด้วยเสียทัพโทษมีทวีถม |
ทั้งแม่ยายเมียลูกต้องตกจม | การระดมต้องเข้าไปอยู่ในวัง |
แล้วมันว่าฉันเมตตานางวันทอง | จะเสียของเงินตราสักห้าชั่ง |
เอ็นดูฉันถ้าเมตตันกรุณัง | เถิงสิบชั่งก็จะเสียได้เมียมา |
๏ ฝ่ายแม่ยายใจโลภทั้งลุ่มหลง | ไปงวยงงหลงเชื่อคนมุสา |
ยกวันทองให้แก่มันเป็นภรรยา | ลูกเขยเก่านั้นไม่มาจนคิดเลย |
นี่ตัวเราเห็นจะเป็นเช่นวันทอง | เมื่อจากน้องวันจะมานิจจาเอ๋ย |
ว่าหมื่นรักแสนปลื้มไม่ลืมเลย | แม่คุณเอ๋ยความรักไปพากเพียร |
ชะรอยมีคนเล่าไปเป่าหู | หลงด้วยรู้เขาสักนิดระหิดระเหียน |
ไม่กลัวเลยหนามงิ้วไม่ลิ่วเตียน | เห็นจะเพี้ยนเหมือนวันทองเป็นสองใจ |
เป็นแต่ฝันยังไม่มั่นเหมือนตาเห็น | จนเกินเกณฑ์๑ตีตัวไปก่อนไข้ |
ทำเป็นคนเสียจริตก็ผิดไป | ต้องเขาทายสืบดูให้รู้ความ |
พระกรองกรึกนึกกริ่งจริงกับเท็จ | ยังขามเข็ดแบกบาปไว้หาบหาม |
มาพร่ำบ่นอยู่เหมือนคนเป็นบ้ากาม | ตรองให้งามอย่ามักง่ายทำใจเบา |
พระเอื้อนโอษฐ์โปรดประภาษแล้วตรัสว่า | ทั้งน้าอาผู้รู้พระครูเฒ่า |
พระยาอุเทนเสมอใจอย่างไรเรา | ท่านคนเก่าท่านจะเห็นเป็นอย่างไร |
เจ้าชีวิตมอบการสิทธิให้กะท่าน | ที่การงานได้เสียเป็นไฉน |
ที่เราฝันท่านอาจารย์ก็ทำนาย | ว่าวุ่นวายทายตรงว่าเสียนาง |
ท่านโหรนั้นแกก็ขันให้ชีวิต | ถ้าทายผิดสิบทั้งโคตรจะให้ล้าง |
จะเท็จจริงเราก็นั่งไว้บั้นกลาง | ไปสืบดูให้กระจ่างจึงแจ่มใจ |
พระยาพิชัยที่ยกไปเป็นกองหน้า | ไปตามมากลับคืนให้รั้งไว้ |
พวกตำรวจขึ้นม้าพลันในทันใด | ด้วยวิ่งไวตามถึงเขาทันที |
พระยาพิชัยตกใจร้องเรียกถาม | บังเกิดความขึ้นอย่างไรไฉนนี่ |
ขุนตำรวจเรียนพลันในทันที | ว่าบัดนี้เกิดวุ่นให้คุณคืน |
ดับนั้นท่านพระยากองกำกับ | ก็คืนกลับมากระบัดไม่ขัดฃีน |
เข้าเฝ้าองค์ทรงพุฒไม่หยุดยืน | แล้วปลงช้างครึกครื้นริมฝั่งชล |
๏ ปางพระปิ่นภิญโญวโรรส | พระทรงยศกรองสังเกตที่เหตุผล |
ทอดพระเนตรเห็นพระนายกับไพร่พล | ภูวดลเอื้อนอรรถประภาษไป |
ว่าดูกรท่านพระยาสามิภักดิ์ | ท่านจงรักที่ในเราพ้นวิสัย |
เมื่อคืนนี้เราอนาถประหลาดใจ | พอหลับไปบังเกิดฝันประหวันทรวง |
อันนิมิตวิปริตเหมือนเช่นนี้ | ไม่เคยฝันแต่สักทีพระนายหลวง |
พิเคราะห์ฝันก็ให้ตันน้ำตาตวง | ตั้งแต่ง่วงอยู่เหมือนงั่งไม่ชั่งใจ |
เล่าให้โหรแกทำนายก็ทายว่า | นางกัลยาอรพิมพิสมัย |
แกทายตรงว่านางหลงไปคบชาย | ถ้าไม่จริงแกก็ให้วายชีวา |
อันชีวิตใครไม่คิดเสียดายรัก | แกประจักษ์จริงใจจึงกล่าวกล้า |
ครั้นพิเคราะห์ดูในทรวงดวงชะตา | ในตำรานั้นก็ว่าจะเสียนาง |
อันความฝันกับตำราตาโหรหลวง | ต้องในทรวงอุกรุกช่างทุกข์ผาง |
ครั้นจะไปฝันก็ร้ายเกิดเป็นลาง | เรารอรั้งอยู่เพียงนี้ทีเป็นไร |
พระพิชัยสงครามรามนเรศ | จึงก้มเกศกราบทูลสนองไข |
บูราณวางถ้าเป็นลางแล้วขืนไป | คงเกิดภัยขึ้นเป็นแน่กระแสทาง |
นี่พระองค์ทรงฝันในทรวงอก | ไม่พร่องบกจริงใจใสสว่าง |
ถ้าขืนไปก็เห็นใช่จะอับปาง | ขอพระองค์จงกระจ่างประจักษ์ใจ |
๏ ปางพระองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติเยศ | พระปาจิตอิศเรศมิ่งมไห |
ทรงปรึกษากับพระยาทั้งสามไป | ก็เห็นในใจความจะภัยพาล |
จึงตรัสว่าท่านพระยาสงครามชัย | ท่านจงไปสืบให้แน่กระแสสาร |
จะเห็นจริงฤๅอย่างไร๒ได้แจ้งการ | ไม่ช้านานเต็มว่าช้าสักห้าคืน |
ท่านพระยารับบัญชาใส่เกศี | ขมันขมีทูลลาด้วยฝ่าฝืน |
เรียกทนายผูกช้างสะพายปืน | ใส่จำลองแล้วก็ขึ้นเร่งรีบไป |
ประมาณทางรั้งนอนสามคืนครึ่ง | บรรลุถึงบ้านหนึ่งสะหวั่นไหว |
เห็นผู้คนกล่นเกลื่อนแลแต่ไกล | เสียงขับนกเฝ้าไร่อยู่แซ่แซว |
ให้ควาญช้างไสช้างเข้าไปใกล้ | เห็นตายายมัดข้าวฟ่างวางเป็นแถว |
แล้วปลงช้างทำทีไม่วี่แวว | ดีแล้วพบยายคงได้การ |
แล้วเดินตรงลงนั่งพลางปราสัย | เพทุบายด้วยสุนทรอันอ่อนหวาน |
ท่านตายายทำไร่นี่นิ่งนาน | สารพันถั่วงาบรรดามี |
พริกมะเขือเหลือล้นผลสล้าง | ดกกระจ่างลูกแยะเหมือนกล้วยหวี |
ที่เก็บย่างไว้ต่างหากนั้นมากมี | แต่ละปีเห็นจะหลายได้เงินตรา |
พระยาท่านชั้นเชิงฉลาดเหลือ | แกก็เกื้อท่วงทีดีนักหนา |
ครั้นจะตรงเข้าไปถามตามสัจจา | กลัวยายตาแกจะกลอกไม่บอกตรง |
ครั้นจะใช้ให้ทนายไปไถ่ถาม | กระแสความไม่ได้จริงสิ่งประสงค์ |
จะขุ่นเคืองแค้นขัดบาทบงสุ์ | จักรพงศ์ก็จะโกรธพิโรธใจ |
ว่าคนเก่าเรานี้หวังว่าดวงเนตร | ไปสืบเหตุก็หาหายสงสัยไม่ |
หมายจะทำความชอบประกอบใจ | จะกลับภัยเข้ามาติดผิดตำรา |
พระยาท่านตรึกพลันปราสัยสาร | ถามว่าบ้านนี้ชื่อไรท่านยายขา |
ขึ้นอำเภอฤๅอย่างไรท่านยายตา | นามพาราชื่อนั้นประการใด |
ท่านยายตาว่าอะไรท่านนายหลาน | มาถามบ้านถามเมืองเหตุไฉน |
นี่พ่ออยู่แว่นแคว้นแดนเมืองใด | ลาวฤๅไทยฤๅเขมรข้าเห็นแคลง |
ท่านพระยาแหลมคารมลมฉลาด | ไม่หวั่นหวาดบอกแกให้เคลือบแฝง |
นี่แน่ตาข้าเจ้าจะแจ้งแจง | เมืองตำแหน่งฉันนี้อยู่นครพรหม |
ทั้งยายตาแกจึงว่าอย่างไรหลาน | อันเมืองบ้านท่านข้างโน้นอุดมถม |
ฤๅอดอยากนาไร่ไม่อุดม | มัธยมฤๅกันดารพระหลานชาย |
อันนามบ้านนี้ฤๅหลานตลาดโพ | ทั้งใหญ่โตชายหญิงนั้นมากหลาย |
แต่โรงเรือนนั้นว่าน้อยสักร้อยปลาย | อันเมืองใหญ่มีปราสาทราชวัง |
อันนามเมืองชื่อว่าเมืองพาราณสี | แต่เดิมทีเทวดามาก่อสร้าง |
กำแพงแก้วมิใช่ดินหินบั้นกลาง | ปราสาทปรางค์หมดสิ้นแต่หินทำ |
ยลยอดปรางค์แลสว่างด้วยแสงแก้ว | ดูวาวแววแสงหล้าจินดาขำ |
มันเหลือดีแล้วพระหลานท่านช่างทำ | ดูประเสริฐเลิศล้ำด้วยลวดลาย |
ตาเล่าก็เหมือนเอามาพูดอวด | มันยิ่งยวดเกินอย่างจะกฎหมาย |
ไม่เชื่อตาก็ให้ถามเอาคำยาย | สงสัยใจไปดูให้เห็นเป็นขวัญตา |
เจ้าแผ่นดินปิ่นเมืองชื่อพรหมทัต | เสวยราชสมบัตินิวาสา |
พระเอกอัครมเหสีนั้นปรีชา | ชื่อกัลยาอรพิมนิ่มอนงค์ |
พึ่งได้นางอุปภิเษกเป็นเอกอัคร | กับนงลักษณ์อรพิมนวลระหง |
เมื่อเดือนยี่สี่ค่ำนั้นลงโรง | แต่ลงโรงมาสำเร็จเถิงเจ็ดวัน |
มีโขนหุ่นเพลงละครทั้งมอญรำ | อีกมวยปล้ำไต่ลวดก็กวดขัน |
ครั้นกลางคืนแล้วถวายดอกไม้พลัน | พลุตะไลจุดสนั่นเป็นโกลา |
เล่นสำเร็จเจ็ดวันไม่คั่นขาด | ประชาราษฎร์ชื่นชมสหัสสา |
พากันปรูดูงานไม่พริบตา | จนพลบค่ำสนธยาจึงมาเรือน |
ทั้งร้อยเอ็ดพระนครมาอ่อนเกศ | จันต์ประเทศพาราก็มาเหมือน |
ของบรรดาถ้าจะว่าสักท่วมเรือน | บุญมาเตือนตามท่านพระหลานนาย |
นี่นายท่านมาราชการฤๅธุระ | ฤๅเปล่าปละเที่ยวเล่นดังใจหมาย |
เป็นความจริงแจ้งกระจ่างอย่าพรางยาย | พระยานายตรึกตรองเป็นสองทาง |
ครั้นไม่ตรงแกก็ตรงตัวเองถาม | แกแจ้งความอนุสนธิ์จนกระจ่าง |
แต่แรกคิดว่าจะปิดไม่เปิดทาง | ผิดด้วยอย่างสุภาษิตประดิษฐ์มา |
ถ้าใครปดก็เอาปิดเข้าปดส่ง | ถ้าใครตรงก็ให้ตรงจนสังขาร์ |
นี่แกตรงก็ต้องตรงต่อยายตา | ท่านพระยาจึงขยายภิปรายความ |
ท่านตาเจ้าฉันจะเล่าเป็นความจริง | ถ้ารู้แล้วก็ให้นิ่งจะเสี้ยนหนาม |
สมเด็จพระเจ้าลูกยาพงางาม | ขององค์ประเสริฐเลิศล้ำนครพรหม |
พระโองการจะให้ผ่านครองสมบัติ | เป็นกษัตริย์หาคู่ภิเษกสม |
แต่ร้อยเอ็ดที่มาขึ้นบูรีรมย์ | มัธยมอย่างดีไม่มีเลย |
ลูกอำมาตย์เสนาพระยาใหญ่ | มาถวายมากนักท่านตาเอ๋ย |
ท่านไม่รักไม่นิยมไม่ชมเชย | จนแล้วเลยทูลลาบิดาจร |
เที่ยวค้นคว้าหานางจนจวบจบ | กว่าจะพบพุ่มพวงดวงสมร |
ในคำเล่าว่าท่านไปหลายนคร | แต่ซอกซอนซนซุกทุกบูรี |
ว่าไปพบนพเก้าเล่าแถลง | ในท้องแขวงเป็นอำเภอพาราณสี |
แต่พากเพียรอยู่อาสาสิบห้าปี | สิบหกปีทั้งยังอยู่แต่ในครรภ์ |
ครั้นเติบใหญ่ใคร่ครวญควรจะได้ | จึงลายายบทจรมาผ่อนผัน |
แจ้งกระจ่างพระบิดรนครพลัน | ท่านรับขวัญชมชื่นระรื่นใจ |
จึงจัดแจงแต่งคนแลสิ่งของ | ทั้งเงินทองทรัพย์สินนั้นมากหลาย |
ทั้งโคต่างช้างม้าแลวัวควาย | มโนมัยราชรถทั้งคชา |
แต่เงินทองแก้วแหวนนับลำหาบ | จนทางราบเป็นผงคลีไม่มีหญ้า |
เงินใส่ต่างช้างใส่ทองให้เต็มมา | เป็นสินไหว้พระลูกยามารดายาย |
ในคำตรัสว่าถ้าจัดแต่งการแล้ว | ขอรับเอาสะใภ้แก้วมาสืบสาย |
มายังกรุงสีพีบูรีพราย | จะมอบให้ท่านทั้งสองนั้นครองกรุง |
แต่ยกมาถ้าจะว่าสักเดือนเศษ | บังเกิดเหตุมาหยุดนอนพลับพลาสูง |
ที่ลำชัยใสระโยงพุนงยุง | เมื่อยามรุ่งอัศจรรย์ให้ฝันไป |
จึงหาโหรเข้ามาเฝ้าแล้วเล่าฝัน | ท่านโหรนั้นทายตรงไม่สงสัย |
จะเสียตัวถ้าไม่เสียก็เกิดภัย | ไม่เหมือนทายแกให้ฟันแกขันเอา |
ทรงปรึกษาท้าวพระยาพระวงศ์ญาติ | ต้องพิฆาตคำโหรพระครูเฒ่า |
จะขืนไปถ้าแม้นได้ก็งามเพรา | ถ้าไปเปล่าแล้วก็ยิ่งกว่าแมวเลีย |
พระวงศาชาวพระยาแต่ใหญ่ใหญ่ | ก็มากมายบรรดามาพากันเสีย |
เป็นกษัตริย์มิใช่ไพร่จะไร้เมีย | แต่ไพร่เตี้ยก็ยังได้ทุกกายคน |
ทรงปรึกษาหารือเห็นผ่องใส | ท่านจึงใช้ฉันมาสืบอนุสนธิ์ |
ท่านพระครูดูแน่เหมือนแลยล | แกเกินคนเหลือเล่ห์เหมือนเทวดา |
ยายตาแกฟังกระแสแล้วปราสัย | เอ็นดูยายอย่าให้อึงนาพ่อหนา |
ถ้าทราบข่าวไปเถิงท้าวจ้าวพารา | จะจับตาตียายให้วายชนม์ |
ท่านพระยาปราสัยว่ายายหลาน | อย่ารำคาญเคืองแค้นอย่าเสียวขน |
ท่านไปเอาเขาก็รู้ทุกผู้คน | ไม่ต้องกลเข้าการรำคาญยาย |
ทั้งยายตาแกจึงว่าพระนายหลาน | ที่ข้อนั้นยายไม่กลัวดอกหัวหาย |
ยายรำคาญด้วยพระหลานปานตัวตาย | ไม่เป็นไส้ก็เหมือนไส้ศึกสงคราม |
พระหลานนายมิใช่ไพร่อนาถา | อยู่พาราสัปทนมืคนหาม |
เหมือนชนวนชวนศึกให้ลึกลาม | มาปลงช้างวางย่ามทำเยื่อใย |
ได้ยินอย่างวางมาตำราปด | ถ้าไม่คดก็เหมือนคดอย่าสงสัย |
อยู่แดนลาวแล้วยังก้าวไปแดนไทย | อยู่แดนไทยแล้วยังไพล่ไปคบมอญ |
อยู่พม่าแล้วยังมาคบเขมร | มันเกินเกณฑ์ต้องบทกำหนดสอน |
นี่หลานนายอยู่ต่างถิ่นแผ่นดินดอน | ถ้าเกิดศึกเห็นจะค่อนด้วยดาบคม |
ไม่ชนวนเหมือนชนวนจะชวนศึก | ยายนิ่งนึกหาสาเหตุก็เห็นสม |
ด้วยหลานมาตายายแย้มนิยม | มากล่าวลมคบค้ากับตายาย |
อนึ่งว่าถ้าไม่รู้ว่าเป็นโจร | มันเป็นโจรขาดเหลือเสบียงหาย |
มันมาขอเอ็งก็ยอให้ง่ายดาย | ให้อาศัยกินอยู่นั้นสู่โจร |
มันไปลักหมากพลูแลม้าควาย | เขาจับได้มันก็ว่ามาห้อยโหน |
ได้อาศัยให้กำลังตั้งประโคน | ว่าสมโจรเขาก็มัดข้อมือไป |
นี่แลยายคิดเจือเผื่อข้างหน้า | ถ้าฉวยว่าท่านนั้นเดือดไม่เหือดหาย |
ดูก็เปื้อนเหมือนขโมยคอยขะมาย | แต่พอพลบแล้วก็ไพล่เอาถุงเพลง |
ครุ่นคิดเทียบเปรียบเหมือนตักวารีหาบ | คนหนึ่งตักคนหนึ่งอาบทำข่มเหง |
ยายเห็นว่าท่านสิทำไม่ยำเกรง | ถึงยายเองก็ไม่ฟังคงอ้างกัน |
ด้วยท่านครองอยู่ในชายใจละโมบ | ยังหลงโลภยังไม่ได้พระอรหันต์ |
ปุถุชนฤๅจะถือได้เที่ยงธรรม์ | อันสามัญฤๅจะถือซึ่งขันตี |
ถ้าเว้นว่าแต่ตถาผู้ได้ตรัส | ที่โปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้สุขี |
จึงจะอดงดได้ไม่ไยดี | นี่เต็มทีท่านอย่าห่วงในบ่วงกาม |
เถิงบารมีนั้นจะสร้างแต่หลังมาก | ถ้ากามราคยังไม่สิ้นคงเสี้ยนหนาม |
เหมือนพระองค์ท่านยังทรงพยายาม | ยังไม่ข้ามห้องกิเลสให้เด็ดไป |
เอากำเนิดเกิดเป็นโพธิสัตว์ | เสวยชาติชื่อสุธนปิ่นมไห |
บริบูรณ์ยิ่งภิญโญด้วยโภไคย | นึกอันใดสารพัดไม่ขาดแคลน |
กษัตราเหมือนหนึ่งว่าพระปาจิต | ยังขืนคิดหนักหน่วงยังหวงแหน |
มีศึกใหญ่พระบิดาใช้ไปแทน | อาจารย์พราหมณ์ทำแค้นแสนทวี |
ท่านไปทัพปราบปรามอรินภัย | เทพไทสู้แทนให้ศึกหนี |
ข้าศึกใหญ่แพ้พ่ายพระบารมี | เทพเทวีเข้านิมิตกับบิดา |
ให้ทรงฝันอัศจรรย์ในกองลาภ | ให้ทรงทราบว่าพระลูกเสน่หา |
ชนะศึกที่ไปสู้หมู่ปัจจา | อัปราท่านจงรู้ในสุบิน |
พระบิดาตื่นผวาแทบขวัญหาย | สำคัญใจว่าจะเสียซึ่งสิ่งสิน |
ด้วยไม่รู้ในกระแสแก้สุบิน | ให้เดือดดิ้นทุกตรมระทมใจ |
จึงหาพราหมณ์ที่เป็นครูรู้ตำรา | ได้ตัวมาแล้วให้แก้กระแสสาย |
เล่าสุบินสิ้นแต่ต้นตลอดปลาย | ในที่ทายแกก็รู้ว่าฝันดี |
แต่พราหมณ์ร้ายใจทมิฬกาลีเมือง | แกล้งยักเยื้องยกว่าไอ้หน้าผี |
พระองค์ฝันร้ายฉกรรจ์แสนทวี | เห็นเต็มทีจะบันดาลเสียบ้านเมือง |
พระเจ้าพ่อฟังทำนายทายสุบิน | ให้เดือดดิ้นโทมนาจนตาเหลือง |
ทำกระไรท่านอาจารย์ที่บ้านเมือง | จะปลดเปลื้องแก้เข็ญเป็นอย่างไร |
ฝ่ายพราหมณ์ร้ายใจนรกโกหกว่า | เร่งให้หาสัตว์สิงคาพิสัย |
สิ่งละร้อยอย่าให้น้อยกว่าร้อยไป | ถ้าทำได้จึงจะหายเป็นฝ่ายดี |
พระเจ้าพ่อพราหมณ์มันล่อไม่รู้สิ้น | ก็กลัวดิ้นให้เขาฆ่าซึ่งสัตว์ศรี |
ทั้งเป็ดไก่มหิงสาแลคาวี | จะพาลีเสียกรรมในทำการ |
มันแสร้งว่าถ้าจะทำพิธีใหญ่ | ต้องปักไม้เข้ากรรมต้องทำศาล |
คนจะเข้าอย่าให้เข้าจะเสียการ | คนจะออกก็ต้องทานอย่าออกมา |
พระบิดาหลงหนาไปเชื่อพราหมณ์ | ก็ทำตามเข้ามณฑลเหมือนมันว่า |
ครั้นสมใจมันก็ไพล่ไปฉันทา | มันทูลว่าจะต้องการวิชาธร |
แต่วัวควายเป็ดไก่นั้นได้ครบ | ยังปรารภผิดตำราอุทาหรณ์ |
ยังผิดไปแต่ไม่ได้วิชาธร | มันกล่าวกลอนก่อเกื้อให้เชื่อฟัง |
ถ้าไม่ได้ก็ไม่หายในกายเคราะห์ | เป็นจำเพาะเข้ากระสายให้ได้บ้าง |
ถ้าไม่มากก็สักนิดไม่ผิดดัง | จึงจะล้างเคราะห์หายละลายไป |
ฝ่ายบรมนาถาบิดาเจ้า | พระผ่านเกล้าอัธยาอัชฌาสัย |
จึงว่าพราหมณ์ท่านนี้ว่านักหนาไป | ใครที่ไหนจะไปเห็นวิชาธร |
แต่ก่อนเก่าเล่าบ้างแต่หลังมา | ครั้งปู่ย่ายายใหญ่ไม่สังขรณ์ |
ได้ยินแต่ว่าเรียกว่าวิชาธร | ใครบ่ห่อนที่จะเห็นเป็นอย่างไร |
ข้าจนใจหาไม่ได้แล้วนะท่าน | จะวายปราณแล้วจะทำอย่างไรได้ |
ไอ้พราหมณ์ร้ายใจทมิฬประมาทชาย | มันหามบาปหาบแต่ภัยมาใส่ตัว |
มันทูลว่ามโนห์ราศรีสะใภ้ | ก็พอได้ชาติเชื้อก็ยังชั่ว |
เป็นเนื้อแนวชาววิชาจงหาตัว | จะพันพัวรักใคร่ไม่ต้องการ |
พระบิดาตรัสว่ามันผิดไป | เลือดในไส้ก็ว่าได้จะล้างผลาญ |
ทำทั้งนี้จะให้ดีมงคลการ | กลับรำคาญเข่นฆ่ารำจวนใจ |
ตาพราหมณ์เปรตก้มเกศลงกราบทูล | นเรนทรสูรทรงคิดผิดวิสัย |
ตัวพระองค์จะไม่รักมารักไป | มาหลงรักศรีสะใภ้นี้ใครมี |
แต่โลหิตเลือดยางในร่างกาย | ถ้าแรงร้ายก็ต้องกรอกออกนอกนี้ |
นี้ผู้อื่นมิใช่กายใจอารี | มันผิดทีผิดด้วยอย่างทางบูราณ |
ว่ารักลูกผูกพันกระสันใจ | รักสะใภ้ก็ให้เหมือนลูกสงสาร |
นี้โทษถึงที่ฉิบหายจะวายปราณ | ไม่ต้องการรักกายทั้งได้บุญ |
พระวงศาข้าแผ่นดินสิ้นทั้งนั้น | พระทรงธรรม์ปกป้องสนองหนุน |
ได้อยู่เย็นเป็นสบายไม่อาดูร | จะวายวุ่นยับย่อยพลอยระยำ |
พระเจ้าลูกผูกอาลัยเสน่หา | เมื่อกลับมาแล้วจึงค่อยอุปถัมภ์ |
ลูกร้อยเอ็ดพระนครเหมือนถอนคำ | สักสองสามนั้นไมตรีฤาอย่างไร |
มันกล่าวแกล้งแสร้งเสียดมารษา | จะให้ฆ่ามโนห์ราเสียจนได้ |
นางมีปีกหลีกบินจึงพ้นภัย | เหมือนตายายแล้วชีวิตไม่ติดตัว |
พระสุธนทศพลโพธิสัตว์ | ครั้นแจ้งอรรถท่านก็เคืองเหมือนขาดหัว |
สู้ติดตามเอานางงามจนได้ตัว | ยายนี้กลัวจะเป็นอย่างปางสุธน |
พระสุธนไปด้วยงามไม่ทำศึก | ยายนี้นึกจะไม่เป็นเหมือนหนต้น |
กลัวจะยกโยธาจะพาพล | เข้าประจญรบชิงเอามิ่งนาง |
ทั้งยายตาก็จะพากันยุบยับ | ท่านจะจับเอาไปฟันเป็นผีสาง |
ด้วยยายตาสิเป็นคนเหมือนต้นทาง | มันเข้าอย่างอยู่อย่างนั้นพระหลานนาย |
แต่แรกมาถ้าตารู้มาสืบคลำ | แต่ถึงคำก็ไม่บอกออกขยาย |
มันเฒ่าแก่พล้ำเผลอละเมอละมาย | มันแก่กายแก่เปล่าไม่เข้ายา |
มันเกินการภัยจะติดจึงคิดได้ | แกร้องไห้แทบชีวิตจะสังขาร์ |
จะเอามีดกรีดคอให้มรณา | ฟานพระยาจึงผวาเข้าชิงเอา |
แล้วจึงว่ายายตาเอ็นดูหลาน | ไม่เข้าการจะมาฆ่าตัวเปล่าเปล่า |
ฉันจะว่าถ้าแม้นผิดยายอย่าเอา | ถ้าแม้นถูกจึงเอาเข้าไว้ใส่ใจ |
พระนายท่านฟังสารตายายว่า | แกพูดจาต้องในบทกำหนดไข |
แล้วตรองตรึกนั่งนึกมโนใน | ถ้าวุ่นวายเขาคงยำเหมือนคำตา |
ธรรมดาผู้ชายใจมานะ | เป็นกษัตริย์ที่จะละนั้นอย่าหา |
คงทำศึกชิงชัยจนได้มา | เข้านิพพา๓นั่นแลแคล้วจึงแล้วกัน |
เอ็นดูยายแกจะตายเสียเปล่าเปล่า | แกมีคุณไว้นั้นเล่าไม่กวดขัน |
จะคิดช่วยมิให้ม้วยชีวาวัน | ไปด้วยกันเสียก็เปล่าจะเอาใคร |
ท่านพระยาจึงว่าตายายใจบุญ | มาทำคุณไว้กับหลานพ้นวิสัย |
ได้รู้เรื่องแน่นักประจักษ์ใจ | จะแทนคุณมิให้ตายวายชีวี |
ฉันนี้คิดว่าจะให้ไปกับหลาน | ไปดูบ้านชมเมืองให้เรืองศรี |
หลานจะเลี้ยงไปจนหายกายอินทรีย์ | ตายเป็นผีก็จะเฝ้าจะเอาบุญ |
ทั้งตายายฟังพระนายประโลมว่า | จึงปรึกษาตายายอยู่วายวุ่น |
ยายจึงว่าตาเอ๋ยท่านใจบุญ | ไปกับคุณท่านเป็นไรไม่วายปราณ |
ฝ่ายข้างตาแกจึงว่าสุดแต่ยาย | ไปก็ไปให้มันพ้นคนเขาผลาญ |
มีอะไรแต่เตาไฟกับเชิงกราน | คิดด้วยลูกผูกด้วยหลานสุดอาลัย |
ก็จัดแจงแต่งให้มันเป็นเรือนแล้ว | เป็นผ่องแผ้วกุดขาดปัดไถม |
มีแต่ตัวกับถุงหมากมีดตะไกร | มาทำไร่เลี้ยงชีวาประสาจน |
ยังเสียดายอยู่แต่ไร่กับข้าวฟ่าง | มีอยู่บ้างยาวยืดเป็นพืชผล |
แต่เงินทองของแก้วนั้นยากจน | บ่อนกังวลเราเท่านั้นแล้วท่านยาย |
ครั้นจะไปสั่งหลานรำคาญลูก | จะพันผูกร้องไห้ไม่เหือดหาย |
พิไรร่ำมันจะห้ามไว้วุ่นวาย | จะพากันตายไปเสียหมดทั้งโคตรวงศ์ |
อนิจจังสังขารามาเพียงนี้ | ไม่พอที่จะมาตายเลยตาสง |
ตามทีสู้ให้มันอยู่กับเผ่าพงศ์ | ไม่คืนหลังกลับเวียนวงไปสั่งมัน |
ความกระสันพันผูกกับลูกหลาน | แกแดดาลแทบจะสิ้นชีวาสัญ |
ครั้นจะอยู่จะไม่ไปกลัวภัยยัน | ครั้นจะไปก็ให้ตันคับอุรา |
โอ้เสียดายไร่พริกรุ่น๔จะรก | ใครจะถกงอกขึ้นแต่พื้นหญ้า |
เสียดายไร่ถ้าไม่ตายจะกลับมา | ถ้าอยู่เย็นให้พระยามาส่งคืน |
เสียดายข้าวกำลังฟ้อเป็นเพิงพุ่ม | เขียวชอุ่มกำลังดกดอกสะอื้น |
เว้นวันนี้แต่พรุ่งนี้ไปมะรืน | จะครึกครื้นไปแต่ควายเต็มไร่เรา |
เสียดายข้าวแล้วมิหนำมาซ้ำงา | ละลานตากำลังดอกนั้นออกขาว |
ข้าวหางช้างพู่พวงเป็นรวงยาว | แตงน้ำเต้าฟักทองนั้นมองมูน |
โอ้มะเขือเหลือล้นผลระย้า | โหระพาผักแพวแนวจะสูญ |
ทำกระไรใครจะบอกไอ้ทิดบุญ | มาสะรั้วดายรุ่นไว้เก็บกิน |
แกขืนคิดอิดออดทอดใจใหญ่ | ทั้งตายายหวนคิดจิตถวิล |
พระยานายจึงว่ายายอย่าราคิน | ให้ลิงกินก็เหมือนกันเป็นทานบุญ |
อย่าเกี่ยวข้องร้องร่ำพิไรไร่ | คิดเสียดายกลัวว่าพันธุ์จะเสื่อมสูญ |
มันเหลือเดนเมืองเขมรนั้นมองมูน | อย่าอาดูรพันธุ์เม็ดผักมีมากมาย |
แนวข้าวโพดทั้งข้าวฟ่างมะเขือกระโหลก | ขนาดดกถั่วแมงลักนั้นมากหลาย |
อันพืชพันธุมีอนันต์ดอกตายาย | ถั่วพุงควายฝักยาวเท่าเพลาเกวียน |
แตงน้ำเต้าลูกราวกะตุ่มน้ำ | มันเหลือล้ำเก็บไว้ใส่เสวียน |
แต่หาแลกก็เหลือล้นขนด้วยเกวียน | จะฟันไร่ให้มิดเหี้ยนทำไมตา |
แต่ตายายหาไว้ทำไมมาก | แต่สองปากแต่จะกินอย่าพักหา |
ฉันจะเลี้ยงกว่าจะตายวายชีวา | สารพากลัวแต่ยายไม่อยากกิน |
จะร่ำไรกลัวจะเห็นเป็นขี้อวด | ให้หนำหนวดนั่งกินให้ท้องปลิ้น |
นั่งกินอ่อนแล้วจะให้ยายนอนกิน | กินไม่สิ้นกลัวจะเน่าแต่เต้าแตง |
ฉันมิใช่ไพร่พลเป็นคนยาก | จะออกปากกับพ่อเฒ่าเล่าแถลง |
อยู่บ้านเมืองนั้นก็เรืองอร่ามแดง | เป็นศักดิ์แสงข้าเฝ้าท้าวเจ้าพระยา |
ทูนกระหม่อมจอมพิภพก็วงศ์โคตร | ท่านทรงโปรดอยู่ในฉันนั้นนักหนา |
แต่เงินทองท่านประทานนั้นเหลือตรา | ทั้งเสื้อผ้านั้นก็หลายแต่ให้ทาน |
แล้วพระองค์ทรงยกประทานไพร่ | ให้ฟันไร่ทำนาเป็นอาหาร |
ไพร่เป็นร้อยคอยส่งบรรณาการ๕ | สารพันเอามาให้ท่านยายตา |
ทั้งเต้าแตงแฟงฟักก็มากหลาย | ทั้งเป็ดไก่หมูมันแลมังสา |
ทั้งกะปิกุ้งแห้งแลแตงกวา | พริกปลาร้ากล้วยกล้ายนั้นหลายพัน |
จะร่ำเรื่องก็จะเคืองว่าพูดมาก | ฉันเมื่อยปากนี้ฉันเหลือจงเชื่อฉัน |
เอ็นดูยายดอกจึงได้พูดรำพัน | เหมือนตัวฉันฆ่ายายให้วายชนม์ |
ไม่พาไปก็คงตายเป็นนิ่งแน่ | จะกู้แก้พาไปให้ภัยพ้น |
ด้วยข้อใหญ่ยายเป็นไส้เข้าแกมกล | ได้เหตุผลเที่ยงแท้แน่ที่ยาย |
พระยานายใจมหาปัญญาปราชญ์ | เลิศฉลาดแหลมล้ำนั้นเหลือหลาย |
ครั้นไม่กล่าวแกไม่กลัวตัวจะตาย | ถึงแกกลัวก็จะคลายเหมือนไม่กลัว |
แกอิดออดทอดใจพิไรว่า | แกหันหน้าหันหลังทั้งเมียผัว |
ครั้นแกตายกลัวว่ากรรมจะตามตัว | จึงกล่าวยั่วขึ้นให้เข้มให้เต็มใจ |
ทั้งยายตาฟังพระยาเผยอยิ้ม | แกเอิบอิ่มยินดีจะมีไหน |
แกจึงว่าคุณจะพาเอาฉันไป | จะช้าไยไปเถิดคุณจะวุ่นวาย |
พระยานายฟังยายแกรบเร้า | จึงสั่งบ่าวผูกช้างหาช้าไม่ |
เอาตายายขึ้นขี่ช้างนั่งข้างใน | จึงกั้นผ้าบังไว้ไม่เห็นตัว |
แต่รีบร้อนจรเดินไม่แรมรั้ง | ยายกะตาคลุ้มคลั่งทั้งเมียผัว |
แต่แรมนอนก็ไม่รั้งกำลังกลัว | ระวังตัวมาตามทางไม่วางใจ |
ประมาณมาสามคืนกับวันครึ่ง | ก็มาถึงจอมนรินทร์ปิ่นมไห |
ตรงเข้าเฝ้าจักรพงศ์พระทรงชัย | บังคมไท้กราบทูลมูลคดี |
ขอเดชะทูนกระหม่อมพระจอมเกศ | ไปสืบเหตุจนเถิงเมืองพาราณสี |
พบตายายทำไร่ข้าวสาลี | ถามถ้วนถี่เรื่องนางกระจ่างใจ |
แกเล่าว่าเจ้าพาราชื่อพรหมทัต | ว่าแน่ชัดเอานางมาพิสมัย |
เมื่อเดือนยี่สี่ค่ำเป็นวันชัย | แล้วอุปภิเษกให้เป็นใหญ่ยอดบูรี |
ยายกะตานั้นก็พาแกมาด้วย | ถ้าไม่ช่วยเขาคงฆ่าแกเป็นผี |
แกเป็นต้นด้วยได้แจ้งแห่งคดี | โทษทั้งนี้แต่พระองค์จะโปรดปราน |
ปางพระองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติเยศ | ครั้นทราบเหตุดังหนึ่งใครมาสังหาร |
ฟันให้ขาดฟาดให้ตัวจนถึงการ | ทรวงระงมตรมดังปานจะสิ้นใจ |
โศกสะอื้นตื้นอุราหน้าครือผี | ไฉนนางหนออย่างนี้ก็เป็นได้ |
เผยวาจาว่าเท่านั้นให้ตันใจ | เสียพระทัยทรงกายไม่อยู่เลย |
ก็เชล้มโทมนาอยู่บนอาสน์ | สุชลนัยน์ไหลราดเปียกเขนย |
โอ้ครั้งหลังเมื่อยังอยู่กับทรามเชย | ไม่เห็นเลยจะมีใครผู้ใดแวว |
มานึกร้ายหมายชมภิรมย์รัก | สามีภักดิ์แต่ยังอยู่กับกิ่งแก้ว |
ทำกิ่งก้อยไม่เป็นรอยสักนิดแนว | ว่าผ่องแผ้วเต็มใจจึงได้มา |
เมื่อวันจะมาจากจรอาวรณ์หวัง | พิไรสั่งโศกกระสันรำพันว่า |
สั่งพี่ชายรีบไปให้รีบมา | โอ้อนิจจาเป็นได้อนิจจัง |
ฤๅพรหมทัตธิบดีว่ามีศักดิ์ | ทำหาญหักไปข่มเหงด้วยโอหัง |
เห็นเป็นไพร่เตี้ยต่ำแต่ลำพัง | ไปขี่คอเอาอย่างช้างฤๅอย่างไร |
พระตรีกพลางแล้วตรัสประภาษว่า | สั่งให้หายายกะตามาถามไถ่ |
พวกตำรวจก็ไม่นิ่งวิ่งออกไป | เอาตัวยายกับท่านตามามินาน |
พระยาสงครามนำหน้าพาเข้าเฝ้า | พระองค์เจ้าตรัสถามด้วยคำหวาน |
ท่านยายตาอุปมาเหมือนพยาน | จงแจ้งการฉันจะถามแต่ความดี |
ตายายท่านอยู่บ้านสักเพียงไหน | แต่บ้านยายไปเมืองพาราณสี |
ใกล้ฤๅไกลถ้าว่าไปกี่ราตรี | ไกลบูรีฤๅว่าใกล้ท่านยายตา |
อนึ่งท้าวพรหมทัตกษัตริย์ศักดิ์ | ได้ร่วมรักอรพิมจริงฤๅขา |
ไปเอาเมื่อเดือนไหนท่านยายตา | ได้ยินเขาว่าฤๅแต่ข่าวเขาเล่าลือ |
ฤๅได้เห็นฤๅอย่างไรท่านยายข้า | เห็นกับตาได้ยินกับหูจริงจริงหรือ |
ฤๅได้ข่าวคนมาเล่าเป็นความลือ | ถ้าเห็นจริงจะนับถือจนวันตาย |
ยายตาแกฟังกระแสพระยอดมิ่ง | แกแจ้งจริงเค้ามูลทูลถวาย |
ขอเดชะพระณรงค์พงศ์นารายณ์ | ฉันตายายเดิมก็อยู่ที่ในเมือง |
มาทำไร่อยู่กับหลานตลาดโพ | แทบพุงโรอดข้าวจนตาเหลือง |
แต่ไร่ตาจะเข้ามาที่ในเมือง | ก็เนืองเนืองไปมาเที่ยวหากัน |
ประชาชนคนแขกเที่ยวแลกฝ้าย | มาแต่เช้าแต่พอบ่ายก็เถิงฉัน |
ท่านท้าวพรหมกษัตราผู้ทรงธรรม์ | ได้แต่งการอุปภิเษกเป็นเอกเมือง |
เมื่อเดือนยี่สี่ค่ำนั้นจริงแน่ | กับหม่อมแม่อรพิมนางเนื้อเหลือง |
จุดดอกไม้โพลงพลามอร่ามเมือง | ลือกระเดึ่องเล่ากันสนั่นไป |
มีละครมอญรำทั้งโขนหุ่น | ดูวายวุ่นมากเหลือทั่วเหนือใต้ |
ร้อยพาราที่เป็นข้าของท้าวไท | มาอวยชัยมาบูชาบรรณาการ |
อันตัวข้าตายายได้ไปดู | รู้ก็รู้เห็นก็เห็นจึงกล่าวสาร |
จึงกราบทูลมูลจริงให้แจ้งการ | จะปฏิญาณให้ก็ได้ถวายตัว |
ถ้าไม่จริงจับเท็จได้ข้างหน้า | ล้างชีวาเสียให้สิ้นทั้งเมียผัว |
ประเวณีที่ข้างในในกายตัว | ทีนี้กลัวขันไม่ได้ยายนี้จน |
พระปาจิตอิศรินทร์ปิ่นมไห | ได้ยินยายแจ้งนิเทศที่เหตุผล |
ไม่กินแหนงสิ้นสงสัยในใจตน | พระจุมพลเอื้อนอรรถประภาษพลัน |
แกบอกตรงจงใจท่านยายหญิง | ข้าเห็นจริงลิ้นลมแกคมสัน |
ไปเบิกผ้ามาให้ตาเป็นรางวัล | พร้อมด้วยกันทั้งท่านยายช่างใจตรง |
ทั้งเงินตราผ้ากรองสองสำรับ | เป็นทางทับกินพลางเทิดตาสง |
ถ้าเถิงเมืองจะให้เรืองเหมือนเขียนรง | ให้ยิ่งยงมีชื่อถือศักดินา |
แล้วประทานบ่าวไพร่ให้ใช้เฝ้า | ให้ส่งข้าวเช้าเย็นเป็นทีท่า |
ให้เลี้ยงยายมิให้วายสักเวลา | ยายกะตาสุขเกษมสำราญบาน |
๏ ขอหยุดยั้งรั้งเรื่องยายกะตา | จะกล่าวว่าเรื่องไปให้วิตถาร |
เรื่องพระไพรนั้นยังไม่พิสดาร | จับนิทานกล่าวเถิงพระญาติวงศ์ |
ทั้งพี่ป้าน้าน้องมาพร้อมพรั่ง | ประชุมนั่งบนศาลาพลับพลาโถง |
สามพระยาที่ให้มาต่างพระองค์ | แต่ญาติพงศ์พร้อมหน้าปรึกษากัน |
พระปาจิตสุริยวงศ์พงศ์กษัตริย์ | จึงเอื้อนอรรถอธิบายปราลัยผัน |
ท่านทั้งหลายมากมายมาแจจัน | ทั้งปวงท่านนี้จะเห็นเป็นอย่างไร |
ท่านพระยาเสมอใจฝ่ายพระญาติ | บังคมบาทกราบทูลสนองไข |
ฉันสุดคิดจนจิตให้จนใจ | เดิมจ้าวใช้ให้มาต่างมาแต่งการ |
มาเกิดเหตุเพทลางขึ้นอย่างนี้ | ก็ต้องที่คืนหลังยังสถาน |
ไปกราบทูลมูลเหตุให้แจ้งการ | พระภูบาลท่านจะโปรดประการใด |
พระเจ้าป้าว่าเราพากันคืนกลับ | เป็นวาสนาอาภัพจะทำไฉน |
ยากไม่ว่ามาด้วยหลานว่าดวงใจ | ศรีสะใภ้เขาก็ปลิ้นเป็นลิ้นแลน |
พระเจ้าพี่ว่าข้านี้ก็เสียใจ | ด้วยน้องชายล้วนอตส่าห์มาห้อยแขวน |
เฝ้าอาสาทำซุกซนเหมือนคนแกน | หญิงเจ้ากรรมทำแค้นน่าน้อยใจ |
พระเจ้าลุงว่าหญิงยุ่งนิยมหยาบ | ไม่อายบาปกลัวกรรมช่างทำได้ |
งิ้วสามต้นนั้นมันโค่นแล้วเมื่อไร | ไม่เคยไปเขาจึงชื่นไปขึ้นลอง |
พระเจ้าน้าว่าคืนพาราเถิดหลานชาย | เป็นเคราะห์ร้ายมาคบสัตว์เดือนสิบสอง |
หาเอาใหม่หายรำลึกอย่าตรึกตรอง | พาให้มัวตัวก็หมองเป็นมลทิน |
พระเจ้าหลานว่ารำคาญด้วยเจ้าน้า | โศกโศการ้องไห้ใจถวิล |
พิไรร้องเคืองข้องน้าอรพิน | ถ้าไม่ได้แล้วบูรินทร์ไม่คืนไป |
พระปาจิตฤทธิรงค์องค์โอรส | ทรงกำสรดตันตื้นสะอื้นไห้ |
ทอดพระองค์ลงกับแท่นแน่นหัททัย | ร่ำพิไรโศกศัลย์รำพันความ |
ว่าอนิจจาชะท้าวพรหมทัต | ทำบังอาจซ่อนเวียนเป็นเสี้ยนหนาม |
อย่าพึงนึกคงทำศึกสู้สงคราม | ไม่เข็ดขามหมิ่นประมาทบังอาจใจ |
ท้าวพรหมทัตมิได้เหาะเดินเวหา | เดินสุธาจะมีฤทธิ์สักเพียงไหน |
เอาให้หมุนจนเป็นจุณด้วยกันไป | อย่าหมายใจที่จะวางทางสงคราม |
ไม่ได้ร้อนคงจะผ่อนเอาด้วยเย็น | ดูทุกเล่นแต่สักนิดไม่คิดขาม |
เรามาอยู่สู้เพียรพยายาม | ได้กล่าวความข้อว่ามารดายาย |
ในอย่างเยื่องเบื้องบทกำหนดว่า | ขอมารดาถ้าแม้นให้ดังใจหมาย |
พระราชกิจว่าเป็นสิทธิ์ไม่กลับกลาย | เราขอไว้นี่แม่ยายก็ให้เรา |
พระว่าพลางลุกจับเกวียนกระชาก | ทองขันหมากจะเอาไว้ทำไมเล่า |
เทลงน้ำเสียให้เตียนให้เกวียนเบา | ไปเกวียนเปล่าเถิดวัวควายสบายแรง |
กะทอทองพระก็ขว้างลงกลางน้ำ | คนจะดำก็ไม่ได้กลัวแสยง |
จระเข้ลำชัยมันร้ายแรง | พระกวัดแกว่งทิ้งขว้างในกลางธาร |
จนสิ้นทองที่เอาไปหลายลำหาบ | แล้วสั่งทราบคำด้วยห้วยละหาน |
อันลำชัยถ้ายืดไปข้างหน้านาน | เราขนานนามชื่อให้ลือชา |
อันลำชัยใครอย่าได้มากล่าวเรียก | เราสำเนียกนามชื่อไว้ใหม่หนา |
ชื่อลำเมียกเรียกอึงแต่นั้นมา | ต่างภาษาถ้าคำไทยแปลว่าทอง |
เขมรภาษาถ้าทองเรียกว่าเมียก | เป็นคำเรียกต่างว่าภาษาสอง |
กลับมาเพี้ยนเปลี่ยนไพล่ไปหลายคลอง | เปลี่ยนทั้งทองเปลี่ยนซ้ำทั้งลำธาร |
ลำชัยเมียกช่างมาเรียกว่าปลายมาศ | ผิดโอวาทผิดคำนามขนาน |
ถ้าขึ้นไม้ไต่ตกก็เถิงกาล | ผิดลำธารวิปริตแต่ผิดไป |
มาตรว่ารักษาศีลพระชินสีห์ | พูดอย่างนี้แล้วก็ศีลนั้นตกหาย |
อนิจจาคนร้อยลิ้นช่างปลิ้นไป | ไม่จริงใจกล่าวผิดก็ติดตัว |
พระปาจิตอิศรินทร์ปิ่นมไห | เสียพระทัยดังเอาขวานมาฟันหัว |
ทุ่มพระกายแทบจะตายไม่คิดตัว | ให้เมามัวเหมือนหนึ่งม้าที่หลงทาง |
ฉวยพระแสงแกว่งกระชั้นเข้าฟันรถ | ก็หมุนหมดจับกระแทกให้แตกผาง |
ทั้งกำกงทั้งงอนก็หักกลาง | พระจับขว้างทวก๖หมุนเป็นจุณไป |
พระวงศ์ญาติพิศเพ่งให้เกรงขาม | ว่าจะห้ามก็หาอาจจะห้ามไม่ |
ผลักแต่กูไสแต่มึงออกอึงไป | ด้วยกลัวไท้คลุ้มคลั่งกำลังมัว |
ชาวประชาชายหญิงที่เกิดใหม่ | เห็นคูค่ายอัศจรรย์ก็สั่นหัว |
เห็นกงรถเรี่ยราดให้ขลาดกลัว | ทุกคนตัวนึกสำคัญในสัญญา |
ว่าที่นี้เห็นทีจะเป็นเมือง | อร่ามเรืองค่ายคูดูนักหนา |
ทั้งราบเลี่ยนรื่นดิบดีที่พลับพลา | สำคัญว่าเห็นจะเป็นท้องพระโรง |
แต่ชื่อเมืองถามใครไม่รู้จัก | จะเรียกยากเล่ากันไม่ลืมหลง |
ด้วยเรือนรถเพพังยังแต่กง | ทุกคนตรงชวนกันขนานนาม |
จึงให้ชื่อตามตรงว่ากงรถ | จะว่าปดก็ไม่ได้เราไถ่ถาม |
ผู้ใหญ่เล่าจึงได้เอามาแต่งตาม | ลำดับความไว้ให้อ่านเป็นทานไป |
อันที่จริงมิใช่เมืองดอกเมืองนี้ | เมื่อเดิมทีพระปาจิตหยุดอาศัย |
มาประทับกับฝั่งชลาลัย | เมื่อจะไปแต่งงานกับอรพิม |
ธรรมดาว่ากษัตริย์ถ้าเสด็จ | ต้องทำเสร็จท้องพระโรงพลับพลาสิ้น |
ทั้งคูค่ายขุดวุ่นให้พูนดิน | ด้วยไม่หมิ่นมาทะนงในสงคราม |
ที่คนไพร่ไม่เข้าใจก็ว่าเมือง | ครั้นขุ่นเคืองพรหมทัตเป็นเสี้ยนหนาม |
พระฟันขาดราชรถจนหมดงาม | แต่กงกำนั้นยังเห็นเป็นสำคัญ |
ชาวประชาเห็นพลับพลากับกงรถ | นึกกำหนดจริงใจเป็นแม่นมั่น |
ก็ว่าเมืองเรียกก็เป็นเห็นสำคัญ | จึงชวนกันเรียกชื่อแต่นั้นมา |
ที่เกิดใหม่ใหญ่หลังก็เรียกตาม | ดูลามปามเรียกมาแต่ปูย่า |
พากันเรียกฉาวโฉ่ทั้งโลกา | เป็นตำราจึงได้ใส่ในนิทาน |
๏ ปางพระหน่อสุริยวงศ์ผู้ทรงยศ | ครั้นฟันรถหักแอกออกแตกฉาน |
ธิบดีพระจึงมีซึ่งโองการ | อย่านิ่งนานสามพระยาพากันไป |
พระเจ้าลุงน้าอาที่มาด้วย | จะมาช่วยมันก็ชวดจะทำไฉน |
เอ็นดูหลานจึงได้มาว่ายาใจ | อีหลานไท้มันก็ทำให้งามมอ |
จงพากันครรไลไปสถาน | พาลูกหลานคืนเมืองเถิดแม่พ่อ |
แต่ตัวฉันเหลือกำลังจะรั้งรอ | ไม่ย่นย่อคงตะบึงถึงพารา |
แค้นครั้งนี้สุดที่จะเล่าบอก | ปานเอาหอกเข้ามาแทงให้สังขาร์ |
ป้าอย่าหมายฉันไม่ไปดอกพารา | จะไปดูหน้าพรหมทัตกับอรพิม |
ฝ่ายพระน้าป้าวงศ์พงศ์กษัตริย์ | จึงทานทัดห้ามปรามระหามระหิม |
พระเจ้าน้องว่าพี่ทองหัวทับทิม | ฉันนี้อิ่มอยากให้คืนไปพารา |
เมียกของท่านมาจองบ้านประโปนไทย | มันไม่ได้เหมือนหนึ่งสมปรารถนา |
กลับไปเมืองหาเอาใหม่เป็นไรอา | ลูกพระยากำลังชมมีถมไป |
พระเจ้าป้าว่าพ่อดวงมณีเนตร | ไม่สังเวชป้าบ้างฤๅไฉน |
ป้าก็แก่แลเหลียวไม่เห็นใคร | ป้าหวังใจว่าจะฝากซึ่งซากทรวง |
พระเจ้าพี่ว่าพ่อศรีแสงสว่าง | ไพร่ขุนนางจะคอยพึ่งเป็นของหลวง |
อย่าไปเลยอยู่ดับเข็ญให้เย็นทรวง | ไพร่ทั้งปวงจะได้พึ่งพระบารมี |
พระเจ้าลุงว่าพ่อทุ่งสว่างโลก | คืนไปปกครองเมืองให้เรืองศรี |
ลุงจะฝากซากสิ้นแลอินทรีย์ | จะฝากผีลุงนี้เล่าเฒ่าชรา |
พระเจ้าหลานว่ามะบานก็ตูวิ่ง | รักผู้หญิงหลงเปล่าพระเจ้าน้า |
ทั้งบ้านเมืองเวียงวังอลังการ์ | ไม่ลำพาวิปริตมันผิดไป |
พระเจ้าอาว่าพ่อฟ้าสำหรับแข | ไม่รักพ่อคิดแม่จะทำไฉน |
ห้ามก็อ้อนวอนไม่ฟังนี้อย่างไร | มิจนใจเราทั้งนั้นท่านทั้งปวง |
สามพระยาทูลว่าพ่อก้อนแก้ว | เห็นดีแล้วฤๅอย่างไรพระลูกหลวง |
ข้าแผ่นดินตั้งแต่กินน้ำตาตวง | ไม่รักไพร่ใยห่วงฤๅอย่างไร |
ปางกษัตริย์ขัตติยาวราฤทธิ์ | พระปาจิตเลิศล้ำในต่ำใต้ |
ได้ทรงฟังญาติกาว่าร่ำไร | ทั้งไพร่นายสามพระยาก็มาทูล |
พระนิ่งนึกตรึกวุ่นพูนเทวษ | สุชลเนตรไม่ละเหยเขนยหนุน |
ในอกรุมเหมือนเข้าสุมด้วยกองกูณฑ์ | ให้อาดูรเดือดดิ้นแทบสิ้นใจ |
คิดพะวงไปถึงองค์พระบิตุเรศ | พูนเทวษเถิงมารดาน้ำตาไหล |
คิดสงสารด้วยพระญาติแทบขาดใจ | ความอาลัยสงสารคำสามพระยา |
แต่เท่าว่าความแค้นนั้นแน่นนัก | ด้วยเสียรู้ไปด้วยรักสหัสสา |
สารพัดจัดแจงแต่แต่งมา | สารพาทรัพย์สิ่งของทั้งทองคำ |
ทั้งญาติวงศ์พงศ์พันธุ์นั้นก็มาก | มาสู้ยากหมายจะช่วยอุปถัมภ์ |
พากันมาได้อายอับยับระยำ | เขาทำเค็มเราก็นำจนคอคาย |
ไม่แก้เค็มลูบล้างให้จางจืด | ถ้ายาวยืดฉวยว่าเค็มเค็มไม่หาย |
พรหมทัตก็จะเหิมเฉลิมกาย | ทะนงใจก็จะตีบูรีเมือง |
จำจะล้างทางเค็มให้จางหาย | เป็นชาติชายไว้ชื่อให้ลือเลื่อง |
พรหมทัตน้อยฤๅชิงเอามิ่งเมือง | เห็นเราเงื่องถือว่าเง่าจะเอาเมีย |
อันสุริยวงศ์พงศ์พันธุ์ก็แสนรัก | แต่แค้นนักเขามาทำเอาช้ำเสีย |
คนทั้งหลายผัวตายจึงเอาเมีย | นี่เราไม่ตายเราไม่เสียเอาเมียเรา |
พระตรึกพลางทั้งตรัสประภาษว่า | ทั้งน้าอาสามพระยาอย่าโศกเศร้า |
กลับไปบ้านทูลสารบิดาเรา | ไม่คืนเข้าไปบำรุงกรุงพารา |
ถ้าแก้แค้นแทนทำกันหนำใจ | เอาเมียได้ก็จะไปไม่พักว่า |
ถ้าไม่ได้ก็ไม่ไปใครอย่ามา | ช่วยกราบทูลพระบิดาให้เราที |
เรายกมือขึ้นประนมบังคมท้าว | พระคุณเจ้าจงมาปกเกศเกศี |
สองบาทาของบิดาพระชนนี | มาเป็นที่กำแพงแก้วให้แคล้วภัย |
พระเจ้าป้าพระเจ้าลุงพระเจ้าน้า | คืนพาราครองวังให้แจ่มใส |
ฉันกราบลาสวัสดีให้มีชัย | ทั้งไพร่นายพากันไปยังบ้านตน |
พระว่าพลางทางจับพระขรรค์เพชร | สุชลนัยน์ไหลเล็ดดังฝอยฝน |
แล้วสอดฉลองสองบาทเบื้องยุคล | พระจรดลลงจากพลับพลาพลาง |
พระเจ้าญาติสุริยวงศ์สิ้นทั้งนั้น | ก็พากันข้อนทรวงพะผึงผาง |
ร้องไห้ดิ้นแทบจะสิ้นชีวาวาง | ต่างครวญครางร้องไห้พิไรความ |
พิไรว่าโอ้เจ้าฟ้าของลุงเอ๋ย | ไม่คิดเลยทิ้งลุงกลางสนาม |
พระเจ้าป้าว่าอตส่าห์พยายาม | มาติดตามหลานมาทิ้งไว้กลางทาง |
ไว้กลางเถื่อนเพื่อนทุกข์ของลุงเอ๋ย | ไม่ควรเลยเดินเดี่ยวอางขนาง |
ลุงนี้ห้ามไม่ให้ไปช่างใจจาง | ตัดหนทางไปจนได้ไม่คิดเลย |
พระเจ้าน้าว่าไม่คิดเอ็นดูน้า | จงกลับมาก่อนเถิดพระหลานเอ๋ย |
พระหลานมิ่งช่างมาทิ้งไว้กลางเตย | ผู้ใดเลยเล่าจะพาน้าไปเมือง |
ต่างพิไรไห้ร่ำแต่น้ำเนตร | พากันเช็ดชลนาจนตาเหลือง |
พระปาจิตสุริยวงศ์ดำรงเมือง | เหลือบชำเลืองเหลียวชะแง้มาแลดู |
เห็นวงศ์ญาติแทบจะขาดชีวาวิต | พระคืนคิดใคร่ครวญอยู่เป็นครู่ |
ฤๅจะกลับคืนไปอย่างไรกู | เป็นสองใจต่อสู้ไม่ลงคลอง |
อันใจหนึ่งนั้นรำพึงด้วยวงศ์ญาติ | อันใจสองร้ายกาจให้มัวหมอง |
อพิชชามันก็ลอบเข้าครอบครอง | ให้ตรึกตรองไปแต่เรื่องที่เคืองเมีย |
แต่แรกมาน้าน้องก็ร้องห้าม | ไม่ฟังความห้ามว่าประดาเสีย |
จะเกียกเกณฑ์ไปจนเห็นนางพิมเมีย | มากลั้วเกลียกลับกลาดเสียชาติชาย |
พระใคร่ครวญผ่อนรำพึงเป็นหนึ่งแล้ว | พระพักตร์แผ้วแจ่มแจ้งดังเดือนหงาย |
ไม่กลับหลังตั้งจิตประจงกาย | ทั้งไพร่นายพระก็ไม่ให้ไปตาม |
พระเดินเดี่ยวเปลี่ยวใจไม่มีเพื่อน | ให้ฟั่นเฟือนวาบวับในอกหวาม |
พระใคร่ครวญตรึกตรองทำนองความ | สักโมงยามก็ไม่คลายวายระทม |
๏ จะคืนกลับจับกล่าวเถิงเจ้าญาติ | ครั้นหลานแก้วแคล้วคลาดเข้าไพรสม |
ไม่เสื่อมสร่างโศกหายคลายอารมณ์ | พากันตรมตรอมใจไม่วายวาง |
แต่จำเป็นจำใจต้องคืนกลับ | ต่างลำดับจัดแจงกระโชงหาง |
ผูกจำลองขนของขึ้นใส่พลาง | ทั้งเกวียนช้างโคต่างก็กลับมา |
ครั้นเถิงเมืองเปลื้องปลงจำลองช้าง | ทั้งโคต่างวัวควายได้กินหญ้า |
พระวงศ์ญาติข้าพระบาทสามพระยา | ตรงเข้ามาเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ |
จึงทูลตามมูลความที่เกิดเหตุ | ได้โปรดเกศขอประทานชีวิตฉัน |
ซึ่งโปรดใช้ให้ไปต่างพระเนตรพระกรรณ | ข้าทั้งนั้นตามเสด็จพระลูกยา |
ประมาณทางค้างนอนได้เดือนเศษ | บังเกิดเหตุหยุดนอนในกลางป่า |
ที่ลำชัยไสยาสน์บนพลับพลา | พระลูกยาให้นิมิตอัศจรรย์ |
ครั้นตื่นจากนิทราเพลาเช้า | จึงพาโหรเข้ามาเฝ้าแล้วเล่าฝัน |
แกทราบสิ้นในสุบินจึงทูลพลัน | ในลักษณ์ฝันว่าจะเสียซึ่งเมียนาง |
ไม่เสียเมียก็จะตายวายชีวิต | สุบินนิมิตมิได้แฝงแจ้งกระจ่าง |
ไม่เหมือนว่าแกให้ฆ่าให้วายวาง | บังเกิดลางขึ้นอย่างนั้นประหวั่นใจ |
พระลูกหลวงทราบทรวงทรงปรึกษา | รับสั่งหาข้าทั้งสามมาถามไถ่ |
ข้าพระบาทเห็นว่าอัศจรรย์ใจ | จึงทูลไว้ร้องขอให้รอพลาง |
จึงปรึกษาให้พระยาสงครามชัย | ไปสืบดูให้แจ้งใจใสสว่าง |
จะเท็จจริงจะได้แจ้งไม่แพรงพราง | จึงรอรั้งอยู่ลำชัยหลายราตรี |
ท่านพระยาสงครามชัยไปสืบเหตุ | ก็แจ้งเสร็จในกระบวนเป็นถ้วนถี่ |
พบตายายทำไร่ริมบูรี | แกเหลือดีบอกจริงไม่กริ่งใจ |
แกเล่าว่าท้าวมหาพรหมทัต | แน่ถนัดเอานางมาพิสมัย |
มาอุปภิเษกขึ้นเป็นเอกอนงค์ใน | ถ้าไม่จริงแกถวายชีวาวัน |
ทั้งยายตาพามาเฝ้าเอามาด้วย | ถ้าไม่ช่วยเขาจะฆ่าแกอาสัญ |
พระลูกเจ้าแกก็เล่าให้ฟังพลัน | ครั้นทรงธรรม์ทราบเรื่องก็เคืองระคาย |
ทรงพระโกรธชักพระขรรค์ไปฟันรถ | ก็หมุนหมดงอนแปรกแตกสลาย |
ทองใส่ช้างพระก็ขว้างลงน้ำปราย | จระเข้รายครั้นจะมุดก็สุดกลัว |
ข้าพระองค์วงศ์ญาติไม่อาจห้าม | ให้ครั่นคร้ามยกมือขึ้นเหนือหัว |
พิไรร่ำโศกเศร้าให้เมามัว | ไม่รักตัวทุ่มกายแทบวายชนม์ |
ข้าพระบาทญาติวงศ์สิ้นทั้งนั้น | ก็ทัดทานห้ามไว้เป็นหลายหน |
พระไม่ฟังตรัสสั่งให้จรดล | ให้พาพลพระเจ้าน้ามาบูรี |
แล้วตรัสสั่งมาให้ทูลพระองค์เจ้า | บังคมเกล้าน้อมเกศเกศี |
ขอกราบลาพระบิดาพระชนนี | ไปบูรีพรหมทัตกษัตรา |
จะดูหน้าอรพิมกับพรหมทัต | ทำบังอาจดูหมิ่นกันนักหนา |
ได้อรพิมก็จะไปดอกพารา | ถ้าไม่ได้ก็ไม่มาจนวันตาย |
สั่งเท่านั้นจับพระขรรค์ใส่รองเท้า | พระองคเจ้าก็เสด็จผันผาย |
พวกข้าเฝ้าวิ่งตามออกลามราย | พระขับไล่เสียให้คืนมาบ้านเมือง |
ทั้งเจ้าน้าอาหลานร้องไห้แซ่ | พระไม่แลตั้งแต่ร้องจนตาเหลือง |
จึงได้พาพระวงศาคืนมาเมือง | พระบุญเรืองษานุโทษลงโปรดปราน |
๏ ปางบรมอิศยมกรุงกษัตริย์ | ได้ฟังอรรถสามพระยามาทูลสาร |
จอมนรินทร์แทบจะดิ้นลงแดดาล | ภูมิบาลทรงกำสรดสลดใจ |
พระโองการทรงดำรัสแล้วตรัสว่า | อนิจจาโอ้อย่างนี้ก็เป็นได้ |
เป็นเวรกรรมทำสร้างแต่ปางไกล | ได้พรากสัตว์พลัดพรายจากเรือนรัง |
เป็นวาสนาดวงชะตาพระลูกเอ๋ย | กระไรเลยไปหน้าไม่คืนหลัง |
เขาห้ามว่าสักเท่าไรก็ไม่ฟัง | จะเซซังทรกรรมไปทำไม |
พระมารดาว่าโอ้พ่อกรแก้ว | ว่าดีแล้วก็ไม่ดีจะมีไหน |
เมียเขมรก็ไม่เอาไปเอาไทย | สาแก่ใจยังมิหนำไปตามมัน |
พระบิตุรงค์ว่าพ่อจงอำเภอใจ | พ่อหาให้แต่งามงามให้เลือกสรร |
แต่ลูกสาวท้าวพระยากว่าหมื่นพัน | มันเกินการช่างไม่รักแต่สักคน |
พระมาตุรังว่าไม่ฟังคำพ่อแม่ | จนจอแจเกิดเหตุขึ้นกลางหน |
คบหญิงพาลทำประจานให้หมองตน | ไม่เล็งยลดีชั่วจนตัวคาว |
พระบิดาว่าอนิจจาเจ้าปาจิต | ช่างไม่คิดพ่อนี้บ้างเท่าหัวเหา |
ลูกก็น้อยคอยก็นานยังย่อมเยาว์ | การก็เจนเห็นแต่เจ้าได้ครองเมือง |
พระชนนีว่าพ่อศรีชมพูเทศ | ไม่สังเวชแม่บ้างเลยพ่อเนื้อเหลือง |
เลี้ยงมาใหญ่หมายจะยกให้รุ่งเรือง | แหวนทองคำทำให้เคืองคับอุรา |
ต่างพิลาปร่ำว่าถึงปาจิต | สุดจะคิดสุดจะคอยสุดจะหา |
ตีทรวงซ้ำร่ำไปได้ก็ไม่มา | ตามวาสนาตามกรรมทำอย่างไร |
๏ ปางบดินทร์ปิ่นประเทศเกศมงกุฎ | พระยาบรมบวรสุดน้ำใจใส |
พระโองการสั่งสารขุนนายใน | จงเร็วไปสั่งให้หาโหรโหรา |
ตำรวจรีบเร็วรี่ขมีขมัน | ไปเถิงบ้านบอกโหรรับสั่งหา |
พระโหรเฒ่าจัดแจงแต่งกายา | ก็รีบมาเฝ้าองค์พระทรงชัย |
บรมบาทบรมราชกรุงกษัตริย์ | ทรงดำรัสปรึกษาแล้วปราสัย |
ว่านี้แน่ะโหรคนรู้คัมภีร์ไกร | พระลูกชายเราสัญจรไปจากวัง |
จะได้ทุกข์ขุกเข็ญเป็นไฉน | จะล้มตายฤๅว่าสุขไม่ทุกขัง |
พุฒาจารย์รับโองการเจ้านัครัง | แล้ววางตั้งปีเดือนดวงชะตา |
วันอังคารเดือนหกขึ้นสี่ค่ำ | เลิศล้ำโชคลาภนั้นนักหนา |
พฤหัสเข้าเสาร์แทรกอังคารคา | ในทักษาเกณฑ์แทรกตำราดู |
ในราศีทั้งสิบสองก็ผ่องแผ้ว | แต่เป็นแนวทับลัคน์นั้นราหู |
ทั้งดีชั่วเกี่ยวเกาะพิเคราะห์ดู | แกแจ้งรู้ทุกขลาภนั้นแน่นอน |
จึงกราบทูลจอมนรินทร์ปิ่นเสวก | พระลูกเอกเอี่ยมโอ่สโมสร |
ชนะมารเล่าชื่อลือขจร | ไม่ม้วยมรณ์โรคาไม่ยายี |
ในตำรานั้นก็ว่าทุกขลาภ | ราหูทาบอยู่ที่ลัคน์ในราศี |
จะได้นางที่สำอางล้ำนารี | เสียราศีแต่ได้ยากลำบากกาย |
ด้วยราหูตกเข้าอยู่ในเรือนลัคน์ | ต้องลำบากชอกช้ำระส่ำระสาย |
อีกสามวันสองเดือนจะเคลื่อนคลาย | ที่เคราะห์ร้ายจึงจะหมดกำหนดวัน |
ถ้าสิ้นเคราะห์ก็จะเหมาะขึ้นรวยรื่น | ยังยงยืนด้วยพฤหัสนั้นขำขัน |
พฤหัสท่านมั่นคงเป็นสำคัญ | พระเสาร์นั้นเป็นแต่แขกมาแทรกพลอย |
เมื่อเสาร์แทรกนั้นว่าแยกระยำยับ | ทั้งเสียทรัพย์เศร้าโศกแทบล้มผ็อย |
เมียจะตายถ้าไม่ตายก็ตองตอย | เป็นเปลี้ยง่อยอัปราโรคาเบียน |
ด้วยอังคารแทรกกันไม่ทันออก | เหมือนหนามยอกแล้วมิหนำมาซ้ำเสี้ยน |
เสาร์อังคารออกพลันก็เคราะห์เตียน | เหมือนหนามเสี้ยนถอดหลุดทรุดทำลาย |
อันศัตรูก็จะแพ้แก่อำนาจ | จะสมมาดเหมือนหนึ่งมุ่งที่ใจหมาย |
พฤหัสเป็นเจ้าเรือนไม่เคลื่อนคลาย | ในที่ทายว่าจะได้อนงค์นาง |
ว่าชายหญิงเป็นผู้ใหญ่จะให้ลาภ | โดยสุภาพโดยคล่องไม่ขัดขวาง |
พระลูกยาก็จะพามาครองปรางค์ | ไม่กระจ่างจริงเหมือนคำโหราทาย |
ขอถวายไม่เสียดายชีวาวิต | ทั้งเมียมิตรจงประหารให้ฉิบหาย |
พระจอมปรางค์แจ้งกระจ่างโหราทาย | ก็เคลื่อนคลายทุกข์ระทมตรมอุรา |
๏ จะกล่าวถึงหน่อกษัตริย์ขัตติยวงศ์ | พระปาจิตทีเป็นองค์โอรสา |
มาจากญาติองค์เดียวเปลี่ยวเอกา | จะเหลียวซ้ายแลขวาเอกาใจ |
สันโดษเดี่ยวเปลี่ยวกายในไพรชัฏ | เห็นแต่สัตว์เสือสิงห์วิ่งไสว |
รำจวนจิตคิดสะท้อนถอนหัททัย | ถึงเวียงชัยนัคเรศนิเวศวัง |
นิจจาเอ๋ยเคยอยู่ในปรางค์รัตน์ | วาลวิชนีวีพัดทั้งหน้าหลัง |
บาทนรินทร์กินระกำระยำมัง | เพราะรักนางสู้ม้วยด้วยชีวี |
ถ้าแรดช้างเสือร้ายมันพานพบ | มากัดขบก็จะม้วยลงเป็นผี |
ผู้ใดเล่าจะได้เอามูลคดี | ไปกราบทูลชนนีให้แจ้งใจ |
ผิเลือดเนื้อเหลือซากอาสภแห้ง | เป็นเหยื่อแร้งกากินจนสิ้นขัย |
ทั้งหัตถีก็จะมีอยู่เรี่ยไป | ทั้งท่อนน้อยท่อนใหญ่ดูก่ายกอง |
ยังถือว่าตัวดีมีความคิด | เที่ยวหามิตรมเหสีภิเษกสอง |
ทั้งถิ่นฐานปรางค์มาศปราสาททอง | ลืมพี่น้องญาติกามารดาดร |
มาทรกรรมทำกายเมื่อไร้ญาติ | พระยี่ภู่ปูลาดเขนยหมอน |
พระเฉลียงเตียงตั่งที่นั่งนอน | บรรจถรณ์มุ้งม่านละลานตา |
ไม่ลำบากอยากเสวยเปรี้ยวแลหวาน | กลางคืนวันก็ได้สมปรารถนา |
เมื่อยามร้อนถ้าจะสรงพระคงคา | ก็ลูบทาน้ำกุหลาบชโลมกาย |
ไม่อาวรณ์จรดลเที่ยวทนทุกข์ | ลำบากบุกป่าระนามแต่หนามหวาย |
พระเสโทโทรมตนสกนธ์ระคาย | แต่ท่อนไม้ต่างเขนยได้เกยนอน |
พระยี่ภู่ปูลาดแต่ใบไม้ | มารองกายแทนต่างซึ่งฟูกหมอน |
ทั้งเวียงวังเมืองพาราไม่อาวรณ์ | มากรมกรอนกรากกรำระกำใจ |
ไม่พอที่เราก็มีหญิงเท่านั้น | สักหมื่นพันถ้าจะเอาก็คงได้ |
พระบิดาก็เมตตาเป็นพ้นใจ | ก็หาให้เลือกสรรกว่าพันคน |
ไม่ว่าดีสักคนเดียวมาเที่ยวหา | ไปพบหญิงแพศยาต้องเสือกสน |
มันทำให้สาแก่ใจต้องอายคน | กลับมาบ่นร่ำว่ายากลำบากใจ |
ใครทำให้นี่ตัวทำใส่ตัวเอง | จนครื้นเครงแต่พี่น้องเขาร้องไห้ |
ก็ห้ามว่ามิให้มาให้คืนไป | ไม่ฟังใครขืนมาลำพาตัว |
จะมาชั่วยั่วขยาดชาติผู้ชาย | มันเกินมาดที่จะหมายคนจะหัว |
เขาจะว่าทำเหมือนบ้าเสียจิตมัว | คิดว่ากล้ามิรู้ว่ากลัวเอาจริงจัง |
ดูแต่แรกเหมือนจะแบกเอาภูผา | ครั้นฟังมาพูดขี้อวดทำโอหัง |
แต่แรกร่ำทำขึงออกกึงกัง | จะถอยหลังครั้นมาคิดผิดตำรา |
สักแสนยับก็ไม่กลับคืนไปได้ | จะตายหลังนี่ไม่ตายไปตายหน้า |
พระพักตร์ผ่องตรองแล้วแผ้วอุรา | พระบ่ายหน้ามุ่งใจครรไลเดิน |
พระสุริเยเวไลจะใกล้ค่ำ | เสียงครวญคร่ำร้องครางบนเขาเขิน |
ผีโขมดร้องแจ้วในแนวเนิน | พระด่วนเดินเสียวสยองพองโลมา |
ครั้นยามเย็นสุริยาภาณุมาศ | พระไสยาสน์หยุดนอนบนเนินผา |
แต่เดินไพรมาก็ได้หลายเวลา | ประมาณมาห้าคืนกับหกวัน |
บรรลุเถิงบ้านหนึ่งแขวงพารา | เป็นบ้านป่าเห็นแต่ไกลเสียงไก่ขัน |
ไม่แวะหยุดด้วยว่ายังเป็นกลางวัน | พระเลยบ้านมาก็หลายใกล้พารา |
พระยืนนิ่งกริ่งใจแล้วใคร่ครวญ | ครั้นเจอจวนจะไม่สมปรารถนา |
จำจะไปบ้านไร่แต่เดิมมา | ได้ถามหาเหตุผลที่ต้นปลาย |
ที่เรือนไร่ใกล้กันก็มีมาก | ที่รู้จักคุ้นเคยกันก็หลาย |
แต่ในบ้านถ้ากลางวันอย่ากล้ำกราย | หยุดอาศัยซุ้มป่าดูท่าทาง |
ถ้าคนคุ้นเคยกันนั้นออกมา | ได้พูดจาถามไถ่ใสสว่าง |
ถ้าได้จริงแจ่มแจ้งไม่แพรงพราง | ได้ท่าทางเต็มใจจะได้การ |
พระเดินคิดจิตตรองมาผ่องแผ้ว | เสียงไก่ขันแจ้วแจ้วแลเห็นบ้าน |
ด้วยพระได้มาอาสาอยู่ช้านาน | ตำแหน่งบ้านหนทางกระจ่างใจ |
ครั้นริมบ้านพันโพกศีรษะเศียร | ให้แปลกเปลี่ยนมิให้คนเขาจำได้ |
ครั้นเห็นคนพระก็ด้นเข้าป่าไป | ครั้นคนไกลพระก็ไพล่มาลงทาง |
จนมืดมัววัวควายไล่เข้าคอก | คนจะเดินเข้าออกนั้นเปล่าว่าง |
จึงด้อมมองย่องเข้ามาดูท่าทาง | เห็นบ้านเศร้าเปล่าว่างไม่มีคน |
ดูเรือนโล่งเซพระองค์ลงล้มผ็อย | พระชลเนตรเล็ดย้อยดังฝอยฝน |
ระแด่วดิ้นแทบจะสิ้นพระชีพชนม์ | พระภูวดลแน่นิ่งไม่ติงกาย |
จนสามยามน้ำค้างกระเซ็นสาด | ผกามาศคลี่แพลมแย้มขยาย |
พระพายพัดพาเกสรขจรพราย | พระฟื้นกายกลางดึกรู้สึกองค์ |
แล้วร่ำไรไห้ว่านิจจาเอ๋ย | กระไรเลยยับมุ่นเป็นฝุ่นผง |
ทิ้งเรือนไร่แขมคาแต่ป่าดง | พระเดินตรงพิศเพ่งไปเล็งดู |
เห็นที่ทางนั่งนอนบ่อนอาศัย | พระงงใจยืนฉงนอยู่เป็นครู่ |
สองพระกรข้อนหัวอกว่าอกกู | เมื่อเคยอยู่ช่างมาเย็นเป็นลมวี |
เห็นกระบานที่พระสานไว้กินข้าว | ที่ขาดเก่าทิ้งเรี่ยเหมือนเสียผี |
เห็นกระบานแทบจะดิ้นสิ้นชีวี | เขาได้ดีร้างไว้ทั้งไร่เรือน |
โอ้ว่าเรือนนี้ก็เหมือนหัวอกข้า | อนิจจาอกใครจะมีเหมือน |
สัญญากันไปไม่ทันจะพอเดือน | ทำซ่อนเงื่อนเรือนร้างอยู่แรมรา |
ทั้งตับหญ้าฝาเรือนดูเกลื่อนกลาด | ทิ้งเรี่ยราดกลางบ้านสงสารฝา |
พุทโธ่เอ๋ยอนิจจังสังขารา | เสียแรงมาอยู่อาสาสิบห้าปี |
มาทำเลี้ยงเพียงกะทาสที่สินไถ่ | มาเป็นได้เด็ดเดียวทีเดียวนี่ |
น่าแทงคอเสียให้ตายวายชีวี | ไปเมืองผีเกิดฤๅกูอย่าอยู่เลย |
ชักพระแสงว่าจะแทงซึ่งคอหอย | แล้วกลับถอยร่ำว่านิจจาเอ๋ย |
จะฆ่าตัวเองอย่างไรใครเขาเคย | ไม่ควรเลยทำเป็นบ้าจะฆ่าตัว |
พระขุกคิดจิตกลับคืนมาได้ | แลดูไร่โล่งลิ่วเห็นทิวรั้ว |
ชะใจกระไรหนอใจแม่ยายบัว | ช่างเมามัวลืมลูกไม่คิดเลย |
เห็นเขาดีมีบุญสกุลมาก | ลูกเขยยากนั้นไม่คิดแม่คุณเอ๋ย |
เมื่อวันจากพรากไปกระไรเลย | รักลูกเขยเหมือนหนึ่งว่าจะปรานี |
พิไรร่ำพร่ำสั่งทุกคำว่า | เผยวาจาออกปากจะฝากผี |
ให้รีบมาอย่าอยู่ช้าให้เถิงปี | เกลือกว่ามีมารประจญแม่หนักใจ |
ลูกลาไปก็มิใช่จะอยู่ช้า | ถึงพาราร้อนรนเท่าไหนไหน |
ไม่พอเดือนเลื่อนปีทีเดียวไป | น่าน้อยใจเถิงหัวอกใครก็ดี |
ถ้าเล่นเบี้ยเสียทรัพย์ทำโอ่โถง | เป็นคนโกงสูบฝิ่นกินอาหนี๗ |
เที่ยวคบเพื่อนราววิ่งเที่ยวชิงตี | ชาวบูรีลือนามได้ความอาย |
ถ้าชาติเช่นเหมือนอย่างนั้นฉันไม่ว่า | นี่อตส่าห์เจียมตัวกลัวฉลาย |
จะอยู่ไปไหว้ลามารดายาย | ไปขวนขวายจัดแจงมาแต่งการ |
ทั้งเงินของทองคำเป็นสินไหว้ | เหล่าผู้ใหญ่ป้าอามาว่าขาน |
พระบิดาก็เมตตาพ้นประมาณ | ให้สมการสมหน้ามารดาเมีย |
ยังเห็นอื่นชื่นชมไปเสียได้ | น่าน้อยใจกลั้นจิตให้ตายเสีย |
คิดฤๅหนึ่งจะมาตายอะไรกะเมีย | จะออเอียบ่นพร่ำไปทำไม |
จวนสว่างสางเสิงจะส่องโลก | อย่าวิโยคออกป่าเที่ยวอาศัย |
ไปซ่อนซุ่มอยู่ที่พุ่มพฤกษาไทร | ได้เห็นใครรู้จักสำนักคอย |
ออกจากบ้านพระภูธรไปซ่อนซุ่ม | ได้เพิงพุ่มกิ่งพฤกษาระย้าย้อย |
แล้วกินหมากสูบยาตั้งหน้าคอย | นั่งตะบอยคอยดูซึ่งผู้คน |
ครั้นสว่างกระจ่างแจ้งทั่วสถาน | พวกชาวบ้านหากินอยู่สับสน |
บ้างตักน้ำตำข้าวอยู่อลวน | ที่บางคนฝนพร้าไปหาฟืน |
ท่านตาสาถือพร้าออกจากบ้าน | เที่ยวลนลานด้วยว่าจิตแกฝ่าฝืน |
แกเพ่งแลเห็นสะแกต้นตายยืน | ในใจชื้นถือพร้าเข้ามาฟัน |
พระปาจิตเหลือบเขม้นเห็นตาสา | แกถือพร้าฟันฟืนดูคมสัน |
ดูเหื่อไหลโซมหน้าเหมือนทาละมัน | หัวก็ล้านผมน้อยเหมือนรอยควาย |
ตาคนนี้แกก็ดีเป็นคนซื่อ | เขานับถือคนเชื่อแกเหลือหลาย |
แกกะกูก็รู้จักเคยทักทาย | เห็นแยบคายถามแกจะแน่การ |
พระคิดพลางย่างเยื้องออกจากป่า | จึงเดินมาไถ่ถามด้วยคำหวาน |
ท่านอยู่ดีวัฒนาฤๅอาจารย์ | แกลนลานตอบคำไปทันที |
เป็นอย่างไรเหตุไฉนพ่อปาจิต | ดูหายมิดเพิ่งเห็นหน้ากันเดี๋ยวนี้ |
อยู่ภายหลังเขาทำเค็มพ่อเต็มที | ธิบดีพรหมทัตเจ้าเวียงชัย |
ให้ตำรวจมากะไหล่ท่านยายบัว | จะเอาตัวอรพิมไปพิสมัย |
พระปาจิตตอบสารไปทันใด | เป็นอย่างไรลุงเจ้าเล่าให้ฟัง |
ฝ่ายตาสาฟังสารปาจิตถาม | จึงเล่าความอนุสนธิ์แต่หนหลัง |
เป็นความจริงลุงจะเล่าให้เจ้าฟัง | เจ้าให้หลังไปไม่ช้าสักห้าคืน |
ท่านข้าหลวงกองอาสาพระยาราม | มามากคามวายวุ่นทั้งขุนหมื่น |
มาปลงช้างหยุดช้างไม่แรมคืน | ดูครึกครื้นเข้าไปหาท่านป้าบัว |
ว่าจอมจักรนัคเรศเกศกษัตริย์ | ท้าวพรหมทัตพระบรมอยู่หัว |
รับสั่งใช้ให้มาหาท่านป้าบัว | จะขอตัวอรพิมยิ้มละไม |
ไปครองวังตั้งให้เป็นองค์เอก | ยอดเสวกปรางค์ทองอันผ่องใส |
ฝ่ายป้าบัวแกจึงว่าเจ้าคุณภัย | ฉันจนใจก็ไม่ขัดพระโองการ |
อรพิมก็มีคู่มาสู่ไว้ | เดี๋ยวนี้ไปคืนวังยังสถาน |
ไปหาของจัดแจงมาแต่งการ | สิบห้าวันเดือนดับจะกลับมา |
อันตัวตาเขาก็หาเป็นเถ้าแก่ | อย่างนี้แน่จริงเจ้าจึงเล่าว่า |
พวกข้าหลวงเขาว่าขัดพระอาญา | เขาโกรธาคืนกลับไปกราบทูล |
ครั้นอยู่มาห้าวันสิบแปดค่ำ | กลับมาซ้ำยายบัวดูกลัววุ่น |
พวกเขามาตาก็ไพล่ไปถากคูน | ไปดายรุ่นไร่ครามจนค่ำเย็น |
แต่ครั้งหลังตาไปไร่ไม่ได้อยู่ | เป็นแต่รู้แต่เขาว่าเหมือนตาเห็น |
เขาลือลั่นพูดกันทุกเช้าเย็น | ไม่วายเว้นพูดกันเถิงหลานชาย |
ในคำเล่าว่าท่านท้าวพรหมทัต | ให้แต่งจัดช้างม้ามามากหลาย |
กระโจมทองรองเรืองอร่ามราย | ทั้งไพร่นายถือทวนแต่ล้วนธง |
มาหยุดคามสามวันจึงคืนกลับ | แล้วพารับอรพิมนวลระหง |
นางอรพิมยิ้มละไมเป็นใยยง | ขึ้นช้างทรงพระที่นั่งหลังคาทอง |
ในคำเล่าว่าเถ้าแก่นั้นออกหน้า | ถือธงพาถือทวนเป็นแถวสอง |
แต่ยายบัวมิได้ขี่กระโจมทอง | ขี่จำลองประออดงาออกหน้านาง |
เมื่อเดือนยี่สี่ค่ำเขาทำการ | ดูอลหม่านจุดประทัดเสียงโผงผาง |
ตาขี้คร้านจะไปดูด้วยไกลทาง | ไปนอนค้างขาดการขี้คร้านไป |
พระปาจิตมิ่งมงกุฎบุตรกษัตริย์ | ได้ฟังอรรถตาเฒ่าเล่าถวาย |
ปานเขาฟันด้วยพระแสงแทงให้ตาย | พระภูวนัยตรัสว่ากับตาพลัน |
ฉันเสียใจแทบจะตายไม่ขออยู่ | ด้วยเสียชู้เสียเมียเสียแล้วฉัน |
ฝ่ายตาสาแกจึงว่าพระใจธรรม์ | จงกลืนกลั้นดับเดือดให้เหือดไป |
บูราณว่าถ้าว่าหนามเข้าตำหัก | ถ้าหนามปักหนามบ่งคงจะได้ |
พระปาจิตว่าฉันคิดมาแต่ไกล | นี่แค้นใจดอกจึงว่าให้ตาฟัง |
ด้วยได้แต่งแจงจัดซึ่งข้าวของ | ทั้งเงินทองนั้นนักหนาสาขยัง |
ทั้งป้าอาต้องลำบากมาจากวัง | มาครึ่งทางรู้ความไม่งามใจ |
ฉันทิ้งของทองเงินลงน้ำสิ้น | ให้เดือดดิ้นแทบจะโดดแม่น้ำไหล |
ทั้งเงินทองเทกองในลำชัย | ด้วยเสียใจเหลือจะกลั้นแล้วท่านตา |
ฝ่ายตาสาแกจึงว่าพระปาจิต | ซ่อนให้มิดอย่าให้คนเขาเห็นหน้า |
อย่าว่าแต่พ่อตาก็แค้นแน่นอุรา | ด้วยป้าอาต้องลำบากมาจากวัง |
เดี๋ยวนี้ท่านรั้งอยู่ที่ไหนอย่างไรพ่อ | พระปาจิตตอบต่อว่าคืนหลัง |
แต่ตัวหลานท่านก็ห้ามฉันไม่ฟัง | พิไรสั่งวอนไหว้ไม่ให้มา |
แสนสงสารอกจะครากด้วยปากญาติ | แค้นด้วยมิตรแทบจิตขาดท่านตาขา |
ถ้าไม่ตายคงได้ไปดอกพารา | จริงจริงตาฉันให้แค้นในอกตึง |
ฉันตรองมาถ้าแม้นแน่จะแก้แค้น | ให้สาแสนเล่นให้ท้องเหมือนกลองขึง |
เอ็นดูฉันถ้าไปบ้านอย่าพูดอึง | แต่หูหนึ่งอย่าได้เผยเขาเลยตา |
ฝ่ายตาสาแกจึงว่าพ่อปาจิต | พ่ออย่าคิดที่จะรู้ด้วยตาสา |
พ่อซ่อนเร้นเขาจะเห็นสักเพลา | ไม่ดอกตาฉันไม่อยู่ให้ช้าทาง |
หยุดเท่านั้นเล่าก้นพอพึงรู้ | กลัวคนผู้จะมาพบอกแตกผาง |
ตาเฒ่าสายกฟืนใส่บ่าพลาง | เข้าสู่ทางมาบ้านในทันใด |
๏ ฝ่ายพระองค์พงศ์มงกุฎสุดสงสาร | ครั้นตาสามาบ้านหาช้าไม่ |
บทจรเข้าไปซ่อนใต้พุ่มไทร | จนเวไลสุริยนสนธยา |
ครั้นสิ้นคนในนอกจะออกเข้า | เห็นปลอดเปล่าแลดูทั้งซ้ายขวา |
ออกจากพุ่มเข้าทางย่างยาตรา | พระรีบมาจนกระทั่งยังกรุงไกร |
พอดาวรุ่งพุ่งแจ้งขึ้นแสงโพลง | ดาวโยงลงมาลับเหลี่ยมไศล |
เสียงกาเหว่าเร่าร้องวิเวกไพร | สกุณไก่ขันแจ้วออกแซ่วเมือง |
มากระทั่งยังประตูดูยังปิด | พระถอยคิดคืนออกไปแฝงเฝือง |
จนรุ่งแจ้งแสงทองขึ้นรองเรือง | พวกชาวเมืองเขาก็ตื่นจากนิทรา |
๏ ดับนั้นท่านบรมพรหมทัต | ครั้นแสงทองส่องจำรัสพระเวหา |
เสด็จออกนั่งนอกหน้าพลับพลา | กับกัลยาอรพิมแม่นิ่มนาง |
ฝ่ายพระปาสุริยวงศ์ผู้ทรงเดช | ครั้นสูริเยศส่องแสงขึ้นเสิงสาง |
เสียงนายประตูเปิดบานทวารทาง | พระโฉมปรางค์จรเดินดำเนินมา |
เข้าประตูไต่เต้าตามถนน | พระจอมพลนึกคะนึงขนิษฐา |
เห็นผู้คนอลหม่านละลานตา | พระเดินมาจนกระทั่งประตูวัง |
นายประตูผู้เฝ้าทวาเรศ | เห็นทรงเดชลุกทะลึ่งทำขึงขัง |
โฉมพระไพรปราสัยจะเข้าวัง | นายทวารห้ามรั้งไม่ให้ไป |
พระราชฐานผ่านเกล้าเจ้าชีวิต | ไม่กลัวผิดเออนี่ท่านมาแต่ไหน |
พระปาจิตตอบสารไปทันใด | นี่แน่ะนายจงกระจ่างในทางความ |
อันตัวเรากล่าวคือว่าเป็นพี่ | แม่เทวีอรพิมจงทูลถาม |
เราคิดถึงจึงมาเยี่ยมมาเยือนยาม | ท่านจงเอาความเข้าไปทูลกับเทวี |
นายประตูครั้นว่ารู้ประพฤติเหตุ | ว่าทรงเดชนั้นเป็นพี่นางโฉมศรี |
จึงว่าท่านงั้นรั้งอยู่เพียงนี้ที | ข้าจะไปทูลแม่เทวีให้แน่ใจ |
นายประตูรู้แล้วไม่นิ่งช้า | ก็เข้ามาตามที่อัชฌาสัย |
มานั่งอยู่ที่ประตูข้างชั้นใน | บอกสาวใช้โขลนจ่าไม่ช้าที |
พวกโขลนจ่าที่บรรดาเข้าเวรใช้ | ครั้นแจ้งใจเข้ามาทูลนางโฉมศรี |
ขอเดชะพระเชษฐาแม่เทวี | จะเข้ามาหารั้งอยู่ที่ประตูวัง |
นางอรพิมมเหสีเทวีหลวง | แม่พุ่มพวงแจ้งใจอาลัยความหลัง |
อาดูรดิ้นเจียนจะสิ้นชีวาวัง | แทบอกพังเจียนจะโลดกระโดดตาย |
นางกลั้นกลืนขืนดับระงับโศก | ในทรวงอกปานจะแยกแตกสลาย |
ด้วยเหลือเกรงกลัวจะขุ่นขึ้นวุ่นวาย | จะเกิดศึกอันตรายในบูรี |
ครั้นระงับดับโศกในอกแล้ว | แม่กิ่งแก้วใจผ่องไม่หมองศรี |
จึงตรัสสั่งโขลนพลันไปทันที | ถ้าเป็นพี่ชายของเราให้เข้ามา |
นางโขลนจ่ารับบัญชาพระเสาวนีย์ | อัญชุลีลงบังคมก้มเกศา |
มาแจ้งใจกับผู้นายทวารา | ว่าแก้วตาเอกมิ่งสุมาลัย |
มีรับสั่งมากับเราพระเสาวนีย์ | พระเจ้าพี่ให้เข้ามาอย่าห้ามไว้ |
นายประตูรู้แน่ตระหนักใจ | ก็เร็วไวออกมาแจ้งแห่งคดี |
ว่าดูราท่านเชษฐาแม่ณหัวเจ้า | พระนางท้าวออกพระโอษฐ์โปรดเกศี |
ให้เชิญท้าวเข้าไปเฝ้านางเทวี | พระโฉมศรีชื่นชมภิรมย์ใจ |
พระปาจิตอิศโรโอรสา | ก็เข้าวังรีบมาหาช้าไม่ |
นางอรพิมแลเขม้นเห็นพระไพร | นางทรามวัยร้องทักว่าพี่มา |
ฝ่ายท่านท้าวพรหมทัตกษัตริย์ศักดิ์ | ได้ยินนางร้องทักพระเชษฐา |
จึงโองการกล่าวสารด้วยปรีดา | พระพี่ยาของนางฤๅสายทรวง |
นางอรพิมรับว่าพี่ชายฉัน | สนิทกันร่วมวงศ์พระองค์หลวง |
ท่านท้าวพรหมหลงลมสุดาดวง | เกษมทรวงชื่นชมภิรมยา |
พรหมทัตสั่งให้จัดพานพระศรี | ทั้งหมากพลูบุหรี่ให้แต่งหา |
ประเพณีพี่น้องเคยไปมา | ว่าพงศานั้นมาหาก็ดีใจ |
มีโจษมาว่าเมืองพิมายนี้ | แต่เดิมทีเหตุผลเป็นไฉน |
จึงเรียกร่ำอยู่เป็นเรื่องเมืองพิมาย | จำเลยชายผู้รู้แท้แก่คดี |
จึงกล่าวว่าเทวดาท่านบอกไว้ | เมืองพิมายเดิมชื่อเมืองพาราณสี |
เพิ่งมาเปลี่ยนเพี้ยนเรียกเอาดิบดี | เมื่อปาจิตพระจักรีกับอรพิม |
เดิมปาจิตนั้นมาได้นางพิมก่อน | พระเนื้ออ่อนคืนไปเมืองโดยปัจฉิม |
อยู่ภายหลังพรหมทัตทำวุมวิม | ไปเอานางอรพิมมาเป็นเมีย |
โฉมพระปากลับมาครั้นรู้เรื่อง | ให้แค้นเคืองพรหมทัตประดาเสีย |
ในอกร้อนเหมือนหนึ่งไฟประลัยเลีย | พระมุ่งหมายจะเอาเมียนั้นคืนมา |
จักรพงศ์ตรงเข้าพระราชฐาน | แม่นงคราญแลเห็นพระเชษฐา |
จึงร้องทักออกประจักษ์ว่าพี่มา | ชาวพาราลือสะท้อนขจรเมือง |
แต่นั้นมาชาวพาราพากันเรียก | นำสำเหนียกลือเล่าเป็นราวเรื่อง |
ให้นามเมืองชื่อว่าพี่มาเมือง | ทุกคนเนื่องเรียกเป็นเรื่องเมืองพี่มา |
ที่เกิดใหม่ชายหญิงไม่รู้เรื่อง | เรียกนามเมืองผิดกันนั้นนักหนา |
เมืองพี่มาก็มาเพี้ยนเปลี่ยนวาจา | ทุกคนว่าเรียกเป็นเรื่องเมืองพิมาย |
วิปริตผิดทางในอย่างเยื่อง | เรียกเป็นเรื่องรื่นสำรวยไม่ขวยขาย |
หญิงบุรุษต้องพระพุทธทำนาย | พระตรัสทายว่าที่ลุ่มจะพุ่มพูน |
ที่หาดสูงก็จะลงเป็นวังลึก | เป็นพราหมพฤฒก็จะทำให้ศีลสูญ |
ผู้ถือศีลก็จะเสียพงศ์ประยูร | เข้าประมูลกับมุสาทุราธรรม |
พรหมทัตไม่สงสัยหมายว่าพี่ | ให้ยินดีด้วยว่ารักนางงามขำ |
จึงรับสั่งให้ละครมาฟ้อนรำ | พระทรงธรรมหมายจะให้พี่ชายดู |
ตำรวจวังรับสั่งหาช้าไม่ | ก็ว่องไวเรียกละครเร็วเถิดสู |
พระโองการผ่านเกล้าเจ้าชมพู | รับสั่งตูมาให้เร่งเอ็งเข้าไป |
ละครนางฟังตำรวจมาบอกว่า | ก็แต่งตัวนุ่งผ้าหาช้าไม่ |
นุ่งผ้ายกดอกกระจ่างอย่างวิไล | เข็มขัดใส่ทับทรวงพวงมาลา |
ใส่เสื้อกรองทองคำงามวิเศษ | ชฎาเทศอย่างดีอันเลขา |
นายโรงนางต่างแต่งตัวออกมา | หน้าพลับพลาท้องพระโรงอันเรืองพราย |
แล้วบังคมพรหมทัตขัตติเยศ | ทั้งปาจิตอิศเรศผู้โฉมฉาย |
ขยับย่างลุกขึ้นรำทำกรีดกราย | เล่นเรื่องพระสังข์ศิลป์ชัยไปตามอา |
เมื่อทรงธรรม์องค์สุบรรณพระยาครุฑ | ไปลักนุชมิ่งมิตรขนิษฐา |
อาพระสังข์ศิลป์ชัยได้แล้วพา | ไปยังวิมานฟากฟ้าฉิมพาลี |
พระสังข์เจ้ารู้ข่าวเที่ยวตามหา | ก็พบอาในวิมานอันเรืองศรี |
พระสังข์พาอานั้นคืนมาบูรี | เกษมศรีชื่นบานสำราญครัน |
แล้วตีกรับรับร้องว่าไชยา | บางคนว่าไชโยหัวเราะหยัน |
พรหมทัตไพจิตรผู้ทรงธรรม์ | ดูละครจนตะวันเพลาเย็น |
ท้าวบรมพรหมทัตประสาทพร | ให้เลิกละครแตรสังข์ที่รำเต้น |
พอสุริยงลงเยี่ยมเหลี่ยมพระเมรุ | ท้าวพรหมทัตพระนเรนทร์สำราญใจ |
พระปาจิตอรพิมก็พร้อมพรั่ง | พากันนั่งชมชิดพิสมัย |
ต่างภิรมย์ชมชื่นระรื่นใจ | ด้วยพี่ชายพร้อมพบประสบกัน |
แล้วจับด้ายสายสิญจ์เคยนับถือ | มาผูกมือพี่น้องเป็นมิ่งขวัญ |
พิไรพรกุมกรผูกมือกัน | เกษมสันต์ชื่นชมภิรมยา |
ท้าวบรมพรหมทัตขัตติเยศ | พระตรัสสั่งพวกวิเสททั้งซ้ายขวา |
ให้จัดแจงแต่งสำรับอันโอชา | เหล้าสุราอาหารทั้งหวานคาว |
ท้าวไม่แคลงแหนงใจหมายว่าพี่ | ของเทวีอรพิมโฉมเฉลา |
ครั้นจะเฉยก็เห็นความไม่งามเพรา | กลัวนงเยาว์กัลยาจะน้อยใจ |
ว่าพี่ชายร่วมญาติวงศา | เข้ามาหาแล้วก็เฉยทำผลักไส |
แม่นิ่มนางจะระคางมโนใน | ความกำหนัดรักใคร่เข้ารึงรัง |
ท้าวงวยงงหลงมิตรไม่คิดรอบ | ให้เห็นผิดไปเป็นชอบด้วยกรรมหลัง |
จะเสียเมียตัวจะตายไม่ระวัง | เวราบังเข้ามาเพิ่มให้เคลิ้มใจ |
พวกวิเสทจัดสำรับสำเร็จแล้ว | อันเพริศแพร้วยกมาวางทั้งเหล้าหลาย |
พรหมทัตเอื้อนตรัสว่าพี่ชาย | เชิญสบายบริโภคอาหารพลัน |
ทั้งสามองค์ทรงเสวยกระยาหาร | อันตระการเหล้าเข้มนั้นเต็มขัน |
นางนงลักษณ์เป็นคนตักสุราปัน | ยื่นให้ท่านพรหมทัตนั้นจอกเต็ม |
แล้วนางแสร้งแกล้งว่าพระสามี | ฉันรักผัวยิ่งกว่าพี่ให้เหล้าเข้ม |
แต่พี่ชายไม่สู้รักไม่ตักเต็ม | อันเหล้าเข้มฉันไม่ให้พี่ชายกิน |
ด้วยงามชื่นฝ่าฝืนพระปาจิต | นางแสนคิดตรองใจหมายถวิล |
จะแก้แค้นพรหมทัตธิบดินทร์ | สมถวิลก็จะทำให้เถิงตาย |
นางจึงกล่าวเย้ายุให้กินเหล้า | ให้มัวเมานิ่งนอนจนเหงือกหงาย |
ครั้นพรหมทัตนอนนิ่งไม่ติงกาย | จะได้ขยายพูดจาปรึกษากัน |
ครั้นพรหมทัตไม่ระคางว่านางรัก | นางต้องตักเหล้าเข้มให้เต็มขัน |
กำลังปลื้มท้าวก็ดื่มไม่เงยงัน | จนสิ้นขันเมาเพ้อละเมอมาย |
มิให้แคลงนางเป็นแพ่ง๘ตักแต่นิด | กลัวปาจิตนั้นจะเมาไปมากหลาย |
นางตักยื่นล้วนแต่พื้นสุราปลาย | พระโฉมฉายรู้คดีในทีนาง |
พรหมทัตดื่มสุราเข้าหลายจอก | พูดไม่ออกปากอ้าลูกตาขวาง |
ผวาล้มจมสำรับในท่ามกลาง | สรรพางค์ไม่กระดิกระริกกาย |
พระปาจิตอิศเรเสน่ห์หญิง | เห็นพรหมทัตนอนนิ่งดูเหงือกหงาย |
โตกตะแคงแกงราดอยู่เรี่ยราย | แตกกระจายหมดม้วยทั้งถ้วยชาม |
พระเกศาหน้าหลังของพรหมทัต | สุราราดเปื้อนเพรื่อดูเหลือหลาม |
พระเสโทโซมไหลทั้งไอจาม | ให้ซุ่มซ่ามสุมจิตฤทธิ์สุรา |
ท้าวเวียนวิงนิ่งนอนเหมือนขอนไม้ | น้ำลายไหลราดทรวงอุระสา |
ระส่ำระสายแทบจะวายชวาลา | ฤทธิ์สุราเฝ้าสุมให้กลุ้มใจ |
พระปาจิตอิศเรศเกศกษัตริย์ | เห็นพรหมทัตเมาเหล้าน้ำลายไหล |
ดูแน่นิ่งนอนกลิ้งเหมือนคนตาย | ก็สมใจดังพระนึกจินตนา |
พระจึงกล่าวพจนารถประภาษถาม | เจ้าโฉมงามมิ่งมิตรขนิษฐา |
เหตุไฉนเป็นอย่างไรเจ้าพิมพา | เป็นพาลีสองหน้าให้ได้อาย |
พระขรรค์เพชรเราจะเด็ดเอาเกศี | ประเดี๋ยวนี้ก็ชีวีจะสูญหาย |
ทั้งสองศพให้ประกบประกับกาย | พระง้ากรายแสงขรรค์จะฟันนาง |
แม่โฉมยงกราบลงกับพระบาท | พระภูวนาถโปรดน้องอย่าหมองหมาง |
จงถามก่อนผ่อนโกรธไว้ท่ามกลาง | ถ้าได้จริงแล้วจึงล้างให้วายชนม์ |
เป็นความสัตย์จะพิสูจน์เอาจริงถวาย | จะดำน้ำลุยไฟสักเจ็ดหน |
มิใช่น้องนอกใจพระจุมพล | เป็นความจนเข้ามาขืนต้องจนใจ |
ประเวณีก็ยังดีเป็นผ่องแผ้ว | สักนิดแนวก็ไม่หมองยังผ่องใส |
ทุกเพลาคอยท่าพระภูวนัย | ร่ำพิไรคอยพักตร์พระจักรี |
ว่าจะกลั้นใจตายพิไรร่ำ | ไปตามกรรมคอยท่าอยู่เมืองผี |
แล้วคิดได้ด้วยอาลัยพระสามี | ด้วยพันปีไปพาราจะมาคืน |
เมื่อกลับมาถ้าไม่เห็นอรพิม | พระงามพริ้มจะอาลัยไห้สะอื้น |
รู้ว่าตายวายชีพไม่คงคืน | จะทุ่มกายไห้สะอื้นพิไรครวญ |
คิดสงสารอกปานจะแตกร้าว | ถึงผ่านเกล้าความอาลัยใจสงวน |
ยังปัญญาตรองใจแล้วใคร่ครวญ | เห็นสมควรเหมาะงามว่าความดี |
ว่าอย่าเลยกูจะไปด้วยพรหมทัต | ถึงขืนขัดก็ไม่พ้นเว้นแต่ผี |
เป็นแต่เมียอย่าให้เสียประเวณี | กว่าภูมีจะมาพบประสบกัน |
คิดถึงยามความอาลัยพระเพื่อนยาก | อกจะครากคิดยิ่งแค้นแสนกระสัน |
เมื่อกินข้าวกินน้ำตาไม่ราวัน | สุดจะกลั้นตั้งแต่ตรอมจนผอมโรย |
แต่คอยเช้าเช้าคอยแลไม่เห็น | ครั้นคอยเย็นเย็นไม่มายิ่งไห้โหย |
ตั้งแต่ตีทรวงช้ำระกำโกย | จนพรหมทัตไปขโมยเอาเมียมา |
พระมารดาสุดท่าจะทานทัด | จะขืนขัดเล่าก็กลัวซึ่งโทษา |
ด้วยแม่ลูกสองคนจนระอา | ไม่อยากมาก็ต้องมาด้วยบทจน |
มาเถิงวังตั้งให้เป็นใหญ่เอก | อุปภิเษกขึ้นครองดินปิ่นพหล |
แสนระกำช้ำใจแทบวายชนม์ | แต่ทนทนมาเต็มทีพระพี่อา |
เสร็จภิเษกท้าวบรมพรหมทัต | ดึกสงัดยามสองก็เข้าหา |
ฉันตั้งสัตย์อธิษฐานด้วยสัจจา | เดชะข้าซื่อสัตย์ต่อทรงธรรม์ |
เทวดาที่รักษาชมพูโลก | ทุกกรอกโกรกอมเรศเวียงสวรรค์ |
เอ็นดูด้วยท่านจงช่วยมาป้องกัน | ในกายฉันอย่าให้เสียประเวณี |
ถ้าพรหมทัตอิศยมจะข่มขืน | อันความชื่นขอให้สูญเหมือนร่างผี |
ด้วยมั่นคงที่ข้าตรงต่อสามี | ท่านเทวีจงมาช่วยฉันด้วยรา |
เดชะสัตย์อธิษฐานบันดาลหาย | พรหมทัตก็มิได้เสน่หา |
ก็กลับคืนไปที่นอนบ่อนนิทรา | แต่นั้นมาก็เป็นแล้วไม่แผ้วพาน |
เป็นสัตย์จริงมิ่งเมียพระทูนหัว | ในกายตัวก็ยังดีเหมือนธิษฐาน |
ใครที่ไหนจะได้เห็นเป็นพยาน | พระภูบาลถ้าจะฆ่าก็ท่าจน |
ปางพระองค์ทรงฤทธิ์ปาจิตเจ้า | ได้ฟังเล่าที่นางแจ้งแสดงผล |
ก็เห็นจริงแจ่มกระจ่างทางยุบล | ว่านิรมลมิได้ปลงประจงใจ |
พระกรึกกริ่งนิ่งนึกหาความจริง | อนึ่งเล่าเจ้าเป็นหญิงจะทำไฉน |
แต่แม่ลูกสองคนต้องจนใจ | ครั้นไม่ไปก็ต้องไปด้วยความกลัว |
แต่เนื้อตัวร่างกายว่าใสผ่อง | ประเวณีที่ตัวน้องยังไม่ชั่ว |
จะทดลองปฏิญาณสาบานตัว | ให้สิ้นมัวผ่องใสไม่มลทิน |
พระภูบาลตรองสารปราสัยว่า | พระน้องยาเวียนองค์เหมือนทรงศีล |
พระแสงยางถ้าได้ล้างลงวาริน | ถ้าใครกินแล้วก็ตายวายชีวา |
ถ้าคนตรงโปร่งปลอดไม่มอดม้วย | รื่นสำรวยท่วงทีดีนักหนา |
ถ้าเจ็บไข้หายสิ้นเหมือนกินยา | วัฒนาโรคภัยไม่แผ้วพาน |
แม่นงนุชบริสุทธิ์เจ้าผ่องใส | จะกินได้ฤๅไม่ได้ปราสัยสาร |
อนึ่งไซร้พี่จะให้เจ้าสาบาน | เยาวมาลย์ฤๅจะได้ฤๅฉัยยา๙ |
แม่น้อยฉิมอรพิมมิ่งสมร | นางเนื้ออ่อนกราบทูลพระเชษฐา |
ฉันจริงใจจะถวายซึ่งสัจจา | จะฟันฆ่าก็ไม่คิดเสียดายกาย |
จะสาบานกินฉ่ำน้ำพระแสง | ไม่พรายแพร่งจะให้สัตย์พิสุทธิ์ถวาย |
ในกายตัวถ้าแม้นชั่วเท่าเม็ดทราย | ให้กินตายลงต่อหน้าพระสามี |
น้ำพระแสงนางก็กินจนสิ้นขัน | ทั้งสาบานให้สัตย์พระโฉมศรี |
เห็นผ่องแผ้วเหมือนหนึ่งแก้วมณีดี | พระภูมีเห็นจริงไม่กริ่งใจ |
พระจึงมีเทวราชประภาษถาม | แม่ไจงามเลิศล้นพ้นวิสัย |
จะพาน้องเจ้าไปครองพ้นเวียงชัย | เจ้าจะอยู่ฤๅจะไปเล่าขวัญตา |
โอ้พระทองสองศรีมณีเนตร | ไม่สังเวชน้องบ้างเลยพระเชษฐา |
แต่คอยคอยแทบจะดิ้นสิ้นชีวา | กินน้ำตาต่างน้ำระกำกาย |
ไหนจะตรอมอกตรมด้วยพรหมทัต | ยังกลับพลัดมาระกำคอยพี่หาย |
ทั้งแม่ลูกแทบจะผูกคอให้ตาย | ด้วยขโมยไปขมายเอาเมียมา |
จะจวนแจ้งแสงทองขึ้นส่องเสิง | อย่าทำเชิงเชิญเสด็จพระเชษฐา |
สงัดคนกรนหลับทั้งปรางค์ปรา | ด้วยราชาเข้าไปอยู่ยังวังใน |
นางกำนัลก็สำคัญว่าพี่นาง | ต่างคนต่างเข้าที่นอนแล้วหลับไหล |
มิได้คิดที่ในจิตมโนใจ | จะเกิดภัยฆ่าฟันกันในปรางค์ |
พอฆ้องยามย่ำเข้าได้เก้าทุ่ม | พระเนื้อนุ่มตรึกตรองยิ่งหมองหมาง |
ท้าวพรหมทัตนอนเพ้อละเมอคราง | ยิ่งระคางเคืองแค้นแน่นอุรา |
ไอ้พุงโตทำพาโลบังอาจนัก | ไปลอบลักอรพิมเสน่หา |
เมียของกูมึงทำชู้ไปลักพา | ไอ้โจราจับได้ไม่ไว้มัน |
จับพระขรรค์ฟันคอท้าวพรหมทัต | เสียงฉับฉาดฟาดคอขาดสะบั้น |
พระโลหิตไหลพุ่งฟุ้งเป็นควัน | ก็เถิงการมรณาในราตรี |
ครั้นฟันขาดพรหมทัตนั้นตายแล้ว | พระกิ่งแก้วพานางจะออกหนี |
ออกไม่ได้จนใจพระจักรี | ด้วยเสนีเฝ้าอยู่ประตูวัง |
เขานั่งยามตามไฟทั้งในนอก | ครั้นจะออกก็ไม่ได้โอ้ทุกขัง |
พระพานางไปมาละล้าละลัง | จนจวนแจ้งแจ่มกระจ่างขึ้นรูจี |
ด้วยศีลทานค้ำชูพระภูวนาถ | ให้ร้อนอาสน์อมรินทร์ท้าวโกสีย์ |
จึงแลเล็งเพ่งทั่วพระธรณี | เห็นภูมีปาจิตกับอรพิม |
ไปรับคู่ติดประตูออกไม่ได้ | ถ้าไม่ช่วยก็เห็นใช่จะอับฉิน |
เสียดายหน่อชินวงศ์พงศ์นรินทร์ | ท้าวโกสินทร์ลงจากวิมานมา |
จำแลงกายกลายเป็นอาชาชาติ | แล้วเหาะผาดลอยละลิ่วปลิวเวหา |
ลงสู่ปรางค์พรหมทัตขัตติยา | ท้าวอมราไถ่ถามเนื้อความพลัน |
ว่าพี่น้องเจ้าทั้งสองจะไปไหน | จึงมาไปร่อนเร่ดูเหหัน |
พระโฉมงามตอบความกลับมาพลัน | ไฉนนั่นเป็นอาชารู้พาที |
ท้าวโกสิตที่นิมิตมาเป็นม้า | จึงตอบว่าตัวเราคือโกสีย์ |
มารับพาเอาท่านไปจากไพรี | จงขึ้นขี่หลังข้าจะพาไป |
ทั้งสององค์ทรงทราบว่าโกสีย์ | ให้ยินดีชื่นชมจะมีไหน |
แล้วเผ่นนั่งขึ้นบนหลังอาชาไนย | มโนมัยรีบเหาะระเห็จพา |
จำเพาะตรงลงสู่ที่ต้นไทร | อันโตใหญ่กิ่งก้านนั้นสาขา |
สหัสนัยกลับกลายซึ่งกายา | อันมิ่งม้านั้นก็หายกลายเป็นอินทร์ |
สำแดงเดชเพชฌานบันดาลหาย | ไปสู่ไชยวิมานของโกสินทร์ |
ฝ่ายพระหน่อสุริยวงศ์พงศ์มุนินทร์ | กับโฉมฉินหยุดสำนักอยู่ร่มไทร |
พระสุริยนสนธยาจะยอแสง | อร่ามแดงลงไปเยี่ยมเหลี่ยมไศล |
หมู่ปักษาพากันร้องระงมไพร | แม่สายใจคิดคะนึงถึงพารา |
เสียงผีผิวพึมพำคำรามร้อง | เสียวสยองเยือกเย็นเส้นเกศา |
เมื่อยามพระสุริยนสนธยา | นางชะนีห้อยพฤกษาพิไรคราง |
เสียงพิกลเป็นทำนองร้องเรียกผัว | แล้วไต่ไม้ห้อยตัวเหมือนผีสาง |
นางโฉมงามวอนถามพระจอมปรางค์ | ชะนีนางนี้อนาถประหลาดใจ |
มาเพี้ยนเพศเหตุไฉนพระเชษฐา | ดูหน้าตาเหมือนอย่างคนหาผิดไม่ |
แต่ก่อนปางสร้างกรรมประการใด | จึงพิไรเรียกผัวอยู่มัวเมา |
พระสดับวาทินยุพินถาม | จึงแจ้งความเยาวยอดโฉมเฉลา |
เรื่องนิยายนี้ก็คล้ายกับเรื่องเรา | แม่นงเยาว์ครั้นจะเล่าเหมือนเปรียบนาง |
อรพิมยิ้มแย้มแล้วตอบว่า | พระเชษฐาเชิญเล่าอย่าหมองหมาง |
มิใช่เงื่องจะไปเคืองนิทานปาง | เป็นเยื่องอย่างเชิญพระเล่าให้เข้าใจ |
พระยิ้มพลางตอบนางสุนทรสนอง | นี่แน่ะน้องพี่จะแจ้งแสดงสาย |
ได้ยินอย่างท่านผู้เฒ่าเล่านิยาย | ว่าล่วงไปแต่ประถมนิยมมา |
ว่ายังมีราชามหากษัตริย์ | ชื่อพรหมทัตท้าวมีโอรสา |
ครั้นเธอเฒ่าแกหง่อมผอมชรา | พระลูกยานั้นจะปองให้ครองเมือง |
จึงตรัสว่าดูราพระลูกแก้ว | เป็นบุญแล้วสมควรพ่อเนื้อเหลือง |
พ่อจะมอบธานีบูรีเรือง | เป็นปิ่นเมืองปกป้องครองประชา |
พระกุมารฟังสารบิดาตรัส | ประนมหัตถ์แล้วบังคมก้มเกศา |
จึงกราบทูลทรงฤทธิ์พระบิดา | พระผ่านฟ้าตรัสควรประเพณี |
แต่หม่อมฉันนี้ยังไม่รู้ศิลปศาสตร์ | จะครองราชย์ยังไม่ควรโปรดเกศี |
ขอกราบลาพระบิดาชนนี | เข้าพงพีเสาะหาสิกขาจาร |
ไปเรียนศิลป์วิชาคาถาเวท | ให้เรืองเดชลูกจะกลับคืนสถาน |
มาครอบครองธานีบูรีคราญ | พระภูบาลทรงเดชได้เมตตา |
พระบิดรอวยพรประสาทให้ | เดโชชัยสมหวังนาพ่อหนา |
พระกุมารกราบกรานบังคมลา | จรคลาเข้าในไพรพนม |
เป็นบุญสบพบองค์พระฤๅษี | พระมุนีท่านให้อยู่ด้วยอาศรม |
แล้วปรนนิบัติพากเพียรเรียนอาคม | พระโคดมบอกบ่นพระมนตรา |
ก็จำได้ใจปราชญ์ฉลาดแท้ | ทั้งผูกแก้เรืองเดชเวทคาถา |
อยู่สำราญนานเนิ่นจำเริญมา | จึงกราบลาพระสิทธาจะมาเมือง |
พระฤๅษีมีใจการุณย์รัก | จูบพระพักตร์ด้วยเอ็นดูเจ้าเนื้อเหลือง |
เสียดายรูปราวกะคำทำประเทือง | จะไปเมืองครองศรีบูรีรมย์ |
พระอาจารย์เล็งญาณก็แจ้งรู้ | ว่าบุญคู่จะเป็นเอกภิเษกสม |
ย่านมนุษย์นั้นไม่เห็นเว้นแต่พรหม | พระโคดมตรองใจอยู่ไปมา |
จำจะชุบคู่ครองให้หลานแก้ว | พระทัยแผ้วชื่นชมเสน่หา |
เข้าสู่ไพรหาได้ขนโมรา | ก็กลับมาสู่อาศรมศาลาลัย |
พระนักสิทธิ์จึงนิมิตซึ่งผอบ | ครั้นได้ครบจึงเอาขนมาเสกใส่ |
อำนาจบุญพระอาจารย์ผู้ชาญชัย | ขนนกยูงนั้นก็กลายเป็นนงคราญ |
ฝาผอบพระอาจารย์จารึกชื่อ | ยื่นใส่มือมอบให้พระขวัญหลาน |
ทั้งพระขรรค์พร้อมกันให้ควรการ | สิทธาจารย์สอนสั่งไม่วางใจ |
พระหลานชายเจ้าจะไปตาจะสั่ง | ไปกลางทางเจ้าอย่าเปิดอย่าเผยไข |
ผอบทองนั้นอตส่าห์รักษาไป | เถิงเวียงชัยแล้วจึงเปิดเถิดหลานอา |
พระกุมารรับสารพระฤๅษี | อัญชุลีน้อมประนมก้มเกศา |
ด้วยเบญจางคประดิษฐ์พระสิทธา | กุมารามาจากสิทธาจารย์ |
ประมาณมาครึ่งทางกลางวิถี | เป็นเวรีผลกรรมมาตามผลาญ |
ให้ซุ่มซ่ามลืมคำพระอาจารย์ | พระกุมารเผยฝาผอบทอง |
เห็นอนงค์ทรงนั่งในผอบ | ดูงามลบนารีไม่มีสอง |
แล้วชวนชมสมสู่เป็นคู่ครอง | จึงพาน้องลินลาจะมาเมือง |
มาพบโจรคนป่าเข้าห้าร้อย | ไอ้โจรถ่อยช่วงชิงเอาเนื้อเหลือง |
ไอ้โจรหมู่สู้กับพระบุญเรือง | พระจอมเมืองฟันตายทำลายชนม์ |
ยังเหลือตายก็แต่นายไอ้โจรป่า | มันโกรธาไล่หลังมากลางหน |
แต่รบรับสู้กันประจัญประจญ | พระสุริยนเย็นยะย่ำจะสนธยา |
ไอ้โจรป่าคว้าจับเอาแขนซ้าย | พระโฉมฉายจับได้ซึ่งแขนขวา |
พระขรรค์ชัยพระให้ไว้กับกัลยา | พระราชาทรงธรรม์จะฟันโจร |
จึงตรัสบอกว่าเจ้าดอกมณฑาสวรรค์ | ยื่นพระขรรค์มาให้พี่แม่สวยสน |
ขวัญอนงค์หลงรักสมัครโจร | มาห้อยโหนทำสงครามความอารี |
จนเสียไพร่ตายมอดลงหมดม้วย | ถ้าไม่ช่วยก็เห็นชีพจะเป็นผี |
ผัวก็รักราวกะทรวงดวงชีวี | เป็นสองจิตใจอารีเป็นท่ามกลาง |
ยื่นพระขรรค์ผันด้ามไปให้โจร | พระจุมพลฉวยคมพระขรรค์ขวาง |
โจรกระชากจากพระหัตถ์บาดเป็นทาง | มันฟันผางล้มพับลงกับดิน |
พระภูวนัยครั้นเมื่อใจจะเด็ดขาด | ร้องประกาศอนุโลมกับโฉมฉิน |
ช่างเป็นได้โอ้ว่าใจดวงยุพิน | ล้างชีวินพี่เสียได้เอาใจชัง |
เมื่อยามยากความพี่รักแม่เนื้อนุ่ม | ใส่เอวอุ้มแล้วพยุงขึ้นกุง๑๐หลัง |
มาเห็นใจเจ้าเมื่อวายชีวาวัง | พระร้องดังร้องประกาศว่าชาติชาย |
อย่าเอาเยื่องเรื่องข้าคนประมาท | เกิดเสียชาติหลงเกินนอกกฎหมาย |
มาคบหญิงที่พาลามันฆ่าตาย | อันอย่างข้าถ้าเป็นชายใครอย่าเอา |
สิ้นประกาศขาดใจอยู่ในป่า | ไอ้โจรายินคำพระโฉมเฉลา |
พระก้อนทองร้องประกาศนางนงเยาว์ | ให้โศกเศร้าเสียใจแทบวายปราณ |
อีหญิงร้ายใจทมิฬทรลักษณ์ | แต่ผัวรักมันยังฆ่าให้สังขาร |
ถ้ากูคบมันคงฆ่าให้ถึงกาล | ผัวของมันรูปงามอร่ามตา |
กูเหมือนกาหน้าดำหินชาติ | ผัวของมันราวกะราชปักษา |
ถ้าเอาไปฉวยว่าใช่อัปรา | อีพาลามันจะล้างให้วางวาย |
กูเสียทีทิ้งพหลพลฤทธิ์ | จนม้วยมิดตายหมดทั้งเชื้อสาย |
ฆ่ามันซ้ำฤๅกระมังอีสุรกาย | ไอ้โจรร้ายกังขาให้รารอ |
คิดถอยหลังชั่งใจถ้าเข่นฆ่า | ถ้าฆ่าม้าก็จะดีกว่านี้หนอ |
ไอ้โจรไพรคิดได้เข้ากอดคอ | ไม่รารอหยุดก่อนให้นอนลง |
จะเปรียบเสพมาตุคามเป็นความหยาบ | คนสุภาพเชื้อชาติสกุลหงส์ |
จะนินทาน่าอายอัปมง | ไม่แต่งลงว่าไว้แต่ใจความ |
ไอ้โจรป่าครั้นว่ารู้ราครส | ก็งันงดรอจิตให้คิดขาม |
สละมิ่งทิ้งร่างไว้กลางทาม | ไปอยู่ตามหิมวาพนาคาร |
เห็นพวกไพร่ตายกลาดอยู่กลางป่า | หลั่งน้ำตาแสนเสียดายพลหาญ |
เดินคนเดียวเปลี่ยวจิตคิดรำคาญ | คืนสถานที่อยู่แต่ก่อนมา |
๏ อีหญิงร้ายฝ่ายโจรมันทิ้งขว้าง | เที่ยวครวญครางเศร้าสร้อยละห้อยหา |
ไม่รู้แห่งหนใดจะไปมา | ก็โศกามาที่ศพพระสามี |
เข้ากอดศพจบเท้าขึ้นเสยหัว | เมียทำชั่วนอกใจจนเป็นผี |
น้องจะกลั้นใจตายวายชีวี | เอากรตีทุบอกจนฟกพอง |
แล้วครวญคร่ำร่ำไรอาลัยหวัง | ถึงครั้งหลังเดินดงเป็นเพื่อนสอง |
น้องอยากน้ำความรักกระพักกระพอง | พระพ่นเลือดมาให้น้องนั้นดื่มกิน |
โอ้แต่นี้ก็เห็นทีจะลับแล้ว | พระก้อนแก้วกลับคืนมาถวิล |
มาตรว่าถ้าพระองค์คงชีวิน | พระเพื่อนกินน้องไม่กลอกไม่นอกใจ |
แต่ร่ำไรให้เวียนเจียนสลบ | ชีวิตศพก็หากลับมาคืนไม่ |
แต่ซากผีเกลื่อนกลาดอนาถใจ | นางแลไปเสียวสยองพองโลมา |
นางบ่ายบากจากศพพระสามิต | เที่ยวสถิตอยู่ตามพุ่มไพรพฤกษา |
น้ำตานางหลั่งหล่อคลอน้ำตา | ทั้งข้าวปลาอดซ้ำระกำใจ |
อำนาจบุญพระกุมารอันชาญเดช | ร้อนถึงเจ้าเทเวศร์ปิ่นมไห |
คือพระอินทร์เจ้าฟ้าสุราลัย | สหัสนัยเล็งทิพเนตรมา |
ก็รู้ว่าพระกุมารผู้ชาญชัย | มหาโจรฟันตายไว้กลางป่า |
เพราะคบหญิงที่พาโลอีโมรา | ไอ้โจรป่ามันจึงได้ทำลายชนม์ |
จะชุบช่วยอย่าให้ม้วยชีวาวาตม์ | เสียดายชาติด้วยเป็นชายเขลาฉงน |
อีหญิงร้ายราคแรงร้อนคำรน | จะสาบซ้ำให้มันซนเป็นชะนี |
ท้าวโกสิตคิดแล้วไม่นิ่งช้า | ก็ลงมาจากวิมานของโกสีย์ |
จำแลงกายกลายเป็นสกุณี | เป็นเหยี่ยวมีเนื้อปลาถลาบิน |
ฝ่ายว่านางแลหาพญาเหยี่ยว | ในตาเหลียวเห็นมังสังที่ปักษิณ |
กำเริบร้อนไวปากด้วยอยากกิน | ดวงยุพินร้องว่าพี่เหยี่ยวไพร |
เป็นโชคดีนี่กระไรเป็นล้นเหลือ | ไปได้เหยี่อเนื้อย่างมาแต่ไหน |
ขอทานน้องลองกินบ้างเป็นไร | ฉันอ่อนใจอดข้าวข้างเพลาแรง |
ท้าวโกสินทร์อินทราพญาเหยี่ยว | จึงแก้เกี้ยวแกมกลเข้าแอบแฝง |
จะให้เหยี่อเนื้อย่างประทังแรง | เป็นของแพงมีราคาแม่หน้านวล |
แต่เท่าว่าถ้าอนงค์ประสงค์อยาก | ได้ออกปากก็ไม่ขัดงามสงวน |
ถ้าต่างคนต่างให้เป็นไรควร | นิยมยวนตอบกันเถิดขวัญตา |
เหมือนนิยายไว้อย่างเป็นทางเยื่อง | เป็นราวเรื่องพระสรรเพชญ์เทศนา |
บูชะโกลาภเตถาบูชา | ให้ลาภาเข้ามากราบให้ลาภเรา |
ในฎีกาองค์สัมมาท่านเทศน์ไว้ | ว่าให้ให้ตอบคืนเหมือนของเขา |
ของเขาก็ให้ดูดูของเรา | จึงยืนยาวคบกันเกินไปเนิ่นครัน |
บูชังวันทนังท่านเทศน์ว่า | เขาวันทาก็วันทาตอบแทนผัน |
ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันแลกัน | จึงเป็นธรรม์คุ้มโทมโนใน |
ก็นี่น้องปองอยากออกปากขอ | ไม่ลวงล่อเนื้อฉันจะปันให้ |
ที่ของนางขอมั่งบ้างเป็นไร | ยังจะได้ฤๅไม่ได้แม่ดวงตา |
ปางยุพินยินเหยี่ยวจึงตอบสาร | ที่ของฉันนั้นฉันวานอย่าพักว่า |
ไม่เห็นมีอันสตรีภิรมยา | ไปเที่ยวหาเพื่อนผู้ชายมาไว้นอน |
เห็นฉันอยากออกปากขอเนื้อย่าง | พูดกระด้างว่าให้เหมือนไม้ขอน |
ถ้าไม่รักก็ให้นิ่งอย่าวิงวอน | ชาวนครจะเอาเยื่องรำเคืองใจ |
ท้าวโกสิตที่นิมิตมาเป็นเหยี่ยว | เห็นจริงเจียวมิได้แกล้งแถลงไข |
จึงตอบพลางว่าอีค่างสำหรับไพร | กูแจ้งใจจริงจังไม่คลังแคลง |
พระอินทราด่าทรามน่าบัดสี | ตัวกูนี้จะบอกมึงอย่ากินแหนง |
คือเป็นเจ้าดาวดึงส์มึงอย่าแคลง | อีราคแรงร้อนรุมเหมือนสุมไฟ |
มนุษย์สัตว์กบอึ่งมึงไม่เลือก | มึงคันเหงือกโลภเหลือน้ำลายไหล |
กูสาบมึงเป็นชะนีอีผีไพร | เที่ยวห้อยไม้สมจรนอนกับลิง |
นางบังอรต้องพรพระอินทร์สาป | ก็กลายกลับกายเป็นชะนีหญิง |
ด้วยเวราฆ่าผัวมัวประวิง | เข้าปนลิงฝูงค่างอยู่กลางไพร |
ครั้นยามเย็นยอแสงแดงอากาศ | รำลึกชาติคิดเถิงผัวที่ตักษัย |
หมายว่าเลือดผัวรักประจักษ์ใจ | จึงโหยไห้เรียกผัวอยู่มัวเมา |
นิทานปางนางชะนีอย่างนิมุต | ไม่สมมุติว่ามาแต่ปู่เฒ่า |
อันเยื่องอย่างนางชะนีเจ้าอย่าเอา | แม่นงเยาว์จำใส่ไว้ในทรวง |
แม่โฉมปรางค์พลางตอบสนองสาร | พระกุมารนอกครูอาจารย์หลวง |
พระปาจิตตอบว่าสุดาดวง | ละเมิดทรวงเหมือนท่านบอกว่านอกครู |
นางโฉมงามตอบคำพระร้อยชั่ง | มีอยู่บ้างฤๅนิทานฉันอยากรู้ |
ที่ข้อขำจะได้จำไว้เป็นครู | ได้ยินอยู่พี่จะเล่าให้เจ้าฟัง |
แต่ครั้งหลังว่ายังมีกระทาชาย | เป็นสหายสองเกลอน่าทุกขัง |
หัวล้านเกลี้ยงเพียงบ้าเป็นน่าชัง | เที่ยวเซซังมุ่งหมายอยากได้เมีย |
ไปวอนรักปากพูดหาผู้หญิง | เขาชังชิงหยาบช้าประดาเสีย |
ศีรษะล้านอย่ามาหาหมาไม่เลีย | น้ำตาเรี่ยสองสหายได้อายอึง |
คิดจะแทงตัวตายเสียดายชาติ | พยาบาทจะเป็นกรรมตามมาถึง |
สองสหายความอายเข้ารุมรึง | หาที่พึ่งนอนสบายก็ไม่มี |
ทั้งสองคนปรึกษาแล้วปราสัย | เราอย่าอยู่ไปให้ตายในไพรศรี |
ไม่เทียมคนไปให้พ้นชาวบูรี | ครั้นเห็นดีเข้าด้วยกันจึงครรไล |
เที่ยวซุกซนด้นป่าพนาเวศ | สองสหายน่าสมเพชระหินระหาย |
มิได้กลัวเสือช้างในกลางไพร | จะไปตายด้วยว่าอายชาวบูรี |
บุญยังมีไม่เถิงที่จะสังขาร์ | จึงชักพามาให้พบพระฤๅษี |
สองสหายเข้าไปไหว้พระมุนี | ท่านยินดีไถ่ถามเนื้อความไป |
ว่าดูราประสกทั้งสองหลาน | มากราบกรานพากันจะไปไหน |
ฤๅพรากเมืองเคืองเข็ญเป็นอย่างไร | จงเล่าไปหลานอาตาจะฟัง |
สองประสกยกกรบังคมกราบ | สารภาพอนุสนธิ์แต่หนหลัง |
ว่าข้าแต่พระอาจารย์เป็นสัจจัง | เหลือประทังที่จะทนจึงด้นมา |
ด้วยคับแค้นแน่นใจของหลานนัก | กำเริบรักร้อนราคนั้นนักหนา |
อยากได้คู่สู่สมภิรมยา | ไปพูดจากับผู้หญิงมันไยไพ |
มันว่าเทียบเปรียบเหมือนหัวนกตะกรุม | พากันรุมว่าฉันหัวล้านใส |
อยู่ในเมืองได้ความเคืองรำคาญใจ | จะมาตายเสียให้พ้นคนนินทา |
เวรใดทำไว้มาตามทับ | ให้อาภัพล้านเลี่ยนเศียรเกศา |
กุศลช่วยไม่ให้ม้วยซึ่งชีวา | จึงชักพามาให้พบพระอาจารย์ |
พระทรงญาณฟังสารยิ้มหัวร่อ | จึงว่าอ้ออนิจจาน่าสงสาร |
น่าสมเพชเวทนาทุราราน | อย่ารำคาญอยู่กับรูปอย่าปรารมภ์ |
ประสกหลานจงสำราญจงผาสุก | อย่าเป็นทุกข์คงให้มีเกศีผม |
กลับไปบ้านกลัวแต่หญิงประวิงชม | ยินนิยมชอบใจอาลัยปอง |
ฝ่ายบุรุษที่ไม่มีเกศีผม | น้อมประนมยินดีไม่มีสอง |
อารมณ์ชื่นเหมือนได้ขึ้นวิมานทอง | พยิ้มพย่องร้อนรนบ่นตะบอย |
เกลอข้างหนึ่งพึงใจปราสัยกล่าว | ถ้าผมยาวกูจะตัดเป็นผมสอย |
ถ้าสาวเห็นให้มันเต้นเที่ยวตามรอย | สะกิดแม่แลคอยไม่วางตา |
ฝ่ายเกลอสองร้องว่าให้ฟ้าผี่ | ถ้าผมมีเกลอรักอย่าพักว่า |
น้ำมันหมึกจันทน์ปรุงจะหุงทา | จะเที่ยวหาช่างผมให้สมใจ |
ที่มือจัดแต่งตัดสันทัดผม | ให้เรียบรอยสอยกลมเหมือนวงไข่ |
มีดตระไกรไล่เรียบเหมือนรอยไร | ถ้าสาวใหญ่เมินเกี้ยวไม่เหลียวมัน |
ทั้งสองเกลอพูดเผยอถ้าคืนบ้าน | อีเกินการสาวแก่ลูกตาขวัญ |
เถิงจะเกี้ยวเราอย่าเหลียวไปแลมัน | ได้เห็นกันอุตริมันติเรา |
สหายสองลองโอ่เหมือนตาเถน | ท่าโพนเพนนึกลมสำเร็จเปล่า |
ให้กริ่มอกยกตัวอยู่มัวเมา | เอามือแทนแป้นเป้าเหมือนพรานปืน |
อยู่สำราญนานเนิ่นจำเริญสุข | ที่ความทุกข์นั้นอย่าหาจะฝ่าฝืน |
เข้านวดบาทมิได้ขาดทุกวันคืน | สำราญรื่นชื่นจิตด้วยสิทธา |
เพลาบ่ายชายแสงตะวันคล้อย | เที่ยวเสาะสอยเก็บผลพฤกษา |
ปรนนิบัติมิได้ขาดสักทิวา | ครั้นอยู่มาหลายวันนิรันดร |
หวนรำลึกตรึกถึงคะนึงบ้าน | เข้ากราบกรานลาองค์พระทรงศร |
พระฤๅษีมีใจจำเริญพร | ว่าดูก่อนหลานแก้วเหมือนแววตา |
อันสระศรีมีอยู่ข้างทิศบูรพ์ | ได้อรุณแล้วไปมุดเสียหลานหนา |
แต่สามผุดอย่าได้มุดถึงสี่ครา | เส้นเกศาก็จะมากขึ้นมูนมี |
ศีรษะล้านฟังสารนักสิทธิ์สั่ง | วันทนังรับคำพระฤๅษี |
ได้โปรดเกล้าเจ้าประคุณพระมุนนี | ในราตรีสองสหายมิได้นอน |
พากันนั่งพลางระมัดอรุณรุ่ง | กลัวจะพุ่งเลยเหลี่ยมเขาสิงขร |
พอไก่แก้วขันแซ่วในราวคอน | อรุณรุ่งพุ่งจรขึ้นดิบดี |
สองหัวล้านพากันไปสู่สระ | ลงชำระตามคำพระฤๅษี |
พากันมุดผุดโผล่ขึ้นได้ที | เส้นเกศีเริ่มดำจึงคลำดู |
แล้วมุดน้ำดำได้ถึงทีสอง | เส้นเกศายาวว่องขึ้นเพียงหู |
จึงร้องอวดประกวดกันว่าเพื่อนกู | มึงแลดูผมของกูขึ้นยาวราย |
ไอ้เพื่อนกูว่ามึงดูของกูบ้าง | หัวล้านยังฤๅมันไปข้างไหนหาย |
ไอ้หัวล้านมันประจานให้เราอาย | มันหนีไปอยู่กับตัวแต่หัวดี |
สองสหายดีใจเหมือนได้เหาะ | ออกปากเจาะชมฌาณพระฤๅษี |
ใครจะเหมือนเจ้าพระคุณพระมุนนี | ท่านเหลือดีโปรดคนให้พ้นอาย |
แล้วดำมุดผุดขึ้นคำรบสาม | ดูงอกงามผมยาวยิ่งใจหาย |
ไม่สิ้นกรรมหัวจะล้านให้ลืมลาย | จึงเคลิ้มไปนอกจิตพระสิทธา |
จึงอวดกล่าวว่าผมเราดกฤๅไม่ | ที่โลภมากลาภจะหายไม่นึกหา |
พูดแต่อวดกวดกันอหังการ์ | ข้างหนึ่งว่าเกลอสหายอย่างไรดี |
ผมของเรายาวดกพอปกไหล่ | ไม่หนำใจอยากได้ยาวยิ่งกว่านี้ |
เราดำมุดผุดขึ้นอีกสักที | คำรบสี่เห็นจะยาวกว่าเก่าไป |
เกลอข้างหนึ่งจึงว่าเออมึงว่าชอบ | ให้รองนั่งต่างกระสอบกูอยากได้ |
ครั้นพร้อมกันด้นดำน้ำลงไป | โผล่ขึ้นได้ล้านลิ่วทั้งคิ้วคาง |
แล้วมุดซ้ำร่ำลงคำรบห้า | ผุดขึ้นมาขนเลี่ยนเตียนเหมือนถาง |
ร้องไห้หุยลุยน้ำขึ้นฝั่งพลาง | พิไรครางร้องร่ำว่ากรรมเรา |
สะอึกสะอื้นคืนมาหาพระฤๅษี | ขึ้นกุฎีซบเศียรลงโศกเศร้า |
พระสิทธาด่าซ้ำว่ากูสอนไม่เอา | ไอ้หัวล้านยิ่งกว่าเก่าไอ้นอกครู |
ท่านขับไล่ว่ามึงไปเสียจากนี่ | พ้นกุฎีกูไปไม่ให้อยู่ |
มึงเกินครูดูเมินมึงเกินกู | ไอ้หัวล้านนอกครูไปเสียไป |
สองสหายได้ความระกำอก | น้ำตาตกแทบจะด้นแผ่นดินหาย |
หัวยิ่งล้านลื่นล้นไม่พ้นอาย | เรื่องนิยายพี่จำได้ท่านเล่ามา |
นางอรพิมว่าพี่ปราชญ์ฉลาดเล่า | ช่างจำเอาเรื่องได้พิไรว่า |
เรื่องนิยายนี่น่าจำเป็นตำรา | ไปภายหน้าฉวยขย้อนได้สอนใจ |
นิยายพร้องสองเรื่องนี้ขบขัน | ช่างเหมือนกันนี่กระไรหนอไฉน |
ช่างนอกครูให้เขารู้เป็นเรื่องไป | ได้อับอายชายหมิ่นประมาทครู |
พระโฉมงามจำได้ไม่ประมาท | เรื่องนี้ราชรอบคอบช่างรอบรู้ |
หน่อกษัตริย์ตอบอรรถว่าโฉมตรู | พี่เรียนรู้ไว้มามากจึงหาเมีย |
ข้างอรพิมว่าพี่มหาพหูสูต | ฉลาดพูดประดิษฐ์ว่าประดาเสีย |
พหูเต่าให้เขาชิงเอามิ่งเมีย | แล้วเย้ยเยียเยาะกันสำราญรมย์ |
นางโฉมงามถามเดิมคนหัวล้าน | เป็นไรนั่นจึงไม่มีเกศีผม |
แต่ก่อนกรรมทำไฉนได้อบรม | พระทรามชมเชิญเล่าให้เข้าใจ |
พระโฉมปรางค์ตอบนางปราสัยสาร | เรื่องหัวล้านพี่จะแจ้งแสดงไข |
แต่ครั้งหลังเล่ามาแต่ย่ายาย | ว่ายังมีกระทาชายคนเฉโก |
ไม่ทำมาหากินไม่ถางไร่ | ชนแต่ไก่สร้างแต่กรรมคนโยโส |
ไม่นิจจังสังขาราว่าพุทโธ | ทำพาโลความชั่วใส่ตัวเอง |
ให้ไก่ชนจิกขนกันหลุดลุ่ย | ขาดกระจุยถอนขนทำข่มเหง |
พนันไก่ดีใจกันครื้นเครง | ไม่กลัวเกรงบาปกรรมทำพาโล |
ครั้นสิ้นชนม์ด้วยว่าตนทำลามก | ตกสังฆาตพนรกอยู่ผลุบโผล่ |
ได้พันปีในบาลีของพุทโธ | เพราะพาโลชนไก่ให้จิกกัน |
ครั้นสิ้นกรรมในนรกหกมาเกิด | เอากำเนิดเกิดเป็นเปรตโตมหันต์ |
ตัวเป็นคนหัวเป็นไก่ไล่ตีกัน | เป็นนิรันดร์อยู่ใต้รากเขาพระเมรุ |
สิ้นชาติเปรตเศษบาปยังรุกร้น | เกิดเป็นคนอัพลาทันตาเห็น |
รูปก็ชั่วหัวก็ล้านด้วยกรรมเวร | มันนอกเกณฑ์ทำเกินจึงเกิดกรรม |
แม่ดวงใจจำไว้ได้สอนตัว | สิ่งที่ชั่วอย่าได้ทำแม่งามขำ |
พระสรรเพชญเทศน์ห้ามแล้วควรจำ | แต่ข้อขำจำไว้อย่าคลายคืน |
แม่งามพริ้งนิ่งนั่งฟังนิยาย | ช่างเพราะเจาะนี่กระไรพระงามชื่น |
เพราะชนไก่ใจชายไม่ยั่งยืน | ให้หัวลื่นล้านโล้นคนนินทา |
ครั้นสุริยงลงลับเหลี่ยมสิงขร | พระพานุชหยุดนอนไทรพฤกษา |
แอร่มแจ้งแสงจันทร์บนเมฆา | พระพายพาหอมกลิ่นกระถินดง |
รวยรวยชวยกลิ่นบุปผาชาติ | ให้หวั่นหวาดวาบใจนางนวลระหง |
เสียงจักจั่นร้องแซ่วในแนวพง | นางเสียวองค์ให้สงสารเถิงมารดา |
นิจจาเอ๋ยเคยอยู่เมื่อยามยาก | ไม่พลัดพรากแม่ลูกเสน่หา |
ประสาจนสองคนกันสองรา | อยู่บ้านไร่ไพรป่าพนาดร |
ถึงแสนยากแม่มิให้ลูกได้ยาก | โอ้วิบากเวรหลังมาสังหรณ์ |
นางคิดถึงมารดาให้อาวรณ์ | สะท้อนถอนหฤๅทัยพิไรครวญ |
พระโฉมปรางค์ปลอบนางว่านิ่มนาฏ | อย่าหวั่นหวาดฟังพี่ห้ามงามสงวน |
เมื่อแรกมาพี่ก็ว่าแต่คำนวร | ได้ชักชวนพร้อมใจจึงพามา |
ฤๅเห็นพี่ชวนพาให้มายาก | เป็นวิบากแล้วแม่ยอดเสน่หา |
ไม่เต็มใจฤๅจะไปคืนพารา | พี่จะพานวลระหงไปส่งคืน |
๏ โอ้พระชื่นอย่ามาขืนวาสนา | ผู้ใดใครยายตาไม่ข่มขืน |
ว่าคู่สร้างกันแต่หลังมายืดยืน | อตส่าห์ขืนสืบสบมาพบกัน |
ไม่ถามไถ่นี่อย่างไรจะไปส่ง | พาโลหลงพร่ำว่าไม่น่าขัน |
ฉันร้องไห้ด้วยว่าใจนั้นผูกพัน | คิดสงสารเถิงมารดาดอกสามี |
ฤๅเยื่องอย่างวางบทกำหนดไว้ | ห้ามมิให้ร้องไห้พระโฉมศรี |
ทุกมนุษย์กุลบุตรกับชนนี | ต้องพิรี้คิดถึงคะนึงกัน |
๏ โอ้เจ้าดวงพวงมณฑาผกาเกศ | แม่เนื้อเทศแหลมลมดูคมสัน |
พี่แหนงว่าเจ้านึกคะนึงครัน | เคยสำราญคิดหลังที่ปรางค์เคย |
๏ โอ้พระพี่ช่างพิรี้พิไรเปรียบ | ดูราบเรียบนี่กะไรพี่ไพรเอ๋ย |
ช่างแหลมลมเข้ามาตำเหมือนหนามเตย | เห็นฉันยับแล้วก็เย้ยระยำเยิน |
ยังแหนงจิตว่าฉันคิดจะคืนหลัง | จะคืนปรางค์นั้นอย่าหมายน่าอายเขิน |
ไม่เต็มใจพระไม่ให้ไปตามเดิน | ตกสะเทินพระจะทิ้งก็ตามที |
เป็นชะตาวาสนาตัวน้อยนัก | มาหลงรักมาบำรุงท่านสูงศรี |
ไม่เจียมใจตัวเป็นไพร่กระฎุมพี | คบผู้ดีท่านก็หยามให้เจ็บอาย |
แต่แรกจรใครไปวอนให้คืนกลับ | กลับมารับกลับมาว่าให้หน้าขาย |
ก็ทดลองไม่มลทินสิ้นระคาย | พระเต็มใจจึงได้รับเอาน้องมา |
๏ นิจจาโอ้พุทโธ่อกพี่ตกเข็ญ | แต่หยอกเล่นก็มาเคืองเอานักหนา |
แม่รูปรวยจะทำกรวยขอษมา | ที่ว่าเจ้าพี่ถลำได้ก้ำเกิน |
๏ โอ้เสนาะคำพระเพราะวิเวกวัง | ตบหัวแล้วยังลูบหลังสรรเสริญ |
เห็นโง่เง่าถือว่าเต่าไม่ไวเดิน | สักร้อยเกินก็ทำเนาเป็นเจ้านาย |
ษมาโทษใครเล่าโกรธจะมาขอ | ช่างยกยอเยาะเย้าแย้มขยาย |
เห็นไรฟันอยู่เป็นทางพี่ช่างกราย | เป็นเจ้านายตามแต่ว่าเล่นท่าเดียว |
๏ โอ้เจ้าพักตร์ราวกะผัดกำดัดปลื้ม | ไม่หลงลืมพี่ขอโทษยิ่งโกรธเกรี้ยว |
จะลุกลามขึ้นเป็นไฟฤๅไรเจียว | ฤๅคิดอยู่อย่างข้าวเหนียวอยู่รุงรัง |
พี่รักดอกสัพยอกให้ปลื้มจิต | ทำความชอบกลับมาผิดน่าทุกขัง |
ว่าเป็นบุญกลับเป็นบาปหาบรุงรัง | แทบอกพังเจียวหนอเจ้าลำเพาพาน |
๏ ฟังเสนาะเพราะคำพระล้ำลึก | เหมือนรดน้ำอมฤตอันเย็นหวาน |
เทียบกระทบแทบสลบลงแดดาล | พระปรีชาญปัญญาปราชญ์ฉลาดลม |
เหมือนบูราณว่าเป็นอย่างถ้ารู้เท่า | ให้แบ่งเอาแต่เพียงครึ่งแต่ควรสม |
รู้ไม่ถึงเอาให้หมดกดให้จม | เห็นโง่งมว่าน้องรู้ไม่เท่าทัน |
ครั้นเถิงใจพระก็ไพล่ว่าหยอกเย้า | ไม่รู้เท่าพระก็ถีบหัวให้หัน |
เห็นมีแผลพระยิ่งแหย่ให้เจ็บคัน | เห็นไรฟันอยู่อย่างนี้พระพี่ชาย |
๏ โอ้เจ้าดอกมลุลีมณีโชติ | บอกว่าหยอกดอกก็โกรธไม่รู้หาย |
กระนั้นก็ฆ่าเสียเถิดนางให้วางวาย | จะสู้ตายด้วยว่าผิดมาติดตัว |
๏ โอ้พระพี่มาพิรี้ว่าตัวผิด | ใครนั้นคิดไปหาความว่าทำชั่ว |
ฉันรู้ดอกว่าละเมียดเกลียดว่ากลัว | ฉันเหมือนวัวสันหลังขาดต้องขลาดกา |
๏ นิจจาหนออรพิมนิ่มขนิษฐ์ | พี่ก็รับอยู่ว่าผิดขอโทษา |
เป็นเคราะห์ร้ายโหรเขาทายแต่แรกมา | ดวงชะตาตกลงต่ำเสียจริงจัง |
พูดดีดีก็อาภัพกลับเป็นชั่ว | เป็นวาสนาชะตาตัวแต่หนหลัง |
รักจึงหยอกบอกก็เหลือไม่เชื่อฟัง | อกใครบ้างยังจะมีเช่นนี้นา |
ปลาตกคลักจับใส่ครุไปปล่อยโปรด | กลับเป็นโทษบาปมาตามกรรมมาหา |
น่ากลั้นใจเสียให้วายชีวาลา | ให้ลือชาเห็นประจักษ์ว่ารักเมีย |
๏ โอ้ขวัญหายพระจะตายเสียจริงแท้ | สงสารแต่อรพิมจะเศร้าเสีย |
ผีมันหลอกขวัญจะหายใครจะเยีย | คราวนี้เมียจะเดินไพรไปคนเดียว |
ผีมันหลอกน้องจะบอกว่าผีเหย | อย่าหลอกเลยผีจะหัวไม่กลัวเสียว |
จะตายจริงฤๅจะทิ้งน้องเดินเดียว | ใครจะเยียวฉันไม่เห็นเว้นแต่คน |
๏ โอ้นิจจังช่างกระไรแม่ฉิมน้อย | พิไรเปรียบเทียบถ้อยพี่แทบฉงน |
ยิ่งตอบตามก็ยิ่งลามเหมือนไฟลน | ไม่เมื่อยปากอยากจะบ่นก็บ่นไป |
๏ ไยมิบ่นเถิงบทจนมาจวนตัว | เป็นน่าหัวยังมาซ้ำทำไถล |
ว่าใส่หูใครจะรู้เท่าพี่ไพร | มันเถิงใจเขาเหมือนกันเขาทันตัว |
๏ เอาเถิดสิพี่จะนอนไม่ย้อนตอบ | ฟังก็ชอบคิดขึ้นมาก็น่าหัว |
พี่จะนิ่งแล้วแม่หม่อมพี่ยอมกลัว | พระแกล้งยั่วสัพยอกให้ยวนใจ |
พูดกับนางก็จนย่างเข้ายามดึก | พระพายฉิวลิ่วระริกแทบขวัญหาย๑๑ |
พระกรกอดเข้าประทับไว้กับกาย | สายสุดใจแม่อย่าหมางระคางเคือง |
ประทมเถิดบุญเรือนแม่เพื่อนยาก | แสนลำบากนี่กระไรเจ้าเนื้อเหลือง |
กุศลพามาตรว่าไปเถิงเมือง | ไม่ขัดเคืองดอกฟูกหมอนที่นอนมี |
พระยี่ภู่ปูสำอางปรางค์ปราสาท | ยามไสยาสน์ก็จะสุขเกษมศรี |
สะพรั่งพร้อมด้วยกำนัลนางขันที | มาพัดวีให้แม่นอนสะออนใจ |
น้ำค้างปรายใบพฤกษ์ดึกสงัด | สองกษัตริย์ไสยาสน์ก็หลับไหล |
จนสว่างสางแสงอโณทัย | พระภูวนัยตื่นกายรู้สึกพลัน |
๏ จะกล่าวกลับจับนิทานเถิงพรานนกเอี้ยง | มีชื่อเสียงในบาลีใจมหันต์ |
อยู่ในเมืองพาราณสีมีสำคัญ | ไม่เว้นวันยิงเนื้อเที่ยวเบื่อปลา |
ครั้นสว่างสางเสิงเพลาเช้า | เพื่อนรบเร้าบอกเมียให้จัดหา |
ได้ข้าวผอกคอนกระบอกแล้วไคลคลา | ทั้งปืนยาลูกหน้าไม้ของนายพราน |
ออกจากบ้านพรานเดินด้วยใจด่วน | จิตรำจวนคิดพลางจะล้างผลาญ |
เที่ยวซอนซอกป่าพงดงกันดาร | จะพบพานกวางทรายก็ไม่มี |
ตะวันบ่ายใกล้ค่ำเพื่อนคืนกลับ | วันนี้ยับมันคงด่าจนบัดสี |
แม่ไอ้เปลาใจราวกะยักขินี | เพื่อนกลัวเมียร่ำพิรี้มาตามทาง |
พอมาพบสองกษัตริย์ใต้ต้นไทร | เพื่อนแลไปเห็นคิดนึกอางขนาง |
หญิงคนนี้รูปดีงามสำอาง | แล้วเดินพลางแลเล็งเพ่งลูกตา |
ครั้นเข้าใกล้แลไปก็รู้จัก | ว่านงลักษณ์หม่อมแม่แน่นักหนา |
นางอรพิมที่ภิเษกเอกพารา | ไฉนมาอยู่สองคนที่ต้นไทร |
ฤๅหนึ่งพฤกษ์เทวดามาอาเพท | สำแดงเดชมาให้เห็นเป็นไฉน |
พรานสนเท่ห์เดินเฉยแล้วเลยไป | สงสัยใจนึกแหนงแคลงวิญญาณ์ |
มาถึงบ้านนายพรานไม่เล่าใคร | ด้วยกลัวภัยความผิดติดโทษา |
นางเป็นหม่อมจอมชาวจ้าวประชา | ไม่พูดจากลัวภัยจะพัวพัน |
๏ จะคืนกลับจับเรื่องท้าวพรหมทัต | ที่พระปาจิตฆ่าพิฆาตให้อาสัญ |
ครั้นสว่างกระจ่างแจ้งแสงหิรัญ | ฝูงกำนัลเคยมาพยาบาล |
เห็นพรหมทัตหวาดจิตโลหิตราด | พระศอขาดสิ้นชีพปลงสังขาร |
ตกประหม่าพากันวิ่งอลหม่าน | ดูแซ่ซ่านเสียงแซ่วทั้งวังใน |
พระญาติวงศ์ตรงวิ่งเข้ากอดท้าว | พระปิ่นเกล้าควรแลฤๅมาตักษัย |
บ้างก็ว่าเร็วอย่าช้าให้วิ่งไป | บอกพระนายข้าเฝ้าให้เข้ามา |
ตำรวจซ้ายในนอกออกวิ่งวุ่น | ชุลมุนโลดแล่นล้มถลา |
มาถึงบ้านบอกอาการท้าวพระยา | ใครมาฆ่าให้พระเจ้าเราบรรลัย |
พระสงครามตอบถามว่านายท่าน | แน่อย่างนั้นฤๅอย่างไรฤๅไฉน |
ตำรวจนอกบอกว่าคุณอย่าเหลือใจ | แน่ไม่แน่ก็ท่านตายวายชีวา |
พระสงครามฟังความว่าแน่จริง | ก็ลุกวิ่งถกเขมรถึงต้นขา |
เรียกไพร่พร้อมจอมเจ้าเหล่าพระยา | จึงปรึกษาว่าจะคิดอย่างไรดี |
พระยาใหญ่ว่าให้รายคนสกัด | รอบจังหวัดอ้อมกำแพงอย่าให้หนี |
อ้อมทั้งปรางค์ให้ระวังให้ดิบดี | ถ้าแม้นหนีด้านใครจะวายปราณ |
พระยาใหญ่จึงเข้าไปข้างในวัง | ท่านจึงสั่งให้เข้าค้นในพระฐาน |
เที่ยวค้นคว้าหาจนจบไม่พบพาน | ออกแซ่ซ่านไซร้ซอกทั้งนอกใน |
แต่ชั้นรอยก็ไม่พบในบริเวณ | หาไม่เห็นสิ้นวิมุตที่สงสัย |
คุณพระยาจึงบัญชาในทันใด | ชาวกรุงไกรฤๅว่าใครจะพบพาน |
จงเอาฆ้องไปเที่ยวร้องแล้วตีป่าว | สบผู้ใดใครเล่าจะบอกขาน |
จะพบเห็นบ้างฤๅไม่ได้แจ้งการ | อย่านิ่งนานเร็วอย่าช้าอย่าทำคลาย |
จมื่นอินพระนรินทร์กรมตำรวจ | นายยิ่งยวดเดินเร็วเหมือนควายหาย |
เรียกพันตรีสูมานี่ทั้งสองนาย | ยื่นฆ้องให้จงไปป่าวชาวบูรี |
ขุนพันตรีพันหัตถีนายทั้งสอง | รับเอาฆ้องแล้วประนมก้มเกศี |
เที่ยวร้องป่าวทั่วพาราทั้งธานี | พันหัตถีตีฆ้องแล้วร้องไป |
หญิงผู้ใดชายก็ดียังมีบ้าง | ยังพบบ้างรู้เห็นเป็นไฉน |
แม่อรพิมมิ่งเมืองนั้นหายไป | ถ้าผู้ใดพบบ้างอย่าพรางคำ |
ถ้าพบพานจะประทานทั้งเสื้อผ้า | อีกเงินตราแหวนทองของสยำ |
ดีฆ้องป้องร้องไปใครอย่าอำ | เที่ยวยังค่ำพอได้กึ่งครึ่งพารา |
พอมาถึงซึ่งบ้านพรานนกเอี้ยง | ได้ยินเสียงลงเรือนออกมาหา |
จึงบอกท่านดิฉันพบแม่พิมพา | ที่กลางป่าแม่ประทมอยู่ร่มไทร |
เห็นทั้งนางทั้งผู้ชายก็นั่งอยู่ | จะเป็นพี่ฤๅเป็นชู้หารู้ไม่ |
ฉันเพ่งแลแน่นักประจักษ์ใจ | แน่แล้วนายจริงจังอย่าคลังแคลง |
ฝ่ายสองนายที่เอาฆ้องไปร้องป่าว | ได้ฟังพรานขานกล่าวเล่าแถลง |
เห็นสมควรจริงใจไม่ระแวง | นายพรานแจ้งข้อประเด็นเห็นสำคัญ |
จึงว่าท่านคงเป็นการพรานนกเอี้ยง | อย่าหลีกเลี่ยงพูดจาให้คมสัน |
จะพาไปให้ท่านได้ซึ่งรางวัล | ไปหาท่านคุณพระยาศาลาใน |
แล้วนำหน้าพาพรานครั้นมาถึง | ไม่อ้ำอึ้งกรประนมบังคมไข |
ขอเดชะฝ่าละอองเจ้าคุ้มภัย | นายพรานไพรคนนี้ว่าพบนาง |
ท่านพระยาถามว่าพรานไปปะ | ที่ไหนนะเล่าให้ใสสว่าง |
พรานนกเอี้ยงบอกความไม่อำพราง | ฉันเดินทางเดินคนเดียวไปเที่ยวไพร |
เที่ยวดำกวางยังค่ำไม่พบปะ | เหื่อไหลชะแดดร้อนตะวันบ่าย |
จะกลับบ้านด้อมย่องหมองระคาย | จึงแลไปเห็นต้นพระโครธา |
ทั้งโตใหญ่ใบคลุมซุ้มสะอื้น | ร่มระรื่นกิ่งก้านอันสาขา |
จะหยุดพักเดินโด่งตรงเข้ามา | เพ่งยนา๑๒ด้วยตากแดดลูกตาลาย |
แลเห็นคนปนกันชายกับหญิง | ให้นึกกริ่งใจสนเท่ห์คะเนหมาย |
แต่ก่อนเถินเคยเดินไปใกล้กราย | ไม่เห็นใครที่จะมีสักทีเดียว |
ฤๅหนึ่งพฤกษ์เทวาศักดาเดช | จำแลงเพศอยู่ที่ใต้พระไทรเขียว |
เข้าไปใกล้แลไปว่าแน่เจียว | แม่ทรามเปรียวอรพินปิ่นพารา |
ยืนพินิจพิศแลแน่ตระหนัก | ก็รู้จักจริงจังไม่กังขา |
ไม่ถามไถ่เลยไปแล้วเดินมา | เถิงเคหามิได้เล่าผู้ใดใคร |
คุณพระยาพวกเสนาสิ้นทั้งนั้น | ได้ฟังพรานเล่าแจ้งแสดงไข |
ว่าพบนางแน่นักประจักษ์ใจ | จึงปรึกษาปราสัยกันไปมา |
ลางพระยาปรึกษาให้ตามจับ | ทำให้ยับจับฆ่าให้สังขาร์ |
ลางคนว่าจ้าวก็ตายวายชีวา | ผิดตำราจะเอาตัวด้วยผัวตาย |
คนหนึ่งว่าในตำรากฎหมายบอก | ก็ย้อนยอกมีบทกำหนดหมาย |
เมียทำชู้ผัวอยู่ยังไม่ตาย | จับชู้ได้ปรับไหมตามศักดินา |
ถ้าเมียอยู่ชู้ยังถ้าผัวตาย | จับชู้ได้สืบสมว่าชู้ฆ่า |
ให้พี่น้องฟ้องเรียกโจทนา | ถ้าเป็นสัตย์ก็ให้ฆ่าไปตามกัน |
ถ้าผัวตายชายชู้จับไม่ได้ | หญิงก็ไปเสียกับชู้ผัวอาสัญ |
จะฟ้องใครโจทก์ใส่เป็นสำคัญ | ก็เหมือนกันหนึ่งกับจ้าวของเราตาย |
นางก็ไปจับไม่ได้ทั้งชายชู้ | ก็สุดรู้ที่จะคิดผิดกฎหมาย |
ถ้าตามจับเห็นจะกลับได้ความตาย | ท่านเป็นนายกลับเป็นจ้าวเราทุกคน |
เหมือนหนึ่งตำนานท่านเล่าแต่เก่าว่า | ซึ่งพารารบพุ่งกันสับสน |
ถ้าจับฆ่าจ้าวพาราได้บัดดล | สิ้นทุกคนก็เป็นสิทธิ์ทั้งบ้านเมือง |
ต้องไปขึ้นยื่นของบรรณาการ | ตามบูราณที่ทางเป็นอย่างเยื่อง |
นี่ท่านฆ่าจ้าวตายก็ได้เมือง | จะคายเคืองตามติดผิดตำรา |
อนึ่งเล่าท้าวก็มีศักดาเดช | เหมือนเทเวศร์เหาะได้ในเวหา |
แต่รอยตีนก็ไม่เห็นอย่าเจรจา | อันฤทธามีจริงอย่ากริ่งใจ |
ถึงตามไปก็ไม่ได้อย่าควรกล่าว | เช่นอย่างเรานี้จะสู้ได้ที่ไหน |
จะพาพวกพลขันธ์ไปบรรลัย | ท่านทั้งปวงเห็นอย่างไรก็ว่ามา |
คุณพระยาท่านจึงว่าข้าเห็นจริง | เถอะเถอะนิ่งอย่าได้พูดจะปรึกษา |
ทำโกศใส่ศพเจ้านายที่มรณา | จะดีกว่าป่วยการคิดไปติดตาม |
พวกเสนาข้าเฝ้าสิ้นทั้งนั้น | ได้ยินท่านคุณพระยาบัญชาห้าม |
เป็นจนใจด้วยเห็นจริงก็นิ่งความ | ท่านว่างามมิให้ยากลำบากใคร |
ท่านพระยาจึงให้หาพรานนกเอี้ยง | ทั้งชื่อเสียงตั้งให้ดังใจหมาย |
ชื่อหมื่นจบจักรวาลตระเวนไพร | เป็นนายใหญ่แห่งนายพรานนั้นทั้งปวง |
อีกเงินตราผ้าเสื้อเหลือขนาด | ด้วยแจ้งราชการใหญ่ที่ในหลวง |
มีสีสันพรานไพรเป็นใหญ่ยวง | คนทั้งปวงเกรงขามไม่หยามใจ |
๏ คุณพระยามีบัญชากระแสสั่ง | ขุนพระคลังหาตัวมาไม่ช้าได้ |
จึงสั่งบอกให้ไปเบิกทองอุไร | ท่าโกศใส่ศพจ้าวเถิงมรณัง |
จางวางคลังฟังสั่งไม่นิ่งช้า | มาเบิกทองตามบัญชาเอาครึ่งถัง |
ขุนพระคลังสั่งให้ช่างสุวรรณวะรัง | ตำรวจนั่งอยู่กำกับสำหรับดู |
พวกช่างทองหลอมทองแผ่เป็นแผ่น | แผ่แล้วจอดเป่าแล่นประสานถู |
ช่างประดิษฐ์ติดเป็นโกศทองคำพู | สลักแล้วพิศดูวิไลพราย |
ทำสำเร็จฝาเสร็จก็พร้อมครบ | ให้ยกโกศมาที่ศพพระโฉมฉาย |
ท้าวพระยาทุกระทรวงข้าหลวงนาย | ต่างเศร้าใจด้วยเอ็นดูพระภูธร |
ทุกตัวนายว่าเสียดายร่มโพธิ์แก้ว | จะลับแล้วทิ้งลูกไว้สลอน |
เราจะพึ่งบุญใครไพร่นิกร | จะรุมร้อนหมองหม่นทุกคนตัว |
ฝูงสนมว่าพระร่มมหาโพธิ | จะเข้าโกศลับไปแล้วพ่อทูนหัว |
พระแท่นนั่งปรางค์ทองจะหมองมัว | ฝูงดอกบัวนางสนมจะตรมกาย |
พระวงศาซ้ายขวาก็มาพร้อม | มานั่งอ้อมรอบศพพระฦๅสาย |
บ้างยกกรข้อนอุราว่าเสียดาย | จะร้องไห้แต่งว่าจะช้าทาง |
ด้วยเรื่องราวนั้นยังยาวจึงสมทบ | จะเผาศพนั้นจึงร้องต้องด้วยอย่าง |
จะแต่งร้องก็จะพ้องนิทานปาง | จึงหยุดยั้งยกนิยมพอสมควร |
ครั้นมาครบยกพระศพขึ้นใส่โกศ | ษมาโทษเทียนทองของสงวน |
ตามจารีตชื่นชมนิยมยวน | แล้วเชิญศพ๑๓เข้าไปไว้ในปรางค์วัง |
๏ ขอหยุดเรื่องพรหมทัตกษัตรา | มากลับว่าเรื่องต้นที่หนหลัง |
จะกล่าวเถิงพระปาจิตอิศรัง | เมื่ออินทราพาไปยั้งไว้ไทรพราย |
พระพานางค้างนอนอยู่คืนหนึ่ง | ครั้นรุ่งเช้าเดินตะบึงจนเที่ยงสาย |
สองกษัตริย์อดข้าวทั้งเพรางาย | ได้ลูกไม้กินต่างประทังแรง |
นางทรามเชยเจ้าไม่เคยได้ความยาก | มาลำบากเดินล้าให้ขาแข็ง |
บาทระบมกรมระกำเป็นเลือดแดง | พระศอแห้งแดดร้อนอ่อนระอา |
ไหนจะพรั่นเขามาทันจะจับมัด | ให้เคืองขัดขุกคิดคับนาสา |
พระเท้าน้องพองทั่วพระบาทา | นางฉีกผ้ามาพันพระเท้านาง |
เจ็บระบมกรมพองเป็นหนองเน่า | จะยกย่างเหยียบเท้าก็ขัดขวาง |
ด้วยพระนางเคยสะเอนเอี่ยมสำอาง | แทบจะวางวายชนม์ด้วยทนตรอม |
แดดก็ร้อนอ่อนใจระหายน้ำ | เดินยังค่ำโหยหิวจนผิวผอม |
ฝุ่นละอองต้องตัวให้มัวมอม | นางตรมตรอมกลั้นน้ำตาอตส่าห์เดิน |
แต่ก่อนนางเคยสำอางในปราสาท | ยามลินลาศหามแห่เหมือนเหาะเหิน |
พระท้าวนางมิได้ย่างลงดินเดิน | เคยจำเริญความสบายแต่ในวัง |
ยามบรรทมสาวสนมมาวีพัด | เป็นขนัดไหว้วันทาทั้งหน้าหลัง |
ยามเสด็จมาตำหนักพระฉากบัง | พระกลดกั้งมิให้หมองละอองนวล |
เมื่อยามสรงชลธีวารีทด | แล้วราดรดน้ำกุหลาบให้หอมหวน |
บ้างเป่าสังข์ส่งเสียงสำเนียงครวญ | ให้ยียวนสิ่งจะยากบ่ห่อนมี |
มาลำบากสู้ยากเพราะรักผัว | จนกายตัวเศร้าสรดสลดศรี |
พระบาทนางอ่อนบางเหมือนสำลี | มาคลุกคลีแดดลมระบมพอง |
แต่ฉีกผ้าพันตีนจนสิ้นผืน | นางกล้ำกลืนกลั้นโศกไม่เศร้าหมอง |
จะย่างเท้าเหยียบดินก็ตีนพอง | แม่ก้อนทองเหลือจะทนด้วยจนใจ |
จะจดจ้องย่องเหยียบขยาดเท้า | จนเล็บเน่าเลือดเรื้องน้ำเหลืองไหล |
เหลือกำลังนางก็นั่งลงคลานไป | ด้วยกลัวภัยเขาจะทันเข้ากลางทาง |
พระบังอรเห็นสมรลงนั่งคลาน | แสนสงสารนิ่มน้องให้หมองหมาง |
เข้าโอบอุ้มยกพยุงจะกุงนาง | แม่โฉมปรางค์ห้ามว่าอย่าพระสามี |
จะเป็นกรรมตามประกอบไปกับกาย | เมื่อน้องตายสิ้นชีพไปเมืองผี |
ด้วยลามกจะไปตกอเวจี | เพราะขึ้นขี่หลังผัวไม่กลัวกรรม |
อันหญิงชั่วผัวรักไม่รอบรู้ | ทำวามวู่วอกแวกไม่เกรงขาม |
โอหังการ์หน้าชื่นทะลื่นลาม | ทำข่มขี่ขาข้ามพระสามี |
อันหญิงบาปหยาบช้าไม่ดูเยื่อง | ใครค้าคบก็จะเคืองเสียราศี |
อันตัวฉันถึงจะตายวายชีวี | หลังสามีจะขึ้นนั่งไม่บังควร |
โอ้เจ้าดวงพวงมาลัยสายสวาท | เลิศฉลาดเลิศล้ำงามสงวน |
ช่างรอบคอบรู้ข้อห้ามไม่ลามลวน | แม่หน้านวลล้ำหญิงในโลกา |
ครั้นภายหลังทางถนนที่นางคลาน | คนตั้งบ้านมากมายใหญ่นักหนา |
ให้ชื่อบ้านว่าถนนนางคลานมา | ทุกคนว่าบ้านตั้งที่นางคลาน |
คนทุกวันเรียกบ้านหาถูกไม่ | เรียกผิดไปเปลี่ยนคำนามขนาน |
ถนนนางคลานก็มาพลั้งเป็นวังคลาน | ผิดบูราณผิดนามขนานมา |
พระปาจิตอิศโรปิโยรส | ทรงกำสรดด้วยสงสารขนิษฐา |
เข้าพยุงว่าจะกุงนางกัลยา | นางสุดามิให้กุงนางกลัวกรรม |
พระปาจิตสุดคิดน้ำตาไหล | ร่ำพิไรปลอบนางว่างามขำ |
อย่าท้อแท้อตส่าห์จรเถิดก่อนค่ำ | เถิงหนองน้ำพี่จะพาแม่พักแรง |
พระพานางย่างเดินมากลางแดด | กำลังแผดร้อนรุ่มพระสุริย์แสง |
พระบาทาเจ็บระกำเหมือนหนามแทง | นางสุดแรงที่จะทานก็คลานไป |
แสนสงสารอรพิมนิ่มขนิษฐ์ | แม่ดวงจิตเจ็บบาทาน้ำตาไหล |
นางหน้านวลครวญคร่ำร่ำพิไร | พี่สายใจโอ้พี่ไพรของน้องอา |
น้องสุดแรงที่จะแข็งอารมณ์ไว้ | ให้อ่อนใจสุดที่เหนื่อยทั้งเมื่อยขา |
จงพาน้องหยุดสำนักพระโครธา | พระสุริยาจวนจะย่ำลงค่ำเย็น |
พระโฉมปรางค์พานางเข้าอาศัย | ใต้ร่มไทรดอนพลับทับตาเถน |
ประจวบจวนสุริย์ลับเหลี่ยมพระเมรุ | จอมนเรนทร์หยุดบรรทมใต้ร่มไทร |
กระยาหารมิได้ผ่านพระชิวหา | เสวยแต่ผลผลาพันธุ์ลูกไม้ |
ลมพระพายชายพัดพฤกษาไกว | ด้วยอ่อนใจหลับไปทั้งสองรา |
๏ ในบาลีว่ายังมีนายพรานไพร | จิตทมิฬใจใหญ่เหมือนยักษา |
เป็นพ่อหม้ายเมียตายมรณา | ออกอยู่ป่าดอนดงเป็นโรงเรือน |
เที่ยวยิงเนื้อกินกวางต่างอาหาร | เป็นเปรตพรานเอกีไม่มีเพื่อน |
แปดค่ำสิบห้าค่ำไม่ย้ำเยือน | ในใจเตือนคิดแต่ตั้งจะสร้างกรรม |
เที่ยวขัดห้างยิงกวางกินลูกไม้ | วันนั้นไปก็พอสบจะพลบค่ำ |
เพื่อนแลไปเห็นต้นไทรใหญ่กำยำ | ลูกดกแดงนกคล่ำมากินเกรียว |
พรานดีใจตัดไม้จะขัดห้าง | ฝูงหมู่กวางคงมากินลูกไทรเขียว |
สะกดรอยเที่ยวจนทั่วเห็นตัวเดียว | เพื่อนจึงเหลียวขึ้นไปบนต้นพระไทร |
แล้วแลเล็งเพ่งมาดูที่ใต้ต้น | แลเห็นคนนอนเคียงกันหลับไหล |
เพื่อนนั่งลงคลานด้อมมองย่องเข้าไป | เห็นสองไท้รูปงามอร่ามตา |
ผู้ชายนี้จะเป็นพี่ฤๅเป็นผัว | ช่างสมตัวดูเหมือนกันนั้นนักหนา |
สะอาดเอี่ยมเทียบเทียมเหมือนเทวดา | ดูวงหน้าราวกะจันทร์เมื่อวันเพ็ง |
กูไร้คู่อยู่เดียวเป็นพ่อหม้าย | ช่างสมใจเป็นจำเพาะให้เหมาะเหม็ง |
เป็นบุญพาชักมาหาให้กูเอง | ไอ้พรานเพ็งชอบชื่นระรื่นใจ |
ยิงพี่ชายมันให้วายชีวิตเสีย | จึงเอาน้องมันเป็นเมียพิสมัย |
เพื่อนคิดพลางโก่งง้างหน้าไม้ไกล | แล้วยิงไปลูกลำเลียบไปต้ององค์ |
พระปาจิตหวีดร้องให้น้องช่วย | ชีวิตพี่นี้จะม้วยลงผุยผง |
พี่ร้อนรุ่มกลุ้มเศียรให้เวียนวง | พระโฉมยงมิได้รู้ว่าพรานยิง |
ด้วยพิษยาแล่นกลุ้มเข้าสุมใจ | คองุ้มในคลุกคลีเหมือนผีสิง |
นางโฉมยงตกใจพระกายติง | ผวาจิตลุกวิ่งเข้าหิมวา |
แม่ร้อยชั่งคลั่งเดินพระกายสั่น | กำลังฝันไปว่าไฟไหม้เคหา |
นางกลัวไฟกลัวจะไหม้วายชีวา | ในฝันว่านั้นว่าไฟจะไหม้นาง |
จึงลุกวิ่งคิดว่าจริงไม่ว่าฝัน | อัศจรรย์เทพเจ้าแจ้งกระจ่าง |
เป็นเวรันทันดอกจึงบอกลาง | ท่านผู้ฟังจงกระจ่างประจักษ์ใจ |
ครั้นงามชื่นฟื้นสติขนิษฐา | จะเข้ามาที่ประทมแม่พักไข้ |
ก็พลบเย็นแลไม่เห็นต้นพระไทร | แต่ป่าไม้มืดเลือนไม่เหมือนกัน |
ด้วยเทียนไต้ไฟกองก็ไม่มี | ครั้นจนใจไม่รู้ที่จะผ่อนผัน |
ด้วยพรานยิงมิใช่ยังเป็นกลางวัน | แม่แจ่มจันทร์จนใจแทบวายชนม์ |
จึงนั่งมองตรองปัญญาว่าจะเรียก | แล้วสำเหนียกในสังเกตจะเหตุผล |
ชะรอยเหตุจะอาเพทเกิดพิกล | เดิมก็นอนอยู่ใต้ต้นร่มพระไทร |
เป็นสองคนเพื่อนร้อนนอนกับผัว | ไม่รู้ตัวเลยสักนิดเออไฉน |
กลับมาอยู่แต่คนเดียวประหลาดใจ | นางนึกในกินแหนงแคลงวิญญาณ์ |
ชะรอยกรรมจะมาทำมีสักอย่าง | จึงเหห่างมาแต่ร่มพระสาขา |
นางตรึกมองตรองใจอยู่ไปมา | แล้วนางว่าอย่ากระนั้นเลยอกกู |
จึงนิ่งนั่งฟังเหตุสังเกตใจ | จะเกิดภัยน้อยใหญ่จะได้รู้ |
ครั้นจะอึงภัยจะถึงเอาตัวกู | นางเงี่ยหูคอยฟังยั้งวิญญาณ์ |
๏ จะกลับหลังตั้งกลอนย้อนขึ้นกล่าว | เถิงท่านท้าวปาจิตผู้นาถา |
ตั้งแต่คลุ้มรุมร้อนทรวงอุรา | ด้วยพิษยาสุมใจแทบวายชนม์ |
ยามันชักหักหลังล้มผวา | มันชักขาตัวกลับอยู่สับสน |
พระเสโทไหลชะโลมออกโทรมตน | ภูวดลดิ้นตะเกียกตะเกือกตะกาย |
เจ็บสลักปักสันหลังลูกลำเลียบ | มันชักเงียบแหงนเงยจนเหงือกหงาย |
ให้จุกคอร้องออเหมือนเสียงควาย | นางได้ยินร้องว้ายก็วิ่งมา |
สติดิ้นขวัญหายพระกายสั่น | ปานเขาฟันเอาชีวิตให้สังขาร์ |
มาถึงองค์ตรงกอดเอาบาทา | พระผ่านฟ้าทูนเกล้าจงเล่าเมีย |
พระเนื้อเกลี้ยงยินเสียงพระน้องนาง | จะขานคำด้วยว่าคางนั้นแข็งเสีย |
กระวนกระวายตะเกียกตะกายอยู่งัวเงีย | จะสั่งเมียก็ไม่ได้แทบวายชนม์ |
ดิ้นกระเดือกเสือกกระเด็นเส้นมักชัก | เอนกระทกอกแทบหักระเหระหน |
เลือดกระทอกออกเป็นแท่งเหลือจะทน | ดวงอุบลน้องเข้ากอดเอาบาทา |
ว่าเจ้าประคุณทูนกระหม่อมของเมียเอ๋ย | ไม่รู้เลยสักเท่ากึ่งพระเกศา |
ว่าไอ้พรานมันมาผลาญด้วยปืนยา | ไอ้พรานป่าเสือกินทมิฬใจ |
มึงยิงผัวตัวกูมึงเข่นฆ่า | เอาปืนยายิงกูเสียให้ตักษัย |
มึงฆ่าผัวตัวกูเอาไว้ไย | ด่วนทำได้ชั่งไม่คิดอนิจจัง |
ฝ่ายพระปาสุริยวงศ์ผู้ทรงเดช | หลับพระเนตรมิได้ฟื้นคืนมาหลัง |
ด้วยพิษยาเผาสุมรุมอุรัง | สลบหลับแข็งกระด้างเหมือนวายปราณ |
๏ โอ้สงสารเยาวมาลย์นางโฉมศรี | เห็นสามีสิ้นชีพสังขาร |
สองพระกรข้อนพระกายของนงคราญ | ให้แดดาลงงงวยระทวยองค์ |
เข้ากอดศพโศกอาดูรพูนเทวษ | สุชลเนตรอาบพักตร์นางนวลระหง |
แม่ยอดมิ่งทิ้งทุ่มพระองค์ลง | แทบจะปลงชีพล่วงชีวาลัย |
พ่อปาจิตคู่ชีวิตของเมียแก้ว | บรรลัยแล้วไว้แต่ชื่อฤๅไฉน |
ได้สั่งเสียเมียสักหน่อยไม่น้อยใจ | ตัดอาลัยเจาะช่องน้อยไปผู้เดียว |
ไอ้พรานไพรใจร้ายนิยมหยาบ | ไม่อายบาปตามตัวไม่กลัวเสียว |
มึงฆ่าผัวตัวกูอยู่ผู้เดียว | มึงทำกูกรรมคงเลี้ยวไปตามมึง |
นางร้องร่ำคร่ำครวญจวนสว่าง | ไม่เสื่อมสร่างโศกเศร้าคะนึงถึง |
เสียงสะอื้นครื้นเครงบรรเลงอึง | นางรุมรึงร่ำรักจักรพงศ์ |
รุกขมูลเทพเจ้าในเขาโคก | คิดสังโวกให้สังเวชนางนวลระหง |
เย็นยะเยียบเงียบสงัดพนัสดง | ก็งวยงงทุกวิมานสงสารนาง |
ลมพระพายชายพัดมาฉิวช้า | หมู่ปักษาส่งเสียงจะเสิงสาง |
เสียงผีผิวพำพึมกระหึ่มคราง | พระน้องนางเสียวเกศาโลมาพอง |
จนตราบเท่าสุริย์แสงแจ้งสว่าง | ไม่เสื่อมสร่างโศกศัลย์ยิ่งเศร้าหมอง |
เห็นโลหิตติดกายเป็นก้อนกอง | ดูเรืองรองลูกลำเลียบเสียบพระองค์ |
สงสารเจ้าเยาวลักษณ์วิไลโลก | ยิ่งแสนโศกแทบชีวิตจะผุยผง |
พระโลหิตติดกายที่ไหลลง | นางโฉมยงเช็ดพลางทางรำพัน |
พระบุญเรือนเพื่อนยากของน้องเอ๋ย | มาทิ้งน้องกลางเตยให้โศกศัลย์ |
น่าเจ็บใจด้วยไอ้พรานใจฉกรรจ์ | พรานเอ๋ยพรานแกล้งกลัดมึงตัดใจ |
๏ ดับนั้นพรานไพรใจกระด้าง | ครั้นเสิงสางส่องแสงพระสุริย์ใส |
เพื่อนฟังนางครวญคร่ำร่ำพิไร | แล้วคลาไคลออกจากพุ่มที่ซุ่มตน |
จึงเดินกรายชายชาญเป็นเชิงเลียบ | ทำทีเทียบมิให้รู้ซึ่งเหตุผล |
จึงไถ่ถามว่าแม่งามนิรมล | เจ้าสองคนกับผู้ชายที่วายปราณ |
เหตุไฉนเป็นอย่างไรจึงตายม้วย | แม่รูปรวยอนิจจาน่าสงสาร |
ธุระร้อนฤๅแกล้งจรมาสำราญ | มาแดดาลน่าเอ็นดูอยู่ผู้เดียว |
อย่าร้องไห้ไปเลยสายสวาทพี่ | ตายเป็นผีเถิงว่าผัวก็กลัวเสียว |
เถิงผัวตายไม่เป็นไรดอกทรามเปรียว | เป็นบุญเจียวชักมาพบประสบกัน |
อันตัวพี่นี่นะน้องแม่โฉมฉาย | เมียก็ตายสิ้นชีพชีวาสัญ |
พี่ไร้คู่อยู่เพื่อนก็เหมือนกัน | เป็นบุญครันติดตามมาค้ำชู |
จะร่ำรักซากผีไม่มีอย่าง | นิ่งเถิดนางร้องนักน่าหนวกหู |
เป็นธรรมดาเกิดมาในชมพู | เถิงกองกรรมก็สุดรู้ทุกตัวคน |
ยังติดห่วงบ่วงกิเลสไม่เด็ดได้ | ย่อมเกิดตายตายเกิดทุกแห่งหน |
ถึงนิพพานนั้นแลมารไม่ประจญ | จึงจะพ้นความตายทุกกายตัว |
เป็นวาสนาพาพี่มาพานพบ | แม่งามลบเลิศวิไลก็หม้ายผัว |
พี่พ่อหม้ายไร้เมียอยู่แต่ตัว | อย่ากลาดกลัวสมควรแล้วนวลนาง |
๏ แสนสังเวชยุพเรศยอดสงสาร | แลเห็นพรานแทบหัวอกจะแตกผาง |
นางร่ำร้องตรองตรึกแล้วนึกพลาง | เคืองระคางคิดแค้นแน่นในใจ |
ไอ้พรานผีคนนี้แน่แล้วมั่นคง | ที่มันยิงเอาพระองค์ให้ตักษัย |
นางคิดพลางทางว่ากับพรานไพร | การอะไรจึงมาห่ามพูดลามลวน |
มายิงผัวกูจนตายวายชีวิต | กลับมาคิดจะเอาเมียไปสงวน |
ไม่ขวยจิตคิดแต่คดทำไม่ควร | อย่ามาชวนเป็นน่าเฉดไอ้เปรตพราน |
๏ พรานสดับงามประกอบจึงตอบว่า | อนิจจาใครเล่าบอกมิ่งสมาน |
ว่าพิฆาตภัสดาเจ้าถึงการ | มีพยานข้อประเด็นฤๅเห็นเอง |
พี่คนเปลี่ยวเคยเที่ยวมาเล่นป่า | เห็นโศกาคิดสงสารใจโหรงเหรง |
ผัวน้องตายหม้ายผัวเหมือนตัวเอง | ให้วังเวงคิดสังเวชเถิงเมียตาย |
อกของน้องก็มาพ้องกับอกพี่ | จริงอย่างนี้ดอกจึงชวนนางโฉมฉาย |
เห็นเอกีอยู่แต่เปลี่ยวอยู่เดียวดาย | ผัวน้องตายเหมือนอย่างพี่ไม่มีเมีย |
เมียพี่ตายพี่เสียดายแทบจิตขาด | น้ำตาราดร่ำพิไรแทบตายเสีย |
แต่ร้องร้องก็ไม่ฟื้นคืนเป็นเมีย | จนเน่าเสียร้องเปล่าไม่เข้ายา |
เห็นแก่ตัวพี่อย่างนี้ไม่ดีดอก | จึงเล่าบอกห้ามปรามแม่งามข้า |
บอกเอาบุญกลับมาผิดอนิจจา | ว่าบุญพาไยจึงกรรมมาตามพราน |
กลับหาความหยาบหยามประดาเสีย | ว่าฆ่าผัวจะเอาเมียร่วมสงสาร |
ยังด่าซ้ำร้องว่าเฉดไอ้เปรตพราน | เยาวมาลย์แม่ก็ด่าเล่นท่าเดียว |
ก็ตามทีเถิดตัวพี่ไม่ถือโกรธ | ต้องกลั้นอดด้วยว่ารักแม่ฟักเขียว |
อย่าหน่วงหนักให้พี่รักเจ้าฝ่ายเดียว | จงกลมเกลียวพี่สักคำพอกล้ำกลืน |
๏ เยาวมาลย์ตอบพรานแล้วซ้ำด่า | ไอ้พรานป่าหน้าเป็นเช่นทะลื่น |
มุทะลุไอ้อายุไม่ยาวยืน | จะข่มขืนเคียงข้างอหังการ์ |
มึงยิงผัวกูจนตายวายชีวิต | ยังกลับคิดจะมาขึ้นขืนข่มข้า |
บาปฆ่าเนื้อนั้นก็เหลือทั้งเบื่อปลา | กลับมาฆ่าผัวเขาจะเอาเมีย |
แต่บาปกรรมทำไว้มิใช่น้อย | จงคิดถอยใจกลับเอาคืนเสีย |
เป็นชาติชายใช่จะไร้ซึ่งมิ่งเมีย | มากลั้วเกลี้ยกล้ำกลืนขึ้นกาเม |
จงรั้งจิตคิดยั้งพี่พรานเฒ่า | หญิงเป็นสาวกำลังชมก็ถมเถ |
งามอย่างพรานมิใช่พาลคนโลเล | หญิงขี้เหร่เหมือนอย่างเราเอาทำไม |
อนึ่งเล่าผัวของเราได้ถูกต้อง | ไม่แผ้วผ่องพรานจงคิดผิดวิสัย |
เหมือนดอกไม้เด็ดได้ดมแล้วทิ้งไป | ก็เหือดหายระเหยหอมย้อมมลทิน |
พี่พรานไพรก็เป็นชายย่อมเชื้อชาติ | เลิศฉลาดรู้อย่างทางถวิล |
ได้บวชเรียนเขียนจารอ่านกระบิล | ได้ทรงศีลครองสิกขัยพี่ใจงาม |
มาลามลวนกวนกรรมมาหามหาบ | มาแบกบาปหาบนรกไปเต็มหาม |
สิ้นชีวิตก็จะติดตัวไปตาม | ไฟจะลามลุกไหม้ในโลกันต์ |
ยมบาลจะประหารด้วยหอกใหญ่ | เท่าใบพายแทงกระทอกจนหอกหัน |
ให้ขึ้นงิ้วสูงละลิ่วเป็นหมอกควัน | หนามจะแทงแร้งนั้นจะจิกโครง |
สุนัขใหญ่กายโตเท่าช้างโคตร | จะแล่นโลดกัดกายจนตายโหง |
สุนัขกัดแล้วจะมัดเอาตีนโยง | ให้หัวลงเพราะว่าเอ็งไม่เกรงกรรม |
๏ ไอ้พรานป่าร้องว่าชะนางนักปราชญ์ | แสนฉลาดรู้หลักขับสยำ |
ที่ข้อห้ามท่านกำราบว่าบาปกรรม | เราเรียนร่ำมาก็ได้หลายคัมภีร์ |
ในวิมานลักเปรตท่านเทศน์ว่า | ถ้าลักม้าลักช้างลักทาสี |
เจ้าของหวงลักล่วงประเวณี | ว่ากรรมมีมากมายต้องใช้กรรม |
แม่พวงพักตร์พี่ไปลักของใครเล่า | ตัวของเจ้าก็ผัวตายดอกงามขำ |
เหมือนอย่างน้องประเดี๋ยวนี้ไม่มีกรรม | ยังกลับซ้ำจะได้บุญพูนสมภาร |
ท่านกล่าวไว้ถ้าผู้ใดเมตตาจิต | เป็นเนืองนิตย์จิตบรรจงปลงสังขาร |
เห็นคนจนทนทุกข์อยู่แดดาล | เคืองรำคาญทรกรรมไปค้ำชู |
ผลบุญนั้นจะได้มิใช่น้อย | จะเลิศลอยทานสิ่งอื่นไม่รื่นสู้ |
ท่านว่าตรงบอกนิสงส์ไว้เป็นครู | พี่ฟังรู้มาอย่างนี้ไม่มีกรรม |
เหมือนอย่างนางก็ต้องอย่างในตกยาก | ผัวตายจากพี่จะช่วยอุปถัมภ์ |
เป็นแต่บุญคุณก็ได้แม่ทองคำ | อย่าเรื่องร่ำไปเลยน้องให้หมองนวล |
พี่มิใช่ชายชาญพาลพาละ | ถือทางพระดอกแม่งามทรามสงวน |
ไม่ล่อลมให้น้องเหลิงในเชิงลวน | ขอเชิญชวนนุชน้องไปครองเรือน |
จะเชิดชูเอาไว้ชมพอใจชื้น | ถึงหาอื่นก็ที่ไหนจะได้เหมือน |
แม่หน้านวลจะสงวนไว้ในเรือน | พอเป็นเพื่อนสนทนาเถิดตาดำ |
๏ นางเนื้อเกลี้ยงฟังเสียงไอ้พรานป่า | มันพูดจากล่าวมากถลากถลำ |
ชาติไอ้พรานไหนจะกลัวซึ่งตัวกรรม | ต้องกล่าวคำอ่อนหวานด้านพาที |
แน่ะตาพรานหลานจะว่าษมาโทษ | ที่หนักเบาท่านจงอดโปรดเกศี |
ท่านรอบรู้เรียนร่ำพระคัมภีร์ | รู้บาลีล้ำเลิศประเสริฐพราย |
ที่บุญบาปท่านก็รู้ได้เรียนมาก | ที่เบาหนักเย็นร้อนผ่อนขยาย |
เคยเที่ยวป่าเห็นปลาเถิงที่ตาย | ก็กอบกายเอาไปปล่อยลงคงคา |
ท่านใจบุญไม่ทารุณเมตตาสัตว์ | จะหลีกลัดข้ามห้วงบ่วงตัณหา |
เที่ยวสันโดษโปรดสัตว์ในหิมวา | ที่พึ่งพาเป็นร่มโพธิ์ภิญโญเย็น |
เห็นสัตว์จนก็ไปขนให้ถึงเขต | หลีกกิเลสตัดตัณหาไม่ขอเห็น |
โปรดคนยากไม่มักมากกลัวกรรมเวร | ท่านเถิงเกณฑ์แจ้งสว่างทางนิพพาน |
ฉันเถิงจนคนยากประดักประเดิด | จงโปรดเถิดเหมือนเมตตาว่าลูกหลาน |
เอ็นดูฉันเถิดพี่พรานจงหย่อนยาน | บุญสมภารก็จะมากหนักขึ้นไป |
ถ้าพี่พรานโปรดฉันในครั้งนี้ | กุศลพี่ก็จะได้เท่าไหนไหน |
ด้วยฉุกละทุกทุกข์เถิงตัวผัวบรรลัย | บุญจะได้นับด้วยโกฏิกว่าโปรดปลา |
๏ พรานทมิฬยินนางสนองสาร | ช่างอ่อนหวานคำวิเวกสรรเลกขา |
ฟังก็เพลินสรรเสริญแกมนินทา | แต่พื้นว่าพูดสำหาบจะบาปตาม |
ตบปะเตะก้นจนยับกลับจะแบก | แล้วย้ายแยกยกขึ้นวางกลางคานหาม |
รู้หลักเหลือเลิศฉลาดปราชญ์อุทาม | ที่บ่วงกามพี่ยังข้องดอกน้องนาง |
จิตเมตตานกปลาพี่ก็โปรด | คนต้องโทษก็ให้ทานไม่ถากถาง |
ที่บาปมากพี่ก็ชักให้บาปบาง | ที่ร้อนเย็นเจนกระจ่างแจ้งในใจ |
ถ้าเป็นบาปพี่ก็แบกไปทิ้งสูญ | ที่เป็นบุญพี่ก็หอบไม่ให้หาย |
อธิษฐานพระนิพพานก็ฟูมฟาย | ทั้งน้ำใจก็กำหนดจะโปรดคน |
พี่ได้ยินในคัมภีร์บาลีโลก | มีประโยคสรรพทานที่ให้ผล |
ยังปัญญาลงบำเพ็งแล้วเล็งยล | พี่ไปค้นเสียทุกตู้ดูคัมภีร์ |
ก็รู้แจ้งแจ่มกระจ่างทางกุศล | ว่าคนจนตกยากข้างซากผี |
ช่วยค้ำชูเลี้ยงดูให้เป็นดี | นิสงส์มีนับกัปโกฏิด้วยโปรดคน |
ธรรมดาปรารถนาจะเป็นพระ | ต้องมรณะทำทานหว่านกุศล |
เห็นคนยับตกยากลำบากตน | โปรดให้พ้นเลี้ยงดูให้อยู่เย็น |
นี่ยอดสร้อยเจ้ามาลอยอยู่กลางป่า | แต่เอกาก็ได้ชื่อว่าตกเข็ญ |
เดิมสองคนคนหนึ่งตายอย่าหมายเป็น | พี่มาเห็นก็สมเพชเวทนา |
จะเอาบุญดอกแม่คุณอย่าขึ้งเคียด | พูดสอดเสียดว่าใส่ให้นักหนา |
ต้องในเยื่องเบื้องกระบวนจึงชวนพา | อย่าหน่วงช้าไปเถิดเจ้าลำเพาพาน |
๏ เยาวมาลย์ฟังพรานทอดใจฮื่อ | พูดด้านดื้อมันไม่ฟังคำอ่อนหวาน |
จึงวอนว่าจงเมตตาเถิดพี่พราน | อันแหวนฉันนี้จะให้ขอไถ่ตัว |
เอาเถิดพี่ดีกว่าจะพาฉัน | ไปขบขันไม่เป็นผลคนจะหัว |
ถ้าไปดีก็จะได้แต่กายตัว | ฉวยว่าชั่วก็จะตายเสียกลางทาง |
ด้วยตัวฉันก็สำคัญระออบระแอบ | ให้เจ็บแสบที่ฝ่าเท้าจะก้าวย่าง |
จะขืนพาก็จะล้าที่กลางทาง | บังเกิดลางลาภจะหายพี่ใจธรรม์ |
จงยับยั้งชั่งใจเป็นไรพี่ | แหวนก็ได้ขายเอาปี้ให้เต็มขัน |
เหมือนทำบุญคุณก็ได้หลายอนันต์ | เอ็นดูฉันคนเปลี้ยง่อยจงปล่อยวาง |
คำบูราณท่านแต่ก่อนก็สอนไว้ | ว่าโลภนักลาภจะหายอกแตกผาง |
อย่ามากน้อยเลยพี่พรานแต่ปานกลาง | อันแหวนฉันนี้ก็อย่างยิ่งราคา |
แต่หัวนี้ตีราคาถึงห้าชั่ง | นิลบันลังตกมาแต่เวหา |
ทองนี้หนักถึงตำลึงกึ่งเงินตรา | เหมือนโปรดนกปล่อยปลาเถิดพี่พราน |
ไม่เสื่อมสูญคุณบุญก็จะได้ | ข้างหน้าไปเวรกรรมไม่ตามผลาญ |
ไปช่วยสาวเอาให้สวยรวยสำราญ | ไม่เกิดการบาปกรรมจะตามตัว |
๏ พรานสดับสารสมรที่วอนว่า | หัวเราะร่าตบหัตถ์แล้วยิ้มหัว |
น้องว่าวาดใครเล่าคาดเอาค่าตัว | แม่สายบัวช่างมาว่าเป็นน่าอาย |
เถิงเงินทองจะมากองให้เถิงฟ้า | เต็มสุธาก็ไม่เอาอย่ากล่าวหมาย |
จะช่วยเจ้าให้พ้นร้อนผ่อนสบาย | อย่าสองใจให้พี่ตรมอารมณ์ตรอม |
เป็นลาภล้นมาพบต้นกัลปพฤกษ์ | อย่าพึงนึกที่จะห่างนางเนื้อหอม |
ถ้าไม่ไปก็ให้ไปคงให้ยอม | ประนีประนอมกันเถิดน้องอย่าหมองนวล |
๏ เยาวมาลย์ฟังพรานพูดข่มขืน | ให้ตันตื้นน่าสงสารทรามสงวน |
ปานเขาแทงทิ่มกระทอกด้วยหอกทวน | บังเกิดกวนในกองทุกข์จะผูกกรรม |
นางตรองใจถ้าเอาไปไอ้พรานป่า | กูคงฆ่ามึงอย่าแหงนแทงให้หนำ |
มาพูดข่มเอาด้วยคำกรรมเอ๋ยกรรม | ยับระยำแล้วครั้งนี้เสียทีพราน |
ไอ้พรานป่าจำจะด่ามันสักหน่อย | เสียน้ำถ้อยดอกจะร่ำที่คำหวาน |
กูไม่ไปมึงอย่าเอ่ยเฮ้ยไอ้พราน | มึงพูดพาลผิดอาเพทเป็นเศษคน |
มาขืนข่มขี่ขู่กูอย่างนี้ | อเวจีมึงจะไปที่ไหนพ้น |
ยมบาลท่านจะไล่เอาไฟลน | มึงมืดมนขึ้นตัณหาในกาเม |
๏ พรานได้ฟังนางนงเยาว์นั้นกล่าวด่า | หัวเราะร่าว่านารกนั้นถมเถ |
นามันรกก็จะถางให้พังเพ | ตกนาเรก็ไม่เสียได้เมียงาม |
อนึ่งเจ้าเถิงว่าเราจะทำบาป | ก็เต็มหาบเถิงจะห้อก็พอหาม |
เหมือนวารีชลธีตักเต็มชาม | จะตืมตามก็คงหกตกลงไป |
บาปของพี่อเวจีนั้นเที่ยงแท้ | เป็นนิ่งแน่มิได้แกล้งแถลงไข |
ถึงทำอีกก็ไม่มากหนักขึ้นไป | กำหนดไว้อเวจีเพียงนี้เอง |
ถ้าไม่ไปก็คงตายด้วยมีดเหน็บ | อย่าแกะเล็บบีบน้ำตาให้โหรงเหรง |
แทงสักร้อยตัดหัวห้อยไว้โตงเตง | ไอ้พรานเพ็งฉวยกรากชักศัสตรา |
๏ นุชน้องร้องว่าพ่อขอชีวิต | จงยั้งจิตโปรดปรานพี่พรานขา |
จะพาไปก็ไม่ขัดดอกอัชฌา | ขอชีวาอย่าให้ตายที่วายชนม์ |
ไอ้พรานไพรว่าอะไรทำใจแข็ง | พูดแก่งแย่งชักชวนสักสิบหน |
ทำดื้อด้านดึงดื้อไม่ครือคน | อย่ากังวลเลยอนงค์จงปลงใจ |
อันสามีเจ้าชีวีก็ม้วยมอด | จะเฝ้ากอดอยู่กับศพผิดวิสัย |
ไปแต่งแง่ขึ้นให้งอนแล้วถอนไร | ให้ผัวใหม่ชื่นชมภิรมยา |
๏ สงสารหน่ออรพิมไม่มีขวัญ | ได้ฟังพรานร้องประกาศคาดโทษา |
มันกล่าวแกล้งว่าจะแทงด้วยศัสตรา | นางกัลยาแทบจะดิ้นลงสิ้นใจ |
ศิโรราบกราบศพพระปาจิต | น้องสุดคิดน้องเสียแล้วสิ้นสงสัย |
เป็นเวรกรรมตามมาตัดอาวรณ์อาลัย | ไอ้พรานไพรจะมาพรากไปจากกัน |
ครั้นมิไปกลัวภัยไอ้พรานป่า | มันจะฆ่าเสียให้สิ้นชีวาสัญ |
โอ้แต่นี้ก็จะลับจะนับวัน | ที่ไหนนั้นจะได้มาหาพระองค์ |
น่าน้อยใจโอ้เสียดายพระเพื่อนยาก | มาลำบากคับใจอยู่ไพรระหง |
ถ้าน้องไปไกลจากพระโฉมยง | เสือในดงก็จะลากอาสภกิน |
พระคุณเอ๋ยเทพดาบนอากาศ | พิมานมาศมิ่งไม้ในไพรสิณฑ์ |
ทุกระยะหย่อมหญ้าสาครินทร์ | ท่านเทวินทร์จงเอ็นดูข้าด้วยรา |
ฉันขอฝากซากศพพระสามิต | มาดับจิตสิ้นใจอยู่กลางป่า |
ถ้ากาแร้งเสือนั้นมันจะมา | ช่วยบังตาซากศพอย่าพบพาน |
ฝ่ายว่าฝูงเทพเจ้าให้เศร้าจิต | ทุกเทเวศร์เทวฤทธิ์คิดสงสาร |
ได้ยินสั่งฟังเสียงนางเยาวมาลย์ | ให้แดดาลเจ่าจุกทุกพระองค์ |
แสนสังเวชยุพเรศสมรแม่ | เจ้าท้อแท้แทบชีวันจะผุยผง |
สองพระกรข้อนอกชกพระองค์ | นางโฉมยงร้องไห้พิไรครวญ |
พระบุญเรือนหาไม่เหมือนของน้องแก้ว | เถิงตายแล้วเกิดใหม่ใจสงวน |
แต่รูปร่างหน้าตาที่หน้านวล | พอสมควรก็จะได้ดังใจปอง |
จะหาใจเหมือนพระปานี้ยากนัก | อารีรักใจหนึ่งไม่เป็นสอง |
ถึงผิดพลั้งเจ็บไข้ใจกระพอง | สักกึ่งคำก็ไม่หมองให้มัวใจ |
เมียขอตั้งอธิษฐานประมาณชาติ | ขออย่าคลาดให้ได้พบสบสมัย |
กับพระองค์คงคงทุกชาติไป | จนตราบได้พระนิพพานสำราญรมย์ |
ว่ากรรมเอ๋ยกรรมอะไรอย่างนี้นี่ | ทุกข์ทวีทุกข์มาทับระทมถม |
ไหนจะทุกข์ด้วยผัวตายใจระงม | กลับระทมทุกข์ด้วยพรานจะพาไป |
นางกลิ้งเกลือกเสือกเศียรเจียนสลบ | เข้ากอดศพภัสดาน้ำตาไหล |
ละห้อยหวนครวญคร่ำร่ำพิไร | เวรใดช่างมาดลบันดาลเป็น |
เมื่ออยู่บ้านพลัดกันไปไม่นานช้า | ไปพาราพรหมทัตนั้นทำเข็ญ |
ให้แค้นใจแทบจะเดือดเลือดกระเด็น | โอ้นายเวรข่มใจไปไว้วัง |
กรรมเข้าหนุนบุญไปพาให้มาพบ | ประสมสบเข้ามาหนุนว่าบุญหลัง |
ถึงที่จนเจียนชีวิตเข้าติดวัง | พระอินทราพาไปวางร่มพระไทร |
ไม่ม้วยมอดรอดตายครั้งหนึ่งแล้ว | ว่าคลาดแคล้วพ้นมารจะผลาญได้ |
จึงพาน้องจะไปครองพระเวียงชัย | ยังกลับไพล่มาให้พรานผลาญชีวี |
จนตัวตายวายชีวิตเสียจนได้ | กรรมอะไรกรรมกรรมกระนี้นี่ |
ตั้งแต่ทุกข์ทรมาทั้งตาปี | มาอัปรีย์ยิ่งกว่าเขาชาวพารา |
นางร่ำไรใจตื้นสะอื้นอก | แล้วยอยกเอาพระบาททูนเกศา |
พิไรพร่ำร่ำร้องขอษมา | ที่โทษาคำปากได้หนักเบา |
ว่าโยโสโทสังโทษอันใด | ได้ทำไว้ด้วยวาจีสามีเจ้า |
มโนใจกายกรรมที่หนักเบา | จงอดโทษโปรดเกล้าให้แล้วไป |
โอ้แต่นี้แล้วที่ไหนจะได้เห็น | เป็นขาดเร้นกลัวแต่เกิดขึ้นชาติใหม่ |
จึงจะพบสบกันพระจอมไกร | ขาดอาลัยขาดกันเท่านั้นเอง |
๏ ฝ่ายว่าพรานมันเห็นนานมันเร่งรบ | เชิงกระทบชักมีดเหน็บกระโดดเหยง |
ไม่ไปฤๅอยากดูมือไอ้พรานเพ็ง | กูลั่นเผงหกคะเมนจะเห็นมือ |
ว่าจะไปแล้วไม่ไปอะไรนั่น | อยากสองศพอยู่ด้วยกันที่นี่หรือ |
พรานทำทีเข้าขยับจะจับมือ | คำรามหื่อขู่ตะคอกหลอกให้กลัว |
นางโฉมฉายกายสั่นพรั่นประหม่า | จึงร้องว่าน้องจะไปแล้วทูนหัว |
พรานสำทับว่าเจ้าไม่เสียดายตัว | จะเอาผีนั่นเป็นผัวก็ตามใจ |
๏ สมรมิตรหน้าซีดเป็นหน้าผี | ขวัญไม่มีกลัวพรานสะท้านไหว |
จึงว่าพี่ขอชีวังจงรั้งใจ | จะไปไหนก็จะตามไม่ลามลวน |
ไอ้พรานป่าหัวเราะร่าว่าก้อนแก้ว | เอาเท่านั้นก็จะแล้วแม่งามสงวน |
เฝ้ารักผีไม่รักกายเสียดายนวล | ผิดกระบวนบูราณสอนแต่ก่อนมา |
จงจัดแจงแต่งตัวอย่ามัวหมอง | ไปเถิดน้องเจ้าอย่ารอห่อภูษา |
ไอ้พรานไพรเฝ้าข่มเหงเร่งให้มา | นางไคลคลาแข็งใจไปด้วยพราน |
แสนสังเวชด้วยแม่เกศนพเก้า | นางเจ็บเท้าขัดขาน่าสงสาร |
จะย่างเหย่าก้าวเดินไม่ทันพราน | ระกำกร้านเหยียบดินด้วยตีนพอง |
ไอ้พรานไพรเดินไปเห็นนางช้า | หยุดคอยท่ารานั่งอยู่ฝั่งหนอง |
เห็นนางล้าฝ่าเท้านั้นร้าวพอง | ไอ้พรานตรองตรึกใจอย่างไรดี |
แล้วจึงว่าดวงสุดาเดินไม่ได้ | จะจับควายรองเท้าให้เจ้าขี่ |
ไอ้พรานไพรตัดได้เถาวัลลีย์ | แล้วเดินรี่หาควายอยู่ไปมา |
พบฝูงควายคล่ำกินอยู่ตีนโคก | ยืนชะเง้อมองชะโงกชะแง้หา |
แลพินิจพิศตลอดสอดลูกตา | จึงคิดว่ากูจะจับตัวไหนดี |
แลเขม้นเห็นกระบือตัวหนึ่งใหญ่ | พอจะได้ขนมันดำราวกะหมี |
ไอ้เขากางกินริมกันนั้นก็ดี | ดูออกพีหลังเป็นแป้นแผ่นกระดาน |
ไอ้ตัวนี้เห็นทีพอจะได้ | เพื่อนชอบใจตรงเข้าจับด้วยใจหาญ |
ฝูงควายเพริดวิ่งออกพรูตื่นไอ้พราน | เพื่อนทะยานวิ่งไล่เข้าใกล้ตัว |
ควายทะลึ่งพรานทะล่องเข้าจ้องจับ | ควายขยายคนขยับขมุกขมัว |
พรานขึ้นหลังจับหางไว้ควายมันกลัว | ดูเมามัวชุลมุนอยู่ไปมา |
ควายทะล่องคนทะลุดไปอยู่ไหล่ | ควายตกใจวิ่งกระโดดโลดถลา |
คนก็ตกควายกะตักผิดลูกตา | พรานร้องหาเข้ายุดหางกำลังมัว |
ควายทะลึ่งคนทะล่องเข้าจ้องจับ | ควายทะล้าพรานขยับเข้าผูกหัว |
ควายก็ดีคนก็ดีไม่หนีกลัว | ผูกเข้าหัวสนตะพายได้ควายมา |
ไอ้พรานป่าว่าตัวข้าจะขี่หลัง | จะส่งนางขึ้นไปนั่งให้ขี่หน้า |
นางนงนุชว่าพรานพูดผิดตำรา | ฟ้าจะผ่าหัวตายแล้วนายพราน |
ไอ้พรานป่าว่าตำราข้าไม่มี | ผู้หญิงขี่อยู่ข้างหลังไม่บอกขาน |
หญิงขี่หน้านั้นตำราเราได้จาร | เยาวมาลย์ตอบว่าสงสัยใจ |
พี่พรานป่าได้ตำราเขาจารผิด | จงคืนคิดหาใบลานมาจารใหม่ |
ตำราเก่านั้นให้เอาไปเผาไฟ | ถ้าอยากได้เอาตำราข้าเป็นครู |
ไอ้พรานป่าว่าตำราข้าจารถูก | มีทั้งผูกทานแล้วเอาทองถู |
รักก็ทาชาดก็ปิดผูกมูลู | ดินสอดูก็จนเหี้ยนแต่เรียนมา |
๏ นางฉัยยาตอบว่าพี่พรานเฒ่า | ไม่พูดเล่นข้าจะเล่าพี่พรานขา |
มีที่ทางเยื่องอย่างแต่ก่อนมา | ดูแต่ว่าเหมือนผู้ชายที่ได้เมีย |
แต่แรกเริ่มเดิมชายไปหาก่อน | หญิงจึงผ่อนพูดตามจึงได้เสีย |
มิใช่หญิงก่อนชายจึงได้เมีย | ประเพณีมิเสียแต่เดิมมา |
เป็นอย่างนั้นดอกจึงพรานต้องขี่ก่อน | ไม่แง่งอนแต่งเปล่ามากล่าวหา |
เพราะอย่างนั้นดอกจึงพรานผิดตำรา | จงตรึกตราใคร่ความให้งามใจ |
มิกระนั้นดูแต่พรานเมื่อได้เมีย | เมื่อได้เสียเมียมาพูดแกฤๅไฉน |
พรานไปก่อนพูดวอนประโลมใจ | จึงหญิงได้พูดตามธรรมดา |
ตำราข้าว่าจริงฤๅหาไม่ | ถ้าไม่จริงสาบานได้ฤๅพรานขา |
พรานก็จนไม่รู้ที่จะเจรจา | สุดปัญญาพรานฉงนให้จนใจ |
นางจึงเทียบเปรียบนิทานมากล่าวว่า | พี่พรานป่าแกจงฟังให้แจ่มใส |
องค์สมเด็จพลญาณผู้ชาญชัย | ที่ล่วงไปพระนิพพานประมาณมี |
ท่านว่าไว้แต่เม็ดทรายทั้งสิ้นสมุทร | จะขนขุดนับประมวลให้ถ้วนถี่ |
มีปัญญาเปรื่องปราดฉลาดดี | จะมากมีนับถ้วนประมวลทราย |
จะหาตัวให้มานับองค์พระเจ้า | ที่ล่วงเข้าพระนิพพานไปมากหลาย |
ปัญญาปราชญ์ที่ฉลาดนับเม็ดทราย | ไม่นับได้องค์พระเจ้าเข้านิพพาน |
ปัญญาปราชญ์ก็มิอาจจะสังขยา | โอปันนาข้ามสัตว์พ้นสงสาร |
ท่านเรียนก่อนจึงได้นำเข้านิพพาน | แต่โปรดปรานสัตว์มามากกว่าเม็ดทราย |
องค์พระเจ้าก็เป็นชายยังไปก่อน | จึงผันผ่อนโปรดสัตว์สิ้นทั้งหลาย |
ไปตามท่านเราทุกวันทั้งหญิงชาย | โปรดภิปรายแต่ประถมนิยมมา |
นายพรานป่าจะให้ข้านั้นขี่ก่อน | พรานจะย้อนขี่หลังข้านั่งหน้า |
ข้านี้ว่าพรานนี้คิดผิดตำรา | จริงเหมือนว่าฤๅหาไม่เล่านายพราน |
ไอ้พรานไพรจนใจก็ต้องนิ่ง | ด้วยความจริงไม่รู้ที่จะวิตถาร |
จบเล่ม ๒
-
๑. ต้นฉบับว่า “เกน” ↩
-
๒. ต้นฉบับว่า “ยังไร” ↩
-
๓. นิพพา = นิพพาน ↩
-
๔. ภาษาถิ่นภาคอีสาน = ต้นไม้ที่เกิดใหม่ในที่ที่ถูกถากถางแล้ว ↩
-
๕. ต้นฉบับว่า “บันดาการ” ↩
-
๖. ทวก = ไม้เครื่องประกอบเครื่องเกวียน ↩
-
๗. เหล้าชนิดหนึ่งผสมด้วยเมล็ดผลไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมฉุน ↩
-
๘. แพ่ง = ริน แจก แบ่ง ↩
-
๙. ฉัยยา = ชายา ↩
-
๑๐. กุง = แบกขึ้นหลัง ↩
-
๑๑. ต้นฉบับสมุดไทยไม่มีคำสัมผัสระหว่างวรรค ↩
-
๑๒. นัยนา ↩
-
๑๓. ในหนังสือสมุดไทยไม่มีคำสัมผัสระหว่างวรรค ↩