ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๑
ตั้งแต่ท้าวธรรมราชจะให้พระปาจิตครองบ้านเมือง จึงให้พวกเสนาตีฆ้องร้องป่าวให้ชาวบ้านชาวเมืองพาลูกสาวมาประชุมกัน เพื่อจะให้พระราชโอรสเลือกคู่อภิเษก จนถึงพระปาจิตลานางอรพิมกับมารดากลับมาเฝ้าท้าวธรรมราชพระบิดา๑
๏ | ประนมกรมัสการ๒พระนาถา |
ต่างบุปผังสุวรรณังปทุมา | ถวายองค์ภัควาพระทรงญาณ |
หนึ่งข้าไหว้ไตรปิฎกไญยธรรม | เป็นที่นำฝูงสัตว์ข้ามสงสาร |
ให้ถึงฝั่งยังนครนฤพาน | พ้นกันดารเดือดร้อนบห่อนมี |
หนึ่งข้าไหว้วันทาพระสาวก | ผู้รื้อยกศาสนาให้เรืองศรี |
จนครบถ้วนหมดจำนวนห้าพันปี | ดวงมณีส่องโลกทั้งสามดวง |
ข้าไหว้คุณบิตุรงค์ที่จงรัก | ประมาณหนักยิ่งกว่าภูผาหลวง |
ข้าไหว้คุณมาตุรงค์ผู้ทรงทรวง | ได้เลี้ยงลูกลุล่วงจนใหญ่มา |
ข้าไหว้คุณอมรินทร์ปิ่นอากาศ | พระนารายณ์เทวราชนาถา |
พระนเรศเวสสุวัณพระคงคา | พระจันทราพระอาทิตย์ฤทธิไกร |
ข้าไหว้พระพรหมยมเรศอันเรืองฤทธิ์ | ที่สถิตอยู่พิมานอันผ่องใส |
พระธรณินดินฟ้าสุราลัย | จงคุ้มภัยอย่าให้มีมาบีฑา |
ข้าไหว้คุณพระพิรุณดำรงโลก | ช่วยปัดโบกคำคนครหา |
อีกพระพายทั้งพระพายุรำเพยพา | คุ้มรักษาดับเข็ญให้เย็นยิน |
ข้าบังคมทูนกระหม่อมพระจอมเกล้า | พระปิ่นเกล้ากรุงยุทธโกสินทร์ |
บันลือลั่นประเทืองกระเดื่องดิน | พระภูมินทร์ขอให้มีชนมา |
ข้าไหว้คุณอุปัชฌาย์พระอาจารย์ | ท่านโปรดปรานบอกอักษรให้ศึกษา |
ครุลหุรอบรู้ด้วยครูบา | มาช่วยข้าเรียงลำดับซึ่งกาพย์กลอน |
ข้าไหว้ผู้ครูภักตร์สอนกระแส | ได้รู้แน่นำหน้าอุทาหรณ์ |
ให้ปรุโปร่งช่วยแซมแจ่มขจร | จะกล่าวกลอนทะวาจีให้ปรีชา |
หลวงบำรุงสุวรรณฉันผู้แต่ง | ประจักษ์แจ้งเรื่องนิทานไม่กังขา |
ประดับประดิษฐ์ขอให้เปรื่องเรืองปัญญา | บังเกิดมาในสันดานสะดวกดาย |
๏ ขอริเรื่องอรพิมพระปาจิต | ยกอดีตนิทาน๓ไว้สืบสาย |
ครั้นจะนิ่งยังคิดจิตเสียดาย | ด้วยหญิงชายนั้นยังเขลาเยาว์ปัญญา |
ไม่ได้ฟังตั้งแต่ว่าสนเท่ห์ | เที่ยวรวนเรถามกันนั้นหนักหนา |
ลางคนเล่าว่าข้าเจ้าได้ยินมา | ลางคนว่าแต่ครั้งปู่รู้นิยาย |
ลางคนบอกว่าข้าดอกจำได้เรื่อง | เล่ากันเนื่องผิดถูกไม่ขวยขาย |
ได้ยินเล่าข้าพเจ้าให้นึกอาย | เที่ยวสืบหานิยายนิยมมา |
นิทานนี้อยู่คัมภีร์ปลายปัญญาส | มีชาดกยกเป็นชาติสังขยา |
เหมือนเราท่านปุถุชนคนชนา | ฟังฎีกาจึงจะรู้กระทู้ธรรม |
ว่าเอกังสะมะยังในครั้งหนึ่ง | สมเด็จองค์กษัตริย์ที่พึ่งในภพสาม |
สถิตในพระเชตุวรรณาราม | รำพึงธรรมแย้มพระโอษฐ์องค์สัมมา |
พระรัศมีเขี้ยวแก้วแววสว่าง | แจ่มกระจ่างรุ่งโรจน์พระเวหา |
สงฆ์ท่านอัศจรรย์จินตนา | จึ่งทูลถามภะคะวาด้วยฉับไว |
ว่าข้าแต่พระสัพพัญญูพระครูโลกย์ | ซึ่งวิโยคแย้มพระโอษฐ์เหตุไฉน |
ข้าพระสงฆ์นี้จำนงสงสัยใจ | ผลอันใดฤๅเหตุจะมีมา |
ปางมหากรุณาธิคุณเจ้า | พระโน้มน้าวนั่งสำรวมอุเบกขา |
ได้ฟังทูลมูลกิจพระสังฆา | จึ่งฎีกาโปรดแจงแสดงธรรม |
ว่าภิกขเวดูกรภิกขุสงฆ์ | อย่ากระสันจิตหลงถล่มถลำ |
ด้วยภัยราครสกรรมทำระยำ | คือน้ำคำเสียงกลิ่นสัมผัสกาย |
ถ้าผู้ใดใจหน่วงมโนนึก | ยังหวงฮึกโหมหอบไม่เหือดหาย |
จะหึงนานในสงสารกระวนกระวาย | ลำบากกายตายเกิดอยู่ไปมา |
พระตรัสแล้วพุทธองค์จำนงนิ่ง | หมู่พระสงฆ์ก็ไม่ยิ่งจะกังขา |
จะใคร่รู้ในกระทู้โทษกามา | จึงนิมนต์ภัควาสำแดงธรรม |
ส่วนสมเด็จพระสรรเพชญ์ผู้นาถา | พระปรีชาญาณยิ่งยอดสยำ |
จะเทศน์โปรดพระภิกขุให้รู้กรรม | จึงไปนำบุพชาติปิฎกมา |
แต่ครั้งองค์พุทธพงศ์ยังเกี่ยวข้อง | ยังเที่ยวท่องสืบเสาะแสวงหา |
เติมสมภารเพิ่มพูนพระโพธิญาณ์ | ให้แก่กล้าเนกขัมบารมี |
ว่าครั้งนั้นสมเด็จพระชินโนนาถ | เสวยชาติชื่อปาจิตผู้โฉมศรี |
ตกลำบากยากแค้นแสนทวี | เพราะโลกีย์ร้อนรุ่มเข้าสุมใจ |
ได้เคืองเข็ญเป็นระยำนี้สุดอย่าง | เที่ยวหานางมเหสีพิสมัย |
ทุกเมืองบ้านผ่านป่าพนาลัย | พระทรงไตรชักเอาเรื่องนี้มา |
เผยพระโอษฐ์โปรดประทานพระธรรมเทศน์ | พอเห็นเหตุให้พระสงฆ์หน่ายตัณหา |
ว่ายังมีพระบูรีมหึมา | นามพาราชื่อมหานครพรหม๔ |
มีคูล้อมป้อมปราการนั้นเขือมขึง | ทั้งใหญ่ครึ้มยาวกว้างครั้งประถม๕ |
เชิงเทินท่อ๖หอคอยขึ้นลอยลม | คามนิคมขามขยาดไม่อาจทาน |
มีพระปรางค์ปราสาทสะอาดเอี่ยม | จัตุเหลี่ยมภูมิภาครโหฐาน |
ล้วนกระหนกลวดลายสำลายภาร | งามตระหง่านเลิศล้ำวิไลตา |
ยอดพระปรางค์นพศูลดูงามสม | มีหน้าพรหมจัตุรมุขอันเลขา |
มีรูปครุฑสัประยุทธ์กับนาคา | กรหัตถากำขันยันทแยง |
มีช่อฟ้าหน้าบันนาคสะดุ้ง | มีก้ามกุ้งใบขึ้นแอบแฝง |
หางหงส์ปิดดำอร่ามแดง | เป็นสีแสงนพรัตน์ชัชวาล |
นครอื่นหมื่นพันจะสรรเปรียบ | มาเทียมเทียบก็ไม่ถึงที่ภูมิฐาน |
ถ้าเว้นว่าแต่ภาพมัฆวาน | เกินประมาณที่จะว่ามาประไม |
มีเสนาข้าเฝ้าเป็นศักดิ์ศรี | พระแท่นที่ท้องพระโรงวินิจฉัย |
ที่ผ่อนพักพระตำหนักทั้งนอกใน | มีโรงใช้ราชการศาลศาลา |
มีทหารชาญกำแหงสาตราวุธ | สำหรับยุทธ์จัตุรงค์เหล่าอาสา |
มีปืนใหญ่ปืนตับคาบศิลา | อเนกาครบครันต้านสงคราม |
มียุ้งฉางคลังทรัพย์นับสิบสอง | แต่เงินทองขนใช้อยู่หลายหลาม |
มีโรงช้างคชสารตระหง่านงาม | อร่ามโรงรถสำหรับมี |
มีโรงเรือโรงม้าอาชาชาติ | สารพัดครบสิ่งเป็นศักดิ์ศรี |
จะร่ำว่าพรรณนาจะช้าที | อันบูรีเมืองใหญ่ย่อมไพบูลย์ |
ทั้งไพร่พลคณนานับด้วยแสน | อเนกแน่นอัดแอทั้งไอศูรย์ |
ต่างประเทศค้าขายไปมามูน | เที่ยวอวดวุ่นจีนจามพม่ามอญ |
แขกฝรั่งอังกฤษยวนละว้า | ต่างภาษาทั้งสิบสองมาสลอน |
มีร้อยเอ็ดเมืองเอกพระนคร | มายอกรก้มเกศมัสการ |
ลือพระนามขามฤทธิ์ทุกทิศา | กษัตราครองกรุงมหาศาล |
ชื่อพญาธรรมราชภูมิบาล | พระทรงธรรมมั่นดำรงเมือง |
พระองค์มีเอกอัครมเหสี | ล้ำนารีเลิศโลกฉวีเหลือง |
เป็นปิ่นนางยิ่งสำอางวโรเรือง | แม่มิ่งเมืองชื่อสุวรรณเทวี |
โพธิสัตว์จุติสนธิ์จากดึงสา | ปฏิสนธิ์เข้าครรภานางโฉมศรี |
นางกษัตริย์รู้ถนัดในนาภี | ว่าเกิดมีบุตรจริงไม่กริ่งใจ |
จึงทูลแจ้งแก่พระจอมผู้สามิต | พระทรงฤทธิ์ยินดีจะมีไหน |
ตั้งแต่นั้นครองครรภ์นางทรามวัย | สิ่งอันใดเผ็ดร้อนบห่อนพาน |
ค่อยปกป้องครองครรภ์นางโฉมศรี | ครบเดือนปีทศมาสอวสาน |
วาโยลมกรรมชวาตก็พัดพาน | ให้แดดาลป่วนปั่นในครรภ์นาง |
แต่หมอแพทย์หมอตำแยพระวงศา | ทั้งซ้ายขวาแห่ห้อมล้อมสล้าง |
ครั้งยามเบิกฤกษ์ดีที่สำอาง | พระท้าวนางเจ้าก็คลอดกุมารา |
พระบิตุรงค์เห็นองค์โอรสราช | แสนสวาทชื่นบานให้หรรษา |
พระภูวนาถมีพระราชบัญชา | ให้จัดหาแม่นมที่สมควร |
มีสกุลน้ำเนื้อเชื้อขุนนาง | เอี่ยมสำอางอ้อนแอ้นงามสงวน |
รู้อัฌชาราศีฉวีนวล | ที่เคยคุ้นควรเคียงคนสำคัญ |
ให้กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูพระลูกรัก | สามิภักดิ์ฟักฟูมให้ฝ้าฝัน |
ทุกวันคืนเช้าเย็นเป็นนิรันดร์ | จนใหญ่ครันวัฒนาวรรษาปี |
พระโฉมงามจะให้นามพระลูกรัก | พร้อมสะพรักวงศาเป็นราศี |
ทั้งซ้ายขวาอัยกาอัยกี | มามี่นั่งเรียงโรงมงคล |
ทั้งพราหมณ์เฒ่าพฤฒาโหรารู้ | ทั้งพระครูปโรหิตจำเริญผล |
พระบายศรีวางที่กลางมณฑล | เสียงสับสนสังข์แตรออกแซ่วัง |
ครั้นฤกษ์งามพราหมณ์ร้องประโลมขวัญ | สนั่นลั่นฆ้องขานประสานสังข์ |
จุดเทียนชัยเวียนไปทักขินัง | มังคลังพร้อมด้วยอำนวยพร |
ให้สมเด็จพระกุมารจำเริญศรี | สวัสดีไชโยสโมสร |
อย่าทุกข์สุขาสถาวร | ฤทธิรอนปราบปรามสามธาตรี |
พระชันษาอายุษให้ยืนหึง | เป็นที่พึ่งฝูงสัตว์ประเสริฐศรี |
พฤฒาพราหมณ์รดน้ำสังขพีรี๗ | ดับอัคคีเทียนชัยเจิมพักตรา |
พระโองการให้หาโหราจารย์ | ให้คูณหารตั้งแต่พระชันษา |
โหราจารย์หารตามดวงชะตา | แล้วพฤฒาทูลถวายให้พระนาม |
ชื่อปาจิตฤทธิรงค์องค์โอรส | เฉลิมยศจวบจบในภพสาม |
พระวงศาแต่บรรดาพร้อมทั้งพราหมณ์ | อวยพรตามอวยให้พระกุมาร |
สมเด็จองค์ทรงฤทธิ์พระบิตุเรศ | พระปิ่นเกศรักบุตรสุดสงสาร |
ให้เต็มขืนชื่นพระทัยภูบาล | จะต้องการสิ่งอันใดมิให้เคือง |
พระให้จัดมหาดเล็กลูกอำมาตย์ | ที่ผ่องผาดรูปดีฉวีเหลือง |
นับด้วยพันสรรให้พระมิ่งเมือง | ดูนองเนืองตามเสด็จพระลูกยา |
แล้วประทานศรขรรค์อันชัยศรี | สำหรับมีสัประยุทธ์อาวุธถา |
ทั้งรถรัตน์พร้อมทั้งอลังการ์ | ชาติอาชาคชรัตน์อัสดร |
พระกุมารเรียนชาญศิลปศาสตร์ | สามารถรอบรู้ธนูศร |
เลิศฉลาดเล่าชื่อลือขจร | ทุกนครยำเกรงพระเดชา |
พงศ์กษัตริย์โสมนัสด้วยหมู่เด็ก | มหาดเล็กตามเสด็จทั้งซ้ายขวา |
เที่ยวเล่นรถศรแผลงแข่งอาชา | ตามลำพาชื่นบานสำราญใจ |
๏ ขอหยุดยั้งรั้งเรื่องนี้ไว้ก่อน | จะกล่าวกลอนยกศัพท์ให้แจ่มใส |
ขอวิตถาร์ว่าด้วยเรื่องเมืองพิมาย | ต้นนิยายแรกเริ่มแต่เดิมมา |
ว่าหมู่เทวดาชายแลหญิง | อันสู่สิงอยู่ในดาวดึงสา |
ปรารภกันเป็นสำคัญเจตนา | มีศรัทธาชวนกันมาสร้างปรางค์ |
ใจความว่าเทวดาเป็นสองหมู่ | จะสร้างสู้ขันกันทั้งสองข้าง |
คำผู้หญิงเทวดาสัญญาวาง | ถ้าแล้วหลังก็จะพร้อมยอมเป็นเมีย |
ที่เป็นชายเทพเจ้าจึ่งกล่าวว่า | จะสัญญากันแต่เดิมให้แล้วเสีย |
ถ้าเราแพ้ก็จะพร้อมไปยอมเยีย | ให้ต่ำเตี้ยลงเป็นทาสขาดคำ |
เทวดาครั้นสัญญากันเสร็จแล้ว | ก็คลาดแคล้วจากวิมานอันเลขำ |
คำสัญญาถ้าแม้นว่าใครทำ | คืนเดียวแล้วเป็นประจำให้โยงโคม |
เทวดาครั้นลงมาถึงพื้นภพ | ต่างพยพ๘ชวนกันเข้าแห่โหม |
บ้างชักเส้นขึงขันเป็นการโรม | โครมโครมขนถมลุ่มต่ำทำให้ดี |
ที่เนินสูงเกลี่ยปราบให้ราบเลี่ยน๙ | สะอาดเตียนผ่องใสวิไลศรี |
ดูราบรื่นพื้นสุธาหน้าเภรี | ครั้นดิบดีแล้วเอาดินมาบนวาง |
ทำเป็นแผ่นแน่นหนาสักห้าศอก | ประกอบทายาพอกทุกแผ่นขวาง |
อพิษฐานจงบันดาลขึ้นไว้วาง | บุญได้สร้างจงมาช่วยข้าด้วยแรง |
อันดินดานต้องพิษฐานเทพเจ้า | ก็กลับเข้าเป็นหินศิลาแข็ง |
โลกสมมุติว่านิมิตด้วยฤทธิ์แรง | จึ่งจัดแจงก่อบรรจงเป็นทรงปรางค์ |
ทำเป็นยอดสอดใส่ลายฉลัก | เหลี่ยมนั้นย่อก่อเป็นพักตร์พุ่มกระถาง |
ชักเป็นลวดเขียนเป็นลายเลิศสำอาง | จับประจำเห็นกระจ่างเหมือนดอกจันทน์ |
ที่รอบปรางค์ทำถ้วนถี่มีระเบียง | บริเวณเป็นเฉลียงแลสีสัน |
มีปรางค์เล็กเหลี่ยมเสลียงขึ้นเคียงกัน | ปรางค์นั้นทำวิถีสี่ประตู |
ในเฉลียงเรียงสล้างวางเป็นลวด | บานประตูดูยิ่งยวดสูงเพียงหู |
แซะเป็นลวดแกะประจำเหมือนก้ามปู | บานประตูมีประดับสำหรับกัน |
บัญชรฉายใส่ประสาธน์สิ้นทุกช่อง | ดูโปร่งปล่องพิศเพียงเวียงสวรรค์ |
มีกำแพงล้อมรอบเป็นขอบคัน | มีสองชั้นกำแพงแก้วแล้วศิลา |
ในกำแพงเลิศล้ำทำเป็นคลัง | เทพสร้างล้ำเลิศดูเลขา |
ทำเป็นวังสร้างเป็นสระปทุมา | สระนั้นเล่าเต่าปลาบรรดามี |
แล้วจารึกชื่อสระไว้สำคัญ | ชื่อสระแก้วสระขวัญนามสระศรี |
อีกสระเพลงสระพลุ่งบุ่งนัทที | ทำถ้วนถี่ครั้นว่าจะช้าทาง |
คำสัญญาเทวดาคืนเดียวนั้น | ถ้าข้ามวันทำช้าว่าแล้วหลัง |
ตีเป็นแพ้แท้สัจจาเหมือนวาจัง | ทั้งสองข้างจวนสว่างไม่แล้วเลย |
ฝ่ายผู้หญิงเทวดาปัญญาขยัน | ปรึกษากันโฉ่ฉาวชาวเราเอ๋ย |
จวนสว่างขึ้นมาแล้วไม่แล้วเลย | แล้วบ่นเบยเห็นจะแพ้เขาแน่นอน |
เทวดาองค์หนึ่งจึงกล่าวว่า | เราอย่าช้าโยงโคมขึ้นไว้ก่อน |
จึ่งทำแต่งจนสายแสงทินกร | อย่าย่อหย่อนยอมเขาชาวเรา |
แล้วตามไฟใส่โคมขึ้นแขวนไว้ | เทพไทผู้นั้นโฉดเขลา |
เห็นโคมโยงแดงเป็นแสงวาว | นึกสำเนาว่าจะแพ้เขาแน่นอน |
ไม่อยู่ช้าพากันหนีไปแซ่แซว | จึ่งสร้างปรางค์นั้นไม่แล้วเป็นครึ่งท่อน |
เรียกว่าวัดพนมวันชาวนิกร | เอาสิงขรเข้ามาตั้งเป็นนาม |
เทวดาเป็นผู้หญิงแม่กิ่งแก้ว | สร้างจนแล้วคลังปรางค์สล้างหลาม |
สารพัดทำถ้วนถี่มีมากคาม | สง่างามมีถนนทั้งหนทาง |
ในกำแพงแต่งสร้างแล้วขุดสระ | สี่เหลี่ยมจัตุระทั้งกว้างขวาง |
ประดับหินสิ้นทุกเหลี่ยมเอี่ยมสำอาง | แล้วเขียนร่างอักษรไว้ที่ใบบาน |
ชื่อเจ้าเมืองนามเมืองบอกให้รู้ | ใครมาอยู่จะได้เรียกตามขนาน |
ครั้นแล้วเทวดาไม่ช้าการ | คืนสถานกลับหลังยังวิมาน |
๏ ขณะนั้นยังเทวบุตรบุตร | ผู้หนึ่งนั้นบริสุทธิ์เลิศสงสาร |
ได้สร้างสมอบรมมาช้านาน | บุญสมภารมากข้ามตามไปคอย |
มีวิมานงามสคราญกว่าเขาหมด | ประดับแก้วดั่งจะหยดอยู่หยอยหยอย |
มีนางฟ้าแห่ห้อมไปล้อมลอย | พิมานอื่นหมื่นร้อยไม่เทียมทัน |
มีสีสันพรรณแสงระยับยิบ | สมบัติทิพหลายหลากมากมหันต์ |
เสวยสุขพรหมาอยู่ช้าครัน | จุติจากสวรรค์ด้วยเวรา |
ท้าวเทเวศรู้เหตุที่นิมิต | ประจักษ์จิตจริงจังไม่กังขา |
ราศีเสียหิวโหยให้โรยรา | จึ่งเข้ามาลาท้าวอมรินทร์ |
ว่าข้าแต่อิศโรสักโกเจ้า | ข้าสร้อยเศร้าเห็นกุศลจะหมดสิ้น |
ขอลาท่านไปสู่ชมพูดิน | ด้วยบุญสิ้นถึงกรรมจะจำไป |
อาวุโสโกสินทร์ปิ่นอากาศ | เงี่ยประสาทฟังสารสนองไข |
แห่งเทวาผู้จะลาลงไป | จากเวไชยสู่ภพชมพู |
พระอินทร์เอ่ยเผยผ่อนดูก่อนท่าน | หมดเท่านั้นบุญสิ้นที่จะอยู่ |
นี่แท้ท่านเราจะแจ้งแห่งชมพู | ท่านไปสู่เถิดที่ปรางค์จะสร้างเมือง |
อันปรางค์ปราเทวาพากันสร้าง | งามกระจ่างเลิศโลกลือกระเดื่อง |
ไปเถิดท่านจงไปให้รุ่งเรือง | เสวยเมืองสวัสดีให้มีชัย |
อำมเนเทวบุตรรับพระพร | จุติจรจากพิมานอันผ่องใส |
มาถึงภพชมพูเข้าสู่ใน | แห่งครรภ์ยายตาบิดาดร |
อันนามชื่อตายายไม่ปรากฏ | จะกำหนดบอกให้ในทาหรณ์ |
เราผู้แต่งก็ไม่แจ้งนามกร | จะกล่าวกลอนตามจริงก็กริ่งใจ |
ถ้วนกำหนดเทวบุตรประสูติคลอด | เป็นชายยอดช้อยแช่มดูแจ่มใส |
ในมนุษย์นัคราโลกาไตร | อย่านึกว่าจะเปรียบไม่เทียบทัน |
อันพ่อแม่แดดาลด้วยการรักษ์ | เฝ้าฟูมฟักฝ่าฝืนจนนอนฝัน |
จนเติบใหญ่อายุศม์นั้นมากครัน | ขณะนั้นชันษาอัฏฐาปี |
เลิศฉลาดปราดเปรื่องให้ปรุโปร่ง | กุศลส่งทั้งได้พรท้าวโกสีย์ |
จะทำน้อยก็ได้มากขึ้นมูนมี | ทั้งหัตถีวัวควายนั้นไหลมา |
แต่เงินทองของใช้นั้นใส่เล้า | คนทั้งหลายก็มาเข้ามากหนักหนา |
จึงคิดอ่านจะตั้งเมืองให้เปรื่องปรา | กุศลพาดลใจด้วยได้พร |
ปรึกษาใจว่าที่ไหนจะเปล่าว่าง | เทพไทนำทางเข้าสังหรณ์ |
ให้เอาปรางค์สร้างเป็นพระนคร | ก็ขนผ่อนพาหมู่ไปสู่ปรางค์ |
เลิกมาพากันมาสิ้นแล้ว | จึงกวาดแผ้วผ่องใสเที่ยวสะสาง |
เห็นอักษรเขียนไว้ที่บานปรางค์ | ทุกคนนั่งอ่านร่างเรื่องสารา |
ในอักษรนั้นว่าใครได้มาสู่ | จะเข้าอยู่ที่ในปรางค์อันเลขา |
ให้ถือสัตย์ศีลวัตรภาวนา | เลี้ยงชีวาที่ประกอบให้ชอบธรรม |
ใครเป็นใหญ่ให้ชื่อพรหมทัต | บูรีรัตน์นามเมืองเรืองสยำ |
ให้ชื่อพาราณสีบูรีรัมย์ | ทุกคนจำอ่านแจ้งประจักษ์ใจ |
จึ่งจัดแจงแต่งตั้งกันเป็นเจ้า | เป็นข้าเฝ้าเสนาผู้น้อยใหญ่ |
ครบตำแหน่งตามทำนองทั้งนอกใน | เป็นบ่าวไพร่รั้วแขวงแขวงอาชา |
มีตำรวจท้องพระโรงสำหรับเฝ้า | มีฉางข้าวโรงช้างคลังมหา |
มีโรงรถโรงสีมีศาลา | ธรรมดาเมืองเจ้าพึงเข้าใจ |
ครั้นจัดแจงแต่งกันแล้วเป็นเทือกเถา | พรหมทัตเป็นเจ้ายิ่งผู้ใหญ่ |
เห็นอักษรรู้ถนัดในหัททัย | ก็ตั้งใจสัตย์ซื่อถือศีลา |
แล้วโอวาทสั่งสอนพวกข้าเฝ้า | ให้ถือเอาซื่อสัตย์อย่ามุสา |
อย่าฆ่าสัตว์สูบฝิ่นกินสุรา | ราษฎร์ประชาตั้งถือให้ซื่อตรง๑๐ |
หมู่ข้าเฝ้าท้าวพระยาประชาราษฎร์ | ฟังโอวาทพรหมทัตไม่ใหลหลง |
พากันตั้งอยู่เป็นนิตย์จิตจำนง | ทุกคนตรงอยู่อย่างนั้นทุกวันไป |
สมาทานภาวนารักษาศีล | ประดิทินมิได้ไม่หลงใหล |
แต่ว่าคู่อุปภิเษกท้าวพรหมทัย | หามีไม่มีแต่กรมสนมนาง |
ด้วยอำนาจภาวนารักษาสัตย์ | สารพัดที่จะมีดีทุกอย่าง |
บังเกิดฝนไหลลงมาเป็นท่อทาง | ช่างไหลลงเหลือเหล่าทั้งข้าวเกลือ |
ประชากรทุกประเทศเขตนิคม | ดีอุดมนาไร่ทั้งใต้เหนือ |
แต่ผู้คนกล่นเกลื่อนเหมือนหัวเกลือ | มาแผ่เผื่อพึ่งโพธิสมภาร |
ทั้งเรือแพช้างม้ายิ่งมามาก | ขึ้นหลายหลากไม่ชนะจะบรรหาร |
พรหมทัตธิบดีภูมีบาล | จึงคิดอ่านตั้งเมืองให้มากไป |
จะร่ำเรื่องเมืองบ้านจะนานช้า | คณนาบอกปดงดลงไว้ |
แต่ต่างเมืองใหญ่น้อยสักร้อยปลาย | มาถวายเครื่องบูชาบรรณาการ |
พระนครต่างประเทศต่างภาษา | พากันมาขึ้นสิ้นทุกถิ่นฐาน |
เที่ยวค้าขายไปมาเป็นนิจกาล | แสนสำราญไพร่ฟ้าประชาชน |
ชาวประชาเล่ามาครั้งนั้นนาน | สมาทานมีแต่สร้างทางกุศล |
ที่คนบาปแบกลำบากที่ยากจน | จะหาได้แต่ละคนก็เต็มที |
โจรผู้ร้ายควายช้างจะปล่อยปละ | อย่าวิระที่จะฉกกันฉวยหนี |
สำราญใจชาวประชาทุกราตรี | อันโรคาราคีไม่มีเบียน |
ทั้งหญิงชายแสนสบายเป็นที่สุด | จะแต่งมากก็จะเปลืองสมุดเขียน |
ปราชญ์บัณฑิตเห็นผิดไม่แนบเนียน | อย่าติเตียนช่วยแต่งอย่าแหนงใน |
พระสรรเพชญ์ตรัสเทศน์ไว้เป็นสอง | ถ้าสองกองใครได้สร้างอย่าสงสัย |
ถ้าสร้างบาปบาปทำให้หนำใจ | เขาสวมใส่ขื่อคาตะโหงกคอ |
ทั้งติดตรวนพวนผูกบั้นเอวถือ | ที่ศอกมือมัดผูกจนงอข้อ |
ขี้เรื้อนโรคไม่ระแวงแต่งให้พอ | ทั้งมงคร่อริดสีดวงให้ตาแดง |
ตาก็ปลิ้นลิ้นตีนทู่หูก็หนัก | บาปมิพักตามให้ได้ทุกแห่ง |
อพะยากะตานี้เป็นกำลังแรง | ข้างไหนแข็งก็ลำเอียงไม่เที่ยงตรง |
กุสลาอกุสลาทั้งสองนี้ | เหมือนคู่ตีมวยต่อยเขายกส่ง |
อกุสลาแปลว่าบาปถ้าบาปตรง | อพะยากะตาช่วยส่งลงเวจี๑๑ |
กุสลาแปลว่าบุญพ่อทูนหัว | อพะยากะตาว่าอย่ากลัวอย่าถอยหนี |
ทำแต่บุญอย่าสร้างกรรมทำแต่ดี | อเวจีนั้นอย่ากลัวที่ตัวเรา |
สมาทานฟังเทศน์คำคาถา | ภาวนาแผ่กุศลไปถึงเขา |
สัตว์ใดที่ผูกกรรมเวราเรา | มารับเอาบุญเราจงหายกัน |
รักษาศีลกินอาหารบริสุทธิ์ | ไม่ฉกฉุดล้วงลักทำหักหาญ |
ไม่ฆ่าสัตว์เสพเมรัยสุราบาน | ห้าประการนี้แลเรียกว่าศีลา |
ศีลาแท้แปลว่าหินที่ลับมีด | ถ้าใครคิดจะบำเพ็ญเร่งรักษา |
ถ้ามั่นคงตรงเที่ยงเหมือนศิลา | ได้ชื่อว่าศีลังอย่าคลังแคลง |
ทั้งทำทานหว่านพืชไปเบื้องหน้า | ของนานาข้าวน้ำอย่ากินแหนง |
ไม่มีทองของดีมีแต่แรง | อย่าคลางแคลงเพิ่มพูนให้มากไป |
ทั้งผืนผ้าอาภรณ์และพาหะ | มโนตั้งมน๑๒อย่าสงสัย |
ไม่กินแหนงนึกสนเท่ห์มโนใน | นี้แลได้แก้กูลกุสลา |
ตัดบทแปลแก้ไขว่ากุสะ | จึ่งจะตัดบทว่ากูลให้บรรหา |
กุณะแปลว่าพึงเกลียดอาตมา | สารพาพึงเกลียดไม่มีดี |
ทั้งเงินทองช้างม้าข้าหญิงชาย | ทั้งวัวควายลูกเมียแลศักดิ์ศรี |
เกลียดทุกสิ่งแต่ล้วนสิ่งไม่มีดี | ได้อย่างนี้แหละจึ่งเรียกว่ากุสลา |
เหมือนท้าวอิศยมพรหมทัต | เต็มขนัดศีลทานตามมหา |
จึ่งอธิบายไว้ให้แจ้งในกุสลา | อย่าสงกาทำไว้ได้ทุกคน |
๏ ขอคืนกลับจับเรื่องไปกล่าวว่า | ถึงพญาธรรมราชปิ่นพหล |
เป็นบิดาพระปาจิตฤทธิรณ | พระจอมพลครองพารามาช้านาน |
ทั้งกายร่างสรรพางค์ก็คร่ำคร่า | พระชันษาก็สุดอวสาน |
ปลงอนิจจังอจีรังไม่ยืนนาน | คิดรำคาญยังมาข้องด้วยโภไคย |
แล้วตรึกตราสังขาร์ก็ควรสมัคร | จะหมางหนักเหมือนเง่าเขลาไฉน |
พระกุมารก็ภารบูรีชัย | จะเวนให้เสียให้แล้วขึ้นครองเมือง |
ปางพระองค์ทรงแผ่นดินปิ่นนัคเรศ | พระเห็นเหตุแจ่มแจ้งไม่แฝงเฝือง |
พระเสด็จเสร็จออกพระโรงเรือง | ขุนนางเมืองหมอบกลาดดาษดา |
จึงมีพระโองการดำรัสตรัสประภาษ | กับอำมาตย์เสนาทั้งซ้ายขวา |
ว่าฮะเฮ้ยข้าเฝ้าเหล่าเสนา | เราจะว่าให้ท่านแจ้งอย่างแพร่งพราย |
เราก็แก่คร่ำคร่าชราร่าง | ก็เกินอย่างที่หลงบรรจงหมาย |
เราจะออกบรรพชาเอกากาย | ขอนิสายครองศีลารักษาธรรม |
อันเมืองบ้านเสนาพวกข้าเฝ้า | จะมอบให้ลูกเราอุปถัมภ์ |
จะหาคู่อุปภิเษกเป็นเอกนำ | ที่เลิศล้ำให้เป็นสองขึ้นครองเมือง |
ทั้งลูกหลานของออเจ้าเหล่าเสนา | ถ้ามีก็เอามาอย่าแฝงเฝือง |
ไม่ว่าใครไพร่คนพลเมือง | ถ้าต้องเยื่องถูกอย่างทางบูราณ |
งามทั้งห้ากัลยาเป็นยอดยิ่ง | ควรเป็นหญิงครอบครองราชฐาน |
จะอุปภิเษกให้เป็นเอกพิภพพาน | อย่านิ่งนานเร่งรัดให้จัดมา |
ฝ่ายอำมาตย์จัตุสดมภ์ยมราช | ก็แคล้วคลาดทูลลามาจัดหา |
ทั่วขุนนางข้าเฝ้าท้าวพระยา | ชาวประชานรชนพลเรือน |
ดำรัสให้เอาฆ้องไปร้องป่าว | ถ้าลูกสาวของใครมีถ้างามเหมือน |
งามทั้งห้าไม่เลือกว่าพลเรือน | จะยกเลื่อนอุปภิเษกเป็นเอกวัง |
ไพร่ขุนนางครั้นได้ยินเขาร้องป่าว | ที่มีลูกสาวแซ่ซ้องระเสิดระสัง |
แต่งลูกสาวถอนไรใจละลัง | ที่บางคนก็ไปเอาเขม่าไฟ |
แล้วมากรองเอาขยี้กับสีผึ้ง | ที่ลางคนสีผึ้งหามีไม่ |
จนเข้าเนื้อเชื่อซื้อจะเอาชัย | เล่นจนได้ขายแพงเพราะแต่งตัว |
เอาเขม่าเข้ามาทาที่หน้าผม | มีดโกนคมกันสกัดจนบาดหัว |
บ้างกริ่มใจถ้าแม้นเป็นบุญตัว | เหมือนลอยตัวขึ้นสวรรค์ไปชั้นพรหม |
ที่ลางคนอยากเผยอให้เธอปลื้ม | เที่ยวกู้ยืมจนดอกเบี้ยเข้าทับถม |
มาซื้อแพรแต่งแง่ให้เธอชม | จะคว้าลมช่างไม่มานิจจาตัว |
ลูกขุนนางอย่างดีที่มีมั่ง | เขามั่งคั่งบริบูรณ์อย่างเจ้าสัว |
หน้าออกนวลเหมือนจะชวนให้พันพัว | ประดับตัวใส่สังวาลเหมือนท่านเธอ |
ห่มกรองทองปกป้องใส่ตุ้มหู | ถ้าใครเห็นแล้วก็ดูจนตาเหลอ |
นุ่งยกอย่างก้านแย่งแต่งละเมอ | สำคัญเธอจะถวิลยินนิยม |
ไพร่บรรดาผู้ดีมีลูกสาว | ครั้นเสร็จพากันเข้ามาสู่สม |
เต็มพระลานหน้าพลับพลานิทรารมณ์ | เป็นน่าชมชื่นชวนให้ยวนใจ |
ปางพระองค์พงศ์กษัตริย์โอรสา | ทอดพระเนตรกัลยาที่มาถวาย |
ดูงามเฉิดเพริศพริ้งวิไลพราย | แต่พระทัยนั้นไม่ชอบในท่วงที |
หน้าก็แจ่มแก้มก็สมนมก็เต่ง | ครั้นพิศเพ่งแล้วไม่มีซึ่งราศี |
สาวเป็นพันจะจัดสรรเอาท่วงที | ไม่มีดีแต่สักคนเป็นจนใจ |
ไพร่ผู้ดีที่เข้ามาบรรดาสาว | เผยอเปล่าคว้าลมน้ำลายไหล |
ทำหน้าบูดพากันพูดว่าเสียใจ | จนหมดไต้กับขี้ผึ้งไปครึ่งชาม |
ที่พวกผู้กู้เงินผูกดอกเบี้ย | ทำหน้าเสียแสร้งว่าไม่เข็ดขาม |
ถึงจะยากก็ได้แต่งให้ตัวงาม | จะโทษใครนี่ตัวทำใส่ตัวเอง |
ลางคนเล่าเจ้าแง่พูดแก้ไข | จะโทษใครมิใช่ท่านทำข่มเหง |
ไม่เจียมใจตัวอยากได้กับท่านเอง | มันเกินเพลงสมน้ำหน้าสาแก่ใจ |
ที่ลางคนว่าอย่าบ่นเลยเพื่อนยาก | เราอยากเป็นเจ้าแล้วจะทำกระไรได้ |
ท่านไม่ชอบแล้วก็เฉยทำเลยไป | อย่าร่ำไรไปเลยเราไม่เข้ายา |
ปางท่านท้าวทูนกระหม่อมจอมสนม | นครพรหมกรุงกษัตริย์ผู้นาถา |
สาวเป็นพันจัดสรรให้ทัศนา | พระลูกยามิได้ชอบน้ำพระทัย |
พระภูวนาถเทวราชแล้วบรรหาร | ให้แต่งสารไปถึงทั้งเหนือใต้ |
ในแว่นแคว้นแดนขึ้นกับท้าวไท | ถ้าผู้ใดมีบุตรสาวให้เอามา |
พวกนายเวรเจนแต่งสาราเสร็จ | ไห้ขุนเตร็ดนำสารอันเลขา |
ไปถึงเมืองชนบททุกพารา | วางท้องตราคลี่อ่านในทันใด |
พวกเจ้าเมืองกรมการด่านขนอน | ชาวนิกรพากันมาหวั่นไหว |
คอยฟังตราท่านจะว่าประการใด | ทั้งนายไพร่นั่งจนบนศาลา |
ในเรื่องสารว่าพระผ่านนครพรหม | อิศยมทรงดำรัสเหนือเกศา |
มาถึงจันตประเทศเขตเสนา | ด้วยผ่านฟ้าท่านจะมอบพระนคร |
ให้สมเด็จพระลูกยาขึ้นอุปภิเษก | ไม่มีเอกมเหสีมิ่งสมร |
บรรดาที่มีบุตรีที่งามงอน | จะรีบร้อนให้หาเอามาดู |
ต้องกระบวนควรจักได้กับคนใด | จะมอบให้ขึ้นภิเษกเป็นเอกคู่ |
ทุกนครยอกรขึ้นไหว้ชู | บุญสิงสู่ขอให้ถูกกับลูกเรา |
ที่บรรดาข้าแผ่นดินสิ้นทั้งนั้น | ก็พากันจัดแจงแต่งลูกเต้า |
ขยิ่มใจถ้าได้เข้ากับเรา | อยากเป็นเจ้าจอมหญิงแม่มิ่งเมือง |
บ้างพักตร์ผัดตัดผมให้สมหน้า | เอาขมิ้นเข้ามาทาให้เนื้อเหลือง |
เหลืองลำยองดังเอาทองเข้าทาบเทือง | ทุกบ้านเมืองแต่งตัวด้วยยั่วใจ |
ที่ลางคนยากจนขนาดเหลือ | เที่ยวเช่าเชื่อแหวนทองเขามาใส่ |
ด้วยสำคัญสัญญาคะเนใจ | ว่าท้าวไทท่านจะรักที่แต่งตัว |
ครั้นแต่งเสร็จแล้วก็พากันมาถวาย | พระโฉมฉายพิศดูแล้วยิ้มหัว |
.................................๑๓ | บ้างยิ้มยั่วเย้ายวนให้กวนใจ |
................................. | บ้างงามสมผมหย่งต้นคอใหญ่ |
บ้างงามนมสมรูปแต่พูดไว | บ้างเสียงใหญ่หน้าหยักแต่ปากดี |
บ้างหูยานฟันยาวจมูกโด่ง | บ้างก้นโต่งต่ำเตี้ยเสียราศี |
บ้างพุงพลุ้ยท้องใหญ่ผายนาภี | ที่ว่าดีมีประมาณแค่ปานกลาง |
เสียงก็เพราะเหมาะทั้งรูปไม่สูงต่ำ | รูปก็เหมาะเพราะน้ำคำได้สี่อย่าง |
แต่น้ำใจสามานย์เป็นปานกลาง | ผิดด้วยนางเบญจกัลยาณี |
ก็สิ้นท่าหาผู้หญิงจะภิเษก | ให้เอี่ยมเอกควรบำรุงในกรุงศรี |
ร้อยพาราที่เป็นข้าพระภูมี | ไม่ได้ดีพร้อมอย่างเป็นทางจน |
๏ ขอกล่าวจับธิบาย๑๔นิยายแย่ง | เป็นถ้วนแท่งสามนิทานสาธก... |
ถึงนางฟ้าเทวดาในเมืองบน | เมื่อบุญตนเข้ามาเตือนสะเทื้อนกัน |
แต่ก่อนชาตินาฏนางเป็นมนุษย์ | บริสุทธิ์ศีลาปัญญาขยัน |
อยู่เมืองจันตประเทศเขตคัน | อันเดียวกันร่วมเมืองแต่ก่อนมา |
ปรากฏชื่อคือปาจิตพรหมทัต | สันนิวัสมิให้เสียพาสนา |
เคยสร้างสมอบรมด้วยกันมา | กับนางฟ้าที่มาอยู่ในเมืองบน |
ผลบุญไปเข้าสู่บันดาลจิต | ให้มิ่งมิตรโศกทรวงร่ำสับสน |
ด้วยความสัตย์พิษฐานบุญญาณตน | จึงร้อนรนจะใคร่ร่วมประเวณี |
๏ ฝ่ายท่านท้าวพรหมทัตว่าบุญกว่า | บุญนางฟ้ามากกว่าพระโฉมศรี |
เจ้าปาจิตหริรักษ์พระจักรตรี | บารมีก็พอควรกับนวลนาง |
ด้วยบุญสร้างปางก่อนจึ่งร้อนรน | แล้วเล็งยลทิพเนตรแจ้งกระจ่าง |
ก็รู้ว่าพระปาจิตผู้จอมปรางค์ | เป็นคู่สร้างศีลทานด้วยกันมา |
เทพนางยังจิตให้จุติ | เข้าสนธิในครรภ์อุรสา |
อยู่บ้านไร่ตัวยายเป็นมารดา | ทรงครรภาห้าเดือนไม่เคลื่อนคลาย |
พอสามีถึงกรรมทำลายชนม์ | ต้องเสือกสนเลี้ยงตัวเพราะเป็นหม้าย |
ต้องหาฟืนตักน้ำระกำกาย | นาต้องไถหม้ายผัวอัประมาณ |
ด้วยบุญบุตรเข้าสู่ในครรภา | ชาวประชาไม่อาจทำหักหาญ |
เทพเจ้ามาเฝ้าพยาบาล | เอาพระกลดลงมากั้นกำบังกาย |
อันแสงแดดแผดกล้าไม่พานต้อง | นางอุ้มท้องดำนาจนเที่ยงสาย |
ผู้ใดใครก็ไม่เห็นเย็นสบาย | ระกำกายยากกายาแต่หากิน |
๏ จะกล่าวถึงจักรพงศ์วงศ์กษัตริย์ | โทมนัสเศร้าจิตคิดถวิล |
พิศวงไม่ได้องค์ยุพาพิน | ให้เดือดดิ้นแดดาลรำคาญใจ |
รับสั่งหาโหราเข้ามาเฝ้า | ท่านครูเฒ่าแม่นยำคัมภีร์ไสย |
อันบุญคู่เราอยู่ในทิศใด | จงแจ้งไปให้กระจ่างโหราจารย์ |
โหรบังคมก้มกราบนับดิถี | แล้วตั้งวันเดือนปีเป็นสามฐาน |
ปีมะโรงเดือนหกวันอังคาร | เสาวดารพงเลขในเจ็ดตัว |
แล้วนับไล่ไต่สวนถ้วนอัตตะ | แต่หินะธนังไม่มีชั่ว |
โภคาหนุนกระฎุมพ์พอคุ้มตัว | ไม่หมองมัวดีครันถ้วนชัดตา |
แล้วนับไล่ไต่สวนถ้วนตนุ | จนพันธุปัตนิชันษา |
พฤหัสเป็นปัตติดวงชะตา | ฐานทาสาหนุนมั่นในฐาน...๑๕ |
.......................... | .......................... |
.......................... | สกุลเตี้ยทรพลหนอุดร |
แต่เดิมอยู่เบื้องบูรพทิศ | เป็นสองทิศฝอยคาดพยุหรณ์ |
เก็บประกอบสอบตำราพยากรณ์ | เห็นแน่นอนจริงจังไม่คลังแคลง |
ศิโรราบกราบทูลพระปาจิต | พระทรงฤทธิ์ทรงทราบไม่เคลือบแฝง |
ชันษาดวงชะตานั้นจัดแจง | บอกตำแหน่งบุญคู่อยู่อุดร |
ด้วยราชครูรู้อยู่ฐานปัตนิแน่ | ถ้าไม่พ่อก็ว่าแม่นั้นสังขรณ์ |
เป็นกำพร้ายายย่าอนาทร | แต่บังอรมีบุญพูนสมภาร |
ในตำรานั้นว่าเพิ่งมาเกิด | เอากำเนิดเข้าครรภ์ท่านวิตถาร |
เทพเจ้ามาเฝ้าพยาบาล | เอาพระกลดลงมากั้นด้วยบุญนาง |
งามละม่อมพร้อมกัลยาหญิง | แม่ยอดยิ่งโฉมตรูเป็นคู่สร้าง |
ของพระองค์แน่นอนแต่ก่อนปาง | พระจอมปรางค์จงตระหนักประจักษ์ใจ |
พระปาจิตได้ประจักษ์ซึ่งเหตุผล | ที่คำโหรแจ้งยุบลแต่หนหลัง๑๖ |
ว่าคู่สร้างเนื้อเหลืองอยู่เมืองไกล | ประจักษ์ใจจริงจังไม่คลังแคลง |
พระจึงมีพจนารถประภาษว่า | ท่านโหราดูแล้วไม่กินแหนง |
เขาเล่าชื่อลือดีเหมือนชี้แจง | เหมือนลายแทงบอกให้ในตำรา |
ธรรมดาลายแทงท่านแต่งตั้ง | เป็นสองอย่างไว้ให้คิดปริศนา |
ถ้าเพียรก็คงได้ดอกเงินตรา | ตามตำราพบไถ้คงได้เงิน |
เหมือนท่านตาอาจารย์บรรหารทัก | ว่าคู่รักอยู่บนยอดภูเขาเขิน |
ถึงหญิงอื่นหมื่นพักตร์ไม่รักเพลิน | คงสู้เดินตามไปจนได้นาง |
นี่แน่ะข้าท่านตาโหราจารย์ | เอ็นดูหลานเหมือนได้คิดข้างหน้าหลัง |
ขอฝอยตำราท่านให้ไปกระมัง | ถ้าพลาดพลั้งดูไม่ถึงพึ่งตำรา |
ฝ่ายตาโหรคนปราชญ์ฉลาดแท้ | จึงคิดเจือเผื่อแผ่ไปข้างหน้า |
เป็นคู้สร้างถ้าได้นางครองพารา | ถึงข้างหลังตัวก็ข้าพระภูธร |
เป็นโหราอันตำรานื้สุดรัก | ราวกับควักดวงตาอุทาหรณ์ |
อันตำราอุปมาเหมือนทางจร | จะแน่นอนถ้าจะรู้ดูตำรา |
ด้วยยังเป็นปุถุชนทุพพลชาติ | ปัญญาทาสที่จะทรงนั้นอย่าหา |
ถ้าเอาเด่นที่ท่านเป็นเมธา | ระหัตตาอะระหังไม่พลั้งใจ |
ครั้นไม่ให้ก็จนใจด้วยเป็นเจ้า | พระปิ่นเกล้าจอมชีวิตจะสาย |
ครั้นจะให้ตัวก็โหรเป็นคนทาย | ต้องลอกถวายเดิมตำราเอามาคืน |
ตาโหรปราชญ์แสนฉลาดได้เป็นหลาน | มาจดจารฝอยตำราไม่ฝ่าฝืน |
อ่านพินิจมิให้ผิดตัวยั่งยืน | แกตัดรอนเอาแต่พื้นล้วนใจความ |
โหราท่านจดจารตำราแล้ว | ด้วยผ่องแผ้วมาถวายพระทัยหวาม |
พระทรงจับรับตำราพฤฒาพราหมณ์ | แล้วกล่าวความว่าท่านโหราจารย์ |
ถ้าพานพบนพเก้าเหมือนกล่าวไว้ | จะถึงใจให้แก่ท่านนั้นหนักหนา |
ทั้งช้างม้าโคกระบือถือศักดินา | ท่านโหราจงแจ้งอย่าแคลงใจ |
๏ ปางพระมิ่งทูนกระหม่อมโอรสา | จำเดิมแต่ได้ฝอยตำราน้ำตาไหล |
พระทรงอ่านปานดั่งจะสิ้นใจ | ให้หวั่นไหวคลั่งคลุ้มกลุ้มอุรา |
เห็นเงาไหวหวาดหวั่นว่าขวัญเนตร | แม่การะเกดมาแท้หรือแม่ขา |
พระหลงโอฐษ์ออกเอ่ยเผยวาจา | รู้สึกกายอายหน้าแทบสิ้นใจ |
เข้าสู่แท่นที่ประทับไม่หลับเนตร | ด้วยอาเพทเทพเจ้าแสดงไข |
ให้ร้อนรุ่มสุมทรวงมโนใน | ด้วยอยากได้คู่ชมภิรมยา |
ยามเสวยเลยละกระยาหาร | ไม่แผ้วพานถูกต้องพระหัตถา |
เมื่อยามสรงก็ไม่สรงพระคงคา | ในอุราร้อนรุ่มดังสุมไฟ |
เข้ากราบลาบิตุราชมาตุรงค์ | ขอพระองค์ปิ่นเกล้าผู้เป็นใหญ่ |
กระหม่อมฉันอภิวันท์ขอลาไป | เที่ยวหานางกว่าจะได้กัลยา |
๏ พระบิตุราชมาตุรงค์ได้ทรงฟัง | วัจนังกับพระลูกเสน่หา |
ว่าลูกเอ๋ยตัวพ่อก็ชรา | ไม่รู้วันมรณาที่วันตาย |
จึงให้หากัลยาที่ต้องเยื่อง | จะมอบเมืองให้กับเจ้าขึ้นสืบสาย |
ร้อยบูรีช่างไม่มีควรเปล่าดาย | ต้องฟูมฟายแล้วพระลูกด้วยจำเป็น |
หนึ่งสุดบุตรประเสริฐแต่เพียงเจ้า | นอกกว่าเจ้าบิตุรงค์ไม่ปลงเห็น |
ต้องจนใจทำกระไรพ่อเนื้อเย็น | ต้องจำเป็นแล้วพระลูกต้องจำไป |
ไปเถิดไปให้ดีศรีสวัสดิ์ | พูนพิพัฒน์ลาภเหลือทั้งเหนือใต้ |
ให้ได้นางที่สำอางอย่างวิไล | เดโชชัยสมหวังดังจินดา |
๏ ปางนั้นพระปาจิตฤทธิรอน | รับพระพรบิตุรงค์แล้วหรรษา |
จับพระขรรค์อภิวันท์บังคมลา | พระบาทาสอดฉลองเข้าทันที |
พระอังสาทรงภูษาย่าม | ข้าหลวงหลามตามเสด็จพระโฉมศรี |
พระองค์ห้ามมิให้ตามจรลี | จะไปนี่ต้องการงานอะไร |
อันตัวเราเจตนาเที่ยวหาคู่ | ท่านจงอยู่เป็นสุขตามวิสัย |
พระสั่งพลางจรจรัล๑๗แล้วครรไล | ตั้งพระทัยสู่ทิศบูรพา |
พวกอำมาตย์ราชนิกูลแลขุนหมื่น | ก็กลับคืนเข้าสู่ยังคูหา |
พระปาจิตสุริยวงศ์ทรงศักดา | ก็เอกาเดินเดี่ยวให้เปลี่ยวใจ๑๘ |
............................ | ............................ |
............................ | สักเมื่อไรจะได้พบแม่เนื้อดี |
เที่ยวสัญจรซอนซอกทุกถิ่นฐาน | หลายเมืองบ้านมิได้พบประสบศรี |
ทุกเมืองเอกอิศโรเมืองโทตรี | ทุกบูรีมิได้พบประสบนาง |
มากระทั่งยังเมืองพาราณสี | เป็นบูรีเทวดาท่านสาปสร้าง |
รุ่งโร่โอภาสปราสาทปรางค์ | ยลยอดอย่างแสงแก้วดูแวววาว |
คนทั้งหลายชายหญิงดูผ่องพักตร์ | อเนกนักชุมนุมทั้งหนุ่มสาว |
ดูอัดแอแลสลอนทั้งมอญลาว | เมืองนั้นยาวใหญ่โตมโหฬาร |
ท่านสร้างสระไว้เป็นทานทั้งสี่สระ | สำหรับพระจะได้ลงสรงสนาน |
ประชาชนพลไกรให้สำราญ | จึงขนานนามสระไว้สืบสืบมา |
เป็นสำคัญชื่อสระขวัญแลสระแก้ว | น้ำใสแล้วเยือกเย็นเห็นมัจฉา |
ประกอบมีปทุมมาศดาษดา | ฝูงประชาพลไกรอาศัยกิน |
อีกสระพลุ่งสระเพลงทั้งกว้างใหญ่ | ทำกระไรเหมือนอย่างน้ำในหุบหิน |
อเนกนักผลผักในวาริน | ทั้งโกมินปทุมมาศดาษดา |
ในต้นเรื่องกล่าวว่ามาแต่ก่อน | พระเนื้ออ่อนปาจิตผู้นาถา |
สันโดษเดี่ยวเที่ยวหานางกัลยา | วันนั้นมาลุถึงสถานทาง |
เขม้นมุ่งตามทุ่งไม่วางใจ | เห็นหญิงชายดำนาในทุ่งกว้าง |
เป็นบุญหลังเมื่อจะพบประสบนาง | เหมือนเทวานำทางเข้าดลใจ |
เหลียวชะแง้แลเห็นแม่หญิงดำนา | ในครรภาทรงครรภ์กำลังใหญ่ |
มีพระกลดลงมากั้นร่มไทร | คนทั้งหลายมิเห็นเช่นพระองค์ |
โฉมพระไพรแจ้งใจแล้วหยุดยั้ง | พระองค์นั่งนิ่งคิดพิศวง |
เปิดตำราอ่านตำราก็ว่าตรง๑๙ | เป็นมั่นคงเหมือนคำโหราทาย |
ในอกอิ่มกำเริบเริงบันเทิงรื่น | อารมณ์ชื่นเหมือนได้เวหาหาย |
ที่ทุกข์โศกเศร้าสร้อยก็ค่อยคลาย | ตำราทายว่าในครรภ์นั้นมั่นคง |
ทูนกระหม่อมจอมปาจิตอิครา | รู้ถนัดทัศนาว่านวลหง |
ดวงบุหลันอยู่ในครรภ์พระมาตุรงค์ | พระจอมพงศ์เธอก็รู้ว่าคู่เคย |
แต่ทรามปลอดยังไม่คลอดจากมารดา | พี่เที่ยวหาน้องอยู่วุ่นแม่คุณเอ๋ย |
วาสนามาพบเจ้าทรามเชย | เป็นบุญเคยช่างสบให้อบรม |
พระนิ่งนึกตรึกตรองทำนองอย่าง | บูราณปางหาคู่ภิรมย์สม |
จะเข้ามาหามารดาโดยนิยม | เหมือนสู่สมขอไว้แต่ในครรภ์ |
พระตรึกพลางย่างเยื้องเข้ากราบไหว้ | บังคมยายกล่าวกลอนด้วยอ่อนหวาน |
ได้เมตตาข้าน้อยผู้แดดาล | ฉันหมายการจะมาฝากซากชีวา |
ฝ่ายแม่หญิงปราสัยด้วยใจแคลง | ยังไม่แจ้งที่ในความปรารถนา |
จึงไถ่ถามดูกรญาติกา | อยู่พาราแว่นแคว้นในแดนใด |
หรือวิบัติพลัดเมืองอย่างไรหลาน | จงกล่าวสารมาให้สิ้นที่สงสัย |
หรือเดินดงหลงป่าพนาลัย | หรือยากไร้ทรพลเป็นคนแคลน |
เป็นเจ้านายหรือไพร่เป็นคนยาก | มาลำบากยายเอ็นดูเป็นเหลือแสน |
สำอางเอี่ยมเทียมเทพในเมืองแมน | พ่อเนื้อแน่นเล่าไปให้ยายฟัง |
พระปาจิตอิศราได้ฟังถาม | จึ่งเล่าความอนุสนธิ์แต่หนหลัง |
เผยวาจาชลนาก็ไหลพัง | เป็นสัจจังฉันจะเล่าให้เข้าใจ |
นามฉันชื่อปาจิตอิศรา | พระบิดาเสวยราชย์นครใหญ่ |
ทุเรศร้างจากวังมาเดินไพร | ด้วยหวังใจปรารถนาหาคู่ครอง |
เที่ยวสัญจรซ่อนซนเที่ยวค้นหา | ทุกพารามิได้พบประสบสอง |
พบแต่หญิงมิให้สมอารมณ์ปอง | แม่คู่ครองมิได้รู้อยู่ด้าวใด |
แต่แรมร้างถึงบ้านแม่ทูนเกล้า | จะร่ำเล่าเหมือนหนึ่งชลนัยไหล |
สิ้นชีวามิได้มาคิดอาลัย | ด้วยว่าภัยเหลือล้วนมาจวนตัว |
ทั้งผีสางทั้งเสือนั้นร้ายฤทธิ์ | แทบชีวิตจะไม่รอดแม่ทูนหัว |
ก็หมายตายไม่หมายมาเป็นตัว | มิได้กลัวหมายจะพบประสบนาง |
เวลานอนหมอนหนุนแต่ท่อนไม้ | ระดับใบรุกขชาตินั้นต่างต่าง |
เป็นอาสน์รองกายในกลางทาง | ผลไม้ได้ต่างโภชนา |
ระทมทุกข์บุกป่าพนาเวศ | น่าสมเพชร่างกายแม่ยายขา |
เป็นกุศลผลสร้างแต่หลังมา | เข้าดลใจนัยนามาพบพาน |
ฉันขอเป็นเกือกทองฉลองบาท | กว่าชีวาตม์จะสิ้นสังขาร |
จนกราบเท้าเข้าสู่พระนิพพาน | แม่คุณเหมือนมารดาได้การุณย์ |
ขอเป็นลูกผูกอาลัยแต่ในท้อง | กว่านิ่มน้องจะได้คลอดจะเกื้อหนุน |
อยู่อาสากว่าจะใหญ่ขึ้นไพบูลย์ | แม่เจ้าคุณกรุณาจงปรานี |
๏ ฝ่ายข้างยายได้สดับปาจิตว่า | ให้สมเพชเวทนาพระโฉมศรี |
กระไรเลยพ่อเชื้อวงศ์พงศ์โสภี | มาเอกีกรากกรำระกำกาย |
ทำกระไรเล่าพ่อสายสังวาลผ่อง | ด้วยก้อนทองอยู่ในครรภ์พ่อโฉมฉาย |
อนึ่งเล่าไม่รู้จริงหญิงหรือชาย | จะเป็นตายหรือไรไม่แจ้งการ |
ปางพระจอมปาจิตอิศราช | สุดสวาทวอนว่าน่าสงสาร |
โอ้แม่คุณตามแต่บุญแลสมภาร | เมื่อถึงการทุกคนย่อมจนใจ |
ซึ่งแม่แคลงว่าไม่แจ้งว่าชายหญิง | ลูกไม่กริ่งเห็นตรงอย่าสงสัย |
โหรเขาทายให้ตำรามาเต็มใจ | ว่ากลดใหญ่กั้นกางกลางครรภา |
แม่คู่สร้างบุญหลังพามาให้พบ | ให้ประสบสมมาดปรารถนา |
กุศลแล้วเห็นประจักษ์ไปชักมา | เข้านำพามาให้พบพระชนนี |
ฝ่ายว่ายายได้กระจ่างไม่สงสัย | จึงคิดไปว่ากุศลพระโฉมศรี |
ไปดลจิตมาเป็นมิตรไมตรี | ครั้นจะหนีเบือนบ่ายก็ใช่การ |
อนึ่งไซร้มิใช่พระเป็นคนยาก | มาออกปากวอนว่าน่าสงสาร |
อนึ่งเล่าเจ้าก็เฝ้าพยาบาล | ไม่ควรการตัดรอนต้องผ่อนปรน |
จึงปราสัยว่าพ่อไพรหน่อกษัตริย์ | ยายไม่ขัดทางความตามนุสนธิ์ |
เอาแต่บุญวาสนาชะตาตน | ดวงอุบลคลอดใหญ่จะให้ปัน |
ตำราทายของพระองค์ที่ถือมา | ครั้นพบนางสมตำราเกษมสันต์ |
ครั้นนานเนิ่นอยู่จำเริญไปหลายวัน | ผู้หนึ่งนั้นมาขอยืมไปบ้านยาง |
จริงหรือเขาเล่ากันไปหลายบ้าน | ตำรานั้นแน่นักไม่อางขนาง |
ที่ลางคนก็อยากได้ไว้เป็นทาง | เที่ยวเสาะสางสืบสาวเอาตำรา |
ครั้นพบพานแล้วก็อ่านในเรื่องฝอย | ช่างแช่มช้อยทายแน่นั้นนักหนา |
หาใบลานจดจารเขียนตำรา | เป็นโกลาลือลั่นสนั่นไป |
ที่นามบ้านพากันเรียกว่าบ้านยาง | ก็ทิ้งขว้างเสียหาเรียกดังเก่าไม่ |
เรียกแต่บ้านจารตำราทุกคนไป | ก็เสียหายชื่อบ้านยางแต่หลังมา |
เรียกออกอึงมาถึงทุกวันนี้ | ชาวบูรีหญิงชายอย่ากังขา |
เรารู้เรื่องแรกเริ่มแต่เดิมมา | จึ่งบอกตราไว้ให้รู้เป็นสำคัญ |
๏ ปางพระหน่อสุริยวงศ์พงศ์บพิตร | พระปาจิตปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
แต่ขอได้ขนิษฐาสุดาจันทร์ | ก็ผูกพันเฝ้าผดุงบำรุงเรอ |
ทั้งถากไร่ไถนาหาฟืนไว้ | หาผู้ใดอย่ามาเทียบเปรียบเสมอ |
สานกระบุงสานกระบานสานกระเชอ | ด้วยท้าวเธอรักสุดาอุตส่าห์ทำ |
ทั้งตักน้ำตำข้าวเฝ้าปรนนิบัติ | สารพัดตั้งแต่เฝ้าอุปถัมภ์ |
แต่ชั้นตะแกรงตะกร้าอุตส่าห์ทำ | บำรุงร่ำพยาบาลจนนานมา |
ทรามสงวนครบถ้วนทศมาส | ลมชวาตก็เฝ้าผันหันเกศา |
กระหน่ายเหน็บเจ็บครรภ์พระมารดา | ทรมาเหนี่ยวหน่วงแทบทรวงพัง |
ทั้งเผ่าพงศ์วงศามาช่วยพร้อม | เข้านั่งล้อมแอบอิงให้พิงหลัง |
แต่พี่น้าน้องหญิงวิ่งระนัง | ปรึกษาดังพลางปราสัยกันไปมา |
คนหนึ่งว่าจะได้หมอที่ไหนเล่า | คนหนึ่งเจ้าว่าได้หญิงเขาเคยหา |
หมอตำแยมีแต่ที่บ้านนา | เร็วอย่าช้าหาคนที่เดินไว |
คนหนึ่งว่าให้ไปวานพ่อเณร | บางคนเห็นว่าปาจิตก็ไปได้ |
เหมือนดวงจิตเจ้าปาจิตไปเถิดไป | จงเร็วไวเดินวิ่งเจียวหลานอา |
ปาจิตเจ้าก้าวตรงลงบันได | ก็สาวตีนเดินไวเหมือนวิ่งม้า |
เหยาะทุกย่างมากระทั่งถึงบ้านนา | จึงถามหาเรือนยายลอหมอตำแย |
ชาวบ้านบอกตรอกบ้านยายหมอเฒ่า | ติดยุ้งข้าวริมต้นพลับลับแฉว |
ปาจิตเจ้าเดินสาวละลานแล | มาถึงเห็นยายแก่นั่งนอกชาน |
จึงออกโอษฐ์เอื้อนความตามปราสัย | เรือนขึ้นได้หรือไม่ได้ท่านยายหลาน |
แกตอบว่าจงขึ้นมานั่งสำราญ | พระผู้ผ่านตรงขึ้นนั่งบังคมยาย |
แกนบนอบตอบคืนว่าไหว้พระ | จงสุขะมีพละนั้นเหลือหลาย |
ธุระร้อนหรือเทียวเชือนมาเรือนยาย | อยู่สบายหรือสำราญที่บ้านเรือน |
โฉมพระไพรกราบไหว้จึ่งกล่าวว่า | ยิ่งกว่าป้าหาใครก็ไม่เหมือน |
มาหายายเชิญยายไปที่เรือน | บ้านไร่โตรกโคกเขื่อนริมคงคา |
ด้วยแม่บัวมัวหมองจะคลอดบุตร | เจ็บที่สุดเหลือทนให้มาหา |
ยายได้ช่วยอย่าให้ม้วยมรณา | เอาชีวาช่วยไว้ยายอย่าเมิน |
ทั้งยายตาแกจึ่งว่าเจ้าหลานขวัญ | อย่าพรึงพรั่นขวัญหายระหกระเหิน |
ยายออกมาว่าน้อยร้อยก็เดิน | ถ้าประมาณเหมือนประเมินก็ถึงพัน |
ได้โปรดหลานเอ็นดูฉันอย่าอยู่ช้า | มะนิมมะนาเชิญยายรีบผายผัน |
ท่านยายหมอฉวยห่อของสำคัญ | แล้วจรจรัล๒๐ลงเรือนเคลื่อนครรไล |
สักครู่หนึ่งมาถึงประตูบ้าน | ท่านตาปานออกจากบ้านไปเก็บฝ้าย |
พระปาจิตถามว่าตาเป็นไร | ตาปานบอกว่าออกได้สำเร็จตัว |
แต่นั้นมาพากันลือออกแซ่ซ่าน | ให้นามบ้านโฉ่ฉาวเล่ากันทั่ว |
เขาคลอดบุตรเป็นตำราเจียวป้าบัว | ทุกคนตัวพูดอึงคะนึงไป |
บ้านไร่ป่าพากันเรียกบ้านสำเร็จ | มีนิเทศเรื่องนิทานบุราณไข |
เพราะคลอดบุตรชุลมุนออกวุ่นไป | เจ้าปาจิตจึงได้รับเอาหมอมา |
หมอมาผันมาไม่ทันออกสำเร็จ | คำนี้จริงมิได้เท็จมามุสา |
คนบูราณชื่อบ้านขนานมา | ให้ฉายาคลอดลูกสำเร็จตัว |
คนทุกวันมาผันเรียกบ้านสัมฤทธิ์ | ครั้นคิดดูก็ขันเป็นน่าหัว |
เรียกร่ำเรื่องโฉ่ฉาวอยู่พันพัว | พากันมัวเรียกสัมฤทธิ์นั้นผิดไป |
ฝ่ายยายลอหมอตำแยมาถึงสถาน | พบตาปานถามว่ายายไปไหน |
ยายลอบอกว่าปาจิตเจ้าทรามวัย | มารับไปผันครรภาของป้าบัว |
ฝ่ายตาปานฟังสารปราสัยว่า | ท่านยายมาก็ไม่ทันดอกทูนหัว |
ยายบัวคลอดลูกออกไปพ้นตัว | กำลังมัวติดไฟใส่เชิงกราน |
ท่านยายลอหมอตำแยแกจึ่งว่า | เสียทีมาหลานหาได้ไปแปรผัน |
เราเดินช้าเสียทีมาก็ไม่ทัน | คนลือลั่นเป็นตำราสนั่นไป |
เดิมบ้านนาบ้านยายลอหมอตำแย | ก็เปลี่ยนแก้เรียกตั้งไปอย่างใหม่ |
เอานามตำเยื่องหมอตำแยเขาเรียกไป | ก็ตั้งใจเรียกกันบ้านตำแย๒๑ |
............................... | ............................... |
............................... | บ้านตำแยเรียกออกแซ่คงทุกวัน |
๏ ฝ่ายพระไพรที่เขาใช้ไปหาหมอ | ได้ยายลอก็มาไม่ทันผัน |
อยู่ภายหลังดวงยุพินเจ้าดิ้นดัน | ก็ผายผันออกพ้นจากครรภา |
เป็นสตรีนวลองค์อันผ่องผาด | เอี่ยมสะอาดเลิศโลกอันเลขา |
ผิวเนื้อน้องดังเอาทองเข้าทาบทา | พระพักตราแจ่มแจ้งดังแสงโคม |
สะอาดเอี่ยมเทียมเทพนฤมิต | เหลือวิจิตรเลิศโลกวิไลโฉม |
ช่างแช่มช้อยควรที่หมายประโลม | ลอยโพยมจะมาเปรียบไม่เทียบทัน |
ทั้งสองแก้มแจ่มใสดังไข่ปอก | ทั้งสองถันเหมือนดอกปทุมถัน |
ทั้งสองคิ้วค้อมก่งเหมือนวงจันทร์ | เจ้างามทรงเบญจกัลยาณี |
แต่รุ่นสาวถึงสองงามสะอาดเอี่ยม | จะมาเทียมก็ไม่เท่าแม่โฉมศรี |
จนพระชันษาสิบห้าปี | พระชนนีให้นามตามทำนอง |
ชื่อนางอรพิมแม่นิมนาฏ | สตรีชาตินารีไม่มีสอง |
พระปาจิตรักใคร่ดังใจปอง | ใคร่ประคองเสน่หาแม่หน้านวล |
ครั้นค่ำมานิทราเพลาดึก | คะนึงนึกถึงแม่งามทรามสงวน |
สะท้อนถอนฤๅทัยแล้วใคร่ครวญ | ครั้นจะลวนลามชมภิรมยา |
พระบิตุราชมาตุรงค์ผู้ทรงศักดิ์ | ไม่ควรหนักราษฎรจะครหา |
ว่าชายไพร่ไร้ชาติญาติกา | จะขายฝ่าละอองบาทมาตุรงค์ |
หนึ่งเจ้าราวกับดวงมณีเนตร | ยุพเรศราวกับราชเหมหงส์ |
จะน้อยใจว่าเราไร้ประยูรวงศ์ | จะเอาองค์บิดามาพาอาย |
จำจะมาลากลับไปเมืองก่อน | ไปกราบทูลบิดรให้ผ่องใส |
จนรุ่งรางสางแสงอโณทัย | พระทรามวัยก็ตื่นจากนิทรา |
ครั้นรุ่งเช้าตรงเข้าไปก้มกราบ | ศิโรราบแล้วประนมเหนือเกศา |
ลูกขอลาฝ่าละอองทั้งสองรา | ไปกราบทูลพระบิดาให้แจ้งใจ |
แค่ทูลฝ่าละอองเที่ยวหาคู่ | มิได้รู้ตายเป็นเห็นไฉน |
อนึ่งเล่าอรพิมยิ้มละไม | ก็โตใหญ่ควรการแล้วมารดา |
จะได้ทูลว่าไปพบแม่นพเก้า | แต่ย่อมเยาว์มาจนใหญ่ขึ้นหนักหนา |
สมเด็จองค์ทรงฤทธิ์พระบิดา | จะได้มาแต่งงานการมงคล |
๏ ฝ่ายท่านยายฟังพระไพรจะลาจาก | น้ำตาพรากไหลย้อยดังฝอยฝน |
แม่รักเจ้าเท่าลูกในไส้ตน | บาปมาจึงดลให้จำไกล |
มาทำนาหาเลี้ยงแม่น้อยหรือ | ความสัตย์ซื่อต่อมารดาจะหาไหน |
มิให้แม่ได้ยากลำบากใจ | ทั้งนาไร่ทำเลี้ยงเพียงอุทร |
ความรักแม่เจ้าไม่ทำซึ่งความชั่ว | แกทุ่มตัวนอนนิ่งเหมือนกลิ้งขอน |
ด้วยกำหนัดโพธิสัตว์พระภูธร | เอาสองกรข้อนทรวงเข้าเสียดาย |
ครั้นสร่างโศกแล้วกระสันรำพันว่า | พ่อแก้วตานัยเนตรพ่อฤๅสาย |
ช้าน้อยหรือพ่อไม่ถือว่าเจ้านาย | มาแปลงกายทรพลเหมือนคนตรวน๒๒ |
............................. | ............................. |
............................. | แล้วอวยพรสวัสดีให้มีชัย |
พระปาจิตกุมารประสานหัตถ์ | โสมนัสรับพรด้วยผ่องใส |
แล้วผินหน้ามาสั่งนางทรามวัย | แม่ดวงใจนุชน้องจงครองตัว |
จงสุขาวัฒนาเถิดพิมพี่ | สวัสดีอย่าอาดูรเลยทูนหัว |
รักษากายอย่าให้ชายมาพันพัว | สงวนตัวจงเสงี่ยมเถิดงามงอน |
พี่ขอลากัลยาแม่เพื่อนยาก | ด้วยจำเป็นจำจากแม่ดวงสมร |
คืนสถานแจ้งสารพระบิดร | ว่าได้นางท่านจะผ่อนประการใด |
แม่ดวงตาฟังปาจิตพิไรสั่ง | สุชลหลั่งคลอเนตรยิ่งนองไหล |
สองพระกรข้อนทรวงนางทรามวัย | แล้วร่ำไรว่าพระพี่ของน้องยา |
จะจากไปดังน้องวายชีวาสัญ | ดังใครฟันด้วยขรรค์ให้สังขาร์ |
นางเนื้อนุ่มทุ่มทอดกายา | แล้วพร่ำว่าร่ำไห้พิไรวอน |
พี่ปาจิตช่างไม่คิดบ้างเลยพี่ | อยู่ดีดีจะมาไปให้ไกลหมอน |
พี่รักน้องเหมือนหนึ่งน้องร่วมอุทร | จงงดก่อนชั่งใจเป็นไรนา |
ทุกเช้าเย็นน้องได้เห็นพี่เดี๋ยวนี้ | โอ้พระพี่จะมาจากให้ครวญหา |
เมื่อยามกินน้องจะกินแต่ชลนา | เมื่อยามนอนน้องจะว้าวังเวงใจ |
คิดเมื่อยามทอดกล้าเคยพาน้อง | ถึงฝนตกฟ้าร้องพี่คราดไถ |
พี่ให้น้องนั่งกระท่อมช่างออมใจ | โอ้พี่ไพรงามรักช่างภักดี |
มาอาสาแต่ข้าอยู่ในครรภ์แม่ | จะวิ่งแร่ทิ้งน้องให้หมองศรี |
อย่าเพ่อไปเลยเป็นไรพี่ใจดี | อยู่เถิดพี่จะได้นำน้องทำนา |
ข้าวสุกน้องจะทุกข์ด้วยขับนก | น้ำค้างตกเปียกลื่นทั้งพื้นผา |
โอ้แต่วันนี้ไปไหนจะมา | โอ้น้ำตาก็จะไหลเป็นสายชล |
โอ้ชะตาวาสนาของพี่เอ๋ย | กระไรเลยอาภัพร่ำสับสน |
พ่อก็ตายหมายพี่เป็นเพื่อนตน | กลับพิกลเกิดกรรมมาจำไกล |
ถึงหนักเบาพี่ก็นิ่งไม่ตอบโกรธ | ไม่ถือโทษอดออมไม่ตอบไข |
มาหนีเร้นน้องจะอยู่กับผู้ใด | จะขอไปไม่ขออยู่จะสู้ตาม |
มารดานางเห็นไม่สร่างซึ่งโศกศัลย์ | จึงรำพันลูบไล้พิไรห้าม |
โอ้แม่ทองพันชั่งจงฟังความ | จงตั้งไว้ให้งามเถิดดวงตา |
เจ้าปาจิตอิศรังแม่ยังเห็น | ไม่พูดเล่นคงจะกลับคืนมาหา |
เธอไปนี่เธอเอาข่าวพระลูกยา | ไปกราบทูลพระบิดานครพรหม |
จงหยุดยั้งฟังแม่เถิดทูนเกล้า | อย่าร้อนโรคโศกเศร้าเลยงามสม |
พี่จะไปเป็นลางกลางพนม | ...............................๒๓ |
ฝ่ายเจ้าปาจิตไปอย่าอยู่หึง | นึกคำนึงอยู่ด้วยน้องหนาลูกหนา |
อันตัวแม่นี้ก็แก่กายชรา | ไม่รู้วันมรณาเมื่อวันใด |
๏ ปางพระหน่อสุริยวงศ์พงศ์บพิตร | พระปาจิตเลิศล้ำในต่ำใต้ |
เคารพรับคำมารดาโศกาลัย | ลูกไปจะรีบมาไม่ช้าทาง |
ถึงลูกไปไปแต่กายอันดวงจิต | เหมือนใครปลิดให้กระเด็นไปจากร่าง |
จิตของลูกเข้าไปผูกน้ำใจนาง | เป็นสุดอย่างแล้วที่รักนางอรพิม |
พระภูธรยอกรประนมไหว้ | แล้วลายายใจห่วงระหามหิม |
แทบสะออยพระชม้อยดูหน้าพิม | หัวอกอิ่มอัดอั้นตันอุรา |
แล้วกลีนกลั้นผันผ่อนซึ่งความรัก | ประหารหักโศกโทมนัสสา |
ค่อยเริ่มทรามจับย่ามสะพายมา | แล้วยาตราแข็งใจไปตามทาง |
พระทัยหวนแล้วผวนมาเพ่งพิศ | ดูยาจิตนิ่มน้องยิ่งหมองหมาง |
นางทอดกายแทบจะวายชีวาวาง | พระเดินทางดับโศกด้วยโลกธรรม |
๏ ฝ่ายข้างแม่ปลอบนางให้สร่างโศก | อย่าวิโยคไปด้วยพี่เลยงามขำ |
พระปาจิตสุริยวงศ์ดำรงธรรม | ก็ระกำตามรรคาพนาลี |
เห็นแต่สัตว์จัตุบาทออกกลาดกลุ้ม | ให้ร้อนรุ่มเศร้าทรวงพระโฉมศรี |
หวนถึงมิตรคิดถึงมิ่งดวงมณี | โอ้พิมพี่แม่จะตรมระทมตรอม |
เมื่อจากกันยังไม่ทันจะร่วมรัก | เยาวลักษณ์กำลังแจ่มเจียวแก้มหอม |
โอ้เสียดายกลัวแต่ชายปลักปลอม | ถึงแม่ยอมก็เห็นน้องไม่ปองใจ |
แล้วกลืนกลั้นหันคิดถึงความหลัง | ที่ไหนนางจะไปหลงอย่าสงสัย |
ถึงว่าแม่นั้นก็เห็นไม่เป็นไร | ด้วยรักใคร่เหมือนหนึ่งลูกในอุทร |
พระพลางชมสกุณัยแลไก่เถื่อน | เหล่ากระลิงบินเลื่อนแลสลอน |
มาบอกลางฤๅนกเอยฤๅเคยจร | หรือสังหรณ์มาประภาษประหลาดลาง |
เห็นนกเขาขันแอบอยู่แนบคู่ | เบียดกับคู่ขันคูแล้วถากถาง |
เอะประหลาดมาประภาษแต่ล้วนลาง | หรือว่าลางแกล้งบินมาบอกกู |
เห็นนกเอี้ยงจับหลังกระบือแก่ | พูดจอแจบินขยับลงจับหู |
พระหวนคิดจิตคะนึงถึงโฉมตรู | เหมือนนั่งอยู่พร้อมกับยายที่ในเรือน |
เคยเคียงคู่อยู่กับพิมนิ่มขนิษฐ์ | ครั้นขุกคิดเหมือนนกเอี้ยงเลี้ยงควายเถื่อน |
ไม่ปลดปลงเราก็คงได้ร่วมเรือน | นกนี้เหมือนอกเรียมที่เกรียมทรวง |
เห็นอุลอล่อไล่กับไก่ฟ้า | ล่อจนล่าล่อให้ไก่ไล่เป็นห่วง |
เห็นนกลอกับไก่ฟ้ามาต้องทรวง | ยิ่งเหงาง่วงคิดรำพึงไปถึงพิม |
พระเดินเดียวเปลี่ยวใจสะพายย่าม | ระหิมหามด้วยเป็นห่วงนางเนื้อนิ่ม |
เสียงละมั่งกวางทองมาร้องริม | คิดถึงพิมในอารมณ์ยิ่งกรมกรอม |
พระข้ามโตรกธารละหานกว้าง | เข้าป่าระหงดงยางดอกไม้หอม |
หอมยวนหวนยอดดอกพยอม | หอมเหลือหอมหอมหวนลำดวนดง |
ลมพระพายชายพัดเอาเกสร | หอมขจรกฤษณาดอกกาหลง |
เห็นฝูงกาบินถลามาจับลง | นี่มิหลงแล้วหรือกาจึ่งมานอน |
เหมือนอกข้าเจียวหนอกามาเป็นหมู่ | เหมือนเราอยู่หลงด้วยมิ่งสมร |
ทิ้งนิเวศทิ้งถิ่นฐานพระมารดร | ทิ้งนครบิดานิจจาใจ |
ลืมพี่น้องญาติกาเหมือนหมาวัด | มาหลงพลัดอยู่ด้วยเขาเป็นไหนไหน |
สิบหกปีเจียวปานนี้จึ่งคืนไป | นิจจาใจช่างมาหลงพะวงตาม |
แล้วขืนคิดท้อใจอย่างไรเล่า | มิใช่เจ้าท่านไปใช้ให้หาบหาม |
เพราะหาคู่จึงได้สู้พยายาม | ได้เมียงามแล้วยังคอยทำน้อยใจ |
พระคืนกลับดับโศกในทรวงสร่าง | พักตร์กระจ่างดังพระจันทร์จำรัสไข |
พระแรมทางมาในกลางพนมไพร | ประมาณได้เดือนหนึ่งถึงบูรี |
เข้าบูรินทร์เห็นพระปิ่นโอรสราช | บ้างกอดบาทบังคมพระโฉมศรี |
หมู่อำมาตย์ข้าเฝ้าเหล่าเสนี | ก็ยินดีสรรเสริญจำเริญพร |
พระปาจิตสุริยวงศ์ทรงเดช | เข้านิเวศเฝ้าองค์พระทรงศร |
บังคมบาทพระบิตุราชพระมารดร | พระภูธรพิศวงพระลูกยา |
พระลูกเอ๋ยพ่อนี้หมายว่าตายแล้ว | พ่อดวงแก้วเรืองสว่างพระเวหา |
พ่อทุกข์หนักเหมือนเขาควักเอาดวงตา | เจ้ากลับมาพ่อนี้หมายวายระทม |
พระมารดาว่าโอ้พ่อนพรัตน์ | ทิ้งสมบัติแสนสุรางค์นางสนม |
พวกสาวใช้ว่าพ่อไปเหมือนหายลม | บุญนิยมอายุศม์ยืนได้คืนมา |
พวกเตี้ยค่อมว่าพระจอมมงกุฎเกศ | ทิ้งนิเวศทิ้งพระญาติวงศา |
เที่ยวหาคู่สู้ลำบากยากกายา | รักแต่คู่สู้เอาชีวาไปแลกนาง |
พระเจ้าพี่ว่าแต่นี้ไม่เป็นไร | คืนมาได้เดชะบุญไปหนุนขวาง |
พระเจ้าน้องว่าคงครองสวรรยางค์ | เป็นบุญสร้างจะได้สืบบุรีรมย์ |
พวกข้าเฝ้าว่าพระเจ้าชีวิตไพร่ | อยู่ก็ดีไปก็ได้ดังใจสม |
พวกเสนาว่าบ่นหาพ่อระงม | คืนมาได้ไพร่นิยมอายุศม์ยืน |
พวกชาวเมืองว่าพ่อเรืองแสงสว่าง | แจ่มกระจ่างไพร่ฟ้าให้ฝ่าฝืน |
ได้สุขวัฒนาทุกวันคืน | อายุศม์ยืนพ่อภิญโญเดโชชัย |
ต่างคนต่างก็ชมนิยมยก | ให้พ่อปกครองเมืองเรืองมไห |
พระบิตุรงค์ทรงถามเนื้อความไป | เดิมอย่างไรไปพบประสบนาง |
จบเล่ม ๑
-
๑. ในเล่ม ๑ นี้ เนื้อเรื่องขาดตอนไปบ้าง ไม่ต่อเนื่องกับเล่ม ๒ แต่พอจับความได้ ↩
-
๒. มัสการ = นมัสการ ↩
-
๓. ให้อ่านว่า อะ-ดีด-ตะ-นิ-ทาน ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ↩
-
๔. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทย สำนวนหลวงบำรุงสุวรรณแต่งว่า นครทม ↩
-
๕. ในหนังสือสมุดไทยไม่มีคำสัมผัสระหว่างวรรค ↩
-
๖. ภาษาถิ่นทางอีสาน แปลว่า เท่า, เสมอ ↩
-
๗. น่าจะเป็น สังข์พิธี ↩
-
๘. พยพ = อพยพ ↩
-
๙. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยว่า ที่เนินสูงเกลี่ยปราบให้ราบรื่นเลี่ยน ↩
-
๑๐. ต้นฉบับว่าซื่อตรง ↩
-
๑๑. เวจี = อเวจี ↩
-
๑๒. ให้อ่านว่า มะ-นะ ↩
-
๑๓. คำประพันธ์ตรงนี้เข้าใจว่าคัดลอกตกไป ↩
-
๑๔. ธิบาย = อธิบาย ↩
-
๑๕. คำประพันธ์ตั้งแต่นี้เข้าใจว่าคัดลอกตกไป ↩
-
๑๖. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยไม่มีคำสัมผัสระหว่างบท ↩
-
๑๗. สมุดไทยฉบับหลวงบำรุงสุวรรณแต่งใช้ว่า “จรจัล” ↩
-
๑๘. คำประพันธ์ตั้งแต่นี้เข้าใจว่าคัดลอกตกไป ↩
-
๑๙. ต้นฉบับว่า “กรง” ↩
-
๒๐. ต้นฉบับใช้ว่า “จรจัน” ↩
-
๒๑. คำประพันธ์ตั้งแต่นี้เข้าใจว่าคัดลอกตกไป ↩
-
๒๒. คำประพันธ์ตั้งแต่นี้เข้าใจว่าคัดลอกตกไป ↩
-
๒๓. คำประพันธ์วรรคนี้เข้าใจว่าคัดลอกตกไป ↩