ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๓
ตั้งแต่นางอรพิมฆ่าพรานไพรตาย จึงเดินทางกลับมาหาพระปาจิต จนถึงนางอมรใช้สาวใช้ให้นำเภสัชและหนังสือไปถวายพระสังฆราช
ต้องยอมนางนั่งหน้านางนงคราญ | นายพรานพาลเคลื่อนควายขยายเดิน |
สงสารหน่ออรพิมแม่โฉมฉาย | ต้องขี่ควายอุ่นอกระหกระเหิน |
นายพรานไพรเตือนควายให้ด่วนเดิน | ขึ้นโคกเกริ่นข้ามดอนรีบร้อนมา |
พระสุริย์ฉายสายแสงกำดัดแดด | ให้ผาดแผดร้อนเร่าเผาเกศา |
เจ้ามิ่งมิตรดวงสมรอ่อนระอา | ควายก็ล้าอ่อนกายระหายชล |
นายพรานไพรเร่งควายไม่หยุดหย่อน | ควายก็ร้อนหิวหญ้าร่ำสับสน |
นางยอดมิ่งวิงเศียรให้เวียนวน | เหลือจะทนวอนไหว้กับนายพราน |
เอ็นดูฉันเถิดพี่พรานพาหยุดพัก | ร่มสำนักต้นพระไทรใหญ่พิศาล |
ฉันวิงเวียนเศียรศีรษะพ้นประมาณ | พอแดดอ่อนผ่อนสำราญจึงเคลื่อนคลาย |
นายพรานป่าเห็นว่ากำลังร้อน | ควายก็อ่อนพรานก็บอบหอบระหาย |
จึงพานุชเข้าไปหยุดร่มพระไทรพราย | สายสุดใจคลายระทมอารมณ์ครัน |
นายพรานไพรล่ามควายให้กินหญ้า | ทั้งน้ำท่าปรีดิ์เปรมประเสม |
มีสระใหญ่จัตุระสระสำคัญ | ประกอบกันด้วยอุบลจงกลนี |
สัตบันผันเผื่อนบัวบงกช | ก็มีหมดเขียวแดงเป็นแสงสี |
ผลฝักมีมากในวารี | น้ำใสดีเยือกเย็นเห็นตัวปลา |
สายสมรผ่อนสบายสายกระแส | ทั้งมุดแช่กินอาบซาบนาสา |
ค่อยหายเหนื่อยชุ่มชื่นรื่นอุรา | ที่เลื่อยล้าคืนคลายสบายบาน |
ลมพระพายชายพัดมาฉิวฉ่า | นายพรานป่าเคลิ้มไปใจสมาน |
ก็เอนกายหลับเรื่อยเฉื่อยสำราญ | นางเยาวมาลย์คิดแค้นแน่นอุรา |
ไอ้พรานเฒ่าใจราวกะยักษี | ล้างชีวีให้ชีวังมันสังขาร์ |
มึงยิงผัวกูตายวายชีวา | อหังการ์พาจำกำจัดจนพลัดกัน |
ชักมีดเหน็บพรานได้ไม่ไว้แรง | กระแทกแทงโครงผลุทะลุสัน |
พรานสะดุ้งดิ้นโลดกระโดดดัน | นางแจ่มจันทร์จึงเอามีดเข้ากรีดคอ |
พรานทมิฬดิ้นสำรอกกระทอกเลือด | นางง้าเงือดแทงซ้ำเข้าซอกศอ |
นางด่าจานว่าไอ้พรานหมาหางงอ | บั่นถึงคอมึงฤๅยังไอ้จังไร |
มึงทำกูเป็นไรมึงจึงไม่คิด | กินโลหิตของไอ้พรานกูหมั่นไส้ |
ตบด้วยตีนให้มันดิ้นกระเดือกไป | จึงสาใจให้มึงหนำที่ทำกู |
นางว่าพลางย่างยกบาทาเท้า | ขยับเก้าถีบเปรี้ยงเข้าเพียงหู |
ไอ้พรานไพรยังไม่ตายลืมตาดู | เสียงครางหูร้องโวยขึ้นโดยแรง |
เยาวมาลยเห็นพรานยังร้องได้ | นางด่าให้ว่าไอ้พรานไอ้ใจแข็ง |
เอาท่อนไม้ทุบผางกำลังแรง | มีดเหน็บแทงเข้าหัวใจก็ตายพลัน |
๏ ดวงสุดาครั้นว่าฆ่าพรานตายแล้ว | ก็คลาดแคล้วรีบรี้ขมีขมัน |
มาตามสวนรอยควายได้สำคัญ | พระสุริยันเจียนจะเยี่ยมเหลี่ยมพระเมรุ |
สงสารเจ้าเยาวมาลย์สมรแม่ | ให้ท้อแท้ด้วยฝ่าเท้านั้นเหลือเถน |
นางอัดอั้นกลั้นใจด้วยจำเป็น | ตะเกียกเกนมาเถิงศพพระสามี |
ดูพระศพก็ยังเด่นไม่เหม็นเน่า | นางนงเยาว์กลิ้งเกลือกเสือกเกศี |
พิไรร่ำร้องเรียกพระสามี | พระจักรีลืมตาขึ้นหาเมีย |
พระโพธิ์ทองรับน้องเอาไปด้วย | จะขอม้วยดับใจบรรลัยเสีย |
มาที้งวางร่างกายไว้ให้เยีย | จะให้เมียไปอยู่หนตำบลใด |
เมียกลับมาคืนมาหาพระองค์แล้ว | พระก้อนแก้วควรมาเฉยเลยหลับไหล |
กลับมาคืนฟื้นมาสั่งพ่อสายใจ | นางร่ำไรร้องรักพระสามี |
แล้วยกกรขึ้นประสานทูนศีรษะ | ขอเดชะเทพดาในราศี |
เทวดาที่รักษาพระปฐพี | พระธรณีที่ท่านทรงพระคงคา |
เทพเจ้าอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์ | สิบหกชั้นจนไปเถิงอกนิษฐา |
พระคุณเอ๋ยจงมาช่วยข้าด้วยรา | ให้ผัวข้ากลับฟื้นคืนมาเป็น |
ฝ่ายว่าฝูงเทวดารักษาภพ | ให้ปรารภด้วยสงสารแม่ศรีเสน |
บ้างเหงาง่วงทรวงตรมล้มระเนน | ท้าวอมเรนทร์ก็ให้ร้อนพระกายา |
อาสน์บัลลังก์ที่เคยนั่งนอนสำราญ | แข็งกระด้างอย่างกระดานน่ากังขา |
จึงแลเล็งเพ่งทั่วในโลกา | เห็นอรพิมโทมนาพิไรครวญ |
ด้วยผัวตายพรานไพรมันเข่นฆ่า | พระอินทราคิดสงสารนางทรามสงวน |
ดำรัสเรียกมาตุลีแล้วชี้ชวน | จึงรีบด่วนลงมาจากเมืองดาวดึงส์ |
ระเห็จเหาะมาจำเพาะพระไทรใหญ่ | เห็นพระไพรสลบแข็งดูนอนขึง |
ลูกลำเลียบเสียบพระองค์ไม่ออกตรึง | นางอรพิมก็รำพึงทรงโศกา |
สหัสเนตรแจ้งเหตุประจักษ์จิต | แล้วนิมิตจำแลงกายเจ้าดึงสา |
เป็นพังพอนเผือกผู้ผ่องโสภา | แล่นถลาออกจากพุ่มโผนทะยาน |
มาตุลีที่ลงมากับอินทร์เจ้า | จำแลงกายเป็นงูเห่าอันเหี้ยมหาญ |
ทะล่องไล่กัดพังพอนดูเพ่นพาน | อลหม่านต่างต่อไม่รอรา |
ฝ่ายพังพอนผู้เป็นเจ้าท้าวตรีเนตร | สำแดงเดชโดดกระเด็นเผ่นถลา |
เข้ากัดงูสู้ประทังประดังประดา | งูถลาสู้พังพอนกระดอนไป |
พังพอนเผือกไล่ทะลวงทะลึ่งกัด | ขยับฟัดกัดงูจนเลือดไหล |
งูกระเดือกเสือกดิ้นลงสิ้นใจ | งูเห่าตายสิ้นชีวันลงทันที |
พังพอนเผือกอมเรนทร์ผู้เป็นเจ้า | ขบงูเห่าเทวบุตรตายเป็นผี |
กระโดดแล่นออกไปแห้นเถาวัลลีย์ | แล้ววิ่งรี่เข้ามาเป่างูเห่าพลัน |
งูก็ฟื้นคืนเป็นขึ้นเผ่นหัว | งูไม่กลัวต่อสู้พังพอนผัน |
พังพอนสู้กัดกับงูพัลวัน | ไม่แพ้กันงูเข้ากัดฟัดพังพอน |
พังพอนเผือกเสือกสลัดสะบัดหลุด | งูไม่หยุดงุ่นง่านแล้วบานหงอน |
งูผงกยกตวักสักพังพอน | เข้ารานรอนแรงฤทธิ์อยู่ติดกัน |
พังพอนผู้เผ่นทะล่องทะลึ่งไล่ | งูเห่าไววิ่งระวังเหมือนกังหัน |
พังพอนตามติดทะลึ่งเข้าถึงทัน | แล้วสู้กันต่างโทโสเป็นโกลา |
งูผงกยกหางพลางกระหวัด | เอาหางรัดกัดพังพอนเข้าต้นขา |
แล้วบิดคางเขี้ยวสลักให้หักคา | พังพอนเผือกมรณาลงทันที |
พังพอนตายฝ่ายงูไม่นิ่งช้า | จึงเลื้อยมาเร็วพลันขมันขมี |
เข้ากัดแห้นอมเอาเถาวัลลีย์ | ต้นเดียวดีเด่นพังพอนที่เยียวยา |
งูเห่าหงอนพ่นพังพอนที่กัดตาย | ก็กลับกลายคืนมาเป็นเผ่นถลา |
แต่สู้กันกัดกันตายนั้นหลายครา | อยู่ตรงหน้าอรพิมยิ้มละมัย |
ฝ่ายสมรเห็นพังพอนกับงูนั้น | เข้ากัดกันสิ้นชีวิตผิดวิสัย |
กัดกันตายแก้กันในทันใด | นางสายใจตรองตรึกนึกไปมา |
ยาต้นนี้เห็นจะดีเป็นกวดขัน | งูพังพอนกัดกันสิ้นสังขาร์ |
กัดกันตายแก้กันได้ไม่มรณา | กูจะเอายาต้นนี้มาแก้ดู |
คิดแล้วพลางนางลุกขึ้นจะไป | งูพังพอนนั้นก็คลายหายไม่อยู่ |
กลายเป็นอินทร์จรลินจากชมพู | ขึ้นไปสู่ยังวิมานแต่ก่อนมา |
๏ ฝ่ายบังอรเห็นพังพอนกับงูร้าย | บันดาลหายแลไม่เห็นก็หรรษา |
แม่โฉมยงตรงเข้าไปเอายา | ได้แล้วมาเคี้ยวพ่นลงทันที |
ลูกลำเลียบของนายพรานบันดาลหลุด | พระปาจิตที่สมมุติว่าเป็นผี |
ก็กลับคืนฟื้นมาพลันในทันที | นางยินดีปานได้ผ่านวิมานอินทร์ |
แล้วบังคมก้มกราบพระสามิต | พระดับจิตสิ้นใจบรรลัยสิ้น |
เป็นบุญช่วยจึงได้ฟื้นคืนชีวิน | เมียตั้งแต่กินน้ำตาไม่ราวัน |
ฝ่ายพระองค์ทรงฤทธิ์ปาจิตเจ้า | ได้ฟังเล่าพระเฉลียวเสียวกระสัน |
จึงตรัสถามดวงสุดาวิลาวัณย์ | ไฉนนั้นพี่ได้ฟื้นคืนมาเป็น |
เดิมอย่างไรพี่จึงตายไม่รำลึก | พี่นอนตรึกในอาการว่าฝันเห็น |
แม่โฉมงามทำไฉนจึงได้เป็น | เจ้าเนื้อเย็นเล่าให้แจ้งแห่งคดี |
๏ ปางยุพินปิ่นอำไพวิไลพักตร์ | นางนงลักษณ์น้อมประนมก้มเกศี |
เก็บเรื่องเก่าขึ้นมาเล่าพระสามี | แต่เดิมทีเมื่อบรรทมอยู่ร่มไทร |
ไอ้พรานป่ามันมายิงพระปิ่นเกล้า | สามีเจ้าก็บรรทมอยู่หลับไหล |
ครั้นสว่างสางแสงอโณทัย | ไอ้พรานไพรพูดรวนจะชวนพา |
น้องไม่ไปพรานไพรมันชวนรบ | ด่ากระทบว่าใส่ให้นักหนา |
ไอ้ผีสิงว่าจะยิงด้วยปืนยา | ถ้าไม่ไปมันจะฆ่าให้สิ้นชนม์ |
ฉันร้องไห้แทบจะวายชีวาวิต | ด้วยทรงฤทธิ์นั้นมาตายอยู่ไพรสณฑ์ |
สงสารด้วยทูนกระหม่อมจอมสกล | ยังกลับวนมารำพึงคิดถึงตัว |
ไหนไอ้พรานมันจะพาลคอยเข่นฆ่า | แต่วอนว่ายกมือไหว้มันท่วมหัว |
ยิ่งไหว้วอนมันยิ่งว่าจะฆ่าตัว | พระทูนหัวแสนจะช้ำระกำใจ |
แล้วยกมือขึ้นประนมก้มเกศา | ไหว้เทวาในพนัสเนินไศล |
ขอฝากผีพระสามีที่ดับใจ | ถ้าสัตว์ไพรมันจะกินช่วยป้องกัน |
ไอ้พรานเพ็งมันเห็นเอ็งพิไรร่ำ | มันด่าซ้ำว่าจะฆ่าให้อาสัญ |
น่าเจ็บใจว่าจะตายไปตามกัน | แล้วคิดผันผ่อนใจจึงใคร่ครวญ |
ไอ้พรานป่ามันเห็นช้ายิ่งรบเร่ง | มันข่มเหงนี่กระไรพระทรามสงวน |
เจ็บฝ่าเท้าแทบจะดิ้นสิ้นกระบวน | มันเร่งด่วนรับพาน้องคลาไคล |
ไปกับพรานพอตะวันนั้นแดดร้อน | ให้หิวอ่อนปวดศีรษะแทบตักษัย |
ทั้งเลื่อยล้าแล้วจึงว่ากับพรานไพร | เดินไม่ได้ถ้าจะไปเห็นเต็มที |
ไอ้พรานป่าเห็นน้องล้าไปไม่รอด | เที่ยวเสาะสอดจับควายมาให้ขี่ |
ขึ้นหลังควายไปไม่ช้าสักนาที | พระสุริย์ศรีแสงกล้าระอาใจ |
ให้วิงเวียนเศียรศีรษะแทบจะล้ม | เสโทโทรมหน้าหลังประนังไหล |
ไอ้พรานพาเข้าไปหยุดร่มพระไทร | ที่สระใหญ่น้ำเย็นริมป่ายาง |
สว่างร้อนผ่อนสบายกระสายสินธุ์ | ทั้งอาบกินเหนื่อยหายใจสว่าง |
ลมพระพายพัดใต้พระไทรซาง | ไอ้พรานเหนื่อยเอนร่างทอดกายนอน |
หลับสนิทจิตสนุกไม่รู้สึก | เห็นกล่อมกลึกนอนนิ่งเหมือนกลิ้งขอน |
แค้นพรานบาด้วยมันฆ่าพระภูธร | จะเป็นกรรมอธิกรณ์เหลืออดใจ |
ย่องขยับจับมีดเหน็บของไอ้พราน | แทงเข้าพลันพุงผลุทะลุไหล |
แล้วเชือดคอหอยขาดสนัดใจ | ไอ้พรานตายแด่วดิ้นสิ้นชีวา |
ครั้นฆ่าพรานนั้นตายบรรลัยแล้ว | จึงคลาดแคล้วมาจากต้นพระสาขา |
ก็เดินด่วนสวนตามรอยควายมา | มิทันช้าถึงองค์พระทรงธรรม์ |
มาเห็นศพก็ยังดีไม่มีกลื่น | เข้ากอดตีนภัสดาแทบอาสัญ |
ร่ำพิไรวอนไหว้แก่เทวัญ | สิ้นทุกชั้นจนกระทั่งอกนิษฐกา |
เดชะบุญอธิษฐานเถิงเทพเจ้า | เห็นพังพอนกับงูเห่ามาต่อหน้า |
กัดกันตายแล้วออกไปเอาต้นยา | มาแก้กันเคี้ยวทาเข้าทันที |
กลับคืนเป็นเห็นประจักษ์อยู่ต่อหน้า | ใจสัญญาขึ้นพลันขมันขมี |
ชะรอยว่าต้นยานี้จะดี | จะเอามาแก้พระสามีดูตามบุญ |
ว่าแล้วพลางลุกย่างไปเอายา | งูพังพอนจรคลาเข้าไพรสูญ |
เอายาได้ยกใส่ศีรษะทูน | อธิษฐานคิดถึงคุณเดชะยา |
ภัสดาข้าที่ตายให้คลายฟื้น | จงเป็นคืนเหมือนดังสมปรารถนา |
อธิษฐานในประเดี๋ยวก็เคี้ยวยา | พ่นแล้วทาทั่วองค์พระทรงธรรม์ |
เดชะยาอันประสิทธิ์มีฤทธิ์กล้า | พระองค์ฟื้นลืมตาขมีขมัน |
เป็นบุญช่วยมิให้ม้วยชีวาวัน | พระทรงธรรม์เป็นอย่างนี้พระพี่ชาย |
๏ พระปาจิตอิศรังฟังนางบอก | ปานเขาแทงเข้าด้วยหอกชีวิตหาย |
แค้นไอ้พรานด้วยมันผลาญชีวิตตาย | ระทดกายทรงพระโกรธสะโกรธา |
แผดสำเนียงสิงหนาทกำแหงหาญ | เช่นไอ้พรานทำข่มเหงกูนักหนา |
พรานไม่ตายกูมิได้ไว้ชีวา | คงตามฆ่าด้วยพระแสงแทงให้วาย |
นี่นางฆ่าทำให้สาแก่มันแล้ว | ตัวก็แคล้วบุญประเสริฐไปสืบสาย |
กรรมมาทันชักไอ้พรานมาฆ่าตาย | บุญมาช่วยกลับมาใช้ให้คืนเป็น |
คู่ชีวิตเจ้าก็คิดฉลาดแสน | พรานทำเข็ญกลับแก้แค้นเจ้าทำเข็ญ |
เจ้าเลิศหล้าเหมือนนาวากับน้ำเย็น | ทุกชาติเป็นอย่าให้คลาดทุกชาติไป |
แล้วพระองค์ทรงตรัสประภาษว่า | แม่ดวงตาเราจะอยู่ผิดวิสัย |
อตส่าห์เดินไปเถิดนางทางยังไกล | เถิงเวียงชัยนั้นแลเจ้าจะเบาตรอม |
พระว่าพลางชวนนางว่างามเลิศ | ลุกขึ้นเถิดเชิญเดินแม่เนื้อหอม |
นางอุ่นอกถกเอายาเถานางออม | ที่มิ่งจอมแก้ปาจิตชีวิตคืน |
แล้วดวงใจไหว้วันทาลาเทเวศร์ | ทุกขอบเขตเทวดาที่ฝ่าฝืน |
ค่อยอยู่เถิดให้ประเสริฐพระชนม์ยืน | ระรวยรื่นเถิดภิรมย์สำราญใจ |
พระปาจิตอิศเรเสน่หา | ออกนำหน้านิ่มขนิษฐ์พิสมัย |
จรดลมาจากต้นพฤกษาไทร | ค่อยคลาไคลเคล้านางย่างยาตรา |
ครั้นแดดกล้าพานางหยุดไสยาสน์ | กลัวนิ่มนาฏน้องจะเหนี่อยจะเลื่อยล้า |
ครั้นบ่ายแสงสุริยนสนธยา | จึงค่อยพาอรพิมเจ้าคลาไคล |
พระข้ามโคกโกรกเถินเนินพนัส | แล้วเดินตัดมรรคาป่าไศล |
นางยอดมิ่งเยาวมาลย์สำราญใจ | ค่อยคลาไคลเคล้าเดินดำเนินมา |
พระชมสัตว์จัตุบาทประกาศเสียง | พยัคฆ์เมียงเดินมองตามช่องผา |
เที่ยวสกัดลัดด้อมมฤคา | ยอบกายายุรย่างมากลางไพร |
แลเห็นหมูคู้คุดแล้วเดินโด่ง | พยัคฆ์ตรงมุ่งมองเขม้นหมาย |
สุกรดงขุดดินกินตะกาย | อันความตายมิได้นึกรู้สึกตัว |
พยัคฆ์ย่องมองถึงทะลึ่งกัด | โจนเข้าฟัดตีนขยุ้มกุมเอาหัว |
สุกรทอกแทกได้ทีไม่หนีกลัว | ตัวต่อสู้กันไม่พรั่นพรึง |
เสือขยุ้มหมูขยับคาบเอาคอ | เสือร้องฮ่อโฮกหันโมโหหึง |
แรงต่อแรงแยงขยุ้มดูรุมรึง | เสือทะลวงหมูทะลึ่งด้วยเจ็บกาย |
หมูไม่ละเสือสลัดกัดตีนมั่น | หมูมันดันเสือขยุ้มไม่ขยาย |
หมูมันร้องเสือมันกัดฟัดตะกาย | หมูมันคาบตีนไม่คายพยัคฆา |
หมูก็ดุนเสือก็ดิ้นตีนก็ขาด | เสือสลัดหมูทะล่องล้มถลา |
หมูสลบเสือสลับทั้งสองรา | กษัตราชี้พลางให้นางชม |
ฝูงไก่ฟ้าคุ้ยฝุ่นจะฟักไข่ | ตัวผู้ไล่เคียงคู่จะสู่สม |
ฝูงคณานกขุนทองร้องระงม | บ้างเชยชมพูดแจ้วจำนรรจา |
ตัวผู้พูดตัดพ้อแล้วพล้อ |
เสียงฉอดฉอดแจ๊ดแจ๋คุณแม่จ๋า |
ตัวเมียเมียงชม้อยหมายชายหางตา | หัวเราะร่าพูดจ้อพ่อขุนทอง |
พวกเลียงผาพาพวกเลียงผาโผน | วิ่งกระโดนโดดดันผันผยอง |
ตัวผู้โกรธโดดกระโดนโผนลำพอง | ฉมัน |
พระชวนนางชมช้างลงกินน้ำ | เป็นหมู่คล่ำเดินมาในป่าโสง |
บ้างเผือกผู้แต่ลำพังเหมือนช้างโรง | ทะล่องลงเล่นน้ำในลำธาร |
สะดอ |
แปรกรับแปร๋แปร้นแล่นขนาน |
กระหึ่มหวนครวญเสียงเป็นกังวาน | ดูเซ็งซ่านวิ่งไขว่อยู่ไปมา |
ครั้นยามค่ำย่ำคอนจะผ่อนพัก | พระพานางหยุดสำนักร่มพฤกษา |
แต่ค่ำนอนเช้าไปหลายทิวา | ประมาณมาจะไม่เคลื่อนสักเดือนปลาย |
บรรลุเถิงชลธีวารีกว้าง | สาครังมุจลินท์กระสินธุ์สาย |
สายกระแสเหลือบแลลูกตาลาย | โดยจะว่ายก็ไม่พ้นชลธี |
สองกษัตริย์เห็นกระแสแลชะงัก | แล้วหยุดพักอยู่ที่ฝั่งนทีศรี |
ชำระร้อนผ่อนสบายสายวารี | แล้วขึ้นจากชลธีชโลธาร |
ประทับนั่งอยู่ที่ฝั่งสาคเรศ | คอยสังเกตนาวาได้เดินสาร |
พ่อค้าขายไปมาได้ว่าวาน | พระภูบาลพานุชเจ้าหยุดคอย |
พระพุทธองค์ทรงตรัสพระธรรมเทศน์ | สำแดงเหตุบอกไว้ให้รู้ฝอย |
ว่ายังมีสามเณรเถนเรือลอย | เคยสกัดลัดคอยในคงคา |
เที่ยวจอมปลอมแปลงกายทำลักเพศ | เป็นเถนเศษทุศีลทรงกาสาว์ |
แต่ขึ้นล่องเหนือใต้เที่ยวไปมา | อยู่อัตราคอยลัดสกัดคน |
เขาชื่อว่าให้ฉายาเถนเรือลอย | เรือนั้นน้อยโดยจะขี่ก็ขัดสน |
จะขี่ไปเต็มว่าได้แต่สองคน | ถึงสามคนแล้วก็ล่มจมนัทที |
ถ้าผู้ใดมาไปติดแม่น้ำ | จะข้ามฟากจ้างข้ามแกเอาปี้ |
เป็นนิรันดรไปมาทุกวาที | เลี้ยงชีวีมีชีวังแต่จ้างกิน |
ทำผิดกิจจึงประดิษฐ์ว่าลักเพศ | บอกนิเทศอย่าให้แคลงแหนงถวิล |
วันนั้นล่วงลงไปใต้สายวาริน | ไปพ้นถิ่นท่ามกลางที่ว่างคน |
ด้วยกองกรรมของพระไพรไท้นเรนทร์ | ทำกะเถนไว้แต่ไกลนั้นหลายหน |
เถิงกองกรรมผลนำบันดาลดล | ทั้งอรพิมกรรมประจญประจวบเป็น |
ตาเถนท่องล่องเรือลงไปใต้ | เข้าไปใกล้ปาจิตนั้นแลเห็น |
จึงชี้มือบอกให้เมียดูเรือเณร | นางอรพิมแลเห็นให้ปรีดา |
นางเนื้ออุ่นกราบทูลพระเพื่อนเข็ญ | ให้เรียกเถนข้ามส่งเป็นไรขา |
พระเนื้อเย็นเห็นจริงเหมือนนางจา | จึงเรียกว่าสามเณรฉันมาคอย |
นิมนต์คุณคัดเรือมาจอดนี่ | ได้โปรดที่ข้ามส่งฉันสักหน่อย |
ฝ่ายว่าเถนเห็นนางนั่งที่ฝั่งลอย | ช่างแช่มช้อยดูเหมือนชาวดาวดึงส์ |
เถนระลึกนึกไปน้ำใจเต้น | หญิงแต่เห็นมาก็มากไม่งามถึง |
ฝ่ายผู้ชายก็ไม่เบาพอเคล้าคลึง | ให้อั้นอึ้งอยู่ในใจจะหมายปอง |
เถนมาคิดจิตรักจะอยากได้ | ทำไฉนจะได้ชมประสมสอง |
เรือก็พายใจก็นึกทั้งตรึกตรอง | แกเห็นช่องว่าจะได้เป็นฝ่ายดี |
ถ้าอย่างนั้นกูอย่าว่าราคาจ้าง | ข้ามผู้ชายไปไว้ฝั่งนัททีศรี |
กลับมารับจับเอาหญิงใส่นาวี | แล้วพาหนีขึ้นไปเหนือเหลือวิไล |
ตาเถนทองตรองคิดสำเร็จแล้ว | ให้ผ่องแผ้วยินดีจะมีไหน |
ขยับไหล่พายเรือให้เดินไว | กระบัดใจก็เถิงฝั่งนัททีตะงอย |
พระเนื้อเย็นเห็นเถนเข้ามาหา | จึงร้องว่าได้เอ็นดูฉันสักหน่อย |
ไม่เสียทีแลดูทางที่นั่งคอย | ตะวันคล้อยเจียวจึงพบไม่เคยจน |
ผู้เป็นเจ้าโปรดเกล้าช่วยข้ามส่ง | คุณจะได้อานิสงส์ทั้งมรรคผล |
ด้วยเมียผัวฉันจวนตัวด้วยบทจน | มาติดชลอยู่แต่เช้าให้เศร้าใจ |
ฝ่ายเถนทองร้องว่าอุบาสก | ระเหินระหกมาสองคนจะไปไหน |
พระปาจิตตอบพลันในทันใด | กระหม่อมฉันว่าจะไปบูรีรมย์ |
ไปเยี่ยมวงศ์พงศาบิดาแม่ | ด้วยเฒ่าแก่จอมเจ้าเกิดเกล้าผม |
จะอยู่ดีฤๅอย่างไรจะใคร่ชม | ได้โปรดโยมเถิดพระเถรได้เอ็นดู |
สามเณรตอบว่าอุบาสก | อย่าวิตกวอนวานรำคาญหู |
จะข้ามส่งลงเรือมาขี่ดู | พระโฉมตรูพาอนงค์มาลงพลัน |
เรือนั้นน้อยลงทั้งสามน้ำเข้าเพียบ | พอก้าวเหยียบน้ำเข้าซ่าไม่มีขวัญ |
นางงามชื่นคืนขึ้นมาฝั่งพลัน | พระกายสั่นด้วยทรามเชยไม่เคยเรือ |
ฝ่ายข้างเถนแกจึงว่าประสาน้อง | ลงทั้งสองเห็นไม่ได้เรือเพียบเหลือ |
ถ้าจะดีทีละคนจึงยืดเยือ |
ไม่เสียเรือเสียพายสบายใจ |
พระปาจิตสุดคิดจะผ่อนผัน | ไปพร้อมกันก็ไม่ได้จะทำไฉน |
ถ้าขืนไปเรือล่มก็จมตาย | ความจนใจผลกรรมมาตามทัน |
ครั้นจะให้เมียไปกับเณรก่อน | ตัวจะผ่อนข้ามตามแล้วคิดผัน |
คิดกลัวภัยด้วยว่าไปแต่แจ่มจันทร์ | แล้วคิดหันหวนใจอย่างไรดี |
ตัวข้ามก่อนผ่อนเมียไว้ทีหลัง | จะร้ายดีรู้บ้างอย่างไรนี่ |
นางข้ามไปกลัวว่าภัยในวารี | เป็นสตรีว่ายไม่พ้นบรรลัยตาย |
จะพลัดกันกรรมมาทันอยากไปก่อน | ให้ผันผ่อนคิดผิดหาถูกไม่ |
จึงว่าเณรเอ็นดูข้ามเอาฉันไป | ไว้ฟากสายชลธีวารีชล |
แล้วคืนกลับรับเอาเมียไปส่งฉัน | จะโปรดปรานให้กระจ่างทางนุสนธิ์ |
ถ้าเมตตาก็อย่าช้าฉันนิมนต์ | พระสุริยนก็ยิ่งย่ำจะค่ำลง |
เถนเรือลอยฟังถ้อยปาจิตว่า | ยิ่งหรรษาเหมือนอารมณ์สมประสงค์ |
เณรจึงว่าถ้าจะไปก็รีบลง | จะข้ามส่งเสียให้พ้นต่างคนไป |
พระเนื้อเย็นฟังเณรนั้นกล่าวว่า | ไม่นิ่งช้าสั่งน้องผู้พิสมัย |
พี่ข้ามก่อนจึงจะผ่อนเอาน้องไป | แล้วหน่อไทลงมานั่งที่กลางเรือ |
เถนก็บ่ายพายพานาวาข้าม | ตัดแม่น้ำหลบคลื่นไม่ขึ้นเหนือ |
เถิงฟากฝั่งส่งไว้แล้วบ่ายเรือ | มารับนางนิ่มเนื้อนวลละออง |
เถนรีบพายส่งท้ายนาวาวิ่ง | นางยอดมิ่งไม่เห็นผัวยิ่งมัวหมอง |
ฝ่ายว่าเถนมุ่งใจจะหมายปอง | มาเถิงน้องเรียกสีกาอย่าช้าที |
นางเนื้อเย็นฟังเถนร้องเรียกหา | ก็ลงมาเรือพลันขมันขมี |
ขึ้นนั่งเรือเณรขยายบ่ายนาวี | เณรพายรี่ทวนน้ำล้ำขึ้นไป |
นางงามขำถามว่าเณรเจ้าขา | จะล่องเรือขึ้นเหนือพาไปท่าไหน |
เถนจึงว่าผัวสีกาไม่อาลัย | เขาถวายตัวสีกามาเป็นโยม |
ให้ตักน้ำทำจังหันถวายรูป | ต่างประทีปเทียนธูปของหอมโหม |
ผัวสีกาเขาไปหาญาติโยม | ยังนครพระสีพีบูรีเรือง |
สั่งกะรูปมาให้บอกดอกสีกา | เขาศรัทธาจึงถวายแม่เนื้อเหลือง |
อย่าเศร้าสร้อยน้อยใจแม่สายเมือง | ไปรุ่งเรืองอยู่กับรูปอย่าโรยรา |
จะเสียใจไปทำไมสีกาแม่ | มิใช่แก่เกินการสีกาขา |
โยมคฤหัสถ์ |
เห็นสีกากลัวแต่ว่าจะชอบใจ |
เถิงตัวรูปก็อยู่ไปไม่ได้ดอก | คงสึกออกดอกสีกาอย่าสงสัย |
เขาศรัทไธถวายมาต่างมาลัย | ต้องขวนขวายบิณฑบาตรเลี้ยงสีกา |
บิณฑบาตรเขาก็ใส่ไม่ได้มาก | ถ้าสองภาคแบ่งเลี้ยงน้อยนักหนา |
ไม่พออมเต็มกระพอกดอกสีกา | ต้องได้ลาจากสิกขาด้วยจนใจ |
อนึ่งไซร้ใจรูปก็ร้อนเร่า | ให้โศกเศร้าอยากจะสึกลานิสัย |
ถ้าขืนอยู่ก็จะผิดกิจวินัย | ต้องสึกไปดอกไม่ช้าสีกานาง |
จะทำนาหาเลี้ยงเพียงกะน้อง | เหมือนร่วมท้องในอุทรอย่าหมองหมาง |
ได้เมตตาเถิดสีกาแม่เอวบาง | เป็นบุญสร้างจักให้ชอบประกอบกาย |
๏ นางเนื้อเย็นฟังเณรประโลมว่า | คับอุราเหมือนเขาตัดเอาหัวหาย |
จึงตอบคำว่าอย่าทำเพทุบาย | เณรจังไรพูดโกหกฉกสีกา |
ทำขี้ฉ้อล่อเอาผัวไปโปรดเสีย | มาลักเมียของเขาไปใจเหมือนหมา |
กลับมาชดว่าผัวให้ใจศรัทธา | เถนพาลาเป็นกาลีทมิฬใจ |
ไม่เล็งเห็นนึกว่าเณรรักษาศีล | จิตทมิฬเณรเปรตอะไรที่ไหน |
ว่ากรรมเอยกรรมใดสร้างแต่ปางใด | เช้าดลจิตมาให้ภัยบังเกิดพาล |
นางกู่ก้องร้องเรียกพระปาจิต | ก็หายมิดเงียบเสียงไม่ยินขาน |
ด้วยท่ามกลางทางไกลไปก็นาน | สุดกังวานเสียงไกลไม่ได้ยิน |
นางตรองตรึกนึกพลางก็ยังเห็น | เถนนายเวรมุทะลุนี้ทุศีล |
กล่าวมุสาเถนหมาใจทมิฬ | มาปลอกปลิ้นพากำจัดให้พลัดกัน |
กรรมเอ๋ยกรรมอะไรไม่ยังเห็น | คิดว่าเณรเชื้อชาติพระอรหันต์ |
ไม่สงสัยใจก็หมายว่าเที่ยงธรรม์ | กลับมาผันพาจากให้พรากพราย |
เถนมุสาเดิมก็ว่าจะข้ามส่ง | รบให้ลงเรือก็เล็กประหลาดหลาย |
เรือเจ้าเวรเถนเจ้ากรรมประจวบกาย | กรรมมาเห็นเวรมาให้นี่แท้เวร |
เข้าดลใจให้มาพบเถนเรือน้อย | เถนก็ถ่อยเถนนายกรรมมาทำเข็ญ |
ครั้นไม่ข้ามก็ต้องข้ามด้วยค่ำเย็น | แลไม่เห็นเรือใหญ่ก็ไม่มา |
กรรมประจบมาประจวบเข้าดลจิต | ให้เห็นผิดไปเป็นชอบเป็นนักหนา |
ถ้าอย่าข้ามคอยเรือใหญ่เขาไปมา | ได้วอนว่าให้เขาส่งลงพร้อมกัน |
เอออย่างนี้จริงเขาที่ว่ากรรมแท้ | ไปหาแม่แม่ก็ม้วยชีวาสัญ |
มาหาพ่อพ่อก็ตายวายชีวัน | เถิงที่จนแล้วยังจันมาจำเป็น |
สุดจะคิดติดแม่น้ำข้ามไม่ได้ | บุญมาให้จึงได้พบประสบเถน |
กรรมมาห้อยเรือก็น้อยพบเณรเวร | มันเถิงเกณฑ์แล้วจนใจต้องใช้กรรม |
ที่กรรมท่านจะวิตถารไปให้กว้าง | อันกรรมสร้างท่านทั้งสองนั้นกรรมขำ |
ได้พรากพ่อจากลูกเข้าผูกกรรม | กรรมมาตามหญิงชายฟังจงตั้งใจ |
ถ้าใครพรากจากเมียให้พลัดผัว | คงตามตัวกรรมคงตามทำจงได้ |
ถ้าพรากพ่อจากลูกเขาผูกใจ | กรรมต้องจากลูกไปเขาผูกกรรม |
ทั้งหญิงชายฟังแล้วจำใส่ใจ | เราแต่งไว้คำพระเจ้ากล่าวสยำ |
ชื่อว่ากรรมแล้วอย่าทำจะเป็นกรรม | ไม่ทำกรรมแล้วก็กรรมไม่ตามตัว |
พระปาจิตอิศราชต้องพลัดนาง | เป็นกรรมค้างติดกันทั้งเมียผัว |
อันกรรมเราเหมือนหนึ่งเงาที่ตามตัว | คงตามตัวให้ไปตกนรกานต์ |
๏ พระปาจิตอิศโรผู้ฤๅสาย | ครั้นคอยนางนั้นก็หายจึงกล่าวสาร |
ตะโกนกู่ไปจนก้องในท้องธาร | พระภูบาลเดินเลียบศรีวารัย |
พระเดินพลางบ่นไปพิไรว่า | เป็นอย่างไรจึงมาช้าเหตุไฉน |
ฤๅลงท่าเณรพาหลงไปแห่งใด | ประหลาดใจอกเอ๋ยไม่เคยเป็น |
ฤๅนางอยู่ผู้เดียวเมื่อจากมา | คนเที่ยวป่าพบเข้ามันทำเข็ญ |
พาเอาไปฤๅอย่างไรโอ้กรรมเวร | สามเณรที่ไปรับไม่พบพาน |
ฤๅเสือสางช้างร้ายมันพานพบ | มากัดขบลากไปกินเป็นอาหาร |
ฤๅน้อยใจว่าทิ้งไว้แม่นงคราญ | เจ้าเซ่อซานซุกซนไปหนใด |
ฤๅผีเสื้อทรงศักดิ์อารักษ์น้ำ | มาสูญอำพาไปซุกน่าสงสัย |
ฤๅเถนพามาในกลางคงคาลัย | ต้องคลื่นใหญ่เรือล่มในกลางธาร |
เจ้าม้วยมิดสิ้นชีวิตอยู่ในน้ำ | โอ้กรรมกรรมฤๅชีวังเจ้าสังขาร |
ทั้งเลือดเนื้อก็เป็นเหยื่อกุมภาพาล | คอยก็นานแม่เนื้อเย็นไม่เห็นมา |
ฤๅสามเณรเห็นว่าอยู่แต่ผู้เดียว | กลับไปรับแล้วกลับเกี้ยวน่ากังขา |
พาเอาไปฤๅอย่างไรกระมังนา | ครองสิกขาไม่ควรแคลงระแวงใจ |
พระกู่ก้องร้องเรียกว่าอรพิมเอ๋ย | เจ้าทรามเชยจรดลไปหนไหน |
ฤๅเห็นช้าด้วยแม่คอยจึงน้อยใจ | ดวงหัททัยมาเถิดมาแม่มา |
ยิ่งคอยคอยก็ไม่เห็นพระเถนเอ๋ย | เตลิดเลยหลงไปไหนนักหนา |
ฉันอยู่นี่มาที่นี่จงเร็วรา | จะหลงหาไปข้างหนตำบลใด |
แล้วนิ่งนั่งฟังสำเนียงจะเรียกกู่ | ฟังเป็นครู่ไม่ได้ยินทั้งเหนือใต้ |
เย็นยะเยียบช่างมาเงียบสงัดไป | พระคลาไคลเลียบลำแม่น้ำมา |
ที่ข้อเถนไม่สงสัยเอาใจผูก | ถือว่าลูกชินวงศ์ทรงกาสาว์ |
ไม่ลามลวนกวนกามในกามา | มีศีลาบริสุทธิ์อุตตโม |
พระครวญคร่ำร่ำพิไรอาลัยน้อง | แต่กู่ร้องก็จนเสียงนั้นสุดโส |
พระศอแสบแหบแห้งกันแสงโฮ | แม่พุ่มโพธิ์พี่จะพูดกับผู้ใด |
พี่สู้ยากพากเพียรเจียนสลบ | ไปพานพบแต่เจ้าคาครรภาใส่ |
เฝ้าอาสาทรมาน้อยเมื่อไร | เป็นบุญปลอดคลอดมาได้ไม่วายชนม์ |
กลับไปเมืองทูลเรื่องพระบิตุเรศ | อยู่ภายหลังเกิดเหตุระเหระหน |
พรหมทัตพาไปพลัดได้ทุกข์ทน | เป็นบุญดลพาไปรับได้กลับคืน |
เป็นสองครั้งติดวังท้าวพรหมทัต | แน่นถนัดถึงชีวิตให้ขัดขืน |
ท้าวโกสีย์ช่วยชีวีให้ยาวยืน | อารมณ์ชื่นขึ้นไม่ข้ามถึงสามวัน |
ไอ้พรานป่ามันมาฆ่าพี่ตายม้วย | แม่รูปรวยก็ได้แค้นแสนกระสัน |
ท่านช่วยอีกขอบพระคุณเป็นบุญครัน | ท้าวไชยันต์คุณท่านเยี่ยมเทียมบิดา |
ว่าพ้นภัยเหมือนหนึ่งกายอันชุบแล้ว | จะคลาดแคล้วนานตายอาลัยหา |
ไม่วอดวายหายชีวิตด้วยพิษยา | ยังกลับมาพลัดกันไปทั้งเป็น |
แต่ชาติหลังสร้างกรรมเหลือหามหาบ | ทั้งกรรมบาปสามกรรมมาทำเข็ญ |
กรรมพลัดกันพรานฆ่าพนาเวร | มันเกินเกณฑ์สร้างกรรมจึงพลัดกัน |
พระน้องอาว่าจะพาไปอุปภิเษก | ให้เอี่ยมเอกไว้เป็นศรีนางสาวสรรค์ |
ไม่ถึงเมืองโอ้ว่ากรรมมาตามทัน | เป็นน่ากลั้นเสียให้ใจวายชีวี |
เจ้าเนื้อนิ่มอรพิมแม่บุญคู่ | เจ้ายังอยู่ฤๅว่าตายไปเมืองผี |
มาตรแม้นนิ่มอนงค์ปลงชีวี | มารับพี่ไปให้ม้วยเสียด้วยรา |
นิจจาเอ๋ยเคยเดินในไพรเถื่อน | ได้เป็นเพื่อนสองคนเสน่หา |
ถึงเหนื่อยยากก็ได้ชื่นรื่นอุรา | ยวนวิญญาณ์เบาตรมระทมใจ |
โอ้แต่นี้ก็ที่ไหนจะได้เห็น | แม่คู่เข็ญเจ้าไปหลงอยู่ดงไหน |
พระคุณเอ๋ยเทพดาจงพาไป | ช่วยดลใจมาให้พบประสบกัน |
จะคืนตามข้ามน้ำไปหานาง | น้ำก็กว้างเหลือขนาดให้หวาดหวั่น |
วายุพัดคลื่นซัดเป็นหมอกควัน | อย่านึกฝันถ้าจะไปได้แต่เรือ |
สุดสำเนียงสุดเสียงจะกู่เรียก | สุดสำเหนียกที่จะฟังจะฟั่นเฝือ |
จะหยุดยั้งฟังข่าวไปยาวเยือ | ทั้งแพเรือเขามิได้จะไปมา |
จำจะเลาะเลียบฝั่งไปข้างเหนือ | สบพบเรือจะได้ข้ามไปตามหา |
พระว่าพลางยุรย่างแล้วยาตรา | ทรงโศกาโศกสะอื้นพิไรไป |
แม่รูปหล่ออรพิมของพี่เอ๋ย | จะบ่นเบยเคียดพี่เพียงตักษัย |
ว่าทิ้งทอดเสียในท่ามไม่ตามไป | จะน้อยใจตีองค์แทบอกพัง |
ฝ่ายว่าพี่อยู่ข้างนี้ก็สุดคิด | พี่จนจิตแล้วแม่สายสวาทหวัง |
มาติดน้ำยมนาสาครัง | สุดกำลังที่จะหลีกคงคาลัย |
พระเดินพลางร่ำว่านิจจาเอ๋ย | ไฉนเลยจึงจะข้ามแม่น้ำได้ |
แต่เลียบฝั่งชลธาชลาลัย | ก็นานไกลฝั่งก็เงียบยะเยียบเย็น |
มากระทั่งยังแม่น้ำหนึ่งขวางหน้า | สุดลูกตาแลละลิบสักสิบเส้น |
พระครวญคร่ำโอ้ว่ากรรมมาจำเป็น | จะคลาดแก้วแล้วไม่เห็นไม่พบพาน |
แม่น้ำหนึ่งแล้วมิหนำมาซ้ำสอง | เป็นสองคลองขวางหน้ามหาศาล |
โอ้กรรมกรรมผลกรรมมาเกิดการณ์ | ดลบันดาลยับระยำให้จำเป็น |
แม่งามลบจะได้พบเจ้าที่ไหน | จะเป็นตายฤๅอย่างไรไม่หยั่งเห็น |
จะนิ่งอยู่ไหนจะรู้แม่เนื้อเย็น | จะเกียกเกณฑ์ติดตามไปตามบุญ |
พระว่าพลางเยื้องย่างสาวพระบาท | เข้าไพรวาสเนินลำเนาภูเขาขุน |
เที่ยวกู่ก้องร้องเรียกแม่จอมจุล | โศกอาดูรมิได้เว้นสักโมงยาม |
๏ จะกล่าวกลอนย้อนความให้งามพริ้ม | ถึงอรพิมเลิศลบในภพสาม |
เมื่อเถนพากัลยาแม่โฉมงาม | ไปเหนือน้ำมิได้ส่งพระภัสดา |
เจ้าร้องร่ำคร่ำครวญรำจวนจิต | ให้แค้นคิดเคืองเถนนั้นนักหนา |
พิไรร้องสองพระกรข้อนอุรา | สุชลนาไหลร่วงพระทรวงนาง |
ฝ่ายเถนไทร่ำพิไรประโลมปลอบ | ให้ชื่นชอบมิให้ตรมอารมณ์หมาง |
เถนจึงว่าอนิจจาสีกานาง | จงเสื่อมสร่างแม่อย่าโศกกำสรดครวญ |
เจ้าของท่านเขาศรัทไธถวายแล้ว | จงผ่องแผ้วเถิดแม่งามทรามสงวน |
เป็นกุศลผลช่วยเข้าชักชวน | นิยมยวนจงเป็นโยมสมศรัทธา |
ธรรมดาว่าถวายให้เป็นสิทธิ์ | ไม่ผิดกิจหยุกหยิกในสิกขา |
เหมือนกล้วยอ้อยหวานชดรสโอชา | พระนาถาทรงโปรดให้ทดแทน |
ปัจเวกไว้ให้เสกมีสี่บท | ถ้าแทนทดไม่มีโทษวิเศษแสน |
สีกาโยมปรนนิบัติเมื่อขาดแคลน | กุศลมากหนักแน่นอนันตัง |
๏ นางเนื้อเย็นฟังเณรประโลมว่า | เชิงมุสาโยโสพูดโอหัง |
ว่าพระผัวนั้นถวายนางจริงจัง | ล้วนลำพังพื้นโกหกแต่พกลม |
มาตรว่าถ้าจะนิ่งไม่โต้ตอบ | เห็นไม่ชอบชั้นเชิงไม่ควรสม |
คำบูราณท่านว่าหวานย่อมชวนลม | จำนิยมเข้าไปยั่วให้ยวนใจ |
ครั้นจะนิ่งตัวก็หญิงผู้เดียวเปลี่ยว | เณรจะเลี้ยวเล้าโลมให้หลงใหล |
ต้องจนเถนแลไม่เห็นผู้ใดใคร | มิจนใจเมื่อจะหวนมาจวนตัว |
ก็ยังรู้อยู่ว่าเณรนี้มุสา | ทำพาลาลักเมียให้เสียผัว |
ยังปัญญาก็เป็นหนึ่งคงถึงตัว | ต้องพูดยั่วให้เข้าอย่างทางอาลัย |
นางจึงว่าสามเณรเถนเจ้าขา | นิมนต์พาฉันไปคืนยังสงสัย |
ให้พบท่านจะได้ถามให้งามใจ | ให้รู้คำว่าพระไพรท่านให้ทาน |
จะได้ปลงจงใจไปเป็นโยม | วางอารมณ์ปรนนิบัติจนสังขาร |
ฉันชอบใจดอกจะได้ทางนิพพาน | จงโปรดปรานพาไปหาพระสามี |
๏ เณรสนองว่าสีกาอย่าสงสัย | จงปลงใจปฏิโลมเถิดโฉมศรี |
รูปก็ตรงทรงศีลาครองวาจี | ไม่พาทีกล่าวมุสาทินนาทาน |
เขาถวายยังจะไปถามเจ้าของ | ผิดทำนองในพระธรรมคำบรรหาร |
พระปิ่นเกศตรัสเทศน์สำแดงญาน | เขาให้ทานแล้วก็เร่งให้รับเอา |
เป็นเณรเถนก็ต้องเจนวินัยกิจ | ต้องพินิจรู้อาการในทานเขา |
เจ้าของให้เขาถวายก็งามเพรา | ที่ทานเขาไม่ควรรับนั้นก็มี |
มิใช่ว่าจะหลับตาสักแต่รับ | ต้องคำนับตามกระบิลพระชินศรี |
ทานไม่ควรที่จะรับด้วยกายี | คือกะปิแตงฟักเขาลักมา |
เขาถวายท่านก็ว่าไม่ควรรับ | ถ้าขืนจับก็ต้องผิดในสิกขา |
นี่เจ้าผัวเขาก็ให้ใจศรัทธา | เหมือนสีกานี้ก็ว่าให้ควรเอา |
ไยสีกาจะให้พาไปซ้อมค้าง | ผิดด้วยอย่างผิดกระบิลพระปิ่นเกล้า |
เขาถวายแล้วก็ได้เป็นโยมเรา | แม่นงเยาว์จะสงสัยไปไยมี |
จงตั้งใจลงเป็นหนึ่งอย่าพึงนึก | จะกลับคืนนั้นเห็นลึกแล้วโฉมศรี |
ไปกะรูปเถิดสีกาอย่าราคี | โดยว่าจนนั้นก็มีพอติดตัว |
สิบตำลึงชั่งหนึ่งก็มีบ้าง | พานทุลังกองแขนทั้งแหวนหัว |
กระโถนทองปากไปล่เหมือนใบบัว | โดยว่าชั่วแต่ของใช้ไม่อายคน |
หาสีกาจะรักษานั้นไม่ได้ | รำคาญใจเคืองคับรำสับรำสน |
เป็นบุญใหญ่เขาถวายแม่ออกตน | ไม่เคยจนเป็นกุศลเข้าค้ำชู |
จะให้พาคืนไปหาเจ้าของทาน | ผิดบูราณไม่มีอย่างรำคาญหู |
ก้มอย่าท้าเลยสีกามาบ้านตู | เขาให้รูปบอกให้รู้อย่าแคลงใจ |
๏ ปางยุพินยินเณรประโลมว่า | พูดมุสานางก็รู้ไม่สงสัย |
แต่จนจิตไม่รู้คิดประการใด | ให้แค้นใจแทบจะดิ้นสิ้นชีวา |
นางเนื้อเย็นว่าเป็นเณรรักษากิจ | ยังจะคิดลังเลเสน่หา |
พูดชะล่าลามเลี้ยวเกี้ยวสีกา | ไม่รำพาคิดถวิลศีลของตัว |
สิ้นชีวีอเวจีคงไปตก | ไฟนรกก็จะรุมขึ้นสุมหัว |
เพราะทุศีลกล่าวมุสากามามัว | ด้วยทำชั่วหมิ่นศีลาสิกขาวร |
เถนหัวเราะตอบต่อว่านิ่มนาฏ | สีกาโยมนี้ทายาทรู้คำสอน |
จริงเหมือนว่าแล้วสีกาอธิกรณ์ | รูปก็ร้อนคิดระวังจะพลั้งตัว |
แต่เท่าว่าใจสัญญาเป็นแต่พูด | เป็นบริสุทธิ์จิตไม่ผูกขมุกขมัว |
สิกขาครองก็ยังผ่องเหมือนดอกบัว | ไม่หมองมัวดอกสักนิดกิจวินัย |
เป็นแต่ว่าให้สีกาเอ็นดูรูป | เหมือนเทียนธูปมิได้จุดให้แจ่มใส |
เหมือนสีกาว่ากะรูปแต่เยาะไย | ถ้าเทียนไฟนั้นได้ตามทำบูชา |
เหมือนกะรูปจูบจับสัมผัสต้อง | ก็หม่นหมองเสียศีลในสิกขา |
นี่ก็เหมือนเทียนไม่ตามทำบูชา | บุญจะมามีผลกลใด |
เป็นแต่คำมิได้ทำปราชิต | ไม่มีผิดบาปจะมีมาที่ไหน |
ไม่เป็นไรดอกสีกาแต่วาไจ | กิจวินัยรูปก็รู้ได้ร่ำเรียน |
๏ นางตอบไปว่าผู้ใดเป็นบัณฑิต | ไม่รู้คิดไม่รู้บอกไม่รู้เขียน |
นักปราชญ์เปรตลักแต่เพศเที่ยววนเวียน | รู้แต่เรียนพูดข้างเกี้ยวกับสีกา |
ถ้ารู้ลายเห็นแต่ได้ข้างความผิด | ถ้ากล้านักมักชีวิตแต่สังขาร์ |
ถ้าคิดนักมักแต่คลั่งเคลิ้มวิญญาณ์ | เลยเป็นบ้าเขาว่าคลั่งในทางกรรม |
ฉันเคยเห็นขี้มักเป็นแต่อย่างนั้น | คนอื่นฉันเห็นมามากถลากถลำ |
นี่พระเณรเจนกระจ่างในทางธรรม | เป็นไรล้ำเข้ามาเลี้ยวเกี้ยวสีกา |
เป็นบัณฑิตคิดลำดับดูราบเรียบ | ชักทำเนียบเปรียบเหมือนเทียนดอกบุปผา |
ว่าไม่จุดทำเป็นพุทธบูชา | ผลผลานั้นไม่เห็นจะเป็นบุญ |
ฉันได้ยินพระปิ่นเกศท่านเทศน์โปรด | บอกกำหนดไว้ในทานทั้งเมถุน |
ในคัมภีร์อภิธรรมล้ำการุญ | เรียนไม่ถึงฤๅเจ้าคุณท่านสามเณร |
พระเทศน์ไว้ว่าผู้ใดไปเที่ยวป่า | หอมมาลากลิ่นมาเลศที่แลเห็น |
ว่าคันธังรัมนังพระสามเณร | ได้พบเห็นกลิ่นหอมแล้วน้อมกาย |
จิตรำลึกตรึกถึงคะนึงพระ | เป็นธุระอยากจะเก็บมาถวาย |
ไม่ได้เก็บแต่รำลึกแต่นึกดาย | แต่เท่านั้นท่านว่าได้ซึ่งส่วนบุญ |
พระปิ่นเกศตรัสเทศน์ว่าคันธัง | รัมนังว่าอารมณ์นั้นอุดหนุน |
หอมบุปผังคันธังคำบัณฑูร | เป็นเค้ามูลว่าอยากให้ไปบูชา |
อานิสงส์ท่านว่าได้วิไลล้ำ | นี่ก็เถนเณรก็ทำเกินสิกขา |
วาจากรรมคำก็เลี้ยวเกี้ยวสีกา | ยังกลับว่าพูดกำราบไม่บาปกรรม |
แต่บุปผานึกศรัทธาจะถวาย | ยังว่าได้บุญประเสริฐเลิศล้ำ |
นี่เณรเกี้ยวจิตก็เลี้ยวสัญญาธรรม | ไม่มีกรรมพูดไม่จริงสักสิ่งเดียว |
๏ เถนได้ฟังวัจนังเจ้าฤๅสาย | จับเอาใจทุกจิตคิดเฉลียว |
จึงยอมแพ้มิได้แก้นางทรามเปรียว | ช่างรู้ยิ่งจริงเจียวโยมสีกา |
รูปนี้เรียนมาก็นานไม่ทันถึง | ได้กลางครึ่งไม่ทันจบสีกาขา |
จะบาปกรรมตามตัวกลัวเวรา | ถึงอาวาสก็จะลาจากพรหมจรรย์ |
แต่สีกาได้เมตตาพอใจชื้น | อย่าเป็นอื่นเมื่อวันหน้าเมตตาฉัน |
แล้วโย้ไหล่พายเรือให้วิ่งพลัน | นางแจ่มจันทร์ตรึกพลางยังปัญญา |
ถ้ามืดค่ำเถนคงทำข่มเหงแท้ | ต้องคิดแก้ตอบเสียก่อนจึงเลขา |
จะล่อลิ้นว่าอยากกินโภชนา | เห็นผลาต้นไม้อันใดโต |
ให้ขึ้นปีนว่าจะกินต่างอาหาร | ไม่ขัดวานเถนคงขึ้นจนสุดโส |
จึงตัดหนามสะใต้ต้นให้จนโจ | ลงไม่ได้ก็จะโซอดข้าวตาย |
จึงลงเรือพายไปเสียให้พ้น | เห็นชอบกลจะได้เห็นเณรฉิบหาย |
ทำล่อลวงเปื้อนเลื่อนเหมือนขมาย | เณรยิ่งพายเรือล้ำขึ้นตามธาร |
นางทรามเปลี่ยวเหลียวเห็นต้นมะเดื่อ | ลูกดกดาษแดงเรื่อใหญ่พิศาล |
สูงระหงโปร่งเยี่ยมเทียมปลายตาล | อยู่ริมทางฝั่งธารตีนนัทที |
ดวงสุดาร้องว่าพี่เณรเจ้า | ฉันหิวข้าวเห็นจะม้วยลงเป็นผี |
เห็นลูกมะเดื่อก็ให้อยากกินเต็มที | พระเณรพี่วานขึ้นสักหน่อยรา |
เถนทมิฬยินคำนางงามชื่น | วานให้ขึ้นพวงมะเดื่อก็หรรษา |
ใจระทึกนึกสำคัญในสัญญา | ว่าแก้วตารักใคร่จึงไหว้วาน |
บ่ายนาวาจอดพลางฝั่งตลิ่ง | ไม่นั่งนิ่งด้วยว่าใจหมายสมาน |
ขยับตีนปีนต้นละลนละลาน | ขะโยบ |
มะเดื่อต้นผู้คนไม่เคยขึ้น | กำลังลื่นเถนพลาดจนขัดขา |
แต่ขึ้นไปไพล่ลื่นคืนลงมา | เป็นหลายคราเณรอ่อนระอาใจ |
เณรจึงว่านางสีกาอย่างไรนี่ | เห็นเต็มทีต้นมันลื่นขึ้นไม่ได้ |
ลงเรือล่องไปตามท้องสมุทรไท | หาต้นอื่นขึ้นใหม่เถิดนงคราญ |
แม่ศรีเสนเห็นว่าเณรขึ้นไม่ได้ | จะขืนพาหาต้นใหม่จึงกล่าวสาร |
สบไม่เห็นจวนจะเย็นจะเสียการ | จำทัดทานพูดให้ขึ้นด้วยชื่นใจ |
นางจึงว่าอนิจจาพี่เณรเถน | จะจวนเย็นลงมาแล้วฉันแสบไส้ |
จะขืนพาฉันไปหาต้นอื่นไป | สบไม่ได้ก็จะผ็อยสะออยแรง |
พี่เถนทองลองขึ้นไปอีกใหม่ | ให้จนได้เหมือนอารมณ์ไม่นึกแหนง |
เห็นว่ารักจริงจังไม่คลังแคลง | จึงไม่แกล้งปดเล่นเช่นคนพาล |
เถนเรือลอยฟังถ้อยนางกล่าวว่า | ชอบวิญญาณ์ชื่นใจหมายสมาน |
ว่านางรักเหมือนอารมณ์คงสมการ | ยุพาพานแม่อย่าพักลำบากวอน |
แม่งามชื่นคงจะขึ้นให้จนได้ | อย่าเสียใจเยาวมิ่งดวงสมร |
นางพูดเล่นนั้นไม่เห็นเลยเถนปอน | กำเริบร้อนไปแต่รักอารีนาง |
สามเณรถกเขมรขมีขมัน | นางแจ่มจันทร์พูดเย้าเชิงถากถาง |
พี่เณรเถนเคยสะเอนเจนสำอาง | ดีแต่ข้างเล่าเรียนจะเขียนจาร |
จะสึกออกจากสิกขาจะลาศีล | จะทำกินเลี้ยงสีกาข้าสงสาร |
เห็นไม่ได้ด้วยว่าใจนั้นหย่อนยาน | ที่คับแค้นเคืองรำคาญจะอายคน |
หนักต้องเอาเบาต้องสู้จึงจะได้ | นี่อะไรแต่ขึ้นไม้ยังขัดสน |
ดูเหมือนคนตีนหักอะดักอะดน | ดวงอุบลพลางว่าลูกตาแล |
ดูต้นหนามนิ่มนางระวังไว้ | มีดเหน็บเณรนางเอาใจใส่แสว |
มีดสำคัญจะไม่ทันเมื่อจอแจ | ทั้งเรือพายไว้ให้แน่ในทันใด |
ครั้นเตรียมใจไว้สำหรับสำเร็จพร้อม | นางเนื้อหอมพูดกล่าวเย้าขยาย |
ฉันหิวข้าวไฟธาตุเผาให้อ่อนกาย | จะขึ้นใดก็เร่งขึ้นเสียโดยเร็ว |
เถนได้ยินดวงยุพินรำพันว่า | ละลังละล้าแทบหัวใจละลายเหลว |
ขยับตีนป่ายปีนตะกาวตะเกว | ลื่นทะลาดพลาดบั้นเอวสะดุ้งเอน |
อารามรักไม่ออกปากแข็งใจขึ้น | ทะลูดลื่นพลาดฟกหัวอกเถน |
ตะเกียกตะกายแทบจะตกหกคะเมน | อตส่าห์เผ่นขึ้นไปได้ถึงกิ่งโต |
นั่งบนกิ่งหยุดประทังกำลังหอบ | ให้คอแห้งแรงบอบระผุดระโผ |
นางเนื้อเย็นว่าพี่เณรยิ่งภิญโญ | เอาพวงโตทิ้งลงมาอย่าช้าที |
ฝ่ายเถนทองถามว่าน้องเอาพวงไหน | สายสุดใจว่าเอาพวงที่ฉันชี้ |
เถนก็ขึ้นยืนขยับไปทุกที | แม่ยอดหญิงวิ่งรี่ลงไปเรือ |
ฉวยมีดเหน็บได้มาพลันแล้วฟันหนาม | ได้มากดามล้นพ้นดูล้นเหลือ |
ตัดเถาวัลย์พันผูกเป็นพวงเครือ | เข้าสะโคนต้นมะเดื่อดูทึบไป |
ฝ่ายเถนทองมิได้มองดูใต้ต้น | แต่แลยลพวงมะเดื่อจนเหื่อไหล |
จึงร้องถามว่าแม่งามเจ้าชอบใจ | ที่พวงไหนบอกมาแม่หน้านวล |
แม่เนื้อเย็นว่าพี่เณรเอาพวงปลาย | ทั้งโตใหญ่งามระย้าน่าสงวน |
เณรไม่นิ่งยิ่งขึ้นไปโดยควร | นางหน้านวลลากหนามเข้าสะพลาง |
ดูแน่นหนาเถนจะคลาลงไม่ได้ | สายสุดใจลงเรือร้องถากถาง |
ว่าเณรเปรตเศษเถนกระดางลาง | ทำนอกทางทุศีลทมิฬใจ |
กล่าวโกหกฉกเอาผัวเขาไปฆ่า | ฤๅเถนพาเอาไปซุกซ่อนที่ไหน |
จงบอกมาอย่าได้ช้าจะตามไป | อย่าอำไว้เลยนะเถนจะเป็นกรรม |
๏ สามเณเถราฝ่ายว่าเถน | แลไปเห็นนิ่มนางถึงกลางน้ำ |
จะถามทักปากไม่ออกเหมือนผีอำ | หน้าก็ดำเนื้อดิ้นแทบสิ้นชนม์ |
ผลกรรมนำนางมาพลัดผัว | เข้าสูญใจกายตัวรำสับรำสน |
เหมือนผีสิงปวดเศียรให้เวียนวน | ทุรายทุรนงงงวยระทวยกาย |
ทะลูดลงมิได้แลดูใต้ต้น | ด้วยเสียใจไฟประจญเหมือนจิตหาย |
เปรียบเหมือนคนถึงขนวนที่จวนตาย | นั้นฉันใดก็เหมือนกันกับจัญเณร |
ด้วยเสียรู้ด้วยผู้หญิงนั้นลวงได้ | ทั้งเสียเรือเสียพายเสียใจเถน |
ดังเขาฟันให้พระศอคอกระเด็น | ตะเกียกตะเกนลงถึงกึ่งจึงรู้กาย |
ชำเลืองเหลือบแลลงไปที่ใต้ต้น | เห็นหนามพวงมากล้นพ้นก็ใจหาย |
เป็นเชิงสูงซ้อนซับไม่ซะทราย | เหมือนสะรั้วโรมไว้ดูก่ายกอง |
ครั้นจะลงก็สยองแสยงกาย | แลเห็นหนามเสียวไส้ใจสยอง |
จะกระโดดก็ไม่พ้นให้ขนพอง | นั่งยองยองดูเหมือนลิงอยู่ไม้เดียว |
ดูก็ขันครั้นจะหัวก็เสียใจ | จะร้องไห้ก็นึกอายให้ใจเสียว |
เถนสิ้นท่าหน้าจืดเหมือนหมูเจียว | ครั้นจะด่าก็คิดเสียวละอายใจ |
จะโทษนางสะหนามก็น่าหัว | ตัวตัดหนามสะตัวก็ว่าได้ |
ด้วยว่านางมิได้นึกมโนใน | จะฆ่าเถนปองร้ายหมายชีวา |
เถนกระทำกรรมใส่ทำร้ายนาง | ผิดด้วยอย่างทุจริตจิตอิจฉา |
พากำจัดให้นางพลัดจากภัสดา | กล่าววาจาลวงเขาจะเอาเมีย |
กรรมอันนั้นเข้าไปกั้นดลใจเถน | เผอิญเป็นเหมือนอย่างบ้าทำหน้าเสีย |
หัวไม่ออกบอกไม่ได้ใครไม่เยีย | ก็ตัวเตียอยู่บนต้นมะเดื่อดง |
จะตัดความย่นย่อข้อวิตถาร | สังเขปการณ์เอาพอควรสมประสงค์ |
ฉันเจ็บเอวเจ็บหลังแทบนั่งไม่ลง | จะแต่งมากเรื่องราวจะยาวไป |
เถนจอมปลอมนั่งคร่อมกิ่งมะเดื่อ | ลงไม่ได้ทำเหมือนเบื้อน้ำตาไหล |
ทั้งรักทั้งแค้นทุกข์ตรมระบมใจ | ด้วยมิได้กินข้าวทั้งเพลาแรง |
ก็บรรลัยตายบนต้นมะเดื่อ | ด้วยกรรมเหลือความอาลัยใจกำแหง |
จิตไปผูกอยู่ที่ลูกมะเดื่อแดง | เวราแรงกรรมที่รักนั้นชักพา |
เอากำเนิดเกิดในลูกมะเดื่อ | มาเป็นเชื้อจนทุกวันเจียวท่านขา |
เป็นแมงมี่ |
ชาวโลกาเรียกมะเดื่อตาเถนทอง |
ครั้นตาเถนสิ้นเวรจากมะเดื่อ | ด้วยว่าเชื้อตาเถนไม่เศร้าหมอง |
สัตว์ทั้งปวงไปอยู่เดนตาเถนทอง | จึงเรียกร้องว่าแมงมี่ทุกวันมา |
๏ จะกล่าวกลับจับเรื่องถึงยอดสร้อย | แม่นิ่มน้อยอรพิมเสน่หา |
ยอดฉลาดปราชญ์จริงยิ่งปัญญา | ความคิดพาตัวตนมาพ้นเณร |
ล่องนาวามาถึงท่าที่เคยหยุด | แม่นงนุชเหลือบแลชะแง้เห็น |
ที่เคยนั่งหยุดพักทะลักทะเลน | สุชลนัยน์ไหลกระเซ็นลงโทรมกาย |
จึงจอดเรือเข้าที่ท่าสาคเรศ | ขึ้นสังเกตรอยเท้าพระโฉมฉาย |
สบมาหาถ้าไม่เห็นพระช่างกราย | จะอุบายบอกให้รู้เป็นสำคัญ |
จะบากไม้ใส่ฉลากมิให้หลง | เป็นสำคัญมั่นคงดูคมสัน |
นางค้นคว้าหาตามริมพนาวัน | ราวอรัญขอบเขตนิเวศชล |
สักนิดน้อยร่องรอยไม่พานพบ | จนจวบจบที่ตำแหน่งทุกแห่งหน |
แล้วงามชื่นกลับคืนมาบัดดล | ที่วังวนดำปลอดจอดนาวา |
เห็นพฤกษาที่พระปาหักรองนั่ง | สุชลหลังคลอเนตรทั้งซ้ายขวา |
นางกู่ก้องร้องเรียกด้วยวาจา | พระพี่ยาไปอยู่หนตำบลใด |
รอยฝ่าเท้ายังไม่เศร้าทีเดียวนี่ | โอ้พระพี่เห็นแต่รอยตัวไปไหน |
กลั้นพระกายยังหวนมาจับใจ | นางข้างกรายกู่ร้องไปก้องดง |
โอ้พี่ไพรเหตุไฉนมาทิ้งน้อง | แต่กู่ร้องส่งสำเนียงจนเสียงหลง |
ฟังก็นานไม่ยินขานสงัดพง | นางโฉมยงกลับมานาวาพลัน |
ลงนั่งท้ายพายพานาวาข้าม | ตัดแม่น้ำข้ามฟากขมีขมัน |
จอดประทับกับฝั่งนัททีพลัน | นางแจ่มจันทร์ขึ้นไปลัดสกัดรอย |
เที่ยวเลาะลัดไปตามหาดตลิ่งฝั่ง | เห็นรอยนั่งชลนัยน์นางไหลผ็อย |
เสียงสะอื้นครื้นเครงบรรเลงลอย | ทิ้งแต่รอยไว้ให้น้องประจักษ์ตา |
นางทรามชมล้มผ็อยกับรอยบาท | นุชนาถโศกศัลย์กันแสงหา |
ว่าเจ้าประคุณทูนกระหม่อมของเมียอา | จะตามหาไปข้างหนตำบลใด |
นางเนื้อเย็นเห็นรอยบาทาท้าว | เป็นย่างก้าวเหยียบย่ำล้มไสว |
ดูรอยเรียบเลียบตามแม่น้ำไป | นางครรไลดูรอยไม่ปล่อยวาง |
ยินสำเนียงเสียงสกุณนกกู่ฮูก | เสียงกุกลูกร้องก้องในดอนกว้าง |
หยุดชงักฟังเสียงสำเนียงนาง | ครั้นหยุดฟังแล้วก็เงียบสงัดไป |
สำคัญว่าแต่พระปานางขานรับ | ไห้วาบวับหวาดหวั่นพระทัยไหว |
เย็นยะเยียบโหรงเหรงวังเวงใจ | เสียงเรไรกระชั้นสนั่นดง |
มากระทั่งยังแม่น้ำที่ขวางหน้า | รอยบาทาก็มาเปื้อนดูเลือนหลง |
ระส่ำระสายหายสำคัญไม่มั่นคง | นางโฉมยงอ้นอั้นตันอุรา |
ทุ่มพระองค์ลงกับพงพลางสะอื้น | นางงามชื่นยกสองพระพาหา |
ข้อนพระองค์ทรงกันแสงโศกโศกา | พิไรว่าครวญคร่ำแล้วรำพัน |
น่าน้อยใจโอ้พี่ไพรของน้องแก้ว | จะคลาดแคล้วทิ้งน้องให้โศกศัลย์ |
รอยก็หายพ้นที่ใดบ่อนสำคัญ | จะด้นดั้นติดตามไปหนใด |
ถึงกระไรอย่าให้หายซึ่งรอยเท้า | ได้สืบสาวพอให้พ้นที่สงสัย |
จะตกดงพงป่าพาราใด | จะตามไปกว่าชีวินจะสิ้นชนม์ |
นี่รอยหายความสงสัยก็สิ้นสูญ | ดังกองกูณฑ์สุมทรวงร่ำสับสน |
ฤๅท้าวไทพระจะวายที่ชลวน | ดูสายชลถึงจะว่ายเห็นสุดแรง |
ฤๅยักษีผีสางในกลางป่า | มาพบพาไปเป็นผัวแล้วซุกแฝง |
ฤๅเสือสางข้างร้ายมันไล่แทง | พระสิ้นแรงตายกลิ้งอยู่แต่ซากกาย |
ถ้าตายจริงสิงห์สาแลกาแร้ง | คงยื้อแย่งกัดชากระส่ำระสาย |
กระดูกเนื้อคงจะเหลืออยู่เรี่ยราย | พอเต็มใจว่าได้จริงสักสิ่งอัน |
ฤๅพระองค์ยังไปหลงเที่ยวค้นหา | อยู่กลางไพรในป่าพฤกษาสัณฑ์ |
จะนิ่งอยู่ไหนจะรู้ซึ่งสำคัญ | จำผายผันตามหาดูให้รู้ความ |
นางยอดมิ่งทิ้งเรือไว้คาท่า | แล้วไคลคลาเดินตัดพนัสหนาม |
วังเวงใจเอองค์แม่นงราม | พยายามตามหาพระสามี |
นางข้ามโคกโกรกเกริ่นเนินพนัส | ค่อยหลีกลัดรัญวาพฤกษาศรี |
แต่แรมไพรมาก็ได้หลายราตรี | นางเทวีตรึกความไม่งามใจ |
เป็นสตรีนี้บุรุษย่อมดูหมิ่น | นิยมยินแยบยลพ้นวิสัย |
จะลามลวนชวนระเริงในเชิงชาย | ได้ความอายแก่บุคคลเป็นมลทิน |
ทำไฉนจะได้กลายเป็นบุรุษ | นางนงนุชตรองในใจถวิล |
แล้วกราบกรานอธิษฐานเถิงพรหมินทร์ | แต่ชั้นอินทร์ลงไปถึงซึ่งนาคา |
แล้วอธิษฐานศีลทานแต่เก่าก่อน | ธุระร้อนอย่าได้เฉยมาช่วยข้า |
ด้วยความสัตย์ของข้าซื่อต่อภัสดา | ให้กายาข้านี้กลายเป็นชายชาญ |
พระเต้าถันนมของฉันอันเต่งตั้ง | ดูเปล่งปลั่งตั้งตูมเป็นภูมิฐาน |
ฉันขอฝากให้พฤกษาพยาบาล | จงเป็นภารพาธุระช่วยบำรุง |
อธิษฐานมิได้นานในเดี๋ยวนั้น | เต้านมถันขึ้นไปติดต้นงิ้วสูง |
เป็นปุ่มตาติดที่ต้นดูโตตุง | บุญบำรุงอุปถัมภ์เหมือนคำนาง |
พระเต้านมก็ช่างสมเหมือนบุรุษ | แม่นงนุชกลายเป็นชายไม่นึกหมาง |
รูปจริตของสตรีโยนีนาง | แม่จอมปรางค์ฝากไว้บนต้นสำโรง |
นางนงคราญอธิษฐานแล้วกราบไหว้ | บันดาลหายที่ในกายหมดโขยง |
โยนีนางขึ้นไปตั้งติดกิ่งสำโรง | ห้อยระโยงลูกระย้าเหมือนโยนี |
โยนีหายที่ในกายนางนิ่มนาฏ | องคชาติก็บังเกิดแทนอิตถี |
กลายเป็นชายหายรูปจากนารี | นางยินดีสมเหมือนใจที่หมายปอง |
เจ้าโฉมฉายกายกลายเป็นบุรุษ | บริสุทธิ์โสภีไม่มีสอง |
พิมบุรุษงามเสงี่ยมเอี่ยมละออง | เจ้าเยื้องย่องจรดลไปคนเดียว |
เจ้าเดินพลางทางวินิจคิดสงสัย | พระโฉมฉายฤๅยังอยู่ในไพรเขียว |
คิดพะวงสงสัยในใจเจียว | กระสันเสียวเถิงพระปาไม่ราวัน |
เจ้าข้ามดอนนอนดงพงพนัส | เสียงสิงสัตว์ร้องก้องในไพรสัณฑ์ |
เสียวสยองพองโลมาเกศาชัน | วิเวกวังหวาดหวั่นกระสันทรวง |
ปางท่านเทพเทวาวราฤทธิ์ | อันสถิตภูมิภาคภูเขาหลวง |
เห็นงามชื่นตื่นเต้นกระสันทรวง | บ้างเหงาง่วงคิดสังเวชทุกเทวัญ |
ทุกเทวายกพาหาขึ้นข้อนอก | คิดวิตกแสนสงสารเจ้าจอมขวัญ |
บ้างตีองค์ทรงโศกาปรึกษากัน | อย่ากระนั้นเลยนะเจ้าชาวเราอา |
เราจำแลงแปลงกายให้แปลกเพศ | สำแดงเดชเป็นสกุณปักษา |
ถามนางดูให้ได้รู้ในเรื่องรา | เจ้าเดินมาแต่ผู้เดียวมาเปลียวกาย |
ฝูงเทวัญพูดกันไม่นิ่งช้า | แปลงกายาเป็นนกแก้วแล้วผันผาย |
เป็นผู้เมียจับเป็นพวกอยู่เรียงราย | เหนือปลายไม้อัมพวาผกาดวง |
เทวฤทธิ์ที่นิมิตเป็นนกแก้ว | พูดกันแซ่วด้วยสงสารเจ้ายอดสรวง |
จึงร้องถามทรามรักเจ้าพักตร์พวง | กานดาดวงไยจึงเดินมาผู้เดียว |
นางนกแก้วพูดจ้อกับพ่อแก้ว | ประหลาดแล้วอกฉันให้หวั่นเสียว |
ชะรอยเหตุจะอาเพทเจ้าทรามเปรียว | จึงท่องเที่ยวมาในดงผู้เดียวเดิน |
พิมบุรุษหยุดพูดกับนกแก้ว | เป็นกรรมแล้วนะเจ้านกระหกระเหิน |
เราพลัดผัวเถิงกรรมระยำเยิน | จะรีบเดินตามหาพระสามี |
เจ้าแก้วเอ๋ยไปเที่ยวกินทุกถิ่นฐาน | ยังพบพานปะคุณพ่อฤๅโฉมศรี |
เจ้าแก้วแก้ว่าคุณแม่สกุณี | ไม่เห็นมีใครผู้ใดจะพบเลย |
เจ้าโฉมฉายฝ่ายว่าพิมที่กลายเพศ | จึงสั่งเหตุไว้กับนกเจ้าแก้วเอ๋ย |
ถ้าประสบพบคุณพ่อเจ้าทรามเชย | อย่านิ่งเลยบอกคุณพ่อเกิดพงา |
ว่าคุณแม่แดดาลไม่มีสุข | ระทมทุกข์บุกระหนามเที่ยวตามหา |
พบคุณพ่อบอกให้แน่ว่าแม่มา | เจ้าปักษาชี้หนทางให้จางใจ |
เจ้าแก้วแก้ว่าคุณแม่อย่าเป็นทุกข์ | ธุระลูกอย่ากังวลจงแจ่มใส |
ลูกจะบอกว่าคุณพ่ออย่าท้อใจ | พบคุณแม่สั่งไว้ให้บอกคำ |
เจ้าอรพิมนิ่มเนตรเพศบุรุษ | จึงสั่งพูดไว้กับนกนั้นแน่นหนำ |
แล้วโฉมศรีสั่งกำชับให้นกจำ | จึงกล่าวความว่ามารดาจะลาไป |
พฤกษ์เทวาสกุณาได้ฟังสั่ง | สกุณังตอบสารสนองไข |
พูดจ้อแจ้ว่าคุณแม่จะจากไป | ลูกอาลัยมิได้ลืมสักเวลา |
คุณแม่แก้วถ้าไม่แคล้วพบคุณพ่อ | จงติดต่อกลับมาเยือนลูกบ้างหนา |
พาคุณพ่อมาด้วยกันกับมารดา | สกุณาเทพไทอาลัยนาง |
ฝ่ายอรพิมเป็นบุรุษนุชนาถ | ให้หวั่นหวาดแทบหัวอกจะแตกผาง |
เจ้านงคราญคิดสงสารปักษาพลาง | ให้อ้างว้างคิดพะวงสกุณา |
แต่จำเป็นจรลีด้วยมีทุกข์ | ถ้าอยู่สุขไม่พักสั่งเจ้าปักษา |
จะพาลูกไปสำอางในปรางค์ปรา | นี่มารดามาเปลี่ยวผู้เดียวเดิน |
เจ้าว่าพลางเยื้องย่างมาจากนก | ระเหินระหกเลียบลำเนาภูเขาเขิน |
ระทมทุกข์ทนระกำระยำเยิน | กันดารเดินองค์เดียวให้เปลี่ยวใจ |
สงสารหน่ออรพิมแม่นิ่มเนตร | เจ้ากลายเพศเป็นบุรุษสุดวิสัย |
รูปจริตมิได้ผิดเพศผู้ชาย | เจ้าถ่อกายตามหาพระสามี |
แต่บุกดงพงป่าพนาเวศ | ทุกขอบเขตหิมวาพฤกษาศรี |
จะพานพบใครผู้ใดก็ไม่มี | เจ้าเทวีเดินไพรมาหลายเดือน |
บรรลุถึงเมืองหนึ่งใหญ่พิศาล | โอฬาฬารเมืองใดไม่มีเหมือน |
กษัตริย์วงศ์ผู้ดำรงบูรีเรือน | เป็นขั้นเคลื่อนสืบสืบกันต่อมา |
อันนามเมืองมีในเรื่องแต่ก่อนภาค | ชื่อว่านครเมืองจัมปากอันเลขา |
พระมีเอกมเหสีอันปรีชา | ผ่องโสภาเลิศโลกวิไลงาม |
มีเสนาข้าสาวที่เผ้าชิด | ปโรหิตทั้งอาจารย์ปรึกษาถาม |
แขกฝรั่งพังคาละว้าจาม | ทั้งชีพราหมณ์พร้อมพรั่งในพรหมจรรย์ |
มีประตูคูป้อมอ้อมนิเวศ | เป็นขอบเขตล้อมพาราเลขาขัณฑ์ |
นางสนมนับด้วยหมื่นพื้นกำนัล | สารพันรถรัตน์อัสดร |
มีร้อยเอ็ดพระนครมาอ่อนเกล้า | บังคมท้าวนำบรรณามาสลอน |
องค์พระจอมจักรพาสถาวร | พระภูธรยิ่งสำอางอย่างละออง |
พระนงลักษณ์เอกอัครมเหสี | เกิดบุตรีงามเอี่ยมไม่เทียมสอง |
ขนงหน้าพระฉวีเหมือนสีทอง | งามลำยองยิ่งภิญโญในโลกี |
พระโฉมฉายให้นามพระลูกแก้ว | ชื่อนางอมรผ่องแผ้ววิไลศรี |
ถนอมนางไว้ในปรางค์มณีดี | พระภูมีรักใคร่เหมือนสายตา |
อยู่วันหนึ่งถึงกรรมแม่โฉมฉาย | งูเห่าร้ายตอดนางให้สังขาร์ |
พระภูวนัยแสนเสียดายพระลูกยา | ทรงโศการ้องไห้อาลัยนาง |
ทั้งพระญาติมาตุรงค์ของโฉมศรี | ก็โศกีข้อนทรวงอยู่ผึงผาง |
พระสนมสาวใช้ที่ในปรางค์ | เสียงครวญครางร่ำถึงคะนึงนวล |
ฝ่ายอรพิมอัครเรศเพศบุรุษ | ช่างผ่องผุดผิวพรรณไม่ผิดผวน |
เพศผู้ชายรูปจริตกระบิดกระบวน | เป็นหน้าชวนให้ผู้หญิงประวิงใจ |
เจ้าตรองนึกตรึกความเห็นงามขำ | อันรูปนามเปลี่ยนแล้วเห็นผ่องใส |
ถ้าเปลี่ยนชื่อเสียอย่าชื่ออย่างเก่าไป | เข้าเวียงชัยจะได้ลือทั้งโลกา |
จำจะเอานามสำเนาพระสามิต | ที่ชื่อว่าพระไพรจิตเสนหา |
มาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นชื่ออาตมา | ชาวพาราจะได้เล่ากันต่อไป |
ถ้าพระองค์ยังไม่ปลงชีวาวิต | ถ้าได้ข่าวคงจะคิดคงสงสัย |
จะได้ตามมาให้แจ้งด้วยแคลงใจ | ถ้าไม่ตายคงจะพบประสบกัน |
ชาวพาราถ้าเขาถามถึงนามชื่อ | จะบอกว่าชื่อไพรจิตเห็นคมสัน |
นางคิดแล้วชื่นชมอารมณ์ครัน | เกษมสันต์ชื่นใจสบายบาน |
งามสงวนด่วนเดินไม่หยุดหย่อน | เถิงนครเมืองจัมปากรโหฐาน |
ดูยอดปรางค์แลสล้างโอฬาฬาร | งามตระหง่านสูงเยี่ยมเทียมเมฆา |
เจ้าโฉมฉินจรลินไปเถิงเมือง | จึงย่างเยื้องเข้านครอันเลขา |
เห็นผู้คนกล่นเกลื่อนละลานตา | เจ้าทัศนาเกลือกจะพบพระสามี |
หมู่ชาวเมืองนั่งร้านขายสิ่งของ | ดูก่ายกองสองข้างทางวิถี |
เจ้าพิมเดินเมินไปไม่ไยดี | ชาวบูรีแลดูไม่วางตา |
เจ้าโฉมงามเดินตามถนนหลวง | ตลอดล่วงมาเถิงวังพระนาถา |
เสียงร้องไห้ครวญคร่ำร่ำโศกา | แคลงวิญญาณ์สงสัยฤๅวายชนม์ |
เจ้าเดินพลางมากระทั่งเถิงท่าน้ำ | เห็นคนคล่ำอาบวารีอยู่สับสน |
บ้างผลัดผ้าชุบซักบ้างตักชล | อลวลไปมาในท่าธาร |
เจ้านงนุชหยุดนั่งกำลังร้อน | ด้วยเหนื่อยอ่อนเหื่อโซมน่าสงสาร |
แล้วผลัดผ้าลงสรงชลธาร | เย็นสำราญชื่นใจสบายทรวง |
ขึ้นมานั่งพลางผลัดภูษาตาก | เจ้าเนื้อนากนั่งท่าศาลาหลวง |
เสียงร้องไห้มิได้วายระกำทรวง | เจ้าพักตร์พวงแล้วจึงถามเนื้อความพลัน |
ว่าดูราข้าแต่ท่านสิ้นทั้งหลาย | เหตุไฉนเสียงแซ่แต่โศกศัลย์ |
ฤๅเจ็บไข้ล้มตายปัจจุบัน | ได้ยินร้องเสียงสนั่นร่ำพิไร |
ปางประชาชาวธานีบูรีรัตน์ | ได้ฟังอรรถพิมบุรุษแล้วปราสัย |
จึงถามว่าท่านนี้มาแต่เมืองใด | ไม่รู้บ้างฤๅอย่างไรพ่อดวงตา |
พระบุตรีของท่านท้าวเจ้าชีวิต | งูเห่าพิษตอดแม่ให้สังขาร์ |
ท่านแสนรักราวกะทรวงดวงชีวา | แต่โศการ้องไห้มาหลายวัน |
เจ้าพิมแจ้งแห่งเหตุจึงถามว่า | หมอแลยาท่านใดแก้ฤๅไม่นั่น |
พวกชาวเมืองแจ้งเรื่องไปฉับพลัน | ที่ข้อนั้นอย่าพักถามพ่อทรามเชย |
หมอแลยาท่านได้หามาแก้ไข | เงินแลทองกองให้พ่อคุณเอ๋ย |
จนใจหมอแก้ไว้ไม่ได้เลย | จนทรามเชยเลยตายบรรลัยลาญ |
เจ้าร้อยชั่งครั้นได้ฟังชาวเมืองเล่า | แจ้งสำเนาอนุสนธิ์ยุบลสาร |
เจ้าตรองใจใคร่ครวญกระบวนการ | บุญสมภารเข้ามาดลบันดาลใจ |
สะดุ้งจิตคิดขึ้นได้ว่ายาดี | อยู่กับตัวกูก็มีเคยแก้ไข |
พระสามีสิ้นชีวีบรรลัยไป | ยังแก้ได้รอดฟื้นคืนเป็นคน |
จำจะว่าขอรักษานางเนื้ออุ่น | ที่เป็นบุญวางยาดูสักหน |
จะกลับรอดงามชื่นจะคืนชนม์ | นิรมลตรองความครั้นงามใจ |
แล้วจึงว่าข้าแต่ท่านชาวประชา | อันยาข้านี้แลดีจะมีไหน |
เป็นไรขาจึงไม่หาข้าเข้าไป | จะแก้ไขดำปลอดให้รอดเป็น |
ชาวบุรินทร์ครั้นได้ยินเจ้ากล่าวว่า | พูดประกวดอวดยาไม่เคยเห็น |
จึงว่าเธอพูดเผยอดูเหลวเลน | คนตายแล้วกลับจะเป็นไม่เห็นมี |
ถ้าอินทรายาทิพโอสถ | มาราดรดนั้นแลเห็นไม่เป็นผี |
จะกลับฟื้นคืนได้กายชีวี | ตัวท่านนี้เป็นมนุษย์ข้าสุดแคลง |
เจ้าอรพิมผ่องผาดราชบุรุษ | ได้ฟังพูดชาวพาราว่าเคลือบแฝง |
ไม่เชื่อถือแหนงในใจระแวง | ว่ากล่าวแกล้งอวดเล่นไม่เห็นจริง |
เจ้าจึงว่าชาวประชาสิ้นทั้งหลาย | ทั้งไพร่นายราชบุรุษชายแลหญิง |
ดีแลชั่วจะใคร่เห็นว่าเล่นจริง | ท่านอย่านิ่งจงไปทูลจ้าวพารา |
ว่าตัวเรากล่าวว่ายาเราดีนัก | สามิภักดิ์อุกอาจจะอาสา |
จะแก้บุตรของพระองค์ปลงชีวา | ด้วยฤทธิ์ยาจะให้ฟื้นคืนพระชนม์ |
ชาวธานีฟังคดีเห็นคมสัน | เจ้าแข็งขันพูดขึงให้เสียวขน |
ขันอาสาหาให้ทูลพระจุมพล | ที่ลางคนก็เข้าศาลาใน |
แล้วกราบเรียนท่านพระนายฝ่ายอำมาตย์ | ได้ทราบบาทโปรดเกล้าจงแจ้งใส |
ยังมีคนบริสุทธิ์บุรุษชาย | ประพริมพรายมิใช่เหล่าชาวธานี |
ขออาสาใส่ยาแม่ปิ่นเกล้า | พระลูกเจ้าที่บรรลัยไปเป็นผี |
ให้เป็นคืนฟื้นชีวาด้วยยาดี | ให้กราบทูลพระจักรีให้รู้รา |
พวกข้าเฝ้าฟังชาวประชาราษฎร์ | ให้หวั่นหวาดเสียวแสยงขนเกศา |
แล้วตรงเข้าเฝ้าองค์พงศ์นรา | ไม่นิ่งช้ากราบทูลมูลคดี |
ควรมิควรจงได้โปรดอดโทษา | พระอาญามิได้พ้นเกล้าเกศี |
ยังมีชายนายหนึ่งขอภักดี | ว่ายามีดีเลิศประเสริฐยา |
พระลูกเจ้าที่เชิญเข้าใส่พระโกศ | ได้ทรงโปรดว่าจะขอรับอาสา |
ให้เป็นคืนฟื้นชีวิตด้วยฤทธิ์ยา | ขอผ่านฟ้าจงได้ทราบฝ่าธุลี |
๏ ปางพระองค์ทรงฤทธิ์มหิศร | จ้าวนครกรุงจัมปากบูรีศรี |
พระฟังทูลข้าเฝ้าเหล่าเสนี | แจ้งคดีว่าบุรุษต่างพารา |
มาพูดขันชั้นเชิงดูยิ่งยวด | กล่าวพูดอวดคมสันนั้นนักหนา |
จะแก้บุตรของพระองค์ปลงชีวา | ให้คืนมารอดพ้นจากความตาย |
พระชมชื่นรื่นสำราญปานได้เหาะ | ออกปากเจาะชมว่ายาเขาดีใจหาย |
พระโองการตรัสว่าท่านเสนานาย | จงเร็วไวหาเข้ามาอย่าช้าที |
ขุนเสนารับบัญชาดำรัสสั่ง | เหยาะลุกย่างเร็วพลันขมันขมี |
มาเถิงถามท่านนี้ฤๅขาว่ายาดี | พระภูมีตรัสบัญชาให้หาตัว |
พิมบุรุษพูดตอบเสนาท้าว | ตัวข้าเจ้านี้แลท่านพ่อทูนหัว |
จะไปเฝ้านี้ข้าเจ้าไม่เคยกลัว | อนึ่งตัวก็คนเดียวให้เปลี่ยวกาย |
ขุนเสนาตอบว่ามานพท่าน | อย่าพรึงพรั่นจะช่วยทูลพระโฉมฉาย |
ยาท่านดีพระบุตรีรอดจากตาย | มานพนายข้านี้เห็นได้เป็นพระยา |
ทั้งรางวัลท่านจะได้นั้นหลายหลาก | คงมูนมากล้นเหลือทั้งเสื้อผ้า |
ว่าแล้วพลางข้างฝ่ายนายเสนา | ก็นำพาเข้าไปเฝ้าเจ้านคร |
ครันมาเถิงทูนกระหม่อมจอมกษัตริย์ | ประนมหัตถ์ไหว้องค์พระทรงศร |
เสนานายทูลขยายถวายพร | นรินทรจงได้ทราบพระบาทา |
ตัวหมอยาพามาบังคมท้าว | พระองค์จ้าวลนลานตรัสทักหา |
เออท่านหมอแต่พอเห็นท่านเข้ามา | ประหนึ่งว่าพระลูกยาเราคืนเป็น |
ยาของท่านดียิ่งจริงแลหรือ | เขาลือชื่อแก้มาหลายแต่ได้เห็น |
แก้มาหลายแต่คนตายยังกลับเป็น | จริงอย่างนั้นฤๅให้เห็นประจักษ์ตา |
พระบุตรีเราชีวีนั้นปลงปลด | ใส่ในโกศสิ้นชีพสังขาร์ |
ท่านช่วยแก้ให้ได้ฟื้นคืนชีวา | กึ่งพาราเราจะให้อย่าได้แคลง |
ทั้งช้างม้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งผอง | เงินในคลังทั้งสิบสองจะกองแบ่ง |
เป็นบำเหน็จให้แก่เจ้าดังเราแจง | อย่านึกแหนงเลยนะพ่อเจ้าหมอยา |
สายสุดใจฝ่ายเจ้าพิมเพศบุรุษ | เจ้านงนุชกราบทูลพระนาถา |
พระอาญาล้นเกล้าเท่าสุธา | พระผ่านฟ้าจงได้โปรดที่โทษทัณฑ์ |
อันยาข้าได้รักษาเคยแก้ไข | แก้มาได้รอดตายพระจอมขวัญ |
แต่แก้ได้รอดตายกว่าหมื่นพัน | พระทรงธรรม์จะให้แก้พระลูกยา |
หม่อมฉันเล่าก็เป็นชาวต่างประเทศ | มาพึ่งพิงอิงเดชพระนาถา |
ไม่บิดเบือนแข็งขัดพระอัชฌา | พระผ่านฟ้าอย่าได้แหนงระแวงใจ |
จอมณรงค์พงศ์นารายณ์ไทยธิเบศร์ | พระกิ่งเกศจอมนรินทร์ปิ่นมไห |
ได้ฟังหมอชื่นสำราญบานพระทัย | จึงตรัสไปว่าเจ้าหมออย่ารอรา |
จะต้องการสิ่งอันใดอย่างไรบ้าง | เจ้าร้อยชั่งบอกพ่อเถิดลูกหนา |
เจ้าพิมทูลว่าพระจุลจอมโลกา | อันเครื่องยามิให้ยากลำบากกาย |
ขอพระองค์จงได้โปรดเกล้าเกศา | ให้หามาก็แต่ม่านสักสี่สาย |
กับไม้หลักสี่หลักมาปักราย | แล้วผูกม่านกั้นไว้ให้ดิบดี |
พระจอมพงศ์ทรงฟังเจ้าพิมหมอ | ไม่รั้งรอตรัสสั่งนางสาวศรี |
ให้เบิกม่านออกมาพลันในทันที | พวกเสนีรับสั่งเข้าวังใน |
พนักงานเบิกม่านวิสูตรศรี | ที่อย่างดียื่นส่งให้สี่สาย |
เสนานายได้ม่านมาทันใด | รีบสั่งให้ปักหลักไว้เรียงรัน |
คลี่วิสูตรรูดสายเข้าผูกขึง | ให้เคร่งตึงมิดชิดดูคมสัน |
เป็นสี่เหลี่ยมถึงจะแลไม่เห็นกัน | พระทรงธรรม์ตรัสว่าพ่อเจ้าหมอยา |
จะให้ทำเป็นอย่างไรพ่อสายเนตร | เจ้าก้มเกศกราบทูลพระนาถา |
ขอพระองค์ทรงพระกรุณา | ให้หามมาซึ่งพระศพแม่เทวี |
เอาเข้าใส่ไว้ในม่านที่กั้นไว้ | โกศอย่าใส่ให้เอาไว้แต่ร่างผี |
พระภูบาลฟังสารเจ้าหมอดี | แล้วจึงมีเทวราชประภาษไป |
ว่าดูราพวกเสนาสิ้นทั้งหมด | จงเปิดโกศยกเอาร่างนางออกไว้ |
ฝูงเสนียกร่างผีในทันใด | เข้าวางไว้อยู่ในม่านที่กั้นกาง |
ฝ่ายเจ้าหมออรพิมผู้นิ่มนาฎ | ไม่หวั่นหวาดที่อุทัจจะขัดขวาง |
จอมกษัตริย์ตรัสว่าพ่อหมอสำอาง | ขอเชิญวางทิพย์โอสถได้โปรดปราน |
อรพิมหมอรักษายาวิเศษ | ไม่ขามเข็ดตั้งอารมณ์พรหมวิหาร |
จิตระลึกตรึกเถิงท้าวมัฆวาน | เข้าในม่านนั่งสมาธิสำรวมกาย |
เหลือบชำเลืองแลพินิจพิศอาสภ | ก็ดีครบมิได้เน่าเศร้าฉลาย |
กายอินทรีย์ก็ยังดีไม่กลิ่นอาย | แต่ลมอัสสาสนั้นแลหายไม่ไหวยิน |
ฝ่ายเจ้าหมออรพิมผู้นาถา | จึงยกยาอธิษฐานเถิงโกสินทร์ |
ว่าข้าแต่ท้าวจักรพงศ์องค์พระอินทร์ | ทุกเทวินทร์จงมาช่วยข้าด้วยพลัน |
ด้วยบุตรท้าวจ้าวนครสิ้นชีวิต | แม่ม้วยมิดกายอินทรีย์บรรลัยสัญ |
เดชะยาของท่านท้าวเจ้าไชยันต์ | จงฉับพลันขอให้ฟื้นคืนชีวี |
จึงกัดหญ้าแล้วก็เคี้ยวประเดี๋ยวนั้น | แล้วพ่นพลันลงไปทั่วทั้งกายผี |
ด้วยยาทิพย์ของโกสิตมีฤทธี | พระบุตรีติงกายขึ้นไหวชนม์ |
แล้วเคี้ยวพ่นลงไปซ้ำคำรบสอง | เป็นฝอยฟองเปียกซาบเกศาขน |
กระเดือกดิกพลิกขยายกายสกนธ์ | ทุรายทุรนดิ้นขวักไขว่อยู่ไปมา |
อรพิมพ่นครบคำรบสาม | นางโฉมงามลุกขึ้นฟื้นผวา |
เข้าสวมสอดกอดเอาเท้าบาทา | ของอรพิมหมอยาโศกาลัย |
พระชนนีเห็นบุตรีนั้นกลับฟื้น | สำราญรื่นชื่นอารมณ์จะมีไหน |
ว่าเจ้าหมอนี้ประเสริฐเลิศวิไล | ท้าวหัสนัยจะมาเปรียบพอเทียบเทียม |
พระบิดาตรัสว่าพระลูกรัก | เป็นบุญชักหมอมาช่วยแม่จอมเสงี่ยม |
พ่อตั้งแต่กินน้ำตาอุราเกรียม | ด้วยงามเอี่ยมลูกบรรลัยวายชีวัง |
พระเชษฐาว่านิจจาแม่ร่วมจิต | พี่ตรึกคิดว่าพระน้องไม่คืนหลัง |
คิดถึงน้องตรองแล้วง่วงแทบทรวงพัง | ว่าชีวังชีพชีวงไม่คงคืน |
พระน้องน้อยว่าพี่พลอยแหวนหัวเพชร | คิดว่าเด็ดไปทีเดียวไม่ฝ่าฝืน |
บุญมาช่วยตามมาชูให้อยู่ยืน | กลับมาคืนอยู่กับน้องได้ครองเรือน |
พวกพระญาติว่าขนาดแล้วหมอนี่ | เหลือที่ดีหาไม่ได้ใครไม่เหมือน |
ยาก็ดีหมอก็แน่แกไม่เชือน | กรรมมาตามบุญมาเตือนให้คืนใจ |
พระอานางว่าข้าตั้งแต่สงสาร | คิดพระหลานมัวหมองไม่ผ่องใส |
ตั้งแต่ร้องนองน้ำสุชลนัยน์ | ไม่หมายว่าสายสุดใจจะคืนเป็น |
ฝ่ายพระยายว่าเจ้าตายวายชีวาตม์ | หมอทายาดยานี้เอ๋ยไม่เคยเห็น |
ยาพระอินทร์กินเข้าไปตายแล้วเป็น | พระหลานเจ้าคราวนี้เย็นยืนชีวี |
ฝ่ายพระตาว่าพระหลานตานี้คิด | ทองอุไรหายชีวิตไปเมืองผี |
ตาแต่ตั้งหลั่งน้ำตาทุกราตรี | บุญมาชูกู้ชีวีให้เป็นคืน |
พระนัดดาว่าพระน้าของหลานน้อย | ตายเป็นผีมีแต่ร้อยแต่พันหมื่น |
ตายแล้วเหม็นหลานไม่เห็นจะเป็นคืน | บุญข้ามฟ้าพาให้ฟื้นไม่วางวาย |
ชาวบุรินทร์ว่าแม่ปิ่นบูรีศรี | หมอช่างดีไปเอายามาใส่หาย |
หมออย่างนี้มีบ้างฤๅทั้งโลกาย | หาไปเถิดเกิดแล้วตายไม่พบพาน |
หมู่อำมาตย์ว่าประหลาดน่าใจหาย | คนก็ตายสิ้นชีพสังขาร |
หมอคนนี้เหมือนฤๅษีที่ได้ฌาน | ชุบก็ปานจึงได้เป็นข้าเห็นจริง |
พวกเสนาพากันว่าพระลูกหลวง | ข้าทั้งปวงพากันคิดแม่เลิศหญิง |
เมตตาใจไพร่ขุนนางได้อ้างอิง | เสียน้ำใจหายที่พิงแทบวายชนม์ |
พวกเสนีว่าฤๅษีดอกวะชุบ | เทพจำแลงแปลงทั้งรูปมาให้ฉงน |
จะว่าหมอก็เห็นผิดจริตคน | ตายจนแข็งน่าเสียวขนยังกลับเป็น |
พวกจ่าโขลนพากันบ่นว่าหลากจิต | ฤๅมีฤทธิ์ชาวเราเอ๋ยไม่เคยเห็น |
แต่เกิดมาจนชราจะถึงเกณฑ์ | แต่พ่อแม่ก็ไม่เห็นได้เล่ามา |
ต่างดีใจด้วยอาลัยแม่โฉมเฉิด | เหมือนตายแล้วกลับมาเกิดพิไรหา |
ยินนิยมโสมนัสหัทยา | ทุกประชาสรรเสริญจำเริญพร |
ชาวพาราพากันว่าแม่งามชื่น | คราวนี้จะยืนภิญโญสโมสร |
ฝูงเสนีว่าแม่ศรีปิ่นนคร | อันตรายฝ่ายจะร้อนไม่เกิดมี |
๏ ปางพระองค์ทรงแผ่นดินปิ่นจัมปาก | พระแก้วแนมแกมนากมณีศรี |
จอมนเรนทร์แลเห็นพระบุตรี | เจ้าหมอดีแก้ฟื้นให้คืนเป็น |
พระยินดีปรีดิ์เปรมประเสมชื่น | ปานได้ขึ้นไปวิมานทันตาเห็น |
จึงตรัสว่าเจ้าหมอยาพ่อเนื้อเย็น | ช่างจัดเจนรู้ถ้วนถี่คัมภีร์ยา |
นี้แน่ะเจ้าผู้ลำเพาพ่อขอถาม | ทรงพระนามชื่อไรพ่อกังขา |
กุศลสร้างมาแต่หลังจึงชักพา | กับลูกแก้วแววตาให้พบพาน |
พระบุตรีที่ก็ตายวายชีวิต | งูเห่าพิษตอดขบให้สังขาร |
เจ้าแก้ฟื้นมิใช่อื่นคือสมภาร | ศีลแลทานเจ้าทั้งสองได้สร้างมา |
เป็นร้อยพันท่านผู้อื่นแต่หมื่นนับ | แต่หมอยาเข้ามารับแก้อาสา |
หมอเขมรแขกฝรั่งแลพังคา | ไม่สามารถที่จะมาให้คืนคน |
พ่อเห็นว่าวาสนามาถึงแล้ว | เหมือนนิลแนมแกมแก้วสังเกตผล |
เห็นสมควรพ่อนี้ยวนแต่แลยล | จิตกังวลพ่อนี้ปองให้ครองกัน |
คลังสิบสองทองและเงินนั้นเป็นหนึ่ง | จะแบ่งปันให้เจ้ากึ่งพ่อจอมขวัญ |
ทั้งไพร่พลราชรถคชกรรม์ | แต่เมืองนั้นพ่อจะมอบให้ครอบครอง |
สังขารังพ่อจะยังสักเพียงไหน | จะฝากฝังร่างกายเจ้าทั้งสอง |
เป็นที่พึ่งชาวประชาข้าละออง | จงปกป้องไพร่ฟ้าประชาชน |
ฝ่ายเจ้าหมอพ่อจำแลงแปลงนิมิต | ในใจจิตไม่นิยมเท่าเส้นขน |
ตรองถึงมิตรคิดถึงผัวอะดักอะดน | จอมสากลภูวนาถที่พลัดกัน |
จะบอกตรงคงผู้ชายจะหมายหมิ่น | นิยมยินยียวนให้หวนหัน |
ภัยจะพาลคิดรำคาญจะคายคัน | นางจึงผันเปลี่ยนชื่อให้ลือเมือง |
พิมบุรุษสุดประเสริฐเลิศฉลาด | บังคมบาทกราบทูลพระเนื้อเหลือง |
จึงบอกเพี้ยนเปลี่ยนชื่อนางบุญเรือง | ฉันจากเมืองพลัดบ้านสัญจรมา |
อันนามฉันชื่อนั้นว่าปาจิต | พระทรงฤทธิ์โปรดปรานนั้นหนักหนา |
โปรดประทานจะให้ผ่านพระพารา | กับฉัยยาแม่อมรให้ครองกัน |
ขอบพระคุณบุญนั้นเท่าภูเขาหลวง | ด้วยจงรักหนักหน่วงลูกจอมขวัญ |
ทรงเมตตามิได้ว่าคนไร้พันธุ์ | พระทรงธรรม์แต่เมตตาไปท่าเดียว |
จะหาไหนจะมาได้เหมือนทรงเดช | ช่างโปรดเกศรักลูกกระสันเสียว |
ไม่ติเตียนรักกระสันพันเป็นเกลียว | ภูเขาเขียวเทียบพระคุณไม่ปูนปาน |
ยังมิหนำซ้ำมายกบุตรีให้ | ทั้งโภไคยไอศูรย์ราชฐาน |
ฉันดำรงทรงเหนือเศียรสาธุการ | พระสมภารจะขอพึ่งพระบารมี |
ลูกศรัทธาใจว่าแต่อยากบวช | ทรงผนวชครองศีลพระชินศรี |
แต่ขัดเคืองผ้าไกรนั้นไม่มี | พระจักรีโปรดเกล้าได้เอาบุญ |
ได้เมตตาโปรดผ้าสักไกรหนึ่ง | ขอฉันพึ่งโปรดให้อย่าได้สูญ |
บริขารแปดประการจงพร้อมมูล | เจ้าประคุณโปรดเกศได้เมตตา |
๏ ปางนรินทร์ปิ่นธานีบูรีรัตน์ | กรุงกษัตริย์จ้าวจัมปากผู้นาถา |
ได้ทรงฟังสุนทรังเจ้าหมอยา | กราบทูลว่าชื่อปาจิตอิศรัง |
แต่ลูกสาวท้าวที่ให้ถวายคืน | ทั้งบ้านเมืองก็ไม่ชื่นสวาทหวัง |
ศรัทธาบวชทรงผนวชไม่อินัง | เจ้าทูลตัดขัดขวางไม่ยินดี |
จะขอผ้าลาว่าจะขอบวช | ดูยิ่งยวดพูดนึกจะสึกหนี |
ไม่เอื้อเฟื้อด้วยว่าจิตคิดสามี | ทั้งธานีโภไคยไม่หมายปอง |
ท้าวไม่แหนงว่าจำแลงมาตามผัว | ดูกายตัวเป็นผู้ชายไม่เป็นสอง |
ความสงสัยมิได้หมายในใจปอง | พระตรึกตรองแล้วจึงตรัสประภาษพร |
ว่าดูราพระลูกยาพ่อปาจิต | พ่อนี้คิดปลื้มทรวงสโมสร |
ว่าจะได้เจ้าเป็นสายสืบนคร | เหมือนอุทรที่ในท้องพ่อปองพันธุ์ |
พระลูกยาจงเมตตากับพ่อก่อน | อย่าตัดรอนเลยนะเจ้าพ่อจอมขวัญ |
เป็นวาสนาเทพพามาพบกัน | จงผ่อนผันให้พ่อฝากซึ่งซากกาย |
อนึ่งเล่าเจ้าอมรบุตรีพ่อ | ลูกติดต่อเอาชีวิตไว้สืบสาย |
เจ้าไม่แก้พ่อเห็นแท้แน่ข้างตาย | คุณเจ้ามากหนักใหญ่เท่าแผ่นดิน |
พ่อสุดคิดจนจิตจะทำไฉน | ทั้งโภไคยบ้านเมืองยกให้สิ้น |
ทั้งสินธพราชรถคชรินทร์ | เจ้าไม่ยินอยากจะได้ไม่ไยดี |
ตัวอมรเออเจ้าหมอพ่อก็ให้ | เจ้าหักใจว่าจะบวชรักษาศรี |
พ่อขอห้ามเจ้าสักคำเถิดทองดี | พ่อหมายฝากซากผีเจ้าดวงใจ |
เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เสียก่อนลูก | ถ้าใจผูกพ่อยังคิดพิสมัย |
บรรพชาเมื่อชราเถิดเป็นไร | ปรึกษาใจเถิดนะลูกให้ถูกงาม |
คำบูราณท่านก็ว่ามาแต่ก่อน | ท่านสั่งสอนโปรดสัตว์ในภพสาม |
มีที่ไปถ้าผู้ใหญ่ได้ห้ามปราม | ถ้าขืนไปภัยก็ลามจลาจล |
อย่าว่าแต่ผ้าเงินตราสักแสนชั่ง | ทั้งเวียงวังก็จะให้ไม่ขัดสน |
อันผ้าไกรก็มิใช่พ่อยากจน | สักร้อยไกรให้เขาขนคงได้มา |
สงสารหน่ออรพิมเจ้าโฉมฉาย | เจ้าแปลงชื่อแปลงกายวิไลขา |
ฉลาดจริงเลิศหญิงในโลกา | ดวงวิญญาณ์มิได้ลืมพระสามี |
ทั้งแก้วแหวนเงินทองที่กองให้ | ไม่มีใจอยากได้เท่าเกศี |
ด้วยนางคิดพระปาจิตคู่ชีวี | พระสามีร่วมชีวาตม์ที่พลัดกัน |
เจ้าคิดพลางทางทูลสนองต่อ | ขอเดชะพระเจ้าพ่ออย่าโศกศัลย์ |
ลูกขอพึ่งบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ | ฝากชีวันกว่าชีวิตชีวาวาย |
เป็นสมณะใช่จะละพระเจ้าพ่อ | คงคิดต่อพระบิดาดังใจหมาย |
จะบวชโปรดญาติกาปู่ย่ายาย | ที่ล้มตายไปทุกข์ทนให้พ้นกรรม |
เต็มศรัทธาจงเมตตาเถิดปิ่นเกล้า | ถึงจอมเจ้าตรัสห้ามก็คำขำ |
ใช่จะชังหวังให้ครองบูรีรัมย์ | พระคุณล้ำยิ่งภูเขาเท่าสุธา |
แต่ลูกนี้มิอาลัยจะบรรพชิต | รักษากิจครองสัตย์ศีลสิกขา |
อย่าพันผูกพระเจ้าพ่อลูกขอลา | ผิดตำราเรื่องนิทานบูราณปาง |
เหมือนคำเกจิอาจารย์บรรหารไว้ | ว่าช้างวิ่งแล้วอย่าได้ไปยุดหาง |
ถึงเจ้าพ่อขอห้ามก็ท่ามกลาง | บูราณปางท่านก็แบ่งย่อมแจ้งใจ |
ไสยานเกิดมีลางไปขวางหน้า | เป็นต้นว่านกแลฟานท่านขานไข |
อีกสุนัขสกุณาอยู่ป่าไพร | คำผู้ใหญ่ถ้าได้ทักก็เป็นลาง |
นั่นไปป่านี่จะลาไปบรรพชิต | ต้องด้วยกิจพระถีราไม่ขัดขวาง |
เหมือนทรงญาณพญามารมาทำลาง | เมื่อจอมปรางค์ละสมบัติไปบรรพชา |
ทั้งบุตราแม่พิมพาไม่เอื้อเฟื้อ | เหมือนหยักเยื่อของพระบาทพระหัตถา |
พระจอมพงศ์ทรงสลัดสละมา | พญามารขวางหน้าร้องห้ามปราม |
ว่าดูราพระสิทธารถราชโอรส | ท่านจงงดอย่าไปบวชเราขอห้าม |
อีกเจ็ดวันข้าเห็นท่านเป็นบุญคาม | สมบัติงามจะมาถึงอย่างพึ่งไป |
ถ้าไปบวชท่านจะชวดได้สมบัติ | มันทานทัดห้ามท่านเท่าไหนไหน |
ไม่ฟังมารท่านภูบาลท่านขืนไป | พระอินทราง้าไม้ให้มารกลัว |
พระขืนมารไปตัดเกศเป็นเพศพระ | สิ้นธุระไม่อาลัยข้างเมียผัว |
ได้นิพพานปัญจมารก็ยอมกลัว | สบายตัวอันตราไม่ยายี |
บรรพชาในปัญหามิได้ห้าม | เจ้าทยามแล้วก็แสนจะสุขี |
ลูกนี่เห็นด้วยว่าเป็นประเพณี | พระภูมีปราโมทย์จงโปรดปราน |
กรุงกษัตริย์ธิบดินทร์ปิ่นจัมปาก | แทบอกครากหลั่งน้ำตาน่าสงสาร |
ระทมจิตเจียนชีวิตจะถึงกาล | พระภูบาลตรัสประภาษกับลูกยา |
ว่าดูก่อนนางอมรของพ่อเอ๋ย | กระไรเลยพ่อประหลาดวาสนา |
ว่าเป็นบุญพบแล้วแก้วจินดา | เอื้อมมือคว้าช่างมาเปล่าพ่อเศร้าใจ |
พ่อสุดจิตสุดจะคิดแล้วร้อยชั่ง | บิดาห้ามก็ไม่ฟังจะทำไฉน |
มอบสมบัติก็สลัดไม่อาลัย | สายสุดใจลูกจงห้ามดูตามบุญ |
แม่ยอดหญิงมิ่งอมรเสน่หา | ฟังบิดาแทบหัวใจสลายสูญ |
นางงามขำร่ำว่าพี่นี้มีคุณ | อนุกูลน้องบังเกิดพี่ยาใจ |
พระพี่ยาจงเมตตากับน้องก่อน | จะรีบร้อนบวชเรียนไปข้างไหน |
เสวยราชย์ครองสมบัติก่อนเป็นไร | ชาวเวียงชัยเราคอยพึ่งพระเดชา |
ถ้าพระพี่จะขืนหนีทรงผนวช | ศรัทธาบวชจะไม่คิดขนิษฐา |
พระปรางค์มาศราชวังอลังการ์ | พระบิดาท่านก็มอบให้ครอบครอง |
จะทิ้งไว้ใครผู้ใดจะรักษา | หมู่เสนาข้าแผ่นดินสิ้นทั้งผอง |
ท้องพระคลังทั้งสิบสองแต่เงินทอง | ไม่ปกครองพระจะร้างเสียอย่างไร |
พระพี่ชายไม่อาลัยแก่สมบัติ | จะเข้าวัดบรรพชาหานิสัย |
ไม่คิดน้องแล้วฤๅพี่จะหนีไป | แต่ตัดไม้เถาวัลย์ยังมียาง |
แต่แรกน้องก็สิ้นใจไปหายมิด | พระช่วยชูกู้ชีวิตไม่ม้วยหมาง |
เหมือนตกในชลธาชลากลาง | พระพี่เจ้าเอาขึ้นฝั่งพ้นความตาย |
เหตุไฉนไยฉะนี้มาทิ้งน้อง | ไม่ปกป้องเลี้ยงรักษาพระโฉมฉาย |
ถ้าจะทิ้งก็เห็นแท้แน่ข้างตาย | มากลับกลายช่างไม่คิดอนิจจา |
แต่เดิมมาจะเมตตาทำไมเล่า | เป็นไรไม่ทิ้งไว้ให้เน่าพระพี่ขา |
รักษารอดมาให้พ้นคืนชีวา | ว่าเมตตากลับมาซ้ำทำให้ตาย |
ถ้าพี่ชายไม่อาลัยให้ตลอด | อันชีวิตน้องจะรอดอย่าคิดหมาย |
คงกลั้นจิตจนชีวิตจะวางวาย | ถ้าไม่ตายคงให้ตายวายชีวา |
จะเอาผ้ามากระสันพันพระศอ | พิฆาตคอผูกรัดด้วยหัตถา |
ขึ้นบนขื่อแล้วจะโผนโจนลงมา | จะดีกว่าอยู่เป็นคนพ้นระกำ |
เหตุฉะนี้ดอกพระพี่น้องจึงว่า | ช่วยให้รอดแล้วยังมากลับฆ่าซ้ำ |
เกิดด้วยเขาก็มีกรรมกรรมเอ๋ยกรรม | นางครวญคร่ำร่ำวอนอ้อนพิไร |
พระพี่ชายไม่อาลัยทรัพย์สมบัติ | สารพัดบ้านเมืองอันเรืองใส |
จงคิดน้องว่าบังเกิดเถิดพี่ไพร | เหมือนคลอดในจากครรภามารดาเดียว |
เหมือนบูราณท่านร่ำเป็นคำปราชญ์ | พี่ก็คมลมฉลาดเลิศเฉลียว |
ท่านว่าไว้ถ้าผู้ใดเป็นใจเดียว | แต่ยังเที่ยวแสวงหาบารมี |
ต้องบ่วงกามมาตุคามไม่เด็ดขาด | แต่ใจปราชญ์หมายจะเป็นพระชินศรี |
เวียนไปป่าหาเสบียงเลี้ยงชีวี | ถ้าสบที่พบน้ำยามกันดาร |
เป็นบึงยาวเต่าปลาก็มีมาก | นิยมอยากพากันว่าแต่อาหาร |
จะฆ่าสัตว์ท่านให้ข้ามยามกันดาร | ด้วยอาการเต่าปลานั้นท่าจน |
ครั้นจะฆ่าก็ด้วยปลาถึงที่คับ | บาปจะทำกรรมจะทับเป็นสองหน |
ด้วยเต่าปลาทรมาอะดักอะดน | บุรุษชนผู้แสวงแห่งจำเริญ |
ท่านให้คิดว่าชีวิตปลากับเต่า | ชีวิตเราเราก็รักสรรเสริญ |
ถึงที่จนปลากับคนไม่ก้ำเกิน | อย่าเพลิดเพลินชีวิตเราเหมือนเต่าปลา |
ต้องคิดผ่อนย้อนแยกเป็นสองหาบ | หาบหนึ่งกรรมหาบหนึ่งบาปเป็นสองท่า |
ต้องทั้งบาปแล้วยังหาบเอากรรมมา | เกินตำราข้าจะสร้างทางนิพพาน |
อนึ่งโสตพุทธโปรดเทศนา | ภาษิตาสุภาษิตท่านกล่าวสาร |
บาลีไว้อยู่ที่ในเจ็ดตำนาน | พระทรงญานสังฆีมีฎีกา |
ตัดบทแปลแก้ไขสุภาษิต | พิไรร่ำคำบัณฑิตแก้ปัญหา |
สุภาษิตแปลว่าเพราะเสนาะนา | อย่าวาจาถ้อยคำที่ร่ำไร |
ถ้ามนุษย์พูดเพราะทั้งชายหญิง | เป็นความจริงมิได้ผิดพระกล่าวไข |
เอตังมังคลังมงคลชัย | สรรพภัยไม่มาพานผู้นั้นเลย |
อุตตะมังลาภังมาสู่สม | เลิศอุดมเหลือล้ำคำเฉลย |
เอตังพระตรัสสั่งอย่าลืมเลย | สิ่งอันนี้อย่าเละเหยอย่าลืมตน |
พระบิดาตรัสห้ามแต่คำเพราะ | ฟังก็เหมาะมิได้ผิดในเหตุผล |
ล้วนพระเจ้ากล่าวว่าเป็นมงคล | ภูวดลจะไม่ฟังเห็นอย่างไร |
ทั้งบ้านเมืองคลังวังอลังการ์ | พระบิดายกให้โดยผ่องใส |
ทั้งข้าเฝ้าเหล่าเสนาอาชาไนย | ท่านมอบให้น้องก็เห็นเป็นมงคล |
อนึ่งน้องร้องห้ามแต่คำหวาน | ไม่สงสารบ้างเลยเท่าเส้นขน |
น้องพะวงหลงรักอะดักอะดน | จิตกังวลคิดถึงคุณอาดูรใจ |
คำบูราณท่านก็พร่ำร่ำระบอบ | ว่าเขารักก็ให้ตอบพิสมัย |
นึ่ฉันรักจะมาเล่นเป็นอย่างไร | ประหลาดใจฤๅไม่ควรจะยวนยี |
อนึ่งว่าน้องเหมือนปลากันดารน้ำ | ทรกรรมเจียนชีวิตจะเป็นผี |
ด้วยหมายพึ่งพี่เหมือนหนึ่งชลธี | เหมือนวารีเป็นที่พึ่งแห่งหนึ่งปลา |
น้องเหมือนปลาทรมานกันดารน้ำ | ทรกรรมเถิงชีวิตจะสังขาร์ |
พี่มาพบบุญประสบเข้าชักพา | ช่วยชีวาน้องก็พ้นจากความตาย |
ช่วยชีวีแล้วจะหนีเอาตัวรอด | จงทำบุญให้ตลอดพระโฉมฉาย |
พระสมภารก็จะหนักขึ้นมากมาย | จงยับยั้งชั่งใจเถิดพันปี |
เป็นปิ่นเกล้าชาวประชาอาณาเขต | จันต์ประเทศชนบทเป็นสุขศรี |
ให้บ้านเมืองรุ่งเรืองสวัสดี | ชาวสีพีเขาคอยพึ่งทุกคนตัว |
๏ ปางแม่ฉิมอรพิมนางโฉมฉาย | แปลงเป็นชายเปลี่ยนทั้งชื่อเที่ยวตามผัว |
ได้ฟังวอนนางอมรให้หมองมัว | กำเริบรักจิตระรัวอารมณ์ตรม |
คิดละอายด้วยว่ากายเป็นผู้หญิง | ถ้าเป็นชายก็ไม่นิ่งคงสู่สม |
ด้วยคำว่านี้ก็น่ายวนนิยม | เฉลิมลมฉลาดแท้แม่อมร |
แสนเสียดายถ้าเป็นชายไม่สมมุติ | จะสมสู่อยู่กับนุชจนสังขรณ์ |
คำบิดานั้นก็ว่าน่าอาวรณ์ | เจ้าบังอรตรึกตรองเป็นสองใจ |
แล้วหวนจิตคิดกลับคะนึงนิ่ง | ด้วยเป็นหญิงก็ไม่ควรจะสงสัย |
จะเป็นผัวมิใช่ตัวเป็นผู้ชาย | คิดละอายกลับคะนึงถึงภัสดา |
แต่ทว่าถ้าจะนิ่งไปบรรพชิต | อมรมิตรก็ชีวังจะสังขาร์ |
จะฆ่าตัวผูกคอให้มรณา | เวรเวราก็จะติดเป็นนิจไป |
จำจะว่าเอาแต่ท่าข้างดีปลอบ | ให้ชื่นชอบนั้นแลกรรมไม่ตามได้ |
ประโลมปลอบให้เจ้าชอบคงตายใจ | จึงค่อยไปบรรพชาไม่ราคี |
แล้วจึงว่าอนิจจาอมรแม่ | อย่าท้อแท้ไปเลยน้องจะหมองศรี |
เป็นบุญบ้างสร้างไว้แต่ก่อนมี | จึงดลใจมาให้พี่ได้พบพาน |
น้องก็ตายวายชีวีชีวิตม้วย | พี่ชูช่วยให้เจ้าพ้นจากสังขาร |
เหตุไฉนไยนะน้องจะถึงกาล | เยาวมาลย์จะผูกคอให้มรณา |
เสียแรงพี่ช่วยชีวีชีวิตไว้ | โอ้กระไรช่างไม่คิดขนิษฐา |
พี่รักเจ้าราวกะทรวงดวงชีวา | ดวงสุดาแม่อย่าหมางระคางเคือง |
มิใช่ชิงหวังจะหนีน้องให้พ้น | เป็นกังวลพี่นี้เหลือแม่เนื้อเหลือง |
เสียแรงเกิดมาภิญโญวโรเรือง | จะครองเมืองครองสมบัติไม่บรรพชา |
ผิดบูราณท่านผู้เฒ่าแต่เก่าก่อน | เป็นคำสอนสืบมาแต่ปู่ย่า |
เป็นมนุษย์เป็นบุรุษในโลกา | บรรพชาบวชเรียนจำเนียรใจ |
จึงสึกมาหาคู่จงอยู่สร้าง | แจ้งกระจ่างศีลทานท่านขานไข |
เป็นบัณฑิตรู้กิจพระวินัย | จึงนับเข้าว่าเป็นชายประเพณี |
ถ้าไม่บวชว่าเหมือนเหยียบแผ่นดินผิด | ด้วยไม่คิดครองศีลพระชินศรี |
ถึงเหยียบถูกก็เหมือนผิดพระปฐพี | เหตุฉะนี้ดอกจึงว่าแม่หน้านวล |
นิ่งเถิดน้องครองตัวอย่ามัวหมอง | จงใส่ผ่องเถิดแม่งามทรามสงวน |
อย่าวิโยคโศกเศร้ารัญจวนครวญ | นิ่งเถิดนวลนิ่มอนงค์จงปลงใจ |
เถิงบิดาก็เมตตาเป็นที่ยิ่ง | แต่ล้วนสิ่งเป็นมงคลจะหาไหน |
พระคุณท่านเปรียบปานพระเมรุไกร | ปลอบอาลัยรักเหมือนลูกในอุทร |
น้องอย่าหมายพี่จะไม่กตัญญู | จะลบหลู่คุณท่านแม่ดวงสมร |
จะฝากชีวินกว่าจะสิ้นพุทธันดร | จงอวยพรให้พี่ไปบรรพชา |
ถ้ากุศลเราได้สร้างแต่หลังแล้ว | จะคลาดแคล้วนั้นอย่าหมายอมรข้า |
คงตายด้วยมาตุคามเป็นธรรมดา | ไม่เนิ่นช้าดอกนะเจ้าอย่าเศร้าใจ |
เป็นกษัตริย์ครองสมบัติไม่บรรพชิต | ผิดจารีตผิดบูราณท่านขานไข |
ไม่ควรครองผิดทำนองกษัตริย์ไป | ทั้งหญิงชายชาวบูรินทร์จะนินทา |
เป็นกษัตริย์ไม่สันทัดระบอบกิจ | ถูกฤๅผิดตื้นลึกที่ปรึกษา |
บุญไม่รับบาปไม่รู้ผิดตำรา | ให้โลกาลือร่ำไม่จำเริญ |
อันโลกีย์นี้แน่เจ้าเยาวลักษณ์ | ยุพาพักตร์แม่อย่าหมางจะห่างเหิน |
ถ้ามั่นคงบุญส่งให้เพลิดเพลิน | เห็นไม่เกินเต็มว่าช้าวรรษาเดียว |
พี่ตรองตรึกนึกชั่งในใจแล้ว | ไม่ผ่องแผ้วผูกพันกระสันเสียว |
ด้วยรักน้องปองอารมณ์อยู่กลมเกลียว | เป็นความจริงกระนี้เจียวแม่ดวงใจ |
๏ อมรนางฟังสารพิมปาจิต | สมรมิตรเคล้าสุชลนาไหล |
งามสงวนครวญคร่ำร่ำพิไร | ช่างเด็ดได้พี่ไม่คิดสักนิดเลย |
เสียแรงอ้อนวอนว่านิจจาพี่ | จะแกล้งหนีน้องเสียได้เจียวใจเอ๋ย |
ว่าต้นรักเจียวยังหักเป็นต้นเตย | คนจะเย้าเขาจะเย้ยจะไยไพ |
โอ้บุญหลังสร้างไว้อย่างไรนี่ | ไม่ควรที่จะมาเป็นก็เป็นได้ |
จะห้ามจิตว่าอย่ารักท่านหนักไป | น่าน้อยใจห้ามไม่ได้เจียวใจเอง |
น่าขวยเขินเชิญท่านให้เป็นเจ้า | ท่านไม่เอาน่าอายใจโหรงเหรง |
ผิดในเยื่องด้วยนิทานบูราณเพรง | ชะตาเองสร้างสมอบรมมา |
เหมือนคำบรรพ์ล้วนพูดสมมุติไว้ | ดังข่มควายโคช้างให้กินหญ้า |
ว่าอย่าข่มกล่าวลมเสียวาจา | เสียทั้งหน้าเสียศักดิ์อย่ารักเลย |
ถูกทำนองต้องทำเนียบเจียวคราวนี้ | ไม่พอที่แค้นหัวอกว่าอกเอ๋ย |
ท่านไม่รักท่านไม่ใคร่อาลัยเลย | ยังงมรักท่านไม่เงยชะโงกเงา |
คิดขึ้นมาน่าอดสูแก่หมู่เพื่อน | จะเป็นเรือนผิดทำเนียบระเบียบเขา |
แต่หญิงชายเกิดใหม่อายุคราว | แต่รุ่นสาวคราวเดียวกันก็มี |
ที่ลางคนเป็นกุศลได้สร้างไว้ | ดูเฉิดฉายน่ารักทั้งศักดิ์ศรี |
ที่ลางคนยากจนกระฎุมพี | รูปอัปรีย์ราวกะเปรตทุเรศตา |
ที่ลางคนแขนหักหูหนกหนวก | บางจำพวกแข้งทู่ทั้งหูหนา |
ที่ลางคนง่อยเปลี้ยเสียลูกตา | เป็นธรรมดาหญิงชายในชมพู |
จะมีคู่สู่สมภิรมย์รัก | ต้องสื่อชักแม่พ่อไปขอสู่ |
เขาพิฆาตมาดสินสอดตำราดู | ถ้ารับได้ยายปู่จึงให้ปัน |
นี่ได้เปล่าราวกะเจ้าจอมชีวิต | สักน้อยนิดมิได้ยากพระจอมขวัญ |
ด่วนไม่เอาน้องได้อายไปหลายครัน | น่ากลืนกลั้นให้ชีวิตชีวาลัย |
นางครวญคร่ำร่ำอาลัยพิไรว่า | สุชลนาไหลนองระหินระหาย |
ภูษาทองนองน้ำสุชลนัยน์ | ร่ำพิไรน้อยจิตคิดถึงตัว |
๏ ปางอรพิมเลิศลบในภพสาม | แปลงทั้งรูปเปลี่ยนทั้งนามเที่ยวตามผัว |
ได้ฟังวอนนางอมรให้หมองมัว | กำเริบรักจิตระรัวอารมณ์ตรม |
นึกเสียดายถ้าแม้นกายเป็นชายแท้ | เป็นนิ่งแน่คงได้ร่วมภิรมย์สม |
นี่เป็นหญิงแปลงเป็นชายเสียดายชม | ถึงนิยมก็ต้องทนด้วยจนใจ |
ครั้นจะนิ่งทิ้งไปบรรพชาเพศ | อัคเรศก็เห็นชีพจะตักษัย |
เสียแรงช่วยไม่ให้ม้วยชีวาลัย | จะกลับตายวิปริตผิดบูราณ |
จำจะปลอบให้เจ้าชอบในทางชื่น | อันสิ่งอื่นเห็นไม่ห้ามความสงสาร |
จะห้ามรักรักตอบจึงชอบการ | เยาวมาลย์จึงจะมีชีวีไป |
แล้วจึงว่าดวงยุพาอมรมิ่ง | จะทอดทิ้งนิ่มขนิษฐ์อย่าสงสัย |
พี่เป็นชีใช่จะหนีไปเมืองไกล | จะอยู่ในธานีบูรีนาง |
อย่าเป็นห่วงเลยแม่ดวงมณีเนตร | ทำทุเรศให้พี่ตรมอารมณ์หมาง |
จงปลงใจปล่อยปละสละวาง | จะเสียทางพระนิพพานดอกขวัญตา |
เหมือนคำว่าท่านนี้หนาเอาสอนจิต | จงตรองคิดพิเคราะห์อมรข้า |
ถ้าแม้นว่าด่วนนั้นไม่ควรจะเจรจา | ถ้าช้าช้านั้นแลได้กลายเป็นคุณ |
อนึ่งว่าถ้าแม้นวิ่งขี้มักล้ม | เป็นสองคำท่านว่าก้มมักเสียศูนย์ |
อนึ่งว่าถ้าแม้นกล้าด้วยทารุณ | กลับวายวุ่นท่านว่าชั่วถึงตัวตาย |
ใช่เท่านั้นท่านรำพันไว้สั่งสอน | เป็นบทกลอนแจ้งแจ่มแย้มขยาย |
ว่าคิดนักแต่ขี้มักให้กลับกลาย | กลับเป็นไปเข้าวรรษาแม่หน้านวล |
ถึงคำว่าท่านก็น่าเอาสอนจิต | จงตรองคิดเถิดแม่งามทรามสงวน |
อย่าหนักเบาเอาแต่กลางอย่างกระบวน | ให้สมควรต้องด้วยอย่างเถิดนางงาม |
แม่เนื้อเย็นเจ้าก็เป็นในเชื้อชาติ | เลิศฉลาดเลิศลบในภพสาม |
บุญของนุชบุตรกษัตริย์ขนาดงาม | เอาแต่ตามพี่ท่านไขเป็นไรนาง |
๏ ปางยุพินปิ่นนครอมรแม่ | ให้ท้อแท้สุดจะทัดจะขัดขวาง |
นางนิ่งฟังเห็นว่าคำเป็นท่ามกลาง | นางตรองพลางตรึกใจอยู่ไปมา |
ถึงวอนได้ก็เห็นใจจะไม่อยู่ | เป็นสุดรู้ชวนชักไว้นักหนา |
สุดจะร่ำสุดจะพูดสุดปัญญา | เห็นโฉมหน้าแต่จะไปนั้นฝ่ายเดียว |
จะห้ามหลายก็จะกลายกลับเป็นผิด | เหมือนเสียจิตคลั่งจิตคิดเฉลียว |
คิดขึ้นได้เป็นน่าอายในใจเจียว | ไม่ควรเชียวจะมาเลี้ยวเกี้ยวผู้ชาย |
แล้วหวนจิตคิดนึกว่าคุณท่าน | มากอนันต์พ้นที่จะกฎหมาย |
กับอนึ่งตัวก็ถึงบรรลัยวาย | ท่านแก้ไว้จำได้ฟื้นคืนเป็นคน |
ถึงหญิงชายในทวีปชมพูนุท | จะนินทาพากันพูดไม่เสียวขน |
ถึงตัวบ้างก็เห็นทางเข้าบทจน | ด้วยเหลือล้นคุณของท่านปานบิดา |
อนึ่งเล่าก็จะเข้าทรงผนวช | เป็นบุญบวชก็ไม่มากสักวรรษา |
หนึ่งมิใช่ท่านจะไปจากพารา | แม่ฉัยยาไม่ระแวงกินแหนงใจ |
จิตสำคัญสัญญาว่าบุรุษ | ที่สมมุตินั้นไม่รู้ไม่สงสัย |
รูปจริตมิได้ผิดเหมือนผู้ชาย | ถึงหญิงใดก็คงหลงอย่าสงกา |
นางตรองความงามใจสบายชื่น | สำราญรื่นตั้งอารมณ์ขนิษฐา |
จำอวยชัยให้ท่านไปบรรพชา | ดวงสุดายกหัตถ์นมัสการ |
แล้วนางว่าพระเชษฐาจะลาบวช | ทรงผนวชอย่าให้นานเหมือนกล่าวสาร |
สักวรรษาแล้วจึงลาพระสมภาร | อย่าเนิ่นนานถ้าเหมือนคำก็ตามใจ |
ครั้นนิ่มนาฏอนุญาตให้บวชแล้ว | ก็คลาดแคล้วเข้าพระโรงวินิจฉัย |
เฝ้าสมเด็จพระบิดานราไท | แล้วทูลไขตามจริงที่วิงวอน |
จนสิ้นอย่างก็ไม่ฟังจะขอบวช | ทรงผนวชด้วยมโนสโมสร |
ลูกสุดคิดที่จะคิดจะวิงวอน | ต้องอวยพรไปให้ท่านบรรพชา |
คำท่านว่าท่านจะบวชไม่นานนัก | จะอยู่เรียนเพียรพักสักวรรษา |
ขอพระองค์ให้ได้ทรงพระเมตตา | โมทนาเอาส่วนบุญพูนสมภาร |
๏ ปางนรินทร์ปิ่นจัมปากน้ำตาผ็อย | สดับถ้อยพระบุตรีมาทูลสาร |
จึงตรัสว่าตามอัชฌาเถิดนงคราญ | บุญสมภารก็ไม่พ้นต้องวนมา |
พระลูกน้อยค่อยอยู่รักษาศรี | ให้ดิบดีอย่าไห้หมองหนาลูกหนา |
พระแข็งขืนกลืนกลัดหัทยา | เหมือนแก้วตาแสนเสียดายอาลัยปอง |
แม่กัลยาทูลลามาปราสาท | นุชนาถตรอมตรมอารมณ์หมอง |
พระกรกอดก่ายเกยเขนยทอง | ให้กรมกรองอยู่บนแท่นที่ไสยา |
๏ จะกลับมาว่าถึงพิมเพศบุรุษ | เจ้านงนุชปั่นป่วนรำจวนหา |
แสนรำลึกตรึกถึงพระภัสดา | กลั้นน้ำตาคิดถึงคะนึงครวญ |
เจ้าตรองใจหมายจิตคิดจะบวช | ทรงผนวชฟังข่าวพระทรามสงวน |
ถ้าแน่ใจถ้าได้ข่าวเห็นสมควร | พระหน้านวลรู้ความคงตามมา |
ฝ่ายลูกสาวธิบดินทร์ปิ่นจัมปาก | แทบอกครากหลงรักนี้หนักหนา |
เฝ้าวอนไหว้ให้เสวยพระพารา | ดวงกานดารักใคร่อาลัยลาญ |
แต่เหนี่ยวหน่วงห่วงใยไม่ให้บวช | ให้ป่วนปวดว่าวอนแต่อ่อนหวาน |
ไม่สงสัยนางว่าชายปรีชาชาญ | แต่ทัดทานเอาจนนางอำนวยพร |
จำจะเข้าขึ้นไปเฝ้าทูลขยาย | ขอผ้าไกรกับพระองค์ผู้ทรงศร |
เจ้าตรึกพลางย่างบาทบทจร | ถึงภูธรทูลขยายภิปรายความ |
ขอเดชะพระนรินทร์ปิ่นพิภพ | ขจรจบเป็นที่พึ่งในภพสาม |
ได้เมตตาแก่ผู้ข้าพยายาม | ด้วยใจงามจงรักมาภักดี |
ใจประสงค์จิตจำนงจะอยากได้ | ซึ่งผ้าไกรจงได้โปรดเกล้าเกศี |
ขอกราบลาบรรพชาบวชเป็นชี | ขอประทานพระภูมีจงโปรดปราน |
๏ ปางพระจอมจ้าวสีพีมณีนาก | กรุงจัมปากเลิศหล้ามหาศาล |
พระทรงฟังเสวนังไม่นิ่งนาน | พระโองการตรัสว่าพ่อเจ้าหมอยา |
ข้าขอบคุณเจ้าครั้งนี้ก็มีมาก | จะขนลากก็ไม่สิ้นสหัสสา |
จะปูนปองให้เจ้าครองพระพารา | จะปรารถนาสิ่งใดจะให้ปัน |
ไม่ชอบใจเจ้าจะไปศีลวัตร | พ่อไม่ขัดตามแต่จิตเถิดจอมขวัญ |
อันผ้าไกรพ่อจะให้อย่าจาบัลย์ | จะโสกันต์บวชให้เจ้าอย่าเศร้าใจ |
พระตรัสพลางสั่งฝ่ายนายอำมาตย์ | แล้วโอภาสให้ไปสั่งคลังโกไสย |
อย่าให้ช้าย้อมผ้าขึ้นโดยไว | ให้ครบไกรยิ่งสำอางที่อย่างดี |
ขุนเสนารับบัญชาแล้วผายผัน | มาแจ้งข้อราชการขมันขมี |
วิเสทผ้าท่านอย่าช้าในทันที | พระภูมีต้องประสงค์ซึ่งผ้าไกร |
พวกวิเสทผู้สังเกตชำนาญกิจ | เลือกพินิจผ้าเทศพะโกไสย |
ที่เนื้อดีอ่อนสะอ้านเหมือนควันไฟ | จนครบไกรนั่งฉันทัดบาทจีวร |
สุ |
เป็นสีแดงแสงระยับเหมือนไก่หงอน |
ผ้าอย่างดีศรีราน่าสะออน | ไพร่นิกรแล้วอย่าหมายจะได้ครอง |
ครั้นย้อมพับสรรพเสร็จเอามาถวาย | พระชอบใจยินดีไม่มีสอง |
ให้หาโหรเข้ามาถามตามทำนอง | ตำรวจวังวิ่งว่องได้โหรมา |
พระโฉมงามตรัสถามตาโหรเฒ่า | บัดนี้เราจะบวชลูกเสน่หา |
ในวันไหนจึงจะได้ท่านโหรา | ชนเพลาดีงามนั้นยามใด |
ตาโหรท่านรับโองการแล้วลงเลข | เป็นโทเอกตรงตามคำพิสัย |
นับดิถีปีเดือนแล้วหารไป | แล้วสวนไล่ตามตำราพยากรณ์ |
แล้วนับวุ่นคูณหารแกชักห่วง | ตามกระทรวงโดยวิตถารอาจารย์สอน |
ขึ้นเก้าค่ำเป็นมหาสถาวร | ราหูจรโปร่งปลอดตลอดงาม |
วันพฤหัสราชครูเนาดิถี | ขนาดดีโปร่งปลอดไม่เสี้ยนหนาม |
ต้องหวงนวลฝอยออกท่านบอกความ | ว่าเลิศล้ำเป็นมหาพญาวัน |
แล้วไล่สอบเก็บประกอบเข้าคูณหาร | ตั้งเป็นฐานตราทำไว้ขำขัน |
เอาสามคูณเข้าประมูลเรียกสุดพลัน | ทวิวันบอกกระทำตามทำนอง |
จัตวาเรียกฉอยี่สิบสี่ | ปัญจะตรีสบฉอสี่สิบสอง |
ออกเศษห้าในตำรายิ่งลำยอง | จะก่ายกองลาภาบรรดามี |
ทั้งยามวันนั้นก็เบิกทั้งฤกษ์ใหญ่ | แกจริงใจมิได้ผิดกับดิถี |
ศิโรราบกราบทูลไปทันที | ขอเดชะพระภูมีเฉลิมเมือง |
ในเก้าค่ำวันพฤหัสขนาดเลิศ | วันประเสริฐแจ่มแจ้งไม่แฝงเฝือง |
ทั้งใต้เหนือลาภเหลือมานองเนือง | จะรุ่งเรืองอันตรายไม่ภัยพาล |
พระจอมพลฟังโหรถวายฤกษ์ | สบายเบิกตรัสประภาษออกฉาดฉาน |
จึงสั่งเสร็จครัววิเสทพนักงาน | ให้จัดทำสังฆทานแต่ชอบธรรม |
ฝ่ายเจ้าสัวครัววิเสทได้รับสั่ง | ละล้าละลังเร่งกันออกขันขำ |
ไก่พะแนงแกงรวนทั้งพล่ายำ | ของหวานทำครบอย่างมะซางกวน |
บ้างหุงข้าวตั้งเตาทำขนม | การระดมช่วยกันออกผันผวน |
ครั้นยามค่ำย่ำฆ้องต้องกระบวน | สำเนียงนวลด้วยปี่พาทย์ระนาดกลอง |
ทั้งแตรสังข์วังเวงบรรเลงลั่น | เสียงสนั่นเวียงวังนั่งสะย้อง |
พิมบุรุษงามเสงี่ยมเอี่ยมละออง | สะพรั่งพร้อมมาประคองบุรุษชาย |
พระโองการโปรดประทานภูษาเทศ | อย่างวิเศษลายทองอันเฉิดฉาย |
ให้ห่มกรองทองปักเป็นลวดลาย | ทั้งหญิงชายเรียกเจ้านาคทุกปากคน |
เข้าวันทาลาองค์พระทรงศร | จำเริญพรโมทนาสถาผล |
ทั้งกรวยพานพร้อมเจ้านาคมากนิมนต์ | ดูเกลื่อนกล่นออกไปหาพระอาจารย์ |
พร้อมสะพรั่งวันทนังศิโรราบ | แล้วกรานกราบตั้งอารมณ์อภินิหาร |
แย้มขยายอธิบายท่านสมภาร | ได้โปรดปรานขอนิมนต์เป็นอุปัชฌาย์ |
พร้อมด้วยสงฆ์ที่เป็นองค์ได้สอนสวด | ทรงผนวชสังฆกรรมตามสิกขา |
ประเคนหมากเข้าไปพลันแล้ววันทา | โกนเกศาคิ้วคางสำอางดี |
แล้วกลับมาครั้นเพลาได้รุ่งเช้า | พระองค์จ้าวกรุงจัมปากบุรีศรี |
พระโองการสั่งสารพวกเสนี | อย่าช้าทีแห่เจ้านาคเข้าวัดพลัน |
พวกชาวแม่เฒ่าแก่ทั้งชายหญิง | ไม่นั่งนิ่งแบกผ้าไกรแล้วผายผัน |
บ้างจับบาตรเข้าตะพายให้ครบครัน | บ้างชิงกั้นตาลปัตรพัชนี |
บ้างถือเทียนบ้างก็ไปตะพายย่าม | เป็นหมู่หลามกล่นเกลื่อนเลื่อนวิถี |
ที่หนุ่มหนุ่มอ้อมเจ้านาคก็มากมี | มโหรีครื้นเครงวังเวงใจ |
บ้างร้องเพลงวังเวงเชิดเจ้านาค | สงสารนาคอนิจจาน้ำตาไหล |
ที่เสียงหวานว่าสงสารแม่ยิ้มใย | เหลียวชะแง้แลยิ่งไกลจะเปล่าทรวง |
พากันหามนำเจ้านาคมาถึงวัด | สำหรับกษัตริย์เป็นที่ห้ามอารามหลวง |
พระครูบาอุปัชฌาย์สงฆ์ทั้งปวง | ตามกระทรวงพร้อมหมดในโบสถ์เรียง |
ฝ่ายเจ้านาคก็ไม่นั่งนิ่งอยู่ช้า | ลุกวันทาห่มผ้าสไบเฉียง |
อาจารย์เจนบวชเป็นเณรเสียก่อนเพียง | แล้วส่งเสียงร้องอุกาสมาทาน |
แต่ปาณาชาตรู |
เป็นรากแก้วศีลสี่จนอวสาน |
แล้วสอนครบจบท้าวพระอาจารย์ | ตามบูราณพระวินัยท่านไหว้มา |
แล้วอาจารย์ท่านจึงสวดปริยัติ | พร้อมขนัดด้วยพระสงฆ์ทรงสิกขา |
ก็เป็นพระสิ้นธุระในกามา | ครองศีลาในบาลีสี่ประการ |
ท่านสอนสั่งพลางบอกอนุศาสน์ | ของควรบาทเงินทั้งบาทอย่ากล้าหาญ |
อย่าอวดมรรคอ้างผลตนได้ฌาน | ทินนาทานของเขาอย่าเอามา |
อย่าควรทำจำไว้พระทัยเจ้า | ถ้าขืนเอาแล้วก็ขาดจากสิกขา |
เป็นรูร่อยถึงใหญ่น้อยอย่ารำพา | ด้วยกามาองคชาติไปยัดลอง |
ถ้าขืนใส่พระวินัยท่านว่าขาด | พระโอกาสเทศนาไม่เป็นสอง |
ครั้นดับจิตสิ้นชีวิตด้วยลำพอง | ตัวก็ต้องตกมหาอเวจี |
ท่านว่าไว้ว่าผู้ใดไปต้องตก | ในนรกเป็นที่สุดแต่ขุมนี่ |
ว่านานนักมีในว่าพระบาลี | ถึงกับนิ่งนั้นแลที่จึงได้มา |
ครองสิกขาจะรักษาซึ่งศีลพระ | ทั้งมานะจงอตส่าห์นาพ่อหนา |
ปาจิตพระสาธุสะแล้ววันทา | สำเร็จการบรรพชาในทันที |
ทั้งหญิงชายก็ขยายออกมาบ้าน | พระสงฆ์ท่านพากันลุกขมันขมี |
เป็นหมู่หลามตามกันไปกุฎี |
สถิตที่อยู่สำราญสถานตน |
๏ พิมบุรุษที่สมมุติชื่อปาจิต | เหมือนบัณฑิตรู้แจ้งทุกแห่งหน |
บวชเป็นพระสิ้นธุระสิ้นกังวล | อตส่าห์บ่นเล่าเรียนทั้งเขียนจาร |
สังวรณ์ศีลอาชีวะปัจเจก | คัมภีร์เลขเรียนบ่นจนแตกฉาน |
มาติกาพาหุงเจ็ดตำนาน | จบสะดานปาฏิโมกข์ประโยคแปล |
ช่างจำได้ใจมหาปัญญาปราชญ์ | เลิศฉลาดเล่าได้ไม่แสว |
รักษากิจถึงสีกาจะกอแก | ไม่เหลียวแลทั้งอารมณ์ในพรหมจรรย์ |
กิจวัตรปรนนิบัติอาจารย์เจ้า | ทุกค่ำเช้าอยู่เป็นนิจจิตกระสัน |
พระสมภารรักปานดวงชีวัน | จึงผ่อนผันค่อยจำเนียรให้เรียนมูล |
ทั้งสุดสนต้นพิภัตติถนัดแน่ | ฉลาดแท้บุญนุชมาอุดหนุน |
เรียนตะทิดติดขยาดปราศกูน | ครั้นจบมูลแล้วก็เพียรเรียนคัมภีร์ |
เรียนสิบชาติธรรมบททั้งปลายต้น | ไม่เปื้อนปนบทบาทจะคลาดที่ |
เรียนจนครบจบมงคลเทปปนี |
หาอาจารย์จนไม่มีจะบอกเรียน |
สำแดงธรรมคำว่าน่าเสนาะ | สัปปุรุษฟังว่าเพราะแสยงเศียร |
ตัดบทแปลแก้ไขใจชำเนียร | ไม่วนเวียนจำแน่แปลบาลี |
ทั้งญาติโยมพากันชมออกปากเจาะ | ช่างเทศน์เพราะแจ้งจะพระสมี |
บอกสว่างทางสวรรค์อเวจี | ถึงคนโง่ก็ว่าดีด้วยเข้าใจ |
ออกแน่นอัดสารพัดจะมูนมาก | ดูหลายหลากไกรผ้าเขามาถวาย |
จะแต่งว่าเห็นจะช้านิทานไป | พึงเข้าใจเถิดนะท่านที่อ่านฟัง |
จนลือฉาวไปถึงจ้าวกรุงกษัตริย์ | ได้ฟังอรรถแจ้งถวิลในใจหวัง |
ว่าพระสมีเทศน์ดีจะใคร่ฟัง | จึงรับสั่งนิมนต์เทศน์ท้องพระโรง |
สังฆรี |
พนักงานภารธุระรักษาสงฆ์ |
ฟังรับสั่งแล้วไม่นั่งจิตจำนง | มาถึงองค์แล้วขยายภิปรายความ |
ว่าบัดนี้พระสมีผู้เป็นเจ้า | พระปิ่นเกล้าเลิศลบในภพสาม |
ให้นิมนต์ไปสำแดงแจงเนื้อความ | เทศนาให้ทานธรรมที่ในวัง |
ครั้งยามเย็นเป็นเพลานิมนต์เข้า | สยาเอาพนักงานเข้าเป่าสังข์ |
กับฆ้องยามเข้าเผดียงเสียงระฆัง | สังฆรีวันทนังก็ลามา |
ฝ่ายปาจิตพิมบัณฑิตที่เป็นพระ | ต้องธุระเขานิมนต์ก็ค้นหา |
ได้หนังสือแล้วพินิจพิศอังกา | ให้เจนตาถูกต้องทำนองธรรม |
ครั้นยามเย็นเป็นเพลาเสียงลั่นฆ้อง | ปี่พาทย์กลองครื้นเครงบรรเลงขำ |
พระสมีทรงคัมภีร์ให้แบกนำ | เรียกเณรใหญ่ตะพายย่ามไม่ช้าที |
แล้วห่มดองครองคลุมตามทำนอง | ดูผุดผ่องราวกะราชปักษี |
ครรไลเลื่อนเดินตรงลงกุฎี |
ไปสู่ที่ท้องพระโรงอันเรืองพราย |
ปางบดินทร์ปิ่นพิภพกรุงจัมปาก | ดูมูนมากด้วยข้าเฝ้านั้นเหลือหลาย |
พร้อมด้วยสาวชาวกำนัลอยู่เรียงราย | ข้าหลวงนายหมอบกลาดดาษดา |
เห็นคนพร้อมทูนกระหม่อมขึ้นธรรมาสน์ | เสียงพิณพาทย์ฆ้องประโคมทั้งซ้ายขวา |
เขาอังคาสรับประเค |
ราธนาข้อศีลสมาทาน |
ให้ศีลห้าจับว่าพระสักกะราช | ไม่เคลื่อนคลาดตามพระองค์ไว้บรรหาร |
เสียงแซ่ซ้องพากันร้องสาธุการ | สำแดงเทศน์เป็นนิทานประถมธรรม |
ในตำนานว่านิทานแต่หลังแล้ว | ครั้นพระแก้วยังแสวงไม่แข็งขำ |
ด้วยบารมีนั้นยังอับยับระยำ | กับกองกรรมที่ได้สร้างแต่หลังมี |
มากำเนิดเกิดในสกุลยาก | พ่อตายจากยังแต่แม่น่าบัดสี |
เขาขับไล่ไม่ให้อยู่ในบูรี | พระชนนีทรงครรภาได้ห้าเดือน |
ไปอาศัยอยู่ในบ้านแห่งหนึ่งเล่า | มารดาเจ้ายากไร้ใครจะเหมือน |
ด้วยมีโคมิได้อยู่เคหาเรือน | ต้องเลี้ยงโคไม่มีเพื่อนผู้เดียวดาย |
แต่เช้าไปค่ำมามารดายาก | แสนลำบากทรกรรมระส่ำระสาย |
ไล่โคพลางฟืนหักผักตะพาย | มาถึงบ้านแล้วยังได้ต้องตักตำ |
ทั้งเผ่าพงศ์วงศาก็ตายม้วย | ไม่มีใครที่จะช่วยอุปถัมภ์ |
มายากจนด้วยกุศลไม่ได้ทำ | จึงเตี้ยต่ำน้อยทรัพย์อับสมภาร |
ครั้นอยู่มาจนครรภาถ้วนคำรบ | กำหนดครบแล้วก็คลอดบุตรสงสาร |
เป็นชายแท้แม่นั้นชื่อว่าจันทาน | ในอาการนั้นว่าคลอดแต่เศียรมา |
พระถีราว่าชื่อสุวรรณเศียร | ครั้นจำเนียรเจ็ดขวบชันษา |
โพธิญานคิดสงสารพระมารดา | ด้วยเห็นว่าทุกข์ยากลำบากกาย |
ครั้นจะนิ่งกลิ้งแต่เศียรอยู่อย่างนี้ | พระชนนีนั้นก็เง่าเขลาฉงาย |
ฟังอาการมาก็นานเจ็ดปีปลาย | ไม่ถามไถ่นั้นนี่สักทีเดียว |
ครั้นจะนิ่งด้วยว่าหมายเป็นฝ่ายพระ | อย่าเลยนะจะมานิ่งน่าอายเสียว |
เทพเจ้าก็จะเยาะหัวเราะเกรียว | น้อยฤๅเจียวเจ้าสุวรรณกุมารา |
ช่างนิ่งดูอยู่เสียได้ไม่อุปัฏฐาก | ให้แม่ยากตกระยำนั้นหนักหนา |
ไม่อับอายแก่หญิงชายชาวโลกา | อาตมานี้ไม่ควรประเพณี |
โพธิสัตว์โทมนัสมโนนึก | หวนรำลึกด้วยว่าหน่อพระชินศรี |
ฝ่ายจันทาที่ชื่อว่าพระชนนี | ทุกวาทีมิได้เปล่าแต่เลี้ยงโค |
ลางทีบ้างนางคิดด้วยจิตผูก | คะนึงลูกอกใจระผุดระโผ |
จึงฝากโคไว้กับเพื่อนที่เลี้ยงโค | แล้วรีบเร่งเดินเร็วโร่มาสู่เรือน |
เข้าโลมลูบจูบลูกชำระร้อน | ว่าอ่อนซ้อนทูนหัวแม่ใครจะเหมือน |
ถึงเหนื่อยมาได้เห็นหน้าเจ้าบุญเรือน | ค่อยคลายเคลื่อนเหนื่อยหายสบายบาน |
แต่อย่างนั้นอยู่มาเพลาหนึ่ง | พระร่มโพธิ์เป็นที่พึ่งในสงสาร |
จึงยอกรเหนือเศียรนมัสการ | อธิษฐานไปถึงท้าวเทพดา |
ขอเดชะถ้าแม้นข้าจะได้สำเร็จ | พระสรรเพชดาญาณในภายหน้า |
เทพเจ้าจงมาช่วยข้าด้วยรา | มาแต่งหาของอาหารทั้งหวานคาว |
ปางท่านท้าวเทวดารักษาภพ | ต่างปรารภชวนกันเสียงโฉ่ฉาว |
ว่าอย่าเลยเราอย่านิ่งเลยเราชาว | ไปช่วยเจ้าโพธิสัตว์กุมารา |
เจ้าต้องการด้วยอาหารจะเลี้ยงแม่ | จะเผื่อแผ่โปรดสัตว์ในสังสาร์ |
ฝูงเทเวศร์แจ้งเหตุมะนิมะนา | มาจัดหาทิพย์อาหารทั้งหวานคาว |
เป็นสองโต๊ะเต็มดีฝาชีปิด | ไว้มิดชิดมิให้คนรู้โฉ่ฉาว |
แต่อย่างนั้นเป็นนิรันดร์ทุกวันคราว | มารดาเจ้ามิได้ถามความอุบาย |
เลี้ยงโคมาครั้นเพลานั้นค่ำพลบ | เห็นปิ้งจี่มีครบน้ำลายไหล |
เทอาหารของกระการ |
ก็กอบกำโกยตะกายอาหารกิน |
แต่อย่างนั้นท่านว่านานนักหนานัก | ไม่ถามทักคลังแคลงแหนงถวิล |
ด้วยหน้านิ่วกำลังหิวแล้วเปิบกิน | เป็นอาจิณหลายวันนิรันดร |
ภัควโตนาโถเป็นที่พึ่ง | ไม่อ้ำอึ้งตรัสคำพระธรรมสอน |
พาณิชโชว่ายังมีพ่อค้าจร | ไม่หยุดหย่อนเที่ยวแสวงไม่เว้นวัน |
ทั้งอกเต่าเขากวางกระดูกเสือ | ปีกนกเต็นเอ็นเนื้อไม่เลือกสรร |
เครื่องสินค้ารู้ว่าต้องของสำคัญ | วันหนึ่งนั้นเดินไปที่ใกล้เรือน |
จึงร้องจ้านว่าชาวบ้านเจ้าเรือนนี้ | สิ่งใดมีเอามาขายดังใจเหมือน |
เจ้าสุวรรณฟังสารใจสะเทือน | จึงร้องเชิญว่าท่านเชือนมานี่รา |
พาณิชฟังวัจนังสุวรรณเรียก | ยินสำเนียกชวนกันด้วยหรรษา |
จึงเดินเชือนขึ้นไปเรือนนางจันทา | เห็นเอกาเศียรนั้นวางอยู่กลางเรือน |
พากันว่าอนิจจาน่าทุกขัง | ปลงนิจจังไม่เห็นใครที่ไหนเหมือน |
ช่างโล้นเลี่ยนมีแต่เศียรเรียกมาเยือน | นี่กรรมเตือนตามมาแต่งสมเพชตา |
พ่อค้านายใจมโนนั้นโง่นัก | ไม่รู้จักองค์พระเจ้าในภายหน้า |
โพธิสัตว์มิได้สอบตอบวาจา | แล้วจึงว่าท่านพ่อค้าสิ้นทั้งปวง |
ขอเดินสารไปด้วยท่านเที่ยวค้าขาย | เอ็นดูฉันหลานชายอย่าห้ามหวง |
พ่อค้านายตอบว่าหลานอย่าหวั่นทรวง | พ่อพุ่มพวงจะไปได้ฤๅไรนา |
มีแต่หัวตัวตีนหามีไม่ | จะไปได้ก็ให้ไปไม่อิจฉา |
เจ้าสุวรรณตอบสารพาณิชชา | ตามทีข้าอย่าปรารภปรารมณ์ใจ |
เจ้าสุวรรณจึงว่าท่านนายพาณิช | เมื่อจะไปแล้วให้คิดอย่างสงสัย |
มาบอกหลานถ้าจะไปวันไหนไป | พ่อค้านายตอบว่าค่ะอย่าปรารมณ์ |
พวกพาณิชครั้นรับกิจธุระแล้ว | ว่าเจ้าสุวรรณหลานแก้วจงสะสม |
หาสินค้าข้าวของปองระดม | แล้วเผยลมอำลาลงมาพลัน |
ฝ่ายว่าท่านเจ้าสุวรรณโพธิสัตว์ | โสมนัสปรีด์เปรมประเสมสันต์ |
ด้วยบารมีของท่านได้ไว้หลายครัน | จะผ่อนผันโปรดประชานรากร |
จำเดิมชายนายพ่อค้าลงไปจาก | แทบอกครากครุ่นคิดสะท้อนถอน |
คอยเมื่อไรใจนั้นเร่งพระทินกร | พระมารดรจะได้มาแต่เลี้ยงโค |
ครั้นมารดามาแล้วไม่นิ่งช้า | จึงวอนว่าลูกนี้คิดด้วยสุดโส |
เราแม่ลูกยากจนเหมือนคนโซ | อนาโถหาผู้ใดไม่ไยดี |
ลูกจะไปขายค้าด้วยพาณิช | ประจงจิตจะให้เป็นซึ่งศักดิ์ศรี |
ให้โอ่เอี่ยมเทียมเขาชาวบูรี | พระชนนีโปรดเกศีได้เมตตา |
ไปยืมทรัพย์ของท่านมาสักพันหนึ่ง | จะขอพึ่งพอเป็นทุนนะแม่หนา |
ไปทูลยืมของท่านท้าวจ้าวพารา | พระอาญานั้นอย่าเกรงอย่ากลัวมี |
นางจันทาฝ่ายมารดาโพธิสัตว์ | แกแข็งขัดว่าอะไรอย่างนี้นี่ |
จะให้แม่นี้ไปเฝ้าเจ้าเห็นดี | พระภูมีท่านยิ่งโกรธพิโรธใจ |
ว่าแม่นี้เป็นกาลีจังไรชั่ว | ท่านไสหัวมาให้พ้นแล้วขับไล่ |
จากบูรีมิให้อยู่ในเวียงชัย | ดีแล้วฤๅจะให้ไปพระลูกยา |
อนึ่งเล่าแม่ไม่เคยเลยนะเจ้า | เขาแห่เฝ้ากันอย่างไรยังกังขา |
แม่ไม่รู้จักจ้าวท้าวพญา | ฟังลูกว่าให้ฉงนแม่จนใจ |
ประการหนึ่งท่านไม่อยากขอเห็นหน้า | จึงขับไล่จากพารายังสงสัย |
เขาเห็นหน้าเขาจะพากันขัดใจ | เอาหวายไม้ไล่ตีแม่ทั้งตัว |
แม่คิดเห็นทีคงเป็นอย่างนี้แน่ | เหมือนทำกรรมให้กะแม่ดอกทูนหัว |
อย่าด่วนกล่าวเลยนะเจ้าจะหมองมัว | จะเจ็บตัวเสียเปล่าเปล่าไม่เข้ายา |
ดับนั้นเจ้าสุวรรณโพธิสัตว์ | ได้ฟังอรรถชนนีพิไรว่า |
จึงตอบคำว่าแม่ร่ำเกินตำรา | ลูกมิให้ใบ้บ้าดอกชนนี |
จะเอามือแม่ไปแหย่ปากงูเห่า | มันตอดเอาก็จะม้วยไปเป็นผี |
ไม่เป็นไรเชื่อใจลูกสักที | พระภูมีท่านคงทรงพระเมตตา |
ถ้าแม้นว่าถ้าเขาจับแม่โบยตี | แม่จงล้างซึ่งชีวีลูกเถิดหนา |
อย่าตกใจจงเข้าไปเถิดมารดา | จ้าวพาราคงรู้จักทักแต่ไกล |
นางจันทาผู้มารดาสุวรรณเศียร | ให้วนเวียนกลาดกลัวดังตักษัย |
แต่เท่าว่าเหลือกำลังสุดอาลัย | ด้วยลูกชายนั้นฉอ้อนเฝ้าวอนวิง |
ถ้าไม่ไปก็ร่ำไรเฝ้าพิรี้ | เห็นเต็มทีตัวนางสั่นดังผีสิง |
ก็ขืนไปด้วยอาลัยลูกจริงจริง | นางยอดมิ่งมาถึงท้องพระโรงชัย |
ปางท่านท้าวจ้าวพิภพกรุงกษัตริย์ | แลถนัดทอดพระเนตรไม่สงสัย |
เทพเจ้าเข้าไปดลบันดาลใจ | ให้ท้าวไทตรัสทักไปทันที |
คนเข้ามาอีจันทาฤๅมิใช่ | ไปอยู่ไหนพึ่งเห็นหน้ามึงเดี๋ยวนี่ |
นางจันทาทูลว่าธุระมี | จึงจรลีเข้ามาเฝ้าพระราชา |
ด้วยบุตราข้าละอองต้องประสงค์ | จิตจำนงว่าจะไปขายสินค้า |
ให้มายืมสินทรัพย์พระถานา | เป็นเงินตราพันหนึ่งได้โปรดปราน |
ธิบดินทร์ที่เป็นปิ่นพาราณสี | ทราบคดีองค์จ้าวจึงกล่าวสาร |
จึงตรัสว่าอีจันทามึงต้องการ | สักสองพันกูจะให้ดอกเงินตรา |
พระโองการบรรหารแล้วตรัสสั่ง | ให้ชาวคลังรีบรัดไปจัดหา |
เบิกเงินนั้นพันหนึ่งตามบัญชา | นางจันทาสมหมายดังใจปอง |
ด้วยอำนาจวาสนาพระโพธิสัตว์ | แต่เคียดเคืองยังไม่ขัดเสียดายของ |
ไม่หาญฮึกนึกร้ายจะหมายปอง | กลับปรองดองดิบดีสะดวกดาย |
พระจอมพลให้เขาขนไปส่งบ้าน | นางจันทานทูลกลับขยับขยาย |
หยิบสินทรัพย์เอามานับให้ลูกชาย | ก็สมใจเจ้าสุวรรณกุมารา |
จะกลับกล่าวไปถึงฝ่ายนายพาณิช | สำเร็จกิจของขายได้นักหนา |
จึงจัดแจงตบแต่งซึ่งนาวา | ขนสินค้าลงใส่ในสำเภา |
เจ้าสุวรรณที่พูดกันจะไปด้วย | ไม่อำนวยนึกไปรับด้วยโฉดเขลา |
ครั้นขนสิ้นแล้วจะผินบ่ายสำเภา | พวกชาวเจ้าพร้อมพรั่งขึ้นนั่งเรียง |
นายเข็มกล้องส่องทางนายล้าต้า | ร้องเห่ลาโห่ลั่นสนั่นเสียง |
ถอนสมอลั่นมาล้อสำเนียงเพียง | สำเภาเอียงแทบจะล่มจมนที |
เทวดาที่รักษาพระสมุทร | พากันฉุดลำสำเภาในวิถี |
จึงไม่เคลื่อนเลื่อนได้จากวารี | ด้วยบารมีของสุวรรณกุมารา |
พวกพาณิชพากันคิดสงสัยใจ | เป็นอย่างไรเอประหลาดน่ากังขา |
ฤๅขัดขวางด้วยย่านางที่นาวา | ฤๅบวงสรวงพวกเทพาไม่ชอบใจ |
คนหนึ่งว่าอย่าอย่างนั้นเลยชาวเรา | พากันแต่งแปลงเข้าเสียอย่างใหม่ |
ว่าแล้วพลางที่ลางคนก็รีบไป | หาเป็ดไก่หมูมันบรรดามี |
หามาให้ทั้งท่านยายแม่มดเฒ่า | เป็นคนเก่าสำหรับทรงได้ลงผี |
แกครวญคร่ำร่ำบ่นทั้งโทนตี | นายนาวีไถ่ถามเนื้อความไป |
เคียดอะไรจึงมิให้สำเภาแล่น | เฒ่ามุสาว่ากูแค้นกูหมั่นไส้ |
แม่มดเท็จเบ็ดเตล็ดอสูรกาย | ว่าเป็ดไก่มึงไม่ทำไม่นำพา |
พาณิชนายว่าจะให้แล้วคราวนื้ | อีอัปรีย์มันถึงแกล้งมารษา |
ให้กูกินกูจะให้บ่ายนาวา | พวกพ่อค้าจัดแจงแต่งให้มัน |
พลีแล้วแคล้วสำเภาออกจากท่า | ลำนาวาก็ไม่ไหวไม่แปรผัน |
พาณิชชาพากันว่าอัศจรรย์ | ปรึกษากันสงสัยอยู่ไปมา |
คนหนึ่งคิดว่าเราผิดได้พูดไว้ | ที่หลานชายเจ้าสุวรรณไม่ไปหา |
คนหนึ่งว่าเห็นจะจริงกระมังนา | เราอย่าช้าเร่งไปบอกเสียเร็วไว |
พาณิชชาพากันมาครั้นถึงบ้าน | ปราสัยสารว่าเจ้าหลานอย่าช้าได้ |
จะไปค้าไปกะตาไปก็ไป | จงเร็วไวไปวันนี้เถิดหลานอา |
เจ้าสุวรรณครั้นพาณิชมารับแล้ว | ก็ผ่องแผ้วโสมนัสเสน่หา |
จึงปราสัยกล่าวสารกับมารดา | แม่จงพาลูกไปส่งสำเภาพลัน |
นางจันทาผู้มารดาโพธิสัตว์ | จึงแจงจัดข้าวของทุกสิ่งสรร |
พร้อมเสบียงผ่อนผ้าสารพัน | แบกสุวรรณเอาไปส่งลงสำเภา |
สารพาแต่บรรดาทุกสิ่งครบ | แล้วปรารภฝากฝังไปกับเขา |
เอ็นดูหลานนักว่าลูกจงผูกเอา | จะตายเป็นเห็นแต่เจ้าประคุณตา |
พ่อค้านายตอบว่ายายอย่าเป็นทุกข์ | ได้สุขทุกข์ไว้ธุระท่านยายขา |
ไม่นั่งนานนางจันทาก็ลามา | ฝ่ายพ่อค้าจึงขยายบ่ายสำเภา |
ถอนสมอตีม้าล่อร้องจะโล้ | พากันโห่เอิกเกริกเสียงโฉ่ฉาว |
แล้วกางใบลมพระพายกระพือยาว | พัดสำเภาแล่นเลื่อยออกเฉื่อยไป |
ประมาณมาถ้าจะว่าสักเดือนครึ่ง | บรรลุถึงเกาะหนึ่งใหญ่มไห |
เป็นเกาะกับเกิดสำหรับสมุทรไท | ทั้งกว้างใหญ่ที่สำนักแห่งนาคี |
ลูกพระยาวาสุกรีอันมีเดช | เคยแปลงเพศขึ้นมาเล่นวารีศรี |
กับสาวสรรค์กัลยาบรรดามี | เป็นอาจิณทะวาทีนิรันดร |
ดับนั้นเจ้าสุวรรณผู้ฤๅสาย | เห็นเกาะใหญ่มีมโนสโมสร |
จึงกล่าวว่ากับพ่อค้าให้อวยพร | ท่านจงจรไปแต่ท่านสำราญใจ |
เอาหลานชายขึ้นไปไว้ในเกาะพลับ | ท่านกลับมาจงมารับอย่าหนีหาย |
ฝ่ายพ่อค้าพากันว่าเจ้าหลานชาย | ก็ตามใจตาไม่ขัดดอกอัชฌา |
พาณิชหนุ่มก็มาอุ้มสุวรรณเศียร | มีพระไทรใหญ่เตียนโตสาขา |
เอาวางไว้ใต้ร่มพระโครธา | ของบรรดาก็เอาไว้ให้ครบครัน |
พาณิชนายก็ขยายสำเภาออก | ลมระลอกพัดกระแทกกระทังหัน |
ไม่เคืองแค้นแล่นลิ่วไปหลายวัน | เถิงเมืองจันตประเทศเป็นเขตจีน |
๏ ฝ่ายบรมสมเด็จพระโพธิสัตว์ | โสมนัสอยู่ในเกาะรักษาศีล |
ด้วยบารมีของพระองค์พงศ์นรินทร์ | กับลูกพญานาคินได้สร้างมา |
ในบาลีมีนามแม่ยอดสร้อย | ชื่อนางวิรุณแช่มช้อยอันเลขา |
เป็นบุญคู่สู่สมอบรมมา | ให้ร้อนรนในอุรานางเนื้อเย็น |
เข้ากราบลาพระบิดาพญานาค | กับข้าสาวมาก็มากนั้นเหลือเถน |
สนมนางล้วนสำอางแต่สะเอน | เบิกบาดาลขึ้นมาเล่นชโลทร |
ครั้นถึงเกาะที่จำเพาะเคยหยุดพัก | ฝูงนาคีมากนักดูสลอน |
ลงเล่นน้ำมุดดำในสาคร | บ้างหลอกหลอนลวงล่อเล่นงอกัน |
ฝ่ายอรุณแม่เนื้ออุ่นนางนายนาค | เล่นไม่มากขึ้นมาก่อนนางสาวสรรค์ |
ผลัดภูษานั่งร่มพนมวัน | ดูกำนัลเล่นน้ำในนัทที |
ส่วนสุวรรณอิศโรโพธิสัตว์ | จะได้ตรัสเป็นองค์พระชินศรี |
ได้ยินเสียงนางนาค |
พระภูมีจำแลงรูปจากเศียรมา |
เป็นหนุ่มน้อยแช่มช้อยเลิศบุรุษ | หนุ่มมนุษย์จะมาเปรียบนั้นอย่าหา |
จึงย่างเยื้องเดินย่องมองเข้ามา | เห็นพวกฝูงกัลยานั้นมากมี |
นางผู้หนึ่งนั้นมานั่งอยู่ฝั่งน้ำ | ช่างงามขำนี่กระไรแม่โฉมศรี |
พระโฉมปรางค์เข้าไปนั่งแล้วพาที | ขอโทษพี่เถิดจะถามอย่ามีภัย |
แม่งามชื่นเจ้ายุพินชมพูภพ | ฤๅงามลบอยู่สวรรค์ในชั้นไหน |
ช่างงามผ่องเหมือนอย่างทองวิไลใจ | แต่หญิงในพื้นพิภพไม่ลบนาง |
๏ ปางยุพินปิ่นโสภีบุตรีนาค | กำเริบราคร้อนระงมอารมณ์หมาง |
ชม้อยชม้ายชายหางตายักหน้าพลาง | ดูองค์เอี่ยมยิ่งสำอางประเสริฐชาย |
พระสุรเสียงนั้นก็เพราะเสนาะนัก | ทั้งผิวพักตร์นั้นก็ผ่องช่างเฉิดฉาย |
ขนงค้อมเหมือนเขาเขียนเจียนระบาย | ทั้งร่างกายช่างมาเกิดประกอบกัน |
บุรุษดีที่ยังมีอยู่เมืองนาค | จะมาเปรียบนั้นก็ยากไม่ขบขัน |
จะสังเขปได้แต่เทพเทวัญ | สุดจะกลั้นในอารมณ์ให้ตรมทรวง |
นางนาคีมีใจกำเริบรัก | จึงถามทักว่านี่ท่านนายข้าหลวง |
มาแต่ไหนไยมาถามข้าทั้งปวง | นี่กระทรวงแดนด่านท่านฤๅไร |
อันเกาะนี้ก็เป็นที่สำหรับมา | ครั้งปู่ย่าเคยมาเล่นแต่ไหนไหน |
ปางประถมพุทธันดรแต่ก่อนไกล | ฉันนี้ไซร้บุตรพญาวาสุกรี |
นี่ตัวพี่มากับใครผู้ใดเล่า | ฤๅเปลี่ยวเปล่าแต่ผู้เดียวเดินวิถี |
เช่นยักษ์มารฤๅมนุษย์ฤๅเทพี | เกาะอันนี้ผู้ใดเลยไม่เคยมา |
โพธิสัตว์ฟังอรรถนางนาคถาม | จึงเล่าความให้นางแจ้งที่กังขา |
พี่ฤๅเจ้ามิใช่เหล่าเผ่าเทพา | มารมาราก็ไม่ใช่ดอกสายทรวง |
อันนามพี่นี้มนุษย์ดอกขวัญเนตร | มาทุเรศอยู่จำเพาะในเกาะหลวง |
เดิมก็มากับพ่อค้าท่านทั้งปวง | พี่หนักหน่วงด้วยเห็นเกาะนี้เหมาะใจ |
จึงกล่าวว่ากับพ่อค้าสิ้นทั้งนั้น | ทั้งปวงท่านไปสำราญตามนิสัย |
ออกสำเภาตัวของเราจะขึ้นไป | อาศัยอยู่ที่ในเกาะเห็นเหมาะครัน |
พี่บรรทมอยู่ที่ร่มพระไทรใหญ่ | ผู้เดียวดายไม่มีเพื่อนผู้เดียวฉัน |
พี่สำเนียงได้ยินเสียงน้องพูดกัน | ดีใจครันจะมาหาจึงมาดู |
มาถามทักไม่รู้จักว่าเป็นเจ้า | ได้เกินเข้ามายกมือไม่พ้นหู |
แล้วจะโปรดโทษทัณฑ์เถิดโฉมตรู | ล้างชีวิตก็จะสู้บรรลัยลาญ |
๏ นางเยาวมาลย์ฟังสารโพธิสัตว์ | จึงตอบอรรถนุชนางสนองสาร |
ใครจ้างว่าเล่าเป็นเจ้าแกล้งประจาน | มาเที่ยวพาลจะเอาผิดอนิจจา |
ต่างไต่ถามด้วยว่าความไม่รู้จัก | มาพูดทักกล่าวสุนทรมาถามหา |
จึงพูดต่อเห็นว่าง้อมาพูดจา | จะนิ่งเสียก็จะว่าฉันถือตัว |
ฤๅใครกล่าวว่าจะเอาไปเข่นฆ่า | ช่างพูดจาออกมาได้เป็นน่าหัว |
ถ้าเป็นพาลแล้วดิฉันนี้ยอมกลัว | อย่าพันพัวเลยนะพี่ษมาภัย |
๏ อนิจจังไม่อย่างนั้นดอกขวัญเนตร | พี่เจียมใจคิดทุเรศดอกพักตร์ไข |
มานั่งทักมิได้หมอบละม่อมละไม | เป็นเจ้านายเขาก็ราบแต่กราบทูล |
นี่เองมาทำเหมือนว่าไม่เกรงขาม | มาหยาบหยามไม่เข้าอย่างเสียยศสูญ |
น้องไม่จ้างนางไม่บอกดอกแม่คุณ | โมทนาว่านี้บุญแล้วขวัญตา |
จะร่ำว่าท่าเกี้ยวไปมากหลาย | วิตถารไปก็จะได้ดอกท่านขา |
แต่เรื่องราวนั้นยังยาวคณนา | พระสังฆีมีฎีกาไว้ครบครัน |
อันที่จริงถ้าแม้นหญิงกับบุรุษ | ได้พบพูดแล้วไม่พ้นคงผ่อนผัน |
นี่บุญสองท่านได้สร้างไว้มากครัน | อย่าสงสัยไม่ได้กันเลยหญิงชาย |
ทั้งสองท่านครั้นว่าสมปรารถนา | นางวิรุณน้องก็พาพระผันผาย |
ไปสู่แดนเมืองบาดาลบัดเดี๋ยวดาย | เข้าเฝ้าองค์วาสุไกรบิดานาง |
ท้าวนาคีมีมโนเสน่ห์นัก | พระแสนรักโพธิสัตว์ไม่ขัดขวาง |
ให้ครอบครองเมืองศฤงคารสวรรยางค์ | เสวยปรางค์ปรีดิ์เปรมประเสมใจ |
๏ จะกลับว่ามาข้างฝ่ายนายพาณิช | ไปซื้อขายได้สมคิดดังใจหมาย |
ถอนสมอบ่ายสำเภาไม่พักพาย | ลมระบายแล่นเดาสำเภามา |
ครั้นถึงเกาะก็จำเพาะสำเภาหยุด | จะลากฉุกก็ไม่เลื่อนเหมือนภูผา |
ด้วยใบบุญโพธิญาณในสัญญา | จึงนาวานั้นมาแน่นไม่แล่นไป |
๏ คราวนี้จะคืนไปยกพื้นโพธิสัตว์ | โสมนัสอยู่ในปรางค์อันสุกใส |
ไม่มีทุกข์สุขเกษมเปรมดิ์หัททัย | ประมาณมาก็จะได้หลายทิวา |
วันหนึ่งนอนให้สะท้อนหัททัยระทึก | เพลาดึกปั่นป่วนรำจวนหา |
หวนรำลึกตรึกถึงพระมารดา | โอ้ป่านนี้แม่จะมาตั้งหน้าคอย |
ด้วยจนยากแสนลำบากแม่ทูนเกล้า | พระโพธิ์เจ้าหลั่งน้ำตาระผ็อยผ็อย |
สะอื้นอกชลเล็ดเป็นเม็ดลอย | โหยละห้อยโศกศัลย์อั้นอุรา |
ปางนางหม่อมจอมจุลวิรุณแม่ | นางนอนนิ่งฟังแน่ว่าโหยหา |
แล้วลุกขึ้นกราบบาทพระภัสดา | กัลยาทูลถามเนื้อความไป |
ว่าเจ้าประคุณทูนเกศของเมียแก้ว | ประหลาดแล้วหลากอาเพศเหตุไฉน |
ฤๅน้อยจิตว่าเมียคิดไปนอกใจ | ผู้ใดใครบอกเล่าเจ้าประคุณ |
ฤๅน้อยใจว่ามาได้กับน้องนี้ | ไมสมรักศักดิ์ศรีจึงหวนหุน |
ฤๅเห็นน้องนี้ไม่ต้องต่ำสกุล | จึงอาดูรโศกสร้อยละห้อยใจ |
ฤๅบิดรมารดาคณาญาติ | ท่านร้ายกาจหยาบหยามให้ฤๅไฉน |
ฤๅกิริยาน้องไม่ต้องหมองหัททัย | จึงน้อยใจโทมนัสพระภัสดา |
ปางนั้นพระสุวรรณเศียรเจ้า | จึงบอกเล่าว่าแม่ยอดเสน่หา |
อย่ากินแหนงแคลงใจเลยฉัยยา | เหมือนเจ้าว่านั้นไม่จริงสักสิ่งอัน |
พระบิดรมารดาคณาญาติ | ไม่ร้ายกาจโอบอ้อมดอกจอมขวัญ |
ท่านเมตตามิได้ว่าเลยดวงจันทร์ | สารพันมาได้สุขทุกประการ |
ถึงตัวนางที่จะชังอย่าสงสัย | พี่รักเทียมดวงหัททัยจะไขสาร |
พี่โศกาด้วยว่ามานี้นิ่งนาน | คิดสงสารถึงมารดาด้วยอยู่เดียว |
ตัวมาได้ความสบายหัวใจชื่น | สำราญรื่นทิ้งมารดาไม่มาเหลียว |
ละอายใจด้วยเป็นชายเสียชาติเชียว | จริงจริงเจียวน้องจงแจ้งอย่าแคลงใจ |
คอยอยู่เถิดแม่วิรุณเนื้ออุ่นพี่ | จำเริญศรีนิ่มน้องจงผ่องใส |
เป็นวิบากครั้นมิจากก็จำใจ | ด้วยเป็นใหญ่คุณเหลือล้นพระชนนี |
ฝ่ายวิรุณเนื้ออ่อนจึงวอนไหว้ | น้องขอไปจงได้โปรดซึ่งเกศี |
ฉันสะใภ้จะไปไหว้พระพันปี | พระชนนีจะได้เห็นเป็นอย่างไร |
ครั้นรุ่งเช้าเจ้าเข้าลาพระบิตุเรศ | บังคมเกศลงทั้งสองด้วยผ่องใส |
ขอกราบลาพระบิดาจงอวยชัย | ไปเยือนไท้ชนนีพระมารดา |
ปางบดินทร์ปิ่นนาคีโมฬีนาค | ไม่พูดยากตรัสว่าตามลูกปรารถนา |
ศรีสวัสดิ์พ่อไม่ขัดดอกอัชฌา | พระลูกยาพ่อจงเอาสำเภาไป |
ตามแต่ใจเอาเท่าไรอย่าเกรงขาม | สักสองพันสรรเอาตามอัฌชาสัย |
ทั้งเงินทองทาสทาสาผ้าอำไพ | ขนเอาไปใส่สำเภาทั้งสองพัน |
เต็มทุกลำตามแต่ใจอย่าเกรงขาม | โพธิสัตว์ตรับความแล้วผายผัน |
มาจัดแจงแต่งสำเภาได้ครบครัน | สารพันขนลงใส่ในนาวา |
ครั้นขนเสร็จแล้วสำเร็จเข้ามาเฝ้า | บังคมท้าวทูลลาพระนาถา |
ทั้งเนื้ออุ่นนางวิรุณก็ทูลลา | ท้าวนาคาอวยชัยแล้วให้พร |
ทั้งสององค์ลงสำเภาออกนำหน้า | นำนาวาห้าร้อยลอยสลอน |
พวกพ่อค้าที่อยู่ท่าพระภูธร | ก็พร้อมกันมาสลอนในทันที |
พระพายพามาไม่ช้าสักเดือนครึ่ง | ก็ลุถึงเมืองพาราบูรีศรี |
พระนำพานางไปหาพระชนนี | นางจันทายินดีให้ปรีดา |
จึงถามลูกว่านั่นใครที่ไหนนั่น | เจ้าสุวรรณบอกว่าลูกพามาหา |
ไปได้นางที่ในเกาะกลางคงคา | ลูกจึงพาเขามาหาพระมารดร |
นางคนนี้เป็นบุตรีพญานาค | ท่านแสนรักพุ่มพวงดวงสมร |
ท่านปองปูนไอศูรย์พระนคร | กับบังอรลูกทั้งสองให้ครองเมือง |
ลูกคะนึงคิดถึงมารดาเจ้า | จึงทูลลาพานงเยาว์มาแจ้งเรื่อง |
พูลสวัสดิ์สารพัดไม่ขัดเคือง | อร่ามเรืองสารพัดท่านจัดมา |
แต่สำเภานั้นให้เอามาห้าร้อย | ของไม่น้อยเต็มเพียบสหัสสา |
แต่ข้าวของทองคำทั้งเงินตรา | ท่านให้มาท่านไม่ห้ามท่านตามใจ |
นางจันทาครั้นได้ฟังพระลูกว่า | ให้ปรีดายินดีจะมีไหน |
จึงวาจาว่ากับลูกสะใภ้ไป | สุดสายใจอยู่กับแม่อย่าแดดาล |
ใจแม่หวังร่างผีหมายจะฝาก | ลูกหญิงชายแม่ไม่มากจึงกล่าวสาร |
แล้วหาบขนของเงินตราบรรณาการ | ใส่โรงร้านเต็มทั้งเรือนดูเกลื่อนไป |
นางจันทาพาคนขนสินทรัพย์ | คะเนนับพันหนึ่งเข้ามาถวาย |
ส่งท่านจ้าวพาราณสีโมฬีนาย | พวกตำรวจขนเข้าใส่ท้องพระคลัง |
ครั้นอยู่มาจ้าวพาราสวรรคต | ถึงกำหนดผลกรรมแต่หนหลัง |
เป็นเมืองเปล่าไม่มีจ้าวนัครัง | ประเพณีมีแต่หลังบูราณมา |
กษัตริย์ใดถ้าแม้นวายสวรรคต | เอาอาชาเทียมรถแล้วเสี่ยงหา |
เทพยลจึงเข้าดลบันดาลพา | ให้มิ่งม้านำเอารถไปก่ายเกย |
พวกเสนาจึงปรึกษาด้วยกันหมด | เอาม้าเทียมราชรถพร้อมเขนย |
เทวดาก็มาพาเอารถเลย | ไปก่ายเกยเจ้าสุวรรณเศียรทอง |
เข้าเชิญองค์โพธิสัตว์มาเป็นเจ้า | เป็นปิ่นเกล้าเจ้าแผ่นดินสิ้นทั้งผอง |
ครองสมบัติสารพัดจะก่ายกอง | ไม่มีภัยใสผ่องเพิ่มสมภาร |
โพธิสัตว์ชาติสวัสดิ์สุดภายหลัง | ในเอวังเมื่อดับทำสังขาร |
คือพระเจ้าที่เข้าสู่พระนิพพาน | สิ้นนิทานเทศนาก็จบลง |
๏ กรุงจัมปากธิบดินทร์ปิ่นประชา | ฟังพระธรรมเทศนาอาลัยหลง |
ปีติตั้งจิตนิยมอารมณ์ปลง | ให้งวยงงรสธรรมคำอุบาย |
พวกเสนาข้าเฝ้าสิ้นทั้งนั้น | ต่างพูดกันว่าท่านเทศน์เพราะใจหาย |
เสียงก็เพราะเทศน์ก็แจ้งไม่แพร่งพราย | ทั้งหญิงชายชาวประชาแต่ว่าดี |
กรุงจัมปากปางพระองค์ดำรงภพ | ให้ปรารภพระองค์ชันซึ่งเกศี |
ว่าชีต้นนี้หนักหนาปัญญาดี | ควรเป็นที่สังฆราชถือฐานา |
พระโองการโปรดประทานเป็นเจ้าสงฆ์ | บาตรสบงท่านถวายให้นักหนา |
ครั้นถึงเดือนแล้วถวายให้เงินตรา | ตามฐานาใหญ่น้อยประเพณี |
ชาวประชาเห็นว่าพระสังฆราช | ดูผุดผาดพวยพุ่งขึ้นสูงศรี |
ทุกคนถือว่าหนังสือท่านเหลือดี | ชาวบูรีนับถือลือขจร |
แต่เข้าเวรเทศน์ในวังเป็นเนืองนิตย์ | สานุศิษย์มากมายหลายสลอน |
บอกหนังสือถือธุดงค์ทรงสังวร | สถาพรโพยภัยไม่แผ้วพาน |
ครั้นอยู่มาพระวรรษานั้นหลายขวบ | บุญประจบมาประจวบคิดสงสาร |
เหตุทั้งนี้เป็นที่ผลสร้างสมภาร | จึงบันดาลเข้าดลใจให้ตรึกตรอง |
หวนรำลึกตรึกถึงพระปาจิต | พระสามิตผู้ผัวให้มัวหมอง |
จะบุกป่าผ่าดงจะลงคลอง | เที่ยวหาน้องไปทุกหนตำบลเมือง |
พระภูษาผ้าที่ทรงจะกุดขาด | ข่าวประหลาดก็ไม่รู้ถึงหูเหือง |
จะตายเป็นก็ไม่เห็นพระขวัญเมือง | จะคิดเคืองผ่อนผันประการใด |
แต่ตรองหายังปัญญาลงสอดส่อง | ให้แคล่วคล่องทำให้พ้นที่สงสัย |
ถึงสามวันก็ไม่เห็นเป็นอย่างไร | เทพเจ้าเข้าดลใจให้เห็นดี |
ปลูกศาลาไว้ที่ท่าคนอาบน้ำ | เป็นจำนำเขาเคยสรงนทีศรี |
เขียนเป็นเรื่องตัวกับผัวรูปร่างมี | จารึกเรื่องบอกให้ที่สำคัญไป |
ถ้าผ่านฟ้าไปเที่ยวหาต่างประเทศ | ถ้ามาพบถ้าสังเกตคงจำได้ |
มิฉันนั้นคนจะเล่าเฉากันไป | คงสงสัยคำเขาว่าจะมาดู |
นางตรึกตรองเห็นเป็นช่องหัวใจชื่น | สำราญรื่นตั้งอารมณ์สำรวมหู |
จำอาตมาเข้าปรึกษากษัตริย์ดู | จำเริญพรบอกให้รู้สร้างศาลา |
ครั้นยามเย็นเป็นเพลาที่ตำแหน่ง | ผู้เป็นเจ้าเคยไปแจงเทศนา |
เรียกลูกศิษย์แบกคัมภีร์มาติกา | แล้วครองผ้าผู้เป็นเจ้าก็เข้าวัง |
ขึ้นสำแดงแจงธรรมครั้นจบแล้ว | จึงคลาดแคล้วลงธรรมาสน์ด้วยใจหวัง |
ถวายพรกับพระจอมนัครัง | ว่าบพิตรรูปจะสร้างศาลาทาน |
ให้ใหญ่โตกว้างยาวสักเก้าห้อง | สำรับรองจะได้วางซึ่งอาหาร |
กรุงกษัตริย์ตรัสว่าจอมเป็นอาจารย์ | จะต้องการจะถวายใสศรัทธา |
จะให้ยกทำถวายที่ไหนเล่า | ผู้เป็นเจ้าบอกให้แจ้งยังกังขา |
จำเริญพรในประสงค์อาตมา | ที่หน้าท่าบ้านขุนพรหมเห็นสมควร |
ไม่นิ่งช้าก็อำลาเข้ามาวัด | เข้าสู่ที่โทมนัสให้ผันผวน |
รำลึกถึงพระสามียิ่งยียวน | บังเกิดกวนขึ้นด้วยกรรมนั้นตามมา |
๏ จอมกษัตริย์ธิบดีมุนีนาถ | ได้รับคำพระสังฆราชผู้นาถา |
ด้วยตั้งใจจะถวายซึ่งศาลา | ใสศรัทธาสัมปยุตขึ้นผุดงาม |
พระโองการสั่งสารพวกเสนา | เร็วอย่าช้าเร่งให้ทันในวันสาม |
ปลูกศาลาขึ้นทีท่าให้ใหญ่งาม | สักเก้าห้องไปเร่งทำให้ทันที |
กูตั้งใจจะถวายพระสังฆราช | ท่านบิณฑบาตจงเอาบุญทูนเกศี |
ตั้งช่างเขียนเจียนฉลาดที่วาดดี | วันพรุ่งนี้จัดกันให้ทำการ |
ฝูงอำมาตย์รับโอภาษไม่นิ่งช้า | ก็ออกมาเร่งกันตามบรรหาร |
พระสุเรนทร์นั้นต้องเกณฑ์ซึ่งแปลาน | กับกระดานคนละแผ่นให้แล่นยาว |
หลวงศักดานั้นให้หาซึ่งตัวขื่อ | จันมีชื่อนั้นต้องเกณฑ์ซึ่งตัวเสา |
ไม้นั้นลมหมวดขุนพรหมให้รับเอา | กระเบื้องเผาให้หมื่นพราหมณ์กับไม้พรึง |
ลอดทั้งสิ้นให้ขุนอินกับระแนง | ที่ฝาแฝงนั้นให้สานให้ขันขึง |
ตอกให้โตกดให้ติดให้แน่นตึง | ตะปูกรึงจะต้องวุ่นให้ขุนชัย |
เกณฑ์สำเร็จเสร็จพลันในวันนั้น | ขมีขมันได้ไม้หาช้าไม่ |
คนละตัวไม่ต้องตัดในป่าไกล | เที่ยวซื้อไซร้จึงได้ทันในการเร็ว |
ครั้นได้มาแล้วก็พากันถากเสา | บ้างกล่อมเกลาหาบแบกออกแหลกเหลว |
บ้างเจาะเจียนเจนจัดบ้างดัดเอว | บ้างเร่งรัดให้ได้เร็วอย่ารั้งรา |
บ้างสานแฝงแต่งตอกกดให้ติด | บ้างเหลาลิดควบแล่นให้แน่นหนา |
ใส่เสาลองติดปั้นลมใบระกา | ติดช่อฟ้านาคสะดุ้งห้อยกระดึง |
ปรุงสำเร็จเสร็จแล้วด้วยคนมาก | บ้างถางถากทำทีให้ขันขึง |
บ้างปราบปรามทำถางอยู่กังกึง | เสียงตังตึงอลหม่านอยู่มัวเมา |
บ้างขุดหลุมบ้างก็รุมหามเสาแรก | พากันแบกบ้างระโบมเข้าโหมเสา |
ยกเสาใส่ไว้เป็นคู่ดูระนาว | ขึ้นนั่งเต้าใส่แปติดระแนง |
ติดช่อฟ้าใบระกาตะปูตี | มุงกระเบื้องดูเป็นสีระยับแสง |
หางหงส์ห้อยด้วยกระดึงกระเบื้องแดง | แล้วโปดแฝงทาด้วยดินสอพอง |
เรียบกระดานการศาลาสำเร็จแล้ว | จึงกวาดแผ้วผงเผาสิ้นทั้งผอง |
โองการตรัสให้โปดชาดแล้วทาทอง | ดูเรืองรองแดงร่าน่าสะออน |
ที่วาดเขียนนั้นต้องเรียนพระสังฆราช | ให้โอวาทบอกเรื่องมีอักษร |
ช่างฉลาดวาดเป็นเรื่องเมืองนคร | วาดเป็นดินเขียนเป็นดอนดาษดา |
เขียนเป็นรูปพระปาจิตเที่ยวหานาง | ที่คู่สร้างพยายามเที่ยวตามหา |
เขียนเป็นรูปยายแก่เป็นมารดา | อุ้มครรภาทรงครรภ์นั้นใหญ่โต |
วาดเป็นรูปพระปาจิตไปพบยาย | เห็นทรงครรภ์ดีใจขึ้นอักโข |
เขียนเป็นกลดลงมากั้นนั้นคันโต | พระปาจิตพงส์โพธิ์ก็แน่ใจ |
เขียนเป็นรูปพระปาจิตยกมือขอ | อยู่อาสาเฝ้าอยู่จนโตใหญ่ |
เขียนเมื่อคลอดอรพิมยิ้มละไม | เขียนปาจิตเมื่อเขาใช้หาหมอมา |
เขียนเป็นรูปหมอตำแยมาแปรผัน | มาไม่ทันนางก็คลอดจากอุถา |
เขียนเป็นรูปปาจิตไปไถนา | กับอรพิมขนิษฐาเป็นเพื่อนกัน |
เขียนเมื่อลาแม่ยายไปเมืองพ่อ | เขียนรูปหล่ออรพิมนางเฉิดฉัน |
เขียนด้วยเสนเป็นตำรวจท้าวพรหมพลัน | มาพาพิมไปจากบ้านกับยายบัว |
เขียนเป็นรูปอรพิมเมื่ออุปภิเษก | กับพรหมทัตครองเสวกเป็นเมียผัว |
เขียนเป็นรูปปาจิตเมื่อหมองมัว | เอาทองปรายลงไปทั่วในลำธาร |
เขียนเป็นรูปพระปาจิตมาแต่เมือง | ครั้นแจ้งเรื่องเข้าไปในสถาน |
เขียนเป็นรูปเจ้าพนักกักทวาร | เขียนคนเข้าไปทูลสารว่าพี่มา |
เขียนเป็นรูปพรหมทัตกับปาจิต | เมื่อสถิตอยู่ในปรางค์อันเลขา |
เขียนเป็นรูปอรพิมยื่นสุรา | ให้ราชาพรหมทัตก็รับเอา |
เขียนรูปท้าวพรหมทัตเมื่อล้มกลิ้ง | นอนแน่นิ่งอยู่กับสำรับข้าว |
เขียนเป็นรูปพระปาจิตนั้นฟันเอา | ท้าวพรหมทัตดิ้นดะเด่าตัวกระเด็น |
เขียนจนสิ้นเมื่อพระอินทร์แปลงเป็นม้า | มารับพาอรพิมเมื่อเคืองเข็ญ |
กับปาจิตเอาไปไว้ที่ไทรเอน | พรานนายเวรยิงเอาปาจิตตาย |
เขียนรูปพรานเมื่อมันพาเอานางจาก | แสนลำบากเหมือนหนึ่งหัวจะขาดหาย |
เขียนเป็นรูปอรพิมเมื่อขี่ควาย | เขียนเมื่อฆ่าพรานตายแล้วกลับมา |
เขียนเป็นงูเมื่อมาสู้กับพังพอน | ตอดกันตายแล้วพังพอนไปกัดหา |
มาพ่นกันเป็นขึ้นพลันในทันตา | เขียนนางพิมไปเอายาในทันที |
เขียนอรพิมเมื่อมาพบพระปาจิต | ก็เป็นคืนเหมือนนิมิตขมันขมี |
เขียนปาจิตกับอรพิมเมื่อจรลี | เขียนนัททีเมื่อไปติดฝั่งคงคา |
เขียนเมื่อเห็นสามเณรขี่เรือน้อย | กวักมือบอกว่าคอยนั้นนักหนา |
เขียนเมื่อเถนสามเณรเอาเรือมา | ลงนาวาพิมไม่ได้ไปกับเณร |
เขียนเมื่อเถนสามเณรกับปาจิต | เมื่อสถิตขี่เรือไปกับเถน |
เขียนรูปพิมเมื่อนางคอยเรือเณรเวร | เขียนเมื่อเณรเอาเรือรับนางพิมไป |
เขียนรูปพิมเมื่อจะจากพระปาจิต | เณรผิดกิจทำนอกพระกล่าวไข |
เขียนเป็นรูปเมื่อเณรลักเอานางไป | เขียนต้นไม้ต้นมะเดื่อลูกดกแดง |
เขียนต้นไม้เมื่อนางใช้ให้เณรขึ้น | เขียนเณรขึ้นทะลูดลงจนขาแข็ง |
เขียนเณรอยู่ปลายมะเดื่อไต่ตะแคง | เขียนนางพิมยื้อแย่งเอาหนามมา |
เขียนนางงามเมื่อเอาหนามสะมะเดื่อ | เขียนนางพิมเมื่อเอาเรือไปตามหา |
เขียนรูปนางเมื่อยืนสั่งสกุณา | เขียนพารากว้างใหญ่มีค่ายคู |
เขียนจนสุดว่านางหยุดอยู่เมืองนั้น | บอกสำคัญเขียนจารึกเรื่องให้รู้ |
ถ้าพระองค์ยังพะวงเที่ยวหาดู | ถ้าตามหามาคงรู้เรื่องสำคัญ |
พระสังฆราชบอกให้วาดเขียนเรื่องแล้ว | จึงคลาดแคล้วเข้าไปเฝ้าขมีขมัน |
ถวายพรกับพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | บิงบาทคนที่สำคัญเฝ้าศาลา |
กรุงจัมปากธิบดินทร์ปิ่นมไห | ทรงถวายคนพิทักษ์ให้รักษา |
ให้สี่คนแต่ผู้เฒ่าเฝ้าศาลา | พระราชาสังฆราชถวายพร |
ออกจากวังมายังวัดไม่อยู่ช้า | พระราชากรุงจัมปากผู้ทรงศร |
สั่งอำมาตย์ให้เร่งจัดไกรจีวร | ทั้งฟูกหมอนเอมโอชโภชนา |
พนักงานการดอกไม้ตะไลพลุ | เสียงรุรุรืบเร่งกันนักหนา |
พระทรงชัยจะถวายซึ่งศาลา | จุดบูชาพุทธองค์ผู้ทรงไกร |
ครั้นถึงวันบัณรสะณรังสี | ศุกลปักษ์ดิถีอันผ่องใส |
นิมนต์สงฆ์สังฆราชมาอวยชัย | เพลาค่ำจุดดอกไม้พลุลันทา |
ครั้นรุ่งเช้าก็ถวายซึ่งไกรบาตร | ทั้งคาวหวานเคนอังคาสมากนักหนา |
พร้อมสะพรั่งทั้งทานบรรณศาลา | ผ่องศรัทธาเลื่อมใสหมายนิพพาน |
พระสังฆราชรับบิงบาทศาลาแล้ว | ให้กวาดแผ้วผ่องใสในสถาน |
ทั้งสี่เฒ่านั้นให้เฝ้าพยาบาล | แล้วสั่งสารถ้าผู้ใดจะไปมา |
หยุดศาลาถ้าผู้ใดมานั่งอยู่ | จงคอยคูถ้ากำสรดกันแสงหา |
สะอื้นอั้นตันอุรังหลั่งน้ำตา | อย่านิ่งช้าจงมาบอกเราโดยไว |
หมื่นระวังรับสั่งพระสังฆราช | หมื่นชัยนาทรับว่าคุณอย่าสงสัย |
หมื่นอุดมรับว่าผมจะวิ่งไป | หมื่นอภัยสี่เฒ่าเฝ้าศาลา |
นางอรพิมที่ว่าบวชเป็นสังฆราช | แล้วเบี้ยหวัดให้โอกาสไปซื้อหา |
ข้าวขนมส้มของหวานอันโอชา | ทุกทิวามิให้สิ้นกินทุกวัน |
ทุกพาราชาวประชาที่รู้ข่าว | ออกโฉ่ฉาวแตกตื่นมามหันต์ |
แต่ไปกลับถ้าจะนับด้วยหมื่นพัน | มาทุกวันดูออกไขว่ไปแล้วมา |
๏ ขอหยุดเรื่องพิมบุรุษสังฆราช | จะกล่าวกลับจับถึงนาฏเสน่หา |
นางอมรนิ่มน้องผ่องโสภา | กับราชาสังฆราชได้พูดกัน |
แต่เดิมมาพระบิดาให้สมบัติ | ให้ขึ้นครองเศวตฉัตรไอศวรรย์ |
กับอมรพระบุตรีของทรงธรรม์ | สัญญากันตั้งแต่แรกจะบรรพชา |
ในคำว่าลาบวชไม่นานนัก | พูดกันไว้ว่าจะอยู่สักวรรษา |
อมรมิ่งตั้งแต่นิ่งแต่คอยมา | ทรงโศกาคิดถึงคะนึงครวญ |
จนตราบท้าวมาเป็นเจ้าพระสังฆราช | ที่คำขาดวิปริตเห็นผิดผวน |
ครั้นจะนิมนต์ว่าให้สึกไม่สมควร | เสียดายนวลด้วยเป็นหญิงละอายใจ |
ให้ร้อนรุ่มตั้งแต่สุมด้วยไฟราค | แทบอกครากมัวหมองไม่ผ่องใส |
ทรงนิ่งนึกจึงจารึกเป็นความนัย | แต่แรกเริ่มเดิมทีได้สัญญากัน |
ครั้นแต่งสิ้นดวงยุพินไม่นิ่งช้า | จึงเรียกหาสาวใช้ขมีขมัน |
มานี่หน่อยเหวยอีสร้อยคนสำคัญ | เคยไว้ใจใช้มันได้เหมือนใจ |
นางสร้อยสาวได้ยินจ้าวตรัสร้องเรียก | ฟังสำเหนียกขานขอรับไม่ช้าได้ |
เข้ามาหมอบว่าแม่ขาเรียกว่าไร | สายสุดใจว่าแน่ะมึงอย่าอึงความ |
มึงเข้ามากูจะว่าที่ริมหู | มึงเอ็นดูกูไม่รักคนสำสำ |
ถ้ารู้แล้วมึงอย่าได้ไปไขความ | ให้ลามปามให้เขารู้ถึงหูคน |
นางสร้อยว่าแม่เมตตาไม่ทำผิด | ข้ากับจ้าวเอาชีวิตที่ไหนพ้น |
ไม่นอกใจแม่อย่าได้เลยกังวล | ทุกนุสนธิ์ของแม่มีประการใด |
นางเนื้อเย็นว่าแน่ะเจ้านางสาวสร้อย | อย่ามากน้อยพูดแต่ตามอัชฌาสัย |
ข้าจะให้เอาหนังสือนี้ถือไป | ปลอมเอาใส่ไว้ในซองที่ใส่พลู |
กับจังหันพร้อมด้วยกันพอแก้เก้อ | อย่าพูดเพ้อพูดแต่พอจะชอบหู |
นางสาวสร้อยรับบัญชายกมือชู | แล้วจัดแจงแต่งหมากพลูสำรับมา |
หนังสือสารนั้นเอาใส่ในซองลับ | แบกสำรับเดินตรงเข้าไปหา |
ถึงกุฎีขึ้นกระไดไหว้วันทา | พระราชาสังฆราชจำเริญพร |
แล้วสาวสร้อยกล่าวถ้อยเป็นทีเทียบ | ภิปรายเปรียบปราสัยสโมสร |
ว่าเจ้าคุณยังจำรูญสถาวร | ไม่เร่าร้อนอยู่จำเริญได้เนิ่นนาน |
พระราชาสังฆราชจึงตรัสว่า | ค่อยวัฒนาไม่เป็นไรสีกาหลาน |
เกิดเป็นกายแล้วก็ภัยทุกคนพาน | แต่ทนทานอตส่าห์ทับระงับไป |
ทุกขังท่านว่าทุกข์เท่าภูเขา | สุขังเท่าหัวเหาประเดี๋ยวหาย |
ทุกข์ทั้งนี้แน่สีกาคือรูปกาย | กับดวงใจในหัวอกเรานี้เอง |
นางสีกามาธุระอะไรฤๅ | ฤๅตรงซื่อมาทำบุญด้วยเหมาะเหม็ง |
นางสาวใช้ว่าเจ้าคุณฉันนี้เกรง | ถ้าอกเองแล้วไม่อาจกลัวระอา |
นี่จนใจด้วยท่านใช้ท่านเป็นจ้าว | จะขัดเล่าก็จะมีซึ่งโทษา |
ด้วยหม่อมแม่มิ่งอมรให้ฉันมา | ใสศรัทธาเอาเภสัชมาทำทาน |
กับหนังสือใส่ในซองเป็นอักษร | ถวายพรมาให้ทราบในเรื่องสาร |
พระสังฆราชเอื้อมขยับไปจับพาน | แล้วชักสารออกจากซองคลี่อ่านดู |
จบเล่ม ๓
-
๑. ประเสม = เกษม ↩
-
๒. พล้อ = พ้อ ↩
-
๓. ฉมัน = สมัน ↩
-
๔. สะดอ = สีดอ ↩
-
๕. เยือ = นาน ↩
-
๖. ในหนังสือสมุดไทยไม่มีคำสัมผัสระหว่างวรรค ↩
-
๗. ในหนังสือสมุดไทยใช้ว่า “กระหัด” ↩
-
๘. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เขียน “ณรกกาน” “ณรกการ” “ณรกกาล” ในคำกลอนให่อ่านว่า “นะ-รก-กาน” ↩
-
๙. เข้าใจว่าความหมายเดียวกับคำว่า ขย่ม ↩
-
๑๐. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยไม่มีคำสัมผัสระหว่างวรรค ↩
-
๑๑. แมงมี่ (ภาษาถิ่น) = แมลงหวี่ ↩
-
๑๒. สุคือการเอาผ้าซักด้วยน้ำร้อนเพื่อทำความสะอาด ↩
-
๑๓. ชาตรู : อ่าน ชา-ตะ-รู ↩
-
๑๔. ต้นฉบับเขียน “กุษดี” ↩
-
๑๕. มงคลเทปปนี = มงคลทีปนี ↩
-
๑๖. มาจากคำว่า “สังฆการี” แปลว่า เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง ↩
-
๑๗. ต้นฉบับเขียน “กดี” ↩
-
๑๘. มาจากคำว่า “ประเคน” หมายถึง การถวายของพระโดยวิธียกส่งให้ตามพิธีการที่กำหนดไว้ ↩
-
๑๙. กระการ = ตระการ ↩
-
๒๐. นาค = อ่านว่า นาก - คะ ↩