.............................. |
.. รายโมราชั้นสองรองกระจัง |
ช่างประดับสรรพสรรที่ชั้นต้น |
เลิศล้นเขียนวาดกระดาษหนัง |
เอานากแผ่ตัดใส่เป็นใบบัง |
ระยับยังแสงมุกดูสุกวาว |
นายช่างสรรชั้นสามงามประเสริฐ |
วิไลเลิศทำพื้นด้วยสีขาว |
แผ่ทองคำเป็นกระจังดูพรั่งพราว |
ที่ว่างเปล่ารายดอกจันทน์กระจกจีน |
แล้วแก้รูปบัวกลับขึ้นรับโกศ |
ระบายโบด๑ทาแต่งด้วยแป้งหิน |
ขาวเป็นนวลอ่อนละเอียดเหมือนอาสน์อินทร์ |
ดอกโกมินปักแซมแนมกระจัง |
แก้วกระจกแก้กระหนกประดับทับ |
แสงระยับรัศมีเหมือนสีสังข์ |
สีเขียวแดงจับกับแสงสุวรรณัง |
โร่วรังเรืองรองอร่ามตา |
เจ้ากระทรวงพนักงานครั้นแล้วแต่ง |
เข้าทูลแจ้งแก่พระองค์ผู้นาถา |
พระชื่นชมโสมนัสหัทยา |
ครั้นรุ่งเช้าได้เพลาเป็นวันชัย |
ประโคมแซ่แตรสังข์กังสดาล |
อลหม่านชายหญิงวิ่งไสว |
พระโองการสั่งสารเสนาใน |
ไปหามโกศเข้ามาใส่ในพระเมรุ |
อำมาตย์จ่ารับบัญชาพระโฉมฉาย |
ทั้งไพร่นายพร้อมพรั่งระนังเถร |
พร้อมพระญาติศานุวงศ์องค์นเรนทร์ |
มาที่ศพพรหมทัตกษัตรา๒ |
กำนัลนางต่างกำสรดกันแสงไห้ |
น้ำตาไหลราดทรวงอุรสา |
บ้างสะอื้นมิได้ดังหลั่งน้ำตา |
พวกเสนาเคลื่อนโกศพระศพพลาง |
หามมาใส่ในพระเมรุบนร้านม้า |
เสียงโกลาครื้นเครงโมงเมงหม่าง |
ปี่พาทย์ฆ้องกลองลั่นนภาภางค์ |
ดุริยางค์แซ่เสียงสำเนียงครวญ |
หมู่นักเลงเพลงเล่นเต้นปรบไก่ |
หมู่ผู้ชายเดินเรียงสำรวลสรวล |
เป็นทำนองร้องเกริ่นแล้วเชิญชวน |
ทำกระบวนร่ำว่าเป็นท่าทาง |
บ้างฉ่าชาว่าเชิญให้หญิงลุก |
นางศรีมุกเพลงเก่าไม่เขินหมาง |
เคยสนามรำเต้นเจนสำอาง |
ฉลาดข้างแก้ไขไวปัญญา |
หมู่ผู้ชายนายเส็งนั้นเพลงใหม่ |
แต่ว่องไวลิ้นลมนั้นนักหนา |
ว่าเพลงสรรพรับกันขันปัญญา |
คนหัวฮาหญิงชายได้รางวัล |
ยังโรงหนึ่งเพลงใหม่พึ่งได้หัด |
ฝีปากจัดหญิงชายไวขยัน |
เล่นข้างเกี้ยวเมามัวกันพัวพัน |
ส่งให้กันผ้าแหวนแทนมัดจำ |
ยังโรงหนึ่งครื้นเครงเล่นเพลงเรื่อง |
เมื่อขุนแผนแค้นเคืองนางงามขำ |
ว่านางพิมแสนกลคนระยำ |
คุกคำรามด่าว่าด่ากันนุง |
พวกละครชาตรีเสียงตีกรับ |
แล้วร้องรับตีกลองเสียงตุ้งตุ้ง |
เล่นราวเรื้องเบื้องพระรถราชบำรุง |
ถือสารตราให้ไปหานางเมรี |
ท้าวตรีเนตรรู้เหตุมาแปลงสาร |
ให้นางมารร่วมรักพระโฉมศรี |
นางแจ้งสารก็สมานเป็นสามี |
รำชาตรีตีกรับรับกันไป |
ยังพวกหนึ่งตั้งโรงอยู่ดูโอ่โถง |
ละครโรงพึ่งหัดกันขึ้นใหม่ |
นายโรงรำแขนกรอ่อนวิไล |
หน้าเป็นใยน้ำนวลน่ายวนยี |
เล่นเรื่องปางครั้งเจ้าสุวรรณหงส์ |
เมื่อเธอหลงเสียรู้มเหสี |
ต้องหอกยนต์ล้มผึงถึงชีวี |
ปี่พาทย์ตีเพลงโอดสลดใจ |
ยังโรงหุ่นชุลมุนสายยนต์ชัก |
ชะง่อนงักโงกงันทำหน้าหงาย |
คนชักยนต์บ่นถือแทบมือตาย |
เมื่อยหัวไหล่แกว่งหัวทุกตัวคน |
ยังโรงหนึ่งอึงวุ่นเล่นหุ่นมอญ |
ทำหัวคลอนหนวดดกทั้งอกขน |
หิ้วตะกร้าถือพร้าหาบคะนน |
สิ้นทุกคนเห็นหัวเราะว่าเหมาะครัน |
พวกโรงโขนตีโทนกระทุ้งเส้า |
เสียงเกรียวกราวเอิกเกริกแล้วโห่ลั่น |
เล่นเรื่องรามทำศึกกับทศกัณฐ์ |
ต่างประจันชุลมุนรุนณรงค์ |
พวกเขมรเล่นร้องเพลงซ้อแซ่ |
รำออกแต้ร้องเจียงจนเสียงหลง |
ส่งภาษาชมสะล้าเนียงกะโปง |
ลั่นฆ้องโหม่งตีโทนเสียงโตะทึง |
พวกมอญรำร้องว่าภาษามอญ |
ว่าปิปอนเจียะเข้าปุลแล้วยืนขึง |
ผู้ชายว่าอาพะนายใจคะนึง |
พวกไทยฟังพูดกันอึงหัวเราะฮา |
ภาษาจีนหมายเกณฑ์ให้เล่นงิ้ว |
ยืนชูนิ้วใส่เสื้อจนปกขา |
ตีโปงแช่จีนแกร้องเจรจา |
นายโรงรำทำท่าถือเกาทัณฑ์ |
แล้วร้องว่าเก้าซาจี้จับลัก |
พวกไทยฟังเสียงคักคักหัวเราะหยัน |
ยังโรงหนึ่งโขนเขมรเล่นประชัน |
เมื่อพระรามพาสีดามากลางไพร |
ทศแกลงแปลงเพศท้าวยักษา |
เป็นพญากวางทองอันผ่องใส |
สีดานางเห็นกวางเหลืออาลัย |
จึงวอนไหว้ให้พระรามไปตามกวาง |
จักรพรรดิสุดจะขัดมเหสี |
ขี่พาชีตามกวางเข้าดงขว้าง๓ |
กวางก็หายกลายเป็นยักษ์มาลักนาง |
พาเอานางไปไว้สวนอุทยาน |
พระจักรีเสียทีต้องทำศึก |
อึกกะทึกฮึกเหี้ยมกำแหงหาญ |
ประหารโคตรอสุรวายทำลายปราณ |
ได้สีดาคืนมาผ่านอยุธยา |
พวกดนตรีตีประโคมปี่พาทย์ฆ้อง |
คนเจรจาว่าร้องตามภาษา |
ว่าเนียกเอยซีมะลูตูอินา |
คนดูทั่วหัวออกฮาว่าขันจริง |
พวกลาวหลามแห่หามบั้งไฟเซิ้ง |
ระรื่นเริงคลุกคลีเหมือนผีสิง |
บ้างถือปืนด้อมมองจะจ้องยิง |
บ้างโผนวิ่งทำเหมือนเสือแลเนื้อกวาง |
ที่คนบ้างทำเป็นกวางก้มกินหญ้า |
คนถือปืนยืนตั้งท่าแล้วยิงผาง |
ว่ายิงถูกลูกชะมุยเข้าแทงกวาง |
ทำท่าทางเอวขยับเหมือนชักยนต์ |
บังคับหมู่พรั่งพรูเดินเขยิง |
ร้องกาบเชิงใส่สาวทำเสือกสน |
บ้างร้องโอโอละเพื่อนบ่มักตน |
ที่บางคนร้องเซิ้งว่าหมู่เฮา |
บางคนเซิ้งเจยละน้อร้องขอทาน |
แม่เฒ่ากวานให้บ่ขอลูกสาว |
บ้างผูกรอกเข้าที่เอวทำเก๊วก๊าว |
เดินเขย่าทำขยับยักบั้นเอว |
พวกไทยหลามตามฟังพวกลาวเซิ้ง |
ระเบิดเบิ่งเบียดเสียดกันแหลกเหลว |
บ้างรุกเพื่อนเตือนกันให้เดินเร็ว |
อยากดูเอวลาวเซิ้งเบิ่งบั้งไฟ |
มีหุ่นมอญหุ่นเขมรเล่นประชัน |
ต่างต่างกันต่างภาษามาสืบสาย |
คนเจรจาว่าภาษาเกลิงนุนาย |
คนระบายยกหุ่นขึ้นชักยนต์ |
หุ่นตลกอกขนถือพร้าง้อม |
สันหลังค้อมปากอ้าตาถลน |
ชะง่อนงักเชิดชักอลวน |
สิ้นทุกคนเห็นหัวร่อแทบงอตาย |
หุ่นเขมรเล่นตามส่งภาษา |
ตุอินาตูพองบองสะวาย |
ดูรูปหุ่นทูนปูนเดียดกระทาย |
คนระบายยึกยักด้วยชักยนต์ |
ทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่เห็นหัวร่อ |
จนเหงียดงอเห็นเหงือกเถลือกถลน |
บ้างพูดกันว่ามันขันเหลือพิกล |
สองภาษาพากันบ่นว่าขันจริง |
พึ่งมีใหม่หุ่นทวายอีกหุ่นจีน |
เห็นแต่ตีนใส่เสื้อทำสุงสิง |
ผมเปียปอยห้อยหลังเหมือนหางลิง |
ขึ้นเก้าอี้นั่งอิงแล้วเจรจา |
ทำตัวเอียงเถียงกันกับจีนกง |
ว่าซินไชยซีล้งลักจับซา |
อิดจับลักซีลักบ่อหอลา |
พวกไทยฮาหัวอึงคะนึงไป |
หุ่นทวายใส่เสื้อแล้วขี่หมู |
พวกไทยดูเรื่องราวหารู้ไม่ |
เสียงตีกลองตุมตุมดังรุมไป |
เถิงเล่นได้ไม่มีใครไปแลดู |
ที่พวกบ้างตั้งโรงเล่นระบำ |
ตีปี่พาทย์ให้แต่รำจนหนวกหู |
ไม่ได้เรื่องเปลืองความคิดไปยืนดู |
ที่เรื่องราวมิได้รู้แต่รำไป |
ที่พวกบ้างเล่นนางเทพทอง |
ทำด้อมมองยิ้มแย้มอยู่แจ่มใส |
ถือพัดบังกั้งหน้าตาละไม |
หญิงแลชายแต่ผู้เดียวร้องเกี้ยวกัน |
มีหมู่มอญกับเขมรเล่นโมงครุ่ม |
แต่หนุ่มหนุ่มรูปร่างดูคมสัน |
ทำกรีดกรายถือไม้คนละอัน |
ตีกลองตุมฆ้องลั่นเสียงครุ่มไป |
ยังพวกเหล่าจ้าวเขมรเล่นระเบ็ง |
เดงมะเดงตูพองบองไถล |
ออกยืนเรียงเคียงกันเป็นหลั่นไป |
ถือหน้าไม้ยืนเล็งมยุรา |
จึงสามุตพูดกันให้เป็นนก |
คนจะยิงมองฟกเที่ยวด้อมหา |
ครั้นว่าพบร้องตลบอิลัดทา |
คนดูฮาหัวอึงคะนึงไป |
เป็นตำรามีมาสำหรับกษัตริย์ |
จักรพรรดิเยื้องย่างไว้สืบสาย |
ยูงรำแพนขึ้นไปแอ่นไม่กลัวตาย |
เหนือปลายไม้สามต่อแล้วเล่นตัว |
ที่พวกดูร้องว่ากูน่าเสียวขน |
พากันบ่นตกลงแล้วแตกหัว |
ลางคนว่าเถิงไม่กล้าสักแสนกลัว |
ด้วยจวนตัวการจ้าวต้องจนใจ |
ยังพวกหนึ่งขึงนั่งขึ้นไต่ลวด |
ดูยิ่งยวดสูงสุดพ้นวิสัย |
ทั้งลอดบ่วงหน่วงเหนี่ยวตัวขึ้นไป |
ยกมือไว้จับหางมยุรา |
ขยับกายไต่ได้ถึงสามครั้ง |
ไม่พลาดพลั้งเรี่ยวแรงแข็งหนักหนา |
คนแลดูหมายขวัญพรั่นระอา |
ช่างใจกล้าตกผึงถึงชีวัน |
ยังพวกเล่นหกคะเมนบนปลายไม้ |
น่าเสียวไส้ขนพองสยองขวัญ |
แล้วโยกโยนโอนเอนอยู่โงกงัน |
เอาตีนชันชูฟ้าเป็นน่ากลัว |
บ้างรำง่าทำท่ากระบองโล่ |
อาวุธโถถือมั่นคอยกันหัว |
ต่างระมัดสองข้างระวังตัว |
พวกตีกลองเย้ายั่วตึงเตียงตึง |
ทั้งสองข้างตั้งท่าออกรำรับ |
เสียงดาบขวับฟันผิดถูกดินผึง |
กระบองตีโล่กันสนั่นกึง |
คนดูอึงขนพองเสียงร้องฮุย |
ตีไม่ได้โล่ไล่ขยับฟาด |
เสียงดาบฉาดรับฉับทะลวงฉุย |
กระบองเปรี้ยงโล่เดี่ยงดินกระจุย |
ผ้านุ่งลุ่ยล่อนตัวคนหัวฮา |
พระตรัสสั่งให้ฝรั่งรำกระบี่ |
ล้วนตัวดีว่องไวใจหนักหนา |
ดูแต่งตัวโพกหัวดำละกา |
ออกตั้งท่าไหว้ครูจะสู้กัน |
ต่างขยับยืนทแยงแกว่งกระบี่ |
ล้วนเหล็กดีมีคมทั้งสองสัน |
ทั้งสองตีท่วงทีรู้เท่าทัน |
จะฟาดฟันกันไม่ได้แต่กรายรำ |
ข้างหนึ่งยักชักทางให้พลั้งท่า |
ข้างหนึ่งง่าฟันวิดระหวิมระหวาม |
พอฟันวิดข้างหนึ่งติดเข้าฟันตาม |
คอยหลบงามฟันวิดแต่ผิดไป |
ไม่เพลียกพล้ำรำเพลงเข้าต่อสู้ |
ด้วยมีครูศึกษาที่แก้ไข |
จะตีฟันกันไม่ทันต่างคนไว |
ต้องจนใจคนดูด้วยรู้เพลง |
ยังพวกหนึ่งนอนหงายบนปลายหอก |
แลบลิ้นหลอกพวกมีตีโม่งเหม่ง |
แล้วฟ้อนรำทำชื่นอยู่ครื้นเครง |
อวดว่าเองอยู่คงทะนงใจ |
ยังพวกเล่นหกคะเมนบนคมดาบ |
อันขาวปลาบคมวาวเป็นเงาใส |
ช่างคงอยู่คนดูออกแน่นไป |
แล้วยืนเล่นเต้นไต่อยู่ไปมา |
บ้างยกร้านขึ้นให้สูงแล้วพุ่งหอก |
ช่างรับได้หลบหลอกไวหนักหนา |
แล้วพุ่งไปรับได้แล้วพุ่งมา |
หัวเราะร่ารำล่อทำหลอกกัน |
บ้างเล่นโลนโยนดาบให้กันรับ |
พอโยนปรับรับได้ไวขยัน |
เป็นคมปลาบดาบเลื่อมทาละมัน |
ช่างรับทันคนดูออกปรูไป |
ครั้นเบี่ยงบ่ายชายแสงพระสุริย์ฉาน |
ภูมิบาลสั่งสารดำรัสไข |
ให้เปรียบมวยขึงนั่งสนามใน |
ลั่นฆ้องใหญ่เรียกหาบรรดามวย |
เข้ามาเทียบเปรียบได้ไทยกับแขก |
เป็นคู่แรกรูปร่างนั้นสะสวย |
ให้ซ้อมมือแคล่วคล่องทั้งสองรวย |
สิบเอ็ดคู่เปรียบได้มวยตามบัญชา |
ครั้นเปรียบแล้วล้นฆ้องเรียกคู่แรก |
ไทยกับแขกแต่งแล้วไวหนักหนา |
เข้าสนามกราบงามลงสามลา |
บังคมบาทราชาผู้จอมไกร |
ลุกขึ้นยกหมัดเชิดเปิดให้ชก |
ข้างหนึ่งยกเท้าย่างเป็นก้าวใกล้ |
ปะเตะปับมือปัดก็พลาดไป |
ไอ้ไทยไวชกถูกเข้าลูกคาง |
ไอ้แขกตามหมัดต้องเข้าปากแตก |
ไทยปะเตะแขกแบกเอาล้มผาง |
ไทยไม่หนีรุกรี่ขึ้นไววาง |
ทำท่าทางกุมหมัดตั้งจังมัง |
ไอ้แขกลองจ้องคว้าจมูกเหมาะ |
ไอ้ไทยถองศอกเคาะเอาหัวกั้ง |
หมัดกะตักตีนเตะเข้าตึงตัง |
พวกคนดูร้องขึ้นดังเสียงว่าเออ |
เถิงคู่สองลั่นฆ้องร้องเรียกหา |
ไม่นิ่งช้าลุกขึ้นยืนเผยอ |
เข้าสนามกราบบังคมพระองค์เธอ |
ยกหมัดครูดูชะเง้อเป็นท่าทาง |
ข้างหนึ่งลงทำหลอกแล้วกลอกหน้า |
ขยับขวาตีนเตะตะโพกผาง |
พอตีนตกชกโปกเข้าลูกคาง |
ไพร่ขุนนางหัวฮาว่าน่าดู |
คู่สองนั่งพลางเตือนเรียกคู่สาม |
โกงเกงหลามใส่มงคลจนท่วมหู |
เข้าสนามกราบงามคำรพครู |
ช่างสมคู่โตอ้วนล้วนกำลัง |
ลุกยืนย่างย่ำเท้าก้าวสามขุม |
ต่างคนคุมยึกยักอยู่หยึงหยัง |
ที่คนดูว่ามวยคู่นี้น่าชัง |
ทำรุงรังกีดลูกตาไม่น่าดู |
ข้างหนึ่งลงลองหลอกทำกลอกหน้า |
พอได้ท่าตีเท้าเถิงเพียงหู |
ข้างหนึ่งตัดหมัดกะตักถูกตาลู่ |
ลงสุดสู้ตาไม่เบิกต้องเลิกกัน |
เรียกคู่สี่ตีฆ้องทั้งสองลุก |
เหมือนคนคุกอกขนเป็นน่าขัน |
พอออกมาคนฮาในทันควัน |
ที่คู่กันแข้งโกกสันหลังโกง |
นุ่งโกงเกงลายวิลาดแล้วคาดเครื่อง |
เดินย่างเยื้องเต้นโขยดกระโดดโหยง |
จดหมัดครูสู้กันหันเป็นวง |
ทำหลอกลงล่อลวงเอาท่วงที |
พอได้ท่าหมัดปาเข้าปากปับ |
เสียงกุบกับแก้กันไม่พรั่นหนี |
เล่นกันนุงฝุ่นฟุ้งเป็นผงคลี |
ต่างคนดิเสียทั้งคู่อยู่เหมือนกัน |
ข้างหนึ่งเตะข้างหนึ่งตัดข้างหนึ่งต่อย |
ข้างหนึ่งถอยข้างหนึ่งถีบเอาเซหัน |
ทั้งหมัดคาวเท้าทอยกันพัลวัน |
คนดูทั่วหัวลั่นทั้งเจ้านาย |
ทั้งสองหอบกอบน้ำพรมเกศา |
เถิงคูหาไม่พักเรียกเคยชกหลาย |
ลุกเข้าวงอภิวาทจอมนารายณ์ |
ขยับกายยืนขึ้นจดหมัดครู |
มวยคู่นี้ท่วงทีเป็นมวยเก่า |
ไม่หนักเบาชกกันพอเฉียดถู |
เปลี่ยนกันชกกูชกมึงชกกู |
ด้วยว่ารู้มวยเก่าเอารางวัล |
เถิงคู่หกชกมาหลายสนาม |
ไม่เข็ดขามลุกขึ้นขมีขมัน |
ชูหมัดมาตั้งท่าชิดประชัน |
ไม่รั้งกันป่ายตีนแล้วชกตาม |
ข้างหนึ่งตัดตีนปะเตะสีปากแตก |
เล่นกันแลกชุลมุนกลางสนาม |
เปลี่ยนกันชกคนละฉาดขนาดงาม |
พระนงรามชอบพระทัยให้รางวัล |
เถิงคู่เจ็ดคนเจนสีมือจัด |
เสียงฆ้องนัดลุกขึ้นดูขบขัน |
มงคลใหญ่ใส่เครื่องเขี้ยวหมูตัน |
ตาเป็นมันดำเมี่ยงเหมือนหมึกมัว |
เข้าตั้งท่าโดดโผนโจนเข้าถอน |
ข้างหนึ่งว่องหลบวิดก็ผิดหัว |
ขยับเข่าตีเท้าถูกกลางตัว |
ต่างไม่กลัวกลับหน้าเข้าหากัน |
ขยับหลอกกลอกหน้าตีเท้ากลับ |
ข้างหนึ่งคว้ามือจับเอาตีนหัน |
ขยับตัดดิ้นสลัดหลุดเสียทัน |
ต่างประจันจดหมัดเข้าจังมัง |
หมัดกะตักตีนเตะข้างหนึ่งตัด |
ข้างหนึ่งต้องเอาสนัดที่กลางหลัง |
ขยับชกถูกโปกเข้าปากปัง |
ที่คนดูว่าเสียงดังสนัดใจ |
จึงตีฆ้องร้องเรียกทีคู่แปด |
กำลังแดดเหื่อโทรมชะโลมไหล |
มวยคู่นี้มวยเก่าลาวกับไทย |
ลุกขึ้นได้เดินเซื่องใส่เครื่องราง |
นั่งบังคมก้มกราบพระนาถา |
ลุกตั้งท่ากดหมัดปะเตะผาง |
ข้างหนึ่งลักชักท่าทำขากาง |
ขย่มย่างยกเท้าให้ก้าวตาม |
ข้างไทยหลอกลวงลาวตีเท้าหุน |
ข้างลาวหมุนแบกทิ้งกลางสนาม |
ดินติดหัวทั่วตัวอุตลุดลาม |
ฝูงคนทั่วร้องว่างามหัวเราะฮา |
ตีฆ้องป๊องร้องว่าลุกเจ้าคู่เก้า |
มวยเขมรพวกข้าเฝ้าพระนาถา |
ชกกับญวนข้าการบ้านรังกา |
ลุกขึ้นมาเดินตรงเข้าวงใน |
อภิวาทฝ่าพระบาทแล้วตั้งท่า |
เขมรคว้าชกงับเข้าหน้าหงาย |
ญวนขยับคว้าขวับขาตะไกร |
คนชอบใจร้องว่าเออเสมอกัน |
เถิงคู่สิบรูปนั้นสวยเป็นมวยใหม่ |
แต่คนในมหาดเล็กพระจอมขวัญ |
เข้าบังคมคารวะอภิวันท์ |
เป็นมวยขันกันแต่แรกแต่เดิมมา |
ลุกขึ้นยืนจดหมัดสลัดเท้า |
ต่างคนเข้าคุมคอยระวังขา |
ทั้งสองข้างตั้งต่อกันรอรา |
พอได้ท่าตีขาเถิงท้ายทอย |
ข้างหนึ่งปัดมือป้องเอาศอกปิด |
ผิดเสียนิดทุกสนัดคงล้มผ็อย |
ไม่พรั่นพรึงหันขึงเข้าคุมคอย |
ท่าลวงหลงหน้าลอยให้ต่อยตาม |
ปะเตะผางขว้างหมัดจมูกเหมาะ |
ข้างหนึ่งเดาะเข้าด้วยศอกลงสองสาม |
เสียงคนฮาพูดกันว่าคู่นี้งาม |
นายสนามตีฆ้องแล้วร้องไป |
คู่สิบเบ็ดแต่งเสร็จก็ลุกขึ้น |
เป็นขุนหมื่นอยู่ในหมวดหลวงสมัย |
ไม่รอรั้งเข้าไปยังสนามใน |
บังคมไหว้นอบนบคำรพครู |
จึงตั้งท่าคว้างับเข้าฉับเฉาะ |
หมัดมั่นเหมาะชกฉาดเข้ารูหู |
เสียงคนฮาบ้างถลาชะเง้อดู |
ทั้งสองสู้เตะต่อยกันตังตึง |
หมัดกะตักตีนเตะเอามือตัด |
ทุกสนัดเท้าผางตะโพกผึง |
เสียงอุบอุกทุกข์เหมือนกันทั้งกูมึง |
เป็นก้ำกึ่งคู่สิบเบ็ดสำเร็จมวย |
พระภูบาลทรงประทานรางวัลให้ |
ทุกคนได้เหนื่อยหอบบอบลำหวย |
เที่ยวซื้อกินแจกกันสำราญรวย |
ครั้นเลิกมวยแล้วก็หว่านซึ่งทานเงิน |
ทั้งหญิงชายชาวประชาพากันรับ |
ได้สินทรัพย์พากันสรรเสริญ |
พอสิ้นแสงสุริยับลงลับเนิน |
เสียงแตรสังข์ฟังเพลินวังเวงใจ |
ฝ่ายโขลนจ่านางสนมท้าวพรหมทัต |
โทมนัสโหยหวนละห้อยไห้ |
พระญาติวงศ์พงศ์พันธุ์กำนัลใน |
ละลานใจโศกศัลย์เมื่อวันจวน |
จึงพากันมาที่ศพท้าวพรหมทัต |
เป็นขนัดนั่งเรียงนางสงวน |
แล้วร้องไห้ส่งเสียงสำเนียงครวญ |
เป็นคำควรน่าสังเวชวังเวงใจ |
พระญาติวงศ์ว่าร่มโพธิ์โอ้เคยพึ่ง |
คิดคะนึงอสุชลต่างล้นไหล |
จะแลลับนับไปแล้วพระดวงใจ |
ไม่คิดหมายว่าพระองค์จะคงคืน |
พวกห้ามแหนว่าน่าแค้นหัวใจนัก |
กำลังรักร่วมอุราได้ฝ่าฝืน |
เมียนี้ตั้งฝากชีวังไปยืดยืน |
โอ้ยามชื่นเมียจะชมผู้ใดใคร |
บ้างก็ร้องว่าพระทองพระพรหมทัต |
พระทรงตัดช่องแต่ตัวผู้เดียวได้ |
จะส่งเสียเมียสักหน่อยไม่น้อยใจ |
ตัดอาลัยไปวั่งวั่งไม่สั่งเลย |
เสียงร้องโซร้องว่าโอพระโพธิ์แก้ว |
จะลับแล้วโอ้พระทูนกระหม่อมเอ๋ย |
จะเย็นวังไหนจะนั่งสบายเสบย |
เป็นกรรมเคยเนื้อว่ากรรมมาตามทัน |
บ้างร้องว่าพระมหาที่แสนรัก |
มาหนีจากสูญชีพไปสู่สวรรค์ |
แต่นี้ไปสักเมื่อไรจะพบกัน |
แท่นสุวรรณพระที่นั่งจะร้างโรย |
บ้างข้อนทรวงว่าพระดวงประทีปดับ |
พระไปลับทิ้งสนมให้ตรมโหย |
ฝูงตูข้าโศกถวิลแต่กินโกย |
จะดิ้นโดยแสนเสียดายพระใจดี |
บ้างร้องว่าพระเจ้าเฝ้าทูนกระหม่อม |
พระโอบอ้อมให้ได้แสนที่สุขี |
เคยเชิญพานพระภูษาวาลชนี |
เคยพัดวีให้สำราญเมื่อบรรทม |
บ้างร้องว่าโอ้เสียดายพระใจกว้าง |
ทั้งเรือนวังก็จะร้างนางสนม |
จะเสียศรีเศร้าหมองเหมือนต้องลม |
พระปรางค์ทองห้องบรรทมจะร้างรา |
บ้างร่ำไรว่าพระไปเสียวั่งวั่ง |
เมียทั้งหลายอยู่ข้างหลังเป็นกำพร้า |
พระเด็ดได้ไปผู้เดียวแต่เอกา |
โอ้แต่นี้จะบากหน้าไปพึ่งใคร |
ต่างตีอกชกองค์ทรงกันแสง |
พระเสียงแห้งแหบหอบหิวระหาย |
จนจะแจ้งจันทร์แจ่มแอร่มพราย |
นางทั้งหลายกลับคืนออกมาพลัน |
ประสานเสียงอึงสำเนียงด้วยแตรสังข์ |
ระดมดังอติเรกวิเวกหวน |
จุดดอกไม้พลุตะไลอึงเป็นควัน |
ดังสนั่นเสียงประทัดตะไลทา |
บ้างก็อึงขึงจอจะเล่นหนัง |
ระดมดังด้วยพิณพาทย์ทั้งซ้ายขวา |
ร้องไชโยโห่สนั่นขึ้นสามลา |
คนเจรจารู้เรื่องแล้วร้องไป |
ที่คนบ้างยกหนังขึ้นชูเชิด |
พยักเพยิดเต้นรำตามนิสัย |
จวนแจ่มแจ้งไขแสงอโณทัย |
ประมาณได้เจ็ดวันทิวาวาร |
บังสุกุลพูนเพิ่มแผ่กุศล |
สวดมงคลททิดธิกรรมฐาน |
ตั้งจำนงปลงในพระไกรญาณ |
สำเร็จการที่ในกิจมาติกา |
๏ ปางจ้าวจอมพระปาจิตอิศยม |
ผู้ครองกรุงนครพรหมพระนาถา |
พระตรัสสั่งเสวกังอำมัตจา |
ให้เคลื่อนคลาร้านม้าจากพระเมรุ |
เชิญพระโกศเข้ามาวางกลางตะกอน |
พร้อมสลอนจัตุสดมภ์๔ดูโหมเถร |
ทั้งแขกเมืองท้าวพญาประชาเกณฑ์ |
องค์นเรนทร์ทูนกระหม่อมจอมพระไพร |
จับอัคคีด้วยยินดีพระหัตถ์ถือ |
ประสานมืออธิษฐานจึงขานไข |
สำรวมทรวงน้าวหน่วงมโนใน |
ว่าท้าวไทพรหมทัตกษัตรา |
เรากะท่านพันผูกได้ทำผิด |
ด้วยกายจิตและมโนอย่าโทษา |
อโหสิกรรมเสียแก่กันอย่าฉันทา |
เวรเวราอย่าให้มีแต่นี้ไป |
ท่านอาสัญกายท่านเราจะเผา |
ที่กรรมเก่าจงกำจัดปัดไถม |
พร้อมทั้งนางอรพิมขออภัย |
ธิษฐานแล้วพระเอาไฟเข้าจุดพลัน |
ฝ่ายว่านางอรพิมแม่งามขำ |
ก็จุดตามทูนกระหม่อมพระจอมขวัญ |
ท้าวพญาข้าเฝ้าในสามัญ |
ก็พร้อมกันฝูงนราประชาชน |
พากันใส่ไฟศพท้าวพรหมทัต |
เสียงพิณพาทย์ครื้นเครงโกลาหล |
พระเพลิงการผลาญอาสภไม่ทานทน |
ดูปี้ป่นซากมูลเป็นจุณไป |
ได้สามวันถ้วนคำรบจึงกลบธาตุ |
แล้วกวาดขนดินทรายมาเหลือหลาย |
จึงก่อกองตามทำนองเจดีย์ทราย |
ตัดธงชัยปลูกทำเป็นบูชา |
๏ สมเด็จจอมทูนกระหม่อมปาจิตจ้าว |
พระองค์เผาศพแล้วให้หรรษา |
อยู่จำเริญเนิ่นนานนิรันดรมา |
กับอรพิมผ่องโสภาในปรางค์ชัย |
โพธิสัตว์ตรัสสั่งหมู่อำมาตย์ |
ให้แจงจัดบ้านเมืองให้เรืองใส |
ครบทุกแห่งตามตำแหน่งทั้งนอกใน |
ทั้งเขตค่ายป้อมประตูคูวารี |
แล้วชักนำให้กระทำการกุศล |
จำเริญผลแผ่เผื่อเมื่อเป็นผี |
ชาวประชาทุกพาราก็เปรมปรีดิ์ |
บังเกิดมีด้วยอาหารสำราญรมย์ |
ผู้ร้ายโจรคนพาลเงียบระงับ |
ด้วยสินทรัพย์นั้นมีมั่งอุดมถม |
บังเกิดผลนาไร่ได้อุดม |
ชนประชาพากันชมโพธิญาณ |
อยู่วันหนึ่งพระรำพึงไม่เป็นสุข |
ให้คิดขุกเหมือนหนึ่งเพลิงตะเกิงผลาญ |
ด้วยจากเมืองจากพารามาก็นาน |
คิดรำคาญด้วยบิดาชรากาย |
ปานฉะนี้พระพันปีจะบ่นหา |
พระบิดาก็จะคอยไม่เห็นหาย |
มาอยู่เย็นเป็นสุขสนุกสบาย |
ไพล่แต่กายเอามารอดแต่ตัวเอง |
ที่พ่อแม่ท่านกำเนิดเกิดชีวิต |
นั้นไม่คิดเสียวพุงสะดุ้งเหยง |
ทำอย่างนี้ผิดด้วยอย่างแต่ปางเพรง |
ใจนักเลงทุกข์มาแล้วว่าโลเล |
พระพอใจได้แล้วสบายชื่น |
สำราญรื่นชื่นอารมณ์ไม่หวนเห |
เสด็จออกพระที่นั่งบัลลังเก |
พระสุริเยผันผายได้เพลา |
หมู่อำมาตย์จตุสดมภ์ที่เคยเฝ้า |
พากันเข้าเฝ้าองค์พระนาถา |
โฉมพระไพรจึงปราสัยว่าเสนา |
ท้าวพญาท่านทั้งหลายด้วยใจงาม |
นี่แน่เจ้าเรามาอยู่ก็เนิ่นช้า |
หลายเดือนตราราบเลี่ยนไม่เสี้ยนหนาม |
นครพรหมพระสีพีบุรีราม |
จะเกิดความอันตรายฤๅไพบูลย์ |
อนึ่งท่านบิตุรันมาตุเรศ |
บังเกิดเกศนั้นก็แก่เกลือกดับสูญ |
อยู่ข้างหลังยังแต่วงศ์พงศ์ประยูร |
เราคิดหนักด้วยพระคุณท่านเลี้ยงมา |
ที่จอมจวนทรงประชวรชราโรค |
คิดสังโวกเราสังเวชพระนาถา |
เสียแรงท่านอุ้มท้องประคองมา |
พอได้ท่าปรนนิบัติสนัดใจ๕ |
เราจะกลับคืนไปก่อนนครโน้น |
ท่านสามนต์หมู่อำมาตย์จงแจ่มใส |
รักษาเมืองให้จงดีอย่ามีภัย |
รักษาไพร่ให้เกษมเปรมประชา |
พระปาจิตสุริยวงศ์พงศ์กษัตริย์ |
จึงเอื้อนอรรถจัดแจงให้รักษา |
ที่เชื้อแถวพรหมทัตกษัตรา |
มอบให้ว่ากิจการในบ้านเมือง |
สุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎร์ |
ให้เด็ดขาดแจ่มแจ้งอย่าแฝงเฝือง |
แต่งผู้ช่วยตั้งผู้ว่ารักษาเมือง |
ตามอย่างเยื่องแต่โบราณท่านสืบมา |
ฝ่ายเสนาเจ้าพระยาทั้งน้อยใหญ่ |
รับโองการทูลขยายใส่เกศา |
ปาจิตจ้าวเสร็จเข้าที่ไสยา |
พวกเสนากลับออกมาศาลากลาง |
แล้วปรึกษาท้าวพญาทุกหมวดหมู่ |
แบ่งกันไปให้กันอยู่ไม่ขัดขวาง |
ตามเสด็จไปเป็นเพื่อนในเถื่อนทาง |
ทั้งม้าช้างกูบจำลองจัดพร้อมเพรียง |
๏ ปางพระองค์ทรงศักดาพระปาจิต |
นึกวินิจในมโนให้ก้าวเฉียง |
ด้วยโฉมฉินอรพินแม่คู่เคียง |
มีกิจเกี่ยงจะกังวลด้วยชนนี |
จำจะพาเจ้าไปลาเสียยังแล้ว |
ให้ผ่องแผ้วโสมนัสเกษมศรี |
พระตรึกพลางชวนนางแล้วจรลี |
ไปสู่ที่ห้องสำราญพระมารดา |
ทั้งสองจ้าวเล่าขยายปรายนุสนธิ์ |
ที่กังวลให้แม่ทราบในราสา |
ฉันตั้งใจเข้ามาไหว้ทั้งสองรา |
ขอกราบลากลับไปบุรีรมย์ |
ด้วยจากมานานช้าหลายเดือนเศษ |
เกลือกมีเหตุอันตรายแก่อิศยม |
ทั้งสององค์ทรงแต่โรคประชวรลม |
กายยิ่งแก่ก็ยิ่งโทรมทั้งหูตา |
ปางท่านยายฝ่ายมารดานางโฉมศรี |
ชนนีอรพิมสเน่หา |
จึงปราสัยว่าพ่อไพรธรรมดา |
แม่ไม่ว่าตัวของแม่ก็แก่กาย |
แต่หมั่นมาหมั่นไปพ่อสายเนตร |
คิดสมเพชด้วยถึงแม่พ่อโฉมฉาย |
ด้วยแม่แก่ไม่รู้แน่ที่วันตาย |
อนึ่งไซร้ท่านข้างโน้นก็เกี่ยวดอง |
แม่ก็คิดอยากจะใคร่ไปรู้จัก |
ได้พบพักตร์พูดจาประสมสอง |
ครั้นคิดไปกายก็แก่เกินทำนอง |
แม่นี้ต้องในตำนานนิทานลาว |
ว่าเฒ่าแก่กล่าวหารอย่านับถือ |
เถิงกล่าวใดก็ไม่ลือไปโฉ่ฉาว |
หูก็หนักตาก็มืดไม่ยืดยาว |
พูดเสียเปล่ากล่าวอวดไม่นับยำ |
อนึ่งเล่ากล่าวว่ามีดเล่มน้อย |
จะพันถากเข้าเป็นรอยไม่แน่นหนำ |
เหมือนคนแก่กล่าวมากแต่ปากคำ |
นิทานลาวทุกข์มาซ้ำแม่นี่เอง |
เถิงพูดว่าจะอยากไปไปไม่รอด |
ตาไม่บอดก็เหมือนบอดไม่เหมาะเหม็ง |
ให้มัวพรางไม่กระจ่างเมื่อแลเล็ง |
ทั้งเรี่ยวแรงมันก็เร่งให้น้อยลง |
แต่ไปไหนนิดหน่อยก็หอบเหนื่อย |
แทบล้าเลื่อยตัวแห้งเป็นแป้งผง |
แต่เที่ยวนั่งเล่นในวังจังหวัดวง |
จะก้มลงเจ็บหลังแทบปางตาย |
แม่ขอกล่าวถามข่าวถึงท่านด้วย |
ว่ารื่นรวยอยู่ดียังสืบสาย |
ถ้าอยู่เย็นเป็นสุขสนุกสบาย |
ขอเชิญท่านผันผายมาสักที |
พ่อบอกบ้างว่าแม่ตั้งรำพึงถึง |
จิตคะนึงอยากจะเห็นพระโฉมศรี |
จะเหมือนใครคิดสงสัยซึ่งอินทรีย์ |
ถ้าอยู่ดีปีใหม่เชิญท่านมา |
แล้วยายท่านแกรำพันพระพรให้ |
สวัสดีมีชัยเถิดลูกหนา |
ชุลีกรรับพรทั้งสองรา |
กลับออกมาเยื้องย่างเข้าปรางค์ใน |
แม่โฉมปรางค์สั่งนางเป็นโขลนจ่า |
ให้ตรวจตราเก็บของให้ผ่องใส |
ของสำหรับมากำกับให้เอาไป |
ของเอาไว้มอบกับจ่ารักษาวัง |
แล้วจอมขวัญสั่งกำนัลที่ใช้ชิด |
คนสนิทไว้ใจแต่ก่อนหลัง |
ให้ปรนนิบัติรักษามารดายัง |
ประชวรไข้ฝากสั่งให้ดูแล |
แล้วสั่งสารพนักงานเจ้ากรมหมอ |
ให้ตั้งต่อมอบเม้นรักษาแม่ |
จงผลัดกันเว้นวันมาดูแล |
พรุ่งนี้แน่เป็นกำหนดจะยาตรา |
นางกำนัลท้าวพญาทั้งน้อยใหญ่ |
มีอาลัยอยู่ด้วยนางนั้นนักหนา |
ที่คนบ้างก็สังเวชเช็ดน้ำตา |
บ้างโศการ้องไห้อยากไปตาม |
ครั้นสว่างสางแสงขึ้นขอบฟ้า |
พวกเสนาวิ่งไขว่ดูไหลหลาม |
บ้างจัดแจงแต่งกระโจมให้สมงาม |
บ้างดาดดามสักหลาดช่องเชิงงอน |
เอาผูกช้างพระที่นั่งมารอไว้ |
ทั้งนายไพร่พร้อมเสร็จยืนสลอน |
พร้อมพระวงศ์พงศานรากร |
ถือท่อนปืนยืนสลอนละลานตา |
จอมกษัตริย์ขัตติยาพระปาจิต |
พระทรงฤทธิ์โสมนัสอุรสา |
ทอดพระเนตรเห็นพหลพลโยธา |
จอมนราเสด็จเข้าที่สรงชล |
แล้วชโลมพรมประด้วยแป้งอบ |
กลิ่นกระหลบหอมฟุ้งด้วยจันทน์ฝน |
ทรงภูษาผ้ารัตนกำพล |
ค่าควรเมืองเครื่องต้นมากราคา |
พระจอมพงศ์เสด็จทรงคชสาร |
งามตระการงางอนข้างเบื้องขวา |
นางอรพิมนวลระหงทรงคชา |
เคลื่อนโยธาออกจากพระเวียงชัย |
ท้าวพญาข้าเฝ้าเหล่าพระญาติ |
ดูเกลื่อนกลาดยกตามดูหลามไหล |
เสียงฆ้องกลองก้องลั่นสนั่นไป |
พระแรมไพรเดือนครึ่งถึงบูรี |
ประทับเกยเคยทรงแล้วลงช้าง |
หนุ่มขุนนางตามเสด็จพระโฉมศรี |
พระญาติวงศ์พงศ์ประยูรสูรย์เสนี |
มามากมีข้าเฝ้าท้าวพญา |
ปางเจ้าฟ้าปาจิตอิศราช |
เข้าสู่ปรางค์ปราสาทอันเลขา |
สุริยวงศ์พงศ์เผ่าพระเจ้าอา |
พระเจ้าย่าคุณยายฝ่ายพระองค์ |
มาเยี่ยมยามถามข่าวพระจอมขวัญ |
อย่างนี้นั้นเล่าความตามประสงค์ |
สำราญชื่นรื่นรวยด้วยพระองค์ |
ด้วยเผ่าพงศ์หมายจะพึ่งพระสมภาร |
แล้วปิ่นเกล้าเสด็จเข้าที่สระสรง |
ประดับองค์ผ่องใสใจสมาน |
จึงสอดทรงธำมรงค์ชัชวาล |
เข้าเฝ้าองค์บิตุรานพระมารดา |
ฝ่ายท่านท้าวจ้าวพญาธรรมราช |
ทั้งนิ่มนาฎนางสุวรรณผู้นาถา |
พระโฉมฉายเห็นสะใภ้กับลูกยา |
มาวันทาหมอบเรียงอยู่เคียงกัน |
พระโฉมศรียินดีพระทัยนัก |
กำเริบรักลูกแก้วแล้วรับขวัญ |
จึงตรัสถามมูลความทุกสิ่งอัน |
เถิงขอบขัณฑ์นัคเรศที่เขตไทย |
ทั้งปลงศพพรหมทัตกษัตริย์ท่าน |
ภัยไม่พานผ่องแผ้วฤๅไฉน |
ราษฎรสุขร้อนเป็นอย่างไร |
ทั้งข้าวเหลือเกลือได้ฤๅขาดแคลน |
อนึ่งเล่าชนนีศรีสะใภ้ |
ยังอยู่ดีกินได้ฤๅโศกแสน |
เป็นเกี่ยวดองกันเสียดายอยู่ต่างแดน |
ได้สุขทุกข์ขุกแค้นไม่เห็นกัน |
ชันษาแก่ชราสักเพียงไหน |
สักปานใดเดินได้ยังแข็งขัน |
ฤๅแก่หง่อมหลังค่อมชราครัน |
เป็นไรนั้นดองยายไม่ไปมา |
ปางจ้าวจอมทูนกระหม่อมเจ้าปาจิต |
ผู้ทรงฤทธิ์กราบทูลพระนาถา |
ขอเดชะฝ่าละอองพระบาทา |
แต่ทูลลาฝ่าพระบาทนิราศไป |
ได้เดือนครึ่งถึงเมืองพาราณสี |
จึงเผาผีพรหมทัตที่ตัดษัย |
สมโภชการเจ็ดวันพลุตะไล |
มีปรบไก่ปล้ำมวยทั้งอวยทาน |
โขนละครมอญรำมีหนังหุ่น |
ชุลมุนอันตราไม่กล้าหาญ |
ก็โปร่งปลอดคล่องแคล่วไม่แผ้วพาน |
จนเสร็จการด้วยเดชะพระบารมี |
ครั้นจัดแจงแต่งศพเผาเสร็จแล้ว |
ที่หน่อแนวพรหมทัตผู้เป็นผี |
ได้มอบว่าให้รักษาพระบูรี |
ตั้งเป็นที่ตามตำแหน่งแต่หลังมา |
สุขเกษมเปรมปราประชาราษฎร์ |
ไม่เขินขาดข้าวเกลือเหลือหนักหนา |
โจรผู้ร้ายงัวควายไม่ลักพา |
ชาวประชาสุขสำราญทุกบ้านเรือน |
เมื่อจะมาพานางไปลาแม่ |
แกก็แก่ไม่ประมาทแต่ว่าเหมือน |
ทั้งหูตาโรคชรามายำเยือน |
ให้ฟั่นเฟือนเอวหลังไม่นั่งตรง |
ฉันกราบลาเมื่อจะมาแก่สั่งข่าว |
มากราบเท้าถามถึงใจประสงค์ |
ถึงมารดาพระบิดาทั้งสององค์ |
ว่ายืนยงเชิญมาเยี่ยมมาเยือนยาย |
เถิงตัวแกแกก็ว่าจะมาเยี่ยม |
แล้วคิดเจียมเรี่ยวแรงนั้นแห้งหาย |
ทั้งหูตาก็ชราประกอบกาย |
แกเปรียบปรายเหมือนตำนานนิทานลาว |
ว่าแก่แล้วกล่าวใดใครจะนับ |
เหมือนมีดน้อยฟันสับเด็กหนุ่มสาว |
ไม่นอนแน่เหมือนคนแก่ไม่ยืดยาว |
ความแกกล่าวนี่ก็งามแต่คำตรง |
เมื่อจะมาหาหมอมาสั่งไว้ |
ให้มาไปใจใส่อย่าลืมหลง |
ให้ผลัดกันปันเวรมาเวียนวง |
เห็นมั่นคงวางใจจึงได้มา |
พระปาจิตแจ้งกิจนุสนธิ์สาร |
ในเรื่องการหมดมลทินสิ้นวิตถาร |
จนถ้วนถี่ว่าชนนีพระบิดา |
ทั้งสองราโสมนัสเสน่ห์ใน |
อยู่จำเริญเนิ่นมาเป็นผาสุก |
ไม่อาจอุกศึกเสือทั้งเหนือใต้ |
บำเพ็งเพิ่มศีลทานทุกวันไป |
เข้าเวียงชัยชื่นบานสำราญรมย์ |
พระสั่งสอนราษฎรให้โอกาส |
ให้โอวาทฟังธรรมคำสยม |
ทุกพาราไพร่ฟ้าชาวนิคม |
ดีอุดมฟ้าฝนทั้งต้นปลาย |
ทั้งข้าวเกลือเหลือล้นอุดมถม |
ชาวนิคมชวนกันมาซื้อขาย |
เรือสำเภาเหล่ากำปั่นมีมากมาย |
ดูกองก่ายกลาดเกลื่อนทั้งเรือนแพ |
ญวนฝรั่งอังกฤษมากราบไหว้ |
ไม่นึกร้ายหนามเสี้ยนเวียนแสว |
ทุกพารามิได้มาคิดกอแก |
ยอมออกแยย่านขยาดพระโพธิญาณ |
พระตรัสสั่งให้ไประวังพาราณสี |
เกณฑ์โยธีผลัดเปลี่ยนไปข่าวสาร |
ครั้นคิดถึงพระคะนึงเห็นเนิ่นนาน |
ภูมิบาลก็เสด็จดำเนินไป |
แต่ไปมามาไปนั้นหลายหน |
ให้ไพร่พลสุขเกษมน้ำใจใส |
อยู่นานมาก็ชราเข้าเบียนใน |
ดับสังขารตามผู้ได้ทำบุญกรรม |
ที่ถือศีลครั้นว่าสิ้นอายุสม |
ไปเป็นพรหมครองวิมานอันเลขำ |
ที่ทำบาปบาปตามซ้ำกระทำ |
ไปสู่ตามเวรกองของผู้ใด |
ที่ทำทานก็สำราญอารมณ์รื่น |
ไปชมชื่นในสวรรค์อันสุกใส |
ในช่อชั้นตามที่ท่านได้สร้างไป |
สนองให้ผลบุญนั้นปูนตาม |
แต่เวียนเกิดเวียนตายนั้นหลายชาติ |
ชินโนนาถแจ้งทำคำสยาม |
จนบารมีบริบูรณ์ขึ้นมากคาม |
มารวมกันนำกันข้ามสมุทรไท |
๏ สำมเนฝ่ายว่าตาเณรเถน |
เอาเรือรับอรพิมหวังพิสมัย๖ |
เมื่อชาติสุดกลับชาติใช่อื่นไกล |
คือท้าวไทท่านอชาตศัตรู |
นายพรานไพรใจใหญ่เหมือนยักษา |
ยิงพระปาตายกลิ้งไม่อดสู |
ใช่อื่นไกลใจกลอกทำนอกครู |
คือเทวทัตท่านจงรู้อย่าแคลงใจ |
ด้วยบาปกรรมทำพงศ์โพธิสัตว์ |
แน่นถนัดกรรมกองสนองไข |
ลงไปตกในนรกเกินกรรมไร |
อันอย่างใหญ่เป็นที่สุดอเวจี |
สักโกจะอัมรินทร์อินทร์ธิราช |
จากอากาศแปลงกายท้าวโกสีย์ |
เป็นพังพอนผู้เผือกเข้าย่ำยี |
กัดเอางูมาตุลีทำลายตาย |
แล้วกัดยาทากันเป็นเห็นประจักษ์ |
อยู่ตรงพักตร์อรพิมนางโฉมฉาย |
พระอินทราใช้ปัญญาบอกธิบาย |
ให้อรทัยทราบอุราว่ายาดี |
นางเนื้อเย็นเห็นประจักษ์ชิงจักช้า |
ไปกัดยาเอามาพ่นพระโฉมศรี |
พระปาจิตนั้นก็ฟื้นคืนชีวี |
บุญทั้งนี้ตามสนองพระอินทรา |
เมื่อกลับชาติมิได้คลาดคลาเคลื่อน |
กุศลเตือนชาติสุดตามไปหา |
ใช่ผู้อื่นคือองค์อรหัตตา |
พระมหาอุณรุทท่านเถรเธอ |
มาตุลีที่เป็นงูเทวบุตร |
เมื่อชาติสุดบุญทำตามเสนอ |
คือนายท่านฉันนะมาตย์ผู้บำเรอ |
จูงอาชาพาเอาเธอสิทธารถไป |
บาลีว่าชื่อพญาธรรมราช |
ด้วยสามารถสร้างสมมีนิสัย |
เมื่อชาติสุดกลับชาติใช่อื่นไกล |
คือท้าวไทสิริสุโทธน์นั้นเที่ยงธรรม์ |
นางสุวรรณเทวีศรีสมร |
เป็นมารดรพระปาจิตผู้จอมขวัญ |
กุศลนางหลายหลากมากอนันต์ |
บำเพ็งเพิ่มไว้ครันทุกวันมา |
อุปนิสัยเป็นปัจจัยแก่เมืองแก้ว |
ไม่คลาดแคล้วชักนำตามไปหา |
เมื่อชาติสุดนางมาเกิดเป็นมารดา |
ชื่อสิริมหามายานางนงเยาว์ |
บุญของนางสร้างไว้นั้นหลายชาติ |
ก็สมมาดได้เป็นแม่พระพุทธิเจ้า |
อย่าสงสัยหญิงชายทั้งหลายเรา |
พระปิ่นเกศเทศน์เป็นเค้านิทานมา |
นางอรพิมยิ้มละไมวิไลพักตร์ |
นรลักษณ์ล้ำเลิศอันเลขา |
ที่เป็นคู่พระปาจิตอิศรา |
ครั้นแก่กล้าบารมีขึ้นมากมาย |
แม่พักตร์ผ่องตามสนองกันหลายชาติ |
เป็นข้าบาทบริจาพระโฉมฉาย |
เมื่อไฟราคนางจะสูญจากร่างกาย |
ครั้นชาติสุดนางก็ได้ชื่อพิมพา |
พระปาจิตอิศโรโพธิสัตว์ |
เที่ยวเลาะลัดเที่ยวท่องแสวงหา |
แต่เกิดตายตายเกิดในสุธา |
พระฎีกาคณนาไว้มากมาย |
แต่ท่องเที่ยวเหนี่ยวน้องตายแล้วเกิด |
เอากำเนิดมิได้สูญมาสืบสาย |
เต็มสุธาว่ากระดูกนั้นเรี่ยราย |
ปลายเข็มไชปักไม่พ้นกระดูกเลย |
จนบารมีได้ถึงสี่อสงไขย |
แสนมหากัปป์กำไรเจียวท่านเอ๋ย |
เมื่อจะสลัดตัดตัณหาได้ลึกเลย |
มาเกิดเกยชื่อสิทธารถราชกุมาร |
เป็นบุตราของพญาสิริสุโทธน์ |
พระเอื้อนโอษฐ์แจ้งทำไว้บรรหาร |
พระมารดาชื่อมหาลำเพาพาล |
นางนงคราญชื่อสิริมหามายา |
โพธิญาณครั้นวรรษาสิบหกขวบ |
บุญประจวบพระสิทธารถผู้นาถา |
อติเรกอุปภิเษกกับพิมพา |
คณนาในฎีกาสิบสามปี |
จึงเกิดบุตรบริสุทธิ์ชื่อราหุล |
กับเนื้ออุ่นนางอุบลแม่โฉมศรี |
ครั้นนานมาพระวรรษาสิบเก้าปี |
บารมีท่านมาเตือนสติเอง |
ให้เหนื่อยหน่ายคล้ายชังร่างตัณหา |
พิจารณาลูกเมียไม่เหมาะเหม็ง |
ทรัพย์สมบัติพระสลัดไว้โตงเตง |
พระองค์เองกับนายฉันก็ครรไล |
ขึ้นอาชาหนีพิมพาออกไปบวช |
ทรงผนวชถือศีลตามนิสัย |
ชนะมารห้าประการก็กลัวไกล |
พระปาจิตใช่อื่นไกลพระเจ้าเอง |
องค์สัมมานำพาเอาบุพชาติ |
ชื่อปัญญาสชาดกมาเหมาะเหม็ง |
เป็นกระทู้ธรรมนิทานบุราณเพรง |
พระญาณเล็งเทศน์โปรดประชาชน |
อุบาสกภิกขุสงฆ์ษัททั้งสี่ |
ภิกขุณีอุบาสิกาได้มรรคผล |
บ้างก็ถึงซึ่งอริยะยิ่งบุคคล |
บ้างก็พ้นทุกข์ภัยได้นิพพาน |
บ้างก็ได้โสดาอนาคา |
สักขิทาอรหัตจนอวสาน |
ด้วยฟังธรรมชินศรีมุนีญาณ |
โปรดประทานมธุรสพระบาลี |
พระปาจิตอรพิมมีนิทาน |
พระเล็งญาณเทศน์โปรดไว้เท่านื้ |
ฉันแต่งแก้ตามกระแสพระบาลี |
จบติตีพระนิพพานโหตุเม |