คำอธิบาย

นิทานเรื่องปาจิตกุมารที่นำมาจัดพิมพ์ในหนังสือวรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ นี้ เป็นวรรณกรรมที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ต้นฉบับเดิมเป็นฉบับตัวเขียนมีจำนวน ๕ เล่มสมุดไทย เก็บรักษาอยู่ที่ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ ต้นฉบับทั้ง ๕ เล่มนี้ พิจารณาว่าต่างกันเป็น ๒ สำนวน

สำนวนที่ ๑ มีฉบับอยู่ ๔ เล่ม ลักษณะเป็นสมุดไทยกระดาษขาว เขียนเส้นหมึก อักษรไทย ลายมือเป็นของบุคคลคนเดียวโดยตลอดทั้ง ๔ เล่ม อาจเป็นลายมือของผู้แต่งเอง สำนวนนี้เป็นวรรณกรรมสมัยธนบุรี มีหลักฐานชัดเจน ตอนท้ายเรื่องระบุวันเดือนปีว่า “แต่งแล้วเดือนเก้า ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาน เขียนแล้วเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีขาน ฉอศก สักกราช ๒๓๑๖ วาษา ปริยบูนน้านิถิตา” ฉบับนี้ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

สำนวนที่ ๒ มีฉบับอยู่เฉพาะเล่มต้น ๑ เล่มสมุดไทย ลักษณะเป็นสมุดไทยกระดาษขาวเขียนเส้นหมึก อักษรไทย ปรากฏนามผู้แต่งในตอนต้นเรื่องว่า

“หลวงบำรุงสุวรรณฉันผู้แต่ง ประจักแจ้งเรื่องนิทานไม่กังขา
ประดับประดิษขอให้เปรื่องเรืองปัญา บังเกิดมาในสันดานสดวกดาย”

สำนวนนี้ในบทประณามพจน์ว่าแต่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความพรรณนาไว้ว่า

“ข้าบังคมทูลกระหม่อมพระจอมเกล้า พระปิ่นเกล้าเจ้ากรุงยุทธโกสิน
บันลือลั่นประเทืองกระเดืองดิน พระภูมินขอให้มีชนมา”

เนื่องจากต้นฉบับสำนวนที่ ๑ ฉบับขาดเบื้องต้น และฉบับสำนวนที่ ๒ ฉบับขาดเบื้องปลาย ในการปริวรรตอักษรและจัดพิมพ์พิจารณาเห็นว่าหากพิมพ์เพียงสำนวนที่ ๑ อันเป็นวรรณกรรมสมัยธนบุรีเนื้อเรื่องก็จะขาดตอนไป จึงนำฉบับทั้งสองสำนวนมาพิมพ์ไว้เรียงตามลำดับดังนี้

(๑) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๑ เลขที่ ๑ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติหอซื้อ ๑๖/๕/๕๖ (ฉบับหลวงบำรุงสุวรรณแต่ง)

เนื้อความมีคำประณามพจน์ เริ่มเรื่องปาจิตกุมาร จนถึงพระปาจิตอำลานางอรพิมกลับเมืองนครทม เพื่อเตรียมยกกระบวนขันหมากมาสู่ขอนาง

(๒) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๒ เลขที่ ๒ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)

เนื้อเรื่องตั้งแต่พระปาจิตทรงสุบินนิมิต ให้โหรทำนายแล้วส่งอำมาตย์ไปสืบข่าวยังบ้านนางอรพิม จนถึงพรานไพรยิงพระปาจิตสิ้นชีวิต แล้วพานางอรพิมไป เล่ม ๒ นื้ไม่ต่อเนื่องกับเล่ม ๑ เนื่องจากเป็นฉบับต่างสำนวนกัน ไม่อาจเปรียบเทียบเนื้อความที่หายไป

(๓) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๓ เลขที่ ๓ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)

เนื้อความต่อเนื่องกับเล่ม ๒ ตั้งแต่นางอรพิมถูกนายพรานพาตัวไป นางคิดอุบายฆ่านายพรานตาย แล้วรีบกลับมาที่พระศพพระปาจิต พ่นยาที่พระอินทร์บอกช่วยสามีคืนชีวิต จนถึงนางอมรให้สาวใช้นำเภสัชและสารไปถวายสมเด็จพระสังฆราช

(๔) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๔ เลขที่ ๔ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)

เนื้อความต่อเนื่องกับเล่ม ๓ ตั้งแต่พระสังฆราชอ่านสารแล้วจึงตอบสารนางอมรทราบ จนถึงพระปาจิตพานางอรพิมออกจากนครจัมปาก

(๕) ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๕ เลขที่ ๕ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)

เนื้อความตั้งแต่ไพร่พลของพระปาจิตสร้างเมรุถวายพระเพลิงพระเจ้าพรหมทัต ณ เมืองพาราณสี จนถึงประชุมชาดกจบเรื่อง มีวันเดือนปีที่แต่งเสร็จและคำอธิษฐานของผู้แต่ง ในตอนท้ายมีนิทานสุภาษิตเรื่องพระโพธิสัตว์โกสามภินได้ปริวรรตอักษรและจัดพิมพ์ไว้ด้วย

ต้นฉบับเล่มที่ ๕ นี้ไม่ต่อเนื่องกับเล่ม ๔ ขาดตอนตั้งแต่พระปาจิตชมดาวระหว่างเดินทางไปเมืองพาราณสี แล้วสั่งสร้างเมรุ

อนึ่ง ในการศึกษาเชิงประวัติเรื่อง ปาจิตกุมารกลอนอ่าน ทั้ง ๒ สำนวน รองศาสตราจารย์นิยะดา เหล่าสุนทร ได้ศึกษาวิจัยไว้ควรนำมากล่าวดังนี้

ต้นฉบับตัวเขียนปาจิตกุมารกลอนอ่านสำนวนที่ ๑ ไม่สมบูรณ์จึงทำให้การศึกษาเชิงประวัติโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้แต่งไม่อาจจะกระทำได้ แต่ในเวลาที่แต่งปรากฏในตอนท้ายว่า แต่งแล้วเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๖ อยู่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่มาของปาจิตกุมารกลอนอ่านสำนวนนี้ ถึงแม้ว่าผู้แต่งจะอ้างถึงชาดกฉบับบาลีหลายครั้งดังเช่น

“ในบาลีว่ายังมีนายพรานไพร จิตทะมึนใจใญเมือนยักษา
เป็นพอมายเมียตายมอระณา ออกยูป่าดอรดงเปนโรงเรือน”
“อันชื่อเมืองนั้นใม่มีบาลีใขย ก็สงใสยครันจแต่งลงเถิดฤๅ
ฉันกลัวผิดบาพจะติดไปเตมมือ ยากรูชือคิดสงใสยยางเดียวกัน”

ส่วนต้นฉบับสำนวนที่ ๒ ซึ่งมีเนื้อความเพียงตอนต้นปรากฏในคำประณามพจน์ว่า หลวงบำรุงสุวรรณแต่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแต่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อบันทึกเรื่องราวไว้ให้ถูกต้องและเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง ดังความที่ผู้แต่งได้พรรณนาไว้ว่า

“ขอริเรื่องอรพิมพระปาจิตร ยกอดีตะนิทานไว้สืบสาย
ครั้นจะนิ่งยังคิดจิตรเสียดาย ด้วยหญิงชายนั้นยังเขลาเบาปัญญา
ไม่ได้ฟังตั้งแต่ว่าสนเท่ห์ เที่ยงรวนเรถามกันนั้นหนักหนา
ลางคนเล่าว่าข้าเจ้าได้ยินมา ลางคนว่าแต่ครั้งปู่รู้นิยาย
ลางคนบอกว่าข้าดอกจำได้เรื่อง เล่ากันเนื่องผิดถูกไม่ขวยขาย
ได้ยินเล่าข้าพะเจ้าให้นึกอาย เที่ยวสืบหานิยายนิยมา
นิทานนี้อยู่คำภีร์ปลายปัญาศ มีชาดกยกเป็นชาติสังขยา
เหมือนเราท่านปุถุชนคนชนา ฟังฎีกาจึ่งจะรู้กระทูธรรม์”

ผู้แต่งรับรู้ว่าเรื่องปาจิตกุมารเป็นชาดกเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดกตามคำปรารภที่ยกมากล่าว แต่เนื้อเรื่องของกลอนอ่านดำเนินเรื่องแตกต่างจากชาดกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทรกตำนานของหมู่บ้านจึ่งมีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง อันได้แก่ บ้านจารตำรา บ้านสำเร็จและบ้านตำแย ดังตัวอย่างเช่น

“ตำราทายของพระองค์ที่ถือมา ครั้นภบนางสมตำรากระเษมสัน
ครั้นนานเนิ่นอยู่จำเริญไปหลายวัน ผู้หนึ่งนั้นมาขอยืมไปบ้านยาง
จึงหฤาเข่าเล่ากันไปหลายบ้าน ตำรานั้นแน่นักไม่อางขนาง
ทีลางคนก็ยากได้ไว้เปนทาง เที่ยวเสาะสางสืบสาวเอาตำรา
ครั้นภบพานแล้วก็อ่านในเรื่องฝอย ช่างแช่มช้อยทายแน่นั้นนักหนา
หาใบลานจดจานเขียนตำรา เป็นโกลาฤๅลั่นสนั่นไป
ทีนามบ้านพากันเรียกว่าบ้านยาง ก็ทิ้งคว่างเสียหาเรียกดังเก่าไม่
เรียกแต่บ้านจารตำราทุกคนไป ก็เลยหายชื่อบ้านยางแต่หลังมา”

กลวิธีในการแต่งโดยเฉพาะการบันทึกที่มาชองตำนานของสถานที่ต่าง ๆ ในปาจิตตกุมารกลอนอ่านสำนวนที่ ๒ คล้ายคลึงกับในปาจิตตกุมารกลอนอ่าน สำนวนที่ ๑ มาก แต่การศึกษาและเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของกลอนอ่านทั้ง ๒ สำนวนไม่อาจกระทำได้ เพราะต้นฉบับไม่สมบูรณ์ ประกอบกับเนื้อความของแต่ละสำนวนเป็นคนละตอนกัน

อย่างไรก็ดีในการปริวรรตอักษรได้พบรายละเอียดที่น่าสนใจในฉบับสำนวนที่ ๒ ควรยกไว้พิจารณาเปรียบเทียบดังนี้

(๑) วิธีเขียนตัวสะกดการันต์ในฉบับสำนวนที่ ๒ แม้มีฉบับเพียงเล่มเดียวก็พบว่า มีคำที่สะกดผิดแผกกันอยู่ในฉบับ ลักษณะตัวสะกดผิดแผกกันเช่นนี้แทบไม่ปรากฏในฉบับสำนวนที่ ๑ ตัวอย่างเช่น

คำว่า ปาจิตร ชื่อตัวเอก ท้ายเล่ม ๑ มีแห่งหนึ่งเขียนเป็น ปาจิต สะกดเหมือนฉบับสำนวนที่ ๑

คำว่า อรพิม ชื่อนางเอก มีใช้ ทั้ง อรพิม และอรภิม สำนวนที่ ๑ ใช้ ออระภิม คำว่า มิ ในความหมายว่าไม่ ในที่ควรใช้มิหลายแห่งใช้ว่า หมี สะกดเหมือนฉบับสำนวนที่ ๑

คำว่า ทร่าง ในความหมายว่าสร้าง ในที่ควรใช้สร้าง ใช้ว่า ทร่าง และส้าง ในขณะที่สำนวนที่ ๑ ใช้ ซ่าง

(๒) ถ้อยคำที่ใช้ในฉบับสำนวนที่ ๒ มีคำเก่าที่น่าสังเกตว่ามีใช้อยู่มากในฉบับสำนวนที่ ๑ เช่นคำว่า ยิ่งยอดสยำ เรืองสยำ ประนินทิน หมีใช่ หมีได้ ต้องเยื่อง ระเสิดระสัง จรจัน ฯลฯ

(๓) เนื้อเรื่องที่กล่าวถึงการสร้างเมืองพาราณสีมีเทวดาสร้างปรางค์ เป็นแนวความคิดที่มิได้ดำเนินไปตามเรื่องชาดก แต่ก็รับกันได้อย่างเหมาะสมกับฉบับสำนวนที่ ๑ ตอนที่กล่าวถึงประวัติเมืองพิมาย หรือพี่มา

(๔) ฉบับที่ ๒ สำนวนที่ว่าหลวงบำรุงสุวรรณแต่ง มีฉบับหลงเหลือเพียงเล่ม ๑ เล่มเดียว เป็นการแต่งเพียงเริ่มเรื่อง แต่บังเอิญต่อเนื่องกับฉบับสมัยธนบุรี สำนวนที่ ๑

(๕) ฉบับสำนวนที่ ๑ สมัยธนบุรี เข้าใจว่าเคยมีฉบับเล่ม ๑ มาก่อนแต่หายไป ในขณะที่ฉบับสำนวนที่ ๒ ของหลวงบำรุงสุวรรณมีลักษณะคล้ายกับว่ามิได้แต่งมากไปกว่าเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

แม้ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปาจิตตกุมารกลอนอ่านทั้ง ๒ สำนวน การปริวรรตอักษรเป็นภาษาปัจจุบันทำให้สำนวนกลอนราบรื่นขึ้นเป็นอันมาก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่และอนุรักษ์วรรณกรรม

ด้วยเหตุที่เรื่องปาจิตตกุมารชาดก เป็นนิทานที่แพร่หลายในรูปแบบของนิทานพื้นบ้านมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องปาจิตกุมารนี้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นนิทานเรื่องเก่าแก่ของเมืองพิมาย เห็นได้จากโบราณสถานหลายแห่งในบริเวณปราสาทหินพิมาย เช่น ปรางค์พรหมทัต เมรุพรหมทัต ท่านางสระผม สระแก้ว สระขวัญ ล้วนแต่มีประวัติเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเรื่องนี้ทั้งสิ้น๑๐

อิทธิพลของนิทานพื้นบ้านจึงผสมผสานกับความนิยมฟังธรรมเรื่องชาดก ทำให้เรื่องปาจิตกุมารมีคนรู้จักแพร่หลายในท้องถิ่นถึงขั้นมีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรม ดังปรากฎเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นเมืองในท้องที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่อุโบสถวัดบ้านยาง ตำบลบัวมาด อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และภาพจิตรกรรมที่บานแผละหน้าต่างอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ในส่วนที่เป็นมรดกวัฒนธรรม เรื่องปาจิตตกุมารชาดกได้ถูกนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมคำกลอนในสมัยธนบุรี สันนิษฐานว่า เรื่องนี้อาจจะมีมาถึงกรุงธนบุรี พร้อมการปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ผู้แต่งได้กล่าวพาดพิงไว้ตอนหนึ่งว่า

“มีโจทม้าวาเมืองพิมายนิ แต่เดิมทีเหตผลเปนชะในย
จึงเรียกรำยูเปนเรืองเมืองพิมาย จำเลยชายรูแทแกคดี”๑๑

ปาจิตตกุมารกลอนอ่านสำนวนที่ ๑ สมัยธนบุรี ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง จากการศึกษาผลงานเห็นได้ว่า ผู้แต่งเรื่องนี้อาจเป็นผู้คงแก่เรียน และรู้หนังสือดีมีศิษย์มาก ในการแต่งจึงพยายามแทรกเรื่องต่าง ๆ ชี้แจงขั้นตอนชองการดำเนินเรื่องได้ถี่ถ้วน ผู้แต่งมักกล่าวเสมอว่าเพื่อมิให้ผู้อ่านสงสัยใจ กลวิธีการดำเนินเรื่องเป็นแบบฉบับอันเป็นลักษณะสากลของการเล่านิทานมุขปาฐะ คือการเล่าย้อนต้นซ้ำหลายคราว แม้เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษรยังปรากฎลักษณะดังกล่าวชัดแจ้ง การแต่งปาจิตกุมารกลอนอ่าน นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อจดบันทึกเรื่องราวเก่าๆ แล้ว ผู้แต่งยังเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา การแต่งเรื่องนี้จึงมีจุดประสงค์อีกประการหนึ่งคือหวังเนื้อนาบุญจากการรจนาคำกลอนนี้ ดังปรากฏในคำอธิษฐานของผู้แต่งว่า

“ฉันผูแตงจ่ะขอแจงคำทิถาร พรนิภารขอยาแคล้วขอสมมาย
ถามิเถิงยังจะเทียวขอเปนชาย จะเกิษในขอเปนนายออกน้านำ
ทงปัญาขอใหมายารูมดํ ขอทรงพรดํรูปิดํกคำสะยำ
ขอเสยิงเพราะใหสเนาะทินำคำ ขอรูปงามทานผูใดยานายชง
อนคํลภาลขอยาภํบใหภายแพ ใหยพํบแตทานบันดาะกะนาถัง
ทานปันดิดขอใหได้สมใจดัง มารวมรังรวมรูรวมอุรา
ขอมีทรัพถาจะนับยามํตมาก ฝูงคํลยากจะมาสูทุกทิดษา
ยาะตะนิขอใหมีแตสัทา เถิงจมาเถิงจะยํกยาปํกใปย
พรเมตไกรยพรไมตริจมาตรัษ จะแจงอัดบรมคาถาพิศไมย
ขอฟังเทษพระสะธรรมทิคำไทย เมิอทานไดขอไปด้วยพรนิภาร
ผลทานผํลสินใดรักษา มาชวยคาขอใหสํมดังทิถาร
ขอเกิดสํบขอให้พํบพรศรีอาน ดังณิทานปราทนาคานิเอ้ย๑๒

กวีผู้แต่งวรรณกรรมฉบับนี้จะเป็นผู้ใดก็ตาม ถ้าศึกษาโดยเปรียบเทียบกับวรรณกรรมชั้นหลัง เช่นผลงานเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ จะเห็นได้ว่าลักษณะคำประพันธ์ที่เรียกว่า กลอนสุภาพได้มีอยู่แล้วแต่สมัยธนบุรี แม้ข้อความที่กล่าวพาดพิงถึงนางผีเสื้อนํ้า๑๓ และบทพรรณนาชมป่า ชมดาว๑๔ ก็มีหลายแห่งที่ไพเราะ และมีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน

  1. ๑. ปาจิตต ชื่อนี้สะกดตามทะเบียนหนังสือของกองหอสมุดแห่งชาติ ในฉบับตัวเขียน เขียนเป็น ปาจิตรและปาจิต ในการพิมพ์ใช้ตามตัวในต้นฉบับส่วนใหญ่ว่า “ปาจิต”

  2. ๒. นครทม ชื่อเมืองของปาจิตกุมารในต้นฉบับ เล่ม ๑ ว่านครทม ฉบับสมัยธนบุรีว่า นครพรหม ในการพิมพ์ใช้ว่า นครพรหม

  3. ๓. นิยะดา สาริภูติ (เหล่าสุนทร). ปัญญาสชาดก : ประวัติและความสำคัญที่มีต่อวรรณกรรมร้อยกรองของไทย : วิทยานิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พ.ศ. ๒๔๒๔ หน้า ๑๙๔-๑๙๗.

  4. ๔. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่มที่ ๒ เลขที่ ๒ หน้า ๖๕ บรรท้ดที่ ๔-๕ บทที่ ๓

  5. ๕. ปาจิตตกุมารกลอนอ่านเล่มที่ ๔ เลขที่ ๔ หน้า ๑๙ บรรทัดที่ ๑ บทที่ ๑๐-๑๑

  6. ๖. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๑ เลขที่ ๑ หน้า ๔ บรรทัดที่ ๖ - ๘ บทที่ ๔ – ๕ และหน้า ๕ บรรทัดที่ ๑ – ๔ บทที่ ๑ - ๒

  7. ๗. ดูรายละเอียดที่ภาคผนวก หน้า ๒๘๓

  8. ๘. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๑ เลขที่ ๑ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติหอซื้อ ๑๖/๕/๕๖ หน้า ๕๓ บรรทัดที่ ๓ - ๘ บทที่ ๒ – ๔ และหน้า ๕๔ บรรทัดที่ ๑ - ๒ บทที่ ๑

  9. ๙. เนื้อเรื่องปาจิตตกุมารชาดก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ดูในภาคผนวก หน้า ๒๖๓-๒๗๗

  10. ๑๐. มานิต วัลลิโภดม. นำเที่ยวพิมายและโบราณสกานในจังหวัดนครราชสีมา. พระนคร โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๑๓, หน้า ๕๕-๘๑. (องค์การค้าของคุรุสภา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนคงฤทธิ์ศึกษากร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๓)

  11. ๑๑. ปาจิตตกุมารคำกลอน เล่ม ๒ เลขที่ ๒ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๓๖

  12. ๑๒. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๕ เลรที่ ๕ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๔๒-๔๓

  13. ๑๓. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๒ เลขที่ ๒ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๒๗

  14. ๑๔. ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน เล่ม ๔ เลขที่ ๔ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๖/๕ มัดที่ ๒๘ ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด หน้า ๑๕๒-๑๕๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ