ภาคผนวก ข.

ประวัติพระราชโมฬี (แจ่ม บุรณนนท์) วัดราชบุรณะ

เกิดวัน ๒ เดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ ณ ตำบลบ้านเกาะ จังหวัดสมุทรปราการ บิดาชื่อ แย้ม มารดาชื่อ จันทน์

เมื่ออายุ ๑๙ ปี บวชเป็นสามเณรอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาส เรียนพระปริยัติธรรม ณ สำนักพระมหายิ้ม (เขมน) เปรียญ ๓ ประโยค

ครั้นอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ อุปสมบทที่วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) ขณะนั้นเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ อยู่วัดราชบูรณะ เป็นอุปัชฌาย์ พระสาสนานุรักษ์ (ปาน) ขณะนั้นเป็นพระครูธรรมจริยาภิรัต อยู่วัดมหาพฤฒารามเป็นกรรมวาจาจารย์ พระปลัด (จั่น) วัดนอก จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอนุสาวนาจารย์

อุปสมบทแล้วขึ้นมาอยู่วัดราชบูรณะ เรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) ขณะนั้นเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ แลสำนักท่านพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ขณะนั้นเป็นหลวงญาณภิรมย์ บอกพระปริยัติธรรมอยู่ ณ พุทธปรางค์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ครั้นปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ ๖ พรรษา เข้าแปลพระปริยัติธรรม ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค

ในปีนั้นเองได้เป็นพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ถานาพระธรรมวโรดม คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) วัดราชบูรณะ มีนิตยภัตร ๘ บาท

ถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้ ๑๑ พรรษา เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๖ ประโยค

ในปีนั้นเองได้เลื่อนเป็นพระครูปลัดเอนกอรรถธรรมวิธูร ถานาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) วัดราชบุรณะ มีนิตยภัตร ๑๐ บาท

ครั้นปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับตำแหน่งเป็นพระวรญาณมุนี ที่พระราชาคณะ อยู่ในวัดราชบุรณะนั้น มีนิตยภัตร ๑๗ บาท

ครั้นปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชโมฬีศรีปาวจนาภรณ์ ครั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) ถึงมรณภาพแล้วได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดราชบุรณะนั้น มีนิตยภัตร ๒๕ บาท

ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ทูลลาสิกขาบทออกรับราชการฝ่ายคฤหัสในกระทรวงธรรมการมาจนปัตยุบันนี้ (ร.๕)

  1. ๑. ภายหลังเมื่อเข้ารับราชการแล้ว มีบรรดาศักดิ์เป็นพระราชาภิรมย์ (แจ่ม บุรณนนท์) มีผลงานในการแปลปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติ ดูรายชื่อเรื่องที่แปลในภาคผนวก หน้า ๒๘๐-๒๘๒

  2. ๒. เอกสารฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก : ประวัติพระราชโมฬี (แจ่ม) เลขที่ ๓๐๑ มัดที่ ๑๖ ตู้ ๑๒๑ สมบัติเดิมของหอสมุด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ