วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ น

บ้านปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๗๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ตามที่ทรงพระเมตตาโปรด ประทานตำราดุริยางค์ ซึ่งพระเจนดุริยางค์แต่งไปให้ตรวจดูนั้น ได้รับประทานตรวจดูแล้ว

ตำราอันให้ชื่อว่า “ตำราดุริยางค์ไทย” นี้ ก็คือตำราเขียนโน้ตเพลงอย่างฝรั่งนั้นเอง แต่ตัดทอนเอาแต่พอใช้เขียนเพลงไทยได้ เพราะเพลงไทยไม่วิตถารเท่าเพลงฝรั่ง

ตรวจเห็นในหน้า ๑๕ และ ๑๖ ซึ่งว่าด้วยคู่เสียงนั้น ผู้เขียนเห็นจะเข้าใจสั้นอยู่บ้าง ตามที่แต่งไว้ในตำรา เรียกว่าคู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ๔ เป็นต้นนั้น ถือเอาคำใช้ที่ขึ้นสายเครื่องสาย เช่นขึ้นสายทุ้มเป็น <img> ขึ้นสายเอกเป็น <img> เรียกกันว่าขึ้นคู่ ๔ แต่ที่แท้คำว่าคู่นั้นมาแต่ตีปี่พาทย์ หมายความว่าตีมือซ้ายขวาลงพร้อมกัน ถ้าห่างกัน ๔ ลูก ก็เรียกว่าคู่ ๔ ถ้าเขียนเป็นโน๊ตจะต้องเป็นดั่งนี้ <img> ไม่ใช่ <img>

ตั้งแต่หน้า ๒๒ ไป ว่าด้วยตัวเขบ็ต อธิบายไว้จนถึงตัว ๔ ชั้น ที่จริงสำหรับดุริยางค์ไทย จะมีที่ใช้แต่เพียงตัว ๒ ชั้นเท่านั้น แต่นักเลงสมัยใหม่ทำอวดมือแซกลูกเข้าถึงตัว ๓ ชั้น ที่เรียกว่าสดุ้งหรือสบัดอะไรนั้นมีอยู่บ้าง แต่ก็เป็นทำเล่น ไม่ใช่ทำเป็นหลักฐาน ส่วนตัว ๔ ชั้นนั้นไม่มีที่ใช้แน่ ถ้าว่าตามหลักแล้ว พ้นตัว ๒ ชั้นขึ้นไปก็ยังเป็นรัวทีเดียว รัวนั้นไม่มีกำหนดตัว ถือกันว่าใครรัวได้ละเอียดมากเป็นดี แต่ก็มีลีลาศเป็น ๒ อย่าง รัวลูกเสมอกันอย่าง ๑ รัวลูกห่างก่อนแล้วค่อยถี่เข้าไปจนละเอียดอีกอย่าง ๑ และลางเพลงรัวมีกำหนดจังหวะ ลางเพลงรัวไม่กำหนดจังหวะเหล่านี้ผู้เขียนตำรายังไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็เพิกทำไว้ได้ภาคเดียวเท่านั้น

ในที่สุดของประทานยกย่องพระเจนดุริยางค์ในการที่พยายามแต่งตำราดุริยางค์อันยังไม่เคยมีในภาษาไทย และเป็นของต้องการนั้นขึ้น จะเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไปไม่น้อยเลย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ