วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๑๓ ตรัสบอกพระอาการประชวนหายไปให้ทราบ มีความยินดีเป็นล้นเกล้า เป็นอันสิ้นความวิตก พระอาการที่ยังบกพร่องอยู่นั้นเป็นแน่ที่จะกลับดีขึ้นได้อย่างเดิม หากกลับได้ช้าก็เกี่ยวด้วยพระชันษามากเท่านั้น ลำลึกถึงฝ่าพระบาทเป็นกำลัง ทั้งหลาน ๆ ด้วย เมื่อได้ทราบว่าสบายอยู่ด้วยกันหมดก็ดีใจ จะเขียนหนังสือถวายก็ติดจะยุ่งเต็มทีในหมู่นี้ เกี่ยวด้วยเรื่องฉลองพระนคร ไม่ค่อยปลอดโปร่งเลย ได้ยินหม่อมเจิมว่าจะเสด็จกลับวันที่ ๑๙ เพราะทรงเป็นห่วงงาน ใจหนึ่งยินดี เพราะมีธุระอะไรบ้างก็จะทูลปรึกษาได้ แต่อีกใจหนึ่งนึกไม่ค่อยชอบ อยากให้ทรงพักเสียนาน ๆ เพื่อบำรุงพระกาย

หญิงอามกับแม่โตสั่งให้กราบทูลถวายบังคมแทบฝ่าพระบาท

เรื่องต่อยหม้อ เรื่องทาหม้อขาว ที่ทรงค้นพบนั้นดีนัก ไม่เคยคิดเลยว่าจะสืบมาแต่ประเพณีทางอินเดีย แชบเตอร ๗ ที่ตรัสระบุไปให้อ่านนั้น จำต้องรอไว้หาเวลาอ่านเมื่ออื่น เวลานี้หาโอกาศไม่ได้

หนังสือฝรั่งมีมาใหม่ เรียกว่า The Siamese State Ceremonies แต่งดี จะส่งมาถวาย เกรงจะเป็นชิดดิฐ ไม่ทราบว่าใครถวายมาแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีใครถวายโปรดให้ทราบ จะส่งมาถวาย

ได้ไต่สวนเรื่องพระองคเจ้าภิมเสนต่อไป ได้ความยุ่งเหยิงในบัญชีพระอัฏฐิของภูษามาลา จดว่าพระองค์เจ้าภิมเสน ตรวจดูในโกศมีกระดาษหนาตัดจากหีบจดว่าหม่อมเจ้าพุมเสน และมีกระดาษเขียนหนังสืออย่างดีจดเป็นความเห็นคาดคะเนไว้ ว่าจะเป็นหม่อมเจ้าหลานสมเด็จพระพี่นางพระองค์เล็ก ดังได้คัดสำเนาถวายมานี้แล้ว เป็นอันว่าได้มีสงสัยขบกันไม่แตกมานานแล้ว

ได้สังเกตบัญชีพระอัฏฐิหอพระนาคของภูษามาลา เห็นมีเจ้านายอยู่ในนั้น ๓ พวก คือ ๑ เจ้านายปฐมวงศ แต่ก็มี ๑๐ พระองค์เท่านั้น ล้วนแต่มีกรมทั้งสิ้น ๒ เจ้านาย ลูกเธอวังหลวง ๕ รัชชกาล ลูกเธอวังหน้ามีแต่สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยพระองค์เดียว เห็นจะเป็นเพราะนับเป็นบรมวงศเขาด้วยแล้ว ๓ พระองค์เจ้าตั้งมีกรมและไม่มีกรม ๗ พระองค์ เป็นสกุลศิริวงศ์ ๕ องค์ กับกรมหมื่นปราบ และพระองค์เจ้าพิมเสน กรมหมื่นปราบนั้น ได้ความว่าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ส่งเข้ามาเมื่อต้นรัชชกาลนี้เอง

สันนิษฐานว่าที่หอพระนากนั้น เดิมทีจัดเป็นที่ไว้พระอัฏฐิเจ้านายลูกเธอวังหลวงเท่านั้น แต่ถึงเวลาสงกรานต์เสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน โปรดเกล้า ฯ ให้เชิญพระอัฏฐิที่อื่น ซึ่งทรงลำลึกถึง จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน เข้ามารวมตั้งในหอพระนากด้วย ดั่งจะเห็นได้ที่พระอัฏฐิสมเด็จพระสังฆราช นั่นก็มิได้อยู่ที่หอพระนาก แต่เชิญมาทุกปี เจ้านายปฐมวงศก่อนนั้นก็คงเชิญมาในเวลาสงกรานต์ภายหลัง ขาดลูกหลานที่เป็นหลักจะรักษา ก็เลยเก็บไว้เสียในหอพระนาก เจ้านายสกุลศิริวงศคงเป็นฝากไว้ ด้วยไม่มีลูกที่เป็นหลักจะรักษา และจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานอยู่เป็นประจำด้วย กรมหมื่นปราบก็ว่าก่อนที่เอาเข้ามาก็เคยเชิญเข้ามาสมทบทุกปี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

(สำเนา)

หม่อมเจ้าพิมเสนนี้ เคยได้ยินชื่อเคยเห็นจดหมายพระกระแสรัชกาลที่ ๔ ถามเจ้าหนูพิมเสนว่า พระอัฐิในหอพระนั้นเป็นพระอัฐิพระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร ฤๅพระอัฐิท่านทอง ทรงสงสัยอยู่ เจ้าหนูพิมเสนกราบทูลว่า ไม่ใช่พระอัฐิท่านทอง เป็นอัฐิพระอัยกาเป็นแน่ ดังนี้ จึงเห็นว่าคงจะเป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงพิทักษมนตรีฤๅกรมขุนอิศรานุรักษ์ ข้อที่อัฐิมาอยู่ในหอพระนาก น่าจะเป็นเพราะเกี่ยวเป็นพระญาติ แสดงจะทรงคุ้นเคยอย่างไร และจะไม่มีบุตรหลานที่จะรับไป จึงโปรดให้ฝากเก็บไว้ในหอพระนาก เข้าใจดังนี้

  1. ๑. หม่อมเจิม (สนธิรัตน์) ดิศกุล ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ