วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ดร

สำนักดิศกุล หัวหิน

วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๖ มีนาคม รู้สึกยินดีถึงชื่นใจ ด้วยออกมาอยู่ที่นี่นานวันเข้าถึงมีลูกมาอยู่ด้วยหลายคน เรื่องที่พูดกันมันหมดเข้า ที่เที่ยวเตร่ก็ไปเสียหมดทุกแหล่งแห่งตำบลจนจืด ออกรู้สึกจู๊ขึ้นทุกทึ ทำนองเช่นเขาเล่ากันว่าพวกที่ไปตรวจ North Pole เบื่อเรื่องที่เหมือนๆกันทุกวันๆ จนไม่อยากพูดกันเอง ได้รับและได้อ่านหนังสือที่ถึงอกถึงใจ จึงเป็นเครื่องให้ความยินดีอย่างหนึ่ง

เรื่องหม่อมเจ้าพิมเสนั้นชอบกลหนักหนา พิเคราะห์ดูในบันทึกเก่าที่ทรงคัดสำเนาประทานมา เห็นหลักฐานและข้อวินิจฉัยมีอยู่ดังนี้ คือ

๑. บันทึกนี้ทำเมื่อในรัชกาลที่ ๕ เพราะอ้างถึงรัชกาลที่ ๔ น่าจะเดาว่าทำบันทึกเมื่อตรวจพบอัฐิคราวซ่อมหอพระนาค เมื่องานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในข้อนี้หม่อมฉันเคยได้ยินสมเด็จกรมพระฯ เทววงศ์ ซึ่งเป็นนายด้านซ่อมหอพระนาคตรัสว่าพบอัฐิที่ในหอพระนาคนั้นยุ่งมาก บางทีพระอัฐิเจ้านาย ๒ พระองค์ ๓ พระองค์รวมไว้ในโถแก้วอันเดียวกัน มีฉลากรู้พระนามก็มี ไม่รู้พระนามก็มี ท่านจึงทรงพระดำริทำโกศตะกั่วปิดทองขึ้นให้พอจำนวน แล้วแยกพระอัฐิเจ้านายออกไว้องค์ละโกศ น่าจะพบอัฐิหม่อมเจ้าพิมเสนอยู่ในหอพระนาคคราวนั้น จึงสืบสวนเหมือนอย่างที่ท่านทรงสืบสวนคราวนี้

๒. ใครเป็นผู้เขียนบันทึกข้อนี้เห็นว่าต้องเปนผู้ใหญ่ที่มีกิจเกี่ยวข้องในการตรวจพระอัฐิ มิใช่ข้าราชการในกรมภูษามาลา หรือแม้ขุนนาง ต้องเป็นเจ้า เห็นมีอยู่แต่ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระองค์ ๑ กับสมเด็จกรมพระฯ เทววงศ์ พระองค์ ๑ ถ้าเป็นสมเด็จกรมพระฯ บำราบฯ คำที่เขียนว่า รัชกาลที่ ๔ เห็นจะว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ใช้คำว่า รัชกาลนั้น รัชกาลนี้ เป็นคำสมัยใหม่ ในชั้นนั้นควรจะเปนสมเด็จกรมพระฯเทววงศ์

๓. ที่อ้างในบันทึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสถามเจ้าหนูเจ้าพิมเสนว่าพระอัฐิในหอพระเปนอัฐิท่านทอง หรือพระอัฐิพระชนกสมเด็จพระศรีสุริเยนทร ข้อนี้หม่อมฉันทราบความประกอบทูลได้เปนแน่นอน ด้วยได้เคยฟังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว เสด็จขึ้นไปรับพระอัฐิท่านก๋งลงมาจากวังหน้า ได้โปรดให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเชิญลงมาและรับเอาไปไว้ที่พระตำหนักดังนี้ที่ตรัสถามเจ้าหนู เจ้าพิมเสน คงเป็นในวันที่เสด็จไปรับพระอัฐิท่านก๋งและเจ้าหนูพิมเสนนั้น เชื่อได้ว่าคงเป็นหม่อมเจ้าในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีหรือเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งอยู่ในวังหน้า เพราะมีเหตุทางวังหลวงเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกผ่านพิภพ พวกหม่อมเจ้าหญิงในกรมหลวงพิทักษมนตรี ทะนงตัวขึ้นเดิรหน้าพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้านายหญิงออกไปเฝ้าที่พลับพลาด้วยถือตัวว่าเป็นพระญาติสนิทกว่าถูกกริ้ว เก๊กให้ขึ้นไปอยู่วังหน้าทั้งนั้นหรือโดยมากหม่อมฉันยังได้ทันรู้จักบางองค์

๔. เจ้าพิมเสนที่อัฐิอยู่ในหอพระนาคจะเป็นหม่อมเจ้าพิมเสนองค์ที่อ้างในบันทึก หรือเป็นหม่อมเจ้าในกรมอื่นซึ่งทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง หากมีความชอบอย่างหนึ่งอย่างใดในรัชกาลใดรัชกาลหนึ่ง จึงโปรดให้รับพระอัฐิไว้ในหอพระนาค ข้อนี้หม่อมฉันไม่หายสงสัย ถ้าเป็นหม่อมเจ้าพิมเสนในกรมหลวงพิทักษมนตรี ต้องสิ้นชีพในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ ทีเดียว ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รับอัฐิมาไว้ในหอพระนาคก็จะเป็นด้วยมีความชอบพิเศษกว่าในหม่อมเจ้าองค์อื่นในกรมหลวงพิทักษมนตรี จึงทูลได้แต่ว่าไม่แน่ใจ ดังนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์เจ้าชายเทวัญอุไทยวงศ์ ต้นสกุล “เทวกุล”

  2. ๒. สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เจ้าฟ้าชายกลาง ต้นสกุล “มาลากุล”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ