วันที่ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ดร

วังวรดิศ

วันที่ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

บัญชีพระศพเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ได้ใส่โกศต่าง ๆ ที่ประทานมานั้น หม่อมฉันได้พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าแต่ก่อนเห็นจะแล้วแต่ท่านผู้บัญชาการพระราชพิธีสั่งให้ใช้โกศใบไหน ตามนึกเห็นว่าสมควรในขณะนั้น นอกจากพระศพผู้ซึ่งมีเกียรติยศสูงสุดไม่มีหลักมีเกณฑ์อันใด ซ้ำมาขยายออกไปในตอนรัชชกาลที่ ๖ ก็เลยเลือนใหญ่ ถ้าตั้งหลักเสียสักทีก็จะดี และไม่ยากที่จะตั้ง ไม่ต้องมีพระราชบัญญัติหรือประกาศอันใดเป็นแต่วางหลักไว้ให้เป็นยุตติโดยพระบรมราชานุมัติ รู้กันแต่ในเจ้าพนักงานบัญชาการพระราชพิธี เท่านั้นก็เป็นเพียงพอ.

เรื่องเรียกชื่อโกศต่างๆ หม่อมฉันนึกว่ายังมีพลาดซึ่งควรจะวางระเบียบอยู่ ๒ โกศ คือ

๑. โกศรองทรง ไม่ควรจะเรียกทีเดียว ควรจะเรียกว่าทองใหญ่เหมือนกันทั้ง ๒ ใบ เพราะที่จริงศักดิ์เสมอกัน ถ้าเรียกว่ารองทรงใบ ๑ ชวนให้ศักดิ์พระศพซึ่งใช้โกศรองทรงต่ำไป เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศเป็นต้น โกศอื่นเช่นโกศทองน้อยก็ทำเพิ่มขึ้นอิกใบ ๑ เหมือนอย่างพระโกศรองทรง ก็ยังเรียกว่าทองน้อยเหมือนกันทั้ง ๒ ใบ หลักที่จริงนั้นพระโกศรองทรงก็ทำขึ้นสำหรับจะใช้อย่างพระโกศทองใหญ่นั้นเอง คือในเวลาเมื่อแห่พระศพเจ้านายทรงศักดิ์สูง ๒ พระศพ ๒ พระองค์พร้อมกัน เช่นเมื่องานพระศพ สมเด็จกรมพระยาสุดารักษ์ฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศเป็นตัวอย่าง.

๒. ที่เรียกว่าโกศลุ้ง โกศสี่เหลี่ยมและโกศราชวงศ เป็น ๓ อย่างชวนให้สงสัย ด้วยเดิมโกศลุ้งนั้นหุ้มผ้าขาว ฝาเป็นฉัตร, ตั้งไม่มีประกอบ หม่อมฉันยังจำได้อยู่ประกอบโกศลุ้งซึ่งเรียกว่าโกศราชวงศนั้น สมเด็จกรมพระยาบำราบ ฯ โปรดให้ทำขึ้นประกอบลุ้งพระศพพระองค์เจ้าสิงหนาทเป็นครั้งแรก ด้วยเจ้าพระยาเทเวศรฯ กราบทูลวิงวอน ถ้าจะว่าในปัจจุบันนี้ควรมีแต่ ๒ อย่าง คือ โกศลุ้งหรือจะเรียกว่าอย่างไรก็ตามหุ้มผ้าขาว ไม่มีประกอบอย่าง ๑ โกศราชวงศ์ซึ่งมีประกอบอย่าง ๑ ส่วนโกศสี่เหลี่ยมนั้นของเดิม เป็นแต่ลองในใส่พระศพที่ใหญ่โตต้องประกอบด้วยโกศมณฑป ไม่ได้ใช้โดยลำพังว่าเป็นโกศสี่เหลี่ยม

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ