วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ดร

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ขอถวายรายงานฉบับที่ ๒ จากเมืองลำพูน กำลังหูผึ่งด้วยได้เห็นของแปลกปลาด ซึ่งมิได้สังเกตเมื่อมาคราวก่อน แลไม่ได้คาดว่าจะมี ได้ออกปากปรารภแก่ลูกแลผู้ที่มาว่าคิดถึงเหลือประมาณ จึงเขียนจ.ม.ฉบับนี้มาถวายต่างส่งวิทยุโทรเลข

สิ่งซึ่งเปนเหตุให้หูผึ่งนั้นคือที่ได้มาพบของอันมีหลักถาน น่าเชื่อว่าเปนของครั้งนางจามเทวี ฯ ยังมีอยู่หลายสิ่ง จะทูลเปนรายสิ่งไป คือ

๑. พระพุทธรูปลโว้ มีในหนังสือจามเทวีวงศ์และอื่น ๆ ฯลฯ ว่าเมื่อนางจามเทวีขึ้นมาจากเมืองลโว้ ได้เชิญพระพุทธรูปขึ้นมาด้วย ที่วัดในวัดพระมหาธาตุหริภุญไชยก็มีวิหารหลัง ๑ เรียกว่า วิหารลโว้ กล่าวกันในพื้นเมืองว่าเปนที่ไว้พระพุทธรูปที่นางจามเทวีเชิญขึ้นมา ได้เฃ้าไปตรวจดู พระองค์นั้นเปนพระยืนสูงขนาดเท่าคน เปนของหล่อที่พระกร แต่ที่อื่นปั้นประกอบ ไม่มีหลักฐานว่าจะเปนพระเก่าพวกไหน เจ้านครลำพูนกระซิบบอกว่า องค์นั้นมิใช่พระลโว้ องค์เดิมจริง ๆ นั้นเขาซ่อนไว้ที่ในหอธรรม จึงให้เปิดเข้าไปตรวจดู พระที่ว่าเปนพระลโว้แท้ เปนพระยืนขนาดย่อมสูงสัก ๒ ศอกเศษพอดูได้ แต่เปนฝีมือช่างเชียงแสนมิใช่ฝีมือลโว้ ครั้นไปดูในมิวเซียมที่เขาจัดรวบรวมศิลาจาฤกและของโบราณต่างๆ อันหาได้ในเขตรเมืองลำพูนไว้ในวัดมหาธาตุนั้น จึงไปพบพระลโว้องค์จริงเปนพระหล่อขนาดสูงเท่าคน พระภักตรเปนฝีมือขอมเมืองลโว้ พระหัดถ์นิ้วทำวงจักรอย่างพวกพระที่พระปฐมเจดีย์ แต่เสียใจที่ชำรุดไม่มีพระองค์ เหลืออยู่แต่พระเศียรกับพระอุระ พระหัดถ์ ๒ ข้าง และพระบาท ๒ ข้าง หล่อด้วยทองสัมฤทธิเนื้อเดียวกัน เปนพระลโว้ไม่มีที่สงสัย ถ้าหากนางจามเทวีได้เชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจริงดังกล่าว คงต้องเปนพระองค์นั้นเองมิใช่องค์อื่น ได้บอกความให้เจ้าลำพูนคิดอ่านรักษาไว้ให้จงดี

๒. วัดกู่กุฎ จะต้องอธิบายชื่อก่อน คำว่า กู่ นี้ทางมณฑลนี้เรียกมณฑปหรือเจดีย์เหลี่ยม และที่ฝังอัฐิธาตุ เรียกว่ากู่ทั้งนั้น พระเจดีย์หรือพระธาตุนั้น หมายว่าเจดีย์กลม ชื่อที่เรียกวัดกู่กุฎ เขาอธิบายว่าเพราะวัดนั้นมีกู่แต่ยอดกุด จึงเรียกว่าวัดกู่กุด อยู่นอกเมืองลำพูน ทางทิศตวันตกห่างเมืองไปไม่ถึงกิโลเมตร ที่ในวัดพระมหาธาตุมีศิลาจาฤกภาษามอญ ได้มาจากวัดกู่กุดนี้แห่ง ๑ วันนี้ไปที่วัดกู่กุด ไปพบศิลาจาฤกภาษามอญยังจมดินอยู่ที่ริมกู่กุดอิกแห่ง ๑ ได้สั่งให้เขาขนมา โปรเฟสเซอร์ เซเดส์ กำลังจะพิจารณาต่อไป ตัวกู่กุดนั้นเปนปรางชั้นอย่างพุทธคยา ฯ ก่อด้วยศิลาแลง ของก่อด้วยศิลาแลงที่ได้พบมาในมณฑลนี้ มีแต่พระธาตุหริภุญไชยกับกู่กุดที่กล่าวนี้แต่ ๒ แห่งเท่านั้น นอกนั้นก่ออิฐทั้งนั้น เพราะฉนั้นกู่กุดนี้ เปนของชั้นเก่าอิกสิ่ง ๑ เปนแน่ ได้ถ่ายรูปไว้ด้วย คงจะได้ทอดพระเนตรเห็น ที่ถัดกู่กุดออกมามีกู่ขนาดย่อมตั้งท่าจะทำเลียนแบบกู่กุดอิกกู่ ๑ แต่ก่อด้วยอิฐ ที่กู่นี้เห็นว่าจะเปนที่ฝังอัฐิธาตุเจ้าเมืองชั้นเชื้อวงศ์นางจามเทวี ได้ถามเจ้าลำพูนว่ายังมีกู่ฝังอัฐิธาตุเจ้าเมืองชั้นโบราณอยู่ที่ใดบ้าง ชี้แจงว่ายังมีอิกแห่ง ๑ เรียกว่ากู่พญาอาทิตย อยู่นอกเมืองเหมือนกัน อยู่ต่อไปข้างทิศใต้ แต่ของที่ก่อสร้างไว้ไม่มีอะไรเหลือมีแต่เนินดิน

๓. ที่ในมิวเซียมวัดพระมหาธาตุ มีของเก่าๆที่น่าดูหลายอย่างมาก มีหน้านางขอมทำด้วยเงินสลักหน้า ๑ เหมือนอย่างพระนครวัด งามพอใช้ ของสัมฤทธิเปนเครื่องตามประทีป หม้อเผาเครื่องหอม และถานปักธงมีหลายอัน บางอันมีจาฤกว่าสร้างเมื่อจุล ฯ ๘๐๐ เศษ ศิลาจาฤกที่เขารวบรวมมาไว้มีถึง ๑๑ แผ่น เปนภาษามอญ ๔ แผ่น โปรเฟสเซอร์เซเดส์ กำลังอัดกระดาษกับตรวจหนังสือพระธรรมที่ในวัดมหาธาตุ ไม่ได้ทำการอื่นทีเดียว

เวลาบ่ายวันที่ ๒ นี้ได้ไปดูพระยืนซึ่งในหนังสือชินกาลมาลินีกล่าวว่า พระสมณเถรซึ่งมาจากเมืองศรีสัชนาลัยที่มาให้บรรพชาแปลงสงฆ์ในเมืองเชียงใหม่เปนลังกาวงศ์ได้มาพักอยู่ ไปพบศิลาจาฤกอิก ๒ แผ่น เปนเรื่องวัดนั้นเอง จาฤกเมื่อศักราชตรงปลายรัชกาลพระเจ้าอู่ทองแผ่น ๑ เขาขุดพบใหม่ที่ใกล้วัดนั้นอิกแผ่น ๑ แผ่นที่พบใหม่จุล ฯ ๘๔๐ แต่เรื่องว่ากะไรยังไม่ได้อ่าน ให้รีบขนมารวมอัดสำเนาที่วัดพระมหาธาตุ วัดพระยืนนั้นก็เปนวัดชั้นเก่า มีมณฑปมุข มีรูปพระยืนทั้ง ๔ ทิศ ทรงสัณฐานของมณฑปเห็นได้ว่าจำลองมาแต่อานันทวิหารเมืองพุกาม

ยังมีอิกวัดหนึ่ง เรียกกันว่าวัดดอน แต่ได้ความในศิลาจาฤกเรียกว่าวัดเชตวัน หักพังเหลือแต่กองดิน เปนวัดร้าง แต่พบพระพุทธรูปศิลารุ่นเก่าจมดินอยู่ นึกว่าขุดเห็นจะยังได้ของโบราณ แต่จะต้องคิดต่อไป เที่ยวนี้ไม่มีเวลา ด้วยวันที่ ๓ พรุ่งนี้ ได้กำหนดจะไปเชียงใหม่เสียแล้ว

หวังใจว่าจะทรงเปนสุขสบายดีอยู่ ลูก ๆ พากันบ่นถึงเสด็จอาว์เนือง ๆ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ