วันที่ พ.ศ. ๒๔๖๔ ดร

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ

ขอถวายรายงานเปนฉบับที่ ๔ เฉพาะเรื่องเมืองตากที่ได้มาตรวจตรารู้เห็นในคราวนี้

เมืองตากมีเปน ๒ เมือง คือ เมืองตากเก่าตั้งอยู่ฝั่งตวันตกที่ริมห้วยแม่ตาก และหมู่บ้านตำบลนั้นเรียกชื่อว่าบ้านตาก เมืองตากใหม่ตั้งอยู่ฝั่งตวันออกที่บ้านระแหง ใต้เมืองตากเก่าลงมา ระยะทางเรือล่องวัน ๑ เหตุใดเมืองตากจึงเปน ๒ เมือง เมื่อพิจารณาดูภูมิลำเนาประกอบกับแผนที่ เห็นว่าเมืองตากเก่านั้นจะเปนเมืองของประเทศที่มีอำนาจอยู่ทางตวันตก เช่น ประเทศพุกาม หรืออย่างต่ำก็พวกเมืองสอด (ที่มีในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง อันเดี๋ยวนี้เรียกว่าด่านแม่สอด) มาตั้งเปนเมืองด่านทางแม่น้ำปิง ที่เห็นเช่นนี้เพราะตั้งเมืองทางฝั่งตวันตก และที่ตั้งเมืองนั้นอยู่พอใต้ปากน้ำวัง ตรงหนทางร่วมที่จะไปมากับประเทศลานนา ส่วนเมืองตากที่ลงมาตั้งบ้านระแหงนั้น เปนเมืองไทยตั้ง เพราะอยู่ทางฝั่งตวันออก และที่บ้านระแหงเปนทางใกล้ที่จะไปมากับเมืองพม่า คงตั้งเมื่อภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อไทยไปมาติดต่อกับพม่า มีหลักฐานมั่นคง ว่าย้ายเมืองตากลงมาอยู่ที่บ้านระแหงแต่ครั้งกรุงเก่า ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อเปนพระยาตากก็อยู่ที่บ้านระแหง ที่จวนเขายังชี้บอกให้จนทุกวันนี้

ในพงศาวดารกล่าวถึงเมืองตากที่เปนสำคัญ ๒ แห่ง คือ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง กล่าวว่าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไปรบเสียที พ่อขุนรามคำแหงขี่ช้างเข้าชนช้างพลายชื่อมาศเมืองของขุนสามชนชนะจึงได้แก้ไว้ได้ เรื่องตอนนี้เปนเรื่องเมืองตากเก่า อยากจะสันนิษฐานว่าเมืองตากเดิมเปนเมืองขึ้นของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตั้งเปนอิศรได้ที่เมืองศุโขทัย ทำนองจะชิงเมืองตากจากขุนสามชน ๆ จึงมาตีคืน จึงเกิดรบกันด้วยเหตุนั้น แต่อย่างไรก็ดีมีของสำคัญอยู่ที่เมืองตากเก่าอย่าง ๑ คือ มีพระเจดีย์เหมือนอย่างแบบศุโขทัยสร้างไว้บนยอดดอยองค์ ๑ สูงสัก ๑๐ วา ยังอยู่บริบูรณ์ดี พวกชาวเมืองไม่รู้จักเรียกกันว่าพระปรางค์ และไม่มีใครรู้ว่าใครสร้าง รูปแลสันฐานเหมือนพระเจดีย์องค์กลางซึ่งพ่อขุนรามคำแหงสร้างไว้ในวัดเจดีย์เจ็ดยอดแถวเมืองศรีสัชนาลัยและพระเจดีย์ที่วัดตระพังเงินเมืองศุโขทัยไม่มีผิด ลายปั้นน่าราหูยังอยู่บริบูรณ์ดี สันนิษฐานว่าจะเปนพระเจดีย์สร้างเฉลิมพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง ที่ชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดที่เมืองตาก แต่จะสร้างในรัชกาลไหน ข้อนี้สงสัยอยู่แต่คงในราชวงศ์พระร่วงสร้าง

เรื่องเมืองตากใหม่นั้นมีในหนังสือพงษาวดาร ตอนพระเจ้ากรุงธนบุรีไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีมะเมีย จุล ฯ ๑๑๓๖ เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่บ้านสวนมะม่วง ไปประพาสที่วัดเขาแก้ว มีรับสั่งถามพระว่า จำได้หรือไม่ เมื่อครั้งเสด็จอยู่บ้านระแหงได้อธิษฐาน ได้ตีระฆังแก้วแตกแต่ที่จุกได้สมปราถนา มาคราวนี้ได้ไปดูที่วัดเขาแก้วนั้น เปนวัดอยู่บนเนินเขาอัน ๑ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตวันตกตรงเมืองตากใหม่ข้าม ห่างลำแม่น้ำประมาณสัก ๖ เส้น เปนเนินสูงสัก ๑๐ วา แต่ยืนยาวลงมาตามแนวแม่น้ำเห็นจะสัก ๑๐ เส้น จึงขุดเนินที่วัดเขาแก้วนั้นยังมีพระอุโบสถ ใบเสมา ๒ ชั้น แบบวัดหลวง-แต่เปนอย่างย่อม ๆ ฝีมือก็อยู่ข้างหยาบ แต่น่าเชื่อว่าคงเปนของพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างไว้ เขาบอกว่าบนเนินนั้น ข้างตอนใต้ลงมายังมีวัดโบราณอิกหลายวัด จึงลงเรือมาขึ้นดูข้างท้ายเนิน ขึ้นไปพบวัดเก่าอยู่ตอนใต้ที่สุดวัด ๑ พระอุโบสถมีเสมา ๒ ชั้นอย่างวัดหลวงท่วงทีอย่างเดียวและขนาดก็เห็นจะเท่ากันกับพระอุโบสถวัดเขาแก้วที่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้าง แต่ฝีมือดีกว่า มาพบของปลาดทำให้หูผึ่งขึ้นที่วัดนี้ คือที่กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถมีช่องแต่งประทีป เหมือนอย่างเช่นที่พระนารายณ์ราชนิเวศรายเปนระยะทั้งสี่ด้าน เปนเหตุให้คิดว่าจะเปนวัดของสมเด็จพระนารายณ์สร้าง เลยแลเห็นตลอดไปถึงเหตุที่สร้างพระอุโบสถทั้ง ๒ นั้นด้วย คือทั้งสมเด็จพระนารายณ์แลพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นมาถึงเมืองตาก ในการตีเมืองเชียงใหม่เหมือนกัน และตีเมืองเชียงใหม่ได้เช่นกัน สมเด็จพระนารายณ์เห็นว่าสร้างพระอุโบสถไว้เปนที่รฦกครั้งตีเมืองเชียงใหม่ได้เปนตัวอย่าง พระเจ้ากรุงธนจึงสร้างอุโบสถวัดเขาแก้วเปนการเจริญรอย พ้นพระอุโบสถของสมเด็จพระนารายณ์ไปข้างเหนือห่างประมาณสักเส้น ๑ มีวิหารน้อยหลัง ๑ ต่อวิหารมีฐานตั้งพระเจดีย์ขนาดสูงสัก ๕ วาเรียงกันอยู่บนฐานเดียว ๒ องค์ พระเจดีย์เปนฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า เปนเจดีย์สี่เหลี่ยม พวกไม้เรียงขวดน้ำ แต่ฐานแคบ ส่วนฐานที่รองพระเจดีย์นั้นมีช่องตามประทีปรายรอบทั้งสี่ด้าน ส่อให้เห็นว่าเปนของสร้างหรือปฏิสังขรณ์ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ พ้นพระเจดีย์คู่ไปทางฃ้างเหนืออิกสักเส้น ๑ มีพระเจดีย์เดี่ยวองค์หนึ่งฐานสี่เหลี่ยม องค์พระเจดีย์รูปจะเปนอย่างไรพังเสียหมดแล้ว แต่ประมาณตามขนาดฐานเห็นจะสูงราวสัก ๑๐ วา ถ้าจะเดาเลยต่อไปก็มีเค้าเงื่อนอยู่บ้าง เอาเหตุกรุงศรีอยุธยาได้เมืองเชียงใหม่ตั้งเปนหลัก นอกจากครั้งสมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชา กับสมเด็จพระนเรศวรอิก ๒ ครั้ง พระเจดีย์องค์เดี่ยวเปนครั้งสมเด็จพระไชยราชาองค์คู่เปนครั้งสมเด็จพระนเรศวรดูก็เหมาะอยู่

เดิมไม่ได้คาดว่าจะมีอะไรน่าดูที่เมืองตาก รู้สึกว่าเปนลาภที่มาค้นพบจึงได้รายงานมาถวาย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เป็นเมืองไม่มีป้อมปราการทั้ง ๒ เมือง มีแต่รอยเชิงเทินค่ายทำบรรจบกับเนินเขาลูกเล็กๆ อันมีอยู่ริมน้ำทางฝั่งตวันตกทั้ง ๒ เมือง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ