วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ดร

วันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ขอถวายรายงานตรวจเมืองพิจิตรเก่า ซึ่งได้ไปเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม โดยข้อความต่อไปนี้

๑. เมืองพิจิตรเก่ากับเมืองพิจิตรใหม่ห่างกันสัก ๑๕๐ เส้น บึงสีไฟคั่นอยู่กลางทาง ที่ไปจากเมืองพิจิตรใหม่น่าแล้งตัดตรงไปได้ แต่น่าน้ำจนน่านี้ต้องอ้อมไปทางหัวบึง ซึ่งพระยาเทพาธิบดี อิ่ม ได้ทำถนนไว้แล้ว ไปจนถึงลำน้ำเก่าแล้วเลียบลงไปหาเมืองพิจิตรเก่า รวมระยะทางเดินจากเมืองพิจิตรใหม่ราว ๓๐๐ เส้น

๒. เมื่อถึงฝั่งลำน้ำเมืองพิจิตรเก่า แลเห็นก็เข้าใจได้ทันทีว่าเหตุใดราษฎรจึงไม่อพยบตามมาอยู่เมืองพิจิตรใหม่ เหตุนั้นเพราะตอนริมน้ำเก่าเปนที่ดอนทั้งสองฝั่ง ตั้งบ้านเรือนทำเรือกสวนได้บริบูรณ์ หลังออกไปถึงที่ต่ำชายบึงก็เปนที่นา ดูบ้านช่องยังหนาแน่นตลอดทาง

๓. แม่น้ำพิจิตรเก่านั้นเปนที่เสียใจ เดี๋ยวนี้บางแห่งแคบกว่าคลองหลอด บางแห่งก็ยังกว้าง แต่น้ำขาดเปนห้วงเปนตอน นับว่าใช้ไม่ได้ทั้งฤดูน้ำแลฤดูแล้ง

๔. เมืองพิจิตรเก่านั้น ตั้งอยู่ทางฝั่งตวันออกฝั่งเดียวเปนเมืองขนาดใหญ่ มีแนวกำแพงเมืองถึงสองชั้น เหลือแต่เทินดินอิฐหักมีบ้างเล็กน้อย เห็นจะเปนตรงป้อมหรือประตู คงใช้เสาระเนียดแทนกำแพงเมือง.

๕. ได้ไปที่วัดมหาธาตุ มีพระวิหารหลวงหลังหนึ่ง ๙ ห้อง พระประธานน่าตักราว ๖ ศอก ตั้งอยู่ห้องที่ ๓ หลังพระประธานเปนท้ายจรนำหลังพระวิหารหลวงต่อไปถึงพระมหาธาตุเก่า ฐานสี่เหลี่ยมเปนทักษิณ ๒ ชั้น องค์พระเจดีย์กลมทรงลังกามีรอยพอกเพิ่มให้ใหญ่สูง ที่พอกหักพังแลเห็นได้ทั้งองค์เดิมและที่พอกเติมใหม่ ประมาณขนาดองค์ใหม่ เห็นจะเท่าพระเจดีย์วัดบวรนิเวศ ฯ แต่ฐานทักษิณพระมหาธาตุเมืองพิจิตรเตี้ยกว่า ต่อพระมหาธาตุไปทางตวันออกถึงพระอุโบสถหลังย่อมๆ ใบเสมาสองชั้น หินใบเสมาและแบบอย่างใบเสมาเปนของศุโขไทย ในบริเวณดูเหมือนรอบพระมหาธาตุจะมีพระระเบียง หรือมิฉนั้นก็กำแพงแก้ว รอบพระวิหารหลวงนั้นมีพระเจดีย์ราย มีกระพังกรุอยู่น่าวัดแห่งหนึ่งในบริเวณวัดข้างด้านใต้แห่งหนึ่ง ได้พบรอยภาพรูปปั้นครึ่งซีกเปนรูปตัวเทวดาที่ข้างพระเจดีย์ เข้าใจว่าเห็นจะเปนเครื่องประดับนั้นทักษิณ ของที่ก่อสร้างใช้อิฐปูนทั้งนั้น ไม่พบศิลาแลง

๖. ได้ไต่ถามชาวบ้านถึงของที่ขุดพบได้ความจากหลวงม่รฎกว่าเมื่อครั้งบิดาได้ขุดพบเงินบาทหนึ่งในวัดมหาธาตุนั้น ได้นำมาให้ดูเปนเงินบาทรีมี ๕ ตรา สังเกตตรามีรูปดอกจันทน์ตรา ๑ นอกนั้นจะเปนรูปอะไรดูไม่ออก แต่มิใช่รูปช้าง น้ำหนักเงินบาทนั้นราว ๑๐ สลึง เท่าเงินขาคีมขาหนึ่ง

เมื่อได้ตรวจดูเมืองพิจิตรเก่าแล้ว แน่ใจตามความสันนิฐานที่ได้คาดไว้แต่ก่อนว่า เปนเมืองสร้างครั้งศุโขไทย คือที่เรียกว่าเมืองสระหลวงในจาฤกของพ่อขุนรามคำแหงนั้นเอง วัดมหาธาตุนั้นเห็นจะสร้างมาก่อนแล้ว พระเจ้าธรรมราชาลิไทยมาทรงบุรณะปฏิสังขรณ์ คือสร้างพระวิหารหลวงแลพอกพระเจดีย์ เขาว่ายังมีวัดเก่าอิก ๒-๓ วัดแต่ไม่เปนวัดใหญ่เท่าวัดมหาธาตุ ไม่มีเวลาจะไปดู เพราะจะต้องกลับมาจับรถไฟไปเมืองพิศณุโลก แต่ก็ได้ความรู้คุ้มกับที่ได้พยายามไปดูแล้ว ขอถวายพระราชกุศล

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ