คำอธิบาย
โคลงนิราศพระยาตรัง หรือโคลงนิราศถลางนี้ พระยาตรังกล่าวถึงสาเหตุการเดินทางว่าเพื่อไปรับศึกพม่าที่เมืองถลาง โดยไม่ระบุวัน เวลาไว้ในโคลงบทสุดท้าย ความว่า
๑๒๖
๏ ร้อยยี่สิบหกสิ้น | แบบฉบับ โคลงแฮ |
นิราศตรังไปรับ | เศิกสู้ |
ฉลางบอกแห่งเหตุทัพ | พุกามติด ฉลางนา |
ควรแก่ส่ำปราชญ์ผู้ | อ่านอ้างอวยผล ฯ |
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีศึกพม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง ๒ ครั้ง คือ
๑. ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ คราวพระเจ้าปะดุงให้จัดทัพยกมาตีไทย ๙ ทัพพร้อมกันจากเหนือจรดใต้ จึงเกิดเป็นศึกถลางขึ้น ซึ่งศึกถลางครั้งนี้เป็นศึกที่เกิดวีรสตรีไทย ๒ ท่าน คือ ท้าวเทพสตรีและท้าวศรีสุนทร
๒. ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ โดยมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากช่วงปลายรัชกาลที่ ๑ พระเจ้าปะดุงเห็นว่าไทยอ่อนแอลง เพราะสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตแล้ว ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ทรงพระชราภาพ จึงโปรดให้เตรียมเกณฑ์กำลังพลยกทัพมาตีไทย ประจวบเป็นเวลาไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่ พม่าจึงยกทัพมาตีหัวเมืองชายทะเลตะวันตก
สำหรับโคลงนิราศพระยาตรังนี้ เข้าใจว่าพระยาตรังแต่งเมื่อคราวศึกถลางครั้งที่สอง พศ. ๒๓๕๒ เพราะมีชื่อสถานที่ซึ่งเป็นหลักฐานอ้างอิงถึงช่วงเวลาได้ คือ พระยาตรังกล่าวถึงวัดราชบุรณะ ความว่า
๒๐
๏ วัดราชบุรณะเบื้อง | บุญใคร ทำนา |
นามราชฤาราชใด | สืบสร้าง |
วัดราชบุรณะนี้เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดเลียบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร” เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๖ ดังนั้น ชื่อวัดราชบุรณะนี้จึงเป็นชื่อที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ศึกถลาง ครั้งที่ ๑ เกือบสิบปี ทำให้เชื่อได้ว่าพระยาตรัง แต่งโคลงนิราศถลางขึ้นเมื่อมีราชการทัพไปรบพม่าในศึกถลางครั้งที่สอง[๑]
การศึกพม่าใน พ.ศ. ๒๓๕๒ นี้ เกิดขึ้นภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๒ เดือน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงการเตรียมรับศึกว่า “ครั้นใบบอกข่าวศึกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ จึงโปรดให้พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ์ เป็นข้าหลวงรีบลงไปเกณฑ์กองทัพเมืองไชยาแล้วยกข้ามแหลมมลายูไปทางปากพนม ไปช่วยรักษาเมืองถลางก่อน แล้วเกณฑ์กองทัพกรุงเทพฯ ให้พระยาท้ายน้ำเป็นทัพหน้า เจ้าพระยายมราช น้อย ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นแม่ทัพลงเรือไปขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช เกณฑ์กองทัพเมืองนครฯ และเมืองขึ้นไปช่วยเมืองถลางอีกทัพ ๑ แล้วให้เกณฑ์กองทัพวังหน้า ให้พระยาจ่าแสนยากร บัว เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ ยกเดินบกลงไปช่วยเมืองปักษ์ใต้ทัพ ๑ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีกับเจ้าพระยาพลเทพลงไปรวบรวมพลจัดเป็นกองทัพที่เมืองเพชรบุรีอีกทัพ ๑ คอยต่อสู้พม่าเผื่อจะยกมาทางด่านสิงขร แล้วให้เกณฑ์คนเข้ากองทัพหลวง ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ เป็นจอมพล ทัพนี้เข้าใจว่าเดิมเตรียมสำหรับต่อสู้พม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ก่อน ครั้นสืบไส้ความแน่ว่าพม่าไม่ได้ตระเตรียมจะยกมาทางอื่น นอกจากลงไปตี หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกจึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวงลงไปทรงบัญชาการสงครามข้างฝ่ายใต้ รวมจำนวนพลที่ยกไปจากกรุงเทพฯ ทุกทัพเป็นคน ๒๐,๐๐๐ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลานั้น มรสุมลงเสียแล้ว เสด็จโดยทางชลมารคได้เพียงเมืองเพชรบุรีแล้วจึงเสด็จขึ้นบก ยกตามกองทัพพระยาจ่าแสนยากรลงไปเมืองชุมพร”[๒]
ในการศึกครั้งนี้เข้าใจว่าพระยาตรังไปในกองเรือย่อย ไม่ใช่กองทัพหลวง เพราะใช้เส้นทางเดินทัพต่างจากที่นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) แต่งโคลงนิราศนรินทร์ เมื่อตามเสด็จทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ไปในศึกครั้งนี้ด้วย โดยเส้นทางในโคลงนิราศนรินทร์นั้นไปทางคลองบางกอกใหญ่ออกทะเลที่ปากแม่น้ำแม่กลองถึงเมืองเพชรบุรี แล้วขึ้นบกเดินทางไปจนถึงเมืองตะนาวศรี เป็นสิ้นสุดการเดินทาง ส่วนเส้นทางเดินทัพของพระยาตรังนั้น เข้าคลองลัดไปทางเมืองสมุทรปราการจนถึงปากน้ำ แล่นเลียบไปตามชายฝั่งทะเลตะวันออกก่อน แล้วจึงตัดข้ามทะเลเลียบไปตามชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ถึงจังหวัดชุมพร จึงสิ้นสุดการเดินทาง
ลักษณะคำประพันธ์โคลงนิราศพระยาตรังนี้ พระยาตรังแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพจำนวน ๑๒๖ บท มีร่ายนำ ๑ บท เนื้อความเริ่มด้วยบทชมเมือง และยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ จากนั้นแสดงความอาลัยที่ต้องจากนาง แล้วกล่าวถึงการเดินทางโดยทางเรือ ผ่านวัดสามปลื้ม ฉางเกลือ วัดทอง วัดราชบุรณะ วัดดอกไม้ เข้าคลองลัด ผ่านช่องนนทรี พระประแดง สำโรง เมืองสมุทรปราการ จนถึงปากน้ำ แล้วแล่นเลียบไปตามชายฝั่งทะเลตะวันออก บรรยายถึงเกาะและภูเขาต่างๆ ที่ได้พบเห็น อาทิ เกาะสีชัง เขาสามมุข เกาะคราม เกาะไผ่ แล้วตัดข้ามทะเลไปชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ที่ปราณบุรี เขาเจ้าลาย เกาะนมสาว เขาสามร้อยยอด อ่าวเกลียวไปจนถึงเกาะทะลุและแหลมไทร สุดท้ายจึงพรรณนาความในใจตามแบบนิราศโดยไม่อ้างถึงสถานที่นับเป็นโคลงนิราศที่ดีเด่นเรื่องหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ไพเราะยอดเยี่ยมเท่าโคลงนิราศนรินทร์ และไม่ค่อย มีโวหารเด่นๆ ตลอดจนความเฉิดฉายทางภาษาและอักษรศาสตร์อย่างโคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยก็ตาม
โวหารดีเด่นในโคลงนิราศพระยาตรัง ได้แก่
๒๔
๏ โฉมแม่ถอดรูปไว้ | ในตา พี่ฤๅ |
รสโอษฐ์โบกนาสา | ซาบซ้ำ |
ถนัดเสียงนาฏเสาวนา | เสนาะโสต อยู่แม่ |
ตรงที่กายเรียมปล้ำ | ปลอบห้วงรสสมร ฯ |
๑๑๙
๏ ศรีปราชญ์นิราศท้าว | จุฬาลักษณ์ |
ร่ำเรื่องร่ำรักทุก | น่านกว้าง |
ทวาทศมาสศักดิ์ | สามปราชญ์ รังแฮ |
ยังไป่ปานเรียมร่าง | ร่ำไห้หาสมร ฯ |
๑๒๑
๏ เออองค์อมเรศท้าว | จัตุรพักตร์ พ่ออา |
โฉมแม่ยังเยาว์นัก | ใหญ่หน้า |
เยียวองค์ราชไตรจักร | จักเสน่ห์ นางพ่อ |
ฝากแม่ใส่หีบฟ้า | ซ่อนไว้ทวีปพรหม ฯ |
โคลงนิราศพระยาตรัง หรือ โคลงนิราศถลาง พิมพ์ครั้งแรกพร้อมกับโคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย เมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ในหนังสือวชิรญาณ ต่อมาได้มีการพิมพ์เผยแพร่เรื่องนี้อีก ๓ ครั้ง กระทั่งมีการจัดพิมพ์หนังสือวรรณกรรมพระยาตรังใน พ.ศ. ๒๕๔๗ นี้ ได้ตรวจสอบชำระกับต้นฉบับสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในหมวดวรรณคดี หมู่โคลง (นิราศ) ชื่อเรื่องถลาง (พระยาตรังตามเสด็จไปทัพเมืองถลาง) จำนวน ๗ เล่ม ดังนี้
๑. เลขที่ ๓๓๘ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๓ มัดที่ ๓๖ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด เป็นสมุดไทยดำ เนื้อความขาดเพียงโคลงบทที่ ๑๑ เท่านั้น
๒. เลขที่ ๓๓๙ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๓ มัดที่ ๓๖ ประวัติ ขุนจำนงค์กิจกาญจนา (สิน) ทูลเกล้าฯ ถวาย วันที่ ๗/๕/๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๑) เป็นสมุดไทยดำ ที่หน้าต้นเขียนว่า “โคลงนิราชพญาตรังทำไว้ เล่ม ๑” เนื้อเรื่องขาดโคลงถึง ๓๐ บท เรียงลำดับโคลงสลับในบางแห่ง และมีโคลงหลายบทสำนวนเหมือนกับฉบับเลขที่ ๓๔๑ แต่ต่างจากสมุดไทยฉบับอื่น ๆ
๓. เลขที่ ๓๔๐ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๓ มัดที่ ๓๖ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด เป็นสมุดไทยดำ เส้นรงค์ เนื้อความสมบูรณ์ครบถ้วน ๑๒๖ บท
๔. เลขที่ ๓๔๑ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๓ มัดที่ ๓๖ ประวัติ ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นสมุดไทยดำ เส้นรงค์ ที่หน้าต้นเขียน “หน้าต้นราษพระคลัง” มีเรียงลำดับโคลงสลับ โคลงบางบทขาดหาย และบางบทก็สำนวนต่างจากเล่มอื่นแต่เหมือนกับฉบับเลขที่ ๓๓๙ อนึ่ง สมุดไทยเลขที่ ๓๔๑ นี้เป็นฉบับที่มีจำนวนโคลงมากกว่าฉบับอื่นๆ คือ ๑๓๑ บท ข้างท้ายเล่มเขียน “จบเสร็จนิราดพระกลังแต่เพิยงนี้ ๑๒๙ ทบท”
๕. เลขที่ ๓๔๒ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๓ มัดที่ ๓๖ ประวัติ สมบัติของหอสมุด เป็นสมุดไทยขาว เส้นหมึก ที่หน้าต้นเขียนว่า “หน้าต้นนิราษพระตรัง” เนื้อความขาดไม่ครบ ๑๒๖ บท เรียงลำดับโคลงสลับในบางแห่ง และโคลงบางบทสำนวนต่างจากเล่มอื่น
๖. เลขที่ ๓๔๓ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๓ มัดที่ ๓๖ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด เป็นสมุดไทยดำ เส้นดินสอ มีเนื้อความสมบูรณ์ ที่หน้าต้น เขียนว่า “หน้าต้นนิราศพระยาตรัง”
๗. เลขที่ ๓๔๖ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๓ มัดที่ ๓๖ ประวัติพระยาเพชรปาณีทูลเกล้าฯ ถวาย ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) เป็นสมุดไทยดำ เส้นดินสอ มีเนื้อเรื่องถึงเพียงโคลงบทที่ ๔๕ แล้วต่อด้วยกลโคลงต่างๆ นิทานคำกลอน และโคลงนิราศนรินทร์
ในการตรวจสอบชำระครั้งนี้ได้ยึดถือต้นฉบับสมุดไทย โดยเฉพาะเลขที่ ๓๔๐ กับ ๓๔๓ เป็นหลัก เมื่อเห็นว่าคำใดผิดเพี้ยนไปจากสมุดไทย ก็ได้แก้ไขให้ตรงตามฉบับสมุดไทย แต่มีบางคำที่เห็นว่าได้ความดี ก็ได้คงรักษาไว้ตามฉบับที่พิมพ์มาแต่เดิม พร้อมทั้งปรับอักขรวิธีตัวสะกดบางคำ ให้ถูกต้องตามหลักภาษาปัจจุบัน ซึ่งในส่วนที่มีการแก้ไขใหม่นี้ ก็ได้จัดทำเป็นบันทึกสอบเทียบสำนวนโคลงฉบับพิมพ์ที่ต่างจากฉบับสมุดไทยไว้ท้ายเรื่องแล้ว สำหรับบทโคลงที่สมุดไทยบางเล่มมีสำนวนแตกต่างจากส่วนใหญ่หรือมีการเรียงลำดับโคลงที่ไม่เหมือนกัน ก็ได้ลงเชิงอรรถไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป
[๑] มีข้อที่น่าสังเกตว่า หากพิจารณาชื่อสถานที่ต่างๆ เรียงลำดับจากโคลงบทที่ ๑๕ – ๓๐ เริ่มด้วยบ้านคอกควาย (เขตยานนาวาปัจจุบัน) ดาวคะนอง วัดราชบุรณะ (ตัวสะกดตามสมุดไทยทุกเล่ม) บางผึ้ง วัดดอกไม้ ช่องนนทรี และพระประแดง แล้ว วัดราชบุรณะ ในที่นี้น่าจะเป็น วัดราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นวัดราษฎร์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๐ เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดนอก” หรือ “วัดปากคลอง” และไม่มีหลักฐานว่าใช้ชื่อ “วัดราษฎร์บูรณะ” เมื่อใด
[๒] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า (พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๔๙๔), หน้า ๔๐๓ - ๔๐๔.