คำอธิบาย

เพลงยาวเป็นบทประพันธ์กลอนสื่อสารรักระหว่างชายหญิง ซึ่งนิยมแต่งกันในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สาระของเพลงยาวเป็นการพรรณนาเผยความรักความรู้สึกที่มีต่อกัน เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเป็นบทเว้าวอนฝากรัก ชมโฉม และตัดพ้อต่อว่า เฉพาะเรื่องเพลงยาว ของพระยาตรังเท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน ๗ บท คือ บทที่ ๑ - ๖ ได้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ในหนังสือรวมเพลงยาวของกวีสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เรื่อง “เพลงยาวคารมเก่า” ต่อมาเมื่อมีการจัด พิมพ์หนังสือ “วรรณกรรมพระยาตรัง” ครั้งที่สาม ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ จึงคัด เพลงยาวของพระยาตรังจากหนังสือดังกล่าวมาพิมพ์โดยแก้ไขตัวสะกดการันต์เสียใหม่ สำหรับการจัดพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ นี้ ได้ตรวจสอบกับต้นฉบับสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในหมวดวรรณคดี หมู่กลอนเพลงยาว - สังวาส จดหมายเหตุเลขที่ ๕ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๔/๔ มัดที่ ๖ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด ซึ่งมีระบุไว้ที่หน้าต้นว่าเป็นพระสมุดเพลงยาวเก่า เล่ม ๒ ส่วนเพลงยาวบทที่ ๗ เป็นเพลงยาวที่เพิ่งค้นพบใหม่ในสมุดไทยหมู่กลอนเพลงยาว - สังวาส จดหมายเหตุ เลขที่ ๓๖ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๔/๔ มัดที่ ๘ ประวัติ ซื้อไว้ ณ วันที่ ๒๓/ ๙/ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๔๑) จึงได้ถ่ายถอดโดยแก้ไขตัวสะกดการันต์ให้เป็นปัจจุบัน และรวมพิมพ์ในหนังสือ “วรรณกรรมพระยาตรัง” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ นี้ เป็นครั้งแรก

เพลงยาวพระยาตรังทั้ง ๗ บทนี้ เข้าใจว่าเป็นคำประพันธ์ร้อยกรองรุ่นแรกๆ ซึ่งท่านแต่งในวัยหนุ่ม ขณะอาศัยอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนถวายตัวเข้ารับราชการ ณ กรุงเทพมหานคร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำนวนโวหารในเพลงยาวของ พระยาตรังที่คมคาย มีการใช้ความเปรียบเทียบ และให้แง่คิดสอนใจแก่ผู้อ่านหลายตอน ได้แก่

บทที่ ๑

ฝ่ายพี่ที่จะไว้ชีวิตมิตร จะเอาจิตเป็นดั่งบัลลังก์สมาน
เอารสเสน่ห์แทนรสสุมามาลย์ เอาสำนานแทนเสียงประโคมโลม
เอาสิ่งเสบยแลสัมผัสเป็นฉัตรกั้น เฉลิมขวัญขวัญน้องประคองโฉม
มีให้แสงสุริเยนทร์ที่เจนโพยม ลงโจมจับทับแก้วพี่ร้าวเอย

บทที่ ๕

ท่านว่าถ้าแลใครใจประมาท ย่อมเป็นคลองมัจจุราชประหารผลาญ
สงวนสัตย์ตัดห่วงบ่วงมาร จะพลันพ้นสงสารที่วงเวียน
ถึงโลกีย์ยังมิตัดราคีขาด แม้นประมาทก็ประมาณแต่พาเหียร
เรียนรู้เถิดอย่าเรียนรำพึงเพียร ใจจงเจียนใจรักให้หักรอน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ