คำอธิบาย

โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้ เป็นผลงานเพียงเรื่องเดียวของพระยาตรังที่ระบุเวลาแต่งไว้ท้ายเรื่องว่าเป็นปี พ.ศ. ๒๓๖๑ วรรณกรรมเรื่องนี้มีลีลาการนำเสนอต่างไปจากวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมักแต่งร้อยเรียงพรรณนาความเรื่อยไปแต่ต้นจนจบ แต่วรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติของพระยาตรังจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหัวข้อ ๆ และแต่งพรรณนาความในเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด ทำให้มีความยาวมากกว่าวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติเรื่องใด ๆ

เนื้อเรื่องโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัยเริ่มต้นด้วยร่ายดั้นสดุดีพระเกียรติ จากนั้นเป็นคำประพันธโคลงดั้นบาทกุญชรจำนวน ๔๗๘ บท แบ่งออกเป็น ๒๖ หัวข้อ หัวข้อแรก คือ เรื่อง “กล่าวเมีอง” เป็นบทพรรณนาถึงพระบรมมหาราชวังอย่างละเอียด และ สภาพภูมิสถานกรุงรัตนโกสินทร์โดยทั่วไป อาทิ

๕๕

๏ เทวสถานสถิตไว้ ระวางเมือง
สายสาดสองเสาทวาร ย่อนช้า
สำหรับนคราเรือง รายเรียบ
โถงถง่านงามหล้า เลิศหลาย ฯ

๕๖

๏ มีฉางพลูเพียบทั้ง ธัญญา
หอทะเบียนบวกหมาย หมู่ไว้
ลูกขุนนอกปรึกษา ทุกขโทษ
ทั้งตึกดินเดชได้ รักษา ฯ

หัวข้อต่อมากล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรื่องช้างเผือกมาสู่พระบารมี เรื่องม้าต้น เรือพระที่นั่ง และพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค จากนั้นเป็นเรื่องมอญเมาะตะมะมาพึ่งพระโพธิสมภาร เรื่องทหารถวายมือ โดยกล่าวถึงเหล่าทหารอาสาชาติต่าง ๆ อาทิ มอญ ญวน มลายู และจีน แสดงฝีมือด้วยการประลองยุทธ์ถวาย รวมทั้งบรรยายถึงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ลำดับต่อไปกล่าวถึงพระราชพิธีโสกันต์ ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กล่าวถึงพระราชพิธีสิบสองเดือนว่าแต่ละเดือนมีพิธีใดบ้าง และพรรณนาถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังเช่น

๒๒๗

๏ การเศิกพระแกว่นแกล้ว ชาญเชิง
ดำริกลใดหมาย แม่นแม้น
มาไกลกว่าสารเถิง ทันถั่น
พระแต่งพระตอบแก้ มอดมือ ฯ

๒๓๕

๏ สบสรรพพระร่วมรู้ เรืองปราชญ์
ทรงพระอัชฌาชาญ เชี่ยวพ้น
ทุกประเทศทวยราษ- ฎรชื่น ชมแฮ
ดำริดำรัสล้น เลิศเหลือ ฯ

จากนั้นกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อราษฎร และสดุดีพระองค์ประดุจดังพระอิศวร พระอินทร์ พระพรหม พระโพธิสัตว์ และพระเมตไตรย แม้แต่เทพดายังถวายพรให้ทรงพระเจริญ สุดท้ายกล่าวถึงเหตุผลในการประพันธ์ว่าเพื่อต้องการเฉลิมพระเกียรติยศในพระองค์ท่านพร้อมทั้งขอให้พระเกียรติคงอยู่คู่ฟ้าดิน เป็นที่น่าสังเกตว่าพระยาตรังแต่งวรรณกรรมเรื่องนี้ด้วยความตั้งใจสูง เลือกสรรถ้อยคำด้วยความประณีตบรรจง มีความเปรียบเด่น ลีลาการแต่งแพรวพราว อาทิ ใช้ลักษณะกลบทและกระทู้ในบางตอน ทำให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินถึงแม้เนื้อเรื่องจะเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระและบรรยากาศที่เคร่งขรึมจริงจัง ดังตัวอย่าง

โคลงกลบท

๓๔๐

๏ หวังหวังวรวากย์ว้า วายปาก แลฤๅ
คือสมุทรไหลเป็น เปรียบอ้าง
บังคัลคดีฝาก ฝืนชอบ ชมนา
คุงคู่ชีวาว้าง วอดมรณ์

๓๔๑

วอดมรณ์หมายมอบสิ้น สุดพงศ์
พงศ์ภักดีสอนสอน สู่ใต้
ใต้บาทบาทบงสุ์ กชรัช เรืองแฮ
ตราบพระเสด็จใดได้ ตรัสตรอง ฯ

โคลงกระทู้

๓๘๔

พระยศพิเศษสร้าง สบสรรพ์
พระยศดุรดาลดล ดื่นด้าว
พระยศยุทธทางธรรม์ ธรราช เรืองแฮ
พระยศเผยอไท้ท้าว ทั่วเมือง ฯ

๓๘๕

พระฤทธิ์ฤทธิลาดฟ้า ดินไหว
พระฤทธิ์ฤทธิลลาญเลือง โหล่งล้วน
พระฤทธิ์ฤทธิกษัย สูญเศิก
พระฤทธิ์ฤทธิมาม้วน แผ่นพาล ฯ

ดังนั้น เมื่อประกอบกับเนื้อความที่พระยาตรังแต่งพรรณนาเรื่องราวอย่างละเอียด เป็นผลให้ผู้อ่านสามารถใช้เป็นหลักฐานค้นคว้าทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นอย่างดี ผลงานวรรณกรรมของพระยาตรังเรื่องนี้จึงสมควรได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าทั้งทางวรรณศิลป์และเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ

โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ ได้ตรวจสอบต้นฉบับกับสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในหมวดวรรณคดี หมู่โคลง ชื่อเรื่องเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๒ จำนวน ๒ เล่ม คือ

๑. เลขที่ ๑๘๕ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๕ มัดที่ ๑๖ ประวัติ สมบัติเดิมของ หอสมุด เป็นสมุดไทยดำ เส้นดินสอ มีเนื้อความถึงโคลงบทที่ ๑๐๙

๒. เลขที่ ๑๘๖ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๕ มัดที่ ๑๑๖ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด เป็นสมุดไทยดำ ร่ายเขียนด้วยเส้นทอง ส่วนโคลงเขียนด้วยเส้นรงค์ มีเนื้อความสมบูรณ์  ที่หน้าต้นเขียนเส้นทองว่า “พระเกียรดิ์พระบาทสมเดจ์บรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวว ซึ่งทรงพระคุณอันประเสรอฐ” และมีข้อความเขียนด้วยดินสอขาวเพิ่มเติมภายหลังว่า “โคลงดั้นยอพระเกียรติ์ เสดจสภานายกทรงประทานมาแต่ห้องอาลักษณ ณ วัน ๓ ๗ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธศก ๑๒๕๐”

การตรวจสอบชำระในครั้งนี้ ได้ถือตามต้นฉบับสมุดไทยเลขที่ ๑๘๖ อันเป็นสมุดไทยฉบับหลวงเป็นหลัก เข้าใจว่าใช้เป็นต้นฉบับที่พิมพ์ในครั้งแรกเพราะข้อความส่วนใหญ่ตรงกัน ดังนั้น เมื่อพบว่าคำใดผิดเพี้ยนไปจาก สมุดไทยเลขที่ดังกล่าวก็ได้แก้ไขให้ตรงกัน พร้อมทั้งปรับอักขรวิธีตัวสะกดบางคำให้ถูกต้องตามหลักภาษาปัจจุบัน ส่วนข้อความที่แตกต่างจากสมุดไทยเลขที่ ๑๘๕ นั้นก็ได้จัดทำเป็นเชิงอรรถไว้ รวมถึงได้ทำเชิงอรรถอธิบายความในเหตุการณ์และสถานที่ซึ่งพระยาตรังกล่าวถึงในเนื้อเรื่องด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ