เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง
๏ ศศิธรส่ายแสงลงแฝงไศล | |
สุนีแวบแลบล่ออโณทัย | ปัจจุสมัยเลื่อนลบกลบดวงดาว |
หมู่เมฆาดาษหน้าทิฆัมพล[๑] | หมึกหมอกหม่นแดงม่วงเขียวขาบขาว |
ประสานแสงทองแทงสุวรรณวาว | โดยกว้างยาวพื้นทิศเบื้องบูรพิน |
สุริยงเลื่อนกงขึ้นจากน้ำ | ล้ำบาตรแก้วคึงครั้งขังใสสินธุ์ |
ระหว่างนี้เหมือนจะชี้ว่าวาริน | ให้ทินกรจรจากสาครมา ฯ |
๏ ส่วนสองสมรมิตรพิศโพยมรุ่ง | พุ่งอรุณรุ่นรสเสน่หา |
ลมพัดคลื่นพื้นพ้นล้นคงคา | หิ่งห้อยวารินเรืองอร่ามงาม |
หมู่มัจฉาต่างชาติกลาดเกลื่อนว่าย | พวกพันธุ์ร้ายมีงวงเงี่ยงหลังหนาม |
บ้างเกล็ดลื่นแดงดำน้ำหมึกคราม | เที่ยวโดดตามฟุ้งฟองล่องกินตม |
เขารีบเร่งครรไลใบนาเวศ | โดยสาคเรศเขตดำบลน้ำเค็มขม |
สำคัญเงาไม้งอกหมอกหมวกพนม | ก็แล่นลมล่องเข้าในคลองนคร ฯ |
๏ ถึงด่านดาลดิ้นดวงสวาดิรัก | จึ่งเบี่ยงพักตร์พิงพักตร์พิมลสมร |
ระหายหาวหนาวเตือนให้แนบนอน | จะผัดผ่อนก็ไม่คลายหายนิ่งนิตย์ |
ประมาณช้านาวาเดินสักโมงครึ่ง | ได้ยินอึงตื่นขึ้นเห็นเรือติด |
จะขุดค้ายย้ายเข็นเห็นเหลือคิด | ให้ชักชิดเข้าประทับกับทงนา[๒] |
นำสองเสมอพักตร์รักเสมอเนตร | ประเวศสถานเริ่มสถิตที่คฤหา |
สามฤทัยชุ่มไปด้วยศรัทธา | จะลีลาขึ้นสู่ลานพระเจดีย์ |
ที่บรรจุพระมหาสาริกธาตุ | ควรอภิวาทแทนองค์พระชินศรี |
ให้สองสมรเสมอชีพขึ้นกิริณี | เดินพิถีแถวทางข้างอัสดง |
แล้วเรียกเปลเถลิงยานสำราญยศ | กำหนดหามสามคู่ดูระหง |
พาหนาสน์มิได้ยั้งกำลังชงฆ์ | ไปตรงถนนรัถยาด้านหน้าเมือง ฯ |
๏ เห็นเรือนบ้านร้านราษฎรตลาดสงัด | ดั่งป่าชัฏคลอกไฟใบไม้เหลือง |
ที่คุ้นเคยพบถามบอกความเคือง | เรี่องเขาแค้นน่ารำคาญการแผ่นดิน |
ครั้นแจ้งสิ่งที่มิพอใจขอรู้ | ก็ทำหูมึนเมินสะเทิ้นฉิน |
ระวังตัวกลัวจะกลับเป็นไพริน | ชวนให้กินผลยอล่อลวงความ |
จึ่งรีบเร่งคนคานยานพาหนาสน์ | ลีลาศลุลงที่หน้าอารามสนาม |
ห่มพัสตราบ่าเดียวสำรวมงาม | ทนายตามตามลำดับถือเครื่องยศ ฯ |
๏ ฝ่ายสองสมรกับนิกรนาเรศ | ดลประเวศโดยสตรีเขากำหนด |
อยู่บูชามาเลศพุ่มเสาวรส | วิหารพระศรีสุคตภิเนษกรมณ์ |
ที่บุรุษจะประณามน้อมอภิวาทน์ | บนบันทายรัตนาสน์ชั้นฐานประถม |
จึ่งขึ้นขั้นอัศจรรย์ด้วยชื่นชม | เช่นเฉาชายได้สมบัติสุเรนทร์ครอง |
งามบัลลังก์ทรงองค์พระเจดีย์ | ไม่วายเว้นแสงพระสุรีย์ส่อง |
สูงสามสิบเจ็ดวายอดหุ้มทอง | ดั่งชี้ห้องสุราลัยให้ฝูงชน |
มิปีติเต็มตื้นชื่นโสมนัส | เห็นชัดว่าพุทธภูมินั้นมีผล |
จึ่งแหวะวิดเอาโลหิตที่ในตน | บูชาธาตุทศพลบรมญาณ |
แล้วบริจาคห่มนอนเข้มขาบแย่ง | ซับในแดงทรงบูชิตไว้เหนือฐาน |
เอาบุญปันไปอนันตจักรวาล | ทั่วฟ้าดินบาดาลให้โมทนา |
คิดหนาวภัยที่เห็นในอดีตชาติ | ก็ปรารถนานิพพานโพ้นภาคหน้า |
แม้นยังข้ามเบญจกามคงคา | เช่นนี้อย่าให้ได้พบได้เห็นเลย |
จึ่งสรรเสริญพุทธคุณาขมาโทษ | ที่หลงโฉดพาลประมาทเมินฉินเฉย |
ประน้อมเศียรประณามสามด้วยชื่นเชย | ดั่งได้เสวยทิพย์สุขในชาตินี้ |
แล้วครรไลไปห้องพระถวายเนตร | เมื่อไชเยศพวกพาลมารหัตถี |
เรืองอร่ามงามส่องแสงจามี | ที่เสด็จเจ็ดแห่งแต่งสนององค์ |
พร้อมคณานาเรศประทักษิณ | สุหร่ายรดวารินประจงสรง |
พระระเบียงระเบียบนั่งพนังชงฆ์ | อย่างทรงสมาธิอุรุพัทธ์พิชิตมาร ฯ |
๏ ครั้นเพลาสุริยงอัสดงคด | ลับบรรพตเบื้องประจิมทิศาศานต์[๓] |
ประชุมหัตถ์เหนือศีรัส[๔]นมัสการ | ลาสถานวรพุทธเจดีย์ |
ก็รีบรัถยามาเคหาวาส | พอจันทรโอภาสแสงรังสี |
เหมือนแม่น้ำขษีรสหมดราคี | หลังสุนีลงที่แหล่งหล้าหล่มไพร |
ระแหงแห้งปัถพินตฤณชุ่มชื่น | รุกขชาติยื่นแย้มเกสรไสว |
สว่างรื่นพื้นภพสำเริงใจ | ด้วยโคมไฟแก้วรัชนีกร |
ก็เอนกายลงสบายในไสเยศ | ด้วยขวัญเนตรจำเริญสโมสร |
ส่วนสองสุดเสน่ห์ร่ำรำพันวอน | จะอยู่นครเยี่ยมญาติแลมาตุคุณ |
จำเอออวยด้วยครหาจะเตียนติ | แต่ร้อนริที่ในอกไหม้หมกมุ่น |
ละห้อยไห้หวนหวงดวงดรุณ | จะจากอุ่นสวาดิเว้ไปเอองค์ |
อ้าแม่ผู้บำรุงบำเรอภาค | จะแหวกฟ้าฝากไว้พระทรงหงส์ |
เกรงจะทรงฌานลืมวิไลทรง | เห็นบงกชจรดลปนมลทิน |
จะฝากภูมิพื้นหล้าแลสาคเรศ | ล้วนนิเวศเขตกรุงกษัตริย์สิ้น |
ถึงใครจะช่วยถนอมขวัญกันไพริน | อย่าหมายหมิ่นไม่เหมือนรู้สงวนกาย |
ดูรโฉมสมรเสมอชีวิตมิตร | เคยแนบสนิทเสน่ห์น้องไม่หมองสลาย |
ครั้งนี้นาฏจะนิราศร้างแรมชาย | ระวังลายนะอย่าริให้มีรอย |
สุดกระศัลย์สารโศกกระซิกสั่ง | น้ำหน้าลงพรั่ง[๕]หน้าลงฝอยฝอย |
เห็นอาลัยนั้นจะชวนใจเลือนลอย | ก็ถอยถวิลกลั้นอั้นสะอื้นครวญ ฯ |
๏ จึ่งสั่งชายทนายเรือนให้เตือนช้าง | แล้วเรียกน้ำล้างน้ำเนตรกำสรวล |
แต่งบำรุงตัวประมาณสถานควร | โดยกระบวนยศผู้รั้งนั่งเมืองตรัง |
ขึ้นจำลองกิริณีหมอขี่ขับ | กระหยับย่างเดินไม่สะเทือนหลัง |
ไปตามถนนตำบลบ้านย่านพระวัง | ก็หวั่นหวังวังเวกอาวรณ์ใจ |
เหล่าเมียเจ๊กแม่ค้านั่งตั่งของขาย | เหมือนเพชรสลายไม่กำหนดราคาได้ |
ชวนสรวลสบเนตรเมินสะเทิ้นไป | วิลัยสาวเสื่อมสิ้นรสดี ฯ |
๏ โอ้สองสมรงอนงามสวาดิราช | เคยสาดสองเนตรช้องส่องเนตรพี่ |
แล้วกวัดแกว่งแสงนิลสิ้นราคี | อวดมณีนัยนาน่าเอ็นดู |
คิดคำนึงจะประคองน้องแนบเล่น | ไม่เห็นโฉมสมรมิตรคิดอดสู |
ฉะวิบากเหมือนกินหมากอยากปูนพลู | จะสู้เทวษเช่นเช่นนี้สุดที่ทน ฯ |
๏ เขารีบเร่งกิริณีเป็นทีสะพัด | ถึงบ้านสกัดน้ำมันร้านริมถนน |
ไม่เห็นน้ำมันมีที่ผมคน | หรือเกียจขนรื้อถ่ายขายบนเรือน |
ละห้อยหากลิ่นเกศนาเรศพี่ | ผมสตรีใดเห็นไม่หอมเหมือน |
ถึงไม่สระสางเส้นเว้นวันเดือน | ยังเตือนใจซ่านซาบอาบอกองค์ |
จำใจเจ้าเรียมจำบำราศรัก | ใช่ชักชักชวนชี้พี่เพลินหลง |
ด้วยกำหนดราชการสารตราตรง | ให้ดำรงซึ่งธุระประชาชน |
แสนวิบากเจ็บจากหลากเหลือหลาย | ดวงหน้าชายคล้ายเดือนฤดูฝน |
จะทบเทียบเปรียบเทวษที่ร้อนรน | ทุกแห่งหนไม่ระอาอาลัยใจ ฯ |
๏ เห็นกุฎีโรงสงฆ์หลงเพ่งพิศ | วัดสัมฤทธิ์ก็สำเร็จเสร็จสงสัย |
ที่ร้างร้องรักน้องนี้นะบาปใด | ช่างกระไรไม่สำเร็จเช็ดชลนา |
หรือเมื่อผลกุศลผิดติดตามสนอง | จึ่งป่วยปองเว้นว่างเสน่หา |
เจ้ากรรมเอ๋ยท่านทุเลาเราสักเวลา | จะให้ค่าลดทวีทะเวน[๖]เวร |
ไม่วางจิตรพิศไหนแต่ล้วนแหนง | ควรจะแคลงเช่นเกลือเจือพิมเสน |
เกลือกใจเจ้าจะเหมือนหลักปักกลางเลน | เอนไปตามพวกพาลมารยาชาย ฯ |
๏ เห็นเจดีย์ขวานฟ้าผ่ายอดสะบั้น | อัศจรรย์สุนีทำกรรมช้าหาย |
มิผิดหรือที่ฝากสองน้องแก่ทนาย | แต่เทเวศยังไม่วายลำพองพาล |
สมสาสวาดิสิริเหลือรู้ | ศิษย์มีครูเสียเชิงทหารหาญ |
ท่านเชิดชื่อว่าฉลาดปราชญ์ชายชาญ | ได้อัประมาณเพราะสติติเตียนตัว |
มีแต่แค้นกับจะร่ำรำพันรัก | กว่าพื้นพักตร์ที่จะคล้ำดำมัวฉลัว |
ไม่หมายเหมือนน้ำค้างกลางบานบัว | ที่หยาดย้อยรั่วร่วงดวงบุษบง ฯ |
๏ เพนียดช้างแรมร้างนางโขลงสาร | ป่าสะอ้านพื้นไผ่ไทรสูงระหง |
เสมอสมรมิตรไว้ไมตรีตรง | ควรรักพงศ์รักพื้นชื่นชูงาม |
แต่ว่ายเวียนครุ่นครวญหวนโหยหา | อกออกญายิ่งสุมสาลีหลาม |
เนื้อจะสุกเสียเพราะร้อนข้อนโศกความ | เพื่อพี่ตามใจน้องต้องตรอมใจ |
ปานนี้โฉมผ่องพิมพ์พิมลพักตร์ | เจ้าครองศักดิ์อยู่ประมาณสถานไหน |
วิลัยเหมเคยเกษมสร้อยมาลัย | เกลือกลืมในมุจลินท์สินธูครอง |
เที่ยวเพลินตามเป็ดหงส์สรงน้ำขัน | ชวนกันดั้นดำว่ายไซ้แหนหนอง |
เอาขนเขียวแซมขาบเส้นสลาบทอง | ไปติดต้องชุ่มชั่วกลั้วเกลือกตม |
หรือยังรักสิริราชนาฏปักษา | โกกิลากากวนชวนเสพสม |
ถือตัวว่าพงศ์พาหนาสน์พรหม | ไม่เสพสมาคมคบพบมลทิน |
จะเชื่อซื่อก็ใช่ชาญประมาณหมาย | เหมือนสายฟ้าผ่าลงกระแสสินธุ์ |
สำคัญรอยหรือจะมีที่วาริน | เห็นเถียงถวิลไม่รู้สิ้นอาดูรแด ฯ |
๏ ถึงประตูท้ายวังที่วังราช | ระวังสวาดิมิให้มีราคีแผล |
ที่เสี้ยนหนามหลักตอไม่ขอแล | จะว่าแปรเนตรยิงหญิงชาวเวียง |
นั่งก้มหน้าเจียมใจอยู่ในกูบ | ไม่เห็นรูปแต่ได้ฟังกังวานเสียง |
เขาขับครวญหวนไห้ใช้สำเนียง | เถียงจังหวะเรื่อยรับจับแก้วกรรณ ฯ |
๏ เสนาะสองเสน่ห์ร้องเรื่องพาลราช | ชมโนดาต[๗]แลสุรางค์นางชั้นสวรรค์ |
ผู้โอษฐ์อ้อนอักษรนาคบริพันธ์ | ละลักลั่นกระแสงเสียงเกลี้ยงกล่อมใจ |
ให้เคืองหูอยู่จนข้ามคลองท้องทุ่ง | ศาลามุงกระเบื้องเป็นที่อาศัย |
เข้าพักร้อนผ่อนเดินด้วยทางไกล | พี่เอาสไบเจ้าสะพักแทนพักพล |
เย็นใจสบายดั่งได้สรงคงคาขัง | ยิ่งหยุดนั่งในสำนักสักแสนหน |
เพราะรอยรสเนื้อทรวงดวงโกมล | ที่ระคนอยู่ในพื้นพัสตรากรอง ฯ |
๏ เหล่าชาวนาฤดูนาหน้าข้าวเหลือง | ระยางเนื่องขับนกส่งเสียงก้อง |
ทำลูกลมบนไม้ล้มคะนอง | ลมพัดต้องดั่งจะร้องกวักเรียกชาย |
เช่นนี้หรือมิหน้าล่อให้พระลอคลั่ง | แต่ก้านกังหันหันเห็นใจหาย |
ถ้าลงยันต์สรรค์เสกเช่นสมิงพราย | เห็นจากสายสมรมิตรไม่คืนชม ฯ |
๏ สำนักห้วยยูงยลหมู่ยูงฝูง | ผู้ผัวยูงยั่วเย้าเคล้าคลอสม |
ตีวงรำย้ายย่างหางฟ้อนลม | อยู่ที่ร่มเรือนไม้ใกล้ริมทาง |
ทิชาชาติได้สังวาสประสาสัตว์ | เรียมกำหนัดสังวาสไว้ไม่สายสร่าง |
หิวเหลือหิวเพราะเนื้อไม่เนื่องเนื้อนาง | ครวญแล้วครางครางทุกทีที่หายใจ |
หยุดอาศัยประทับเที่ยงกินอาหาร | เอาน้ำจานก็ไม่ทากระยาไหว |
พี่แค้นน้ำแค้นข้าวเจ้าจากไกล | ไฉนหนอไม่คิดอายตายยากเย็น |
อารมณ์เอ๋ยเคยรักษาเป็นผาสุก | ครั้งนี้ทุกข์เท่าประทุกเกียนโคเข็น |
ถึงแขกค่อนอกสลบโศกซบเซ็น | ไม่เจ็บเช่นเจ็บทรวงดวงแดเรา ฯ |
๏ ครั้นไพร่พร้อมกันภักษาสาลีเสร็จ | พี่เด็ดความอาวรณ์ซ่อนหน้าเขา |
เรียกนายช้างให้เอาช้างเข้ามาเทา | ที่เงาไม้ใกล้ทางขึ้นกิริณี |
ก็เดินดงลงระวางลุ่มหลุมถ่าน | พอสุรีย์ส่องจักรวาลวายแสงสี |
เห็นตัดทอนท่อนไม้สุมอัคคี | เหมือนไม้ตรี[๘]ตัดทิ้งกลิ้งกลางทรวง |
สัณฐานถ่านประมาณใจเจ็บตาช้ำ | ระกำทุกข์งอกในอกใหญ่หลวง |
หน่อหนามเลี่ยมเสี้ยมแทงแย้งยอกทรวง | ต้องไฟรักร้อนรวงปานสุมเพลิง ฯ |
๏ ออกทุ่งจานเรียวรื่นพื้นหญ้าอ่อน | กาสรสองเขาแหลมถึกเถลิง |
เข้าขวิดปลวกลองล่ำสำเริงเริง | คะนองเชิงชมถิ่นแถวรัถยา |
จึ่งถอดเสื้อศรีแลที่แผลเจ็บ | รอยเล็บแหลมยิ่งเขามหิงสา |
พิเคราะห์เรเร่เสน่ห์วันจากมา | อาญาข่วนถึงสถานประจานชาย |
น่าชังเหนอที่ประมาทขาดคำมิตร | ไม่ทันคิดเคยชมสมเสพหลาย |
เจ็บผิวเนื้อแล้วมิหนำซ้ำฤๅลาย | จำจนตายมิให้น้องข้องขัดเคือง ฯ |
๏ เข้าป่าแดงหญ้าแห้งพฤกษาผอม | พะยอมยางซางไทรใบหล่นเหลือง |
ลมพัดไฟไหม้พรายเรื่อเรือง | ประกายเนื่องดั่งฝอยทองที่ช่องระทา |
เงียบสำเนียงเสียงสัตว์สงัดร้อง | สุรีย์ส่องแสงหล่นลงแหล่งหล้า |
เหล่าชายทนายกระหายหาห้วงธารา | เรียมหิวโหยหวนหาหน้าน้องนาง ฯ |
๏ โอ้แม่ดวงสมรเกิดประกอบยศ | ดั่งเสาวรสทรงรถไม่มีหมาง |
นี่ใครหนอที่สรรค์องค์ประจงวาง | ไว้หว่างกรุงโสฬสราชธานี |
ให้ลับเลอสิบหกกษัตริย์ขัตติย์วงศ์ | จะล้างชายเสียเช่นองค์พระลักษมี |
รู้ยั่วยวนชวนใจที่ยินดี | เช่นนี้หรือจะให้กลั้นกันแสงแคลง ฯ |
๏ ขึ้นเขาคับช่องทางหว่างผาขาด | พอจุบาทศิลาแยกแตกระแหง |
เหวชะงักหินชะง่อนช้อนพลิกแพลง | บ้างเทิ่งแทงฟ้าเงื้อมเอื้อมอำภิน[๙] |
ที่ลายเล่ห์ลายประสานจานกังไส | ลางแห่งไคว่น้ำห้อยย้อยหยัดสินธุ์ |
ดั่งเกสรโกสุมชุ่มวาริน | ถวิลถึงตะลึงลืมรีบเดินทาง |
สองเอ๋ยพี่จากเจ้าเศร้าสุดตรอม | ผอมเหลือผอมถึงจะกินสิ้นข้าวฉาง |
ไม่พี[๑๐]แม่เมื่อมิใช่ไข้จับคราง | ไข้ใจร้างไข้รอยร้อยชั่งชาย ฯ |
๏ ถึงอำเภอที่วังวังเวงสวาดิ | เห็นเรือนราษฎร์บ้านป่าหาคนหาย |
เขาตั้งซ่องเกลี้ยกล่อมไพร่หนีนาย | ฝ่ายพี่กล่อมตรอมรักไม่ยอมคืน |
หลบลงว่ายอยู่ในสายชโลเนตร | จึ่งใช้เศวตรเนื้อดีศรีสองผืน |
ผลัดกันวิดสิ้นคิดจึ่งดื่มกลืน | ขืนให้แห้งก็ไม่เหื้องยิ่งเนืองนอง ฯ |
๏ บ้านพระปางเหล่าชาวช้างวังช้างเถื่อน | ร้องสะเทือนท้องไพรไหวหวั่นก้อง |
จึ่งหยุดอยู่ดูที่นางเรียงริมซอง | ผู้สารสองงางอนเสี่ยงเสยตา |
ตกมันมึนเมามุ่งหมายกระเหม่น | เล่นเงาไม้ไล่คนเหร่นเสียงจ้า |
ไม่สมเดือดก็ม้วนงวงจ้วงลงงา | แทงสุธาฝุ่นฟุ้งพลุ่งควันไฟ |
ฝ่ายสารโศกเศร้ามันมั่นหมายมิตร | มีแต่ขวิดราญร่านโรงอาศัย |
ไม่ชมเถื่อนเชือนเชยเฉยพังไพร | เพราะไกลแนบเนื้อนางช้างกลิ่นจันทน์ฯ |
๏ เห็นจวนค่ำชาวโขลงเชิญประทับทับ[๑๑] | ไม่หลับนอนนอนเนินบ้านควรขัน |
เป็นป่าไม้ไม่รู้เหนือใต้สำคัญ | ดูเถาวัลย์พันสูงสู่บูรพิน |
ก็เอนองค์ลงที่พื้นพัสตราลาด | สังวาสร้อนรัญจวนหวนโหยถวิล |
เคยเอาทรวงพี่แนบทรวงดวงโกมิน | ประคิ่นกรกอดหมอนข้างต่างองค์เอว |
ไม่เหมือนเลยพริ้มจะหลับแล้วมิหลับเล่า | แต่ยวนเย้าให้อาลัยใจเจียนเหลว |
จนสุริยงส่งแสงทองเปล่งเปลว | เดือดว่าเร็วด่วนอรุณไม่ได้นอน ฯ |
๏ จึ่งให้ยกจากเนินเดินหนห้วย | เจ็บระทวยไปด้วยใจไม่ฟังสอน |
ก่นแต่นึกตรึกตรอมแต่วรณ์วอน | ไม่ผ่อนรักผ่อนร้างบ้างเลยเจียว |
ดื้อกระไรจนสุชลหยาดใยเลือด | จะเชือดศอตายเสียหรือเพราะศัลย์เสียว |
มิใช่ร้างค้างขวบประเดี๋ยวเดียว | จะเคี่ยวใจไยนะใจไม่ต้องการ |
ยิ่งยั้งห้ามก็ยิ่งย่ามความร้างรัก | ถึงภักษาสรรพยายาข้าวสาร |
ไม่มึนเมาเหมือนเมาหม้ายร้ายรำคาญ | สุดประมาณจะหมายเปรียบเทียบเทียมทัน ฯ |
๏ ท่ามะปรางเป็นท่าร่อนแร่ดีบุก | ปลุกอาลัยให้ไหวหวาดหวั่นหวั่นขวัญ |
เขารีบร่อนรางแร่เรียมรีบรัน | จวนกระศัลย์ร่อนร้องรุมรึงทรวง |
เห็นศาลเจ้าเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิต | ที่ทิศเหนิอเชิงเนินเชิญเชื้อสรวง |
ให้บุญแทนสังเวยเสวยดอกไม้พวง | ดวงเสาวรัตนฉัตรจรงค์[๑๒]ธงธูปเทียน |
ถวายสัตย์ถ้ามิตรงจงเสน่ห์นุช | ทำประทุษร้ายร่ายรักพาเหียร |
ลอบเสพสมชมชู้ผู้ได้เรียน | ท่านเพี้ยนเพศเราให้เป็นเช่นขันที |
อ้าองค์อารักษ์สิงสถานศาล | สำราญสุขนิรทุกข์เนื่องราศี |
ข้ารับอายัดไว้จะสดุดี | อย่าเยี่ยงผีโหงห่าอาธรรม์เลย |
ทำคำนับลาครรไลใจนึกแหนง | เห็นร้ายแรงที่สัญญาวาจาเฉลย |
เกลือกเสียสัตย์พลัดพรากจากชื่นเชย | สิ่งเคยเสพยศจะเสื่อมเศร้าสิ้นเงางาม |
ฉะวิตกหมกหมุ่นหม้ายหมายหมิ่นประมาท | เจ็บสวาดิใช่เจ็บบาทให้หาบหาม |
เจ้าดวงชีพพี่อยู่ไหนไม่มาตาม | จะถามอย่าโทมนัสน้องยาใจ ฯ |
๏ ถึงคลองนํ้าลำภูราท่าราบรื่น | เขาชวนชื่นเชิญสรงคงคาใส |
ฝ่ายใจพี่ที่ขุ่นคล้ำคล้ายน้ำใด | ไม่อาลัยจะเล่นชลชมสินธู |
รีบพิถีไปดลแดนแคว้นพฤกษา | ชื่อว่าป่าหูเย็นเย็นแต่หู |
ไม่เยือกเย็นใจเช่นเจ้าเอ็นดู | เมื่อร้อนรู้ทำให้เย็นเย็นอุ่นองค์ |
เป็นเดือนหนาวเพลาเช้าน้ำค้างชุ่ม | ชอุ่มอกฟ้าย้อยฝอยฝอยผง |
อยู่ใกล้ไม่เห็นกันควันหมอกดง | พะวงดูแต่ที่เท้าจะก้าวเกิน ฯ |
๏ พบพฤกษาล้มทับทางขวางหน้า | จะฝ่าฝืนครรไลใหญ่ยาวเยิ่น |
จะเลี้ยวไม้ลอดดงหลงขึ้นเนิน | หลงทางเดินหลงน้องสองกังวล |
พวกทนายเที่ยวสะพัดหารัถเยศ | สังเกตต้นป่าปลายวนาสณฑ์ |
ไม่พบทางพบคนเถื่อนสองคน | ชี้ตำบลบอกเบื้องเรื่องมรคา |
แต่หลงรักแม่ไม่มีใครชี้ช่วย | คำนึงด้วยจะสืบเสาะเจาะผาหา |
เอานิลน้ำเช่นน้ำนิลในแก้วตา | แช่ชลาลูบชโลมร้อนรำคาญ ฯ |
๏ ถึงศาลากลางให้ประทับรับ | คำนับตราตั้งตามภูมิพื้นฐาน |
พระหลวงขุนหมื่นเมืองตรังกรมการ | ผู้ชาญราชกิจเชิญจำเริญจวน |
เมื่อเห็นยศเมายิ่งสิ่งเมานัก | ไม่อยากยศอยากรักเจ้าแรมสงวน |
อยู่แต่กายฝ่ายใจเรียมเรรวน | จะชวนชื่นคืนสมที่ชมชาย ฯ |
๏ คนใช้ชิดเห็นพิศวาสร้อน | ก็นำสมรมาระงับดับกรรหาย |
ฝีมือแหลมสรรพยายาใจคลาย | ไข้กลับกลายมิได้เรียนรู้ครูดี |
เสนาะเสน่ห์สนิทแนบแอบออมถนอม | เคยกล่อมกลิ่นเสาวรสเหมือนหน่ายหนี |
มาเอองค์หลงหวังนั๋งเมืองตรี | ไพรีรักมากนักกว่าหมื่นพัน |
เจ็บเหลือเจ็บทุกข์เหลือทุกข์ค่ำเช้า | เศร้าเหลือเศร้าโศกเหลือโศกไม่สร่างศัลย์ |
ถึงพรัดพรากจากเจ้าแต่หลังนั้น | ไม่หวาดหวั่นปานร้างปางนี้เลย ฯ |
๏ สองร้อยสิบสามคำ[๑๓]ร่ำแรมรัก | ต่างดวงพักตร์เสาวลักษณ์ไว้เคียงเขนย |
เมื่อยามนอนจะแนบนอนเป็นเพื่อนเชย | เกยอุระแปลงปลอบตอบตรอมใจ |
ที่ซ้ำทับรับพจน์ไม่ยาวเยิ่น | จะเกริ่นกลอนเกลาอักษรให้สดใส |
แม้นชีพพี่ยังมิวายชีพตราบใด | จะกลับไปชมชี้สารโศกเอย ฯ |
โคลง
๏ สดับฉันท์โคลงแบบเบื้อง | เบาราณ โพ้นแฮ |
จอมธิรางคเบญญา | ยิ่งรู้ |
อัญขยมนบบทมาลย์ | โมเนตร เพรงพ่อ |
ลบนิพันธ์ผู้อาง | อวดองค์ ฯ |
๏ สิบสามวัชเรศเว้น | วายวัน คืนเลย |
จับบาศกุญชรลง | ไล่คล้อง |
ฤๅโดยคชินทร์ทัน | ทางซอก ผาแฮ |
ลาพระกรรมเขาซร้อง | ศิษย์เสน ฯ |
๏ เนื่องคลื่นกระฉอกถ้อง | แถวถนน |
อึงอยุทธิยเจนใจ | จบหน้า |
สนามสนานตะพานชล | ชานฝั่ง น้ำแฮ |
เพี้ยงจะเยียบพื้นหล้า | หล่มเหลว ฯ |
๏ แสนโสตสะพรั่งอ้าง | อวดผี ปอบเอย |
หลงหมิ่นเมินเปรวตาย | ตื่นรู้ |
เสมอกันใช่ใครดี | โดยกาพย์ สารนา |
ปากขษีระสู้เถ้า | ถ่องเพลง ฯ |
เพลง
๏ เพลงพลบค่ำย่ำยามหมื่นผลาญ[๑๔] | |
ไปแจ้งความมิได้คลายวายรำคาญ | ชักช้านานเนิ่นหว่างทางไมตรี |
ก็เอนตนอิงแอบแนบหมอนข้าง | กระด้างเนื้อมิใช่เนื้อเบื่อหน่ายหนี |
คิดกลิ่นแก้มแกมรสหมดราคี | รอยเสียดสีนวลน้องส่องใจชาย |
ไม่หลับเลยจนตีสามยามล่วงแล้ว | คนโทษแถวทิมทับหลับสนิทหมาย |
จะไปปลอบปลุกมิตรคิดกลับกลาย | เกลือกจะลายตาเห็นเป็นสองความ |
เหลียวตะลึงคำนึงนึกตรึกตรองคิด | เห็นต้องติดมือดำซ้ำยอกหนาม |
พี่เอาน้ำเงินล้างสางสีคราม | ที่แดงตามเลื่อมลายหายหมองมัว |
มาเถิดเจ้าพี่เคร่าถ้าอย่าเกรงกริ่ง | ค่ำนี้ทิ้งทอดสกางจ้างกลัวผัว |
สงวนศักดิ์รักเจ้าเท่ารักตัว | ที่รู้ชั่วเราวิตกหกหูเอย ฯ |
๏ โคลงฉันทสรรพกาพย์กํ้า | เกินคน |
ข่าวขจรอลวน | โจษโจ้ |
ชาวเทพพิศาลสกล | ยอกาพย์ |
ขอแต่งเป็นฉบับโต้ | ต่างแก้วสรวมกรรณ ฯ |
๏ สรรเสริญเยียรยศอื้อ | อึงกรุง |
สรวมเผด็จโคลงผดุง | แต่งตั้ง |
ทรนุกบำรุงจุง | ใจช่วย เทอญพ่อ |
กลอนแลคำใดพลั้ง | ติมา ฯ |
[๑] คือ ทิฆัมพร แปลว่า ท้องฟ้า
[๒] หัวคันนา
[๓] ทิศ + อันต์ แปลว่า ในทิศอันเป็นที่สุด
[๔] ศีรัส = ศีโร (ลงวิภัตติที่ ๑ แปลว่า ศีรษะ)
[๕] มาจาก พร่าง
[๖] ทะเวน = ตระเวน
[๗] คือ อโนดาต
[๘] คือ ไมตรี
[๙] อำภิน = อัมพร คือ ท้องฟ้า
[๑๐] พี = อ้วน
[๑๑] ทับ = ที่พัก
[๑๒] ฉัตรจรงค์ ตัดศัพท์จากฉัตรเบญจรงค์ คือฉัตร ๕ สี
[๑๓] น่าจะเป็น “สองร้อยสิบสี่คำ” ตามความยาวของคำประพันธ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ๒๑๔ คำกลอน
[๑๔] น่าจะเป็นหมื่นผลาญชลธาร ตำแหน่งกรมการเมืองตรังฝ่ายด่านภาษีทางทะเลปกครอง ท้องที่ท่ากระดาน อ้างจาก “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น” ใน วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตรัง. หน้า ๕๒.