คำอธิบาย
เพลงยาวเป็นบทร้อยกรองซึ่งนิยมแต่งกันมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วรรณกรรมเพลงยาวได้พัฒนาเนื้อหาสาระจากที่แสดงถึงเรื่องความรักแต่อย่างเดียวมาเป็นเพลงยาวที่บรรยายถึงเหตุการณ์ประกอบกับเรื่องความรัก หรือไม่มีเรื่องรักใคร่ปนอยู่เลยอีกประเภทหนึ่ง ดังเช่นวรรณกรรมเรื่อง “เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง” ซึ่งเป็นเพลงยาวที่จัดอยู่ในวรรณคดีประเภทนิราศในเวลาต่อมา
เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง เป็นผลงานร้อยกรอง ของพระยาตรังที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นสมุดไทยดำชื่อเรื่อง “ไปเป็นเจ้าเมืองตรัง” อยู่ในหมวดวรรณคดี หมู่กลอนเพลงยาว - นิราศ เลขที่ ๑ ตู้ ๑๑๕ มัดที่ ๓ ชั้น ๔/๓ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด ที่หน้าต้นเขียน “เพลงยาวนมัศการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง” สันนิษฐานว่าท่านแต่งเมื่อครั้งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตรัง ตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง หัวเมืองชั้นตรีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เพลงยาวเรื่องนี้ขึ้นต้นด้วยคำประพันธ์กลอนเพลงยาวจำนวน ๒๑๔ คำกลอน ต่อด้วยโคลงดั้นบาทกุญชร ๔ บท กลอนเพลงยาวอีก ๑๐ คำกลอน และจบด้วยโคลงสี่สุภาพและโคลงสี่ดั้นอย่างละ ๑ บท ส่วนเนื้อหาของเพลงยาวนั้น ท่านไม่ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเดินทาง แต่พรรณนาเริ่มเรื่องว่าได้เดินทางโดยทางเรือมาตลอดคืนจนถึงคลองนครในเวลารุ่งเช้า ขณะนั้นท่านพาภรรยาไปด้วย ๒ คน ได้เข้านมัสการพระบรมธาตุเมืองนครเพื่อความเป็นสิริมงคล
มีปิติเต็มตื้นชื่นโสมนัส | เห็นชัดว่าพุทธภูมินั้นมีผล |
จึ่งแหวะวิดเอาโลหิตที่ในตน | บูชาธาตุทศพลบรมญาณ |
แล้วบริจาคห่มนอนเข้มขาบแย่ง | ซับในแดงทรงบูชิตไว้เหนือฐาน |
เอาบุญปันไปอนันตจักรวาล | ทั่วฟ้าดินบาดาลให้โมทนา |
จากนั้นพระยาตรังเดินทางกลับบ้านภายในเมืองนครศรีธรรมราช ฝ่ายภรรยาทั่งสองขอพักอยู่กับมารดาและญาติพี่น้องที่เมืองนคร ท่านจึงต้องจำใจจากนาง ออกเดินทางไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง
จำใจเจ้าเรียมจำบำราศรัก | ใช่ชังชักชวนชี้พี่เพลินหลง |
ด้วยกำหนดราชการสารตราตรง | ให้ดำรงซึ่งธุระประชาชน |
แสนวิบากเจ็บจากหลากเหลือหลาย | ดวงหน้าชายคล้ายเดือนฤดูฝน |
จะทบเทียบเปรียบเทวศที่ร้อนรน | ทุกแห่งหนไม่ระอาอาลัยใจ |
การเดินทางจากเมืองนครศรีธรรมราชถึงเมืองตรังนั้น ผ่านสถานที่ต่างๆ อาทิ บ้านสกัดน้ำมัน วัดสัมฤทธิ์ ประตูท้ายวัง ทุ่งจาน ป่าแดง เขาคับ อำเภอที่วัง บ้านพระปาง ท่ามะปราง คลองลำภูรา ป่าหูเย็น จนถึงศาลากลางเมืองตรัง
ถึงศาลากลางให้ประทับรับ | คำนับตราตั้งตามภูมิพื้นฐาน |
พระหลวงขุนหมื่นเมืองตรังกรมการ | ผู้ชาญราชกิจเชิญจำเริญจวน |
เนื้อหาที่บรรยายในเพลงยาวเรื่องนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงสภาพธรรมชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตามเส้นทางที่ผ่านแล้ว ยังแสดงถึงความภาคภูมิใจในความสามารถด้านกวีนิพนธ์ของพระยาตรัง ดังโคลงท้ายเรื่องว่า
๏ โคลงฉันท์สรรพกาพย์ก้ำ | เกินคน |
ข่าวขจรอลวน | โจษโจ้ |
ชาวเทพพิศาลสกล | ยอกาพย์ ท่านนา |
ขอแต่งเป็นฉบับโต้ | ต่างแก้วสรวมกรรณ ฯ |
๏ สรรเสริญเยียรยศอื้อ | อึงกรุง |
สรวมเผด็จโคลงผดุง | แต่งตั้ง |
ทรนุกบำรุงจุง | ใจช่วย เทอญพ่อ |
กลอนแลคำใดพลั้ง | ติมา ฯ |