คำนำ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของไทย ในพุทธศักราช ๒๓๒๕ พระองค์ทรงทำศึกสงครามขจัดอริราชศัตรู วางรากฐานการปกครองสร้างเสริมความมั่นคงให้แก่บ้านเมือง และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ให้คืนกลับมาดังเดิมเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี จวบจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประเทศชาติอยู่ในภาวะสงบเรียบร้อยขึ้น กอปรกับทรงสนพระราชหฤทัยทางด้านอักษรศาสตร์ จึงทรงพระราชนิพนธ์ บทร้อยกรองเรื่องต่าง ๆ และทรงอุปถัมภ์บรรดากวีให้สร้างสรรค์งานประพันธ์จนวงการวรรณคดีเจริญรุ่งเรือง เกิดวรรณคดีชิ้นเอกและกวีสำคัญจำนวนมาก ฉะนั้น ในรัชสมัยของพระองค์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ยุคทองของวรรณคดี”
พระยาตรัง หรือที่มีนามบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งเจ้าเมืองตรังว่า “พระยาตรังคภูมาภิบาล” คือ กวีสำคัญผู้หนึ่งในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ผลงานนิพนธ์ของท่านโดยเฉพาะที่เป็นคำประพันธ์ประเภทโคลง อาทิ โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยและโคลงนิราศพระยาตรัง (หรือที่เรียกว่า “โคลงนิราศถลาง”) ได้รับการยอมรับนับถือในหมู่กวีรุ่นหลังว่ามีสำนวนโวหารไพเราะเทียบเท่าโคลงโบราณในสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมของพระยาตรังมิใช่จะมีคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์เพียงประการเดียว เนื้อหาของวรรณกรรมแต่ละเรื่องยังสอดแทรกรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพสังคมและวัฒนธรรม กลายเป็นหลักฐานสำคัญแก่ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าข้อมูลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อีกด้วย
ด้วยเหตุที่พระยาตรังเป็นกวีสำคัญในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจึงได้รวบรวมผลงานของพระยาตรังจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “วรรณกรรมพระยาตรัง” ขึ้นเผยแพร่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใฝ่ใจในงานวรรณกรรม โดยในการจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้น ได้รวมพิมพ์เฉพาะผลงานโคลงนิราศของพระยาตรัง ๒ เรื่องและโคลงกวีโบราณซึ่งเป็นการรวบรวมกวีนิพนธ์ประเภทโคลงสมัยอยุธยาของพระยาตรังเท่านั้น ต่อมาได้มีการพิมพ์หนังสือ “วรรณกรรมพระยาตรัง” ขึ้นอีก ๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ แต่ก็ยังรวบรวมผลงานของพระยาตรังไม่ครบถ้วน ดังนั้น ในการจัดพิมพ์หนังสือ “วรรณกรรมพระยาตรัง” ครั้งที่ ๕ นี้ กรมศิลปากรจึงมอบให้นางสาวอรสรา สายบัว นักอักษรศาสตร์ ๗ ว. กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและ ประวัติศาสตร์ ถ่ายถอดวรรณกรรมของพระยาตรังที่ค้นพบใหม่ คือ เรื่อง “เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง” ตรวจสอบชำระวรรณกรรมพระยาตรังที่เคยจัดพิมพ์แล้ว พร้อมทั้งเรียบเรียงประวัติและผลงานของพระยาตรังเพิ่มเติมเพื่อให้หนังสือมีสาระสมบูรณ์มากขึ้น
กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเรื่อง “วรรณกรรมพระยาตรัง” จะอำนวยประโยชน์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจค้นคว้าทางด้านอักษรศาสตร์และวรรณคดีให้กว้างขวางยิ่งขึ้นสืบไป
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
มกราคม ๒๕๔๗