คำอธิบาย
โคลงกวีโบราณนี้ แม้มิใช่งานประพันธ์ของพระยาตรังโดยตรง แต่ก็เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความรักและความสนใจค้นคว้าศึกษาในคำประพันธ์ประเภทโคลงอย่างจริงจัง จึงได้คิดรวบรวมโคลงของกวีมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยโบราณที่มีผู้จดจำสืบต่อกันมาบันทึกไว้ด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการรักษาโคลงของเก่าไว้มิให้สูญหาย ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือเรื่องนี้ว่า
“หนังสือที่เรียกว่าประชุมโคลงกวีโบราณนี้ คือโคลงที่กวีแต่งแต่ครั้งกรุงเก่า เปนของคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง มีตั้งแต่พระราชนิพนธ์เปนต้นลงมา ล้วนนับถือกันในพวกกวีแต่โบราณว่าเปนของแต่งดี จึงจดจำบอกเล่าสืบต่อมา ดูเหมือนจะไม่มีนักเรียนหนังสือไทยคนใดแม้ในปัจจุบันชั้นหลังลงมา ที่จะไม่เคยได้พบเห็นโคลงเหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จะยังไม่มีใครได้เคยเห็นรวบรวมโคลงกวีโบราณไว้ได้มาก เหมือนที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ซึ่งได้ฉบับมาแต่พระราชวังบวรฯ เปนของพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ ประทานแก่หอพระสมุดฯ”[๑]
ต้นฉบับสมุดไทยเล่มนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในหมวดวรรณคดี หมู่โคลง ชื่อเรื่องโคลงกวีโบราณ ฉบับพระยาตรัง เลขที่ ๑๕๔ มัดที่ ๑๓ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๕ ประวัติ ได้มาจากพระราชวังบวร ฯ มีบานแพนกว่า “ข้าพระพุทธเจ้าพญาตรัง จ่าโคลงบุราณไว้ได้ถวาย” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือดังกล่าวว่า พระยาตรังคงรวบรวมโคลงกวีโบราณนี้ถวายกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เวลาเมื่อตัวกลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากไปเป็นเจ้าเมืองตรังแล้ว
กวีโบราณที่พระยาตรังรวบรวมบทโคลงไว้นี้ บางท่านไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใครและอยู่ในรัชกาลไหน อาทิ บางโคลงที่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์แต่ไม่ทราบว่าเป็นพระองค์ใด บางโคลงก็ว่าเป็นของพระมหาราชบ้าง พระเทวีบ้าง และพระเยาวราชบ้าง อย่างไรก็ตามเราได้ทราบเรื่องที่ศรีปราชญ์แต่งโคลงประชันกับกวีอื่น ๆ จากโคลงกวีโบราณที่พระยาตรังรวบรวมไว้เป็นส่วนมาก อนึ่ง ตอนท้ายเรื่องโคลงกวีโบราณนี้ พระยาตรังได้แต่งโคลงกลบทและโคลงกระทู้เทียบแบบโบราณไว้ด้วย
โคลงกวีโบราณนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอภัยพิพิธ (สุ่น สาตราภัย) เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๙ ได้ตรวจสอบกับต้นฉบับสมุดไทยเรื่องดังกล่าว เมื่อเห็นว่าคำใดผิดเพี้ยนไปจากสมุดไทย ก็ได้แก้ไขให้ตรงตามฉบับสมุดไทย แต่มีบางคำที่เห็นว่าได้ความดี ก็ได้คงรักษาไว้ตามฉบับที่พิมพ์มาแต่เดิม พร้อมทั้งปรับอักขรวิธีตัวสะกดบางคำให้ถูกต้องตามหลักภาษาปัจจุบัน ซึ่งในส่วนที่มีการแก้ไขใหม่นี้ก็ได้ลงหมายเหตุไว้ในเชิงอรรถ พร้อมทั้งจัดทำเชิงอรรถอธิบายประวัติกวีไว้ด้วย
[๑] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “คำนำ” โคลงกวีโบราณ. (พิมพ์ครั้งที่ ๒ งานกฐินพระราชทาน มหาอำมาตย์โท พระยาราชนกูล ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ญ วัดนางชี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑), หน้า (๑).