งารพระศพ

ครั้นถึงลมพระอภิธรรมอันเปนที่สุด อาจารย์ก็เอาซองทองกับกรวยหมากที่ใส่เทียนขี้ผึ้งคู่ ๑ ธูปใหญ่ ๒ ดอก พลู ๕ ใบ หมากสง ๕ ผล เข้าถวายไว้ที่พระหัตถ์ทั้งสอง ฯ กรวยนิ้สำหรับพระชีวันนำไปนมัสการพระจุฬามณีเจดีย์ณตรัยตรึงศ์ ฯ แล้วอาจารย์ต้องเอาแผ่นทอง ๖ แผ่นมาปิดพระทวารทั้ง ๖ ฯ ยิงปืนใหญ่ ๒๑ นัดและส่งข่าวสุรคตไปให้ทราบทั่วกัน ฯ แล้วให้ลดธงสำหรับพระนคร และธงประเทศอังโดซีนครบ ๘ วัน ให้ชาวเมืองไว้ทุกข์นุ่งขาวถวายแต่ไม่ต้องโกนผม เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้ไว้ทุกข์พันแขนดำ นุ่งผ้าตามใจได้ ต่อเมื่อถึงคราวถวายพระเพลิงจึงให้กลับนุ่งขาวอีก ส่วนไฟเทียนกัลนั้นให้เอาโคมไปจุดต่อไว้แล้วเอาโคมนั้นไปตั้งไว้บนพานเงินหรือบนกระเฌอ ข้าวเปลือกที่มีข้าวสารชาม ๑ มีเทียนเล่ม ๑ แล้วมีเงินติดเทียน ๑ บาทลุย ๔ เซ็น พลู ๔ จีบ หมากสง ๑ ผล ผ้าขาว ๕ ศอก ส่วนพลูกับหมากนั้นเสียบไว้บนใบตอง ไฟโคมนั้นสำหรับเอาไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ ฯ

พานหรือกระเฌอพร้อมทั้งวัตถุที่ใส่ในนั้น สำหรับให้แก่ผู้ที่ดูแลรักษาในคราวงารพระบรมศพ และถึงเวลาแห่พระบรมศพก็ให้ผู้นั้นถือเข้ากระบวนแห่ด้วย ฯ เว้นแต่ผ้าขาวเท่านั้นเอาไว้เพื่อจะทำธงบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ คือ เอาไปปักไว้ใต้ต้นโพธิ์หรือที่พระเจดีย์ซึ่งประดิษฐานพระบรมอัฐิ ข้าวเปลือกนั้นสำหรับทำพืชพันธุ์เพื่อให้กำหนดรู้สังสารวัฏ คือ บุคคลทั้งหลายเกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด วนเวียนอยู่เปนอจินไตย ฯ แผ่นทองที่มีจารึกอายตนะทั้ง ๖ นั้นสำหรับครอบพระพักตร์ แล้วมีซับพระพักตร์ตาดเงินขาวคลุมบนแผ่นทองและมีทรงสพักตาดเงินขาวคลุมบนพระองค์ด้วย ฯ

เวลา ๑๗ นาฬิกา คือบ่าย ๕ โมง พระสงฆ์คณะธรรมยุติ ๑๐๐ รูป คณะมหานิกาย ๑๐๐ รูป สดัปกรณ์ ฯ

พระราชพิธีสรงพระบรมศพนั้น คือ สรงบนพระแท่นสานด้วยหวายมีถาดหรือรางสังกะสีรองอยู่ใต้พระแท่น พระกรุณาองค์ใหม่ถวายพระสุคนธรสสรง บาคูเป่าสังข์ แล้วเสนาบดีนาหมื่นสรรพมุขมนตรีและพระญาติวงศก็ถวายเครื่องหอมดุจกัน ฯ

ในเวลานั้นมีพระสงฆ์สวดชยันโต ๘ รูป แล้วจึงทรงเครื่องพระบรมศพด้วยพระภูษาขาว แล้วก็เชิญพระบรมศพไปประดิษฐานบนพระแท่นที่สุรคต แล้วก็คลุมด้วยทรงสพักดุจในเวลาที่สุคต ฯ ตามขนบธรรมเนียมตั้งแต่ครั้งโบราณตลอดมาจนทุกวันนี้ ถือกันว่าในวันที่ยกพระบรมศพไปชำระนั้น ถ้าผู้ใดเจ็บป่วยมาไม่ได้ ก็ต้องเอาเทียนขี้ผึ้ง ๕ เล่ม ธูป ๕ ดอกไปจุดบูชาขอขมาโทษในวันหลัง เพื่อจะไม่ให้มีเวรต่อไปในอนาคต เพราะบางทีตนได้ประพฤติในสิ่งทีไม่พอพระราชหฤทัย ในเวลาที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ฯ

นิมนต์พระสงฆ์ ๑ รูปชักสิ่งของพระราชทรัพย์บางสิ่ง ซึ่งพระองค์เคยทรงใช้สอย ฯ

เวลา ๑๘ นาฬิกา คือ ๖ โมงเย็นฯ บาคูเป่าสังข์ แล้วนางห้ามที่อยู่เวรประจำการ ๔ คนในที่นั้น ผลัดกันเวรหนึ่ง ๒ คนเปนปรกติ เชิญกาทองใส่น้ำ ๑ กา พระสาง ๑ ซับพระพักตร ๑ พระฉาย ๑ ซึ่งจัดไว้ในพานทองไปตั้งถวายบนโต๊ะซึ่งอยู่ใกล้พระแท่น และเชิญเครื่องพระกระยาเสวยกับพระสุวรรณภาชน์คาวหวานตั้งด้วย มีนางห้าม ๒ คนนั่งโบกพระวิชนีถวายดุจในเวลาที่กำลังเสวย ฯ

มีนางร้องไห้ประจำยาม ๒๐ คนล้วนแต่โกนผมนุ่งขาวไว้ทุกข์ ร้องยำยามตามบทที่กรมพระราชนิพนธ์ได้แต่งถวายสำหรับพระบรมศพ ในเวลาที่ร้องยำยามถวายนั้น มีกลองชนะ ๑๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ ฯ

เวลา ๑๙ นาฬิกา ๓๐ นาที คือ ๗ ล.ท. ๓๐ นาที ฯ พระสงฆ์ ๑๒ รูปสวดพระธรรมทั้งกลางวันกลางคืนในระหว่าง ๒๔ ชั่วโมง คือ ๔ รูปสวด ๔ ชั่วโมง ฯ

เวลา ๒๔ นาฬิกา คือ เที่ยงคืน ฯ พระราชพิธีเหมือนกันกับเวลา ๑๘ นาฬิกา คือ ๖ โมงเย็น ฯ แต่ต้องเผาดอกไม้และเครื่องหอม คือจันทน์กฤษณาถวาย งดการถวายเครื่องแต่งพระองค์และเครื่องเสวย ฯ

วันพุธขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๙ คือวันที่ ๑๐ เดือนอูต

ตั้งแต่เวลา ๒๔ นาฬิกา ๕๐ นาที คือ เที่ยงคืนกว่า ไปจนถึงเวลา ๖ ก.ท. พระสงฆ์ ๑๒ รูปสวดพระธรรม ฯ

เวลา ๖ ก.ท. ฯ พระราชพิธีเหมือนกันกับเวลา ๑๘ นาฬิกา เมื่อวันอังคารที่ ๙ เดือนอูต งดแต่การถวายพระกระยาเสวย ฯ

เวลา ๑๐ ก.ท. ฯ พระสงฆ์ ๑๒ รูปสวดรับเวภัตร

เวลา ๑๑ ก.ท. ฯ พระสงฆ์ ๑๒ รูปนั้นฉัน

เวลา ๑๒ นาฬิกา เที่ยงวัน ฯ ถวายพระกระยาเสวยแด่พระบรมศพ พร้อมทั้งพิธีเหมือนเมื่อเวลา ๑๘ นาฬิกา คือ ๖ โมงเย็น ดุจเมื่อวันอังคารที่ ๙ เดือนอูต ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ งดแต่การถวายเครื่องแต่งพระองค์ ฯ

เวลา ๑๓ นาฬิกา คือบ่ายโมง ๑ ไปถึง ๑๕ นาฬิกา ฯ พระสงฆ์ ๑๒ รูปสวดพระธรรม แสดงซึ่งกุศลและอกุศล ฯ ยกธงขาว ๙ คันณเองหลังพระที่นั่งที่ประดิษฐานพระบรมศพโดยรอบ ฯ

ตั้งแต่เวลา ๑๕ นาฬิกา คือบ่าย ๓ โมงไปถึง ๑๖ นาฬิกา คือบ่าย ๔ โมง พระราชวงศานุวงศฝ่ายใน ๑ พระองค์ หรือ พระสนมที่ ๑ นิมนต์พระสงฆ์ ๑ รูปเทศนาถวายพระราชกุศล ฯ

เวลา ๑๕ นาฬิกา คือบ่าย ๓ โมง ฯ กรมบาคู ๒ คนเป่าสังข์ ๓ คราในการถวายเครื่องอลงกตแด่พระบรมศพในที่กำบัง กรมภูษามาลาชักพระสูตรปิดบังโดยรอบ แล้วถวายเครื่องสำหรับทรง คือ สนับพระชงฆ์ ผ้าขาว ๑ สนับพระชงฆ์มีเชิงงอนทอง ๑ พระภูษาเยียรบับขาว ๑ สายรัดพระองค์ทองฝังเพ็ชร์ ๑ ฯ พระสพักตาดเงิน ๔ ศอก คือ ๒ เมตร์ ปูข้างล่าง กับอีก ๔ เมตร์คลุมถวายข้างบน ฯ ฉลองพระองค์แพร ๑ ฯ ฉลองพระองค์ตาดมีลวดลายเงินประดับลายทองฝังทับทิม ๑ ฯ พระสพักตาดเงิน ๑ สังวาลย์ทอง ๒ ฝังเพ็ชร์ มีประจำยาม ๒ ฝังเพ็ชร์ดุจกัน บานพับทองฝังเพ็ชร์ ๒ ฯ ชายแครงทอง ๑ คู่ ห้อยหน้าทอง ๑ อินทนูทอง ๑ คู่ ส้อยนวมทอง ๑ ฯ วลัยพระกรทอง ๒ วลัยพระบาททอง ๒ ฉลองพระบาททอง ๑ คู่ พระธำมรงค์ทองฝังเพ็ชร์ชุด ๑ ฯ พระธำมรงค์ทองฝังมรกดชุด ๑ ฯ ปรอด ๘ ตำลึง กับทอง ๑ แผ่นหนัก ๓ ตำลึงใส่ไว้ในพระโอษฐ ฯ ส่วนแผ่นทองใหญ่น้อยกับซองกรวยหมากนั้นก็ถวายทรงไว้อย่างเดิม ฯ

กรมกมมีซียอง พินิจสิ่งของพระราชทรัพย์ทั้งนี้ ได้ทำบรรทึกจดเหตุให้เก็บรักษาไว้ในเก๋งพระอาลักษณ์ ฯ

เครื่องที่ถวายพระบรมศพทรงทั้งหมดนั้นราคากว่าเงิน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ เปนพระราชทรัพย์พระกรุณาในพระบรมราชานุโกษฐ และจะต้องเรียกเอาออกในเวลาที่เชิญพระบรมศพใส่ลงในพระโกษฐเงินก้าไหล่ทอง เพื่อจะแห่ไปสู่พระเมรุ ฯ

สิ่งของนี้จะต้องสร้างเปนพระทั้งพุทธรูป ๑ องค์ ถวายพระราชกุศลแด่พระกรุณาในพระบรมราชานุโกษฐ ฯ

พระกรุณาองค์ใหม่จะต้องทำเครื่องสำหรับพระองค์ใหม่ด้วยพระราชทรัพย์ เดอลาลีส์ซีวิล สำหรับราชาภิเษก ฯ

เวลา ๑๖ นาฬิกา คือบ่าย ๔ โมง ฯ กรมศาลาเร็จจณาเขมร มาถ่ายรูปพระบรมศพที่ประดิษฐานอยู่ขนพระแท่น แล้วสดัปกรณ์ ฯ

เวลา ๑๗ นาฬิกา คือบ่าย ๕ โมง ฯ ท่านเลอเรซิดัง สุเปริเยอร์ (เลอฟูล) มาถวายคำนับพระบรมศพ พร้อมกับมนตรีรัฐบาลและนายกรมยุทธนาฝรั่งเศส แล้วสรงสุคนธรสถวายพระบรมศพ ฯ

มีกรมยุทธนาฝรั่งเศสมาคำนับท่านเลอเรซิดัง สุเปริเยอร์ กับถวายคำนับพระบรมศพ ฯ

ตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา คือ ๖ ล.ท. ไปถึง ๒๔ นาฬิกา คือเที่ยงคืน ระเบียบพระราชพิธีเหมือนในวันอังคารที่ ๙ เดือนอูต ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๙ เวลานาฬิกาก็เหมือนกัน ฯ

เวลา ๑๙ นาฬิกา คือ ๗ ล.ท. ฯ เชิญพระบรมศพขึ้นนั่งประณมพระหัตถ์ถวายบังคมพระพุทธรูป แล้วห่อพระบรมศพด้วยผ้าขาวและผ้าแพร ครั้นห่อเสร็จแล้วกรมภูษามาลาอัญเชิญพระบรมศพลงในพระบรมโกษฐทองซึ่งมีส่วนสูง รวมทั้งหมด ๒ เมตร์ ๘๐ เซ็นติเมตร์

และบาคูก็เป่าสังข์ถวายฉะเพาะพระพักตร์ พระกรุณาผู้ครองราชถวายบังคมพระบรมศพแล้วถวายพระมหามงกุฎตาดเงิน แล้วทรงหักยอดเพื่อให้ลงในพระบรมโกษฐได้ ในพระบรมโกษฐนั้นได้ใส่น้ำยาฮัวรมุลอ็องติสครึ่งพระบรมโกษฐ แล้วอัญเชิญพระบรมโกษฐไปประดิษฐานบนพระแท่นที่สุรคต ฯ

พิธีตั้งพระบรมราชานุโกษฐ พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ จอมจักรพงศ์ พระเจ้ากรุงกัมพุชาธิบดี เปนเจ้าชีวิตเหนือเกล้า ที่สุรคตนั้น จะตั้งบนพระมหาบัญจาทอง ๗ ชั้น สูง ๔ เมตร์ ในพระที่นั่งมหามนทีร์ จนกว่าจะสร้างพระเมรุแล้ว พระเมรุนั้นจะสร้างข้างทิศเหนือใกล้พระบรมราชวัง หน้าศาลาเร็จจณาเขมรกรุงภนมเพ็ญสำหรับถวายพระเพลิง ฯ

วันศุกร์ขึ้น ๑๓ ค่ำเดิอน ๑๐ ปีเถาะนพศก พระพุทธศักราช ๒๔๗๐ ตรงกับวันที่ ๙ เดือนเสบตอม ค.ศ. ๑๙๒๗ (คือ หลังวันสุรคต ๑ เดือน)

เวลา ๘ นาฬิกา พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิ์มณีวงศ พระเจ้ากัมพุชาธิบดี พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีนาหมื่นสรรพมุขมนตรีเจ้ากรมนุ่งขาวไว้ทุกข์ ฯ พระกรุณาทรงฉลองพระองค์ผายขาว ๆ นอกนั้นเสื้อผายขาวประชุมอยู่ในพระที่นั่งมหามนทีร์ กราบถวายบังคมพระบรมราชานุโกษฐ ๓ ครั้ง แล้วทรงฟังพระสงฆ์ ๑๐๐ รูปสดัปกรณ์ถวายพระราชกุศล ฯ

เวลา ๘ นาฬิกา ๓๐ นาที ฯ พระกรุณาองค์ใหม่ถวายพระนามพระกรุณาที่สุรคตว่า พระกรุณาในพระบรมราชานุโกษฐ ฯ แล้วบาคู ๘ คนเป่าสังข์ ๓ ครั้ง ประโคมกลองชนะอัญเชิญพระบรมราชานุโกษฐขึ้นประดิษฐานบนพระมหาบัญจาในพระที่นั่งมหามนทีร์ ฯ

เวลา ๙ นาฬิกา ฯ พระกรุณาผู้ครองราช และข้าราชการทุกกรมที่มาประชุมในที่นั้น กราบถวายบังคมลาพระบรมราชานุโกษฐ แล้วถอยออก ฯ

เวลา ๑๗ นาฬิกา คือบ่าย ๕ โมง ฯ ยิงปืนใหญ่ ๒๑ นัด เพื่อเปนพระเกียรติยศระลึกพระเดชพระคุณพระกรุณาในพระบรมราชานุโกษฐ ฯ กรมยุทธนาฝรั่งเศส ๑ กรม พิไชยสงคราม ๑ กรม กรมรักษาเมือง ๑ กรม กรมรักษาพระองค์ ๑ กรม ถวายคำนับพระบรมศพข้างหน้าพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ฯ

ท่านอาเล็กซังวาแรน คูแวร์เนอร์เยเนราล เดอลังดูซีน ท่านเลอเรซิดัง สุเปริเยอร์ และข้าราชการพร้อมด้วยพลและพ่อค้าญาติมิตร์หญิงชายมาถวายคำนับพระบรมราชานุโกษฐ พระกรุณาผู้ครองราชกับพระบรมวงศานุวงศ และเสนาบดีได้ทรงต้อนรับ ฯ

กรมยุทธนาที่เตรียมอยู่ข้างหน้าบันไดพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย คำนับท่านผู้แทนกรุงฝรั่งเศส และท่านอธิบดีปรูติกตูราเปนเกียรติยศ ฯ

การทำบุญเปิดให้ชนทั้งปวงเข้าทำด้วย ฯ

ตั้งแต่สุรคตมา มีพระสงฆ์และพระราชวงศานุวงศฝ่ายหน้าฝ่ายในเสนาบดีนาหมื่นสรรพมุขมนตรี กับราษฎรทุกภาษาในกรุงและนอกกรุงเปนอันมาก ได้มากราบถวายบังคมพระบรมราชานุโกษฐ และออกทรัพย์เข้าทำบุญนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญถวายพระราชกุศล ณพระที่นั่งมหามนทีร์เปนนิตย์

เครื่องไทยธรรมที่ถวายในการกุศลนั้น คือ

สดัปกรณ์ ๑ รูป ๒๐ เซน ฯ เทศนา ๑ รูป ๒ เหรียญ ๆ สวดพระธรรม ๑ รูป ๓๐ เซน ๘ รูปรวมเปน ๒ เหรียญ ๔๐ เซนฯ สวดดาร์ ฉันเช้า ๘ รูป คิดค่าจังหัน ๑ รูป ๒ เหรียญ ๘ รูป ๑๖ เหรียญ ฯ

ในระเบียบการบำเพ็ญพระราชกุศล พระกรุณาเปนเจ้าชีวิตเหนือเกล้า ตรัสบังคับให้เบิกพระราชทรัพย์ตามพระราชโองการดำรัสสั่ง ลงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวดฉศกพระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ตรงกับ วันที่ ๑๑ เดือนเดซอม ค.ศ. ๑๙๒๔ แด่พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ ในพระบรมราชานุโกษฐ ที่ได้ทรงเก็บเงินพระราชทรัพย์สำหรับพระองค์ไว้ ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญ ทอง ๑๐๐ ตำลึง คิดราคาตำลึงละ ๕๒ เหรียญ เปน ๕๒๐๐ เหรียญ กับเงิน แน่น ๑๐๐ แน่น คิดราคาแน่นละ ๑๕ เหรียญ เปน ๑๕๐๐ เหรียญ รวมทั้งสิ้น ๑๐๖,๗๐๐ เหรียญ ให้ทำบุญในงารพระเมรุครึ่งหนึ่ง ๕๓,๓๕๐ เหรียญ และให้ทำบุญบรรจุพระบรมอัฐิในพระเจดีย์บนเขาพระราชทรัพย์ครึ่งหนึ่ง ๕๓,๓๕๐ เหรียญดุจกัน ส่วนพระราชวงศานุวงศ์และอัครมหาเสนา เสนาบดีนาหมื่น สรรพมุขมนตรีในกรุงและหัวเมือง และข้าราชการกับอาณาประชาราษฎร์ทั้งชายหญิงทุกภาษา จะบริจาคเงินหรือไทยธรรมต่าง ๆ เข้าทำบุญถวายพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณพระกรุณาในพระบรมราชานุโกษฐก็ตามแต่ศรัทธา ฯ

เงินหรือไทยธรรมที่มีผู้บริจาคทำบุญทั้งนั้น ให้ออกญามหามนตรี ออกญามหาเทพ รับทำบาญชีนำขึ้นกราบบังคมทูลถวายพระกรุณา เปนเจ้าชีวิตเหนือเกล้าให้ทรงทราบ แล้วให้มอบเงินและสิ่งของนั้นไปที่กรมพระอาลักษณ์เบิกจ่ายในการพระราชกุศลนี้ ถ้าขาดเหลือเท่าใดให้เบิกเงินสำหรับทำบุญพระบรมศพ จ่ายในการพระราชกุศลจนครบ ฯ

ตรัสบังคับให้เจ้ากระทรวงทุกกรม รับจัดการทุกจำพวกให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดนี้ ฯ

กำลังโฆษนานั้น ได้เปนเงินอยู่ที่ออกญาพินิจวินิจฉัย (ตู๊จ) จางวางกรมพระอาลักษณ์เก็บรักษาไว้ในเก๋งพระอาลักษณ์ สำหรับจ่ายในงารพระบรมศพตามคำสั่งออกญาวังวรเวียงไชยต่อไป ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ