คำนำ

งานปลงศพหม่อมเจ้าชายทรงวุฒิภาพ แลหม่อมเจ้าหญิงบันดาลสวัสดี บุตรแลธิดาของข้าพเจ้า ซึ่งจะได้พระราชทานเพลิงณะสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาสในเดือนเมษายน พ้องกับเวลาข้าพเจ้ามีกิจติดธุระอื่นพัวพัน จะแต่งหนังสือขึ้นใหม่สำหรับพิมพ์แจกเปนมิตรพลีไม่ทัน แต่ผะเอิญประจวบเวลาได้หนังสือมาจากเมืองเขมรเรื่องหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าสมควรจะแปลออกพิมพ์แจกได้ คือราชกำหนดกรุงกัมพูชา ว่าด้วยงานพระศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชา อันได้ถวายพระเพลิงณะกรุงภนมเพ็ญเมื่อเร็ว ๆ นี้ แลได้ทั้งรูปฉายาลักษณะงานพระเมรุสมเด็จพระศรีสวัสดิ์มาด้วยหลายรูป ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายโดยมากคงจะพอใจอ่านหนังสือและดูรูปต่าง ๆ เรื่องงานพระเมรุเมืองเขมร จึงได้วานนายฉ่ำ ทองคำวรรณ เปรียญแปลหนังสือราชกำหนดนั้น เปนภาษาไทย แลเลือกรูปต่าง ๆ จำลองพิมพ์ไว้ด้วยกันในสมุดเล่มนี้ แจกเปนหนังสือมิตรพลี.

ราชกำหนดกรุงกัมพูชาซึ่งแปลพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ต้นฉะบับที่ได้มาเปนของพิมพ์ในราชการ ดังจะพึงสังเกตได้ในรูปภาพใบปกซึ่งจำลองพิมพ์ไว้ให้เห็น ข้าพเจ้าได้อ่านคำแปลพิจารณาดู เห็นว่าลักษณะการพระเมรุพระเจ้ากรุงกัมพูชา มีเค้ามูลที่มาต่างกันเปน ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งมาแต่ประเพณีดึกดัมบรรพ์ ซึ่งชาวกรุงกัมพูชายังคงรักษามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ จะยกพอเปนตัวอย่าง ดังเช่นลักษณะการถวายพระเพลิงเอาธูปเทียนเครื่องขะมาเข้าไปวางที่พระโกษฐเสียก่อน แล้วพระเจ้ากรุงกัมพูชาองค์ใหม่จึงออกมาทรงฝักแค “ด้วยเพลิงไกลาส” ล่ามชะนวนเข้าไปเผาพระศพ ดังนี้เปนต้น เห็นจะเปนประเพณีก่อนเก่า อิกส่วนหนึ่งเห็นจะถ่ายแบบไทยไปจากประเทศสยาม ยกตัวอย่างดังเช่นรูปสัณฐานแลเครื่องแต่งพระเมรุเปนต้น แลอิกส่วนหนึ่งเปนการที่คิดจัดขึ้นในกรุงกัมพูชาเมื่อชั้นหลัง ยกตัวอย่างดังเช่นเอาพวกละคอนลิเกแลโล่โก๊เข้ากระบวนแห่นั้นเปนต้น แต่อย่างไรก็ตาม ราชกำหนดนี้เปนหนังสือแต่งพิสดารดีควรนับว่าเปนตำราของกรุงกัมพูชา จึงได้จัดหนังสือเรื่องนี้ไว้ในประเภท “หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ” ซึ่งราชบัณฑิตยสภารวบรวมพิมพ์นับเปนภาคที่ ๒๐

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

วังวรดิศ

วันที่ ๑๐ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ