ว่าด้วยยานพาหนะทางบก (เกวียน)
เกวียนเปนพาหนะใช้ประกอบการอาชีพสำคัญส่วนหนึ่งแลสำหรับขี่ลำลองด้วย ทั้ง ๒ อย่างนี้ใช้เกวียนขนาดเดียวกัน เกวียนมีประทุนบ้าง เกวียนโถงบ้าง รูปร่างเกวียนเหมือนกันทั้งหมด
รูปร่างลักษณะแลวัตถุที่ใช้ในการทำหรือสร้างเกวียนก็เปนเครื่องมือธรรมดา เช่นขวาน สิ่ว มีดโต้ แลเหล็กเครื่องมือกลึงล้อ ส่วนไม้ต่าง ๆ ทิ่ใช้ประกอบเปนเกวียนขึ้น จะได้ปรากฎต่อไปนี้
ทางแลทำเลที่ใช้เกวียนนี้ ต้องไปตามถนนหรือทางที่กว้างราว ๖ ศอก แลต้องเปนที่สูง โคก ปราศจากน้ำโคลน ถึงจะมีตอไม้หรือสิ่งไม่สม่ำเสมอก็ไปได้ ส่วนทางที่ใช้กันอยู่เวลานิ้เดิรได้ถึงกัน เช่นมณฑลร้อเอ็จไปนครราชสิมา อุดร อุบล เกวียนนี้เปนยานพาหนะที่ใช้บันทุกสินค้าสำคัญกว่ายานพาหนะอย่างอื่น ต่อติดกับในมณฑลภาคอิสาณ
การบันทุกถ้าเดิรทางไกลนับตั้งแต่ ๑๐ วันขึ้นไป บันทุกน้ำหนักราว ๓-๔ หาบเปนอย่างหนัก ถ้าเดิรวันเดียวหรือ ๒ วันบันทุก ๕ หาบ ขนาดเกวียนสูงจากดินถึงพื้นประมาณ ๒ ศอกเศษ ตัวเกวียนกว้าง ๑ ศอกเศษ ยาวประมาณ ๓ ศอกเศษ ราคาที่ซื้อขายกันตามราคาตั้งแต่ ๒๐ บาทขึ้นไปถึง ๕๐ บาท ประทุนที่ใช้ประกอบราคาหลังละ ๗ บาท ๘ บาท ถ้าซื้อขายกันทั้งประทุนด้วยราคาก็เพิ่มขึ้นตามส่วน ผู้ที่ทำเกวียนนี้ไม่ได้ทำซื้อขายเปนสินค้าใหญ่โต เพียงแต่ทำใช้สอย ที่ทำขายมีส่วนน้อย
ไม้ที่ใช้ทำเกวียน คือดุมเกวียนใช้แก่นไม้เต็งรังขนาดยาว ๑ ศอกคืบ โตผ่าสูญกลาง ๑ คืบ กลึงเปนรูปกลมใหญ่ ส่วนกลางใหญ่ พองตัวขึ้น ๑ ใน ๑๐ ของส่วนโต แล้วเจาะให้ทลุกลางตามส่วนยาวสำหรับใส่ไม้กำ ๑๖ รู ไว้ส่วนเว้นระยะของรูให้เท่า ๆ กัน
ไม้กำเกวียนใช้ไม้พยุง หรือไม้ประดู่หน้าหนา ๑ นิ้ว กว้าง ๒ นิ้วครึ่ง ยาว ๗ ศอก เกลาแต่งให้เรียวบางหนา ทางต้นรูเจาะไว้ในไม้ดุม แล้วเอาไม้กำนี้ใส่ในดุม
ไม้กงเกวียน ใช้ไม้แดง เต็งรัง ประดู่ ชาด ฉะแพาะแต่แก่น เลือกหาที่มีรูปโค้งอยู่แล้ว มาถากหนา ๒ นิ้ว กว้าง ๕ นิ้ว ส่วนยาวตัดออกเปนท่อนกะให้เท่ากันเปนรูปวงกลม ทำลิ้นต่อเชื่อมกันราว ๓ นิ้ว เมื่อเข้ารูปพอดีกับวงกว้างของปลายกำ เจาะช่องสำหรับใส่ปลายกำให้ได้ระยะเท่ากัน ปลายกำบากให้มีเดือยกลาง ใส่ลงแต่ให้หลวม หน้าเล็กสำหรับใช้ไม้ตอกลิ่มอีกทีหนึ่ง คุมเกวียนเมื่อใส่กำเสร็จเข้ารูปเปนล้อเกวียนวงกลมแล้ว ต้องขุดดินให้เปนรางเท่ากับวงเกวียน ดุม ๒ ข้างอยู่ปากรางเข้าเขี้ยวสุนักข์ เมื่อวงเกวียนได้รูปกลมดีไม่เบี้ยวแล้ว จึงจะใช้เปนล้อเกวียนได้ เกวียนเล่ม ๑ มี ๒ ล้อ
ทวกเกวียน ใช้ไม้แก่นที่เนื้อเหนียวแน่น ไม้นั้นใช้ได้ทุกชนิด ยาว ๘ ศอกคืบ หนา ๓ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว ๒ ท่อน ถากเรียวรวมปลายให้ไม้แบนชิดกันตรงปลายราว ๑๐ นิ้วฟุต แล้วมีไม้บังคับไม่ให้ขยายออกได้ แล้วถ่างปลายไม้อีกข้างหนึ่งออกจากกัน ตรงกลางไม่เกิน ๕ ศอก เอาหลักตอกบังคับไว้ไม่ให้คืนอีก แล้วทิ้งไว้ให้อยู่ตัวราว ๕-๖ วัน เมื่ออยู่ตัวแล้วปลายที่ประจบกันทำเปนรูเอาไม้ขั้นใส่ ๗ ขั้นอย่างชั้นบันได แลเรียวไปทางไม้ที่รวมติดกัน เว้นปลายไม้ที่รวบติดกัน ขั้นแรกถึงราว ๑ ศอก
กล้องเพลาใช้ไม้ทุกชนิดที่เปนแก่นโตเท่าดุมเกวียน ยาวเท่าส่วนกว้างของเกวียนระหว่างหัวกล้องเพลาเจาะเปนรูกลม ๆ ทั้ง ๒ ข้างสำหรับใส่ไม้เพลา ซึ่งจะต้องสอดทลุมาในดุมเกวียน
ไม้คานเกวียน ใช้ไม้แก่นได้ทุกชนิดยาว ๕ ศอกกว่า ๑ อัน โตผ่าสูญกลางยาว ๒ นิ้วครึ่ง ทำเดือยไว้ข้างปลาย ๒ ข้าง ไม้ทั้งสองอันนี้อันสั้นเรียกว่าคานหน้า อันยาวเรียกว่าคานหลัง สำหรับผูกติดไม้ทวก ให้ล้อเกวียนอยู่ระหว่างกลาง
แพดเกวียน (แปรกเกวียน) ใช้ไม้แก่นทุกชนิดคาบเกี่ยวกับไม้คานยาว ๔ ศอก หรือยาวกว่าส่วนกว้างของล้อเกวียนสัก ๔ นิ้ว เจาะรูท้ายสำหรับเข้ากับเดือยไม้คานเกวียน ส่วนกลางของไม้นี้เจาะรูไว้สำหรับใส่เพลาเกวียนซึ่งต้องติดกับดุมแลกล้องเพลา
แอก ที่อยู่ปลายเกวียนแลสำหรับพาดคอโคนั้น ใช้ไม้ที่ไม่ค่อยหนักแต่ให้เหนียว เช่นไม้มะเหลี่ยม ไม้กระทุงเกลาให้กลม ขยายส่วนกลางให้โตเล็กน้อย ตรงกลางต้องทำให้ไม้หนาเปนเหลี่ยมลูกอิฐ เจาะรูต่อไม้อื่นเปนหมอนรองซึ่งทำเดือยรับไว้ หนุนขึ้นให้สูงราว ๖ นิ้ว ไม้นี้สำหรับใช้หนังโคหรือหวายผูกติดกับปลายทวก เรียกว่าแอกเกวียนที่สำหรับเทียมโค ที่ปลายนอกทั้ง ๒ ข้างเจาะเปนรูสำหรับใส่ลูกแอก เพื่อกันเชือกทามคอโคไม่ให้หลุดจากปลายแอก
เพลาเกวียน ใช้ไม้เค็ง (ไม้เขลง) หรือไม้ที่แขงเหนียวไม่เปราะ เกลาให้กลมสำหรับใส่ในรูดุมเกวียนทลุข้างหนึ่งตลอดไปถึงกล้องเพลาเกวียนอีกข้างหนึ่งใส่กลางแพด (แปรกเกวียน) คานหน้าคานหลังกับแพดทุกมุมผูกด้วยหวายหรือลวดสังกะสี
ประทุน เปนเครื่องสำหรับประกอบเกวียนทำรูปโค้งด้วยไม้ไผ่ผูกถักด้วยหวายแล้วเอาใบตาลเย็บเปนแผ่นคลุมหลังเกวียน เพื่อกันฝนรั่ว แลจักไม้ไผ่สานเปนลายขัดปิดบนใบตาล แลผูกขอบทั้ง ๒ หน้าแลหลัง ส่วนหน้าทำรูปประทุนให้โค้งยื่นออกไปทางชานเกวียน ซึ่งเปนที่คนนั่งขับเพื่อกันแดด ส่วนหลังรูปประทุนโค้งเหมือนกันแต่โค้งเล็กน้อย แลใช้ไม้ทำเปนฝาปิดหลังแลหน้าเกวียนอีกทีหนึ่ง เรียกว่าอุดท้ายเกวียนแลหน้าเกวียน
ส่วนเกวียนที่ใช้บันทุกสินค้าต่าง ๆ ถ้าใช้สอยอยู่เสมอใช้ได้ในราว ๕-๖ ปีเปนอย่างมาก แต่ธรรมดาสิ่งใดชำรุด ก็ต้องซ่อมแซมแก้ไข ใช้สอยจนล้อแลกงดุมสึกหรอเต็มที่ แล้วจึงทิ้งแลเลิกใช้ ส่วนล้อดุมกว่าจะชำรุดภายใน ๑๐ ปี
ในส่วนตัวเกวียนแลประทุนทั้งหมดเปนไม้หลายชิ้นต้องใช้หวายหรือลวดหรือเถาวัลย์ต่าง ๆ เปนเครื่องผูกมัดติดต่อกัน ตามส่วนที่จะเข้ากันได้ ส่วนต่อแพด (แปรก) กับคานนั้น ต้องแก้ลงผูกในเวลาเปลี่ยนเพลาเกวียนเสมอเพลาต้องหมั่นเปลี่ยน ถ้าใช้บันทุกหนัก ๓ วันเปลี่ยน ถ้าไม่หนัก ๓ วันเปลี่ยนครั้งหนึ่งก็ได้สุดแล้วแต่ผู้เปลี่ยน ถ้าทำถูกต้องถูกส่วนได้ขนาดไม่มีขัตข้องก็ไม่สึกหรอง่าย ถ้าทำไม่ถูกส่วนก็สึกหรอง่าย ไม้เพลานี้ต้องเตรียมย่างไฟไว้ให้แห้งสำรองไว้มาก ๆ เมื่อจะเดิรทางไกล ขายราคาคู่ละ ๖ สตางค์เปนอย่างแพง
อั่วเกวียน ใช้ไม้เต็งรัง ไม้นี้ต้องเตรียมไว้เหมือนกัน แต่จะใช้ในเมื่อรูดุมเกวียนสึกหรอกว้างออกแล้ว ไม้นี้ทำเปนท่อนกลมเท่ารูดุมที่สึก อั่วนี้ทำรูปยาวราว ๔ นิ้วตอกลงในรูของดุมเกวียนโดยอาศรัยยางไม้หรือข้าวสุกหรือมูลโคเปนเครื่องเหนี่ยวให้ติดกัน เมื่อตอกแล้วเจาะรูสำหรับใส่เพลาเกวียนไม่ให้หลวม