ว่าด้วยยานพาหนะทางน้ำ

เรือเปนเครื่องประกอบอาชีพส่วนหนึ่งใช้รวมกันทั้งลำเลียง แลลำลอง รูปร่างของเรือคล้ายคลึงกับเรือมาด

เครื่องมือที่จะใช้ในการทำแลสร้างเรือมีขวานหงอน (ขวานโยน) ขวานตระโปง (ขวานถาก) สิ่ว มีดโต้ แต่บางครั้งใช้ขวานโยนเปลี่ยนด้ามต่างสิ่วหน้าใหญ่ก็ได้ ทำเลที่ใช้เรือในท้องถิ่นนี้ไปได้แต่ลำชีลำน้ำต่าง ๆ ที่ไม่มีลมแรง เพราะเปนเรือที่ไม่สู้แน่นหนาแขงแรงนัก

ขนาดเรือเล็กตามที่ใช้อยู่โดยมาก ยาว ๓ วา กว้าง ๒ ศอก ท้องลึกศอก ๑ กินน้ำลึกเมื่อยังไม่บันทุกราว ๖ นิ้ว ถ้าใช้ในการบันทุกจะบันทุกได้ลำหนึ่งราว ๔ หาบ ขนาดเรือใหญ่ยาวราว ๘ วา กว้างราว ๒ วา ท้องลึกราววา ๑ บันทุกได้ราว ๑๐๐ หาบ เมื่อยังไม่บันทุกกินน้ำลึกราว ๑๕ นิ้วฟุต

ราคาเรือที่ซื้อขายกันขนาดเล็กธรรมดาราว ๑๕ บาท ถึง ๒๐ บาท ขนาดใหญ่ตั้งแต่ ๑๐๐ บาทถึง ๕๐๐ บาท แล้วแต่เนื้อไม้ที่ใช้ทำเรือ ถ้าเปนไม้ตะเคียนราคาแพง

การทำเรือ เรือเล็กใช้ขวานหงอนตัดท่อนไม้ตามขนาดที่ต้องการ ขนาดเรือเล็กตามธรรมดาที่ใช้อยู่โดยปรกติกว้าง ๒ ศอกยาว ๓ วา เมื่อกะขนาดยาวของเรือแล้วเว้นหัวท้ายไว้ข้างละ ๒ ศอก ใช้ขวานหงอนแซะขุดไม้ที่ได้เอาเปลือกออกดีแล้ว ตั้งแต่หัวไปกลาง แลตั้งแต่ท้ายไปกลางให้ลึกเปนลำดับลงมาถึงกลางลำต่อกันแต่ ๑๐ นิ้วถึง ๑๕ นิ้ว ใช้ขวานหงอนถอดด้ามออกเปลี่ยนด้ามใช้ต่างสิ่วใหญ่เซาะเอาเนื้อไม้ตรงกลางออกให้กว้างตามต้องการ แล้วตะแคงข้างลงใช้ขวานถากเกลาไม้ภายนอกให้โปนรูปเรือโกลนเอาเนื้อไม้ไว้หนา ๓ นิ้ว เมื่อโกลนเสร็จแล้วตั้งลำเรือให้ตรง ๆ ใช้ก่อไฟในที่เซาะเอาเนื้อไม้ออกตลอดหัวท้ายพอร้อนจัดแล้วก็ดับไฟใช้ไม้ทำขั้นที่แรกยาวราว ๑๐ นิ้ว ค้ำเบิกทางหัวท้าย แล้วเปลี่ยนไม้ขนายให้ยาวออกไป เบิกเรือให้กว้างออก แล้วแต่งในท้องเรือให้เกลี้ยงดี ในการเบิกปากเรือใช้ไฟช่วยให้เนื้อไม้อ่อนทุกครั้งที่ขยายแล้วทิ้งไว้ให้อยู่ตัวจึงขยายอีกตามความต้องการ เมื่อแต่งเกลาทำเปนรูปเรือเสร็จแล้ว ในการตกแต่งเรือให้รูปงามกว้างได้ส่วนเรียบร้อย ใช้หลักไม้ง่ามสี่หลักฝังใส่คานยกเรือขึ้นสูงจากดินราว ๑ คืบใช้ไม้ผูกหัวท้ายตรงคานไม่ให้เรือไหวเคลื่อนที่ แล้วใช้โคลนทาในท้องเรือให้ทั่วปิดเนื้อไม้ให้มิดแล้วก่อไฟในท้องเรือให้ร้อนช่วยทำให้เนื้อไม้อ่อน เมื่อเรือตรงไหนยังไม่งามก็เอาไม้งัดแต่งจนสวยงามตามชอบใจ ดินที่ทาท้องเรือกันไม่ให้ไฟไหม้ท้องเรือ แล้วใช้ขวานตะโปงสิ่ว มีดเหล่านี้เกล้าตกแต่งให้เกลี้ยง ถ้าเปนเรือขนาดใหญ่วิธีทำก็เช่นเดียวกันกับเรือเล็กดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

เรือขนาดเล็กไม่มีเครื่องประกอบอย่างใด นอกจากไม้พายซึ่งตามธรรมดาใช้กันพายหัวท้ายก็ไปไหนได้ตลอด ส่วนเรือขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับบันทุกต้องใช้ทุ่นไม้ไผ่ประกอบทั้ง ๒ ข้างแคมเรือ แลทำประทุนตลอดลำกันฝนเว้นหัวท้ายไว้พอควร แลใช้แจวถ่อท้าย เรือมีหางเสือสำหรับคัดได้เรือเดิรไปทางขวาหรือซ้าย ยกร้านขึ้นนั่งถือหางเสือด้วยพอมองเห็นหัวเรือข้ามประทุนได้

ชนิดไม้ที่ใช้ทำเรือกันโดยมาก ก็เช่นไม้ตะเคียน ไม้เต็งรัง ไม้แต้ ไม้ยาง ไม้กุง (ไม้พลวง) ก็ทำแต่ไม่มาก ถ้าใช้ไม้เต็งรังไม้ตะเคียนไม้แต้จะทนอยู่ได้ ๑๐ ปีขึ้นไป ไม้ยาง ไม้พลวงราว ๕ ปี แต่เรือขนาดใหญ่โดยมากใช้ไม้ตะเคียน ไม้ยาง เพราะไม้ ๒ ชนิดนี้มีขนาดโตกว่าไม้ชนิดอื่น

การทำเรือถ้าใช้แรง ๒ แรง เรือขนาดเล็กราว ๓๐ วันก็เสร็จ เรือขนาดใหญ่ใช้แรง ๑๐ แรงราว ๓ เดือน เรือในท้องที่นี้ไม่มีกระดูกงูแลกงเลย ใช้สิ่วเจาะเนื้อไม้ริมกราบใส่ขั้นกระทงในตัวตามต้องการ บางทีใช้ขั้นแต่ ๕ ขั้นถึง ๗ ขั้นหรือ ๑๑ ชั้นถึง ๑๕ ขั้น เรือขนาดใหญ่นี้มีที่ใช้น้อย ใช้กันบันทุกสินค้าไปมาในลำชี ถ้าเปนฤดูแล้งก็ใช้ไม่ได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ