วิธีทำนาเกลือ
วิธีทำเกลือที่เรียกว่าเกลือสินเธาว์ทำกันไม่ได้ไช้น้ำขังอย่างทำเกลือทางทะเล ดินจะทำเปนเกลือได้ ดินนั้นต้องมีลอองเกลือขึ้นขาว แล้วกวาดเอาดินลอองนั้น (ตามภาษาชาวเมืองเรียกว่าดินขี้ทา) มาละลายกรองเอาน้ำต้มเขี้ยวจนเปนเกลือ มณฑลร้อยเอ็จบ่อพันขันเปนบ่อใหญ่จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง
วิธีกวาดดินมาต้มเปนเกลือ
วิธีกวาดดินมาต้มเปนเกลือ ที่ใดเปนที่เค็มโดยมากไม่ใคร่มีหญ้าขึ้น เมื่อฝนตกลงจนท่วมแผ่นดินก็ละลายเอารสเค็มในดินมาด้วย ครั้นฤดูแล้งแดดเผาน้ำแห้งไป ขี้เกลือค้างบนพื้นดินเปนทรายสีขาว ๆ แล้วก็กวาดเอาดินนั้นกองไว้ เมื่อได้มาก ๆ แล้วก็เอาไปใส่ในรางเอาน้ำแช่เกรอะเอาแต่น้ำเก็บไว้เพื่อต้มให้เปนเกลือ
วิธีเกรอะน้ำเกลือ
วิธีเกรอะน้ำเกลือต้องมีราง ๆ นั้นใช้ไม้ท่อนขุดไม้ค้ำหัวท้ายคล้ายเรือโกลนหรือกาบกล้วยยาวประมาณ ๓ ศอกบ้าง ๔ ศอกบ้าง เอาไม้ค้ำหัวท้าย สูงพ้นดินประมาณ ๒ ศอกเอาดินเหนียวทำเปนทำนบหัวท้ายเพื่อไม่ให้น้ำไหลออก เจาะรูเล็ก ๆ ไว้กลางรางรู ๑ กว้างประมาณ ๑ เซ็นติเมตร์ เอาฟางรองก้นราง เอาดินซึ่งกวาดไว้นั้นใส่ลงในราง เอาน้ำเทลงไปละลายน้ำที่หยดออกจากรูก้นรางนั้นเปนน้ำเกลือเก็บไว้มาก ๆ จึงเอาไปต้ม ที่สำหรับเก็บน้ำเกลือราษฎรไม่ได้ใส่ถัง ใส่ไห ใส่โอ่งอย่างไร ใช้ขุดบ่อลงไปในดินอย่างหนึ่ง หรืออีกอย่างหนึ่งสานด้วยไม้ไผ่คล้าย ๆ พ้อมแล้วเอาเปลือกไม้ชนิดหนึ่งมาตำให้ละเอียด ยาบ่อนั้นหรือพ้อมนั้นจนทั่ว เปลือกไม้ชนิดนี้ตามพื้นเมืองเรียกว่าเปลือกบง เมื่อเอาเปลือกบงตำละเอียดแล้ว จึงเอาขยำปนกับดิน เมื่อแห้งแขงแลเหนียวคล้ายปูนซิเม็นต์ บ่อใส่น้ำเกลือนี้โดยมากขุดลึกเพียงสองศอกคืบหรือสามศอกเท่านั้น เพื่อเมื่อบงก้นบ่อนั้นแตกคนจะได้ค่อยหย่อนตัวลงไปในน้ำเกลือนั้น แล้วจะได้ยาก้นบ่อนั้นได้ง่าย
วิธีตรวจเกลือ
วิธีที่จะตรวจเกลือ เขาเอาครั่งก้อนขนาดหัวแม่มือ แล้วเอาเชือกลูกหย่อนลงไปในน้ำเกลือที่เกรอะไว้นั้น ถ้าน้ำเกลือมีรสจืด ครั่งนั้นก็จมลงไป ถ้าหากน้ำเกลือนั้นมีรสเค็มจัดครั่งนั้นก็ลอย เมื่อดินในรางจืดแล้วก็เอาดินใส่ใหม่เกรอะอย่างนี้ตลอดไป
วิธีต้มน้ำเกลือ
วิธีต้ม ถ้าทำมาก ๆ ไม่ได้ใช้หม้อหรือกะทะต้ม คือเอาบงอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นปนกับดินปั้นเปนรูปเหมือนกับเบ้าหล่อพระ จากปากถึงก้นลึกประมาณ ๓๐ เซ็นติเมตร์ กว้างประมาณ ๒๗ เซ็นติเมตร์ แล้วเอาดินปั้นเปนเตายาว ๆ เอาหม้อบงนี้วางเรียงกันเปน ๒ แถว ๆ หนึ่งเตาอย่างยาววางหม้อได้ราว ๑๒ ใบ ทั้งเตาเปน ๒๔ ใบ ระหว่างที่หม้อบงตั้งอยู่นั้น เขาเอาบงยาปิดแสงไฟขึ้นไม่ได้เลย แสงไฟออกได้ทางหัวท้ายซึ่งสำหรับเอาฟืนใส่เท่านั้น วิธีปั้นเตาวางหม้อบงนี้ก่อนที่จะทำเขาต้องหาคนที่เปนผู้เถ้าผู้แก่มาปั้นก่อนเพื่อเปนโชคไชย แต่เวลานี้ใช้สังกะสีบ้าง หรือเอากะทะต้มบ้างตามสดวกแก่การทำเกลือของเขา แลเมื่อจะยกหม้อบงขึ้นตั้งบนเตา ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนเปนเครื่องบวงสรวง เมื่อเตาแห้งแล้วจึงเอาน้ำเกลือใส่ลงต้มต่อไป วันหนึ่งใส่น้ำเกลือแต่เช้าประมาณบ่ายโมงครึ่ง น้ำเกลือนั้นแห้งได้ตักเกลือครั้งหนึ่ง (ไฟต้องลุกเสมอ) ตักขึ้นใส่ตะกร้าผึ่งไว้สัก ๒ ชั่วโมงเพื่อให้สะเด็ดน้ำ เมื่อเกลือแห้งดีแล้วเขาก็เอาใส่กะทอ ๆ นี้สานด้วยไม้ไผ่อย่างชลอม แต่ทำรูปคล้ายกระบอกไม้ สานตาห่าง ๆ เมื่อจะเอาเกลือใส่เขาเอาใบไม้ใหญ่ ๆ เช่นใบพลวงรองเสียก่อน กะทอ ๑ เกลือหนัก ๑ หมื่น (หนัก ๑๐ ชั่งไทย) บ้างครึ่งหมื่นบ้าง
เกลือบ่อพันขันธ์
วิธีทำเกลือบ่อพันขันธ์ สถานที่ทำเกลือที่กล่าวมาแล้วนั้น เปนพื้นที่ราบหรือบนโคก แต่ที่บ่อพันขันธ์นี้เปนที่ลุ่มลึกเปนบ่อลงไปประมาณ ๑๒ วา กว้างประมาณ ๑๐ เส้น ยาวประมาณ ๕๐ เส้น ก้นบ่อเปนศิลาสีแดงแผ่นโต ๆ เรียงสลับไปคล้ายกระทงผ้าจีวรพระ ตามภาษาพื้นเมืองเรียกว่าหินตาผ้าคุม (ผ้าคลุมหรือผ้าจีวร) ตอนกลางมีบ่อมีเกาะใหญ่หลายแห่ง ทิศเหนือเปนศิลาสีดำแผ่นโต ๆ กว้างตั้ง ๒-๓ วา หนาตั้งวาก็มี ส่วนหนาของศิลานั้นมีรอยน้ำเซาะมีรูปต่าง ๆ คล้ายเก๋งเกวียนแลดูงดงามมาก ก้นบ่อระหว่างศิลาติดต่อกันนั้นบางแห่งเปนหลุมลึก ๆ มีน้ำซึมออกมาเสมอตักไม่แห้ง แต่ถ้าไม่ตักก็ไม่มากขึ้นกว่านั้น น้ำที่ซึมมานี้ราษฎรเอาครั่งสำหรับตรวจดูว่าเกลือจะมีรสเค็มหรือไม่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างบน เที่ยวหย่อนตรวจดู ถ้าเค็มพอจะต้มได้ ก็เลยตักใส่ไว้ในบ่อบงทีเดียว ถ้าไม่สู้จะเค็มก็ช่วยกันตักสาดขี้นไปตามหินราบๆ เอาดินปั้นเปนทำนบขังเอาน้ำไว้ เอาถัดทา (คราดไม้) ขูดหินกวนน้ำให้เกลือละลายออกมาปนกัน เมื่อเห็นว่าเกลือเข้ากับนำแล้วก็วิดไปล้างเอาเกลือที่อื่นต่อไป ทำเช่นนี้ตลอดไปจนน้ำนี้เค็มจัดจึงตักไปไว้ในบ่อบงเพื่อจัดการต้มต่อไป การทำเกลือนั้นเริ่มแต่เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ เลิกเดือน ๕ คนที่ไปทำราว ๕๐๐ ครัว การทำเกลือเขาไม่แย่งกัน โดยเหตุว่าราษฎรถือว่ามีภูตา (ผี) อยู่ที่นั้น บ่อพันขันธ์เปนบ่อใหญ่ที่สุด
สถานที่ทำเกลือนี้ จังหวัดร้อยเอ็จมี ๑๔ แห่ง หังหวัดมหาสารคามมี ๒๙ แห่ง จังหวัดกาฬสินธุ์มี ๗ แห่ง รวมทั้งมณฑลมี ๕๐ แห่ง เกลือที่ทำนี้จำหน่ายขายอยู่ในมณฑลร้อยเอ็จบ้าง จำหน่ายไปมณฑลอุบล แลอุดรบ้าง ปีหนึ่งประมาณ ๓๐๐๐ หาบ