วิธีปลูกครั่ง

การปลูกครั่งเปนสินค้าสำคัญของราษฎรชาวมณฑลร้อยเอ็จอันหนึ่งซึ่งชอบปลูกกันมาก เพราะการปลูกครั่งไม่ใคร่จะลงแรงมากนัก แต่ไม่ใคร่จะปลูกกันมากต้นนัก คนหนึ่งก็เพียง ๒-๓ ต้นหรือ ๗-๘ ต้นเปนอย่างมาก เมื่อเวลาขายก็เก็บมาขายได้เงินปีหนึ่งคนหนึ่ง ๆ ประมาณตั้งแต่ ๒๐ บาทถึง ๓๐ บาทตามผู้ปลูกมากแลน้อย ครั่งมีราคาหมื่นหนึ่งประมาณ ๑๐ บาทเปนอย่างต่ำ ๒๐ บาทเปนอย่างสูงหรือกว่านี้ก็มี ต้นไม้ต้นหนึ่งเก็บครั่งได้ ๑ หมื่นเปนอย่างน้อย แต่ราษฎรปลูกกันทุกวันนี้ก็ปลูกต้นไม้ที่มีอยู่แล้วตามนาตามสวนของตนเท่านั้น ถ้าผู้ใดไม่มีต้นไม้อยู่ตามนาตามสวนก็เลยไม่ได้ปลูก ผู้ที่จะคิดหาปลูกต้นไม้ปลูกครั่งขึ้นเองไม่มีเลย เพราะเขาคิดเสียว่ากว่าจะได้ปลูกครั่งได้ก็หลายปีเปนเวลานาน

ต้นไม้ที่จะปลูกครั่งมีหลายอย่างหลายชนิด เช่นต้นสะแก ต้นฉนวน ต้นพยุง ต้นประดู่ ต้นแต้ ต้นไร ต้นถั่วแระ ต้นฝรั่ง ต้นพุดซา ต้นจามจุรี ต้นตะขบเปนต้น นอกจากนี้ก็มีต้นไม้อย่างอื่นอีกมาก

ฤดูปลูกครั่ง

การปลูกครั่งมี ๒ ฤดู เมื่อถึงเวลาจะปลูกครั่งจะเปนฤดูใดก็ตาม ผู้ที่จะปลูกต้องไปจัดการถากถางตามโคนไม้ที่จะปลูกนั้นให้เตียนไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อระวังป้องกันมิให้ต้นไม้เล็กหรือเถาวัลต่าง ๆ ขึ้นเกาะหรือกีดขวางต้นไม้ที่จะปลูก เพื่อกันมิให้ตัวครั่งเดิงหนีไปให้อยู่แต่ฉะเพาะต้นที่ปลูก แลกิ่งก้านที่แห้ง ๆ นั้นตัดฟันลงให้หมด เพราะถ้ามีกิ่งที่แห้งติดอยู่ตัวครั่งเดิรไป แลหมดหนทางที่จะเดิรก็หยุด เมื่อหยุดรวมกันเข้าเช่นนี้ ไม่มีน้ำที่ในไม้จะดูดดื่มเปนอาหารก็ตาย เพราะนอกจากน้ำฝนแล้วตัวครั่งก็อาศรัยน้ำในไม้นั้นเองเปนอาหาร ที่จะกลับหวนหลังไปหากิ่งใหม่ก็เดิรกลับไม่ไหว เพราะตัวครั่งเดิรช้าที่สุด แลไม่ใคร่จะเดิรหวนกลับทางเดิม โดยเหตุนี้ครั่งที่จะได้มาก หรือครั่งจับมากก็แต่ฤดูฝน ปีไหนฝนน้อยก็ได้ครั่งน้อย เมื่อเปนเช่นนี้โดยมากผู้ที่จะปลูกครั่งจึงชอบปลูกแต่ฤดูฝน คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มิถุนายน ก็เริ่มปลูก เพื่อรับความชุ่มเย็นของฝน ถ้าปลูกฤดูแล้งก็ต้องปลูกระหว่างเดือนตุลาคม พฤศจิกายน เพราะระหว่าง ๒ เดือนนี้เปนฤดูหนาวอากาศเย็นดี ตัวครั่งเดิรไปได้โดยสดวก เพราะครั่งชอบเย็นไม่ชอบร้อน ฤดูฝนถึงแม้จะร้อนก็จริง แต่ไม่ร้อนอยู่นานก็มีฝนตก ทั้งตัวครั่งได้รับอาหารคือน้ำฝนหรือน้ำไม้อยู่โดยบริบูรณ์

วิธีเลี้ยงตัวครั่ง

เมื่อได้ลิดกิ่งไม้ที่แห้งหรือต้นไม้เล็ก หรือเถาวัลย์ตามโคนต้นเรียบร้อยดีแล้ว ยังต้องคอยมองหาสิ่งที่จะทำอันตรายตัวครั่งตามต้นไม้ เช่นมดดำมดแดงไฟตัวเล็ก ๆ เปนต้น (ไม่ใช่มดแดงตัวใหญ่ เพราะมดแดงตัวใหญ่ไม่ทำอันตรายตัวครั่ง) นอกจากจะเห็นว่ามีมากเกินไปจะลำบากในเมื่อขึ้นปลูกครั่งหรือเก็บครั่งเท่านั้น จึงต้องจัดการเอามดนั้นออก วิธีที่จะเอามดเหล่านี้ออก ก็มิวิธีต่าง ๆ คือ ก่อไฟให้เปนควันรมต้นไม้ก็ได้ หรือจะหาข้าวสุกเนื้อปลาเปนชิ้นเล็ก ๆ หรือของหวานเช่นน้ำอ้อย กล้วยก็ได้ ไปติดตามโคนต้น เมื่อมดเหล่านี้เดิรไปมาได้กลิ่นก็มารวมกันกิน เมื่อเห็นว่ามารวมกันกินมาก ๆ ก็เอาไฟจุดหญ้าเผาเสียทีหนึ่งดังนี้จนหมด ถ้าไม่หมดยังเหลืออยู่่แต่เล็กน้อยก็นับว่าใช้ได้ ต่อไปก็คอยระวังเสมอ แต่โดยมากเมื่อได้ทำเช่นนี้แล้ว ที่ยังเหลืออยู่ก็ไม่ค่อยจะอยู่มักจะหนีหมด แลต้นไม้จะปลูกครั่งนี้ถ้าต้นไม้สูงมีกิ่งก้านน้อย ทีแรกก็ต้องราน (คือตัดกิ่ง) ให้กิ่งแตกแขนงมาก ๆ ก่อน ปีต่อไปจึงปลูก ถ้ามีกิ่งน้อยตัวครั่งมักไม่ใคร่จะจับ ถ้าจับก็ตาย เพราะถูกแดดร้อน ถ้าต้นไหนมีกิ่งก้านเปนพุ่มเย็นดีก็ไม่ต้องราน เพาะครั่งได้ทีเดียว แลอีกอย่างหนึ่งถ้าต้นไหนกิ่งก้านแก่นัก ครั่งก็ไม่ใคร่จะจับ เพราะกิ่งไม้แก่แขงต้องร้านให้กิ่งขึ้นใหม่ ถ้าได้ต้นไม้ที่อยู่ริมน้ำเปนดี เพราะว่าต้นไม้นั้นได้กินน้ำมาเลี้ยงต้นอิ่มอยู่เสมอ ครั่งก็อาศรัยอาหารจากต้นไม้ดังกล่าวแล้ว อีกประการหนึ่งที่จะรู้ว่าครั่งจับ ก็โดยมองดูตามกิ่งไม้ จะเห็นติดยาวอยู่ตามกิ่งไม้ขาวเหมือนสำลีแลโตขึ้นทุกที ถ้ามีสัตว์มาทำอันตรายตัวครั่งตายก็จะแลเห็นขาว ๆ นั้นกลับเปนดำ เมื่อหาต้นไม้ที่จะปลูกครั่งแลได้จัดการแผ้วถางดังกล่าวแล้วก็หาครั่งที่จะปลูกต่อไป

วิธีเลือกแลปล่อยตัวครั่ง

ครั่งที่จะปลูกนี้ก็เปนการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ถ้าได้ตัวครั่งอ่อนถึงแม้จะเอามาปลูกกับกิ่งไม้เท่าไรก็ไม่จับ เพราะตัวครั่งยังไม่แขงแรง หาอาหารตามลำต้นไม้กินไม่ใคร่ได้ หรือทนความร้อนแลอันตรายต่าง ๆ ไม่ใคร่ได้มักตายหมด เพราะฉนั้นต้องเลือกหาเอาตัวครั่งที่แขงแรง ที่จะรู้ว่าตัวครั่งแขงแรงก็รู้ได้โดยตัวครั่งออกจากรัง (คือกลีบครั่ง) เดิรหาอาหารตามกิ่งไม้ ที่จับอยู่นั้นอย่างต่ำเพียง ๓ วันเสียก่อน แล้วจึงตัดเอากิ่งไม้นั้นพร้อมกลีบครั่งมาทำพันธุ์ กิ่งไหนที่เขาจะเหลือไว้ทำพันธุ์ไม่ตัดออกหรือไม่เก็บเอามาเหลือไว้กับต้นไม้นั้นเอง เมื่อตัดลงจากต้นไม้ได้แล้วก็ตัดกิ่งไม้เปนท่อน ๆ ยาวประมาณ ๓ นิ้วหรือคืบหนึ่งแล้วรวมกันเข้า เอาฟางห่อมัดเปนเปลาะ ๆ ประมาณสัก ๒-๓ เปลาะโตเท่าขนาดกำรอบ ยาวประมาณคืบ ๑ หรือศอก ๑ ผูกไม่แน่นนัก มัดพอกันไม่ให้กิ่งไม้นี้แตกหล่นออกจากกิ่งเดิมเท่านั้น การเอาฟางห่อนอกจากกันมิให้กลีบครั่งตกก็มีประโยชน์ เพื่อกันมิให้แสงแดดกระทบถูกต้องกลีบครั่ง เพราะถูกแดดหนักครั่งจะตาย แต่ถ้าเปนฤดูฝน ๆ ตกเสมอ หรอฤดูแล้งอากาศเย็นเสมอจะไม่เอาฟางห่อก็ได้ แต่ห่อกันอันตรายได้หลายอย่าง เช่นกันมิให้ลมพัดตัวครั่งปลิวหนีเปนต้น ที่เอาฟางมัดแล้วเช่นนี้เรียกตามคำพื้นเมืองนี้ว่า (ส่อนครั่ง) แล้วก็ขึ้นมัดติดกับกิ่งไม้ประมาณกำรอบหรือ ๒ กำรอบก็ได้ ถ้าต้นไหนกิ่งมากก็เอาขึ้นมัดติดหลาย ๆ อันประมาณ ๔-๕-๖ อัน เพื่อตัวครั่งจะได้เดิรทั่วถึงทุกกิ่ง เมื่อได้มัดติดแล้วเช่นนี้ประมาณ ๓-๔ วันหรือ ๑๐ วันก็ขึ้นตรวจดู เมื่อเห็นตัวครั่งออกหนีหมดแล้ว ก็แก้มัดครั่งนั้นลงมาเอาครั่งนั้นขายหรือใช้ทำอะไรต่อไป แต่โดยมากเขาไม่ค่อยจะขึ้นกัน เพราะเมื่อเวลาขึ้นกลัวจะเหยียบตัวครั่งตาย ตัวครั่งเล็กเท่าไรตัวแดง ๆ ไม่แขงแรง ถูกต้องหรือกระทบเบา ๆ ก็ตาย สู้ทำขอใส่ไม้ยาว ๆ เกาะดึงกลีบครั่งที่ตัวหนีหมดแล้วลงมาดีกว่า ถ้าไม่แน่ใจว่าจะออกหมดหรือไม่ก็ทิ้งไว้นาน ๆ ประมาณ ๒๐-๓๐ วันจึงเอาลงก็ได้ ต่อนี้ไปก็คอยป้องกันอันตรายที่จะทำแก่ตัวครั่ง นอกจากดังกล่าวมาแล้วก็มีสัตว์ป่า เช่นกระรอกกระแต หรือบ่างเปนต้น สัตว์เหล่านี้จะขึ้นเหยียบย่ำไปมาตัวครั่งจะตาย การป้องกันก็ตัดต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียงใช้ปลูกครั่งไม่ได้นั้นออกเสียให้ห่างไกล เมื่อถึงเวลาที่จะเก็บครั่ง เช่นปลูกเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ก็เก็บเดือนพฤษภาคม มิถุนายน

วิธีตัดครั่ง

การตัดครั่งเมื่อถึงเวลาจะเก็บครั่ง เอามีดขึ้นไปตัดกิ่งไม้ที่ครั่งเกาะอยู่แล้วนั้นลงมา เอากลีบครั่งที่ติดอยู่กับกิ่งไม้นั้นออก ถ้าจะปลูกต่อไปก็เหลือไว้ทำพันธุ์ ๒-๓ กิ่งไม่ต้องตัดออก เมื่อจะปลูกก็ปลูกเดือนเก็บครั่งนี้เอง หรือที่เหลือไว้ประมาณ ๙-๑๐ วันก็ปลูกได้ต่อไป แต่ถ้าครั่งยังเดิรไม่ทั่วถึงกิ่งไม้จะไม่เก็บในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน จะรอไปเก็บเดือนตุลาคม พฤศจิกายนก็ได้ แลเหลือไว้ทำพันธุ์ปลูกต่อไปอีกเช่นเดียวกัน แต่ครั่งข้ามฤดูเก็บเช่นนี้ไม่ค่อยดี ขายไม่สู้ได้ราคา เรียกว่าครั่งเลย (คือครั่งจืดไม่มีตัว) ย้อมผ้าหรือทำอะไรไม่ค่อยจะแดงพอ เพราะตัวครั่งออกหนีหมด เมื่อเก็บครั่งลงมาได้แล้ว ก็ต้องผึ่งแดดสัก ๒-๓ วันเพื่อให้ตัวครั่งกลับเข้าไปตายอยู่ในกลีบครั่ง ถ้าไม่ตากแดดตัวครั่งออกจากกลีบครั่งหมด จะเอากลีบครั่งไปทำอะไร เช่นย้อมผ้าก็ไม่ค่อยแดงดีคล้าย ๆ ครั่งเลยดังกล่าวมาแล้ว แลสำหรับต้นไม้ที่ปลูกครั่งจะเปนต้นอะไรก็ตาม ราษฎรมณฑลนี้นับถือมาแต่โบราณว่าจะเปนต้นไม้ที่ครั่งจับดีเท่าไรก็ตาม ถ้าอยู่ใกล้บ้านเรือนแล้วไม่ใคร่จะปลูก เพราะถือกันว่าอาจเปนโรคกุดถัง (หรือเรียกตามคำพื้นเมืองนี้ว่าขี้ทูต หรือพยาธิใหญ่) แลพันธุ์ครั่งที่จะปลูกนี้ก็หาซื้อหรือแลกเปลี่ยนเอาพันธุ์ที่เจ้าของไม่เปนขี้ทูต โดยเหตุนี้ราษฎรชาวมณฑลร้อยเอ็จโดยมาก จึงไปเลือกหาต้นไม้ที่อยู่ห่างไกลบ้านเรือนปลูกครั่ง ถึงแม้จะไปนอนรักษาต้นครั่งก็ต้องอยู่ห่างไกลแลเหนือลม เพราะกลัวตัวครั่งจะปลิวถูกตัวจะเกิดเปนโรคกุดถัง จึงเปนเหตุให้โอกาศแก่ผู้ลักขะโมยทำการลักได้โดยสดวก ราษฎรจึงไม่ค่อยจะปลูกกันมากต้นนัก ปลูกก็ปลูกแต่น้อยต้น ถ้าจะปลูกมากการรักษาไม่ทั่วถึง เกรงอันตรายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว

ชนิดของตัวครั่ง

ตัวครั่งมี ๒ ชนิด คือตัวเล็กแลมีสีแดงจัด ครั่งชนิดนี้เรียกว่าครั่งตัวผู้ อีกชนิดหนึ่งตัวใหญ่ไม่ใคร่จะแดงจัด มีสีค่อนข้างจะมีขาวนิด ๆ ซึ่งผิดกับตัวผู้ ครั่งชนิดนี้เรียกว่าตัวเมีย ตามธรรมดาเมื่อแรกออกจากรัง ตัวผู้มักออกก่อน เพราะตัวผู้มีกำลังกว่าตัวเมีย แลการเดิรของตัวครั่งชั้นแรกมักออกเดิรไปหยุดเปนกลุ่ม ๆ ไม่กระจายแลเปนระยะ วันแรกห่างจากรังประมาณนิ้ว ๑ แลวันที่ ๒ ที่ ๓ ก็ห่างออกตามลำดับ ต่อเมื่อได้ ๔-๕ วันจึงกระจายกัน แลผลที่สุดเมื่อหาที่หาทางอยู่ได้แล้วก็รวมกันอีก การกลับรวมกันภายหลังนี้ก็คือรวมกันทำรังนั้นเอง แลการกระจายของตัวครั่งก็มีเรื่อยไปจนถึงฤดูที่จะเก็บเอาครั่งลง จึงเข้าอยู่ในรังหมดไม่มีกระจาย ซึ่งเรียกกันว่าครั่งแก่

วิธีเก็บครั่ง

วิธีที่จะเก็บครั่งเพื่อประโยชน์ใช้หรือขาย ถ้าครั่งเพาะฤดูน้ำค้าง คือเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ต้องมาเก็บฤดูฝน คือพฤษภาคม มิถุนายน ถ้าครั่งปลูกฤดูต้นฝน คือเดือนพฤษภาคม มิถุนายนต้องเก็บฤดูแล้ง คือเดือนตุลาคม พฤศจิกายน การเก็บครั้งนี้เมื่อพิจารณาเห็นว่า กิ่งใดที่มีรังครั่งเกาะอยู่ก็ตัดกิ่งนั้นมาลิดกิ่งแลใบออกตากแดดไว้ ฝ่ายตัวครั่งที่กระจายอยู่ยังไม่เข้ากลีบเข้ารัง เมื่อฤดูแดดร้อนเข้าไปในกลีบในรัง พอกลีบรังนั้นร้อนตัวครั่งก็ตายอยู่ในกลีบในรังนั้นเอง ต่อนี้ไปจะเอาไปขายหรือไปใช้ก็ได้ตามความประสงค์

ส่วนกิ่งไม้ที่ครั่งเกาะนั้นไม่มีกิ่งโตกิ่งขนาดเท่านิ้วก้อยหัวแม่มือ อย่างโตที่สุดก็เพียงกำรอบเท่านั้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ