วิธีทำไหม

ตัวไหมเมื่อออกจากไข่ เรียกว่าตัวม่อน เมื่อไหมทำรังตัวอยู่ในรังหรือในฝัก เรียกว่า ตัวดักแด้ เมื่อตัวไหมออกจากรังหรือฝักมีปีกแล้วเรียกว่าตัวบี้

วิธีเพาะไหมของชาวพื้นเมือง

แรกที่จะเอาไหมมาเลี้ยง ต้องเอาตัวบี้มาประมาณ ๕๐ หรือ ๑๐๐ ตัวมาปล่อยไว้ในกระด้งให้ตัวผู้กับตัวเมียประสมกัน (ตัวบี้มีปีกแต่ไม่บิน ตัวเมียโตกว่าตัวผู้) เวลาเช้าพอตวันบ่ายก็จับเอาตัวผู้ทิ้งเก็บเอาตัวเมียใส่ผ้าไว้ ผ้านั้นเปนผ้าขาวกว้างยาวประมาณ ๑ ศอกสี่เหลี่ยม เมื่อจับตัวบี้ใส่ในผ้าแล้ว เอาขันหรือชามครอบไว้คืนหนึ่งตัวบี้ก็ไข่ไว้ที่ผ้านั้น รุ่งขึ้นก็เปิดขันหรือชามที่ครอบไว้ ก็จะเห็นไข่ติดอยู่ที่ผ้านั้น ส่วนตัวแม่บี้ก็จับทิ้งเสีย ไข่บี้ที่ติดอยู่กับผ้านั้นเอาผ้าปิดไว้ประมาณ ๘ วัน ตัวม่อน (ตัวไหม) ก็ออกจากไข่ เมื่อออกจากไข่ตัวประมาณเท่าลูกน้ำขนาดเล็ก ๆ

การเลี้ยงไหม

เมื่อตัวม่อนออกจากไข่หมดแล้ว ก็เอาผ้าที่รองไข่นั้นใส่ในกระด้ง เอาใบม่อนมาหั่นให้เปนฝอยให้ตัวม่อนกินวันละ ๓ ครั้ง บางทีก็ให้กินกลางคืนบ้าง แล้วแต่ผู้เลี้ยงนั้นขยันหรือเกียจคร้าน พอได้ ๗ หรือ ๘ วันตัวม่อนนั้นจะสงบนิ่ง แลตัวของม่อนนั้นสีเหลืองเรื่ออ่อน ๆ ผิดปรกติ เอาใบม่อนให้กินก็ไม่กิน เมื่อตัวม่อนเปนเช่นนี้ เขาเรียกว่านอนหนึ่ง มีอาการเช่นนี้อยู่วันหนึ่งหรือ ๒ วันจึงจะฟื้นขึ้นแขงแรงดังเก่า เมื่อตัวม่อนฟื้นจากนอนหนึ่งแล้ว ผู้เลี้ยงก็เลี้ยงบำรุงนั้นใบม่อนให้กินไปอย่างเดิม ขณะนี้ผ้าที่รองตัวม่อนเอาออกได้เแล้วปล่อยให้ตัวม่อนอยู่ในกระด้ง เห็นว่าตัวม่อนมีมากจะขยายเปน ๓-๔-๕-๖ กระด้งก็ได้ กระด้งหนึ่งราว ๒๐๐๐ ตัว พอได้ ๗ วันตัวม่อนก็สงบนิ่งไม่กินใบม่อน มีอาการเหมือนที่เปนมาแล้ว มีอาการเช่นนั้นอีกวันหนึ่งหรือสองวันเรียกว่านอนสอง เมื่อฟื้นจากนอนสองคราวนี้ไม่ต้องหั่นใบม่อนให้กิน เพราะตัวม่อนเขื่องขึ้นแล้ว ให้กินใบม่อนทั้งใบได้ ต่อไปอีก ๗ วันก็มีอาการสงบนิ่งเหมือนที่เปนมาแล้วอีก คราวนี้เรียกว่านอนสาม เมื่อฟื้นหากนอนสาม ต่อไปอีก ๗ วันก็มีอาการดังกล่าวมาแล้วเรียกว่านอนสี่ ฟื้นจากนอนสี่คราวนี้ขึ้นนอนห้าก็เริ่มจะนอนสุก คือตัวม่อนจะทำฝักทำรัง

ไหมทำฝักทำรัง

เมื่อคัดตัวม่อนขึ้นนอนห้าแล้วราว ๕ วันก็เริ่มสุก ก่อนที่ตัวม่อนทำฝักทำรังต้องหาจ่อไว้ให้พอ จ่อนี้สานด้วยไม้ไผ่รูปร่างเหมือนกระด้งสานเปนห้อง ๆ ประมาณห้องละ ๓ นิ้ว จ่ออันหนึ่งโตกลมประมาณ ๓-๔ ศอก

ผู้เลี้ยงม่อนจะต้องมั่นตรวจดูว่าม่อนตัวไหนแก่จะนอนสุก คือทำฝักทำรัง ตัวนั้นมีสีเหลืองไปทั้งตัว ต้องคัดตัวนั้นออกไปใส่ไว้ในจ่อ เลี้ยงคราวหนึ่งต้องคอยคัดไปใส่จ่องาว ๔-๕ วันจึงจะหมด เพราะตัวม่อนสุกไม่พร้อมกัน ถ้าม่อนตัวใดคัดไปใส่จ่อแล้วไม่ต้องให้กินใบม่อน เมื่อตัวม่อนทำฝักทำรัง ตัวเข้าไปอยู่ในฝักในรัง ๓ วันแล้ว ตัวม่อนจะยุบตัวเล็กลงเรียกว่าตัวดักแด้ จับฝักหรือรังนั้นเขย่าจะดังขลุก ๆ แต่นี้ต่อไปก็เอาฝักรังไหมใส่หม้อต้มจัดการสาวไหมต่อไป ถ้าฝักไหนรังไหนจะเอาไว้ทำพันธุ์ ก็เก็บเอาไว้ ๗ วัน ตัวดักแด้ที่อยู่ในฝักในรังนั้นกับเกิดมีปีกขึ้นเรียกว่า ตัวบี้ ๆ นั้นจะกัดฝักกัดรังนั้นออกมา

การสาวไหม

ต้องหาหม้อใบหนึ่งโตขนาดวัดโดยรอบราว ๒๕ นิ้ว ปากหม้อนั้นใส่ไม้โค้งคล้ายงวงครุ ที่ปากหม้อมีไม้อีกอันหนึ่งเปนไม้แบน ๆ เจาะรูกลาง เหนือไม้แบนนี้ขึ้นไป มัรอกคล้ายกับจักร์ที่หนูถีบจักร์แต่ไม่ใช่รูปมะยม เปนรูปกลม ๆ เมื่อจะสาวนั้นเอาฝักแลรังใส่ในหม้อตั้งแต่ ๑๐ ถึง ๕๐ ฝักต้มให้น้ำร้อน แล้วเอาเส้นไหมลอดรูไม้แบนที่ปากหม้อสาวขึ้นมาพันกับรอกรอบ ๑ ที่บนหม้อนั้นมีไม้เปนง่ามอันหนึ่งยาวประมาณ ๑ ศอกเรียกว่าไม้ขืบ มือหนึ่งสาวไหมจากรอกไปลงในภาชนะอันหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือไม้ขืบกดแลเขย่ารังไหมที่อยู่ในหม้อ เพราะรังไหมที่อยู่ในหม้อนั้นลอย ถ้าไม่กดไม่เขย่าไหมก็แน่นสาวไม่ออก ถึงจะออกก็เส้นโตไป เครื่องสาวไหมทั้งหมดเขาเรียกว่าเครื่องพวงสาว

การสาวไหมนี้มี ๓ ชนิด คือ

ก, เรียกว่าสาวไหมหลืบ

ข, เรียกว่าสาวไหมคอ

ค, เรียกว่าสาวไหมลวด

ก, สาวไหมหลืบนี้ ครั้งแรกสาวเอาไหมเปลือกนอกมีเส้นเล็กบ้างโตบ้างไม่เสมอกัน แลมีสีเหลืองแก่ตามสีของฝักรังไหม ๆ นี้จะใช้ทอผ้าก็ได้ เปนไหมหยาบเส้นโต การสาวนี้พอหมดเปลือกไหมก็หยุด เก็บไว้พวกหนึ่ง

ข, สาวครั้งที่ ๒ คือไหมคอ ไหมคอนี้เส้นเล็กเสมอ ใช้ทำเสื้อผ้าได้ดี

ค, การสาวไหมลวดนั้น สาวตั้งแต่เปลือกจนหมดถึงผิวบางไม่ได้หยุดหรือเว้นเหมือนสาวไหมหลืบไหมคอ ไหมที่สาวนี้เมื่อสาวออกจากหม้อก็มาใส่ไว้ในภาชนะอันหนึ่งจะเปนกระบุง ตะกร้า หรือชาม โอ่ง อ่างอะไรก็ได้ เมื่อเสร็จการสาวแล้ว จะทำเข็ดทำใจต้องมีเครื่องหมุนชนิดหนึ่งทำเปนไม้ ๔ ท่อน มีไม้บิดหัวเรียกว่าเลงเอาไหมนี้ใส่เลงแล้วก็หมุนไปประมาณเท่าขนาดกึ่งนิ้วเรียกว่าใจ ๘ ใจหรือ ๑๐ ใจจึงเรียกว่าเข็ดหนึ่ง ถ้าจะพูดราคาขายไหมหลืบชั่งละ ๘ บาท ไหมลวดชั่งละ ๑๐ บาท ไหมคอชั่งละ ๑๔ บาท แต่สาวชนิดอย่างยี่ปุ่นเปนไหมดี ขายราคาชั่งละ ๒๐ บาท แต่มณฑลร้อยเอ็จไม่สู้จะทำกันนัก

วิธีจะเลือกคัดไหมให้เสมอ

ไหมที่เปนเข็ดเปนใจอยู่แล้วนั้นเอามาใส่กง (กงนั้นทำด้วยไม้ไผ่ ๔ อัน ปลายไม้ไผ่เอาเชือกรั้งเหนี่ยวเข้าหากัน) มีรูกลางเหมือนกงรถ แล้วเอาอักอันหนึ่งมาสาวไหมออกจากกง ในเวลาที่สาวนี้ต้องคัดไหมไปในตัว ถ้าพบไหมเส้นโตก็เด็ดเอาออก หรือพบที่ไหม้แลปมก็ต้องเด็ดเอาออก อักนี้ทำด้วยไม้จริง จะเปนไม้ยางหรือไม้ตะแบกก็ได้ เมื่อเอาอักนี้สาวไหมจากกง เลือกคัดเสร็จแล้วไหมยังไม่เสมอกัน ต้องเอาไหมนี้ใส่ในเข็นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เส้นไหมนั้นแน่นดีขึ้น เมื่อเข็นเสร็จแล้วพันด้วยโบก (กระบอก) ซึ่งติดอยู่กับใน เมื่อสาวไหมจากอักใส่ในเข็นพันโบกเสร็จแล้ว ต้องเอาเลงมาทำเปนใจเปนเข็ดอีก เปนหมดวิธีเลือกคัดไหม

วิธีฟอกไหม

ไหมนี้เดิมสีเหลืองอ่อนเหลืองแก่ไม่สู้เสมอกัน ถ้าจะย้อมไหมให้เปนสีต่างๆ ต้องฟอกซักให้ขาวเสียก่อน เครื่องฟอกไหมให้ขาวนั้นที่ใช้กันเปนพื้นเมือง คือ ผักหม เหง้ากล้วยนี้เอามาหั่นฝานให้บางตากแดดให้แห้ง ใบกล้วย ก้านกล้วย งวงตาล ไม้ขี้เหล็ก ไม้เพกา ใน ๖-๗ อย่างนี้แล้วแต่จะได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เผาให้เปนถ่านเท่าแล้วเอาถ่านเท่านี้แช่เปนน้ำด่าง เมื่อน้ำด่างใสดีแล้ว ก็เอาไหมที่จะฟอกนั้นแช่ลงไปพอเปียกชุ่มดีแล้ว ก็เอาไหมนั้นใส่หม้อต้ม เอาขึ้นจากหม้อแล้วไปแช่ล้างน้ำเย็น แล้วจึงเอาขึ้นมาใส่มือกระทกพอไหมหายยุ่ง เอาไหมนั้นไปใส่ในเส่ากระตุกพอให้แห้งหมาด ๆ เลยผึ่งไว้จนแห้ง ถ้าเห็นว่าไหมนั้นยังขาวไม่ได้ที่ก็เอาไปแช่น้ำด่างแลต้มอีกครั้งหนึ่ง เหมือนดังที่ได้อธิบายมาแล้วเปนเสร็จการฟอกไหม

ย้อมไหมให้เปนสี

การย้อมไหมในพื้นเมืองนี้ใช้แก่นเข (แกแล) แถลง (มะพูด) ครั่งคราม ถ้าจะย้อมให้เหลืองใช้แก่นเข ถ้าจะย้อมให้เปนสีกระดังงาใช้แถลง ถ้าจะให้แดงยอมด้วยครั่ง ถ้าจะให้เปนสีลูกหว้าย้อมด้วยครามๆ ซึ่งเปนสีลูกหว้านั้น ถ้าจะให้เปนสีดำต้องเอาไปย้อมกับลูกกระจายซึ่งเปนลูกไม้ชนิดหนึ่ง ถ้าจะให้เปนสีเขียวเอาสีที่ย้อมแถลงแล้วนั้น เอาครามย้อมทับ คำที่ว่าครามนี้เปนต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งพื้นเมืองเขาปลูกไว้สำหรับย้อมไหม หาใช่เปนครามจีนครามฝรั่งไม่ การย้อมสีเวลานี้ชอบใช้สีพม่าแลฝรั่ง ซึ่งมีขายในท้องตลาดโดยมาก ความจริงสีที่ซื้อเปนสีพม่าหรือฝรั่งนั้นมักจะตก สู้สีของพื้นเมืองดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่ได้

การทอผ้าไหม

เครื่องมื่อที่จะทอผ้าต้องมี จี่ ๑ ฟืม ๑ เขา ๑ ไม้กำพั่น ๑ ผัง ๑ กระสวยพุ่ง ๑ หลอดพันไหมที่ใส่กระสวย ๑ ถ้ายังไม่ได้ก่อเขาต้องหาไม้หมากผางมาก่อทำเปนเขา ถ้ามีเครื่องมือเหล่านี้ครบแล้ว จะทอผ้าชนิดไรสีอะไรก็แล้วแต่ความประสงค์ของผู้ทอ ถ้าจะทอผ้าพื้นสีเดียวธรรมดา ก็เอาไหมมากรอไส่หลอดไว้ให้พอ ไหมชั่ง ๑ ทอผ้านุ่งได้ ๒ ผืน ไหมเมื่อกรอใส่หลอดเสร็จแล้วเอาไหมนั้นไปใส่เรือนโค้นแขวนไว้ข้างบน ข้างล่างมีไม้หลักเฝือ ๒ ข้าง ๆ หนึ่งมีหลักเฝือ ๘ อัน เมื่อเฝือเสร็จแล้วจึงเอาเข้าสืบฟืม คือร้อยเส้นไหมจากรูเขาแล้วมาสอดฟันฟืม ถ้าฟืมนั้นไม่มีเส้นผ้าซึ่งทออยู่แล้ว ก็เอาปลายไหมกับปลายผ้านั้นผูกต่อกัน ถ้าหากว่าเขานั้นยังไม่มีเส้นทอผ้าแล้ว ปลายไหมที่ลอดฟันฟืมต้องขมวดเปนคู่ ๆ กันไว้ เมื่อสืบฟันฟืมเสร็จแล้ว ต้องหาไม้เล็ก ๆ บางๆ ขนาดเท่าก้านไม้ขีดไฟร้อยถึงปลายไหมที่ผูกกันนั้นมาแนบเข้ากับไม้กำพั่น ส่วนต้นไหมอีกข้างหนึ่งนั้นไปผูกโยงไว้กับปลายแคร่เสาจี่ เมื่อตรวจดูสอดไหมที่ฟืมไม่ลักรูฟืมแลทั้งไม่มีขาดไม่มีเกินก็เริ่มต้นทอได้ทีเดียว

วิธีทอผ้าหางกระรอก

ถ้าจะทอเปนผ้าหางกระรอกเอาไหมที่ฟอกแลปั่นแล้วนั้นมาจัดการย้อมสี ๑ ต่างหาก แล้วแต่ผู้ทอจะชอบสีอะไร ส่วนทางพุ่งย้อมเปนสองสีจะย้อมสีอะไรตามแต่ชอบใจ แล้วมาปั่นไหมควบให้เข้ากันเปน ๒ เกลียวสลับสีกัน เมื่อปั่นเสร็จแล้วก็จะเห็นเปนลายเรียกว่าไหมลูกลาย จึงเอาไปทอสำหรับทางพุ่ง เมื่อเปนผืนเสร็จแล้วก็จะเห็นลายขึ้นเปนลายหางกระรอก ถ้าจะต้องการควบไหมทางพุ่งให้เปนสีเส้นนั้น ก่อนที่จะย้อมสิให้ปั่นไหมควบเปนสองเส้นเสียก่อนจึงย้อมสี แล้วจึงมาปั่นควบเข้ากันอีกเปนสี่เส้น เมื่อเอาไปทอก็มีลายหางกระรอกขึ้นเหมือนกัน ส่วนเนื้อผ้าจะให้เปนผ้าเนื้อดีก็แล้วแต่ฟืมดีหรือชั่ว

ผ้าหางกระรอกนี้มีสีต่าง ๆ หลายชนิด ส่วนลวดลายเช่นเดียวกัน คือแล้วแต่การย้อมไหม เมื่อทางพุ่งย้อมเปนคนละสีปั่นควบเข้ากันขึ้นก็เปนลายหางกระรอกแลต้องใช้ฟืมชนิด ๒ เขา

วิธีทอผ้าตาหมากรุก

เมื่อฟอกไหมดีแล้ว จึงหาสีมาย้อมแล้วแต่จะใช้สีอะไรตามความพอใจ แลไหมทางยืนต้องเปนสองสี คือใช้ค้นเปนทางยืนต้องใช้เส้นไหมคนละสีแล้วแต่จะเอาสีอะไรเปนพื้นสีอะไรเปนขั้น ยกตัวอย่างเช่นพื้นแดงตาขั้นขาว เมื่อต้องการตาโตก็ค้นหลายเส้น ถ้าต้องการตาเล็กก็ใช้ไหมค้นน้อยเส้น ส่วนทางพุ่งก็ต้องใช้ไหมสองสีอีกเหมือนกัน ใช้กระสวย ๒ อันพุ่งตาที่เปนพื้นไปให้เท่ากับตายืนแล้วจึงพุ่งตาขั้น

วิธีทอผ้าตาเมล็ดงา

ผ้าตาเมล็ดงานั้น ใช้ไหมเปนทางยืนสองสี คือสีดำกับสีขาว ค้นเปนทางยืนสลับกันทีละสีแลสีละเส้นจนกว้างพอดีกับความต้องการให้พอดีกับรูฟืมที่จะทอ ส่วนทางพุ่งนั้นก็ใช้ไหมสองสีเหมือนกัน คือสีดำกับสีขาว ใช้กระสวยสำหรับพุ่งสองกระสวย พุ่งสีดำครั้งหนึ่งแล้ว สีขาวครั้งหนึ่งสลับกันเช่นนี้เสมอไป เนื้อผ้าก็จะเปนตาเมล็ดงา แลต้องใช้ฟืมสำหรับทอชนิดฟืมสองเขาธรรมดา ถ้าจะต้องการให้เนื้อผ้าหนาก็ควบไหมให้เปน ๒ เส้นหรือสี่เส้น แลต้องหาฟืมชนิดดี เนื้อผ้าจึงจะแน่นหนาดี

วิธีทอผ้าเก็บดอก

การทอผ้าเก็บดอกนี้ ชาวพื้นเมืองเขาเรียกว่าผ้าขิตเก็บดอก การทอไหมทางยืนนั้นจะเอาสีอะไรก็แล้วแต่ผู้ทอชอบ แต่ทางพุ่งจะเอาลวดลายอย่างใด หรือดอกดวงจะให้เปนสีอะไรก็ต้องย้อมไหมให้ได้ดังสีที่ต้องการ ถ้าขิตดอกหลายไม้ ต้องก่อเขาหน้าฟืมถึง ๖-๗ เขาก็มี ทอไปเก็บดอกไปตามลายตัวอย่างที่ต้องการ การทอผู้ขิตเก็บดอกเช่นนี้ต้องมีไม้ค้ำอัน ๑ เพื่อให้เส้นไหมกว้างพอพุ่งกระสวยได้ มีไม้เก็บขิตอีกอันหนึ่งกว้างขนาด ๔ นิ้ว ยาวขนาด ๒ ศอกเปนไม้บ้าง ๆ มีไม้เล็ก ๆ ขนาดก้านมะพร้าวเปนไม้สอดตามไม้เก็บขิตอีกตั้ง ๒๐-๓๐ อัน ถ้าเก็บขิตชนิดนี้ทอได้ช้า เพราะต้องเก็บดอกทีละเส้น

วิธีทอผ้าตาสมุก

ผ้าตาสมุกชาวพื้นเมืองเขาเรียกว่าผ้าเกล็ดเต่า มีวิธีค้นแลสืบหูกเช่นไหมสีขาวกับสีดำต้องค้นสืบในฟันฟืมซหนึ่ง มีสีดำเส้น ๑ ขาวเส้น ๑ ถ้าถึงริมที่จะถึงลายขัดริมของตาสมุกในฟันฟืมนั้นต้องใส่สีดำ ๒ เส้นเปนระยะ ๆ ไปทุกลายของตาสมุกนี้เปนทางยืน ฝ่ายทางพุ่งก็พุ่งดำเส้นหนึ่งขาวเส้นหนึ่ง เมื่อถึงลายขัดที่ริมตาต้องพุ่งสีดำทั้ง ๒ เส้น ทำเช่นนี้ไปตลอดผืน แต่เขาต่อที่หน้าฟืมสองเขานั้น เปนเขาสอดไหมสีดำเขาหนึ่ง เขาสอดไหมสีขาวเขาหนึ่ง วิธีค้นหูกผ้าตาสมุกเท่านี้

วิธีทำผ้าสิ้นหมี่ต่าง ๆ

ไหมที่คัดเลือกฟอกซักเสร็จแล้วเอามาค้นใส่หลักหมี่ วิธีค้น ๆ ไหมเส้นเดียวกลับไปกลับมาสองหนเปนคู่ ๑ เรียงลำดับกันไปจนพอผืนไหมที่ค้นเรียงลำดับไว้แล้วนั้น เอาเชือกกล้วยมาผูกแล้ว ๆ แต่จะเอาลวดลายอย่างไร มีตัวอย่างเช่น หมี่ขอ หมี่นาก หมี่หมากจับ หมี่เอื้อหมได้ หมี่ข่มห้า หมี่แมงดาเปนต้น ที่เอาเชือกผูกไว้นั้น เวลาย้อมสีเพื่อไม่ให้สีถูกที่ผูก แล้วเอาสีแต้มตามลายเมื่อเสร็จแล้วเอาไหมที่ผูกทำไว้แล้วนั้นมากรอเข้าหลอด เวลาจะทอก็เอาหลอดที่กรอไว้พุ่งไปก็เปนลายไปในตัว ส่วนที่ไหมยืนนั้นจะเอาสีอะไรก็แล้วแต่ผู้ต้องการจะทอ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ