ประวัติ อำมาตย์ตรี พระศิลปานุจิตรการ (ฉัตร อินทรเสน)

กำเนิดของพ่อ

พ่อเกิดที่เมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๐๒ ร.ศ ๗๘ เป็นปีที่ ๙ ในรัชชกาลที่ ๔ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายเรือเอก หลวงอินทรฤทธิ (เอี่ยม อินทรเสน) พอมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน นายช้าย อินทรเสน, นางอิ่ม, นายเรือเอก ขุนรอนกลางสมุทร, นางเพิ่ม, นาย เรือเอก ขุนสวัสดิ์นาวา (สมบุรณ์ อินทรเสน) แลนายบุญรอด อินทรเสน พี่น้องของพ่อทุกคนได้ถึงแก่กรรมไปก่อนพ่อ เหลือแต่พอคนเดียวที่ได้อยู่รับราชการเป็นหลายปี แต่เป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานนามสกุล “อินทรเสน” สืบสกุลต่อมาจนถึงบุตรแลหลาน

สกุลของพ่อแต่เดิมมาเป็นอย่างไร ลูก ๆ ไม่ค่อยมีใครทราบ เพราะสมัยโบราณไม่ค่อยได้เก็บประวัติกันไว้เรียบร้อย หนังสือไทยในสมัยนั้นยังไม่แพร่หลาย แต่ลูกทราบอยู่ว่าสกุลของพ่อเป็นสกุลที่ดี แลมีหลักฐานมั่นคงสกุลหนึ่งในปากน้ำ และสัมมาอาชีพของสกุลพ่อนั้นก็นับว่าเป็นไปโดยทำนองคลองธรรม ไม่มีที่ติเตียนและเป็นสกุลที่อยู่ในศีลในสัตย์ตลอดมา ดังนี้ก็นับว่าเป็นที่อย่างประเสริฐแล้ว

การศึกษาของพ่อ

อันการศึกษาของพอนั้น ลูกทราบว่า เมื่อพ่อยังเป็นเด็กได้เคยศึกษาวิชชาหนังสือไทยที่วัดยานนาวา แล้วอุปสมบทเป็นสามเณรที่วัดนั่นเอง ในเวลานั้นวิชชาหนังสือที่เรียกว่าเป็นประโยค หรือชั้นมัธยมยังไม่มี เป็นธรรมเนียม ในสมัยนั้นถ้าอยากรู้หนังสือดีก็ต้องเป็นลูกศิษย์วัด เมื่อพ่อได้เรียนหนังสือที่วัด และเป็นลูกศิษย์พระอ่านออกเขียนได้โดยความชำนิชำนาญแล้ว พ่อก็ตั้งต้นเรียนภาษาอังกฤษกับหมอสมิธ ซึ่งในสมัยนั้นจัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันหนึ่ง เพราะโดยมากเจ้านาย หรือลูกข้าราชการที่มั่งมีก็ศึกษาทางอักษรศาสตร์ตามวิธีนั้น ส่วนในทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะในสมัยนั้นไม่มีใครนิยม และวิชชาในประเภทนั้นก็ยังไม่แพร่หลายเข้ามายังเมืองไทยเรา ด้วยความพยายามแลด้วยความพากเพียรของพ่อ พ่อได้มีความรู้ภาษาอังกฤษ นับว่าเป็นคนพูดภาษาอังกฤษได้คล่องคนหนึ่ง เท่านั้นพ่อก็ยังไม่สะใจ เมื่ออายุของพ่อ ๑๘ ปีใน พ.ศ. ๒๔๒๒ พ่อได้ออกไปศึกษาวิชชาที่เมืองสิงคโปร์ ที่เรียกกันว่ายุโรปในสมัยนั้น เพราะในเวลานั้น ถ้าใครพูดว่าไปนอก ก็เป็นอันเข้าใจกันเถิดว่าไปแต่เพียงสิ่งคโปร์หรือปีนัง จะเป็นเมืองที่เรียกว่าสุดหล้าฟ้าเขียวกว่าได้ สมัยนี้ ถ้าใครไปศึกษาวิชชาแค่เมืองสิงคโปร์ก็ไม่ใช่คนเก๋ แต่อย่างนั้นก็ดี พ่อก็เป็นคนเก่ในสมัยนั้น เมื่อพ่อได้ศึกษาวิชชาจบแล้ว ก็กลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพ ฯ นับเสมือนหนึ่งว่า พ่อได้เรียนจบมหาวิทยาลัยเหมือนกัน

ราชการของพ่อ

อยากจะนับว่า พ่อเป็นคนเคราะห์ร้ายหรือเคราะห์ดีก็ได้ ที่ในเวลานั้น พ่อเป็นคนหนึ่งที่รู้ภาษาอังกฤษพอใช้การได้ จึงได้ถูกฉุดตัวไปทำราชการในที่ต่างๆ พ่อเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษของกองข้าหลวงแผนที่ ซึ่งในเวลานั้น พระวิภาคภูวดล (เจ. แมคคาที) เป็นข้าหลวงทำแผนที่เมืองเหนือจดเขตต์แม่น้ำซาลวิลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ พ.ศ. ๒๔๒๖ ย้ายไปรับราชการที่กรมศุลกากรและในเวลากลางคืน พอได้ไปรับราชการที่กรมราชเลขาธิการและกระทรวงการต่างประเทศ ที่พ่อต้องทำการสองผักสองฝ่ายเช่นนี้ ก็เพราะในเวลานั้นคนรู้ภาษาอังกฤษมีน้อยนัก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ พ่อได้ย้ายไปรับราชการในหน้าที่ล่าม กระทรวงนครบาล แลต่อมาอีกปีหนึ่งพ่อได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมโทรเลข สร้างสายโทรเลขระวางนครราชสีมาแต่จังหวัดหนองคาย และจัดสร้างสายโทรเลขระวางจังหวัดขุขันธ์และจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมากรมรถไฟหลวงขาดช่างโทรเลข จึงได้ย้ายไปเป็นนายช่างโทรเลขในกรมนั้น พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ในเวลาที่ออกไปทำราชการในจังหวัดนครราชสีมานั้นได้รับความลำบากเป็นอันมาก เพราะต้องฝ่าดงพญาไฟ (พญาเย็น) ดังนั้นก็ดี พ่อก็ได้พยายามจัดการสร้างจนสำเร็จ นับว่าพ่อเป็นคนที่ไม่ย่อท้อต่อการงาน และไม่เกรงขามต่อภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ พ่อยังเคยเป็นสารวัตรใหญ่ตรวจการในแถวแถบนั้นอีก และในเวลาไม่ช้านัก ทางราชการก็ได้ย้ายพ่อไปเป็นผู้กำกับการสร้างสายโทรเลขของกรมไปรษณีย์โทรเลขของกรมรถไฟและกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ พ่อได้รับหน้าที่เป็นนายอำเภอเมืองพิมาย ที่ทางราชการได้ย้ายพ่อไปเช่นนั้นก็เพื่อที่จะให้พ่อดูแลการก่อสร้างตัดถนนและบำรุงปราสาทหิน ซึ่งนับว่าเป็นชิ้นโบราณวัตถุอันสำคัญในเวลานั้น เมื่อพ่อได้จัดการสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ได้เสด็จพระราชดำเนิรไปทอดพระเนตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ พ่อได้ย้ายมารับราชการในกระทรวงมุรธาธรเดิมในตำแหน่งเลขานุการของกระทรวงจนเมื่อพ่ออยู่ในฐานะที่เป็นผู้มีอายุสูงในราชการแล้ว ก็ได้ออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ในเวลานั้นพ่อมีอายุได้ ๖๔ ปี การงานของพ่อนั้น ลูกคิดว่าถ้าพ่อได้รับราชการในที่ใดที่หนึ่งจนนาน ๆ แล้ว อาจได้รับราชการในตำแหน่งสูงกว่าที่พ่อเคยรับมาแล้ว ซึ่งนับว่าพ่อเป็นคนเคราะห์ร้าย ที่ว่าพ่อเป็นคนเคราะห์ดีนั้นก็คือ พ่อได้รับราชการในตำแหน่งต่างๆ แต่ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด จนได้มีโอกาสออกรับพระราชทานเบียบำนาญตามพระราชบัญญัติ จัดว่าพ่อเป็นคนเคราะห์ดี ที่ได้บำรุงวงศ์สกุลไม่มีความเสียหายมาจนทุกวันนี้

ยศถาบรรดาศักดิ์ของพ่อ

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๑ พ่อได้รับพาะราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนขจิตรสารกรรม เลื่อนเป็นหลวงศิลปานุจิตรการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๗ แลเป็นพระเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่พ่อได้รับพระราชทานนั้น คือเบ็ญจมาภรณ์ช้างเผือก และจัตุรถาภรณ์มงกุฎสยาม นอกจากนี้พ่อยังได้รับพระราชทานเหรียญรัชดาภิเษก, ทวิธาภิเษก รัชมงคล, รัชมังคลาภิเษก, จักรพรรดิมาลา, เข็มข้าหลวงเดิมรัชชกาลที่ ๖ และเสมา ว.ป.ร. ทองคำ ชั้นที่ ๔ ความดีความชอบของพ่อที่ได้ทำมาในราชการ พ่อก็ได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์เป็นเครื่องตอบแทน หากว่าจะไม่นับว่าเป็นชั้นสูง ก็จัดว่าพอประมาณอย่างกลางที่ทำมาได้ อย่างนี้ก็นับว่าดีแล้ว

พระคุณของพ่อ

พ่อเป็นคนมีบุตรแลธิดามาก ที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ก็เป็นหลายคน คือนางศรีสุเรนทร (เสงี่ยม สุขนิล), นางเรืองฤทธิ์วิชัย (สงวน เรืองฤทธิ์), หลวงบรรลือโทรศัพท์ (ชั้น อินทรเสน), คุณหญิง โทณวณิกมนตรี (สวาท โทณวณิก), นางวิจารณ์ อาวุธ (สวิน วิมุกตานนท์), ร.ต.ต. ขุนอินทรเสน สิทธิกร (ตั๋น อินทรเสน), คุณหญิงศรีพิชัยสงคราม (สุ่น จันฉาย), นางบรรจงพยาบาล (ฉลวย เสวตโสภณ), นางมงคลนาวาวุธ (ต่วน มงคลนาวิน), นางจรูญพิทยายุทธ (กระแสร์ เนตรวิจิตร), นางอู่ทองเขตต์ขัติยนารี (ฉลอง ศิริสัมพันธ์), นายเจริญ อินทรเสนแลนางสาวเฉลิม อินทรเสน ลูกของพ่อทุก ๆ คน พ่อได้จัดให้เล่าเรียนการศึกษาเท่าที่ความสามารถของพ่อจะทำได้ ทั้งนี้นับว่าเป็นพระเดชพระคุณของพ่อเป็นอันมาก พ่อได้พยายามส่งลูกไปเข้าโรงเรียนที่ดีก็หลายคน โดยมากธิดาของพ่อถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนกุลสัตรีวังหลัง ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นโรงเรียนที่ดี เพราะได้ทั้งวิชชาความรู้ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ พ่อไม่มีทรัพย์ที่จะให้ลูกคนละมาก ๆ แต่พ่อได้ให้วิชชาเช่นนี้ นับว่าพ่อเป็นพ่อที่ดีหาที่เสมอได้ยาก โดยเหตุนี้แหละ ธิดาและบุตรของพ่อได้ตั้งตัวและมีหลักฐานพอสมแก่ฐานะมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าเมื่อพ่อส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้ว พ่อจะทอดทิ้งทีเดียว ลูกจำได้พ่อเคยไปเยี่ยมเยียน และเอาใจใส่ในการเล่าเรียนของลูกเป็นอันมาก ถ้าพ่อไม่ทำเช่นนั้น น่ากลัวลูกของพ่อจะไม่มีดีอยู่บ้าง เพราะลูกของพ่อทุกคนกำพร้าแม่ พ่อของลูกได้ทำหน้าที่ทั้งพ่อแลแม่ พระคุณของพ่อบังเกิดเกล้ามีแก่ตัวลูกเป็นอันมาก

ระลึกถึงพ่อ

เมื่อพ่อล้มป่วยเพราะโรคชลา เมื่อราวกลางปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แลมีโรคอัมพาธเข้ามาแทรกแทรง จนพ่อไม่สามารถที่จะรู้สึกตัวแลลุกเดิรเหิรไปไหนมาไหนได้ ลูก ๆ ทุกคนก็ได้พยายามพยาบาลพ่อโดยเต็มความสามารถ ได้พยายามหานายแพทย์ที่สามารถมาพยาบาลพ่อเป็นหลายคน อาการป่วยของพ่อก็มีแต่ทรงกับทรุดตลอดมา การที่เป็นเช่นนี้ ใช่ว่าลูก ๆ ไม่อยากให้หาย จะมีทรัพย์เท่าใดมาแลกชีวิตพ่อ ลูกก็ไม่พึงปรารถนา แต่ความตายของวิญญูชนนั้นหาหลีกเลี่ยงได้ไม่ ถึงตัวลูกเองก็เหมือนกัน เมื่อกำลังของพ่อได้ต่อสู้กับความป่วยเจ็บจนเต็มที่ถึงขีดที่สุดแล้ว พ่อก็ได้ลาลูกไปสู่ปรโลก เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๗.๒๕ น.

เมื่อพ่อได้ถึงแก่กรรมลงแล้ว วาระสุดท้ายที่ลูกจะสนองพระเดชพระคุณพ่อได้ก็คือจัดการปลงศพพ่อตามประเพณี และถ้าพ่อไปเกิดในที่ใด ขอให้พ่อระลึกถึงลูก เพราะลูกยังระลึกถึงพ่อ และชาตินี้หมดความเป็นพ่อลูกต่อกันแล้วก็ดี ลูกขออธิษฐานให้ชาติหน้าเราได้เกิดมาเป็นพ่อลูกกันใหม่ ในที่สุดแห่งคำรำพรรณของลูกนี้ ลูกขออำนาจแห่งกุศลอันเป็นคุณธรรมนำมาซึ่งมงคลอุดมเลิศจงเป็นผลตามสนอง เพื่อสรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลทฤฆชนม์สุขสถาพร ถ้าพ่อผู้วายชนม์หยั่งทราบโดยญาณวิถีทางใด ลูกขอให้สำเร็จเป็นปัตตานุโมทนาแห่งการที่ลูกได้พิมพ์หนังสือนี้แจกเป็นมิตรพลีแก่ผู้ที่มาช่วยงานศพของพ่อ เทอญ

สวาท โทณวณิกมนตรี

สุ่น ศรีพิชัยสงคราม

วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ