กฎ เรื่องร้องฟ้องความซับซ้อนกันหลายศาล

กฏให้แก่พระสุรัศวดีซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ตุลาการและกรมมหาดไทย กลาโหม และกรมเมือง วัง คลัง และตำรวจ ทหารใน และสนมซ้าย ขวา มหาดเล็กชาวที่ นครบาล ขุนโรง ขุนศาล ผู้บรรดาเปนตุลาการได้พิจารณาความทุกหมู่ทุกกรม ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่าราษฎรทั้งปวงมีอรรถคดี ทำหนังสือร้องฟ้องหาความแก่กันณะโรงศาล สมภักนักการกรมใด ๆ เนื้อความเปนอาชญานครบาล ครั้นขุนโรงขุนศาลสมภักนักการผู้นั้นรับเอาหนังสือฟ้องแล้ว เอาว่ากล่าวบัตรหมายไปให้มูลนายอาณาประชาบาลข้างหนึ่งให้ส่งข้างจำเลยมาพิจารณาตามกระทรวง และครั้นตุลาการได้ตัวมาไถ่ถามสืบไป และเนื้อความพิรุธข้างหนึ่งเห็นจะแพ้ในสำนวนไซร้ คู่ความข้างหนึ่งด้วยมีเงินทอง ข้างหนึ่งยากแค้นหาเงินจะเสียค่าฤชาตุลาการมิได้ ก็ให้ตุลาการพิจารณาแต่ศาลเดียวตามเนื้อความกว่าจะสำเร็จ และข้างหนึ่งด้วยมีเงินทองเห็นเนื้อความตัวเพลี่ยงพล้ำพิรุธจะแพ้แก่ข้างหนึ่ง แล้วคิดอ่านเอาเท็จเปนจริงไปร้องฟ้องณะโรงศาลอื่น กล่าวโทษหาอุทธรณ์อาชญาแก่ตุลาการว่ากลบเกลื่อนเนื้อความเสียบ้าง และเขียนเอาแต่ชอบใจบ้าง และดัดสำนวนหัวข้อความเสียบ้าง พาโลว่าตุลาการโบยตีทำข่มเหงบ้าง และว่าเนื้อความตุลาการถามผู้นั้นมีผู้มาเสี้ยมสอนฝ่ายโจทก์ จำเลย เขียนเอาบ้าง คดีจะให้สำนวนยืดยาวค้างเกินไป และขุนโรง ขุนศาล สมภักนักการกรมอื่น นอกตุลาการเก่า ผู้จะรับหนังสือร้องฟ้องนั้น คิดว่าเปนกระทรวงของตัว กรมนั้นได้พิจารณาตามพระธรรมนูญ และกฎหมายแต่ก่อนแล้ว จึ่งรับเอาหนังสือร้องฟ้องผู้นั้นว่ากล่าวบัตรหมายเอาเอง ให้ส่งตุลาการเก่า และให้เบิกเอาสำนวนคู่ความมาพิจารณาตามเนื้อความข้างหนึ่ง คิดว่ามีเงินทองพอจะเสียหายได้แก่สมภักนักการ แล้วไปทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายกล่าวโทษตุลาการเก่า และเบิกเอาแต่คู่ความไปให้ตุลาการใหม่ผู้ได้รับสั่งพิจารณาให้ถาม ครั้นตุลาการใหม่ถามลูกความเสียค่าฤชาตุลาการซ้ำทวีขึ้นไปมากกว่าค่าฤชาณะโรงศาล คู่ความซึ่งเปนคนยากนั้นยอมเสียค่าฤชาซ้ำสองต่อสามต่อแก่ตุลาการใหม่ เสียซ้ำทวีขึ้นไปกว่าตุลาการเก่าอีกเล่า กว่าตุลาการใหม่จะพิจารณาให้เห็นเท็จจริง คู่ความได้ความยากแค้นเดือดร้อนหนักหนา และแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าราษฎรผู้มีอรรถคดีร้องฟ้องว่ากล่าวแก่กันณะโรงศาล และสมภักนักการกรมใดๆและตุลาการณะโรงศาลสมภักนักการจะรับหนังสือร้องฟ้องราษฎรผู้นั้นว่ากล่าวตามกระทรวง ตามกฎหมายแต่ก่อนไซร้ ให้ตุลาการณะโรงศาลสมภักนักการได้พิจารณาเรียกทัณฑ์บล ฝ่ายโจทก์ จำเลย ไว้จงมั่นคงแล้วจึ่งให้ถามตามหนังสือร้องฟ้องแต่โดยยศ โดยธรรม แต่ตามสัจ ตามจริง อย่าให้กลับเอาจริงเปนเท็จ เอาความข้อแพ้กลับขึ้นเปนชนะ เอาความแพ้กลับขึ้นเปนเสมอบ้าง แต่ข้อหนึ่งกระทงหนึ่งได้ ถ้าและตุลาการณะโรงศาล สมภักนักการกรมนั้นได้พิจารณาไต่ถามตามหนังสือร้องฟ้องข้อใดกระทงใด โจทก์ จำเลย มิรับกัน และเนื้อความถึงพะยานข้อใดกระทงใด จำเลยรับแล้วให้การเปนประการใด แต่ตามข้อรับไซร้ ก็ให้ตุลาการผู้ไต่ถามเขียนเอาแต่ถ้อยคำโจทก์ จำเลย ให้มั่นคง แต่ตามสัจตามจริงอย่าให้เห็นแก่ฝ่ายโจทก์ จำเลยข้อหนึ่งกระทงหนึ่งได้ เมื่อคัดเนื้อความในสำนวนอ่านให้โจทก์จำเลย ฟัง ถ้าโจทก์ จำเลย ว่าชอบด้วยถ้อยคำแล้ว ให้บันทึกศุภมาศวันคืนผู้มาลุกนั่งว่าอ่านให้ฟังรู้ได้ยินนั้นไว้ในถ้อยคำสำนวนให้มั่นคง และให้ผูกสำนวนถ้าหาตรามิได้ให้หยิกเล็บไว้เปนสำคัญคู่มือฉบับหนึ่ง ถ้าและโจทก์ จำเลยติดใจแก่ตุลาการ ไปร้องฟ้องณโรงศาลอื่นหาอุทธรณ์อาชญา กล่าวโทษตุลาการว่าเห็นแก่สินจ้างสินบล เห็นแก่ข้างหนึ่งและกลบเกลื่อนเนื้อความเสียบ้าง และเขียนเอาแต่ชอบใจบ้าง และลบสำนวนเสีย คัดสำนวนมิสิ้นของเนื้อความบ้าง และเมื่อถามมีผู้มาเสี้ยมสอนบ้าง เขียนเอาไซร้ อย่าเพ่อให้ตุลาการใหม่เบิกเอาสำนวนคู่ความมา ให้บัตรหมายโฉนดฎีกาไปให้สั่งแต่ตุลาการ และสมภักนักการผู้ได้ไต่ถามเก่า มาให้ตุลาการใหม่ถามตามอาชญาอุทธรณ์แก่ตุลาการเก่านั้นก่อน เมื่อตุลาการจะถามนั้นให้เรียกเอาทัณฑ์บลแก่คู่ความผู้โจทก์ และตุลาการเก่า ซึ่งต้องอาชญาอุทธรณ์เปนจำเลยนั้นให้มั่นคงก่อนจึ่งให้ถาม ครั้นตุลาการใหม่ถามตุลาการเก่าตามข้อหาอุทธรณ์ ซึ่งคู่ความติดใจตุลาการแต่ข้อหนึ่งสองข้อสามข้อจนถึงเก้าข้อสิบข้อนั้นตามเรื่องราว ถ้าพิจารณาเปนสัจว่าตุลาการเก่าทำล้ำเหลือเข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย พิจารณามิเปนยศเปนธรรม และตุลาการเก่าแพ้แต่ข้อหนึ่งไซร้ และ เนื้อความซึ่งหาอุทธรณ์แก่ตุลาการเก่าสี่ข้อห้าข้อนั้น มิได้ติดพันธ์พระราชทรัพย์ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงหามิได้ไซร้ ก็ให้ตุลาการใหม่เอาเนื้อความเจรจาด้วยลูกขุนณะศาลหลวง ให้ลูกขุนณะศาลหลวงเอาเนื้อความเปนแพ้ด้วยให้สิ้นจงทุกข้อ แล้วให้เอาบรรดาศักดิตุลาการผู้สูงมาผู้เดียว ตั้งปรับไหมเอาตุลาการเก่าตามอัยการพระธรรมนูญ และให้ใช้ทุนค่าฤชาผู้ชนะให้สิ้นเชิง และคู่ความเดิมซึ่งหาแก่กันอยู่ตุลาการเท่านั้น ถ้าเปนกระทรวงแพ่ง และฝ่ายจำเลยนั้นเปนกรมฝ่ายนอก ให้ส่งไปแพ่งเขษมพิจารณา ถ้าและตุลาการแพ่งเขษมแพ่งวัง เปนตุลาการเก่าต้องในอุทธรณ์อาชญาแล้ว ให้ส่งไปให้แพ่งคลังพิจารณาเอาพินัยจ่ายหญ้าช้างหลวงตามพระธรรมนูญ ถ้าและศาลราษฎร์ได้พิจารณา เปนความอุทธรณ์อาชญาเปนตุลาการเก่า ให้ส่งไปศาลอาชญาประชาเสพพิจารณา ถ้าศาลประชาเสพเปนตุลาการเก่าให้ส่งไปศาลราษฎร์พิจารณา ถ้าและเนื้อความเดิมหาความศาลขุนบุรินทร ก็ให้ส่งให้ศาลนครบาล วังเปนตุลาการเบิกเอาสำนวนและคู่ความไปพิจารณาไถ่ถามตามสัจตามจริง เอาพินัยจ่ายราชการ และซึ่งตุลาการใหม่เอาตุลาการเก่ามาพิจารณาไถ่ถามตามข้อเนื้อความซึ่งโจทก์หาอุทธรณ์นั้น ถ้าและโจทก์หาตุลาการเก่า แพ้ตุลาการเก่าไซร้ ให้ตุลาการใหม่ซักไซ้ไต่ถามคู่ความผู้เปนโจทก์นั้นให้แจ้งเนื้อความออกว่า ผู้นั้นเอาเท็จสับปลับมาหาตุลาการเก่ามั่นคงจริง ๆ ไซร้ ให้คู่ความซึ่งตุลาการใหม่ยังมิได้เบิกมานั้น คงอยู่แก่ตุลาการเก่าณศาลกรมนั้น จึงให้ตุลาการเก่าเอาเนื้อความซึ่งหาแก่กันมิได้เปนข้อพระราชทรัพย์ของหลวง ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงนั้นเปนแพ้ด้วยให้สิ้น แล้วให้ใช้ทุนโจทก์ผู้ชนะ แล้วให้ปรับไหมเอาผู้แพ้ตามรูปความซึ่งหาแก่กันณตุลาการเก่าตามอัยการ ถ้าเนื้อความผู้หาผู้แพ้ติดพันธ์พระราชทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงให้ตุลาการผู้ได้พิจารณาเนื้อความนั้น คัดเอาเนื้อความจำเภาะข้อพระราชทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงนั้น ว่าแก่ลูกขุนณศาลหลวง ลูกขุนณศาลหลวงพิพากษาประการใดจึ่งให้กระทำตาม ถ้าและลูกความติดใจตุลาการณโรงศาล สมภักนักการมิร้องฟ้องตามกระทรวง ตามพระธรรมนูญ และไปทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายกล่าวโทษตุลาการ ณ โรงศาล สมภักนักการซึ่งได้พิจารณาเนื้อความข้อหนึ่งสองข้อสามข้อจนถึงเก้าข้อสิบข้อ ดุจหนึ่งกล่าวโทษตุลาการเก่าว่ามาแต่ภายหลังนั้น ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เอาตุลาการเก่ามาพิจารณาไถ่ถามไซร้ ถ้าตุลาการเปนขุนโรงขุนศาล หรือเจ้าพระยา พระ หลวง ขุน หมื่นผู้บรรดาขอเฝ้าฝ่าลออง ฯ ก็ให้คัดเอาข้อสำนวนเก่านั้นออกให้แจ้งแล้วให้กราบทูลพระกรุณา ฯ ให้แจ้งฝ่าลออง ฯ ถ้าและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประการใด จึงให้กระทำตาม ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตุลาการใหม่เอาตุลาการเก่าไปพิจารณาไถ่ถามตามข้อเนื้อความ ซึ่งคู่ความทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายไซร้ จึ่งให้ตุลาการใหม่ทำตาม ถ้าและตุลาการใหม่ผู้ถามนั้น พิจารณาไถ่ถามเปนสัจว่าตุลาการเก่าพิจารณาไถ่ถามมิเปนสัจ มิเปนยศเปนธรรม และเข้าด้วยฝ่ายโจทก์ จำเลย จริงแท้ไซร้ ก็ให้ตุลาการใหม่เอาสำนวนกราบทูลพระกรุณา ฯ ถ้าทรงโปรดเกล้าประการใดไซร้ จึ่งให้ตุลาการใหม่ทำตาม ถ้าเนื้อความเปนแพ่ง อาชญา อุทธรณ์ นครบาล จะได้ว่าณโรงศาล สมภักนักการตามพระธรรมนูญ แต่ความหากล่าวโทษตุลาการเอาเนื้อความไปทำฎีกาทดเกล้า ฯ ถวาย และตุลาการไถ่ถามเปนสัจว่าตุลาการเก่าแพ้ไซร้ ให้เอาบรรดาศักดิผู้สูงนา ทั้งปรับไหมเอาตุลาการตามอัยการ และให้ใช้ทุนค่าฤชาผู้ชนะให้สิ้น และความนั้นให้ส่งไปศาลอื่นตามกระทรวงพระธรรมนูญได้พิจารณาให้แล้วจงฉับพลัน ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้าและตุลาการใหม่ถามตุลาการเก่าตามเรื่องราวเนื้อความอุทธรณ์อาชญาและโจทก์ทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายแพ้แก่ตุลาการไซร้ ให้ลงพระราชอาชญาโจทก์ผู้แพ้ตามโทษานุโทษ ให้เอาเนื้อความเดิมหาที่ตุลาการเก่า และมิได้มีเนื้อความติดพันธ์พระราชทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงเปนแพ้ด้วยให้สิ้นจงทุกข้อ ถ้าและเนื้อความในฟ้องซึ่งตุลาการเก่าพิจารณานั้นติดพันธ์พระราชทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงไซร้ ให้ตุลาการใหม่คัดข้อเนื้อความกราบทูลพระกรุณาแล้วแต่จะโปรด ถ้าและตุลาการใหม่พิจารณาเห็นแก่สินจ้างสินบลพิจารณามิเปนยศเปนธรรม เข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย มีผู้ร้องฟ้องว่ากล่าวเปนประการใด จะเอาตุลาการใหม่เปนโทษโดยโทษานุโทษ และตุลาการณโรงศาล และสมภักนักการกรมใด ๆ พิจารณาสืบไปก็ให้เอากฎอ่านประกาศให้ผู้บรรดาพิจารณาความฟังจงทั่ว และเรียกเอาทัณฑ์บลไว้ทั้งฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยไว้จงมั่นคงจึ่งพิจารณาไต่ถามสืบไปตามเรื่องราวโจทก์หาแก่กัน และให้พระสุรัศวดีซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ตุลาการผู้ได้พิจารณาเนื้อความทุกกรมจงทั่วพระราชวังหลวง พระราชวังหน้า และหมายบอกแก่พระ หลวง เจ้าราชนิกูล ขุนหมื่น พัน ทนาย ให้บอกแก่บ่าวไพร่สมัครพรรคพวก สมกำลังให้ลอกเอากฎนี้ไว้จงทุกหมู่ ทุกกรม อย่าให้ลงลออยู่ได้ ถ้าและบอกมิทั่วจะเอาตัวผู้บอกนั้นเปนโทษจงหนัก ถ้าบอกทั่วแล้วและผู้ใดมิได้กระทำตามกฎ จะเอาผู้นั้นเปนโทษจงหนัก

กฏให้ไว้ณะวันอังคาร เดือน ๘ ทุติยาสาฒแรม ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก. (พ.ศ. ๒๒๖๓ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ)

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ