- คำนำ
- พระศิลปานุจิตรการ (ฉัตร อินทรเสน)
- ประวัติ อำมาตย์ตรี พระศิลปานุจิตรการ (ฉัตร อินทรเสน)
- กฎเรื่องร้องฟ้องความซับซ้อนกันหลายศาล
- กฎว่าด้วยการเรียกสินไหมพินัยคดีความ
- หมายรับสั่งเรื่องความทุกข์ยากของลูกหมู่
- กฎเรื่องลักษณการปกครองหัวเมือง
- กฎเรื่องให้รับน้ำพระพิพัฒนสัจจา
- กฎเรื่องการพิศูจน์เล็บในสำนวนความ
- กฎเรื่องเจ้าหมู่มูลนายเบิกคู่ความไปใช้ราชการ
- กฎเรื่องให้จับกุมคนวิวาททำร้ายกันในที่ต่างๆ
- กฎเรื่องการรับฟ้องตามพระธรรมนูญ
- กฎเรื่องการรับฟ้องต่าง ๆ
- กฎเรื่องการรับฟ้องกล่าวโทษตุลาการผู้พิจารณาความไม่เที่ยง
กฎ ว่าด้วยการเรียกสินไหมพินัยคดีความ
กฎให้แก่พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ เจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง เจ้าราชนิกุล ขุน หมื่น พัน ทนาย ฝ่ายทหาร พลเรือน ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ ผู้บรรดาได้พิจารณาความทั้งปวงจงทั่ว ด้วยมีพระราชกำหนดกฎหมายไปไว้สำหรับหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ฝ่ายเหนือ ปักษ์ใต้ และแขวงจังหวัดดีทั้ง ๔ แต่ก่อนว่าราษฎรมีอรรถคดีมาร้องฟ้องหากล่าวโทษแก่กันด้วยเนื้อความข้อใด ๆ ก็ดี และตุลาการพิจารณาเปนสัจว่าฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย แพ้ข้างหนึ่งก็ดี และแต่เกาะตัวคู่ความมาถึงตุลาการ และฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยปรองดองยอมกันเสียมิว่าเนื้อความแก่กัน และช่วยกันผูกสินไหมพินัยก็ดี และยอมผูกสินไหมพินัยแต่ข้างเดียวก็ดี ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และขุนแขวง หมื่นแขวง พันแขวง สิบ ร้อย อายัด และนายอำเภอทั้งปวงมิได้ปรับไหมเอาแต่ตามอำเภอใจเองหามิได้ ถ้าและเนื้อความแขวงจังหวัดดี ยอมบอกเรื่องราวเนื้อความซึ่งราษฎรร้องฟ้องยอมแก่กันนั้น ส่งเข้ามายังกรมพระนครบาล ๆ ส่งไปให้พระเกษม ๆ จึ่งปรับมาว่า เนื้อความราษฎรหากันเปนเนื้อความแต่เพียงนี้ ชอบจะลงเอาแต่เท่านั้นตามอัยการ ถ้าและเนื้อความหัวเมืองไซร้ และเนื้อความเมืองนนทบุรีให้ส่งไป กรมการเมืองธนบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองธนบุรีให้ส่งไปให้กรมการเมืองนนทบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสาครบุรีและเมืองสมุทปราการ เมืองพระประแดง ให้ส่งไปเมืองธนบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมืองแม่กลอง ให้ส่งไปให้กรมการเมืองราชบุรี ปรับ ถ้าเนื้อความเมืองราชบุรีส่งไปให้กรมการเมืองแม่กลองปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสุพรรณบุรี ส่งไปให้กรมการเมืองนครชัยศรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองนครชัยศรีส่งไปให้กรมการเมืองสุพรรณปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสิงหบุรี ส่งไปให้กรมการเมืองสรรคบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสรรคบุรีส่งไปให้กรมการเมืองสิงหบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมือง วิเศษชัยชาญ เมืองอ่างทอง ส่งไปให้กรมการเมืองลพบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองลพบุรีส่งไปให้กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองอ่างทองปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองอินทบุรีส่งไปให้กรมการเมืองพรหมบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองพรหมบุรีส่งไปให้กรมการเมืองอินทบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองชัยนาทบุรีส่งไปให้กรมการเมืองอุทัยธานีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองอุทัยธานีส่งไปให้กรมการเมืองชัยนาทบุรีปรับ และย่อมอาศัยแก่กันฉนี้ ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ แขวงนายอำเภอ จะได้บังคับบัญชา ลงเอาเงินสินไหมพินัยแก่ราษฎรแต่อำเภอใจเองหามิได้ และราษฎรไพร่พลเมืองทั้งปวงจึ่งอยู่เย็นเปนสุข และสืบไปทุกวันนี้ ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และขุนแขวง หมื่นแขวง และนายอำเภอทั้งปวง ละอย่างละธรรมเนียมแต่ก่อนเสีย และบังคับบัญชาลงเอาเงินสินไหมพินัยแก่ราษฎรแต่อำเภอใจเอง ถ้าและจะปรับด้วยพระราชกฤษฎีกาและพระธรรมนูญ บรรดาจะเสียเงินสินไหมพินัยแต่ ๒ ตำลึง ๓ ตำลึง ๔ ตำลึง ๕ ตำลึง กรมการและแขวงผู้เปนตุลาการลงเอาเงินชั่ง ๑๐ ตำลึงบ้าง ชั่งหนึ่งบ้าง ๑๕ ตำลึงบ้าง ๑๔ ตำลึงบ้าง และลางบางแต่เกาะมาถึงศาล แล้วมิได้พิจารณาเนื้อความไปให้สำเร็จ และล่อลวงโจทก์ จำเลย แต่ให้ยอมกัน แล้วจึ่งลงเอาเงินสินไหมพินัยตามอำเภอใจเอง และราษฎรจึ่งได้ความเดือดร้อนยากแค้นฉบฉายเสียด้วยเหตุนี้ ทุกบ้านทุกตาบลนั้น แต่นี้ไปเมื่อหน้าถ้าและราษฎรจะมีอรรถคดีสิ่งใด ๆ จะมาร้องฟ้องแก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และแขวง นายอำเภอไซร้ อย่าให้โบยตีจำจองลงเอาเงินสินไหมพินัยแต่อำเภอใจเอง ถ้าและเนื้อความแขวงจังหวัดดีทั้ง ๔ ให้บอกเรื่องเนื้อความเข้ามายังกรมพระนครบาล ๆ ส่งไปให้พระเขษมปรับจงทุกคู่ ถ้าและเปนเนื้อความหัวเมืองไซร้ ให้ผลัดกันเอาไปเจรจาตามโบราณราชประเวณีแต่ก่อน และซึ่งเปนเนื้อความหัวเมืองระยะทางไกลกัน ๒ คืน ๓ คืน ๔ คืน ๕ คืนไซร้ จึ่งให้ว่ากล่าวกันแต่ในเมืองนั้นเอง แต่ให้ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง และ ขุนปลัด ขุนยกระบัตร และกรมการลุกนั่งพร้อมกัน จึ่งปรับด้วยพระราชกฤษฎีกาพระธรรมนูญ อนึ่งซึ่งตุลาการจะคุมเอาความราษฎรซึ่งแพ้และยอมกันนั้น ไปให้กรมการเมืองยื่นปรับไซร้ ให้เอาค่าปรับแต่หนึ่งบาทสองสลึง และค่าเชิงเดิรจะคุมไปนั้นแต่สองสลึง และให้ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และหัวเมือง และขุนแขวง หมื่นแขวง พันแขวง จังหวัดทั้งปวง ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายให้นี้จงทุกประการ อย่าให้ผู้ใดๆทำให้ผิดด้วยเนื้อความ ซึ่งมีมาในพระราชกำหนดกฎหมายนี้แต่ข้อใดข้อหนึ่งได้ ถ้าและผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง ทำผิด ให้ขุนปลัด ขุนยกระบัตร บอกเนื้อความเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานคร ถ้าและขุนปลัด ขุนยกระบัตรและกรมการทำผิด ให้ผู้รักษาเมืองบอกเนื้อความเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานคร อย่าให้อำพรางกันไว้แต่ข้อใดข้อหนึ่งได้ ถ้าและผู้ใดรู้ว่าผู้นั้นทำผิดแล้วนิ่งเนื้อความเสียไซร้ จะเอาผู้นั้นเปนโทษจงหนักหนา และให้หมายบอกแก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ แขวง นายอำเภอ กระทำตามกฎหมายนี้จงทุก ประการ ถ้าผู้ใดมิได้กระทำ ตามจะเอาตัวเปนโทษ ตามโทษานุโทษ
กฏให้ไว้ณะวันศุกร เดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๘๔ ปีขาล จัตวาศก. (พ.ศ. ๒๒๖๕ รัชกาล สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ)
----------------------------