กฎ เรื่องการรับฟ้องตามพระธรรมนูญ

กฏให้แก่พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกเจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง เจ้าราชนิกุล ขุน หมื่น พัน ทนาย ฝ่ายทหาร พลเรือน บรรดาพิจารณาความ เจ้ากรม ปลัดกรม มหาดเล็กขอเฝ้า ข้าหลวงเจ้าต่างกรมฝ่ายหน้า ฝ่ายหลัง และข้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอทั้งปวงจงทั่ว ด้วยมีพระธรรมนูญไว้สำหรับขุนโรง ขุนศาล ธรรมเนียมให้พิจารณาเนื้อความตามกระทรวง เอาพินัยจ่ายราชการสำหรับแผ่นดินสืบมาแต่ก่อนนั้น และกรมมหาดไทยมีปลัดนั่งศาลคนหนึ่ง ขุนบุรินทรนั่งศาลหลวงได้พิจารณาเนื้อความอุทธรณ์ และขุนเทพอาชญานั่งศาลราษฎร์ ได้พิจารณาเนื้อความอาชญาตุลาการ และขุนอาชญาจักรนั่งศาลสำรวจ ให้พิจารณาแปลกคารมหลาย มีขี้ฉ้อหมอความ มิได้เปนญาติพี่น้องว่าเปนญาติพี่น้องเข้ากฎหมายร้องฟ้องหาความแก่ราษฎร และกลาโหม ขุนประชาเสพ ราชปลัดนั่งศาล ได้พิจารณาเนื้อความอาชญานอกซึ่งมิได้เปนสมภักนักการ ทำข่มเหงผู้มีชื่อ และในกรมพระนครบาล ขุนงำเมือง ปลัดนั่งศาลได้พิจารณาความโจรผู้ร้ายปล้นสดมภ์ เปนโทษมหันตโทษ กรมวังนั้นมีปลัดนั่งศาลสามคน ขุนอินทรอาชญา ได้พิจารณาเนื้อความอาชญาวัง และขุนพรหมสุภา ได้พิจารณาเนื้อความนครบาลวัง และขุนเทพสุภา ได้พิจารณาเนื้อความแพ่งวัง ถ้าจำเลยเปนสมในขุนศาลสามศาลนี้ได้พิจารณา และกรมพระคลังราชการนั้น ขุนพินิจจัย ราชปลัดนั่งศาล ได้พิจารณาเนื้อความฝรั่งอังกฤษวิลันดา จีน ยวน ยี่ปุ่น แขกบรเทศ มลายู และกรมนา ขุนโภชถากร ราชปลัดนั่งศาล ได้พิจารณาเนื้อความแพ่งอาชญานา และขุนศรีราชบุตรนั้นได้พิจารณาเนื้อความมฤดก และศาลแพ่งกลาง ขุนราชสุภา ขุนสุภาชัย และแพ่งเกษม ขุนสุภาเทพ ขุนสุภาภาร ได้พิจารณาเนื้อความจำเลยเปนสมนอก และกรมแพทยานั้น ขุนพรหมเกวี ได้พิจารณากระทำคุณกระทำไสยแก่กัน เปนฉมบจักกละ และกรมสารพากรใน ขุนวิสูตรโกษา ได้พิจารณานายระวางกำนัน พันที่ เชิงเรือน สมภักษร ขนอนตลาด ชิงที่วิวาทแก่กัน และกรมสารพากรนอก ขุนศรีสาคร ได้พิจารณาเสนา กำนัน เบาะแสและเบียดบังขนอนตลาด ดูสัจ แส กรมธรรมการ ได้พิจารณาเนื้อความพระสงฆเถร เณร ทำผิดด้วยกิจพระวินัย และพระคลังมหาสมบัติได้พิจารณาเนื้อความพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังหลวง และมีผู้เอาไปทำลายเสีย และมีผู้เบียดบังไว้เป็นอาณาประโยชน์ และกรมสัสดีได้พิจารณาหมู่ไพร่หลวง ไพร่สม สังกัด พรรค และเลวทาสเลวไทย และปันลูกหมู่แก่กัน และพระธรรมนูญกระทรวงความทั้งนี้มีอยู่สำหรับราชการแผ่นดินสืบมา ให้ผู้รับฟ้อง ผู้รับคำกฎของราษฎรผู้มีคดี เอาฟ้องและคำกฎนั้นไปว่าแก่ลูกขุนณะศาลาลูกขุนณะศาลหลวง ถ้าเปนเนื้อความข้อใหญ่ให้กราบทูลพระกรุณา ถ้าเปนเนื้อความเบา มิพอที่จะเอากราบทูลพระกรุณา ก็ให้บังคับให้ขุนราชพินิจจัย ผู้ถือพระธรรมนูญใส่พระธรรมนูญ เปนเนื้อความกระทรวงใดให้ส่งให้เจ้ากระทรวงพิจารณาเอาพินัยจ่ายราชการ ฝ่ายข้างขุนโรงขุนศาล จึ่งจะได้ตั้งตัวทำราชการสดวก และครั้นสืบมาผู้มีคดีกฎหมายร้องฟ้องตามกระทรวงบ้าง หามิได้บ้าง และเอาเนื้อความไปฟ้องให้กราบทูล ฝ่ายหน้าฝ่ายหลังและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ รับเอาฟ้องไว้แล้วมิได้ส่งไปใส่ด้วยพระธรรมนูญให้พิจารณาตามกระทรวงหามิได้ และข้าหลวงรับเอาฟ้องไว้พิจารณาว่ามีรับสั่งให้ว่าเปนเนื้อความผู้เถ้าผู้แก่บ้าง เปนเนื้อความข้างเดียวบ้าง ให้สืบดูให้รู้จักจริง และเท็จบ้าง ครั้นถามมิรับเอา สอบผู้ฟ้องเปนข้อต่อข้ออ้างสืบสอบถึงพะยานดุจหนึ่งเนื้อความมีคู่ก็มีบ้าง ลางทีส่งฟ้องไปให้ตำรวจในตำรวจนอกและข้าทูลลออง ฯ นอกนั้นให้เอาตัวผู้มีชื่อมาพิจารณาตามฟ้อง มิต้องด้วยพระธรรมนูญก็มีบ้าง ลางทีลูกความซึ่งตุลาการพิจารณานั้นไปฟ้องหาอุทธรณ์ตุลาการ และว่ามีรับสั่งให้เรียกเอา สำนวนยอมใบสัจไปสืบสวนดู แล้วเนื้อความนั้นค้างช้าไปก็มีบ้าง และกฎพระธรรมนูญสำหรับแผ่นดินนั้นก็ฟั่นเฟือนไป และขุนโรงขุนศาลเจ้ากระทรวงได้พิจารณาความตาม พระธรรมนูญเอา พินัย จ่ายราชการนั้นน้อยลง และส่วนราชการงานโยธา ซึ่งเปนพนักงานขุนโรงขุนศาลได้จ่ายนั้นยืนอยู่ เพราะเหตุฉนี้ขุนโรงขุนศาลจึ่งได้ความยากจนตั้งตัวทำราชการมิได้ และครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้มีพระราชกำหนดกฎหมายไว้แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ข้าหลวงเจ้าต่างกรมรับเอาฟ้องของอาณาประชาราษฎรซึ่งหาความแก่กันนั้น กราบทูลเจ้าต่างกรม และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ เปนอันขาดทีเดียว ต่อเมื่อใดมีผู้เอาเนื้อความมาว่า มีผู้กระทำผิดคิดมิชอบเบียดบังพระราชทรัพย์เปนเนื้อความข้อใหญ่ จึงให้เอากราบทูลเจ้าต่างกรม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ รับเอาฟ้องกราบทูลแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ อนึ่งถ้าและข้าหลวงในกรมจะมีคดีวิวาทแก่ข้าทูลลออง ๆ และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินและข้าหลวงเจ้าต่างกรมๆ อื่น จะทำหนังสือฟ้องให้กราบทูลเจ้าต่างกรม หาความข้อวิวาทนั้นไซร้ ก็ให้ส่งฟ้องนั้นไปให้แก่ขุนราชพินิจจัย ผู้ถือพระธรรมนูญให้ใส่ด้วยพระธรรมนูญก่อน ถ้าเปนกระทรวงใดให้ส่งไปให้เจ้ากระทรวงพิจารณา ตามโจทก์ตามจำเลย ตามพระธรรมนูญ อนึ่งถ้ามีผู้ร้องฟ้องให้กราบทูลพระกรุณา ถ้ามิได้ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งจำเภาะให้ผู้ใดพิจารณาหามิได้ ก็ให้ผู้รับสั่งส่งฟ้องนั้นไปใส่ด้วยพระธรรมนูญ ถ้าเปนกระทรวงใดจึ่งส่งไปให้เจ้ากระทรวงพิจารณา ถ้าเปนเนื้อความข้อใหญ่ มีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งจำเภาะให้ผู้ใดพิจารณาเปนเนื้อความมีคู่นั้น ก็ให้ตุลาการเอาฟ้องนั้นใส่ด้วยพระธรรมนูญเปนกระทรวงใด แล้วจึ่งให้หมายไปเอาเจ้ากระทรวงมานั่งกำกับด้วย ถ้าพิจารณาเปนสัจปรับไหมเปนพินัยหลวงมากน้อยเท่าใดนั้น ให้ส่งพระคลังมหาสมบัติ อนึ่งซึ่งผู้มีชื่อฟ้องถูกขุนณะศาลาลูกขุนณะศาลหลวงนั้น ให้ลูกขุนปรึกษาดูรูปความนั้นก่อน ถ้าเปนเนื้อความเบาอยู่ ก็ให้เอาฟ้องใส่ด้วยพระธรรมนูญส่งให้พิจารณาตามกระทรวงตามพระธรรมนูญ พระราชกำหนดกฎหมายสำหรับแผ่นดิน อย่าให้แปลกกระทรวงล่วงกรมได้ และให้ข้าทูลลออง ฯ และข้าหลวงเจ้าต่างกรมฝ่ายหน้าฝ่ายหลัง และข้าหลวงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และพระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และสมใน สมนอก และอาณาประชาราษฎรทั้งปวง กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายให้ไว้จงทุกประการ ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้แต่ข้อใดข้อหนึ่งไซร้ จะเอาตัวเปนโทษตามโทษานุโทษ

กฎให้ไว้ณะวันอังคารเดือนอ้ายแรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๑๖ ปีจอฉอศก (พ.ศ. ๒๒๙๗ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ)

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ