ตอนที่ ๙ ศาสนาแลอย่างธรรมเนียมไทยใหญ่

ในปัตยุบันนี้ มนุษยะชาติไทยใม่ว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ในบ้านเมืองใดๆ ย่อมนับถือพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่ดูเหมือนพุทธศาสนาใม่น่าจะเปนศาสนาของไทยในราชอาณาจักร์น่านเจ้าแต่ครั้งดึกดำบรรพ์โพ้นน่าจะไหว้นาคฤๅมังกร ไหว้ผีฤๅไหว้มฤตยู ซึ่งในกรุงจีนกําหนดเพียงไหว้บิดามารดาฤๅปู่ย่าตายายบรรดาเปนบรรพบุรุษบรรพสัตรีที่ทำกาละกิริยาจากกันไปสู่ปะระโลกแล้วเท่านั้น แต่ในธิเบตได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงแล้วแพร่หลาย แลท่านผู้สำเร็จบางองค์วางองค์ว่าเปนคนดับภพแล้ว เหมือนคนตายแล้ว ฤๅใม่ฉนั้นก็นับถือศิวะ แลการบูชาเทพยะเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสิงสถิตย์ณะเขานั้นๆ เกี่ยวข้องกันชิดมากกับศาสนาโบราณ ของมนุษย์ะชาติชาวเขาหิมะลัยที่มิใช่เชื้ออริยกะชน ศิวะนั้นใม่ได้รวมเข้าในพวกเทพยดาศักดิ์สิทธิ์ของพวกพราหมณ์จนลุ พ.ศ. ราว ๕๔๓ แต่เอาแน่ใม่ได้ว่าพระพุทธศาสนามาถึงเมืองไทยใหญ่เมื่อไร ตำนานต่างๆที่ว่าด้วยพระศาสนาก็มีแต่หลงไหลใม่เปนที่เชื่อฟังเอาเปนแน่ได้ แลตำนานเหล่านั้นใม่บอกตามจริงถึงเรื่องที่พระพุทธศาสนาขึ้นมาถึงเมืองไทยใหญ่ข้างเหนือจากเมืองตะโถงฤๅสเทีม ซึ่งพระพุทธะโฆษาจาริย์ได้ประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. ๙๔๓ ฤๅมาจากทางเทือกเขาหิมะลัยในกรุงภุกามชั้นต้นๆนั้น การบูชานาคก็เปนศาสนาทั่วไปแลจนมาภายหลังก็ยังคงมีคนนับถือแลเชื่อกันอยู่มาก ศาสนานับถือสัตว์เดรัจฉานครั้งดึกดำบรรพ์นั้นยังฝังน้ำใจคนแข็งแรงมากใม่ชั่วแต่ในเมืองไทยใหญ่ทั้งในเมืองพม่าด้วย พระเจ้าอโนรธามหาราชเปนผู้เอาพระธุระยอยกพระบวรพุทธศาสนาเปนอย่างแข็งแรง แลทั้งพระองค์ทรงอภิเษกด้วยราชบุตรีอุกฤษฐตระกูลไทย (ไทยเมาฤๅไทยลโว้) นั้น พระองค์ก็คงจะทรงใช้พระปรีชานุภาพให้พวกไทยนิยมตามพระราชศรัทธา ด้วยเมืองไทยเมาฤๅไทยลโว้ก็ย่อมเปนเมืองหลวงที่สถิตย์ราชาธิปตัยของชาติไทยในเวิ้งนั้นๆ แต่แม้กระนั้นก็ยังน่าจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาคงจะยังต้องใม่จารึกใจไทยแน่นแฟ้นนัก เลื่อนลอยบ้างใม่มากก็น้อย พึ่งจะจับหลักมั่นคงในปี พ.ศ.๒๑๐๕ นี่เอง ด้วยครั้งพระเจ้าบุเรงนองกยอดินนรธามหาราช อันเปนกษัตริย์พม่าผ่านมหานครหงสาวดีผู้ทรงมหิทธยานุภาพ ก็ยังมีจารึกมหาราชพงศาวดารพม่าปรากฎชัดอยู่ว่า พระองค์ได้ออกพระราชกฤษฎีกาบังคับให้แก้ไขการพระศาสนาในหัวเมืองไทยใหญ่เวิ้งแม่น้ำอิระวดีตอนบนให้ดีขึ้น ความจริงคงเปนเช่นมิสเตอคุชิงได้กล่าวว่า “เพราะอานุภาพพม่าช่วยกระตุ้นพวกชาน (คือไทยใหญ่) จึงนับถือพระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง เหตุฉนี้พระพุทธศาสนาในหัวเมืองขานเบื้องแม่น้ำสัละวีนฝั่งตวันตกจึ่งใม่ใคร่มีพิธีสงฆ์รุ่มร่ามเกี่ยวข้องมากมายเหมือนข้างฝั่งตวันออกแห่งแม่น้ำสัละวีนนั้น” พระสงฆ์ในเมืองเชียงรุ้งยังสรวมตุ้มปี่กะโหลก แลสูบบุหรี่ปุ๋ยๆเสียจนใม่รู้หยุด ทั้งทำการค้าขายในที่ต่างๆ ก็มาก เปนเจ้าสัตว์พาหนะ สังฆารามบางแห่งก็เปนโรงสัตว์พาหนะมากกว่าเปนศาสนะสถาน แลบางแห่งก็ซ้ำเปนคอกเปนป้อมปราการป้องกันโจรผู้ร้ายมากกว่าเปนวัดแลมือถือศัสตราวุธเครื่องประหาร แลบางทีก็ถือปืนไฟเมื่อจะเดีนทางไปไกลๆ

ยังใม่เคยพบว่ามีไทยในปัตยุบันอยู่บ้านเมืองไหน แลสาขาไหน ที่ใม่ได้ถ่ายเยี่ยงจากเพื่อนบ้านภายนอกมาประพฤติ เห็นได้แน่ในพวกไทยอังกฤษได้ไถ่ธรรมเนียมจากพม่ามาเปนของตนมากอย่าง มิฉนั้นก็เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมของตนเลียนตามจารีตของผู้ที่มาชิงชัยตั้งปกครองเหนือตน แต่ถึงอย่างไรก็ยังใม่แน่ใจว่ ในเมืองพม่าตอนบนเองอย่างธรรมเนียมไทยจะใม่แบ่งลงมาให้พม่าเลียนเยี่ยงแข็งแรงยิ่งกว่าที่ไทยใหญ่เอาอย่างพม่าขึ้นไปบ้าง เห็นได้ว่าวิธีบูชานับถือสัตว์เดรัจฉานเปนพระศาสนา พม่าก็น่าจะไถ่มาจากพวกไทยหลวง ด้วยในทุกวันนี้ก็เห็นปรากฎชัดว่า พวกไทยใหญ่มักเปนหมอดูอย่างสามารถ แลยังสามารถในการสัก กว่าพม่ามาก

ข้อความต่อไปนี้ เปนกิริยาอาการ แลอย่างธรรมเนียมไทยหลวงที่แปลกหรือต่างกันกับพม่า คัดความมาจากหนังสือซึ่งมิสเตอร์ดับลยู อาร์ ฮิลเลียเขียนไว้

เกีด

เมื่อคลอดบุตร์ใม่ต้องทำพิธีรีตองอย่างไรสำหรับการคลอดทั้งหมด แต่ดูท่าทางออกจะไปอย่างกะเหรี่ยงบางจำพวก แต่ก็ใม่เชีงนัก ตัวแม่ก็ใม่ต้องพรากจากฝูงคน ฤๅต้องทรมานกายอย่างไรนัก ใม่มีข้อบังคับให้เส้นสรวง ฤๅทายาอย่างใดในเพลามีครรภ์ แต่เมื่อคลอดบุตร์แล้ว ห้ามแม่มิให้กินของแสลงเหล่านี้ในเดือน ๑ คือ :-

(๑) เนื้อชุมพา (แพะแกะ)

(๒) เนื้อสมันย่าง

(๓) ปลาชื่อ ปาโมง

(๔) ส้มมีผิว

(๕) ขนมจีน

(๖) น้ำมัน

(๗) ผักกูด

(๘) หอม

แล (๙) มะเขือ

ของเหล่านี้ใม่ถูกกับธาตุทารกที่คลอดใหม่ๆ เมื่อคลอดบุตร์แล้ว ต้องเอาผ้าพันท้องแม่แล้วให้นั่งพิงกะดาน หรือนอนแอ่นพุงอยู่ไฟ ไม้ฟืนที่อยู่ไฟนั้นใช้ไม้อะไรๆก็ได้สาระพัดสุดแต่เมื่อเผาไฟไหม้ไม้นั้นแล้วใม่ให้มียางไหล เปนพอ ไม้ที่พอใจใช้กัน คือ

(๑) ไม้นีม (คล้ายไม้โอ๊ก)

(๒) ไม้กุด

(๓) ไม้กะะเวก (เทือกเฟิน)

(๔) ไม้มูต

(๕) ไม้เกา

ตัวแม่นั้นห้ามมิให้อาบน้ำ ๗ วัน แต่วันคลอด แลก่อนที่จะลงมือทำงารการเรือนได้ปรกตินั้น ต้องเข้ากระโจมอาบน้ำชำระร่างกายให้บริสุทธิ์แลใช้เสื้อผ้าใหม่ ต้องเผาไม้เปกให้เปนควันรมมารดา เพื่อจะกันโลหิตแล่นขึ้นขมองมักทำให้เลือดออกทางจมูกแลปาก ถ้าเปนเช่นนั้นต้องเอาเลือดวานรให้กินแก้ ฝ่ายข้างสามีนางแม่ลูกอ่อนนั้น เพลาภรรยามีครรภ์ฤๅคลอดบุตร์แล้วใม่ต้องทำพิธีรีตองอย่างไรด้วยหมด แต่ถือกันว่าใม่ควรที่จะทำการดังต่อไปนี้ :-

(๑) ไล่สุกร

(๒) แบกหามผี

(๓) ขุดหลุมฤๅกลบหลุม แล

(๔) ชกต่อยกะใคร

เมื่อเด็กคลอดได้ครบเดือน ก็ทำพิธีทำขวัญเดือนตั้งชื่ออาบน้ำเด็ก ในอ่างที่จะอาบเด็กนั้นถ้าเปนชายก็เอาทองคำพลอยต่างๆตามมีตามได้แช่ลงไว้ ถ้าเปนหญิงมักใช้ทองคำเงินแลเครื่องประดับกายสัตรีอันเปนทองฤๅเพชรพลอยก็ยิ่งดีแช่ลงในอ่างนั้นด้วย ถ้าเปนบุตรีผู้มีทรัพย์มักเอาทองคำทำเสมาร้อยได้ผูกฅอทำขวัญ ถ้าลูกคนจนก็ทำเพียงเสมาเงินอันย่อมๆผูก ครั้นแล้วก็เชีญผู้เถ้าผู้แก่ให้ชื่อ ก่อนจะให้ชื่อนั้นผู้ใหญ่เอาด้าย ๗ เส้นควบกันขอดกลางแล้วผูกข้อมือเด็กแลให้ศีลให้พรเมื่อได้ขนานนามแล้ว

นามนั้นต้องให้ตามแบบดังต่อไปนี้ :-

บุตรชายหัวปี - อ้าย บุตรหญิงหัวปี - นางเย หรือนางเอื้อย
บุตรชายที่ ๒ - อ้ายญี่ บุตรหญิงที่ ๒ - นางญี่
บุตรชายที่ ๓ - อ้ายสาม บุตรหญิงที่ ๓ - นางอ่ำ
บุตรชายที่ ๔ - อ้ายไส บุตรหญิงที่ ๔ - นางอาย
บุตรชายที่ ๕ - อ้ายโหง บุตรหญิงที่ ๕ - นางโอ
บุตรชายที่ ๖ - อ้ายโหนก บุตรหญิงที่ ๖ - นางโอ๊ก
บุตรชายที่ ๗ - อ้ายหนู บุตรหญิงที่ ๗ - นางอิตหรือนางเอียด
บุตรชายที่ ๘ - อ้ายนาย  

ชื่อเหล่านี้คงเปนชื่อเด็กผู้ชายแลผู้หญิงนั้นๆต่อไป เว้นไว้แต่จะได้เปลี่ยนตามเหตุที่จะกล่าวต่อไป คือ:-

(๑) เมื่อเด็กไปบวชอยู่วัด

(๒) เมื่อเด็กได้สามฤๅสี่ขวบให้ชื่อเด็กใหม่ให้ถูกต้องกับวันของเด็กเมื่อเกีด แล

(๓) เมื่อเจ็บมากถึงจะต้องเปลี่ยนชื่อ การข้อนี้เฉภาะต้องเปลี่ยนเมื่อเด็กเกีดวันกล้าวันแข็งหรือวันไม่ดี ตามตำรา แฝวั่น

เด็กชายนั้น เมื่อโตพอจะพูดจาเปนกิจจะลักษณะสมควรจะเล่าเรียนได้แล้วก็ส่งไปวัดเพื่อศึกษา เด็กต้องไปทุกวันจนกว่าจะเรียนปฐมะพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ว่าปากเปล่าได้ ๓ จบใม่ผิดก่อนแล้วพระสงฆ์เจ้าอธิการในวัดนั้นจึ่งจะได้ผลัดผ้าคฤหัสถ์ครองผ้าตรัยบรรพชาเปนสามเณรอยู่ศึกษาในวัดนั้นต่อไป ในนามซึ่งพระสงฆ์ที่เปนอุปัธยาจาริย์ขนานให้ใหม่

นามฉายาใหม่นี้ต้องเริ่มคำต้นฤๅคำท้ายชื่อให้ถูกกับตัวอักษรประจำวัน ตามวันที่เด็กนั้นเกีด คือ:-

วันอาทิตย์ - สระตัวไหนก็ได้ เช่น อ่อน

วันจันทร์ - ก. ข. ง. เช่น เกาลิยา

วันอังคาร – จ. ช. ญ. เช่น จันทา

วันพุธ – ย. ล. ว. เช่น วิละชา

วันพฤหัศบดี - ป. ผ. ม. เช่น ปัปพา

วันศุกร์ - ส. ห. เช่น สวนา

วันเสาร์ - ต. ถ. น. เช่น นันทา

นามะฉายาที่พระสงฆ์อาจาริย์ให้เช่นนี้มักเปนชื่อติดตัวไปจนตาย ถ้าเปนลูกผู้หญิง ชื่อนี้เชีญผู้เถ้าผู้แก่ตั้งให้ มิใช่พระสงฆ์ แต่ก็มิได้ห้ามมิให้พระสงฆ์ให้ แลพระสงฆ์ก็มักให้กันชุม

เมื่อเจ็บป่วย ฤๅเคราะห์ร้าย ก็มักเกีดความคิดแนะนำให้เปลี่ยนชื่อ (อย่างนางพิมในเรื่องขุนข้างขุนแผนของเรา) ตั้งพิธีเสดาะเคราะห์เปนทีว่าเอาเด็กคนนั้นไปแลกเด็กคนอื่นมาเปนตัวแทน ดังนี้:-

(๑) แลกกะผ้าขี้ริ้วท่อน ๑ เมื่อเช่นนี้ เด็กนั้นก็ชื่อ อ้ายมานฤๅนางมาน (แปลว่า นายหรือแม่ผ้าขี้ริ้ว)

(๒) แลกกะเงินลิ่ม ๑ เมื่อเช่นนี้เด็กนั้นก็ชื่ออ้ายเงินฤๅนางเงิน (แปลว่า นายหรือแม่เงิน)

(๓) แลกกะตาเต็งคู่หนึ่งซึ่งจับเด็กลงชั่งในนั้น ถ้าเด็กหนักกว่าตาชั่งธรรมดาก็ให้หนักกว่า เด็กนั้นก็ชื่ออ้ายส้อยสาหรือนางส้อยสา (แปลว่านายฤๅแม่หนักกว่าตาชั่ง) หรือ

(๔) จับเด็กนั้นลงม่อใหญ่ ทำเปนทีเหมือนจะทอดเด็กนั้น เมื่อทำเช่นนี้แล้ว เด็กนั้นก็ชื่ออ้ายเกาหรือนางเกา (แปลว่านายหรือแม่ทอด)

(๕) บิดามารดาจับเด็กนั้นทำเปนทีจะโยนทิ้งเสีย แลมีผู้เถ้าคนหนึ่งซึ่งเลือกมาไว้ทำพิธีนั้น เปนผู้ไปเก็บเอาเด็กนั้นมาคืนให้แก่บิดามารดา เด็กเช่นนี้ก็มีชื่อว่า อ้ายเก็บหรือนางเก็บ (แปลว่านายหรือแม่เก็บ)

(๖) เด็กนั้นยกให้แก่ผู้มาเยี่ยมณเรือนนั้นผู้หนึ่งไปสิทธิ์ขาด สักครู่หนึ่งก็กลับคืนให้แก่บิดามารดา ผลที่ทำพิธีเช่นนี้ก็เพื่อให้เด็กนั้นมีชื่อว่าอ้ายแขกหรือนางแขก (แปลว่า นายหรือแม่เยี่ยม)

(๗) เมื่อราตรีเดือนเพ็ญทำเปนปล่อยเด็กนั้นหายไป แล้วตกเนื้อตกใจไปติดตามได้ตัวคืนมาดังเดีม เมื่อทำพิธีเช่นนี้แล้วเด็กนั้นก็ชื่ออ้ายโมนฤๅนางโมน (แปลว่านายหรือแม่เพ็ญ)

(๘) ให้นกไถ่มูลรดเด็กเปนที่หมาย แล้วก็ให้นามว่าอ้ายหมายหรือนางหมาย แปลว่านายฤๅแม่หมาย

แลยังมีวิธีอื่นๆทำนองนี้อิกเปนอเนกประการ สุดแต่พ่อบ้านจะนึกขึ้นเปนเคล็ดฟาดเคราะห์ เพื่อจะหาเหตุให้ชื่อเด็กตามเหตุที่เปน สุดแต่ให้ผีเกลียด การเปลี่ยนชื่อเช่นนี้ ทำกันเปนธรรมดาทั่วไป เมื่อยามเจ็บป่วย แลวิธีทำนั้นก็สุดแต่ทำอย่างไร ให้เปนเครื่องแสดงว่าทอดทิ้งเด็กนั้นสุดแท้แต่ผีที่ใคร่ทำร้ายจะทำเล่นให้สาใจ แลถือเคล็ดนั้นเปนชื่อเด็กเปนพอ ถ้าแม้เปลี่ยนชื่อฟาดเคราะห์แล้วเด็กก็ยังใม่ฟื้น บิดามารดาก็พาเด็กไปวัดพร้อมกับของถวายไปทำสังฆะทาน แลต่อไปก็เรียกชื่อเด็กนั้นใหม่ว่าอ้ายลูหรือนางลู (แปลว่านายหรือแม่ทาน) ชื่อที่ได้ในทางเช่นนี้ อาจจะเปลี่ยนได้อิก เมื่อเด็กนั้นเปนซายโตขึ้นได้บวชเรียน

แต่งงาร

การแต่งงารนั้นยอมให้แต่งกันได้สุดแต่ใจรักโดยใม่ถือชาติถือพวก ใม่มีอุปเท่ห์อย่างกะเหรี่ยงอย่างไรติดเลยสักน้อย ถ้าชายฤๅหญิงตายเสียก่อนได้แต่งงาร ก่อนจะเอาศพไปฝังต้องให้ศพได้กอดอวัยวะมนุษย์ ฤๅแม้แต่หมอนฤๅท่อนไม้ ต่างว่าเปนผัวเปนเมียกันก่อนแล้วจึ่งจะพาศพนั้นไปลงหลุมได้ ถ้าลืมทำพิธีเช่นนี้เสียแล้ว เชื่อกันว่าคนที่ตายนั้นไปเกีดชาติหน้าก็จะต้องตายทั้งใม่ได้แต่งงารอีก

เมื่อชายหนุ่มพอใจหญิงสาวนางหนึ่ง ก็หมั่นไปเยี่ยมสนทนาวิสาสะกับนางนั้นที่เรือนบิดามารดาของนาง ถ้านางนั้นพิศวาศตอบ เจ้าหล่อนก็เลยตามมาไปสู่เหย้าเรือนบิดามารดาของชายหนุ่มนั้น ครั้นรุ่งขึ้นเช้า บิดามารดาของเจ้าหนุ่มก็ต้องไปสู่เรือนเจ้าสาว บอกกล่าวเหตุที่เปนมา เปนธรรมเนียมต้องเอาเกลือใบเมี่ยงวางในใตกรองไปคำนับบิดามารดาเจ้าสาวด้วยโดยหวังว่าเหตุที่เปนมาแล้วนั้นคงจะใม่เปนข้อขุ่นเคือง แลขอให้กำหนดวันฤกษ์ดีเพื่อจะได้ทำพิธีอาวาหมงคลอย่างเปิดเผยต่อไป เมื่อผู้ใหญ่ทั้งสองข้างตกลงปลงใจกันแล้ว เจ้าสาวก็กลับมาบ้านบิดามารดาของนางอิกอย่างเดิม

ในเมืองแลในจำพวกคนมั่งมี การทำเช่นนี้ย่อมถือว่าเปนการดูหมิ่น ใม่ใคร่กล้าใช้ เมื่อข้างเจ้าสาวตกลงปลงใจ เจ้าหล่อนก็บอกเล่าความในใจที่ได้สมาคมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วบิดามารดาฝ่ายชายจึ่งมาสู่ขอว่ากล่าวกันตามธรรมเนียม แลเมื่อผู้ใหญ่ข้างเจ้าบ่าวมาสู่ขอมักพาเกลือแลน้ำตาลทรายวางในโตกรองมาคำนับแลได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเจ้าสาว กำหนดวันฤกษ์ที่จะทำพิธีอาวาหมงคลเปนการเปิดเผยตามเพสบ้านเพสเมือง

การตกลงกันนี้ก็สำคัญด้วยการคำนวนตามแฝวัน จึงจดวันค่ำปีเดือนทั้งฝ่ายชายแลฝ่ายหญิงไปสำหรวจนาคสมพงศ์ เพื่อร่วมธาตุร่วมลักษณ์กันแล้ว ก็ยังต้องหาฤกษ์ วันที่จะทำการอาวาหะมงคลต่อไป การเหล่านี้ตกเปนน่าที่ของท่านอาจาริย์ผู้ชำนาญในทางไสยศาสตร์สุดแท้แต่จะบงการ

เมื่อถึงวันกำหนดฤกษ์ ญาติมิตร์ทั้งสองฝ่ายต่างก็ชุมนุมณเรือนเจ้าสาว เจ้าบ่าวต้องพาเกลือแลใบเมี่ยงห่อมาด้วยกันในภาชนะเดียว กับทั้งเงิน สุดแท้แต่กำลังข้างเจ้าบ่าวจะพอสามารถมีให้ได้เพียงใดนั้นมาให้บิดามารดาเจ้าสาวเปนค่าสมณาคุณที่ยกบุตรีให้ฤๅเรียกว่าเปนค่าน้ำนม ฤๅเปนค่าทำขวัญที่ต้องเสียบุตรีจากอกไปมีเรือน เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงวางของคำนับไว้ตรงหน้าบิดามารดาเจ้าสาวกราบไหว้แล้ว ก็กล่าวคำขอแต่งงาร แลคำนับรับสัญญาจะเลี้ยงดูร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน ไปจนหาชีวิตใม่ เปนแต่ตามแบบสำหรับพิธีเช่นนี้ (อย่างไทยสยามว่าทำขวัญนาค) บิดามารดาก็แก้ห่อเมี่ยงหยิบเอาเงินออก เมื่อนั้นผู้เถ้าคนหนึ่งก็ยกห่อเมี่ยงแลเกลือออกไปจากบ้านถึงท้องถนน ชูขึ้นเหนือศีร์ศะร้องเชีญพระธรณี พระอาทิตย์แลเทพยดาในนภากาศมาเปนสักขีชายหญิงที่จะสมรศกันคู่นี้ ครั้นประกาศแล้วก็กลับเข้ามาในเรือน เอาเชือกเจ็ดเส้นรวบกันขมวดกลางแล้วผูกข้อมือซ้ายเจ้าสาว แลอิกเส้นหนึ่งผูกข้อมือขวาเจ้าบ่าวให้ศิลให้พรให้อยู่ด้วยกันอยู่เย็นเป็นสุขจนแก่จนเถ้าทำมาหาได้ จบแล้วก็เสร็จพิธีอาวาหะมงคล เจ้าบ่าวก็แจกเงินแก่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านนั้นบรรดาที่มาประชุม อำนวยพรพร้อมกันอยู่ที่นั่น แล้วต่างก็พร้อมกันกินเลี้ยง ครั้นแล้วเจ้าสาวก็ขนของๆตนไปสู่เหย้าเจ้าบ่าว

การอย่าขาดจากผัวเมียกันนั้น สำเร็จได้โดยลำพังตกลงปลงใจกันเอง แลข้างชายเปนผู้ให้หนังสืออย่าต่อหญิง อนุญาตให้เปนอิศระภาพที่จะแต่งงารใหม่ได้ ถ้าข้างภรรยาขออย่าแต่ข้างสามีใม่เต็มใจ ข้างหญิงถ้าเปนราษฎรธรรมดาต้องให้เงินไถ่ตัวราวราคา ๓๐ บาทเท่านั้น เจ้าหล่อนก็เปนโสดได้ ถ้าข้างผัวขออย่าข้างเดียว ก็ต้องถูกริบเครื่องใช้ไม้สรอยสำหรับเรือนเปนของภรรยาหมดทั้งสิ้น ถ้าตกลงปลงใจด้วยกันทั้งคู่ที่จะอย่าขาดจากผัวเมียกัน แลต่างใม่มีผิดที่จะกล่าวหาด้วยกันทั้งสองข้าง ถ้าใม่มีบุตร์ด้วยกัน ต่างคนก็ต่างเอาสินเดีมของตนไป แลสินสัมรศนั้นก็แบ่งกัน ถ้ามีบุตร์ด้วยกัน บุตร์หญิงก็ตกเปนของแม่ บุตร์ชายเปนของพ่อ ทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นรวบรวมมาตีค่าไว้เปนกลางให้บิดามารดาชักสิบลดเอาก่อน เหลืออิก ๔ ใน ๕ ส่วนนั้น แบ่งเปนส่วนเท่าๆกันถ้วน กับจำนวนบิดามารดาแลบุตร์ กี่คนๆละส่วนละส่วน ถ้าข้างชายมีความผิด ข้างหญิงมีกรรมสิทธิ์ที่จะได้เรือนได้สวน แลสิ่งเครื่องของใช้ในเรือนทั้งปวงสิ้นยอมให้ชายเอาไปได้แต่ ศัสตราวุธ เครื่องมือแลเครื่องใช้จำเปนสำหรับตัวเช่นเครื่องแต่งกายเท่านั้น ถ้าข้างภรรยาตกหนักมีความผิด เจ้าหล่อนก็ถูกเฉทกลับไปสู่ตระกูลเดีมของเจ้าหล่อนแต่ตัวหรือไล่ส่งไปใม่ต้องได้อะไรติดมือไปแต่สักสิ่งสักอย่างเท่านั้นเองเปนจบความ

ห้ามมิให้ชายแต่งงารกับมารดาของตนแลมารดาภรรยาของตนย่ายายป้าน้าอา แลพี่น้องสาวของตน ข้างผู้หญิงก็เช่นกันแต่เปลี่ยนเปนชาย นอกนั้นแต่งงารกันได้หมด การมีเมียมากก็อนุญาตตามใจ แต่ก็ใม่เปนธรรมดาทั่วไปนอกจากคนมีเงิน แต่การมีสามีมากนั้นห้าม หญิงหม้ายหญิงทึนทึกหญิงร้างเปนอิศระแก่ตัวที่จะแต่งงารใหม่ได้ตามปราถนา ใม่มีใครเอื้อมเข้ามาเปนเจ้าของตัวเจ้าหล่อนได้ การฆ่าเด็กในครรภ์นั้นเปนข้อใม่มีใครเคยรู้จักเลย

ตาย

การป่วยใข้นั้นรักษากันด้วยยาต้มบ้างยาผงแห้งบดบ้างยาสดบ้าง แต่ละล้วนใช้สมุลไพรใบรากดอกผลเปลือกแก่นกะพี้แลเนื้อไม้เปนพื้นตามสรรพคุณที่ต้องสมุหฐานโรค รักษาด้วยการนวดบ้างตามสาเหตุของพยาธิ ถ้าวางยาแลนวดแล้วใม่หายก็เข้าใจว่าอาการไข้นั้นเปนไปด้วยฤทธิ์ผีจึงใช้วิธีเศกป่าวขับผี แลรดน้ำมนต์ฟาดเคราะห์ ฤๅบนบานผีสางเทวะดาที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเจ็บหนักจวนจะมรณะไซร้ญาติมิตร์บุตร์แลภรรยา ต้องพรรณนาคุณความดีที่ผู้มรณาสันนั้นได้ทำไว้ในพระศาสนาฤๅต่อประชาชนในชาตินี้ บรรดาเปนส่วนกุศลให้ผู้มรณาฟัง เมื่อผู้จะตายรลึกได้ ก็พนมมือรับ แลเมื่อจะขาดใจก็ร้องตะโกนบอกหนทางสวรรค์ให้รลึกถึงพระพุทธคุณ (อย่างไทยสยามมักพอใจใช้) ศพคนที่ตายนั้น ตามธรรมดาไปฝังกันในป่าดงหรือในป่าช้า ใกล้หมู่บ้าน สับปะเหร่อผู้ขุดหลุมนั้นก่อนที่จะเอาผีลงหลุมได้ ตั้งอกตั้งใจปัดกวาดหลุมด้วยหญ้าคาฤๅหนาม เพื่อขับไล่ผีร้ายซึ่งอาจจะแอบสิงอยู่ในนั้นไปเสียให้พ้นก่อน ศพนั้นแต่งด้วยเสื้อผ้าไหม ต้องระวังจงหนักอย่าให้มีรอยเสื้อผ้านั้นไฟไหม้ได้เปนอันขาด เอาผีไปฝังทั้งล่อนจ้อนใม่มีเสื้อผ้าเสียเลยทีเดียว ยังดีกว่าเอาผ้าที่มีรอยเพลีงไหม้แม้จุดเดียวมาแต่งศพ ด้วยถือกันว่าไฟอาจจะตามเผาเจ้าของศพที่ตายนั้นในชาติหน้าอีกได้ คนที่ถูกศพต้องให้ไปอาบน้ำชำระขัดสีกายเสียก่อนจึ่งจะกลับเข้าบ้านได้ ใม่มีเครื่องแต่งกายสำหรับไว้ทุกข์ให้ชายฤๅหญิง ใม่ว่าจะเปนญาติมิตร์สนิทหรือห่างที่สุดจนมารดาบิดาภรรยาสามีหรือแม้เจ้าฟ้าอันเปนที่ล้นพ้นสูงสุดแล้วนั้นสักอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพราะไทยใหญ่ถือสวรรค์ในอกนรกในใจ ถ้าจะเบีกสการศพก็ใช้ถือศีลกินเพล

รูปพรรณ แต่งกาย แลกิริยาอาการ

รูปโฉมไทยใหญ่นั้นคล้ายกันกับพม่าแลไทยสยาม แต่ออกจะสวยๆกว่า รูปร่างก็เข็งขึงผึ่งผาย กล้ามเนื้อก็ล่ำสัน ใบหูก็เล็ก จมูกเล็กมากกว่าแบนจึงออกดูโด่งมาก ปากใหญ่ แต่ดูเหมือนใหญ่ขึ้นด้วยสีฟันดำแลยางหมากที่ชอบอมจับเปนหินปูนพอก ผมยาวสลวยแลใม่ใคร่มีศรีอื่นนอกจากดำขลับ ชายชอบสักขาในร่มผ้าขึ้นมาครึ่งตัว ซ้ำยังสักสูงขึ้นไปตามตัวมากกว่าพม่า มหาดเล็กเจ้าฟ้าบางคนในครั้งเมื่อกนั้นสักตั้งแต่คอลงมาถึงไหปลาร้า แลบางคนใม่ใคร่มากนัก สักจนกระทั่งหน้าแลหลังมือ ก็ยังมีสักศรีน้ำเงิน คนธรรมดานั้นสักหน้าอกหลังแลแขนด้วยศรีแดงคล้ายๆพม่าแต่ลวดลายแปลกกัน ช่างสักไทยใหญ่ถือกันว่าชำนิชำนาญมากในทางเวทมนต์ เมื่อสักให้กันกฤตยาฤๅคงกะพันชาตรีก็ทำพิธีมาก

เครื่องแต่งกายของพวกไทยใหญ่นั้นมีกางเกงนุ่งตัว ๑ เสื้อครึ่งตัวตัว ๑ แบบกางเกงนั้นแปลกกันมาก บางคนก็ใช้กางเกงอย่างจีนแต่เพลาขาดีขึ้น แต่ชั้นผู้ดีนั้นกะพุ้งก้นมักหย่อนลงมาราวถึงเข่า เมื่อสรวมเสื้อครึ่งตัวเข้า ยิ่งชักให้แลเห็นเปนกระโปรงแหม่มมากกว่าเปนกางเกง ผ้าโพกเกล้านั้นมักเปนศรีขาวในพวกข้างเหนือ แต่พวกข้างไต้มักใช้ศรีต่างๆ ฝ่ายพวกไทยจีนนั้นศรีคราม ชักชายผ้าห้อย หมวกสานใบใหญ่นั้นสำแดงอาการว่าเปนพวกไทยในอาณาเขตร์อังกฤศ หมวกนั้นทำในแดนจีน แต่พวกไทยจีนก็ใม่ใช้ แลสยามคือลาวก็ใม่ใช้เหมือนกัน

ผู้หญิงนั้นผิวลเอียดงามมาก แต่บางทีถ้าจะชมโฉมให้ทั่วแล้วออกจะใม่สู้สวยเหมือนแม่พม่าน้องสาว ยิ่งเครื่องแต่งกายแล้ว ยิ่งดูแลทรามกว่าทั้งผู้หญิงพม่าแลผู้หญิงสยาม สิ้นก็ใม่ผ่าหน้าเหมือนนางพม่าใช้ แลใม่ม้วนโจงชายกระเบนขึ้นไปเหมือนสาวสยาม เปนแต่รัดสเอวเข้าไว้อย่างลาว เสื้อผ้าใม่ใคร่ใช้กันนัก แลดูเหมือนใม่เกี่ยวกับเครื่องอาภรณ์สำหรับชาติสัตรีไทยใหญ่เลย ผู้หญิงในหัวเมืองไทยใหญ่ของอังกฤษพันสะใบรอบอก ในหัวเมืองลาวตอนบนตัวเผยถึงอกใม่ว่าแก่หรือสาวก็ชุม ใช้ผ้าโพกประดับเกล้า ขนาดใหญ่เล็กต่างกันมากในหัวเมืองต่างๆ ในข้างเหนือบางทีขึ้นไปโตอูมพยูมอยู่ราวกะผ้าโพกหัวแขกซิกห์หัวโต แลในข้างไต้มักใช้ผืนเล็กขนาดเท่าผ้าสะใบที่แม่สาวๆพม่าชอบพาดบ่าฉุยฉายกะตุกกะติกเท่านั้นก็ชุม

ราษฎรไทยใหญ่เปนสัญชาติคนสงบเสงี่ยมใม่เหี้ยมโหดดุร้ายแลใจดีพื้นดีรักยิ้มหัว ทั้งใม่ใคร่พอใจดื่มน้ำเมาฤๅสูบฝิ่นทำนองประพฤติลม้ายกันกะพม่า ห่วงศอพอใจใช้กันนักในหัวเมืองเขาเขีนแลใช้กันใม่ว่าที่ไหน พวกผู้หญิงมักใช้มากกว่าผู้ชายที่นานๆจะพบสักคน

กฎหมาย

กฎหมายนั้น เจ้าฟ้า (คือองค์พระเจ้าแผ่นดิน) แลเมียวซา (เจ้าฟ้าอ่อน) มโรชกับอำมาตย์แห่งแลท้าวเมือง (เรียกว่าเมือง) กรมการเปนผู้พิจารณาพิพากษาให้ดำเนีรไป กฎหมายอันเปนธรรมเนียมของพลเมืองนั้นถือเอาธรรมศาสตร์ของมนูสารเปนมูล แต่ใครมีอำนาจก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงเอาตามเห็นชอบฤๅคล้อยตามอย่างธรรมเนียมบ้านเมือง แปรมามากตามกาละเวลา แต่ก็ยังโก่งฅอว่าธรรมศาสตร์มนูสารอยู่กระนั้นเอง

โทษมนุษยะวิคคะหะฆ่าคนตายนั้นก็ใช้เปนธรรมเนียมปรับไหมไถ่โทษด้วยใช้เงินให้ได้ ในหัวเมืองต่างๆทั่วไปเปนอันมากนั้น คาดค่าจำนวนปรับไหมไว้ราว ๓๐๐ บาท แตในหัวเมืองข้างเหนือนั้น กฤษฎีกาเปนเช่นนี้ (๑) ๓๓๓ บาทให้แก่ญาติที่สนิทถัดตัวผู้ตาย (๒) ๓๓๓ บาทให้แก่เจ้าพนักงารผู้พิพากษาสาขะคดีนั้น (๓) กึ่งจำนวนนั้นคือ ๑๖๖ บาทครึ่งให้แก่อมาตย์ (๔) เซี่ยวจำนวนนั้นคือ ๘๓ บาทเซี่ยวให้แก่เสมียนศาลแล (๕) ๑ ใน ๖ ส่วนของจำนวนนั้นคือ ๕๕ บาทครึ่งให้แก่พธำมรงแลนักการ รวมทั้งสิ้นเปนเงินปรับไหมไถ่โทษฆ่าคนตายถึง ๙๗๑ บาทเซี่ยว ถ้าหากคนผู้ร้ายใม่มีเงินจะใช้ไซร้ ท่านให้เวนเอาแก่ญาติของมันผู้ผิด ถ้าหากญาติของมันผู้ผิดใม่มีเงินจะให้อิกเล่าไซร้ ท่านให้เวนเอาแก่เพื่อนบ้านในลแวกที่มันอยู่ ถ้าเพื่อนบ้านในลแวกที่มันอยู่ก็ใม่มีเงินจะให้อิกไซร้ ท่านให้ทอดรางวัด ถ้าผู้ทำร้ายเปนคนชาติอื่นฤๅหัวเมืองอื่นใม่ยอมให้ค่าปรับไหมไซร้ ท่านให้บังคับกดขี่เอาจงได้ ซึ่งเปนธรรมดาต้องเอามาจำขังเร่งรัดอยู่จนทำกาละกิริยาตายตามกันไป ถ้าพี่น้องวิวาทต่อสู้กัน ข้างหนึ่งถึงมรณะภาพไซร้ ญาติวงศ์ทั้งสิ้นต้องถูกริบเครื่องสัมภาระใช้สรอยในเหย้า แต่ที่ดินหาถูกริบด้วยใม่ ถ้าเมื่อผู้ร้ายที่ฆ่าคนตายมีเงินปรับไหมค่าไถ่โทษส่งให้ได้ครบแล้ว ก็ปล่อยไปเปนอิศระภาพแท้ดังเดิมใม่ต้องมีประกันทานบนหรือมีผู้กำกับอย่างใดเลย ครั้งหนึ่งตัวผู้ร้ายที่ใม่สามารถจะส่งเงินค่าปรับไหมไถ่โทษได้นั้น กับทั้งวงศ์วาร ต้องถูกจับตัวส่งไปเปนทาษญาติกาผู้ที่ต้องตายก็เคยมี

อนึ่งยังมีสินไหมทำร้ายร่างกายเปนเงินทำขวัญตามบาดแผลฉกรรจ์มิฉกรรจ์ แลตามทัณฑ์ศัสตราวุธที่ทำร้าย ถ้าถึงบอดพิการหักโข้นก็ปรับไหมแรง

ราชกำหนดปกครองทรัพย์สมบัติแลมรดกนั้น ตามธรรมศาสตร์ของมนูสารตรง หรือจะว่าแปลกฎหมายพม่าออกมาใช้ทีเดียวก็ว่าได้ ถ้าผู้ใดมรณะภาพใม่มีพินัยกรรมอุทิศทรัพย์สินให้แก่ใคร ตัวบทกฎหมายหะแรกก็ฉูดลง แล้วก็ปรูดขึ้นแล้วฉีดไปข้างๆ คือลูกแลบิดามารดาที่ยังคงมีชีวิตอยู่มีกรรมสิทธิ์ที่จะเอื้อมเอาก่อนคนอื่น ถ้าใม่มีบุตร์แลใม่มีบิดามารดาก็ถึงพี่น้อง การแบ่งมรดกนั้นจำแนกกันหลายสถาน ในหัวเมืองบางภาค เมียหลวงได้กึ่งสมบัติ ลูกแลเมียน้อยได้เฉลี่ยทรัพย์ที่เหลืออิกกึ่งหนึ่งนั้นเท่าๆกัน ในเมืองอิกภาคหนึ่งแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งใช้หนี้สินเสร็จแล้วยังคงเหลือมีตัวออกเปน ๕ ภาคตีค่าเท่าๆกัน เมียหลวงได้ภาคหนึ่ง เหลืออิก ๔ ภาคนั้นเอามาแบ่งเฉลี่ยเปนส่วนเท่าๆกันตามจำนวนบุตร์แลเมียน้อย ตัวเมียหลวงก็ได้อิกส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

เมื่อเจ้าฟ้าตรัสให้ตั้งหมู่บ้านฤๅเมืองขึ้นในตำบลใหม่ การจำแนกที่ดินก็สุดแท้แต่เจ้าฟ้าจะโปรดอนุญาตให้แก่ใคร ในเขตร์กำหนดนั้นตามธรรมดาเจ้าฟ้าทรงอำนวยอำนาจนี้ไว้ในมือผู้เปนใหญ่หรือผู้เถ้าผู้แก่ในบ้านฤๅเมืองนั้น จำแนกที่ดินแก่ลูกบ้านต่อไป คนที่ได้โก่นสร้างแลตั้งทำการเภาะปลูกย่อมได้รับเปนเจ้าของที่ๆตนลงแรงทำไว้นั้นเปนสิทธิ์ แม้จะหยุดเภาะปลูกที่นาไร่นั้นก็ยังคงเปนสิทธิ์อยู่ตามเดีม แต่ถ้าเจ้าของเดีมทิ้งถิ่นไปเสียจากหัวเมืองฤๅหมู่บ้านนั้นเมื่อใด กรรมสิทธิ์เปนเจ้าของที่ดินเช่นว่านี้เปนมรดกตกแก่บุตร์หลานญาติวงศ์ต่อๆกันไปได้ เพราะฉนั้นจะหยิบยกซื้อขายให้ปันกันก็ได้ แต่ถึงจะอย่างไร เปนใม่มีคนแปลกหน้าผู้เดียวฤๅยกพวกมาเปนหมู่เหล่า จะเข้าตั้งอยู่ในบ้านเมืองนั้นๆได้ นอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าแคว้น แม้กระนั้นคนรบาตที่อพยพมาถึงใหม่ๆจากด้าวแดนอื่นก็มักได้รับความต้อนรับอย่างดี

ตราบถึงพระเจ้าเมนดงมินทร์ทรงตั้งวิธีภาษีสะสะเมทะแลตั้งโลงกระสาปน์ทำเงินตราขึ้นนั้น เงินอากรต้องส่งกันตามชักลดจำนวนสิ่งสินค้า แลการซื้อขายต่อกันทั้งปวงก็เชีงใช้แลก เงินนั้นก็ใช้กันมากมาช้านานแล้ว แต่จ่ายต่อกันขบวนแลกสิ่งของโดยเชีงชั่งน้ำหนักใม่มีตั๋วเงินตรา ถึงกระนั้นไทยใหญ่ก็ยังมีเงินแปบางอย่างทำรูปคล้ายๆกาบหอย แลตัวอย่างเงีนโบราณชนิดที่ว่านี้ ใครไปเมืองไทยใหญ่คงจะเห็นได้บ่อยๆแขวนอยู่ที่ฅอลูกเด็กๆ กาละต่อมาภายหลังในหัวเมืองไทยใหญ่นั้นๆ มักใช้เก็บชักภาษีตามจำนวนกบุงเข้าปลูกกันเปนพื้น แต่ใม่ว่าที่ไหน หลายจังหวัดเมือง ราษฎรใม่ต้องเสียภาษี แต่ใช้แรงรับราชการแทนทำนองเปนกองสร่วยรับตราภูมิคุ้มห้าม เมื่อเช่นนี้ในหัวเมืองมณฑลแสนหวีบ้านแขวงหนึ่งก็ส่งสร่วยกล้วยไม้ถวายเจ้าฟ้า บ้านอิกแขวงหนึ่งก็ส่งสร่วยผลไม้ แลบ้านแขวงอื่นก็ส่งสร่วยเงินส่วยทอง สร่วยไต้ สร่วยน้ำมันแลอื่นๆ ตามเจ้าฟ้าจะโปรดกำหนดต้องราชประสงค์ แต่ก็ยังมีแขวงบ้านที่ใม่ต้องส่งสร่วยอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ต้องมาลงแรงทำนาหลวงของเจ้าฟ้า ฤๅรับราชการคุ้มหลวง ชายฉกรรจ์ทุกๆคนที่พอจะเข้าสนามรบได้ อาจจะถูกเกณฑ์เปนทหารใม่ว่าเวลาไรที่จำเปน แต่ในหัวเมืองทั้งปวงมีลูกหมู่ทหารรักษาพระองค์เจ้าฟ้าคงกรมสืบกรรมสิทธิ์ชั่วบุตร์หลาน คนพวกนี้ก็ได้ตราภูมิคุ้มห้ามใม่ต้องเสียภาษีค่านา

ไทยใหญ่กินได้ใม่ว่าอไรหมด เช่นปลาเนื้อสัตว์ เปดไก่กบเขียดงูแย้กิ้งก่าจนตุ๊กแก เปนใม่มีห้ามเนื้อสัตว์อย่างไหนนอกจากเนื้อมนุษย์ แต่การกินเนื้อมนุษย์เปนพิธีก็มักใช้กันบ้างบางขณะ เช่นเวลาเข้าพิธีสักปลุกตัวให้ขลัง ซึ่งนายทหารตัวสำคัญๆมักชอบทำกันนัก ตัวด้วงมพร้าว แมงดา ตัวอึ่งยางแลหนูเปนของชอบอย่างเอร็จอร่อยนัก แลบางทีถึงเห็นขายกันในตลาดของสดก็มี งูนั้นใช้กินกันประจำในจำพวกไทยดำ (ลาวพุงดำ) คือไทยที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบแม่น้ำโขง เปนชอบกว่ากับเข้าอย่างอื่นหมด ไทยดำอาจเอาอย่างเพื่อนบ้าน คือพวกข่ามูกก็เปนได้ แต่หนูพุกแย้แลตุ๊กแกนั้นออกจะเปนอาหารทิพย์กินกันทั่วไปใม่ว่าที่ไหน

การทำนาทำไร่นั้นเปนงารสำคัญของพวกไทยใม่ว่าที่ไหนแลต้องเส้นสรวงผีสางมากในการที่เกี่ยวกับกษิกรรมเช่นว่า เมื่อต้้นผลไม้ที่ปลูกออกผลหรือไม้ล้มลุกเช่นผักกาดเปนต้นสมจะบริโภค ฤๅทำนาเกี่ยวเม็ดเข้าได้ก็ดี ไทยเจ้าของเปนต้องเอาไปถวายพระในวัดประจำหมู่บ้านที่ตนอยู่นั้นเสียก่อน แล้วตัวเองจึงจะกินได้

การลักช้างม้าโคกระบือสัตว์พาหนะนั้นถือกันว่าเปนมหันตโทษอย่างร้ายแรงที่สุดในบ้านเมือง แลแต่ก่อนมาครั้งหนึ่ง ลงโทษถึงสิ้นชีวิต กฎหมายรอยท้าวนั้นใช้กันกวดขันแข็งแรงมาก ด้วยมีตัวบทกฎหมายอยู่ในมนูสารศาสตร์ว่า

“อัยการท่านกฎไว้ว่าแลวกแขวงใดอันรอยท้าวสัตว์พาหนะที่ต้องลักไปปรากฎอยู่ไซร้ ท่านให้บังคับให้แลวกแขวงนั้นใช้ของท่านที่หายให้”

“ข้าแต่พระมหาราชเจ้าเฮย! ถ้าม้ากระบือหรือโคตัวใดถูกผู้ร้ายลักไปแลรอยท้าวมันไปปรากฏ เปนสัตย์อยู่ในรั้งแขวงแลวกใดไซร้ ชอบให้ฟ้องร้องเอาแก่รั้วแขวงแลวกนั้น ถ้าหากมิปรากฎเปนสัตย์ หรือหามีรอยเท้าใม่ไซร้ ท่านห้ามมิิให้เอื้อมเอาโทษแก่รั้วแขวงอเลอแลวกนั้นเลยเปนอันขาด ให้คนที่ทรงบัณฑิตยะวิไสยทราบพระธรรมศาสตร์ข้อนี้จงทั่วกัน ถ้าม้ากระบือฤๅโคหายไซร้ เจ้าของสกดติดตามรอยท้าวไปสู่รั้วแขวงแลวกอเลอใดๆ ราษฎรในรั้วแขวงแลวกอเลอนั้นๆ ทั้งอาณาพยาบาล อันเปนประธานในรั้วแขวงแลวกอเลอนั้นๆ จะใคร่พ้นจากราคีโทษผิดไซร้ ท่านให้ไปกับเจ้าสัตว์พาหนะที่หายแลชี้ที่ซึ่งรอยท้าวมันผ่านออกไปจากรั้วแขวงแลวกอเลอตนได้ ถ้าหากคนเหล่านั้นหาชี้ที่ซึ่งรอยท้าวผ่านออกไปจากรั้วแขวงแลวกอเลอตนไซร้ท่านว่าคนเหล่านั้น สมควรที่จะต้องให้รับใช้สัตว์พาหนะที่หายนั้นให้แก่เขาผู้เปนเจ้าของที่หาย จงถ้วน”

เจ้าของสัตว์พาหนะที่หายก็สกดตามรอยท้าวสัตว์พาหนะไปจนสุดเขตร์บ้านฤๅจังหวัดของตนแล้ว ก็ไปชี้รอยท้าวนั้นบอกเล่าแก่พ่อบ้าน แลชาวบ้านจังหวัดต่อไป พ่อบ้านแลชาวบ้านหมู่นั้นก็ต้องตามเจ้าของสัตว์พาหนะไปจนสุดเขตร์แขวงจังหวัดตน แลบอกกล่าวแก่พ่อบ้านแลชาวบ้านผู้รับผิดชอบในแขวงจังหวัดต่อๆไป จนกว่าจะพบสัตว์พาหนะนั้น ฤๅจนกว่ารอยเท้าสัตว์พาหนะนั้นจะสูญหายไป นอกจากมีเหตุที่พอจะแก้ตัวได้อย่างดีแล้ว หมู่บ้านจังหวัดที่รอยท้าวไปหายอยู่นั้นต้องรับผิดชอบเปนธรรมดา

สงคราม

ในเวลาเกีดสงครามกันเองนั้น ว่ากันที่จริง ใม่ว่าใครก็ต้องถูกเกณฑ์เข้าสมทบทัพ พวกนักรบมีเข้ากะเกลือพอกินได้เก้าวันสิบวันลงไถ้ หรือย่ามสพายขัดหลังติดตัวไปสู่สนามรบด้วย เมื่อกินสเบียงสำหรับตัวหมดเสียแล้ว ก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยเสบียงของผู้อื่นอันอยู่ในแถบนั้น ก่อนหน้าจะออกจากบ้านใม่ว่านักรบคนไหนเปนต้องไปไหว้พระแลเทพารักษ์ตั้งสัตยาธิฐาน ฝากบุตร์ภรรยาข้างบ้านแลคุ้มภยันตรายตนไป กว่าจะได้กลับมาถวายนมัศการใหม่ แล้วจึ่งจะไปได้ ในเวลานักรบใม่อยู่นั้น ห้ามมิให้ภรรยาข้างบ้านทำงารในวันที่เคารพ ๕ ที่เวียนกันไป นับแต่วันสามีจากไปเปนวันแรก แลในวันหยุดนั้นให้รมัดอยู่แต่ในเรือน วันหนึ่งนางภรรยาเปนต้องเตีมน้ำลงในม่อดินซึ่งตั้งอธิฐานไว้บนที่บูชาในห้องให้เปี่ยมขอบทุกวัน ทั้งเก็บดอกไม้สดใบไม้สดมาลอยแช่ไว้ในม่อดินนั้นทุกวันด้วย ถ้าวันไหนดอกไม้แลใบไม้เหี่ยวแห้งผิดปรกติ หรือน้ำงวดลงไปมากกว่าปรกติ ก็ถือกันว่าเปนลางร้าย ทุกๆราตรีนางภรรยาที่ผัวไปทัพเปนต้องจัดเหย้าเรือนแลปัดที่นอนสามี แต่ห้ามมิให้ตัวนางภรรยานั้นเองนอนบนที่นอนสามีที่ปูไว้นั้นเปนอันขาด ถ้าพอจะฝากสเบียงไปถึงผัวได้ นางภรรยาเปนต้องจัดส่งไปจงได้ แต่มักจะเปนการสุดวิไสยที่จะส่งเสียโดยมาก เพราะกองทัพที่สามีเข้าตรางเกณฑ์ไปนั้น มักจะต้องยกไปไกลๆ เพราะฉนั้นพวกนักรบที่ไปในกองทัพ ผู้สิ้นสเบียงกรังจึ่งต้องปล้นตบันไปใม่ว่ายกไปถึงบ้านไหนเมืองไหน ที่มีกำลังน้อยกว่าตนพอจะยายีได้ ถ้าถูกใครที่มีกำลังสามารถขับกองทัพพ่ายแพ้มิให้เข้าปล้นได้ ก็แปลว่ากองทัพนั้นอปราชัย แต่การที่มักมีพวกที่เปนคนมีฝีมือเก่งสำคัญๆ พอใจเข้ามาอาสาสมัคเข้าเปนทหารไปในกองทัพด้วยนั้น ก็ปราถนาจะใคร่ได้มีโอกาศปล้นสดมประลองฝีมือได้โดยพละการ แลนักเลงฉกาจพวกเหล่านี้ มักจะสมัคเข้าอาสาไปพวกข้างยกไปราวี เมื่อเสียท่วงทีแก่ข้าศึกผู้คนในกองทัพล้มตายลงมาก หรือเข้าที่คับขัน คนหัวไม้จำพวกนี้มักเลยลุกขึ้นคุกคามซ้ำพวกของตัวเองเปนธรรมดา ในเวลาทำศึกต่อกันนั้น พอใจชอบตัดหัวศัตรูที่ฆ่าตาย หิ้วเอาไปถวายเจ้า เพื่อได้รับรางวัลมากบ้างน้อยบ้างตามยศของคน เจ้าของหัวที่ต้องตายนั้น เมื่อการสงครามยังติดต่อกันอยู่เพียงใด หัวข้าศึกที่ได้มานั้นๆ พอใจเอาไปเสียบไม้ปักประจารไว้นอกค่ายหรือนอกเมือง เพื่อเปนเครื่องหมายอวดโอ่ว่ามีชัย แต่พอเลีกสงครามแล้วหัวกะโหลกผีเหล่านั้นก็หายไปไหนหมด

ตำแหน่งรัฐบาล

พระราชาผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ของเมืองหนึ่งเมืองหนึ่งนั้น พวกไทยใหญ่เรียกว่าเจ้าฟ้าเท่ากะที่ไทยสยามเรียกเจ้าแผ่นดินฤๅเจ้าชีวิต แลที่ยังติดปากเรียกว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ชุม ยศในอำนาจราชการที่ต่ำรองลงมานั้น เรียกว่า เมียวซา ฤๅมโรช ตำแหน่งนี้พม่านำมาใช้ แต่พวกไทยใหญ่เองใม่ยอมรับในตำแหน่งยศนามนี้ เจ้าประเทศราชหัวเมืองขึ้นเรียกว่าเจ้าฟ้าอ่อน เจ้าเมืองหนึ่งเจ้าเมืองหนึ่งย่อมมีอมาตย์มากแลน้อยตามอาณาเขตร์ใหญ่หรือย่อม อมาตย์นั้นเจ้าฟ้าเลือกตั้งตามความสามารถของอมาตย์นั้นเอง ตามธรรมดาย่อมใม่เปนตำแหน่งยศสืบสกูลต่อกันอย่างตำแหน่งเจ้าฟ้า นครหนึ่งก็แบ่งภาคเปนเมืองหลวงเปนจังหวัดเปนแขวง เมืองหนึ่งหรือจังหวัดหนึ่งแลแขวงหนึ่งก็มีข้าราชการปกครอง ผู้ปกครองเหล่านี้เรียกว่า แหง ท้าวเมือง (หรือจ่าเมือง) สูงแก่ง แก่ แลกินเมือง ในหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้นั้นมีตำแหน่งอมาตย์น้อย คือมีแต่แหง แลท้าวเมือง (จ่าเมือง) ตำแหน่งยศทั้งสองนี้ เปนอมาตย์สำคัญใม่ว่าที่ไหน คำว่า แหงนี้ แปลว่าพันหนึ่งแลมูลเหตุของตำแหน่งแหงนี้ ก็น่าจะเกิดจากอมาตย์ผู้ใหญ่ต้องส่งเข้าถวายเจ้าฟ้าปีละพันกะบุง หรือควบคุมพลเมืองตั้งพันคนนั่นเอง ดูเหมือนจะหมายความเหมือนกับคำว่าพันนา ซึ่งใช้กันในหัวเมืองตรานสัละวิน แถบเชียงรุ่งนั่น คำว่าท้าวเมือง (ฤๅจ่าเมือง) นั้นแต่ครั้งโบราณเขียนว่า ท้าวเมืองก็แปลว่าผู้ใหญ่ ในเมืองนั้น ต่อมาแปรเปนเถ้าเมือง เจ้าเมืองหรือจ่าเมืองแลเรียกใม่ชัดเพี้ยนเปนถ่อเมืองไปก็มี ข้าราชการที่มียศต่ำกว่านี้ คือแก่งแลแก่นั้นก็สักแต่ว่าเปนกำนัล แลผู้ใหญ่บ้าน ในจังหวัดบ้านแขวงหนึ่ง หรือในบ้านหมู่หนึ่งเท่านั้น แต่ตำแหน่งแห่งนั้นเปนอันมากมักมีอำนาจมากๆแลครอบครองอาณาเขตร์กว้างใหญ่ กว่านครบางนครก็มี เช่นเมืองหนอง ตั้งแต่แยกออกจากแสนหวีแล้ว เจ้าเมืองก็เปนชั่วแต่ตำแหน่งแหงของเมืองนั้นเท่านั้น แลแหงเมืองโกกางในทุกวันนี้ ก็มั่งมีอุดมกว่าเจ้าฟ้าผู้ผ่านนครเสียเปนอันมาก แต่แม้กระนั้นทางข้างเหนือฯ ท้าวเมือง (ฤๅจ่าเมือง) มีอำนาจมาก คนนิยมกันว่าเปนตำแหน่งอย่างสำคัญ

ตำนานดึกดำบรรพ์ของไทยหลวง

เรื่องมูลเหตุเกีดชาติแลรัฐบาลไทยใหญ่นั้น มีว่า หัสเดีมยังมีกะทาชายตนหนึ่ง อายุ ๕๐๐๐ ปีจารึกมาจากตวันออกเพื่อจะแสวงหาเนื้อคู่เปนภรรยา แลในกาละครั้งนั้นเองก็มีหญิงตนหนึ่งอายุ ๕๐๐๐ ปี จารึกมาจากตวันตก เพื่อจะแสวงหาเนื้อคู่เปนสามี ร่วมใจกัน ชายหญิงทั้งสองนี้มาพบกันเข้าในปัถพีภาคกลางหัวใจเมืองไทยใหญ่ ก็ได้อยู่กินด้วยกันเปนภรรยาสามีเกีดบุตร์ด้วยกัน ๘ คน บุตรี ๗ คน เปนต้นโคตร์คูณพลเมืองไทยใหญ่เกีดทวีขึ้นมากมายมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ บุตร์ทั้ง ๘ แลบุตรหลานเผ่าพันธุ์สืบมา ต่างคนต่างชิงจะเปนนายกัน จึงเกีดกลหะพิพาทกันขึ้น เหตุฉนั้นต่างคนจึงต่างพาครอบครัวแลสัตว์เลี้ยงของตนๆแยกกันไปในอัฐะทิศต่างๆทั้งแปด บุตรทั้ง ๘ คนนั้น มีนามว่า ๑ อ้าย ๒ อ้ายญี่ ๓ อ้ายสาม ๔ อ้ายไส ๕ อ้ายโหง ๖ อ้ายหนู ๗ อ้ายโหนก แล ๘ อ้ายนาย ชื่อพ่อโคตรทั้ง ๘ คนนี้ เอามาให้เปนชื่อเด็กทำขวัญกึ่งเดือน ลูกผู้ชายของไทยใหญ่ตามลำดับแก่อ่อนสืบมาจนกาละทุกวันนี้ พี่ชายใหญ่ทั้งสองคนเมื่อใม่สามารถที่จะปรองดองกันได้ ว่าใครจะสมควรเปนเจ้าเปนใหญ่ปกครองฉนั้น จึงพร้อมใจกันไปเชื้อเชิญ พระราชา ๒ องค์ มาจากข้างเหนือ เพื่อมาปกครองบ้านเมืองไทยใหญ่ พระราชา ๒ องค์นี้ กล่าวกันว่าเปนโอรสของขุนแสงอันเปนมหากษัตริย์ เจ้าจอมสรวงสวรรค์ บรมราชบิดาดำรัสให้อวตารลงมาเพื่อจะช่วยหัวเมืองไทยใหญ่ให้พ้นจากความพินาศ เมื่อสองสวรรโครส เสด็จยาตรามาตามสถลวิถี ก็ประสรบกะทาชายตนหนึ่ง นามแสงฝันกราบทูลอาสาขอโดยเสด็จด้วย ก็ทรงอำนวยตาม ครั้นดำเนีรมาไกลอิกหน่อย ก็ประสรบกะทาชายอีกตนหนึ่งนามสุริยาเปนนักร้องลำนำ สองเทวะโอรสก็พาตามเสด็จด้วย มาบรรลุถึงมงคลประเทศ นาม สัมปุระลิต อันตั้งอยู่ทางทิศอาคเณย์ แห่งหัวเมืองไทยใหญ่ พระองค์ก็สร้างมหานครลงที่นั่น แลในชั้นต้นพระองค์ทรงสร้างสิ่งสำคัญสำหรับราชธานี ๘ อย่างลงไว้ก่อนคือ

๑ ตลาด

๒ ประปา

๓ ราชนิเวศน์

๔ เคหสถานต่าง ๆ

๕ นา

๖ สมณาวาศ

๗ กองพลนิกาย

๘ ถนน

ปฐมราชาธิราชเจ้าสองพระองค์นั้นทรงพระนามพระเจ้ามหาขัติยราชา แลพระเจ้ามหาสัมพยุหะราชา เชษฐมหาราช เอาพระราชธุระในการทนุบำรุง การกษิกรรม แลขนิษฐมหาราช เอาพระราชธุระในทางศัสตระกรรม พระองค์ทรงทราบว่า สัมปุระลิตเปนมงคลภูมิสำหรับสถาปนาพระมหานครเพราะเมื่อเสด็จมาถึงได้ทอดพระเนตร์เห็นสิลา ซึ่งเทพยเจ้าได้จารึกราชประเพณีสำหรับปกครอง ราชอาณาจักร์ไว้ท่า

บรรดาเจ้าฟ้าอันผ่านพิภพรัฐไผท ในหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงแต่ลล้วนสืบสันตติวงศ์มาจากพระมหาราชสองพระองค์อันเปนเทวะโอรสของขุนแสง เจ้าจอมสรวงสวรรค์ทั้งสิ้น แลอมาตย์ของเจ้าฟ้าทั้งปวงเหล่านั้นเล่า ก็ล้วนเปนบุตร์หลานสืบสกูละวงศ์ลงมาจากแสงฝัน แลสุริยาทั้งสิ้นเหมือนกัน

มหาปัถพีดลนี้ ตำนานปรัมปรากล่าวว่า ฝูงปลวกชักขึ้นมาจากสดือมหาสมุทรอันลึก แรกทีเดียวนั้นงอกขึ้นมาเปนรูปภูเขามยินโมอันมีรากลึกหยั่งลงไปจากรดับน้ำถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์แลสูงขึ้นไปพ้นรดับน้ำก็ถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ รูปเปนสี่เหลี่ยมจัตุรัศ มีปีสาจ ๙ ตนลงมาจากเบื้องสูง แลแยกดิน น้ำ ไฟแลลมให้อยู่ต่างกัน แลจับประดิษฐานพระศาสนาแล้ว ก็สร้าง มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน พฤกษะชาติ ดอกไม้ ผลไม้ แลอปรัณะชาติ ปิสาจ ๙ ตนแบ่งพิภพะโลกเปนโสฬสภาค แลรายลเอียดนอกนั้น ก็เหมือนกันกับคัมภีร์ตรัยภูมิ ที่ฝรั่งหลับตาเหมาว่าปนวิทยาศาสตร์ของพระพุทธศาสนา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ