ตอนที่ ๕ เรื่องราชอาณาจักร์ไทยต่างๆ

ราชอาณาจักร์โป่งฤๅพง

เมื่อฟังมาเพียงนี้ ก็เปนอันมีเรื่องราวเปนเค้าพอ ทั้งใจความ ทั้งชื่อแลทั้งศุภะมาศ ในพงศาวดารแสนหวี ประกอบกับพงศาวดารไทยใหญ่ชั้นเก่าต่างๆ ที่มิสเตอร์เนอีเลียสรูบรวม เปนอาหารให้คาดคะเนได้ว่าเรื่องเดียวกัน แลราชอาณาจักร์ไทยเมา ก็อันเดียวกัน กับอาณาจักร์แสนแสร บ้านแสร แลทั้งอันเดียวกันกะราชอาณาจักร์โป่ง (ฤๅพง) นั่นเอง คนแรกแลคนสำคัญที่จะเอ่ยในเรื่องนี้นั้น ก็คือเมเย่อบอยเลียวเปมเบอต็อน เปนผู้ได้เรื่องมาจากจดหมายเหตุพงศาวดารไทยใหญ่ฉบับกะแซให้แปลออกในเวลาไปราชการเมืองมณีปุระ พ,ศ, ๒๓๗๖ ในหนังสือที่ว่านี้ พระนามพระราชาองค์แรกที่จดหมายเหตุไว้นั้น คือขุนไล เมเย่อเปมเบอต็อน เขียนไว้ว่า “รัชกาลขุนไลเริ่มถอยหลังไปถึง พ,ศ, ๑๒๑๐ แต่ขุนไลมาจนยุคขุนอ้ายโมคำเหน่ง (ฝรั่งเขียนซุนมุรักคะเนา) นั้นใน พ,ศ, ๑๒๑๐ มีพระนามพระราชา ๑๒ องค์จดไว้ ว่าได้สืบพระวงศ์ แลเผยแผ่ราชอาณาจักร์ชิงไชยจากข้างเหนือมาข้างไต้ แลมีชื่อหัวเมืองขึ้น ใม่น้อยกว่า ๒๗ เมือง กล่าวไว้ว่า ยอมเปนข้าสุดแท้แต่ขุนอ้ายโมคำเหน่งจะทรงพระกรุณา ใน พ,ศ, ๑๓๒๐ ขุนอ้ายโมคำเหน่งทิวงคต มีราชโอรสสองพระองค์ ทรงนามเจ้าเสือคำฟ้า แลเจ้าสามหลวงฟ้า (คือเจ้าขุนเสือขวัญฟ้าแลเจ้าสามหลวงฟ้าในพงศาวดารแสนหวีแลของเนอีเลียสนั่นเอง) เจ้าเสือคำฟ้าได้เถลิงราชย์อาณาจักร์โป่งฤๅพงสนององค์พระราชบิดา แลในรัชกาลนี้ เหนทางที่เกี่ยวข้องกะบ้านเมืองข้างตวันออกเปนครั้งแรก ได้ราวีตีบ้านเมืองนั้นๆมาอ่อนน้อมอยู่ใต้อานุภาพ” ต่อไปก็เล่าเรื่องเจ้าสามหลวงฟ้าชิงไชยมณีปุระเมืองติปเประ ฯลฯ แลเรื่องเจ้าขุนเสือคำฟ้าวางยาพิษม์เจ้าสามหลวงฟ้าอนุชา แต่ในพงศาวดารฉบับกะแซนี้ว่า เจ้าสามหลวงฟ้าหนีไปได้ ด้วยชนนีเจ้าสามหลวงฟ้า ลอบส่งข่าวมาบอกให้รู้องค์ เจ้าสามหลวงฟ้า (ฤๅเจ้าขุนเสือขวัญฟ้า) นี้เท่านั้น อาจที่พอจะเปนพระเจ้าศรีธรรมตรัยปีฎก ตามพงศาวดารเหนือของไทยเรา ที่ว่ามีกษัตริย์ไทยยกมาราวีกรุงศรีสัชนาลัยจากเชียงแสน แลได้อภิเษกกับพระนางประทุมเทวี (แต่ในพงศาวดารไทยใหญ่ว่าตีกรุงศรีสัชนาลัยระหว่าง พ,ศ, ๑๗๐๒ แล ๑๗๓๘ ศักราชผิดกันไปมาก) ภายหลังมาสร้างเมืองพิศณุโลก โอฆบุรี แลจะเปนมาอยู่เมื่อหนีจากราชอาณาจักร์โป่งก็เปนได้ แต่ในพงศาวดารเหนือตอนนี้ก็เลื่อนจะเปนมาอยู่ในสยามฤๅให้แต่ราโชรสทรงนามเจ้าไกรสระราชอยู่ องค์พระศรีธรรมตรัยปิฎก กลับไปทิวงคตณเชียงแสนก็เปนได้ทั้งคู่)

เมเย่อเปมเบอต็อนกล่าวต่อไปว่า “จำเดิมแต่ขุนเสือคำฟ้า (ขุนเสือขวัญฟ้า) ทิวงคตใน พ,ศ, ๑๓๕๑ แล้วจนเจ้าเสืองันฟ้า ขึ้นเถลีงรัชใน พ,ศ, ๑๘๕๘ มีนามพระราชาจดไว้แต่ชั่ว ๑๐ องค์เท่านั้น แต่ราว พ,ศ, ๑๘๗๕ เกีดความใม่พอใจกันบางอย่าง พาให้เกีดกระทบกระเทือนกันเข้าระหว่างบ้านปลายพรมแดนอาณาเขตร์ของพระราชาโป่งแลของพระราชายูนนาน จึงได้นัดราชสนทนาระหว่างพระราชาโป่ง แลพระราชาจีนณเมืองสี กล่าวไว้ว่า ไกลจากเมืองเมาหลวง อันเปนมหานครของราชอาณาจักร์โป่ง (ฤๅพง) ทาง ๕ วัน (เมืองนี้อาจจะเปนเมืองสีซึ่งบัดนี้เปนเมืองหนึ่งในท่ามกลาง จังหวัดกะจิน ข้างเหนือแสนหวีก็ได้ แต่น่าจะเปนเมืองแสร (คือยูนนานเซน) มากกว่า แต่ก็ไกลกว่าระยะทาง ๕ วันมาก พระเจ้ากรุงจีนที่เปนองค์มาทำราชสนทนานั้น ในพงศาวดารว่าพระนามเจ้าวังตี่ แลชุนตี่อันเปนเจ้าองค์ที่ ๒๐ ในบรมราชวงศ์จีนนั้นตามพระราชพงศาวดารว่าได้เถลีงราชย์กรุงจีนใน พ,ศ,๑๘๗๖ (มิสเตอเนอีเลียสกุละว่าคงจะเปน เชงซูวังตี่ (พ.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๖๙ พระราชวงศ์เหมงหาใช่ ซุ่นตี่ราชวงศ์ยวนใม่ แต่คำว่าวังตี่นั้นก็เปนแต่ชั่วพระยศหาใช่พระนามใม่ คำที่กำหนดศุภมาศแน่นอนนั้น ถ้าพอจดลงได้ จะเปนพระราชาธิราของค์ใด ก็ใม่สำคัญอย่างใดเลย)

แต่ถึงกระนั้นข้างจีนก็คิดแต่จะปราบเอาอาณาเขตร์โป่งเปนเมืองขึ้น จึงเกิดรบพุ่งกันมาตลอด ๒ ศก มหานครโมคองคือที่ไทยเรียกเมืองคัง (ในพงศาวดารไทยใหญ่เรียกเมืองก้อง) ฤๅเมืองเมาหลวง ซึ่งน่าจะเห็นว่าเปนเมืองเมาหลวงเปนคนละแห่งกะเมืองก้องตรงๆ ก็เสียแก่กองทัพจีนที่แม่ทัพชื่อผังชังซู (พงศาวดารแสนหวีว่าชื่อวังชังปิงฤๅโจงปิง) แลเจ้าขุนเสืองันฟ้ากับเชษฐโอรสทรงนามเจ้าเสือกีบฟ้า (ที่ปรากฎเปนเจ้าขุนเสือร่มฟ้าแลเสือกีบฟ้า แต่เรื่องราวแผกกันมาก) หนีไปพึ่งพระราชากรุงภุกามคืออังวะ แม่ทัพจีนตามไปขอองค์ พระเจ้าพม่าก็ส่งราชทานให้พาไปกรุงจีนแลหาได้กลับคืนมาใม่”

เรื่องนี้มีสเตอเนอีเลียสกล่าวว่า “เปนการยากที่จะเห็นตามเรื่องราวของเมเยอร์เปมเบอต็อน ได้ ด้วยเห็นพยานได้จากเหตุการน้อยอย่างเหล่านี้ ว่ายังพลั้งเผลอเสียถนัด เปนด้วยเรื่องราชอาณาจักร์โป่งของเมืองกะแซนั้นสักแต่ว่าเรื่องของไทยเมาเท่านั้นเอง แต่ผิดศุภมาศเกือบ ๕๐๐ ศก แต่เมื่อเริ่มเรื่องทีเดียว การผิดพลั้งนี้เกิดด้วยใม่มีตัวพงศาวดารไทยเอง ไปตอนเอามาจากจดไว้ในภาษากะแซอีกชั้นหนึ่ง แลยังต้องการสอบหัวข้อเทียบเคียง ในพงศาวดารหัวเมืองข้างเคียง เพื่อจะได้ชี้หลักสำคัญในภูวสถานด้วย แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม ยังเห็นถนัดได้ด้วยวันที่เจ้าเสืองันฟ้าทิวงคต วันของเมเยอเปมเบอร์ต็อน ผิดไป ๑๐๐ ปี จากวันที่ถูก แลยังมีเวลาอิกราว ๔๐๐ ปี ต้องไปเที่ยวเฉลี่ยให้เปนรัชกาลของพระราชาที่คั่น เมื่อเช่นนี้ มีพระราชา ๑๒ องค์ทรงราชย์อยู่ในจำนวนศก ๖๘๗ ปี ฤๅถัวเกือบองค์ละ ๕๗ ปี ขุนอ้ายโมคำเหน่งองค์ที่ ๑๓ ทรงราชย์ตลอดเวลายาวอย่างพิลึกถึง ๑๑๐ ปี องค์ที่ ๑๔ เสวยราชย์อยู่ ๓๑ ปี แลที่ยังเหลืออยู่อิก ๑๐ องค์ต้องทรงราชย์รวม ๕๐๗ ปี ถ้าถัวหมดทั้ง ๒๔ องค์ด้วยกันก็เกือบองค์ละ ๕๕ ปีครึ่ง ฤๅมากกว่าทวีคูณปีรัชกาลอย่างธรรมดาก็เปนการพอในตัวเองที่จะชี้ให้เหนในการพลั้งพลาดของเนื้อเรื่อง ตามขบวนพิจารณาทางศุภมาศ”

แลถ้ารายงารของเมเย่อเปมเบอต็อน ในข้อนี้เหลวไหลใม่ควรเชื่อฟังแล้ว ก็เปนการยากที่จะชี้ตำบลที่ตั้งมหานครโป่งฤๅพงให้สำเร็จได้เหมือนกัน มิสเตอร์เนอีเลียสกล่าวว่า “ชาวกะแซทั้งบ้านทั้งเมือง แต่ครั้งโบราณมาจนกาลปัตยุบันนี้ก็ว่า ในเมืองเงี้ยวนั่นคือราชอาณาจักร์โป่ง เมืองนั้น พวกพม่าเรียกโมคอง (สยามเรียกเมืองคัง) แลไทยใหญ่เรียกเมืองเมาหลวงแลเปนมหานคร แต่เมืองเมาฤๅเมืองเมาหลวงที่คงมีอยู่ในกาลทุกวันนี้ ในชื่อนี้อย่างเดียวกันนั้น ตั้งอยู่ณเวิ้งแม่น้ำเมาฤๅชเวลี”

ความรู้ของมิสเตอเนอีเลียสเก็บตกเก็บหล่นมาจากในเมืองเมา ซึ่งพงศาวดารไทยใหญ่ที่ยันส่อให้เข้าใจว่าเปนมหานครของไทยใหญ่ทั่วไปทั้งสิ้น ฝ่ายข้างพงศาวดารแสนหวีก็เอื้อมจะเอาเกียรติยศเช่นนั้นให้แก่แสนแสรฤๅแสนหวี อ้างว่าเปนมหานครของไทยใหญ่ทั้งสิ้นบ้างเหมือนกัน ว่ากันตามที่จริงดูเหมือนน่าจะมีมหานครไทยใหญ่แท้แต่เมืองเดียว นอกจากเมืองตะลีฟู เมเยอฮันเนกล่าวว่าคนที่เมเย่อฮันเนพูดด้วย เขาชี้หัวเมืองยูนนานข้างทิศหรดีว่าเปนที่ตั้งมหานครของราชอาณาจักร์ ไทยใหญ่ (คือโป่ง) แลมหานครไก่ขาวมอหลวงก็ตั้งอยู่ณแม่น้ำเมา (คือชเวลี) ฤๅลุงเชาตามภาษาจีน (แต่นามจีนในปัตยุบันเรียกว่าลุงเกียง) ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำอิระวะดีในแลติจูด ๒๔ องศาเหนือ มิสเตอเนอีเลียสชี้เมืองไก่ขาวฤๅกะเกา คือไก่ขาวหรือกรุงเก่าฤๅมะเกาคือเมืองกรุง มุงลุง (คือเมืองหลวง) ล้วนชื่อเดียวกันหมดหากพูดเสียงแปร่งเพี้ยนกันไปใม่ชัดเท่านั้น คือตัวเมืองเมา แต่ความที่จริงนั้น คำว่ากะเกา ฤๅมะเกาก็น่าจะแปลว่ากรุงเก่าเมืองเก่านั้นเอง คำว่ามุงลุงก็แปลว่าเมืองหลวงนั่นเองเหมือนกัน หากพูดเพี้ยนแปร่งไปเองแต่คำว่าไก่ขาวแย้งชวนให้เห็นเปนอิกนามหนึ่งไปได้ ถ้าใม่ใช่ตรงกะคำว่ากรุงเก่า

อนึ่งข้อที่ว่าด้วยเรื่องแรกเริ่มเดิมทีของชาวโป่งนั้น เมเย่อเปมเบอต็อนหาได้กล่าวไว้ใม่ เปนแต่คัดเรื่องนิทานดึกดำบรรพ์มาลงไว้สั้นๆ ตามที่พวกอะฮอม (ไทยใหญ่ที่ไปตั้งอยู่เมืองกะแซ) ได้เล่าเรื่องราวของตนเองให้หมอฟรานซิสบุชแมนฮะมินต็อนฟัง ถึงครั้งกะนั้น ในบ้านเมืองไทยใหญ่อันเปนคนเกิดจากสามัญญะมนุษย์มาเปนพลเมืองโป่งนั่นเอง ตัวต้นหนังสือของหมอบุชแมนฮะมินต็อนนั้นชชราภาพ ยากจะอ่านเอาความให้ตลอดได้เสียแล้ว แต่เนื้อความในนั้นดูเหมือนจะปรากฎในรายงารของหมอนั้นเรื่องเมืองอาซัม ที่มอนต์โคเมอรีมาตินได้เอามาลงพิมพ์ไว้ ได้ความดังต่อไปนี้

“หลายศกนักหนามาแล้วมีพระภาดาสององค์ชื่อขุนไลแลขุนไทย ได้ลงจากฟ้ามาสู่เขาๆหนึ่งชื่อเจ้าไล่เขาหลวง (คือเจ้าไร่ฝรั่งว่าโจไยโกรอง) ตั้งอยู่ในเทือกเขาปะคอย หนไต้จากคอร์คังโคอันเปนมหานครดึกดำบรรพ์ของอาซัม ขุนไลพาอมาตย์ลงมาด้วยพร้อมด้วยเทวะรูปพระเจ้านาดเชง (คือเสงอันเปนเทวะรูปพระไอยกีบรรพสัตรีของขุนไล) ดำเนิรไปทางเบื้องหนอาคเณย์ แลเข้าตั้งครอบครองเมืองหนึ่งชื่อโนรา (เมืองนี้เมืองไทยก็เรียก แลหัวเมืองใกล้เคียงอันเปนเพื่อนบ้านคือกะแซฤๅมอยเต (คือมณีปุระ) เรียกว่าราชอาณาจักร์โป่ง) ซึ่งเชื้อวงศ์ของขุนไลได้เปนเจ้าครองสืบมา ขุนไทยคงอยู่ในแถบเขาเจ้าไร่เขาหลวง แลสงวนเทวะรูปพระเจ้าชุง (คือสุง อันเปนเทวะรูปพระไอยกาบรรพบุรุษของขุนไทย) ไว้สักกาบูชากระทั่งถึงเชื้อพระวงศ์ขุนไทยก็ยังนับถือว่าเปนเทวะรูปปฐมวงศ์ ยอดศักดิ์สิทธิ์ หมอบุชแมนเชื่อว่า คำว่าฟ้าฤๅสวรรค์ที่ขุนไลขุนไทยพาพรรคะบริพารลงมานั้น จะหมายความว่าอาณาเขตร์ธิเบตภาคใดภาคหนึ่งติดต่อกะเขตร์แดนจีนอันป่ายปีนเขาสูงลงมา มูลศรัพท์นั้นจะอย่างไรก็ตามที แต่เมื่อเชื้อวงศ์ขุนไทยกลับเข้าถือศาสนาพราหมณก็กลับแปลกันว่าสวรรค์ ฤๅฟ้านั่นเอง +++ เขตร์แดนเดิมที่ขุนไทยครอบครองนั้นรวมเกาะยาวมาก ๒ เกาะอันตั้งเปนแควแยกแม่น้ำพรหมบุตร์ กับทั้งเกาะอันใกล้เคียงทั้งสองฝั่งแห่งมหานทีนั้นด้วย นามเจ้า ๑๓ องค์ที่สืบสันตติวงศ์ต่อๆกันมาจากชนกถึงบุตร์ๆถึงนัดาปนัดามาแลอนุปนัดานั้นก็ลงไว้ทุกนาม แต่ใม่มีศุภมาศฤๅแสดงเค้าที่ควรจะคลำวันได้เลย”

เรื่องนี้ก็เค้าเดียวกันกะเรื่องขุนลูขุนไล คงเกิดจากมูลอย่างเดียวกันแปลกแต่นามแลเรื่องราว ฟรานซิสคาเนียได้นิทานทำนองเดียวกันเช่นว่านี้ ว่าเปนต้นของชาติลาวตามแม่น้ำโขง การที่จริงก็ปรากฎว่าชาติไทยพวกหนึ่งพวกหนึ่ง แม้ต่างยอมรับว่าเกีดร่วมชาติเดียวกัน ก็ยังมีตำนานย้ายตำบลเปลี่ยนนามแลผันเรื่องไปหามงคลประเทศที่พวกของตนตั้งอยู่ทั้งนั้น คาเนียได้เล่าเรื่องราวว่าเมื่อพระเจ้าทรงนามพญาเสนได้ทรงสร้างเทวะพิภพ แลปักถพีดลแล้วนั้นมีเจ้า ๓ พระองค์นามลาวจวน ขุนเขต แลขุนขันตั้งเมือง พญาเสนทรงกำชับให้อยู่สงบเรียบร้อยแลนับถือดวงวิญญาณของผู้เปนมฤตยู แต่เจ้าเหล่านั้นหาทำตามเทวะบรรชาใม่กดขี่ข่มเหงลงโทษานุโทษไพร่ฟ้าประชาชนโดยพลการ ใม่นิยมต่อยุติธรรมฤๅอยุติธรรม (เรื่องเช่นนี้ก็มีในเชียงตุงเช่นเดียวกันเหมือนกัน) จึงเกีดน้ำท่วมมหาชนจมตายเสียมาก ที่ยังรอดจึงวิงวอนขอประทานโทษาพญาเสนให้ทรงพระสังเวชบ้าง พญาเสนจึงให้พระยาขุนบรมลงผ่านมนุษยะพิภพปกครองผู้ยำเทวาณัติ แลให้พญาพิศณุกรรม์ลงมาช่วยนฤมิตร์มหานครให้ ขุนบรมจึงได้ตั้งเมืองเสนในตังเกี๋ย (บางทีจะเปนเมืองเสงที่ฝรั่งเศสแรกเข้าตั้งครอบครองใน พ,ศ, ๒๔๓๐ นั่นเอง) พญาขุนบรมมีราชบุตร์ ๗ องค์ ต่างตั้งราชอาณาจักร์ทั้ง ๗ ดังต่อไปนี้

(๑) ขุนลัง ตั้งเมืองจั่ว

(๒) ขุนฟะลัง ตั้งเมืองฮ่อ (นี่เปนชื่อไทยลาวให้เมืองชาวยูนนานว่าเมืองฮ่อ)

(๓) ขุนชมสวง ตั้งเมืองเกียว คืออานัม

(๔) ขุนสายฟอง ตั้งเมืองส่วน (คือเมืองโยนกเชียงใหม่)

(๕) ขุนเอม ตั้งเมืองพวน (บางทีเมืองพวนในปัตยุบันอันตั้งอยู่ข้างเหนือหลวงพระบาง) ฤๅอยุทธยา (คือกรุงสยามฝ่ายเหนือ ฤๅกรุงศรีสัชชนาลัย)

(๖) ขุนโลกวง ตั้งเมืองผองฤๅเมืองไสกวน (คือไซ่ง่อน) แล

(๗) ขุนเชตชวน คือเมืองคำขวดคำเมือง (คือเมืองคำเกิดคำมวญฤๅเมืองพวน)

เรื่องนี้ก็ส่องฉายาความรู้แก่เราอิก ให้รู้ว่าธรรมดาของคนชาติไทยนั้น แยกต่างกันออกไปหลายจำพวก แลแตกเปนชาติสาขาต่างๆ สาขาหนึ่งสาขาหนึ่ง ก็กล่าวถึงแต่เมืองที่ผู้เขียนเรื่องรู้จักว่ามีในเวลาเขียนนั้นที่ไหนพวกไหนบ้าง ความจริงแท้ของพวกไทยใหญ่ใม่มีข้อสงกานั้น ก็คือมีไทยจำพวกสาขาหนึ่ง ตั้งอยู่ในประเทศสยาม แลรักษาอิศระภาพของชาติตนเปนราชอาณาจักร์เอกราชมาได้ ตราบเท่าถึงปัตยุบันนี้ แต่ไทยสยามก็ใม่ได้อำนวยเรื่องดึกดำบรรพ์ให้เห็นมูละอุบัติของชาติไทยอย่างไรได้ สมพวกฝรั่งหวังแลคาดหน้า นักปราชพงศาวดารฝรั่งจึงอนุมานบรรทึกเอาว่า ตามที่ปรากฎแก่เขานั้นว่าข้อแน่แท้ ไทยสยามใม่มีพงศาวดารที่สมควรจะเฉลีมนาม ว่าเปนพงศาวดาร ก่อนกว่าประดิษฐานกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาอันเปนปฐมมหานครของชาติไทยสยามแท้ใน พ,ศ, ๑๘๙๓ รวม ๕๖๓ ปี เข้านี่เท่านั้นเอง ฝรั่งนักพงศาวดารอย่างดีเมื่อใคร่ครวญหลักฐาน เทียบเคียงเหตุผลถ่องแท้แล้ว เชื่อว่า ไทยสยามคงจะได้พึ่งอพยพมาก่อนตั้งกรุงศรีอยุทธยาใม่นานนัก จากเมืองเขาเขีนข้างเหนือ แลชิงด้าวแดนพวกกะเหรี่ยงคนป่า อันเปนพลเมืองเจ้าของดินแดน ที่เรียกว่าสยามนั้นเข้าตั้งอยู่ แต่ที่จริง คนที่ได้ใต่สวนพงศาวดารไทยสยามจริงจังนั้นมีน้อย อย่าว่าแต่ถึงฝรั่งเลย แม้แต่ไทยเอง แลน่าจะเชื่อตามเทียบกับประเทศอื่นที่เจริญแล้ว พึ่งในชั้นหลังๆนี่เองมีคนฟักใฝ่สืบสวนโบราณคดีอยากรู้พงศาวดาร แลได้รู้มาก มากกว่าคนโบราณยุคก่อนๆ แต่แม้กระนั้นก็ยังจะสู้คนสยามยุคต่อไปข้างหน้า เมื่อศึกษาแพร่หลายแลค้นหาประสรบสิ่งสำคัญยิ่งขึ้นอิกใม่ได้เปนแท้ เมื่อฉนี้ธรรมดาฝรั่ง ที่เชื่อว่าตัวมีความรู้โผล่เข้ามาสังสรรค์กับไทยใม่กี่มากน้อย ก็เชื่อว่าตัวรู้อะไรๆของไทยสยามเสียสิ้นไส้สิ้นพุงแล้ว จริงอยู่พงศาวดารแน่แท้ไทยเรามีแต่ตั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ เท่านั้น แลพงศาวดารเหนือของไทยเราก็เลอะเทอะ เปนนิทานมากกว่าเปนพงศาวดารดังได้กล่าวมาแล้ว เที่ยวเก็บโน่นเก็บนี่มายำเปนของไทยสยามใม่เลือก เช่นพระเจ้าอภิราชาเรียกอภัยราชา ว่าเปนผู้สถาปนา เสนานคร คือศรีอยุทธยาแต่ดึกดำบรรพ์ แท้จริงพระเจ้าอภิราชาเปนผู้มาตั้งกรุงหัสตินาปุระ ที่พม่าสามัญเรียกตะโก้ง ตามไทยใหญ่เรียกทุ่งกุ้งเมื่อตีได้เมืองพม่าตอนบน แต่ก่อนพุทธกาล พญาร่วงลูกนาคราชก็ตอนจากไทยใหญ่ ฤๅนามพญาโคตระบอง เรื่องให้ฆ่าเด็กในครรภแลพระยาแกรกได้อาภรณ์แลม้าจากพระอินทร์ยกมาครองราชสมบัติ ก็ตอนมาจากพม่าตามฟังเล่าๆกันมา หรือแม้แต่อุบัติพระรามาธิบดีที่ ๑ ก็ยังว่าเปนลูกตาแสนปมแต่งเตีมตามทำนอง ปรากฎในเรื่องไทยใหญ่ แต่แม้กระนั้นตามหลักฐานต่างๆ คือ ๑ พระเจ้าอโนรธามังฉ่อมหาราชพม่าว่าได้มาราวีในสยามประเทศ แต่ พ,ศ, ระหว่าง ๑๕๕๓ แล ๑๕๙๕ นั้น ก็ปรากฎว่ามีชาติไทยลงมาตั้งในมณฑลละโว้ คือกรุงศรีอยุทธยาแล้ว แลยังยุคเจ้าสามหลวงฟ้าเมืองเมาหลวงยกมาตีเมืองเหนือ ฤๅกรุงศรีสัชนาลัย ระหว่าง พ,ศ, ๑๗๐๒ แล ๑๗๔๘ ก็ปรากฎว่ามีไทยสยามมาตั้งอยู่แล้ว แลเจ้าฟ้ารั่วฤๅที่พม่าเรียกวเรรุคึอมะกะโท เจ้ากรุงเมาะตมะที่เปนข้าพระร่วงเจ้ากรุงสุโขไทยในก่อน พ,ศ, ๑๘๓๐ นั้น ก็ปรากฎชัดว่าชาติไทยสยามได้ตั้งเปนเอกราชมาในกรุงสุโขไทยช้านานมาแล้ว ยังว่าตามได้ความปรากฎจากหลักสิลาจารึก ครั้งแผ่นดินพ่อขุนรามกำแหงผ่านกรุงศรีสุโขทัย ซึ่งใครค้านว่าใม่จริงใม่ได้นั้นก็มีปรากฎ ศกที่แรกคิดตัวอักษรไทยใหม่ ปีระกา ๑๒๐๓ ว่าเปนมหาศักราช (เปนศักราชตั้งในมัชฌิมประเทศ ไทยสยามตอนเอามาจากเขมรพร้อมกับชื่อปี ๑๒ นักษัตร์) ตรงกะ พ,ศ, ๑๘๒๔ ก็มีชาติไทยสยามบริบูรณ์พูลสุขอยู่แล้วช้านานมิใช่พึ่งตั้ง เห็นได้ว่าแผ่อานุภาพไปรอบด้าน แลแม้แต่ในวงศ์นี้ที่ออกนามไว้ คือพ่อขุนอินทราทิต พ่อขุนบาลเมืองแลพ่อขุนรามกำแหงก็ยังเปนที่ ๓ ยังถาวรสถานโบราณในกรุงศรีสัชนาลัยที่ยังมีทรากตำตาอยู่จนกาละทุกวันนี้ ก็เห็นว่าเปนมหานครอันอุดมมาช้านานก่อนตั้งกรุงศรีอยุทธยาเพียง ๖๘ ปี เท่าศักราชในเสาสิลาจารึก แผ่นดินพ่อขุนรามกำแหงใม่ได้เปนอันขาด ตามปรากฎไทยสยามยกมาเปนอย่างน้อยก็สองคราว คือพวกที่มาตั้งมหานครศรีสัชนาลัย แลสุโขไทยราชธานี ก็มาจากโยนกเชียงแสน แลอีกพวกหนึ่ง พวกพระเจ้าพรหมราชเชียงรายต้นวงศ์พระรามาธิบดีที่ ๑ แต่น่าจะมีพวกอื่นอิก เช่นพวกพระยาไกรสรราชโอรสพระศรีธรรมตรัยปีฎก ฤๅเจ้าสามหลวงฟ้า ตามพงศาวดารไทยใหญ่ถ้าได้มาเหยียบกรุงสยามจริงก็เปนอิกพวกหนึ่ง น่าจะพูดได้ว่า ไทยสยามมาตั้งในประเทศสยามแต่ก่อน พ,ศ, ๑๕๐๐ แลตั้งแพร่ไปหลายจังหวัดใม่เฉภาะแต่มณฑลฝ่ายเหนือ กรุงศรีสัชนาลัยแลสุโขทัยราชธานี ทั้งน่าจะมี มณฑลสุวรรณภูมิ (คือพระนครปฐมกาญจนบุรีสุพรรณ) มณฑลละโว้ (คือศรีอยุทธยา) ด้วย แต่ยืนยันได้แน่นั้น กรุงศรีอยุทธยาใม่ใช่มหานครแรกของไทย แต่มีนครปฐมกรุงศรีสัชนาลัยแลสุโขไทยราชธานีเปนมหานครก่อน อนึ่งภาษานักปราชฝรั่งว่ากะเหรี่ยงเปนเจ้าของด้าวดินไทยนั้น ตามปรากฎแก่ไทยสยามเปนขอมที่เรียวมาเปนเขมร มีพยานที่ไทยสยามเลียนศุภะมาศ นับนามรอบปีของนักษัตร์แลใช้มหาศักราชตามขอม ศุภะมาศของไทยเดิมใช้จุลจักร์ แลมหาจักร์ตามแบบจีน ฤๅอย่างในอินเดียเรียกวฤหัศบดีจักร์ ใม่ใช่ศักราช ทั้งเลียนภาษาแลอย่างธรรมเนียมพราหมณ์เปนต้น เมื่อมีเหตุผลดังกล่าวเช่นนี้ น่าจะอนุมานว่าไทยสยามยกมาตั้งในเวิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาประเทศสยาม คงราวๆกันกะไทยที่อพยพไปตั้งทางหัวเมืองชานพม่าตอนบนเวิ้งแม่น้ำสัละวีน คือไทยหลวงฤๅไทยใหญ่ แต่คงจะกะร่องกะแร่งใม่มีอานุภาพมาก แลใม่ได้เปนราชาธิราช ต่างพวกต่างตั้งเรี่ยรายกันอยู่ จนตั้งกรุงศรีอยุทธยาแล้วจึ่งทรงอานุภาพเปนใหญ่ในประเทศสยาม แต่พงศาวดารนั้นคนครั้งดึกดำบรรพ์นิยมอย่างพอใจ จนเกินจริง ฤๅพอใจใม่ใคร่จดจำ แลถูกรบร้าฆ่าฟันกันพินาศสาบสูญไปเสียจึงใม่มีจริงดังว่า แต่ไทยสยามจะมาตั้งในสยามตอนล่างก่อนพุทธกาล ๘๐๐ ก็ใม่ได้อยู่เอง เพราะพื้นปัตพีดลยังต่ำอยู่ใต้ลูกคลื่นมหาสมุทร์

เรื่องนามราชอาณาจักร์ไทยใหญ่คำว่าโป่ง (ฤๅพง) นั้น เหลือเหตุสงไสยได้แต่น้อยที่สุดว่าคงเปนแต่ชั่วชื่อขาวกะแซนึกขึ้นเรียกตั้งกันเอง เท่ากะเรียกคนไทยใหญ่ว่าอะฮอม คือหัวเมืองพม่าตอนบนแลประเทศยูนนานเบื้องตวันตก บรรดาที่ไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ทั้งสิ้นนั้น ชาวกะแซเรียกราชอาณาจักร์โป่ง อย่างไทยเราแต่ก่อนเคยเรียก กรุงลอนดอนว่าเมืองวิลาศ ถ้ามัวไปค้นคำนี้อยู่ก็จะชักให้หัวปั่นใม่เข้าเรื่อง เพราะถ้ามีคำว่าโป่งจริงเปนไรพวกไทยใหญ่เองจะใม่มีใครได้ยินใม่มีใครรู้จัก นี่แม้แต่พม่า ฤๅจีนแลพวกกะจิน ก็ใม่มีใครทราบเลยเหมือนกัน อนึ่งน่าจะสงไสยน้อยที่สุดด้วยเหมือนกัน ในข้อที่จีนเรียกราชอาณาจักร์ไทยใหญ่ว่าน่านเจ้า แลเซอมาร์โกโปโลเรียกกะระชัน แลหัวเมืองสำคัญถัดมาก็เรียกชื่อนั้นเหมือนกัน คงเปนเมืองตะลีฟู ราชอาณาจักร์น่านเจ้านี้มีในประเทศยูนนาน มาแต่ พ.ศ. ๑๒๘๑ แลน่าจะรวมมาถึงหัวเมืองไทยใหญ่ในเวิ้งแม่น้ำสัละวีน แลแม่น้ำอิระวดีตอนบนด้วย ด้วยข้างจีนเรียกว่าเมียงน่าจะเปนตรงกับคำว่าเมืองเมาหลวงตามกับตันเปมเบอต็อนว่า แต่เจ๊กจับแต่คำต้นเมียงเปนนามอาณาจักร์ เมืองตะลีนั้นกุไบลขั่นตีเอาเสียใน พ.ศ. ๑๗๙๗ นามเมืองที่พวกมะหง่ลผู้มาราวีเรียกนั้น (ตามคำเซอมาร์โกโปโลว่า) เรียกมหานครกะระชัน

ราชอาณาจักร์น่านเจ้า

บัดนี้เราควรจะจับพิจารณาต่อไปถึงข้อพยานที่มิสเตอร์อี.เอช.ปาร์เกอรวบรวมมาไว้ให้ทราบถึงพงศาวไทยครั้งดึกดำบรรพ์ให้ชัดเจน สุดแต่จะมีหลักฐานค้นคว้าเอาความจริงได้ ข้อความต่อไปนี้ คัดเอามาจากหนังสือของท่านผู้นั้นแต่งไว้ ว่าด้วยทางราชไมตรีระหว่างพม่าแลจีน แลจากคำแปลต่างๆ ที่ท่านค้นคัดเอามาจากจดหมายเหตุจีน ว่าด้วยหัวเมืองปลายเขตร์แดนนั้น

มิสเตอร์ปาร์เกอว่า ได้กล่าวตามจดหมายเหตุราชพงศาวดารจีนวงศ์ถัง เปนหนังสือเก่าแก่มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว ดังต่อไปนี้

“กรุงจีนได้รู้จักแลคบค้าสมาเพลา กับราชอาณาจักร์ไทยฤๅอ้ายลาว (คือตลีฟูในปัตยุบันนี้) มาแต่เบื้องดึกดำบรรพ์ใน พ.ศ. ๖๓๓ (ในที่อื่นว่า พ.ศ. ๖๔๐) พระราชายุงยูองค์หนึ่งเจ้าเมืองตาน ได้ส่งราชบรรณาการไปยังกรุงจีนทางไทยฤๅอ้ายลาวรับเปนนายหน้า ได้รับราชลัญจกรณ์จากกรุงจีน ดูเหมือนกรุงจีนจะนึกว่าพญายุงยูเมืองตานนั้น เปนชาติเดียวกันกับพวกปยูชั้นหลัง (คือพม่า) อันมีพระราชานามยุงเกียง”

(แต่อองเซยาคือองคะชัยะ ที่เลือนมาเปนพระนามพระเจ้าอลองพญานั่น จีนยังแปลงเปนยุงชียะ ให้เกี่ยวแก่สกูลยุงได้แล้ว คำที่ว่า พระราชายุงยู ฤๅพระราชานามยุงเกียง ก็คงผนึกเข้าได้ลอยๆ ใม่มีค่าควรจะคำนึงอย่างไร อนึ่งมิสเตอปาร์เกอคิดว่าเมืองตานที่จริงนั้นน่าจะตั้งข้อนไปข้างตวันตกมากกว่าเมืองพม่า แลกรุงจีนพึ่งจะเคยรู้จัก แลรู้จักแต่เมืองตานเท่านั้นก็เหมาว่าเปนพม่า เพราะคณะทูตของเมืองตาน ไปถึงกรุงจีนทางเมืองพม่าแลยูนนาน)

มิสเตอปาร์เกอกล่าวต่อไปว่า

“อาณาจักร์ไทยฤๅอ้ายลาวนั้นต่อมาภายหลังอิกยุคหนึ่งเรียกน่านเจ้า เมื่อกลับเกี่ยวข้องทางราชการกะเจ๊กใหม่ๆ ใม่มีปัณหาในข้อที่ว่าไทยกะอ้ายลาวเปนคำเดียวกัน ด้วยบัดนี้ญวนยังคงเรียกลาวสยามตอนบนว่าอ้ายลาว แลข้างเจ๊กก็บอกเรา ว่าคำว่าน่านเจ้านั้น น่านก็แปลว่าทิศไต้ เจ้าก็แปลว่าเจ้า คือรวม ๒ คำก็แปลว่าเจ้าทิศไต้ (ไทยสยามไทยโยนก ไทยลาว แลไทยใหญ่ก็ยังใช้คำว่าเจ้านำพระนามขัติยบพิตร์อยู่) น่านเจ้านั้นมีอาณาเขตร์ไปติดต่อกับดินแดนอินเดีย จึงอธิบายอยู่ในตัวเองว่าเหตุใดกษัตริย์ในอินเดียจึงได้มีทางเสด็จมาสู่เมืองพม่าได้อย่างน้อยก็ทางหนึ่ง เบื้องข้างทิศหรดีนั้นเปนด้าวดินพวกเปียวอยู่ (พวกกวางตุ้งที่พูดภาษาจีนชัดยังเรียกเปียวว่าปยูอยู่) ภายใน พ,ศ, ๑๓๕๐ พวกตะโป (บัดนี้มักเรียกว่าตุฟัน) คือชาวธิเบต รบร้ากับจีนเพื่อจะชิงกันเปนใหญ่ ในแว่นแคว้นน่านเจ้า แลพระราชาน่านเจ้านามโกโลฟุง (เสียงทำนองขุนหลวงฟ้า) ก็รวมเอาทั้งแคว้นปยูแลส่วนแห่งเมืองอะซัมเสียด้วย ตั้งแต่ยุคนี้ต่อไปเท่านั้น พงศาวดารพม่าที่พอจะเชื่อฟังได้พึ่งได้เริ่ม เหมือนพงศาวดารยี่ปุ่น ที่เชื่อได้ก็พึ่งเริ่มเมื่อ พ,ศ, ๑๐๐๐ ปีล่วงแล้วไป เมื่อทางสัมพันธไมตรีกับจีนได้ประดิษฐาน แลตั้งแต่ยุคนี้ไปอาจกล่าวได้ว่าชาวอินเดียสูญหายจากอำนาจที่เปนตัวการ ในรัชกาลพงศาวดารพม่าเสียแล้ว

แต่แม้แต่ก่อนยุคที่ว่านี้ขึ้นไป จีนก็เคยเกี่ยวข้องกับไทยแลพม่าราว พ,ศ, ๔๔๓ พระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนวงศ์ฮั่นทรงนามวูตี่ คือฮ่องเต้ ก็ยังได้แต่งกองทัพมายังมณฑลเทียน (นามน่านเจ้าแต่ก่อนนั้นขึ้นไป แต่มิสเตอปาร์เกอยังเพ้อเรียกว่ามณฑลยูนนานอันเปนนามน่านเจ้าในปัตยุบันนะสมัย) มีเหตุอาจจะกล่าวได้แม่นยำว่าพระราชาเทียนเปนไทย มหานครนามเพงาย แลนครนี้เปนเมืองแหล่งกลางสำคัญของไทย เมื่อต่อมาอีก ๘๐๐ ปี แต่อย่างไรลงท้ายพระราชาเทียนกลับเปนพวกข้างจีน ร่วมมือกันกับจีนปราบพวกกุนมิง บัดนี้ชาตินี้สาบสูญคงแต่นามกุนมิงนี้ยังเปนชื่อทเลสาบอยู่ใกล้เมืองยูนนานฟู มิสเตอปาร์เกอเห็นว่าพระนามวูตี่กับวังตีคือฮ่องเต้ก็เกีดจากนามอุตี่ฤๅอูตฤๅอุทิพวาที่พม่าใช้ เปนพระนามพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนในพระราชสาส์นนั่นเอง พระเจ้าราชาธิราชพระองค์นี้ลงพระนามาภิธัยไว้ในกรุงจีน ใม่เลวกว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ลงพระนามไว้ในกรุงสยาม แลพระเจ้ามณเฑียรทองลงพระนามไว้ในกรุงพม่าเลย เพราะจะออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ว่าพระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าแผ่นดินพม่าก็ว่าพระเจ้ามณเฑียรทองเหมือนกะจีนเรียกพระเจ้าวังตี่ฉนั้น

ปรากฎแน่นอนว่าราว พ,ศ, ๕๙๓ พระราชาอ้ายลาวนามขุนหาญสี ทำสงครามกับเมืองใกล้เคียงยังไงเลยถลำเข้าไปราวีในอาณาเขตร์จีนด้วย จึ่งถูกจีนยกมาปราบองค์พระราชาอ้ายลาวแลรี้พลราว ๑๘,๐๐๐ คน เลยต้องตกเปนเมืองขึ้นแก่จีน ต่อนี้ไปเจ้าในหัวเมืองใกล้เคียงเปนอันมาก ก็พากันมาอ่อนน้อมพร้อมกับพลเมืองเปนอันมาก จึงรวมพลเมืองมากขึ้นเปนราวกึ่งล้านคน ตล้อมรวบเข้าเปนหมวดเดียวกันเลยตั้งเปนหัวเมืองใหญ่ขึ้นในยุงชัง เจ้าเมืองยุงชังของจีนคนแรกคนหนึ่งได้ทำสัญญากับอ้ายลาวตกลงว่า ชายอกรรจ์คนหนึ่งต้องส่งส่วยเกลือถัง ๑ กับสนอบ ๒ ตัว ให้มีช่องอยู่กลางสำหรับสรวมศีร์ศะได้ เจ้าเมืองของจีนคนใหม่ที่มาเปลี่ยนต่อไปใม่ถือตามข้อสัญญา กดขี่ข่มเหงไทย (ยังเรียกอ้ายลาว) จึงเกิดรบพุ่งกันยุ่งไปกับจีนในปลายเขตร์แดน ดูเหมือนมีเหตุพอเชื่อได้ว่า เวลานี้พม่าฤๅปยูได้ยกตนขึ้นเปนเตลงฤๅมอญได้แล้วนั้น ตกอยู่ในอำนาจฤๅเชื่อถือนิยมไทยใหญ่ใม่มากก็น้อย ถึงจะอย่างไรก็คงเกี่ยวข้องแก่กันทางใดทางหนึ่ง เพราะฉนั้นจึงจะเปนได้ที่พระราชาเมืองตานยุงยู ผู้ส่งราชบรรณาการไปยังกรุงจีนใน พ,ศ, ๖๔๐ แลได้รับราชลัญจกรณ์นั้นเปนกษัตริย์พม่า แต่ไหนๆก็มีความปรากฎชัดในพงศาวดารจีนแล้วว่า มีนักเที่ยวจากประเทศอินเดียมาพบมีราชอาณาจักร์ (น่าจะในเกาะชวาในแหลมมะลายู ในกัมโพชา (เขมร) แลในเซียมปาฤๅจำปา เปนสยามก็ว่าได้ ใม่ใช่จำปานครเขมร เพราะมีนามกัมโพชาซ้ำอยู่แล้ว) อนึ่งมีความชัดด้วยอิก ว่าทูตฤๅพวกพ่อค้ามาจากอาเลกซันเดรีย ฤๅเมืองท่าโรมันตำบลอื่น ได้มาเยี่ยมกรุงจีนใน พ,ศ, ๖๕๙ ดูเหมือนใม่จำเปนจะต้องพิโยกพิเกน ในเรื่องจะพิจารณาว่าเมืองตามนั้นเปนเมืองพม่าฤๅมิใช่ให้ปวยการ ทูตของมารกัสออเรเลียสมาถึงกรุงจีนโดยทางเซียมปา (ไทยสยามฤๅมิใช่) ครั้งนั้นปรากฎว่าซินาน แต่ครั้งดึกดำบรรพ์ขึ้นไปอิกยังเรียกว่าย้วยซัง ซึ่งข้างจีนยุ่งไปปนกับคำว่าเมี้ยน อันเปนนามพม่าตามจีนพึ่งเรียกในชั้นใหม่ๆ ถ้าใม่ใช่พม่า แลเปนสยามแล้ว ความเห็นนักปราชฝรั่งที่ว่า ไทยสยามพึ่งยกมาตั้งเมื่อไทยสยาม เมื่อไทยหมดเอกราชในยูนนานแล้วนั้นก็ผิดตรง พวกทูตฤๅพ่อค้าโรมัน เรียกเมืองของตนว่าตาฉิน แลตาฉินผู้ชิงไชย ได้ไปสู่กรุงจีนกับทูตของยุงยูก่อนทูตของตาฉินไปเยี่ยมกรุงจีนทางซีนัน ยิ่งได้ความเช่นนี้ยิ่งชักให้ยุ่งหนักขึ้นไป ของกำนัลของทูต หรือพ่อค้าเหล่านี้ จีนจะพาโลเรียกว่าราชบรรณาการ ตามธรรมเนียมเคยปากจีน แลเมืองตานนั้นจะเปนเมืองอาเลกซานเดรียฤๅพม่าก็เปนได้ทั้งนั้น ทูตหรือพ่อค้าโรมันพวกนี้ อนุมานได้ว่า คงจะได้ขึ้นบกที่อาณาจักร์เตลง แลคงจะได้เดินไปจากมะระแหม่งทางเชียงใหม่ฤๅกรุงสยาม ตัดไปเชียงโขงสู่เมืองเสงฤๅไลเจา แลเดินต่อไปถึงเมืองวินชายทะเลอันนัม มิสเตอปาร์เกอผู้กล่าวเรื่องราวไว้ให้อนุมานการข้อนี้ตามได้นั้น ได้กล่าวต่อไปว่า “กรุงจีนนั้นต่อนั้นไปใม่ช้าใน พ,ศ, ๗๖๓ ก็แตกออกเปน ๓ อาณาจักร์ ฤๅ ๓ ก๊ก (คือยุคสามก๊ก) ก๊กหนึ่งนั้นหัวหน้าเปนตาดชื่อเสียงปีคือเล่าปี่ คำหลวงว่าลิวไป (วงศ์ตงคุลิกเปนสาขาของเม่งจูในปัตยุบัน) ยุคนั้นไทยฤๅอ้ายลาวก็กระเดื่องจากจีน เมิลใม่เห็นกันไปหลายสัตยุค จนในที่สุดวงศ์จีนอันมีอำนาจคือวงศ์ถัง ได้รวบอาณาจักร์จีนทั้งสิ้นเข้าเปนหมวดเดียวกันอิก แต่จีนอันมีชื่อเสียงโด่งดังชื่อจุโกเลียง คือขงเบ้ง ซึ่งเป็นหัวใจของแม่ทัพของอาณาจักร์ใหญ่เหล่านี้ก๊กหนึ่ง ซึ่งในบัดนี้ตกเปนมณฑลเสฉวนนั้น ได้ทำการมั่นคงให้แก่ประเทศยูนนานมาก คือ เมื่อสิ้นพระเจ้าเล่าปี่แล้ว พระเจ้าเล่าเซี่ยนครองนครเสฉวนต่อมาได้ ๒ ศก ลุ พ,ศ, ๗๖๘ ขงเบ้งยกกองทัพมาปราบจังหวัดเทียน (ในสามก๊กว่ารบเบ้งเฮก) หัวเมืองไทยในน่านเจ้าทั้ง ๖ นคร สู้ผู้ขงเบ้งใม่ได้ จึ่งยอมขึ้นแก่นครเสฉวน เมื่อมิสเตอปาร์เกอไปสู่เสฉวนยังได้ฟังเรื่องราวของจุโกเลียง คือขงเบ้งเล่ากันแสร้ ประหนึ่งพึ่งมีชีวิตอยู่ในราวร้อยปีนี่เอง ถ้าข้อที่มิสเตอปาร์เกอจำได้ใม่ลืมเลอะ เมืองเสฉวนก็ใม่ไกลจากเมืองโมเมียน (คือเตียงยุช) นัก จดหมายเหตุโบราณกล่าวเรื่องจุโกเลียงก็มีชุม เพราะความนิยมในนักปราชเอกผู้นี้วิเศษนัก จุโกเลียงสิ้นชีพ ใน พ,ศ, ๗๗๕ แลการตีกรุงจีนที่พระราชาวงศ์กรุงภุกามดึกดำบรรพองค์ที่ ๓ อันกับตันซี.เช.เอฟ.เอส.ฟอร์บได้กล่าวไว้นั้น ก็คงจะเป็นกล่าวถึงจุโกเลียงผู้นี้นั่นเอง เพราะต่อไปนั้นอิก ๔๐๐ ปี ใม่ได้ความในจดหมายเหตุอย่างใดเรื่องไทยอิกเลย ไทยฤๅอ้ายลาวพึ่งมาปรากฎขึ้นอิก ใน พ,ศ, ๑๑๙๓ แต่กลายเปนเรียกนามว่ามณฑลน่านเจ้าไปเสียแล้ว

อาณาจักร์น่านเจ้า (ฤๅที่เซอยอชสกอตช์เรียกขัณฑละฤทธิ์) นั้น ใหญ่โตมาก ข้างตวันตกพรมแดนมคธราษฐ์ประเทศอินเดีย เหตุฉนั้นการเกี่ยวดองพม่าแลไทยใหญ่ทั้งคู่กับอินเดีย ซึ่งกับตันฟอร์บอ้างไว้แลคัดค้านตำนานที่ฤทธิ์เดชผีสางสวรรค์วิมานต่างๆพิลึกพิลั่น อันธรรมดามนุษย์เปนไปใม่ได้นั้น ถ้าเพลาๆเสียบ้างแล้วก็น่าจะวางใจขึ้นได้มากกว่านั้น เขตร์น่านเจ้าเบื้องพายัพ จรดเขตร์ธิเบต ซึ่งคาดกันว่าชาติพม่าก็จะไหลมาจากเมืองนั้นนั่นเอง เบื้องทักษิณทิศนั้นคือ “เมืองเจ้าสัตรีภาพ” เปนชื่อที่ครั้งนั้นเรียกกัมโพชา (ฤๅเขมร ที่อรรคราชินีของเมืองนั้นได้อภิเษกกับนักเที่ยวเตร็จเตร่ซาวอินเดีย) การที่มีสัตรีภาพเปนเจ้าเปนใหญ่ผู้ปกครองบ้านเมืองในเมืองไทยใหญ่นั้นก็มิใช่การแปลกปลาด ด้วยเปนนิไสยไทยใหญ่ เมื่อเจ้าสาวได้ร่วมสันนิวาศกับบุรุษแล้วมักเคยได้อำนาจจากสามี แลใช้อำนาจทำการต่างผัวอยู่ใม่วาย เว้นไว้แต่ตัวนางภรรยาจะถ่อมยอมพอใจตัวชั่วแต่อยู่กินด้วยกันโดยพิศวาศเท่านั้น เบื้องทิศอาคเณย์ของเขตร์น่านเจ้านั้นต่อตังเกี๊ยแลอันนัมคือเมืองญวน ครั้งนั้นจีนเรียกว่า เกียวจี่ (แปลว่า) อ้ายหัวแม่ตีนด้าน เปนฉายาที่ให้เพราะจีนใช้สรวมรองเท้า แต่ญวนหาได้สวมใม่ แต่ก็ใม่ได้อธิบายว่าทำไมจึงเฉภาะให้ฉายาเช่นนั้นแก่ญวนค่าที่ใม่สรวมรองเท้า ส่วนชาติอื่นเท้าเปล่ามีอิกถมไปเปนไรใม่เรียกด้วย เบื้องข้างทิศหรดีนั้นจดเขตพวกปยู (คือพม่า) พงศาวดารกษัตริย์กรุงจีนวงศ์ถังมิได้กล่าวถึงเขตร์แดนเบื้องอุดรฤๅเบื้องอิสาณ น่าจะเปนด้วยอาณาจักร์น่านเจ้านั้น นึกเสียว่าเปนเขตร์แดนของจีนจึงใม่จำเปนต้องกล่าวว่าติดต่อกับจีนเอง มีมหานครอยู่สองแห่งนครหนึ่งใกล้ ฤๅตัวเมืองตลีฟูในปัตยุบันนี้ อิกนครหนึ่ง อยู่ราวใกล้เมืองยุง

“อาณาจักร์น่านเจ้านั้น ดูเหมือนจะได้จัดราชการเปนอย่างสูง ด้วยมีมหาอำมาตย์ (คือเสนาบดี) กรมติเตียน (ทำนองกรมอัยการ) ฤๅกรมตรวจตรา มีแม่ทัพ มีเจ้าพนักงารบรรทึกหมายเหตุ มีกรมวัง มีผู้พิพากษาตุลาการ มีกรมคลัง กรมพนิชการ กรมนวะกรรม ฯลฯ แลคำว่ากรมนั้น ภาษาไทยดึกดำบรรพ์ เรียกว่า ชวัง น่าจะออกจากคำจีนว่า ชานชูง ฤๅเชน ตัวผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ก็เหมือนให้ว่าการเฉภาะคราวใม่เปนตำแหน่งประจำฝังตัวสืบทายาท ยังมีเจ้าพนักงารผู้น้อยจัดการฉางหลวง โรงม้าหลวง เก็บภาษีอากร ฯลฯ แลการจัดทหารนั้นนับเปนหมวดสิบหมวดร้อยหมวดพันเปนต้น ราชการทหารนั้นบังคับเกณฑ์ บรรดาชายฉกรรจ์ทั้งสิ้น ใม่ว่าเกิดราชการทัพศึกครั้งใด เปนถูกเกณฑ์ทุกคราว ทหารคน ๑ ของหลวงจ่ายเสื้อกันหนาวให้ตัว ๑ กางเกงตัว ๑ มีทหารประจำราชการอยู่ ๔ ทัพ ทัพหนึ่งก็มีธงไชยสำหรับทัพของตนเอง ทหารรักษาพระองค์นั้นเรียก ชุนุกะจ่า กะจ่าฤๅกะจู แปลว่าเขมขัดหนัง ทหารทุกคนสรวมหมวกชุตี่ แลถือโล่ห์หนังแรดฤๅหนังสัตว์หนาๆเช่นช้าง แลหอกดาบแหลนหลาว นายร้อยนั้นเรียกว่า โลจ่าจะ ชื่อเหล่านี้น่าจะเปนภาษาไทยแท้หาใช่จีนคิดขึ้นเองใม่ (แลคำว่าจ่าแปลว่านายก็ออกจะออกจากคำนี้) แต่สาบสูญไปตั้งแต่ไทยสิ้นอำนาจเปนผู้ชิงไชยมาแล้ว ที่ดินนั้นแบ่งจำแนกให้ราษฎรครัวละแปลงละแปลง ตามยศบรรดาศักดิ์ ขุนนางผู้ใหญ่ก็ได้ ๔๐ ช่วง (ราว ๘๐ ไร่) ทหารม้าอย่างเข้มแข็งสงครามบางคน เปนพวกวังจ่า อันอยู่เวิ้งแม่โขงข้างตวันตก ผู้หญิงพวกนี้ก็สมทบรบศึกด้วยเหมือนผู้ชาย แลหมวดพวกวังจ่ามีพู่ด้วย (มิสเตอปาร์เกอ) คิดว่าพวกนี้ จะเปนลว้าฤๅที่ฝรั่งเรียกว้า แต่ยากที่จะเหนตามได้ ด้วยลว้าในปัตยุบันนี้ใม่ใช้ม้า ถือเสียว่าเปนสัตว์น่ากลัวอันตรายอย่างร้ายกาจ แต่พวกไทยวังจ่าชอบขี่ม้าแลขี่แข็งอย่างยิ่ง แม้แต่พวกไทยใหญ่สามัญ แลพวกที่อยู่ตามเขาเขินมักขี่ม้าใม่ใคร่เปนจนกราบเท่าทุกวันนี้

“ในมณฑลน่านเจ้านั้นมีกรมใหญ่ในเมืองหลวงก็ ๖ กรม แลมีสมุหเทศาภิบาลว่าหัวเมือง ๖ จังหวัด เจ้าจังหวัดนั้นครั้งดึกดำบรรพ์เรียกเจ้าเกียน” คำนี้น่าจะตรงกับคำว่าแก่งฤๅแหงที่ไทยใหญ่ยังใช้กันมาจนทุกวันนี้ ในหัวเมืองไทยลาวแลไทยสยามกลายเปนเชียงแลเวียง แลไทยลาวแถบแม่โขง บางทีเรียกแปร่งไปเปนเซียง ฝรั่งเศษว่าเฉียง พม่าแปลงรูปเปนกเยียง ตำแหน่งเกียงฤๅกะเยียง กลายเปนนายทหารแลเจ้าพนักงารรถไฟอังกฤษ คำลว้าเกนแปลว่าจังหวัด ฤๅหมู่บ้านที่ร่วมนายตน ๑ เช่นเกนเตือ แลว้าแปดเกนพ้นน้ำข่าไปนั้น คำเหล่านี้โคตระศรัพท์อันเดียวกันสิ้น

“เปนการใม่จำเปนที่จะต้องจาระไนกรมต่างๆฤๅหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักร์น่านเจ้าให้มากมายอิกต่อไป แต่น่าจะทราบว่าเมืองเพงายอันเปนมหานครของพระราชาเทียนยูนนานแมงแช อันเปนเมืองหลวงของราชวงศ์แมงมณฑลน่านเจ้า เมืองนี้คงเปนแมงมังชีในปัตยุบัน ไทยใหญ่เรียกเมืองขอนคำว่า “วงศ์แมง” ก็เกิดจากหัวไม้ที่จีนตั้งให้เปนชื่อสำหรับไทยใหญ่ที่ดื้อดึงเก่งกาจ แม้ไทยสยามก็ยังใช้เรียกคนเก่งว่าหัวไม้มาจนทุกวันนี้ คำว่าแมงนี้ภาษาไทยใหญ่ว่าเมืองแลไทยฮ่อก็คำว่าตลีฟู นั่นเอง”

“คนไทยครั้งอาณาจักร์น่านเจ้านั้น เข้าใจวิชาปั่นฝ้ายปลูกนุ่น แลเลี้ยงไหมทั้งต้มสาวไหมบางเมือง เช่น เมืองข้างตวันตกมีโรคไข้ป่าชุม แลที่บ่อเกลือกุนมึงฤๅยูนนานฟู บัดนั้นใม่ห้ามใครจะขุดมาก็ได้ตามใจ ทองคำก็มีหลายแห่งทั้งในทราย แลในหินภูเขาเบื้องตวันตกเมืองโมเมียง (คือเตียงยุช) ชอบเล่นแข่งม้ากันมาก” (เมืองนี้น่าจะหมายเมืองทองเพงลอยหลวงนั่นเอง)

“เมื่อพระราชาเสด็จไหนมีฉัตร์ขาวนำหน้าเปนธงไชย ๘ คัน กับมีพัดขนนก ๒ เล่ม แสร้คัน ๑ ขวานอัน ๑ เบ็จคัน ๑ ตาม เครื่องประดับยศพระพันปี อันออกพระนามว่าสินโมฤๅกิวโมนั้นมีฉัตร์ม่วงแถบขาว แลพระมเหษีนั้นเรียกจินอู เชิญฉัตร์ม่วงนำเสด็จ เปนพระเกียรติยศเหมือนกัน” (อรรคมเหษีเจ้าฟ้าไทยใหญ่ปัตยุบันนี้เรียกมหาเทวี)

“เครื่องยศสำคัญเปนเครื่องเฉลิมศักดิ์นั้น ผู้ใหญ่อันมียศใหญ่ย่อมสรวมเสื้อกิมโปโล (คือหนังเสือ) ซึ่งเท่ากับในปัตยุบันนี้เรียก ถะมะเว อิงคะญี (เสื้อขนสัตว์) แต่ก่อนก็จำกัดให้ใช้แต่อำมาตย์ผู้ใหญ่ ผมสัตรีนั้นเกล้าเปนสองแหยมแล้วรวบเข้าเกล้าเปนมวย หัวก็ประดับด้วยไข่มุกหยกดีสิลาเขียวแลโมรา ธรรมสังวรของผู้หญิงนั้น ชายประนีประนอมให้แต่งงารได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อมีสามีแล้ว ถ้าขืนนอกใจผัวมีโทษถึงประหารชีวิตทีเดียว การไถนาในมณฑลน่านเจ้าเปนธรรมเนียมใช้กำลังบุรุษถึง ๓ คน คน ๑ นำโค คน ๑ ถือหางไถ แลคนที่สามถือประตักคอยแทงต้อนโค ใม่ว่าคนมียศบรรดาศักดิ์ชั้นไหนแม้แต่ขุนนาง ก็ต้องใช้เวลาสนุกสนานในการทำไร่นา ใม่มีภาษีอากรอย่างไรที่จะต้องเสีย เปนแต่ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องส่งสร่วยข้าวเข้าฉางหลวงปีหนึ่งคนละ ๒ สัดเสมอไป ไว้จ่ายเปนเสบียงเลี้ยงทหารทำสงคราม”

ในพงศาวดารจีนราชวงศ์ถัง มีบาญชีพระเจ้ากรุงที่เปนจีนเรียกราชตระกูลวงศ์แม่ง การจดหมายเหตุเหล่านี้ได้หมดจำนวน เมื่อราวเริ่ม พ.ศ. ๑๑๕๐ มิสเตอปาร์เกอพบวิธีพิลึกจากบาญชีนี้คือ “ราชบุตรทุกๆองค์ ใช้คำท้ายพระนามราชบิดามาเปนคำต้นนามของพระบุตร” เช่นโลเชงเยน เถลีงรัชย์ สนององค์ตูโล แลเยนโกสนององค์โลเชงเยนต่อไป ความคิดที่สืบมรดกอักษรสมญาเช่นนี้ดูเหมือนจะนึกๆเอาตามชอบใจ ใม่มีแบบแผนที่อ้างอย่างใด สักแต่ว่าเปนความคิดของเจ๊กนึกขึ้นเอง โดยฤทธิ์ที่นับถือเส้นสักการะบรรพะบุรุษในสมัยนี้ทุกวันนี้ พวกไทยใหญ่ชั้นหลังตั้งชื่อตนเกือบจะคล้ายวิธีอย่างพม่าเสียสิ้นแล้ว ใม่ปราถนาไถ่นามบิดาของตนมาไว้ด้วย ใช่แต่เท่านั้น บรรดาเจ้าฟ้ามักใช้เรียกนามตามอิศริยยศที่เฉลีมพระนามใหม่ เมื่อเถลีงราชย์แล้วกันเปนพื้น พระนามอิศริยยศนี้ใม่เกี่ยวแก่พระนามประสูติอย่างใดด้วยเลย ถ้าใครขืนไปใช้นามเดีมเข้ากับพวกไทยใหญ่ เหมือนกะเคยใช้กะคนในปัจจันตประเทศทั้งปวงอื่นๆแล้ว ถ้าใม่มีโทษผิด ก็เปนการหมิ่นประมาท (ที่จริงไทยสยามก็เช่นนั้นเหมือนกัน แลตลอดมาถึงขุนนางผู้ใหญ่แลผู้น้อยด้วยซ้ำไป)

การที่ออกชื่อกันก็ผิดกันกับชื่อจริงมาก จนแทบจะใม่รู้จักตัวเช่นซีเมส เรียกเปนว่า มโยสะเย ฤๅมิวเชอรี จนมีฝรั่งแกล้งเรียกอุปราชาว่าอับเป้อรอดเย่อ ฤๅเช่นไทยเราแกล้งเรียกมิสเตอร์ยัฆะมินว่า มีดอีเต้อหยักขมิ้น ฉนั้นก็ดูแทบจะทุเลากว่าไปเสียอิก เอาเถอะจะอย่างไรๆก็ตามที่มีจดหมายเหตุปรากฎว่าลุ พ.ศ. ๑๑๙๓ ครั้งกษัตริย์จีนวงศ์ถังนามเกาจงฮ่องเต้ครองกรุงจีนนั้น เจ้าแผ่นดินน่านเจ้านามสินโล (ออกจะขุนหลวง ๆ) ทรงราชย์ณะนครมงเส (น่าจะเมืองแสร) แต่ง ๒ ราชทูตไปเจริญราชไมตรีต่อกรุงจีน เมื่อสิ้นขุนสินโลแล้วกษัตริย์น่านเจ้ายังรวบรวมนครทั้ง ๕ เปนราชอาณาจักร์เดียวกัน สืบพระวงศ์มานามขุน อีโลโก (อ้ายหลวงขุน) แต่คงเปนไมตรีกับจีน ลุ พ.ศ. ๑๒๘๖ อ้ายหลวงขุนยกกองทัพไปตีเมืองขึ้นเขตร์ธิเบตได้หลายเมือง จึงยกราชธานีไปตั้งที่นั่น แลได้แต่งราชทูตไปเจรีญราชไมตรีกรุงจีนรัชกาลพระเจ้าหงวนจงเหมงวงศ์ถังที่ ๖ พระเจ้ากรุงจีนก็แต่งทูตเชีญราชบรรณาการมาตอบแทน ลุ พ.ศ. ๑๒๘๙ อ้ายหลวงขุนพิราลัย ราชโอรสเลี้ยงทรงพระนามโกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) ได้ทรงราชย์สนององค์พระราชบิดาเลี้ยง ก็แต่งราชทูตไปเจรีญทางราชไมตรีต่อกรุงจีนตามเคย พระเจ้ากรุงจีนก็พระราชทานยศให้ฉันท์เมืองราชไมตรี ลุ พ.ศ. ๑๒๙๓ ขุนหลวงฟ้าไปประพาศในแดนจีน ถึงเมืองฮุนหนำที่ติดต่อกับอาณาจักร์ไทย ขุนนางเจ้าเมืองจีนปลายเขตร์แดนโง่เขลาใม่เคารพ ขุนหลวงฟ้าทรงพระพิโรธ จึ่งกรีฑาพลากรไปตีได้หัวเมืองฮุนหนำทางหัวเมืองจีน ครั้นลุ พ.ศ. ๑๒๙๕ พระราชาโกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) จึ่งย้ายราชธานียกมาตั้งณไทยฮ่อ (ตะลีฟู) เปนที่ประทับ ไทยฮ่อนั้นแปลว่ามหาสงบในภาษาจีน เมื่อเช่นนี้อาจจะเทียบได้กับคำว่ายังโคน (คือว่าเมืองร่ากุ้งก็แปลว่าสงบ) เนื้อความพงศาวดารจีนต่อไป ในข้อคำไทยใหญ่ว่าสงบนั้น คือชานโปโต แลชื่อนี้ใช้เมื่อไทยชานมีไชย ในการสงคราม เปนที่เข็ดขามแก่อริราชศัตรูต้องพากันสงบขึ้นชื่อว่านามศรัพท์ของจีนแล้ว ดีอย่างเดียวแต่จะชักให้หัวปั่นเท่านั้น

แลผลกลับทำให้โกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) ตั้งนามราชอาณาจักร์ไทยว่ามหาเมงราชอาณาจักร์ แลหวลไปคบค้ากะธิเบตถวายลัญจกรณ์ แลเฉลิมยศโกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) ขึ้นเปนบะแจนโปชุง แปลว่าบรมราชอนุชาฤๅมหากษัตริย์อันทรงพระยศเสมอมหาราชกรุงธิเบต เปนแต่ลำดับพระอิศริยศักดิ์รองลงมาเท่านั้น โกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) จึงทำให้แผ่นสิลาจารึกบอกเหตุต้อนพระองค์ให้ขบถ แผ่นสิลาจารึกนี้ มองซิเอออีไมล์โรเชอกล่าวไว้ในหนังสือเรื่องเมืองยูนาน ที่ได้แต่ง ว่ายังมีอยู่ที่เมืองตะลีฟูตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ก็หาได้เอ่ยว่าได้เหนแผ่นสิลานั้นด้วยตนเองฤๅใม่ แต่ทั้งผู้อื่นๆก็ใม่มีใครเอยถึงเรื่องนี้เลย

ในยุคนี้กรุงจีนตกอยู่ในฐานยากแค้นต้องรบพุ่งกับแขกเต๊อก จึงเปนโอกาศโกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) ให้รวบเอาส่วนอาณาจักร์จีนได้ตามประสงค์ นอกจากรุกเอาเขตร์แคว้นของพวกปยู (คือพม่า) ทั้งเขตร์แดนสนูฉวน ซึ่งดูเหมือนจะเปนเมืองอาซัม อนึ่งในครั้งนั้นทราบว่าคนในเบื้องตวันตกประเทศยูนนานเหล่านั้นยังเปนคนป่าอยู่มาก ธรรมเนียมหญิงมีสามีมากก็ยังเฟื่องฟุ้ง แลอาไศรยอยู่ในกระท่อมอย่างรังสัตว์เปนเรือน คุมกันเปนพวกๆหากินตามลำแข้งใม่รู้จักคุมกันเข้ายกใครเปนเจ้านาย เช่นพระราชาคุ้มครองเปนพวกใหญ่ๆ ผ้าก็ใม่มีนุ่ง ใช้แต่เปลือกไม้พันกายแลใม่รู้จักทำนาไร่เที่ยวร่อนรับร่อนเร่ จับสัตว์แลเก็บผลไม้ออกเองกินเปนผลาหารตามแต่จะได้

กรุงจีนได้พยายามเปนหลายครั้งที่จะปราบโกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) แต่ก็มีแต่สำเร็จข้างอัปราไชยติดๆกันพ่ายมาทางแม่น้ำสีแอ ลุ พ.ศ. ๑๓๒๒ ตรงกะรัชกาลวงศ์ถังที่ ๘ พระเจ้าต่ายจงฮ่องเต้ทรงราชย์กรุงจีนนั้น โกโลแฟง (ขุนหลวงฟ้า) ชีพตักษัย ราชนัดานาม อีมอสูน (อ้ายเมืองสูง) ได้ทรงราชย์สนององค์ มารดาของพระราชาใหม่นี้เปนชาวป่าชาติตุกิม แต่ตัวอีมอสูน (อ้ายเมืองสูง) ได้ไปเรียนหนังสือจีนอยู่ในสำนักเชงฮวยจึงเปนคนค่อนอยู่ข้างมีความรู้อยู่บ้าง ในศกนั้นกองทัพไทยกับธิเบตสมทบกันยกไปตีเมืองเสฉวน แต่เอาไชยมิได้ต้องเลิกทัพกลับมา ลุ พ,ศ, ๑๓๓๐ ตรงกะรัชกาลจีน วงศ์ถังที่ ๙ พระเจ้าเต๊กจงฮ่องเต้ทรงราชย์กรุงจีน พระราชาใหม่เห็นพวกธิเบตก่อรบกวนร่ำไป วางท่าเข้ามาประหนึ่งเปนนายมากกว่าเปนสัมพันธมิตร์ เอื้อมเอากองทหาร เข้ามาตั้งในที่สำคัญๆแทบทุกแห่ง เกณฑ์ไทยให้ไปช่วยรบกับพวกธิเบต แลชักภาษีแก่บ้านเมืองอย่างเรี่ยวแรง ทั้งเชื่อฟังคำแนะนำของเชงฮวยพระอาจาริย์ เดีมเปนขุนนางจีนนายอำเภอเรียกเจี๋ยนฝ้ายอยู่แขวงเมืองชุ้ยจิว ไทยจับมาได้เมื่อครั้งขุนหลวงฟ้ายกไปตีเมืองจีนครั้นขุนอ้ายเมืองสูงขึ้นเสวยราชสมบัติโปรดให้พระอาจาริย์ เปนอรรคมหาอำมาตย์นั้น ทูลยุยงส่งเสริม จึงคบค้าสมาเพลากับไวดา เจ้าเมืองฝ่ายจีนณเมืองเชงตู อันเปนเมืองหลวงของมณฑลเสฉวนในปัตยุบันนี้ ในที่สุดจึงมีราชสาสน์ไปถึงไวดา เจ้าเมืองเสฉวน ร้องทุกข์เรื่องความร้ายกาจของบะลอน คือ เจ้าเมืองฝ่ายธิเบต แลชี้แจงแก้ว่า สาเหตุที่พระไอยกาต้องทิ้งความเคารพนับถือจากกรุงจีน เพราะพวกธิเบตกดขี่บีบคั้นเขี้ยวเข็ญ ลงท้ายขออานุภาพเต๊อก ได้ช่วยอนุเคราะห์ให้ไทยชานกับจีนร่วมใจยกไปปราบธิเบตด้วยกันเถิด

ยุคนั้นชาติเต๊อกออคัวที่พวกมะหง่ลแลเม่งจูในปัตยุบันนี้ ไถ่เอาหนังสือมาใช้กำลังตั้งครอบครองส่วนแห่งมณฑลกันซู ในปัตยุบันนั้นมีเมืองหลวงเดี๋ยวนี้ ตั้งอยู่ณเมืองอุรุมซี อันต้องตกอยู่ในอานุภาพเนสตอเรียนซีเรียนมาก่อนช้านาน จึ่งมีเสาสิลาซีเรียนอันหนึ่ง ยังปรากฎอยู่ที่เมืองเซียนฟูในมณฑลเซนสี แลอักษรออคัว ก็น่าจะเปนสักแต่ว่าจำลองหนังสือพวกซีเรียนมานั่นเอง

การมีราชสาส์น แลศุภอักษรตอบกันไปตอบกันมา ลงท้ายก็ได้ทำสัญญาเปน ๔ ฉบับ ซึ่งได้ร่างขึ้นณเชิงเขาน้ำค้าง แขวงเมืองเทียนลังอันเปนเขตร์แคว้นตลีฟูในปัตยุบันนี้ข้างเหนือ ฉบับ ๑ ส่งไปถวายพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีน ฉบับ ๑ รักษาไว้ในโบสถ์วัดหลวงในวังสำหรับพระองค์ ฉบับ ๑ รักษาไว้ในโบสถ์วัดสิลา สำหรับทางราชการแลมหาชน แลอิกฉบับ ๑ ถ่วงไว้ในแม่น้ำ ลุ พ.ศ.๑๓๓๗ พระเจ้าธิเบตยกทัพมาตีกรุงจีน จีนมีราชสาส์นขอกองทัพไทยไปช่วย ขุนอ้ายเมืองสูงยกทัพไทยไปทำประหนึ่งจะช่วยข้างธิเบต ครั้นเปนทีอีมอสูน (อ้ายเมืองสูง) ก็จับขุนนางธิเบตทั้งปวง อันมาอยู่ในอาณาฆ่าเสียสิ้น รี้พลในกองทัพธิเบตก็อัปราไชย ทัพไทยไล่ติดตามพิฆาฎพลธิเบตยับเยีนมาก เมื่อรบกันใหญ่ที่สพานเหล็กน่าจะเปนสพานทำข้ามแม่น้ำโก่ง (คือแม่น้ำสัละวีน) ข้างไต้ประเทศยูนนาน ไทยตีได้หัวเมืองธิเบต ๑๖ หัวเมือง แลกวาดต้อนเทครัวธิเบตมาได้มาก เบื้องนั้นพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนก็พระราชทานสุวรรณะลัญจกรณ์ แก่อีมอสูน (อ้ายเมืองสูง) สถาปนาขึ้นเปนพระราชอาณาจักร์น่านเจ้า ราชทูตจีนชื่อซุยโชซีมาสู่เมืองไทยฮ่อก็รับรองอย่างใหญ่โต เปนเกียรติยศอย่างยิ่ง มีทหารรายสองข้างทางสถลมารคทั้งยืนม้าเครื่องทองประดับพลอยมีพู่ห้อยวาววาม องค์พระราชาก็ทรงฉลองพระองค์หนังเสือประดับสุวรรณาภรณ์ แลมีช้างงา ๑๒ เชือก ยืนรายตรงหน้าที่นั่ง พระราชาถวายบังคมแทบพื้นปัถพี บ่ายพระภักตร์หนเหนือ แลทรงกระทำสัตย์ ขอซื่อสัตย์สวามิภักดิ์ต่อกรุงจีนอยู่ชั่วกัลปาวสาน ครั้นแล้วก็มีการเลี้ยงใหญ่ ในมหาสมาคมนั้นมีนางแขกเต๊อกที่พระเจ้าราชาธิราชพระราชทานมามาร้องเพลงแขกบำเรอ ผมนางต้นบทหงอกขาวด้วยยังเหลือคงอยู่แต่ ๒ นางเท่านั้น ซึ่งแต่ก่อนมีไว้เปนนางมโหรีหลวงแลนางบำเรอวงใหญ่

เบื้องนั้นอีมอสูน (อ้ายเมืองสูง) จับนิยมการชิงชัย แลนอกจากรวมหัวเมืองไทยชานทั้งหกประเทศราชเข้าไปเปนอันเดียวกันแล้ว ก็ยังรวบรัดเอาหัวเมืองใกล้เคียงเข้าเปนขอบขัณฑสีมาอิกเปนอันมาก บางด้าวแดนกล่าวว่าคนอยู่บนเรือนปักเสายกพื้นสูงจากแผ่นดินซึ่งส่อให้เห็นว่า น่าจะเปนเมืองพม่าตอนบนบางเมือง คนก็เคลือบฤๅก้าไหล่ฟันด้วยทองคำ เนื้อความข้อนี้ทำให้นึกถึงหัวเมืองพวกมะหง่ล ซึ่งเซอมาร์โกโปโลได้ไป ต่อนั้นมาอิก ๔๐๐ ปี อีมอสูน (อ้ายเมืองสูง) ส่งพระราชบุตร์ให้ไปศึกษาณเมืองเชิงตูฟูในมณฑลเสฉวน แลสนิทสนมกับกรุงจีนมากเข้ามากเข้าทุกที กองทัพธิเบตยกมาราวีอิกครั้งหนึ่งก็แตกพ่ายไปอิก แลในจำพวกชเลยทัพที่จับได้มีคนอาหรับพวกแอบแบสไสด์แลเตอโกมาน ที่มาจากเมืองสะมาร์กันด์ด้วย ราวยุคนี้มีแม่ทัพเกาหลีเรียกโกเรีย อันรับราชการในกรุงจีนได้ยกกองทัพจีนไปเหยียบแคว้นบัลตี่ แลแคชเมีย แลกะหลิมแอบแบสไสด์ ก็ผูกสัมพันธไมตรีกับกรุงจีน เพราะฉนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า มีแขกมะหะมะดันอยู่ในแคว้นตะลีฟู แต่ก่อนเวลาเจ้ากุไบลขั่น แลนัสะเรดดินมาราวีแล้ว

อีมอสูน (อ้ายเมืองสูง) ทิวงคตใน พ,ศ, ๑๓๕๑ โอรสแลนัดา ที่ทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไปนั้นใม่นับถือในวิชาหนังสือจีนที่ได้ศึกษามาเลย องค์หนึ่งต้องนายทหารของพระองค์เองพิฆาฎเสียแล้ว นายทหารผู้เปนแม่ทัพคนนั้นก็ขึ้นเปนกษัตริย์ ภายหลังก็ยกทัพไปเมืองเชงตูฟู จับได้ครัวจีนมามาก ในจำพวกจีนเหล่านั้นมีช่างผู้มีวิชาฝีมือดีๆมาก็หลาย จึงได้มาปลูกวิชาช่างวิชาหนังสือแลวิชาทอผ้าไว้ในเมืองน่านเจ้า ซึ่งแต่ก่อนทำกันใม่เปนท่า ใน พ,ศ, ๑๓๗๒ ตรงกับรัชกาลพระราชาธิราชจีนวงศ์ถังที่ ๑๔ ทรงพระนามพระเจ้าปุนจงฮ่องเต้นั้น มีผู้หนึ่งนามสิวลุง (ก็น่าจะขุนหลวงนั่นเอง) ว่าน่าจะเปนขุนนางไทยชานยิ่งกว่าเปนพวกสกูลแมงได้มาเปนพระราชา ใช้พระยศเปนวั่งตี่ (พระเจ้าราชาธิราช) ทั้งเหี้ยมหาญอย่างบรรพราชถึงประกาศสงครามกับกรุงจีน ด้วยครั้งนั้นขุนนางจีนเจ้าเมืองเสฉวนกดขี่ราษฎรได้ความเดือดร้อน ทหารจีนพากันอพยพมาพึ่งพระบารมีกษัตริย์ไทยน่านเจ้าเปนอันมาก มหากษัตริย์น่านเจ้าก็เกลี้ยกล่อมเลี้ยงทหารจีนไว้มากแล้วยกกองทัพไปล้อมเมืองเชงตู ซึ่งเปนเมืองขึ้นเสฉวน แต่ไทยเห็นจะตีเมืองเสฉวนมิได้ ก็ริบทรัพย์แลกวาดต้อนพลเมืองเสฉวนกลับน่านเจ้า แลก่อนจะถอยทัพกลับ ปล่อยพลเมืองที่ยังเหลือในหัวเมืองนั้นๆ ในมณฑลเสฉวนราวร้อยละ ๘๐ ให้ต้องใช้จมูกแลหูทำด้วยไม้แทน สิวลุงใม่ยืดเอาเมืองเชงตูฟูไว้ แต่เลยไปชิงไชยเมืองเชียวซี (คือแกโชฤๅเมืองฮานอยในปัตยุบันนี้) แลภายหลังยกไปปราบเมืองอันนัมพินาศ ใน พ,ศ, ๑๔๐๑ ตรงแผ่นดินพระเจ้าซองจงฮ่องเต้กรุงจีนรัชกาลที่ ๑๖ วงศ์ถัง สาเหตุเจ้าเมืองญวนซึ่งเปนประเทศราชขึ้นกรุงจีน รับซื้อสัตว์พาหนะม้าแลโคจากโจรผู้ร้ายที่ลักมาจากน่านเจ้า แต่ไทยใม่คิดปกครองยึดเมืองญวนไว้ เปนแต่ปล้นทรัพย์สมบัติได้แล้วก็กลับมา แต่การสงครามที่สิวลุงเริ่มขึ้นไว้ แลราชบุตร์ราชนัดาของสิวลุงทำต่อไปนั้น กลับเปนเครื่องทำให้อาณาจักร์น่านเจ้าฉิบหาย คือ ต่อมามีพระราชาน่านเจ้าสืบพระวงศ์มาถึงขุนฝงเอี้ยว (น่าจะเปนฟ้าอ้าย) เมื่อทิวงคต ขุนเอียวโล่ง (ก็อ้ายหลวงนั้นเอง) ราชโอรสได้ทรงสนองพระองค์ พระเจ้ากรุงจีนทรงรังเกียจว่าขุนอ้ายหลวงใช้พระนามาภิไธยพ้องกับพระราชาธิราชวงศ์ถังพระองค์หนึ่ง จึงใม่แต่งราชทูตมาคำนับพระศพขุนฟ้าอ้ายตามประเพณีราชธานีเปนไมตรีกัน ขุนอ้ายหลวงพิโรธ จึงยกกองทัพใหญ่ไปตีได้เมืองปอจิวในอาณาจักร์จีน ลุ พ,ศ, ๑๔๐๓ ตรงกับรัชกาลกษัตริย์จีนวงศ์ถังที่ ๑๗ ทรงนามพระเจ้าอี๋จงฮ่องเต้ มีผู้หนึ่งนาม ตูเซียวเช่ง (ใม่ปรากฎว่าจีนฤๅไทย) อยู่ปลายแดนเมืองญวน คุมกำลังเข้าไปราวีในเมืองญวน เสียทัพอัปราไชยถึงเสียชีพพรรคะบริพารหนีไปพึ่งเมืองปอจิว ญวนยกกองทัพติดตามเข้าไป ไทยจึ่งยกกองทัพใหญ่ไปปราบตีได้เมืองญวน แล้วเลยไปตีได้เมืองยองจิว (แขวงกวางตุ้ง) ในอาณาจักร์จีน แต่พวกญวนตีเมืองญวนคืนได้ ลุ พ.ศ. ๑๔๐๔ ตือจง เจ้าเมืองเซียงอานกราบทูลพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนว่า ไทยมีกำลังยิ่งนักกำลังทหารจีนที่จะรักษาด่านทางเมืองเสฉวนอ่อนแออยู่ ควรจะทำไมตรีต่อพระราชาไทย อย่าให้มายายีจีน พระเจ้ากรุงจีนทรงเห็นชอบด้วย แต่ยังมิทันแต่งราชทูตไปก็พอได้ข่าวกองทัพไทยกใปตีเมืองชุยจิวได้อิก จึงยังทรงรีรอการแต่งราชทูตอยู่

ลุ พ.ศ. ๑๔๐๖ พระราชาน่านเจ้ายกทัพใหญ่ไปตีเมืองญวน ๆ ขอกองทัพจีนช่วยแต่ไทยตีได้เมืองญวนเสียก่อนกองทัพจีนยกมาถึง เบื้องนั้นพระราชาไทยก็กดเมืองญวนไว้ในอำนาจ ตั้งขุนนางอยู่รักษาเมืองญวน แล้วจึ่งเลิกทัพหลวงกลับไป ลุ พ.ศ. ๑๔๐๗ ไทยกกองทัพไปตีเมืองยงจิวในอาณาจักร์จีนได้อิก แต่พอทัพใหญ่กลับจีนก็เข้าตีเอาคืนไปได้ ลุ พ.ศ. ๑๔๐๙ กองทัพจีนยกมาตีเมืองญวนคืนได้

ลุ พ.ศ. ๑๔๑๓ พระมหากษัตริย์ไทยกรุงน่านเจ้า ยกทัพใหญ่ไปตีเมืองเสฉวน ตีได้เมืองรายทางเข้าไปถึงเมืองเชงตู (เชียงตู้) อันเปนเมืองหลวง เข้าตั้งล้อมเมืองนั้นไว้ แต่กองทัพจีนยกมาช่วยทันจึงไม่เสียแก่ไทย

ลุ พ.ศ. ๑๔๑๘ ตรงกับรัชกาลพระเจ้าธีจงฮ่องเต้ราชาธิราชจีนวงศ์ถังที่ ๑๘ พระราชาไทยกรุงน่านเจ้ายกกองทัพใหญ่ไปตีเมืองเสฉวนอิก แต่ก็ใม่สำเร็จอิก ขุนอ้ายหลวงทิวงคต ราชโอรสทรงนามฟะ (ที่จะเปนพระอไรใม่ปรากฎพระนาม) ได้ทรงราชย์สนองพระองค์ แต่งราชทูตไปขออ่อนน้อมต่อกรุงจีน พระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนสบพระไทยก็ยอมรับเปนไมตรีเลิกสงคราม แต่กระนั้นก็ตรัสให้ซ่อมแปลงป้อมปราการตามด่านทางอันติดต่อกับเขตร์แคว้นไทย ยังใม่ไว้พระไทยดีจึงแต่งกลอุบายให้หลวงจีนนามเจงกิงเขียนจารึกไปยังกรุงน่านเจ้า เมื่อสนิทสนมกับขุนฟะแล้ว หลวงจีนก็แนะนำให้ขอพระราชธิดากรุงจีนมาอภิเษกกับโอรสกษัตริย์ไทย เพื่อให้ทางพระราชไมตรียืนยงสืบไป ขุนฟะทรงอนุมัติ เมื่อลุ พ.ศ. ๑๔๒๓ จึงแต่งราชทูตจำทูลพระราชสาสน์ถวายเครื่องมงคลราชบรรณาการทูลขอพระราชธิดา พระเจ้ากรุงจีนก็ทรงอำนวยตาม ลุ พ.ศ.๑๔๒๔ ขุนฟะจึงแต่งราชทูตไปรับพระนางหงางฝาราชธิดาพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนมาอภิเษกกับราชโอรส แต่นั้นมาอาณาจักร์ไทยกับจีนก็สนิทสนมกันมาพักหนึ่ง จนลุ พ,ศ, ๑๔๗๙ วงศ์พระราชาไทยชิงราชสมบัติกันเองแลเปลี่ยนวงศ์ร่ำไป ครอบครองอาณาจักร์ ที่ปรากฎว่านครมหาเชียงฮ่อ นครมหาเทียนหิ้ง แลนครมหาอินิงฉนั้น ยังมีขุนนางจีนผู้หนึ่งชื่อตวนซปิง อาจจะมีเชื้อปนโลหิตไทยชานบ้าง ได้เข้ามาตั้งตนเปนพระราชาครองเมืองตลีอยู่ได้ มิสเตอปาร์เกอ กล่าวว่า “ยุคนี้และเริ่มสมัยที่นครตลีกลับเปนหัวเมืองขึ้นจีนไปเสียแล้ว แต่จะอย่างไรก็จำต้องกล่าวไว้หน่อยว่า กรุงจีนบัดนั้นแบ่งออกอิกแล้วเปนสองอาณาจักร์ ที่หนึ่งก็กิตันแลต่อไปก็มูแชน (บรรพบุรุษของพันธุ์เม่งจู) ผ่านพิภพกรุงจีนภาคเหนือ แลซุงวันมีมหานครอยู่ณเมืองฮังเชาผ่านพิภพภาคไต้แห่งเวิ้งแม่น้ำแยงซี ครั้งนั้นเกีดรู้กันขึ้นว่ารุสเซียยังเรียกเจ๊กว่ากิไตอยู่ คงจะเกีดมูละศรัพท์เพราะรุสเซียแรกจะมาสมาคมกับจีนครั้งราชวงศ์กิตันทรงอำนาจปกครองบ้านเมืองอยู่ คำที่มาร์โกโปโลเรียกว่ามันซีนั้น คืออาณาจักร์ภาคไต้แห่งแคว้นซุง จึงยังเปนธรรมเนียมของพวกจีนข้างเหนือ คงใช้เรียกจีนดุร้ายข้างไต้ว่ามันซะ เหตุอันนี้คงเปนเมื่อศุภะมาศ แต่ยุคเมืองไทยชาน ญวน เมียวซะ ฯลฯ ยังครอบครองกรุงจีนข้างไต้ไว้แทบทั้งหมด เพราะคำว่ามันซะนี้ตรงกับคำว่าสุวรรณภูมิประเทศ คือประเทศที่สุดระหว่างมัชฌิมประเทศ (อินเดีย) แลจีน ฤๅภาษาสมัยใหม่เรียกอินโดชีนนั่นเอง

ดูเหมือนจะเอาเปนแน่ได้ว่าอาณาจักร์น่านเจ้ายุคนี้แตกออกเปนสองภาคแล้ว แต่ถึงจะอย่างไร บ้านเมืองเหล่าตะลี ก็กลายเปนเจ๊กหนักเข้าหนักเข้าทุกที ฝ่ายภาคตวันตกนั้น ใม่ต้องสงไสยเลย คงจะเปนอาณาจักร์ที่พงศาวดารมณีปุระให้ชื่อว่าโป่งอันรวมอยู่ในบาญชีราชธานี ที่พระเจ้าอโนรธามหาราชพม่าชิงไชยนั้น ยังคงเปนหัวเมืองไทยใหญ่ ของไทยอยู่ แต่ก็แตกย่อยกันออกเปนหัวเมืองต่างๆ อิกขันหนึ่ง อาจจะเปนได้ที่บางครั้งบางคราวกลับรวมกันเข้าอยู่ในไต้อานุภาพ เจ้าฟ้าอันเปนเจ้านครหนึ่งนครใด องค์ใดที่ขยันขันแข็งเหี้ยมหาญในการศึกอยู่พักหนึ่ง เจ้ากุไบลขั่นชิงไชยหัวเมืองมณฑลตะลีใน พ,ศ, ๑๗๙๗ ทำให้จบราชวงศ์ตวัน ฝ่ายด้าวแดนไทยชานข้างตวันออกกันลงเพียงแค่นั้น กุไบลขั่นตั้งเสนาบดีของพระราชาวงศ์ตวัน (เจ๊กแกมไทยที่พงศาวดารพม่าว่าจีนแปลงชาติเปนไทยชาน นามชวงเกียวนั่นเอง) ให้ว่าราชการเมือง ทรงยศเปนซสวนฟูชิ ฤๅผู้ทรงอาญาสิทธิ์สำเร็จราชการแผ่นดิน แลมอบหน้าที่เสนาบดีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น เปนผู้เอาธุระปราบปรามหัวเมืองมนุษย์ชาติต่างๆข้างเคียงต่อไป ตำแหน่งนี้ดูเหมือนจะเปนต้นเหตุ ตำแหน่งพระยศเจ้าฟ้า ที่บัดนี้อำนวยให้แก่เจ้าฟ้าในหัวเมืองไทยใหญ่ของจีน มิสเตอปาร์เกอกล่าวว่า “ยุคนี้จูงเรามาถึงสมัยเมื่อเรื่องราวเขตร์แคว้นเจ้าฟ้าต่างๆเริ่มขึ้น แม้ถึงเวลานี้ หัวเมืองยูนนานภาคข้างไต้ยังมีที่เจ้าฟ้าไทยใหญ่ ฤๅจีนนักเที่ยวเตร็ดเตร่กลับกิริยาอาการกลายเปนไทยใหญ่นั้น ว่าราชการอยู่ ตัวอำนาจกลางของไทยใหญ่นั้น ค่อยๆเขยีดแต่เลื่อนมาข้างไต้เสมออย่างกับตันฟอร์บแนะอย่างเฉียบแหลมว่า ก่อนราชาธิปตัยภุกามพินาศลงใน พ,ศ, ๑๘๒๗ นั้น มนุษย์ชาติไทย ซึ่งพวกชานก็เปนสาขาอันหนึ่งนั้น จับคับแค้นจำใจทิ้งชาติภูมิเดิมในประเทศยูนนาน ด้วยอำนาจจีนซึ่งกุไบลขั่นอันเปนพระเจ้าราชาธิราชหงวนสีโจ๊ฮ่องเต้เปนตัวการล่วงล้ำเข้ามาบีบคั้นยายี ราวเวลานี้นั้นเอง ไทยสาขาหนึ่งยกลงไปตั้งมหาอาณาจักร์สยามแลเดียวจันตรีเจ้าเมืองชาน (เมืองตังเกี๋ย) ใม่ใช่ไทยชาน แต่เปนจีนกวางตุ้ง นาม โล ยังถือตรามิงสำหรับตัวอยู่ โดยเหตุใม่ยอมเปนข้าชาติเม่งจู ก็อพยพไปตั้งในแคว้นตังเกี๋ย นามเดียวนั้นเปนชั่วชื่อแสร้ที่เจ๊กตั้งให้เท่านั้นเอง”

คำกับตันฟอร์บว่านี้อาจจะจริงได้บ้าง บางส่วนเพียงเปนพวกพระเจ้าพรหมราชปฐมวงศ์ พระรามาธิบอดีที่ ๑ ผู้สถาปนาพระมหานครศรีอยุทธยา ยกมาตั้งกรุงไตรตรึงส์ณเมืองแปบเท่านั้น เพราะเวลาที่ว่าก่อนตั้งกรุงศรีอยุทธยาเพียง ๖๖ ปีพอสมเรื่องกัน หาใช่ปฐมยุคที่ไทยยกมาตั้งในเวิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาประเทศสยามฝ่ายเหนือมหานครศรีสัชนาลัยแลสุโขไทยราชธานีใม่ ด้วยนั่นก่อนนี้ขึ้นไปมาก เพราะแม้แต่แผ่นดินพ่อขุนรามกำแหงในเสาสิลาจารึก ซึ่งปรากฎว่าไทยได้ตั้งอยู่ช้านานมาแล้ว ก็ยังก่อนนี้ขึ้นไปเสียอิก

ในจำนวนผู้ที่ยกมาตั้งแรกนั้นก็มี ซสวนฟูซิ เมืองลูฉวน ซึ่งมิสเตอร์ปาร์เกอกุละว่า “น่าจะเปนชื่อเจ๊กของอาณาจักร์โป่งของไทยใหญ่ด้วยมีเหตุการแลนามเกี่ยวด้วยโป่งหลายประการ พรรณนาไว้ในพงศาวดารเมืองมณีปุระ นอกจากใม่มีวันลล้วนลม้ายเหตุแลนามที่พรรณนาในพงศาวดางจีนเรื่องเมืองลูฉวน ด้วยเมืองลูฉวนครั้งนั้น รวมหัวหน้าเจ้าฟ้าฝ่ายจีนที่ขึ้นเมืองลูฉวน แลเมืองเมาเพียงเท่านี้ ถ้าใม่มีมากกว่านี้อีก มีหัวเมืองเจ้าฟ้าที่ขึ้นแก่จีนนอกจากนี้ ซึ่งมีศุภมาศแต่ พ.ศ.๑๘๓๐ ก็มีแต่ชั่วเมืองกันงาย ฤๅกันเง ตามที่พงศาวดารมะหง่ลเขียนไว้ หัวเมืองทั้งสองภาคเหล่านี้ล้วนขึ้นแก่เจ้าเมืองทหารของมะหง่ลกินชิอิ ฤๅฟันทอง ถ้าคิดให้ถูกแล้วน่าจะเปนเมืองซาดัมของมาร์โกโปโล หัวเมืองชานที่ขึ้นแก่พม่าในชั้นหลังนี้ ข้างเหนือแสนหวีนั้น เจ๊กเรียกมูปัง ก็ย่อมขึ้นแก่มะหง่ลด้วยมะหง่ลได้เดินทัพผ่านเมืองจะไปตีเมืองญวน จึ่งเกิดปัณหาขึ้นว่าหัวเมืองโป่งตามพงศาวดารมณีปุระนั้น จะเปนมณฑลแสนหวี ซึ่งเดิมก็รวมเมืองมีตด้วยนั้นฤๅใม่ แต่จะอย่างไรก็ตามที ในรัชกาลพระเจ้าราชาธิราชกุไบลขั่นนั้น บรรดาหัวเมืองเจ้าฟ้าไทยใหญ่ฤๅชานทั้งสิ้นรวมระหว่างมณีปุระแลอันนัม ก็เปนเมืองขึ้นของวงศ์มะหง่ลอันเปนเจ้ากรุงจีนหมด” การที่พินาศอาณาจักร์ไทยมณฑลน่านเจ้ายอมอ่อนน้อมหมดนั้น เปิดทางเมืองพม่าให้เจ๊กกรีฑาพลลงมาได้ถนัด จึงส่อผลให้ทำลายราชาธิปตัยแลราชอาณาจักร์ภุกามพินาศสิ้น มิสเตอปาร์เกอสงไสยในข้อที่ว่ามะหง่ลจะได้เคยยกลงไปถึงกรุงภุกาม ฤๅแม้แต่เพียงได้เหยียบเมืองตะโรกมอละฤๅ แต่อาจจะเปนได้ ที่กองทหารไทยใหญ่อาจจะไปพินาศนครภุกามเอง ในข้อนี้พงศาวดารแสนหวีที่ได้ลงไว้แล้วในตอนก่อน ก็รับรองสมกันว่าไทยใหญ่เองเปนตัวลงไปปล้นพินาศกรุงภุกาม หาใช่มะหง่ลใม่

เซอยอชสกอตช์กล่าวว่า “พวกไทยชานใม่สามารถจะต่อสู้ทหารจีนได้แลเดือดร้อนรำคาญที่เกิดกลียุคในน่านเจ้ามีแต่รบร้าฆ่าฟันกันร่ำไป จึ่งได้อพยพไปทางทิศตวันออกเฉียงไต้ทางไต้ แลทางตวันตกเฉียงไต้ เหตุฉนั้นจึงได้ตั้งหัวเมืองต่างๆ ในโยนกแลมลาว หลวงพระบางเวียงจันทร์น่านเชียงใหม่แลกรุงศรีอยุทธยา อันเปนพระมหานครสยามตามบาดหลวงบัลเลคัวซ์ว่า เริ่มในพ.ศ. ๑๘๙๓ ฝ่ายข้างในเมืองพม่านั้น ไทยใหญ่ก็ตั้งตัวอยู่ณเมืองปันยา เมืองเมียนซาย แลเมืองสะกายขึ้นใหม่เพิ่มเติมนอกจากหัวเมืองไทยใหญ่ แว่นแคว้นข้างเหนือ ซึ่งเปนอาณาเขตร์ของไทยมาช้านานแล้วนั้นแต่น้อย กลายเปนหัวเมืองย่อมๆใม่มีอำนาจมากกว่าแคว้นพะโคฤๅอาซัมเสียแล้ว แลจะเปรียบกับอาณาจักร์น่านเจ้า ก็ใม่คู่ควรโดยแท้ในเวลานั้น เจ้าไทยใหญ่ขบถทั้ง ๓ พี่น้อง ก็ปลดเชื้อพระวงศ์พระเจ้าอโนรธามหาราชเจ้ากรุงภุกาม ออกเสียจากราชิศริยศักดิ์สิ้นแล้ว ยังไทยนักเที่ยวเตร็จเตร่อิกคน ๑ นามมาคะทุ (ไทยว่ามะกะโท) ที่ลงมาจากเชียงใหม่ (ที่จริงไปจากกรุงสุโขไทยราชธานีมหานครสยามฝ่ายเหนือ) ก็ตั้งตัวเองเปนใหญ่ขึ้นในเมืองเมาะตะมะถึงเปนกระษัตริย์ เจ้ากรุงหงสาวดีแคว้นพะโคทรงนามพระเจ้าวเรรุ (ไทยว่าเจ้าฟ้ารั่ว) ตั้งพระวงศ์ดำรงราชานุภาพ มาแต่ พ,ศ, ๑๘๓๐ ถึง ๒๐๘๔ เจ้าฟ้าวเรรุนี้ ใม่ได้เกี่ยวข้องพึงพาฤๅอ่อนน้อมต่อจีนอย่างใดอย่างหนึ่งเลย นอกจากยอมตัวเปนข้าขอบขัณฑสีมาต่อไทยน้อยที่ไปตั้งณกรุงสยาม ด้วยก่อนจะตั้งตัวได้ๆพึ่งพระบาระมีบรมกษัตริย์สยามทรงชุบเลี้ยง ข้อนี้ใม่ต้องสงไสยเลย เรื่องราวในพงศาวดารแสนหวีที่ว่าเมาะลำเลีง เรียกมอละเมียงก็เปนเมืองขึ้นต่อไทยข้างเหนือนั้น หมายความว่ากรุงสยามนั่นเอง”

ถ้าไทยพึ่งมาตั้งในกรุงสยามใน พ,ศ, ๑๘๙๓ จริงอย่างว่าแล้ว มะกะโทตั้งตัวเปนใหญ่ใน พ,ศ, ๑๘๓๐ ก่อนนั้น ๖๓ ศก จะไปพึ่งใครในกรุงสุโขไทยเล่า แลซ้ำว่าไปพึ่งก่อนตั้งตัวเปนใหญ่ ก็มีแต่จะก่อน ๖๓ ปีขึ้นไป แท้จริงมะกะโทไปพึ่งพ่อขุนรามกำแหง คือพระร่วงเปนเจ้าณกรุงสุโขทัยราชธานี ซึ่งมีพยานว่าไทยตั้งมาแล้วเก่าแก่ในมหานครฝ่ายเหนือ ใม่ใช่เขม่าไฟเช่นฝรั่งคาดโดยพุ่งๆ แลยันในคำของตัวเองต้นกับปลายใม่สมกันก็ใม่รู้ศึก เพราะใม่ซึมนึกๆลืมๆฝันๆในกรุงศรีสัชนาลัยแลสุโขทัยราชธานี จำได้แม่นยำแต่กรุงศรีอยุทธยาเท่านั้น

มิสเตอปาร์เกอกล่าวว่า “นี่แลไทยฤๅไทยชานย่อมเปนใหญ่ในสยามประเทศในพุทธสัตยุคที่ ๑๙ แลทั้งแผ่อานุภาพมาปกเกือบจะครอบทั่วดินแดน พม่ารามัญ เว้นไว้แต่เมืองตองอูซึ่งเปนแหล่งพวกพม่าซึ่งใม่พอใจอำนาจไทย หนีไปอาไศรยพึ่งอยู่ที่นั่น แต่หัวเมืองชานภาคข้างเหนือๆขึ้นไปมากๆนั้นในเวลานั้นตกอยู่ในอำนาจมะหง่ลที่เปนเจ้ากรุงจีน แม้จะบังคับบรรชาอไรกันมิได้เด็ดขาดจริงจังก็ยังสักว่าขึ้นชื่อเปนเมืองขึ้น ในพงศาวดารจีนราชวงศ์ไต้เหมง (ซึ่งมีอำนาจขึ้นต่อวงศ์หงวนเฉียวคือมะหง่ลใน พ,ศ, ๑๙๑๐) นั้น กล่าวว่ามะหง่ลได้ตั้งผู้ทนุบำรุงเมืองปันยาแลเมืองอื่นๆในประเทศเมี้ยน คือม่านฤๅพม่าใน พ,ศ, ๑๘๘๑ แต่ได้ถอนคืนไปในพ,ศ, ๑๘๘๕ ข้อนี้คงจะหมายว่าตั้งราชวงศ์เมืองปันยา แลเมืองสะกาย คงจะได้ยอมเปนข้าขอบขัณฑเสมาฮ่องเต้เมืองหงวนเฉียวคือมะหง่ล อยู่พักหนึ่งใม่ช้า ในเวลานั้นโคโลเนลแฟยาเรียกไทยใหญ่เมืองเมาเปนเมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) ว่าได้มาทำสงครามกับอาณาเขตร์ปันยา แลจับองค์พระมหากษัตริย์ไปได้ใน พ,ศ, ๑๙๐๗ อนึ่งโคโลเนลแฟยาได้กล่าวตามพงศาวดารไทยใหญ่ที่เปมเบอต็อน ไปพบเมืองมะณีปุระใน พ,ศ, ๒๓๗๘ ถึงเหตุการที่พม่าใม่ได้จดไว้ในพงศาวดารพม่าว่าราว พ,ศ, ๑๘๗๕ เกิดวิวาทบาดหมางกันขึ้นระหว่างพระราชาเมืองโป่ง ฤๅพง แต่ไผล้ไปเอาเจ้าฟ้าเมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) ขึ้นมาเชิดแทน แลเจ้าเมืองยูนนานมีกองทัพจีน ฤๅมะหง่ลยกมาตีเมืองเมื่อได้ต่อยุทธกันถึง ๒ ศกแล้ว มหานครเมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) ก็เสียแก่ศัตรู พระราชานามสูงคำฟ้าหนีไปเมืองสะกาย แลเมื่อกองทัพจีนตามไปขอก็ยอมส่งองค์ให้พระเจ้าราชาธิราชกรุงจีน ราโชรสของสูงคำฟ้าได้ทรงราชย์มหานครของราชบิดาสนองพระองค์ ตรงนี้ก็อิกนั่นและน่าที่ควรจะสามารถสำแดงให้เห็นได้ว่าโคโลเนลแฟยาพลาดไปถนัด เพราะไปหลงหมกมุ่นเชื่อในพงศาวดารไทยใหญ่ในมณีปุระเกีนไปใม่ยั้งสติดำริห์สอบสวนบ้าง ด้วยใม่ชั่วแต่พงศาวดารใม่ได้เอ่ยถึงเรื่องอย่างไรเช่นนั้นในเวลานั้นเลย ซ้ำพงศาวดารมะหง่ลก็มิได้กล่าวถึงด้วยเลยเหมือนกัน เปนแต่เราได้เห็นว่ามะหง่ลมีนายทหารตั้งอยู่ในเมืองพม่าระหว่าง พ,ศ, ๑๘๘๑ แล ๑๘๘๕ ที่จริงนั้นพงศาวดารไทยในมะณีปุระลงศุภะมาศผิดไปสัตยุคหนึ่งตรงๆเรื่องราวทั้งสิ้นนี้สำหรับยุคศุภะมาศ พ,ศ, ๑๙๗๕ แล ๑๙๙๓ สูงคำฟ้าพระราชาเมืองก้อง (คือโมคองฤๅเมืองคัง) นั้น ที่จริงก็คือองค์ซเชงฟ้าเจ้าฟ้าเมืองลูฉวนนั่นเอง จดหมายเหตุกรุงจีนเมืองโมเมียนเล่าเรื่องทั้งสิ้นไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าฟ้าองค์นี้ยกกองทัพไปตีเจ้าฟ้าเมืองนานเตียนเมืองกันงายเมืองโมเมียนแลเมืองลูเกียง สาเหตุเจ็บแค้นด้วยพระเจ้าราชาธิราชวงศ์ไต้เหมงกรุงจีน ได้ถอดยศจีนที่อำนวยเจ้าฟ้านั่นให้เปนเจ้าประเทศราชขึ้นต่อจีนเปนข้อแรก ด้วยความผิดวิวาทรบพุ่งกันกับเจ้าฟ้าเมืองมูปัง (คือแสนหวี) ข้อถัดมานั้นยกเมืองลูฉวนให้ไปขึ้นต่อเจ้าฟ้าอันเปนใหญ่ในแมงยาง (น่าที่จะเปนเมืองก้อง คือโมคองตามปรากฎต่อไปข้างหลัง) เหตุฉนั้น ซแซงฟ้าจึงไปครอบครองแมงยาง (คือเมืองยางฤๅโมนยิน) ครั้นใน พ,ศ, ๑๙๘๕ เจ้าฟ้านี้ทูลขอษมาโทษที่ผิดต่อจีน แต่กรุงจีนใม่ยอมอลุ้มอล่วย เมื่อหนีไปจึงตามมาขอองค์จากรัฐบาลพม่า พม่าก็ยอมอำนวยตาม ในการแลกเปลี่ยนกันกับข้อสัญญายกแมงยาง (คือเมืองยางฤๅโมนยิน) ให้แก่พม่าสิทธิ์ขาด”

ว่าด้วยศุภมาศแล้วมิสเตอปาร์เกออยู่ข้างแม่น การที่โคโลเนลแฟยาพลาดไปนั้นก็เกิดจากธรรมเนียมไทยใหญ่ใช้คำนวนศุภะมาศตามรอบวงจักร์ (ดังได้ชี้แจงไว้แล้ว) หาได้ใช้ศักราชเรียงปีใม่ แลเรื่องทั้งสิ้นนั้นมิสเตอร์เนอีเลียสได้เล่าไว้แล้ว ในเรื่องเจ้างันฟ้าเมืองเมา เมื่อฉนี้เราก็อาจจะเทียบเคียงกันได้ขบวนนามสูงคำฟ้าก็คือเจ้างันฟ้า ฤๅซแชงฟ้า แลพงศาวดารแสนหวีเรียกเจ้าฤๅขุนฤๅเจ้าขุนเสือขวัญฟ้า ฝ่ายข้างพม่าเรียกว่าโสงันพวา ใช่แต่เท่านั้นราชอาณาจักร์โป่งก็ดูเหมือนคงเปลี่ยนยศมากุละให้เปนเมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) ฤๅเมืองเมา ฤๅมิสเตอปาร์เกอให้แก่เมืองลูฉวน ในที่สุดใครจะกุละไปอย่างไร ก็คงใม่พ้น ตกลงเปนว่าราชอาณาจักร์โป่งนั้น ก็กิติมศักดิ์ลอยๆสำหรับราชอาณาจักร์อันหนึ่งเหมือนคำว่ามหาราชสำหรับพระราชามนุษย์ใม่ว่าหัวเมืองชานมณฑลใด บรรดาได้เปนเมืองมีอำนาจยิ่งใหญ่ฤๅเจรีญยิ่งใหญ่ขึ้นเมื่อใด ก็เปนราชอาณาจักร์โป่งอยู่เมื่อนั้นอยู่ชั่วคราว ตัวแรกเริ่มเดิมทีของราชอาณาจักร์โป่งอยู่ที่ไหนนั้น (นอกจากจะเปนน่านเจ้าแล้ว) ก็คือแว่นแคว้นใดที่มีมหานครในเวลาครั้งโพ้นมีอำนาจแลรุ่งเรืองมากเท่านั้นเอง เมื่อฉนี้จะรู้ได้ก็แต่ต้องรวบรวมพงศาวดารของแว่นแคว้นไทยใหญ่มณฑลใหญ่ๆ มาพิเคราะห์ดูถ้ารวบรวมได้ดังว่าก็คงรู้ได้เอง มิสเตอปาร์เกอเองก็ดูเหมือนจะยอมเช่นว่านี้จึงได้กล่าวไว้ว่า “เมืองโป่งตามพงศาวดารมณีปุระนั้น น่าจะเปนเมืองลูฉวนมากกว่าเมืองมูปัง มาตระว่าเมืองมูปัง (คือแสนหวี) ฤๅแมงปังเสียงสเทือนกระทบหูไกล้ชื่อเมืองโป่งมากกว่า แต่เมืองลูฉวนเปนเมืองไทยจีนล้วน อาจจะเปนได้ ที่เมืองแสนหวี ซึ่งจีนเรียกมูปังนั้นรวมอยู่ในแว่นแคว้น ที่พงศาวดารมณีปุระเรียกว่าโป่งด้วย แต่ถึงจะเปนอย่างไร เขตร์แดนหัวเมืองไทยครั้งเมื่อกระนั้น ูก็ใม่แน่นอนลงว่าตรงไหน ซ้ำเปลี่ยนแปลงกันไปใม่รู้อยุดด้วย สูคำนั้น เห็นได้ชัดคือคำซแชง ตัวอักษรแชงยังเป็นคำว่าอำนาจ ในคำพูดของจีนบางพวกว่า เนียมฤๅ เงียง คำว่าฟ้า หมายความว่าพระ (ชานว่าฟ้าพม่าว่าพวา เช่นเจ้าฟ้าแลสอพวา) นั้นชัดเจนข้อแรก เพราะพงศาวดารโมเมียน พูดถึงเรื่องเจ้าฟ้าไทยแล้ว เมื่ออ้างสรรพนามถึงตนเองแล้วเปนเอ่ยคำว่าฟ้าอย่างนั้น ฟ้าอย่างนี้ ข้อสอง เพราะหนังสือจีนอื่นๆพูดว่า ซแชง ซกี แลซปุ (ควรจะให้สำเหนียกไว้ว่า ถ้าเปนไทยพูดคงจะว่าเจ้างัน เจ้าขี่ แลเจ้าผู้) ใม่แถมคำว่าฟ้าด้วยเลย ข้อท้าย โคโลเนลแฟยา ก็บอกอย่างเดียวกันอีกกล่าวตามพงศาวดารพม่าในศุภมาศ พ,ศ, ๑๙๘๗ ว่า “ซแชง นั้นพม่าเรียกว่าโสงันพวา เจ้าฟ้าเมืองโมคอง (เมืองก้องฤๅเมืองคัง)” แลกล่าวในจดหมายเหตุแถมท้ายว่า “เหตุการที่บรรทึกไว้นี้ก็เหมือนกันกับเหตุการที่เคยเปนมาแล้วครั้งหนึ่งใน พ,ศ, ๑๘๗๕-๗๖”

เพราะฉนั้นถ้าเราตกลงดังต่อไปนี้ คือพงศาวดารไทยใหญ่ ก็ยังจะต้องเรียงใหม่ พงศาวดารพม่า ตามที่รจนาไว้แล้วในปัตยุบันนี้ก็ยังจะต้องแก้ไขอิกบ้างบางแห่งแล้ว จดหมายเหตุพงศาวดารจีนเป็นตัวให้ความรู้ ที่จะทำการดังกล่าวแล้วให้ตลอดได้ โดยพิจารณา ฟอกเฟ้นมา เรียบเรียง นั้นก็เปนข้อต้องการนักหนา จดหมายเหตุพงศาวดารจีนราชาธิราชวงศ์ไต้เหมง ว่าด้วยเมืองเมี้ยนซุง (คือพม่าตอนกลาง) นั้น เปนสิ่งน่าทราบมาก ด้วยสำแดงให้รู้ว่า เมืองเมี้ยนคือพม่าในครั้งเมื่อกระนั้น เปนสักแต่ว่าหย่อมฝูงมนุษย์ตั้งอยู่เปนเหล่าๆ จนกระทั่งชั้นหลังมาก็เป็นสักแต่ว่าทรากอาณาจักร์เมืองเอกราชโบราณ ของพระเจ้าอโนรธา ซึ่งอุไทยขึ้นแวบหนึ่งเท่านั้น นอกนั้นก็ไทยเปนชาติมีอำนาจใหญ่ในเวิ้งแม่อิระวดี ตัว “ขุนมเฮียงงาย ฤๅขุนเมืองงาย เจ้าเมืองไทยอุนบอง” นั้น สมญาส่อให้เปนข้อมิสเตอปาร์เกอหัวปั่นมาก ไปเพ่งเอาขุนเมืองงอย (เมืองโอนพวง) ซึ่งเปนนครเก่าของมณฑลสีปอ ฤๅธีบอ ในปัตยุบันนี้นั้นมาเชิด มีสิ่งเดียวที่เราแลเห็นชัดอยู่ในเวลานี้ ก็คือ ในมือเจ้าฟ้าไทยแล้ว เรื่องกระร่องกระแร่งของพม่าที่เปลี่ยนผู้ปกครองเมืองในทางที่จะให้เข้าใจได้ดีนั้น ก็มีแต่เมื่อได้เครื่องมือมามากกว่าเท่าที่มีอยู่ในบัดนี้ รวบรวมเข้าด้วยกันแลคัดเฟ้นเอาเท่านั้น

มิสเตอปาร์เกอได้ฉายแสงสว่างให้เห็นพงศาวดารไทยใหญ่ได้กระจ่างขึ้นถนัด ในการที่แปลจดหมายเหตุพงศาวดารจีนครั้งดึกดำบรรพ์ มาตีแผ่ ถ้าโลกยอมสลัดสรรพสงการับเชื่อกันว่าพงศาวดารจีนเหล่านี้ มีสัจจลักษณ์ ทั้งมูลฉบับแลทั้งฉบับอนุกรม ที่แผกเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องพงศาวดารพม่า แลไทย ตามที่เคยรู้กันมาแต่ก่อนๆมากนั้น มีหลักฐานควรวางใจได้มากกว่าแล้ว ก็อาจจะแก้ไขในพงศาวดารพม่าแลไทยใหญ่ให้สมแก่สัตยเหตุได้ง่ายๆ

คำลงเอยของมิสเตอปาร์เกอน่าจะสมจริงโดยกล่าวว่า ““พวกพม่าเผ่าปยูนั้นแต่ก่อนก็ตกอยู่ในเงื้อมอานุภาพอินเดีย เปนแต่ยอมทู้กำลังอำนาจทหารไทยตกอยู่ในอุ้งแขนบ้างบางครั้งบางคราว ชั่วแต่บรรลุความเจริญพลุ่งเดชาพินิหารของชาติพม่าขึ้นวูบหนึ่ง ด้วยเดชะพระเจ้าอโนรธามังฉ่อแล้ว ชั่วแต่ในรัชกาลพระเจ้าอลังสีห์สุร์ราชนัดาของมหาราชมหาไชยนั่นเอง พม่าชาติเมี้ยน ฤๅม่าน ก็กลับหกคเมนไปตกลงในหลุมอำนาจจีนอิก ทั้งยังต้องหมอบอยู่แทบเท้าไทยอยู่อิกพักหนึ่งๆสุดแท้แต่กองทหารไทยจะคุกคามเมื่อใด ชีวิตชาติพม่าพลุ่งขึ้นอิกเตื้อหนึ่งนับเปนครั้งที่ ๒ ก็เดชะอิทธาธิการ พระเจ้ามินตราตเบงชเวตีแลบุเรงนองกยอินนรธามหาราช เจ้าพม่าผ่านพิภพหงสาวดีอุบัติเนื่องกัน แม้พระองค์เปนพม่าโดยพระชาติ ก็เผยบุญญาธิการขึ้นในเมืองตองอู แลมิใช่สายเชื้อพระวงศ์กษัตริย์พม่าเบื้องโบราณะกาลเลย ต่อไปนั้นก็เกิดมหาภัยพินาศพลเมืองด้วยสงครามระหว่างพม่าแลเตลง กับสยาม แลหัวเมืองไทยใหญ่นครอื่นๆกับยะข่ายกับมณีปุระ ฯลฯ กระตุกยุคที่จะเริ่มบรรลุวัฒนาการ ให้เสื่อมโทรมลงยับย่อยเสีย แลฝรั่งเริ่มจะโผล่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยบ้างแล้ว ไอเจริญของชาติพม่าพลุงโพลงขึ้นครั้งที่ ๓ ก็เดชะราชตระกูลพระเจ้าอลองพญามหาราช อานุภาพจีนตกอยู่ในพระเจ้าราชาธิราชเตากวางนับวันมีแต่จะหลุดไปหลุดไป จากประเทศเมี้ยนเตียนคือพม่า มาตระว่ายังคงมีราชทูตไปมาอำนวยพรต่อกันอย่างเล่นๆใน พ,ศ, ๒๓๕๔ ๒๓๖๒ ๒๓๗๒ ๒๓๗๕ ๒๓๗๖ แล ๒๓๘๒ ฉายาเดชานุภาพ อังกฤษก็เริ่มจะชเงื้อมเข้ามาปกพม่าเหมือนกะในกรุงจีน ก็ย่อมมียุคที่ราชวงศ์ชาติจีนรุ่งเรือง เช่นราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ถังแลราชวงศ์เหมง แต่ก็ทอดเพลาเสียราวกึ่งภาค เปลี่ยนเปนยุคตาดทรงอำนาจปกครองประเทศจีน ฤๅมิฉนั้นก็แผดฉายามหาเดชเข้ามาครอบงำวงศ์กษัตริย์จีนให้ต้วมเตี้ยมนั้นฉันใด พม่าก็เปนเช่นนั้น ย่อมมียุคเจรีญรุ่งโรจโดยอานุภาพราชวงศ์พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ พระเจ้ามินตราตเบงชเวตี แลพระเจ้าบุเรงนองกยอินนรธามหาราชแฝด แลราชวงศ์พระเจ้าอลองพญามหาราช แล้วก็ทอดเพลาเสียราวกึ่งภาค เปลี่ยนเปนยุคไทยชาน (รวมทั้งไทยใหญ่ เงี้ยว) แลไทยสยาม ทรงอำนาจปกครองอาณาจักร์พม่า ฤๅแผดฉายามหาอำนาจมาครอบงำวงศ์กษัตริย์พม่า ให้ปลั้วเปลี้ยตามยถากรรม ชาติที่เปนเพื่อนบ้านแขกพราหมณ์ ฤๅฮินดู ญวน ลังกา เขมร ฯลฯ นั้นกระเจีดเตีดไป จากการเข้ามาเกี่ยวข้องในทางราชการคลุกคลีกับพม่า แลไทยใหญ่ แม้อ่อนพลังลงด้วยอำนาจจีนยายีบีฑา ญวนตังเกี๋ย พม่าของอังกฤษ แลพระมหานครสยาม ฯลฯ เท่านั้นและ คงเปนชาติแข่งขันกับพม่ามีอยู่ในแหลมสุวรรณะภูมิปัจจันตประเทศ (คืออินโดชิน) แต่ลงท้ายชาติทั้งหลายที่ออกนามไว้ข้างต้นก็แต่ลล้วนลลายเข้าไปเปนของอำนาจฝรั่ง ใม่อังกฤษก็ฝรั่งเศส คงเหลือแต่ไทยสยามมหานครเดียวเท่านั้นชิงธงขันแข่งกะเพื่อนชาติชะนะแลยังคงเปนเอกราชอยู่ในโลก แต่เอกชาติตราบเท่าทุกวันนี้”

คำพรรณาแล้วทั้งปวงนี้ กล่าวได้แต่เพียงว่าเปนเครื่องมือสำหรับเตรียมรจนาพงศาวดารชาติไทย แต่ในอาณาเขตร์ของอังกฤษ เมื่อความค้นกันจนเปนตมแล้วก็ยังดูเหมือนปรากฎว่าใม่มีตำนานน่าฟังอย่างไรเค้านี้เหลืออยู่เสียแล้ว ด้วยแม้มีอยู่บ้างก็ล้วนถูกเผาผลาญ แต่ยังมีหวังที่อาจจะค้นคว้าหาพงศาวดาร ฤๅตำนานเก่าแก่ที่แท้จริงมั่นคงได้ ในหัวเมืองไทยชานของจีน แต่ฟังๆมาจนกระทั่งถึงกาละทุกวันนี้ สิ่งที่หมายที่หวังทั้งปวงนั้นก็ยังใม่มีใครได้ประสรบสม เมื่อรู้เพียงเท่าที่รู้ ก็ได้แต่วินิจฉัยว่า อาณาจักร์น่านเจ้า อาณาจักร์โป่ง แลอาณาจักร์ไทยนั้น เกือบจะเปนมนุษยชาติที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ล้นพ้นในสุวรรณะภูมิปัจจันตประเทศ มาแต่เบื้องดึกดำบรรพ์ ยังคงเหลือพืชพันธุ์สืบสกูลวงศ์ คงอำนาจเปนเอกราชอยู่ในโลกแต่ไทยสยามเท่านั้น ด้วยประการฉนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ