- หม่อมบุญ วรวรรณ ณกรุงเทพ
- คำนำ
- ตอนที่ ๑ ชาติไทย
- ตอนที่ ๒ วิธีนับศุภมาศของไทย
- ตอนที่ ๓ พงศาวดารไทยเมาฤๅไทยหลวง
- ตอนที่ ๔ พงศาวดารแสนหวี
- ตอนที่ ๕ เรื่องราชอาณาจักร์ไทยต่างๆ
- ตอนที่ ๖ อาการเลี้ยงชีพ บ้านเมือง แลการปกครองของไทยใหญ่
- ตอนที่ ๗ อังกฤษครอบครองหัวเมืองไทยใหญ่
- ตอนที่ ๘ อังกฤษจัดราชการปกครองหัวเมืองไทยใหญ่
- ตอนที่ ๙ ศาสนาแลอย่างธรรมเนียมไทยใหญ่
- เทียบภาษา
- เทียบคำพูด
ตอนที่ ๖ อาการเลี้ยงชีพ บ้านเมือง แลการปกครองของไทยใหญ่
อาการกิริยา
การที่ชาติไทยเกี่ยวดองกันกะชาติจีนนั้น ดูเหมือนจะคาดใม่มีผิด เห็นปรากฎจากรูปโฉมกิริยาอาการลม้ายกันยิ่งกว่าภาษาของชาติทั้งสองนั้น ชาติไทยใกล้ชิดสนิทสนมกับจีน ด้วยเปนเพื่อนบ้าน ทั้งในครั้งหนึ่งฤๅครั้งอื่น เปนคู่แข่งขันฤๅเปนทั้งข้ามาก็หลายร้อยปี แต่ก็ยังคงเปนมนุษย์คนละชาติต่อกันอยู่นั่นเอง แต่การข้อที่ว่านี้ ดูเหมือนจะยังใม่เพียงพอที่จะถือเอาเปนจริงจังเด็ดขาด ตามเหตุที่ปรากฎอย่างอื่นๆ พอจะยกมาเปนองคพยานวินิจฉัยได้ การค้นคว้าซึ่งนักโบราณะคดีฝรั่งได้เริ่มพยายามมาใม่ช้านานนัก กลับชี้ไปคนละท่าว่าเจ๊กกับไทย ย่อมสืบสกูลวงศ์มาจากต้นขั้วบรรพบุรุษอันเดียวกัน ซึ่งจีนเปนตัวยืนแทนอยู่ หาใช่คนละชาติอย่างคาดกันแต่ก่อนใม่ รูปะพรรณลักษณะเหมือนกันนั้นเปนข้อสำคัญอย่างยิ่ง ในจำพวกไทยแข (คือไทยจีน) ที่อยู่ใกล้กะจีน บางทีด้าวดิ้นไทยแขนั้นเองก็จะเปนชาติภูมิของไทยทั้งสิ้น แต่พวกไทยพอใจอพยพไปในที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาภูมิประเทศเพื่ออุดมภักษาหารฤๅพ้นโรคภัยใข้เจ็บ แลพ้นภยันตรายยายีบีฑาบีบคั้นให้เกิดยากแค้นเดือดร้อน จึงเพ่นพ่านกระจัดกระจายแพร่ไปในสาระทิศมาก พวกที่ไปข้างตวันตกฤๅหรดีก็สังสรรค์กับพม่ามากเป็นพวกไทยชานฤๅไทยใหญ่ แลแผ่มาเปนพวกมลาวแลลูฤๅลื้อ พวกที่สังสรรค์กะมอญมากก็เปนไทยสยาม ซ้ำสังสรรค์รคนจารีตขอมแขมร์ ฤๅเขมรด้วยอีกชั้นหนึ่ง ข้างพวกไทยชานไทยใหญ่นั้นอยู่ใกล้มอญแลกะเหรี่ยง สนิทสนมกันเข้า ก็ไถ่จารีตซ้ำเตีมเพิ่มเข้าอีกชั้นหนึ่ง แต่แม้กระนั้นรูปร่างกายไทยรูปลูกตาแลผิวพรรณก็ชี้บอกเทียวว่าชาติเดียวกันกะจีน
คำพูดที่ลม้ายกันนั้น จะถือเอาเปนองคพยานว่าร่วมชาติกันมิได้ก็จริงอยู่แหล่ แต่ทว่าก็ช่วยให้เปนทางวินิจฉัยได้มาก ย่อมยังใม่เพียงพอ เพียงกล่าวว่าคำว่าม้าแลช้าง ทั้งภาษาจีนแลภาษาไทยใหญ่ จนไทยสยามแปลว่าม้าแลช้างเหมือนกัน คำว่าผิง แลปิง แปลว่ารดับที่ราบ (ไทยสยามว่าผัง) เช้าแลเซ้าแปลว่ารุ่งอรุณ เลี่ยงแลลิง แปลว่าสว่างหรือกลางวัน (สยามว่าเที่ยง) แลคำว่าวันแปลว่าลูกกลมทั้งจีนแลไทยใหญ่ (คำสยามนอนวันว่าแน่ว) อนึ่งคำจีน จี่ ก็คล้ายกับคำไทยใหญ่ว่าซี แปลว่ากระดาษ แลคำว่ากวนแลขุนก็เสียงลม้ายแปลว่าผู้เปนใหญ่ในหมู่มนุษย์เช่นเดียวกัน ว่ากันที่จริงคำไทยกับคำจีนใน ๑๐ คำ คงจะมีลม้ายคล้ายคลึงกัน ๔ คำ มองซิเออร์เตอเรียนกล่าวว่า เมื่อเทียบภาษาจีนคำหลวงนั้นกับภาษาไทยรู้ชัดได้ว่าจีน ยืมเอาภาษาไทยไปใช้คิดส่วนใน ๑๐๐๐ คำเปนภาษาไทยเสีย ๓๒๕ คำ นอกจากคำยังไวยากรณ์ที่ใช้ในภาษาจีนคำหลวง ก็เหมือนกันกับภาษาไทย ผิดกันกับภาษาพม่าที่ปนกับภาษาธิเบตมาก อนี้ก็เปนพยานอีกชั้นหนึ่งในข้อสัมพันธวงศ์จีนในรหว่างชาติจีนกับชาติไทย การวางกริยาศรัพท์ในภาษาไทยใหญ่ก็เหมือนกับคำจีนหลวงคนละอย่างกะพม่าอีก ใช่แต่เท่านั้น ยังการใช้คำควบผสมสำหรับให้สละสลวย ซึ่งหมอคุชิงว่าเปนคำจริงคำ ๑ คำเงาเปนสร้อยอีกคำ ๑ เช่นไทยเราพูดว่า แดดงาย เล่นหัว พูดจา ล้มลุก เหงือกแหงก เที่ยวเตร่ ประจบประแจงเปนต้น ล้วนหมายคำๆเดียว อีกคำเปนสร้อยสละสลวย ชาติอื่นเช่นพม่ามอญใม่ได้ใช้นั้น ก็เปนวิธีใช้ชนิดเดียวกันทั้งจีนแลไทย อุทาหรณ์อย่างภาษาจีนเรียกถนนว่า ลู่เดา ไทยใหญ่ว่า ทางสิน ลู่แลทางแปลความอย่างเดียวกันว่ามรรคา ไทยสยามว่าลู่ทาง ฤๅคำว่าก่าไทยใหญ่แปลว่าสว่างไสว แต่ใช้พูดควบว่าก่ากี ในภาษาไทยใหญ่ก็ใม่มีหมายว่าอะไร แต่ข้างจีนคำกีแปลว่าสว่างไสว เมื่อเทียบเคียงสำนวนภาษาแลไวยากรณ์ ทั้งคำพูดผนวกกับรูปะกายเข้าด้วยกันแล้ว ก็ชักให้ตกลงใจวินิจฉัยว่าภาษาจีนหลวงกับไทย เปนภาษาพี่น้องกันโดยมั่นคง คำกะเหรี่ยง คำมอน ขอมฤๅชเมอร์แขมร์แลเขมรก็อย่างเดียวกัน เหมือนกับไทยกะจีน เหตุเหล่านี้จึ่งสันนิษฐานว่าไทยกับจีนชาติเดียวกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ จะว่าจีนออกจากไทยฤๅไทยออกจากจีนได้ทั้งคู่ แต่บรรพบุรุษคงร่วมชาติเดียวกันนั่นเอง หากต่างเจรีญแยกพวกไปห่างไกลกันก็เลยถือใจเปนคนอื่นกันไปเท่านั้น
ภูมนิเทศเมืองไทยใหญ่ (ฤๅชาน)
ภูมนิเทศระหว่างเมืองอาซัมแลเมืองจีนนั้นเปนหัวแง่ที่เกิดต้นแม่น้ำใหญ่ๆหลั่งไหลลงไปข้างไต้ขนานกันเปนระกะดังนิ้วมือกาง หัวขั้วก็ขั้นกันใม่ไกลนัก ครั้นต่อๆไปก็ยิ่งกางห่างกันออกทุกทีอย่างพัดด้ามจิ้วผ้านแผ่ไปตามบ้านเมืองนั้นๆ ตั้งแต่ทะเลเหลืองถึงอ่าวเมืองเบงคอล ธรรมดาแม่น้ำทั้งปวงเปนต้องแล่นไปในระหว่างภูเขาแคบสูงลิ่วลึกเปนธารเหว แลตัวเขาที่เปนทำนบกั้นแม่น้ำจากกันนั้นเองก็เลื้อยลงไปทางไต้เหมือนกะสายลำแม่น้ำฉนั้น แลหลั่นกันเปนสายโซ่ติดต่อราวกะกำแพงกันลำแม่น้ำ เทือกเขาเหล่านี้แบะกว้างห่างจากกันอย่างพัดด้ามจิ้วเหมือนกะแนวลำแม่น้ำห่างออกจากกันค่อยต่ำลาดลง เหมือนสายแม่น้ำแยกแควไปแฉวโน้นแฉวนี้ แต่กระนั้นก็ยังตั้งแนวเหนือมาไต้อยู่ตามๆกัน แม้ขาดขั้นเปนท้องทุ่ง เปนตอนเวิ้งๆ ซึ่งเปนที่ตั้งหัวเมืองไทยใหญ่ต่างๆ ในบรรดาแม่น้ำหลายสายเหล่านี้ แม่น้ำสัละวีน ฤๅขงแลโก๋งก็เรียกนั้นเปนแม่น้ำใหญ่ เปนประธานหลั่งไหลกระแสรน้ำดั้นด้นลงไปในซอกเทือกเขาเปนเหวลึกเหมือนกำแพงสองฟากไปกระทั่งถึงภาคพื้นท้องทุ่ง แลแล่นชนจนลงไปหาทะเลตามกาลเวลาล่วงๆ มา
แม่น้ำสัละวีนนั้นไหลผ่ามาเกือบจะผ่าน ใจกลางหัวเมืองไทยใหญ่ของอังกฤษ แลทั้งตั้งอยู่ท่ามกลางเกือบจะเปนตรงกลางพัดด้ามจิ้ว หัวโต่งก็แม่น้ำพรหมบุตร์ถัดก็แม่น้ำอิระวดี จึงถึงแม่น้ำสัละวีน แล้วก็แม่น้ำโขงแลแม่น้ำแยงซีเปนสุดโต่ง แม่น้ำสัละวีนที่มีเขาเปนเขื่อนกำแพงหินย่อมอำนวยไชยะภูมิที่เหมาะ เพราะฉนั้นสาขาชาติไทยอันตั้งอยู่ทั้งสองฟากจึ่งพูดเสียงแปร่งเพี้ยนภาษากัน ชื่อต่างกัน แม้ตัวอักษรก็ยังแตกต่างกันด้วย แต่รูปะพรรณสัณฐานใม่แปลกกันกว่าเขาแลแม่น้ำในบ้านเมืองที่ปรากฎ ซึ่งทั้งสองฝั่งเป็นเขาเขีนเนื่องกันเปนสายโซ่ ขาดจากกันแลซับซ้อนกันบ้างเรื่อยมาแต่เหนือหาไต้ เขายอดที่สูงที่สุดนั้นอยู่ในระหว่าง ๑๕ เส้นถึง ๒๒ เส้นครึ่ง แต่หว่างเขาแลทางห้วยธารตัดเทือกเขาเหล่านั้นให้ตัดกันออกเปนตอนๆ มีเวิ้งท้องทุ่งบางแห่งยาวแลบางแห่งก็แคบ บางแห่งก็เปนเขาคอกวงกลมคล้ายถ้วย บางแห่งก็เปนเขาวงอ้อมท้องทุ่งดินราบราวกะวงไส้กรอก บางแห่งก็เปนทุ่งกว้างพอที่จะเปนเช่นเวิ้งแม่น้ำอิระวดีในท้องทุ่งตอนล่างได้ อาการบ้านเมืองเปนเช่นนี้นั่นเอง ส่อให้อาการของมนุษย์ะชาติที่สิงอาไศรย คือไทย ปราศจากความอยู่สุขใม่รบพุ่งต่อกันแลกัน แลควบคุมกันเปนพวกเพื่อต่อสู้ป้องกันเพื่อนบ้านพวกอื่นที่ทเยอทยานบุกรุก ล่วงล้ำเข้ามายายีบีฑาใม่ไหว อนึ่งเมืองเขาเขินนั้นๆ ทำให้เปนการสดวกแลง่ายแก่การชิงไชยตามขนบพิไชยสงครามดึกดำบรรพ์ ด้วยมีห้วงอเลอเขาอยู่ทุกหนทุกแห่ง อนึ่งมนุษย์ที่อยู่ในภูมิประเทศเช่นนั้น ก็ย่อมจะลเลิงเถื่อนไปตามกันใม่มากก็น้อย
พวกไทยใหญ่ใม่ใคร่จะพอใจไปทางที่ดินราบใกล้เวิ้งแม่น้ำเหมือนพวกลว้าแลกะเหรี่ยงที่ชอบอยู่แต่บนเขาเขินฉนั้น ท้องทุ่งใหญ่ก็ขุดเปนคลองรบายน้ำ ทุ่งเล็กลำห้วยธารก็กั้นทำนบรบายขึ้นมาลงคลองด้วยมูลดินก้อนหิน ที่ฝั่งน้ำสูงก็ใช้ใม้ใผ่ทำกงจักร์พัดน้ำรบายขึ้นมาบนพื้นนาที่เภาะปลูกซึ่งต้องการน้ำ ใม่ว่าที่ไหนการกษิกรรมอยู่ข้างเอาธุระกันมาก แลขยันขันแข็งเปลืองแรงมากกว่าในเมืองพม่า แลเปนหลายตำบลยังเภาะปลูกในฤดูหนาวอิก คือปลูกยาสูบแลถั่วงาต่างๆ ท้องนาที่มีมากที่สุดก็เมืองหน่าย เมืองไลขา เมืองแสนหวี แลเมืองยางห้วย (ยองฮเว) แลยังมีในหัวเมืองอื่นๆอีกมาก แม้ที่ท้องนาจะย่อมกว่ากันก็ยังมีที่นาลุ่มอุดมดี เหลืออยู่มากกว่ากำลังพลเมืองจะโก่นสร้างเภาะปลูกอยู่อิกมาก
ในบางหัวเมืองเช่นในเมืองเม้ยลัดภาคแห่งเมืองหนอง แลเมืองเกษีแมนสัม แลในหัวเมืองแสนหวีข้างไต้ เบื้องตวันออกแห่งลอยลิง (ดอยดิ่ง) เปนที่ดร ก็ยังใช้เภาะปลูกกันได้ประจำปี แลเปนหลายปี ยากที่จะแลเห็นต้นไม้สักต้นเดียวนอกจากในลแวกบ้านแลในวัด ในเมืองดรเหล่านี้ นอกจากที่แอ่งตามริมฝั่งห้วยแล้วการเภาะปลูกก็ใช้พึ่งน้ำฝนในที่ดรสิ้น เรียกกันว่าไฮ่ (คือไร่เพราะไทยใหญ่พูดตัว ร เปน ฮ) พม่าเรียกตองยา แลไร่อย่างนี้ทำกันได้จนบนภูเขาเปนที่ราบมีพื้นดินบนหินอยู่ ในที่เช่นนี้แม้ใช้หยอดเข้าไร่กันเปนพื้นแล้ว ก็ยังมีปลูกฝ้ายแลปลูกไม้ล้มลุกต่างๆ เช่นถั่วงาแลฟักแฟงแตงน้ำเต้าด้วย เหมือนกะที่ในท้องทุ่ง หัวหอมหัวกะเทียมก็ปลูกกันมาก อ้อยนั้นปลูกกันมากในเมืองยางห้วย (ยองฮเว) แต่ยาสูบอย่างล่ำลือนั้นปลูกที่เวิ้งเมืองลังเกือในจังหวัดหมอกใหม่ ในเมืองลอยหลวงทองเพ็งนั้นปลูกใบเมี่ยง แลในแขวงแปตกางจังหวัดเมืองเชียงตุงก็ปลูกกันมาก นอกนั้นใม่ใคร่มีปลูกกันที่อื่น
ใม่ว่าที่ไหนมีแต่โคกระบือฝูงโตๆ แต่ดูเหมือนแถบหัวเมืองแม่น้ำสัละวีนข้างตวันออกที่มีทุ่งหญ้าอุดมนั้น จะใช้เลี้ยงผสมสัตว์พาหนะกันมาก กระบือเปนสัตว์สำคัญที่ใช้ในการไถคราดย่ำลานทำนา โคนั้นใช้เปนสัตว์พาหนะสำหรับขนของสินค้า บางแขวงเช่นเมืองเม้ยลัต เมืองเกษีแมนสัม เมืองตั่งยัง แลเมืองเกงนั้น มีพ่อค้าหากินขบวนบรรทุกสินค้าไปเที่ยวจำหน่ายมาก มากกว่าพวกที่หากินทางกษิกรรมขึ้นไปเสียอิก ใม่ว่าใครล้วนเปนเจ้าของโคต่างกันแทบทั้งนั้น แลการกษิกรรมนั้นเปนวิชาหากินทั่วๆกันไปในพื้นบ้านพื้นเมืองเฉภาะฤดูฝนชุก การช่างนั้นก็มีทำกระดาษด้วยเปลือกไม้ แลทำม่อกะทะถ้วยโถภาชนะต่างๆสุดแต่ที่พื้นดินดีให้ช่อง ราษฎรที่อยู่ตำบลนั้นๆกะตั้งทำม่อไห เมื่อฉนี้แม้ต้นเข้าปลูกกันใม่ว่าที่ไหน แต่ก็ได้ผลเม็ดเข้าใม่เสมอส่วนกัน เหตุฉนี้จึ่งต้องมีการขนส่งสินค้าโดยโคต่างไปจำแนกในที่ขัดขวางใม่เฉภาะแต่ในหัวเมืองไทยใหญ่ด้วยกันเท่านั้น ทั้งต้องลงไปถึงท้องทุ่งหัวเมืองพม่าด้วยบ้างซ้ำไปเสียอิก พวกเมืองลอยหลวงทองเพ็งใม่ยอมให้โคต่างเข้ามาจำหน่ายสินค้าอย่างใดในบ้านเมือง ถ้าใม่ได้ขนเข้ามาจำหน่ายด้วยตามจำนวนโคต่างที่ตั้งไว้เปนอัตรา แต่ข้อบังคับนี้ใม่สู้กวดขันนัก ในเวิ้งลังเกือ ฤๅในถิ่นที่ทำสมุดกระดาษ คือเมืองเชียงโล้งจังหวัดเมืองหน่าย แต่ก็คงมีข้อบังคับสำหรับพวกพ่อค้าโคต่างที่บรรทุกสินค้าเข้ามาจำหน่าย สุดแต่ให้สมประโยชน์ของคนในเมืองนั้นๆ ตามสมควรแก่ทางอลุ่มอล่วยให้เรียบร้อยไปด้วยกันได้
ในเมืองหว่างเขาสูงเวิ้งห้วยแม่สัละวีนนั้น มีต้นส้มหลายชนิดแต่ที่สำคัญล่ำลือกันนักนั้นก็เมืองกั้นตู้หลวง (พม่าเรียกกะตุคญี) ในจังหวัดเมืองหมอกใหม่ ผลไม้อุดมนัก ทั้งขนาดแลรศก็ใม่มีที่ไหนสู้หมด ใม่ชั่วแต่ในแว่นแคว้นหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งสิ้น ซ้ำดีกว่าหัวเมืองสำคัญที่ล่ำลือเช่นเซวินเลฤๅโฟลริดา แลแม้แต่ในกรุงจีน นอกนั้นใม่มีผลไม้อร่อยๆเปนแต่มะม่วงในเมืองหมอกใหม่เหมือนกันกะมะม่วงในกรุงมัณฑเล ผลไม้ฝรั่งเช่นผลบีช ผลพลัม ผลเปีย ผลเชอรี แลผลแอปเป้อลงอกในป่าดื่นไป แต่กินใม่ใครได้ใม่ดีเลย กลายเปนผลไม้สำหรับสัตว์ในป่ามากกว่ามนุษย์ด้วยมันเปนไปเองใม่มีใครบำรุง ไร่เขาที่สูงตั้ง ๒๐ เส้นขึ้นไปผลราสเบอร์รีงอกชุมยามฝนชะลานโปรยลงมาสักหน่อย ก็ออกผลดกราวกะคนปลูกไว้ในสวนเมืองอังกฤษก็ใม่ปาน ผลแบลกเบอรี่ก็มีแต่กินใม่อร่อยเฝื่อนๆผลวอลนัดในหัวเมืองไทยใหญ่นั้นมาแต่เมืองจีนโดยมาก แต่ในหัวเมืองไทยใหญ่เองนั้นก็มีป่าวอลนัดอย่างน้อยก็ป่าหนึ่ง ซ้ำเปนป่าใหญ่ในเมืองลว้าในเขาข้างเบื้องตวันตกแห่งเขาหนองเขียว
ไม้ซุงมีค่าเปนอันมากเช่นไม้สักได้มีในป่าเมืองกะเหรี่ยงแลในหัวเมืองหมอกใหม่ เชียงตอง เมืองปั่น เมืองลอกสอก เมืองสีปอ แลเมืองภู แต่ไม้สักตัดกันอย่างปู้ยี่ปู้ยำ เพราะฉนั้นบางป่าฉิบหายยับเยินเสียแทบสิ้นเสียแล้ว แลในป่าที่กำลังเริ่มจะลงมือฉิบหายอยู่ ก็พออังกฤษได้เข้ามาเปนเจ้าของปกครองบ้านเมืองเห็นไภยในป่าเหล่านั้น จึงรีบลงมือจัดการป้องกันรักษาให้ได้ตัดแต่ตามควรตัดให้ได้ทั้งประโยชน์แลรักษาป่าให้เปนประโยชน์ถาวรยืนยืดไปชั่วกัลปาวสาน ไม้เบ็ญจพรรณต่างๆ นอกจากไม้สักนั้นใช้กันอยู่แต่ในพื้นบ้านพื้นเมืองเท่านั้น หาได้บรรทุกออกไปขายในนาๆประเทศเปนกำไรใม่ สินค้าที่เกิดจากป่ายังมีครั้งเปนของสำคัญ ตั้งแต่อังกฤษได้เข้ามาปกครองการปลูกมันต่างๆขยายแผ่ผ้านออกไปมาก แลช่วยแนะนำทางหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้ให้ดีขึ้นได้ปลูกเข้าสาลีโดยเจ้าพนักงารทดลองให้ดูเปนตัวอย่าง เมื่อถนนหนทางดีขึ้นแลต่อทางรถไฟยาวขึ้นไปท้องตลาดก็เปิดเผยแก่มหาชนทั่วไป ข้อสำคัญสองประการนี้ น่าจะกว้านเงินกำไรเข้ามาในบ้านเมืองไทยใหญ่มากขึ้นได้ เมื่อยังใม่มีทางรถไฟการขนส่งสินค้าลำบากแลแพง ตัดทางที่ควรจะทำได้ให้เปนประโยชน์ ต้องอั้นตู้เสียหลายประการ
กษิกรรมบนเขาเขิน
พวกมนุษยะชาติบรรดาที่อยู่บนเขาโดยมากหยอดเข้าไร่ไว้สำหรับกินเลี้ยงชีพครอบครัวของตนเท่านั้น ใม่คิดซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่บางครอบครัวก็ปลูกฝ้ายสำหรับขาย แลใม่ว่าใครเปนปลูกกันชา ฝิ่นนั้นใม่ได้ปลูกสำหรับขาย ข้างตวันตกแม่น้ำสัละวีน นอกจากพวกเขาลอยม่อในข้างไต้แสนหวีแลหมู่อื่นอิกน้อยพวกแล้ว ข้างตวันออกแห่งแม่น้ำแขวงโกกางปลูกกันมาก แลในหมู่พวกลว้าแลหมู่ลาฮูข้างเหนือก็ปลูกกันมาก พวกลว้าป่าเลี้ยงชีพอยู่ด้วยถั่ว พวกลาฮูเลี้ยงชีพด้วยเข้าโพชน์แลเข้าสาลีบ้าง แลพวกมุงกินเข้าโพชน์อินเดียเม็ดโตๆอย่างให้ม้ากิน เข้าไร่หยอดไว้บ้างแต่สำหรับทำเหล้าใม่ใช่สำหรับกิน พวกชาวเฃาเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เปนหลักเปนแหล่งบางครัวก็ปลูกฝ้ายกันมากๆสำหรับขาย แต่โดยมากปลูกแต่พอทอเสื้อผ้าใช้สำหรับครอบครัวตนเอง แลปลูกผักสำหรับกินบ้าง ยาสูบสำหรับสูบบ้าง ถ้าฝิ่นปลูกไว้เหลือสูบก็ใช้แลกเกลือ นอกนั้นใม่ใคร่ต้องการอไรจากโลกทั้งหลายนอกครอบครัวพวกเขา ใม่มีชาวเฃาเฃีน พวกไหนนอกจากพวกกะจีนที่ตั้งรายๆอยู่ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง จะมีสัตว์พาหนะ แต่ใม่ใครไปไหนพ้นตลาด สำหรับหมู่ที่ตั้งอยู่เชิงเขาที่พวกตนตั้งอยู่ แต่แม้กระนั้นก็ลงไปใม่บ่อยกว่าเดือนละครั้ง มีพวกกะจีนที่อยู่ใกล้ๆพวกไทยใหญ่น้อยครัว ซึ่งมีสัตว์พาหนะตัว ๑ ฤๅ ๒ ตัวกล้าเที่ยวไปไกลๆ แต่นอกจากคนชนิดนี้แล้ว ก็เปนใม่มีพวกชาวเขาหน้าไหน สำแดงอาการค้าขายเปน ให้แลเห็นแปลกตาเลย
การค้าขายของไทยใหญ่ (ฤๅชาน)
ฝ่ายพวกไทยใหญ่นั้นถนัดในทางค้าขายมาก แต่มักค้าขายชั่วแต่ของเล็กๆน้อยๆ เปนด้วยขัดทุนรอน แต่ข้อสำคัญเปนด้วยหนทางไปมาน่ากลัวอันตราย แลหนักหน้าด้วยถูกชักภาษี จนเกือบจะสุดวิไสยที่จะหากำไรได้ ตั้งแต่บ้านเมืองเรียบร้อยลง สินค้ามีแต่เจริญทวีมากขึ้นทุกที แลยังแลเห็นท่าทางมีแต่น่าจะยังจำเริญต่อไปอิกมากกว่าที่เปนอยู่บัดนี้ ตามข้อบังคับสำหรับเมืองนั้น ทางนัตเตียก แลทางเมืองชุมสาย เมืองสีปอ เมืองแสนหวี นั้นเปนทางสำคัญของการค้าขาย แต่ยังมีทางเล็กๆที่ใช้เดินทางไปตามเชิงเขาจากเมืองพะโมไปเมืองตองอูก็มีอิกหลายแพรก แต่ทางเหล่านี้ล้วนแต่เดีนยากเสียมากแต่ก็ต้องไปทั้งยากๆ ดีกว่าไปถูกขุนนางพม่ารีดนาทาเน้นขูดชักภาษีเสียจนแทบทนใม่ไหว เมื่อทางไหนมีภาษีมาตั้งชักเอามากๆ ทางนั้นก็เลิกเดินกันเสียปี ๑ ฤๅ ๒ ปี พวกโคต่างก็ซุกซอนไปกันทางอื่น
ตั้งแต่อังกฤษเปิดทางรถไฟไปถึงกรุงมัณฑเล แลทำถนนเปนทางเกวียนจากเมืองเมียกติลาไปถึงที่ว่าราชการหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้ แลจากกรุงมัณฑเลไปเมืองลาเฉียว ถนนรัฐบาลเหล่านี้เปนประโยชน์ใช้กันแต่เปนทางไปมาทางราชการเท่านั้น ราษฎรใช้แต่จำเภาะหน้าฝนๆชุกไปทางอื่นใม่ได้ สินค้าขาออกอย่างสำคัญนั้นมีใบเมี่ยง โค ม้า หนัง เขา น้ำตาลทรายแดง ใบยาสูบ มัน ครั่ง แลผลไม้สดต่างๆ กับสิ่งของเบ็ดเตล็ด สินค้าขาเข้าที่สำคัญนั้นก็ผ้าแลแพร เกลือแลปลาเค็ม หมากสง ทองเหลือง แลโลหะอย่างอื่นกับน้ำมันดิน
พวกพ่อค้าโคต่างย่อมพากันลงมาจากหัวเมืองตามแม่น้ำสัละวีนทั้งปวง สู่ท้องทุ่งหัวเมืองที่พ้นแม่น้ำสัละวีนขึ้นไปนั้นมักไปค้าทางอื่น บางพวกเปนพวกหัวเมืองข้างแถบตวันตก บางพวกเปนพวกข้างหัวเมืองแถบตวันออก แม่น้ำสัละวีนนั้น รวมลงมาท้องทุ่งแต่แยกกันค้าฝ่ายละแฉวตามที่เคยๆมา มีพ่อค้าที่เที่ยวไปทุกหนทุกแห่งตลอดจำพวกเดียวแต่จีน แลพวกฮุยฮุยฤๅฮ่อที่ใช้บรรทุกตามหลังฬ่อเดินทางได้เร็วกว่า ไกลกว่าพวกไทยใหญ่ พวกพ่อค้าเหล่านี้บ้างก็เลยตั้งบ้านเรือนอยู่ในหัวเมืองไทยใหญ่ณเมืองแพ่งหลวง เมืองลอยม่อ เมื่อเกษีแมนสัม เมืองหนองวอน แลตำบลอื่นๆ แต่พวกที่มานั้นมักไปค้างรดูฝนในหัวเมืองยูนนาน ยังมิพวกที่เงี้ยวเรียกว่าโกมหาบ (คือคนหาบนี่เอง) หาบต่างบรรทุกสินค้า น่าจะเรียกว่าคนต่างฤๅต่างคนคุมกันเข้าเปนพวกมากบ้างน้อยบ้างไปเที่ยวค้าขายทั่วไป ใม่ชั่วแต่เฉภาะหัวเมืองไทยใหญ่ของอังกฤษต่างๆเท่านั้น ทั้งไปถึงเมืองน่าน เมืองแพร่ แลหัวเมืองชานคือมลาวฝ่ายสยามต่างๆ แลครั้งหนึ่งพวกเงี้ยว (คือไทยใหญ่) พากันหาบสินค้าไปขายอย่างไกลถึงเมืองหลวงพระบาง (เงี้ยวเรียกเมิงโหลงปาวัง) แต่ภายหลังมาถูกเจ้าพนักงารฝรั่งเศสกรรโชกไทยใหญ่พวกนี้จนเลยเลีก ความคิดค้าขายนั้นเปนอย่างเรี่ยวแรงของไทยใหญ่ แลอาจหาเงินเข้าบ้านเข้าเมืองได้โดยขบวนค้าขายมากกว่า ถ้าพลเมืองจะพากันง่วนทำแต่ทำการกษิกรรมอย่างเดียว
การทำแร่
ถ่านสิลาก็มีผู้พบมีเปนหลายตำบล ทั้งในหัวเมืองไทยใหญ่ฝ่ายเหนือแลฝ่ายไต้ แต่เพียงเท่าที่ได้ตรวจตราแล้วนั้น แร่ถ่านสิลาโดยมากมักเปนชนิดอย่างทราม ที่จริงปรากฎว่าน่าจะเรียกถ่านไม้ทรากมากกว่าเรียกว่าถ่านสิลา แต่การที่ตรวจตรายังเปนแต่สุ่ม ๆ เมื่อทางรถไฟมัณฑเลแลสัละวีนได้เปิดแล้วที่พรมแดนเมืองลาเฉียวแลน้ำมาน่าจะได้พบแร่ที่มีค่ามากกว่าที่พบแล้ว แร่ดีบุกก็ได้ทำกันที่เมืองมอโสน แลเมืองกยอกตัดในจังหวัดเม้ยลัต แลที่ตำบลอื่นๆอิกหลายแห่ง ขึ้นชื่อเสียงก็ที่ตำบลกัตม่อใกล้เมืองตะกูต แร่เงินก็มีมาก ออแรใหญ่ที่บ่อดวิงญีในแขวงเมืองทองเพ็งนั้น เลีกทำกันมาเสียตั้งชั่วคนแล้ว แต่ยังมีแร่ดีในเวิ้งน้ำข่าในแคว้นซ่า เครื่องเงินประดับกายใช้กันทั่วไปแลใช้กันมากทั่วไปทุกหนแห่ง ในเมืองเขาเขีนเหล่านั้นแร่ทองก็ร่อนกันมากในลำห้วยต่างๆ แต่ตามที่ตรวจแล้วยังใม่มีที่บ่อทองอันอุดมซึ่งได้พบเลย บ่อทับทิมมีในเมืองหลวงแลในน้ำเมา (ชเวลี) แต่ศรีก็ใม่งามขนาดก็ย่อมใม่ใช่อย่างปัทธัมราคเปนอย่างทับทิมพลอยแหวน
มหานครไทยครั้งดึกดำบรรพ์
เมืองร้างนั้นมีมาก แลที่ดินกว้างใหญ่ที่เมืองร้างเหล่านั้น ๆ ตั้งอยู่นั้น ตำแดงให้เห็นได้ว่าในครั้งใดครั้งหนึ่ง หัวเมืองไทยใหญ่คงจะต้องเคยมีพลเมืองมาก แลมีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าที่เปนอยู่ในบัดนี้ การที่มหานครมีจำนวนมากมายนั้น เปนด้วยธรรมเนียมในสุวรรณะภูมิปัจจันตประเทศ (อินโดชีน) พอใจสร้างมหานครใหม่ทุกรัชกาล สุดแต่ราชาพระองค์ใดขยันขันแข็งฤๅตั้งวงศ์ใหม่แล้ว เปนต้องย้ายเมืองหลวงโดยเหลือที่จะเว้น เมื่อว่าตามพงศาวดารแสนหวีแล้ว แม้แต่ชั้นหลังๆนี่เอง มหานครยังย้ายกันใม่ได้หยุดได้หย่อน แต่มหานครชั้นดึกดำบรรพ์ดอก ที่กว้างขวางใหญ่โตมากทั้งมีเชีงเทีนแลดูแข็งแรงมาก อาการเหล่านี้เองก็เปนเครื่องส่อให้เห็นทางที่ไทยเดีนแต้มเช่นไร แลตำบลที่ไทยตั้งมั่นในยุคที่ไทยเปนเอกราชนั้นเปนอย่างไร เมืองหลวงเหล่านี้มีชุมในจังหวัดหัวเมืองไทยใหญ่ข้างเหนือแสนหวี เช่น แสรล้าน ผังคำ เมืองสี เวียงแสง ซึ่งเปนที่ตั้งเมืองยอในบัดนี้แลเวียงไผ่ ที่ยังมีเชีงเทีนดินอายุกว่าร้อยปีมาแล้ว ยังแข็งแรงพอที่จะป้องกันกองโจรของเจ้าฟ้าเมืองสีปอในปี พ,ศ, ๒๔๓๐ ได้ ทางเมืองหลวงครั้งนั้นข้อนข้างปัดมาข้างทิศอาคเณย์ แต่ในหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้นั้นมีเมืองหลวงน้อย ใม่มากมายนัก นครที่ใกล้แม่น้ำสัละวีนนั้น อาการบ้านเมืองยั่วให้ใช้เขาเปนเครื่องกำบังนครดีกว่ากำแพงแต่บางนครแถบแม่น้ำโขงกลับใช้เชิงเทินดินเปนกำแพงอิก บางนครใหญ่โตแลคูก็ลึกแลเข้าไปอยู่ในป่าลึกเช่นเวียงแชแขวงน้ำโกก บางเมืองก็ปรกด้วยพงหญ้าเช่นเชียงแสน ยิ่งในหัวเมืองไทยมลาวของสยามยิ่งมีมหานครมากเหมือนกันกะแถบน้ำเมา (ชเวลี)
ใม่มีอไรจะทำให้คนแถบนั้นใม่รู้ใม่ว่าสิ่งอไรหมด ยิ่งกว่านามนครโบราณเหล่านี้ อย่าหาแต่ว่าจะมีมานะคิดถึงคิดเขียนพงศาวดารชาติไทยสำหรับจิตจำไว้เลย แต่ชื่อเมืองก็ยังใม่เอื้อที่จะรู้ ในท่ามกลางป่านักเที่ยวไปพบแนวเชีงเทินดินซึ่งต้นไม้ขึ้นปกคลุมโตตั้ง ๑๐ กำ ๑๒ กำ ครั้นสืบถามได้ความว่าแนวนี้ยาวไปตั้ง ๖๐ เส้นสี่เหลี่ยม ชานนอกมีคูยังเห็นรอยกว้างกว่า ๙ ศอกลึกราว ๖ ศอก แต่เปนป่าต้นไม้งอกปรกเสียสิ้นแล้วหามีน้ำขังใม่ คเนเชิงเทินสูงราว ๘ ศอกถึง ๓ วา คงจะใช้คนถึงพันๆคนอยู่ตั้งปีจึงจะทำสำเร็จได้ แม้กระนั้นบัดนี้ข้างในยังใม่เห็นมีอะไรนอกจากป่าทีบ นอกจากการถากถางโก่นสร้างแล้วจะเห็นการข้างในเมืองใม่ได้ รู้แต่ว่าข้างในกั้นกำแพงสกัดขวางเปน ๓ ตอน นี่ก็ตามธรรมดามหานครตดึกดำบรรพ์มักทำกันเช่นนั้น เห็นจอมปลวกสูงเปนกะปุ่มกะป่ำอยู่ที่โน่นที่นี่น่าจะเดาว่าเปนถาวรสถาน ก่อด้วยอิฐปูนเปนฐานปราสาทราชมณเฑียรฤๅเจดีย์สถานแต่ต้นไม้คลุมเสียหมด ทั้งจอมปลวกก็ทับที่ รู้อะไรใม่ได้นอกจากว่าเคยเปนมหานครสำคัญมาครั้งหนึ่งเท่านั้น
สถานสำคัญๆเหล่านี้ใม่มีใครรู้ใม่ชั่วแต่เรื่องราวซ้ำใม่รู้ชื่อด้วย บ้างก็ว่าเมืองของจีนสร้าง แต่อาจจะชั่งใจได้ว่าใม่จริง ด้วยได้ทราบเค้าพงศาวดารจีนของมิสเตอร์ปาร์เกออยู่แล้ว ลาวในแคว้นเมืองไทยลาวฝ่ายสยามพอใจจะพรรณนาว่าลว้าสร้าง ด้วยพวกลว้าฉลาดในเชิงป้องกันตัวตั้งสนามเพลาะแลพูลค่าย แต่นั่นก็ทำแต่หย่อมเล็กหย่อมน้อย ใม่น่าจะนึกว่าคนป่าเหล่านั้นสามารถสร้างมหานครเช่นได้เห็นฉนี้ได้ ครั้นขัดคอหนักเข้า ก็ตอบว่าพญานาคสร้าง ก็เปนอันหมดคำจะเถียงต่อไป บางเมืองที่พบเชีงเทีนดินคาดอายุตามอายุต้นไม้ที่ขึ้นใม่เกิน ๒๐๐ ปีก็มี แลตรวจอาการรู้ว่าเปนเมืองไทยแท้ด้วย ๆ วิธีกั้นกำแพงในเมือง ๓ ตอนแลขุดคูเปนต้น ถามใครก็บอกแต่ว่าเปนเมืองร้างมา ๕๐ ชั่วคนแล้ว ใม่เข้าความจริงทางคำนวนอิก คงทิ้งเมืองไปใม่เพราะสร้างนครใหม่ก็เพราะสงคราม อนึ่งพม่าตีเมืองได้แล้วมักพอใจทำลายรื้อป้อมปราการเมืองเสีย เหตุฉนั้นในหัวเมืองไทยใหญ่ของอังกฤษที่เหลือ จึงใม่ใคร่มี ยังมีแต่กำแพงเมืองเชียงตุงซึ่งใม่เก่านักทั้งใม่ใหญ่โตแลใม่ใช่อย่างแข็งแรงเหมือนได้เคยเห็นๆ มาแล้วด้วย
หัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้
ในหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้ (ซึ่งปันหัวเมืองไทยใหญ่เปนข้างเหนือข้างไต้ เพื่อสดวกแก่ทางการจัดราชการปกครอง]) นั้น ความเปนใหญ่ของพม่าย่อมประดิษฐานก่อนเขยีดขึ้นไปถึงหัวเมืองไทยใหญ่ข้างเหนือมาก อันที่จริงดูเหมือนใม่มีทางที่จะเปนข้อสุดวิไสยที่จะเปนได้เลย ที่มอญฤๅพม่าจะได้ครอบครองหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้ แต่เบื้องดึกดำบรรพ์ก่อนมีไทยเคยมาเหยียบถึงด้าวแดนเหล่านั้น ด้วยบรรดาหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้ทั้งปวง ที่มีพงศาวดารอยู่บ้างย่อมอ้างถึงเวลาเมื่อเจ้าฟ้าไทยใหญ่ฝ่ายเหนือโดยมากว่าเสด็จยกจากเมืองมีต (คือจากราชอาณาจักร์ไทยเมาเวิ้งแม่น้ำเมา (คือชเวลี) นครใดนครหนึ่งลงมาตั้งนครณฝ่ายไต้ เมื่อเช่นนี้ก็เปนเหยื่อให้อนุมานต่อไปได้ว่า พวกไทยพึ่งลงมาข้างไต้ตั้งครอบครองเมืองไลขา เมืองหน่าย เมืองยางห้วยแลหัวเมืองอื่นๆ ต่อเมื่อเจ้ากุไบลขั่นยกมาทำลายราชอาณาจักร์ตะลีอันตรธานแล้ว ตำนานฤๅพงศาวดารของไทยแต่ละล้วนอ้างถึงการมานมัศการเสกยะพองดอโดยเรือยาว แลมิใช่พระเจ้าหงสาวดีฤๅพระเจ้ากรุงภุกาม แต่เปนขุนลูขุนไลท้าวเมือง เอาอย่างหัวเมืองไทยใหญ่ฝ่ายเหนือ เมืองที่ใม่มีพงศาวดารเลย เบื้องดึกดำบรรพ์ก็ยอมว่าพม่าตั้งครอบครอง มากกว่าตำบลที่เรารู้ว่าไทยมาจากไหน จนกระทั่งถึงยุคไทยเมา ฤๅหัวเมืองขึ้นของไทยเมา ฤๅพวกที่แตกหนีจากไทยเมา ลงมาเปนเจ้าฟ้าเมืองก้อง (คือโมคองฤๅเมืองคัง) แลเมืองยาง (คือโมยิน) ยกไปตีเมืองพม่าตอนบนแลตั้งเปนกษัตริย์ครอบครองอยู่ที่นั้นมายุคหนึ่ง พึ่งจะในยุคนี้เอง จึ่งพึ่งได้ทราบว่ามีเจ้าฟ้าลงมาจากข้างเหนือสู่หัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้ วงศ์โบราณก็กล่าวกันว่าสิ้นสูญไปเสียแล้ว ฤๅไปปนในกรุงอังวะ จับตั้งเปนพระวงศ์สายใหม่ ฤๅลลายไปเชิงสันนิวาศ สุดแต่จะเล่านิยายอย่างไรก็ตาม เว้นแต่ข้อที่ดูเหมือนจะเปนได้จริงนั้น ก็คือไทยชั่วแต่พึ่งยกลงมาข้างไต้เปนกองทัพในยุคนี้เท่านั้น การข้อนี้อาจจะเปนสักแต่ว่าเดา แต่ถ้าใม่อย่างนั้น ความจริงเช่นที่ว่าก็จะต้องพิศูจน์ด้วยข้อความรายลเอียด ซึ่งยังใม่มีใครหาได้เลย ก็ใครเล่าเปนผู้แรกตั้งอยู่ในหัวเมืองข้างไต้แต่เบื้องดึกดำบรรพ์มา ถ้าคำที่ว่าไทยพึ่งยกมาทีหลังนั้นถูกต้องแล้ว ก็เปนการจนปัญญาจะหาหลักพิศูจน์ได้เหมือนกัน แต่ตราชูแห่งทางอนุมานตามทางที่จะเปนได้นั้น น่าจะตอบว่าดูเหมือนจะเปนกะเหรี่ยง ถ้าใต่สวนต่อไปได้พยานชัดว่าฃอมฤๅขเมอร์ฤๅเขมรฤๅขะมุฤๅลว้าฤๅปะลอง บรรดาเปนพวกคนป่าที่ครั้งดึกดำบรรพ์เรียกว่ารากษษนั้น คือชาติมอญตามที่นักปราชญ์ฝรั่งพากันยืนยันนั้นแน่แล้ว มอญก็อาจจะเปนผู้มาตั้งอยู่ก่อนไทยได้ แต่ดูเหมือนน่าจะเห็นว่าไทยใหญ่มาขับพวกกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ก่อนชิงเอาถิ่นฐานคมคายกว่า พวกกะเหรี่ยงยางแดงแลพวกต้องซู่ในปัตยุบันนี้ ดูเหมือนน่าจะชี้ว่าคือเปนกะเหรี่ยงที่กล่าวนี้เอง คนที่เมืองตะโถงฤๅสะเทมในพม่าตอนล่างเล่าว่าพวกตนมาแต่ที่ตำบลหนึ่งชื่อนั้นอยู่บนเขาก่อน พวกต้องซู่เมืองสะถุง (คือไทยที่มาจากสะโตง) ว่าพวกตนมาจากเมืองตะนาวศรี คำที่ว่าอาจจะถูกด้วยกันทั้งคู่ก็เปนได้ กะเหรี่ยงอาจจะถูกพระราชาเตลงฤๅพม่าไล่ต้อนลงมาข้างไต้สู่เมืองตะนาวศรี แลต่อมาอาจจะกลับขึ้นไปตั้งบ้านเก่าของตนฤๅกลับขึ้นไปตีพวกที่รุกรานแตกพ่ายไปก็เปนได้ทั้งเพ
ความเสื่อมโทรมของไทยใหญ่
เถีดถึงจะอย่างไรก็ตามที ข้อที่ใม่มีใครเถียงได้นั้น ก็คือพระมหากษัตริย์พม่า ได้รับราชบรรณาการแลปกครองในหัวเมืองไทยใหญ่ทางไต้สืบกันมาหลายชั่วกษัตริย์เปนช้านาน ก่อนกษัตริย์พม่าได้ขึ้นไปประจำปกครองในแสนหวีซึ่งพม่าพึ่งได้แผ่อานุภาพขึ้นไปถึง ใม่เร็วกว่าปี พ,ศ, ๒๑๔๗ ฤๅ ๒๑๔๘ เมื่อราชอาณาจักร์ไทยเมาตกเปนอันจบ ตั้งแต่ยุคนั้นมา แม้ถึงบางคราอำนาจพม่าจะอ่อนแอแผ่ขึ้นไปปกถึงด้าวไกลสุดหล้าฟ้าเขียวจะใม่เข้มแข็งกวดขัน ก็ยังขึ้นชื่อเปนอันตกเปนข้าพม่า แลไทยใหญ่ใม่เคยพ้นจากง่ามมือพม่ากดขี่กลับเปนไทยได้อิกต่อไป ตราบเท่าย้ายนายไปเปนข้าอังกฤษอิกซ้ำสืบมาจนกาลทุกวันนี้ ในหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้นั้น ใม่ช้าก็กระเตื้องขึ้น ถึงเที่ยวรุกรานไปข้างตวันออกบ้างข้างอิสาณทิศบ้าง แต่อุตส่าห์ตเกียกตกายมาเช่นนั้นเปนหลายปี ทั้งทางข้างเจ๊กจะรุกรานอย่างไรด้วยบ้างก็ช่าง ยังพยายามกระเสือกกระสนพล่องแพล่งอยู่ได้ แต่แม้กระนั้น ใน ๓๐๐ ปีนี้อำนาจแลความเจรีญของเจ้าฟ้าไทยใหญ่ก็มีแต่ตั้งเขมงขาลงทรุดลงทุกๆที ไทยใหญ่สึกหรอลงใม่ชั่วแต่เพราะข้อพม่าแลจีนรุกรานกดขี่ข่มเหงแลโดยรบกันเองเท่านั้น ซึ่งเปนอยู่แล้วทั้ง ๓ ประการ ซ้ำพวกกะจินซ้ำเติมด้วยอิก จะเปนด้วยพวกชาวเขาเขีนเหล่านั้นถูกจีนข่มเหงไล่ขับมา ฤๅเพราะพลเมืองมากจำต้องอพยพมาหาที่ทำกินใหม่ก็ตาม แต่ข้อที่แน่แท้นั้น ใน ๒ สัตยุคนี้พวกกะจินพากันลงมาข้างทิศอาคเณย์แย่งชิงที่ขับไล่ไทยใหญ่ล่าจากบ้านเมืองอันกว้างขวางระหว่างในเขตร์จีนแท้แลพม่า จนเขาลำน้ำลำห้วยแลหมู่บ้านอันแต่เดีมเปนที่สำนักของไทยใหญ่ เหลืออยู่แต่ชื่อพอเปนพยานว่าไทยใหญ่เคยเปนเจ้าของตั้งครอบครองมาก่อนเท่านั้น หัวเมืองอันครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจในปัจจิมทิศาภาคแห่งแม่อิระวดีนั้น บัดนี้ก็กลับเปนชั่วแต่ครอบครัวพลเมืองกระพร่องกระแพร่งช้ำ เข้ารีดพม่าเสียมากแล้วเท่านั้น ฝ่ายเจ้าฟ้าในหัวเมืองปลายแดนข้างตวันออกตั้งแต่เมืองชุมสายถึงเมืองยางห้วย แลที่อย่างทุเลาลงหน่อยแม้เช่นเมืองหน่าย ก็ล้วนทาระกรรมลำบากยากแค้น ด้วยผลราโชบายของพระเจ้าพม่าล้างผลาญ แลที่ยังคงเปนตัวอยู่ได้นั้น ก็เพราะพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ยังมีพวกไทยใหญ่ร่วมชาติหนุนหลังอยู่มาก
ใม่มีพงศาวดารที่เนื่องติดต่อกันในรวาง ๒ สัตยุคฤๅ ๒ สัตยุคครึ่งเหล่านี้ อย่างไรที่พอเขียนลงได้ เพราะใม่มีเรื่องอะไรที่ติดต่อกัน ข้อความเบ็ดเตล็ดต่างๆที่ปรากฎมานั้น ก็ต้องเที่ยวเก็บตกหล่นกะท่อนกะแท่นตามหัวเมืองโน้นบ้างเมืองนี้บ้าง ราโชบายของราชาธิปตัยพม่านั้น ก็มิได้คิดที่จะบงการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในหัวเมืองไทยใหญ่สักอย่างเลย ราชบุตร์ฤๅราชอนุชาของเจ้าฟ้าที่ผ่านเมืองอยู่ก็มีแต่ต้องเชีญองค์มาคุมไว้ในกรุงอังวะ ใม่ชั่วแต่ประสงค์เอาไว้เปนตัวจำนำ เพื่อให้เจ้าฟ้าเมืองนั้นๆ ประพฤติดีต่อกรุงอังวะอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทั้งจะกด.ให้ต่ำแต้มอยู่ในหมัดในเข่าราชานุภาพพม่า แลพรากจากความผูกมิตรสันทวะต่อเพื่อนชาติด้วยกัน ด้วยเพราะถ้าเมื่อได้ขึ้นไปครองเมืองเปนเจ้าฟ้าต่อไปแล้ว ความซื่อสัตย์กตัญญูแลจงรักภักดีของอมาตย์ราษฎรไทยด้วยกันต่อเจ้านายของตนจะได้ใม่รุนแรง ใช่แต่เท่านั้นราโชบายยังจะกันสัมพันธมิตร์ในระหว่างเจ้าฟ้าไทยต่างเมือง แลแม้แต่สามัคคีในราชสกูลไทยเองนั้นให้หมาง แลถ้ามีใครเปนคู่แข่งชิงราชสมบัติต่อกัน ก็ปล่อยให้รบร้าฆ่าฟันแย่งกันเอง ข้างไหนชนะพม่าก็อนุมัติตั้งผู้ชนะนั้นให้เปนเจ้าฟ้าครองเมืองสืบไป เพราะฉนั้นใครปราถนาจะเปนเจ้าฟ้าก็เปนใม่ได้ แม้จะมีกรรมสิทธิ์ตามราชประเพณีเพียงใด นอกจากมีกำลังสามารถพอจะชิงตำแหน่งราชศักดิ์นั้นเอาเองได้ แลเมื่อสงบสงครามกันเองลงแล้ว รี้พลก็ทุพพลภาพสิ้นแรง เหลือกำลังที่จะต่อสู้ขัดขวางค้านข้อประสงค์ของราชาธิปตัยพม่าไหว ถ้าเจ้าฟ้าเมืองใดดูน่าจะวัฒนาการแปลกตาอาจจะสลัดอำนาจพม่าได้ ก็ยุแยงเจ้าฟ้าเมืองอื่นให้ก่อเหตุรบพุ่ง ฤๅยุยงเจ้านายฤๅอมาตย์ในเมืองนั้นเองให้แย้งอำนาจฤๅคิดทรยศทำร้ายตัดอำนาจกันเอง การยุแยงให้เกีดบาดหมางกันนั้น เปนการง่ายที่จะจุดให้ลุกโพลงขึ้นในจำพวกคนใจร้อน จำพวกที่อยู่อเลอเขาเขีนเหล่านั้นโดยมาก ดูเหมือนน่าจะใม่มีเพลาประตูวิมานพระกาฬจะงับเข้าได้ ถ้าจะปิดได้ต่อเมื่อยามหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งสิ้นสงบรบกันลงเมื่อใด เหตุฉนี้ จึ่งมีกองโจรผู้ร้ายควบคุมกันเปนหมู่เหล่าน้อยบ้างมากบ้างเที่ยวตั้งอยู่เปนจำพวกๆไปอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง คอยแต่จะถือเอาโอกาศประทุษร้ายปล้นสดมสุดแท้แต่บ้านเมืองไหนจะเกิดจลาจลวุ่นวายกันขึ้นเมื่อใด ในทางเช่นว่านี้ก็เปนธรรมดาหัวเมืองที่เคยรุ่งเรืองเจรีญอุดมมัทธยมพลเมืองแน่นหนาจำจะต้องร่วงโรยร้างลงพักหนึ่ง เพราะเหตุการภายในยุ่งเหยีงกัน แลเมืองแสนหวี ซึ่งยังคงเปนเมืองกลางมีอำนาจกว่าหัวเมืองไทยใหญ่ฝ่ายเหนือทั้งปวงหมดทั้งสิ้น ก็หยุกหยิกขึ้นบ้างเหมือนกัน นอกจากพินาศ เหตุทั้งปวงดังกล่าวแล้วยังซ้ำริก่อการขบถต่ออำนาจพม่าร่ำไป เมืองใดที่เปนขบถก็ต้องบำราบให้ราบลงไปทันท่วงที แต่เช่นเมืองแสนหวีเองเปนขบถกว่าจะปราบให้สงบราบลงได้ก็ต้องสู้รบกันไปตั้งหลายๆปี ข้อน่าพิลึกนั้น คือ อย่างไรไปร่วมใจเดีนตามราโชบายราชาธิปตัยพม่าชี้จะให้เปนไปด้วยกันหมด ราวกะแพทย์พิเศษวางยาบังคับโรคได้ คือเมืองอื่นๆ ที่ใม่ได้ร่วมขบถมีแต่เต็มใจที่จะจัดทหารแลศัสตราวุธช่วยพม่าปราบปรามขบถตามเกณฑ์ เมืองไหนขบถก็ทำกันตามวิธีนี้เรื่อยมาใช้ไทยเองปราบไทยเองให้ยับย่อยลงไปด้วยกัน เมืองแลบ้านก็มีแต่เผาไฟแลผล้าผลาญกันลงอย่างใม่มีสังเวช สิ่งไรที่พอยกขนเอาไปได้ก็รีบเอาไปหมด เพราะฉนั้นน่าพิศวงน้อยที่สุด ในข้อที่ทำไมมหานครไทยใหญ่อย่างใหญ่ที่สุดในบัดนี้จึงกลายเปนเมืองร้างก็แทบจะว่าได้ ดูเหมือนรวมคนทั้งเมืองจะเท่าตลาดบ้านนอกของมหานครไทยใหญ่โบราณตลาดหนึ่งได้ก็ทั้งยาก
วิธีจัดการปกครองของพม่า
ที่ว่าราชการสำคัญของพม่าในหัวเมืองไทยใหญ่นั้นตั้งที่เมืองหน่าย (โมแน) แลตำแหน่งยศสมุหเทศาภิบาลพม่านั้นเรียกว่า โบฮุมมินทรา แต่องค์ท่านสมุหหาใคร่ประจำอยู่ณที่ว่าราชการใม่ หมอริชาร์ดสันผู้ได้ไปเยี่ยมหัวเมืองไทยใหญ่ใน พ.ศ. ๒๓๘๑ เล่าถึงวิธีจัดราชการดังต่อไปนี้
“พะโมมินทรา เมงเมียดโบ่ (นายพล พระเมงเมียดโบ่ เปนพระเจ้าน้องยาเธอของพรงะราชา เปนพระบุตร์แม่นางชาน) อันเปนนายพลผู้รับบรรชาการกองทัพ ณเมื่อเมโลน ในเวลาทำสงคราม (กับอังกฤษ) ครั้งที่แล้วมานั้น เมื่อสงครามสงบแล้ว ได้ขึ้นมาเปนผู้สำเร็จราชการในหัวเมืองชานทั้งสิ้น ในว่าตั้งแต่เมืองโมพี แต่ที่จริงข้างไต้ ตั้งแต่เมืองหมอกใหม่ขึ้นไปถึงข้างเหนือ จรดเขตร์แดนจีน ด้านตวันตกตั้งแต่นัตติเกยอดช่องทางเดีนจากเวิ้งน้ำอิระวดี ขึ้นไปถึงหัวเมืองชาน แลด้านตวันออกหนทางพ้นแม่น้ำโก๋ง (แปลว่าแม่น้ำกว้าง) คือแม่น้ำใหญ่กัมโพชา (ตรงนี้หมอริชาร์ดสันเห็นจะพุ่งแม่น้ำโก๋ง คือแม่น้ำขงฤๅสัละวีน หาใช่แม่น้ำโขงแดนฝรั่งเศสต่อสยามนั้นใม่) พระองค์มินทราเองตามธรรมดาประทับอยู่ในกรุงอังวะ เปนแต่เสด็จขึ้นมาตรวจราชการในหัวเมืองชานเปนครั้งเปนคราว เสด็จมาครั้งหนึ่งๆก็เสด็จทางสถลมารคแต่กรุงอังวะถึงเมืองหน่าย ๓ ราตรี ข้าหลวงต่างพระองค์ซึ่งอยู่ประจำในเมืองหน่ายเสมอนั้น ต้องมอบบุตร์ภรรยาเปนประกันตัวไว้ในกรุงอังวะตามธรรมเนียม ข้าหลวงใหญ่นั้น มีนามะยศปรากฎว่า เสตเก เดี๊ยกญี มีข้าราชการอยู่ไต้บังคับอิกหลายนาย แลมีขุนนางพม่าไปประจำอยู่ณสำนักเจ้าฟ้าเมืองอื่นๆอิกเมืองละคน อนึ่งมีเสตเกที่ตั้งมาจากกรุงอังวะ ๒ ท่าน เสตเกเหล่านี้ว่าที่จริงเปนใหญ่เหมือนเปนเจ้าของเจ้าฟ้าอิกชั้นหนึ่ง อำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่เสตเกทั้งสิ้น แลบรรดาราชการภายนอกเมืองทั้งปวงต้องสุดแท้แต่เสตเกจะบรรชา แลราชโองการพระเจ้าพม่าย่อมส่งมายังเมืองหน่าย แล้วเสตเกจึงส่งต่อไปถึงเมืองนั้นๆ แต่เจ้าฟ้าเมืองหน่าย ใม่มีอำนาจจะเรียกฤๅสั่งการเมืองอื่นได้ เจ้าฟ้าเมืองน้อยๆรองๆลงไปนั้นใม่มีสิตเกประจำเมือง เปนแต่ต้องฟังบังคับขุนนางพม่าแลเจ้าฟ้าก็ดำรงยศเปนเพียง เมียวซา (ฤๅเจ้าฟ้าอ่อน)”
กิริยาอาการแลกลมารยาของสิกแก (คือสิตเกนั่นเอง) นั้น หมอริชาร์ดสันพรรณนาไว้ดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้าใช้ชานที่เปนล่าม แลพ่อค้าที่น่านับถืออิกบางคนที่มากับข้าพเจ้า ให้ไปบอกข่าวที่พวกเรามาถึง ต่อเจ้าฟ้าฤๅเสตเก เดี๊ยกญี ขออารักขาให้พ้นจากคนมุงดู แต่เสตเกห้ามเสียใม่ให้ไปหาเจ้าฟ้า ด้วยจวนเสตเกอยู่ใกล้กะที่พวกเราพักกว่าวังเจ้าฟ้า เสตเกซักคนใช้ของข้าพเจ้าอย่างขู่เข็ญว่า คนเหล่านั้นคือใคร มาแต่ไหน แลต้องการสิ่งใด เขาก็เรียนว่าข้าพเจ้าใช้เขาไปเฝ้าเจ้าฟ้าฤๅหาเสตเกเอง เพื่อบอกกล่าวการที่ข้าพเจ้ามาถึง แลเรียนเสตเกว่าข้าพเจ้านั้นคือใคร แลข้าพเจ้าถือหนังสือ แลของกำนัลของข้าหลวงอังกฤษณเมืองมะระแหม่ง ผู้ใช้ข้าพเจ้ามาเปนทูตทางมิตรภาพนั้นมาถวายเจ้าฟ้า เพื่อจะขอเปิดทางสพานทองแลทางสพานเงินค้าขาย อนึ่งเขาอธิบายต่อเสตเกด้วยว่า พวกเราใม่ทราบว่ามีเสตเกตั้งขึ้นมารักษาราชการอยู่ด้วยจนขึ้นมาถึงเมืองหมอกใหม่ แลขอบารมีเสตเกเปนที่พึ่ง เพื่อโปรดให้มีใครไประวังคนอย่าให้มาลวนลามล้อมรุมดูอยู่รอบกระโจมผ้าที่พัก อย่างที่เปนอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านเสตเกก็อำนวยตามที่ขอพึ่งทันที ให้ขุนนางรองคนหนึ่งมียศตองฮมู กับตำรวจถือหวายตามมาด้วยอิกสองสามคนสำหรับไล่คนที่มามุงดูไปให้หมด แต่ในข้อที่ ๑ ที่ให้ไปเรียนนั้น ท่านเสตเกตอบว่า ข้าพเจ้าใม่ควรจะเฝ้าเจ้าฟ้าจนกว่าท่านจะทราบธุระของข้าพเจ้าซัดเจน ด้วยข้าพเจ้าใม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร์ โดยทางที่มานี้ ด้วยบาร์เน ท่านเรียกมิสเตอเบอร์นี เรซิเดนต์ของอังกฤษนั้น ก็อยู่ที่สุวรรณบัวบาท ซึ่งพวกเราควรจะไปที่นั่นแลขออนุญาตก่อนจึ่งมานี่ถึงจะชอบ ในเวลาเย็นจะเร (ฤๅเลขานุการ) ผู้หนึ่ง ตรงออกมาที่กระโจมข้าพเจ้าพัก พูดส่งเสียงดังกะคนที่อยู่ข้างนอกหาใช่พูดกับข้าพเจ้าใม่ว่า ท่านจะเรได้รับบรรชาเสตเกให้มาพูดด้วยข้อราชการ ท่านจะเรผู้นี้แต่งตัวอย่างงามเต็มภูมสรวมเสื้อขนสัตว์มีขนยาวออกนุงนังทั้งเวลานั้นปรอดเถอโมเมเต้อในกระโจมข้าพเจ้าถึง ๘๖ ดีกรี ขณะนั้นข้าพเจ้าหวาดว่าท่านจเรจะเล่นลครเสียจริต แต่ครั้นภายหลังจึ่งทราบว่า เสื้อขนสัตว์นี้เปนเสื้อยศชนิดหนึ่งของข้าราชการชั้นสูงๆในเมืองนี้ แต่แม้กระนั้นข้าพเจ้ายังคิดรู้สึกสบายน้อยเต็มทนในการที่ต้องแต่งเสื้อยศเช่นนี้มารับแขกเมืองพ่อค้าในเพลาอากาศร้อนเช่นนี้ ท่านจเรซักข้าพเจ้าถึงเรื่องข้าพเจ้าต้องการอใรที่นี่ แลอยากจะทราบว่าทำไมข้าพเจ้าจึ่งใม่ถือหนังสือมาถึงท่านเสตเก ฯลฯ มาด้วย ข้าพเจ้าก็บอกว่าการที่ข้าพเจ้ามาเยี่ยมบ้านเมืองก็อย่างใม่มีกิจสลักสำคัญมากมายอใร ด้วยข้าพเจ้าใม่ต้องการอันใด นอกจากจะใคร่เปีดทางทองคำแลเงินที่คนในเมืองนี้อาจจะแลกสิ่งที่ตนใม่ต้องการ ในเพลานี้ กับคนพวกเรา เอาสิ่งของที่คนเมืองนี้ต้องการมาให้ แลอยากได้อารักขาของรัฐบาลเมืองนี้คุ้มครอง คนพวกเราผู้ที่จะมาค้าขายต่อไปข้างหน้าเหมือนข้าพเจ้าเท่านั้น การที่จะสำแดงความปราถนาดีต่อท่านข้าหลวงณมะระแหม่ง แลขอสัญญาคุ้มครองแลให้ความสดวกแก่พ่อค้าคนของพม่าที่จะไปเยี่ยมมะระแหม่ง ฯลฯ ข้าพเจ้าชี้แจงอิกถึงเหตุที่ข้าพเจ้ามานี่ใม่มีหนังสือถึงเสตเก ฯลฯ นั้น ความจริงเพราะท่านข้าหลวงอังกฤษที่มะระแหม่งใม่ทราบว่ามีเจ้าพนักงารสำคัญเช่นนี้มากำกับราชการ ฯลฯ ท่านจเรที่มาเยือนข้าพเจ้านี้ได้เคยรับราชการในครั้งรบอังกฤษคราวที่แล้วมา ท่านเปนทหารเทือกองครักษ์ของแม่ทัพผู้เถ้าอันเปนชาติชาน นามยศมหาเนเมียว ฯลฯ ได้เข้าสนามรบที่อัตติคัม แลได้ไปในกองทัพที่ซิมบิเกด้วย คราวท่านแม่ทัพเถ้าตายในที่รบพร้อมกับเจ้าฟ้าชานอิกหลายองค์ กับทั้งชายาของเจ้าฟ้าไลขาสองนางใน ๓ นางที่รบด้วยพระสามี แต่งกายเปนชาย โดยเชื่อเวทมนต์วิชาขลังบางอุปเท่ห์ หมายว่าจะเอาไชยช่วยผลาญทหารอังกฤษณค่ายที่ ๗ ใกล้เมืองร่างกุ้ง พวกพม่าต้องไภยยับเยีนมากที่นั่น พวกชาน ที่ยังใม่เคยร่วมออกสนามรบกันกับฝรั่งมาแต่ก่อน ใม่ได้คาดว่าจะต้องแตกพ่ายโดยรวดเร็วเช่นนั้น ท่านพรรณนาถึงความลำบากยากเข็ญพากันตายด้วยอหิวาตกะโรค แลอดอยากเปนหลายวันเมื่อฝรั่งยกเข้าโจมตีปล้นค่ายพม่า การเยี่ยมเยือนของท่านจะเรผู้นี้จบลงราวชั่วโมงครึ่ง เราจากกันไปด้วยผูกมหามิตระภาพต่อกัน แลท่านผู้นี้ยังได้ผูกมิตร์เอื้อเฟื้อต่อข้าพเจ้าเปนอย่างเอนดูสืบมาตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่น”
ถึงจะอย่างไรสิกแกข้อนจะคุกคามเกีนไป ข้อแรกท่านกรรโชกว่าหมอริชาร์ดสัน “ถ้าจะไปเฝ้าเจ้าเมืองแล้ว ตามอย่างธรรมเนียมต้องไปที่ยวนดอ (คือลุม ฤๅที่ว่าราชการ) ที่จะได้ชุมนุมเจ้านายผู้น้อยพร้อมกันก่อน เมื่อไปที่นั่นต้องถอดรองเท้า ข้าพเจ้าต้องคอยจนเมงเนเมียวราชาโนรธา (จะเรฤๅเลขานุการ) จะไปเรียนข่าวข้าพเจ้ามาถึงต่อเสตเกณจวนที่ท่านพักแลกลับมานำข้าพเจ้าไปที่จวนนั่นแล้ว ข้าพเจ้าจึ่งจะไปเฝ้าที่วังเจ้าฟ้าได้” ข้อนี้หมอริชาร์ดสันใม่ยอมทำตาม อ้างว่าในกรุงอังวะ “ข้าพเจ้าก็ใม่เคยถอดรองเท้า นอกจากในพระราชวัง ฤๅวังเจ้านายใหญ่โตแลศาลาลูกขุนฮลุตดอ แม้กระนั้นข้าพเจ้าก็เคยได้นั่งเสมอบ่าเสมอไหล่กับหวุ่นญี” เพราะฉนั้นข้อกรรโชคนี้ก็เปนอันล้มลลาย แต่เมื่อหมอไปที่ลุมเจ้าฟ้าก็หาได้อยู่ที่นั่นใม่ แลหมอ “ต้องอยุดอยู่นอกยกพื้นสูงราวคืบเศษ (คูนเซน) ซึ่งยกขึ้นรอบเสากลางศาลายวนดอแลขอให้ข้าพเจ้านั่งลงที่นั่น ข้างตัวข้าพเจ้านั้นคนของข้าพเจ้าทั้งปวง แลคนในเมืองก็มานั่งแน่น ภายในยกพื้นที่กล่าวแล้วนั้น ท่านเสตเกดอญีข้าหลวงต่างพระองค์ของเมงเมียดโบ่ (ผู้สำเร็จราชการแว่นแคว้นหัวเมืองชานทั้งสิ้นเพลาใม่เสด็จอยู่) คือท่านเสตเกมหาอำนาจ ออกมานั่ง ท่านผู้นี้เปนคนแก่แรกข้าพเจ้านึกว่าเจ้าฟ้า มีนะขั่น ๒ คน แลโบธาญี ๒ คน อยู่ข้างๆ เมงเนเมียว (จเรฤๅเลขานุการ) นั้นนั่งอยู่ข้างข้าพเจ้า ทันใดนั้นเสตเกจับสนทนาใช้ถ้อยคำอย่างแสนสำรากหูดูถูกแลขู่เข็นเปนอย่างฉกาจ เช่นมนาวใม่มีน้ำ ปราศจากเยื่อใยไมตรีสิ้น ทำหน้าบึ้งไว้ยศอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาสนทนาต่อกัน ท่านบอกว่าข้าพเจ้า “ทำล่วงเกีนในการที่บุกบั่นมาเมืองหน่าย โดยมิได้มีพระบรรชามาจากเมงเมียดโป่แลพระมหากษัตริย์ทางบาร์เนเรซิเดนก์อังกฤษ” แลยังขู่เข็ญต่อไปอิกมากอย่าง “ปราศจากอัทธยาไศรยอย่างสุภาพ” หมอริชาร์ดสันก็บอกกล่าวในการที่รับรองแขกเมืองอย่างนี้ใม่สมควรแก่เกียรติยศราชาธิปตัยพม่าจะประพฤติ ต่อนั้นไปอิก ๒ วันให้ล่ามมาพูด ดูน้ำเสียงไว้อำนาจค่อยอ่อนโยนลง ให้มาบอกแก่หมอว่า “เวลาท่านเสตเกมาตั้งรักษาราชการอยู่ที่นี่ มีพม่ามาอยู่ด้วยน้อย นับเปนตกอยู่ในระหว่างจำพวกคนชเลยที่ชิงชัยชนะ เปนคนๆละพวก อย่างธรรมเนียมจึ่งต้องจำเปนผิดแผกกันกับที่ใช้ในกรุงอังวะ แลเจ้าฟ้าที่ข้าพเจ้าจะไปเฝ้าวันนี้นั้น ใม่เคยยอมให้ย่างเข้ามาภายในคูนเซน+++ แต่เจ้าฟ้าจะต้องนั่งนอกยศะอาศน์นั้นเช่นข้าพเจ้าเหมือนกัน แน่เทียวข้าพเจ้าก็ต้องใม่มีข้อคัดค้านอย่างไรอยู่เอง”
ลำดับนั้นเจ้าฟ้าก็เสด็จมา “มีฉัตรทอง ๔ คันแลมีคนราว ๖๐ คนถือปืนถือดาบแลหอกนำ แลยังมีคนเชิญเครื่องสันลีต (ราชูประโภค) ตามอิกมาก เมื่อท่านเสตเกเถ้าออกมาจากข้างใน ข้าพเจ้าก็คำนับ ท่านก็รับคำนับ แลมานั่งใกล้ข้าพเจ้า เช้าวันนี้อยู่ข้างหนาวจะเปนด้วยอากาศฤๅประหม่าข้าพเจ้าอย่างไรใม่รู้ตัวท่านสั่นหรุบๆน่าสังเวช” เมื่อหนังสือได้อ่านแล้วเจ้าฟ้าตรัสว่า “พระองค์ได้ทราบก่อนนี้แล้วว่าความในหนังสือนี้ว่ากระไรแต่ “พระองค์เปนทาษของพระบาทมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงอังวะ ใม่กล้าทำสิ่งใดลำพังองค์ด้วยเกรงพระราชอาญาโทษานุโทษ (ราชาวุธ) จะใม่พ้นเกล้า ถ้าขืนทรงอนุญาตให้ข้าพเจ้าทำการอย่างไรต่อไป” เหตุฉนี้หมอริชาร์ดสันจึ่งต้องรออยู่ในเมืองหน่ายต่อไปอิกกว่าเดือน เปนบุญนักหนาทางไมตรีของหมอกับข้าราชการพม่าแลกับเจ้าฟ้าค่อยมีแต่ดีขึ้นๆทุกๆวัน เจ้าฟ้านั้นหมอพรรณนาไว้ว่า “เปนชายมีอายุประมาณ ๖๘ ปี รูปะพรรณ์สันทัดอย่างพม่า แลเปนชายอย่างสะสวย มาตระว่าชานสามัญในเวิ้งแม่น้ำสัละวีนภาคนี้มักดำมากกว่าชานข้างตวันออก แลแม้ชานแถบเหนือขึ้นไปก็มีขาวน้อยตัว พระกิริยาอาการเรียบร้อย สมเปนผู้ดี +++ หอ (ราชวัง) ของเจ้าฟ้านั้น หลังคาปิดทองหลั่น ๕ ชั้นเปนปราสาท ยอดปักฉัตร์เหล็กปิดทอง ท้องพระโรงห้องที่รับข้าพเจ้านั้น กว้างยาวราว ๖ วาสี่เหลี่ยมแลยังมีเฉลียงใหญ่โตรอบอิกต่างหาก ส่วนกลางนั้นราว ๔ วาครึ่งยกพื้นสูงขึ้นไปราว ๒ ศอก มีเสา ๔ แถวขึ้นไปรับหลังคาสูงแถวละ ๓ เสา ห่างกัน ๖ ศอก เสาท้าย ๔ ต้นนั้น ๒ ต้นแถวกลางปิดทอง แลตั้งราชะโบเลน (ราชาอาศน์) งามมาก ต่ำได้ส่วนเหมาะกว่าพระแท่นราชาอาศน์ของเจ้าฟ้าชานฝ่ายสยามที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็น ดูแสงทองเปนมันรยับแวววาวปลาบออกมาไกลถึงที่ข้าพเจ้านั่ง วิชาขัดเงาทองเช่นนี้พม่าใม่รู้จักเลย ข้างราชาอาศน์ตั้งร่มขาวใหญ่คันสูงทั้งซ้ายขวา มีรบายขลิบทองรบาย บนราชาอาศน์นั้นมีมกุฎฤๅเกี้ยวทององค์ย่อมๆองค์ ๑ พระแสงขรรค์องค์ ๑ พระแสร้องค์ ๑ พัชนีองค์ ๑ ฑาณฑ์พระกรองค์ ๑ แลฉลองพระบาทกำมะหยี่แดงคู่ ๑ เปนเครื่องเบ็ญจราชกกุธภัณฑ์สำหรับมหากษัตราธิราชเจ้าทรงพระสมมตนาม เมงฮะเมียกราชางะฟา (ขุนงันฟ้า) เครื่องตั้งในท้องพระโรงนั้นก็มีอิกแต่เพียง ๒ สิ่ง คือ ตั่งปิดทอง ๑ กับเตียงนอนเลวๆอย่างพม่าวางไว้อิกอันหนึ่งเท่านั้น มีปืนประดับไว้ณที่ต่างๆในห้องนั้นประมาณร้อยกระบอก”
มีคนเล่าให้หมอริชาร์ดสันทราบว่า เวลานี้ ทหารพม่าอยู่ในหัวเมืองไทยใหญ่ราว ๑๐,๐๐๐ คน มีเจ้าฟ้า ๑๒ องค์ ๔ องค์อยู่พ้นแม่น้ำสัละวีนไป แลถ้ายามเกีดศึกเสือเหนือใต้ คาดกันว่าเจ้าฟ้าเหล่านั้นสามารถจะจัดทหารให้แก่รัฐบาลพม่าได้กว่า ๙๐,๐๐๐ คน เวลาหมอยังอยู่ในเมืองหน่ายนั้น เจ้าฟ้าเมืองหน่ายต้องรับคำสั่งให้ลงไปกรุงอังวะเองพร้อมกับทหารพันหนึ่ง เพื่อช่วยปราบปรามเจ้าตายาวดีมินทราอันก่อการขบถ เมืองเชียงรุ้งนั้น เล่ากันว่ามีพลเมืองมาก แลเมืองแสนหวีนั้นอาณาเขตร์ใหญ่โตมาก เจ้าฟ้าเมืองแสนหวีนั้นในเวลานั้นได้ถูกฆ่าเสียแล้ว “ราษฎรชานในแสนหวีนั้นเองตีด้วยตะบองจนตายคาที่ ที่โรงปุเวแห่งหนึ่งซึ่งกำลังดูการมหรศพ ด้วยเจ้าฟ้าเสด็จไปกับมหาดเล็กน้อยคน เจ้าฟ้าที่ตายนั้นเปนราชบุตร์เจ้าฟ้าองค์สุดท้าย (เปนคนป่าแท้ตน ๑) มารดาเปนพม่านางหนึ่งที่พระบิดาได้เห็นชั่วแต่น้อยวันที่เมืองหนองห้วย เมื่อประสูติเจ้าฟ้าองค์นี้แล้วนางมารดาก็ได้กันกะพม่าชาวร่างกุ้งผู้หนึ่ง เจ้าฟ้าเด็กนี้ก็ตามมารดาแลบิดาเลี้ยงไป เที่ยวตล่ำต่ำฉิบอยู่ตามหัวเมืองนั้นๆ หลายปี แล้วอย่างไรเจ้าฟ้าหนุ่มหลุดเข้ามาในกรุงอังวะแอบเข้าไปถวายตัวอยู่แก่เจ้านายหนุ่มๆ เมื่อเจ้าฟ้าบิดาสิ้นชีพใม่มีราชบุตร์ปรากฎ พม่าจึงได้ยกเจ้าฟ้านี้ขึ้นเปนเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีเมื่อ ๖ ปีมาแล้ว ประพฤติองค์ร้ายกาจเกกมเหรกปรากฎทั่วไป เพราะไปอยู่ในวังกรุงอังวะเรียนติดนิไสยมาเมื่อได้เปนใหญ่โตเอกระแก่องค์ก็เลยลเลีงเหลีงใหญ่ ดื่มสุราบานแลสูบฝิ่นด้วยคิดว่าองค์เองเปนพม่ามากกว่าเปนชาน พัวพันประจบประแจงพม่าดูหมิ่นกดขี่ข่มเหงพวกชานร่วมชาติจนตัวเปนที่รังเกียจเกลียดชังของไพร่บ้านพลเมืองทั่วไป การที่ต้องพิฆาฎดังกล่าวแล้วนั้นก็เพราะผลประพฤติของเจ้าฟ้านั้นเองจนราษฎรเหลืออดเหลือทน” ข้อนี้ก็เปนเครื่องแสดงให้เหนว่าหัวเมืองไทยใหญ่เมืองหนึ่งหันหาทางฉิบหายด้วยประพฤติฉันใดทั้งเมืองนี้ก็เปนเมืองใหญ่ที่สุดด้วย ส่วนเรื่องราวในเมืองหน่ายนั้น รูปภาพก็ใม่ถูกเดือดร้อนยากแค้นเพราะกดขี่ทุเลากว่านั่นนักเลย หมอริชาร์ดสันกล่าวว่าพวกไทยใหญ่นั้น “พากันร้องโอ๊กแต่เรื่องถูกพม่าผู้เข้ามาขี่ฅอกดขี่ข่มเหงนัก แม้แต่ราชสกูลวงศ์เจ้าฟ้าเองก็ยังถูกดูถูกกลางถนนเนืองๆ ถ้าออกไปเที่ยวไหนตามลำพังใม่กั้นพระกลดทองแลใม่มีข้าตามพรั่งพรู พวกพม่าที่พากันมาตั้งอยู่ในเมืองหน่ายเปนกองสองกอง (ประมาณว่ามีเรือนราว ๑๖๐๐ หลัง เปนพม่า ๓๕๐ หลัง) เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยเกณฑ์ให้พลเมืองเลี้ยง ใม่ได้ออกเงินช่วยเหลือการใช้จ่ายของบ้านเมืองเลยแล้วมิหนำ ยังซ้ำกะเกณฑ์ลงเอาเงินรีดจากราษฎรชานของเจ้าฟ้าส่งไปกรุงอังวะบ่อยๆ พวกพม่าก็ใม่ต้องเก็บเกณฑ์ พม่าเปนอันมากเรียกกันว่ากวนดวมเย ใม่เรียกแม้แต่ว่าเปนทหาร ดีแต่ลอยชายฉุยฉายแทะพลเมืองชานบำเรออติเรกสุขพวกตน แลจะต้องการอย่างไรก็คุกคามกดขี่ข่มเหงเอาโดยพลังการ ก่อการร้ายกาจที่ถ้าเปนพวกชานจะต้องรับโทษหนัก ก็ทำกันเหลาะแหละหยอกๆ จนพวกชานรย่ออัดใจบ่นพร่ำไปว่าพวกตนผิดกับสุนักข์เล็กน้อยเท่านั้น”
ถ้าเหตุร้ายเหล่านี้เปนอาการของเมืองกลางที่ตั้งว่าราชการอยู่แล้ว ใครๆก็อาจจะคาดเปนแน่ได้ว่า ที่อื่นๆลับหูลับตาเจ้ากระทรวงไปก็ย่อมจะใม่มีดีกว่านี่ขึ้นไปอย่างเดียวเท่านั้น กองทหารมากพอใช้ ตั้งอยู่ที่เมืองแปะยะโกนตรงเมืองไผ่ จะเปนด้วยเม้ยลัตหวุ่นย้ายที่ตั้งทัพจากแหล่งเดีม เมื่อเกีดเจ้าเมียงคูนมินทราเปนขบถยั่วให้พวกกะเหรี่ยงยางแดงลุกขึ้น ฤๅอย่างไรใม่ตระหนัก อนึ่งทหารที่ตั้งอยู่ในเมืองหน่าย เวลาอังกฤษรวบเอาเมืองพม่าเปนของอังกฤษนั้น ก็ล้วนเปนคนเกณฑ์มาแต่เมืองเม้ยดุทั้งสิ้น แลราโชบายพม่ามีแต่จะคิดพรากทหารให้มาอยู่ไกลจากบ้านได้เท่าใดก็ดีเท่านั้น ยังมีทหารกองน้อยๆตั้งอยู่ตำบลอื่นๆอิกหลายแห่ง แลเจ้าฟ้าไทยใหญ่ฤๅเจ้าเมืองไทยใหญ่ที่มียศต่ำกว่าตำแหน่งเจ้าฟ้าลงมาทุกๆเมืองเปนต้องมีขุนนางพม่าไปตั้งกำกับคอยรวังอยู่ แต่เมืองที่ข้ามฟากพ้นแม่น้ำสัละวีนไป เจ้าฟ้าอยู่ข้างเปนเอกระได้มากขึ้น แลที่จริงใม่ใคร่จะต้องเอื้อฟังคำบังคับบรรชาข้าหลวงพม่ากระไรนัก ผิดนักก็เอาแต่เงินแลผู้หญิงสาวๆฟาดหัวให้เสียบ้างก็เปนแล้ว มองซิเออร์คาเนียกล่าวว่าความเกลียดขังขุนนางพม่าที่ทำเย่อหยิ่งคุกคามต่อคอมมิแซร์ฝรั่งเศสเกินไปนั้น ทำให้เจ้าฟ้าไทยใหญ่ออกฉุนๆกันมา ด้วยพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่แสดงอัทธยาไศรยอันงามต่อพวกฝรั่งเศสทั้งพม่าบูดบึ้งควักค้อนเข่ญเขี้ยวอยู่ข้าง ๆ
อาการรัฐบาลในเมืองนั้นๆ ร้ายดีประการใด ก็มักเปนด้วยองค์เจ้าฟ้าในเมืองนั้นๆ มีอาการอย่างไรเปนใหญ่ ถึงจะมีขุนนางพม่าขี่ฅอกำกับอยู่ก็ดูใม่สู้จะสำคัญกระไรนัก ด้วยเจ้าฟ้ามักยังทรงอำนาจที่จะจัดราชการปกครองพลเมืองแลเก็บภาษีอากรเอง แลเจ้าฟ้าไทยใหญ่มีแต่วางพระเกียรติยศ แลประพฤติพระองค์ฉันท์เปนเจ้าเปนใหญ่ในหมู่มนุษยะชาตินั้นๆ เหมือนพระมหากษัตริย์พม่าองค์หนึ่งๆ อยู่แทบทุกอาณาเขตร์ ตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองนั้นเปนประเพณีสืบสันตติวงศ์ต่อกัน แต่การเลือกตั้งเจ้าฟ้าในวงศ์นั้นต้องสุดแท้แต่พระมหากษัตริย์พม่าจะพระราชทานพระราชานุมัติ เจ้าฟ้าทุกองค์มีอำนาจเหนือพลเมืองจะให้เปนให้ตายได้ตามพระไทย แลทรงอาญาสิทธิ์ในราชกิจทั้งมวญ ถ้าขุนนางพม่าผู้กำกับเอออวยใม่เข้าขัดขวางกีดกั้น เพราะฉนั้นรัฐบาลในบ้านเมืองนั้นๆ จะแข็งแรงฤๅอ่อนแอ จะเปนยุติธรรมฤๅจะบีบคั้นกดขี่ ย่อมสุดแท้แต่อัทธยาไศรยของเจ้าฟ้าผู้ครองเมือง แลการเก็บภาษีอากรก็ใม่ใคร่มีพม่ากีดขวาง ถ้ารัฐบาลพม่าเกณฑ์เงินครั้งใดได้ส่งให้สมใจทันท่วงที เจ้าฟ้ามีพระไทยร้ายชอบกดขี่พลเมืองนั้นมีน้อยองค์แลน้อยเมืองทั้งน้อยเวลา เพราะถ้าเปนเช่นนั้นขึ้นในเมืองเมื่อใด ราษฎรอันเปนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเดือดร้อนก็พากันทิ้งภูมิลำเนาอพยพไปพึ่งอาไศรยอยู่ในหัวเมืองใกล้เคียง แต่กระนั้น ก็ยังมีเนืองๆ ที่เจ้าฟ้าจำพระไทยรีดเกณฑ์เก็บภาษีอากรแก่ราษฎรจนเหลือบ่ากว่าแรง เพื่อจะให้พอราชสำนักพม่ากะเกณฑ์มาให้ส่ง แลเมื่อต้องจำกดขี่กันเองเช่นนี้ ธรรมดาย่อมใม่เปนที่พอใจแก่ประชาชนแลแม้แต่องค์เจ้าฟ้าเองด้วยซ้ำไป แต่ก็จะทำกระไรได้เพราะเหตุเกณฑ์เงินกันบ่อยๆเข้ามากเข้าผิดกว่าเคยเช่นนี้ ซึ่งถึงเปนเหตุเจ้าฟ้าเมืองหน่ายต้องเปนขบถต่อพระเจ้าธีบอมินทร์
หมอคุชิงพรรณนาถึงประชาชนว่า “พวกไทยชานเปนมนุษย์ที่กรากตรำอดทนด้วยเพสเคยอยู่ตามแคว้นเขาเขีน เครื่องจำเปนสำหรับเลี้ยงชีพจะหาให้เพียงพอก็แสนยาก ใม่เหมือนกับถิ่นท้องทุ่งสันดรแม่น้ำอิระวดีฤๅแม่น้ำเจ้าพระยาอันเปนอู่เข้าอู่ปลา ไทยใหญ่ชำนิชำนาญการกษิกรรมเปนอย่างดี แต่แคล่วคล่องในการค้าขายยิ่งกว่า เพราะฉนั้นจึงสามารถหาอาหารแลสิ่งสินค้าที่ใม่มีในพื้นบ้านพื้นเมืองของตนเองป้อนชีวิตตนเองได้ เคหาของพวกชานผู้ดีๆ สอาดสอ้านน่าอยู่สบาย ดีกว่าผู้ดีพม่าชั้นเดียวกันมากเทียบกันใม่ได้ทีเดียว อัทธยาไศรยไทยใหญ่พอใจเปนไทยแก่ตัวสมชื่อ แต่มักปล่อยใจให้นิยมในการอิจฉาแลใม่ชอบเฉภาะตัวเปนส่วนตัวต่อกันและกันเสียเปนพื้น ผลจึ่งส่อให้พวกไทยชานแตกกันทั้งทางราชการแลทางสมาคมออกเปนพวกๆ พวกใหญ่แล้วมิหน้าซ้ำเปนพวกน้อยในพวกใหญ่ แลซ้ำนิยมไปถึงในครอบครัวเดียวกันก็มี ในยามทำศึกไทยใหญ่มักร้ายกาจแลฉุนเฉียวอยู่บ่อยๆ ใม่ชั่วแต่พยายามจะใช้ศัสตราวุธสังหารศัตรูของตนอันเปนชายฉกรรจ์เข้าสู่สนามยุทธ์อย่างเดียว ซ้ำมักพอใจฆ่าฟันเด็กซายที่ตกอยู่ในเงื้อมมือก็บ่อยๆ ฤๅยิ่งร้ายกว่านั้นบางทีฆ่าคนพวกเดียวกันที่พลาดพลั้งใม่น่าจะถึงต้องฆ่าฆ่าเสียก็มี แต่ในยามสงบสงครามแล้ว พอใจรื่นเรีงยิ้มหัวเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เตรียมพร้อมที่จะอนุเคราะห์กันแลกันโดยจริงใจ นิไสยใจร้อนใจไฟทเยอทยานใม่รู้จักยอมพอส่อให้เปนเหตุย้ายพระนครไทยใหญ่เองอยู่ร่ำไป แลราษฎรก็พอใจอพยพจากที่นี่ไปที่โน่นได้ง่ายๆ เพราะฉนั้นพลเมืองโดยมากในเมืองหนึ่งเมืองหนึ่งจึ่งใม่ค่อยจะเปนคนที่เกิดในพื้นบ้านพื้นเมืองนั้นเอง
จำนวนหัวเมืองไทยชาน
เปนการสุดวิไสยแท้ๆที่พยายามเอาจำนวนหัวเมืองไทยใหญ่ที่ตกอยู่ในอานุภาพพม่าปกครองว่ามีกี่มากน้อยได้ แต่พม่าเอาแต่พูดปาวๆ ว่า ๙๙ หัวเมือง อันเปนจำนวนอย่างยอดถูกอารมณ์ของพม่าออกจากภาษาบาฬีว่า เอกูนะสตํ หย่อนร้อยอยู่หนึ่ง แต่ก็ใม่มีรายจำนวนของรายจำหน่ายที่โก่งฅอตโกนขึ้นว่า ๙๙ นั้น แต่ถ้าขืนรีดนาทาเน้นให้จำหน่ายให้ได้ ก็พุ่งผิดๆถูกๆไปตามฤทธิ์ตามเดช บางเมืองบอกที่ใม่มีตำบลเมืองเช่นนั้นอยู่ที่ไหน เช่นนามโกฉันปญี แต่ว่ากันที่จริง นอกจากหัวเมืองใหญ่ๆที่มีเจ้าฟ้าตั้งครอบครองสืบวงศ์เนืองนิตย์แล้ว ก็เปลี่ยนชื่อเมืองแยกเมืองตั้งชื่อใหม่เวียนกันวุ่นไปใม่มีที่สุด น่าจะใม่มีเวลาที่ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงกันเหล่านั้นจะพร้อมใจกันรวบกันตั้งขึ้นเปนหัวเมืองเอกระ นอกจากราชโองการมหากษัตริย์พม่าให้รวบหมู่บ้านนั้นๆเข้าเปนหัวเมืองเอกระ ใม่เลือกว่าเมืองเล็กเมืองใหญ่ การที่แยกเมืองปันเมืองยุ่งเหยิงวุ่นกันในทางราชการพม่าในยุคไทยใหญ่ขึ้นแก่พม่านั้น เปนสิ่งแน่ใม่มีข้อสงไสย การที่พระมหากษัตริย์พม่าเข้ามาวุ่นจัดโน่นจัดนี่เกะกะอยู่บ่อยๆเข้า แลประเดี๋ยวจัดอย่างโน้นอย่างนี้ยักแบบยักขบวนเอาตามพระไทยจึงยิ่งชักให้ยุ่งเหยิงใหญ่ อนึ่งมหากษัตริย์พม่าใช้ราชกรรมสิทธิ์ที่จะเลือกเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในวงศ์เจ้าฟ้าเมืองนั้นตั้งเปนเจ้าฟ้ารัชทายาทสนององค์กันต่อไปได้ บางทีเกีดแก่งแย่งช่วงชิงราชสมบัติในเมืองหนึ่งกันขึ้น พม่าขบใม่แตกฤๅขี้คร้านขบแลใม่อยากขบก็ผ่าเมืองนั้นแยกออกเปน ๒ ภาค ให้ผู้ที่ช่วงชัยกันนั้นครองฝ่ายละกึ่ง เจ้าฟ้าที่ร้ายกาจเกะกะใม่ดำรงธรรมก็ถอดหรือเนรเทศไปเสียให้พ้นขอบขันธ์ แลตั้งเจ้าอื่นเปนแทนโดยคนนิยมฤๅแนะนำของพวกผู้หญิงข้างในพระราชวังกรุงอังวะ แลบางทีโดยฤทธิ์พวกผู้หญิงในวังนั้นเจ้าฟ้าที่ใม่ผิดต้องถอดก็มี เจ้าไทยใหญ่ต้องคุมขังแลถึงต้องจำอยู่ในกรุงอังวะนั้นมีมิใคร่ว่าง เว้นนอกจากน้อยบ้างมากบ้างเท่านั้น ในปีชั้นหลังๆมีเจ้าฟ้าไทยแสนหวีที่ถูกถอด ๒ ฤๅ ๓ องค์มาต้องคุมฤๅขังฤๅถึงจำอยู่ในกรุงมัณฑเล แลจำนวน ๔๙ หัวเมืองในแว่นแคว้นนั้น ก็ลดลงมากแม้แต่ก่อนรัชกาลพระเจ้าธีบอมาแล้ว โดยพม่ายอกแยกตั้งให้เปนเมืองประเทศราชออกไปต่างหาก เช่น เมืองหนอง เมืองเกษีแมนสัม เมืองสู แลเมืองแสง ใม่ใช่นานๆหนหนึ่งเลย รัฐบาลพม่าตั้งขุนนางพม่าให้ไปเปนเจ้าเมืองรั้งเมืองไทยใหญ่อยู่เร็วบ้างช้าบ้าง ในกาลนั้นๆ เจ้าฟ้าอันทรงอานุภาพมักพอพระไทยแบ่งภาคราชอาณาเขตร์ ให้เปนประโยชน์แก่ผู้ที่สมควรครอบครอง เพื่อผดุงให้บ้านเมืองทวีความเจริญยิ่งขึ้น เช่นราชบิดา ฤๅราชอนุชา ราชบุตร์ราชบิตุลาธิบดี ฤๅบางทีพระราชทานแก่พระมหาเทวีตัวโปรด ฤๅเจ้าฟ้าผู้อ่อนแอ จำพระไทยต้องแบ่งอาณาเขตร์ พระราชทานแก่อมาตย์ฤๅเสนานายทหารอันเข้มแข็งศึก เพื่อจะได้ช่วยป้องกันมหานครแลรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตร์พระกรรณโดยสมัคก็เคยมี
เมืองเม้ยลัต
พลเมืองๆ เม้ยลัตนั้น เปนคนต่างประเทศก็มิใช่ฤๅจะเปนไทยใหญ่ก็ใม่เชีง ฤๅเปนพม่าก็ใม่สนิท นับเปนมนุษย์พันทาง ฤๅเรียกอย่างดีก็ว่าชาวเม้ยลัตเปนเหมาะกว่าอื่น เจ้าเมืองของคนพวกนี้ ตามธรรมดามักใม่ใช่เปนพม่าแท้ ส่งขึ้นมารับราชการโดยราชโองการพระมหากษัตริย์พม่า ฤๅตามคำแนะนำของเม้ยลัตหวุ่น ตำแหน่งยศงะเวกุนฮมูนั้นผิดกันเล็กน้อยถ้ามีผิดกันจากชเวฮมูจังหวัดเมืองกันสา ขุนนางพวกนี้ ชั่วแต่ตั้งไว้เพื่อจะรักษาสกูลวงศ์เชื้อผู้ปกครองให้คงมีประจำอยู่ เพราะเปนเหล่ากอเก่าแก่ แต่ในเมืองเม้ยลัตราษฎรนิยมชมชื่นมาก ว่ากันที่แท้แล้วใม่มีไทยใหญ่ในเขตร์แขวงนั้นเลยทีเดียวก็ว่าได้ แลภาษาไทยใหญ่นั้นใม่ชั่วแต่ใม่พูดกัน แต่ซ้ำใครพูดก็ฟังใม่ใคร่จะเข้าใจด้วยซ้ำไปเสียอิก ด้วยพลเมืองเกือบจะเปนเผ่าพม่าแท้ ที่อพยพยกไปเที่ยวตั้งอยู่ในหัวเมืองต่างๆ โดยสมัครเองบ้างฤๅโดยกดขี่กะเกณฑ์ให้ไปบ้าง พวกอินสาแขวงทเลสาบยางห้วยนั้นก็เปนเผ่าพันธุ์ของพวกรบาตหมู่หนึ่ง ซึ่งพระเจ้ากรุงภุกามไปปลูกไว้หลายร้อยปีมาแล้ว คือจับชเลยจากเมืองทวายมาปล่อยไว้ ณอินเลวา พวกเมืองตะนุสดูเหมือนเปนจำพวกที่อพยพมาตามสมัคเอง ฤๅมิฉนั้นก็ถูกตีต้อนจากหมู่บ้านเมืองพ่ายมาเลือกตั้งเปนบ้านเมืองเอง พวกสองสุตฤๅสมโชคนั้น ถึงมิใช่พม่า ก็ดูเหมือนจะมีพงศาวดารอย่างเดียวกัน แต่เพราะบ้านเมืองตั้งอยู่แถบพวกไทยใหญ่ตั้งอยู่ แลเกี่ยวข้องกันทางทำมาหาเลี้ยงชีพสนิทสนมมากกว่าพวกท้องทุ่ง จึ่งชักเชือนลม้ายไปข้างไทยใหญ่บ้างมากๆ คนพวกแคว้นเม้ยลัตนั้น พม่าถือว่าเปนคนต่างเสศหัวเมืองขึ้น หาใช่ภาคแห่งชาติพม่าด้วยกันใม่
ตำแหน่งยศเจ้าฟ้าผู้ครองเมือง
ตำแหน่งยศเจ้าฟ้านั้น ใม่มีประเพณีว่าเปนการจำเปนต้องสืบรัชทายาทต่อกันเลย เว้นแต่ในหัวเมืองบางจังหวัด เช่นแสนหวี เมืองหน่าย แลหัวเมืองต่างๆที่ตั้งอยู่ฟากตวันออกแม่น้ำสัละวีน บรรดายอมตนเอื้อที่จะทำตามคำสั่งฤๅปราถนาของพม่าแต่เล็กน้อยเหล่านั้น เมืองหมอกใหม่ เมืองใผ่ แลเมืองยางห้วยดูเหมือนจะดำรงตำแหน่งยศสูงมาช้านานกว่าหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงโดยมาก แลเมืองมีตก็เกือบจะทรงยศเปนเจ้าฟ้ามาเสมอ แต่ว่าแต่จำเภาะแต่ที่เกี่ยวด้วยพม่าแล้ว เมืองไลขาเปนเมืองที่นั่งตั้งเจ้าผู้ครองเมืองเปนเจ้าฟ้าทีหลังทีเดียว แลเมืองสีปอก็เปนที่นับถือแลดำรงยศต่ำกว่าเมืองชุมสายมาก มาตระว่าในบัดนี้เมืองชุมสายกลับเปนชั่วแต่เมืองน้อยในแขวงมณฑลสีปอเมืองหนึ่งเท่านั้น เจ้าผู้ครองเมืองลอกสอกนั้นปรากฎว่ามักทรงยศแต่เพียงชั้นที่ ๒ เปนเมียวซา (ฤๅเจ้าฟ้าอ่อน) จะได้รับตำแหน่งยศสูงขึ้นก็ชั่วแต่มีความชอบในราชการฤๅรับราชการมาช้านานเท่านั้น เหตุอย่างธรรมเนียมไทยใหญ่ก็ปะปนกับวิธีธรรมเนียมพม่าชักยุ่งเหยิงจนสุดวิไสยที่จะเอาเปนแน่นอนอย่างไรลงได้ชัด ด้วยประเพณีแลอย่างธรรมเนียมฤๅวิธีเหล่านี้ติดอยู่แต่ริมฝีปาก ใม่จารึกลงเปนตัวลายลักษณ์อักษรจึ่งเอายุติใม่ได้ เมื่อฟังแต่ลำพังเสียงพวกไทยเองแล้ว สุดแต่ใครเปนเจ้าครองเมืองแล้วก็เรียกเจ้าฟ้าหมด ใม่ว่าจะได้ดำรงศักดิ์เปนเจ้าฟ้าฤๅเปนเพียงเมียวซา (คือเจ้าฟ้าอ่อน)
ปรากฎชัดว่าใม่เคยมีอย่างธรรมเนียมฤๅธรรมนูญอย่างใดลำดับยศ เจ้าผู้ครองหัวเมืองไทยใหญ่ต่างๆนั้นว่าใครสูงต่ำกว่ากันในยุคขึ้นแก่พม่า แต่ในจำพวกเจ้าในหัวเมืองแถบแม่น้ำสัละวีนฟากตวันตกนั้น เมืองแสนหวีมักดำรงศักดิ์สูงกว่าเพื่อน จนตราบเท่าถึงเวลาบ้านเมืองจลาจลกลายเปนมีแต่เจ้าโน่นเจ้านี่ใม่มีเจ้าฟ้าครอง แลเมืองหน่ายดำรงศักดิ์สูงเปนชั้นที่ ๒ แต่ดูเหมือนปรากฎเปนธรรมเนียมว่า การลำดับยศเจ้าผู้ครองเมืองนั้นเอาแน่เปนสูงต่ำกว่ากันใม่ได้ คล้ายๆทำนองเดียวกันกะเสนาบดีฝรั่งเศสในเวลาเปนประชาภิบาล ถ้าเจ้าฟ้าองค์ใดจะเปนใหญ่สูงกว่าองค์อื่นๆ ฤๅแม้แต่เมียวซา (เจ้าฟ้าอ่อน) องค์หนึ่งจะสูงกว่าองค์อื่นๆ ก็มักนับด้วยพระชนมายุแก่อ่อน ฤๅพระมหากษัตริย์พม่าโปรดปราณใครมากน้อยกว่ากันนั้นเปนใหญ่ ใม่ใช่ตามตำแหน่งเมืองที่ครอง ฤๅตามเวลาใครดำรงยศมาก่อนแลหลัง เจ้าฟ้าที่ชนมายุแก่กว่าคนเปนได้นั่งตักหมอนต้นแถว ถ้ามีแถวจะต้องลำดับกันใม่ว่าอาณาเขตร์เมืองของเจ้าฟ้านั้นจะใหญ่เล็กกว่ากันเพียงใด (เหมือนธรรมเนียมในพระบรมมหาราชวงศ์กษัตริย์สยามแต่เบื้องปฐมกาลมา บรรดาพระบรมราชวงศ์แล้วก็ลำดับที่ประทับตามพระชนมายุมิใช่ลำดับพระยศที่ดำรงฉนั้น) ใช่แต่เท่านั้น เมื่อยกธรรมเนียมนี้ขึ้นมาเปนหลักแล้ว ยังมีเหตุอื่นเข้ามาแซกทำให้ยุ่งอิกด้วย คือธรรมเนียมเรื่องส่งสามิกันยา ลงไปถวายณพระมหานครพม่า เจ้าผู้ครองเมืองไทยใหญ่ ทุกนครทุกองค์ต้องส่งบุตรี ฤๅภคินี ฤๅนัดาปนัดาแลที่สุดจนภาคินัยในราชวงศ์เมืองนั้นๆลงไปถวายพระมหากษัตริย์พม่าอย่างน้อยก็นางหนึ่ง ฤๅหลายนางสุดแต่สมัคทุกรัชกาล ถ้านางเหล่านี้องค์ใดองค์หนึ่งได้เฉลีมพระยศเปนพระมเหษีทั้ง ๔ (อรรคมเหษีขวา มเหษีซ้าย มเหษีกลาง แลมเหษีหลัง) ฤๅแม้แต่ได้เปนพระราชเทวี แลแม้แต่เปนพระเทวะชายาพระยศต่ำลงมาแต่หากพระเจ้าพม่าทรงพระเมตตามาก สุดแต่เปนตัวโปรดขึ้นเมื่อไร เจ้าฟ้าบิดาฤๅเชษฐภาดามาตุลาธิบดีของนางนั้น ก็พลอยเปนคนโปรดด้วย เมื่อวันชุมนุมเฝ้าในงารใหญ่ บางทีแม้แต่เจ้าฟ้าที่ครองนครใหญ่ๆมีอานุภาพมากทั้งชนมายุก็มากยังต้องถอยเลี่ยงลงมาให้โอกาศแก่เจ้าฟ้าคนโปรดได้เฝ้าแหนใกล้ชิด ด้วยข้างสามิกันยาของเจ้าฟ้าที่ต้องถอยลงมาองค์นั้น ได้เปนแต่เพียงพระสนมนาง เหตุฉนี้ในแผ่นดินพระเจ้าเมนดงมินทร์ พระราชเทวีเมืองหน่ายเปนพระชายาตัวโปรดของพระเจ้าอยู่หัวนางหนึ่ง แลในครั้งนั้น เจ้าฟ้าเมืองหน่ายใม่ชั่วแต่ทรงสูงยศกว่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งปวง แต่ยังได้ขยายอาณาเขตร์เมืองหน่ายใหญ่โตออกไปอิกมาก นอกจากธรรมเนียมสามิกันยานี้แล้ว แลการเพิ่มอิศริยยศเปนกิติมศักดิ์ โดยมีความชอบต่อราชการอิกอย่างหนึ่งด้วยแล้วก็ปรากฎชัดว่าบรรดาเจ้าฟ้าทั้งปวงแล้วถือว่าทรงยศเสมอกันสิ้น เว้นไว้แต่องค์ไหนมีชนมายุมาก ฤๅองค์ไหนยังหนุ่มน้อยอยู่มากจึ่งมีเครื่องหมายว่าผิดแผกกัน เมื่อธรรมเนียมเจ้าฟ้าเปนเช่นนี้แล้ว ธรรมเนียมเมียวซา (เจ้าฟ้าอ่อน) ก็ยิ่งเช่นกัน มาตระว่าเมียวซา (เจ้าฟ้าอ่อน) บางองค์จำเดีมแต่แรกตั้งเมืองมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ก็แยกเปนเมืองหนึ่งต่างหากจากอาณาเขตร์อื่นมาทีเดียวนั้น มักถือกันว่าทรงยศเปนหัวหน้า เว้นไว้แต่ยังทรงพระเยาว์ดรุณอยู่มาก ฤๅมีเมียวซา (เจ้าฟ้าอ่อน) เมืองอื่นมีชนมายุชรามากอยู่ ก็ย้ายตำแหน่งหัวหน้าให้แก่เมียวซาเถ้าองค์นั้นเปนใหญ่
ได้มีการชุมนุมมหาสโมสรอย่างฝรั่งเรียกเดอบาร์ที่เมืองหน่าย ซึ่งยังใม่มีกำหนดวันคืนลงเปนแน่นอน มักชุมนุมเมื่อเจ้าฟ้าเมืองใดพิราลัยลงก็ประชุมครั้งหนึ่ง แต่การข้อนี้ก็ใม่ใช่มิอย่างธรรมเนียมฤๅกฎหมายบังคับ นอกจากนิยมเห็นสมควรกันนัดแนะขึ้นเองเฉภาะชั่วคราว ทั้งก็มิใช่ประชุมเพื่อถามความเห็นเจ้าผู้ครองนครว่าใครสมควรจะเปนเจ้าฟ้าแทน ฤๅแม้เจ้าฟ้าองค์ไหนจะอาสาออกความเห็นมา ความเห็นนั้นก็ใม่มีน้ำหนักอันใด ในการตั้งเจ้าฟ้าสนององค์ๆใดที่พิราลัยไปแล้ว การมหาสโมสรนี้ชุมนุมกันในลุมอันเปนศาลาราชการหลังที่หมอริชาร์ดเล่านั้นนั่นเอง ในลุมนี้มียกพื้นยาวยืดตั้งแต่ตวันออกไปตวันตกตามยาวแลในท่ามกลางศาลาประชุมนั้นด้านสุดข้างตวันตกนั้น โบฮมูมินทรานั่งบนอาศน์สูงหน่อยผันภักตร์ไปทางทิศตวันออกตรงหน้าโบฮมูมินทรานั้นหวุ่นเดี๊ยกดูเหมือนประหนึ่งจะเปนผู้ตามโบฮมูมินทราจากมหานครมาเยี่ยมเมืองนี้นั้นนั่งข้างๆถัดหวุ่นเดี๊ยกนั้นสิกเกญีนั่ง แล้วจึงถึงนะขั่นแลขุนนางผู้น้อยนั่งเรียงกันมาโดยลำดับ แลข้างสุดทางตวันออกนั้น ทหารรักษาพระองค์นั่งเปนแถวตลอดข้างซ้ายโบฮมูมินทรานั้นถัดยกพื้นนี้ลงไป เปนสังเวียนสี่เหลี่ยม กั้นเชือกด้ายแดงเปนรั้ว ในสังเวียนนี้เจ้าฟ้าประทับโดยปรองดองกันเองตามชอบพระไทย ฤๅตามตกลงกันเอง เจ้าฟ้าเมืองหน่ายมักตักหมอนเปนใหญ่ ใกล้โบฮมูมินทราที่สุด เจ้าฟ้าอื่นๆต่างประทับถัดๆกันไปเกือบจะเรียงเปนแถว แนวเดียวกันกับหวุ่นเดี๊ยก คือข้อนไปข้างหน้าโบฮมูมินทราเบื้องซ้ายหน่อยพ้นพวกเจ้าฟ้าไป หันหน้าหานะขั่นนั้นพวกเมียวซา (เจ้าฟ้าอ่อน) ล้วนนั่งในวงสังเวียนรั้วด้ายแดงด้วยเหมือนกันเหมือนพวกเจ้าฟ้า หลังรั้วสังเวียนนี้ออกไปยังมีข้าราชการผู้น้อยคืออมาตย์แลเมียวซาเย อันเปนข้าราชการของเจ้าฟ้าก็นั่งหลังที่ประทับเจ้าฟ้า แลพวกที่เปนข้าราชการของเมียวซาก็นั่งหลังเจ้านายของตน พวกงะเวกุนฮะมูนั้น ถ้ามาชุมนุมด้วยก็นั่งกับพวกมหาอมาตย์ที่พม่าเรียกอมาตย์ญีของเจ้าฟ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
ในพระราชวังกรุงมัณฑเลนั้น เจ้าผู้ครองนครไทยใหญ่ต่างๆ นั่งตรงหน้าพระราชาอาศน์หลังเจ้านายขัติยะราชตระกูลพม่า แลเสนาบดีที่นั่งเฝ้าเบื้องซ้ายแลขวาตามตำแหน่งยศฝ่ายทหารแลพลเรือน นอกนั้นก็ดูคล้ายๆกันกับอย่างที่จัดที่นั่งในศาลามหาชุมนุมในเมืองหน่ายแทบทั้งนั้น กล่าวกันว่าเจ้าฟ้าเมืองหน่ายในรัชกาลพระเจ้าเมนดงมินทร์นั้น (เปนบิดาขุนญี่เจ้าฟ้าองค์แรกในบังคับอังกฤษ) ทรงกรรมสิทธิ์ที่เป็น (เจ้าประคุณบรมะพ่อตาพญามหากษัตริย์) บิดาพระราชเทวีของพระเจ้าอยู่หัวผู้หนึ่ง จึ่งบางทีเข้าไปนั่งปนกับเจ้านายขัติยราชสกูลวงศ์พม่า แต่จำเภาะเข้าไปนั่งได้ตามพระราชโองการเปนพิเศษชั่วคราว หาใช่กรรมสิทธิ์ตามตำแหน่งเจ้าฟ้านั้นใม่
ตำแหน่งยศเจ้าฟ้าไทยใหญ่
๑ เชียงรุ้ง (กเยียงโยงญี) ชวะตีนคระมหาวังศะสิริสุธรรมราชา
๒ เชียงตุงเชียงแข็ง (กเยียงตนกเยียงเชียง) ปยินสะละรฐามหาวังศะสุธรรมราชา
๓ เมืองหน่าย (โมแน) กัมพะวสารฐามหาวังศะสิริปวระสุธรรมะราชา
๔ แสนหวี (เสียนนี) สีริรฐามหาวังศะปวรเสตะสุธรรมะราชา
๕ ยางห้วย (นยองฮเว) กัมพะวสารฐาสิริปวระมหาวังศะสุธรรมะราชา
๖ เมืองใผ่ (โมพแย) กัมพะวะสามหาวังศะสิริธรรมะราชา
๗ เมืองปั่น (เมียงปัน) กัมพะวะสามหาวังศะธรรมะราชา
๘ ไลขา (แลคยา) กัมพะวสารฐามหาวังศะสิริสุธรรมะราชา
๙ เมืองปู (เมียงปู) กัมพะวสารฐาวังศะสีหธรรมราชา
๑๐. หมอกใหม่ (มอกแม) กัมภะวสารฐามหาวังศะสิริราชา
๑๑ ลอยหลวง (ลองบาย) มหาสิริบับภะนาสุระราชา
๑๒ เมืองมีต (โมเมียก) คันธาละรฐามหาสิริวังศะราชา
๑๓ สมโชค (สองสุต) มะวริยามหาวังศะสีหราชา
๑๔ เวียงแสรเวียงเสือ (วุนโส) มหาวังศะสิริชะยะโสโหนพวา (เจ้าเสือหาญฟ้า)
๑๕ กาเล (เสียนนยิน) มวะริยาสีหะมหาวังศะธรรมะราชา
๑๖ กันตี มหาวังศะ ดุเยียน (ทุระอินทร์) ราชา
ตำแหน่งยศเมียวซา (เจ้าฟ้าอ่อน) ไทยใหญ่
๑. ชุมสาย (โถงเซ) สิริรฐามหาวังศะสุธรรมะราชา
๒ เมืองป่วน (เมียงปุน) สิริมหาโสงันพวา (เจ้าเสืองันฟ้า)
๓ สามกา (สะคา) มหาราชะโสงันพวรา (เจ้าเสืองันฟ้า)
๔ ไฮ่หลวง (แฮโลน) มหาชะยะโสงันพวา (เจ้าเสืองันฟ้า)
๕ กันตะระวดี (กะเรนนี) ปับภะนากยอคอง
๖ เคียมเมือง (กยาเมียง)
๗ สีปอ (ธีบอ) มโยกกัมพะวสามหาวังศะ
๘ เมืองหลวง (เมียงโลน) เนเมียว มินฮละ ราชา
ตำแหน่งยศงะเวกุนฮมู
๑. มอโสน (บอส่าย) เนเมียวสิริกยอดิน (สิริกฤษฎา)
๒ ป่อยลา (ปล่อยลาพม่าว่าปวยฮลา) เนเมียวสิริราชา
๓ บังตะระ (ปินทะยา) เนเมียวราชาโนรธา (อนุรุธ)
ตำแหน่งยศดากุนฮมู
๑. โป่งลังหมู (โปนมุ) ดากุนฮมู สิริมหาราชา โสงันพวา (เจ้าเสืองันฟ้า)