คำนำ

ก่อนท่านผู้อ่านที่ยังใม่ทราบจะทราบ ว่าพงศาวดารไทยใหญ่นั้นคืออะไรได้ดี ก็น่าจะฟังเรื่องราวดึกดำบรรพ์ของชาติไทยเสียก่อน มนุษย์ชาติไทยนั้น ในปัตยุบันนี้มีแพร่หลายมากมายผ้านแผ่ไปในสุวรรณภูมิประเทศชมพูทวีปเป็นจำนวนตั้งร้อยล้านคน แต่แตกกันออกเป็นหลายจำพวก ใช่จะมีไทยจำเพาะแต่ไทยสยามอันเป็นไทยจำพวกหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าไทยน้อยฤๅไทยไต้จำพวกเดียวเท่านั้นก็หาใม่ ไทยใหญ่ก็เป็นมนุษย์ชาติไทย ร่วมชาติกะไทยเราชาวสยามมาแต่ดึกดำบรรพ์ เหมือนไทยเหนือที่ยกมาตั้งอยู่ในด้าวดินของลาวคือลว้าเราเลยเรียกลาว ฤๅไทยเดิมที่คงค้างอยู่ในเมืองจีนเราเรียกฮ่อนี่เอง

ชาติไทยนั้น นักปราชญ์ฝรั่งผู้ชำนาญโบราณะคดีอนุมานกันว่า ในเบื้องบุรพะกาลคงจะเกี่ยวพันธุ์กันกะชาติจีนหลวง อยู่ในมัชฌิมะภาคกรุงจีนเวิ้งแม่น้ำเหลืองก่อน เพราะรูปะพรรณ กิริยาอาการ แลน้ำใจลม้ายกัน ทั้งภาษาจีนคำหลวงใน ๑๐๐ คำก็ปนคำไทยอยู่ใม่น้อยกว่า ๓๕ คำ ยังวิธีพูดใช้ไวยากรณ์ วางกริยาศรัพท์ แลคุณศรัพท์ ก็ทำนองเดียวกัน พูดคำซ้อน เช่นแดดงาย ลู่ทางเป็นต้น ก็เหมือนกัน ที่ใม่มีชาติอื่นใครค่อยใช้ แต่การเหล่านี้ก็ชั่วแต่นึกแต่คาด ยังใม่มีหลักฐานที่มั่นคงแน่ชัดกะทงใด สมควรจะเชื่อถือเอาเป็นจริงแท้ พ้นฉายาเดาไปไหนรอดได้

ข้อที่แน่ชัดมั่นคงถ่องแท้นั้น คือชาติภูมิของไทยเราดั้งเดิมแต่ก่อนพุทธกาลโพ้นแรกปรากฎว่ามีชาติไทยอยู่ในโลก คนละชาติกะจีนนั้น ตั้งอยู่ในกรุงจีนเบื้องตวันตกเฉียงใต้ เวิ้งแม่น้ำยังซีเกียงมณฑลเสฉวน จีนเรียกพวกฮวน นิไสยไทยแต่ครั้งดึกดำบรรพ์มาจนกาละทุกวันนี้ รักเป็นไทยแก่ตัว สมชื่อเป็นไทย เมื่อยุคเลียดก๊กกรุงจีนแตกออกเป็นหลายอาณาจักร์ จีนมณฑลฌ้อรุกรานมาข่มเหงไทยให้ได้เดือดร้อนรำคาญบ้าง ลักษณะไทยโบราณชั้นต้นๆยังใม่ช่ำชองเชิงเภาะปลูก ใช้แต่วิธีจับสัตว์ ฤๅเก็บผลไม้ที่เป็นเอง บริโภคเป็นภักษาหารเลี้ยงชีพ เมื่อมากคนเข้าด้วยกัน ที่ชาติภูมิเดิมอัตคัดอาหารบ้าง ฤๅเมื่อรู้จักเภาะปลูกแลเลี้ยงสัตว์พาหนะแลสัตวาหารเป็นแล้ว ขัดขวางเนื้อที่อุดมดีสมจะประสมสัตว์ฤๅประกอบกษิกรรมในอเลอชาติภูมิเลี้ยงชีพโดยผาสุกบ้าง จึ่งเที่ยวร่อนเร่รบาดบ่าลงมาทางใต้ ทางตวันตก ทางตวันตกเฉียงใต้ แลทางตวันออกเฉียงใต้ ตามวิไสยเป็นชาติห้าวหาญสงวนศักดิ์รักอิศระภาพ แยกอพยพกันมาเป็นพวกๆน้อยบ้างมากบ้าง เที่ยวตั้งภูมิลำเนาในถิ่นที่อันอุดมด้วยภักษาหาร ฤๅที่อู่ข้าวอู่น้ำทำการเภาะปลูกง่าย โดยปราศจากความตอแยรางหยาว ด้วยเชิงรบร้าฆ่าฟันเจ้าของชาติภูมิเดิมแย่งชิงเข้าตั้งอยู่บ้าง ตั้งในที่รกร้างว่างเปล่าบ้าง แซกเข้าไปผสมกับเจ้าของด้าวดินเดิมบ้าง จึ่งปรากฎมีชนชาติไทยไปเที่ยวตั้งภูมิลำเนาในสุวรรณภูมิประเทศแว่นแคว้นต่างๆมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แตกกันออกเป็นหลายจำพวก ล้วนแต่ไทยดั้งเดิมร่วมชาติเดียวกันทั้งนั้น ในประเทศฮุนหนำ (ที่บัดนี้ฝรั่งเรียกยูนนาน) ของจีน แลในเมืองจีนเองภาคไต้ก็ยังมีไทยพูดภาษาไทย ในเมืองญวนตังเกี๋ยก็มีไทย ในพม่าก็มีไทย ในเมืองติดต่อกับประเทศอินเดียด้านตวันออกก็มีไทย ในเมืองลาวพวน ลาวกาว ลาวเฉียง จนประเทศสยาม ก็ละล้วนมีไทยชาติเดียวกันทั้งมวญ ไทยใหญ่ฤๅเงี้ยวที่เรียกตัวเองว่าไทยหลวงฤๅไทยคำตี่เป็นต้น แต่ฝรั่งเรียกตามพม่าว่าชานก็เป็นไทยจำพวกหนึ่ง ซึ่งยกไปตั้งถิ่นฐานในด้าวดินอเลอโขดเขาเขินเวิ้งแม่น้ำสัละวีน เวิ้งแม่น้ำชเวลี แลเวิ้งแม่น้ำอิระวดีตอนบน อันเป็นหัวเมืองชานเอกราช ภายหลังตกอยู่ในเงื้อมอานุภาพพม่า แล้วตกมาอยู่ในอำนาจอังกฤษณปัตยุบันนี้ มาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ แผ่ออกไปถึงเมืองธัญญะวดีฤๅยะข่าย ที่ฝรั่งเรียกอะระกัน เมืองมณีปุระหรือกะแซ ที่ฝรั่งเรียกว่ามณีปัวร์ เมืองเวสาลีหลวงฤๅอาซัม แลหัวเมืองพม่าตอนบนแถบท้องทุ่ง ตีปฐมมหานครโบราณของพม่านามหัสตินะปุระ ฤๅกรุงตะโก้ง (ไทยใหญ่เรียกเมืองทุ่งกุ้ง) นั้นได้ แลต่อมาตั้งครอบครองเป็นเจ้ากรุงรัตนปุระอังวะ แลกรุงหงสาวดีของพม่าแลมอญอยู่ช้านาน เหมือนกะไทยสยามที่ครั้งดึกดำบรรพ์ยกมาชิงแคว้นลาวคือลว้าตั้งณเมืองเชียงแสน แล้วก็เลื่อนลงมาชิงด้าวแดนขอมตั้งอยู่แถบเมืองเหนือเวิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา จนได้สถาปนาโบราณะมหานครศรีสัชนาลัย (คือเมืองสวรรคโลก) แลกรุงสุโขไทยราชธานี ทั้งเผยอานุภาพแผ่ลงมาตั้งถึงเวิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คือ มณฑลลโว้ (ลพบุรี) แลมณฑลสุพรรณ (นครปฐมสุพรรณแลกาญจนบุรี) เป็นต้น เมื่อเมืองหลวงของชาติไทยในมณฑลขัณฑละฤทธิ์ (คือน่านเจ้าตะลีฟู) ประเทศฮุนหนำ (ยูนนาน) เสียแก่พวกมะหง่ล คือ กุไบลขั่น อันได้เป็นพระเจ้าราชาธิราชผ่านพิภพกรุงจีนตั้งพระวงศ์หงวนเฉียว ทรงพระนามพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้เสียแล้ว พวกไทยังบ่ามาอิกพักใหญ่ รวมเชื้อพระวงศ์พระเจ้าพรหมราชที่ยกมาตั้งณเมืองฝางแลเลื่อนลงมาเป็นตอนๆ จนพระขัติยะสันตติราชสกุลบพิตร์ยกจากเมืองเชียงรายมาตั้งเมืองไตรตรึงส์ (เวิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนต่ำ) อันเป็นปฐมวงศ์ฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (ท้าวอู่ทอง) ซึ่งทรงประดิษฐาน กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยานั้นด้วย

พงศาวดารไทยใหญ่นั้น ก็กล่าวตำนาญของไทยใหญ่ สุดแท้แต่จะสืบสาวราวเรื่องได้ จำเดิมแต่เบื้องบุราณะกาละดึกดำบรรพ์ มาจนกระทั่งปัตยุบันสมัยนี้เพียงใด

ความรู้อันนี้ ข้างไทยเราเองอยู่ข้างยอบแยบมาก จำเป็นต้องอาไศรยพึ่งปลูกขึ้นได้ โดยขบวนขวนขวายหาหนังสือที่นักปราชญ์โบราณะคดีฝรั่ง ชาติอังกฤษแลฝรั่งเศส ซึ่งได้พยายามค้นคว้าสอบสวนเรื่องตำนาญชาติไทยลึกซึ้งมาก ทั้งทางพม่า ทางไทยใหญ่ ทางเวสาลีหลวง ทางกะแซ ทางลาว ทางญวน แลทางจีน รจนาพิมพ์ขึ้นไว้นั้นๆมาอ่านเอาเป็นหลัก แลประกอบกับพงศาวดารโยนก พงศาวดารเหนือ คำสิลาจารึก ทั้งพระราชพงศาวดารไทย แลมหาราชวงศ์พม่า สรูบรวบรวมกัน ปรุงเป็นเลาเรื่องพงศาวดารไทยใหญ่ขึ้นได้พอตลอดแต่ต้นจนปัตยุบันสมัย อย่างกะพล่องกะแพล่ง เป็นต้นเค้าไว้ที

แม้ไทยใหญ่จะเป็นไทยจำพวกหนึ่งสาขาหนึ่งต่างหาก ใม่ใช่ไทยสยามที่ผสมพันธุ์กับขอมฤๅมอญสืบสัมพันธุพงศ์มาอิกแผนกสาขาหนึ่ง ก็ยังเป็นชาติไทยด้วยกัน ร่วมสายโลหิตปฐมางกูรมูละชาติอันเดียวกัน น่าไทยเราจะรู้เรื่องราวเค้าเงื่อนของมนุษย์ชาติประยูรญาติไทยด้วยกันไว้เป็นเครื่องประเทืองปัญญาญาณ ในเชิงพงศาวดารโบราณะคดี เมื่อเห็นเช่นนี้ แลทั้งเห็นว่าเรื่องนี้ของไทยยังใม่มีอ่าน ซ้ำประกอบฉันทอัทธยาไศรย โน้มน้ำใจจะใคร่หางารอันใดทำ เพื่อเป็นคุณูประการต่อเพื่อนร่วมชาติ แลเฉลีมพระกฤษฎาธิการ พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตร์พระพุทธเจ้าอยู่หัว มหากษัตราธิราชที่พึ่งของข้าพเจ้า สนองพระเดชพระคุณตามยถาพะลัง จึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นจูงใจ ให้เพียรนิพนธ์พงศาวดารไทยใหญ่เรื่องนี้ขึ้น จนสำเร็จลงให้ท่านอ่านได้ ลำพังหวังใจว่าแม้พลาดพลั้งอย่างใดบ้าง ด้วยรู้เท่ามิถึงกาลก็ดี แต่หากปราถนาดีไซร้ ก็คงจะได้รับอภัยะโทษจากท่านผู้อ่าน โดยเมตตาปรานีต่อผู้เขียนเรื่องนี้ ผู้มีสติปัญญาวิชาชาญอันน้อย

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรด

กรุงเทพฯ วันอาฑิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

(ลงพระนาม) กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ