- หม่อมบุญ วรวรรณ ณกรุงเทพ
- คำนำ
- ตอนที่ ๑ ชาติไทย
- ตอนที่ ๒ วิธีนับศุภมาศของไทย
- ตอนที่ ๓ พงศาวดารไทยเมาฤๅไทยหลวง
- ตอนที่ ๔ พงศาวดารแสนหวี
- ตอนที่ ๕ เรื่องราชอาณาจักร์ไทยต่างๆ
- ตอนที่ ๖ อาการเลี้ยงชีพ บ้านเมือง แลการปกครองของไทยใหญ่
- ตอนที่ ๗ อังกฤษครอบครองหัวเมืองไทยใหญ่
- ตอนที่ ๘ อังกฤษจัดราชการปกครองหัวเมืองไทยใหญ่
- ตอนที่ ๙ ศาสนาแลอย่างธรรมเนียมไทยใหญ่
- เทียบภาษา
- เทียบคำพูด
ตอนที่ ๔ พงศาวดารแสนหวี
พงศาวดารพระผู้ปกเผ้า (คือมหาสะมะทามินทร์) ของหัวเมืองชาน (ไทย) นั้น เบื้องดึกดำบรรพ์จำเดีมแต่แรกเริ่มจตุระมหากาละจักร์ เมื่อ ไฟ น้ำ แลลม แยกออกจากกันแล้ว จึงอุบัติปัถพีดล เปนธาตุทั้ง ๔ จำเดิมแต่บังเกิดพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นแล้วในโลกนี้ ปรากฎพระนามาภิธัยว่า พระพุทธเจ้า แลจำเดีมแต่เริ่มรัชกาลขุนลูแลขุนลา (ในพงศาวดารชานของมิสเตอเนอีเลียส เรียกขุนลาว่า ขุนไล) ตราบเท่าถึงปัตยุบันสมัยบัดนี้
ในปางโพ้นเมืองคำแห่งแสนแสรมานแสร (คือบ้านแสร) แม่เมืองยังใม่มีพระผู้ปกเผ้า มีแต่พ่อเมืองทั้ง ๔ ตนจัดการปกครองคือ
๑ ท้าวเมือง | เถ้าแลก (เถ้าแรก) | แห่งหอตู้ |
๒ ท้าวเมือง | เถ้ากาง (เถ้ากลาง) | แห่งเมืองต้น |
๓ ท้าวเมือง | เถ้ากางฮวบ | แห่งแสนแสร แล |
๔ ท้าวเมือง | เถ้ากางฮวบ | แห่งสุโม |
พ่อเมืองทั้ง ๔ ตนนี้ ปกครองบ้านเมืองโดยสามัคคีต่อกันแลกันโดยชื่นตาจนได้ประดิษฐานมูละกำเนีดแห่งพงศาวดารหัวเมืองชาน (คือไทย) ต่างๆ
แสนหวี สีเสือ แสนหวี เสือปะตู เสืออั้นพู เสืออั้นวู แลเสือโม (คือหัวเมืองเสือทั้ง ๔ ข้อผิดแผกกันฉันใดระหว่างเสือปะตู เสืออั้นพู เสืออั้นวู แลเสือโมนั้น เห็นชัดว่าถึงปัตยุบันสมัยนี้ ผู้ที่มีความรู้อาจจะแปลได้ว่ากระไรนั้น น่าจะสาบสูญเสียหมดแล้ว) แต่เรื่องเมืองโกสุมพีฤๅโกสัมพี คือเมืองดอกไม้ขาว อาจจะพรรณนาได้สั้นๆดังต่อไป
เมืองดอกไม้ขาวแลใบใหญ่นั้นเปนชื่อให้สำหรับเมืองโกสัมพี อันเปนเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ภวะดีคำ (เจดีย์คำ?) ในเมืองเมียตสีมา ว่าเปนที่พระพุทธเจ้าประสูติ
ในเมืองโกสัมพีนั้น มีนางพญาพระองค์หนึ่งปรากฎพระยศว่าพระอรรคมเหษีมหาเทวี กำลังทรงพระครรภ์แก่ อยู่มาวันหนึ่งพระมหาเทวีคลุมพระวรกายด้วยรัตะโกสัยะพัตถ์ประทับผึ่งอายสูริย์อยู่ณพระเฉลียงราชมณฑิราลัย ยังมีนกยักษ์ตัวหนึ่งนามมหาติลังคะ เห็นพระมหาเทวีทรงพระสะใบแดงก็เข้าใจว่าชิ้นมังสะสด จึงบินถาลงโฉบเอาองค์พระมหาเทวีบินโบกขึ้นโพยมหน พ้นพิไสยนระชนจะช่วยเหลือไหว ลอยละลิ่วสูงเทียมยอดหิมมะวันตะสิงขร อันตั้งอยู่ท่ามกลางไตรสหัศพนัศแล้ว จึงค่อยราร่อนลงจับณค่าคบไม้งิ้ว ประสงค์จะบริโภคพระมหาเทวีเปนภักษาหาร แต่พระมหาเทวีส่งพระสุระเสียงร้องก้องกัมปนาท จนมหาติลังคะปักษาสดุ้งตกใจก็เลยบินหนีไปในนภากาศ ขณะนั้นพระมหาเทวีก็ประสูติพระราชกุมาร ณค่าคบไม้ พระสุระเสียงราชะโปฎกทรงกรรแสงนั้น กระทบถึงโสตร์พระฤๅษีอันตั้งอาศรมบทอยู่ในวันสถานนั้น กำลังนั่งภาวนาพระเวทอยู่ พระผู้เปนเจ้าจึงมาสู่ต้นพฤกษานั้น นางพญาก็ตรัสเล่าเรื่องที่ถูกมหาสกุณโฉบจากกรุงโกสัมพีมาทิ้งไว้อย่างไร ถวายพระนักสิทธิ์ พระมุนีจึงทำพะองพาดขึ้นไปช่วยประคององค์พระมหาเทวีลงมา แลพระมหาเทวีก็ประคองราชะโปฎกตามพระสิทธาจาริย์ไปอยู่ด้วยณอรัญญาลัย
เมื่อพระกุมารเจริญพระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา ท้าวสักกะก็ลงมาจากฟ้าแลถวายพิณอันมีสายศักดิ์สิทธิ์ เมื่อดีดขึ้นแล้ว เรียกช้างในป่านั้นให้มาอ่อนน้อมเปนข้าบทมาลย์พระกุมารนั้นได้สิ้น ตั้งแต่นั้นมาพระกุมารก็ปรากฎพระนามาภิธัยว่าขุนแสงอู่ติงตามเสียงพิณดังติงๆนั้น (ที่แท้ออกจากพระอุเทนในชาดกนั่นเองทั้งท้องเรื่องแลทั้งนามเลียนมาตรงๆ) ลำดับนั้นขุนแสงอู่ติงก็เรียกช้างทั้งปวงในป่ามาชุมนุมด้วยเดชะเสียงพิณทิพย์ขึ้นสถิตย์ณะคอมหาคชสาร ยาตรากุญชรพยูห์ไปสู่กรุงโกสัมพี พเอีนชนกาธิราชอันเปนมหากษัตริย์สวรรคตเสียแล้ว พระองค์ก็ได้เฉลีมราชสมบัติ แลเสด็จกลับไปยังที่ซึ่งพระชนนีประทับอยู่กับพระฤๅษี ทรงสร้างเมืองขึ้นที่นั่นนามเมืองอู่ติง ภายหลังมาเรียกเมืองติ่ง เปนที่ๆท้าวสหัสนัยถวายพิณทิพย์ต่อพระองค์ ที่ซึ่งพระราชมารดาประทับผึ่งอายแดดแลต้องลมปีกนกมหาติลังคะจนสิ้นพระสตินั้น เรียกว่าเมืองเมา ออกจากคำว่าเมา (แปลว่าใม่มีสติ) แลปรากฎนามนั้นมาจนกาละทุกวันนี้ แลเมืองแห่งสามพันป่าฤๅไตรสหัสหิมะวันตะประเทศนั้น ปรากฎมาแต่ครั้งมหากษัตริย์ดึกดำบรรพ์ว่า เมืองแสนหวี สีเสือ เมืองเสือปะตู เมืองเสืออั้นวู เมืองเสืออั้นพู แลเมืองเสือโม อนึ่งเรียกเมืองดอกไม้ขาวว่า เมืองสิริวิลาตะมหากัมโพชา (ฤๅกัมพะวะสา) เสนาคนีโกสัมพี มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ (เปนตำนานยำเรื่องพระอุเทนเปนตำนานไทยใหญ่)
อนึ่งในปี ๑๒๗๔ จำเดิมแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสู่มหาปรินิพพานแล้วล่วงมา ยังมียายกตาคู่หนึ่ง (ในเรื่องมิสเตอร์เนอีเลียศเล่าว่าเปนเทวะราชมารดาบิดรนามสูงแลเสง) อยู่ในมานแสร (บ้านแสร) เปนหมู่บ้านอยู่ใกล้เมืองเมาณฝั่งหนองอันหนึ่ง ชื่อหนองผุด มีบุตรคนหนึ่งนามขุนอ้าย เคยออกไปเลี้ยงโคที่ปล่อยให้กินหญ้าอยู่ใกล้หนองผุดอันตั้งอยู่เหนือบ้านแสรนั้นกับลูกเพื่อนบ้านทุกๆวัน อยู่มาวันหนึ่งเมื่อขุนอ้ายอายุได้ ๑๖ ปี มีนางนาคธิดาพญานาคะราชตัวหนึ่งจำแลงโฉมเปนนางมนุษย์มาหาขุนอ้ายพูดจาทอดสนิทติดพัน การเจรจานั้นจบลงด้วยเกิดสิเนหาต่อกัน นางจึงพาขุนอ้ายไปสู่นาคะพิภพ นางนาคะราชธิดาให้ขุนอ้ายพักอยู่นอกเมืองก่อน จนกว่านางจะได้เข้าไปชี้แจงเรื่องราวต่อพญานาคะราชผู้บิดาเสร็จแล้ว พญานาคะราชใม่อยากจะให้ขุนอ้ายเขยขวัญรู้ศึกตระหนกแลรังเกียจ จึ่งมีบรรชาสั่งให้นาคะบริวารทั้งปวงจำแลงตนเปนมนุษย์ทั้งสิ้น นางนาคะราชธิดาแลสามีมนุษย์ก็ร่วมสันนิวาศอยู่เย็นเปนสุขด้วยกันมาในวังนาคะพิภพซึ่งพญานาคะราชอำนวยให้เปนที่สถิตย์ตลอดเวลา ๙ เดือน อยู่มากาละวันหนึ่งบรรลุถึงนาคะนักษัตระฤกษ์พิธีเล่นน้ำประจำปี พญานาคะราชจึงตรัสให้พระธิดาบอกแก่ขุนอ้ายว่า ฝูงนาคทั้งหลายก็ต้องกลับตัวเปนโงกคือนาคไปเล่นน้ำในทะเลสาบหลวงสำหรับเมือง นางก็บอกสามีให้อยู่ณะมณเฑียรตลอดวันนักษัตระฤกษ์ แลองค์นางก็ไปสโมสรพร้อมกันกะฝูงนาคะบริวารในการฉลองพิธีเล่นน้ำตามนาคะประเพณี ขุนอ้ายอยู่ทางนี้คนเดียวก็ปีนขึ้นไปบนยอดปราสาทชั้นสูง แลเห็นเมืองนาคได้โดยรอบ เห็นทั้งทะเลสาบอันเต็มไปด้วยฝูงงูร้ายกำลังเล่นน้ำกันสนุกสนานทั้งน่ากลัวแลน่าเกลียด ก็สลดใจกลับลงมานั่งเจ่าอยู่แต่เอกา ครั้นลุเวลาสายัณห์ นาคทั้งปวงก็กลับจำแลงกายเปนมนุษย์คืนสู่นาคะนิเวศน์อีก เมื่อนาคะราชธิดามาถึงเห็นขุนอ้ายสามีนั่งเศร้าอยู่ผิดปรกติจึงวอนถาม ขุนอ้ายตอบว่าใม่สบายใจด้วยคิดถึงบ้าน แลอยากจะเห็นหน้าบิดามาดาชราอิก ครั้นรุ่งขึ้นขุนอ้ายแลนางนาคราชธิดาก็กลับขึ้นมาสู่เมืองมนุษย์ ครั้นมาถึงหนองผุด นางนาคจึงบอกแก่สามีว่านางทรงครรภจะต้องออกฟอง แลเมื่อฟักแล้วจะเกิดบุตร์ออกมาจากไข่นั้น ขอให้ขุนอ้ายช่วยเปนภาระที่จะฟักฟองแลเลี้ยงลูกใม่ว่าจะเปนบุรุษฤๅสัตรีเพส เครื่องเลี้ยงนั้นก็น้ำนมซึ่งคงจะหลั่งไหลออกจากนิ้วก้อยของขุนอ้ายเอง เพื่อให้เด็กดูดแลลำลึกถึงนางนาคขึ้นเมื่อใด แลต่อไปในอนาคตกาล หากตัวขุนอ้ายฤๅบุตร์ที่จะเกิดมานั้นก็ดีมีทุกข์ร้อนภยันตรายอย่างไร ก็ขอให้เอามือตบแผ่นดินลง ๓ แปะแลรลึกถึงนางนาคเถิด นางเจ้าจะขึ้นมาช่วย รำพรรณสั่งแล้วนางก็ไข่แลไว้อาไลยลากลับคืนไปสู่นาคะพิภพ ขุนอ้ายก็เที่ยวเก็บหญ้าแลใบไม้แห้งตามริมหนองผุดมาปกใข่บุตร์ของตนไว้ แล้วก็กลับไปหาบิดามารดาเล่าความทั้งปวงบรรดาเปนมาแล้วให้ฟัง เว้นแต่หาได้บอกรื่องใข่นาคใม่ ด้วยขุนอ้ายมีความละอายนัก ยายกะตาดีใจมากที่ได้ลูกรักกลับมาอยู่ด้วยใหม่ แต่สังเกตเห็นอย่างไร เมื่อขุนอ้ายกินอาหารเช้าแล้ว เปนไปที่ฝั่งหนองผุดทุกวันมิได้ว่างเว้น อยู่มาวันหนึ่ง ยายกะตาก็ลอบสกดรอยตามไป จึงเห็นขุนอ้ายนั่งอยู่ริมฝั่งหนองเลี้ยงเด็กแดงๆวางไว้บนตักโดยให้ดูดนิ้วก้อยอยู่ จึงเข้าไปซักถาม ขุนอ้ายก็บอกความตามตรง ว่าเด็กนี้เปนลูกชายของตนเกิดจากนางนาคะราชธิด าแลเล่าเรื่องได้ฟักใข่โดยเอาหญ้าแห้งในทุ่งแลใบไม้แห้งปกไว้จนลูกออกจากใข่เปนตัวมา แลเลี้ยงด้วยขีระรสอันออกจากขนิษฐองคุลีนั้นให้บิดามารดาฟังทุกประการ เหตุฉนั้นยายกะตาจึงขนานนามหลานชายว่า ขุนทุ่งคำ เพราะฟักด้วยใบหญ้าในท้องทุ่ง (เรื่องที่มิสเตอร์เนอีเลียสเล่านั้นว่ายายกะตาเปนเทวะราชเจ้าสรวงสวรรค์) แลรับกุมารนั้นมาบ้านช่วยกันลุ่มเลี้ยงมาจนเจริญไวย จำเดิมแต่วันกุมารนั้นเข้าสู่ชายคาเรือน ยายกะตาก็ทำมาค้าขึ้นนับวันมีแต่สมบูรณ์พูลสุขอุดมด้วยทรัพย์แลความเคารพนับถือของเพื่อนบ้านทวีขึ้นทุกที จนกลายเปนคนใหญ่คนโตขึ้นในบ้านแสรนั้น
เมื่อขุนทุ่งคำอายุได้ ๑๖ ปี เจ้าวั่งตี่เปนกษัตริย์กรุงเมียกติลา (คือมิถิลาเปนนามเมืองแจซึ่งเลียนจากนามเมืองในอินเดียอันปรากฎในพระบาฬี ซึ่งพวกไทยใหญ่หมายถึงประเทศฮุนหนำ (ยูนนาน) มากกว่าหมายกรุงจีนทั้งสิ้น เมียกติลาที่กล่าวนี้ แลถึงออกนามเจ้าวั่งตี่ คือพระราชาธิราชกรุงจีน ก็ย่อมหมายเอาเมืองฮุนหนำ (ยูนนาน) ใม่ได้เล็งเอากรุงปักกิ่งฤๅเมืองเมียกติลาในพม่าตอนบน) นั้น มีราชธิดานางหนึ่งทรงนามเจ้าหญิงปับภาวดีชรรษาย่าง ๑๕ ปี ทรงพระเฉิดโฉมแลพระศุภะจริตเลิศล้ำสกละนารีทั้งหลาย จนเลื่องลือพระเกียรติเสาวะคุณกระเดื่องหล้า มีผู้ต้องประสงค์จะใคร่ได้พระนางน้อยนั้นอภิเศกด้วยทั่วทุกบ้านทุกเมืองในปัถพีดล บรรดาสดับกิดาการพรรณนาพระคุณสมบัติ จนกษัตริย์ราชบิตุรงค์โปรดให้สร้างปราสาทสุวรรณพระราชทานพระบุตรีนั้นตั้งอยู่ในกลางหนองใหญ่ใกล้มหานคร แลแขวนฆ้องไชยอันหนึ่งไว้ในมณเฑียรทองนั้นแล้ว ดำรัสให้ประกาศว่า ถ้าใครเข้าสู่ปราสาททองได้โดยตัวแห้งแลมิได้ใช้สพาน เรือหรือแพ แลย่ำฆ้องไชยอันเปนเครื่องหมายมังคลาภินิหารขึ้นได้แล้ว ก็จะทรงพระอนุญาตให้อภิเษกพระบุตรีนั้นเปนชายา จึ่งขุนทุ่งคำได้ทราบข่าวโฆษณาฉนั้นก็พาพรรคะบริพารเปนอันมากยกไปจากเมืองเมา ครั้นถึงหนองสุวรรณะปราสาทเห็นค่ายขัติยราชแลขัติยกุมาร ซึ่งต่างกรีฑาพลไกรมาตั้งพยายามเพื่อจะได้อภิเษกกะพระเยาวะบุตรีปับภาวดี ตั้งอยู่รอบล้อมหนองไปทุกด้าน แต่ละล้วนมาทหมายแข่งขันกันจนสุดฤทธานุภาพแลสติปัญญาเพื่อจะชิงนางนั้น แต่ก็ใม่มีขัติยบพิตร์พระองค์ใดสามารถจะข้ามเขาไปถึงสุวรรณประสาทได้ ขุนทุ่งคำจึ่งดำเนิรเข้าไปถึงชายหนองในเพลาสายัณห์ แลยอหัดถ์ตบลงณปัถพีภาค ๓ แปะ นางนาคะราชธิดาผู้เปนชนนีก็ขึ้นมาทอดกายดุ้งเปนสพานข้ามหนองใหญ่นั้นให้เจ้าทุ่งคำโอรสข้ามเข้าไปถึงมณเฑียรทองที่นางปับภาวดีอยู่ได้ พระนางสาวน้อยพืศวงพระหฤทัยในบุญญาธิการดรุณะกุมารนั้นยิ่งนัก มิช้าต่างก็เกิดสเน่หาปฏิพัทธ์ซึ่งกันแลกัน แลย่ำฆ้องไชยมหามงคลสัญญาขึ้น เจ้าวั่งตี๋ก็ให้เชิญเสด็จอุภัยดรุณะกุมารแลพระราชธิดาเข้าสู่พระราชวัง แลดำรัสถามขุนทุ่งคำ ว่าเปนเหล่ากอใครแลมาจากด้าวแดนใด เมื่อได้ทรงทราบว่าพระมารดาพีระมานพนั้นเปนนาคะราชธิดา แลพระบิดาเปนชาวมหาราษฎร์กรุงแสนหวีโกสัมพี คือเมืองดอกไม้ขาว ก็ทรงพระโศมนัศมาก จึงตรัสให้ตั้งการพระราชพิธีอภิเษกในวันศุภะฤกษ์สุดแต่จะเร็วได้เพียงใด ลำดับนั้นพระเจ้าวั่งตี่พร้อมด้วยเสนามาตย์ราชโยธาทั้งปวง ก็พาพระเขยขวัญอันพึ่งอภิเษกด้วยพระราชบุตรีซึ่งเปนที่ทรงพระพิศสวาศกรีฑามหาขบวนประเวศยังกรุงโกสัมพี แลสร้างมหาราชวังให้อุภัยขัติยวงศ์นั้นสถิตย์ณเมืองเมา แลเมืองที่ตั้งนิเวศน์นั้นก็เรียกเมืองทุ่งขาวสืบมา (ท้องเรื่องลม้ายพญาร่วงเจ้ากรุงศรีสัชชนาไลยในพงศาวดารเหนือของไทยสยาม แต่แผกเพี้ยนกันไปโดยนามแลใจความบางข้อ คือขุนอ้ายก็คือพญาอภัยคามินีได้นางนาคเวลาออกทรงศีลอยู่ในป่าเขาใหญ่หาได้ไปสู่นาคพิภพใม่ แลนางนาคะราชจากไปด้วยถึงกำหนดจะต้องพ่นพิศเปนไฟหาใช่ขุนอ้ายจากมาด้วยรังเกียจเห็นเปนนาคเล่นน้ำใม่ แลได้พระโอรสนามเจ้าอรุณราชสุริยวงศ์โดยนางชนนีคลอดทิ้งไว้พรานเก็บมาถวาย หาได้ได้เพราะทอดฟองถวายให้ทรงบริหารด้วยขีระรสจากพระขนิษฐอังคุลีใม่ แลพระยาร่วงลงสำเภาทองลอยมหาสมุทร์ไปสู่กรุงจีน หาได้ข้ามหนองสุวรรณะปราสาทโดยสพานขนองนางนาคะราชมารดาใม่ กรุงศรีสัชชนาลัยนั้นก็พระยาอภัยคามินีสร้างพระราชทานเจ้าอรุณราชสุริยวงศ์ หาใช่พระเจ้ากรุงจีนยกมาสร้างให้ใม่ เห็นได้ว่าเรื่องเดียวกันตรงๆ น่าที่จะเปนเรื่องติดปากติดใจไทยสยามเพ้อมาประดิษฐ์ติดต่ออย่างไทยใหญ่ประพันธ์ไว้นั้นทำนองเดียวกัน)
ลุ พ.ศ.๑๓๐๖ ขุนทุ่งคำแลพระนางปับภาวดีก็เปนมหาราชครอบครองมไหศวรรยาธิบัตร์ แลมีพระโอรสนามขุนลู อันมหาชนนิกรสโมสรสมมตขึ้นเปนมหาราช (สะมะทามินทร์) เมื่อขุนทุ่งคำพระชนกนารถทิวงคตเสียแล้ว ใน พ.ศ. ๑๓๗๘ อยู่ในราชสมบัติ ๗๒ พรรษา ขุนลูทรงราชย์อยู่ ๘๐ ศก จึงขุนไลราโชรสได้สืบราไชศวรรย์สนองพระองค์เปนสะมะทามินทร์ ใน พ.ศ. ๑๔๕๘ (ขุนลูกับขุนไลเปนบิดากับบุตรหาได้เปนภาดา แลขุนทุ่งคำบิดาก็หาได้เปนเทวะราช อย่างพงศาวดารไทยเมาหลวงของเนอีเลียสกล่าวใม่)
อนึ่งนามเมืองแสนหวีนั้นก็เกิดจากหวีกล้วยอันปลูกในสวนของยายกะตาราชบรรพบุรุษสัตรีของขุนทุ่งคำปลูกไว้ในบ้านแสรใกล้หนองผุด จึงเรียกกันสืบมาเปนเมืองแสนหวี สีเสือ แสนหวี เสืออั้นวู เสืออั้นพู เสือปะตู เสือโม โกสัมพี เมืองดอกไม้ขาว ในแคว้น สิริวิลาตะมหากัมโพชา (ฤๅกัมพวะสา) เสนาคนี (ฤๅแสงอัคนี) โกสัมพี
เมื่อขุนไลทิวงคตแล้วบ้านเมืองก็ทิ้งไว้ปราศจากเจ้าผู้ผ่านพิภพมาห้าหกปี แลบรรดาหัวเมืองไทยใหญ่ทั้ง ๘ จังหวัดก็สมัครสโมสรร่วมเอกะฉันท์ ปกครองโดยวินิจฉัยของท้าวเมือง อันเปนผู้เถ้าเจ้าตระกูลที่ยังมีตัวอยู่ ท้าวเมืองเหล่านี้มี ๔ ตน คือ (๑) ท้าวเมืองเถ้าแลก (คือแรกฤๅปฐม ด้วยครั้งโบราณใช้ตัว ร. เปน ล. เกือบจะอย่างสมัยใหม่เราเดี๋ยวนี้) เมืองตู้ผู้เปนพี่ชายใหญ่ของ (๒) ท้าวเมืองเถ้ากาง (คือกลางฤๅมัชฌิมะ ด้วยไทยครั้งโน้นพูดอักษรประโยคควบ ล. ฤๅ ร. ใม่เปน) เมืองต้น แล (๓) ท้าวเมืองกางฮวบ (คือกลางรวบ) เมืองแสนแสร ผู้เปนลุงของ (๔) ท้าวเมืองกางฮวบ เมืองเวงตู (ฤๅเวีย งตู้)
ไพร่ฟ้าประชากรทั้งปวงพากันมอบกายถวายชีวิตต่อท้าวเมืองทั้ง ๔ สการบรรณาการด้วยทองคำแลเงิน แลของมีค่าอย่างอื่นๆทุกๆสองฤๅสามศก
หัวเมืองไทยใหญ่ทั้ง ๘ อันขึ้นอยู่แก่ท้าวเมืองฤๅเถ้าเมืองทั้ง ๔ ตนนั้นมีนามปรากฎฉนี้
เบื้องบุรพทิศ
๑ เมืองเมา
๒ เมืองนา
๓ เมืองโหน
๔ เมืองขัตตราแสรฝางฤๅฝาง
๕ เมืองวัน
๖ เมืองตี่
๗ เมืองยาง แล
๘ เมืองกวน
เบื้องปัจฉิมทิศ
๑ เมืองแล่ง
๒ เมืองกุ้งกวาย (ควาย)
๓ เมืองกวง
๔ เมืองยันตะเร
๕ เมืองลัมปะลัม
๖ เมืองมานมอ (คือบ้านม่อฤๅเมืองพะโม)
เบื้องทักษิณทิศ
๑ เมืองสีปอ (คือธีบอ)
๒ เมืองไลขา
๓ เมืองแกงคำ (คือเชียงคำ)
๔ เมืองหมอกใหม่
๕ เมืองปวน (ฤๅพวน)
๖ เมืองยองฮเว (ยางห้วย)
๗ เมืองสามกา
๘ เมืองกุ้ง
๙ เมืองแกงตวง (เชียงตวงน่าจะเรียกเชียงตุง?)
๑๐ เมืองหน่าย (โมแน)
๑๑ เมืองสีต
๑๒ เมืองหนองวอน
๑๓ เมืองสี่กีบ
๑๔ เมืองปาย (ฤๅใผ่)
เบื้องอุดรทิศ
๑ เมืองติง (ฤๅอุเทน)
๒ เมืองฉิ่ง
๓ เมืองเลม
๔ เมืองโลม
๕ เมืองมุงมา
๖ เมืองโม่ง
๗ เมืองหิม
หัวเมืองทั้งปวงเหล่านี้ ส่งเครื่องบรรณาการมาออกต่อท้าวเมืองฤๅเถ้าเมืองทั้ง ๔ ตน
ในสมัยรัชกาลมหาสะมะทามินทร์ ปฐมวงศ์ คือขุนลูแลขุนไลนั้น อาณาจักร์ผ้านแผ่ออกไปถึง เมืองลา เมืองฮี แลเมืองฮาม (คือเมือง รี เมือง ราม ฤๅรามะบุรี (คือเชียงแสน) เพราะไทยใหญ่พูด ร. เปน ฮ.) อันตั้งอยู่ณฝั่งแม่น้ำโขงมีพระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่นามขุนลูคำมีบุตร์มาก ให้ตั้งปกครองหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นแกงใหม่ (เชียงใหม่ น่าจะเปนแคว้นลานนาไทย รวมเชียงแสนเปนนครสำคัญด้วย) ตามบรรชาของขุนลูคำ
ฝ่ายท้าวเมืองทั้ง ๔ ตน รู้ศึกกิจราชการปกครองมหาอาณาจักร์หนักหน้ามากเกีนกำลังสามารถของตนจะทนุบำรุงไหว เหตุฉนั้น ครั้นลุแรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ มินาคม ปี พ.ศ. ๑๔๙๗ ท้าวเมืองทั้ง ๔ ตนพร้อมกับหัวหน้าผู้แทนราษฎรพลเมืองจึงพากันไปเฝ้าพระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่เมืองฮีเมืองฮาม (เชียงแสน) อันตั้งอยู่ในแว่นแคว้นเมืองลาในด้าวเชียงใหม่ (เห็นจะเปนลานนาไทย เชียงแสนจึงจะตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขงสมเรื่อง) อันตั้งอยู่ณฝั่งแม่น้ำโขง ถวายเครื่องราชบรรณาการ คือเงินหนัก ๒๑ ชั่งสัต ทองคำน้ำหนัก ๓ ชั่งสัต กับของมีค่าอย่างอื่นๆ กราบทูลวิงวอนขุนลูคำ (ในพงศาวดารชานของมิสเตอร์เนอีเลียสว่า เปนเชื้อขุนลูที่ลงมาจากเทวะโลกย์) เพื่อโปรดอำนวยให้พระโอรสไปเปนเจ้าปกครองคณามนุษย์พวกตนสืบไป พระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ก็ทรงอนุมัติ แลพระราชทานพระโอรสทั้ง ๕ คือ (๑) ขุนไทยคำ (๒) ขุนอ้ายหอม (๓) ขุนคำเจน (๔) ท้าวขุนเวน แล (๕) ขุนคำเสน กับเจ้าต่างพระชนกอื่นอิก ๘ องค์ คือ (๑) ขุนคำพวงฟ้า (๒) ขุนแสงพวง (๓) ขุนท้าวแสงคำ (๔) ขุนท้าวเอากวา (๕) ขุนท้าวงารุ่ง (๖) ขุนฟ้าวุ้นต้น (๗) ขุนท้าวลูเหลือ แล (๘) ขุนปันเสือหลวง เจ้าทั้งปวงเหล่านี้ แต่ละล้วนเปนอายะติกะราชสันตติวงศ์ สืบจากขุนลูแลขุนไลทั้งสิ้นนั้น ให้ไปกับท้าวเมืองฤๅเถ้าเมือง แลตั้งครอบครองหัวเมืองแถบเวิ้งแม่น้ำสัละวีน ลำดับนั้นขัติยวงศาทั้งหลายก็มาด้วยกันกะท้าวเมืองลุเมืองตู้ในแว่นแคว้นแสนหวี ณวันเพ็ญเดือน ๗ (มิถุนายน) พ.ศ.๑๔๙๘
ในปีต่อไป ท้าวเมืองทั้ง ๔ ก็ชุมนุมไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั้งปวงพร้อมกันเพื่อจะได้รับพระผู้ปกเผ้าของตนๆ ครั้นแล้วท้าวเมืองทั้งสี่ร่วมฉันทานุมัติกับหัวหน้ามหาชนนิกร มีเจ้าขุนไทยคำเปนประธานก็อปะโลก เจ้าครองเมืองดังนี้
(๑) ขุนท้าวเอากวา รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองหน่าย เชียงคำ เชียงตวง (เชียงตุง?) แลหมอกไหม่ ตราบเท่าถึงราชสีมาสยาม
(๒) ขุนท้าวแสงคำ รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองยองฮเว (ยางห้วย) เมืองพวน สีโม สาตุง (เสือทุ่ง) มอลา มเยง หนองวอน ไลสัก สามกา ย่านกุ้ง แลเมืองปาย (ฤๅไผ่)
(๓) ขุนท้าวงารุ่ง รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองเมา เมืองนา แสรฝาง (ฤๅผาง) เมืองวัน (ฤๅวาน) เมืองตี่ เมืองโข แลเมืองกวน
(๔) ขุนฟ้าวุ้นต้น รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองติง เมืองฉิ่ง เมืองกูงมา แลเมืองโม่ง
(๕) ขุนท้าวลูเหลือ รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองฮาม เมืองยวง แลเมืองขัตตรา
(๖) ขุนคำพวงฟ้า รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองวุนโส (เวียงเสือ)
(๗) ขุนแสงพวง รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองกุ้งกวาย (ควาย) แลลัมปะลัม
(๘) ขุนปันเสือหลวง รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองกูต เมืองโลง (ฤๅหลวง) แลชุมสาย
(๙) ขุนคำเสน รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเชียงลาว บ้านม่อ (พะโม) เชียงแล่ง เมืองยาง (โมนยิน) แลเมืองกวง
(๑๐) ท้าวขุนเวน รับสมมตเปนเจ้าฟ้าเมืองยุค เมืองยิน เมืองมอ เมืองไถ แลเมืองฮาม
ใน พ.ศ. ๑๕๐๐ เจ้าขุนลูคำตั้งราชบุตร์ ขุนอ้ายหอม เปนเจ้าผ่านเมืองหอตู้ตั้งนครอยู่ณเมืองแสนหวี แลในศกนั้น เจ้าขุนไทยคำแลราชบุตร์ นามเจ้าขุนคำแสนฟ้ายกไปตั้งแสนแสร อันเปนมหานครที่ดำรัสราชการของหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง
เบื้องนั้น เจ้าผู้ผ่านพิภพอันได้รับสมมตใหม่ ต่างก็ยกจากเมืองแสนหวีสีเสือ แสนหวีเสืออั้นวู เสืออั้นพู เสือปะตู เสือโม อันเปนเมืองดอกไม้ขาวในแคว้นสิริวิลาตะมหากัมโพชา (กัมพะวะสา) โกสัมพี ไปสู่เมืองนั้นๆ แลต่างสร้างนครแลราชวัง แต่
(๑) เมืองสีปอ (ธีบอ)
(๒) เมืองขื่อ
(๓) เมืองลาว
(๔) เมืองลอกสอก
(๕) เมืองหนอง
(๖) เมืองสัง
(๗) เมืองโล้น
(๘) เมืองโม่ง
(๙) เมืองกูง
(๑๐) เมืองไลขา
(๑๑) เมืองเพ็ง
(๑๒) เมืองสู
(๑๓) เมืองหู แล
(๑๔) เมืองปาด
นั้น โฆษนาว่า เปนหัวเมืองอยู่ในราชอาญาสิทธิ์ของเจ้าขุนไทยคำกรุงแสนแสร
(๑) บ้านแสรแม่เมือง
(๒) เมืองยอม
(๓) เมืองแถ
(๔) เมืองยา
(๕) เมืองโก
(๖) เมืองวาน
(๗) เมืองเดก
(๘) เมืองจี
(๙) เมืองขา
(๑๐) เมืองโกยาง
(๑๑) เมืองพง แล
(๑๒) เมืองลอง
นั้นให้อยู่ในอาญาสิทธิ์ขุนอ้ายหอมเมืองหอตู้ ในกรุงแสนหวี
เมืองยุค เมืองตาด เมืองเมา แลเมืองน้อยนั้น เวนให้อยู่ในอาญาสิทธิ์ของท้าวขุนเวนเวียงน่าน เมืองยีน
ท้าวขุนเวนเมืองยีนมีราชบุตร์องค์ ๑ นามขุนท้าวปาพวง แลขุนท้าวปาพวงมีราชบุตร์องค์ ๑ นามขุนไทยพวง ขุนท้าวปาพวงสิ้นชนม์ในรัชกาลราชบิดา
พงศาๆดารเมืองมีต เชียงลาวนั้น กล่าวดังต่อไปฉนี้ :- ขุนคำเจนเข่ญฟ้าเจ้าฟ้าเมืองนั้นมีราชบุตร์ ๓ องค์ นาม ขุนตากา ขุนญี่อ่อง แลขุนสามเสือ ขุนคำเจนเข่ญฟ้าตั้งราชบุตร์องค์กลางเปนเจ้าผู้ปกเผ้าเมืองยาง (โมนยิน) เมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) แลมานมอ (คือบ้านม่อ พม่าเรียกเมืองพะโม)
ขุนคำพวงฟ้า เมืองกะเรเวียงเสือ ชีพตักษัย ใม่มีราชบุตรสืบวงศ์ อมาตย์จึงไปกราบทูลเจ้าขุนไทยคำเมืองแสนแสร ขอให้โปรดตั้งเจ้าผู้ผ่านเผ้า จึ่งได้ทรงตั้งขุนสามเสือ อันเปนราชบุตรองค์น้อยของเจ้าขุนคำเจนเข่ญฟ้าไปครองสนององค์ ใม่ช้าขุนสามเสือก็ชีพตักษัย แต่มีราชบุตรองค์ ๑ นามขุนติง ทรงราชย์สนององค์
ใน พ.ศ.๑๖๑๑ ขุนคำเจนเข่ญฟ้าเจ้าฟ้าเมืองมีตแลเชียงลาวทิวงคต ราชบุตร์องค์ใหญ่นามเจ้าขุนตากาได้ผ่านเมืองสนององค์ แลในศกต่อไป ได้ย้ายมหานครจากเชียงลาวไปตั้งใหม่ณะสูงโก (สิงคุ) พระองค์มีราชบุตรองค์ ๑ นามขุนโกม ได้เถลีงราชย์สนององค์เมื่อราชบิดาทิวงคตใน พ.ศ. ๑๗๒๘ ขุนโกมมีนักสนมเปนราชบาทบริจาริกาถึงกว่า ๑๐๐ นาง แต่ใม่มีนางใดทรงครรภ์เลย อยู่มาราตรีหนึ่ง เทพยดามาปรากฎต่อพระองค์แลทูลว่าให้มีการมหระศพถ้วนเจ็ดวันเจ็ดคืนณฝั่งน้ำแม่กิ่วฤๅแม่แก้ว (คืออิระวดี) แลให้พระสนมนางทั้งปวงไปประชุมรื่นเรีงพร้อมกับอาณาประชาราษฎรด้วยเถีด ทองคำทรายคงจะลอยตามกระแสน้ำลงมาในมหานที แลถ้านักสนมนางใดได้ดื่มน้ำในลำแม่แก้วอันปนทองคำทรายนี้ล่วงลำศอลงไปก็จะได้ทรงครรภ์แลประสูติโอรสสมราชประสงค์ ขุนโกมตรัสเล่าพระสุบินนิมิตร์ ให้พระสนมนางแลเสนามาตย์ฟัง แลตรัสสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีมหระศพบวงสรวงเทพารักษ์ณฝั่งน้ำแม่กิ่วฤๅแม่แก้ว (คืออิระวดี) ถ้วนเจ็ดวันเจ็ดคืนตามเทพะสังหรณ์ แต่พเอีญเกีดมหาวาตฝนตกห่าใหญ่น้ำในลำแม่น้ำไหลท่วมขึ้นมา ขุนโกมก็พาราชนารีบาทบริจาริกากลับคืนเข้าพระราชวัง มิได้ประทับรออยู่คอยทอดพระเนตร์ทองคำทรายลอยมาในกระแสรวารีตามพระสุบิน มีพระชายานางหนึ่งกับนางกำนัลน้อยคนอุตส่าห์อยู่ณพลับพลาริมฝั่งน้ำแม่แก้วดูการมหระศพแลคอยระวังตรวจตราดู จะมีสิ่งอันใดลอยมาในมหาวาริน กำนัลนางหนึ่งเห็นผลไม้อย่างปลาดลอยมาตามกระแสรน้ำก็เก็บมาถวายพระชายานางนั้นกลืนกินแล้วกลับคืนเข้าสู่พระราชวัง มิช้าก็ทรงพระครรภ์ครั้นถ้วนทศมาศแล้วก็ประสูติราชกุมาร (ทำนองพญาอู่ทองของไทย) พระมเหษีแลพระสนมนางอื่นๆพากันฤศยา จึงจับราชโปฎกนั้นทิ้งออกไปนอกกำแพงพระราชวังแลบอกแก่พระชายาผู้เปนชนนีว่า กุมารนั้นยังหาสมภพใม่ แต่เดชะบุญญาธิการสังหรณ์ ราชโปฎกนั้นหาเปนอันตรายใม่ เมื่อพระมเหษีแลนักสนมในได้ทราบจึงตรัสใช้ข้าหลวงให้หิ้วราชโปฎกนั้นไปทิ้งไว้กลางถนนหนทางสามแพร่งที่โคกระบือเคยเดีนผ่านไปมาทุกๆวัน ครั้นรุ่งขึ้นเช้าเมื่อนายโคบาลปล่อยโคออกจากคอกไปสู่ที่เลี้ยง ยังมีนางโคด่างตัวใหญ่ตัวหนึ่งเข้ายืนคร่อมป้องกันราชโปฎกไว้ มิให้ฝูงโคทั้งหลายย่ำเหยียบเปนอันตรายได้ แลคาบองค์ขึ้นด้วยปากพาไปสู่ทุ่งหญ้าที่เลี้ยงโค แลนางโคก็เลี้ยงพระกุมารด้วยน้ำนมของตน แลพากลับสู่คอกพร้อมกันกะฝูงโคในเพลาพลบ นางโคอภิบาลราชกุมารมาเช่นนี้ถึง ๑๘ เดือน พระมเหษีแลพระสนมนางในพระราชวังจึงได้ทราบชัดว่าราชกุมารน้อยนั้นหาสิ้นชนม์ชีพใม่ ยังไปทุ่งหญ้ากับฝูงโคอยู่ทุกๆวัน เมื่อเห็นคนผู้ใดเข้ามาใกล้ก็ส้อนองค์ในปากนางโคด่างตัวใหญ่ เหตุฉนี้พระสนมนางข้างในจึงร่วมคิดปฤกษากันจักฆ่านางโคด่างเสียให้หมดทั้งเมือง จึงแต่งคนใช้ไปบนกฤตยาจารย์ให้กราบทูลเจ้าฟ้าว่าเปนการจำเปนต้องฆ่านางโคด่างบูชายัญเทพยเจ้าจึงจะได้พระโอรส
บรรดานางโคด่างทั้งปวงก็ต้องถูกจับตัวมาฆ่าบูชายัญ แต่นางโคด่างตัวใหญ่ซึ่งอภิบาลพระเยาวะกุมารนั้น ก่อนจะถูกคร่ามาสู่ที่บูชายัญ ได้มอบเยาวะกุมารนั้นให้ควายตัวผู้ตัวหนึ่งรับถนอมเลี้ยงไว้ต่อไป เยาวะกุมารก็พึ่งอาไศรยอยู่กับควายตัวผู้นั้น เมื่อพระมเหษีแลสนมในได้สดับข่าวนี้ก็พยายามจะฆ่ากระบือเสียให้หมด จึงออกกลอุบายสอดสินสกางบนบานดังได้สำเร็จมาแล้ว แต่กระบือผู้ซึ่งอภิบาลเยาวะกุมารนั้นไหวทัน จึงพาเยาวะกุมารขึ้นคอหนีไปเมืองกะเรเวียงเสือเข้าปนอยู่กับฝูงกระบือของพระนางอี่พวน อันเปนราชบุตรีของเจ้าฟ้าเมืองกะเรเวียงเสือ เจ้าหญิงได้ทรงทราบว่ามีกุมารมนุษย์ปนอยู่กับฝูงควาย จึงตรัสให้หาตัวกุมารนั้นมาซักถาม ครั้นทรงทราบเรื่องตลอดก็นำความไปกราบทูลชนกนารถเจ้าขุนติง ๆ ออกพระโอษฐ์ว่า เจ้าฟ้าเมืองสุงโก (สิงคุ) นั้น สืบสายอุชุสันตติวงศ์มหาสะมะทามินทร์ แลทั้งเยาวะกุมารนั้นก็ทรงหลังควายมาจึงพระราชทานนามว่าขุนญี่ควายคำ แลตรัสให้มาอยู่ร่วมหอ (หอไทยใหญ่แปลว่า มณเฑียร) กับพระองค์
ใม่ช้าข่าวนั้นก็แล่นลือมาถึงพระโสตร์เจ้าขุนโกมเมืองสุงโก (สิงคุ) พระองค์จึงตรัสให้มหาอำมาตย์ไปเชิญเสด็จพระโอรสนั้นมา แลทรงต้อนรับด้วยพระโสมนัศเปนอย่างยิ่ง เมื่อโปรดให้สมโพชแล้วก็ตั้งเปนรัชทายาท ต่อนั้นไปเจ้าญี่ควายคำก็อภิเษกกับพระนางอี่พวน แลในมงคลกาลนั้นท้าวสักกะก็ลงมาจากฟ้าประสิทธิ์พระแสงสองคมถวาย (คือพระแสงขรรค์)
อภินิหารเจ้าควายคำก็เลื่องลือสเทื้อนสท้านไปถึงพระโสตร์เจ้าวั่งตี่ (วั่งตี่นี้เปนพระยศพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีน ตามที่ใช้ในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีต่อนาๆประเทศ แลมักใช้อ้างถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ล่วงลับไปแล้ว เปนคำทำนองพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งไทยเราใช้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราชของเราในสมัยนี้ฉนั้น) พระเจ้าวั่งตี่จึงทรงแต่งราชทูตให้มาเชิญเสด็จเจ้าญี่ควายคำไปสู่พิเชียรมหามณเฑียรในกรุงจีน เหตุฉนั้นเจ้าญี่ควายคำจึงได้ยาตรามหาขบวนไปสู่กรุงจีนใน พ.ศ. ๑๘๔๕ พระเจ้าราชาธิราชทรงต้อนรับขุนญี่ควายคำสมพระเกียรติยศอย่างยิ่งใหญ่ แลทรงขอให้ขุนญี่ควายคำเปนผู้ต่างพระองค์พระเจ้ากรุงจีนเปนราชธุระว่ากล่าวต่อพระเจ้าสีหะปติ มหากษัตริย์เจ้ากรุงภุกามฤๅปอกกัน (คือปะกัน) ทวงราชบรรณาการช้าง ๔ เชือก ทองคำหนัก ๔ ชั่งสัต แลเงินน้ำหนัก ๘ ชั่งสัต ซึ่งบรรพกษัตริย์ปฐมวงศ์พม่าเคยก้องถวายทุกกำหนด ๓ ปีฤๅ ๙ ปีครั้งหนึ่ง เหตุฉนั้นจึงมีขุนนางจีนฝ่ายทหารพลเรือนแลพลทหารรวม ๑๐๐ คน ตามขุนญี่ควายคำมาด้วยเมื่อขากลับ จีน ๕๐ คนอยู่กับขุนญี่ควายคำในเมืองสุงโก (สิงคุ) แลอิก ๕๐ คนเดีนทางลงไปสู่ราชสำนักพระเจ้าสีหะปติกรุงภุกามฤๅปอกกัน (คือปะกัน) พระเจ้ากรุงภุกามใม่ยอมส่งราชบรรณาการ แลจับจีนพวกทูตานุทูตประหารชีวิตเสีย ๔๐ คน ปล่อยกลับคืนไป ๑๐ คนเพื่อได้กราบทูลพระเจ้าวั่งตี่ว่า พระเจ้าพม่าได้ตระเตรียมคอยทำสงครามอยู่พร้อมมือแล้ว เมื่อเกีดสาเหตุขึ้นฉนี้ พระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนจึงแต่งทัพใหญ่มาราวีพม่า แลขอให้ขุนญี่ควายคำเมืองสุงโก (สิงคุ) ช่วยเกื้อหนุนเปนจอมพลยกไปราวี กองทัพต่างๆจึงยกมาจากเมืองแสรฝาง (ฤๅผาง) เมืองโข เมืองคำ เมืองยาง เมืองนา เมืองสันตา เมืองตี่ แลเมืองวาน แลหัวเมืองใหญ่ทั้งปวงอื่นๆอันอยู่ใต้อานุภาพเจ้าฟ้า เจ้าไทยพงผู้เปนใหญ่ ยอมมอบกายถวายชีวิตอยู่ไต้อาญาสิทธิ์ขุนญี่ควายคำเปนจอมพหล พ.ศ.๑๘๒๐ นั้นเปนปีที่พระเจ้าวั่งตี่ประกาศทำสงครามกับพระเจ้าสีหะปติกษัตริย์กรุงภุกามฤๅปอกกัน (พลาดจากที่เปนจริงไปถึง ๒๑ ปี) กองทัพจีนซึ่งสมทบกับกองทัพไทยใหญ่ ก็ยกมาตีกรุงภุกาม ขับพระเจ้าพม่าแลพระราชโอรสทรงนามสิริกยอสะวา หนีไปยังปยามาเมืองเมี้ยน (จีนเรียกพม่าว่าเมี้ยน ฤๅที่ไทยใหญ่เรียกว่าม่าน อนึ่งเซอมาโกโปโลกล่าวว่าเมืองมะเล เปนที่ต่อยุทธ์ตามพงศาวดารพม่า) การครั้งนี้ได้มีในปี พ.ศ. ๑๘๒๒ แลในปีต่อไป ขุนญี่ควายคำได้พาพระเศียระเกล้าพระสิริกยอสะวาไปถวายพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนแลกองทัพไทยใหญ่ต่างก็กลับคืนไปบ้านเมือง
ในยุคโน้น เจ้าไทยพงได้ครอบครองหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงหมดสิ้น เว้นไว้แต่เมืองมีต (โมเมียก) เมืองกุ้ง เมืองยาง (โมนยิน) เมืองกะเรเวียงเสือ เมืองควายล่ำ เมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) แลเมืองมานมอ (คือบ้านม่อฤๅพะโม) เท่านั้นเปนเอกราชใม่ขึ้นต่อเจ้าฟ้าไทยพง แลตกอยู่ในอาญาสิทธิ์เจ้าขุนโกมเมืองสุงโก (สิงคุ) ราชบิดาขุนญี่ควายคำ
อนึ่งอิกฉบับอื่นกล่าวว่าใน พ.ศ. ๑๔๙๙ เจ้าท้าวงารุนเสด็จจากเมืองแสนหวี จับสร้างเมืองน้ำ แลเมืองเหนือ แลสถิตย์อยู่ในเมืองเวียงโมน (แปลว่าเพ็ญจันทร์) มณฑลเมาหลวง เปนเจ้าฟ้าในราชธานีเหล่านั้น เจ้าท้าวขุนงารุนมีราชโอรสสององค์หนึ่งนามขุนตุ่ม อาณาประชาชนสโมสรสมมตขึ้นเปนเจ้าฟ้าปกหัวตนเมื่อเจ้าฟ้าชนกนารถสุรคตแล้ว แลภายหลังเฉลีมพระนามาภิธัยว่า เจ้าขุนร่มเมือง พระองค์มีราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงนามเจ้านางโมนลา แลพระโอรสองค์ ๑ นามเจ้ากอแล่งใน พ.ศ. ๑๕๗๘ พระเจ้าอโนรธามังฉ่อมหาราชกรุงภุกามเสด็จขึ้นไปเมืองเวียง (ฤๅเมืองโว่ง) เพื่อค้นหาพระบรมพุทธสารีริกธาตุ ๕ พระองค์ แลเมื่อขาเสด็จกลับ เสด็จประทับพลนิกายณเมืองเมา แลเมืองน่าน ได้พบเจ้าขุนร่มเมืองที่นั่น แลได้อภิเษกกับราชบุตรีของเจ้าขุนร่มเมือง คือเจ้านางโมนลานั้น (ในมหาราชวงศ์พม่าว่าพระเจ้าอโนรธามหาราชไปราวีกรุงจีน แต่ที่แท้มณฑลขันฑละฤทธิ์คือยูนนานเพื่อได้พบพระบรมพุทธฑาฐะธาตุ แต่หาได้ใม่ กลับมาทางเมืองเมาหลวง ยาซะเวงญีพม่าว่าเมืองเลา อภิเศกกับราชนารีในเมืองนั้น แลในพระราชพงศาวดารไทยเหนือสยามก็ว่าได้มายั้งพลณชานกรุงลโว้ ครั้งแผ่นดินพระเจ้าจันทโชติ ได้อภิเศกกับเจ้าฟ้าแก้วประฬาร เชษฐภคินีพระมเหษี เกิดราชโอรสด้วยกัน แต่ข้างพม่าใม่ได้กล่าวถึงกรุงสยามในครั้งนั้นเลย ชัดกว่านี้ แลข้างพม่าว่าพระเจ้าอโนรธาตีอาณาจักร์โป่งฤๅพง อธิบายเปนเมืองเงี้ยวฤๅชานคือไทยใหญ่ แต่นักพงศาวดารฝรั่งเห็นว่าพระเจ้าอโนรธาใม่เคยเหยียบดินแดนเงี้ยวฤๅชานคือไทยใหญ่เลย อาณาจักร์โป่งก็คือขันฑละฤทธิ์ฤๅยูนนานนั่นเองพูดซ้ำ แลพระเจ้าอโนรธาตีเขมรก็ใม่ปรากฎ ข้างพม่า มีแต่ในตำนานพระแก้วมรกฏของสยาม พระเจ้าอโนรธาจะได้อภิเษกราชนารีเมืองเมาฤๅเมืองเลา คือเมืองละโว้ไทยสยามฤๅเมืองเมาหลวงไทยใหญ่ ฤๅจะได้อภิเษกทั้งสองนคร ก็เปนได้ทั้ง ๓ ประการ แต่โอรสใหญ่ที่ได้ทรงราชย์สนองพระองค์ทรงพระนามจอลูนั้น เสียงเข้าเค้าจะเปนเจ้าละโว้สมข้างพงศาวดารไทยเหนือของไทยสยามอยู่ สิ่งที่แน่นั้นแม้พงศาวดารพม่ามิได้กล่าวชัดไว้ พระเจ้าอโนรธามหาราชก็น่าที่จะได้เคยมาพินาศนครสยามดึกดำบรรพ์จริง ไทยสยามจึงยับย่อยมากถึงจารึกลงไว้ในราชพงศาวดาร แลเหตุสำคัญถึงปานเช่นนั้นไทยจะลืมใม่ได้ ทั้งคงได้ไปตีกัมพุชาประเทศจริงด้วย จึงมีตัวอย่างพระนครวัดพระนครธมไปสร้างไว้ในกรุงภุกาม)
สัมพันธุวงศ์ของเจ้าขุนงารุนขาดสายลงใน พ.ศ. ๑๖๓๘ เมืองเมาหลวงจึงเริศร้างจากมีมหากษัตริย์ครองมาพักหนึ่ง แต่เสนามาตย์ไปเฝ้าเจ้าฟ้า เจ้าไทยโป่ง (ฤๅพง) เมืองแสนแสรกราบทูลขอให้โปรดตั้งพระราชสกุลหงส์องค์ใดไปเปนเจ้าฟ้าปกเฝ้าสืบไป จึงเจ้าขุนไทยโป่งตรัสให้ขนิษฐโอรสของพระองค์ทรงพระนามขุนผังคำ (ฤๅผังคา) ไปผ่านพิภพเมืองเมาหลวง ได้เสด็จออกจากเมืองแสนหวีใน พ.ศ. ๑๖๓๙ ไปสู่เมืองเมาหลวง แลได้ทรงสร้างพระนครใหม่ที่แคว้นเวียงวาย ในรัชกาลก่อนนี้ พระราชธิดาองค์น้อยของพระเจ้าวั่งตี่ณวิเชียรมณเฑียรในกรุงจีนต้องเสียพระชีพ ในบริเวณปราสาทของพระนางเองด้วยเสือใหญ่เข้าไปขบ พลจีนก็ยกกำลังติดตามรอยเสือใหญ่ แลออกประกาศไปยังเจ้าฟ้าในหัวเมืองไทยใหญ่ต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่นำโก่ง (คือแม่น้ำสัละวีนตอนบนที่ไทยสยามเรียกแม่น้ำขง) ให้ทราบเรื่องจงทั่วกัน เสือนั้นใหญ่มาก ว่าวัดได้ถึง ๑๒ คืบเศษโลดแล่นไปได้โดยรวดเร็ว ในกลางวันๆเดียวข้ามมรรคันดรไปได้ถึง ๓ หัวเมือง แลเวลากลางคืนแล่นไปได้อิก ๗ หัวเมือง จึ่งข้ามเขตร์แดนจีนมาสู่เมืองกางเสือในแคว้นเมืองโล้น เจ้าฟ้าเมืองโล้นจึงตรัสสั่งให้ราษฎรเมืองแสนเลม เมืองเชียง เมืองบ้านนิ้ว เมืองผังกวาง เมืองโสนมู เมืองกางเสือ เมืองโมตไห เมืองมอฟ้า แลเมืองสายโม่ง แขวนข่ายกับเหล็กตามฝั่งแม่น้ำแก้ว (คืออิระวดี แต่ที่แท้เห็นจะหมายความว่าแม่น้ำขงคือแม่สัละวีน แต่พูดไหลเลยไป) เมื่อเช่นนี้ก็จับเสือใหญ่นั้นได้ ยามกำลังพยายามจะกระโจนข้ามแม่น้ำตรงตำบลที่ตั้งแต่นั้นมาปรากฎชื่อว่าท่าวูตแก้วเสือเว็น (ออกจากคำว่าท่าลำนำแก้วเสือกระโดดนั้นเอง) ราษฎรจับเสือนั้นได้ (ในพงศาวดารแสนหวีไต้ว่าเปนเสือเผือกด้วย) แล้วก็เอาไปถวายเจ้าฟ้าสัมปะระลิตในเมืองโล้น พระองค์ก็ส่งข้ามน้ำแก้วไปประทานพระอนุชาเจ้าฟ้าขุนผังคำ คนพาเสือไปทางเมืองบ้านกัต เมืองปัต เมืองโหยา แลเมืองสีต แลแวะที่เมืองกะเสือ เมืองบ้านแสร เมืองลาเฉียว เมืองโฮกโปก แลเมืองลอยแก้ว แล้วจึงมาถึงเมืองลี (ตำบลเหล่านี้ล้วนอยู่ในแคว้นแสนหวีทั้งนั้น เพราะฉนั้นนามโก่งฤๅขงเห็นจะเปนหมายเอาแม่น้ำสัละวีนตอนบน ใม่ใช่น้ำแก้วคือแม่อีระวดี) ขุนผังคำได้ทราบข่าวว่าจับเสือได้มาก็ส่งมหาอมาตย์ออกไปรับที่เมืองลี แลนำมาเมืองเวียงวาย องค์ขุนผังคำเองพาเสือจากนครไปถวายพระเจ้าวั่งตี่ เปนที่ต้องพระหฤทัยทรงพระโศมนัศมาก จึ่งพระราชทานตราแผ่นดินแก่ขุนผังคำ พร้อมกับตราเดินทาง เปนการอวยอำนาจให้ขุนผังคำตั้งเก็บสร่วยจากคนทั้งปวงบรรดาที่เดีนทางผ่านเมืองของขุนผังคำไปได้ถ้วนหน้า ทั้งพระราชทานยศให้ขุนผังคำเปนเจ้าโมโป่งแสรโป่ง (ยศนี้เห็นจะเปนนามมูปังซึ่งจีนเรียกเมืองแสนหวีว่าเมืองมูปังนั่นเอง ตามมีตัวอักษรจีนปรากฎอยู่ในดวงราชลัญจกรที่เจ้าฟ้าแสนหวีคงใช้สืบมาแลโมโป่งฤๅมูปังก็คือเมืองโป่งนั่นเอง) พงศาวดารแสนหวีข้างไต้ว่า ได้ตั้งด่านตั้งเก็บสร่วยในตำบลต่างๆแคว้นแสนหวี ๙ แห่ง เงินสร่วยภาค ๑ ส่งไปให้เจ้าฟ้าเมืองโล้น เพราะมีความชอบที่จับเสือได้ เมื่อขุนผังคำกลับจากกรุงจีนนั้น พ.ศ. ๑๖๕๑ ได้ย้ายนครจากเวียงวายไปณมงคลภูมิข้างไต้ผังคำในแว่นแคว้นเมืองเมาหลวง แลได้สร้างนครขึ้นในที่นั่นใหญ่โตมาก แลประดิษฐานนครนั้นเป์นราชธานีของหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงของพระองค์ (นครนี้คงเปนเมืองร้างที่ผังคำใกล้แสรล้าน ฝั่งน้ำปอ) ขุนผังคำครอบครองเมืองเมา เมืองวาน เมืองนา เมืองสันตา เมืองตี่ เมืองฮาม เมืองแสรผัง เมืองกว้าน เมืองยา แลเมืองขัตตรา พระองค์มีราชบุตรี ๔ องค์ ทรงนาม ๑ เจ้านางญีคำหลวง ๒ เจ้านางญีคำแล่ง ๓ เจ้านางญีแสง แล ๔ เจ้านางอ่ำออ แต่พระองค์ทรงพระชราลงทุกวันหามีพระราชโอรสที่จะสืบสันตติวงศ์ใม่ เหตุฉนั้นพระองค์จึงได้ทรงบวงสรวงโยกกะโสเทวะบุตร์ขอพระโอรสทุกๆวัน อยู่มาราตรีหนึ่ง พระองค์เสด็จเข้าไปในครรภไสยาอาศน์ของพระดรุณะชายา องค์ที่เปนสาวน้อยที่สุดกว่านางอื่นๆ พระนางตระหนกตกพระไทยสทกสเทิ้นหมางมากเมื่อได้เห็นพระราชสวามีเสด็จมาถึงโดยฉุกเฉินมิทันรู้องค์ จนทำให้เจ้าฟ้าสามีออกทรงพระสงไสยน่าที่จะกระไรๆอยู่ ลำดับนั้นจึงจัดให้มีชะแม่กำกับทหารเฝ้าทวารห้องพระชายาองค์นั้น ผลัดเวรกันประจำอยู่ทั้งเพลาทิวาราตรี อยู่มาคืนวันหนึ่งทหารยามให้กราบทูลว่าเขาเห็นโยกกะโสเทวะบุตร์เข้าไปอยู่กับพระนางนั้น ขุนผังคำทรงพระพิโรธฤทธิ์ฤศยาจึงตรัสให้พยายามจับเทพบุตร์นั้นให้ได้ แต่แม้ทหารจะตรูกันเข้ามาเท่าไรๆ เทพะบุตร์ก็ผายขึ้นไปอยู่ยอดหลังคามณเฑียรทอง แลถั่งสุระสีหนาทประกาศแก่เจ้าฟ้านั้นว่า เธอเปนปีสาจของเจ้าฟ้าพระองค์ก่อนคือเจ้าขุนร่มเมือง มีความปรานีจะใคร่อำนวยราชบุตร์ให้แก่เจ้าขุนผังคำสักองค์ ๑ สำหรับสืบพระวงศ์ต่อไป แลขอให้เจ้าผังคำหมอบลงกราบบาทเทวะบุตร์ตรงฉลองบาทซึ่งเทพยะดาโยนตกลงมาให้ เจ้าขุนผังคำฉุนเฉียวใม่ยอมไหว้เกือกทิพย์นั้นแล้วมิหนำ ซ้ำขับไล่พระชายาสาวตัวโปรดออกไปเสียพ้นพระราชวัง พระนางก็ต้องซัดเซไปเที่ยวขออาหารเลี้ยงชีพจากประตูนี้ไปประตูโน้น จนวันหนึ่งก็ประสูติกุมาร ๓ องค์ณเชิงเขาน้อยแห่งหนึ่งริมฝั่งน้ำปอ
กุมาร ๓ องค์นั้นทรงพระนาม ๑ ขุนอ้ายงามเมืองสิ้นชีพแต่ยังแดงๆ ๒ ขุนญี่กางคำ แล ๓ ขุนสามหลวง เมื่อเจ้าฟ้าขุนผังคำ (คำเหน่งก็เรียก) ทิวงคตลง ขุนญีกางคำก็ยังเยาว์เกีนที่จะปกครองแผ่นดินได้ จึงเกิดเปนข้อกังขาขึ้นในเรื่องที่จะตั้งขัติยวงศ์องค์ใดสนองพระองค์บรรพราชดี แต่เทพยะดาเข้าสุบินอรรคมหาอมาตย์ในยามราตรีว่า ราชบุตรีองค์ที่ ๒ ควรจะได้ผ่านราชสมบัติ ด้วยราชบุตรีองค์ใหญ่ก็ได้มั่นจะอภิเษกกับเจ้าวั่งเกียงอันผ่านสมบัติเมืองแกงลาโอในกรุงจีนเสียแล้ว เหตุฉนี้ใน พ.ศ. ๑๖๗๐ เจ้านางญี่คำแล่งจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติ แลได้สร้างพระนครใหม่ เรียกนามเวียงน้ำอี่แคว้นน้ำปอณฝั่งแม่น้ำปอ
ฝ่ายข้างเมืองสุงโก (สิงคุ) เจ้าฟ้าขุนโกมทิวงคตราชโอรสนามขุนญี่ควายคำได้เถลิงถวัลย์สนององค์ แลทิวงคตตามไปใน พ.ศ. ๑๘๕๑ หามีพันธุ์จะสืบสันตติวงศ์ใม่ เสนาอมาตย์จึงไปสู่กรุงแสนแสรกราบทูลขอพระผู้ผ่านเผ้า จึ่งเจ้าหลวงไทยหลวงพระราชทานเจ้าขุนโพสร้างกางมาเปนเจ้าฟ้าเมืองมีตสุงโก พระองค์มีราชบุตร์ ๔ องค์ทรงนาม ๑ ขุนไทยโคน ๒ ขุนไทยคาย ๓ ขุนไทยท้าว แล ๔ ขุนสามอ่อน เจ้าขุนโพสร้างกางทรงราชย์อยู่ได้แต่เพียง ๒ ศก ประชาชนจึงสโมสรสมมตขุนไทยโคนขึ้นผ่านพิภพสนองพระองค์ มีราชธิดา ๑ นามเจ้านางญี่โคน ราชบุตร์ ๑ นามเจ้าอ้ายพูคำ
เมื่อเจ้าหลวงไทยโป่ง เจ้าฟ้าเมืองแสนแสรได้ตั้งขุนผังคำราชบุตร์น้อยให้ไปเปนเจ้าฟ้าเมืองเมาใน พ.ศ. ๑๖๓๙ แล้ว พระองค์เอง ก็ยกตำแหน่งเจ้าฟ้าพระราชทานแก่พระราชบุตร์ที่ ๒ เจ้าขุนไทยหลวง เสด็จสำราญพระชนม์ฉันท์สามัญบพิตร์ บางทีเสด็จอยู่ในเมืองมีตสุงโกบ้าง บางทีเสด็จไปประทับกับพระราชบุตร์ขุนผังคำในเมืองเมาหลวงบ้าง แลบางทีประทับกับเจ้าขุนไทยหลวงในเมืองแสนแสรบ้าง ทิวงคตในเมืองมีตสุงโก (สิงคุ) เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒๐ พรรษา ใน พ.ศ.๑๖๔๙
ในแผ่นดินเจ้าขุนไทยหลวงนั้น เมืองน่านแลเมืองยินรวบเข้าในมณฑลแสนแสร ซึ่งครั้งนั้นเปนเมืองหลวงของบรรดาหัวเมืองไทยใหญ่ทั้ง ๘ เมือง หัวเมืองเหล่านั้นในเพลานี้ คือ
๑ แสนหวี
๒ ทุ่งเลา
๓ ไลขา
๔ เชียงคำ
๕ วังกอก
๖ หนองวอน
๗ สีกีบ
๘ สะตูง
๙ มะละเมียง
๑๐ เมืองหน่าย
๑๑ เมืองฮิม
๑๒ กูงมา
๑๓ เมืองโม่ง
๑๔ สีปอ
๑๕ เมืองกุ้ง
๑๖ เชียงตวง
๑๗ พะสะตอง
๑๘ หมอกใหม่
๑๙ ยองฮเว ฤๅยางห้วย
๒๐ สามกา
๒๑ ยานโกง
๒๒ พูกัม
๒๓ เมืองโล้น
๒๔ เมืองติง แล
๒๕ เมืองฉีง
เจ้าหลวงไทยหลวงได้ตั้งเจ้าไทยปอให้ว่าราชการเวียงน่านแลเมืองยีน เจ้าไทยปอมีราชบุตร์ ๓ องค์ นาม ๑ ท้าวน้อยแช ๒ ท้าวน้อยเมี้ยน แล ๓ ท้าวเจือปันน้อย
เจ้าขุนไทยหลวงเสวยราชสมบัติอยู่ ๑๒๓ ศกทิวงคตใน พ.ศ. ๑๘๕๑
อาณาประชาชนได้เลือกพระราชนัดานามท้าวน้อยแชขึ้นเปนผู้สืบราไชศวรรย์สนองพระองค์ แลทรงราชย์อยู่ได้ ๔๒ ปีก็สุรคตเมื่อพระชนม์ได้ ๗๓ ราษฎรจึงได้เลือกเจ้าขุนลอยสันฟ้า ราชบุตรเจ้าเจือปันน้อยขึ้นเปนเจ้าเมืองแสนแสร
ฝ่ายในเมืองเมานั้น เจ้านางญี่คำแล่งเปนกษัตริย์ครอบครองบ้านเมืองอยู่ เยาวะกุมารทั้งสอง คือ ขุนญี่กางคำแลขุนสามหลวง ก็อยู่กับชนนีณบ้านไกมอเชิงเขาลอยลาว (ดอยดาว) ทรงเจริญไวยวุฒิขึ้นโดยเปนชาวนา อยู่มาคืนวันหนึ่ง โยกกะโสเทวบุตร์มาปรากฎต่อขุนญี่กางคำแลบอกว่า ถ้าอยากจะมีความรุ่งเรืองไซร้ ให้ไปยกสิลาแผ่นใหญ่ที่คงจะไปพบอยู่ที่มุมนาข้างเหนือ ไต้สิลานั้นมีตราอยู่ดวงหนึ่ง ถ้าได้เอามาไว้บูชาที่ทัพที่อยู่แล้วจะบรรลุความเจริญ ขุนญี่กางคำก็เล่าความตามสุบินนิมิตร์นั้นให้อนุชาฟัง ครั้นรุ่งเช้าดรุณะกุมารทั้ง ๒ ก็ไปพบตราอย่างเทวะดาบอก จึงเอามาให้ชนนีรักษาไว้ ตั้งแต่วันนั้นมาก็มีแต่ความเจริญร่ำรวยทรัพย์สมบัติแลความนิยมนับถือของมหาชน
เจ้านางญี่คำแล่งอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๖ พรรษา ก็ทิวงคตใน พ.ศ. ๑๖๙๕ มหาอมาตย์จึงพร้อมกันไปกราบทูลอันเชีญขุนญี่กางคำมาเปนเจ้าฟ้าผ่านพิภพเมืองเมา เฉลีมพระนามเปนขุนเสือขวัญฟ้า เพราะวันหนึ่งเสือได้พยายามเข้ามาจะกัดแต่พระองค์ส่งพระสุรสีหนาทตวาด เสือตกใจเผ่นหนีไป ในชั้นแรกพระองค์สร้างพระนครเวียงแสรไฮ่ (ไร่) แต่ใน พ.ศ.๑๖๙๗ ย้ายพระนครจากนั่น แลสร้างใหม่แสรล้าน (ที่มิสเตอร์เนอีเลียสเรียกเชียลานั่น) พูนเชีงเทินเปนปราการแลขุดคูลึกรอบอย่างแข็งขัน เมื่อตั้งพระองค์ณเมืองแสรล้านมั่นคงแล้ว ก็ตรัสให้หาขุนไทยปอเจ้าฟ้าเมืองยิน ขุนท้าวน้อยแซ เจ้าฟ้าเมืองแสนแสร แลเจ้าฟ้าอื่นๆ ทั้งปวงในหัวเมืองมณฑลแสนหวีให้มาอ่อนน้อมต่อพระองค์ เจ้าฟ้าเหล่านั้นต่างใม่ยอมมา ขุนเสือขวัญฟ้าจึงรวบรวมพลทัพยกไปราวีเวียงน่านเมืองยีน แลขับขุนไทยปอกับราชบุตรทั้ง ๓ องค์ออกไปพ้นเมือง แลหนีไปเวียงท่าโปกในมณฑลสีปอ แลแต่งทูตมาขออ่อนน้อมต่อขุนเสือขวัญฟ้า ยอมถวายราชธิดานามเจ้านางอ้ายคำพวงให้ทรงอภิเษก
ใน พ.ศ. ๑๖๙๘ เจ้าขุนกางคำเสือขวัญฟ้า ดำรัสให้หาเจ้าภาดาทั้งห้า คือเจ้าไทยโคน เจ้าไทยคาย เจ้าไทยท้าว เจ้าไทยติง แลเจ้าคำอ่อน เมืองมีตเชียงลาวแลสูงโกให้มาเฝ้าอ่อนน้อมโดยดี แต่เจ้าเหล่านั้นกลับฆ่าทูตที่เชิญกระแสรราชบรรชาไปเสีย ๗ คน ไล่ให้กลับมากราบทูลท้าทาย ๓ คน ขุนเสือขวัญฟ้าทรงพระพิโรธยกมหาโยธาทัพไปตีมีไชยชนะ เจ้าไทยโคนใม่ขอยอมอ่อนน้อมจึงตรัสให้พิฆาฎเสียณเมืองสุงโก นอกนั้นยอมอ่อนน้อมโดยราบคาบ จึงทรงตั้งเจ้าไทยคายให้เปนเจ้าฟ้าครองเมืองสุงโกก่อน ภายหลังโปรดให้ครองเมืองมีตด้วย
ขุนเสือขวัญฟ้าพาเอามเหษีเจ้าไทยโคนนามเจ้านางอ่ำขวง กับธิดานามเจ้านางญี่โขง แลพระบุตร์นามเจ้าอ้ายพูคำ มาสู่เมืองเมา แลแสดงราชประสงค์จะใคร่ทรงอภิเษกด้วย เจ้านางเยาวบุตรี แต่ราชมารดาห้ามเสียด้วยเปนสัมพันธุวงศ์สนิทต่อกัน ขุนเสือขวัญฟ้า จึงพระราชทานนางนั้นให้วิวาห์กะพ่อเมือง ท้าวกางโมน อันเปนตัวขุนพลคนสำคัญในงารสงคราม
ใน พ.ศ. ๑๗๐๑ ขุนเสือขวัญฟ้าชุมนุมมหาพลนิกายยาตราไปตีเมืองแสรสูงตู้ในอาณาเขตร์จีน (พงศาวดารแสนหวีฝ่ายไต้ว่า จีนยกกองทัพมาตีเมืองแสรล้านก่อนแต่แตกพ่ายไป) เวลาพระองค์เสด็จไปทางโน้น มหาอมาตย์ยกกองทัพไปตีเมืองกูงมาจับได้เจ้าฟ้าพิฆาฎเสียที่เมืองติมา ฝ่ายขุนเสือขวัญฟ้าก็ชิงไชยได้เมืองแสรสูงตู้ แลกรีฑาทัพหลวงสรรพพล ๔๐๐,๐๐๐ คน (มากไปแน่) รุกล่วงเข้าไปในเมืองแสรหลวง (นี่เปนชื่อเมืองยูนนานเซนที่ไทยใหญ่เรียกสูงตู้ ก็คงเปนคำจีนซูงตู คือนามะยศสมุหเทศาภิบาลมณฑลยูนกวยนั่นเอง) เมื่อฉนี้เจ้าวั่งตี่จึ่งแต่งทูตมาฟังว่าจะปราถนาอันใด เมื่อทราบประสงค์แล้ว ก็ยอมยกเมืองแสรยุ้ง เมืองสังมู แลเมืองออบูกัตให้แต่โดยดี ก็เปนอันจบสงครามกะกรุงจีนใน พ.ศ. ๑๗๐๒ แต่พอกรีฑาทัพกลับมาถึงนครแสรล้าน เจ้าฟ้าก็ประชุมจัตุรงคนิกรอิก แลยกไปตีเมืองล้านช้าง เชียงแสน เชียงรุ้ง เชียงตุง ลงโสง ลาโป่ง ลาโขง เมืองหวง แลพะสะตอง ตวันออกแห่งนครเชียงใหม่ แลมีไชยทุกหนทุกแห่งที่กรีฑาทัพไปถึง บังคับให้ส่งราชบรรณาการปีหนึ่งทองคำ ๒๓ ชั่งสัต เงิน ๓๐ ชั่งสัต แลช้าง ๒๒ เชือก ซึ่งทุกเมืองยอมรับตามพระราชกำหนด แลดำเนิรพยูหพหลไปชิงไชยสิบสองปันนาเมืองโยน (ฤๅญวน) ซึ่งต่างยอมอ่อนน้อมมิได้ต่อแย้ง แล้วก็ยาตราทัพกลับเมืองเมา จึงทรงทราบว่าอรรคมหาเสนาบดีของพระองค์ท้าวกางโมนนั้น ถึงอสัญกรรม จึงทรงตั้งขุนพูคำให้เปนอรรคมหาอมาตย์ ดำรงยศท้าวกางโมน ทั้งให้เปนเจ้าฟ้าผ่านเมืองโม่งตู้ด้วย ราวในเวลานี้ เจ้าฟ้า เจ้าไทยปอแต่งเครื่องราชบรรณาการทองแลเงินมาถวาย ขอเจ้านางญีโคนให้ราชบุตร์นามเสือปันน้อย ก็โปรดอนุญาตให้อภิเษกแลมีบุตร์แลบุตรีด้วยกันนามเจ้าน้อยสันฟ้า แลเจ้านางร่มเมือง
ต่อนี้ไปขุนเสือขวัญฟ้าตรัสให้เกณฑ์มหาพละขันธ์รวม ๙๐๐,๐๐๐ (มากเกินไปเปนแท้แล้ว) ยกไปตีเมืองเวสาลีหลวง (คือเมืองอาซัม) ให้พระอนุชาธิราชเจ้าขุนสามหลวงฟ้า (เนอีเลียสว่าเจ้าสามหลวงฟ้าเปนเจ้าฟ้าเมืองก้องคือโมคองฤๅเมืองคัง) เปนจอมพลพร้อมด้วยเสนาบดี คือท้าวเสือหาญไก แลท้าวเสือเยนเปนปลัดทัพ เมื่อมหาพลไปถึงเมืองเวสาลีหลวง ชาวเมืองขลาดขยาดสยองพระเดชานุภาพ แต่พอทราบว่ากองทัพหลวงยกมาจากกรุงโกสัมพี มหานครดอกไม้ขาวใบใหญ่ ท้าวพญาเสนาบดีเมืองนั้นก็ออกมาอ่อนน้อมแต่โดยดีมิได้คิดต่อสู้ แลยอมเปนเมืองออก สัญญาจะถวายเครื่องราชบรรณาการทุก ๓ ปีมีกำหนดม้า ๒๕ ตัว ช้าง ๗ เชือก ทองคำ ๒๔ ชั่งสัต เงิน ๒๐๐ ชั่งสัต เจ้าขุนสามหลวงฟ้าก็ทรงรับตามความยินยอม แลตระเตรียมกรีฑาทัพหลวงกลับ เสนาบดีปลัดทัพทั้ง ๒ คือ ท้าวเสือเย็น แลท้าวเสือหาญไก จึงลอบแต่งม้าใช้มากราบทูลเจ้าขุนเสือขวัญฟ้าเปนคุยหระหัดว่า เจ้าขุนสามหลวงฟ้าราชอนุชาพระไทยง่ายด่วนยอมตามคำอ่อนน้อมลับล่อของพวกเมืองเวสาลีหลวงเกินไป ก็เพราะทรยศคิดย้อนกลกับพระราชาเมืองนั้นจะเปนขบถประทุษร้ายปลงเจ้าขุนเสือขวัญฟ้าลงเสียจากราชสมบัติ เจ้าฟ้าทรงเชื่อถ้อยทูลยุยง จึงทรงแต่งเครื่องภักษาหารอันประกอบยาพิษม์ส่งไปพระราชทานพระอนุชาธิราชจอมพลของพระองค์เอง เจ้าขุนสามหลวงฟ้าก็เสวยณเมืองก้อง (คือโมคองฤๅเมืองคัง) เลยชีพตักษัยอุปบัติเปนเทพบุตร์อันศักดิ์สิทธิ์ (ในพงศาวดารชานที่มิสเตอเนอีเลียสเขียน ว่าขุนเสือขวัญฟ้าใม่ได้ไปรบแห่งใด เจ้าขุนสามหลวงฟ้าเปนตัวจอมพลของพระเชษฐาธิราชยกไปทำสงครามทั้งสิ้น)
ราวเวลานี้ เจ้านางกางคำเสืออรรคมเหษีของเจ้าขุนเสือขวัญฟ้า แลเปนธิดาของเจ้าเมืองแล่ง ไปเสียจากพระสามี ด้วยเกิดวิวาทบาดหมางใม่ปรองดองพระไทยกัน เลี่ยงไปสู่กรุงจีนทั้งกำลังยังทรงพระครรภ์ แลประสูติพระราชโอรสนามอ้ายพูคำ ทรงพระเจริญไวยจนได้วิวาห์ มีพระบุตรนามเจ้าอ้ายพู
ใน พ,ศ, ๑๗๔๓ เจ้าขุนเสือขวัญฟ้าตรัสให้เกณฑ์ทัพใหญ่ยกลงไปราวีเมืองม่าน (คือพม่า) แลให้พระโอรสสององค์เปนจอมพล ทรงนามเจ้าเปี่ยมฟ้า แลเจ้าโงกเฉี่ยวฟ้า (โงกแปลว่านาค) พร้อมเสนาบดีผู้ใหญ่เปนปลัดทัพ คือท้าวเสือเยน ท้าวเสือหาญไก แลท้าวฟ้าเปรี้ยว กองทัพไทยใหญ่ชั้นแรกตีได้เวียงตะโก้ง เจ้าเมืองตะโก้งหนีลงไปเวียงสะเชิง (คือสะกาย) พึ่งอยู่กับเจ้ายะนุฤๅสะโดมิงปยูก็เรียก กองทัพไทยใหญ่ก็ยกล่วงไปเมืองสะกาย สะโดมิงปยูก็หนีไปในทันที เจ้าสีหะปตีเวียงตะโก้งก็ยกตามไปจับฆ่าเสีย ครานั้นกองทัพไทยใหญ่ก็ยกข้ามน้ำกิ่วฤๅน้ำแก้ว (คือแม่อิระวดี) รุกไปตีได้เมืองบินยา (ปันยา) แลจับได้เจ้าเมืองนามนะละสุได้เอาตัวจำส่งไปเมืองเมาหลวงภายหลังปรากฎนามว่ามอปะมิง กองทัพใหญ่ของเจ้าขุนเสือขวัญฟ้าแต่งมาชิงไชยพม่าครั้งนี้ พ.ศ. ๑๗๔๔ (ศุภมาศแลเรื่องราวล้วนยำกันผิดย้อนหน้าเปนหลังเปนละวนปนละเกทั้งเรื่อง)
ต่อนั้นมาอีก ๒ ปี มีจีนแสรหมอดูผู้หนึ่งมาจากกรุงจีนตั้งอาไศรยอยู่ในเมืองแสรล้าน มีคนนิยมนับถือแผลงฤทธิ์เดชไว้ตัวว่าเปนผู้วิเศษ เจ้าขุนเสือขวัญฟ้าทรงทราบความ จึงตรัสให้หาตัวไปเฝ้าโปรดให้ลองแสดงวิชาถวายตัวให้ปรากฎดูทีฤๅ จีนเสรจึงกราบทูลว่า ถ้าได้ย้ายพระมหานครจากแสรล้านไปตั้งใหม่ณมงคลภูมิห่างไปข้างเหนือแม่น้ำเมา (ชเวลี) ราว ๑๒๐ เส้นแล้ว จะเกิดสวัสดิ์วัฒนาการ เหมือนยกพระนครไปตั้งณท้องนาทองคำแลเงิน คงจะปรากฎสมคำถวายพยากรณ์ แม้แต่ปฐมฤกษ์ ถ้าใม่จริงยอมถวายชีวิต เจ้าขุนเสือขวัญฟ้าจึงเริ่มสร้างมหานครใหม่ณที่มีนามว่าท่าสุบอู่ใน พ,ศ, ๑๗๔๗ กำลังจัดการสร้างพระมหานครอยู่นั้น ขุดลงไปพบม่อบรรจุเงินแลทองคำในที่แถบนั้นเปนอันมาก ว่าล้วนเปนของจีนแสรนั้นลอบไปฝังไว้ทั้งนั้น
มหานครใหม่นี้ ก็คือตัวเมืองเมาในปัตยุบันนี้นั่นเอง ใม่มีข้อสงไสย ในพงศาวดารก็กล่าวไว้ใม่ชัด แต่ข้อมุ่งหมายดูเหมือนจะเปนกลอุบายของจีนโดยความปราถนาจะล่อชักให้เจ้าฟ้าย้ายเสียจากพระนครเดิมที่ทำไว้มั่นคงแข็งแรง ไปตั้งใหม่ฟากแม่น้ำข้างกรุงจีน ตามเรื่องที่เนอีเลียสเล่าไว้นั้นกล่าวว่า จีนส่งกองฬ่อต่าง ๑๓๐ ล้วนบรรทุกเงินย่อยเอามาโปรยไต้กอไผ่ซึ่งล้อมรอบเมืองเมา แต่ลงท้ายเปนอย่างไรก็ใม่ได้กล่าวไว้เปนแต่อนุมานกันว่า เจ๊กคงจะต้องการให้ราษฎรไทยใหญ่ตัดถางป่าใผ่รอบเมืองเมาลงเสียให้เตียน จีนจะได้ยกกองทัพใหญ่มาตีได้ง่ายเข้า
เจ้าขุนเสือขวัญฟ้าองค์นี้ เปนเจ้าฟ้าอันมีเดชานุภาพมาก ได้ปราบปรามหัวเมืองใหญ่น้อยในทิศานุทิศ ให้อ่อนน้อมยอมถวาย เครื่องราชบรรณาการจนสิ้นรัชกาลมีจำนวนดังต่อไปนี้
๑ เมืองเจยุง ๒ เมืองสังมุกวา สีปา ตุชัว (คำจีนว่าตุซะสุ) ๓ เมืองโคน ๔ เมืองยวน (โยนก) ๕ เมืองกวีโยตระ (หมายความว่า ศรีอยุชฌิยาครั้งกรุงศรีสัชนาลัยสุโขไทยโพ้น) ๖ เมืองพะสะตอง ๗ เมืองละบอนฤๅลบอง ๘ เมืองลคร ๙ เมืองลังซาง (ล้านช้างพม่าเรียกเลงเซง จีนเรียกลานเซี้ยง คือกรุงศรีสัตนาคะนหุตเวียงจันทร์ ฤๅหลวงพระบาง ซึ่งผลัดกันมีอำนาจเปนมหานครลาวเวียง) ๑๐ วังกอก ๑๑ หมอกใหม่ ๑๒ สิบสองปันนา ๑๓ เชียงรุ้ง ๑๔ เชียงราย ๑๕ เชียงแสน ๑๖ เชียงใหม่ ๑๗ ใบโก (คือพะโค) ๑๘ ปินยา (คือปันยา) ๑๙ เองวะ (คืออังวะ) ๒๐ สะตุง (ตะโถง) ๒๑ ยันโกง ๒๒ เมาะลำเยง (เมาะลำเลีงคือมะระแหม่ง) นอกนั้นยัง ๒๓ สะชิง (สะกาย) แล ๒๔ เวสาลีหลวง (เปนเมืองอาซัมซึ่งให้นามตามเมืองในคัมภีร์พุทธศาสตร์ในคำของเนอีเลียสว่ามีส่วนเมืองยะข่ายแลมณีปุระด้วยอิก)
(ในพงศาวดารเหนือของไทยเรา มีว่าพญาศรีธรรมไตรยปิฎก ยกมหาโยธามาจากเมืองเชียงแสนจะตีกรุงศรีสัชนาลัย ครั้งแผ่นดินพระเจ้าพสูจราชโอรสพญาร่วงอรุณราชสุริยวงศ์พระชนนีเปนจินะราชธิดา ได้อภิเษกกับนางประทุมเทวีราชบุตรีพระเจ้าพสูจราชแล้วก็ยกทัพกลับไป ภายหลังมาสร้างเมืองพิศณุโลก โอฆบุรี ณเมืองสองแคว แลหล่อพระมหาปฏิมากรพุทธชินราช พุทธชินศรี แลพระศรีศาสดาใน พ.ศ. ๑๕๐๐ ถ้าไทยใหญ่ได้กรีฑาทัพมาเหยียบกรุงสยามจริงก็มีแต่ครั้งนี้ใม่ใช่คราอื่น แต่พงศาวดารไทยใหญ่ฉบับมิสเตอร์เนอีเลียสว่าพระอนุชาธิราช ทรงนามเจ้าขุนสามหลวงฟ้าเปนผู้ยกมาราวี ฉบับแสนหวี ว่าเจ้าขุนเสือฟ้าเชษฐาธิราช แลศักราชก็ต่ำลงมา ๒๐๐ ปีเศษ จากพงศาวดารเหนือของไทยสยาม แต่ศักราชพงศาวดารเหนือนั้นเหลวไหลจับได้ง่ายๆตลอดเรื่อง เช่นพญาร่วงลบพุทธศักราชครบ ๑๐๐๐ แลพญาร่วงสวรรคต พ.ศ. ๑๒๐๐ ก็ต้องชนมายุ ๒๐๐ ปีเศษ ซ้ำว่าตรงกับจุลศักราช ๑๕๗ ถ้าถูกพุทธศักราชก็ต้องเปน ๑๓๓๘ ใม่ใช่ ๑๒๐๐ อนึ่งรัชกาลพระเจ้าพสูจราชโอรสพญาร่วงนั้น พญาศรีธรรมไตรยปิฎกยกมาตีกรุงศรีสัชนาไลย แลพระญาศรีธรรมไตรยปิฎกนั้นเอง เปนผู้หล่อมหาปฏิมากรใน พ.ศ. ๑๕๐๐ พญาศรีธรรมไตรยปิฎกก็ต้องมีพระชนม์ตั้ง ๓๐๐ ปี ล้วนเปนศักราชยายแก่ฟังใม่ไหว ฃ้างเงี้ยวฤๅไทยใหญ่ว่ายกมาตีระหว่าง พ.ศ. ๑๗๐๒ ถึง ๑๗๔๘ คงอยู่ใน ๔๖ ปีนี้เอง แต่ข้อสำคัญนั้น ข้างไทยว่าจนเชื้อพระวงศ์พระเจ้าศรีธรรมไตรยปิฎกซึ่งมาสร้างเมืองพิศณุโลก โอฆบุรีละโว้แลเสนานครคือกรุงเทพทวาราวดีเก่าตั้งครอบครองนั้นสาบสูญไปหมด แล้วพระเจ้าอโนรธามังฉ่อจึงได้มาตีพินาศกรุงสยามฝ่ายไต้ คือเมืองละโว้มณฑลลพบุรีนั้น แต่ข้างไทยใหญ่เปนพระเจ้าอโนรธามาตีก่อนเพราะมาในระหว่าง พ.ศ. ๑๕๕๓ แล ๑๕๙๕ แลก่อนกันถึงกว่าร้อยปี การดึกดำบรรพ์ฉนี้ ความรู้เท่าที่รู้เท่านี้ยังใม่พอสามารถจะตรวจตราวินิจฉัยให้ชัดเจนได้ยิ่งกว่าทราบเงาๆเปนเค้าเพียงเท่านี้ไว้ที)
เจ้าขุนเสือขวัญฟ้าเสวยราชย์อยู่ ๕๓ ศก แลทิวงคตเมื่อพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา ใน พ.ศ.๑๗๔๕ พระราชโอรสทรงนามเจ้าเปี่ยมฟ้า ได้เถลีงถวัลย์ราชสมบัติสนองพระองค์เฉลีมพระปรมาภิธัยเปนเจ้าขุนเสือเปี่ยมฟ้า แต่ทรงราชย์อยู่ได้เพียง ๒ ศกเท่านั้น ราชบุตร์ทรงนามขุนไทยเปี่ยมฟ้าได้สืบราชราไชศวรรย์สนองพระองค์ เฉลีมพระนามเปน เจ้าขุนเสือว่านฟ้า เจ้าฟ้าพระองค์นี้ร้ายกาจปราศจากหิริโอตตัปปะทำอันใดตามพระราชหฤทัย ราษฎรทนเดือดราชภัยกดขี่ข่มเหงดุร้ายสามานอย่างอมหิดใม่ไหว จึงพร้อมกันกรูเข้าจับพิฆาฎเสีย
เสนามาตย์ ไปเชิญเสด็จขุนโงกเฉี่ยวฟ้าจากกรุงอังวะมาเปนเจ้าฟ้า เฉลีมพระนามาภิธัยเปนขุนเสือสูงฟ้า แต่เสียพระจริตแลชีพตักษัยเสียภายใน ๖ เดือน ณพ.ศ.๑๗๕๒
เมื่อเช่นนั้นมหาอำมาตย์ คือท้าวเสือเยน ท้าวฟ้าเปรี้ยว แลท้าวเสือหาญไก ก็ปฤกษาปรองดองกันรักษาราชการมาชั่วคราว ทั้งแต่งอำมาตย์เที่ยวสืบเสาะแสวงหาพระนางกางคำเสืออรรคมเหษีของเจ้าขุนคำกางเสือขวัญฟ้า ซึ่งวิวาทกับพระบาทราชสวามีเลยเสด็จไปอาไศรยอยู่เสียในแดนจีนทั้งกำลังทรงพระครรภ์นั้น อมาตย์ทูตตามไปถึงเมืองแสยุงซอง (น่าจะเปนเมืองยุงชัง) จึงทราบความว่าพระอรรคมเหษีสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เหลือโอรสพระองค์หนึ่งทรงนามขุนผู้คำ มีราชบุตรองค์หนึ่งนามขุนผู้กอ (เดีมเรียกอ้ายผู้) จึงกราบทูลถวายราชสมบัติแก่ขุนผู้คำๆหารับใม่ เปนแต่ทรงแนะนำให้อัญเชิญเจ้าขุนผู้กอราชบุตร์ไปยังประเทศไทยใหญ่ เสนามาตย์ก็สโมสรสมมตขึ้นเปนเจ้าฟ้าสืบสันตติวงศ์ใน พ.ศ. ๑๘๑๗ เฉลีมพระนามเปนเจ้าขุนเสือร่มฟ้า เสด็จไปสถิตย์ณเวียงท่าสุบอู่ (คือเมืองเมาในปัตยุบันนี้)
ในปีต่อไป เจ้าฟ้าองค์ใหม่นั้นก็ตรัสให้หาเจ้าหัวเมืองขึ้นทั้งปวงมาถวายตัวณพระมหานคร แต่เจ้าเขตร์ขัณฑ์ทั้งหลายพากันขัดแข็งเสียหายอมมาใม่ จึงตรัสแต่งให้พ่อเมืองทั้ง ๓ คือ ท้าวเสือเยน ท้าวเสือหาญไก แลท้าวฟ้าเปรี้ยวเปนนายพลยกกองทัพใหญ่ไปปราบปรามหัวเมืองเหล่านี้ ก็มีไชยเมืองมานม่อ (บ้านม่อคือพะโม) เมืองยาง (โมนยิน) เมืองโขง เมืองกุ้งกวาย เมืองลัมปลัม เมืองกะเรเวียงเสือ แลเมืองยัง กองทัพซึ่งท้าวฟ้าเปรี้ยวเปนนายพลนั้นก็เข้าตั้งอยู่ในเมืองยาง (โมนยิน) อิกกองหนึ่งซึ่งท้าวเสือหาญไกเปนนายพลนั้นตั้งอยู่เมืองโขง กองทัพท้าวเสือเยนยกไปปราบเมืองอื่นที่ยังกระด้างกระเดื่องต่อไป
ในเวลากำลังแต่งกองทัพใหญ่ไปปราบปรามหัวเมืองขึ้นที่ขัดแข็งให้ราบคาบอยู่นั้น เจ้าขุนเสือร่มฟ้า ผู้เปนเจ้าฟ้าเนาณมหานครนั้น ก็เที่ยวข่มเหงฉุดคร่าบุตรีแลภรรยาเสนามาตย์ราษฎรในเมืองที่ใม่สมัคมาข่มขี่สมรศตามพละการ แลซ้ำบุกรุกเข้าไปรังแกภรรยาอรรคมหาเสนาบดี คือท้าวฟ้าเปรี้ยวที่สามีไปทัพข่มขืนใดยอำนาจปราศจากหิริโอตัปปะ เมื่อบ้านเมืองเกีดทุจริตถึงปานเช่นนี้ จึงท้าวกางเมืองเจ้าฟ้าเมืองตู้ก็พากองทัพซึ่งท้าวฟ้าเปรี้ยวเปนนายพลยกกองตรงมามหานครเวียงท่าสุบอู่ เนรเทศเจ้าขุนเสือร่มฟ้าออกไปเสียจากบ้านเมืองโดยหาว่าเปนตัวอุบาทว์ เจ้าขุนเสือร่มฟ้าก็หนีไปเมืองน่าน ในเมืองแสร (ยูนนาน) แลทอดพระองค์ขอพึ่งสุดแท้แต่พระกรุณาของเจ้าวั่งตี่ เหตุนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๑๙ แลในเวลาเดียวกันนั้น เจ้าฟ้าท้าวกางเมืองก็ตั้งราชบุตร์ของพระองค์นามเจ้าเสือแถบฟ้าเปนเจ้าฟ้าผ่านเมืองเมา
ณยุคนี้ (ที่จริงนั้นก่อนนี้ขึ้นไปกว่าสองสัตยุค ถ้ามิใช่ผู้อื่นแลเปนพระเจ้าอโนรธามังฉ่อจริงก็แปลว่า ยุคพระเจ้าอโนรธานั้นทีหลังยุคเจ้าขุนกางคำเสือขวัญฟ้า สมพงศาวดารเหนือของไทยแต่ลงศักราชผิด ถ้าคงศักราชพระเจ้าอโนรธามังฉ่อไว้ตามที่เปนจริง ยุคเจ้าเสือขวัญฟ้าก็ไล่เลี่ยกันกะศักราชข้างพงศาวดารเหนือของไทย) พระเจ้าอโนรธามังฉ่อจอมกรุงภุกามเสด็จไปเมืองจีนเพื่อจะแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุ ๕ พระองค์ แลเมื่อขากรีฑาพลนิกรกลับ แวะเยี่ยมเมืองโสงตูแห่งเมืองแส (คือนามสมุหเทศาภิบาลมณฑลยูนนาน) โสงตูเมืองแสรจึงแนะนำให้เจ้าขุนเสือร่มฟ้าเล่าเรื่องราวของตนถวายพระเจ้าอโนรธา ให้ช่วยทูลไปถึงพระเจ้าราชาธิราชกรุงจีน ลำดับนั้นเจ้าขุนเสือร่มฟ้าก็ขึ้นไปเฝ้าเจ้าวั่งตี่ถวายราชบรรณาการช้าง ๔ เชือก ทองคำหนัก ๔ ชั่งสัต แลเงินหนัก ๔๐ ชั่งสัต แลถวายเรื่องราวขอให้ทรงพระกรุณาพระราชทานเดชานุเคราะห์ให้ได้คืนครองราชสมบัติเมืองเมา พระเจ้าราชาธิราชกรุงจีนจึงตรัสให้มหาเสนานายทหารนามวังโสงปีงเปนแม่ทัพใหญ่ ยกกองทัพสรรพพลนิกร ๕๐๐,๐๐๐ กับกองหนุนอิก ๓๐๐,๐๐๐ คน (มากเต็มทน) จากเมืองแสร ไปจัดการให้เจ้าขุนเสือร่มฟ้าได้คืนคงครองราชสมบัติณเมืองเมา ท้าวกางเมืองก็ยินยอมอ่อนน้อมแลถวายบรรณาการช้าง ๘ เชือก ทองคำหนัก ๘ ชั่งสัต เงินหนัก ๔๐ ชั่งสัต แม่ทัพใหญ่จีนก็ยินยอมรับ แต่ต่อนั้นไปใม่ช้า เจ้าขุนเสือร่มฟ้าพร้อมกับกองทหารจีน ก็ยกกรูกันจู่เข้ามาจับตัวท้าวกางเมือง กำลังนอนสูบฝิ่นอยู่นั้นได้แล้วฆ่าเสีย จึ่งเจ้าขุนคำแถบฟ้าราชบุตร์ท้าวกางเมืองกับไพร่พลทั้งปวงก็หนีไปมาน (บ้าน) กางในแขวงเมืองกยิต เจ้าขุนเสือร่มฟ้าก็กลับได้เปนเจ้าฟ้าอีกในปี พ,ศ, ๑๘๒๒ เมื่อกองทัพจีนยกกลับไปแล้ว ฝ่ายขุนคำแถบฟ้าก็ยกมาตั้งมั่นอยู่ณเชียงปาในมณฑลเชียงตองใกล้ปากน้ำน้ำแก่ง อันเปนแควน้อยแยกจากน้ำโก่ง (คือแม่น้ำสัละวีนตอนบน เดิมไทยสยามโบราณเรียกแม่น้ำขง) ครั้นแม่ทัพจีนทราบก็หวลทัพกลับลงมาติดตามไปถึงที่นั่นด้วย ขุนคำแถบฟ้าจนแต้มก็มานะขับพลเข้าต่อสู้ทัพจีนพ่ายถอยไปตั้งอยู่เมืองคู้ ขุนคำแถบฟ้ายกติดตามตีได้ต่อยุทธ์กันมากที่นั่น แม่ทัพเจ๊กมีใบบอกขึ้นไปขอกองทัพหนุนมาช่วย เจ้าวั่งตี่ก็แต่งกองทัพหนุนยกเพิ่มเติมมาอิกแต่ภายหลังเมื่อได้ทรงทราบว่าแม่น้ำเมา (คือชเวลี) เปนเขตร์แดนระหว่างเมืองเมาหลวงแลเมืองแสนหวี พระองค์ก็กลับมีราชบรรชาให้หยุดรบร้าแลใน พ.ศ. ๑๘๒๖ ก็ดำรัสให้หาวังโสงปิงแม่ทัพใหญ่ กรีฑามหาพยูห์กลับคืนกรุงจีนแต่เจ้าขุนเสือร่มฟ้าก็ยังคงได้ดำรงศักดิ์เปนเจ้าฟ้าเมืองเมาหลวง แลเจ้าขุนคำแถบฟ้าก็กลับไปเมืองแสนหวี แลย้ายมหานคร ใน พ.ศ. ๑๘๒๙ จากแสนหวีไปสู่ลอยสังเมืองกุ้งประทับอยู่ศกหนึ่งแล้วย้ายไปยังลอยหลวงพวงนาง ใน พ.ศ. ๑๙๓๑ พระองค์ย้ายอิกไปสู่เวียงท่าพุกในมณฑลสีปอ (ธีบอ) แลสร้างพระมหานครใหญ่ณที่นั้น แผ่พระอานุภาพปกครองหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงทั่วไป รวมเมืองสาตุง (เสือทุ่ง) เมืองยานโกง เมืองมอลาเมียง (มะระแหม่ง?) เมืองวังกอก เมืองพะสาตวง เมืองสิบสองปันนา แลเมืองไผ่ พระมเหษีของเจ้าขุนคำแถบฟ้านั้น เปนบุตรีเจ้าฟ้าเสือปิ่นน้อยแลพระนางเยโคน มีราชบุตร์ ๕ องค์ นาม ๑ เจ้าขุนอ้ายหลวง ๒ เจ้าขุนคำเปี่ยมฟ้า ๓ เจ้าขุนคำโพด ๔ เจ้าขุนคำร่ม แล ๕ เจ้าขุนคำวัด แลมีราชบุตรีองค์หนึ่งนามเจ้านางฟ้าหลวงร่มเมือง พระองค์ทรงตั้งพระราชบุตร์ใหญ่เจ้าขุนอ้ายหลวงไปเปนเจ้าฟ้าเมืองยอ แต่ยามยังดำรงพระชนม์อยู่ แลทรงราชย์มาได้ ๑๕ พรรษา สวรรคตใน พ.ศ. ๑๙๔๐ พระทุติโยรสเจ้าขุนคำเปี่ยมฟ้าได้เปนเจ้าฟ้าสนองพระองค์ ย้ายมหานครไปยังเมืองเมาหลวง แลประทับอยู่นั่น ๒ ศก จึงย้ายไปสู่เมืองแข็งฤๅเมืองแก่ง เลยทิวงคตที่นั่นใน พ.ศ. ๑๙๔๘ ใม่มีสุริยพันธุ์ เจ้าขุนคำโพดราชอนุชาได้เปนเจ้าฟ้าแสนหวีสนองพระองค์ มีราชบุตร์ ๒ องค์ ทรงนามเจ้าขุนคำรุ่งแลเจ้าขุนคำวัด เสวยราชได้ ๒ ปีก็ทิวงคต พระราชบุตรองค์ใหญ่ได้เปนเจ้าฟ้าสนองพระองค์ เฉลีมพระนามเปนเจ้าขุนหลวงคำใข่ฟ้า แลใน พ.ศ.๑๙๕๑ ย้ายมหานครจากเมืองแข็ง (ฤๅแก่ง) ไปยังเวียงคำไก่ไลเหนือเมืองแสรอู่ เจ้าเมืองภุกามชุมนุมพลจะยกมาตีเมืองแสนหวี ในปีเดียวกันนั้น เมงกยอสะวาได้เปนกษัตริย์เมืองอังวะ แลร่วมพระไทยกับเจ้าเมืองภุกาม มารดมตีเวียงคำไก่ไลในปี พ.ศ. ๑๙๖๑ เจ้าเมืองพม่าทั้ง ๒ ยอมทำสัญญาเลีกสงครามแล้วกองทัพพม่าก็ยกกลับไปบ้านเมืองตน (ตามพงศาวดารแสนหวีไต้ว่า ครั้งนี้เปนยุคที่เสียเมืองแสนหวีแก่พม่า และความจริงก็เช่นนั้น) เจ้าขุนหลวงคำใข่ฟ้ามีราชบุตร์ ๓ องค์ ทรงนาม ๑ เจ้าคำรอด ๒ เจ้าคำยอด แล ๓ เจ้าคำลัด เจ้าคำรอดนั้นพม่ายอมให้อยู่ในนครกับราชบิดา แต่ตั้งเปนเจ้าฟ้าเมืองเวียงคุ้มด้วย เจ้าคำลัดเปนเจ้าฟ้าเมืองกุ้งม้า เมื่อราชบิดาทิวงคต ราชบุตรที่ ๒ เจ้าคำยอดได้เปนเจ้าฟ้าสนององค์ แลย้ายมหานครไปตั้งณเวียงเลง มีราชบุตรองค์ ๑ นามเจ้าขุนวัต ราชธิดาองค์ ๑ นามเจ้านางหาญโคนจอ แลใน พ.ศ. ๑๙๘๗ เจ้าขุนวัตได้เถลีงรัชเมื่อพระชนกสุรคต ย้ายนครไปยังสูบเฮี้ยวแสรอู่ อันตั้งอยู่ณฝั่งแม่น้ำตู้ (คือเมืองที่พม่าเรียกเมียตแง) เจ้านางหาญโคนจอขนิษฐภคินีนั้น ถูกเชีญออกไปอภิเษกด้วยขุนนาคราชณนาคพิภพ (น่ากลัวจะมีเรื่องใม่สู้งาม)
ขุนคำวัดอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๕ ศกแล้ว เจ้าขุนหลวงคำเห็บฟ้าได้ทรงราชย์แทนใน พ.ศ. ๒๐๐๒ ในเวลานี้หัวเมืองสิบสองปันนาเปนขบถต่อพระภาดาอันเปนผู้ปกครอง จึ่งเจ้าขุนหลวงคำเห็บฟ้ายาตราพลานิกรไปบำราบให้ราบคาบได้แล้วไปเยี่ยมเมืองยวน (โยนก) เมืองปิง แลเชียงใหม่ พบพระพุทธปฏิมากรสำคัญองค์หนึ่ง จึ่งเชีญมาสู่เวียงแสรอู่ (พงศาวดารแสนหวีไต้ว่า การกรีฑาพลไปปราบเชียงใหม่ครั้งนี้ ต้องยกไปตามราชบรรชาพระเจ้าพม่า แลแถมว่าขุนหลวงคำเห็บฟ้าจับได้องค์พระเจ้าเชียงใหม่ ทรงนามเจ้าพระกอเมือง ฤๅพระสี่แรงกาก็เรียก พามาเมืองแสนหวีด้วย (ตอนนี้ในพระราชพงศาวดารไทยสยามเปนแผ่นดินพระอินทราชาที่ ๒ มีว่าลุ พ.ศ. ๑๙๙๔ มหาท้าวบุญเชิงเมืองเชียงใหม่วิวาทกะท้าวลูก แต่ดูเหมือนจะอปราไชยท้าวลูกๆจึ่งครองเชียงใหม่มาจนถึง พ.ศ. ๒๐๑๒ จึงพิราลัย) เมื่อเจ้าขุนหลวงคำเห็บฟ้ากลับมาถึงนครแล้วใม่นาน ก็เลื่อนมหานครไปตั้งณเวียงอ้ายด้วยเกีดทุพภิกขันตรภัย ทรงราชย์อยู่ ๖๓ พรรษา แลใน พ.ศ. ๒๐๖๑ เจ้าขุนหลวงคำแสนฟ้าอเสนฟะคญีเจ้าเมืองมีตได้มาเปนเจ้าฟ้าทรงราชย์อยู่ ๑๐ ปี เจ้าขุนหลวงคำเข่ญฟ้าจึ่งได้เปนเจ้าฟ้าแทนอยู่ได้ ๕ ปี เจ้าขุนหลวงคำปักฟ้าก็ได้เปนเจ้าฟ้า ใน พ.ศ. ๒๐๘๔ เจ้าขุนหลวงคำแสนสูงได้เปนเจ้าฟ้า แลทรงราชย์อยู่ตราบถึงรัชกาลเมงตรา ราชเมงจอได้เปนมหากษัตริย์กรุงอังวะ ทรงตั้งพระภาคินัยนามเจ้าขุนหลวงคำเข่ญฟ้าเจ้าเมืองโกเปนเจ้าฟ้าว่าหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงหมด ใน พ.ศ. ๒๑๐๔ เจ้าขุนหลวงคำเข่ญฟ้าย้ายนครจากเวียงแสรอู่ไปยังกุ้งม้า แล้วย้ายไปอิกสู่เวียงตวงกางแสนหัก เสวยราชย์อยู่ที่นครนั้น ๒๔ ศก ใน พ.ศ. ๒๑๓๓ เจ้าขุนหลวงจำโขงฟ้าทรงราชย์สนององค์ แลย้ายนครจากแสรหักกลับมาตั้ง ณ เวียงแสรอู่อิก
ใน พ.ศ. ๒๑๓๖ ในรัชกาลพระเจ้าพยองรามมินทร์คญีกยอผ่านกรุงอังวะนั้น เจ้าฟ้าสีปอเมืองโอ่งป่วงเปนขบถ เจ้าฟ้าคำเข่ญฟ้าต้องแต่งกองทัพไปช่วยพระเจ้าอังวะปราบจลาจล จึงให้เจ้าแถบสังคำเปนแม่ทัพ ตีได้เมืองโอ่งป่วงแลจับได้เจ้าฟ้ามณฑลสีปอ (ธีบอ) นามเจ้าขุนกอฟ้า
ในปีนั้นเมืองปิง เมืองน้ำปะตู เมืองยางห้วย แลเมืองหนองโมน ร่วมใจกันเปนขบถ แต่ปราบให้ราบคาบได้ทันท่วงทีใม่ทันลุกลามได้
ใน พ.ศ. ๒๑๔๒ คำเสือ คำนาน เปนขบถยกมาชิงเมืองเวียงแสรอู่ได้ แลตั้งครอบครองอยู่ปี ๑ แต่ใข่น้อย เจ้าเกี้ยว ซึ่งในชั้นแรกไปอาไศรยพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกะวีโยตะรา (คือกรุงศรีอยุทธยา) รวบรวมคนในสิบสองปันนา แลในโยตะรา (คือกรุงศรีอยุทธยาสยาม) ได้มาก ยกมาขับคำเสือคำน่านหายไป (ตรงนี้ในพระราชพงศาวดารสยามร่วมกันเปนแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีใจความว่าเจ้าฟ้าแสนหวีพิราไลยหาผู้ครองเมืองมิได้ จึงเสนาบดีแต่งราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชณเมืองตองอู กำลังประชิดตีเมืองอยู่ กราบทูลขอเจ้าฟ้าแสนหวีซึ่งมาเปนข้าเฝ้า ขณะนั้นตรัสให้เปนพญาศรี (คือคำใข่น้อยเจ้าเกี้ยว) แลตรัสใช้ให้ไปช่วยป้องกันเมืองเมาะลำเลีง (มะระแหม่ง) นั้นคืนไปเปนเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี)
ใน พ.ศ. ๒๑๔๘ เจ้าเกี้ยว แลพญาเมืองพวนเปนขบถต่อพระเจ้าเมงตรานองสะรับ (พม่าเรียกอนอกเฟตละวน ฤๅพยองรามมังตรา ฤๅมหาธรรมราชา) กรุงอังวะ เจ้าพม่าได้กำลังจากเจ้าอุปราชา แลจากเจ้าขุนเสือร่มฟ้า เจ้าเมืองมีต ช่วยเหลือเกื้อกูล จึงยกมหาพลจะมาตีเมืองพวนแลเวียงแสรอู่ เจ้าเกี้ยวคำใข่น้อย (ที่ไทยเรียกพญาศรี) เห็นสู้ใม่ไหวจึงต้องหนีไปเวียงแก่งหินในแดนจีนก่อน ข้างจีนขับไล่จึงต้องกลับคืนไปสู่กะวีโยตะระ (กรุงศรีอยุทธยาสยามว่าตามศักราชในพงศาวดารสยามเปนแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถเจ้าทรงธรรม แต่หามีปรากฎในพงศาวดารใม่ มีแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงได้ข่าวว่าพม่าตีเมืองหน่าย (โมแน) ครั้งนั้นขึ้นต่อกรุงสยามแล้วจะมาตีเมืองแสนหวีอันเปนข้าขอบขัณฑสีมา แปลว่าเจ้าเกี้ยวได้เปนเจ้าฟ้าแสนหวีโดยปรกติขึ้นต่อพระมหานครศรีอยุทธยา จึ่งเสด็จกรีฑามหาพยูหนิกายจะไปตีกรุงอังวะ แต่ก็เสด็จสวรรคตเสียในมรรคันดรวิถีณเมืองห้างหลวง (ฤๅพม่าว่าเมืองหิน) แขวงลานนาไทยนครเชียงใหม่ก็เปนอันรงับ เจ้าเกี้ยวคำใข่น้อยคงจะใม่ได้ดำรงยศเปนเจ้าฟ้าแสนหวีแลมีเจ้าอื่นเปนเจ้าฟ้าหวลกลับไปขึ้นพม่าเสียแล้ว)
เมื่อเจ้าเกี้ยวคำใข่น้อย เจ้าฟ้าแสนหวีหนีไปแล้ว ราษฎรจึงเชีญให้เจ้าแถมสองคำพาราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าเมงตรานองสะรับ (มหาธรรมราชา) พระเจ้าอังวะก็ทรงรับความยินยอมของเมืองแสนหวี โปรดให้เจ้าแถบสองคำเปนเจ้าฟ้าครองบ้านเมืองไปดังเดีม นี่แลเปนเรื่องจบพงศาวดารแสนหวีหลวง เมืองดอกไม้ขาวใบใหญ่ ในแว่นแคว้นสิริวิลาตะมหากัมโพชา (ฤๅกัมพวะสา) โกสัมพีเพียงเท่านี้ มีเจ้าผู้ผ่านเมือง ๒๕ องค์ ละล้วนเปนเชื้อวงศ์เจ้าขุนไทยขวัญ ดังต่อไปนี้
๑ ขุนไทยขวัญ
๒ ขุนไทยโป่ง (ฤๅไทยพง)
๓ ขุนไทยหลวง
๔ ขุนน้อยแช
๕ ขุนน้อยเมียน
๖ ขุนน้อยจั่นฟ้า
๗ ขุนผังคำ
๘ ขุนกางคำเสือขวัญฟ้า
๙ ขุนเสือเปี่ยมฟ้า
๑๐ ขุนเสือวัตฟ้า
๑๑ ขุนเสือร่มฟ้า
๑๒ ขุนเสือเย็บฟ้า
๑๓ ขุนแถบฟ้า
๑๕ ขุนเปี่ยมฟ้า
๑๕ ขุนผุดฟ้า
๑๖ ขุนคำปักฟ้า
๑๗ ขุนคำใข่ฟ้า
๑๘ ขุนคำรอดฟ้า
๑๙ ขุนคำวัดฟ้า
๒๐ ขุนคำเห็บฟ้า
๒๑ ขุนคำแสนฟ้า
๒๒ ขุนแสนฟ้า องค์หนึ่ง
๒๓ ขุนคำเข่ญฟ้า
๒๔ ขุนคำแสนสูงฟ้า
๒๕ ขุนคำฉีงฟ้า
๒๖ ขุนคำน่านฟ้า
๒๗ คำไข่น้อยเจ้าเกี้ยว (ฤๅพระยาศรี)
เจ้าฟ้าแสนหวีเหล่านี้ได้ผ่านเผ้าหัวเมืองออก ๒๐ จังหวัดดังต่อไปนี้ (ละล้วนนามมหานครทั้งนั้น)
๑ แสนหวีแสนแสร
๒ เมืองเวียงวาย
๓ เมืองอูติง (น่าจะเปนอุเทน)
๔ เมืองเมาหลวง
๕ เมืองแสไฮ (แสรไร่)
๖ เวียงหนองอี่
๗ เวียงนางใข่คำพวง
๘ เวียงแสรล้าน
๙ เมืองหลวงควาย (ควาย)
๑๐ เมืองน่าพุก
๑๑ เมืองภูคำ
๑๒ เมืองหนองโพแม่
๑๓ เชียงหิน
๑๔ เชียงโล้น
๑๕ เวียงโข
๑๖ เวียงแก่งคำไก
๑๗ เวียงเลง
๑๘ เวียงอ้าย
๑๙ เมืองแสรหัก
๒๐ เมืองแสรอู่ใข่น้อย
แลทรงอาญาสิทธิ์อยู่ตลอดยุค ๖๐๑ ปี
ใน พ.ศ. ๒๑๔๙ เมื่อขุนคำใข่น้อยเจ้าเกี้ยวทิ้งเมืองหนีไปเสียแล้ว เจ้าหลวงเมงตรานองสะรับ (มหาธรรมราชาพระเจ้ากรุงอังวะ) กับเจ้าอุปราชา ก็ตั้งเจ้าเสือรุ่งฟ้าเคียมเมือง เมืองมีต ให้เปนเจ้าฟ้าผู้ผ่านแสนหวีหลวง เจ้าฟ้าองค์นี้เปนบุตรเจ้าเสือร่มฟ้าเจ้าฟ้าเมืองมีต อันเปนเชื้อพระวงศ์เจ้าขุนหลวงคำเข่ญฟ้า (พงศาวดารแสนหวีไต้ว่าเจ้าเสือรุ่งฟ้าได้เถลีงราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๙๔ แต่ที่ว่านี้คงจะต้องผิดแน่ ลการที่ผิดนี้ก็เปนด้วยคำนวนวิธีมหากาละจักร์ของไทยใหญ่สำหรับนับศุภะมาศเปนรอบๆ แลวิธีนี้ในบัดนี้ยากจะมีคนเข้าใจกันเสียแล้ว ในบ้านเมืองไต้แม่น้ำเมา (ชเวลี) ลงมา เราอาจจะเอาความจริงได้ทางพงศาวดารพม่า เรียกพระนามเมงตรานองสะรับว่า พระเจ้านยองรามเมงฤๅมินทร์ แลกล่าวไว้แม่นยำว่าหัวเมืองเงี้ยว คือไทยใหญ่ข้างเหนือได้ยอมอ่อนน้อมต่อราชาธิปตัยพม่าใน พ.ศ.๒๑๔๗ เพราะฉนั้นวันของพงศาวดารแสนหวีที่กล่าวว่า เจ้าเสือรุ่งฟ้าได้เฉลีมราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๔๙ นั้น คงจะถูกต้องแน่แท้)
อาณาจักร์แสนหวีหลวง จึงต้องตกเปนหัวเมืองขึ้นของเมืองม่าน เมืองเมี้ยน (คือพม่า) ด้วยประการฉนี้ เวียงแสรอู่เปนเมืองหลวงของเจ้าขุนเสือรุ่งฟ้าทรงราชย์อยู่ได้ ๓๙ ศก มีราชบุตร ๔ องค์ คือ ๑ เจ้าเคียมเมืองเสือรุ่ง ๒ เจ้าพญาเจ้า ๓ เจ้าเสือร่มเมือง แล ๔ เจ้าโสมภู เจ้าเคียมเมืองสิ้นพระชนม์ในเมืองใบโค (คือพะโคฤๅหงสาวดี) มีบุตรองค์หนึ่งนามเจ้าคำนวลนายคำก่องฟ้า เจ้าพญาเจ้าสิ้นพระชนม์ในกรุงอังวะ แลเจ้าโสมภูสิ้นพระชนม์ในเมืองก้องคือเมืองคัง
ใน พ.ศ. คำนวลได้เปนเจ้าฟ้าเฉลีมนามาภิธัยว่าเจ้าขุนแสนฟ้าไปสถิตย์ณรเวียงแสรอู่ ดำรงชีพอยู่ได้ ๖ ปี ก็ต้องเจ้าหลวงเมงตรา (พระเจ้าอังวะ) พิฆาฎเสีย เจ้าเสือรุ่งฟ้าได้เปนเจ้าฟ้าแทน มีราชบุตร์ ๒ องค์ นามเจ้าเสือรุ่ง แลเจ้าขุนออกคำ ธิดา ๑ นาม เจ้านางหารฟ้าโขคำโหง
เจ้าขุนเสือรุ่งฟ้ารวบรวมรี้พลยกไปตีเมืองเมา เมืองวาน เมืองแสรฝาง (ฤๅผัง) เมืองนา เมืองสันตา เมืองก้อน แลเมืองตี่ แลชิงไชยหัวเมืองใกล้น้ำโก่ง (คือสัละวีนที่ไทยสยามเรียกขง) ซึ่งแต่ก่อนเปนของเจ้าขุนหลวงเสือขวัญฟ้านั้นได้ทั้งสิ้น เวียงแสรอู่ก็ยังคงเปนเมืองหลวงของเจ้าขุนเสือรุ่งฟ้า แลทรงราชย์อยู่ ๓๓ ศก ราชบุตรีเจ้านางหารฟ้าโขคำโหงได้เปนเจ้าฟ้าสนององค์ใน พ,ศ, ๒๒๒๗ ครองเมืองอยู่ ๔ ศก ก็ชีพตักษัยในเวียงแสรอู่ แต่นั้นมาเมืองแสนหวีก็คงไร้เจ้าฟ้าผ่านพิภพมา ๙ ศกจน พ,ศ, ๒๒๔๐ เจ้าหลวงคำส่องฟ้า จึ่งได้รับราชานุมัติพระเจ้าพม่ามาทรงศักดิ์เปนเจ้าฟ้า แลสถิตย์ในเวียงแสรอู่มาได้ ๑๑ ศก จึ่งย้ายนครไปยังที่มีนามว่าบ้านเก่าท้ายเมืองผังพวง ก็สร้างเปนเมืองหลวงเวียงติงยิตขึ้นที่นั่น แต่แรมอยู่ชั่ว ๑๒ เดือนเท่านั้น ก็ไปสร้างนครเวียงผังพวงใหม่ นครใหม่นี้เวียงทัพพังพวยก็เรียก
เมื่อเจ้าขุนหลวงคำส่องฟ้ายังประทับอยู่ในเวียงแสรอู่นั้น มีขายผู้หนึ่งนามกุมาเมืองล้านซ้างของเมืองโยตะรา (อยุทธยาคือหลวงพระบาง) อพยพครอบครัวมาสู่แสนหวีหลวง แลตั้งภูมิลำเนาอยู่ณ ตำบลทัพนางพังพวยตู้ แลได้สร้างวัดแสรเกี้ยว ครั้นภายหลังมาเรียกกันว่าวัดสูงพวงแสรอู่หลวงนั้นขึ้นที่นั่น (ในพระราชพงศาวดารไทยสยามยุคนี้เปนแผ่นดินพระธาดาธิเบศร์ คือพระเพธราชา ใน พ.ศ. ๒๒๓๘ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคะนหุตให้แสนสุพจนาไมตรีเปนราชทูตจำทูลพระราชสาสน์แลคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมาถวายณกรุงศรีอยุทธยา จะขอถวายราชบุตรีทรงนามพระแก้วฟ้าเปนศรีสุรางค์บริจาริกาแลขอกองทัพสยามไปช่วยขจัดศึกหลวงพระบางมาติดนคร โปรดให้พระยานครราชสีมายกกองทัพใหญ่ไปถึงเมืองเวียงจันทร์ เจรจาความเมืองไกล่เกลี่ยให้หลวงพระบางคงเปนเมืองสัมพันธไมตรีกับศรีสัตนาคะนหุตไปตามเดีม พวกหลวงพระบางกลัวสยามก็ยอมรับแลเลีกทัพกลับไป คงจะได้เกิดเหตุอย่างใดจนคนสำคัญอันอยู่ข้างอุดมในหลวงพระบางปะลาตไปอยู่แสนหวีไต้)
เจ้าฟ้าขุนหลวงคำส่องฟ้าทรงราชย์อยู่ได้ ๒๓ ศก คืออยู่ในเวียงแสร ๑๑ ศก อยู่ในเวียงทัพพังพวย ๑๑ ศก แลอยู่ในเวียงติงยิตศกเดียวก็พิราไลย
นามเจ้าฟ้าผ่านเวียงแสรอู่ ดังต่อไปนี้ :-
๑ ขุนคำวัดฟ้า
๒ ขุนคำแสนฟ้า
๓ ขุนแสนฟ้าคญี
๔ ขุนคำผ่านฟ้า
๕ ขุนคำเข่ญฟ้า
๖ ขุนคำปักฟ้า
๗ ขุนคำฉิ่งฟ้า
๘ ขุนคำเสือคำน่านฟ้า
๙ ขุนคำใข่น้อยเจ้าเกี้ยว
๑๐ เจ้าขุนร่มฟ้า
๑๑ เจ้าขุนกอฟ้า
๑๒ ขุนเสือสูงฟ้า
๑๓ ขุดคำแผดฟ้า
๑๔ แม่นางหาญฟ้าโขคำโหง
๑๕ ขุนคำส่งฟ้า
๑๖ ขุนคำโหง
เวียงแสรอู่คงเปนเมืองหลวงอยู่ตลอดยุค ๑๐๑ ปี ขุนคำส่องฟ้ามีราชบุตร์ ๔ องค์ คือ ๑ เจ้าคำหอ ๒ เจ้าคำรุ้ง ๑ เจ้าคำแล่ง แล ๔ เจ้าคำกวด มีราชธิดา ๑ นาม เจ้านางหาญหน่อแสง
เจ้าคำหอเปนราชบุตร์พระสนม ชื่อนางอ่อน สิ้นพระชนม์แต่ยังกำลังรุ่น แต่มีบุตร์องค์หนึ่ง นามเจ้าขุนลี เจ้าคำกวดเปนราชบุตร์มเหษีนางเมืองนา แลสิ้นพระชนม์ในกรุงอังวะ มีบุตร์องค์หนึ่ง ธิดาองค์หนึ่ง นามเจ้าขุนแสงโพ แลเจ้านางสร้อยคำเมือง ฝ่ายเจ้านางหาญฟ้าหน่อแสงนั้นเปนราชธิดามหาเทวีมเหษีเจ้านางหลวงหาญฟ้าเมงโขคำโหง
เจ้าขุนลีรับราชโองการพระเจ้ากรุงอังวะให้กรีฑาพลไปตีนครเชียงใหม่ เมื่อกลับมาถึงได้รับยศเปนเจ้าฟ้าแสนหวี ทรงราชย์อยู่ได้ ๕ ศก ก็ถูกโจรพิฆาฎเสียในเพลาดำเนีรทางจะไปนมัสการพระเจดีย์สถานในเชียงตวง (พม่าตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ตกในแผ่นดินพระภูมินทรราชา คือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แต่ในพระราชพงศาวดารไทยหาได้กล่าวถึงใม่)
เจ้าขุนแสงคำกวด บุตรเจ้าขุนแสงโพ อันไปกับเจ้าขุนลีในเพลาเกีดเหตุนั้นก็พลอยถูกฆ่าเสียด้วย
เพราะฉนั้นใน พ.ศ. ๒๒๕๗ เจ้าขุนแล่งอันเปนภาดาเจ้าขุนคำหอ ต่างบิดาจึงได้รับยศเปนเจ้าฟ้าทรงนามาภิธัยเจ้าขุนหน่อฟ้า ในปีที่ ๔ แห่งรัชกาลขุนหน่อฟ้านั้นเมืองกุ้งม้าเปนขบถ แลในเวลาประจวบกันนั้นราชบุตร์ของขุนหน่อฟ้า อันเปนเคียมเมืองผู้เปนเจ้าทวนลาก็เปนขบถด้วย แต่ขุนหน่อฟ้าจับตัวได้ทันทีสำเร็จโทษเสีย แต่ต่อนั้นไปใม่ช้าพลันลุวันเดือนสี่ (มีนาคม) ขึ้น ๔ ค่ำ บุตรีของขุนหน่อฟ้าเองนามเจ้านางสุมหน่อแสงพันก็คิดประทุษร้ายลอบเข้าไปฆ่า เจ้าขุนหน่อฟ้าเสียในห้องบรรทมเวลาเที่ยงคืน
พระเจ้าเมงตรานันทราชาเจ้าอังวะก็พระราชทานราชานุมัติให้เจ้านางปิตุฆาฎนั้นเปนแม่นางผ่านแสนหวี เสวยราชย์มาได้ ๑๒ ศก อนุชาของแม่นางนามเจ้าหลวงคำโหงฟ้า ก็ได้เถลีงรัชย์สนององค์ใน พ.ศ. ๒๒๗๑ เจ้าขุนหลวงคำโหงฟ้าอภิเษกด้วยเจ้านางตู้สุมวงเมืองเมา มีราชบุตร์ ๔ องค์ ธิดา ๕ องค์ (เจ้าฟ้าองค์นี้เองที่ดูเหมือนเปนเจ้าแสงโหง ในพงศาวดารแสนหวีได้กล่าวว่า ได้รับตำแหน่งยศในกรุงอังวะแล้วกลับมาสู่หัวเมืองไทยใหญ่ โดยทางเมืองยางห้วย (ยองฮเว) แลได้อภิเษกกับเจ้านางแสงภู อันเปนนัดาของเจ้าฟ้าเมืองยางห้วย (ยองฮเว)
ในรัชกาลเจ้าฟ้าขุนคำโหงฟ้านั้นกวีแมงฤๅมินทร์ คือเมืองของพวกกวี (นี่คือเมืองเกวียเกียคือชานคแวที่ไทยเรียกเงี้ยวกวย มิสเตอร์ปาร์เกอกะว่าอยู่ในแขวงมะทะยาใกล้กรุงมัณฑเล) เปนขบถ พระเจ้าพม่ามีราชดำรัสให้เจ้าฟ้าขุนคำโหงฟ้ายกกองทัพไปปราบปราม จึ่งให้ราชบุตร์นามเจ้าคำวัดฟ้ายกพลไปตีต้อนพวกกวีพ่ายหนีไปถึงโอโพโอเมง แล้วก็ยกพลกลับเมืองแสนหวี แต่พอเจ้าคำวัดฟ้ามาถึงเมืองใม่ทันไร จีนเมืองมอลาวูก็เปนขบถ ยกเข้าตีเอาเมืองมอพังโพกได้ แลตระเตรียมจะยกมาตีเมืองแสนหวี เจ้าคำวัดฟ้าต้องยกทัพใหญ่ไปตีแตกพ่ายหนีไปกวีเวียงกักหลังเมืองจีน แต่เหตุที่พวกจีนก่อจลาจลนั้น ยังทำให้ได้ใจไปถึงพวกกวีแมงเกีดลุกลามขึ้นอีกใม่รู้จบ เลยวุ่นวายไปกระทั่งถึงเมืองมอพังยาง เมืองปาต แลเมืองเยลา ขุนหลวงคำโหงฟ้าจึงแต่งให้เจ้ามังตี่ยกกองทัพไปปราบปรามพวกจีนทรยศ แตกพ่ายหนีไปเพียงมณฑลสีปอ กองทัพพม่าที่ยกมาตั้งอยู่ที่นั่นก็ระดมยกเข้าโจมตี แลจับเจ้าฟ้าเมืองปาตได้ส่งไปกรุงอังวะ แต่พรรคพวกเจ้าฟ้านั้น ลอบไปซุ่มสกัดยกเข้าโจมตีแก้เอาหลุดไปได้ โกเฉ่งสีกางราชาเปนแม่ทัพพม่าในเวลารบกับกวีแมงนั้นก็แทบจะอัปราไชยในคราวต่อยุทธ์เหล่าร้ายที่โอโพโอเมง จึ่งเจ้ามังตี่ก็ยกกองทัพตีขนาบเข้าไปช่วยทัพพม่า แลต้องต่อรบกับกวีแลจีนทั้งสองฝักสองฝ่าย กำลังเจ้ามังตี่ต่อรบข้าศึกชุลมุนอยู่ทางนี้ เจ้าขุนหลวงคำโหงฟ้าก็ทิวงคตลงในเมืองผังพวง ทรงราชย์อยู่ได้ ๒๔ ศก เจ้ามังตี่อนุชาทราบความ ก็รีบยกทัพกลับใน พ.ศ. ๒๒๙๖ (พงศาวดารแสนหวีข้างไต้ว่า พ.ศ. ๒๒๙๓) แลได้รับราษฎรสมมตขึ้นเปนเจ้าฟ้าณะเมืองโมต เฉลีมพระนามเปนเจ้าขุนเสืออุ้มฟ้า มีราชบุตร์ ๓ องค์ นาม ๑. เจ้าหน่ออู่เมือง ๒. เจ้าขุนแสงญี่ แล ๓. เจ้าขุนสามโพ แลธิดา ๒ องค์ คือ เจ้านางแสงคำมู แลเจ้านางสร้อยคำเมือง ได้อภิเษกกับเจ้าคำหอ แลเจ้าคำแล่ง (พงศาวดารแสนหวีข้างไต้ว่า เจ้ามังตี่ริบทรัพย์สมบัติของภาดาทั้งปวงเอาเสียสิ้น เหตุฉนั้นเจ้านางแสงภูมเหษีหม้ายจึงกลับไปเมืองยางห้วย (ยองฮเว) แลประสูติโอรสที่นั่นนามเจ้าขุนหนู ซึ่งภายหลังได้เปนเจ้าฟ้าปรากฎนามาภิธัยว่าเจ้าสเวเฉ่ง เรื่องราวในแผ่นดินเจ้าขุนมังตี่ก็ผิดกันมาก ข้างรัฐบาลพม่าก็ว่ารีดรัดทั้งให้ส่งสร่วยเรี่ยวแรงหนักขึ้น แลกะเกณฑ์พลรบจากเมืองแสนหวีเพิ่มจำนวนทวีมากขึ้น เจ้าขุนมังตี่ทรงสร้างพระเจดีย์ แลทรงสุบินว่าถ้ายอดเจดีย์เอนไปทางกรุงอังวะ เมืองแสนหวีก็จะมีแต่ต้องตกเปนทาษชเลยฟุบอยู่ใต้อำนาจพม่าใม่รู้จักเงยหน้าเปนไทยได้อยู่ชั่วนิรันดร ถ้ายอดตั้งตรงดิ่งเมืองแสนหวีจะได้เปนเอกราช แต่ถ้าเอนไปทางกรุงจีน กรุงจีนก็จะเอื้อมเข้ามาเปนใหญ่ ครั้นรุ่งขึ้นเช้าเจ้าขุนมังตี่เห็นยอดพระเจดีย์เอนไปทางเมืองพม่า เหตุฉนั้นจึงทิ้งเมืองแสนหวีเสีย ยกไปสถิตย์ณเมืองกาในเขตร์แดนจีน เจ้าคำหูพระบุตร์เขยผู้เปนนักรบสำคัญเคยรบให้พม่าในกะเหรี่ยงนั้นก็ตามไปอยู่ด้วย พระเจ้าพม่าจึงตรัสให้หาทั้งเจ้าขุนมังตี่แลเจ้าคำหูให้ลงไปเฝ้าณกรุงอังวะทั้งคู่ เจ้าขุนมังตี่ใม่ยอมไป แลต่อนั้นไปใม่ช้าก็พิราไลยอยู่ในเมืองกานั้นเอง แต่เจ้าคำหูลงไปสู่กรุงอังวะ แต่พอไปถึงสักหน่อยก็สิ้นชนม์ในกรุงอังวะ เจ้าคำแล่งอนุชาก็อยู่รับราชการกรุงจีน แลเปนตัวสำคัญในการยกกองทัพมาตีเมืองแสนหวีแลยืดเมืองนั้นไว้ได้เปน ๓ ปี เจ้าขุนแสงอ่องตุ่นก็เปนแม่ทัพจีนกองหนึ่ง แลยกมาตีใม่ชั่วแต่เมืองแสนหวี แต่ทั้งตีเมืองหน่าย (พม่าเรียกโมแน) ได้ แลตั้งปกครองอยู่เองได้ถึง ๑๗ ปี
พอผังยางก่อวุ่นวายอิกแลยกเข้าครอบเอาเมืองหนองโมนลาเฉียวไว้ พม่าก็แต่งกองทัพให้โบ่แสงกางเปนนายพลยกมา เจ้าขุนมังตี่ก็มอบให้เจ้าคำแล่งบังคับพลฝ่ายเมืองแสนหวี พร้อมกันยกไปตึกระหน่ำขับจีนจลาจลออกไปพ้นเมืองหนองโมนลาเฉียว แล้วทัพพม่าก็เดินลงมากรุงอังวะ ในพ,ศ, ๒๒๙๙ (กำลังเจ้าคำแล่งอยู่ในกรุงอังวะนั้น ชายาของเจ้าคำแล่งอันเปนธิดาของเจ้าฟ้ามีสามีใหม่ในศกนั้นเจ้าสเวตอง (ชเวดอง) เปนขบถ แลหนีมาอาไศรยอยู่ในแสนหวีพึ่งบารมีเจ้าขุนมังตี่ เจ้าขุนมังตี่จัดให้ไปตั้งอยู่ณเมืองติงยิต แต่สักหน่อยต้องย้ายไปอยู่เมืองคุนโลง เจ้าขุนมังตี่ช่วยเหลือเกื้อหนุนเจ้าชเวดองในการเปนขบถต่อพระเจ้าองคชัยะ (คืออลองพญา) ใน พ,ศ, ๒๓๐๑ แลต้องแตกพ่ายไปเมืองกุ้งม้า เจ้าขุนมังตี่จึงได้สร้างพระเจดีย์ในเมืองนั้น แล้วต่อไปใม่ช้าก็ทิวงคต
อองชัยะ (อลองพญา) ทิวงคตใน พ,ศ, ๒๓๐๓ เมื่อไปตีโยตะรา(กรุงศรีอยุทธยาสยาม) เอาไชยมิได้สมหวัง เจ้าเมงตรานองโลก (มังลอกพระเจ้าเนาดอญีพญา) ได้เถลีงฉัตร์พม่าสนององค์ แลในปีนั้นเจ้ากวีแมง (เจ้าเมืองคเว) เปนขบถอิกตั้งตนเปนใหญ่อยู่ในเมืองแสนหวี กองทัพพม่าซึ่งแมงกญีกยอมาติงเปนนายพลยกขึ้นมาตีเมืองก้อนกาง เมืองปาด แลเมืองโข เมืองกา เจ้าฟ้ากวีแมงหนีไปเมืองมอน้อยเมืองเลม แมงคญีตามไปจับเจ้าฟ้าฆ่าเสีย แล้วก็เข้าตั้งอยู่ในเมืองลา
ต่อนี้ไปใม่ช้าแมงคญีกยอมาติง ก็ยกมาตั้งอยู่ในแสนหวีเรียกเจ้าคำบัตกลับมาจากเมืองก้อน แลตั้งให้เปนเจ้าฟ้า แลให้ล่อเจ้าคำหอมมาจากเมืองแสรผัง แล้วพาองค์ลงไปกรุงอังวะด้วย
แต่ต่อนั้นไปใม่กี่น้ำ เมืองกุ้งม้าก็ก่อการจลาจลอีก แมงคญีต้องยกกลับขึ้นมาขับพวกจีนแตกพ่ายกลับไปยังเกียวสิน แลสร้างสพานข้ามน้ำโก่ง (สยามเรียกน้ำขง คือแม่สัละวีนตอนบน)
ใน พ.ศ.๒๓๐๖ เจ้าคำเกียบแม่ตู้ (อินพยูชินฤๅพระเจ้าช้างเผือก) ได้เปนกษัตริย์กรุงอังวะ ลุเดือน ๑๑ (ตุลาคม) ขึ้น ๔ ค่ำศกนั้น โปรดสถาปนาเจ้าคำแล่งเปนเจ้าฟ้าแสนหวี เมื่อขึ้นมาถึงเมืองแล้วเฉลีมพระนามเปนเจ้าขุนหลวงคำส่องฟ้า ใน พ.ศ. ๒๓๐๘ แตงกยอโบ่ มยอกวัง กับโบ่มังฆ้องเปนแม่ทัพยกพลขึ้นมาจากกรุงอังวะ สมทบกับกองทัพหนุนเมืองแสนหวีอันเจ้าขุนแสงอ่องโถนเปนนายพล ดำเนีรทัพไปสู่เมืองเลมแลมณฑลสิบสองเมือง (คือเชียงรุ้ง) เจ้าฟ้าหัวเมืองเหล่านั้นหนีไปหาเจ้าวั่งตี่ๆก็แต่งทัพใหญ่มาจากกรุงจีน เข้าโจมตีทัพพม่าแลไทยใหญ่ถอยล่ามาสู่แสนหวี เหตุฉนี้เมื่อรุ่งศก พ.ศ. ๒๓๐๙ ขึ้น กองทัพจีนจึงยกมาตีหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งแปดนครอันตั้งอยู่ทั้งสองฟากน้ำโก่ง (สัละวีน) เจ้าขุนคำส่องฟ้าก็ยอมสวามิภักดิ์ต่อแม่ทัพจีนณเมืองเมียน (เมียนนิง?) แม่ทัพจีนจึงพาไปสู่เมืองพวนตั้งให้เปนเจ้าฟ้ารับอิศริยยศอย่างจีนด้วย ทรงราชย์อยู่ได้ ๓ ศก ก็ประชวรอหิวาตะกะโรคสุรคต เมื่อได้รับยศอย่างจีนแล้วได้ใม่ช้า เจ้าคำโพดได้เถลีงรัชสนององค์
ในสมัยนี้มีจีนเปนเจ้าเมืองอยู่ในเมืองติมา เจ้าคำโพดไปหาน้อมคำนับจีนเจ้าเมืองๆก็รับรองเปนอย่างดี จึ่งให้ช้างสองเชือกเปนของกำนัลขอได้อยู่ในเมืองอันแตง
เมืองแสนหวีถึงโชคร้ายต้องทำลายป่นปี้อิก แลแม่ทัพจีนให้พาตัวเจ้าฟ้าผู้ครองเมือง เมืองเมียน เมืองมา เมืองฉิ่ง แลเมืองติ่ง มาเคารพณเมืองแสนหวี
แต่ในเดือนแรกแห่งปีต่อไป มยอกวังโบ่เปนแม่ทัพคุมพลพม่ายกขึ้นมาตีกองทัพตาเฉ่งฝ่ายจีนแตกพ่ายไปยังเมืองนา แล้วก็ยั้งตั้งทัพอยู่ณเมืองสา แต่กองทหารเจ๊กซึ่งตาเฉ่งอันตั้งอยู่ณเมืองวานเปนแม่ทัพยกมาติึกองทัพพม่า ก็ต้องถอยล่าไปยังเมืองมา แลภายหลังไปเมืองโยคแลเมืองวน
กองทหารจีนจึงเข้ายึดเอาเมืองเวียงแสรอู่ไว้เข้าตั้งมั่นอยู่ แลมยอกจังโบ่รวบรวมกำลังทหารได้ ๕๐๐๐ คนยกทวนมาตีกองทหารจีนแตกถอยไป แลกำลังเจ้าขุนคำโพดช่วยอุดหนุนด้วยอีก ก็เลยรุกไล่ทหารจีนถอยไปพ้นแสรผัง เมืองฉิ่ง แลเมืองมา
ณเวลาร่วมกันนั้น กองทัพพม่าอิกกองหนึ่ง ก็เดินไปทางเมืองมอน้อย เมืองเลม แลเข้าตีทหารจีนแตกไปจากสิบสองเมือง (คือเชียงรุ้ง) แม้กระนั้นในปีต่อไป ตาเฉ่งจีนยังยกกองทัพผ่านเมืองโกแลเมืองสีมาทางน้ำลาน เข้ายึดเอาบ้านสอแสรอู่ไว้ แลตั้งอยู่ณวูนุงเย (เวียงหนองยาว) เปนเจ้าเมืองหัวเมืองไทยใหญ่ แลขับกองทัพพม่าพ่ายจากแสนหวีไปยังเมืองมณฑลสีปอ (ธีบอ) แลต่อไปซ้ำทัพพม่าต้องล่าจากมณฑลสีปอด้วย วูกุงเยจึงยกลงไปตั้งในเมืองลอยหลวง (วูกุงเยคนนี้ น่าจะเปนแม่ทัพจีนที่พม่าเรียกว่าสุกุนเน แลที่มิสเตอปาร์เกอว่าเปนเจ้าฟูแฮงแม่ทัพเม่งจู คงเปนพระญาติของฮองไทยเฮากรุงจีน)
ต่อไปกองทัพพม่าซึ่งกยอโบ่ แลมยอกวังโบ่เปนนายพลก็ยกขึ้นมาตีจีนแตกไปจากแสนหวีทางโฮกีว แลตีทัพใหญ่วูกุงเยพ่ายไปจากลอยหลวง (พม่าเรียกตองเป่ง) แลรุกไล่แตกกระจัดพลัดพรายไปเมืองยีน วูกุงเยก็เลยสิ้นชีพลงที่นั่น (แต่มิสเตอปาร์เกอว่า เจ้าฟูแฮงไปถึงกรุงปักกิ่งก็ชั่วแต่ไปสิ้นชีพเท่านั้น) กองทัพเจ๊กอิกกองหนึ่งยกมาจากเมืองกางเสือ แต่อัปราไชยพ่ายไปจากเมืองยอ แม่ทัพจีนพาเจ้าครองเมืองบางองค์ กับบริพารราว ๑๓๐,๐๐๐ คน ไปสู่เมืองตะรี (ตะลีฟู) แลคุมไว้ที่นั่น
(พงศาวดารแสนหวีข้างใต้เล่าเรื่องราวผิดกัน กล่าวว่าแม่ทัพจีนนามเจ้าวังกันตะริตยกกองทัพใหญ่มาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ข้ามสพานข้ามน้ำตู้ณท่าเต้เหนือเมืองสีปอ แลตั้งค่ายชุมนุมทหารอยู่ณเมืองชุมสาย แลเมืองอื่นลงมาทางพม่า กองทัพพม่ายกมาจากพะโค แลเมาะตะมะ เข้าโจมตีทัพจีนแตกถอยมาเวียงเข้าสาร (ลาเฉี่ยว) ซึ่งจีนสร้างป้อมอย่างแข็งแรงไว้ที่นั่น ข้างพม่าก็ตั้งค่ายอยู่ข้างต้นน้ำเยาณบ้านลาเฉี่ยว แลคอยรอจนมยอกวังโบ่เดินทัพขึ้นมาทางเมืองเลมแลเมืองมา ยกเข้าโจมตีทหารจีนทางด้านตวันออก ข้างจีนอปราไชยแตกพ่ายไปจากเวียงเข้าสาร (มูนดินค่ายจีนยังคงมีปรากฎอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้) ต่อไปนั้นก็พรรณนารายชื่อหวุ่นแลสิกแกในเมืองลาเฉี่ยวต่างๆ แต่พงศาวดารแสนหวีข้างเหนือแลข้างไต้ทั้งสองฉบับนั้นก็ต่างกล่าวแตกกัน)
ใน พ.ศ. ๒๓๑๘ เจ้าเมงตราหลวงกษัตริย์พม่าทรงตั้งให้อูตึงฝอยเปนเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี เจ้าฟ้าใหม่นี้ก็ย้ายมหานครไปยังน้ำยอใกล้เมืองลาเฉียว เหตุฉนี้เมืองลาเฉียวจึงได้มีนามปรากฎสืบมาว่าเวียงอู่ อูติงฝอย (อุเทน?) ตามพระนามเจ้าฟ้าที่ผ่านนครนั้นมา ๗ ศก แลกยอกแสนหวุ่นได้ขึ้นไปเปนเจ้าฟ้าแทนต่อมาได้ ๓ ศก เจ้าส่วยฉิ่ง เมืองโตนคำ (ฤๅทุ่งคำ) ที่มาจากเมืองยางห้วย (ยองฮเว) จึงได้มาเปลี่ยนเปนเจ้าฟ้า เจ้าส่วยฉิ่งเปนราชบุตร์ของเจ้าฟ้าขุนแสงโหง เฉลีมพระนามเปนเจ้าขุนเสือว่ายฟ้า แลย้ายพระนครไปยังเวียงสุบพังพวง ทรงราชย์อยู่ได้ ๒๓ ศก จึงทิวงคตใน พ.ศ. ๒๓๔๓
เจ้าฟ้าเมืองสีปอยกมาตีเมืองทุ่งในปีที่ ๒ แห่งรัชกาลเจ้าขุนเสือว่ายฟ้า (คือ พ.ศ. ๒๓๒๓) แต่แตกพ่ายไป (พงศาวดารแสนหวีข้างไต้พรรณนารายลเอียดต่อไปว่า พระราชาปะดุง (คือโพเทาพญา) ได้เสวยราชสมบัติกรุงพม่าแทนสิงคุมินทร์ (คือมองหม่อง) ใน พ.ศ. ๒๓๒๔ มีพระราชดำรัสให้หาบรรดาเจ้าฟ้าในหัวเมืองโกสัมพีทั้งปวงลงไปสู่พระมหานครมีเจ้าฟ้าต่างๆลงไป ๘ องค์ เจ้าส่วยฉิ่งไม่ลงไป แลเจ้าฟ้าองค์อื่นๆหาว่า เจ้าส่วยฉิ่งตระเตรียมจะก่อการขบถด้วยเหตุฉนั้นเจ้าส่วยฉิ่งจึงต้องถูกเสตตอหวุ่น แลดะนุพยูหวุ่นขึ้นมาจับองค์ลงไปสู่กรุงอังวะ ต้องพิพากษาให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิต แต่เฉภาะเกิดเหตุอะเวยอกหวุ่นที่เปนผู้คุมเจ้าส่วยฉิ่งนั้นไปเกาะแกะพระมเหษีหม้ายในเรือนจำ แม่นางพระญาร้องถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ ผลอันนั้นทำให้หวุ่นผู้คุมต้องประหารชีวิต แลเจ้าส่วยฉิ่งเลยได้พระราชทานโทษแลได้กลับคืนขึ้นไปครองเมืองตามเดิม เหตุนี้ได้เกิดขึ้นในปีก่อนสร้างกรุงอมรปุระ แลก่อนเชิญพระปฏิมากรองค์ใหญ่นามพระมหามยัตมุนีจากเมืองยะข่ายมาถึงกรุงพม่าโดยเรือใหญ่ ซึ่งพระมหากษัตริย์ตรัสให้ต่อขึ้นสำหรับการนั้นสองศก ในรัชกาลเจ้าฟ้าส่วยฉิ่งนี้ มีเหตุที่จดหมายเหตุกล่าวไว้ใน พ,ศ, ๒๓๒๙ เจ้าฟ้าสีปอแลเมืองโล้นได้ย้ายนครไปตั้งณที่ตำบลใหม่ ใน พ,ศ, ๒๓๒๙ กรุงจีนแต่งราชทูตเชิญราชบรรณาการมีค่ามาสู่เมืองแสนหวี เมืองสีปอ แลเมืองลอกสอก แลใน พ,ศ, ๒๓๓๑ เจ้าฟ้าในหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงร่วมสหะฉันท์พร้อมกัน สร้างป้อมขึ้นณเมืองหน่ายป้อมหนึ่ง เพราะเกิดมีสุริยคราธใหญ่ขึ้นในปีนั้น แลในรุ่งปีขึ้นก็ได้มีพระราชพิธียกฉัตร์ยอดมหาเจดีย์มุเตาชเวฮมอดอในกรุงหงสาวดีใหม่ น่าจะเปนเพราะเหตุสุริยุปราคานั้นเหมือนกัน
เจ้าฟ้าเมืองเมา เมืองตีง เมืองสีปอ เมืองสีต เมืองสามกา เมืองเชียงทอง (ฤๅตอง) เมืองน้ำโคก เมืองหนองวอน แลเมืองยางห้วย (ยองฮเว) ได้พร้อมกันมาช่วยงารพระศพเจ้าขุนส่วยฉิ่ง ๆ มีราชบุตร ๗ แลธิดา ๒ องค์ ราชธิดาองค์ ๑ นามเจ้านางแสงจันทา (ฤๅแสงจันตา) ได้เปนเทวะชายาพระเจ้าเมงตราหลวง (พระเจ้าพม่า) แลมีราชบุตรองค์หนึ่งนามสโดมังสา แต่สิ้นพระชนม์เสียแต่ยามดรุณะไวย ใน พ,ศ, ๒๓๔๔ พระเจ้าพม่าทรงตั้งให้ขุนแสงโหง ราชบุตร์องค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าแสนหวีเปนเจ้าฟ้า ทรงพระนามเจ้าเสือกอฟ้า ใน พ,ศ, ๒๓๕๒ เมืองเห็ตเปนขบถต่อเจ้าเสือกอฟ้า แลต่อนั้นไปอิก ๔ ศก กำลังเสด็จไปประพาศเมืองอูต เกิดขบถจลาจลมากจึงถูกให้หาองค์ลงไปกรุงอังวะ เพื่อให้ชี้แจงว่า เหตุใดจึงได้เกิดจลาจลขึ้น แลกราบถวายบังคมลาพระเจ้าพม่ากลับคืนโดยทางเมืองหน่าย เมืองหนอง แลเมืองก้อนเตือ แต่ชีพตักษัยเสียในมรรคันดรก่อนถึงนคร เจ้าเสือกอฟ้าได้สร้างสพานข้ามน้ำตื้อ แลทรงราชย์ได้ ๑๔ ศก มีราชบุตร์เหลืออยู่องค์เดียวนามเจ้าสวยผ่องมารดาเปนพม่า แต่พระเจ้าพม่าโปรดตั้งให้แม่ทัพตนหนึ่งนามสิริราชาสังกยัน เจ้าเมืองก้อง (โมคอง) คือเมืองคังขึ้นมาว่าราชการเมืองแสนหวีอยู่ได้ ๓ ศกก็ถึงแก่อสัญกรรม สิริกะยอดินนรธาได้ขึ้นมาว่าราชการแทนอยู่ แต่เกิดเหตุอย่างไรถูกเรียกกลับลงไปกรุงอังวะเสียภายใน ๑๒ เดือน ครั้นใน พ,ศ, ๒๓๖๒ พระเจ้าปดุง (โพเทาพญา) ก็สุรคต แลพระราชภาคินัยได้เปนพระมหากษัตริย์พม่าต่อไป ทรงตั้งเจ้าหน่อเมือง อันเปนราชบุตร์ของเจ้าเสือว่ายฟ้าให้เปนเจ้าฟ้าแสนหวี ทรงพระยศเปนเจ้าหลวงเสือร่มฟ้า แต่ทิวงคตภายในปีนั้นเองณเมืองหน่ายที่เสด็จไปหาสิตแก ทรงราชย์อยู่ได้เพียง ๕ เดือนเท่านั้น (แต่พงศาวดารแสนหวีข้างไต้ว่า ๒ ศก) พระเจ้าพม่าจึงทรงตั้งให้อนุชาของเจ้าหลวงเสือร่มฟ้านามเจ้าคำกวด เปนเจ้าฟ้าสนององค์ทรงยศะนามาภิธัยเจ้าหลวงเสือรุ้งฟ้าเปนเจ้าฟ้าอยู่ได้ ๒ ปีก็ทิวงคตณเมืองหน่าย จะเปนถูกพวกขบถฉิ่งหลวงขุนสูงไข่อ่อน พระกาดำกายเมืองปาต พระกาดำมนคำแสนเมืองแสนเลม ท้าวเมืองพระกาคำแมนเมืองกัตกาง แลแหงคำโหงบ้านแวบทำร้ายฤๅประการใดหาปรากฎชัดใม่ เจ้าฟ้าที่ทิวงคตนี้มีราชบุตร์อยู่องค์หนึ่ง นามเจ้าขุนแสงเมืองโพอยู่ในกรุงอังวะ แต่ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ เจ้าหลวงเมงตรา (พระเจ้าพม่า) ทรงตั้งเจ้าคำพักเปนเจ้าฟ้าแสนหวี แต่ก่อนที่จะได้ว่าราชการเมืองเจ้าคำพักได้รับคำสั่งณเมืองหน่ายให้ลงไปรบกับอังกฤษณเมืองร่างกุ้งพร้อมกับเจ้าฟ้าหัวเมืองไทยใหญ่นครอื่นๆ เจ้าขุนคำพักก็พาพลรวม ๓๐๐๐ ยกลงมาแต่ต้องเสียพระชีพในสนามรบ ในเวลาเจ้าฟ้าใม่อยู่นั้นหวุ่นกยอซะวาเมียง ว่าราชการแทนไปพลาง แลใน พ.ศ. ๒๓๗๐ ขุนแสงคำน่านอันเปนราชบุตร์เจ้าเสือว่ายฟ้าอิกองค์หนึ่งได้รับตั้งเปนเจ้าฟ้า ทรงพระยศะนามเปนเจ้าหลวงเสือแลบฟ้า สุรคตภายใน ๓ ศก แลราชบุตร์นามเจ้าขุนแสงคำนานได้เปนเจ้าฟ้าสนององค์ แต่ทิวงคตในกำลังดำเนีรทางจะขึ้นไปสู่เมืองแสนหวี
ใน พ.ศ. ๒๓๗๔ เจ้าสวยเมือง บุตร์เจ้าเสือได้รับตั้งเปนเจ้าฟ้าแสนหวี ทรงพระราชทินะนามเปนเจ้าเสือว่ายฟ้า ทรงราชย์อยู่ได้ ๗ ศก
ในรัชกาลเจ้าเสือว่ายฟ้านั้น ท้าวเมืองเมืองเห็ต เมืองเกียก บ้านแสน แลเมืองใยเปนขบถ แลเข้ากันกะพวกเมืองโล้น ราวเวลาเดียวกันนั้น เจ้าฟ้าเมืองยางห้วยก็ก่อการขบถด้วยจึงถูกหาองค์ลงไปกรุงอังวะ แลเลยพิราไลยลงที่นั่น ทั้งราชบุตร์มี ๒ องค์ ก็สิ้นชีพเสียหมด องค์หนึ่งที่เมืองปยังอู (ปยินอุลวิน) แลอีกองค์หนึ่งที่กรุงอังวะ
เจ้าสวยเมืองก็เข้าพวกขบถ แลเดีนพลมาเมืองพังเขาใกล้ทเลสาบสองตะมานเพื่อจะช่วยอุดหนุน เสกกยามินทราดูเหมือนจะยังใม่ได้เข้ามารบด้วยฤๅกระไรจึงเปนแต่เพียงถูกถอด
ใน พ.ศ. ๒๓๘๑ พระมหากษัตริย์พม่าทรงตั้งเจ้าขุนคำแล่ง อันเปนบุตร์ของมเหษีนางญี่ เปนเจ้าฟ้าแสนหวี มีพระสมัญญาว่าเจ้าเสือขวัญฟ้า ในรัชกาลเจ้าฟ้าองค์นี้ พวกยางสอก (กะเหรี่ยงยางแดง) เปนขบถต่อกรุงอังวะ จึงเจ้าฟ้าแสนหวีกับกองทัพไทยใหญ่หัวเมืองอื่นๆ ต้องยกไปปราบปรามตามราชโองการพระเจ้าพม่า ครั้นกลับลงไปเฝ้าณกรุงอังวะ เลยต้องถูกรับพระราชอาญาประหารชีวิตด้วยมีโทษบางอย่างเมื่อดำรงยศเปนเจ้าฟ้ามาได้ ๗ ปี
ใน พ.ศ. ๒๓๘๙ เจ้าขุนแสงหน่อฟ้า ราชบุตรเจ้าหน่อฟ้าหลวงแลเปนราชนัดาเจ้าขุนส่วยฉิ่งได้รับตั้งเปนเจ้าฟ้า ทรงนามะศักดิ์เปนเจ้าเสือสามฟ้า สิตตะปาละสุธรรมะราชา แต่พอมาถึงนครก็ต้องตั้งปราบขบถ ที่ตุ้ยตอคำมวนเปนหัวหน้าเข้าพวกกับแหงแลท้าวเมืองเมืองโกกางต่อนิ้ว เมืองกุนหลวง เมืองกางโม่ง เมืองก้อน แลเมืองก้อนกางโรมตีเอาเจ้าฟ้าล่าถอยมาเมืองนาน้อยกะลิง แล้วถอยมาเมืองสายเขา เมืองยีนแลเมืองตัด จึงรวบรวมพลได้พอยกทวนไปบำราปพวกขบถพ่ายไปเมืองตี่แลเมืองตึง จับได้ตัวตุ้ยตอคำมวนฆ่าเสีย แล้วเดีนทัพตรงไปเมืองหนอง ใน พ.ศ. ๒๓๙๒ เจ้าเสือสามฟ้าปราบปรามเจ้าฟ้าเมืองน้อยน้อยทั้งปวงอ่อนน้อมอย่างราบคาบ แต่ทิวงคตเสียในปีแรกที่พอบ้านเมืองสงบราบคาบลงนั่นเอง (พงศาวดารแสนหวีข้างไต้ว่าเจ้าขุนสามฟ้าต้องพิฆาฎในกรุงอังวะ)
หวุ่นปอลานันทาได้ว่าราชการเมืองแสนหวี แต่ถึงแก่กรรมเสียในปีเดียว หวุ่นมองกยุตได้ว่าราชการแทนที่ ในเวลานี้พระเจ้าเมนดงมินทร์ชิงราชสมบัติจากพระเชษฐาธิราชภุกามมินทร์ ณโอกาศนี้ทรงตั้งขุนแสงเมืองโพให้ขึ้นไปว่าราชการเมืองแสนหวี ขุนแสงเมืองโพจับตัวมองกยุตจำส่งลงมายังกรุงอังวะ ต้องรับราชอาญาประหารชีวิต จึงทรงตั้งเจ้าหลวงเสือสามฟ้าเปนเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี ใน พ.ศ.๒๓๙๖ หัวเมืองต่างๆในแว่นแคว้นแสนหวีทั้งสิ้นเกีดจลาจลป่วนไปหมด ถึงเจ้าหลวงเสือสามฟ้าต้องพิฆาฎ ทั้งพ่อเมืองสูงต้นคำแลราชบุตร์ของเจ้าฟ้าเองด้วย เมื่อเช่นนี้แหงเมืองหนองแลหอสูงเมืองต้น ก็พากันไปเมืองหน่ายก่อนแล้วลงไปกรุงอังวะ ขอแยกเมืองที่ตนปกครองแลหัวเมืองอื่นๆออกจากอาณาจักร์มณฑลแสนหวี ก็ได้พระราชานุญาตใน พ.ศ. ๒๓๙๗ แลในปีต่อนั้นไปเจ้าฟ้าขุนเสือสามฟ้าก็ต้องหาองค์มากรุงอังวะ เวลาเจ้าฟ้าไปต้องคดีอยู่ในกรุงอังวะนั้น สิตแกเมงฆ้องราชาว่าราชการเมืองแสนหวีแทน แต่ก็ใม่สามารถจะปราบปรามจลาจลให้ราบคาบลงได้ จึ่งต้องลงมาจากแสนหวีใน ๘ เดือน สิตแกอีกตนหนึ่งนามเฉ่งกะตอขึ้นไปแทน สิตแกคนนี้ได้กำลังทหารจากหัวเมืองไทยใหญ่ข้างไต้ขึ้นมาเกื้อหนุน แต่ก็อยู่จัดราชการได้ปีเดียวต้องเรียกกลับใน พ.ศ. ๒๓๙๙ ขุนแสงเมืองโพต้องกลับขึ้นไปว่าราชการอิก ครั้งนี้ได้ทรงยศเปนเจ้าขุนหลวงเสือกอฟ้าแต่การวุ่นวายก็ยังจลาจลอยู่เรื่อยมา พ่อเมืองเมืองสิงค์ยกมาตีเมืองหนองแลเมืองเกสีเข้าตั้งครอบครองตามพลังการ ท้าวเมืองหัวเมืองเหล่านี้ก็พากันไปเมืองหน่ายแลกรุงอังวะ ได้พระราชทานราชานุญาตให้เปนประเทศราชจากอาณาจักร์แสนหวีประกาศราชโองการออกใน พ.ศ. ๒๔๐๑
ในปีนั้นเจ้าหลวงเสือกอฟ้า (เมืองโพ) กลับลงมากรุงอังวะ เมื่อลามาพักอยู่ณเมืองสุบผังพวง ๓ ปีแล้ว จึงปัดญีหวุ่นขึ้นไปว่าราชการแทนแต่ถึงแก่กรรมเสียในปีเดียว เมื่อฉนั้นสิตแกแสงกะตอก็ต้องกลับขึ้นไปอีก แต่ไปตั้งอยู่ณเมืองลาเฉียว กระนั้นใม่ช้าก็ต้องกลับลงมากรุงอังวะ ปะคันหวุ่นแมงญีขึ้นไปว่าราชการแทนแต่แมงญีนี้ก็ถึงแก่มรณาสัญเสียที่บ้านแสงก่อนขึ้นไปถึงเมืองแสนหวี ใน พ.ศ. ๒๔๐๗ เจ้าหลวงเสือกอฟ้าได้กลับขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งเล่า แต่ก็ต้องเรียกกลับลงมาอีกภายในปีเดียว คราวนี้ชเวปญีขึ้นไปแทน ตั้งที่ว่าราชการอยู่ณเมืองลาเฉียว ใน พ.ศ. ๒๔๐๙ แต่เมียงคูนมินทราเปนขบถในกรุงมัณฑเล ชเวปญีโบ่แลงะยะโบ่ช่วยอุดหนุน เมื่อจบการขบถแล้วก็ถูกหาตัวลงไปกรุงอังวะ แต่ชิงฆ่าตัวตายเสียที่เมืองลาเฉียวทั้ง ๒ คน
ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าฟ้าเสือสามฟ้าที่ถูกกักไว้ในกรุงอังวะ (พงศาวดารแสนหวีเรียกเมืองหลวงว่าอังวะหมดใม่ว่ากรุงไหน เช่นครานี้ก็กรุงมัณฑเลเปนมหานครแล้วก็เรียกกรุงอังวะ) ตลอดเวลายุ่งเหยีงเหล่านี้นั้น ก็ได้กลับคืนขึ้นไปว่าราชการเมืองแสนหวีใหม่ แต่ในปีต่อไป ท้าวแสงไหเปนขบถต่อเจ้าฟ้านั้นอีก แลเจ้าฟ้าก็ต้องเรียกกลับลงมากรุงอังวะอีก หวุ่นเดี๊ยกหลายคนได้ผลัดกันขึ้นไปว่าราชการ คนหนึ่งอยู่ในเมืองลาเฉียว แลอีกคนหนึ่งอยู่ในเวียงสุบผังพวง แลคนอื่นก็อยู่เมืองอื่นอีก แต่หวุ่นเดี๊ยกทั้งหลายนั้นก็ไม่สามารถจะบำราบท้าวแสงไหได้ แลใน พ.ศ. ๒๔๑๗ ตัวเมืองแสนหวีก็ถูกเพลิงเผาวินาศ ครั้งรุ่งศกขึ้นเจ้าขุนเสือสามฟ้ากับนอกวินดอฮมูขึ้นไปด้วยจะปราบปรามจลาจลให้สงบลงมิได้ มิหน้าซ้ำยังต้องล่าถอยลงมาเมืองสี ใน พ.ศ. ๒๔๒๒ ขุนแสงต้นโหงได้กำลังพวกกะจินเปนอันมาก ช่วยอุดหนุนยกมาตั้งตนอยู่ในเมืองแสนหวีใม่มีใครกล้าไปกระตุกอำนาจได้
เจ้าหน่อลือเมืองราชบุตร์ของเจ้าฟ้า เจ้าแสงหน่อฟ้าขุนหลวงเสือสามฟ้า ก็ต้องพระเจ้าธีบอมินทร์ลงพระราชอาญาจำไว้ในกรุงมัณฑเลจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๒๘ พึ่งได้เปนอิศระออกจากเรือนจำด้วยทหารอังกฤษได้กรุงมัณฑเลแล้ว ช่วยปล่อยแลกลับขึ้นไปบ้านแสง ตั้งส้องสุมผู้คนพอได้กำลังเพียงพอแล้ว ก็เดินทัพขึ้นไปข้างเหนือ เพื่อจะราวีขุนแสงต้นโหง แต่ก็อปราไชยที่เมืองลาเฉียวต้องล่าถอยมาเมืองนานาง ขุนแสงต้นโหงก็รุกตามมาโจมตีเจ้าหน่อลือเมืองในรุ่งปีขึ้น แลชิงไชยไปตลอดทั่วแคว้นก้อนกางทั้งปวง (คือหัวเมืองแสนหวีข้างไต้ในปัตยุบันนี้) จึงเจ้าหน่อลือเมืองต้องหนีไปสู่เมืองหน่าย (โมเน) แลตั้งมั่นอยู่ในปีต่อนั้นไป เปนเจ้าฟ้าแสนหวีข้างไต้ณเมืองใย ฝ่ายขุนแสงต้นโหงก็ได้รับหัวเมืองเบื้องอุดระภาคกึ่งหนึ่งเปนเจ้าฟ้าครอบครอง ตั้งเมืองหลวงอยู่ณเวียงแสนหวี