ตอนที่ ๓ พงศาวดารไทยเมาฤๅไทยหลวง

มิสเตอร์เนอีเลียส เมื่อแต่งพงศาวดารไทยใหญ่นั้น เริ่มต้นพรรณนาถึงบ้านเมืองต่างๆ ซึ่งบัดนี้ปรากฎว่าเปนหัวเมืองไทยใหญ่โดยลเอียดลออด้วยเนอีเลียสได้เปรียบที่ได้ไปในบ้านเมืองข้างเหนือ คือ ไทยหลวงฤๅไทยใหญ่ ก่อนหัวเมืองไทยใหญ่เกีดกลียุคยุ่งรบร้าฆ่าฟันกันเอง ในยุคตกเปนหัวเมืองขึ้นของพม่าชั้นหลังๆ ซึ่งทำลายจดหมายเหตุแลพงศาวดารบรรดาเปนหนังสือดีๆ มีค่า อันมีสั่งสมไว้ในหัวเมืองไทยใหญ่ของอังกฤษนั้นๆ เสียแทบหมดทั้งสิ้นแล้ว เนอีเลียสมีโอกาศได้เทียบเคียงพงศาวดารไทยใหญ่ที่ได้รวบรวมได้มา กับหนังสือที่ฝรั่งได้แต่งไว้ชั้นเก่าๆ บรรดาที่เนอีเลียสจะได้พบเหน เช่นของเมเยอบอยเลียวเปมเบอต็อน ว่าด้วยราชอาณาจักร์โป่งฤๅพง ที่ได้ความมาจากพงศาวดารไทยใหญ่อันไปตกอยู่ในเมืองกะแซ (คือมณีปุระ) ทั้งสอบกับจดหมายเหตุของริชาร์ดสัน โคโลเนลแฮนเน หมอแอนเดอร์สัน กับจดหมายเหตุ แลระยะทางอื่นๆ เบ็ดเตล็ดสุดแต่จะมาปะตาเนอีเลียสเข้า

แต่เปนเคราะห์ร้าย ที่เนื้อเรื่องภาษาไทยใหญ่แลภาษาพม่าของมิสเตอร์เนอีเลียสเหล่านั้น เจ้าแขกฮินดูชื่อมูนชีอันเปนคนอ่านได้ดีทีเดียวเก็บความป้อนให้เนอีเลียส แต่ความสามารถของแขกคนนั้น ที่จะจับชื่อไทยใหญ่ แลจะเก็บใจความเรียบเรียงลงเปนหนังสืออิกขั้นหนึ่งนั้นเลือนไป ใม่เหมือนกับชื่อแลใจความเมื่ออ่านเสียโดยมาก ใม่ปรากฎว่าเนอีเลียสได้ต้นฉบับมาไว้ตรวจตราเองเลย แต่ถึงจะอย่างไรๆ เนื้อความที่เนอีเลียสเอามาพรรณนาในพงศาวดารไทยใหญ่ของเนอีเลียสนั้น ล้วนคัดเอามาจากหนังสือที่แขกมูนชีเขียนป้อนให้ทั้งนั้น เนอีเลียสพรรณนาอาการที่รจนานั้นดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าได้จ้างแขกมูนชีไว้สำหรับให้อ่านแลแปลพงศาวดารไทยชาน เก็บใจความให้ข้าพเจ้าฟังเปนภาษาอังกฤษ ตัดส่วนเลอะเทอะเหลวไหลที่ฟังใม่ได้ออกเสีย แลตรงไหนที่พูดสั้นก็ให้อธิบายอย่างธรรมเนียมอันปรากฎที่อื่นๆ ซึ่งเขารู้ให้ข้าพเจ้าทราบโดยปฤกษาหาฤๅพระสงฆ์ไทยชานที่อยู่ในกรุงมัณฑเล แลผู้อื่นๆที่เปนผู้รู้เรื่องไทยชาน ในทางนี้ใช่แต่ชั่วพงศาวดารชานหลายฉบับ เอามาสรูปความเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังซ้ำตรวจพงศาวดารไทยชานที่แปลมาเปนภาษาพม่าก็หลายฉบับ เพื่อจะได้ตรวจตราสอบสวนให้ทราบถ่องแท้ว่าเท็จจริงเพียงใด แลยังฉบับที่พวกพม่าแลพวกอาซัมเขียนเรื่องไทยชานขึ้นไว้ ข้าพเจ้าก็ใช้มาช่วยสำรวจด้วยอิกหลายตำหรับ เพื่อจะค้นให้ได้ศุภมาศอันสงไสยได้แน่นอน ฤๅข้อความในพงศาวดารยังคลอนแคลนน่าสงไสยตรงไหนก็จะได้กระจ่าง เหตุฉนี้พงศาวดารไทยชานที่ข้าพเจ้าเขียนจึ่งใม่ใช่คำแปลจากหนังสือฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่เปนพงศาวดารไทยชานย่อสรุปความตามฉบับต่างๆ สุดแต่จะเอาเรื่องราวที่น่าเชื่อว่าจะเปนจริง ฤๅอาจจะเปนจริงได้นั้นมารจนาขึ้น”

เปนการกลับน่าเสียดายมากที่มิสเตอร์เนอีเลียส มิได้แปลพงศาวดารฤๅตำนานเหล่านั้นแยกไว้เปนฉบับๆ สำหรับนักโบราณคดีต่างๆภายหลังจะได้เห็นข้อความที่มาจากทางแพรกต่างๆ แล้วพิจารณ์ได้เองนอกจากเชื่อแต่ความพิจารณ์ของเนอีเลียสเรียบเรียงไว้แต่ผู้เดียว แต่ถึงจะอย่างไร ก็ทราบแน่ได้ว่า นามต่างๆนั้นผิดจากเสียงฤๅคำของไทยใหญ่มาเสียมาก ด้วยช่วยกันทิ่มให้พลาดหลายชั้น ไหนจะพม่าผู้แปล ไหนจะเจ้าแขกมูนชีช่วยซ้ำด้วยอิกเล่า เพราะฉนั้นที่คัดมาลงไว้ต่อไปนี้ จึงได้แก้ชื่อให้คงถูกต้องเปนเสียงแลเปนคำไทยใหญ่สุดแต่จะสืบทราบได้ ที่หมดทางแลหมดปัญญาก็คงไว้อย่างเดิมของเนอีเลียส ในคำที่เนอีเลียสเรียกว่า “เรื่องราวมุงมอ” นั้นคือ เมืองเมาหลวง เนอีเลียสเชื่อได้พุ่งชี้เมืองชานจีนที่คงมีอยู่บัดนั้นเมืองหนึ่ง ว่าเปนกรุงโกสัมพีแลราชอาณาจักร์โป่งฤๅพงคือเมืองเมา ตามที่เราแลเห็นมาแล้ว การข้อนี้ก็ดูเหมือนจะปรากฎชัดยิ่งกว่าน่าแคลงขึ้นไปมาก

มาตระว่าฐานเมาเล่าถึงแรกมาอุบัติเปนชาติ อย่างพิลึกกึกกือเกินเชื่อ ถึงอ้างว่าขุนลูแลขุนไลปฐมกษัตริย์ของไทยใหญ่เสด็จปาฏิหาร (เมื่อว่าตามตำหรับพม่า) ลงมาจากฟ้าทั้งเปนๆดังจะได้เห็นต่อไปข้างหน้าฉนั้น กระนั้นชาติไทยใหญ่ก็ยังเปนมนุษยชาติที่ยกมาแต่เบื้องดึกดำบรรพ์ของพงศาวดารพม่า แลเปนบรรพะบุรุษสืบพืชพรรณชาติไทยใหญ่ซึ่งอยู่สืบมาจนกาลบัดนี้จริง แต่การข้อที่ว่าลงมาจากฟ้านี้ ก็น่าจะใม่ใช่มูลดำริห์พงศาวดารของชาติไทยใหญ่เอง แต่จะเปนความคิดของใครคนหนึ่ง ซึ่งเอาอย่างพวกปลวกกัดพระพุทธศาสนา เสรีมเรื่องราวให้พิลึกพิลั่นสะใจคน โดยใม่ได้คาดว่าคนชั้นหลังจะรู้ศึกเท่าเรารู้ศึกกันอยู่บัดนี้เท่านั้น

เรื่องต่อไปนี้ คัดมาจากพงศารดารพม่าชั้นดึกดำบรรพ์ ชื่อยาซะเวงคญีอันเปนคัมภีร์โบราณกล่าวครั้งกรุงตะโก้ง คือกรุงหัสตินาปุระ ไทยใหญ่เรียกทุ่งกุ้ง

ราว ๓๐๐ ปี ก่อนสมเด็จพระโคดมบรมพุทธเจ้าประสูติ ฤๅ ๑๔๑๑ ปี ก่อนขุนลูแลขุนไลลงมาจากสวรรค์นั้น มีสากยะกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระเจ้าอภิราชา ยกจากกรุงกปิลวัศดุทางเมืองยะข่ายมาถึง แลประดิษฐานกรุงภุกาม (บางฉบับเรียกว่ากรุงชินทเว บางฉบับเรียกกรุงตะโก้ง นามเมืองตามสิลาจารึกดึกดำบรรพ์เรียกกรุงหัศตินะปุระ) ณฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำอิระวดี พระองค์มีราชโอรสสองพระองค์ ทรงพระนามตามพม่า เรียกว่ากันญีแลกันแง เมื่อพระเจ้าอภิราชาทิวงคตแล้ว เชษฐโอรสก็ปะลาตไปเมืองยะข่ายได้เปนพระราชาในเมืองนั้น ฝ่ายกันแงได้ผ่านราชสมบัติในกรุงภุกามสนององค์พระชนก แลสืบเชื้อราชสันตติวงศ์ต่อมาอิก ๓๑ พระองค์ ปรากฎพระนามเรียงลำดับไว้ในมหาราชวงศ์พงศาวดารพม่าทุกพระองค์ แต่หามีศุภะมาศเมื่อทรงราชย์ฤๅทิวงคตอย่างใดใม่ กษัตริย์วงศ์อภิราชาพระองค์ท้ายฤๅพระองค์ที่ ๓๑ นั้นทรงพระนามเพียนะกะ (พงศาวดารไทยใหญ่โอ่งพ่วงเมืองธีบอฤๅสีปอ เรียกแพ่งนะกะ มหาราชวงศ์พม่าฉบับหลวงคือฮะมันนันเรียกภินนะกะ) ทรงราชย์อยู่ราวคราวเดียวกะกำลังพุทธกาล มาจนพระบรมโลกะนารถเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในแผ่นดินพระเจ้าเพียนะกะนั้น มีกองทัพจีนฤๅตะโยกฤๅตะโรก (รู้เปนแน่ดังได้วินิจฉัยไว้แล้วว่ากองทัพนี้เปนทัพไทยใหญ่หาใช่จีนใม่) ยกมาชิงไชยตีได้พระนครภุกามแลทำลายเสีย พระเจ้าเพียนะกะต้องเสด็จหนีไปอาไศรยอยู่ณตำบลมะเล อันตั้งอยู่ณฝั่งขวาแห่งแม่น้ำอิระวะดี เกือบจะตรงกันข้ามกับเมืองสัมเปนะโค (คือจัมปานคร เมืองเก่าของขอมเจ้าของชาติภูมิเดิมดึกดำบรรพ) อันยังมีทรากร้างปรากฎอยู่จนปัตยุบันนี้ มิช้าก็สุรคต ไพร่พลของพระองค์แตกกันออกเปนสามเหล่า เหล่าหนึ่งอยู่กับพระมเหษีของพระเจ้าเพียนะกะทรงนามแม่นางนาคะเฉงฤๅนาคะฉินณตำบลมะเล เหล่าที่สองตะเพิ่นลงไปข้างไต้เลยถูกพวกปยู อันเปนมนุษย์จำพวกหนึ่งตั้งอยู่ในหัวเมืองพม่าแท้ (นามนี้เปนมูละศรัพท์จีนว่าเปียว) นั้น กลืนเข้าเปนพวกตนเสียหมดสิ้น ฝ่ายเหล่าที่สามเพรีดไปทางเมืองตวันออกเลยกลายเปนพวกไทยใหญ่ (คือที่ฝรั่งแลพม่าเรียกชาน) อันเปนมูลโคตร์ของไทยใหญ่ทั้ง ๑๙ หัวเมืองเจ้าฟ้าในด้าวแดนไทยใหญ่นั้น

ด้าวแดนไทยใหญ่ ๑๙ เจ้าฟ้าฤๅ ๑๙ หัวเมืองเจ้าฟ้านั้น ก็ใม่ได้บอกชื่อไว้แลจำนวน ๑๙ นั้นก็น่าจะนึกๆขึ้นจดลงไปลอยๆแต่สมควรจะต้องใสใจไว้ว่า มีมนุษย์พวกหนึ่งเรียกโพนยังตั้งภูมิลำเนามีอยู่ในดินแดนแม่น้ำอิระวะดีตอนบนจริง เปนมนุษย์ที่แปลกชาติกับไทยใหญ่หากินเชีงคชกรรม ทำให้เรามาหวนนึกว่าน่าจะเปนชาวกรุงภุกามฤๅตะโก้งที่ว่ายกขึ้นไปณยุคนี้ ดังพงศาวดารดึกดำบรรพ์กล่าวเมื่อครั้งเสียกรุงภุกามฤๅตะโก้งครั้งแรก คนพวกนี้เอื้อมว่าพวกตัวเปนบุตร์หลานกรมช้าง ที่จีน (คือไทยนั่นเอง) ผู้ยกมาชิงไชย จับเอาตัวขึ้นไปใช้ให้จับช้างในบ้านเมืองหลังกรุงจีนมาใช้เปนพาหนะ คนพวกนี้หลบหนีร่อนเร่มาข้างตวันตกสู่ที่ๆตั้งภูมิลำเนาอยู่บัดนี้ (เมืองกยอกดวิน) เวิ้งแม่น้ำอิระวะดีตอนบน เลยตั้งถิ่นฐานสืบสกูลมาจนกาละทุกวันนี้ จึ่งยังหากินทางคชกรรมคล้องช้างขายอยู่ตามบรรพบุรุษดั้งเดิมเคยทำๆกันมา

ครั้นกองทัพจีน (ใม่ใช่จีนเปนไทย) ถอยไปจากกรุงภุกามแล้ว ยังมีขัติยบพิตร์กรุงกปิลวัศดุอีกพระองค์หนึ่ง ทรงนามธัชะราชา ยกมาจากประเทศอินเดีย อภิเษกด้วยแม่นางนาคะเฉงมเหษีหม้าย แลกลับสถาปนาพระมหานครขึ้นใหม่ทันที ถัดกำแพงพระมหานครเดิมขึ้นในข้างเหนือ นครนี้คือกรุงตะโก้ง (บางฉบับเรียกภุกามเก่าไขว้กันกะกรุงตะโก้ง) ไทยใหญ่เรียกว่ากรุงทุ่งกุ้ง แลศุภมาศสถาปนาพระนครที่ข้างพม่าว่านั้น คือ พ.ศ. ๒๐ ข้างไทยใหญ่ว่า พ.ศ. ๒๔ ตั้งแต่นี้ไป ใม่มีศุภมาศปรากฎ แลใม่มีรายนามอายะติกราชสันตติวงศ์ปรากฎในจดหมายเหตุที่อาจจะเอาเปนที่เชื่อฟังแน่นอนได้ เปนแต่ปรากฎว่า เชื้อวงศ์พระเจ้าธัชะราชาครอบครองกรุงตะโก้ง (ฤๅภุกามเก่า) มา ตราบเท่าขุนลูยกมาชิงไชยถอดเสียจากราชิศริยยศ แลตั้งโอรสของขุนลูเอง ทรงนามอ้ายขุนลุงขึ้นผ่านราชสมบัติกรุงตะโก้ง (ฤๅภุกาม) กล่าวศุภมาศไว้เลือนๆราวก่อนไปชั่วอายุคนหนึ่ง ใน พ.ศ.๑๑๑๑ ถ้าเหตุนี้ได้มีจริงเช่นว่าไว้

อนุมานตามประกอบเหตุผล น่าจะเห็นว่า เรื่องราวทั้งปวงนี้ ตอนเอาไปจากยาซะเวงคญีพม่า ลงเปนพงศาวดารไทยใหญ่ (ฤๅชาน) แต่ความมุ่งหมายของเราบัดนี้ เพื่อจะทราบพงศาวดารของไทยใหญ่เมาหลวงยิ่งกว่ากรุงตะโก้งเพราะฉนั้นจึ่งขอยุติที่จะกล่าวถึงพงศาวดารดึกดำบรรพ์ของกรุงตะโก้ง ซึ่งพงศาวดารไทยใหญ่ใม่ว่าฉบับไหนเปนกล่าวไว้เหมือนๆ กันแทบทุกฉบับเปนแต่ความแผกเพี้ยนแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยนั้นไว้เพียงเท่านี้ที แลเริ่มจับเรื่องพงศาวดารไทยใหญ่เมืองเมาหลวงต่อไปทีเดียว

ลุพุทธศาสนะกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๑๑๑๑ ปี โอรสของพระเทวราชเจ้าสรวงสวรรค์ ๒ พระองค์ ทรงนามขุนลูแลขุนไล เสด็จลงมาจากฟ้า โดยสพานทองคำสู่มงคลภูมิณเวิ้งแม่น้ำเมา (พม่าเรียกชเวลี) มีสองอรรคมหาอมาตย์ตามเสด็จลงมาด้วย นามขุนตุน (ต้นศรัพท์ตวันฤๅมิใช่) แลขุนพุน (เพ็ญฤๅมิใช่) ตนหนึ่งลงมาจากดวงอาทิตย์ แลอีกตนหนึ่งลงมาจากดวงจันทร์ ทั้งมีโหราจาริย์ผู้หนึ่งสืบสกูลวงศ์มาจากพระพฤหัศบดี แลยังมีผู้ทรงวิทยาคุณอื่นๆ โดยเสด็จลงมาด้วยอีกเป็นอันมาก เมื่อเสด็จบรรลุปัถพีดลมนุษยโลกแล้วทวยนิกระชนเปนอันมากก็พากันไปถวายตัวอัญเชิญเสด็จสองพระเทวะโอรสขึ้นผ่านถวัลยาธิปัตร์เปนที่พึ่งพำนักสืบไป ยังมีมฤตยูตนหนึ่งนามลองคุ (ชื่อนี้ทำนองเปนนามจีนลองคูฤๅเลาวู) ฤๅเจ้าติกาน เข้ามาขออาสาถวายตัวเปนข้าเทวะโอรสทั้งสอง อนึ่งก่อนที่สองเทวะโอรสจะเสด็จลงมาจากฟ้า พระเทวะราชทรงพระนามขุนตูงคำได้โปรดเทวะอำนวยไก่ตัว ๑ มีดเล่ม ๑ ให้แก่สองเทวะโอรส แลมีเทวะบรรชาว่าแต่พอเสด็จลงไปถึงปัถพีดลแล้ว ให้ฆ่าไก่ด้วยมีดพลีถวายเทวะบิดรพร้อมด้วยคำนมัศการในทันที เมื่อเสร็จเทวะพิธีบวงสรวงแล้ว ให้เทวะโอรสทั้งสององค์เสวยศีร์ศะไก่เองก่อนแล้วจึงประทานตัวไก่นั้นให้อรรคมหาอมาตย์ แลราชบริพารรับพระราชทานทั่วกันโดยลำดับ แม้แต่กระนั้น เทวะโอรสทั้งสองก็ทอดมนะสิการละเลยเสีย โดยเข้าพระไทยผิดสถานใดๆ หาได้ทรงเชือดคอไก่ด้วยมีดบูชายัญถวายตัวดังเทวะโองการใม่ ไก่แลมีดทิพย์นั้นก็หายไป ภายหลังจึ่งตรัสให้เจ้าติกานกลับขึ้นไปสู่เทวะโลกจับไก่แลมีดนั้นลงมาถวายใหม่ เจ้าติกานก็ขึ้นไปสู่สวรรค์แลพาไก่กับมีดกลับลงมาถวายตามพระบรรชา กราบทูลว่าพระเทวะราชเจ้าขุนตูงคำทรงพระพิโรธเทวะกุมารทั้งสองพระองค์ ข้อที่ละเลยเทโววาทซึ่งโปรดประสาสน์พระพรมาทอดทิ้งของสำคัญเสียหาได้ถวายพลีแลนมัศการใม่ จึ่งถั่งเทวะบรรชามาว่าเมื่อได้ฆ่าไก่ถวายพลีแล้วให้เทวะกุมารทั้งสองเสวยแต่ตัวไก่บางส่วน แลประทานศีร์ศะไก่กับตัวไก่ที่ยังเหลือนอกนั้นให้แก่ราชบริพารทั้งปวงรับพระราชทาน เมื่อสองเทวะโอรสได้ทำตามเทวะโองการฉนั้นแล้ว เจ้าติกานก็ลอบรวบเอาศีร์ศะไก่กินเสียเองหมดผู้เดียว ครั้นแล้วเจ้าติกานจึงกราบทูลพระภาดาสององค์ ขอให้พระราชทานรางวัลแก่ตนบ้างบางอย่าง ตอบแทนความชอบที่ได้สนองพระประสงค์ ในการขึ้นไปเอาเครื่องบูชายัญจากสวรรค์ลงมาถวายใหม่ สองพระภาดาจึ่งได้ใปรดอำนวยเมืองมิถิลาให้เจ้าติกานไปตั้งครอบครอง (เปนชื่อเมืองแปลไถ่จากนามเมืองอันปรากฎในพระคัมภีร์พุทธศาสตร์ ถ้าจะว่าอันที่ถูกแล้ว ก็คือเฉภาะประเทศยูนนานเท่านั้น หาได้รวมกรุงจีนทั้งสิ้นด้วยใม่ เมืองวิเทหริต ฤๅวิเทหะก็เปนชื่อประเทศยูนนานไถ่จากนามในบาฬีมาเปนนามะยศอีกอย่างหนึ่ง เช่นมิถิลาฤๅที่พม่าเรียกเมียกติลาครั้งดึกดำบรรณ์นั้นเหมือนกัน) เดชะได้กินศีร์ศะไก่ทิพเลื่อนเครื่องพลีพระเทวะรราชเจ้านั้น บรรดารให้เจ้าติกานฤๅลองคุเปนมหากษัตรริย์เจ้าแผ่นดินจีน (คือฮุนหนำฤๅยูนนานนั่นเอง) อันทรงพระปรีชาสามารถแลมีบุญะเดชานุภาพมากที่สุด ฝ่ายสองพระภาดาเทวะโอรสอันเสด็จลงมาจากชั้นฟ้า ได้เสวยแต่ตัวไก่ จึ่งคงเชื่อมเขลางมอยู่แต่ในเมืองไทยใหญ่นั้นสืบมา

เมื่อลองคุมาถึงเมืองมิถิลาแล้ว ก็สถาปนามหานครนามเมืองแปฤๅกแย เมืองนี้คงเปนเมืองแสหลวงซึ่งเปนชื่อที่ไทยใหญ่รู้จักเมืองยูนนานเซน อันเปนที่สำนักของสมุหเทศาภิบาลมณฑลยูนกวย (คือมณฑลทั้งสองยูนนาน แลกวยเจาในปัตยุบันนี้) แลเริ่มครอบครองราชะธานีใน พ.ศ. ๑๑๑๑ ทรงราชย์มาได้ ๖๐ ศกก็พิราไลยใน พ.ศ. ๑๑๗๑ แลพระบุตร์นามเจ้าปูได้ทรงราชย์สนององค์ อยู่ในราชสมบัติได้ ๖๐ ศกเท่าพระชนกแลพระบุตรก็ได้ผ่านพิภพสืบวงศ์ต่อมา ใน พ.ศ. ๑๒๓๑ ทรงพระนามเจ้าสักกะ (จำนวน ๖๐ ปีดูเหมือนปรากฎบ่อยๆ ในพงศาวดารดึกดำบรรพ์ แทบจะว่าเปนจำนวนติดปากคนครั้งนั้นเท่ากะ ๓ แล ๗ ติดปากไทยสยามเราก็ว่าได้ แลน่าจะชักให้เห็นว่าคนครั้งนั้น เห็นเวลา ๖๐ ปีช้านานเสียมาก แลน่าจะเปนสาเหตุที่ตั้งวิธีมหาสัฏ์ฐีจักร์นับ ๖๐ ปีเป็นรอบก็จะเพราะเหตุนี้เอง) พระราชาองค์ท้ายนี้ก็สืบอายะติกราชสันตติวงศ์ ผ่านแผ่นดินมิถิลาต่อมา กล่าวไว้ว่าอิกถึง ๒๐๐ ปีจึงมีพระประยูระญาติ (ชาติเดียวกัน) นามเฟียโนงันเมียง (เปนการยากที่จะแปลนามนี้ว่ากระไรให้ถูกแท้ได้ นอกจากเดาว่าฟ้าเหนืองำเมือง) ได้ขึ้นผ่านมไหศวรรย์สืบพระวงศ์ต่อมาอิก ๑๕๐ ศกฤๅถึงปี พ.ศ. ๑๕๘๑ รัชกาลขุนอูติฟ้า (บางทีก็จะเปนต้นนามอูทิพะวา) ต่อกว่านี้มาพงศาวดารไทยใหญ่ ใม่ได้กล่าวถึงพระราชวงศ์ลองคุฤๅเจ้าติกานอีกต่อไป (ควรจะต้องสำเหนียกว่าเวลานี้ว่าอยาบๆ ก็ราวเปนยุครัชะสมัยพระเจ้าอโนรธามังฉ่อมหาราชพม่า บรมกษัตริย์มหาไชยกรุงภุกาม)

จำเดิมแต่สองเทวะโอรสลงมาจากสวรรค์สู่ธรณีแล้วมิทันนาน ขุนลูแลขุนไลสองพระภาดาก็เกิดวิวาทเรื่องชิงอำนาจกันเปนใหญ่ ขุนลูจึงดำริห์จะเลิกเอื้อมเอาราชอาณาจักร์ในเวิ้งแม่น้ำเมา (ชเวลี) นั้นเสีย แลจะไปสร้างพระนครใหม่ขึ้นอิกแห่งหนึ่งสำหรับพระองค์เอง จึ่งประดิษฐานเทวะรูปบรรพะเทวะราชทั้งสองพระองค์ องค์หนึ่งเปนบุรุษนามสูง แลอีกองค์หนึ่งเปนนารีนามเสงนั้นลงในหีบทูลพระเกล้าพาราชะบริพารยกไปทางเบื้องประจิมะทิศ ข้ามแม่น้ำอิระวดีไปที่ตำบลหนึ่งใกล้แม่น้ำอุยุ อันเปนแควน้อยของแม่น้ำชินดวิน จึงยั้งพลากรอยู่ที่นั่นแลทรงสถาปนามหานครนามเมืองโก่ง เมืองยวง (ที่นี้คงจะเปนราวจังหวัดเมืองสิงกลิงคำตี่ในปัตยุบันนี้) ลำดับนั้นพระองค์ก็โปรดให้พระราชโอรสฤๅพระญาติพระวงศ์ยกไปครอบครองเมืองใกล้เคียงในมหามณฑลนั้น ในเจ้าเหล่านี้ปรากฎดูเหมือนเปน ๗ องค์ แต่จะเปนพระโอรสฤๅใม่ๆแน่ แต่แม้จะอย่างไรก็ย่อมจะเปนข้อใม่สู้สำคัญนัก

ด้วยดูตามบาญชีต่อไปนี้ คงจะเห็นได้ว่าพงศาวดารตอนนี้ ยังใม่ค่อยกระโดดข้ามพ้นจากห้วงเปนนิทานได้ไหว (ข้อนี้อาจจะเทียบได้กับเรื่องราวในพงศาวดารแสนหวี ซึ่งจะได้ว่าไว้ต่อไปในตอนหน้า ข้อที่กล่าวถึงภาดา ๕ องค์ที่มาจากเมืองฮีเมืองฮามเวิ้งแม่โขง ซึ่งน่าจะเปนเมืองรีเมืองรามของมิสเตอร์เนอีเลียสนั่นเอง เพราะไทยใหญ่ออกเสียง ร เปน ฮ.)

สันตติวงศ์ขุนลูทั้ง ๗ องค์

๑ อ้ายขุนลุง…...เปนพระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองทุ่งกุ้งฤๅตะโก้ง

๒ ขุนฟ้า…...เปนพระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองยาง (โมนยิน) ส่งสร่วยม้าปีละมากๆถึง ๑๐ หลัก

๓ ขุนงู…...เปนพระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองลมุงไทย คือเมืองละโมงใกล้นครเชียงใหม่ ส่งสร่วยช้างปีละ ๓๐๐ เชือก

๔ ขุนกอตฟ้า…...เปนพระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองยวนหลวงฤๅเมืองยวง (อาจจะเปนเมืองยองที่คาเนียว่าก็ได้ คือเปนมหานครเก่าของมณฑลแกงเขงฤๅเชียงแข็งแถบแม่โขง ภาคเมืองนี้บางส่วน บัดนี้สมทบเข้ากับเชียงตุง) ส่งสร่วยทองคำประจำปี

๕. ขุนลา…...พระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองกะลาฤๅกาเลอันตั้งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำชินดวินเหนือเมืองมินคิน ส่งสร่วยน้ำตักจากห้วงแม่น้ำชินดวิน

๖ ขุนสา…...พระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองอังวะ (ครั้งนั้นอังวะเดี๋ยวนี้ยังใม่ได้สร้าง) แต่น่าจะหมายความว่าเมืองมีต ด้วยกล่าวว่า มีบ่อทับทิมอยู่ในนครขุนสานั้น ส่งสร่วยทับทิมหนักปีละ ๒๑๐ ชั่งพม่า

๗ ขุนสู…...พระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองยวงใกล้ฤๅอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอุยุขุนลูราชบิดาก็ทรงราชย์อยู่ด้วยในนครนี้ขุนสูทรงราชย์อยู่ ๒๕ ศก แต่ พ.ศ. ๑๑๕๑ ถึง ๑๑๗๖

เจ้าขุนแสนเสือ โอรส ทรงราชย์อยู่ ๑๙ ศก แต่ พ.ศ. ๑๑๗๖ ถึง ๑๑๙๕

เจ้าขุนกยอ โอรส ทรงราชย์อยู่ ๑๕ ศก แต่ พ.ศ.๑๑๙๕ ถึง ๑๒๑๐

เจ้าขุนกยุน โอรส ทรงราชย์อยู่ ๑๑ ศก แต่ พ.ศ. ๑๒๑๐ ถึง ๑๒๒๑

ในแผ่นดินเจ้าขุนกยุนองค์ท้ายนี้ โอรสของพระองค์นามเจ้าคำโป่งฟ้าไปประทับณเมืองรีเมืองราม แลภายหลังได้ครองราชสมบัติที่เมืองนั้นเปนพระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองเมา (เมืองฮามที่กล่าวนี้นั้นดูเหมือนจะยังเปนหัวเมืองหนึ่งในสิบสองพันนามณฑลเชียงรุ้ง (คือจีหลี)

ขุนลูแลเชื้อพระวงศ์ของพระองค์ผ่านพิภพในเมืองโก่งเมืองยวง ดังกล่าวแล้วมาได้ ๑๑๐ ปี แลในกาละนั้นฝ่ายขุนไลก็สร้างมหานครขึ้นอันหนึ่ง นามเมืองรีเมืองรามในตำบลใม่สู้ไกลจากฝั่งแม่น้ำเมา (คือชเวลี) ฟากซ้ายนัก แลอนุมานว่าน่าจะอยู่ข้างตวันออกเมืองเมาในปัตยุบันนี้ ห่างไปราว ๓๖๐ เส้น (ตรงนี้มิสเตอเนอีเลียสน่าจะพลาดไปถนัด ขอให้ดูพงศาวดารแสนหวีที่กล่าวไว้ในตอนหน้า) เสวยราชสมบัติอยู่ในนครนั้นมา ๗๐ ศก แลพระโอรสได้เถลีงราชย์สนององค์ทรงนามเจ้าขุนอ้ายแถบถัดฟ้า อยู่ในราชสมบัติ ๔๐ ปีก็สุรคตใน พ.ศ. ๑๒๒๑ ใม่มีโอรสจะสืบวงศ์ เสนามาตย์จึงได้อัญเชิญโอรสเจ้าขุนกยุนอันกล่าวมาแล้วข้างต้นขึ้นเปนเจ้าฟ้า เหตุฉนี้ราชวงศ์ขุนลู จึ่งได้เปนใหญ่ในอาณาจักร์เมาหลวงทั้งสิ้น รัชกาลของเจ้าฟ้าองค์นี้ยาวเท่าไรใม่ปรากฎ แต่โอรสได้ทรงราชย์สืบสนององค์ต่อไป ในรัชกาลนี้มหานครเมืองรีเมืองรามเสื่อมอานุภาพลง กลายเปนเมืองชั้นที่สองของจังหวัดมะเก่า (คือเมืองเก่า) เมืองหลวง ซึ่งตั้งอยู่ข้างฝั่งขวาของแม่น้ำ แลเชื่อกันว่าห่างจากมหานครไปราว ๒๘๐ เส้น เจ้าฟ้าองค์นี้เมื่อสุรคตแล้วพระอนุชานามเจ้าคำสืบฟ้าได้ทรงราชย์สนองพระองค์สืบไปใน พ.ศ. ๑๒๔๖ แลยกพระราชสำนักไปตั้งณมะเก่า (เมืองเก่า) เมืองหลวง (คือเมืองหลวงเก่านั่นเอง) เมื่อเช่นนี้ก็เปนอันทิ้งเมืองรีแลเมืองราม (ตรงนี้เนอีเลียสมีหมายเหตุจดไว้ว่า “ขอให้ดูหนังสือที่แฮนเนแต่งไว้ ว่าไกเขามอลวงแปลว่าเมืองใหญ่แลงดงาม” (น่าจะเปนใกล้เขาเมืองหลวง ไทยใหญ่ออกคำอักษรประโยค ร. แล ล. ใม่เปน) นั้นว่าเปนมหานครของราชอาณาจักร์โป่งณเวิ้งแม่น้ำเมา (ชเวลี) คำว่ามอนั้นแปลว่ากระไรก็ใม่ทราบ แต่น่าจะเปนเมืองหลวงนั่นเอง ไกเขาก็น่าจะว่าใกล้เขา ต่อไปแฮนเนยังกล่าวว่า เมืองเขาหลวงนั้นเปนนามเก่าของเมืองก้อง (คือโมคองฤๅเมืองคัง) ในปัตยุบันนี้นั่นเอง ฝรั่งเขียนผิดไปเพราะใม่เข้าใจภาษาไทยใหญ่แลเปนเบื้องต้น มะเก่ามะลวง ไทยเราพอแลเห็นก็ต้องแปลว่าเมืองเก่า เมืองหลวง โดยใม่มีข้อสงไสย แต่กะฝรั่งความเข้าใจไปคนละท่า แต่ถึงอย่างไรดูออกจะใม่ฉลาดที่จะตัดสินชี้ขาดเอาเอง เปนแต่น่าจะเชื่อว่า “เมืองเก่านั้น” อาจเปนเมืองแสนแสมานแสฤๅบ้านแสตามพงศาวดารแสนหวี ฤๅอาจจะเปนเมืองตะลีฟูมหานครของมณฑลน่านเจ้าก็เปนได้ทั้งนั้น

ในเวลาต่อมาอิก ๓๓๒ ปี องค์เจ้าคำสืบฟ้าแลพระสันตติวงศ์ของเจ้าคำสืบฟ้าก็ดูเหมือนจะได้ครอบครองราชสมบัติสืบเนื่องต่อกันไป แต่คงจะใม่มีเหตุอันใดสมควรจารึกลงเปนพระราชพงศาวดารตลอดเวลายุคนี้ แต่ถึงกระนั้นการสืบสันตติวงศ์ก็มาขาดลง เมื่อเจ้าแลบฟ้าทิวงคตใน พ.ศ. ๑๕๗๘ จึ่งมีบุรุษชาติไทยโป่งเมืองยวนหลวง (โยนกฤๅมิใช่) ผู้หนึ่ง ได้ขึ้นครองราชสมบัติในศกนั้น นามขุนกอตฟ้า แลมีเครื่องหมายในการเปลี่ยนพระวงศ์ ด้วยการเปลี่ยนมหานครไปตั้งใหม่ในรัชกาลใหม่นั้นด้วย นามเชียลา (คือเมืองแสล้านในปัตยุบันนี้นั้นเอง) ณฝั่งซ้ายแม่น้ำเมา (ชเวลี) เกือบจะตรง “มะเก่าโมงโหลง_คือ” เมืองเก่าเมืองหลวง อนึ่งกล่าวกันว่าขุนกอตฟ้าองค์นี้ได้ทรงตั้งเมืองพะโม (เรียกบ้านม่อ) ในราชอาณาเขตร์นี้ขึ้นด้วย

ณยุคนี้ อำนาจสำคัญในจังหวัดแว่นแคว้นทั้งปวงเหล่านี้ ก็ได้พอกพูลอยู่ที่พระราชาพม่ากรุงภุกามใหม่ ทรงนามพระเจ้าอโนรธามังฉ่อ แลในพงศาวดารเมืองเมา ได้หมายเหตุจดไว้ว่า โอรสขุนกอตฟ้าผู้ได้ทรงราชย์สนององค์พระบิดาได้อำนวยราชธิดาอภิเษกด้วยพระมหากษัตริย์กรุงภุกาม เมื่อเช่นนี้ก็เกือบจะเหมือนบอกว่า เจ้าฟ้าเงี้ยวคือไทยใหญ่เมืองเมายอมอ่อนน้อมยกมหาราชพม่าขึ้นเปนใหญ่เหนือไทยใหญ่ แต่ยังมีจดหมายเหตุไว้อิกว่า เจ้าฟ้าไทยใหญ่หาได้เสด็จลงไปสู่กรุงภุกามอย่างฉันท์หัวเมืองออกแท้ต้องทำฉนั้นใม่ แต่ถึงจะอย่างไรก็ดี การอ่อนน้อมถ่อมองค์อาจจะเปนได้ในเวลาพระเจ้าอโนรธามหาราชยังทรงพระเดชานุภาพยิ่งใหญ่ แลยังมีพระชนม์อยู่ สิ่งที่ทราบแน่นั้นก็คือเจ้าฟ้าไทยใหญ่ต่อมา ยังคงเปนเอกราชลำลองอยู่แท้ แลได้ผ่านพิภพโดยสงบเรียบร้อยสืบพระวงศ์มิได้ขาดสายเนื่องมาจน (ปาม) เยาโป่งทิวงคตใน พ.ศ. ๑๗๕๓ จึ่งได้เกีดเปลี่ยนวงศ์ครั้งที่ ๓ ด้วยสันตติวงศ์ขุนลูนั้นเกีดขึ้น ในองค์เจ้า (อ้ายโม้) คำเหน่งเปนเชื้อขุนสูเมืองโต่งเมืองยวง แลสำเหนียกว่า การช่วงชิงราชสมบัติใหม่ครั้งนี้เกีดขึ้น เวลาอนุชาของเยาโป่ง (เหย้าพงใช่ไหม) กำลังมีอำนาจเฟื่องฟุ้งอยู่ในหัวเมืองใกล้เคียง คือเมืองมีต ซึ่งพระอนุชานั้นพึ่งได้ตั้งขึ้นเปนมหานครแลครอบครองราชสมบัติเปนเอกราช

เจ้าคำเหน่งทรงราชย์อยู่ ๑๐ ศกมีราโชรส ๒ องค์ ทรงนามเจ้าขวัญฟ้า (คือที่เปมเบอต็อนเรียกสูนคำฟ้านั้น) แลเจ้าสามหลวงเคียมเมืองฤๅสามหลวงฟ้าอนุชานั้นเปนองค์อัจฉริยยุพะราชในพงศาวดารไทยเมาหลวง เจ้าขวัญฟ้าได้เถลีงถวัลยราชย์เมืองเมาเมื่อชนกนารถทิวงคตใน พ.ศ. ๑๗๖๓ แต่เจ้าสามหลวงฟ้า ได้เปนเจ้าฟ้าผ่านเมืองก้อง (คือโมคอง) ซึ่งพระองค์ได้ไปสร้างขึ้นเปนมหานครริมฝั่งน้ำก้อง แลได้ตั้งรากพระยศเจ้าฟ้าอย่างใหม่ยอมออกแต่ชั่วพระราชาฤๅเจ้าฟ้าเมืองเมา (คือพระชนกแลพระเชษฐาของพระองค์เท่านั้น) มาแต่ก่อนนั้น ๕ ปีมาแล้ว พระองค์ทรงฤทธาภินิหารมาก เหมือนจะอุบัติมาสำหรับเปนชายชาติทหารฤๅขุนพลแก้วของมหาจักร์พรรดิราชก็ว่าได้ แลได้กรีฑาทัพไปชิงไชยตามพระราชานุมัติของพระเชษฐาธิราช ฤๅบางทีพระองค์เปนจอมพลพยุหทวยหารขององค์เอง (นี่เปนพระยศที่พงศาวดารแสนหวีอำนวยถวาย) มหาสงครามเหล่านี้ครั้งแรกได้เริ่มไปชิงไชยกรุงมิถิลาตีได้เมืองตี่ (น่านเตียน) โมเมียน (เตียงยูช) แลวันชัง (ยุงชัง) แลแต่นั้นก็ราวีเรื่อยไปทางใต้ คือ กูงมา เมืองโม่ง เชียงรุ้ง (จีหลี) เชียงตุงแลหัวเมืองน้อยๆอื่นๆ ทุกเมืองย่อมพ่ายแพ้ยอมขึ้นต่ออาณาจักร์เมาหลวง เมืองแสนหวีก็ยอมอ่อนน้อมออกต่อพระมหากษัตริย์กรุงเมา เจ้าฟ้าแสนหวีสัญญาจะส่งเจ้าหญิงไปถวายเปนพระสนมเจ้าฟ้าเมืองเมาสุดแต่จะต้องพระราชประสงค์

เมื่อเจ้าสามหลวงฟ้ากรีฑาทัพหลวงกลับมาถึงเมืองเมา ก็ได้รับราชดำรัสให้ยกกองทัพใหญ่ไปชิงไชยทางปัจฉิมทิศาภาคอิกเปนครั้งที่ ๒ แลในครั้งนี้ได้กรีฑาทัพข้ามแม่น้ำชินดวินไปตีเมืองยะข่ายได้มากเมืองผลาญมหานครเสียพินาศ แลตั้งพระอนุชาให้เปนใหญ่ในเมืองนั้นๆอันอยู่ริมแลพ้นแม่น้ำชินดวินไป

มหาพยุหโยธินครั้งที่ ๓ นั้น ไปตีเมืองกะแซ (คือมณีปุระ) ก็มีไชย แลครั้งที่ ๔ ไปตีเมืองเวสาลีหลวงฤๅอาซัมตอนบน พระองค์ชิงไชยได้หัวเมืองใหญ่น้อยอันอยู่ในราชานุภาพพระเจ้าจุตยาฤๅสุตยาเปนอันมาก

เมื่อขายาตราทัพหลวงกลับมาจากชิงไชยนั้น ขุนขวัญฟ้าเชษฐาธิราชออกทรงพระฤศยา ฤๅครั่นคร้ามอานุภาพพระอนุชาธิราช จึงคิดจะพิฆาฎเสีย โดยราชประสงค์ฉนี้ จึงได้เสด็จจากมหานครเวิ้งแม่น้ำเมา (ชเวลี) ไปรับพระอนุชาณเมืองแปดคำเวิ้งแม่น้ำไตเผง (เนอีเลียสชี้เอาเมืองทงสาใกล้เมืองพะโมเก่า) ไพร่ฟ้าพากันปิติยินดีนิยมชมชื่นที่เจ้าสามหลวงฟ้ามีไชย ขุนขวัญฟ้าก็มีการสมโพชฉลองไชยสมพระโศมนัศ แต่ใม่ช้า ตามน้ำคำที่ควรเชื่อว่าเปนจริงได้ร่วมกันว่า ขุนขวัญฟ้าคิดกลอุบายวางยาพิษม์พิฆาฎพระอนุชามหาไชยเสียได้ แต่เนื้อความโดยมากกว่าวว่า พยายามใม่สำเร็จ แลเจ้าสามหลวงฟ้าหนีรอดไภยไปสู่กรุงจีน ฤๅเมืองไทยไกลเขตร์ได้

สมัยนี้น่าจะกล่าวได้ว่าเปนยุคที่อาณาจักร์เมาหลวงเผยออานุภาพแผ่ราชอาณาเขตร์ออกไปได้อย่างกว้างขวางที่สุดซึ่งใม่มีคราวไหนเสมอ แลว่ากันที่จริง ถ้าจริงตามพงศาวดารไทยใหญ่กล่าวหมดแล้ว อาณาจักร์ไทยใหญ่บัดนั้นก็เปนขอบขัณฑสีมาที่น่านับถือยำเกรงนักอยู่ ต่อไปนี้จะได้ลงบาญชีหัวเมืองต่างๆที่ออกต่อพระมหากษัตริย์เมาหลวงตามที่พงศาวดารไทยใหญ่กล่าวไว้ ในสมัยเมื่อเจ้าสามหลวงฟ้าได้ชิงไชยมาแล้วใหม่ๆ แต่ชั่วแต่ชายตาไปแลดู นามเมืองออกบางเมือง เช่นยะข่ายตลีฟู ฯลฯ ก็น่าจะร้องตะโกนบอกอยู่ในตัวเองแล้วว่าโก่งเกินจริงไปมากๆแม้อาจจะเปนได้จริง ที่ครั้งหนึ่งคราวหนึ่งส่วนใดส่วนหนึ่งของอาณาเขตร์ที่ออกนามไว้นั้น อาจจะตกมาอยู่ในอำนาจจอมพลเมาหลวงได้สมดังว่าคือ

(๑) มณฑลเมืองมีตรวม ๗ หัวเมืองคือ ๑ เมืองพะโม ๒ เมืองโมโล (นี้ดูเหมือนจะเปนแม่น้ำโมแลฤๅอาจจะเปนเมืองไลก็ได้) ๓ เมืองโลง (ฤๅเมืองหลวง) ๔ เมืององค์พวง ๕ เมืองสีปอ ฤๅธีบอ (เมืองเหล่านี้แห่งเดียวกันนั่นเอง) ๖ เมืองชุมสายสุงโก (คือสิงคุ) แล ๗ เมืองตะโก้ง หัสตินาปุระ

(๒) มณฑลเมืองก้อง (ฤๅโมคองคือเมืองคัง) รวม ๙๙ หัวเมือง ใน ๙๙ หัวเมืองเหล่านั้นมีเมืองสำคัญ คือ ๑ เมืองโลง (คือหลวงหมายอาซัม) ๒ เมืองกะแซ (มณีปุระ) ๓ หัวเมืองในยะข่าย ๔ เมืองยอ ๕ เมืองทเล ๖ เมืองสองสุต ๗ เมืองโก่งก็เรียก เมืองยวง ๘ เมืองกวน (ในเวิ้งฮุกวงฤๅหูกวาง) ๙ เมือง สิงกะลิงคำตี่ ๑๐ เมืองโล (คือคำตี่หลวง) ๑๑ เมืองยาง (โมนยิน) ๑๒ เมืองโมกโสโบ (ชเวโบ) ๑๓ เมืองกุนุงกุมุน (เมืองมิษมี) แล ๑๔ เมืองข่างแส (เมืองนาคะ) ฯลฯ

(๓) มณฑลเมืองแสนหวี รวม ๔๙ หัวเมือง

(๔) มณฑลเมืองหน่าย

(๕) มณฑลเมืองกูงมา

(๖) มณฑลเมืองเชียงแสน (พม่าเรียกแกงเสน) เวิ้งแม่น้ำโขง

(๗) มณฑลเมืองล้านช้าง (พม่าเรียกลินซิน) เมืองหลวงบางยุคก็อยู่ที่เวียงจันทน์ บางยุคก็อยู่ที่นครหลวงพระบาง (จีนเรียกแลนเชี้ยง)

(๘) มณฑลเมืองภุกาม

(๙) มณฑลเมืองยวน (คือโยนกลานนาไทยนครเชียงใหม่แลเมืองขึ้น)

(๑๐) มณฑลเมืองเชียงหลวง น่าจะเปนเมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนาฤๅพันนา (จีนเรียกจิหลี)

(๑๑) มณฑลเมืองแกงลอง (ฤๅเชียงหลวง) กล่าวว่าเปนเมืองข้างปลายแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือกรุงศรีอยุทธยาที่มีมหานครร้างอยู่มาก เห็นจะหมายกรุงศรีสัชนาลัยฤๅสุโขไทยราชธานี

(๑๒) มณฑลเมืองเลม

(๑๓) มณฑลเมืองไทยไล อาจจะเปนเมืองตลีฟูได้

(๑๔) มณฑลเมืองวันชัง (คือยุงชัง)

(๑๕) มณฑลเมืองมะลอง คือแคว้นเมืองทองเพ็งฤๅตองเป่งลอยหลวง

(๑๖) มณฑลเมืองสังโพ (เมืองกะจิน)

(๑๗) มณฑลเมืองกะเหรี่ยง

(๑๘) มณฑลเมืองละเวียก เห็นจะเปนกรุงกัมโพชา แต่มหานครก็ยังใม่ได้ตั้งณเมืองละแวก

(๑๙) มณฑลเมืองแลปยิต

(๒๐) มณฑลเมืองลมุ เปนการใม่ใช่ง่ายที่จะชี้ว่าอยู่ที่ไหน

(๒๑) มณฑลเมืองละเข่ง (ยะข่ายคงจะหมายความว่า ส่วนยะข่ายที่ใม่ได้อยู่ในอำนาจเมืองก้อง (โมคองคือเมืองคัง)

(๒๒) มณฑลเมืองลังสัน ใม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน

(๒๓) มณฑลเมืองอยุชฌิยา (กรุงสยามครั้งตั้งเปนกรุงเสนานครฤๅอโยชฌิยา รวมเมืองลโว้ ฤๅถึงมณฑลสุพรรณภูมิเมืองหลวงนครปฐมก็เปนได้)

(๒๔) มณฑลเมืองทเว (ทวาย)

(๒๕) มณฑลเมืองยุนสะเลง (มฤต)

(เมืองที่เจ้าสามหลวงฟ้าชิงไชยได้นี้ น่าจะรอเทียบดูกับบาญชีเรื่องนี้ยุคเดียวกันในพงศาวดารแสนหวีได้ แต่ยิ่งเอื้อมออกไปโดยมากกว่านี้ขึ้นไปเสียอิก ขอโทษเถิดอย่างไรก็ใม่ทราบ ถึงใม่มีหลักอะไรที่จะอ้าง แต่พออ่านอย่างไร ใจให้นึกแต่ว่าดูเหมือนคนเขียนพงศาวดารครั้งนั้นรู้จักนามเมืองอะไรบ้างก็จะทิ่มๆลงไปหมด เอาแต่ให้มากๆยิ่งมากเมืองยิ่งดี ถ้าผู้เขียนพงศาวดารไทยเมาอยู่จนบัดนี้แลยังคงความนิยมอยู่อย่างเก่า จะใม่ปลาดอะไรเลยที่จะได้เห็นนามเมืองลอนดอน ปารีส เบอลิน ชิกาโค โตกิโยเปนต้นลงไปด้วย แต่ใม่ต้องพบนามเมืองอิเก้ง เมืองแองกะรูลงไปด้วยนั้น ก็บอกให้เรารู้ได้ว่า ผู้เขียนมีความฉลาดอยู่บ้าง)

ในแผ่นดินเจ้าฟ้าอิกสององค์ ซึ่งสืบสันตติวงศ์สนองพระองค์เจ้าฃุนขวัญฟ้าต่อไปนั้น มหานครเมืองเมายังคงตั้งอยู่ณตำบลแสล้าน ฤๅณตำบลที่ตรงเมืองซึ่งฝรั่งเรียกว่า “มะก่อมุงลุง” คือเมืองเก่าเมืองหลวง แต่ใน พ.ศ. ๑๘๒๘ ขัติยวงศ์นั้นองค์หนึ่งทรงพระนามเจ้าแหวกฟ้าได้เปนกษัตริย์ ได้ย้ายไปตั้งมหานครใหม่เรียกนามตามภูมิประเทศว่านครเมืองเมา ตั้งอยู่ตรงเมืองเมาในปัตยุบันนี้นั่นเอง มหานครนี้เปนเมืองท้ายของกษัตริย์ไทยเมาที่พอใจเปลี่ยนมาหลายครั้งซึ่งจารึกเปนจดหมายเหตุลงไว้

เจ้าขุนแหวกฟ้าทรงราชย์มาได้ ๓๐ ศกก็ทิวงคตใน พ.ศ. ๑๘๕๘ แลต่อนั้นมาราชสมบัติเมืองเมาหากษัตริย์ครองมิได้ ต่อมาเสนามาตย์จึ่งอัญเชิญเจ้าอ้ายพุก อันเปนโอรสขึ้นผ่านพิภพ แต่เหลวไหลอ้อแอ้ใม่สามารถที่จะว่าราชการปกครองบ้านเมืองได้ ทรงราชย์อยู่ได้เพียง ๖ ปีก็ถูกมหาอมาตย์เนรเทศออกเสียจากราชสมบัติ ราชสมบัติจึ่งว่างมาเปนครั้งที่สองอีก ๙ ปี ในเวลานั้นหาพระราชาที่จะว่าราชการมิได้เลย (พงศาวดารแสนหวีก็กล่าวต้องกัน แต่ให้ความเห็นชัดแจ้งขึ้นในเรื่องธรรมดาการปกครองในหัวเมืองไทยใหญ่)

ลุ พ.ศ. ๑๘๘๒ มีพระญาติวงศ์เจ้าขุนแหวกฟ้าองค์หนึ่งนามเจ้าขุนกี่ฟ้า ฤๅอีกนัยหนึ่งเจ้าไทยโป่งฤๅไทยพงก็เรียก (ตรงนี้จับได้แน่ว่ายุ่งอยู่บางอย่าง เพราะใม่ทราบความจริง ด้วยเนอีเลียสใม่เข้าใจรายลเอียดพม่าที่แยกจากไทยใหญ่ ฤๅหมายเหตุที่ได้ทราบจากปากคำบอกเล่าด้วยปาก) นั้น ได้เถลีงราชย์ ในรัชกาลนี้เองเกิดฉายาสงครามกับจีนเริ่มปรากฎขึ้น ซึ่งส่อผลค่อยเปนค่อยไปจนในที่สุดจบลงด้วยพินาศราชาธิปตัยเมาหลวง จากความเปนเอกราช (ด้วยบัดนี้จีนแผ่อำนาจมาในตะลีฟูแลรุกรานมาทางปัจจิมะภาค)

จดหมายเหตุเรื่องจีนยกมาราวีครั้งแรกนั้น อย่างยังใม่สู้สำคัญนัก ชั่วแต่กล่าวไว้ว่า ในปีที่ ๕ แห่งรัชกาลเจ้าขุนกี่ฟ้า (มหาจักร์โปกสะงา ๕๕_พ.ศ. ๑๘๘๖) กองทัพยกจากมิถิลามาถึงอาณาเขตร์เมาเพื่อกรรโชก แต่ก็หาได้รบพุ่งกันใม่ อิกครั้งหนึ่งนั้นต่อไปพอครบ ๕๐ ปี ในแผ่นดินโอรสเจ้าขุนกี่ฟ้านามเจ้าขุนไทยหลวง กองทัพจีนยกมาจะชิงไชยบ้านเมือง แต่ไทยใหญ่ต่อสู้จีนอปราไชยเสียรี้พลมากมายพ่ายไป

เจ้าขุนไทยหลวงเสวยราชย์อยู่ได้ ๕๐ ปี พระโอรสนามเจ้าติดฟ้า ฤๅเจ้าเถ้าลอยก็เรียกนั้น ขึ้นทรงราชย์สนององค์ เจ้าฟ้าองค์นี้ปรากฎว่าได้พยายามเอาใจดีต่อแลเจรจาความเมืองกับจีนแต่ต้นรัชกาลจนกระทั่งถึงปีที่ ๑๖ แห่งรัชกาล (ไฮยี ๓ = พ.ศ. ๑๙๕๔) ได้เสด็จไปเยี่ยมสมุหเทศาภิบาลจีนณประเทศยูนนาน พงศาวดารไทยชานว่าเสด็จไปเมืองแขมหานครของมณฑลมิถิลาพร้อมกับพระโอรสนามเจ้างำฟ้า เพื่อจะทรงปฤกษากับพระเจ้าราชาธิราชจีน แลเวลาสองกษัตริย์ทรงสนทนาอยู่ด้วยกันนั้น พระเจ้าราชาธิราชจีนพระราชทานสุราบานให้เจ้าขุนติดฟ้าทรงดื่มจนเมามาย พระเจ้าราชาธิราชกับอรรคมหาอมาตย์นามมอปีจึ่งช่วยกันเปลื้องเอาราชลัญจกรณ์จากองค์เจ้าขุนติดฟ้าไปได้ เมื่อเช่นนี้เมืองใหญ่ก็ตกเปนเมืองออกกรุงจีน (เมืองหลวงที่ว่านี้ ใม่ต้องสงไสยเลยคือเมืองยูนนานเซนนั่นเอง แลวั่งตี่ก็คือสมุหเทศาภิบาลของจีนตั้งให้มาปกครองมณฑลนั้นหาใช่องค์พระเจ้าราชาธิราช ซึ่งครั้งนั้นตั้งอยู่ในมหานครน้ำกิ่งนั้นใม่) ในโปกสี ๕ = ต่อเกิดเหตุนั้นมาอีก ๒ ศก เจ้าขุนติดฟ้าก็เสด็จกลับคืนสู่เมืองเมาหลวง แลรุ่งปีขึ้นก็มีพวกค้าพาฬ่อ ๑๓๐ ลงมาจากกรุงจีน ฬ่อตัวหนึ่งๆผูกต่างบรรทุกเงินก้อนย่อยย่อมๆทุกๆตัว เมื่อมาใกล้ถึงเมืองหลวงไทยเมาจีนผู้ควบคุมกองฬ่อนั้น ก็ต้อนฬ่อเข้าไปในดงไผ่ที่รอบล้อมนครโปรยเงินย่อยนั้นร่วงรายเกลื่อนทั่วไป ครั้นแล้วพวกจีนก็พาฬ่อกลับไปกรุงจีน ข้างราษฎรพลเมืองเมาก็พากันออกมาตัดป่าไผ่โก่นถางด้วยโลภะเจตนาเพื่อจะหาก้อนเงินนั้น เรื่องนี้ลงท้ายเปนอย่างไรใม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็พออนุมานตามได้ว่า กลอุบายจีนลงทุนทำเช่นนั้นก็เหมือนออกค่าจ้างให้พวกพลเมืองเมาหลวงถางป่าไม้ไผ่ที่ปกรอบปราการนครมีทางเดินได้แคบถึงทัพใหญ่มหาพลมากก็ต้องเรียงตัวไป เมื่อถางโล่งแล้วจะได้ยกมหาพลกรูมาโจมตีเอาได้โดยสดวกเท่านั้น

ในศกต่อไปเจ้าขุนติดฟ้าทิวงคต พระโอรสนามเจ้างำฟ้าได้เถลีงราชย์สนองพระองค์ เหตุการเกิดต่อไปในปลายรัชกาลนั้น พงศาวดารพม่ากล่าวไว้ชัดเจนทีเดียว พระองค์มีอนุชา ๒ องค์ นามเจ้าศรีฟ้าแลเจ้ารุ่งฟ้า เจ้าขุนงำฟ้ากับสองอนุชากรีฑาพลไปปราบหัวเมืองไทยใหญ่ต่างๆที่ใม่อ่อนน้อม เบื้องตวันออกแลเบื้องอาคเณย์แห่งเมืองเมาหลวง ครั้นมีไชยทั่วแล้วก็ยาตรามหานิกรไปปราบเมืองไทยไลก็พ่ายแพ้ต่อพระอานุภาพ พระองค์ตั้งชุมนุมรี้พลรดมคนของเจ้าอาณาเขตร์ทั้งปวงบรรดายอมออก ได้กำลังมหาพละนิกายเปนอันมาก นับพลโดยวิธีให้เอาเมล็ดยเว (มกล่ำตาช้าง) คนละเมล็ดทิ้งลงในกระบุงจนเต็มถึง ๔ กระบุงใหญ่ จึงคิดจะไปชิงไชยกรุงมิถิลา ก็ยาตรามหาพยุหโยธินจากเมืองไทยไล แต่พอไปถึงชานมหานครเมืองแส (ยูนนานเซน) ก็พบกองทัพจีนยกออกมาประจันบาน ทัพไทยใหญ่อปราชัย เจ้าขุนงำฟ้าก็ล่าถอยมาเมืองไทยไลก่อน แลล่ารุดมาสู่เมืองวันชัง (ยุงชัง) ในใม่ซ้าก็ปะลาตถอยคืนมาอาณาเขตร์เมาหลวง ราษฎรในหัวเมืองต่างๆบรรดาที่ยอมออกต่อพระองค์ตั้งอยู่รายทางก็พากันอพยพตามกรูกันมาหมายทอดโชคตนพึ่งเจ้าขุนงำฟ้า ดีกว่ารอทนอยู่ให้พวกจีนศัตรูทำร้ายแก้แค้น เมื่อเจ้าขุนงำฟ้าล่าทัพมาใกล้จะถึงมหานคร จึ่งทราบว่าไพร่ฟ้าประชาราษฎรแตกตื่นจลาจลไปทุกหนทุกแห่ง บ้างหนีไปสู่กรุงศรีอยุทธยา (แผ่นดินพระบรมไตรยโลกนาถ แต่ในพงศาวดารสยามใม่ได้กล่าวว่ามีครัวไทยใหญ่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในศกนั้น กล่าวแต่ว่าพญาเฉลียงขบถพาครัวไปพึ่งมหาราชนครเชียงใหม่) แลราชธานีอื่นๆ พลทหารก็พลอยพากันตื่นเต้นแตกฉานผ้านผสมหนีเตลิดเปิดเปิงไปกับพลเมืองด้วย ฝ่ายองค์เจ้าขุนงำฟ้า กับเจ้าศรีฟ้าอนุชา (เจ้ารุ่งฟ้าอนุชาอิกองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์เสียแล้วในยามพ่ายศึกนั้น) ก็หนีไปพึ่งอาไศรยอยู่ณกรุงอังวะ กองทัพจีนก็ยกติดตามกระชั้นลงมา ตั้งค่ายมั่นอยู่เหนือกรุงอังวะ แลร้องขอให้พระเจ้าพม่าส่งองค์เจ้าขุนงำฟ้าให้โดยดี พระเจ้าพม่าตรัสตอบว่าเวลานี้เสนาของพระองค์ตน ๑ นามมินแงกยอดวินตั้งตัวแข็งเมืองเปนขบถอยู่ณเมืองยะแมสิน เพราะฉนั้นถ้าแม่ทัพจีน จะยกไปปราบปรามแลจับเอาตัวเสนาขบถผู้นี้มาถวายณพระนครอังวะได้แล้ว พระองค์ก็จะส่งตัวเจ้าฟ้าอาณาจักร์เมาหลวงพระราชทาน แม่ทัพจีนก็รับ แลแต่งกองทัพยกไปเมืองยะแมสินกรูกันเข้าล้อมปล้นเมืองจับตัวมินแงกยอดวินได้ นำมาส่งณกรุงอังวะ แต่พอเจ้าขุนงำฟ้าได้ทรงทราบข่าวฉนั้นก็ตระหนักแน่ว่าเปนสุดพระโชคเสียแล้ว จึงชิงเสวยยาพิษม์ผลาญพระชนม์ชีพเสีย แม้กระนั้นพระเจ้าอังวะยังตรัสให้ส่งพระศริระเจ้าขุนงำฟ้าออกไปให้แม่ทัพจีน ๆให้เอาพระศพใส่เกลือตากแดดให้แห้ง แล้วก็พาพระศริระร่างเจ้าขุนงำฟ้ากลับไปประเทศยูนนาน ใน พ.ศ. ๑๙๘๘ (เรื่องนี้ยังจะได้วินิจฉัยต่อไปข้างหน้าอิกตามข้อความที่มิสเตอร์ปาร์เกอค้นคว้าได้มาจากข้างจีน)

ต่อมาเจ้าศรีฟ้าก็ขึ้นผ่านพิภพเมืองก้อง ฝ่ายพระมเหษีของเจ้าขุนงำฟ้าก็พาพระบุตร์ทั้งสองนามเจ้ารุ่งพระชนม์พรรษา ๑๐ ขวบ แลเจ้ารูปพระชนม์พรรษา ๒ ขวบ หนีไปเมืองคัมตี่ ทั้งกำลังทรงพระครรภ์ เมื่อไปถึงแล้วก็ประสูติพระบุตรองค์ที่สามนามเจ้าพุด แลในเจ้า ๓ องค์นี้ องค์หนึ่งได้เปนเจ้าฟ้ามณฑลคัมตี่

เปน ๓ ศกจำเดีมแต่เจ้าขุนงำฟ้าพิราไลยแล้ว เมืองเมาหลวงก็กลับไร้พระราชาอิก แต่ในที่สุด พระอาวฤๅพระบุตรนัดาของพระอาว ของพระเจ้าแหวกฟ้าองค์หนึ่งนามเจ้าล่ำก้อนคำฟ้า อันเปนพระราชประยูรอย่างสนิทของเจ้าขุนงำฟ้าได้ขึ้นเถลีงราชสมบัติ (แกเมา ๔๐ พ.ศ. ๑๙๙๑) ในปีที่ ๔ แห่งรัชกาล เจ้าขุนล่ำก้อนคำฟ้านี้ กองทัพใหญ่จีนยกมาราวีเมืองเมาหลวง กองทัพหลวงเมืองเมายกออกไปต่อสู้ก็อปราไชยพ่ายมา พระองค์จึงต้องเลยหนีไปพึ่งพม่าอยู่ณกรุงอังวะอิก เมื่อต้องไปร่อนรับร่อนเร่อยู่ ๕ ปีแล้วเสด็จคืนนครได้ แลชีพตักษัยลง (ในไฮสี ๕๓ ปี พ.ศ. ๒๐๐๕) พระโอรสได้ผ่านราชสมบัติสนองค์ทรงนามขุนเจ้าร่มฟ้า แต่พอขึ้นเถลีงรัชมิทันไร ทัพใหญ่จีนยกมาราวีอิก พระองค์ยกทัพหลวงออกไปประจัณบานทัพจีน แต่ต่อยุทธ์กันอยู่ถึง ๑๘ วัน จีนจึงอปราไชยแตกพ่ายไปเขตร์แดนจีน แลในปลายแผ่นดิน (ราว พ.ศ. ๒๐๒๒) จีนยกกองทัพใหญ่มาอิก แลครานี้กองทัพไทยเมาอปราไชย เจ้าขุนร่มฟ้าก็หนีไปพึ่งกรุงอังวะดังบรรพะกษัตริย์ไทยใหญ่เคยทำมาแต่ปางก่อน ต่อนั้นมา ๔ ศกจึงได้เสด็จกลับสู่เมืองเมา ผ่านนครอยู่ต่อไปอิก ๗ ปีก็ทิวงคต พระโอรสนามเจ้าขุนกาฟ้าได้เถลีงถวัลย์สนององค์ต่อไปได้ ๖ พรรษา ลุ พ.ศ. ๒๐๓๘ กองทัพจีนก็ยกมาราวีเมืองเมาอิก ได้มีกองทัพไทยเมาออกไปต่อรบ แต่ใม่ได้ความชัดนอกจากว่าข้างไทยอยู่ข้างเสียเปรียบ แต่ใม่ถึงอปราไชยยับย่อย แต่ในที่สุดเจ้าขุนกาฟ้าต้องเนรเทศ ราชสมบัติตกเปนของโอรสนามเจ้าเปี่ยมฟ้า องค์เจ้าขุนกาฟ้าเองล่าไปเมืองอ้ายคำอันเปนภาคข้างเหนือของมณฑลคำตี่ แลภายหลังมาสู่เมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) เลยได้เปนเจ้าฟ้าผ่านเมืองนั้น

เจ้าขุนเปี่ยมฟ้านั้นดูเหมือนพระโชคจะดีในชั้นต้น ด้วยทรงราชย์สงบศึกจีนมาได้ถึง ๒๐ ศก จึ่งมีกองทัพยกมาจากเมืองยูนนาน แม่ทัพใหญ่ชื่อหลีสังปา (ชื่อนี้ค้นใม่พบในคำแปลพงศาวดารจีนของมิสเตอปาร์เกอ) แต่เจ้าเปี่ยมฟ้าก็แต่งทัพไทยเมาออกไปต่อรบแข็งแรงกองทัพจีนต้องล่าถอยไป แต่หลีสังปายังไปยั้งทัพอยู่นาน ดำริห์จะตีเอาเมืองเมาหลวงให้จงได้ ภายหลังจึ่งเกีดความคิดจะเอาเมืองเมาด้วยเชิงกลอุบาย จึ่งสั่งให้ตัดไม้ไผ่ผูกแพเปนอันมาก แพลูกหนึ่งก็จับแพะปล่อยลงตัวหนึ่งๆ แลปล่อยลงมาตามกระแสรน้ำแม่เมา (ชเวลี) ฝ่ายพวกพลเมืองไทยใหญ่ เมื่อเห็นแพะลอยแพลงมาจากข้างเขตร์จีนฉนั้น ต่างก็ร้องอึงบอกกันต่อๆ ไปว่า “แขป่อยแพะมา” ร้องกันต่อๆไปทั่วเมือง คนที่ได้ยินแต่หางเสียงใม่รู้ต้นสายปลายเหตุก็เลยร้องบอกกันต่อๆกลายเปน “แขลอยน้ำมา” แล “แขเดินน้ำมา” เลยพากันตกใจอละหม่าน ทั้งราษฎรพลเมือง แลพลทหารต่างก็พากันหนีไปทั่วสาระทิศ เจ้าขุนเปี่ยมฟ้าเพลานั้นประชวรอยู่ในที่พระบรรธมใม่สามารถจะลุกได้ เลยสิ้นพระชีพกำลังกองทัพจีนยกเข้าพระนครโดยสดวกมิต้องรบร้าฆ่าฟัน

สาเหตุของการสงครามเหล่านี้หาได้กล่าวไว้ในพงศาวดารใม่ เปนการเหลือวิไสยที่จะเชื่อได้ว่า ข้างจีนมีแต่รุกรานข่มเหงพวกไทยใหญ่ถ่ายเดียว เว้นไว้แต่ไทยจะก่อสาเหตุไปยั่วก่อนให้น้อยเปนมากแลว่าใม่ถูก แม้กระนั้นสงครามจีนครั้งต่อไปแลครั้งท้ายอิกสองคราวนั้น พงศาวดารไทยใหญ่ก็ยังกล่าวเหมือนกะเคยกล่าวครั้งก่อนๆ ว่า ข้างไทยใม่ได้ก่อเหตุอย่างไรเลย อยู่ดีๆจีนใจร้ายก็มาราวีเอาโดยพละการเฉยๆ แต่ก่อนสงครามจีนครั้งที่ ๒ ครั้งที่ว่านี้ ไทยเมาก็ยังต้องรู้รศชาติศึกพม่าซึ่งมิสเตอร์เนอีเลียสเชื่อว่าเปนครั้งแรก (ด้วยการที่พม่ารบกับไทยใหญ่ครั้งก่อนๆ นั้น ใม่เคยล่วงขึ้นไปพ้นเมืองยาง (โมนยิน) แลเมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) ซึ่งเปนหัวเมืองไทยใหญ่ข้างตวันออกสุดโต่ง

สันตติวงศ์เจ้าขุนเปี่ยมฟ้าได้สืบราชสุริยพันธุ์โดยพระโอรสทรงนามเจ้าร่มฟ้าได้เถลีงรัชใน พ.ศ. ๒๐๕๙ แลเสวยราชย์อยู่ช้านานอย่างมหัศจรรย์ถึง ๘๘ ศกทั้งจัดราชการบ้านเมืองรุ่งเรืองเจรีญอย่างน่าพิศวงไพบูลย์พูนสุขสมบูรณ์พัฒนายิ่งกว่าไทยเมาหลวงได้เคยประสรบมาแต่ปางหลัง จะเปนด้วยกรุงไทยเมาเจริญรุ่งเรืองยิ่งยวดนี้ฝังพระสุบินพระเจ้าหงสาวดี ฤๅจะเปนด้วยแต่งทัพมาราวีเมืองเมาเพราะพระราโชบายเพื่อจะชิงไชยเอาหัวเมืองไทยใหญ่ไปเปนข้าขอบขันธสีมา ก็เปนการสุดวิไสยที่จะเล็งเห็นถึงลั่นวาจาออกไปให้ถูกได้ แต่น่าที่จะมีตัวสาเหตุอื่น นอกจากสาเหตุที่พงศาวดารพม่ายกเปนข้อที่ต้องมาราวีหัวเมืองไทยใหญ่นั้น สาเหตุที่พม่าแกล้งยกขึ้นพูดนั้นว่า ก่อน พ.ศ. ๒๑๐๓ ขึ้นไปหน่อย ไทยเมายกมาตีเอาหัวเมืองน้อยๆ ภายในเขตร์แคว้นมณฑลมีต (โมเมียง) เจ้าฟ้าเมืองมีตร้องอุทธรณ์ไปขอบาระมีพม่าช่วย แต่ที่จริงตัวมณฑลเมืองมีต จนในปีสองปีเพลานี้เองก็ยังเปนส่วนราชอณาจักร์ของมหากษัตริย์กรุงไทยเมาอยู่ แลพม่าก็ยกพลทวยหารล่วงขึ้นไปชิงไชยหัวเมืองไทยใหญ่จากไต้ไปหาเหนือ โดยออกจะใม่สู้จำเปนที่จะต้องหาเหตุพาลวิวาทอย่างใดด้วยเลย เถีดถึงอย่างไรก็ตามที แต่ในปี พ.ศ. ๒๑๐๕ พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนองกยอดินนรธามหาราช) ก็ได้แต่งกองทัพใหญ่ขึ้นไปราวีเมืองเมาหลวง ในว่าเปนจำนวนพลถึง ๒๐๐,๐๐๐ ให้พระโอรสอันดำรงพระยศมหายุวราชาเปนจอมพหล แลพระอนุชาทั้งสามอันเปนเจ้าผ่านพิภพณเมืองแปร เมืองตองอู แลเมืองอังวะ ก็เปนแม่ทัพใหญ่ไปด้วย จับโจมตีเจ้าฟ้าหัวเมืองข้างเหนือ เผาเมืองสันตาเมืองลา แลเมืองติดต่อนั้นไปพินาศลงก่อน เพื่อให้รย่อเดชานุภาพพม่าแล้ว ภายหลังจึงยกเข้าผจณมหานครเมาหลวง เจ้าขุนร่มฟ้าได้ต่อสู้เล็กน้อยฤๅหาใม่เลย ด้วยพลเมืองพากันครั่นคร้ามอำนาจพม่าสท้านเสียสิ้นแล้ว แลในที่สุดก็ยอมเปนเมืองออกต่อพระเจ้าหงสาวดี แลยอมส่งเจ้าหญิงนางงามลงไปถวายเปนเครื่องสำแดงความมอบกายถวายชีวิตเปนข้า เมื่อกองทัพใหญ่พม่าถอยกลับไปแล้ว นครเมาหลวงก็คงรุ่งเรืองอยู่ใม่ยับเยินอันใด เปนแต่พระเจ้าพม่าให้มีผู้สั่งสอนพุทธศาสโนวาทตั้งอยู่ณเมืองเมา สำหรับให้โอวาทแนะนำธรรมปฏิบัติแก่พระสงฆ์ไทยใหญ่ ให้นมัศการแลรักษาวินัยให้ต้องตามพระบาฬี แลเปลี่ยนความประพฤติเจ้าแลพลเมือง ซึ่งนิยมนับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้วนั้นๆ ให้เคารพแลประพฤติพระพุทธศาสนาให้ต้องตามพระศาสนะธรรมอันถ่องแท้

จำเดิมแต่เกิดเหตุใหญ่นี้ล่วงไปได้ ๒๐ ศก (คือในมุงเสือ ๕๔ พ.ศ. ๒๑๒๕) แลดูเหมือนจะเปนเพลาสงบศึกรหว่างจีนแลพม่าด้วยซ้ำไป กองทัพใหญ่จีนยกมาตีเมืองเมาหลวงอิก บอกจำนวนพลทัพอย่างมากมายตามวิไสยครั้งนั้น โก่งถึง ๓๐๐,๐๐๐ คน ได้ต่อยุทธ์กันอย่างมหิทธิ์มหันต์ถึง ๓ ครั้ง ยังใม่มีข้างไหนเอาไชยต่อกันได้ แต่มีเหตุอย่างไรใม่ปรากฎ ข้างจีนขอทำไมตรีอย่าทัพ เมื่อเจ้าขุนร่มฟ้ายินยอมตามแล้ว กองทัพจีนก็ยกถอยกลับไปเมืองยูนนาน บ้านเมืองเมาหลวงก็ราบคาบแลรุ่งเรืองต่อมาได้อิก ๒๐ ศก แต่ (ในกัตเมา ๑๖ พ.ศ. ๒๑๔๗) แม่ทัพจีนชื่ออังสังซูยกกองทัพใหญ่ล่วงเข้ามาในอาณาเขตร์เมืองเมาหลวง เจ้าขุนร่มฟ้าทรงพระชราทุพลภาพมาก จึ่งทรงพระราชดำริห์ที่จะเวนราชสมบัติพระราชทานพระโอรสทรงนามเจ้าบ่อแรง ซึ่งเพลานั้นเปนเจ้าครองเมืองแสนหวีอยู่ พอมอบราชสมบัติสมพระไทยแล้วมิทันไร เจ้าขุนร่มฟ้าก็ทิวงคต จำเภาะกำลังนั้นเองกองทัพจีนก็ยกเข้ามาประชิดพระนครเมืองเมาหลวง ข้างทหารไทยใหญ่ต่อสู้อ่อนแออย่างเสียใม่ได้ ด้วยเจ้าขุนบ่อแรงเจ้าฟ้าองค์ใหม่เองเสวยราชย์ได้ใม่กี่วันก็ละราชสมบัติหนีไปเสีย แต่พอทรงทราบข่าวว่ากองทัพใหญ่จีนยกมาถึง สู่หัวเมืองขึ้นแห่งหนึ่งในเวิ้งแม่น้ำเมา (ชเวลี) นั้น ห่างจากเมืองหลวงอีกใม่กีร้อยเส้น เสด็จรีบมุ่งไปเมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) ข้างกองทัพใหญ่จีนก็แต่งทัพยกติดตามไป เสด็จไปถึงตำบลเมืองกัตกโยเวงเมา อันตั้งอยู่ณฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำกิ่วฤๅแม่น้ำแก้ว (คือแม่อิระวดี) ก็พอรี้พลลุกเปนขบถขึ้นกำลังอุกลหุกกันอยู่นั้น เจ้าขุนบ่อแรงเสียพระไทยมิรู้จะผ่อนผันไฉน กลุ้มกล้ำหนักเข้าก็เลยโดดลงในแม่น้ำผลาญพระชีพพระองค์เองเสีย จึ่งพ่อเมืองกัตกโยเวงเมาก็มาเปนธุระตามพระศพได้เชิญไปฝังไว้ แลช่วยเล้าโลมบำราบรี้พลทัพหลวงที่ลุกลามเปนขบถให้สงบราบคาบลงแล้ว ก็พาไปส่งณกรุงอังวะ พร้อมกันกราบทูลฎีกาพระเจ้าพม่าขอให้ทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชนัดาของเจ้าขุนร่มฟ้า อันเปนหน่อขัติยางกูรซึ่งยังคงเหลืออยู่องค์เดียวเท่านั้น ได้ผ่านพิภพในเมืองใดๆ พอเปนที่ยืดหน่วงเคารพนับถือของไพร่ฟ้าไทยใหญ่สืบไปเมื่อน่าสิ้นกาละนาน ด้วยเมืองเมาหลวงนั้นในบัดนี้ตกเปนของจีนเข้าตั้งครอบครองอยู่แน่นแฟ้นเสียแล้ว เจ้าองค์นี้นามเจ้าติดฟ้า ลำดับนั้นก็ได้ทรงราชย์ในเมืองก้อง (โมคองฤๅเมืองคัง) ด้วยพเอินประจวบเพลาสิ้นวงศ์เจ้าฟ้าในเมืองนั้นที่จะสืบสกูลต่อไปด้วย

พงศาวดารไทยใหญ่ที่มิสเตอร์เนอีเลียสเรียบเรียงไว้มีใจความเพียงเท่านี้ จึ่งน่าจะเทียบเคียง กับพงศาวดารแสนหวี ซึ่งบัดนี้ได้แปลขึ้นใหม่เปนครั้งแรก คือรวมพงศาวดาร ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งได้มาจากหัวเมืองในมณฑลแสนหวีข้างเหนือ แลอิกฉบับหนึ่งนั้นได้มาจากหัวเมืองมณฑลแสนหวีข้างไต้นั้น ควบเข้าด้วยกันเปนเรื่องเดียว รวดลงมาจนถึงสมัยอังกฤษยกเข้าครอบครองหัวเมืองไทยใหญ่ดังจะได้ปรากฎในตอนหน้านั้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ