- ๑. กลต่อกล
- ๒. พราหมณ์กินพรหม
- ๓. ปราชญ์เถื่อน
- ๔. กรรมสูตร
- ๕. ท้าววิกรมาทิตย์ ตอนเลือกคู่
- ๖. กาไห๎น หลานพราหมณ์เฒ่า
- ๗. เทพธิดาอิตุ
- ๘. แพะ เสือ ลิง
- ๙. สองเจ้าบ่าว
- ๑๐. บรมแกว่น
- ๑๑. บรมเซอะ
- ๑๒. ธิดาของทัณฑนายก
- ๑๓. ตากาไห๎น พนักงานสวน
- ๑๔. หูหนวกทั้งสี่
- ๑๕. ต้องขโมยสามต่อ
- ๑๖. อาหารนางฑากินี
- ๑๗. มีความรู้หรือมีเชาว์ดี?
- ๑๘. โอรสพระราชากับบุตรทัณฑนายก
- ๑๙. นิ่งได้ก็ชนะ
- ๒๐. กังคลา
- ๒๑. สองเจ้าสาว
- ๒๒. ควายสองขา
- ๒๓. พราหมณ์กับกายัสถ
ปราชญ์เถื่อน
พราหมณ์โง่เซอะจนไม่รู้จักประสาอะไร อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่วางท่าเป็นผู้มีความรู้บรรทุกเข้าไว้เต็มพุง ชาวบ้านในย่านนั้นยิ่งโง่ร้ายไปกว่าอีก รู้แต่จะจับปลาขายเลี้ยงชีพเท่านั้น[๑] เคารพเชื่อถือพราหมณ์เป็นอาจารย์อย่างสูง[๒] พราหมณ์ได้โอกาสเจ้าพวกนี้ ค่อยมีอันจะกินบ้าง ถ้าชาวบ้านอยากจะรู้ว่าวันนี้เป็นวันอะไร กี่ค่ำ และอะไรต่ออะไร มักไปไต่ถามพราหมณ์ผู้นี้ ค่าที่ตาแกไม่ใช่เป็นคนร่ำเรียนอะไร บางทีถูกเขาถามชั้นแต่ข้อตื้น ๆ แกก็อึดอัดเกือบตาย กลัวเขาจะจับโง่ได้ วิธีนับวัน[๓]ของแกใช้เอาอิฐมาวางเรียงเข้า เช่นในวันแรมหนึ่งค่ำ ตั้งอิฐลงหนึ่งแผ่นแล้วเติมเรื่อยไปวันละแผ่น ครบสิบห้าแผ่นแปลว่าหมดปักษ์ แล้วตั้งต้นหนึ่งไปใหม่ ถ้าสานุศิษย์มาถามว่าวันไหนเท่าไรค่ำ ท่านอาจารย์เถื่อนก็เดินวิธีนับแผ่นอิฐ และเทศนาไปตามจำนวนแผ่นอิฐนั่นเอง ทำอย่างนี้แกจึงรอดตัวซ่อนความโง่ไว้ได้.
มาวันหนึ่งเกิดเรื่องขึ้น มีไอ้แมวเจ้ากรรมไปกัดกันในบ้านฟูดฟาดฟัดกันบนกองอิฐ เจ้าอิฐบางแผ่นซึ่งผุพานจะหักอยู่แล้ว โดนฤทธิ์แมวทนไม่ไหวเลยหักไปก็มี กระจายกลิ้งหายไปไหนก็มี ตาพราหมณ์งุ่มง่ามเข้ามาดู พอเห็นก็ลมจับ ปฏิทินวิเศษสำหรับนับวันเดือนของแกมันยุ่งเสียหมด เรื่องไม่เท่านั้น มีชาวบ้านมาถามด้วยว่าขึ้นกี่ค่ำ ตาพราหมณ์เดือดร้อนไม่ใช่เล่น หน้าเซียวมองดูปฏิทินแผ่นอิฐ กลิ้งไปอยู่ทางโน้นก็แผ่น บ้างหักเป็นหลายเสี่ยงกลิ้งอยู่ทางนี้ก็หลายแผ่น ไอ้ที่หายไปเลยก็มี คราวนี้ทำอย่างไร หมดแต้ม เลยโมเมบอกชาวบ้าน “นี่แน่ะ พวกแก วันนี้เป็นวันฆัณฏ์มงคล”[๔]
ชาวบ้านประหลาดใจ เกิดมาพึ่งได้ยิน ทวนคำ “วันฆัณฏ์มงคล ไม่เคยได้ยินเลย ไม่ได้ยินท่านพูดสักที”
ท่านนักปราชญ์เถื่อน- “ที่ไหนพวกเจ้าจะรู้จักเล่า วันพรรณนี้ยังมีอีกมากมายก่ายกองที่พวกเจ้ายังไม่รู้ ยกเว้นแต่ท่านที่เป็นปราชญ์ชั้นสูงอย่างตัวข้ามีอยู่สองสามคนเท่านั้น นักปราชญ์อื่นๆ ทั้งหมดไม่มีใครรู้จัก พวกเจ้าที่ไหนจะรู้”
ชาวบ้าน- “ทราบแล้ว ฐากูรมศัย ก็เหมือนวันฆัณฏ์มงคลเช่นนี้ จะต้องทำอะไรบ้าง?”
นักปราชญ์เถื่อนได้ท่าเลยตีขลุมใหญ่- “เรื่องที่จะต้องทำมันมีน้อยอยู่เมื่อไร วันนี้เป็นวันสำคัญต้องมีการบูชาพิเศษ และต้องทำบุญให้แก่พราหมณ์ที่เป็นอาจารย์ให้ถึงขนาดด้วย เข้าใจไหมล่ะ? แล้วเลี้ยงดูปูเสื่อกันให้ใหญ่โต เพราะนางฆัณฏ์มงคลเทพี[๕]ทรงตั้งกำหนดวันนี้ไว้ ให้มีการบูชาสมโภชน์ท่าน”
พวกศิษย์- “รูปร่างพระเทพีเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ จะทำรูปอะไรบูชา?”[๖]
ปราชญ์เถื่อน- “อ๋อ ! ไม่ยากอะไร โดยมากท่านมักแปลงมาเป็นแมว ให้ทุกๆ ครัวบ้านเอาดินมาปั้นรูปแมวไว้ครัวบ้านละคู่ แล้วตั้งบูชา”
ชาวบ้านโล่งใจพากันกลับบ้าน ไม่ช้า ในหมู่บ้านก็เอิกเกริกกุลีกุจอปั้นพระเจ้าแมวกันเสร็จแล้ว เริ่มการสมโภชบูชาขนานใหญ่ เสียงฆ้องกลองดังลั่นตูมตามไปไกล
ในวันนั้นปราชญ์หลวง[๗]มีธุระนั่งคานหามผ่านมาหมู่บ้านนั้น พอดีกำลังชาวบ้านร้องรำทำเพลงสมโภชกันเต็มที่ ปราชญ์หลวงประหลาดใจ- “เอ๊ะ! นี่มันอะไรกัน? วันนี้ก็ไม่ตกในวันพิธีรีตองอะไร ก็นี่เขาทำอะไรกันเล่า?” สั่งให้หามตรงเข้าไปในหมู่บ้าน ครั้นถึง ท่านปราชญ์แปลกถิ่นเห็นเขาสมโภชอะไรอย่างหนึ่งใหญ่โตมีรูปแมวคู่หนึ่งตั้งบูชาทุกบ้าน มีดอกไม้ใบมะตูมกองเป็นแถว ปราชญ์หลวงสงสัยไม่เข้าใจเรื่อง จึงถามชาวบ้าน “สมโภชอะไร? บูชาพระอะไรกัน?”
ชาวบ้านคนหนึ่งเห็นพราหมณ์เข้ามาถาม ยิ้มด้วยความดูถูกว่าโง่เต่า และตอบ “ฐากูร ฉันคิดว่าท่านคงไม่รู้อะไรมากนัก ไม่เช่นนั้นคงไม่ถาม การพิธีนี้นอกจากท่านฐากูรมศัยของพวกฉัน คนอื่นถ้าไม่มีความรู้จริงก็ไม่รู้ พิธีนี้ท่านอาจารย์สอนให้ทำ”
คราวนี้ถึงทีปราชญ์หลวงต้องยิ้มขันในใจบ้าง “จริง ฉันไม่รู้ ขอโทษเถิด ทราบไหม วันนี้วันอะไรจึงได้ทำพิธีอย่างนี้?”
ชาวบ้าน- “วันนี้เป็นวันฆัณฏ์มงคลต้องบูชาพระฆัณฏ์เทพีดังที่ทำอยู่นี้”
ปราชญหลวง- “ท่านเอ๋ย! ตั้งแต่ฉันเกิดมายังไม่เคยพบหรือเคยได้ยินปราชญ์ที่มีความรู้เหมือนอย่างอาจารย์ของพวกท่าน ฉันอยากจะรู้จักขอไล่เลียงความรู้ท่านบ้าง”
ชาวบ้าน- “อย่าดีกว่า ท่านสู้ไม่ได้ดอก ถ้าไม่เก่งแล้วอย่าสู้ท่านฐากูรมศัยของพวกฉันเลย แพ้เปล่าๆ”
ปราชญ์หลวง- “รู้แล้วว่าอาจารย์ท่านมีความรู้มาก แต่ช่างเถอะ วานไปเชิญท่านมาก็แล้วกัน”
ชาวบ้านไปบ้านพราหมณ์อาจารย์ซึ่งอยู่ปลายหมู่บ้านทางโน้น ไปถึงตะโกนเรียกฐากูรมศัย “วันนี้พวกฉันกำลังสมโภชพระฆัณฏ์เทพีตามที่ท่านชี้แจง ท่านบัณฑิตคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนกับท่านฐากูร มีกระแจะจันทน์เจิมที่หน้าผากไว้หางหนูเล็กที่ผมข้างหลัง[๘] เข้ามาในบ้านเรา นั่งคานหามมีคนตามมาหมู่ใหญ่ และถามพวกฉันว่าทำอะไรกัน ท่าทางดูเป็นคนเซอะไม่รู้อะไร คงไม่ใช่บัณฑิตมีความรู้อย่างท่าน พวกฉันบอกว่า วันนี้มีการบูชาพระฆัณฏ์มงคล ดูเหมือนยิ่งทำให้เขามืดหนักขึ้น เป็นแต่สั่งให้เชิญท่านไปลองวิชากัน พวกฉันบอกว่าอย่าสู้เลยเดี๋ยวจะแพ้ พูดเท่าไรก็ไม่ยอม จะขอลองดูให้ได้ร่ำไป น่าขันไหมล่ะ?”
พราหมณ์เจ้าเล่ห์ได้ฟังก็เดือดร้อนในใจ “หริพาล หริ![๙] เสร็จกันแล้วคราวนี้ แต่อย่างไรต้องหาอุบายอย่าให้ไอ้พวกโง่เหล่านี้ดูถูกเราได้” ตะโกนตอบไป “ที่พวกเจ้าว่าน่าขันมันก็จริง ไอ้นั่นมันไม่รู้สึกตัวว่ามันดีอะไรจึงได้มาท้าอวดดีดังนี้ จะวิ่งเข้ามาโดนภูเขา พวกเจ้ากลับไปบอกว่า ไม่ใช่กงการอะไรของข้าจะต้องไปหา ถ้าอยากจะลองดีกันก็มานี่ซี”
ชาวบ้านกลับไปบอกปราชญ์หลวง “ท่านอาจารย์ท่านสั่งมาว่า นี่เห็นข้าเป็นตัวอะไรหรือ จึงมาดูถูกเรียกข้าไปหา ถ้าอยากพบก็มานี่ซิ”
ปราชญ์หลวงได้ยินก็ตอบโดยดี “ฐากูรมศัยของท่านพูดถูก ธุระอะไรของท่านจะอุตส่าห์เดินมาถึงนี่ แต่ไม่เป็นไร ฉันจะบอกวิธีให้ หาที่ๆไหนสักแห่งหนึ่งให้ได้กลางย่านระหว่างครึ่งทางจากที่นี่ และจากบ้านฐากูรของพวกท่าน แล้วให้มาพบกันตรงนั้น ทำอย่างนี้ฐากูรมศัยของท่านก็จะไม่เสียเกียรติยศอะไร”
ชาวบ้านเห็นพ้องด้วย กลับไปบอกอาจารย์ตามนั้น
ฝ่ายท่านอาจารย์เถื่อนทำเป็นไม่พรั่นพรึง ตอบ “ได้ พวกเจ้าและเขาไปจัดหาที่เถิด เสร็จเมื่อไรให้มาบอก”
ชาวบ้านดีใจกลับมาบอกกับปราชญ์หลวง “ท่านฐากูรมศัยของฉันท่านยอมแล้ว และบอกให้ท่านและพวกฉันช่วยกันหาที่ และว่าถ้าจัดเรียบร้อยเมื่อไรจึงจะมา”
ปราชญหลวง- “ดีแล้ว แต่ฉันไม่รู้ทำเลที่ทางอะไรที่นี่ ท่านเห็นที่ตรงไหนดีก็สุดแล้วแต่พวกท่านเถิด ฉันไม่ขัดข้อง วันนี้เป็นวันสำคัญ เพราะในไม่ช้าจะได้เห็นอาจารย์ผู้วิเศษของท่านเป็นมงคลตา”
ชาวบ้านกะที่ได้กลางถนน ปูเสื่อลงแล้ววางเบาะไว้บนนั้นอีกที เชิญให้ปราชญ์หลวงมา
ปราชญ์หลวงนั่งคานหามมาถึง ลงไปนั่งคอยอยู่บนเบาะ
ชาวบ้านวิ่งไปบ้านอาจารย์บอก “ที่จัดไว้เรียบร้อยแล้ว เดี๋ยวนี้คนนั้นกำลังนั่งคอยอยู่ที่ตรงนั้น อยู่กลางย่านระหว่างที่นี่และที่โน่น”
ท่านปราชญ์เถื่อนหมดตำราที่จะร้องขัดข้องได้อีก แต่เคราะห์ยังดี นึกหาท่าเลี่ยงได้เร็ว จึงถามพวกชาวบ้าน “นี่แน่ะ ผู้นั้นเดินมาหรือว่ามาอะไร?”
ชาวบ้าน- “ขึ้นคานหามมา”
ปราชญ์เถื่อน- “ไอ้พวกริยำ นี่เอ็งจะให้ข้าเดินไปหรือ?”
ชาวบ้าน- “ฐากูรมศัย ก็จะไปหาคานหามได้ที่ไหนในแถบนี้”
ปราชญ์เถื่อน- “ถ้าอย่างนั้น ข้าไม่ไป ไม่เอา เลิกกัน เลิกกัน ไปบอกเถอะว่าข้าไม่เอา”
ชาวบ้านกลับมาบอกปราชญ์หลวงด้วยข้อติดขัดนี้.
ปราชญ์หลวง- “เท่านี้ พวกท่านไม่ควรเซอะหาคนหามไม่ได้ ก็แบกท่านขึ้นบ่ามาซิ ยิ่งทูนหัว[๑๐]มาได้ยิ่งดี ไม่เสียหายอะไร กลับจะได้หน้าได้ตาเสียอีก”
ชาวบ้านวิ่งกลับไปอีก ร้องตะโกน “ฐากูรมศัย ไม่ต้องคานหามก็ได้ พวกฉันจะแบกท่านไปเอง ท่านก็เป็นพราหมณ์และเป็นครูควรบูชาด้วย ถ้ายิ่งได้ท่านขึ้นทูนหัวก็ยิ่งดี เชิญเถิดท่าน คราวนี้ถึงจะไปก็ไม่เสียเกียรติยศอะไร”
ปราชญ์เถื่อนนึก “ตายมัน เดือดร้อนละซิตานี้ ไปก็ขายหน้า ไม่ไปก็ขายหน้าอยู่นั่นเอง มันน่าเจ็บใจ หาอุบายเลี่ยงเจ้าเรื่องนี้หลุดมาได้หลายครั้ง ชิๆ เกิดไม่สำเร็จอีก ได้เลี้ยงท้องมาได้หลายปีก็เพราะหลอกเจ้าพวกโง่เหล่านี้ เกิดจะมาแดงโร่ จบกันคราวนี้เอง เวรกรรมแท้ๆ ต้องไปดูให้มันรู้เอาเด็ดขาดก็ในที่สมรภูมิเถิด” ตกลงในใจแล้วตะโกนตอบชาวบ้านไป “คอยประเดี๋ยว แต่งตัวก่อน” แกกลับเข้าบ้านเอากระแจะเจิมเติมหน้าผาก[๑๑] ห่มผ้าลงเลขยันต์คล้องประคำลูกรุทรักษา[๑๒]ร้อยแปด แต่งตัวเสร็จเดินส่ายอกผายไหล่ผึ่งออกมา สั่งสานุศิษย์ “เอ้า ! แบกข้าขึ้นบ่าไปซิ”
ชาวบ้านที่รูปร่างล่ำสันคนหนึ่ง อาสาตรงเข้าแบกพากันแห่มา
ฝ่ายปราชญ์หลวงเห็นเขาแห่ท่านปราชญ์พิสดารมาก็ลุกขึ้นยืนตามธรรมเนียมของผู้มีกิริยา พอพวกแห่มาถึงท่านปราชญ์วิเศษก็ลงจากบ่า ปราชญ์หลวงร้องทักเป็นคำศัพท์ “อาคัจฉ อาคัจฉ”[๑๓]
ท่านปราชญ์เถื่อนไม่รู้ภาษาสันสกฤต ไม่ทราบแปลว่าอะไร แต่กลัวสานุศิษย์จะจับได้ถ้าไม่ตอบ จึงตะโกนออกไปเป็นภาษาฮินดูสตานี “แกซิเป็นอคัจฉะ[๑๔]นั่นเอง คนริยำ”
ปราชญ์หลวงตกตะลึง นึก “เอ๋ ! นี่มันอะไรกัน แปลกจริง” แล้วตอบไปเบาๆว่า “ติษ๎ฐ ติษ๎ฐ”[๑๕]
ปราชญ์เถื่อน- “แกละซิเป็นติษฐอ[๑๖] พ่อแกละซิเป็นติษฐอ โคตรของแกถอยหลังตั้งสิบสี่ชั่ว เป็นติษฐอทั้งนั้น คนริยำ”
ปราชญ์หลวงตกตะลึงจนอ้าปากค้างเป็นครู่ จึงตอบออกไปได้ “ส๎ถิโร ภว ส๎ถิโร ภว.”[๑๗]
ปราชญ์เถื่อนคู่แข่ง- “แกละซิ เป็นสถิโร ภอ พอ[๑๘] คนริยำ”
ปราชญ์หลวงนึก “เอ ! หมอนี่ ด่าส่งทุกคำ ขืนไล่ความรู้กันอย่างพิสดารดังนี้ต่อไป ถ้าไม่ได้เรื่อง เดี๋ยวจะร้อนถึงโทโสเกิดความขึ้น” จึงยืนนิ่งก้มหน้าดูดินเสีย
ฝ่ายพวกสานุศิษย์ของท่านปราชญ์เถื่อนฟังปราชญ์ต่อปราชญ์เขาไล่วิชากัน ไม่เข้าใจด้วยสักคำ แต่คาดเอาตามกิริยาว่าปราชญ์หลวงแพ้อาจารย์ตน เพราะท่านมีกิริยาท่าทางกลอกหน้ากลอกตา และลูบหนวดเอาจริงๆ ผิดกับปราชญ์หลวงคนนั้น หมดความสงสัยพากันดีใจโห่ร้องสาธุการ “ท่านอาจารย์เราชนะ ท่านอาจารย์เราชนะ” ลุกขึ้นเต้นรำทำเพลงจนไม่ได้ศัพท์.
ปราชญ์หลวงนึกโกรธ “ไม่ได้เรื่องจริง ไอ้บ้าด่าว่าริยำหลายครั้ง สู้นิ่งแล้ว หมายว่าจะเปิดเผยไอ้โกงให้เจ้าพวกนี้รู้ มันโกรธโง่หนักเข้าใจไปเสียทางหนึ่ง เย้ยเยาะหยามน้ำหน้า ขืนอยู่ไม่ได้ ต้องไป ไหนๆ จะไปจะสอนไอ้ริยำรู้รสเสียบ้าง ทำอย่างไรดีหนอ?” นึกพลางมองดูที่พื้นดิน เห็นหนวดปราชญ์เถื่อนหลุดตกเมื่อเวลาลูบหนวดอยู่เส้นหนึ่ง ได้ปัญญา กรากลงก้มเก็บหนวดเส้นนั้น ค่อยประคองเอาปากเป่าฝุ่นที่ติดอยู่ และเอาชายผ้าห่มห่อขอดเอาไว้.
ชาวบ้านมองดูไม่รู้เรื่อง ต่างคนต่างนึก “นี่จะเก็บเอาหนวดเคราของอาจารย์เราไปทำไมหนอ ถ้าจะมีดีอะไรที่หนวดสักอย่างหนึ่ง”
ขณะปราชญ์หลวงขึ้นคานหามจะไป ชาวบ้านพากันเข้ามาล้อมแน่น ปราชญ์หลวงจึงถาม “ธุระอะไรอีกเล่าพวกท่าน?”
ชาวบ้านที่เป็นหัวหน้ากรากเข้ามาพูด “ฐากูรมศัย ท่านเห็นจะแพ้กระมัง จึงราข้อไป”
ปราชญ์หลวง- “ก็ดูเหมือนจะเป็นดังนั้น”
ชาวบ้าน- “บอกท่านแต่แรกแล้วไม่เชื่อว่าอาจารย์ของพวกฉันมีความรู้มาก ไม่ใช่เป็นคนธรรมดา ท่านก็ไม่เชื่อ แต่อยากจะขอถามท่านสักหน่อย ทำไมท่านจึงเก็บเอาหนวดของท่านอาจารย์ไปด้วย”
ปราชญ์หลวง- “อ๋อ ! มีเรื่องซิจึงได้อุตส่าห์เก็บไว้ ไม่เห็นดอกหรือ? ฉันได้หนวดนี้ไว้ดีใจพิลึก เท่ากับได้แก้วสารพัดนึกเทียวท่าน เพราะหนวดนี้มีคุณวิเศษมากมายนัก”
ชาวบ้านถามกันเป็นเสียงเดียว- “วิเศษอย่างไร? ท่าน บอกให้เราทราบหน่อยเถอะน่า ใช้อะไรได้บ้าง?”
ปราชญ์หลวงทำอิดเอื้อน “บอกให้ก็ได้ หนวดชนิดนี้หายากนัก นี่นับว่าเคราะห์ดีจึงเก็บได้ ถ้ายังอยู่ที่ปาก ที่ไหนจะมีโอกาสเอาได้”
ชาวบ้านเร้า- “บอกให้ทราบเถิดพวกฉันจะเอาให้ได้”
ปราชญ์หลวง- “หนวดนี่มีคุณวิเศษอย่างนี้ ที่อาจารย์ของท่านมีความรู้มากและฉลาดเฉลียวก็เพราะมีหนวดนี้ ถ้าใครได้ไว้สักเส้นเดียวจะเป็นนักปราชญ์ใหญ่อย่างอาจารย์ของท่านทีเดียวแล้วไม่ต้องวิตกอะไรอีก ชื่อเสียงจะลือชาปรากฏเป็นที่นับถือของใครๆ พระเจ้าแผ่นดินเองจะต้องให้เกียรติยศด้วย ยังไม่หมดเท่านี้ หนวดนี่มีคุณวิเศษอีกมากมายก่ายกอง แต่ไม่มีเวลาจะบอกได้ ฮึม ! พวกท่านได้มาคนละเส้นละก็-รู้เองแหละ ถ้าไม่เชื่อลองขอท่านอาจารย์สักเส้นซิ พะนันให้ด้วยว่าท่านคงไม่ยอมให้ เพราะท่านรู้อยู่ดีๆ ว่าหนวดท่านประเสริฐมาก ไม่อยากให้ใครได้ไว้เป็นนักปราชญ์ใหญ่”
ชาวบ้านได้ฟัง พากันพรวดพราดวิ่งตามตาปราชญ์เถื่อนซึ่งกำลังเดินกลับ ทันกันกำลังแกจะเข้าบ้าน ไปถึงร้องขอ “ฐากูรมศัย ขอหนวดให้พวกฉันคนละเส้นเถิด”
ปราชญ์เถื่อนตกตะลึง- “เอาไปทำไม? บ้าหรือ อะไรนี่?”
ชาวบ้านสำคัญว่าแกหวงเลยเห็นจริง- “ท่านอาจารย์ต้องให้ ไม่ให้ไม่ได้”
ปราชญเถื่อนพื้นเสีย “ไอ้พวกริยำ นี่จะให้กูถอนหนวดให้หรือ? ใครจะให้?”
ยิ่งทำท่าไม่ให้ ชาวบ้านยิ่งอยากจะเอาให้ได้ บางคนกลัวจะเสียทีตรงเข้าปล้ำถอน ครวนี้ใครเล่าจะรอดูให้เพื่อนเอาคนเดียว ต้องกรากเข้าถอนบ้าง รุมแย่งกันถอนคนละหนุบสองหนับ ข่าวหนวดวิเศษไม่ช้าลือแซ่ไปถึงพวกที่จะกลับบ้านอยู่แล้ว เลยย้อนกลับวิ่งแห่กันมาใหญ่ กระโดดเกาะหน้าเกาะหลังตาพราหมณ์ แย่งกันทึ้งเครา
ปราชญ์เถื่อนเจ็บร้องเรียกให้คนช่วยออกลั่น “ช่วยด้วย ช่วยด้วย ไอ้พวกนี้จะฆ่าแล้ว” ร้องสักเท่าไรมิยักสำเร็จ ไอ้คนที่ได้ยินเสียงพราหมณ์ร้องเรียกวิ่งเข้ามาจะช่วย เลยเป็นช่วยถอนหนวดไปหมด ซ้ำปราชญ์หลวงยังรอดูอยู่ ยุใหญ่เสียด้วย “เร็วเข้า พวกท่าน เดี๋ยวหนวดจะหมดเสีย ต่อไปจะหาได้อย่างนี้ที่ไหนสักที อ้อ ! ลืมบอกไปอีกหน่อย ไอ้หนวดข้างบนดีกว่าหนวดที่เคราเสียอีก ถ้าใครไม่ได้ไว้ด้วยจะเสียใจ”
ครั้นตาพราหมณ์ถูกถอนเคราเสียเกือบเกลี้ยง ที่มาภายหลังต้องหันเล่นหนวดบน ถอนกันเสียจนตาพราหมณ์ลุกไม่ขึ้นเจ็บปางตาย.
ฝ่ายปราชญ์หลวงหัวเราะขิกๆ นึกขันในใจ สั่งให้คนหามออกเดิน ในไม่ช้าก็เลยหมู่บ้านนั้น.
เขาได้หนวดพราหมณ์กันไปหมดแล้ว ตาแกจึงยันตัวลุกขึ้นได้ บ่นอุบอับ “ไอ้ริยำ แสบไปทั้งปาก” เดินเอามือกุมปากโซเซเข้าบ้าน
[๑] เห็นจะเป็นสกุลผสม ใน Indian Wisdom ของ Monier William เรียกว่า Jaliyas (ชาลิยาส) สกุลหาปลา
[๒] บรรดาพวกอินเดีย ในสกุลหนึ่ง หรือหมู่หนึ่งคณะหนึ่ง อันมีอยู่ในประเทศอินเดียเวลานี้นับไม่ถ้วน ย่อมมีพราหมณ์เป็นพิเศษสำหรับแนะนำทำพิธีต่างๆ ถึงมีเป็นภาษิตประจำว่า ‘ธนีก : โศ๎รต๎ริโย ราชา…ตัตร วาสํ น การเยต์ (๑๔๙) = องคคุณ ๕ ประการ…มีพราหมณ์ ๑…ไม่มีพร้อมในภูมิใด, ในภูมินั้นไม่ควรตั้งคฤหสถาน (๑๐๙)’ และ ‘ตัตรมิต๎ร ! น วัสตัวยํ…โศ๎รต๎ริย : สชลา นที (๑๕๑) =…พราหมณ์ผู้ทำพิธีมงคล ๑ ขาดเสีย ณ สถานใด, ไม่ควรสำนึก ณ สถานนั้นเป็นอันขาดเทียว, เพื่อน ! (๑๑๑)…หิต. มิตรลาภ ใช่แต่เท่านั้น ยังมีช่างกัลบก, ช่างซักเสื้อเป็นพิเศษไว้อีก ถ้าใครถูกตัดขาดจากสกุลหรือคณะเป็นต้องขาดไปถึงช่างกัลบก ฯลฯ ด้วย ดูภาคผนวก
[๓] เขาใช้วันจันทรคติเหมือนกับเรา ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา
[๔] ฆัณฏ์มงคล Ghontmongol; ฆัณฏ์ = ‘พูด, ฉาย’ ถ้าเป็นไวพจน์ของ ‘หันตร’ เป็นชื่อของพระศิวะ รวมเข้ากับ ‘มงคล’ ว่า ‘ฆัณฏมงคล’ แปลไม่ได้ความกับเรื่อง พิธีซึ่งจะทำต่อไป เป็นศัพท์ของตาพราหมณ์แกผูกขึ้นเอง, ถ้าจะแปลกันก็ต้องว่า ‘มงคลเพื่อ (หรือปรารภ) พระฆัณฏะ
[๕] ‘พระนางฆัณฏ์มงคลเทพี’ ยุ่งอีก, สำหรับคัณฏ ศัพท์นี้ ถ้าเป็นอิต. ก็ต้องเป็น ‘ฆัณฏี’ นามของพระธุรคา เช่น กษุทระฆัณฎี มหาฆัณฏี ตาพราหมณ์แกใส่ใหญ่ ประสมศัพท์ยาวตั้งหลา เพราะฉะนั้นที่แปล (เชิงอรรถหน้า ๕๔) ว่า ‘มงคลเพื่อพระฆัณฏ’ ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เพราะ ‘ฆัณฏ์มงคล’ กลายเป็นชื่อพระเทพีทั้งดุ้น ‘เทพี’ เบงคลี-Debi
[๖] การบูชา จะบูชาพระเป็นเจ้าองค์ใด ปั้นดินหรือผูกฟางให้เป็นรูปเจ้าองค์นั้น ประดับประดาหรูหรา, มีวิธีอัญเชิญเทวดาองค์นั้นให้เข้าสิงรูปที่ทำ เรียกว่า ‘พิธีปราณประดิษฐา’ ดูพิธีบูชาในภาคผนวก
[๗] ราชบัณฑิตหรือราชครู
[๘] ถึงไม่ได้โกนผมก็ต้องมุ่นผมไว้สองสามเส้น เรียก ศิขะ = ‘แหยม’ หรือ ฐิกิ = ‘แกระ’)
[๙] ‘Horibal Hori’ เป็นอุทานพูดติดปากในเมื่อเกิดเหตุร้ายหรือเสียใจ ถ้านำศพไปเผา คนหามต้องเปล่าดังนี้ตลอดทาง ถ้าได้ยินใครมาพูดไม่ถูกใจ มักออกอุทานว่า Radhe-Madho! (รเธ-มะธอ!) หรือ ‘รามๆ!’ (รยัมๆ?)
[๑๐] ถ้าไม่จำเป็นจริง การเอาขึ้นทูนหัว ถือว่าทำลายเกียรติยศนัก
[๑๑] Tripundrak = ต๎ริปุณ์ฑ๎รก = เจิม ๓ แถว หรือ ๓ จุด หน้าผาก (หรือหลัง ยอดอก บ่า)
[๑๒] รุทรักษา = รุท๎ราก์ษ ‘ลูกตาพระรุทร’ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ใช้ลูกทำลูกประคำ (ฟังเสียงคล้ายๆ ‘พุทธรักษา’)
[๑๓] เชิญ, เชิญมา
[๑๔] Agoccho = อคัจฉอ
[๑๕] เชิญ, เชิญหยุด
[๑๖] Tistho
[๑๗] ขอจงสงบ, ขอจงสงบ
[๑๘] Sthiro bhobo